ตอนที่ ๑๑

เหตุการณ์ซึ่งต้องระงับเมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ ๕

เวลาพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ราษฎรมักหวาดหวั่นว่าจะเกิดเหตุร้าย เห็นจะเป็นความรู้สึกมีสืบมาแต่เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีในสมัยกลางตั้งแต่พระเจ้าปราสาททองเสวยราชย์เป็นต้นมา ด้วยมักเกิดรบพุ่งหรือฆ่าฟันกัน แม้ไม่ถึงเช่นนั้นก็คงมีการกินแหนงแคลงใจกันในเวลาเปลี่ยนรัชกาลแทบทุกคราว ที่จะเปลี่ยนโดยเรียบร้อยทีเดียวนั้นมีน้อย[๒๔๘] จนเกิดเป็นคติสำหรับวิตกกันว่าเวลาเปลี่ยนรัชกาลมักจะเกิดเหตุร้าย เมื่อเปลี่ยนรัชกาลคราวนี้ก็หวาดหวั่นตามเคย มีอุทาหรณ์ดั่งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเรียกว่า “สยามริปอสิตอรี” ของหมอสมิทพิมพ์จำหน่ายอยู่ในสมัยนั้น กล่าวความดังนี้ “เวลานี้ทั่วประเทศสยามพากันสั่นสะท้าน และหวาดหวั่นอยู่ในระวางเปลี่ยนรัชกาล ด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่า ซึ่งมีพระเดชพระคุณแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาก และได้ทรงปกครองชนชาติอื่นที่มาพึ่งพระบารมีอยู่ในพระราชอาณาเขตต์ กับทั้งชาวต่างประเทศอันอยู่ในบังคับของกงสุลนั้นมิได้เสด็จสถิตอยู่ในเศวตฉัตรให้คนทั้งหลายเกรงพระราชอาญาเสียแล้ว แม้สมเด็จเจ้าฟ้าอันเป็นพระราชโอรสได้ทรงรับรัชทายาทก็จริงอยู่ แต่ว่าประชวรพระกำลังยังปลกเปลี้ย จะรอดพระชนม์ทนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแลการรับแขกเมืองเฝ้าได้แลหรือ แม้แต่ในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกำลังประชวรยังไม่สวรรคตก็มีกิติศัพท์ว่าจะเกิดกบฎและได้มีเหตุวุ่นวายด้วยเรื่องจับฝิ่นเถื่อน[๒๔๙] ทั้งปรากฎว่ามีผู้ทำอัฐปลอมมาก เกิดยากยุ่งในเรื่องเครื่องแลกจนตื่นกันไม่เป็นอันซื้อขายในท้องตลาดอยู่หลายวัน” ดังนี้

แต่ที่จริงมีเหตุการณ์อันเป็นเรื่องร้อนต้องรีบระงับเมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ ๕ แต่ ๒ เรื่อง คือ เรื่องเงินตราเรื่อง ๑ กับเรื่องจีนตั้วเหียอีกเรื่อง ๑ จะกล่าวอธิบายเป็นลำดับต่อไปในตอนนี้

เรื่องเงินตรา

เดิมเงินตราในประเทศสยามนี้ใช้เงินพดด้วง (รูปเป็นก้อนกลม) ตีตรารัชกาลประจำเป็นสำคัญ เป็นประเพณีสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แลเงินพดด้วงนั้นทำเป็น ๔ ขนาด ขนาดใหญ่ราคา ๑ บาท ขนาดรองราคากึ่งบาท (แต่ขนาดนี้มีใคร่ชอบใช้กัน) ขนาดต่อลงมาราคาสลึงหนึ่ง (๔ สลึงเป็นบาท) ขนาดเล็กราคาเฟื้อง ๑ (๒ เฟื้องเป็นสลึง) เครื่องแลกราคาต่ำกว่านั้นลงมาใช้เบี้ยหอยซึ่งมาจากทะเล อัตราราคา ๘๐๐ เบี้ยต่อเฟื้อง[๒๕๐] แต่ราคาเบี้ยไม่คงที่ อาจจะขึ้นแลลดผิดกันได้มากๆ ตามเวลาที่มีชาวต่างประเทศบรรทุกเอาเบี้ยเข้ามาขายมากหรือน้อย ถ้าคราวมีเบี้ยเข้ามามาก ราคาก็ลด ๑,๐๐๐ เบี้ยต่อเฟื้อง ถ้าเบี้ยขาดคราวราคาก็ขึ้นถึง ๖๐๐ เบี้ยต่อเฟื้อง

การเปลี่ยนแปลงเงินตราในกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งต่างประเทศแล้ว การค้าขายในกรุงเทพฯ เจริญรวดเร็วเกินคาดหมาย เช่นแต่ก่อนมามีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ เพียงราวปีละ ๑๒ ลำ แต่พอทำหนังสือสัญญาแล้ว ก็มีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายตั้งปีละ ๒๐๐ ลำ[๒๕๑] พวกพ่อค้าฝรั่งเอาเงินเหรียญดอลลาร์ซึ่งใช้ในการซื้อขายทางเมืองจีนเข้ามาซื้อสินค้า ราษฎรไทยไม่ยอมรับ ฝรั่งจึงต้องเอาเงินเหรียญดอลลาร์มาขอแลกเงินบาทจากรัฐบาล ก็เงินบาทพดด้วงนั้นช่างหลวงทำที่พระคลังมหาสมบัติ เตาหนึ่งทำได้ราววันละ ๒๔๐ บาท เพราะทำแต่ด้วยเครื่องมือมิได้ใช้เครื่องจักร เตาหลวงมี ๑๐ เตาระดมกันทำเงินพดด้วงได้แต่ละวันละ ๒,๔๐๐ บาทเป็นอย่างมาก ไม่พอให้ฝรั่งแลกตามปรารถนา พวกกงสุลพากันร้องทุกข์ว่าเป็นการเสียประโยชน์ของพวกชาวต่างประเทศที่มาค้าขาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนรูปเงินตราสยามเป็นเหรียญ (ครั้งนั้นเรียกว่า “เงินแป”)ให้ทำได้ด้วยเครื่องจักร์ แลในเมื่อกำลังรอเครื่องจักร์นั้น โปรดฯ ให้ประกาสพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรรับเหรียญดอลลาร์จากชาวต่างประเทศ แล้วเอามาแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติได้โดยอัตรา ๓ เหรียญดอลลาร์ต่อ ๕ บาท ราษฎรยังไม่พอใจจะรับเงินดอลลาร์ โปรดฯ ให้เอาตรามหามงกุฎและตราจักร์ซึ่งสำหรับตีเงินพดด้วงตีลงเป็นสำคัญในเหรียญดอลลาร์ให้ใช้ไปพลาง[๒๕๒] ก็ยังมิใคร่มีใครพอใจจะใช้ ครั้นถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ การสร้างโรงกระสาปน์สำเร็จ[๒๕๓] ทำเงินตราสยามเป็นเหรียญมีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรทั้งสองข้างด้านหนึ่งตราช้างเผือกอยู่ในวงจักรด้านหนึ่ง เป็นเหรียญเงิน ๔ ขนาด คือบาทหนึ่ง กึ่งบาท สลึงหนึ่ง เฟื้องหนึ่ง[๒๕๔]และทำเหรียญทองคำราคาเหรียญละ ๑๐ สลึง (ตรงกับตำลึงจีน) ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เมื่อประกาสให้ใช้เงินตราอย่างเหรียญแล้ว เงินพดด้วงก็ยังโปรดฯ อนุญาตให้ใช้อยู่ เป็นแต่ไม่ทำเพิ่มเติมขึ้น

ต่อมาอีก ๒ ปี ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ โปรดฯ ให้โรงกระสาปน์ทำเหรียญดีบุกขึ้นเป็นเครื่องแลกใช้แทนเบี้ยหอย เหรียญดีบุกนั้นก็มีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรและตราช้างในวงจักร ทำนองเดียวกับตราเงินเหรียญ ทำเป็น ๒ ขนาด ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า “อัฐ” ราคา ๔ อันเฟื้อง เท่ากับอันละ ๑๐๐ เบี้ย ขนาดเล็กให้เรียกว่า “โสฬศ” ราคา ๑๖ อันเฟื้อง เท่ากับอันละ ๕๐ เบี้ย การใช้เบี้ยหอยก็เป็นอันเลิกแต่นั้นมา

ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้สร้างเหรียญทองคำมีตราทำนองเดียวกับเงินเหรียญขึ้นสำหรับให้เป็นเครื่องแลก ๓ ขนาด ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า “ทศ” ราคา ๑๐ อันต่อชั่งหนึ่ง คืออันละ ๘ บาท (เท่าราคาทองปอนด์อังกฤษในสมัยนั้น) ขนาดกลางให้เรียกว่า “พิศ” ราคาอันละ ๔ บาท ขนาดเล็ก (คือเหรียญทองที่ได้สร้างขึ้นแต่แรก) ให้เรียกว่า “พัดดึงส์” ราคาอันละ ๑๐ สลึง เท่ากับตำลึงจีน ดูเหมือนจะเป็นในคราวเดียวกับที่ทรงสร้างเหรียญทองเป็นเครื่องแลกนี้เอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้าง (ธนบัตร) เครื่องแลกทำด้วยกระดาษ มืตัวอักษรพิมพ์แลประทับพระราชลัญจกร ๓ ดวงเป็นสำคัญทุกใบขึ้นอีกอย่าง ๑ เรียกว่า “หมาย” มีราคาต่าง ๆ กันตั้งแต่ใบละบาท ๑ เป็นลำดับลงมาจนใบละเฟื้อง ๑ และทรงพระราชดำริสร้าง (เช็ค) เรียกว่าใบ “พระราชทานเงินตรา” อีกอย่าง ๑ ขนาดแผ่นกระดาษใหญ่กว่า “หมาย” มีตัวอักษรพิมพ์แลประทับพระราชลัญจกรด้วยชาด ๒ ดวง ด้วยครามดวง ๑ เป็นลายดุนดวง ๑ เป็นสำคัญทุกใบ มีราคาต่างกัน (ว่าตามตัวอย่างที่มีอยู่เมื่อแต่งหนังสือนี้) ตั้งแต่ “พระราชทานเงินตราชั่งสิบตำลึง” ลงมาจนใบละ ๗ ตำลึง (สันนิษฐานว่าเห็นจะมีต่อลงไปจนใบละตำลึงหนึ่งเป็นอย่างต่ำ) กระดาษทั้ง ๒ อย่างนี้ใครได้ก็เห็นจะเอาไปขึ้นเงินที่พระคลังมหาสมบัติในไม่ช้า เพราะยังไม่แลเห็นประโยชน์ในการใช้กระดาษเป็นเครื่องแลกในสมัยนั้น จึงมิได้แพร่หลาย

ครั้นถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้โรงกระสาปน์สร้างเหรียญทองแดงมีตราทำนองเดียวกับเหรียญดีบุกเป็นเครื่องแลกอีก ๒ ขนาดมีราคาในระหว่างเหรียญเงินกับเหรียญดีบุก ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า “ซีก” ราคา ๒ อันเฟื้องขนาดเล็กให้เรียกว่า “เซี่ยว” ราคา ๔ อันเฟื้อง[๒๕๕]

เงินตราไทยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ สร้างขึ้นเป็นเหรียญนั้น ที่เป็นเงินแลทองแดงใช้ได้ต่อมาดังพระราชประสงค์ แต่ที่เป็นทองคำแลดีบุกเกิดเหตุขัดข้อง ด้วยเหรียญทองคำนั้นชาวเมืองเอาไปเก็บเสียอย่างทองรูปพรรณ หรือมิฉะนั้นก็เอาไปทำเครื่องแต่งตัวเสีย ไม่ชอบใช้เป็นเครื่องแลกในการซื้อขาย เหรียญทองเป็นของมีน้อยก็เลยหมดไป ส่วนเหรียญดีบุกนั้น เมื่อแรกสร้างขึ้นก็ได้ทรงปรารภว่าเป็นของอาจสึกหรอแลทำปลอมง่ายจึงโปรดฯ ให้เจือทองแดงและดีบุกดำลงในเนื้อดีบุกที่ทำเหรียญให้แข็งผิดกับดีบุกสามัญ ถึงกระนั้นพอใช้เหรียญดีบุกกันแพร่หลาย ไม่ช้าก็มีพวกจีนคิดทำปลอม ครั้นตรวจจับในกรุงเทพฯ แข็งแรง พวกผู้ร้ายก็หลบลงไปซ่อนทางหัวเมืองปักษ์ใต้ แล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกิดมีเหรียญดีบุกปลอมในท้องตลาดมากขึ้นทุกทีจนราษฎรรังเกียจการที่จะรับใช้เหรียญดีบุก ด้วยไม่รู้จะเลือกว่าไหนเป็นหลวงแลไหนเป็นของปลอม จะกลับใช้เบี้ยหอยก็หาไม่ได้ ด้วยเลิกใช้มาเสียหลายปีแล้ว

เมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นเวลากำลังเกิดการปั่นป่วนด้วยราษฎรไม่พอใจรับเหรียญดีบุกว่าถึงตลาดในกรุงเทพฯ แทบจะหยุดการซื้อขายอยู่หลายวัน รัฐบาลจึงต้องรีบวินิจฉัยแล้วออกประกาศเมื่อ เดือน ๑๑ แรม ๑๒ คํ่า ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ได้เพียง ๑๓ วัน สั่งให้คนทั้งหลายนำเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกของหลวงมาขึ้นเอาเงินจะยอมให้เต็มราคาภายใน ๑๕ วัน เมื่อพ้นกำหนดนั้นไปแล้วให้ใช้ลดราคาลง เหรียญทองแดงอย่างซีกคงราคาแต่ละอัฐ ๑ (๘ อันเฟื้อง) อย่างเซี่ยวคงราคาแต่อันละโสฬศ ๑ (๑๖ อันเฟื้อง) เหรียญดีบุกก็ลดราคาลง เหรียญอัฐคงราคาแต่อันละ ๒๐ เบี้ย (๔๐ อันเฟื้อง) อย่างโสฬศคงราคาแต่อันละ ๑๐ เบี้ย (๘๐ อันต่อเฟื้อง) แม้รัฐบาลประกาศอัตราราคาอย่างนั้นแล้วราษฎรยังลดราคากันโดยลำพังต่อลงไปอีก ใช้อัฐดีบุกเดิมในท้องตลาดราคาเพียงอันละ ๑๐ เบี้ย (๘๐ อันต่อเฟื้อง) โสฬศดีบุกก็ลดราคาลงไปตามกันเป็นอันละ ๕ เบี้ย (๑๖๐ อันต่อเฟื้อง) คำซึ่งเคยเรียกว่าอัฐและโสฬศก็เรียกกันว่า “เก๊” แต่ใช้กันต่อมาอีกหลายปี

เพราะเกิดลำบากด้วยเรื่องเงินตราดังกล่าวมา รัฐบาลจึงได้ตกลงแต่แรกขึ้นรัชกาลที่ ๕ ว่าจะสร้างโรงกระสาปน์ใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเก่า[๒๕๖] แต่การที่สร้างกว่าจะสำเร็จหลายปี ในชั้นแรกจะต้องทำเงินตราประจำรัชกาลที่ ๕ ขึ้นตามประเพณีเปลี่ยนรัชกาลใหม่ จึงให้ทำที่โรงกระสาปน์เดิมไปพลาง เงินเหรียญตรารัชกาลที่ ๕ ซึ่งสร้างขึ้นชั้นแรกนั้น ด้านหนึ่งเป็นตราพระเกี้ยวยอดมีพานรองสองชั้นและฉัตรตั้งสองข้าง อีกด้านหนึ่งคงใช้รูปช้างเผือกอยู่ในวงจักรเหมือนรัชกาลที่ ๔ แต่ทำเพียง ๓ ขนาด ที่คนทั้งหลายชอบใช้ คือเหรียญบาท เหรียญสลึงและเหรียญเฟื้องในคราวนั้นยังไม่ได้ทำเหรียญทองแดงสำหรับรัชกาลที่ ๕ (ด้วยรัฐบาลทราบว่าสั่งให้ทำในประเทศอื่นถูกกว่าทำเอง แต่จะให้ทำในอินเดียหรือยุโรปยังไม่ตกลงเป็นยุติ) ทำแต่เหรียญดีบุกขึ้นใหม่อย่าง ๑ ดวงตราทำนองเดียวกับเงินเหรียญขนาดเขื่องกว่าอัฐดีบุกรัชกาลที่ ๔ สักหน่อยหนึ่ง แต่ให้ใช้ราคาเพียงโสฬศ ๑ คือ ๑๖ อันเฟื้อง เรื่องเงินตราก็เป็นอันเรียบร้อยในคราวหนึ่ง

แต่ต่อมาเมื่อราคาทองแดงและดีบุกสูงขึ้นมีผู้รู้ว่าราคาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกที่ใช้กันที่ท้องตลาดในกรุงเทพฯ ต่ำกว่าราคาเนื้อทองแดงและดีบุกหลอมซึ่งมีขายกันในประเทศอื่น ก็พากันเอาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกหลอมส่งไปขายเสียประเทศอื่นเป็นอันมาก ครั้นเหรียญทองแดงและดีบุกมีใช้ในท้องตลาดน้อยลงก็เกิดการใช้ปี้กระเบื้องกันขึ้นแพร่หลาย อันปี้กระเบื้องนั้นเดิมเป็นแต่คะแนนสำหรับเล่นเบี้ยในโรงบ่อน จีนเจ้าของบ่อนคิดทำขึ้นเพื่อให้ใช้ขอลากได้บนเสื่อสดวกกว่าเงินตรา เวลาคนไปเล่นเบี้ยให้เอาเงินแลกปี้มาเล่น ครั้นเลิกแล้วก็ให้คืนปี้แลกเอาเงินกลับไป เป็นประเพณีมาดังนี้ ใครเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยตำบลไหน ก็คิดทำปี้มีเครื่องหมายของตนเป็นคะแนนราคาต่างๆ สำหรับใช้เล่นเบี้ยในบ่อนตำบลนั้น การที่เกิดใช้ปี้เป็นเครื่องแลกแทนเงินตรา เดิมเกิดขึ้นแต่นักเลงเล่นเบี้ยที่มักง่าย เอาปี้ซื้อของกินตามร้านที่หน้าโรงบ่อน ผู้ขายก็ยอมรับด้วยอาจเข้าไปแลกกลับเป็นเงินที่ในโรงบ่อนได้โดยง่ายจึงใช้ปี้กระเบื้องกันในบริเวณโรงบ่อนขึ้นก่อน ครั้นเมื่อหาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกของหลวงใช้ยากเข้า ก็ใช้ปี้เป็นเครื่องแลกแพร่หลายห่างบ่อนเบี้ยออกไปทุกที เพราะคนเชื่อว่าอาจจะเอาไปซื้อเป็นเงินเมื่อใดก็ได้ ฝ่ายนายบ่อนเบี้ยจำหน่ายปี้ได้เงินมากขึ้น เห็นได้เปรียบก็คิดสั่งปี้กระเบื้องจากจีนเข้ามาเพิ่มเติมทำเป็นรูปแลราคาต่างๆ ให้คนชอบ ตั้งแต่อันละโสฬศ อันละอัฐ อันละไพ สองไพ[๒๕๗] จนถึงอันละเฟื้องสลึงสองสลึงเป็นอย่างสูงมีทุกบ่อนไปก็แต่ลักษณอากรบ่อนเบี้ยนั้นต้องว่าประมูลกันใหม่ทุกปี เมื่อสิ้นปีลงนายอากรคนไหนไม่ได้ทำอากรต่อไปก็กำหนดเวลาให้คนไปเอาปี้บ่อนของตน มาแลกเงินคืนภายใน ๑๕ วัน พ้นกำหนดไปไม่ยอมรับ การอันนี้ก็กลายเป็นทางที่เกิดกำไร เพิ่มผลประโยชน์แก่นายอากรบ่อนเบี้ยอีกทางหนึ่ง ฝ่ายราษฎรถึงเสียเปรียบก็มิสู้รู้สึกเดือดร้อน ด้วยได้ใช้ปี้เป็นเครื่องแลกกันในการซื้อขายแทนเหรียญทองแดงแลดีบุกซึ่งหายาก ก็ไม่มีใครร้องทุกข์เป็นเช่นนี้มาจนปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ รัฐบาลจึงต้องประกาศห้ามมิให้นายบ่อนเบี้ยทำปี้[๒๕๘] แต่ในเวลานั้นเหรียญทองแดงซึ่งสั่งให้ทำในยุโรปยังไม่สำเร็จ ต้องออกธนบัตรราคาใบละอัฐ ๑ ให้ใช้กันในท้องตลาดอยู่คราวหนึ่ง จนถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ จึงได้จำหน่ายเหรียญทองแดงประจำรัชกาลที่ ๕ ให้ใช้กันในบ้านเมืองทำเป็น ๔ ขนาดคือ ซีก เซี่ยว อัฐแลโสฬศ มีตราพระจุลมงกุฎอยู่บนอักษรพระนาม จ.ป.ร. ด้าน ๑ อักษรบอกราคาด้าน ๑ เหมือนกันหมดทุกขนาด เรื่องเงินตราก็เป็นอันยุติเรียบร้อย

เรื่องอั้งยี่

เรื่องจีนตั้วเหียเป็นเรื่องเกิดในรัชกาลอื่นมีกรณีย์สืบต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ และยังจะปรากฎกลายเป็นเรียกว่าอั้งยี่มีเรื่องในตอนหนึ่งอีก แต่มูลเหตุที่เกิดตั้วเหียและอั้งยี่ในประเทศสยามยังไม่เห็นอธิบายในหนังสืออื่น จึงได้ตรวจเรื่องเดิมเก็บเนื้อความมาเรียบเรียงลงไว้ในหนังสือนี้ พอให้ผู้อ่านทราบเหตุการณ์ในเรื่องตั้วเหียและอั้งยี่ชัดเจนขึ้น อันคำที่เรียกกันแต่ก่อน “ตั้วเหีย” ก็หมายความอย่างเดียวกับที่เรียกกันภายหลังว่า “อั้งยี่” นั้นเอง คือสมาคมลับซึ่งพวกจีนคิดตั้งขึ้น[๒๕๙] เรื่องตำนานของสมาคมนั้นมีปรากฎทางเมืองจีนว่าจำเดิมแต่ประเทศจีนต้องตกอยู่ในอำนาจของพวกเม่งจูตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๘๗ มาก็มีพวกจีนเข้าเป็นสมาคมลับเพื่อจะพยายามกำจัดพวกเม่งจู แล้วเชิญเชื้อสายพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ใต้เหมงอันเป็นกษัตริย์จีนขึ้นครองแผ่นดินดังเก่า การที่พวกจีนตั้งสมาคมลับชั้นเดิมมีแต่ในเมืองจีนเพราะเหตุเป็นดังกล่าว ต่อนานมาพวกจีนที่อยู่ในประเทศอื่นจึงเอาแบบสมาคมนั้นไปตั้งขึ้นในประเทศอื่น ด้วยเหตุอย่างอื่น และความประสงค์เป็นอย่างอื่น หาได้เกี่ยวแก่เรื่องกำจัดพวกเม่งจู่ไม่

ประเทศสยามนี้จีนย่อมนิยมกันแต่ไรมาว่าเป็นที่หาทรัพย่ได้ง่าย ทั้งรัฐบาลและชาวเมืองก็ไม่รังเกียจจีน เพราะฉะนั้นพวกจีนชาวเมืองทางฝ่ายใต้ที่อัตคัดขัดสนจึงมักพากันมาหากินในประเทศสยาม ที่มาหาทรัพย์สินพอแก้อัตคัดได้แล้วกลับไปก็มี บางคนมาได้ความสุขสบายเกินคาดหมาย เลยทิ้งเมืองจีนมาตั้งภูมิลำเนาเป็นชาวสยาม ได้ไทยเป็นภรรยาเกิดลูกหลานในเมืองไทยก็มี จีนในประเทศสยามจึงผิดกันเป็น ๒ ชนิด คือจีนซึ่งแรกมาหรือไปๆ มาๆ ไม่อยู่ประจำ เรียกว่า “จีนใหม่” ชนิด ๑ จีนซึ่งมาตั้งภูมิสถานอยู่ในประเทศสยามเป็น “จีนเก่า” ชนิด ๑ ก็ธรรมดาชนชาติจีนนั้นย่อมมีอุปนิสัยฉลาดในการหาทรัพย์สินยิ่งกว่าไทย หรือจะว่าฉลาดในการนั้นยิ่งกว่ามนุษย์ชาติอื่นๆ หมดก็ว่าได้ จีนที่เข้ามาอยู่เป็นชาวสยามจึงมักได้เป็นคฤหบดี หรือแม้อย่างต่ำก็สามารถทำมาหากินเป็นอิสสระแก่ตนได้โดยมาก พวกจีนที่เข้ามาใหม่ยังไม่รู้เบาะแสแลขนบธรรมเนียมบ้านเมือง ก็อาศัยหากินกับพวกจีนเก่า จึงมีจีนทั้ง ๒ อยู่ด้วยกันทุกตำบลที่จีนตั้งทำมาหากินทั้งที่ในกรุงและหัวเมืองเป็นเช่นนี้มาแต่โบราณ

การที่จีนตั้งสมาคมลับเป็นตั้วเหียในประเทศสยาม ปรากฏขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พิเคราะห์ดูเหตุการณ์ในสมัยนั้น เหตุว่าน่าจะเป็นด้วยเรื่องรัฐบาลจับฝิ่นเป็นมูลเหตุให้พวกจีนตั้งตั้วเหีย คือ เดิมพวกจีนเอาฝิ่นเข้ามาสูบ แล้วพาให้ไทยแอบสูบฝิ่นขึ้นบ้าง จึงมีพระราชกฤษฎีกาตั้งไว้แต่โบราณ[๒๖๐] ห้ามมิให้ใครสูบฝิ่นหรือเอาฝิ่นเข้ามาในประเทศสยาม แม้เช่นนั้นจีนก็ยังลักลอบเอาฝิ่นเข้ามา แลไทยที่สูบฝิ่นก็มีอยู่เสมอแต่ไม่สู้มาก ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อทางเมืองจีนเกิดมีพวกฝรั่งกับจีนคบคิดกันค้าฝิ่นแพร่หลาย (ดังกล่าวมาแล้วในตอนที่ ๑๐) พวกจีนที่เข้ามาหากินในเมืองไทย เป็นคนสูบฝิ่นติดมาจากเมืองจีนมากขึ้น หรือถ้าพูดกันอีกนัยหนึ่ง คือความต้องการฝิ่นเกิดมีมากขึ้นในประเทศนี้ ก็มีจีนเอาฝิ่นเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น เลยเป็นปัจจัยชักจูงให้ไทยทั้งที่บรรดาศักดิ์สูงแลต่ำพากันสูบฝิ่นมากขึ้น[๒๖๑] ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับพวกค้าฝิ่นเอาตัวมาลงพระราชอาญา กวดขันขึ้นตั้งแต่ปีกุน ๒๓๘๒ ก็แต่ธรรมดาการสูบฝิ่นนั้นเมื่อสูบติดแล้วยากที่จะละได้ และการค้าฝิ่นพวกจีนก็ได้กำไรมาก ครั้นมีการตรวจจับกวดขันจะเอาฝิ่นซ่อนในเรือสำเภาเข้ามาในกรุงเทพฯ ไม่ได้สดวกดังแต่ก่อน จีนจำพวกที่ค้าฝิ่นก็ไปคบคิดกันกับพวกจีนซึ่งออกไปตั้งหากินอยู่ตามหัวเมือง ทางปากอ่าวและชายทะเล ให้เป็นลูกช่วงรับฝิ่นขึ้นจากเรือสำเภาตามชายทะเล แล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายที่กรุงเทพฯ การที่ทำอย่างนั้นจำต้องลักลอบซ่อนเร้นแลต้องมีสมัครพรรคพวกที่ไว้วางใจช่วยกันทุกระยะทาง จึงเอาวิธีตั้วเหียมาตั้งขึ้นเป็นสมาคมลับสำหรับค้าฝิ่น หัวหน้ามักเป็นจีนเก่ามีจีนใหม่เป็นพรรคพวกมากบ้างน้อยบ้างทุกแห่ง ครั้นตั้วเหียมีกำลังมากขึ้นก็กำเริบ บางแห่งเลยประพฤติเป็นโจรสลัดตีเรือแลปล้นสะดมภ์ บางแห่งก็ต่อสู้เจ้าพนักงานซึ่งไปตรวจจับฝิ่นจนเป็นการใหญ่โตถึงต้องรบกันที่เมืองนครชัยศรี เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๙๐ ครั้งหนี่ง แลในปีต่อมาพวกจีนตั้วเหียที่เมืองฉะเชิงเทรากำเริบถึงเป็นกบฎยิงผู้ว่าราชการเมืองตายแล้วเข้ายึดเอาป้อมไว้เป็นที่มั่น ต้องยกกองทัพออกไปปราบปราม แต่การปราบปรามครั้งนั้นฆ่าจีนเสียมาก แต่นั้นพวกจีนตั้วเหียก็เข็ดขยาดไม่กล้าสู้อำนาจรัฐบาลเป็นการสงบมาคราวหนึ่ง

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรึกษาเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า ที่การห้ามฝิ่นกวดขันเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ไม่เป็นผลดีได้ดังปรารถนา เพราะฝิ่นก็ยังเข้าเมืองอยู่เสมอ คนสูบฝิ่นก็ไม่น้อยลงลำบากเปล่าๆ ให้เปลี่ยนวิธีจัดการเรื่องฝิ่นเป็นอากรผูกขาดของรัฐบาลเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ คือรัฐบาลซื้อฝิ่นเข้ามาต้มจำหน่ายให้จีนซื้อไปสูบได้ตามชอบใจ คงห้ามแต่ไทยไม่ให้สูบฝิ่น[๒๖๒] ตั้งแต่จัดการเช่นนั้นก็กลับได้เงินผลประโยชน์แก่แผ่นดินมากขึ้น แลการตรวจจับฝิ่นก็ได้ไม่ต้องลำบากมากเหมือนแต่ก่อน แต่การที่พวกจีนเข้าเป็นสมาคมตั้วเหียก็ยังไม่สูญสิ้นไป มาถึงชั้นนี้ความมุ่งหมายของพวกตั้วเหียแปรไปเป็นต่อสู้เจ้าภาษีนายอากรซึ่งเป็นจีนด้วยกันเอง เพราะตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๒ มา มีอากรตั้งขึ้นใหม่หลายอย่าง และการเก็บอากรซึ่งจัดขึ้นในสมัยนั้นใช้วิธีเรียกประมูล ถ้าผู้ใดรับทำอากรอย่างใดโดยสัญญาว่าจะส่งเงินหลวงได้มากกว่าเพื่อน ก็ตั้งให้ผู้นั้นเป็นเจ้าภาษีนายอากรอย่างนั้น มีกำหนดปีหนึ่งหรือกว่านั้นตามสมควรแก่[๒๖๓] จีนฉลาดในกระบวนแสวงหาทรัพย์สิน รู้จักคิดต้นทุนกำไรดีกว่าไทย การประมูลภาษีอากรจึงได้แก่จีนแทบทั้งหมด ผู้ซึ่งได้เป็นเจ้าภาษีอากรมักเป็นจีนเก่า หรือชั้นลูกจีนเกิดในประเทศนี้ ซึ่งมีพรรคพวกมากและรู้ขนบธรรมเนียมเข้ากับไทยได้สนิทสนมถึงได้มียศศักดิ์เป็นขุนนางก็มี ก็แต่การเสียภาษีอากรนั้นราษฎรย่อมมิใคร่พอใจจะเสีย หรืออยากเสียแต่น้อยที่สุดอยู่เป็นธรรมดา ฝ่ายข้างเจ้าภาษีนายอากรลิได้รับสัญญาว่าจะส่งเงินหลวงให้มากกว่าเพื่อน ถ้าเก็บเงินได้น้อยไปก็เป็นภัยแก่ตน (ด้วยในสมัยนั้นกฎหมายยังอนุญาตให้จำลูกหนี้เร่งเงินจนกว่าจะได้) ถ้าเก็บได้เงินยิ่งมากยิ่งเป็นประโยชน์แก่ตน ก็เป็นธรรมดาที่จะพยายามและใช้อุบายต่างๆ เรียกเร่งเอาเงินจากราษฎรให้ได้มากที่สุดซึ่งจะพึงเรียกได้แม้โดยมิเป็นธรรม ราษฎรที่เป็นไทยไม่สู้จะเดือดร้อนด้วยมักทำมาหากินแต่พอเลี้ยงชีพ ไม่มีสมบัติวัดถาซึ่งเจ้าภาษีนายอากรจะเรียกได้เท่าใดนัก แต่พวกจีนที่มาตั้งทำมาหากินอยู่ในเมืองไทยมุ่งหมายที่จะสะสมทรัพย์สินเป็นสำคัญ มีตัวเงินซึ่งจะเรียกได้มากกว่าราษฎรที่เป็นไทย พวกจีนจึงได้ความเดือดร้อนจากเจ้าภาษีนายอากรยิ่งกว่าไทย ร้องฟ้องในโรงศาลก็เสียเปรียบด้วยเจ้าภาษีนายอากรเป็นเจ้าพนักงานทำการให้รัฐบาล ด้วยเหตุนี้พวกจีนจึงยังอาศัยการตั้งตั้วเหียเป็นกำลังกีดกันการเบียดเบียฬของเจ้าภาษีนายอากร แต่ที่ในกรุงเทพฯ ไม่ใคร่มีเหตุ เพราะพวกจีนมักพึ่งพำนักอยู่ในเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ช่วยคุ้มครอง มักเกิดวิวาทกับพวกเจ้าภาษีนายอากรแต่ตามหัวเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริแก้ไขด้วยพระบรมราโชบายอย่างหนึ่ง คือในหัวเมืองใดมีจีนอยู่มาก เช่นเมืองนครชัยศรีเป็นต้น โปรดฯ ให้เลือกคฤหบดีจีนซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์มีผู้คนนับถือมาก ตั้งให้มีตำแหน่งเป็นกรมการ บางเมืองให้มียศถึงเท่ากับปลัด มีหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานช่วยระงับความทุกข์และทำนุบำรุงพวกจีนในเมืองนั้นๆ เหตุการณ์เรื่องตั้วเหียในหัวเมืองก็สงบไปได้อีกคราวหนึ่ง

มาถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๔ เกิดตั้วเหียขึ้นอีก แต่คราวนี้เกิดทางหัวเมืองชายทะเลตะวันตก คือที่เมืองภูเก็ตเป็นต้น ด้วยตั้งแต่ดีบุกขึ้นราคาก็มีการขุดหาแร่ดีบุกกันในแหลมมะลายูแพร่หลายทั้งในแดนอังกฤษแลแดนไทย อาศัยเมืองสิงคโปร์แลเมืองเกาะหมากเป็นตลาดขายดีบุกไปต่างประเทศ การขุดหาดีบุกในสมัยนั้นพวกจีนทำทั้งนั้น จีนที่มีทุนรอนเป็นเถ้าเกหาจ้างจีนเลวในเมืองจีนมาเป็นแรงงาน แต่ละแห่งมีจำนวนมากนับด้วยร้อยแลพัน เพื่อประโยชน์ในการเรียกหาว่าจ้างแลปกครองจีนเลวที่ทำเหมืองดีบุกครั้งนั้น พวกจีนที่ทำเหมืองในแดนอังกฤษคิดตั้งสมาคมขึ้นก่อน เรียกกันว่า “ยี่หิน” สมาคม ๑ “ปูนเถ้าก๋ง” สมาคม ๑ในชั้นแรกก็เป็นทำนองสมาคมอย่างเปิดเผย จีนทำงานของพวกสมาคมไหน หัวหน้าสมาคมนั้นก็เป็นผู้ควบคุมทำนุบำรุง การตั้งสมาคมทั้ง ๒ นั้นแพร่หลายมาจนถึงในแดนสยาม เจ้าเมืองกรมการเห็นเป็นการดีก็อุดหนุน และพวกหัวหน้าสมาคมเข้ามาหาเสนาบดีในกรุงเทพฯ ก็ได้รับความยกย่องคล้ายกับเป็นกรมการจีน ก็แต่ลักษณะที่จีนควบคุมกันเป็นต่างพวกเช่นนั้น เป็นธรรมดามิเร็วก็ช้าย่อมเกิดเหตุ ๒ อย่างคือ พวกจีนที่มีกำลังมากมักแย่งผลประโยชน์ของพวกที่มีกำลังน้อยอย่าง ๑ และจีนที่อยู่ต่างพวกเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันเป็นส่วนตัวแล้วเลยเอาพรรคพวกมาทำร้ายกันอย่าง ๑ เพราะเหตุเป็นดังกล่าวมา สมาคมทั้ง ๒ นั้นจึงกลายเป็นตั้วเหียและมักวิวาทกันเนืองๆ ทั้งที่ในแดนอังกฤษแลแดนไทย ว่าฉะเพาะในแดนไทยถึงเกิดเหตุใหญ่โตที่เมืองภูเก็ตเมื่อปีเถาะนพศก พ.ศ. ๒๔๑๐ ก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ ๔ ปี ๑ จีนพวกยี่หินกับพวกปูนเถ้าก๋งเกิดวิวาทกันด้วยเรื่องแย่งน้ำที่จะไขมาทำเหมืองล้วงแร่ดีบุก แล้วเลยยกพวกตั้งพันเข้ารบกันที่กลางเมือง ผู้ว่าราชการเมืองห้ามก็ไม่ฟัง จะปราบปรามก็ไม่ไหว ด้วยไม่มีกำลังพอจะต่อสู้พวกตั้วเหีย ก็ได้แต่บอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ครั้งนั้นโปรดฯ ให้เจ้าพระยาภาณุวงศ เมื่อยังเป็นที่พระยาเทพประชุน เป็นข้าหลวงออกไปเกณฑ์กำลังตามหัวเมืองที่ใกล้เคียงไปปราบพวกตั้วเหียที่เมืองภูเก็ต แต่พวกหัวหน้าตั้วเหียทั้ง ๒ ฝ่ายอ่อนน้อมรับสารภาพผิดไม่ต่อสู้ เจ้าพระยาภาณุวงศจึงพาตัวพวกหัวหน้าฝ่ายละ ๙ คน เข้ามากรุงเทพฯ รัฐบาลยอมภาคทัณฑ์เป็นแต่บังคับให้ถือน้ำกระทำสัตย์สัญญาว่าจะไม่กบฏคิดร้ายต่อแผ่นดิน หรือก่อการกำเริบต่อไป แล้วปล่อยตัวกลับออกไปควบคุมผู้คนทำเหมืองอยู่อย่างเดิม.

ที่ในกรุงเทพฯ นี้ก็มีมูลเหตุที่จะเกิดตั้วเหียขึ้นอีกแต่ในตอนปลายรัชกาลที่ ๔ ด้วยมีภาษีอากรตั้งขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง โดยจำเป็นต้องหาเงินสำหรับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินทดแทนจำนวนเงินที่ขาดไป เพราะทำหนังสือสัญญาการค้าขายกับต่างประเทศ ต้องเลิกการปิดซื้อปิดขายหลายอย่าง อันเคยได้ผลประโยชน์แผ่นดินมาแต่ก่อน การเก็บภาษีอากรที่ตั้งขึ้นใหม่นั้น ก็ใช้วิธีให้ประมูลกันเป็นเจ้าภาษีนายอากรดังกล่าวมาแล้ว และจีนประมูลได้ทั้งนั้น แต่มาถึงสมัยนี้พวกจีนที่มีทุนรอนพาหนะมากมักรับทำแต่ภาษีอากรที่เป็นรายใหญ่ เช่นภาษีฝิ่นและสุราเป็นต้น ส่วนภาษีอากรที่ไม่สำคัญและเงินน้อย แต่มีมากอย่างกว่ารายใหญ่ มักได้แก่จีนชั้นต่ำลงมา เกิดมีพวกจีนชั้นคฤหบดีที่หากินในการทำภาษีอากรขึ้นอีกจำพวกหนึ่ง ยังในสมัยนั้นประจวบเวลาการค้าขายในประเทศสยามกำลังเจริญ เกิดมีโรงจักรสีเข้าแลเลื่อยไม้มีเรือลำเลียงสินค้าและมีการก่อสร้างต่างๆ อันต้องการแรงงานทวีขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็มีจีนใหม่เข้ามาหากินในการรับจ้างเป็นแรงงาน ซึ่งมักเรียกกันว่า “จับกัง” หรือ “กุลี” มีจำนวนจีนมากขึ้นทุกที มาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มาก ที่ออกไปตั้งทำมาหากินหรือไปรับจ้างเป็นแรงงานอยู่ตามหัวเมืองก็มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็เกิดมีจีนหัวหน้าขึ้นอีกจำพวกหนึ่ง เรียกกันว่า “เถ้าเก” ทำการงานอันมีพวกกุลีอยู่ในปกครองมากบ้างน้อยบ้าง จีน จำพวกที่หากินในการรับประมูลทำภาษีอากรก็ดี จีนจำพวกที่เป็นเถ้าเกคุมกุลีรับทำการงานก็ดี มักแย่งผลประโยชน์กัน เช่นแย่งประมูลภาษีอากรและแย่งงานกันทำเป็นต้น ต่างก็คิดเอาเปรียบกันด้วยอุบายต่างๆ การตั้งตั้วเหียเป็นอุบายสำคัญอย่างหนึ่งของพวกจีนจำพวกเหล่านั้น เป็นต้นว่าถ้าผู้เป็นหัวหน้าตั้วเหียเข้าว่าประมูลภาษีอากร ผู้อื่นก็มิใคร่กล้าแย่ง ด้วยเกรงตั้วเหียซึ่งเป็นพรรคพวกอยู่ในท้องที่จะรังแก ถ้าผู้ซึ่งไม่ได้เป็นตั้วเหียจะเข้าว่าประมูลก็จำต้องไปว่ากล่าวขอร้อง หรือยอมแบ่งผลประโยชน์ให้พวกตั้วเหียอย่าให้เกะกะกีดขวาง เกิดประโยชน์ขึ้นแก่ตั้วเหียอย่างนี้[๒๖๔] จึงเริ่มเกิดตั้วเหียขึ้นอีกหลายพวกหลายเหล่า แต่ยังไม่ทันปรากฎเหตุการณ์เมื่อในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่มีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐาน ว่ารัฐบาลได้ปรารภอยู่แล้วแต่ในรัชกาลที่ ๔ ว่าการปกครองจีนในประเทศสยามนี้อาจจะมีความลำบากเกิดขึ้นใหม่จากจีน ๒ จำพวก คือจีนในบังคับฝรั่งต่างประเทศเรียกในสมัยนั้นว่า “ในร่มธง” หรือ “สัปแยก” จำพวก ๑ กับจีนตั้วเหียจำพวก ๑ เหตุด้วยจีนในบังคับต่างประเทศมีกงสุลคอยอุดหนุนให้ได้เปรียบจำพวกอื่นและรัฐบาลในบ้านเมืองจะบังคับบัญชาก็ไม่ได้เหมือนกับราษฎรทั้งปวง ส่วนพวกตั้วเหียนั้นก็ย่อมอาศัยตั้งพวกประพฤติในทางพาล ถ้ามีกำลังมากขึ้นก็อาจจะเป็นศัตรูเกิดขึ้นภายในบ้านเมือง ก็จีนที่มายังประเทศนี้โดยมากเป็นแต่มุ่งหมายมาหากินมิได้รู้สึกตัวว่าเป็นชาวเมืองไทย ได้เปรียบแก่ตนทางไหนก็ไปทางนั้น อาจจะเกิดนิยมไปแอบอิงอาศัยอำนาจฝรั่ง หรือเข้าเป็นพวกตั้วเหียเป็นความลำบากแก่รัฐบาลทั้ง ๒ อย่างดูเหมือนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศจะได้ลงเนื้อเห็นเป็นยุติว่า ควรดำเนินตามทางพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือทำนุบำรุงพวกจีนทั้งปวงอันเป็นหมู่มากให้รู้สึกว่าได้รับความอุปถัมภ์บำรุงของรัฐบาล ไม่จำต้องอาศัยอำนาจฝรั่งหรือเป็นตั้วเหีย เพราะฉะนั้นพอขึ้นรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ก่อนทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ประกาศตั้งศาลสำหรับชำระความจีน[๒๖๕] เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำปีมะโรงฯ กล่าวความในบานแผนกเบื้องต้น

“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้ปรึกษาพระบรมวงศานุวงศแลท่านเสนาบดี ว่าจีนบรรดาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้นฉันใด จะให้มีความสุขสบาย (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ) จึงได้นำกระแสรับสั่งปรึกษาพระบรมวงศานุวงศแลท่านเสนาบดี เห็นพร้อมกันว่าจีนทั้งหลายที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทำมาหากินในพระราชอาณาจักร์แผ่นดินสยามนี้มากกว่ามาก ไม่มีที่พึ่งเหมือนชาวประเทศอื่นๆ ซึ่งอยู่ในร่มธงกงสุล พวกจีนเหล่านี้แต่กาลก่อนมีถ้อยความขึ้นก็ต้องไปฟ้องโรงศาลเหมือนอย่างไทย ตัวก็ไม่รู้จักอย่างธรรมเนียมกฎหมายบ้านเมืองไทย ว่ากะไรต้องเตล็ดเตร่เร่ไปหาท่านผู้มีอำนาจบรรดาศักดิ์มากให้ช่วยธุระของตัว คิดดูน่าสงสารหนัก กาลนี้ก็เป็นแผ่นดินใหม่ควรที่จะจัดแจงให้มีผู้รับธุระของพวกจีนทั้งหลายให้ได้ความสุขขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ แลหัวเมืองให้มีผู้รับธุระเหมือนกัน ได้นำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ทรงเห็นด้วย จึงให้มีหมายประกาศแก่บรรดาพวกจีนซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทำมาหากินในพระราชอาณาเขตต์ให้รู้ทั่วกันว่าถ้าจีนต่อจีนมีคดีเกี่ยวข้องต่อกัน ให้ไปร้องฟ้องที่พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย กับหลวงพิพิธภัณฑ์ผู้ช่วยราชการกรมท่าซ้ายกับหลวงพิชัยวารี[๒๖๖] (รัฐบาล) จะให้พระยาโชฎึกฯ มีอำนาจตั้งจีนเป็นตระลาการขึ้นอีกหลายนาย จะได้ชำระตัดสินตามธรรมเนียมจีนให้แล้วแก่กัน” ดังนี้ แต่อำนาจศาลจีนที่ตั้งครั้งนั้น ให้รับคดีซึ่งคู่กรณีย์เป็นจีนทั้ง ๒ ฝ่ายแลเป็นส่วนความแพ่งไว้พิจารณาและเปรียบเทียบ หรือพิพากษาให้แล้วกันได้ตามประเพณีจีน แลใช้ภาษาจีนได้ในศาลนั้น แต่ถ้าคู่กรณีย์ฝ่ายหนึ่งมิได้เป็นจีนก็ดี หรือเป็นความโจรผู้ร้ายเสี้ยนหนามแผ่นดินก็ดี ศาลนั้นไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา อนึ่งนอกจากตั้งศาลที่กล่าวมา ที่ในกรุงเทพฯ ในท้องที่มีจีนอยู่มาก เช่นในสำเพ็งเป็นต้น ตั้งนายอำเภอจีนสำหรับดูแลกิจทุกข์สุขของพวกจีนเหมือนอย่างที่มีนายอำเภอไทยในที่อื่นด้วยอีกอย่างหนึ่ง ตามหัวเมืองซึ่งยังไม่มีกรมการจีน ก็ตั้งกรมการจีนขึ้นเป็นตำแหน่งเรียกว่า “กงสุลจีนในบังคับสยาม” ได้คัดความตอนต้นตราตั้งมาลงไว้ในที่นี้พอให้เห็นความปรารภของรัฐบาลในครั้งนั้น

“สารตราท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหมให้มาแก่ผู้ว่าราชการเมืองเพ็ชรบุรี[๒๖๗] ด้วยมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งให้ท่านเสนาบดีปรึกษาพร้อมด้วยพระบรมวงศเธอ ว่าพวกจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทำมาหากินอยู่ในกรุงสยามเป็นอันมาก สืบบุตรหลานมาถึง ๓ ชั่ว ๔ ชั่วแล้ว บางคนก็ไม่รู้ความเมื่อมีคดีขึ้นเล็กน้อย คนที่เป็นหมอความก็เข้ายุยงเสี้ยมสอนให้ข้างหนึ่งเป็นโจทก์ ฟ้องร้องที่เป็นจำเลยต้องไปแก้คดียังโรงศาลป่วยการทำมาหากิน เสียค่าฤชาตระลาการแล้วความนั้นก็เสียไป เพราะไม่รู้จักธรรมเนียมแลกฎหมาย แต่ก่อนครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริแล้ว บางเมืองก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ตั้งจีนเป็นปลัดจีนให้มาว่ากล่าวระงับทุกข์ของพวกจีนในแขวงเมืองนั้นๆ แต่เมืองเพ็ชรบุรีนี้ยังไม่ได้ทรงตั้ง บัดนี้ท่านเสนาบดีสืบความทราบว่าจีนเบ๊เป็นคนใจดีซื่อตรง พวกจีนที่อยู่ในแขวงเมืองเพ็ชรบุรีหัวเมืองนี้นับถือโดยมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจีนเบ๊อยู่บ้าน (หน้า) วัดมหาธาตุแขวงเมืองเพ็ชรบุรีเป็นที่หลวงอร่ามจีนพิไสย กงสุลจีนอยู่ในบังคับสยามสำหรับว่ากล่าวถ้อยความซึ่งอยู่แขวงเมืองเพ็ชรบุรี” ดังนี้

สังเกตุดูความในตราตั้งกงสุลจีนตามหัวเมืองต่างๆ ที่ได้พบสำเนา ดูเหมือนจะมีอำนาจต่างกันเป็นชั้นๆ คือ ถ้ายกย่องให้มียศถึงเป็น “ปลัดฝ่ายจีน” ให้มีอำนาจชำระความ ถ้าเป็นเพียง “กงสุลจีน” ได้แต่เปรียบเทียบว่ากล่าวอย่างเป็นหัวหน้า

ที่จัดการปกครองจีนครั้งนั้นจะได้ผลดีอย่างไร ในเวลาเมื่อแต่งหนังสือนี้บุคคลซึ่งรอบรู้พอจะไต่ถามให้ได้ความเป็นหลักฐานหมดตัวเสียแล้ว ได้แต่สันนิษฐานว่าเห็นจะมีผลดีที่ทำให้พวกจีนพากันอุ่นใจและมีเค้าเงื่อนปรากฎว่า การที่จัดครั้งนั้นเป็นปัจจัยให้จีนนับถือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน มีพวกจีนที่เป็นหัวหน้าทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำพากันเข้าฝากตัวพึ่งพำนักอยู่ด้วยเป็นอันมาก คงเป็นเพราะเห็นว่าท่านมีอำนาจและน้ำใจที่จะสงเคราะห์ทั้งในการปกครองตลอดจนในการที่จะให้ได้ทำภาษีอากร ข้อหลังเป็นข้อสำคัญ ด้วยจีนในบังคับต่างประเทศเสียเปรียบอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะเข้ามารับทำภาษีอากรไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลไทย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงอาศัยใช้อำนาจ ๒ อย่างนั้นปกครองพวกจีนไว้มิให้ไปนิยมฝรั่งได้โดยมาก ก็แต่การแย่งผลประโยชน์กันในกระบวนการหากินยังมีอยู่ จีนต่างพวกยังคงคิดเอาเปรียบกันอยู่อย่างเดิม อุบายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงไม่คุ้มไปได้ถึงเรื่องตั้วเหียยังมีอยู่ไม่ขาด บางทีหัวหน้ากลับเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่พึ่งพำนักอยู่ในเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ด้วยสามารถจะร้องเรียนให้ท่านเชื่อถือว่ามิให้คิดกบฏคดร้าย ขอให้ช่วยป้องกัน ก็แต่ธรรมดาตั้วเหียถึงหัวหน้าจะคิดอาศัยรัฐบาล พวกสมพลที่เป็นพาลก็ยังชอบใช้กำลังเที่ยวเบียดเบียฬผู้อื่นตามอำเภอใจ เมื่อถึงตอนปลายปีมะโรงสัมฤทธิศกจึงปรากฎเรื่องตั้วเหียเที่ยวประพฤติโจรกรรมเบียดเบียฬผู้อื่นมีขึ้นเนืองๆ ทั้งในกรุงเทพฯ แลตามหัวเมือง ทั้งปรากฎว่ามีจีนในบังคับต่างประเทศคิดจะตั้งตั้วเหียด้วย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงจำต้องเปลี่ยนอุบายในการปราบตั้วเหียปรากฏกระบวนการที่จัดแก้ไขมีอยู่ในหนังสือเก่า ค้นพบเมื่อแต่งหนังสือนี้ ดังจะกล่าวต่อไป คือ

๑. เมื่อณวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือบอกกล่าวไปยังกงสุลฝรั่งเศส ว่าจีนเฉียวโห จีนเลวหู ในบังคับฝรั่งเศสซึ่งตั้งร้านขายสุราตั้งตั้วเหีย ขอให้กงสุลขับไล่ออกไปเสียจากประเทศสยาม หรือมิฉะนั้นให้เอาออกเสียจากป้องกันฝรั่งเศส รัฐบาลจะได้บังคับบัญชาตามกฎหมายบ้านเมือง หนังสือนี้กงสุลฝรั่งเศสจะมีตอบมาว่ากะไรหาพบสำเนาหนังสือไม่ แต่ตามความที่ปรากฎมาในเรื่องจีนตั้วเหีย ดูกงสุลต่างประเทศไม่เอาเป็นธุระอุดหนุนตั้งแต่เดิมตลอดมาทุกเมื่อ เมื่อคิดดูก็พอแลเห็นเหตุ ด้วยจีนในบังคับต่างประเทศมีจำนวนน้อย แลมักหากินในการฉะเพาะอย่าง เช่นตั้งโรงสี หรือตั้งห้างซื้อขายสินค้า หาผลประโยชน์โดยตรง กงสุลจะอุดหนุนก็ง่ายการตั้งตั้วเหียย่อมเจือปนด้วยความทุจริต แลต้องระคนด้วยคนพาลมิมากก็น้อย กงสุลจะอุดหนุนยากจึงไม่เอาเป็นธุระอุดหนุนพวกจีนในบังคับให้เข้าตั้วเหียด้วยเหตุนี้

๒. ปรากฎในจดหมายเหตุอาลักษณะฉะบับหนึ่งว่า “ณ วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะเส็งยังเป็นสัมฤทธิศก เพลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาพิพัฒโกษานำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ว่าจีนในแขวงเมืองนครชัยศรีหลายตำบลคบคิดกันเป็นหมู่เหล่า เข้าปล้นสะดมภ์ให้อณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน จับตัวจีนกันนาได้กับสมัครพรรคพวก ชำระจีนกันนาเป็นสัตย์ มีพระบรมราชโองการปรึกษาท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก เจ้าพระยาสุรวงศวัยวัฒนที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยายมราช พระยาราชสุภาวดี พระยาเทพประชุน พระยาราชรองเมือง พระยาเพชฎา ปรึกษาพร้อมกัน สั่งให้เอาตัวจีนกันนาลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๙๐ ที มีป้ายเขียนนำหน้าประจานว่า อย่าให้ราษฎรไทยจีนดูเยี่ยงอย่างเหมือนจีนกันนา แล้วเอาตัวไปประหารชีวิตที่ประตูวัดโคก”

๓. ในจดหมายเหตุห้องอาลักษณ์ฉะบับนั้นปรากฎอีกแห่งหนึ่งว่า “เมื่อณวันอาทิตย์ เดือน แรมค่ำ ๑ ปีมะเส็งยังเป็นสัมฤทธิศกฯ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศผู้สำเร็จราชการ ปรึกษาเสนาบดีเจ้าภาษีนายอากร พระหลวงขุนนางจีน[๒๖๘] ว่าแต่บรรดาเมืองปักษใต้ฝ่ายเหนือในกรุงนอกกรุง มีจีนคบคิดกันซ่องสุมผู้คนเป็นหมวดเป็นเหล่าคิดตั้งเป็นตั้วเหียเที่ยวตีเรือขึ้นปล้นตามบ้านราษฎรตื่นแตกกันทั่วนิคมเขตต์ บัดนี้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศเห็นว่าจีนที่ดีบ้างชั่วบ้าง ถ้าจะออกไปจับหรือจะรบกัน บรรดาจีนทั้งหลายก็จะพลอยตายเสียเป็นอันมาก มีพระประสาทสั่งให้พระยาเทพประชุน พระยาโชฎึกราชเศรษฐี พระยาราชรองเมือง กับขุนนางจีนบ้าง พาจีนที่รู้จักตัวว่าเป็นผู้คิดซ่องสุมผู้คนเป็นตั้วเหีย ๑๔ คนให้ไปสาบาลตัวที่วัดกัลยาณมิตรในพระวิหารพระประธานองค์ใหญ่ ว่าแต่บรรดาจีน ๑๔ คนนี้กับทั้งพวกพ้องไม่ได้คิดประทุษฐร้ายต่อพระบาทสมเด็จจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว สนมพลเรือนนำน้ำพระพิพัฒนสัตยาให้จีน ๑๔ คนรับพระราชทาน

การที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศผ่อนผันแก่พวกหัวหน้าตั้วเหีย เพียงให้กระทำสัตย์สาบาลครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย แต่ไม่เป็นเวลาที่จะทรงขัดขวางได้ จึงเป็นแต่ทรงแสดงพระราชปรารภไว้ในพระราชหัตถเลขาถึงข้าหลวงเดิมคนหนึ่ง พบต้นร่างเมื่อแต่งหนังสือนี้ว่า “ข้อหนึ่งตั้วเหียเหล่านี้ การก็กลับกลายไปเสียแล้ว คนเหล่านี้เป็นคนของเจ้าคุณ[๒๖๙] ทั้งนั้น คนใช้อยู่กับบ้านเมื่อเกิดวุ่นวายขึ้นครั้งนี้จึงดับง่ายด้วยเป็นการไว้อำนาจของท่านถึงเอามาสาบาล แล้วมันก็ยังเที่ยวปล้นชิงเอาของอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน ราษฎรได้ความเดือดร้อนมากอยู่ มันก็ลงเอาว่าเพราะขุนหลวงเป็นเด็ก พวกจีนจึงกำเริบขึ้น มีความด้วยเรื่องปล้นหัวเมืองบอกมาไม่ใคร่ขาด ก็นิ่งเสียว่ายังไม่มีเหตุ หัวเมืองกรมการถ้าจับตัวผู้ร้ายที่เป็นตั้วเหียไปเที่ยวปล้นเขา ก็สั่งให้จำไว้ เขาบอกว่าจะส่งมาจำไว้คุกก็ว่าช่างก่อนเถิด ข้าวิตกว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรหรือจึงผะเอิญให้ผู้ใหญ่อยากจะไว้อำนาจด้วยเรื่องนี้ การต่อไปข้างหน้าเจ้าคุณไม่มีตัวแล้ว กำลังมันก็แก่ขึ้นทุกวัน ยิ่งนานไปก็เหมือนเพิ่มอำนาจให้มัน” มาคิดดูในเวลาเมื่อแต่งหนังสือนี้ว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศท่านจะคิดเห็นอย่างไรในเวลานั้น จึงไม่เอาโทษพวกหัวหน้าตั้วเหีย สันนิษฐานว่าอย่างดีบางทีจะเกิดแต่ปรารภว่าพวกจีนตั้วเหียทั้งที่เป็นหัวหน้าและสมพลมากมาย ไม่รู้ว่าจำนวนแน่จะมีสักเท่าใด ถ้าเอาหัวหน้าทำโทษพวกสมพลเกิดเจ็บร้อนพากันกำเริบขึ้นก็จะปราบปรามลำบาก ทำนองท่านจะคิดเห็นว่าเอาพวกหัวหน้าไว้ให้ช่วยเหนี่ยวรั้งพวกสมพลจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าทำลายหัวหน้าเสีย.

๔. ปรากฎอุบายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศอีกอย่างหนึ่ง มีในจดหมายเหตุอาลักษณอีกแห่งหนึ่งว่า “ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ปีมะเส็ง ยังเป็นสัมฤทธิศก เพลาบ่าย ๔ โมงเย็น พระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ทรงทอดพระเนตรหัดทหารปืนใหญ่ยิงปืนตับ เพลาพลบค่ำเสด็จขึ้น” การเสด็จออกทอดพระเนตรซ้อมทหารอย่างว่านี้[๒๗๐] จัดให้มีในหมู่นั้นเนืองๆ บางครั้งก็ให้ตั้งเป็นค่ายระเนียดแล้วเอาช้างศึกแล่นผ่านควันปืนเข้ารื้อค่าย เป็นการแสดงกำลังทหารให้พวกตั้วเหียครั่นคร้าม ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง[๒๗๑]

แต่ข้อซึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปริวิตก ดังปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขานั้นก็มีมูล เพราะในสมัยนั้นเกิดเหตุโจรผู้ร้ายชุกชุม ทั้งที่เป็นตั้วเหียและมิใช่ตั้วเหีย บางรายเป็นเหตุแปลกประหลาด ดังเช่นมีผู้ร้ายคนขึ้นลักของบนกุฎีพระธรรมเจดีย์ (อุ่น) ราชาคณะวัดพระเชตุพน แล้วทำทรกรรมพระธรรมเจดีย์ซึ่งแก่ชราอายุกว่า ๘๐ ปี จนถึงสิ้นชีวิต ต่อนั้นมาไม่ช้ากัปตันยอนสมิธนำร่องอังกฤษถูกเมียลอบให้ชู้ฆ่าตายลงอีกคนหนึ่ง ก็เลื่องลือเรื่องโจทก์กันแพร่หลาย แต่ในเวลานั้นพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) เจ้ากรมกองตระเวนเป็นคนแข็งแรง สืบจับตัวผู้ร้ายโดยรวดเร็วทั้ง ๒ ราย จับได้แล้วชำระเป็นความรับสั่งพิพากษาเสร็จในไม่กี่วัน ตั้งแต่เกิดเหตุก็ได้ประหารชีวิตผู้ร้าย การที่จัดดังบรรยายมาคงเป็นปัจจัยให้พวกตั้วเหียแลโจรผู้ร้ายอุกฉกรรจ์ในกรุงๆ สงบไปได้อีกคราวหนึ่ง

เรื่องตั้วเหียตั้งแต่นี้สงบไปหลายปี จึงเกิดขึ้นอีกเรียกว่าอั้งยี่ดังจะพรรณนาในตอนอื่นต่อไป.



[๒๔๘] พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสว่า เหตุที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น เป็นเพราะเจ้านายวิวาทแย่งชิงราชสมบัติกันมาเนือง ๆ จนราษฎรไม่กล้าสามิภักดิ์ต่อเจ้านายองค์ใด คิดเอาแต่ตัวรอดจึงเสียบ้านเมือง ใช่ว่าหมดคนดีนั้นหาไม่

[๒๔๙] เรื่องจับฝิ่นที่เกิดวิวาทกับกงสุลอังกฤษ กล่าวมาแล้วในตอนที่ ๑๐

[๒๕๐] ในกฎหมายหมวดพระราชกำหนดใหม่ปรากฎว่า เมื่อรัชกาลที่ ๑ อัตราราคาเบี้ย ๔๐๐ ต่อเฟื้อง ราคาเห็นจะตกเมื่อมีเรือต่างประเทศมาค้าขายมากขึ้นในรัชกาลภายหลัง

[๒๕๑] ข้อนี้กล่าวไว้ในหนังสือบางกอกคาเลนดาของหมอบรัดเล เล่ม ค.ศ. ๑๘๖๙

[๒๕๒] เหรียญดอลลาร์ตีตราพระมหามงกุฎกับตราจักร์ยังมีเหลืออยู่บ้างแต่เดี๋ยวนี้หายาก

[๒๕๓] โรงกระสาปน์ที่กล่าวนี้ ตัวตึกยังอยู่ข้างฟากตวันออกถนนประตูสุวรรณบริบาลเดี๋ยวนี้ใช้เป็นคลังชาวที่ สร้างขึ้นตรงโรงทำเงินพดด้วงของเดิม การสร้างโรงกระสาปน์มีเรื่องปรากฎว่าสั่งเครี่องจักร์มาจากเมืองเบอมิงฮัมประเทศอังกฤษ และเรียกช่างอังกฤษเข้ามาสำหรับตั้งเครื่องจักรด้วย แต่ช่างคนนั้นมาตายลงก่อนตั้งเครื่องจักร พระวิสูตรโยธามาตย์ (โหมด อามาตยกุล) รับอาสาตั้งเครื่องจักรโรงกระสาปน์ได้โดยลำภัง จึงโปรดฯ ให้เป็นเจ้ากรมโรงกระสาปน์ต่อมา

[๒๕๔] ยังมีเงินเหรียญขนาดตำลึง (๔ บาท) ขนาดกึ่งตำลึง แลขนาดกึ่งเฟื้อง แต่มิได้ใช้เป็นเครื่องแลก

[๒๕๕] เหรียญซีกและเซี่ยวเดิมทำหนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรยทาน เหรียญซีกไปถูกศรีษะคนแตก จึงโปรดฯ ให้ทำให้บางลง

[๒๕๖] คือตึกที่อยู่ทางตะวันตกแห่งประตูสุวรรณบริบาลบัดนี้

[๒๕๗] คำว่า ไพ มาแต่จีนเรียกว่า ไพบา ราคาไพ ๑ เท่ากับ ๘ อัฐ

[๒๕๘] มีผู้ได้ลองรวบรวมตัวอย่างปี้กระเบื้องต่าง ๆ ซึ่งพวกจีนนายบ่อนเบี้ยคิดทำขึ้นได้กว่า ๒,๐๐๐ อย่าง

[๒๕๙] คำตั้วเหียแปลว่าพี่ใหญ่ เป็นคำที่พวกในสมุนเรียกผู้เป็นหัวหน้า ไทยเอามาเรียกเป็นนามสมาคม คำว่าอั้งยี่ เป็นนามที่แท้ของสมาคมเรียกตามเสียงจีนแต้จิ๋ว หมายเอานามพระเจ้าฮ่วงบู๊อันเป็นพระเจ้าแผ่นดินต้นราชวงศ์ใต้เหมง.

[๒๖๐] เห็นจะตั้งเมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี.

[๒๖๑] ผู้แต่งหนังสือนี้ได้ลองสืบเหตุที่ไทยสูบฝิ่น ได้ความว่ามักเป็นด้วยป่วยเป็นโรคอันกอบด้วยโรคทุกขเวทนาอยู่ก่อน จีนบอกว่าสูบฝิ่นระงับทุกขเวทนาได้ จึงสูบฝิ่นแล้วก็เลยติด.

[๒๖๒] การที่ห้ามไทยมิให้สูบฝิ่นนั้นสำเร็จเพียงเอาโทษแก่ผู้มีบรรดาศักดิ์ ซึ่งสูบฝิ่นติด

[๒๖๓] ในหนังสือโบราณปรากฎแต่ว่าเก็บอากร คำว่า เจ้าภาษีเกี่ยวกับการเก็บผลประโยชน์แผ่นดินเกิดขึ้นใหม่ ดูเหมือนจะใช้ขึ้นเมื่อเกิดวิธีให้ประมูลกัน ใครรับประมูลได้สูงกว่าเพื่อนก็ได้ภาษี เรียกว่า “เจ้าภาษี” เจ้าภาษีคนนั้นได้รับทำอากรอย่างใด ก็ได้เป็นนายอากรอย่างนั้น จึงเกิดนามว่า “เจ้าภาษีอากร” หมายความว่าเป็นผู้รับประมูลอากรอย่างนั้นสูงกว่าเพื่อน คำว่า “เก็บภาษีอากร” เนื่องมาจากคำเจ้าภาษีอากรนั่นเอง เรียกตามความสดวกปากมาจนทุกวันนี้ ที่กล่าวมานี้ตามความสันนิษฐาน.

[๒๖๔] เมื่อแต่งหนังสือนี้มีรู้เรื่องตั้วเหียในสมัยที่กล่าว มีพระอนุวัตรราชนิยม (ยี่กอฮง) ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าตั้วเหียเหลืออยู่ได้เรียกมาถามอธิบาย

[๒๖๕] สำเนาประกาศพิมพ์ไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาปีจอนพศก จุลศักราช ๑๒๓๖ (พ.ศ. ๒๔๑๗) หน้า ๒๘๙.

[๒๖๖] พระยาโชฎึกฯ คนนั้นชื่อจ๋อง ต่อมาเลื่อนเป็นพระยาราชานุชิต จางวางกรมท่าซ้ายตำแหน่งกิติมศักดิ์ หลวงพิพิธภัณฑ์พิจารณ์ชื่อฟัก ภายหลังได้เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี หลวงพิชัยวารี ชื่อมลิ.

[๒๖๗] สารตราฉะบับนี้ลงวันอังคาร เดือนยี่ แรม ๘ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๓๑

[๒๖๘] พึงสังเกตได้ว่าในสมัยนี้พวกจีนที่ได้เป็นขุนนาง แลเป็นเจ้าภาษีนายอากร ได้รับความยกย่องอย่างเป็นหัวหน้าพวกจีน

[๒๖๙] คือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ

[๒๗๐] ผู้แต่งหนังสือนี้ยังเป็นเด็กได้เคยตามเสด็จไปดูหลายครั้ง

[๒๗๑] วิธีขู่ตั้วเหียอย่างในสมัยภายหลังมาถึงราว พ.ศ. ๒๔๔๐ เมื่อจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลใหม่ๆ มีพวกจีนตั้งเตาต้มเหล้าเถื่อนที่ตำบลบางตาล ทำสนามเพลาะถมดินไว้หวังจะสู้รบนายอากรสุรา เวลานั้น เจ้าพระยาสุรพันพิสุทธิ (เทศ บุนนาค) เป็นสมุหเทหาภิบาลมณฑลราชบุรี จำเอาบุบายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศมาใช้ ให้เอาปืนใหญ่ที่เมืองราชบุรีออกขัดถู และกล่าวให้ปรากฏว่าจะเอาไปยิงสนามเพลาะของพวกจีนที่บางตาล พวกจีนที่บางตาลก็พากันทิ้งค่ายหลบหนีไปหมด

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ