ตอนที่ ๔

ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ท่านผู้หญิงจัน (น้องกรมหมื่นนรินทรภักดี) เป็นมารดา เกิดในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะโรง[๖๗] พ.ศ. ๒๓๕๑ เมื่อได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อายุพอได้ ๖๐ ปี เรื่องประวัติของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เมื่อตอนรุ่นหนุ่ม ปรากฏว่าได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๒ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่นายชัยขรรค์ หุ้มแพร แต่ส่วนการศึกษานั้น มีเค้าเงื่อนทราบได้ในชั้นหลังว่า เห็นจะไม่ได้เรียนอักขรสมัยลึกซึ้งนัก ด้วยการเล่าเรียนของลูกผู้ดีในสมัยเมื่อท่านยังเยาว์วัยนั้นมักเป็นแต่ฝากให้พระภิกษุสอนตามวัดไม่กวดขัน จะรู้ได้มากหรือน้อยก็แล้วแต่ความนิยมของเด็ก แม้การที่เรียนวิชาสำหรับเป็นอาชีพเมื่อเติบใหญ่ ในสมัยนั้นก็มักเรียนโดยกระบวนฝึกหัดอบรมในสำนักผู้ปกครองคือบิดาเป็นอาทิ ดังเช่นบิดาเป็นช่างหรือเป็นแพทย์ บุตรก็ฝึกหัดศึกษาวิชานั้นจากบิดาต่อไป ฉะนี้เป็นต้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ คงจะได้ศึกษาราชการในสำนักของบิดาเป็นวิชาสำคัญสำหรับตัว และมีน้ำใจนิยมเรียนวิชารัฏฐาภิบาลยิ่งกว่าอย่างอื่นมาแต่หนุ่ม จึงไม่ปรากฏว่าท่านสันทัดในการช่าง[๖๘] หรือในการขี่ช้าง ม้า และวิชาอื่นอย่าง ๑ อย่างใด ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ชมมาก็แต่ข้อที่มีความสามารถฉลาดในกระบวนการบ้านเมืองอย่างเดียว

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นจะเป็นคนโปรดของพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ ด้วยบิดาของท่านเป็นผู้ซึ่งทรงชอบชิดสนิทสนม และมาได้รับราชการกรมท่าร่วมกันเมื่อปลายรัชกาล เพราะฉะนั้น พอถึงรัชกาลที่ ๓ จึงทรงตั้งบิดาของท่านให้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง และต่อมาโปรดให้บัญชาการกลาโหมเพิ่มเข้าอีกกระทรวงหนึ่ง ส่วนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นั้นก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่หลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ตั้งแต่ตอนต้นรัชกาลที่ ๓ (เห็นจะเป็นเมื่อเสร็จกิจอุปสมบทแล้ว[๖๙]ใน พ.ศ. ๒๓๗๑) พิเคราะห์ดูตามความที่ปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุเก่า ๆ ดูเหมือนความสามารถฉลาดหลักแหลมของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะเริ่มปรากฏแก่คนทั้งหลายตั้งแต่เมื่อเป็นหลวงสิทธิ์นายเวร เพราะเหตุการณ์ต่างๆให้โอกาศ ประกอบกับฐานะของท่านที่เป็นบุตรเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ซึ่งได้บังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันออกด้วย เป็นต้นว่า พอถึงรัชกาลที่ ๓ แล้ว ไม่ช้าไทยก็ทำหนังสือสัญญากับบริษัทอังกฤษซึ่งปกครองอินเดีย เริ่มมีการค้าขายเกี่ยวข้องขึ้นกับอังกฤษ ต่อนั้นมา (เมื่อเสร็จการปราบกบฏเวียงจันทน์แล้ว) ไทยก็เกิดรบกับญวน ต้องเตรียมรักษาปากน้ำเจ้าพระยาและเมืองจันทบุรี มิให้ญวนจู่มาทำร้ายได้โดยทางทะเล ในการปรึกษาทำหนังสือสัญญากับทูตอังกฤษก็ดี การสร้างป้อมและเตรียมกำลังรักษาเมืองสมุทรปราการก็ดี การสร้างเมืองจันทบุรีใหม่ที่บางกระจะก็ดี เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นบุตรผู้ใหญ่ ได้รับใช้เป็นผู้ช่วยบิดาของท่านในการทั้งปวง[๗๐] จึงเป็นโอกาศที่ได้แสดงคุณวุฒิให้ปรากฏ จะนำเรื่องมาสาธกพอเป็นอุทาหรณ์ ดังเช่น เมื่อบิดาของท่านลงไปสร้างเมืองจันทบุรี ตัวท่านเองรับต่อเรือกำปั่นรบ คิดพยายามทำเรือกำปั่นบริค[๗๑] อย่างฝรั่งขึ้นได้เอง แล้วเอาเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ โปรดพระราชทานชื่อว่า “เรือแกล้วกลางสมุทร” (แต่มีชื่อเรียกอย่างฝรั่งอีกชื่อหนึ่งว่า “เรือเอริล”) หมอบรัดเลได้กล่าวถึงเรื่องการต่อเรือลำนี้ไว้ในจดหมายเหตุ[๗๒] ดังนี้

“วันที่ ๒๖ ตุลาคม (พ.ศ. ๒๓๗๘) วันนี้ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปบนลำเรือบริค ซึ่งชื่อเรือเอริล เพื่อจะดูเรือชักใบเหลี่ยมลำแรกซึ่งสร้างในเมืองไทย และได้แล่นมาจากจันทบุรีเมื่อสองสามวันนี้ เป็นของถวายพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกซึ่งเอาแบบเรือยุโรปมาลองต่อในเมืองไทย และ (หลวงสิทธิ์) ขุนนางหนุ่ม (ผู้เป็นนายช่าง) นั้น ถ้ามีหุ่นเรือที่ใช้เป็นแบบ ก็ไม่ใช่หุ่นดี ทั้งความรู้ในเรื่องต่อเรือก็เป็นความรู้ซึ่งเก็บได้ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง จากเรือต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาสู่อ่าวนี้ เมื่อคิดเช่นนี้แล้วก็ต้องเห็นว่าบริคลำนี้ทำให้เห็นความสามารถในทางสร้างของท่านผู้นั้นเป็นอันมาก เรือลำนี้และสิ่งอื่นๆ ยังมีอีกที่ทำให้เห็นว่าขุนนางหนุ่มผู้นี้มีใจกว้างผิดคนสามัญที่เป็นไทย แท้จริงข้าพเจ้าคิดว่า ถ้าเทียบกับคนในเมืองสิวิไลซ์ที่กล่าวกันว่าเฉลียวฉลาด ท่านผู้นี้ก็คงไม่เหี่ยวลงไปเป็นแน่ ในเวลานี้ทราบตามข่าวที่กล่าวกันว่า ท่านผู้นี้กำลังต่อเรือระวางบรรทุกตั้งแต่ ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ ตัน อยู่ที่จันทบูรณ์หลายลำ ข้อที่ทำให้สบายใจในเรื่องคนชั้นที่เป็นพวกชักจูงการงาน ก็คือความกระหายอันมิรู้เสี่อมของพวกเหล่านั้นที่จะให้เกิดความจำเริญตามอย่างยุโรป”

ในจดหมายเหตุนั้น อีกแห่งหนึ่งหมอบรัดเลกล่าวว่า ได้ไปหาหลวงสิทธิ์นายเวรถึงบ้านเห็นเหย้าเรือนปลูกเป็นอย่างฝรั่ง และรักษาสะอาดสะอ้าน ที่ประตูบ้านเขียนอักษรโรมันเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า “ที่นี้เป็นบ้านหลวงสิทธิ์ ขอเชิญผู้เป็นมิตร” ดังนี้ อันความนิยมแบบอย่างฝรั่งดังปรากฏในสมัยนั้น เหตุด้วยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๑ มีพวกมิชชันนารีอเมริกันเริ่มเข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ มาสอนคริสต์ศาสนาและภาษาอังกฤษ กับทั้งรับรักษาไข้เจ็บไปด้วยกัน ครั้งนั้นไทยโดยมากมีความรังเกียจพวกมิชชันนารี ด้วยเห็นว่าจะมาสอนให้เข้ารีตถือศาสนาอื่น แต่มีบางคนซึ่งเป็นชั้นหนุ่ม หรือถ้าจะเรียกตามอย่างปัจจุบันนี้ก็ว่าเป็นจำพวกสมัยใหม่ ใคร่จะเรียนภาษาและวิชาของฝรั่งเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ไม่รังเกียจการที่จะคบหาสมาคมและศึกษาวิชาการกับพวกมิชชันนารี ในพวกสมัยใหม่ที่กล่าวนี้ ได้มาเป็นบุคคลสำคัญในชั้นหลัง ๕ คน คือ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวช พอพระราชหฤทัยใคร่จะเรียนภาษาและหนังสืออังกฤษ กับทั้งวิชาต่าง ๆ มีโหราศาสตร์เป็นต้น พระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพอพระราชหฤทัยจะทรงเรียนวิชาทหารเป็นที่ตั้ง ทั้งเรียนหนังสือเพื่อจะให้ทรงอ่านตำรับตำราได้เอง พระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์ไทยอยู่แล้ว ใคร่จะทรงศึกษาวิชาแพทย์ฝรั่ง แต่ไม่ประสงค์จะทรงเรียนภาษาอังกฤษ พระองค์ ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เมื่อยังเป็นหลวงสิทธิ์ นายเวรใคร่จะเรียนวิชาต่อเรือกำปั่นเป็นสำคัญ และภาษาอังกฤษก็ดูเหมือนจะได้เรียนบ้าง[๗๓] อีกคนหนึ่ง

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นจะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่จมื่นวัยวรนาถหัวหมื่นมหาดเล็ก เมื่อราวปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ ด้วยการทำสงครามกับญวณในปีนั้นปรากฏว่าพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้จัดกองทัพเรือ ใช้เรือกำปั่นที่ต่อใหม่เป็นพื้น และโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่ทัพใหญ่ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นที่จมื่นวัยวรนาถ เป็นนายทัพหน้ายกลงไปตีเมืองบันทายมาศ แต่ไปทำการหาสำเร็จดังพระราชประสงค์ไม่ ต่อมาพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มสร้อยนามพระราชทานว่า “จมื่นวัยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์”[๗๔] จะเป็นด้วยทำความชอบพิเศษอย่างไรหาทราบไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์ตามเหตุการณ์ในสมัยนั้นก็พอสันนิษฐานเค้าเงื่อนได้ ด้วยบิดาของท่านได้เป็นตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมกับกรมท่ารวมกัน ๒ กระทรวงมาหลายปี เมื่อเริ่มแก่ชราเข้าประกอบกับมีการอย่างฝรั่งเริ่มเกิดขึ้นอันตัวท่านไม่สันทัด ก็เป็นธรรมดาที่จะปรึกษาหารือบุตรซึ่งได้ศึกษาการนั้น และปลดเปลื้องกิจธุระในตำแหน่งให้บุตรช่วยทำต่างหูต่างตามากขึ้น ก็เป็นโอกาศที่จะให้ปรากฏคุณวุฒิของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แม้แก่พระญาณปรีชาของพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งขึ้นเป็นอันดับมา ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือจดหมายเหตุเรื่องเซอร์เจมสบรุก ทูตอังกฤษเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาเมื่อเดือน ๙ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ เป็นเวลาพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มทรงประชวรในคราวที่จะเสด็จสวรรคต เสด็จออกว่าราชการไม่ได้ จึงมีรับสั่งให้เขียนข้อพระราชดำริพระราชทานออกมาให้เสนาบดีกับผู้อื่นซึ่งทรงเลือกสรรโดยเฉพาะประชุมปรึกษากัน ความในกระแสรับสั่งแห่งหนึ่งว่า “การครั้งนี้เป็นการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรจะเอาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ได้ ก็แต่ว่าติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ จมื่นวัยวรนาถเล่าก็เป็นคนสันทัด หนักในอย่างธรรมเนียมฝรั่งก็ลงไปรักษาเมืองสมุทรปราการอยู่ แต่ทว่าเห็นจะได้พูดจาปรึกษาหารือกับเจ้าพระยาพระคลังแล้ว ก็เห็นจะถูกต้องกันกับเจ้าพระยาพระคลัง” ดังนี้ กระแสรับสั่งที่กล่าวมาพระราชทานออกมาเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๙ ขึ้น ๑๒ ค่ำ คือก่อนพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ๘ เดือน ปรากฏว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังเป็นที่จมื่นวัยวรนาถอยู่ เพราะฉะนั้น เห็นจะได้เลื่อนที่เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก[๗๕] เมื่อจวนจะสิ้นรัชกาลที่ ๓ และเป็นพระยาอยู่ไม่ถึงปีหนึ่ง ก็ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา

ในเวลาเมื่อใกล้จะสิ้นรัชกาลที่ ๓ นั้นมีเรื่องปรากฏว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ได้อาศัยสติปัญญาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ช่วยแก้ไขเหตุลำบาก (แต่เรื่องนี้จะต้องกล่าวย้อนขึ้นไปถึงต้นเรื่องก่อน)[๗๖] คือในรัชกาลที่ ๓ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตลง พวกข้าเจ้าต่างกรมพากันคาดว่า เจ้านายของตนจะได้เลื่อนขึ้นเป็นพระมหาอุปราชหลายกรม บางแห่งถึงเตรียมตัวหาผ้าสมปักขุนนาง และที่เป็นตำรวจหาหอกไว้ถือแห่เสด็จก็มี กิตติศัพท์นั้นทราบถึงพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เมื่อยังเป็นที่เจ้าพระยาพระคลัง และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ พระยาศรีพิพัฒน์กราบทูลความเห็นว่า ควรจะโปรดให้เลื่อนกรมเจ้านายที่มีความชอบเสียทันที จะได้ปรากฏแก่ข้าในกรมว่า เจ้านายของตนจะเลื่อนพระยศเป็นได้เพียงนั้นเอง ก็ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย[๗๗] เจ้านายซึ่งได้เลื่อนกรมครั้งนั้น ยังดำรงพระชนม์อยู่มาจนถึงสิ้นรัชกาลที่ ๓ หลายพระองค์ แต่กรมขุนพิพิธภูเบนทร์นั้นเกิดทรงหวาดหวั่น (เพราะข้าในกรมเคยอวดอ้างยิ่งกว่ากรมอื่น) เกรงเจ้าพระยาพระคลัง กับเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ จะพาลเอาผิดในเวลาเปลี่ยนรัชกาล[๗๘] ถึงเรียกระดมพวกเลกผาข้าในกรมเข้ามารักษาพระองค์ ที่วังไม่พอให้คนอยู่ ต้องให้ไปอาศัยพักอยู่ตามศาลาในวัดพระเชตุพน ความนั้นทราบถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ แต่ยังสงสัยจึงให้บุตร ๒ คน[๗๙] ไปตรวจดูว่าจะจริงอย่างว่าหรืออย่างไร ก็ไม่เห็นมีผู้คนอยู่ตามศาลามากผิดปกติ ไต่ถามได้ความว่าเป็นข้าในกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ทั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์จึงเรียกเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เรียนว่า ขอให้สงบไว้สักวันหนึ่งก่อน ในวันนั้นท่านรีบลงไปยังเมืองสมุทรปราการ เรียกพวกมหาดเล็กปืนเล็กเอาลงมาบรรทุกเต็มเรือกำปั่นลำหนึ่งแล่นขึ้นมาในกลางคืน พอเวลาเช้าถึงกรุงเทพฯ ให้เรือทอดสมอที่ท่าเตียน แล้วตัวท่านตรงไปเฝ้ากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ ทูลว่าบิดาให้มาทูลถามว่า ที่ทรงระดมผู้คนเข้าไว้มากมายเช่นนั้นมีพระราชประสงค์อย่างใด กรมขุนพิพิธฯ ตรัสตอบว่า ด้วยเกรงภัยอันตราย[๘๐] จึงเรียกคนมาไว้เพื่อจะป้องกันพระองค์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทูลว่า บิดาของท่านกับเสนาบดีช่วยกันรักษาราชการบ้านเมืองเป็นปกติอยู่ ไม่มีเหตุอันควรจะทรงหวาดหวั่นเช่นนั้น ขอให้ไล่คนกลับไปเสียให้หมดโดยเร็ว มิฉะนั้นจะให้ทหารมาจับเอาตัวไปทำโทษ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ก็จนพระหฤทัย ต้องให้ปล่อยคนกลับไปหมด

เรื่องประวัติของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อันเนื่องด้วยการถวายราชสมบัติ แก่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยได้ยินท่านผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาแต่ก่อนว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้คิดเห็นก่อนบิดาของท่านว่า ถ้าพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ราชสมบัติจะต้องได้แก่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองจึงจะเป็นปกติต่อไป อาศัยเหตุนั้นตัวท่านเมื่อยังเป็นที่จมื่นวัยวรนาถกับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เมื่อยังเป็นที่จมื่นราชามาตย์ ซึ่งมีความเห็นพ้องกัน จึงชวนกันปฏิสังขรณ์วัดดอกไม้[๘๑] ซึ่งอยู่ในสวนแห่งหนึ่งไม่ห่างไกลกับบ้านที่ท่านอยู่นัก แล้วกราบทูลขอคณะสงฆ์ธรรมยุติกาจากพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปครอง ก็เกิดมีกิจที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จไปทรงตรวจตราและสั่งสอนพระสงฆ์ซึ่งออกวัดไปใหม่เนืองๆ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็ได้โอกาศมาเฝ้าแหน เกิดวิสาสะประกอบกับสมานฉันท์ในความนิยมศึกษาวิชาความรู้ทางข้างฝรั่ง ก็เลยทรงชอบชิดสนิทสนมแต่นั้นมา ครั้นถึงเวลาปัญหาเกิดขึ้นจริงด้วยเรื่องรัชทายาท ท่านทั้งสองก็ได้เป็นกำลังสำคัญอยู่ข้างหลังบิดา ในการที่ขวนขวายให้พร้อมเพรียงกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงสถาปนาเจ้าพระยาพระคลังขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ตำแหน่ง “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” และทรงสถาปนาเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ตำแหน่ง “ผู้สำเร็จราชการพระนคร” แล้วทรงตั้งพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ “ว่าที่สมุหพระกลาโหม” และทรงตั้งจมื่นราชามาตย์เป็น “เจ้าพระยารวิวงศ์ ผู้ช่วยราชการกรมท่า”[๘๒] มาจนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ถึงพิราลัยใน พ.ศ. ๒๓๙๘ จึงโปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นอัครมหาเสนาบดี ที่สมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่ง และโปรดให้เจ้าพระยารวิวงศ์เป็นเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี (ต่อมาภายหลัง ทรงพระราชดำริว่า นามรวิวงศ์เป็นกาลกิณีกับตัวท่าน จึงทรงพระราชทานนามเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์) ที่เจ้าพระยาพระคลังเต็มตำแหน่ง

เรื่องประวัติของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าตามที่มีจดหมายเหตุปรากฏมามีข้อสำคัญอีกตอนหนึ่งก็เมื่อครั้งรัฐบาลอังกฤษให้เซอร์จอนเบาริงเป็นราชทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ (อธิบายเรื่องนี้ก็จะต้องกล่าวย้อนถอยหลังขึ้นไปสักหน่อย) คือ เมื่อรัชกาลที่ ๓ ไทยได้ทำหนังสือสัญญาค้าขายกับบริษัทอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ แล้วทำหนังสือสัญญาเช่นเดียวกันกับรัฐบาลสหปาลีรัฐอเมริกาเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๗๕ ตามสัญญานั้น ฝ่ายไทยยอมให้เรือกำปั่นของอังกฤษและอเมริกาเข้ามาค้าขายได้ในพระราชอาณาเขตโดยสะดวก ฝ่ายข้างอังกฤษและอเมริกันยอมให้ไทยเก็บค่าจังกอบตามขนาดปากเรือ ถ้าเป็นเรือบรรทุกสินค้าเข้ามา ค่าจังกอบวาละ ๑,๗๐๐ บาท ถ้าเป็นเรือเปล่าเข้ามาซื้อสินค้าค่าจังกอบวาละ ๑,๕๐๐ บาท เมื่อได้เสียค่าจังกอบแล้ว ไทยรับว่าจะไม่เรียกเก็บภาษีอื่นอีก ต่อมา พวกพ่อค้าอังกฤษและอเมริกันเกิดไม่พอใจ เหตุด้วยในสมัยนั้นการเก็บภาษีภายในใช้วิธีให้ผูกขาดอยู่เป็นพื้น คือมอบอำนาจให้เจ้าภาษีซื้อขาย สนค้าสิ่งซึ่งตนรับผูกได้แต่คนเดียว ใครมีสินค้าสิ่งนั้นจะขายก็ต้องขายแก่เจ้าภาษี ใครจะต้องการชื้อก็ต้องมาซื้อไปจากเจ้าภาษี ยังสินค้าซึ่งเป็นของมีราคามาก ดังเช่น นอแรด งาช้าง และดีบุก เป็นต้น ก็ผูกขาดเป็นของหลวง ขายซื้อได้แต่ที่คลังสินค้าแห่งเดียว นอกจากวิธีเก็บภาษีดังกล่าวมา ในสมัยนั้นทั้งในหลวงและเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยยังทำการค้าขายเองตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือแต่งเรือไปซื้อขายสินค้าถึงนานาประเทศบ้าง เช่าระวางเรือของผู้อื่นฝากสินค้าไปมาบ้าง พวกพ่อค้าฝรั่ง (ทั้งอังกฤษและอเมริกัน) กล่าวหาว่ารัฐบาลเก็บค่าจังกอบแล้วยังแย่งค้าขายและเก็บภาษีโดยทางอ้อมผิดกับหนังสือสัญญา ข้างฝ่ายไทยเถียงว่าไม่ได้ทำผิดสัญญา เพราะการที่เก็บภาษีขาเข้าขาออกเป็นประเพณีเดิม พวกฝรั่งมาขอเปลี่ยนเป็นเสียค่าปากเรือแทนก็ได้อนุญาตให้ตามประสงค์ เมื่อไม่สมัครเสียค่าปากเรือ จะกลับไปเสียภาษีขาเข้าขาออกอย่างเก่าเหมือนกับพ่อค้าแขกและจีนก็ได้ จะยอมให้เป็นไปตามใจสมัคร แต่ข้อที่ว่าค้าขายแข่งนั้น ในหนังสือสัญญาก็ไม่ได้รับว่าจะเลิกการค้าขายของหลวงหรือไม่ อนุญาตให้เจ้านายข้าราชการค้าขาย จะว่าทำผิดสัญญาอย่างไรได้ เกิดเป็นข้อโต้แย้งกันมาดังนี้หลายปี ในระหว่างนั้นเกิดสงครามอังกฤษกับจีน จีนแพ้ต้องยอมทำหนังสือสัญญาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ยอมยกเกาะฮ่องกง ให้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และยอมให้อังกฤษเข้าไปมีอำนาจในเมืองจีนหลายอย่าง พอการทางการเมืองจีนค่อยเรียบร้อย รัฐบาลอังกฤษก็แต่งให้เซอร์เจมสบรุกเป็นทูตเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ เพื่อจะขอแก้หนังสือสัญญา แต่มาประจวบเวลาพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังประชวรเมื่อคราวจะเสด็จสวรรคต ได้แต่พระราชทานกระแสพระราชดำริออกมาให้ข้าราชการผู้ใหญ่ปรึกษาหารือกันเจรจากับเซอร์เจมสบรุก ที่สุดก็ไม่ตกลงกันได้อีก เซอร์เจมสบรุกต้องกลับไปเปล่า และปรากฏว่าไปเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษว่าควรจะส่งกองทัพเรือเข้ามาบังคับให้ไทยทำหนังสือสัญญาเหมือนอย่างเมืองจีน แต่เผอิญประจวบเวลาทางเมืองไทยเปลี่ยนรัชกาล พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระองค์ทรงพระราชดำริโดยพระปรีชาญาณเห็นมาแต่เมื่อยังทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ว่าเหตุการณ์ทางประเทศตะวันออกไม่เหมือนแต่ก่อน ด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้น ซึ่งจะไม่ยอมแก้หนังสือสัญญานั้นไม่ได้ ฝ่ายข้างอังกฤษมาถึงสมัยนี้รัฐบาลมอบอำนาจให้เซอร์จอนเบาริง เจ้าเมืองฮ่องกงเป็นผู้มาจัดการทำหนังสือสัญญากับไทยให้สำเร็จ เซอร์จอนเบาริงทราบว่าพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาสันทัดภาษาอังกฤษ และมีพระราชอัธยาศัยกว้างขวาง เห็นว่าอาจจะทำสัญญากันได้โดยดี จึงมีจดหมายเข้ามาทำทางไมตรีให้มีต่อส่วนพระองค์เสียก่อนแล้ว ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ เซอร์จอนเบาริงจึงเชิญพระราชสาสน์ของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ขอทำหนังสือสัญญาอย่างในระหว่างประเทศที่มีอิสรศักดิ์เสมอกัน พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับรองเซอร์จอนเบาริงให้สมเกียรติยศ[๘๓] แล้วทรงตั้งข้าหลวง ๕ คน คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทพระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์องค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติองค์ ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คน ๑ เจ้าพระยา (ผู้ช่วยราชการกรมท่า) ว่าที่พระคลังคน ๑ ให้เป็นที่ปรึกษาข้อสัญญากับเซอร์จอนเบาริง

การปรึกษาสัญญาคราวนี้ เมื่อพิจารณาดูเรื่องราวที่ปรากฏในจดหมายเหตุ[๘๔] เป็นการลำบากมิใช่น้อย ด้วยอังกฤษได้วางแบบหนังสือสัญญาไว้เมื่อทำกับประเทศจีน เพื่อจะทำกับประเทศอื่นในทวีปอาเซียให้เป็นทำนองเดียวกันไม่ใช่มาปรึกษาหาความตกลงตามแต่จะสะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือถ้าว่าอีกอย่าง ๑ เสมออังกฤษร่างหนังสือสัญญาเข้ามาแล้ว ยอมให้ไทยแก้ไขแต่พลความ ใจความอันเป็นข้อสำคัญนั้น คือว่าด้วยอำนาจของกงสุลซึ่งจะให้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ข้อ ๑ สิทธิของคนในบังคับอังกฤษอันจะมาอยู่หรือมาค้าขายในเมืองไทย จะไม่ต้องอยู่ในบังคับของรัฐบาลไทยเพียงใดขอ ๑ แต่สองข้อนี้ดูเหมือนจะไม่สู้ลำบากในการปรึกษาเท่าอีกข้อ ๑ ซึ่งว่าด้วยเรื่องเก็บภาษี เพราะอังกฤษให้เลิกภาษีผูกขาดอย่างบิดซื้อบิดขาย (ตลอดจนวิธีซื้อขายของพระคลังสินค้า) เปลี่ยนเป็นเก็บภาษีมีพิกัดตามจำนวน (คือร้อยละเท่านั้นเท่านี้ในจำนวนสินค้า) และจำกัดอัตราภาษีศุลกากร เช่นเรียกภาษีสินค้าเข้าตามราคาได้เพียงร้อยละ ๓ เป็นต้น เมื่อเสียภาษีตามหนังสือสัญญาแล้ว ไทยต้องยอมให้คนในบังคับอังกฤษซื้อขายได้ตามใจ เว้นแต่สินค้าต้องห้ามบางอย่าง เช่น ฝิ่นและเครื่องอาวุธ ปืนไฟ เป็นต้น ข้อเปลี่ยนวิธีเก็บภาษีนี้ ฝ่ายไทยตั้งแต่สมเด็จเจ้าพระยาทั้ง ๒ เป็นต้น โต้แย้งขัดขวางอย่างแข็งแรง ด้วยเห็นว่าถ้าเลิกวิธีเก็บภาษีซึ่งเคยเป็นอย่างธรรมเนียมสืบมาช้านาน ผลประโยชน์อันเป็นกำลังของรัฐบาลก็จะเสื่อมสิ้นไป อีกประการหนึ่ง (ข้อนี้คิดดูในเวลานี้ก็ชอบกล) เห็นว่าการทำนาในเมืองไทย ได้ข้าวก็แต่พอเลี้ยงไพร่บ้านพลเมืองมิให้อัตคัด ถ้ายอมให้ชาวต่างประเทศมาซื้อข้าวเอาไปตามชอบใจ ก็จะเป็นเหตุให้ราษฎรอดอยาก อีกประการหนึ่ง (ซึ่งมิได้ปรากฏในจดหมายเหตุ แต่พอคิดเห็นได้) คือถ้าทำหนังสือสัญญาอย่างนั้นแล้ว มีฝรั่งเข้ามาค้าขายมากขึ้นก็จะมาค้าขายแข่ง พวกพ่อค้าในพื้นเมืองทั้งที่เป็นผู้มีบรรดาศักดิ์และมิได้มี พากันย่อยยับเพราะฝรั่งมีทุนมากกว่า อาศัยเหตุเหล่านี้ ในชั้นแรกการปรึกษาจึงติดขัด จนถึงเซอร์จอนเบาริงเตรียมตัวจะกลับ และว่าจะไปปรึกษากับราชทูตฝรั่งเศสราชทูตอเมริกันและแม่ทัพเรือของอังกฤษว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป ที่การปรึกษาสำเร็จได้ครั้งนั้นเพราะสติปัญญาของบุคคลแต่ ๒ คน คือพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[๘๕] พระองค์ ๑ กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คน ๑ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้แต่คอยทรงแนะนำอย่างว่าอยู่ข้างหลังฉาก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นตัวผู้ที่ได้เข้าพูดจาว่ากล่าวกับทูตอังกฤษ ทั้งในที่ประชุมข้าหลวงปรึกษาสัญญา ซึ่งประชุมกัน ณ จวนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์หลายๆ วันครั้ง ๑ แต่พูดจาปรึกษาหารือเป็นส่วนตัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เองแทบทุกวัน พระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น ดูเหมือนความข้อใดซึ่งเห็นว่า อังกฤษคงจะเอาให้จงได้ ให้ยอมให้เสียโดยดี แลกเอาข้อที่ไทยต้องการให้เขาลดหย่อนผ่อนผันให้[๘๖] สุดแต่ให้ได้ทำหนังสือสัญญากันโดยดีให้จงได้ อย่าให้ถูกฝรั่งเอากำลังมาบังคับเหมือนอย่างเมืองจีนและเมืองพม่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้อยู่กลางในระหว่างทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสอง สามารถชี้แจงผ่อนผันได้สนิททั้งสองข้าง จนเซอร์จอนเบาริงชมไว้ในจดหมายเหตุ เขียนในระหว่างที่ปรึกษาสัญญากันอยู่นั้นแห่งหนึ่ง เขียนเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๘๕๕ ว่า “ท่าน (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) ผู้นี้ ถ้าไม่เป็นเจ้ามายาอย่างยอด ก็เป็นคนรักบ้านเมืองจริง แต่จะเป็นเจ้ามายาหรือเป็นคนรักบ้านเมืองก็ตาม ต้องว่าเป็นผู้มีความฉลาดล่วงรู้กาลลํ้าคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ เป็นผู้มีกิริยาอัชฌาสัยอย่างผู้ดี และรู้จักพูดพอเหมาะแก่การ” อีกแห่งหนึ่งเขียนเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ว่า “นิสัยของอัครมหาเสนาบดี (คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าสรรเสริญยิ่งนัก แม้ท่านเป็นคนมีเกียรติเยี่ยมอยู่ในสกุลสูงศักดิ์ซึ่งเป็นยอดอยู่ในประเทศ และเป็นผู้มีส่วนมากที่สุดในการที่ให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ได้ครองราชสมบัติ ตัดความประสงค์พระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนผู้คิดจะขึ้นเสวยราชย์ จนได้รับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีก็ดี ท่านยังกล่าวแก่ข้าพเจ้าหลายครั้งว่า ถ้าข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายจะช่วยประชาชนให้พ้นความกดขี่ และช่วยบ้านเมืองพ้นความผูกขาด (แย่ง) เอาประโยชน์เป็นส่วนบุคคลแล้ว ก็จะช่วยข้าพเจ้าเหนื่อยด้วย และถ้าข้าพเจ้าทำการสำเร็จ ชื่อข้าพเจ้าก็จะเป็นที่ยกย่องต่อไปชั่วกาลนาน ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าทราบความบกพร่องต่าง ๆ โดยมิได้ปิดบังเลย และบางคราวพูดอย่างโกรธเกรี้ยว ต่อไปถ้าปรากฏว่าท่านผู้นี้มีใจจริงอย่างพูด ก็ควรยกย่องว่าเป็นคนรักบ้านเมืองและเป็นผู้มีใจดีเลิศ และฉลาดที่สุดคนหนึ่งที่จะหาได้ในประเทศตะวันออกเหล่านี้ ส่วนเงินนั้นท่านเป็นผู้ไม่ตระหนี่ กล่าวว่าเงินทำให้ร้อนใจ จึงใช้สอยเสียอย่างไม่เบียดกรอเลย ส่วนความยากที่มีในฐานะของตัวท่านนั้น ก็ชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบหมด แม้ความลำบากเกี่ยวกับผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันก็ไม่ปกปิด การที่ประเทศสยามมีเรือค้าขายเป็นอันมากนั้นก็เพราะท่านผู้นี้ คำที่เซอร์จอนเบาริงสรรเสริญนี้ ส่อให้เห็นว่าสติปัญญาสามารถของท่าน เป็นยอดเยี่ยมในข้าราชการสมัยนั้น

พอทำหนังสือสัญญากับอังกฤษแล้ว ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ นั้นเอง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ก็ถึงพิราลัย ต่อมาอีก ๒ ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติก็ถึงพิราลัย ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ แต่นั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นตัวหัวหน้าในเสนาบดี ทั้งโดยตำแหน่งและในราชการงานเมืองทั่วไป[๘๗] ด้วยตั้งแต่อังกฤษเข้ามาทำหนังสือสัญญาได้สำเร็จแล้ว ต่อมาไม่ช้า อเมริกันและฝรั่งเศสก็เข้ามาขอทำหนังสือสัญญาบ้าง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ไหนๆ ต้องทำสัญญากับฝรั่งแล้ว ทำให้หลายชาติด้วยกันดีกว่าปล่อยให้แต่ชาติหนึ่งชาติเดียวเข้ามามีอำนาจในบ้านเมืองเหมือนเป็นฉายาว่าประเทศสยามอยู่ในอำนาจของชาตินั้น เพราะฉะนั้นเมื่อชาติไหนมาขอทำหนังสือสัญญาก็รับทำ ด้วยเป็นพระบรมราโชบายตลอดมาในรัชกาลที่ ๔ เป็นแต่ระวังมิให้เสียเปรียบแก่สัญญาที่ทำมาแล้ว ก็การที่ได้ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งต่างชาติครั้งนั้น เป็นเหตุให้ต้องจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองหลายอย่าง เป็นต้นว่าแก้ไขวิธีเก็บภาษี เลิกผูกขาดซื้อขายอย่างแต่ก่อน เปลี่ยนเป็นวิธีเก็บตามจำนวน และต้องตั้งภาษีต่างๆ ขึ้นใหม่ทดแทนจำนวนเงินที่ขาด[๘๘] ทั้งคิดอ่านบำรุงการกสิกรรมและพาณิชยกรรมให้เพิ่มพืชผลพอแก่การค้าขาย เช่น ขุดคลองทางคมนาคมและเบิกที่ให้คนทำไร่นา คือ คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ เป็นต้น อนึ่ง เมื่อทำหนังสือสัญญาแล้ว มีฝรั่งเข้ามาค้าขายมากขึ้นโดยลำดับ และมีกงสุลเข้ามาตั้งคอยอุดหนุนฝรั่งพวกของตน ก็มีกิจการเกี่ยวข้องและความลำบากซึ่งมิได้เคยมีมาแต่ก่อนเกิดขึ้นต่าง ๆ การที่แก้ไขความลำบากต่างๆ กับฝรั่งได้นั้น อาศัยแต่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นสำคัญ ดูเหมือนจะคล้ายๆ กับพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแม่ทัพ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นเสนาธิการ ต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองมาจนตลอดรัชกาลที่ ๔ เมื่อความจำเป็นจะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเกิดขึ้น จึงไม่มีผู้อื่นนอกจากเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งสมควรจะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้

เพราะเหตุใดเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ข้อนี้ ถ้าว่าตามความเห็นของผู้รู้การครั้งนั้น โดยมากเห็นว่าเพราะท่านเกรงว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญวัยขึ้น ไม่พอพระราชหฤทัยที่มีผู้ว่าราชการแผ่นดิน ก็จะทรงขวนขวายเอาท่านออกจากตำแหน่ง จึงคิดให้มีพระมหาอุปราชขึ้นสำหรับกีดกันพระราชอำนาจ และเลือกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช ด้วยเห็นว่าคงเข้ากับวังหลวงไม่ได้ ก็จะต้องอาศัยท่านทั้งวังหลวงและวังหน้า พาให้ตำแหน่งของท่านมั่นคง เห็นกันอย่างว่ามานี้เป็นพื้น และมักเข้าใจกันว่า ท่านคิดขึ้นในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคต แต่เรื่องที่ผู้อื่นไม่รู้ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ว่าการที่จะให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราชนั้น ที่จริงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้คิดมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ และได้กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบด้วย[๘๙] เรื่องที่ปรากฏนั้นคือ วันหนึ่ง (สันนิษฐานว่า เมื่อต้นปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐) พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระทวารมุข พระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เข้าเฝ้าเป็นที่รโหฐาน มีแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคอยรับใช้อยู่ข้างพระขนองสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสสนทนากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ด้วยเรื่องราชการต่าง ๆ ตอนหนึ่งตรัสถึงเรื่องวังหน้า พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะตรัสปรารภอย่างไร และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะได้กราบทูลสนองว่ากระไร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงได้ยินถี่ถ้วน ได้ยินแต่คำพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นทำกำแพงกั้นปันเขตกันเสียที่ท้องสนามหลวงก็แล้วกัน” ดังนี้ ทรงสันนิษฐานว่า คงเป็นด้วยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูลอธิบายถึงเรื่องที่เห็นควรจะให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช และพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย แต่จะไม่ให้ขัดใจเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จึงตรัสตอบอย่างนั้น พิเคราะห์เรื่องที่แสดงมา ประกอบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในตอนปลายรัชกาลที่ ๔ เห็นว่าการตั้งพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๕ เป็นข้อวินิจฉัยสำคัญอันหนึ่งในเรื่องพงศาวดาร ยังไม่มีใครได้รวบรวมกรณีทั้งปวงเรียบเรียงไว้ให้ปรากฏ มีแต่ติเตียนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าเห็นแก่ตัวยิ่งกว่าบ้านเมือง ข้าพเจ้าจึงรวบรวมกรณีทั้งปวงมาแสดงไว้ในตอนนี้ เพื่อให้เห็นยุติธรรมในเรื่องประวัติของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

ปัญหาเรื่องรัชทายาทที่จะสืบสนองพระองค์พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มคิดขึ้นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ (ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๔ สามปี) ในเวลานั้นเจ้านายที่ฐานะอยู่ในฉายา อาจจะได้รับเลือกเป็นรัชทายาทมี ๓ พระองค์ คือ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษา ๑๓ ปี พระองค์ ๑

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ พระชันษา ๔๓ ปี พระองค์ ๑

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา พระชันษา ๔๖ ปี พระองค์ ๑

ฐานะของเจ้านาย ๓ พระองค์นั้น ถ้าเทียบตามตัวอย่างรัชทายาทที่เคยมีมาแต่ก่อน สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นเจ้าฟ้าพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เหมือนกับสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศมิได้ เป็นเจ้าฟ้า แต่เป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่เหมือนกับพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา เป็นเจ้าฟ้าพระราชอนุชา เหมือนกับพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ถ้าว่าโดยพฤติการณ์ ผิดกับตัวอย่างที่อ้างมาทั้ง ๓ พระองค์ เพราะพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเสวยราชย์พระชันษาถึง ๔๒ ปี ทั้งได้เป็นพระมหาอุปราช ที่รัชทายาทอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชย์เพราะสมเด็จพระบรมชนกนาถมีอาการประชวร ไม่ทรงสามารถจะตั้งรัชทายาทได้ เจ้านายกับข้าราชการจึงพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงเห็นว่าจะทรงสามารถปกครองแผ่นดินยิ่งกว่าพระราชวงศ์พระองค์อื่น ส่วนพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นเจ้าฟ้าราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งโดยปกติสมควรจะเป็นรัชทายาทตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ แต่ไม่ได้รับรัชทายาท เพราะพฤติการณ์ไม่เป็นปกติดังกล่าวมาแล้ว การที่มาพร้อมใจกันถวายราชสมบัติรัชกาลที่ ๔ เหมือนกับถวายคืนราชสมบัติอันควรจะเป็นของพระองค์มาแต่ก่อนผิดกันดังนี้ พิเคราะห์ความตามที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่า กรมหมื่นมเหศวรฯ ก็ดี สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาก็ดี ไม่ต้องที่จะได้รับราชสมบัติ มีแต่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์พระองค์เดียวซึ่งสมควรจะเป็นรัชทายาท คนทั้งหลายก็เห็นกันเช่นนั้น แม้จนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อรู้พระองค์ว่าจะไม่เสด็จอยู่ครองแผ่นดินก็ตรัสว่า “เจ้าใหญ่นี่ แหละจะเป็นที่พึ่งของญาติได้” ดังนี้ ถ้าหากในเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญพระชันษาได้สัก ๒๕ หรือ ๓๐ ปี ก็คงจะได้รับอุปราชาภิเษกแต่ในรัชกาลที่ ๔ เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไม่มีปัญหาที่ผู้อื่นจะเป็นพระมหาอุปราช

มูลของความลำบากในครั้งนั้นอยู่ที่เวลาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเยาว์วัย มีพระชันษาได้เพียง ๑๓ปี และพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระชราพระชันษาได้ถึง๖๒ ปี ถ้าเสด็จสวรรคตไปในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ก็จะต้องมีผู้อื่นว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์ไปจนทรงสมบูรณ์พระชันษาว่าราชการบ้านเมืองได้เอง ข้อนี้ที่เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเกิดความวิตก เพราะในกรุงรัตนโกสินทร์ยังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ มีตัวอย่างเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระเยาว์ทุกครั้ง ครั้งหลังที่สุดเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๑ พระเจ้าทรงธรรมมอบเวนราชสมบัติแต่พระเชษฐา ราชโอรส พระชันษา ๑๔ ปี ให้เจ้าพระยาสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อยู่ได้ไม่ถึง ๒ ปี เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เกลี้ยกล่อมเอาข้าราชการไปเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก สมเด็จพระเชษฐาธิราชสงสัยว่าจะคิดร้ายจะชำระ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เลยเป็นกบฏ จับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชปลงพระชนม์ชิงเอาราชสมบัติเสีย ตัวอย่างครั้งที่กล่าวนี้ยิ่งร้าย ด้วยคล้ายกับพฤติการณ์ในเวลานั้น ทั้งพระชันษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีตัวเจ้าพระยากลาโหมศรีสุริยวงศ์เด่นอยู่สำหรับจะเป็นผู้ว่าราชการแผ่นดิน ก็เกิดหวาดหวั่นกันว่า ถ้าพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตไปโดยด่วน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะชิงราชสมบัติ ถ้ามีข้าราชการบางหมู่เข้าพวก สัญญากันว่าจะคอยป้องกันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[๙๐] กิตติศัพท์ความหวาดหวั่นเช่นนั้น ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดลำบากใจแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มิใช่น้อย อีกประการหนึ่ง เวลานั้นพวกข้าราชการที่ชังท่านก็มีอยู่แล้ว ถ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคงจะมีผู้ชังมากขึ้นด้วยพ้นวิสัยที่จะบังคับบัญชาการให้ชอบใจคนไปได้หมด พวกที่ไม่ชอบก็จะพากันคิดร้ายด้วยประการต่าง ๆ เช่นทูลยุยงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นอริกับตัวท่านเป็นต้น และที่สุดจะว่าราชการบ้านเมืองในสมัยนั้นก็ลำบากด้วยฝรั่งเข้ามามีอำนาจกว่าแต่ก่อน ข้อความที่กล่าวมา ผู้มีสติปัญญาเช่นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ย่อมจะคิดเห็นและคิดหาทางแก้ซึ่งเห็นมีแต่ ๒ ทาง คือทางหนึ่ง หลีกตัวเสีย อย่าให้ต้องเป็นผู้ว่าราชการแผ่นดิน หรืออีกทาง ๑ ถ้าจำจะต้องเป็นผู้ว่าราชการแผ่นดินก็ให้มีอะไรเป็นเครื่องป้องกันอย่าให้คนทั้งหลายสงสัยว่าท่านจะชิงราชสมบัติ อันนี้น่าจะเป็นมูลความคิดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่ให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช ตรงตามที่ผู้อื่นคิดเห็นกันโดยมาก ท่านอาจจะคิดเห็นต่อไปว่าไม่มีการเสี่ยงภัยอันใดในเรื่องสืบราชสันตติวงศ์ด้วยกรมหมื่นบวรวิชัยชาญพระชันษาแก่กว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง ๑๖ปี คงจะล่วงลับไปก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๕ ไม่มีช่องจะได้รับรัชทายาท[๙๑]

ฝ่ายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คงทรงปรารภถึงเรื่องรัชทายาทมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พิเคราะห์เค้าเงื่อนตามรายการที่ปรากฏในตอนปลายรัชกาลที่ ๔ ดูเหมือนจะได้ทรงพระราชดำริตกลงในพระราชหฤทัยเตรียมการเป็น ๒ สถานดังกล่าวมาแล้ว ในตอนพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ

(๑) ถ้าพระองค์ดำรงพระชนม์อยู่จนปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ พอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระชันษาสมบูรณ์ ได้ทรงผนวชตามประเพณีแล้ว ก็จะมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน และส่วนพระองค์จะเสด็จออกเป็นพระเจ้าหลวง ช่วยคุ้มครองและแนะนำให้ทรงว่าราชการแผ่นดินไปจนตลอดพระชนมายุของพระองค์

(๒) ถ้าหากพระองค์จะเสด็จสวรรคตก่อนปีระกานั้นไซร้ ก็จะพระราชทานอนุญาตให้พระราชวงศ์กับข้าราชการผู้ใหญ่ปรึกษากัน ถวายราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์หนึ่งพระองค์ใด ตามแต่จะเห็นพร้อมกันว่าสมควรจะปกครองแผ่นดินได้ ด้วยทรงพระราชดำริดังกล่าวมา ทั้งในเวลานั้น พระเจ้าอยู่หัวก็เพิ่งโสกันต์จึงยังไม่ทรงแสดงพระราชปรารภในเรื่องรัชทายาท

ครั้นถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ กรมหมื่นมเหศวรสิ้นพระชนม์ ประจวบกับเวลาพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชันษาเป็นหนุ่ม พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเริ่มแสดงกระแสพระราชดำริเรื่องรัชทายาทให้ปรากฏ เช่นมีพระราชดำรัสแก่เจ้านายที่จะเลื่อนกรม ๔ พระองค์ดังแสดงมาแล้ว และคงจะได้ปรึกษาหารือกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ด้วย สันนิษฐานว่าในข้อที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกจากราชสมบัติไปเป็นพระเจ้าหลวงนั้น แม้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะไม่เห็นชอบด้วย ก็คงไม่กราบทูลดคัดค้าน แต่ข้อที่จะให้ตัวท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้น คงกราบทูลถึงความลำบากต่างๆ ซึ่งเกรงว่าตัวท่านจะไม่สามารถสนองพระเดชพระคุณได้ ฝ่ายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงทรงชี้แจงให้เห็นความจำเป็นด้วยไม่มีผู้อื่นจะเป็นได้ บางทีท่านจะได้กราบทูลขอผ่อนผัดตริตรองมาจนวันเข้าเฝ้า ณ ที่รโหฐานนั้น จึงกราบทูลความคิดว่า ถ้าจะให้ปลอดภัยในการที่มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท่านเห็นควรให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยฐานเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว คนทั้งหลายจะได้สิ้นสงสัยว่า ท่านจะชิงราชสมบัติ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย แต่ไม่กล้าขัดขวาง เพราะทรงพระราชดำริว่า ถ้าพระองค์สวรรคตแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะทำอย่างไรก็คงทำได้ จึงพระราชทานอนุมัติด้วยพระวาจา ดังเช่นพระเจ้าอยู่หัวทรงได้ยิน อันเห็นได้ว่าโดยไม่เต็มพระราชหฤทัย แต่ถึงกระนั้นก็ทรงปฏิบัติต่อมาตามพระบรมราชานุมัติ ข้อนี้มีปรากฏดังเช่นโปรดให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญลงไปเยี่ยมตอบราชทูตฝรั่งเศสด้วยกันกับพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อเสด็จออกรับเจ้าเมืองสิงคโปร์ที่พลับพลา ตำบลหว้ากอ ก็โปรดให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญหมอบเฝ้าอยู่ข้างหนึ่งเป็นคู่กับพระเจ้าอยู่หัว แต่ในทางราชการหาได้ทรงยกย่องกรมหมื่นบวรวิชัยชาญให้ผิดกับแต่ก่อนอย่างไรไม่ มาคิดดูว่าถ้าหากพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จดำรงพระชนม์อยู่จนได้ทรงมอบเวนราชสมบัติแก่พระเจ้าอยู่หัว จะทรงตั้งกรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราชหรือไม่ ก็เห็นว่าคงไม่ทรงตั้ง เพราะพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมทรงพระราชวิจารณ์โดยรอบคอบ ทรงเห็นการณ์ไกลกว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่เผอิญพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตไปโดยด่วน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราชตามที่คิดไว้ เพื่อจะให้ตัวท่านว่าราชการแผ่นดินได้สะดวก



[๖๗] คนสำคัญของประเทศสยามเกิดเป็นสหชาติกันในปีมะโรงนี้ ๔ คน คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระองค์ ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ๑ เจ้าพระยาภูธรากัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ที่สมุหนายก ๑

[๖๘] ต่อเมื่อมีตำแหน่งในราชการแล้ว จึงได้ศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นจนชำนิชำนาญ กับอีกอย่าง ๑ ดูเหมือนจะชอบศึกษาพงศาวดารจีนด้วย แต่ก็เป็นการชั้นหลังเหมือนกัน

[๖๙] สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์แม้เลื่อมใสและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ก็เป็นแต่ถือตามประเพณี ไม่ใคร่เอาใจเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยนัก ข้อนี้กล่าวกันว่า เป็นความบกพร่องในอุปนิสัยของท่านอย่างหนึ่ง

[๗๐] บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ที่ได้เป็นกำลังช่วยบิดาอีกคนหนึ่งในครั้งนั้น คือ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นที่จมื่นราชามาตยํในกรมตำรวจ

[๗๑] เป็นเรือชนิดใช้ใบเหลี่ยมทั้งเสาหน้าทั้งเสาท้าย

[๗๒] จดหมายเหตุที่หมอบรัดเลแต่งนั้น พิมพ์อยู่ในหนังสือบางกอกคาเลนดา เล่มประจำ ค.ศ. ๑๘๗๐ หน้า ๑๐๓

[๗๓] จะรู้ภาษาอังกฤษเพียงใดทราบไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินท่านพูดภาษาอังกฤษกับฝรั่งครั้งหนึ่ง ก็พูดเพียง ๒ คำเท่านั้น สันนิษฐานว่าเป็นจะรู้เพียงฟังเข้าใจได้ แต่การต่อเรือกำปั่นท่านศึกษาจนชำนิชำนาญไม่มีตัวสู้ในสมัยของท่าน ได้เป็นผู้ต่อตลอดมาจนเรือกำปั่นไฟในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕

[๗๔] นามนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุครั้งเซอร์เจมสบรุกเป็นทูตอังกฤษเข้ามา เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓

[๗๕] ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ได้เป็นที่พระยาสุริยวงศ์มนตรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ได้เป็นที่พระยาศรีสุริยวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็กทั้ง ๒ คน

[๗๖] เรื่องที่กล่าวตอนนี้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แสดงไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓

[๗๗] เรื่องครั้งนี้เป็นมูลเหตุ จึงเลยเป็นประเพณีที่เลี่อนกรม และตั้งกรมเจ้านาย เมื่อพระมหาอุปราชสวรรคตในรัชกาลหลัง ๆ ต่อมา

[๗๘] เรื่องที่จะกล่าวต่อไปตรงนี้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ท่านเล่าให้ฟัง

[๗๙] คือพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) เมื่อยังเป็นนายพลพันหุ้มแพรคน ๑ กับเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เมื่อยังเป็นมหาดเล็กคน ๑

[๘๐] คำว่าภัยอันตราย ในสมัยนั้นหมายความว่าได้กว้างออกไปจนถึงเช่นเกิดโจรผู้ร้ายกำเริบขึ้นในพระนคร หรือเกิดแย่งชิงราชสมบัติกัน เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต

[๘๑] ต่อมาพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า วัดบุปผาราม สันนิษฐานว่า ในสมัยนั้น เห็นจะเป็นวัดร้าง

[๘๒] สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ได้พระราชทานดวงตราสุริยมณฑลแล้ว ยังปรารถนาจะคงถือตราพระคชสีห์และตราบัวแก้วต่อมา พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องโปรดให้สร้างตราศรพระขรรค์สำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นอีกดวงหนึ่ง ครั้นถึงสมัยเมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ จะสั่งให้ประหารชีวิตคนในหัวเมือง รังเกียจการที่จะไปขอให้เสนาบดีมหาดไทยประทับตราจักรตามประเพณีเดิม จึงใช้ตราศรพระขรรค์ประทับสั่งประหารชีวิต กลายเป็นคู่กับตราจักรต่อมา

[๘๓] ทูตอังกฤษที่เคยเข้ามาก่อนนั้น หมอครอเฟิดที่มาเมื่อรัชกาลที่ ๒ และเฮนรี่เบอนีที่มาเมื่อรัชกาลที่ ๓ เป็นแต่ทูตของผู้สำเร็จราชการอินเดีย เซอร์เจมสบรุกมาจากประเทศอังกฤษ ก็เป็นแต่ถือศุภอักษรของอัครมหาเสนาบดีมา แต่เซอร์จอนเบาริงเป็นราชทูตเชิญพระราชสาสน์ของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมาเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เซอร์จอนเบาริงชมในหนังสือที่แต่งเรื่องประเทศสยามว่า รายการที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดรับรองเหมือนกับเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชรับราชทูตฝรั่งเศสหมดทุกอย่าง ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า เซอร์จอนเบาริงเห็นจะเอาจดหมายเหตุฝรั่งเศสครั้งนั้นมาสอบ ฝ่ายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงค้นแบบในจดหมายเหตุของฝรั่งเศสเอามาใช้ในการรับเซอร์จอนเบาริง รายการจึงตรงกัน

[๘๔] ความพิสดารทางฝ่ายอังกฤษ แจ้งอยู่ในหนังสือเซอร์จอนเบาริงแต่ว่าด้วยประเทศสยาม เล่ม ๒ ตอนที่ ๑๖

[๘๕] พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เซอร์จอนเบาริงว่าไม่ทรงเกี่ยวข้องทีเดียว เพราะเกรงใจสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสอง

[๘๖] ยกเป็นอุทาหรณ์ในเรื่องนี้ตามที่ได้ยินเล่ากันมาว่า เดิมอังกฤษจะขอที่ตั้ง “ฟอเรนคอนเซสชั่น” อย่างเช่นได้ตั้งในเมืองจีน คือเป็นอาณาเขตสำหรับพวกฝรั่งอยู่แห่งหนึ่งต่างหาก จะเป็นที่ช่องนนทรีย์ หรือที่อ่างศิลาไม่ทราบแน่ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจ เซอร์จอนเบาริง ก็ยอมตามพระราชประสงค์

[๘๗] เจ้าพระยานิกรบดินทรยังเป็นที่สมุหนายก แต่แก่ชราอายุถึง ๘๐ ปี ไม่สามารถรับราชการเสียแล้ว กรมหลวงวงศาธิราชสนิทได้ทรงกำกับราชการกระทรวงมหาดไทย

[๘๘] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์บอกรายชื่อภาษีซึ่งตั้งใหม่ไว้ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๔ ว่า ๑๔ อย่าง และแก้ไข เลิกถอนภาษีเดิมบ้าง

[๘๙] เรื่องนี้พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง เมื่อเตรียมจะแต่งหนังสือนี้

[๙๐] ข้าราชการพวกนี้จะมีกี่คนข้าพเจ้าไม่ทราบ เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่า ทรงระบุชื่อแต่ ๓ คน คือเจ้าหมื่นสรรเพ็ชร์ภักดี (เพ็ง ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง) คน ๑ เจ้าหมื่นเสมอใจ (เอม ชูโต) คน ๑ พระวิสูตรโยธามาตย์ (โหมต อมาตยกุล ภายหลังได้เป็น พระยากสาปนกิจโกศล) คน ๑

[๙๑] มีความจริงอันประหลาดอยู่ที่พระมหาอุปราชในกรุงรัตนโกสินทร์นี้บรรดาที่มิได้เป็นพระราขโอรส ย่อมเสด็จสวรรคตก่อนพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ