ตอนที่ ๑๒

เรื่องรับทูตแลทำหนังสือสัญญาเมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ ๕

เมื่อข่าวว่าเปลี่ยนรัชกาลใหม่ในประเทศสยามทราบไปถึงนานาประเทศ ในชั้นแรกรัฐบาลต่างประเทศใคร่จะทราบว่าบานเมืองเป็นปรกติดีอยู่หรืออย่างไร ประเทศใดที่มีเรือรบอยู่ใกล้แดนสยาม ก็ให้เรือรบเข้ามาเยี่ยมเยือนฟังข่าว เมื่อเรือรบอังกฤษฝรั่งเศสแลอเมริกันเข้ามาเพื่อเหตุนี้ทั้ง ๓ ชาติ ส่วนพระเจ้าแผ่นดินแลประธานาธิบดีประเทศที่มีทางพระราชไมตรีต่างก็ประสงค์จะแสดงความอาลัยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลแสดงความยินดีถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีสายโทรเลขต่อกับประเทศสยามจึงมีพระราชสาส์นแลอักษรสาส์น ส่งมาให้กงสุลของประเทศนั้นๆ นำถวาย บางประเทศที่ได้เตรียมจะมาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศสยามอยู่แล้ว อาศัยเหตุที่เปลี่ยนรัชกาล จึงแต่งราชทูตพิเศษเข้ามาเฝ้าฯ ถามข่าวในคราวเดียวกับขอทำหนังสือสัญญาด้วยก็มี มีการรับแขกเมืองเป็นราชการสำคัญประการ ๑ ในตอนแรกขึ้นรัชกาลที่ ๕ รายการปรากฎในจดหมายเหตุต่างๆ ได้คัดแต่เนื้อความมารวบรวมเรียงเป็นลำดับตามที่เข้าเฝ้าฯ ก่อนแลหลังดังนี้

๑. ณ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๓ ค่ำปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ (ก่อนเสด็จเลียบพระนครวัน ๑) เสด็จออกเต็มยศอย่างน้อย นายพลเรือเกปเปล แม่ทัพกับนายทหารเรืออังกฤษเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

๒. ณ วันศุกร์ เดือนอ้ายขึ้น ๖ ค่ำ เสด็จเต็มยศอย่างใหญ่ซินยอวิยันนากงสุลเยเนอราลโปรตุเกศเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายพระราชสาส์นพระเจ้าลุดวิกประเทศโปรตุเกศ เรื่องสัตยาบันการทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีแต่ในรัชกาลที่ ๔

๓. ณ วันพฤหัศบดี เดือนห้า ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเส็ง เสด็จออกอย่างครึ่งยศ นายทหารเรืออเมริกันซึ่งรัฐบาลให้เข้ามาเยี่ยมเยือนเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งราชฤดี[๒๗๒]

๔. ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เสด็จออกอย่างครึ่งยศ พวกกงสุลกับนายห้างต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ (สันนิษฐานว่าพระที่นั่งราชฤดี)

๕. ณ วันพุธ เดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ เสด็จออกเต็มยศอย่างใหญ่ มิสเตอร์น็อกส์ กงสุลเยเนอราลอังกฤษเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

๖. ณ วันอังคาร เดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ เสด็จออกเต็มยศอย่างใหญ่ บารอนอันโธนีเปตส์ ราชทูตเอาสเตรียเข้าเฝ้าฯ ณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายพระราชสาส์นพระเจ้าฟรานสโยเสฟเอมปเรอเอาสเตรีย

๗. ณ วันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๖ คํ่า เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม (จะเป็นอย่างเต็มยศหรือครึ่งยศไม่ปรากฎในจดหมายเหตุ) ราชทูตเอาสเตรียเข้าเฝ้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์[๒๗๓] และเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ

๘. ณ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ เสด็จออกเต็มยศอย่างใหญ่ แฮร์ปอลเลศเลอ กงสุลปรุสเซียเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าวิลเฮมที่ ๑ มีมาในนามของสมาคมประเทศเยอรมันฝ่ายเหนือ

๙. ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เสด็จออกเต็มยศอย่างใหญ่ นายพลจัตตวาบาตริซ กงสุลอเมริกันเข้าเฝ้าฯ ณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายอักษรสาส์นของประธานาธิบดีแอนดรูยอนสัน แห่งสหปาลีรัฐอเมริกา

๑๐. ณ วันอังคาร เดือน ๑๐ แรมค่ำ ๑ เสด็จออกเต็มยศอย่างใหญ่ ซินยอวิยันนา กงสุลเยเนอราลโปรตุเกศเข้าเฝ้าฯ ณพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าลุดวิก

๑๑. ณ วันพุธ เดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ เสด็จออกเต็มยศอย่างใหญ่ มองลิเออดีลอง กงสุลฝรั่งเศสเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายพระราชสาส์นของพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ เอมปเรอฝรั่งเศส

๑๒. ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ เสด็จออกเต็มยศอย่างใหญ่ ซินยอตอลโฟบัตโซต์ ราชทูตสะเปญเข้าเฝ้าฯ ณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายอักษรสาส์นของกัปตันเยเนอราลเซอราโน ผู้สำเร็จราชการประเทศสะเปญ

๑๓. ณ วันศุกร์ เดือนยี่ แรม ๕ ค่ำ เสด็จออกเต็มยศอย่างใหญ่ กัปตันกอบเก กงสุลเดนมาร์กเข้าเฝ้าฯ ณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙

บรรดาแขกเมืองที่เฝ้าฯ เยี่ยมในตอนนี้ เมื่อเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ขอไปเฝ้าฯ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระมหาประสาทด้วยทุกราย

ประเพณีการเสด็จออกรับแขกเมืองในรัชกาลที่ ๕ นั่นชั้นแรกยังคงใช้ตามประเพณีอย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริแก้ไขแบบรับแขกเมืองครั้งกรุงศรีอยุธยาบ้างแต่เล็กน้อย ต่อมาจึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโดยลำดับจนเลิกแบบโบราณเปลี่ยนเป็นแบบใหม่หมดในรัชกาลที่ ๕

อันลักษณการรับแขกเมืองตามแบบโบราณนั้น[๒๗๔] ประเทศทางอาเซียถือคติผิดกันกับประเทศทางยุโรปหลายอย่าง ที่เป็นข้อสำคัญ คือ ประเพณีทางยุโรปยืนเฝ้า ทางตะวันออกยังใช้หมอบคลาน อีกประการหนึ่งทางยุโรปถือว่าตัวราชทูตเป็นผู้ต่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดินพระราชสาส์นเป็นแต่เอกสารนำราชทูต แต่ประเพณีทางอาเซียถือว่าพระราชสาส์นต่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ราชทูตเป็นแต่อย่างข้าราชการตามเสด็จ (คติอันนี้ประเทศลังกา พม่า มอญ ไทย แลเขมร ได้แบบมาจากอินเดียแต่โบราณ) เพราะเหตุนี้ตามประเพณีเดิม ซึ่งคงใช้มาจนสมัยตอนแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศมาถึงกรุงเทพฯ จึงจัดเรือเอกชัยลงไปรับพระราชสาส์น มีเรือกันยารับพวกทูตานุทูตแห่มาจากสถานกงสุลหรือเรือรบ ซึ่งเชิญพระราชสาส์นมา ครั้นมาถึงท่าขึ้นบก[๒๗๕] ก็เชิญพระราชสาส์นขึ้นยานมาศ ตัวราชทูตนั่งแคร่กั้นหัปทนหรือนั่งคานหาม แลพวกบริวารขี่ม้าบ้างเดินบ้างตามบรรดาศักดิ์ มีกระบวนทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรปแห่นำ ๑๐ โหล ถ้าเรือรบต่างประเทศเชิญพระราชสาส์นมาก็ยอมให้ทหารเรือรบขึ้นเดินแห่พระราชสาส์นต่อทหารไทยอีกกระบวนหนึ่ง แห่พระราชสาส์นจากศาลต่างประเทศที่ท่าเตียนมายังพระบรมมหาราชวัง ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชสาส์นไปยังพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ ก็แห่พระราชสาส์นจากพระบรมมหาราชวังโดยทำนองเดียวกัน[๒๗๖] ไปส่งมอบณสถานกงสุล หรือเรือรบซึ่งจะเชิญไป เป็นประเพณีมาดังนี้

การเสด็จออกรับแขกเมืองที่จัดต่างกันเป็นอย่างเต็มยศใหญ่ เต็มยศน้อยแลครึ่งยศนั้น ก็เนื่องแต่คติที่กล่าวมา ถ้าแขกเมืองเชิญพระราชสาส์นมาถวาย (ถึงแม้กงสุลอยู่ในประเทศนี้) ก็เสด็จออกรับอย่างเต็มยศใหญ่ ด้วยถือเกียรติยศพระราชสาส์นเป็นสำคัญ ถ้ามิได้เป็นการรับพระราชสาส์นแต่แขกเมืองเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูง เช่นแม่ทัพเรืออังกฤษ หรือราชทูตพิเศษเข้าเฝ้าฯ ทูลลา ก็เสด็จออกอย่างเต็มยศน้อย ถ้าแขกเมืองบรรดาศักดิ์ไม่ถึงชั้นสูงเช่นว่ามา ก็เสด็จออกรับอย่างครึ่งยศ ระเบียบการที่เสด็จออกรับแขกเมืองนั้น ถ้าเป็นการเต็มยศใหญ่ตั้งกองเสนาบลบาล[๒๗๗] ยืนช้างยืนม้าที่สนามพระราชวังชั้นนอกที่หน้าท้องพระโรงมีพวกสังข์แตรกลองชนะแลมโหรธึกประโคมเวลาเสด็จออกแลเวลาเสด็จขึ้น ที่ในท้องพระโรงตั้งเครื่องสูงรายรอบ ข้าเฝ้าแต่งตัวนุ่งสมปักลายใส่เสื้อเข้มขาบสวมเสื้อครุย ทอดเบาะแลตั้งเครื่องยศสำหรับเจ้านายแลเสนาบดีหมอบเฝ้าฯ ส่วนตัวราชทูตก็ทอดเบาะไว้ให้นั่งเสมอชั้นเสนาบดี เมื่อกระบวนแห่เข้ามาถึงในพระราชวัง เจ้าพนักงานเชิญพานสองชั้นซึ่งรองพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการเข้าไปตั้งในท้องพระโรง ส่วนพวกทูตานุทูตนั้นให้พักอยู่ที่เก๋งกรงนก[๒๗๘] ถึงเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาเขียนทองฉลองพระองค์เยียรบับสวมฉลองพระองค์ครุย[๒๗๙] เสด็จออกประทับบนพระที่นั่งเศวตฉัตร โปรดฯให้เบิกแขกเมืองเข้าเฝ้าฯ เมื่อแขกเมืองเข้าพระทวารไปถึงตรงหน้าฉานถวายคำนับพร้อมกันครั้งหนึ่ง แล้วเดินผ่านแถวขุนนางที่หมอบเฝ้าฯ ขึ้นไปถึงตรงที่เสนาบดีหมอบเฝ้าฯ ถวายคำนับอีกครั้งหนึ่งปลัดทูลฉลองกรมท่าทูลเบิกแล้ว ราชทูตกราบทูลสุนทรพจน์แลมีพระราชดำรัสตอบ แล้วเสด็จลงจากพระแท่นเศวตฉัตรมาประทับที่พระแท่นต่ำ อันเป็นที่เสด็จออกขุนนางโดยปรกติ ราชทูตเชิญพระราชสาส์นเข้าไปถวายต่อพระหัตถ์ ทรงรับพระราชสาส์นแล้วดำรัสอนุญาตให้ทูตานุทูตนั่ง ตัวราชทูตนั่ง (ขัดสมาธิ) บนเบาะ พวกบริวารนั่งบนพรมปูกับพื้นต่อลงไปข้างหลัง[๒๘๐] จึงมีพระราชปฏิสันฐานราชทูต ๓ นัด แล้วเสด็จขึ้น เจ้าพนักงานก็พาทูตานุทูตออกไปเลี้ยงที่เก๋งกรงนก เลี้ยงแล้วก็เป็นเสร็จการพิธี.

ถ้าเสด็จออกอย่างเต็มยศน้อย ไม่มีเสนากลบาทหรือยืนข้างม้าแลไม่มีกลองชนะเครื่องประโคมคงแต่แตรแลมโหรธึก ข้าเฝ้าแต่งตัวนุ่งสมปักไหมใส่เสื้อเข้มขาบ ไม่สวมเสื้อครุย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระภูษาไหมแลฉลองพระองค์เยียรบับเสด็จออกประทับเพียงพระแท่นต่ำที่สำหรับเสด็จออกขุนนาง[๒๘๑] ถ้าเสด็จออกครึ่งยศลดเครื่องแต่งลงเพียงนุ่งสมปักไหมใส่แพรสี แต่การเสด็จออกรับแขกเมืองอย่างครึ่งยศ ถ้าแขกเมืองเป็นฝรั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักโปรดฯ ให้เฝ้าฯ ไปรเวตที่พระที่นั่งราชฤดี ไม่มีพิธีอย่างเสด็จออกท้องพระโรง ในรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงประพฤติตามเยี่ยงอย่างเช่นนั้น.

ประเพณีรับแขกเมืองปรากฎในจดหมายเหตุว่า มีการแก้ไขในตอนเมื่อรัชกาลที่ ๕ สองอย่าง คือเลิกการแต่งเรือกระบวนลงไปแห่พระราชสาส์นมาแต่สถานกงสุล เปลี่ยนเป็นจัดเรือไฟลงไปรับมาอย่างปรกติ มาแห่ด้วยกระบวนบกจากศาลต่างประเทศเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง ได้ใช้ประเพณีตั้งแต่รับพระราชสาส์นสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียเป็นต้นมา ต่อมาเมื่อมองสิเออดีลองกงสุลฝรั่งเศสคนใหม่เข้ามาถึง เชิญพระราชสาส์นพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ เอมปเรอฝรั่งเศสมาถวายด้วย พอมาถึงก็แสดงความไม่พอใจประเพณีที่ไทยรับแขกเมืองว่าไม่เป็นเกียรติยศเพราะเกณฑ์ให้นั่งเฝ้ากับพื้น แต่แรกมองสิเออดีลองไปชวนมิสเตอร์น๊อกส์กงสุลเยเนอราลอังกฤษให้เข้าชื่อช่วยกันว่ากล่าวให้ไทยเปลี่ยนธรรมเนียม มิสเตอร์น๊อกส์ไม่ยอมเข้าชื่อ ด้วยอ้างว่าประเพณีไทยถึงให้ราชทูตนั่งกับพื้นก็มีเบาะให้นั่ง เหมือนกับเสนาบดีเห็นสมควรแก่เกียรติยศอยู่แล้ว ฝ่ายมองสิเออดีลองขัดใจไปชักชวนพวกกงสุลอื่นให้เข้าชื่อด้วย แล้วมีหนังสือขึ้นมายังกระทรวงการต่างประเทศ ว่าประเพณีการเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินตามแบบแผนในยุโรปถือว่าต้องยืนเฝ้าหรือถ้าจะให้นั่งเฝ้าก็ต้องเอาเก้าอี้มาตั้งให้นั่ง จึงจะสมควรแก่เกียรติยศ ที่ให้นั่งกับพื้นเห็นเป็นการเสื่อมเสีย จะยอมเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นเอมปเรอด้วยอาการเช่นนั้นไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไทยไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ต้องส่งพระราชสาส์นกลับคืนไปเสีย เรื่องนี้ถึงต้องปรึกษาหารือกันในรัฐบาลแล้วให้เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือตอบไปว่า ไทยก็ไม่ได้มีความประสงค์จะลบหลู่เกียรติยศราชทูต เมื่อมองสิเออดีลองไม่พอใจจะนั่งเบาะรัฐบาลก็ยอมให้ยืนเฝ้าตามประสงค์[๒๘๒] แต่นั้นมาก็เป็นอันเลิกประเพณีที่ยอมให้ราชทูตต่างประเทศนั่งเบาะเหมือนอย่างเสนาบดี ต้องยืนเฝ้าฯ จนตลอดเวลาเสด็จออก

การทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าขายกับต่างประเทศนั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ได้ทำกับ ๙ ประเทศดังกล่าวมาในตอนก่อน ประเทศอิตาลีก็มาขอทำหนังสือสัญญาแต่ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระยาสยามานุกูลกิจ สยามิศรมหายศ (คือ เซอรยอนเบาริง) ให้เป็นราชทูตพิเศษปรึกษาสัญญานั้น ฝ่ายพระเจ้าวิกตอโรอิแมลยวล พระเจ้าแผ่นดินอิตาลีก็ทรงตั้ง คอนติ ดิโบคริโอ ผู้แทนราชทูตอิตาลีในประเทศอังกฤษเป็นผู้ปรึกษาสัญญา สำเร็จได้ลงลายมือชื่อด้วยในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคมตรงกับวันเสาร์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตได้ ๒ วัน ต่อมาถึงเดือน ๖ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ พระเจ้าฟรานสโยเสพเอมปเรอประเทศเอาสเตรีย ทั้งเป็นพระเจ้าแผ่นดินฮังการี ทรงแต่งให้บารอน อันโธนี เปตส เป็นราชทูตพิเศษเข้ามาขอทำหนังสือสัญญา จึงโปรดฯ ให้พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๑ เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก ๑ เจ้าพระยาสุรวงศวัยวัฒน ที่สมุหกลาโหม ๑ เจ้าพระยาภานุวงศมหาโกษาธิบดี เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ๑ พระยาธรรมสารนิติ ผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ ๑ เป็นผู้ปรึกษาสัญญาตามแบบอย่างทำหนังสือสัญญาเมื่อรัชกาลก่อน[๒๘๓] ได้ลงชื่อทำหนังสือสัญญา เมื่อณวันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก พ.ศ. ๒๔๑๒ ตรงกับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๖๙

ครั้นถึงเดือนยี่ปีมะเส็งนั้น กัปตันเยเนอราล เซอราโน ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการ (ในสมัยไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน) ประเทศสะเปญแต่งให้ซินยออะดอนโฟ ปัตโตส์เป็นราชทูตพิเศษ เชิญอักษรสาส์นมาถวาย ขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีการค้าขาย ก็โปรดฯ ให้ผู้ซึ่งได้ปรึกษาสัญญากับราชทูตเอาสเตรียนั้น ปรึกษาสัญญากับราชทูตสเปญได้ทำหนังสือสัญญาเมื่อณวันพุธ เดือน ๓ แรม ๘ ค่ำปีมะเส็ง เอกศก พ.ศ. ๒๔๑๒ ตรงกับวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๐ แต่นั้นจึงได้มีจำนวนประเทศที่ได้ทำหนังสือสัญญามีทางพระราชไมตรีแลการค้าขายกับประเทศสยามรวม ๑๒ ประเทศด้วยกัน ต่อมาช้านานประเทศญี่ปุ่นกับรุสเซียจึงได้มาทำทางพระราชไมตรีอีก ๒ ประเทศ



[๒๗๒] พระที่นั่งราชฤดีองค์ที่กล่าวนี้เป็นตึก ๒ ชั้น อยู่ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สร้างในรัชกาลที่ ๔ ตรงที่สร้างพระที่นั่งจันทรทิพโยภาสเดี๋ยวนี้ เป็นที่เสด็จรับแขกเมืองเฝ้าฯ ไปรเวต เซอร์ยอนเบาริงก็เคยเฝ้าฯ ที่นั้น และได้แต่งพรรณนาไว้ในหนังสือเรื่องประเทศสยามที่เขาแต่ง

[๒๗๓] การที่ทรงรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เอาสเตรียคราวนี้ เป็นมูลเหตุอันหนึ่งซึ่งตั้งระเบียบเครื่องราชอิสสริยาภรณ์สยาม ดังจะปรากฎในที่อื่นต่อไปข้างหน้า

[๒๗๔] เรื่องประเพณีการรับแขกเมืองแต่โบราณ มีอธิบายพิศดารอยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๙.

[๒๗๕] เดิมขึ้นที่ท่าพระ ถึงรัชกาลที่ ๔ ย้ายไปขึ้นท่าเตียนด้วยจะใช้ตึกศาลต่างประเทศซึ่งสร้างขึ้นใหม่เป็นที่พักทูตานุทูตเมื่อก่อนแห่

[๒๗๖] ประเพณีแห่พระราชสาส์นไปต่างประเทศ แจ้งอยู่ในจดหมายเหตุหม่อมราโชทัยแต่งครั้งราชทูตไทยไปกรุงลอนดอนรัชกาลที่ ๔

[๒๗๗] กรมทหารต่าง ๆ อย่างโบราณกรมและหมวด

[๒๗๘] เดิมพักที่ศาลาลูกขุน เปลี่ยนมาพักที่เก๋งกรงนกเมื่อรัชกาลที่ ๔

[๒๗๙] เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ถ้ารับราชทูตพิเศษ เช่น เซอรยอนเบาริง เป็นต้น พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหามงกุฎ ดังปรากฎในรูปภาพฝรั่งเศสเขียน สันนิษฐานว่าทรงปรฺะพฤติตามแบบอย่างสมเด็จพระนารายน์มหาราช แต่ไม่ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลอื่น หรือในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระมหามงกุฎเวลาเสด็จออกแขกเมือง.

[๒๘๐] ในจดหมายเหตุของครอเฟิด ซึ่งเป็นทูตอังกฤษเข้ามาเมื่อรัชกาลที่ ๒ กล่าวว่าพวกทูตต้องนั่งลงถวายบังคม ๓ ครั้ง ๒ แห่งเป็นแต่มิต้องหมอบคลาน การถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์นั้น ก็มิใช่ธรรมเนียมทางตะวันออกปรากฎว่าเกิดขึ้นครั้งเชเวอเลียเดอโชมองราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาฝ่าฝืนธรรมเนียมเป็นครั้งแรก ถึงรัชกาลที่ ๔ รัตนโกสินทรพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าประเพณีฝรั่งถือว่าการถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์เป็นสำคัญ จึงโปรดฯ ให้รับใช้เป็นประเพณีไทยตั้งแต่ครั้งเซอรยอนเบาริง ราชทูตอังกฤษเข้ามาเฝ้าฯ เป็นต้นมา.

[๒๘๑] พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเล่าว่า “ถูกเกณฑ์ให้นอนออกแขกเมือง” เพราะพระแท่นที่สำหรับเสด็จออกขุนนางนั้นทอดพระที่บรรทมเป็นแบบมาแต่โบราณ แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นแต่ประทับเอกเขนก.

[๒๘๒] ได้ยินว่าเจตนาของมองซิเออดิลองนั้นจะให้ตั้งเก้าอี้ให้นั่งเฝ้าฯ ครั้นไทยตอบอนุญาตให้ยืนเฝ้าฯ ตามซึ่งตนอ้างว่าเป็นเกียรติยศ ก็มิรู้ที่จะแก้ไขปฏิเสธได้ประการใด

[๒๘๓] ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อยยังอยู่ก็เป็นผู้ปรึกษาสัญญาด้วย แต่ในรัชกาลที่ ๕ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่เข้าเป็นผู้ปรึกษาสัญญา คงเป็นด้วยถือว่าเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีหน้าที่ชี้ขาดแทนพระองค์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ