ตอนที่ ๖

เลียบพระนคร

การเลียบพระนครนับเป็นส่วนหนึ่งในพิธีบรมราชาภิเษกเนื่องมาแต่พิธีที่ทำในพระราชฐาน มีการเสด็จออกท้องพระโรงให้ข้าราชการทั้งปวงได้มีโอกาศเข้าเฝ้าทั่วหน้า เมื่อเสร็จการพิธีในพระราชฐานจึงเสด็จออกเลียบพระนครเพื่อให้ประชาราษฎรได้โอกาศเฝ้าทั่วหน้ากันด้วย แต่ประเพณีการเลียบพระนครแห่เสด็จพระเจ้าแผ่นดินเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่คล้ายกับยกกองทัพผิดกับกระบวนแห่เสด็จในการพิธีอื่นทั้งนั้น ชวนให้สันนิษฐานว่าประเพณีเดิมเห็นจะเสด็จเลียบถึงเมืองที่รายรอบมณฑลราชธานี ต้องเสด็จโดยทางบกบ้างทางเรือบ้างและประทับรอนแรมเป็นระยะไปหลายวันจนกว่าจะรอบมณฑลราชธานี เพื่อบำรุงความสามิภักดิ์และให้ประจักษ์พระเดชานุภาพแก่ประชาชนทั้งหลาย ครั้นนานมาเห็นเป็นการลำบากโดยมิจำเป็น จึงย่นระยะทางลงเป็นเพียงเลียบพระนครราชธานีแล้วย่อลงมาอีกชั้นหนึ่ง คงแห่เสด็จเลียบรอบกำแพงพระนครแต่ทางเรือ ส่วนทางบกเป็นแต่แห่เสด็จเลียบรอบบริเวณพระราชวัง เห็นจะเป็นอย่างนี้มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงกระนั้นกระบวนแห่เสด็จเลียบพระนครยังกำหนดจำนวนพลถึง ๑๐๐๐๐ เป็นอย่างตํ่า และพึงสังเกตเห็นเค้าเงื่อนกองทัพได้ในริ้วกระบวนแห่ ที่กรมทหารทุกหมู่เหล่าตลอดจนข้าราชการที่เป็นตำแหน่งแม่ทัพนายกองเข้าเป็นตราริ้วในกระบวนทั้งสิ้น ไม่ใช่แต่ข้าราชการในราชสำนักเท่านั้น

การเลียบพระนครในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เลียบพระนครทางเรือเคยมีแต่ ๒ ครั้ง คือในรัชกาลที่ ๑ เมื่อสร้างพระนครและเครื่องเฉลิมพระราชอิสสริยยศต่างต่าง รวมทั้งเรือกระบวนแห่เสด็จสำเร็จแล้วทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามตำราเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงเสด็จเลียบพระนครทั้งทางบกและทางเรือครั้ง ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ (ได้ยินว่าเพราะประจวบกับเวลาที่ได้ซ่อมแซมเรือกระบวนเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓) จึงมีการเลียบพระนครทั้งทางบกและทางเรือ อีกครั้ง ๑ เมื่อพระบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ ๒ และ รัชกาลที่ ๓ มีแต่เลียบพระนครทางบก ถึงรัชกาลที่ ๕ จึงมีการเลียบพระนครแต่ทางบกอย่างเดียว[๑๔๔]

กระบวนแห่เสด็จเลียบพระนครทางบก[๑๔๕] เป็นทำนองเดียวกันทุกรัชกาล จัดกระบวนเป็นตอน คือ ตอนที่ ๑ พวกเสนากรมต่างๆ เดินเป็น ๘ สายนำหน้า ตอนที่ ๒ กระบวนหลวง ตอนที่ ๓ เสนากรมต่างๆ กระบวนหลังเดิน ๘ สาย ตอนที่ ๔ กระบวนเจ้านายทรงม้า และเสนาบดีนั่งเสลี่ยงหรือแคร่ตามบันดาศักดิ์ตามเสด็จด้วยเป็นที่สุด กระบวนแห่เปลี่ยนแปลงบ้างแต่เมื่อมีทหารอย่างใดจัดขึ้นในรัชกาลก่อน ถึงรัชกาลหลังก็เพิ่มทหารอย่างนั้นเข้าในกระบวนแห่ด้วย.

ในรัชกาลที่ ๕ เสด็จเลียบพระนครเมื่อวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะโรงฯ เมื่อก่อนวันแห่เจ้าพนักงานแต่งทางถนน “เกลี่ยทรายราบรื่น”[๑๔๖] สองข้างทางปักฉัตรเบญจรงค์ ๗ ชั้น กั้นราชวัตรผูกต้นกล้วยอ้อยและธงกระดาดรายเป็นระยะ และมีปี่พาทย์กลองแขกเครื่องประโคม และตั้งร้านน้ำสำหรับบริโภคไว้ด้วยทุกระยะที่แห่งใดเป็นหัวถนนหนทาง ก็มีพวกทหารกรมอาสาหกเหล่าไปตั้งกระโจมหอกจุกช่องทุกแห่งไป เป็นอย่างทหารรายทางในสมัยนั้น อนึ่งแต่ก่อนมามีประเพณีบังคับเจ้าของเรือนบรรดาอยู่ริมทางแห่เสด็จให้ปิดประตูหน้าต่า[๑๔๗] แต่เมื่อเสด็จเลียบพระนครในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลิกหัามนั้นเสีย พระราชทานอนุญาตให้ผู้อยู่บ้านเรือนริมทางเสด็จเปิดประตูหน้าต่างได้ตามชอบใจ จึงเกิดมีการตั้งเครื่องสักการะบูชาตามบ้านเรือนซึ่งเสด็จผ่านไป ถึงครั้งนี้ก็เหมือนกัน ส่วนกระบวนแห่เสด็จนั้น

ที่ ๑ กระบวนทหารม้า เสนากองหน้า ขุนโจมพลล้านกับขุนสท้านพลแสน แต่งตัวสวมสนับเพลานุ่งผ้าเกี้ยว ใส่เสื้อแพร โพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง ขัดดาบ ขี่ม้าถือธงห้าชาย หักทองขวางนำกระบวนคู่ ๑ แล้วถึงทหารม้าเกราะทอง (แต่งเครื่องเกราะทองอย่างฝรั่ง[๑๔๘]) ถือขวาน และกรมม้าแต่งอย่างฮ่อ ถือเกาทัณฑ์ เป็นกระบวนขี่ม้าทั้งสิ้น

ที่ ๒ กระบวนฝรั่งแม่นปืน (แต่งตัวอย่างฝรั่ง[๑๔๙]) ลากปืนจำรง ๔ กระบอก

ที่ ๓ กรมม้าขี่ม้าถือธงฉานและธงยันต์แถวหนึ่ง แล้วถึงพระยาสีหราชเดโชชัย แต่งตัวสวมสนับเพลานุ่งยก ใส่เสื้อโหมดโพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง ขัดดาบ นั่งแคร่คนหามนำกระบวน[๑๕๐] พระยาราชวรานุกูล ปลัดทูลฉลองมหาดไทย พระยาศรีสรราชภักดี ว่าที่ปลัดทูลฉลองกลาโหม แต่งตัวสรวมสนับเพลานุ่งยก ใส่เสื้อ โพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง ขัดดาบ ขี่ม้านำริ้วคู่กัน เป็นประตูหน้า ต่อนั้นถึงกระบวรเสนาเดิน ๘ สาย สายนอกข้างละ ๒ สาย กรมเดียวกัน สายในเดินกลาง ๔ สายกรมเดียวกัน นายแต่งตัวเครื่องทรงประพาส ขัดดาบ ขุนหมื่นไพร่นุ่งกางเกงใส่เสื้อเสนากุฎหมวกหนัง

ที่ ๔ สายนอก ธงทหาร แล้วถึงปี่พาทย์ ๔ สำรับนำขบวนทหารอย่างยุโรป ถือปืนคาบศิลา

สายในกระบวนกรมอาสาจาม ถือหอกคู่[๑๕๑]

ที่ ๕ สายนอก ทหารเกณฑ์หัดถือปืน (ราง) แดง สายใน คนถือธงยันต์ ๔ คน

นำกระบวนกรมล้อมวังถือดาพโล่ห์

ที่ ๖ สายนอก กรมทหารรักษาพระองค์ ถือปืนปลายหอก

สายใน คนถือธงยันต์ ๔ คน นำกระบวนอาสาใหญ่ ถือดาพเชลย

ที่ ๗ สายนอก เหมือนก่อน[๑๕๒]

สายใน ก็เหมือนก่อน เป็นกระบวนมอญกรมดั้งทอง ถือดาพดั้ง

ที่ ๘ สายนอก เหมือนก่อน

สายใน เป็นกระบวรมอญกรมอาทมาท ถือดาพ

ที่ ๙ สายนอก เหมือนก่อน

สายใน เป็นกระบวนกรมเขนทอง ถือเขนแบกดาพ

ที่ ๑๐ สายนอก เหมือนก่อน

สายใน เป็นกระบวนกรมทำลุ ถือธนูหางไก่

ที่ ๑๑ สายนอก เหมือนก่อน

สายใน เป็นกระบวนกรมอาสาญี่ปุ่น ถือขวานจีนด้ามยาว

ที่ ๑๒ สายนอก เหมือนก่อน

สายใน เป็นกระบวนกรมท่า ถือเสโลห์ หมดกระบวนหน้าเพียงนี้

กระบวนหลวง

ที่ ๑๓ ตำรวจถือธงฉานแถวหนึ่ง ๘ คน

ที่ ๑๔ สายนอก ตำรวจขัดดาพ

สายใน มโหรธึก กลองชนะ

ที่ ๑๕ สายนอก ตำรวจถือหอก

สายใน แตรฝรั่ง แตรงอน สังข์ เครี่องสูง และพระแสงหว่างเครื่อง[๑๕๓]

ที่ ๑๖ ลายนอก (แถวนอก) นายเวร จ่า ปลัดกรม เจ้ากรมตำรวจหน้า สายนอก (แถวใน) หุ้มแพร จ่า นายเวร หัวหมื่น มหาดเล็กภายใน พระกรรม์ภิรมย์ ธงชัยราชกระบี่ธุช ครุธพ่าห์ พราหมณ์

ที่ ๑๗ พระที่นั่งพุดตาลที่เสด็จประทับ มีกำนัลเชิญพระกลด บังสูริย์ พัดโบก ทวยพระสุพรรณศรี ทวยเงินทรงโปรยสองข้าง พระยานมาศมีกรมวังและคู่เคียงต่อออกไปถึงอินทรพรหม

ที่ ๑๘ สายนอก เจ้ากรม ปลัดกรม นายเวรตำรวจหลัง[๑๕๔] คือ กรมพลพัน กรมทหารใน กรมรักษาพระองค์ กรมทนายเลือกต่อนั้นถึงพวกกรมรักษาพระองค์ ถือปืนทองปราย.

สายในมหาดเล็กเชิญเครื่อง ชาวพระคลังมหาสมบัติเชิญพานเงินตราภูษามาลาเชิญพานพภูษา มหาดเล็กเชิญพระแสง เครื่องสูงหลังมโหรธึกกำนัลเชิญพระแสงพระราชยานที่นั่งรอง พระวอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ๒ พระองค์ ทรงด้วยกัน ม้าพระที่นั่งผูกเครื่องกุดั่น ๒ ม้า รถพระที่นั่ง ๔ หลัง หมดกระบวนหลวงเพียงนี้

เสนากองหลัง

ที่ ๑๙ สายนอก รักษาพระองค์ถือปืน

สายใน ขุนหมื่น ๔ คนถือธงยันต์นำกระบวนเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง ถือปืนหลังม้า

ที่ ๒๐ สายนอก เหมือนก่อน

สายในก็เหมือนก่อน เป็นกระบวนกรมทวนทอง ถือทวน

ที่ ๒๑ สายนอก เหมือนก่อน

สายในเป็นกระบวนกรมทหารใน ถือง้าว

ที่ ๒๒ สายนอก ในริ้วไม่มี (แต่เข้าใจว่าเหมือนก่อน)

สายใน เป็นกระบวนกรมอาสารอง ถือตรี (สามง่าม)

ที่ ๒๓ ลายนอก ในริ้วไม่มี

สายในเป็นกระบวนกรมเรือกัน ถือตะบองทอง

ที่ ๒๔ พระยาศรีสิงหเทพ พระนรินทรราชเสนี ปลัดบัญชีมหาดไทย กลาโหมเดินคู่กันเป็นประตูหลัง

ที่ ๒๕ กรมทหารปืนใหญ่ (ญวน) ลากปืนใหญ่ ๔ กระบอก หมดกระบวนเสนาเพียงนี้

ที่ ๒๖ เจ้านายแต่งพระองค์ “อย่างเทศ” ทรงม้าตามเสด็จ ๑๐ คู่[๑๕๕]

คู่ที่ ๑ พระเจ้าบวรวงศเธอชั้น ๒ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ กับพระเจ้าราชวรวงศเธอกรมหมื่น (ภายหลังเป็นกรมขุน) ภูวนัยนฤเบนทราธิบาล

คู่ที่ ๒ พระเจ้าวรวงศเธอ กรมหมื่นอักษรสารโสภณ (ภายหลังเป็นกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ) กับพระเจ้าราชวรวงศเธอ กรมหมื่น (ภายหลังเป็นกรมขุน) เจริญผลพูลสวัสดิ์

คู่ที่ ๓ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร (กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์) กับพระองค์เจ้าคัคณางคยุคล (กรมหลวงพิชิตปรีชากร)

คู่ที่ ๔ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์(กรมหลวงอดิศรอุดมเดช) กับพระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ (กรมหมื่นภูธเรศร์ธำรงศักดิ์)

คู่ที่ ๕ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ (กรมหลวงประจักษศิลปาคม) กับพระองค์เจ้าเกษมสันตโสภาคย์ (กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์)

คู่ที่ ๖ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์ (กรมหมื่นราชศักดิสโมสร) กับพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัย

คู่ที่ ๗ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค (กรมหมื่นทิวากรวงศประวัติ) กับพระองค์เจ้าศรีสิทธิธงชัย (กรมขุนศิริธัชสังกาศ)

คู่ที่ ๘ พระเจ้าบวรวงศเธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าสุธารส กับพระองค์เจ้าวรรัตน (กรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์)

คู่ที่ ๙ พระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าภาณุมาศ กับพระองค์เจ้าหัสดินทร์ (กรมหมื่นบริรักษ์นรินทร์ฤทธิ์)

คู่ที่ ๑๐ พระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าเบญจางค์ กับพระองค์เจ้าเนาวรัตน (กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์)

กระบวนเสนาบดีมีแต่เจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายกคนเดียว[๑๕๖]

ถึงวันพุธ เดือนอ้ายขึ้น ๔ ค่ำ เวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ทรงเครื่องพระภูษาเขียนทอง ฉลองพระองค์เยียรบับสายรัดพระองค์ประดับเพ็ชร์ ทรงพระมหาสังวาลนพรัตน์ และพระธำมรงค์เพ็ชร์ เหน็บพระแสงตรี ฉลองพระองค์ครุยกรองทองชั้นนอก ทรงพระมหาชฎาพระกลีบ เสด็จขึ้นประทับพระที่นั่งพุดตาล เวลาเช้า ๑๐ นาฬิกายิงปืนใหญ่ให้สัญญาแล้วเคลื่อนกระบวนพยุหยาตราออกจากพระบรมมหาราชวังไปทางประตูวิเศษชัยศรี ทรงโปรยเงินพระราชทานชาวพระนคร ประทักษิณพระบรมมหาราชวังไปทางถนนหน้าพระลาน ถนนสนามชัย หยุดกระบวนประทับที่วัดพระเชตุพน[๑๕๗] ที่หน้าวัดปลูกโรงไว้เป็นที่รับฝรั่งชาวต่างประเทศ นายพลเรือเกบเปลแม่ทัพเรืออังกฤษที่เมืองจีน กับนายทหารเรือและกงสุลแลพ่อค้าฝรั่งต่างประเทศไปคอยเฝ้าอยู่ด้วยกันณที่นั้น โปรดให้แม่ทัพนายเรืออังกฤษกับกงสุลต่างประเทศเฝ้าที่พลับพลาวัดพระเชตุพน และพระราชทานดอกพิกุลทองและเงินของสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เป็นที่ระลึกด้วยทั่วกัน เมื่อเสด็จนมัสการพระที่ในพระอุโบสถเสร็จแล้ว เคลื่อนกระบวนแห่ไปทางถนนท้ายวัง เลี้ยวเข้าประตูสุนทรพิศาลทิศ สกัดใต้มาทางท้ายสนม (เจ้านายฝ่ายในเสด็จออกทอดพระเนตรแห่ที่โรงทาน[๑๕๘] ออกประตูพิทักษบวรสกัดเหนือเลี้ยวถนนหน้าพระลาน มากลับเข้าประตูวิเศษชัยศรี เสด็จกลับขึ้นเกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์เป็นเสร็จการเลียบพระนคร[๑๕๙]



[๑๔๔] แต่เมื่อทำพิธีบรมราชาภิเษกคราวปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ มีการเลียบพระนครทั้งทางบกและทางเรือ

[๑๔๕] ริ้วกระบวนแห่เสด็จเลียบพระนครคราวปีมะโรง ข้าพเจ้าค้นพบเมื่อแต่งหนังสือนี้ ๒ ฉะบับ ฉะบับหนึ่งดูเป็นริ้วกระบวนเมื่อก่อนแห่ อีกฉะบับหนึ่งเป็นจดหมายเหตุพรรณนากระบวนอย่างย่อ ๆ เมื่อแห่แล้ว ทั้ง ๒ ฉะบับมีแตกต่างกันอยู่บ้าง ต้องใช้ความสันนิษฐานตัดสินในบางแห่ง

[๑๔๖] ในสมัยนั้นไม่ได้ทำถนนถมศิลาสำหรับใช้รถ ถนนรอบพระบรมมหาราชวังปูด้วย “อิฐ” รูแผ่นใหญ่ พื้นที่ขรุขระ เวลามีการแห่จึงต้องโรยทราย

[๑๔๗] ประเพณีนี้ได้มาแต่เมืองปักกิ่ง แต่จะได้มาครั้งไหนหาทราบไม่

[๑๔๘] ชื่อกรมม้าเกราะทองมีมาแตโบราณ มาแต่งเครื่องเกราะอย่างฝรั่งเศสเมื่อรัชกาลที่ ๔

[๑๔๙] กรมฝรั่งแม่นปืนปรากฏในพงศาวดารว่ามีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อรัชกาลสมเด็จพระขัยราชาธิราช

[๑๕๐] พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นตำแหน่งแม่ทัพ บังคับเสนากองต่างๆ กระบวนหน้า ควรสังเกตเครื่องแต่งตัวที่โพกผ้าสีทับทิมขลิบทองนั้นแสดงว่าเครื่องแต่งศีร์ษะข้าราชการแต่โบราณมี ๒ อย่าง คือ ลอมพอก (ก็ผ้าโทกนั้นเองแต่โพกเป็นทรงสูงและมีเครื่องประดับ) อย่าง ๑ ผ้าโพกอย่าง ๑ สันนิษฐานว่าผ้าโพกใช้เวลาออกสงคราม ลอมพอกใช้ในการพิธี

[๑๕๑] กองที่ ๔ นี้ จะแต่งตัวอย่างไรสงสัยอยู่ ทหารอย่างยุโรป บางทีจะแต่งอย่างทหารฝรั่ง และพวกอาสาจามก็จะแต่งอย่างแขก

[๑๕๒] ในริ้วกระบวนไม่บอกชื่อกรมไว้ สันนิษฐานว่าจะเป็นกรมรักษาพระองค์นั้นเอง

[๑๕๓] กองที่ ๑๓ ที่ ๑๔ ที่ ๑๕ แต่งตัวอย่างไรสงสัยอยู่ ตำรวจเลวเห็นจะนุ่งผ้าพื้นใส่เสื้อขาว คาดรัดประคต แต่พวกมโหรธึกและกลองชนะนั้นนุ่งกางเกงแดงเสื้อแดง หมวกกลีบลำดวนแดง พวกแตรสังข์ใส่เสื้อแดงกางเกงแดงหมวกถุง พวกเชิญเครื่องก็นุ่งกางเกงริ้วสรวมลอมพอกแดงมาแต่ก่อนแล้ว

[๑๕๔] ตำรวจตั้งแต่นายเวรขึ้นไป มหาดเล็กตั้งแต่หุ้มแพร ที่เข้าริ้วตลอดจนคู่เคียงแต่งสรวมสนับเพลา นุ่งผ้าสมปักลายเสื้ออัตหลัด เข้มขาบแล้วสรวมเสื้อครุย สพายกระบี่ตามยศ โพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง ไม่ใช้ลอมพอก มหาดเล็กกรมวังที่เชิญเครื่อง และตามเสด็จในกระบวน ไม่สรวมเสื้อครุยหรือขัดดาบ.

[๑๕๕] ในริ้วกระบวนไม่ลงพระนาม แต่สืบถามได้ความดังกล่าวไว้ในนี้.

[๑๕๖] ด้วยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และเสนาบดีจตุสดมภ์ป่วยเจ็บแก่ชรา ๗ คน กรมขุนวรจักร์ก็เป็นเจ้านาย

[๑๕๗] การหยุดประทับที่วัดพระเชตุพน พึ่งมีขึ้นเมื่อเลียบพระนครครั้งรัชกาลที่ ๔

[๑๕๘] โรงทานเดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว อยู่ตรงที่สร้างตึกหลังข้างเหนือประตูศรีสุนทร

[๑๕๙] ปรากฏในจดหมายเหตุฝรั่งว่า เมื่อแห่แล้วกรมขุนวรจักร์ธรานุภาพ ซึ่งเป็นเสนาบดีบัญชาการกรมท่า เชิญพวกฝรั่งไปเลี้ยงที่วังด้วย.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ