ตอนที่ ๘

เฉลิมศักดิ์

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตั้งรัชกาลใหม่ ย่อมพระราชทานยศศักดิ์สนองคุณูปการและเป็นบำเหน็จแก่ผู้มีความชอบมาแต่ก่อนจึงเลยเป็นประเพณีซึ่งเรียกมาแต่ก่อนว่า “พูนบำเหน็จ” ต่อเนื่องกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกคราวแต่ที่เรียกในหนังสือนี้ว่า “เฉลิมศักดิ์” เพราะจะให้หมายความครอบถึงทุกประเภท คือ

๑. ตั้งพระราชาคณะ

๒. เฉลิมพระเกียรติยศสนองคุณพระราชบุรพการี

๓. เลื่อนพระยศเจ้านายที่มีความชอบ

๔. เลื่อนยศข้าราชการที่มีความชอบ

๕. พระราชทานยศข้าหลวงเดิม

๖. ตั้งข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวร ฯ

การทรงตั้งพระราชาคณะสงฆ์นับว่าเพื่อเป็นสิริมงคล ด้วยเป็นการทรงบำเพ็ญพระราชกิจอุปถัมภกพระพุทธศาสนา จึงย่อมทรงตั้งพระราชาคณะให้เป็นพระฤกษ์ก่อน แจ้วจึงทรงเฉลิมศักดิ์ผู้อื่นต่อไป แต่กำหนดวันซึ่งทรงแต่งตั้งผู้อื่นนั้น แล้วแต่โหรหาฤกษ์หรือสดวกแก่ราชการ ไม่ได้เรียงเป็นลำดับตามชั้นยศศักดิ์ แต่เพื่อจะให้เป็นความสดวกแก่ผู้อ่านหนังสือนี้ จะพรรณนาเป็นลำดับไปตามประเภทที่ได้แสดงมา

๑. ตั้งพระราชาคณะ

เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๑๓ ค่ำ (อันต่อวันพิธีบรมราชาภิเษก) เวลาเช้าเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงตั้งพระราชาคณะเป็นฤกษ์ ๓ องค์ คือ

พระมหานุ่ม เปรียญ ๗ ประโยค วัดอมรินทราราม เป็นที่พระกวีวงศ์องค์ ๑ (องค์นี้ต่อมาลาสิกขา)

พระปลัดแสง[๒๐๑] เปรียญ ๗ ประโยค วัดราชบูรณะ เป็นที่พระราชามุนีองค์ ๑ (องค์นี้ต่อมาได้เลื่อนที่เป็นพระโพธิวงศาจารย์ ยศเสมอชั้นเทพ แล้วเลื่อนเป็นพระธรรมไตรโลกพระธรรมวโรดม และเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในรัชกาลที่ ๕)

พระปลัดเมตะคู เดช วัดบุปผาราม เป็นพระวิเชียรมุนีองค์ ๑ (องค์นี้อยู่ในตำแหน่งนั้นมาตลอดอายุ)

๒. เฉลิมพระยศสมเด็จพระบุรพการินี

ณ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เชิญพระอัฎฐิพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา เวลาเย็นมีการพิธี พระสงฆ์สวดมนต์ ๑๕ รูป แล้วมีเทศนากัณฑ์ ๑ และสดับกรณ์ รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำเวลาเช้าเลี้ยงพระแล้วทรงสถาปนาพระเกียรติยศพระอัฏฐิเป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประกาศพระบรมราชโองการ ดังนี้

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๑๑ พรรษา ปัตยุบันกาลมังกรสังวัจฉรบุศยมาศ ชุษณปักษ์พารสีติถี ศุกรวาร บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระกระมลราชหฤทัยประกอบไปด้วยพระกตัญญูตากตเวทิตา ระลึกถึงบุรพาธิการกิจสมเด็จพระราชชนนีซึ่งมีมหันตคุณวราดิเรกอเนกประการ ด้วยทรงอภิบาลบำรุงรักษาตั้งแต่ดำรงพระครรภ์มา พร้อมด้วยพรหมมาธิมุตยาศรัย จำนงแต่ในความสุขสำราญและเหตุเป็นที่ตั้งความเจริญ แด่พระบาทสมเด็จฯ พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระบรมราชวโรรสตลอดจนเวลาทิวงคตปลงพระชนมายุสังขารล่วงไป ก็คงตั้งพระหฤทัยอาลัยด้วยจะให้ทรงพระเจริญด้วยพระบรมราชอิสสริยยศต่างๆ จึงทรงพระราชดำริด้วยวิบูลยปรีชาว่าเหตุที่ฉลองพระเดชพระคุณให้สมควรเป็นปัตโยปการิตาอย่างอื่นอย่างใดก็ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงทรงพระราชบัญญัติดำรัสเหนือเกล้า เหนือกระหม่อมให้สถาปนาเลื่อนพระนามพระอัฏฐิสมเด็จพระราชชนนีซึ่งควรเป็นที่คารวสถานจิรกาลทิวงคตแล้วนั้น ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์โดยฐานันดรที่สมเด็จพระราชชนนีพระพันปีหลวง ตามบรรพโบราณราชจารีตสืบมา เป็นการฉลองพระเดชพระคุณให้เป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล และสมควรจะตั้ง เจ้ากรมปลัดกรมสมุหบัญชี ให้มีถานานุศักดิ์คุมเลขข้าในกรมปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงที่สังฆวิหาร เป็นการพระราชกุศล และทรงพระราโชทิศกัลปนาผลถวายเนืองๆ ไปขอให้พระเกียรติคุณวิบูลยวรยศปรากฏตั้งอยู่สิ้นกาลนานเทอญ”

แล้วพระราชทานสัญญาบัตรทรงตั้งเจ้ากรม ปลัดกรมและสมุหบัญชี พระอัฐฐิคือ

ให้จางวางพัด ราชินิกุล เป็นพระเทพศิรินทรามาตย์ เจ้ากรมขอเฝ้า ถือศักดินา ๑๖๐๐

ให้นายพันข้าหลวงเดิม เป็นหลวงวรนาถภักดี ปลัดกรมขอเฝ้า ถือศักดินา ๘๐๐

ให้นายทหารข้าหลวงเดิม เป็นขุนทวีพลากร สมุหบัญชีขอเฝ้าถือศักดินา ๔๐๐

ณ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำ[๒๐๒] ตั้งการพิธีทรงสถาปนาพระเจ้าราชวรวงศเธอ พระองค์เจ้าหญิงละม่อม เป็นกรมพระสุดารัตนราชประยูร เวลาเย็นพระสงฆ์สวดมนต์ในพระที่นั่งพิมานรัตยา รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาเช้าสรงแล้วทรงรับพระสุพรรณบัฏ มีประกาศพระบรมราชโองการดังนี้

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๑๑ พรรษา ปัตยุบันกาลมังกรสังวัจฉรบุศยมาศ ชุษณปักษ์ปัญจมีดิถี ศุกรวารบริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าพระเจ้าราชวรวงศเธอพระองค์เจ้าละม่อมนั้น มีบรรพการิตาคุณวโรปการ ได้ทรงอภิบาลอุปถัมภ์บำรุงบริรักษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ดำรงด้วยสุขสวัสดินานานุประการ ดังหนึ่งสมเด็จพระราชชนนี ตั้งแต่พระเยาว์มาคุมถึงเวลาทรงพระเจริญวัย ดังพระหฤทัยจำนงประสงค์เพื่อจะให้ทรงพระเจริญรุ่งเรืองด้วยพระบรมราชอิสสริยยศในที่ต่างๆ โดยสมควร และเป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศรัยมากกว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์อื่นๆ สมควรเป็นที่เคารพนับถือทั่วไปในพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง จีงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้สถาปนาพระเจ้าราชวรวงศ์เธอฝ่ายในพระองค์เจ้าละม่อมเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าราชวรวงศ์เธอกรมพระสุดารัตนราชประยูรวรรคเดชเป็นอาทิวรรคศรีเป็นอันตอักษรทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ เป็นการฉลองพระเดชพระคุณให้ทรงพระเจริญพระชนมายุ พรรณสุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ ทำราชการแผ่นดินสมควรแก่ความที่เนื่องในพระวงศ์อันสูงศักดิ์สนิทในพระราชตระกูลนี้

ให้ทรงตั้งเจ้ากรมเป็น พระสุดารัตนราชประยูร ถือศักดินา ๘๐๐

ปลัดกรมเป็น หลวงชนานุกูลกิจ ถือศักดินา ๖๐๐

สมุหบัญชีเป็น ขุนพินิจพลขันธ์ ถือศักดินา ๓๐๐

ตั้งกรมเจ้านาย

เมื่องานบรมราชาภิเษกครั้งปีมะโรงนั้น เดิมทรงพระราชดำริจะเลื่อนกรมเจ้านายและเลื่อนยศข้าราชการผู้ใหญ่ อนุโลมตามเยี่ยงอย่างครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบรมราชาภิเษก คือจะทรงเลื่อนกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นกรมสมเด็จฯ พระองค์ ๑ เลื่อนกรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ กับสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลากรมขุนบำราบปรปักษ์ เป็นกรมพระอีก ๒ พระองค์ ส่วนขุนนางนั้นจะทรงสถาปนาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เป็นสมเด็จเจ้าพระยา และจะโปรดฯ ให้เลื่อนพระยาศรีสุริยวงศ์วัยวัฒน์จางวางมหาดเล็ก (วร บุตรเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) เป็นเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหม เลื่อนพระยาเทพประชุน ปลัดทูลฉลองกรมพระกลาโหม (ท้วม บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) เป็นเจ้าพระยาพระคลังว่าการต่างประเทศ แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กราบบังคมทูลขออย่าให้ทรงสถาปนาตัวท่านขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา โดยอ้างว่าบิดาของท่านเป็นเจ้าพระยารับราชการมาได้ช้านาน ครั้นทรงสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าพระยา อยู่ได้ไม่เท่าใดก็ถึงพิราลัย จึงเกรงว่าถ้าตัวท่านเป็นสมเด็จเจ้าพระยาอายุจะสั้น[๒๐๓] เพราะเหตุที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่รับเป็นสมเด็จเจ้าพระยา การที่จะเลื่อนกรมเจ้านายผู้ใหญ่ก็เป็นอันระงับไปด้วย[๒๐๔] การเลื่อนพระยศพระบรมวงศานุวงศ์เนื่องในงานบรมราชาภิเษกเมื่อปีมะโรงฯ จึงมีแต่พระราชทานพระสุพรรณบัฏสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กับทรงตั้งหม่อมเจ้าซึ่งมีความชอบเป็นพระองค์เจ้าอีก ๓ พระองค์

การพระราชพิธีพระราชทานพระสุพรรณบัฏพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมีทำเนื่องในงานพระราชพิธีโสกันต์ เพราะพระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น แต่พระมหาปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพ จึงโปรดฯ ให้ย้ายสถานที่ทำการพระราชพิธึไปทำ ณ พระที่นั่งอานันตสมาคมในพระอภิเนาวนิเวศน์ แห่พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าอุนากรรณอนันตนรชัย พระเจ้าบวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี[๒๐๕] ซึ่งจะโสกันต์ด้วยอีก ๒ พระองค์ โดยกระบวนอย่างเจ้าฟ้าโสกันต์จากพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ไปทรงสดับพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ณ วันพฤหัสบดีเดือนยี่แรม ๓ ค่ำ และต่อมาอีก ๒ วันถึงวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้าโสกันต์ครั้นเวลาบ่ายแห่เสด็จทรงเครื่องต้นไปยังพระที่นั่งอานันตสมาคมพระราชทานพระสุพรรณบัฏสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ มีประกาศพระบรมราชโองการดังนี้

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๑๑ พรรษา ปัตยุบันกาลมังกรสังวัจฉรบุศยมาศกาฬปักษ์ ฉัฎฐีติถีรวิวาร บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าชายจาตุรนตรัศมีในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถฯ ยังเสด็จดำรงอยู่ มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้กำหนดวันมีฤกษ์สมควรแล้ว ให้เจ้าพนักงานจารึกเฉลิมพระนามลงในพระสุพรรณบัฏ เป็นสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าในกาลก่อนๆ มา พระบรมราชโองการดำรัสสั่งทั้งนี้ยังค้างอยู่จนตลอดเวลาเสด็จสวรรคตแล้วล่วงไป ยังหาได้จารึกเฉลิมพระนามไม่ บัดนี้ทรงพระราชรำพึงถึงพระเดชพระคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถฯ มีพระบรมราชบรรหารดำรัสไว้นั้นจะให้สำเร็จโดยพระราชประสงค์ได้ ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมีมีพระชนมายุทรงพระเจริญวัยควรแก่การพระราชพิธีโสกันต์ เป็นอภิลักขิตสมัยเวลาจะรับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระเกียรติคุณวิบูลยวรยศฐานันดรศักดิ์สมญา ที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า เพื่อจะรักษาโบราณราชประเพณีไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ จีงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูลสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้เฉลิมพระนามพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี ศรีสมมติเทวราชรวิวงศ์ วโรภัยพงศ์พิสุทธ มกุฎราชวรังกูรมไหสูรยารหราชกุมาร สิงหนาทดังนี้ ให้ทรงศักดินา ๒๐๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ ให้ทรงพระเจริญทฤฆชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล เกียรติยศอิสสริยศักดิ์เดชานุภาพทุกประการ ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยสมควรแก่ความเป็นในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์ในพระบรมราชวงศ์นี้ ขอให้พระเกียรติคุณอดุลยยศปรากฏไปสิ้นกาลนานเทอญ

ให้ทรงตั้งเจ้ากรมเป็น หมื่นจักรพรรดิพงศ์ ถือศักดินา ๘๐๐

ปลัดกรมเป็น หมื่นจำนงราชกิจ ถือศักดินา ๖๐๐

สมุหบัญชีเป็น หมื่นสิทธิพลนิกร ถือศักดินา ๓๐๐

ได้ผู้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ทำราชการโดยผาสุกสวัสดิเจริญเทอญ”

ต่อนั้นเวียนเทียนสมโภชตามประเพณี

ถึงวันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ พระราชทานพระสุพรรณบัฏทรงตั้งหม่อมเจ้าสิงหนาทในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ซึ่งบัญชาการกรมม้า เป็นพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์พระองค์ ๑

ต่อมาถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ ณ วันพุธ เดือน ๑๐ แรม ๙ คํ่า ทรงตั้งหม่อมเจ้าดิศในพระบรมวงศ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นณรงคหริรักษ์ซึ่งบัญชาการกรมช่างสิบหมู่เป็นพระองค์เจ้าประดิษฐวรการพระองค์ ๑

ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ ทรงตั้งหม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ ในสมเด็จพระมาตามไหยิกา กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เป็นพระประพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ[๒๐๖] พระองค์ ๑

๔. ตั้งขุนนาง

เดิมจะทรงตั้งสมเด็จเจ้าพระยาดังกล่าวมาแล้ว ครั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์บังคมทูลขอตัว จึงเป็นแต่โปรดฯ ให้มีการพิธีเพิ่มยศศักดิ์เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กับเจ้าพระยาทิพากรวงศพร้อมกับพระราชทานพระสุพรรณบัฏตั้งพระยาสุรวงศวัยวัฒน์ และพระยาเทพประชุนเป็นเจ้าพระยา เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ เสด็จออกในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นการเต็มยศ และอาลักษณอ่านประกาศพระบรมราชโองการดังนี้

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๑๒ พรรษา ปัตยุบันกาลสัปปสังวัจฉรไพสาขมาศ กาฬปักษ์ เอกาทสีดิถีครุวาร บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศวรุตมพงศบริพัตรวรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศฯ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชบรมบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่พระราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย และทวยราษฎรทั้งปวงในกรุงนอกกรุงให้ทราบทั่วกันว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สมันตพงศ์พิสุทธมหาบุรุษรัตโนดม ที่สมุหพระกลาโหม เป็นมหามัตยตระกูลประยูรวงศ์พงศ์อัครมหาเสนาธิบดี ผู้ได้อุปถัมภ์ช่วยทำนุบำรุงสิริราชสมบติรักษาแผ่นดินมาหลายชั้นชั่วสืบเนื่องมามิได้ขาด และเป็นพระบรมญาติผู้ใหญ่สนิทเนื่องในพระวงศ์นี้ ได้รับราชการมีตำแหน่งฐานันดรมาตั้งแต่ยังเยาว์ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงนับถือว่าเป็นพระบรมญาติอันยิ่งใหญ่ควรเป็นที่คำนับในพระบรมราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง และในแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้มีพระอิสสริยยศใหญ่ เป็นที่พระยาศรีสุริยวงศจางวางมหาดเล็กและเป็นผู้บัญชาการสร้างป้อมกำแพงในกรุงและหัวเมืองหลายตำบล และจัดการเรือรบเรือไล่ป้องกันพระนคร เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในราชการซึ่งเกี่ยวข้องกับชนชาวต่างประเทศ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนที่ให้เป็นประธานาธิบดีผู้ใหญ่ ว่าราชการในกรมพระกลาโหมและการต่างประเทศ ก็ไม่มีเหตุซึ่งจะต้องทรงพระราชดำริติเตียนประการใด ถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ได้อุปถัมภ์ทำนุบำรุงจัดการแผ่นดินให้เป็นปกติเรียบร้อยดีด้วย และมีวิริยปรีชาวิจารณกิจอันยิ่งใหญ่ รับว่าราชการต่าง ๆ ซึ่งราษฎรและข้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ความเดือดร้อนทุกข์เข็ญ ให้ระงับดับไปด้วยความเย็นใจทั่วหน้าเป็นเนืองนิจมามิได้ขาดมิได้ต้องลำบากพระราชหฤทัย และมีอัทธยาศรัยหนักแน่นไปในยุติธรรมและยั่งยืนมิได้หวั่นไหวผันแปรไปด้วยการอนาคตและปัตยุบัน ดุจดวงพระอาทิตย์พระจันทร์เป็นประธานในโลก อาจระงับดับสรรพทุกข์โศกภัยพิบัติอันตราย ซึ่งจะบังเกิดและเกิดขึ้นแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายทุกถ้วนหน้าและมีดำริปรารถนาแต่ในสุจริต คิดจะทำนุบำรุงพระบรมราชวงศ์ดำรงราชตระกูลไว้มิให้เสื่อมสูญเสียพระเกียรติยศ หวังจะให้วัฒนาถาวรจิรฐิติกาลปรากฏสืบไปชั่วฟ้าและดิน และมีกมลจิตต์โอบอ้อมอารีรักครอบครองบรรดาประยูรวงศ และสงเคราะห์อนุเคราะห์โดยฐานันดรยศและทรัพย์สมบัติ เพื่อจะได้ดำรงตระกูลวงศไว้มิให้เสื่อมทรามเป็นความชอบอันยิ่งใหญ่ไม่มีที่สุดสมควรจะเป็นอัครมหาประธานาธิบดีมีอิสริยยศใหญ่ยิ่งปรากฏในแผ่นดิน

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้สถาปนาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ สมันตพงศพิสุทธ มหาบุรุษยรัตโนดม ที่สมุหพระกลาโหม ให้มีอำนาจได้สิทธิ์ขาดราชการทั้งปวง และให้สำเร็จสรรพอาชญาสิทธิ์ ถึงประหารชีวิตคนที่ควรจะถึงแก่อุกกฤษฐ์โทษได้ มีมหันตเดชานุภาพยิ่งใหญ่ไม่มีผู้ใดเสมอ พระราชทานให้เพิ่มศักดินา ๒๐๐๐๐ เป็น ๓๐๐๐๐ เป็นอัครมหาประธานาธิบดีในการทำนุบำรุงสิริราชสมบัติและสกลราชอาณาจักรทั้งสิ้น ทรงดวงตราสุริยมณฑลเป็นสำคัญฯ

ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานอิสริยยศให้ตั้งจางวางทนายเป็น หลวงบำรุงวรามาตย์ ถือศักดินา ๘๐๐ ปลัดจางวางทนาย เป็น ขุนประสาทภักดี ถือศักดินา ๖๐๐ สมุหบัญชีทนายเป็น หมื่นศรีพยุหรักษ ถือศักดินา ๔๐๐

อนึ่งทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี ได้ทำราชการมีฐานันดรยศปรากฏมาตั้งแต่ครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่มีความผิดสิ่งอันใดจนตลอดรัชกาลที่ ๓ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ ท่านมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ได้ชุมนุมกันมีบัญชาสั่งให้ไปเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เสด็จมารับรองดำรงสิริราชสมบัติ เป็นปฐมเหตุก่อนข้าราชการทั้งปวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงเห็นว่าเป็นผู้ซื่อสัจสุจริตเรียบร้อยอยู่ ควรจะชุบเลี้ยงให้เป็นผู้ใหญ่ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นที่เจ้าพระยาจตุสดมภ์ในกรมท่า ท่านก็ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณตามตำแหน่งมา และได้ทำการใหญ่ๆ ที่เป็นคุณแก่แผ่นดินคือขุดคลองมหาสวัสดิ์ คลองเจดีย์บูชา และคลองถนนตรง[๒๐๗] และสถาปนาการปฏิสังขรณ์องค์พระมหาสถูปปฐมเจดีย์โบราณ ซึ่งชำรุดรกร้างมาหลายร้อยปีให้ประดิษฐานคืนขึ้นงามดี เป็นที่เจริญความเลื่อมใสสืบอายุกาลพระบรมพุทธศาสนา ในบริเวณนั้นโตใหญ่ยิ่งกว่าพระอารามอื่นๆ เหลือกำลังผู้อื่นที่จะฉลองพระเดชพระคุณได้ ก็ทำให้สำเร็จขึ้นได้โดยพระราชประสงค์ ในจังหวัดนั้นมีกุฏิศาลาที่อาศรัยสัปรุษและพระราชวังที่ประทับพร้อมสรรพทุกประการ ทำที่รกที่ป่าให้เป็นบ้านและไร่นา เกิดภาษีอากรเป็นประโยชน์ในแผ่นดินขึ้นมากเป็นความชอบอันยิ่งใหญ่ อนึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ท่านทำวัดเฉลิมพระเกียรติการที่ค้างอยู่และพระสมุทรเจดีย์วัดบางพระ วัดเกาะสีชัง ก็ทำจนแล้วได้ดังพระราชอัธยาศรัย และท่านได้รับราชการที่เกี่ยวข้องกับชนชาวต่างประเทศมาถึง ๑๓ ปี ก็ไม่มีระแวงความผิดสิ่งใดให้เป็นเหตุแก่บ้านเมือง ก็เป็นความชอบอีกประการ ๑ ภายหลังท่านป่วยจักษุกราบถวายบังคมลาออกรักษาตัว มาจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้มีชนมายุเจริญเป็นผู้ใหญ่ มีอัทธยาศรัยเรียบร้อยเที่ยงธรรม และได้เคยรับราชการใหญ่ ๆ มาหลายครั้งไม่ควรจะทิ้งไว้ให้เป็นคนนิ่งนอกราชการอยู่

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี มีอำนาจได้สำเร็จราชกิจในการต่างประเทศ และเป็นที่ปรึกษาคิดอ่านราชการแผ่นดินด้วย พระราชทานให้เพิ่มศักดินา ๑๐๐๐๐ เป็น ๒๐๐๐๐ ยิ่งกว่าจตุสดมภ์มนตรี ๒ เท่า ทรงดวงตราจันทร์พิมานมณฑลเป็นสำคัญ ทรงกรุณาโปรดพระราชทานอิสสริยยศตั้งจางวางทนายเป็น ขุนทิพากรบริรักษ์ ให้ถือศักดินา ๖๐๐ให้ปลัดจางวาง เป็นหมื่นพิทักษ์บวรบาท ให้ถือศักดินา ๔๐๐ ให้สมุหบัญชีเป็น หมื่นอักษรสาตรปรีชา ให้ถือศักดินา ๓๐๐ จงเจริญชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติสรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ศุภสุนทรผลทุกประการเทอญ[๒๐๘]

อนึ่งทรงพระราชดำริว่า พระยาสุรวงศวัยวัฒน์จางวางมหาดเล็ก ก็เป็นพระบรมญาติสนิทเนื่องในพระวงศนี้ ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณมีตำแหน่งฐานันดรยศมาแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนที่เป็นพระยาสุรวงศวัยวัฒน์ จางวางมหาดเล็กมาช้านาน ได้เป็นผู้บัญชาการต่อและตกแต่งเรือรบ เรือพระที่นั่งกลไฟและเรืออื่นๆ และบังคับบัญชาการทหารอย่างยุโรป เป็นคุณแก่แผ่นดินมากหลายประการ และมีวิริยปรีชาญาณสามารถ มีน้ำใจองอาจแกล้วกล้า รอบรู้ในราชกิจน้อยใหญ่และได้ทรงคุ้นเคยเป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัทยาศรัยแต่เดิมมา บัดนี้ตั้งอยู่ในที่ปรึกษาราชการต่างๆ สมควรจะเป็นเสนาบดีที่ตำแหน่งผู้ใหญ่ได้

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เลื่อน พระยาสุรวงศวัยวัฒน์ ผู้เป็นพระบรมญาติอันประเสริฐ เป็นเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหม มีสร้อยนามเพิ่มต่อไปดังนี้ เจ้าพระยาสุรวงศวัยวัฒน์พิพัฒนศักดิ์ อัคยโลดมบรมนาถนราธิราชมนตรีวรคชสีห์สิงหมุรธาธร ทักษิณนครคามรัษฎานุกิจการทวยหาญพลพยุหเนตร นเรศรวรนายกสยามดิลกนฤบดินทร์ ปรมินทรมหาราชวโรปการกิจ สิทธิศุภการ เสนางควิจารณมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม ศักดินา ๑๐๐๐๐ ตามพระราชกำหนด

อนึ่งทรงพระราชดำริว่า พระยาเทพประชุน ได้เคยรอบรู้ราชการฑูตถึงกรุงลอนดอน เมื่อกลับมาก็ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณหลายอย่าง เป็นคนสัจซื่อมั่นคง รู้ขนบธรรมเนียมต่างประเทศ สมควรจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาบดีกรมท่าว่าการต่างได้ จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสให้เลื่อนพระยาเทพประชุนเป็นเจ้าพระยาภาณุวงศมหาโกษาธิบดี ศรีวิบูลยยศสุนทรศักดิ์ อัครมหาราชานุกูลกิจ วิจิตรวรปรีชาญาณ ราชสมบัตรสาร ไพบูลยพิพัฒน์ประทุมรัตนมุรธาธร สมุทตีรนครเกษตราธิบาล สรรพดิฐการมหิศวนร์ วรฤทธิธาดา เมตยาชวาภิธยาศัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ ที่เจ้าพระยาพระคลัง ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ ตามพระราชกำหนด

ต่อวันประกาศ เพิ่มยศมา เจ้าพนักงานกรมภูษามาลาเชิญตราตำแหน่งลงเรือเอกชัยไปส่งมอบแก่เจ้าพระยาทั้ง ๔[๒๐๙] คือ

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้รับตราสุริยมณฑลดวง ๑ กับตราศรพระขรรค์อีกดวง ๑ ตราศรพระขรรค์นั้น เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นพระราชทานเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เมื่อแรกเป็นที่สมุหพระกลาโหม เพราะสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์บิดาของท่านยังถือตราพระคชสีห์อยู่ มาถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โปรดให้ใช้ตราศรพระขรรค์สำหรับประทับสั่งประหารชีวิตรคนเป็นคู่กับตราจักร์ของโบราณสำหรับตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี สั่งประหารชีวิตรคนมาแต่ก่อน

เจ้าพระยาทิพากรวงศฯ ได้รับตราจันทรมณฑล

เจ้าพระยาสุรวงศวัยวัฒน์ ได้รับตราพระคชสีห์

เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี ได้รับตราบัวแก้ว

แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ เมื่อกลับเข้าตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการต่างประเทศคราวนี้หาปรากฏว่าได้ว่ากล่าวการต่างประเทศไม่ การต่างประเทศคงอยู่ในมือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศแต่คนเดียว เจ้าพระยาภานุวงศ์ก็เป็นแต่อย่างเลขาธิการทำการตามคำสั่ง แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศได้ทำประโยชน์สำคัญให้แก่บ้านเมืองในตอนนี้ คือแต่งหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตามรับสั่ง สำเร็จตลอดทั้ง ๔ รัชกาล เป็นหนังสือถึง ๕๕ เล่มสมุดไทย ได้ใช้เป็นประโยชน์มาจนทุกวันนี้ ยังมีหนังสือถวายโอวาทปรากฏอยู่อีกเรื่อง ๑ ซึ่งพิจารณาสำนวนเห็นได้ว่าเป็นของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่งถวายในรัชกาลที่ ๕ เห็นจะถวายเมื่อปลายปีมะโรงก่อนทรงยกย่องยศศักดิ์ท่านในครั้งนั้น มีฉะบับอยู่ในหอพระสมุดฯ แต่น่าเสียดายที่ความตอนปลายฉบับขาดไม่บริบูรณ์ ถึงกระนั้นก็เห็นว่าไม่ควรทิ้งให้สูญเสียจึงพิมพ์ไว้ข้างท้ายหนังสือตอนนี้ด้วย แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศอยู่ในรัชกาลที่ ๕ เพียง ๒ ปี ถึงพิราลัยในปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓

ข้าราชการผู้ใหญ่และผู้มีความชอบซึ่งทรงตั้งแต่งเนื่องในงาน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังมีนอกจากที่กล่าวมาแล้ว คือ

๑. พระราชทานหิรัญบัฎ ตั้งพระยามหาอำมาตย์ (ลมั่ง สนธิรัตน) สมุหมหาดไทยฝ่ายเหนือ เป็นเจ้าพระยาธรรมมาธิกรณาธิบดีเสนาบดีกรมวัง

๒. พระราชทานสัญญาบัฎ ตั้งพระยาสุเรนทรราชเสนา (ชื่น กัลยาณมิต) ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทยฝ่ายพระราชวังบวรฯ เป็นพระยามหาอำมาตย์

๓. พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง เพ็ญกุล) จางวางมหาดเล็ก เป็นพระยาราชสุภาวดี จางวางกรมพระสุรัสวดี (ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง)

๔. เจ้าหมื่นวัยวรนาถ (แสง ต้นสกุลแสงชูโต) หัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นพระยาสุรศักดิ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก

๕. พระยาศรีสรราชภักดี (ภู่ บุนนาค) เจ้ากรมกลาโหมฝ่ายพลำพัง เป็นพระยาเทพประชุน ปลัดทูลฉลองกรมพระกลาโหม (ต่อมาได้เป็นพระยาสุรเสนา)

๖. พระวิสูตรโยธามาตย์ (โหมด อำมาตยกุล) เจ้ากรมทหารใน เป็นพระยากสาปนกิจโกศล จางวางโรงกระสาปนสิทธิการ

๗. พระณรงควิชิต (ตาด อมาตยกุล) เจ้ากรมตำรวจนอกฝ่ายพระราชวังบวรฯ เป็นพระยาเจริญราชไมตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ (ต่อมาได้เป็นพระยาธรรมสารนิติ)

๘. พระมหาเทพ (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) เลื่อนเป็นพระยามหาเทพ เจ้ากรมพระตำรวจ (ต่อมาได้เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ แล้วเป็นพระยาสีหราชฤทธิไกร)

๙. พระราชรองเมือง (เนียม) เป็นพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เจ้ากรมกองตระเวร (ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาจิรายุมนตรี ผู้กำกับถือน้ำ)[๒๑๐]

ข้าราชการที่ทรงตั้งต่อเนื่องจากงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมา ถ้าว่าโดยจำนวนยังมีอีกมาก แต่เป็นข้าราชการชั้นรองลงมา หรืออีกอย่างหนึ่งเป็นการเปลี่ยนตัวในกระบวนจัดระเบียบราชการ จะลงชื่อในหนังสือนี้ให้หมดบัญชีกรมอาลักษณ์จะยาวนัก จึงลงไว้แต่เพียงนี้.

๕. พระราชทานบำเหน็จข้าหลวงเดิม

ข้าหลวงเดิมซึ่งทรงตั้งเป็นข้าราชการนั้นมักทรงตั้งเป็น ตำแหน่งในราชสำนักคือในกรมวัง กรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมตำรวจ กรมรักษาพระองค์เป็นพื้นพลไพร่ในพระองค์ก็ยกมาไว้ในกรมรักษาพระองค์ เป็นประเพณีมีมาแต่รัชกาลก่อนๆ ถึงรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงตั้งตามประเพณีเดิมนั้น ข้าหลวงเดิมซึ่งทรงตั้งเป็นตำแหน่งข้าราชการมีรายชื่อดังนี้[๒๑๑]

๑. ขุนพินิตประชานาถ (เจียม เทพหัสดินทร์ ณอยุธยา) เจ้ากรม เป็นพระชัยสุรินทร์ มีตำแหน่งในกรมพระคลังมหาสมบัติ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยา ได้พานทอง

๒. หมื่นวรราชบุตรารักษ์ (อํ่า ต้นสกุลอมรานนท์) ปลัดกรม เป็นพระอินทร์เทพเจ้ากรมพระตำรวจ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยามหามนตรี ได้พานทอง แต่มีความผิดถูกถอดเสียคราวหนึ่ง แล้วจึงกลับได้เป็นพระยาพิชัยสงคราม เจ้ากรมอาสา

๓. หมื่นอนุรักษ์พลสังขยา (แจ่ม) สมุหบัญชี เป็นหลวงเทพามาตย์ เจ้ากรมการพระราชกุศล ต่อมาได้เป็นพระยาเทพาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร

๕. จางวางทับ (น้องปลัดกรมอ่ำ) เป็นหลวงสิทธินายเวรมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นพระอินทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจ

๕. จางวางด้วง เป็นนายเสถียรรักษา ปลัดวังซ้าย

๖. จางวางอิน เป็นขุนชาติวิชชา กรมทหารใน ต่อมาได้เป็นหลวงพลนิกายกรีฑาแล้วเป็นพระสามภพพ่าย เจ้ากรมทหารใน

๗. จางวางทั่ง เป็นหลวงสุนทรภิรมย์ กรมฝีพาย

๘. นายเวรทองคำ (ต้นสกุลสีหอุไร) เป็นจ่าผลาญอริพิศม์ กรมพระตำรวจ ต่อมาได้เลื่อนเป็นจมื่นไชยาภรณ์ ปลัดกรม พระพรหมบริรักษ์ พระพิเรนทรเทพ และเป็นพระยามหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจ ได้พานทอง แล้วเลื่อนเป็นพระยาอนุชิตชาญชัย จางวางกรมพระตำรวจ ต่อมาเลื่อนเป็นพระยาสีหราชฤทธิไกร ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ กราบถวายบังคมลาออกบวชในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและอยู่ในเพศสมณต่อมาจนตลอดอายุ ได้เป็นพระราชาคณะที่พระสุวรรณรัศมี

๙. นายเวรรอด เป็นหลวงพิทักษ์นราธิราราช ในกรมรักษาพระองค์

๑๐. นายเวรคล้อย เป็นจ่าเร่งงานรัดรุด ในกรมพระตำรวจ ต่อมาได้เป็นที่พระสุวรรณภักดี ในกระทรวงพระคลัง แล้วเลื่อนเป็นพระยาพิพิธโภไคสวรรค์ ได้พานทอง

๑๑. นายเวรขุนทอง เป็นหลวงภูวนาถนฤบาล ในกรมรักษาพระองค์

๑๒.ปลัดเวรแย้ม เป็นหลวงสิทธิศรสงคราม ในกรมทหารหน้า

๑๓.ปลัดเวรโต เป็นนายพินัยราชกิจ หุ้มแพรมหาดเล็กแล้วเลื่อนเป็นจ่าเรค เป็นเจ้าหมื่นสรรเพ็ชร์ภักดี เป็นพระยานรรัตนราชมานิต จางวางมหาดเล็ก ได้พานทอง ต่อมาได้เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต

๑๔.ปลัดเวรยิ่ง เป็นหลวงพิพิธพยุหพล สมุห์บัญชีกรมทหารหน้า

๑๕.ปลัดเวรทิ่ม เป็นหลวงทวยหารรักษา ในกรมทหารหน้า ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระแล้วเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา

๑๖. นายแจ่มสารวัด เป็นขุนนิมิตรอักษร ในกรมพระอาลักษณ์

๑๗.หม่อมราชวงศรัตน เสนีวงศ์ ณ อยุธยา พระพี่เลี้ยงเดิมไม่ได้รับราชการ ภายหลังจึงทรงตั้งเป็นหม่อมราโชทัย ราชินิกุล

๑๗.นายเอม พระพี่เลี้ยง เป็นหลวงอัครนารีวรามาตย์ พวกข้าหลวงเดิมที่เป็นชั้นอนุวงศ ราชินิกุล และมหาดเล็กที่ได้รับพระราชทานยศศักดิ์ยังมีอีก จะลงชื่อทั้งหมดมากนักจึงกล่าวถึงชั้นที่เป็นตำแหน่งข้าหลวงน้อยอยู่ในกรมเมื่อก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

๖. ตั้งข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ

ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล หรือซึ่งมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “ขุนนางวังหน้า” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ มีตำนานชอบกลดูเหมือนจะยังไม่มีใครได้รวบรวมเรื่องแสดงไว้ จึงเห็นควรจะกล่าวแทรกลงเป็นอธิบายเบื้องต้นแห่งการตั้งข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๕

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จปราบดาภิเษก ทรงตั้งข้าราชการครั้งแรกนั้น ข้าราชการชั้นสูงทรงเลือกสรรผู้มีความชอบที่ได้โดยเสด็จในการศึกสงครามมาแต่ก่อนเป็นพื้น[๒๑๒] เดิมเป็นข้าราชการในกรุงธนบุรีบ้าง เป็นเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองบ้าง เป็นข้าหลวงเดิมบ้าง ส่วนสมเด็จพระอนุชาธิราชได้เป็นมหาอุปราช ก็ทรงเลือกสรรผู้ซึ่งได้มีความชอบต่อพระองค์โดยทำนองเดียวกัน ไปตั้งเป็นขุนนางวังหน้าตามทำเนียบตำแหน่งซึ่งเคยมีเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ข้าราชการเริ่มแรกแยกกันเป็นฝ่ายวังหลวงและฝ่ายวังหน้าตั้งแต่ครั้งนั้น แต่ข้าราชการวังหน้ามีอยู่เพียงในกรุงเทพฯ ตามหัวเมืองเป็นข้าราชการวังหลวงทั้งนั้น ในชั้นแรกข้าราชการทั้งสองฝ่ายก็ปรองดองกันดีเพราะผู้เป็นขุนนางทั้งสองฝ่ายเคยช่วยกันทำศึกสงครามมาแต่ก่อน และเมื่อทรงตั้งแล้วก็ยังต้องช่วยกันต่อสู้ข้าศึกรักษาบ้านเมืองอยู่เนือง ๆ ครั้นเวลาล่วงมาช้านานถึง ๒๐ ปี ข้าราชการชั้นเดิมสิ้นอายุหมดตัวไปเสียโดยมาก ผู้ซึ่งเป็นข้าราชการขึ้นรุ่นหลัง แม้ยังมีโอกาศทำศึกสงครามก็เป็นการสงครามซึ่งฝ่ายไทยไปรุกรบข้าศึก เช่นไปขับไล่พม่าออกจากมณฑลพายัพเป็นต้น และการสงครามชั้นนี้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมักเสด็จไปเป็นจอมพล พวกวังหน้าเป็นทัพหลวงได้โอกาศรบพุ่งเป็นเกียรติยศ พวกวังหลวงเป็นแต่ทัพสมทบ ซ้ำต้องตำหนิติเตียนหลายคราว ความร้าวราญจึงเกิดขึ้นในระหว่างข้าราชการทั้งสองฝ่าย ด้วยพวกวังหน้ามักดูหมิ่นว่าขุนนางวังหลวงไม่มีใครเข้มแข็งศึกสงครามเหมือนชั้นก่อน ด้วยเหตุนี้เป็นมูล เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตในปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๖ พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ลูกเธอของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งเติบใหญ่ทันได้ทำศึกสงครามและพวกขุนนางวังหน้าซึ่งเป็นตัวสำคัญขึ้นชั้นหลัง จึงพากันกระด้างกระเดื่องถึงต้องกำจัดเสียมาก เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงรับอุปราชาภิเษกเป็น พระมหาอุปราช ไม่มีตัวคนทางฝ่ายพระราชบวรฯ จะทรงเลือกสรรตั้งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ได้ จึงทรงตั้งข้าหลวงเดิมเป็นขุนนางวังหน้า และมีแต่บางตำแหน่งไม่ตั้งเต็มอัตรา

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชประสงค์จะย้ายพวกข้าหลวงเดิมมามีตำแหน่งรับราชการวังหลวง การที่จะตั้งข้าราชการวังหน้า จึงทรงปรึกษากับสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเสนานุรักษ์ซึ่งได้เป็นพระมหาอุปราชโดยฐานที่ทรงชอบชิดสนิทเสน่หากัน ทำนองจะทรงพระราชปรารภป้องกันการแตกร้าวเช่นเคยมีมาเมื่อรัชกาลที่ ๑ และกรมพระราชวังบวรฯ จะกราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเลือกตั้งพระราชทานตามพระอัทธยาศัย จึงโปรดฯ ให้แบ่งข้าราชการวังหลวงขึ้นไปรับราชการวังหน้าเป็นครั้งแรก ครั้งนั้นในบรรดาตระกูลข้าราชการถ้ามีพี่น้องสองคน เอาไว้รับราชการวังหลวงคน ๑ ส่งไปรับราชการวังหน้าคน ๑ แทบทุกตระกูลจะยกตัวอย่าง ดังเช่นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ผู้พี่ได้เป็นที่จมื่นวัยวรนาถ ผู้น้องได้เป็นที่นายสนิทหุ้มแพรมหาดเล็ก ถึงรัชกาลที่ ๒โปรดฯ ให้ผู้พี่เลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุรวงศมนตรี จางวางมหาดเล็ก ผู้น้องโปรดฯ ให้ไปรับราชการวังหน้า เป็นจมื่นเล็กชาย หัวหมื่นมหาดเล็ก ดังนี้เป็นต้น กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๘ ปี เมื่อเสด็จสวรรคตปีฉลู พ.ศ. ๒๓๖๐ ข้าราชการวังหน้าลงมาสมทบรับราชการวังหลวง ก็เข้ากับข้าราชการวังหลวงได้ดี ด้วยร่วมสกุลกันโดยมาก เช่นจมื่นมหาดเล็กเมื่อกลับมารับราชการวังหลวงก็ได้มาเป็นที่พระยาศรีสุริยวงศจางวางมหาดเล็ก คนอื่นก็กลับมาเป็นข้าราชการวังหลวงโดยทำนองเดียวกัน ข้าราชการวังหน้าจึงเป็นอันหมดตัวไปอีกครั้งหนึ่งในระหว่างเวลา ๗ ปีตั้งแต่กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์สวรรคตมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๒

ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระบรมวงศเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นพระมหาอุปราช การเลือกสรรข้าราชการวังหน้าในชั้นแรกจะทำอย่างไรหาปรากฏไม่ แต่เมื่อเปลี่ยนรัชกาลแล้วไม่ช้าเจ้าเวียงจันทน์เป็นกบฏ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเสด็จเป็นจอมพลยกกองทัพไปปราบปราม ปรากฏชื่อข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวรฯ คุมกองทัพหน้า ๔ คน คือ พระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิชัยบุรินทรา พระยาณรงควิชัย สันนิษฐานว่าข้าราชการวังหน้าที่ตั้งชั้นแรก โดยฉะเพาะที่เป็นผู้ใหญ่เหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นจะพระราชทานอนุญาตให้เลือกสรรข้าราชการวังหลวงไปตั้ง และน่าจะเป็นข้าราชการในกรมพระกลาโหมเป็นพี้น เพราะกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ได้ทรงบัญชาการกรมพระกลาโหมอยู่ก่อน และคงตั้งเมื่อต้องยกกองทัพไปปราบกบฏเวียงจันทน์โดยมาก แต่เมื่อเสร็จศึกเวียงจันทน์แล้ว[๒๑๓] ต่อมาก็เลือกสรรข้าราชการวังหน้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพต้องทรงเลือกหาเอง ก็มักจะได้แต่ผู้ซึ่งไม่สามารถ จะหาดีได้ทางวังหลวงแล้วไปเป็นขุนนางวังหน้า[๒๑๔] สันนิฐานว่าเห็นจะตั้งไว้แต่พอทรงใช้สอยหาตั้งเต็มตามธรรมเนียมไม่ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๗ ปี สวรรคตเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๗๕ แต่นั้นมาว่างพระมหาอุปราชอยู่ถึง ๒๐ ปี จึงสิ้นรัชกาลที่ ๓ ข้าราชการวังหน้าก็สูญไปหมดอีกครั้งหนึ่ง

ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว การเลือกสรรข้าราชการฝ่ายหน้าพระบวรราชวังทรงประพฤติตามแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒ คือ โปรดฯ ให้แบ่งพวกข้าราชการวังหลวงขึ้นไปรับราชการฝ่ายพระบวรราชวังทุกสกุล และทรงเพิ่มทำเนียบตำแหน่งข้าราชการวังหน้าให้มากขึ้นเหมือนอย่างทำเนียบข้าราชการทางวังหลวงให้สมกับที่มีพระเกียรติยศอย่างพระเจ้าแผ่นดิน[๒๑๕] ได้ยินมาว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกราบบังคมทูลฯ ร้องทุกข์ ว่าขุนนางมากนักไม่มีเงินพอแจกเบี้ยหวัด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็พระราชทานเงินงวดสำหรับตำแหน่งพระมหาอุปราช ซึ่งเคยได้ปีละพันชั่ง (๙๖๐๐๐ บาท) เป็นกำหนดมาแต่รัชกาลที่ ๑ เพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่งเป็นปีละสองพันชั่ง สำหรับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแจกเบี้ยหวัดข้าราชการ แต่ข้อสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้น คือเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบังคับบัญชาทหารซึ่งฝึกหัดอย่างยุโรป เช่นทหารปืนใหญ่พวกญวนคฤสตังเป็นต้น ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ยกบรรดากรมทหารซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงบังคับบัญชาอยู่แต่ก่อน ไปเป็นทหารฝ่ายพระบวรราชวัง จึงเกิดมีทหารบกและทหารเรือของวังหน้าขึ้น โดยไม่จำกัดจำนวนว่าจะมีได้มากน้อยเท่าใดแต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จดำรงพระบวรราชวังอยู่ ๑๕ ปี ในระหว่างนั้นบุตรหลานผู้ที่ขึ้นไปเป็นข้าราชการวังหน้าเติบใหญ่ขึ้นก็นำเข้าถวายตัว นับว่ามีข้าราชการรุ่นใหม่เกิดขึ้นในวังหน้า ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ข้าราชการวังหน้าลงมาสมทบรับราชการวังหลวง พวกชั้นผู้ใหญ่เข้ากับพวกวังหลวงได้สนิท แต่พวกชั้นหนุ่มไม่เคยรับราชการวังหลวงมาแต่ก่อนก็มิใคร่เข้ากันได้สนิท แต่สมทบกันอยู่เพียง ๓ ปีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ ข้าราชการวังหน้าจึงยังมีตัวอยู่มาก ไม่หมดสิ้นเหมือนเมื่อรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญได้เป็นพระมหาอุปราช พวกขุนนางซึ่งมีตำแหน่งฝ่ายพระราชวังบวรฯ ก็ต้องกลับขึ้นไปรับราชการวังหน้า แต่การที่ส่งข้าราชการกลับคืนไปวังหน้าครั้งนั้น ไม่ได้ลดทำเนียบและกรมต่างๆ ซึ่งตั้งขึ้นฉะเพาะพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังเช่นทหารบกทหารเรือเป็นต้น ยอมให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ มีทหารและตั้งตำแหน่งข้าราชการได้มาก ทั้งยังได้เงินพระคลังมหาสมบัติ สำหรับแจกเบี้ยหวัดข้าราชการปีละ ๑๖๐๐๐๐ บาทเหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญจึงมีกำลังผู้คนบริวารมากกว่าพระมหาอุปราชในรัชกาลก่อน ๆ เว้นแต่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในรัชกาลที่ ๑ พระองค์เดียวด้วยประการฉะนี้

ข้าราชการครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งกลับไปรับราชการพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๕ ว่าแต่ที่เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ คือ

๑. เจ้าพระยามุขมนตรี (เกต เป็นพี่เจ้าพระยาบดินทร์เดชา สิงห์ ผู้ต้นสกุลสิงหเสนี) เดิมเมื่อรัชกาลที่ ๓ เป็นจมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็ก ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ไปรับราชการในพระบวรราชวัง ได้เป็นที่พระยาราชโยธา แล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นเจ้าพระยามุขมนตรีอธิบดีมหาดไทย และเป็นหัวหน้าข้าราชการฝ่ายพระบวรราชวังทั่วไป แต่อยู่ในรัชกาลที่ ๕ ได้ ๒ ปีก็ถึงแก่อสัญญกรรม กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงตั้งพระยาภักดีภูบาล (อ้น) เป็นพระยาอิศรานุภาพ เป็นตำแหน่งจางวางกรมมหาดไทยต่อมาอีกคน ๑

๒. พระยาเสนาภูเบศร์ (กรับ บุณยรัตพันธ์ น้องเจ้าพระยาภูธราภัย) เจ้ากรมกลาโหมฝ่ายเหนือ เป็นพระยากลาโหมราชเสนาอธิบดีกรมกลาโหม

๓. พระยาบริรักษ์ราชา (ฉํ่า บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) จางวางตำรวจ เป็นพระยาพิชัยบุรินทรา อธิบดีกรมเมือง

๔. พระยามณเฑียรบาล (บัว) อธิบดีกรมวัง คงตำแหน่งอยู่จนตลอดอายุแล้วทรงตั้งพระยาเสนาภูเบศร์ (คง) เป็นพระยามณเฑียรบาลอีกคน ๑

๕. พระยาไพบูลยสมบัติ (เอี่ยม บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) จางวางกรมพระคลังสินค้าคงอยู่ในตำแหน่งนั้นต่อมา

ตำแหน่งพระยาไกรโกษา อธิบดีกรมพระคลัง กับพระยาเกษตรรักษา อธิบดีกรมนา ว่างอยู่แต่มิได้ทรงตั้งทั้ง ๒ ตำแหน่ง.

ตามที่ปรากฎในจดหมายเหตุ[๒๑๖] การตั้งข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๕ มีจำนวนตั้งมากแต่ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ กับปีมะเส็งต่อมาอีกปีหนึ่ง แต่เป็นข้าราชการในราชสำนักที่แห่นำตามเสด็จ เช่นมหาดเล็ก ตำรวจ และขุนนางตำแหน่งนายทหารรักษาพระองค์เป็นพื้นกับพวกขุนนางช่างต่างๆ อีกพวกหนึ่ง นอกจากนั้นหาใคร่จะทรงตั้งไม่ ในปีต่อมายิ่งตั้งน้อยลงโดยลำดับ แม้ขุนนางผู้ใหญ่ชั้นอธิบดีว่างลงก็ไม่ตั้ง

คำถวายโอวาท

สันนิษฐานว่าของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย

ด้วยข้าพระพุทธเจ้าตั้งอยู่ในกตัญญูกตเวที จะนิ่งอยู่มิได้คิดการฉลองพระเดชพระคุณที่จะให้พระเกียรติยศเจริญขึ้น เป็นที่สรรเสริญแก่ชาวสยามและชาวต่างประเทศให้รู้พระเดชพระคุณ จึงทำเป็นเรื่องราวในการที่ข้าพระพุทธเจ้าหวังมีอยู่หลายอย่าง จะต้องจัดการใหม่ให้แผ่นดินเรียบร้อย เป็นเนื้อความ ๓๕ ข้อ การที่จะกราบทูลนี้จะผิดพลั้งเหลือเกินประการใด ขอพระราชทานโปรดอภัยโทษแก่ข้าพระพุทธเจ้า

ข้อ ๑ ขอได้ทรงพระเมตตากรุณาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเหมือนบิดามารดารักบุตรในอุทรทั้งพระราชอาณาเขตต์ เหมือนอย่างพระเจ้าเงี่ยวเต้ พระเจ้าซุ้นเต้ พระเจ้าอู้เต้ซึ่งกล่าวไว้ในเรื่องไคเภก กษัตริย์สามพระองค์นั้นรักขุนนางและราษฎรยิ่งนัก บ้านเมืองก็เป็นสุข พระชนมายุก็ยืนนาน ขอได้ทรงพระราชดำริสอดส่องไปในราชการแผ่นดิน การสิ่งไรเป็นธรรมเนียมที่ถืออยู่ต้องคงไว้ การสิ่งไรที่จะต้องแก้ไขดัดแปลง ก็จะต้องจัดการเสียใหม่ให้ดีขึ้น การสิ่งไรเป็นที่ร้อนอกสมณพราหมณาจารย์ข้าราชการ และอาณาประชาราษฎร ก็ต้องผ่อนให้ได้ความเย็นใจและความสุขขึ้น จะได้เหมือนแผ่นดินพระเจ้าเงี่ยวเต้ พระเจ้าซุ้นเต้ พระเจ้าอูเต้ มีแต่ความสรรเสริญทั่วไป

ข้อ ๒ จะมีผู้กราบทูลกล่าวโทษพระวงศานุวงศท่านเสนาบดีผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นเนื้อความที่จะให้เกิดความสงสัย เป็นความกระซิบต่าง ๆ ก็ขอให้ทรงพระราชดำริก่อน ตรึกตรองสืบสวนให้ได้ความจริงอย่าเพ่อวู่วามให้เสียการ เหมือนนิทานโบราณฝ่ายไทยและฝ่ายจีนมีเป็นหลายเรื่องก็ทราบอยู่แล้ว มีความเปรียบอีกเรื่องหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ในปีนั้นมีข้าหลวงเดิมกระซิบกราบทูลว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย คิดการประทุษร้ายตั้งกองตำดินปืนอยู่ที่หลังบ้านเป็นอันมาก จึงทรงปรึกษาด้วยข้าหลวงเดิมผู้อื่น เขากราบทูลว่าถ้าท่านจะคิดเอาแผ่นดินแล้ว ท่านจะมายกเอาราชสมบัติแผ่นดินถวายทำไม ประการหนึ่งกำปั่นท่านก็มีค้าขายอยู่เป็นหลายลำ ถ้าท่านจะซื้อเอาดินปืนมาแต่เมืองสิงคโปร์จะมิดีกว่าตำดินปืนที่บ้านอีกหรือ ได้ทรงทราบดังนั้นแล้วก็สงบอยู่ ภายหลังสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่เข้าไปเฝ้า จึงได้ดำรัสถามด้วยการตำดินปืนที่โรงจักร์นั้นเขาทำอย่างไร สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ก็กราบทูลไปตามเหตุโดยมิได้รู้ตัว จึงดำรัสถามว่าถ้าจะซื้อดินปืนมาแต่เมืองสิงคโปร์มาใช้กับลงทุนตำเอาที่นี่ ใครจะถูกจะแพงเงินกว่ากัน สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่กราบทูลว่าซื้อดินปืนมาจากเมืองสิงคโปร์ถูกเงินกว่า ดีกว่าตำที่นี่ แล้วก็มิได้ตรัสประการใดต่อไป ครั้นนานมาประมาณสักเดือนหนึ่งจึงประทานความจริงว่า มีผู้กราบทูลดังนี้ๆ แต่ไม่ทรงเชื่อจึงได้พากันทราบ ขอให้พระองค์มีพระทัยหนักแน่นเหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้เชื่อคนสอพลอยุยง ข้าราชการจะได้พึ่งพระบารมี มีความเย็นใจ

ข้อ ๓ พระวงศานุวงศและข้าราชการที่ซื่อสัจต่อแผ่นดินจะประพฤติการสิ่งใดโดยยุติธรรมก็ดี ลางทีคนพาลก็กำเริบ ท่านเห็นว่าจะกราบทูลจะช้าไป ท่านก็ช่วยปราบปรามตามอำนาจของท่านก็มี บางจำพวกที่มีความโลภมาก เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระเยาวอยู่ จะไม่เกรงพระราชอาชญา จะทำการสิ่งไรก็จะทำตามอำเภอใจ เบียดเบียนให้ราษฎรได้ความเดือดร้อน ความข้อนี้ถ้ามีผู้ร้องทุกข์และมีผู้กราบทูลขึ้น จะต้องพิจารณาเอาความจริงว่าผู้ที่กระทำนั้นกระทำโดยยุติธรรม ทำช่วยธุระแผ่นดิน หรือทำโดยความโลภเจตนาจะหาผลประโยชน์ หรือทำโดยโทโสความพยาบาทประการใด ก็จะได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไว้จะได้กำจัดคนพาลทุจริตเสีย

ข้อ ๔ พระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในผู้ใหญ่ผู้น้อย จะต้องทำนุบำรุงให้ได้ความสุขทั่วไป พระองค์ใดมีวิชชาอย่างไรบ้าง ยังมิได้ทำราชการลับลี้อยู่ จะเป็นพระองค์เจ้าก็ดี หม่อมเจ้าก็ดี หม่อมราชวงศ์ก็ดี ที่เป็นช่างต่าง ๆ ขอให้สืบเสาะเอามาชุบเลี้ยงขึ้น จะได้มีน้ำใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ ดีกว่าเอาคนป่าๆ เถี่อนๆ มาชุบเลี้ยง

ข้อ ๕ พระวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใดที่ซื่อตรง ก็ต้องชุบเลี้ยงขึ้น ผู้ใดที่เป็นคนพาล ถึงมีวาสนาอยู่แล้วก็ต้องกำจัดเสีย ถ้าจะกำจัดคนพาลและผู้กระทำผิดก็ต้องให้ท่านทั้งหลายเห็นความผิดให้พร้อมกันก่อน จึงกระทำโทษลง ถ้าโปรดกระทำได้ดังนี้จะมีคนทั้งกลัวทั้งรัก ถ้ากระทำโดยกริ้วกราดลงพระอาชญาผิดๆ ถูกๆ ผู้ที่ต้องรับพระอาชญาไม่มีความผิดก็เสียน้ำใจ ผู้ที่ยังมิได้รับพระราชอาชญาก็จะพากันนินทาต่างๆ จะมีแต่ความกลัวความรักนั้นน้อย ทรงตัดสินข้อคดีสิ่งใด ให้ถือเอายุติธรรม ตั้งเมตตาจิตต์มิได้เลือกว่าคนโปรดและคนไม่โปรด ถ้าผู้ใดทำชอบ ก็ประทานบำเหน็จรางวัลยกย่องขึ้น ถ้าผู้ใดทำผิดก็ทำตามโทษานุโทษ ถ้าโปรดเกล้าฯ ได้ดังนี้ก็จะเป็นที่กลัวเกรงพระราชอาชญาสรรเสริญพระเดชพระคุณ

ข้อ ๖ พระเจ้าน้องยาเธอ ที่ได้รับพระราชทานวัง ๆ ก็ยังค้างอยู่จะต้องทำนุบำรุงเร่งรัดให้การวังนั้นแล้วเสีย ทรงพระเจริญขึ้นจะได้เสด็จออกไปอยู่ พระองค์ใดยังมิได้ประทานวัง ต่อไปภายหน้าสมควรที่จะออกวังแล้ว ก็จะต้องประทานให้เหมือนๆ กันทำดังนี้ก็เป็นการสงเคราะห์ญาติอย่างหนึ่ง จะได้พากันคิดถึงพระเดชพระคุณจะได้ตั้งใจทำราชการโดยภักดี

ข้อ ๗ พวกข้าราชการฝ่ายในถ้ามีอำนาจมักจะรับสินบนต่างๆ บ่าวไพร่เกี่ยวข้องด้วยถ้อยความก็หักหาญให้การงานแปรปรวนไปคนต่างประเทศเขาก็นินทา ถ้าพวกฝ่ายในจะเข้ามารบกวนในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ครั้นไม่ได้สมความปรารถนาก็จะโกรธถ้าจะโปรดตามใจก็จะเสียฉะบับธรรมเนียมแผ่นดินไป จะแก้ได้อยู่อย่างหนึ่ง คืออ้างว่าจะเอาเรื่องราวให้ท่านเสนาบดีปรึกษาก่อน ท่านเห็นอย่างไรก็จะได้ทำตาม ถ้าอ้างอย่างนี้ก็จะเกรงพระราชอาชญาเข้า ไม่รู้ที่จะโกรธเอาผู้ใดได้ การที่รบกวนในพระเดชพระคุณก็จะน้อยลง

ข้อ ๘ เงินภาษีอากรที่ขึ้นในตำแหน่งราชการหลายกรมนั้น ก็ประมูลกันขึ้นในท้องตราแต่ให้มากเท่านั้น เงินก็ไม่ได้เข้าพระคลัง ผู้ทำภาษีก็เอาเงินไขว้ไปใช้เสียดีกว่ากู้เขาไม่ต้องเสียดอกเบี้ย พากันเป็นหนี้หลวงคนหนึ่งนับร้อยชั่งก็มี นับพันชั่งก็มี การเรื่องนี้ก็จะต้องจัดเสียใหม่ ถ้าผู้ใดจะรับทำภาษีอากร ถ้าเป็นภาษีอากรเล็กน้อยไม่เป็นคนพากพูม ก็ให้เรียกเอาเงินล่วงหน้าเสียให้ครบจึงให้ทำ ถ้าถึงกำหนดผลัดเปลี่ยนจะทำต่อไปอีกก็ให้ส่งเงินล่วงหน้าอีก สุดแต่อย่าให้ค้างอยู่ได้ ถ้าเป็นภาษีอากรใหญ่ๆ เงินมาก ผู้ทำเป็นคนพากพูมอยู่ไว้ใจได้ ก็จะต้องเอาตามเรื่องราวของเขาถึงงวดจะส่งให้เสร็จปีละ ๔ งวด ถ้าถึงงวดไม่ได้ส่ง เจ้าจำนวนละเลยกันเสีย ไม่เร่งรัดก็จะต้องเอาโทษเจ้าจำนวน ถ้าโปรดได้อย่างนี้ก็จะได้เงินเข้ามาใช้ราชการแผ่นดินมากขึ้น

ข้อ ๙ ภาษีอากรสิ่งไรเป็นความเดือดร้อนแก่ราษฎรอยู่ก็จะต้องลดหย่อนผ่อนเลิกเสียบ้าง เหมือนหนึ่งภาษีสุกรแต่ก่อนพิกัดเรียก ๑๒ ซัก ๑ คิดเป็นราคาสุกรใหญ่ก็เป็นภาษีตัวละ ๑ บาท สุกรเล็กก็เป็นภาษีตัวละ ๓ สลึง เดี๋ยวนี้เจ้าภาษีเรียกเอาตัวละ ๒ บาท ๒ สลึงเสมอกัน จีนผู้ฆ่าสุกรขายก็ขายสุกรแพงขึ้นคิดเอาแก่เนื้อคนรับประทานๆ ก็ต้องรับประทานของแพง ก็เป็นความเดือดร้อนอย่างหนึ่ง และเจ้าภาษีผูกช่วงไปหัวเมือง ไปฆ่าสุกรขายแต่ผู้เดียว ผู้อื่นจะเสียภาษีให้จะขอฆ่าบ้างก็ไม่ได้ คิดซื้อขายเอากำไรมากขึ้น ทำให้ผิดทองตราไปต่างๆ ผู้ใดจะว่ากล่าวก็มิได้ ประการหนึ่งอากรน้ำเรียกค่าเครื่องมือละเอียดทุกสิ่ง จนชั้นไม่มีเครื่องมือไปจับปลาในหนองก็ต้องเสียเงินค่าเครื่องมือจับปลาคนละ ๑ บาทก็เป็นความเดือดร้อนของราษฎรอย่างหนึ่ง ถ้าจะโปรดให้เป็นความเย็นขึ้นแล้วก็เรียกเอาค่าเครื่องมือแต่สิ่งที่ใหญ่ ๆ ที่ชาวประมงค์ทำเป็นสินค้าซื้อขายเป็นอาณาประโยชน์อย่างนี้ก็ควรจะเรียกซึ่งชาวบ้านไร่หาเลี้ยงชีวิตเป็นธรรมดาชาวบ้านนอก ไม่เป็นการสินค้าโปรดพระราชทานยกเสียก็จะเป็นความเย็นใจขึ้นได้มาก และภาษีอากรอื่น ๆ ที่เป็นการหยุกหยิกรังความยังมีอีกหลายสิ่ง จะพรรณนากราบบังคมทูลฯ ก็จะยืดยาวนัก ทรงพระราชดำริตริตรองก็จะเห็นการตลอด

ข้อ ๑๐ ราษฎรถวายฎีกากล่าวโทษเจ้าภาษีอากรว่าฉ้อคุมเหง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ประทานฎีกาไปให้เจ้าจำนวนชำระ เจ้าจำนวนกับเจ้าภาษีก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ราษฎรที่มาร้องไม่ได้ชนะสักเรื่องหนึ่ง จนเบื่อเข้ามาร้องทุกข์ สู้ทนเสียให้เจ้าภาษีดีกว่า ความที่มาร้องนั้นเงียบไปก็เข้าพระทัยเสียว่าเป็นการเย็นอยู่แล้ว มิได้ทราบว่าการข้างนอกเป็นอย่างไร

ข้อ ๑๑ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าราษฎรจะมีความทุกข์ร้อนอย่างไร ก็โปรดให้มาร้องถวายฎีกา จะผิดชอบอย่างไรมิได้เอาโทษ โดยทรงพระมหากรุณาเมตตาแก่ราษฎร จะมิให้ผู้ใดคุมเหงเบียดเบียนราษฎรได้ การก็ได้หาอย่างพระราชประสงค์ไม่ เพราะโปรดยกโทษเสียถึงจะเอาเท็จมากล่าวก็ไม่มีโทษ คนพาลจึงกำเริบ ผู้ที่มีความทุกข์ร้อนมาร้องโดยจริงก็มี ผู้ที่เป็นพาลเห็นความจะแพ้ก็แก้ไขกล่าวโทษลูกขุนตระลาการให้เป็นความฎีกาขึ้น พอจะได้โยกศาลมาเสียให้พ้นจากตระลาการเดิมก็มี การก็ชักช้าไปอีกปีหนึ่งสองปี ไม่แพ้กันลงได้ ลากหนามจุกช่องไว้แต่พอให้ยาวไปอย่างนี้ก็มีมาก ประการหนึ่งชิงชังบุคคลผู้ใดก็ไปจ้างคนเจ้าสำนวนแต่งฎีกาผูกพันกล่าวโทษกัน ความเล็กน้อยก็ให้เป็นความใหญ่ขึ้นอย่างนี้ก็มี เสียค่าแต่งเรื่องราวฉะบับละ ๑ ถึง ๕ ตำลึงก็มี ๗ ตำลึงก็มี ได้ทราบเกล้าฯ ว่าเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีผู้เข้าร้องถวายฎีกาแล้ว ให้ลงพระราชอาญาผู้มาร้องเสียก่อน ๓๐ ทีทุกๆ เรื่อง เวลามิได้ว่าราชการเสด็จออกพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ก็ให้หาท่านเสนาบดีและลูกขุนตระลาการโจทย์จำเลยเข้ามาพร้อมกันชำระหน้าพระที่นั่ง ไม่ให้เป็นสำบัดสำนวนเอาแต่ที่จริง ถ้าลูกขุนตระลาการทำผิดแก้ไขถ้อยความเขาจริง ก็ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนตามโทษแล้วให้ถอดเสียบ้าง ลางทีให้ส่งไปคุกบ้าง คู่ความฝ่ายข้างแพ้ก็ให้ปรับไหมให้แก่ผู้ร้องฎีกาชนะตามรูปความปรับอีกลาหนึ่ง ที่เขาจะต้องรับพระราชอาชญาถูกเฆี่ยน ๓๐ ทีนั้นด้วย ถ้าผู้ร้องฎีกาเก็บเอาความเท็จมิจริงเข้ามาร้องกล่าวโทษเขา ให้พระเจ้าแผ่นดินเสียเวลาราชการให้ขุ่นเคืองพระราชหฤทัย ลางทีก็โปรดให้ตระเวรแล้วส่งไปคุก ลางทีตระเวนแล้วปรับไหมให้แก่ผู้ชนะ ความฎีกาครั้งนั้นจริงมากกว่าเท็จแล้วก็น้อยด้วย ครั้งนี้เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่าให้หมายประกาศเสียให้รู้ทั่วกัน ว่าผู้ใดจะร้องฎีกาให้เอาแต่ความจริงเข้ามาร้อง และถ้าเอาความเท็จและสำนวนผู้มีปัญญาเข้ามาร้อง แล้วจะเอาโทษตามโทษานุโทษ ผู้แต่งเรื่องราวก็จะเอาโทษด้วย ถ้าลูกขุนตระลาการพลิกแพลงถ้อยความเขาจริง พิจารณาเป็นสัจจะให้ลงพระราชอาชญาตามโทษานุโทษ ลูกขุนตระลาการและผู้มาร้องก็จะได้เกรงพระราชอาชญาเข้า

ข้อ ๑๒ เห็นด้วยเกล้ากระหม่อมว่า ท่านเสนาบดีจตุสดมภ์ทั้ง ๔ ขอเชิญให้ท่านเข้าไปประชุมพร้อมกันในพระราชวังที่ใดที่หนึ่ง ให้ท่านช่วยตัดสินสุขทุกข์ของราษฎรที่ขัดข้องแต่วันละ ๔ ชั่วโมง อาทิตย์หนึ่งสัก ๓ วัน ถ้าผู้ใดมีทุกข์ให้ร้องต่อท่านทั้ง ๔ ให้ท่านมีอำนาจตัดสินความเสียให้แล้ว ถ้าท่านทั้ง ๔ ลงชื่อพร้อมกันตัดสินแล้ว คู่ความเห็นว่ายังไม่เป็นธรรมจึงให้ไปถวายฎีกา จะได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมปรึกษาพระราชวงศานุวงศผู้ใหญ่ และพณหัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหม ทำได้ดังนี้ ถ้อยความและการงานที่สะสมอยู่ก็จะเปลืองไปทุกวัน

ข้อ ๑๓ พระราชกำหนดกฎหมายและบทพระอัยการโบราณเป็นที่จะให้ราษฎรเป็นความซึ่งกันและกันโดยมาก เพราะบ้านเมืองครั้งกรุงเก่าไม่มีภาษีสิ่งไร ท่านจึงคิดเอาเงินพินัยความมาใช้ในราชการแผ่นดิน ผู้ที่ชนะจะได้รับไหมก็จะต้องเสียเงินพินัยหลวงเสียกึ่งหนึ่งทุกเรื่อง การทุกวันนี้บ้านเมืองก็เจริญสมบูรณ์ขึ้น เงินภาษีอากรได้มากกว่าเงินพินัยอยู่แล้ว ถ้าโปรดยกเงินพินัยเสีย ความก็จะแล้วเร็วเข้า เพราะผู้แพ้ต้องเสียเงินน้อยลง ของโบราณท่านคิดไว้ให้ผู้ชนะความได้เงินไปแต่น้อย ผู้แพ้ก็เสียมาก ลางทีผู้ชนะก็ไม่ได้สิ่งไรไปเลย เหมือนผู้ต่ำนา ๔๐๐ ไร่ลงมาจนถึง ๕๐๐ ไร่ ภรรยามีชู้ก็ได้เบี้ยปรับไหม ๒ ชั่งเป็นสินไหมกึ่งพินัยกึ่ง ฝ่ายเจ้าผัวได้เงิน ๑ ชั่ง ตระลาการชักสิบลดเสีย ๒ ตำลึง ต้องเสียค่าถ่ายโทษประจานภรรยาอีก ๑๒ ตำลึง ๒ บาท เหลือเงินอยู่ ๕ ตำลึงก็ต้องเสียค่าฤชาเบ็ดเสร็จอีก ๔ ตำลึง ฝ่ายเจ้าผัวได้เงินไปแต่ ๑ ตำลึง กับภรรยาคืนเท่านั้น ชักทำเนียมมาแต่พอให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทบ้างเล็กน้อย จะได้เป็นที่ทรงพระราชดำริ เงินพินัยทุกวันนี้มีแต่บัญชีเปล่า เร่งได้น้อย ยังค้างอยู่ที่ลูกความมาก ต้องเร่งเงินพินัยตายอยู่กับศาลก็มี และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสอยู่เนีอง ๆ ว่ากฎหมายเก่าเป็นรังความหยุกหยิกนัก จะทรงพระราชกำหนดกฎหมายใหม่ จะตัดเสียให้ราษฎรเป็นความกันน้อยลง ความเรื่องนี้ลูกขุนก็ได้ทราบอยู่ทุกวัน แต่พระราชกิจการมากจึงมิได้ทรงให้สำเร็จ ครั้งนี้ถ้าจะโปรดประชุมลูกขุน ให้พวกลูกขุนคิดดูว่ากฎหมายข้อใดควรงดไว้ ข้อใดควรจะยกเสีย ก็จะได้ทราบในฝ่าละอองธุลีพระบาท

ข้อ ๑๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชโองการ ให้ตั้งขุนธรรมการขึ้นไว้ทุกหัวเมือง และได้ดูแลพระภิกษุสามเณรที่ทำชั่วดีประการใด จะได้ชำระว่ากล่าวความข้อนี้ดีอยู่ แต่ขุนธรรมการหัวเมืองและธรรมการที่กรุงรู้กัน หาผลประโยชน์ด้วยกันคิดว่ามีผู้ฟ้องขึ้นจะได้ผลประโยชน์แล้วก็เกลี่ยไกล่งุบงิบกันเสีย และในปีมะโรงสัมฤทธิ ๑๘ ศกนี้มีตราเสนาธรรมจักร์ออกไปถึงขุนธรรมการหัวเมืองว่า พระสงฆ์แขวงจังหวัดหัวเมืองใดก็ให้ขุนธรรมการเรียกนายประกันเสียให้หมด ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุให้ขุนธรรมการเอาตัวมาไล่เลียงเสียก่อน ว่าจะศรัทธาจริงหรือไม่จริง ขุนธรรมการยอมให้บวชจึงบวชได้ ความเรื่องนี้ก็เกิดเป็นผลประโยชน์ที่ได้ที่เสียแก่ขุนธรรมการขึ้น ตรานำตำแหน่งก็ไม่มีออกไป ใช้แต่ตราพระธรรมการบดีดวงเดียวเท่านั้น ขุนธรรมการหัวเมืองจะทำสิ่งไรก็ได้ตามอำเภอใจ ไม่กลัวเกรงผู้ว่าราชการเมืองกรมการ พระภิกษุที่มีโยมญาติก็รับประกัน พระที่อนุจรก็ต้องสละอารามไป วัดไม่มีพระสงฆ์อยู่ก็เป็นวัดร้างสำหรับที่คนพาลที่เข้าอาศรัยอยู่ ลางทีพวกเข้ารีตก็รื้อขนเอาไม้เสาไปเสียหมด การอย่างนี้ก็เป็นร้อนอกสมณอย่าง ๑ ผู้ที่จะบวชก็ต้องเสียเงินค่าบวชก่อนจึงจะบวชได้ พระที่บวชอยู่แล้วก็ต้องเสียเงินค่าเชิงประกันด้วยประการหนึ่งมีพระราชบัญญัติ ว่าถ้าผู้ใดบวชแก่วัดสึกออกมา ๕ ปีจึงให้มีภรรยาได้ ต้องอดทนอยู่ ถ้าใครมีภรรยามีผู้ฟ้องร้องเป็นรังความที่คนพาลจะหากิน ความข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้าพิเคราะห์ไปก็ไม่เห็นว่าเป็นคุณแก่แผ่นดินสิ่งใดเลย ถ้าคนบวชอยู่นั้นเป็นปราชิกก็ดี หรือทำผิดกิจสมณต่าง ๆ ก็ดีมีผู้ฟ้องกันด้วยเรื่องนี้ก็ควรจะชำระให้เป็นคุณแก่ศาสนา มิให้มีผู้ใดเป็นโจรขึ้นปะปนในพระศาสนาได้ ที่สึกออกมาพ้นเพศสมณแล้วก็เห็นว่าไม่ควรจะฟ้องร้องว่ากล่าวกันขึ้น ด้วยไม่เป็นโทษแก่แผ่นดินสิ่งใดเลย ขอให้ทรงพระราชดำริดูแต่ที่อันสมควร

ข้อ ๑๕ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดจนท้าวทุกวันนี้ โจรผู้ร้ายลักช้างม้าโคกระบือ ลักเรือล้วงเรือก็ชุกชุม เป็นคนพาลโหยกเหยกเที่ยวคุมเหงราษฎรก็มีมาก ตู่จับโคกระบือกันก็มาก ความข้อนี้ถ้าปกเกล้าฯ ระงับเสียได้ บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข ความเย็นใจก็จะมีทั่วกัน ความสรรเสริญอวยชัยถวายพระพรก็จะเซงแซ่ไปทั้งพระราชอาณาจักร์ ระงับการเรื่องนี้เป็นการใหญ่ ต้องปรึกษาท่านเสนาบดีท่านจะเห็นอย่างไรบ้าง โจรผู้ร้ายจึงจะสงบไปได้ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าธรรมเนียมยุโรปเขาตั้งนายอำเภอแข็งแรงได้รู้บัญชีสัมโนครัว และบัญชีคนจรมาอยู่อาศรัยอยู่เท่าไร คนที่มีเลือกสวนที่ทำมาหากินอยู่เท่าไร คนที่ไม่มีที่ทำมาหากินอยู่เปล่าๆ ก็ให้มีที่ไร่นาขึ้นมาทำกิน ก็ถ้ามีที่ทางแล้วไม่ทำมาหากิน คือคนนั้นแลจะหากินทางพาลมีโจรผู้ร้ายขึ้นก็สืบเอาตัวได้ง่าย ๆ เพราะคนเข้าไม่มุ่นหมกปะปนกันเหมือนอย่างประเทศสยามนายบ้านนายอำเภอเขาแข็งแรง รู้บัญชีคนเกิดวันละเท่าไร ตายวันละเท่าไร คนจรมาแต่บ้านไหน คนจะไปข้างไหน ก็มืหนังสือสำหรับตัวเดินทางไปถึงเมืองนั้นเมืองนี้ คนนั้นจะไปด้วยธุระสิ่งนั้นๆ นายบ้านนายอำเภอเมืองนั้นก็ได้ตรวจดูตามหนังสือนั้นเห็นถูกต้องแล้วก็ปล่อยไปตามความปรารถนา และตัวสัตว์นั้นเขาก็ประทับตรานำเบอร์ยี่ห้อเมืองนั้นแล้วมีหนังสือสำหรับตัวสัตว์ไว้ด้วย ถ้าโจรผู้ร้ายจะลักเอาไปซื้อขายต่างเมืองถ้าไม่มีหนังสือสำหรับตัวสัตว์ห้ามไม่ให้ผู้ใดซื้อ เขาก็จับเอาผู้เจ้าของสัตว์นั้นมาว่าเป็นโจร เจ้าของสัตว์แก้ตัวว่าหนังสือหาย ก็ทำไมจึงไม่ไปขอหนังสือต่อเจ้าพนักงานใหม่เล่า แก้ตัวอย่างนี้ก็ไม่ได้ ถ้าผู้ใดบังอาจรับซื้อสัตว์นั้นไว้ ไม่ได้หนังสือสำหรับตัวสัตว์ไว้ เป็นอันสมกับโจร แต่ประเทศสยามจะเอาหย่างเขาทีเดียวไม่ได้ เพราะกำนันนายอำเภออ่อนแอโง่นัก บ้านท่านผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์วัดวาอารามมาก เป็นรังที่คนพาลจะเข้าอาศัยอยู่ จึงว่าจะเอาทีเดียวนั้นไม่ได้ ได้แต่เทียบเคียงเอาบ้าง เห็นด้วยเกล้ากระหม่อมว่า โจรผู้ร้ายก็จะค่อยสงบลงได้มาก แต่ประเทศสยามจะประทับตราเหล็กแดงลงไปในเนื้อหนังสัตว์ก็ถือเสียว่าเป็นบาป เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าถ้าจะทำดังนี้แล้ว โคกระบือจะประทับตราได้ก็ที่เขา ช้างประทับตราได้ที่งา ม้าประทับตราได้ก็ที่กรีบ ผู้ใดจะซื้อขายสัตว์ไปกับผู้ใดๆ ก็ต้องให้หนังสือถือสำหรับตัวไปด้วย ถ้าเจ้าของจะไล่ฝูงโคฝูงกระบือไปขายต่างเมือง ก็ต้องขอหนังสือเดินทางต่อผู้ว่าราชการเมืองไปเป็นสำคัญด้วย อนึ่งคนที่เป็นโจรผู้ร้ายอยู่จนทุกวันนี้ถ้าจะว่าที่จริงราษฎรก็รู้จักว่าผู้เป็นคนดีชั่วแต่ไม่อาจจะพูด เพราะว่ากลัวพยาบาทจะลักลอบทำร้ายกัน ถ้าจะจัดการเสียใหม่ ว่าโทษอย่างนั้นจะเฆี่ยนเท่านั้น หรือจำขังคุกไว้ ๓ ปี ๕ ปี ๑๐ ปีถอดเป็นชั้นๆ ถ้าถึง ๓ คราวไม่เข็ดหลาบก็ต้องจำไว้จนตาย หรือจะประหารชีวิตตามอัยการก็ได้ ที่กราบทูลไวิในข้อโจรนี้เป็นแต่สังเขปพอเป็นที่พระราชดำริ.

ข้อ ๑๖ คุกตั้งอยู่ใกล้พระราชวังนัก แต่ก่อนแผ่นดินเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ผู้คนยังน้อย จับพะม่ามาได้จำไว้มาก ๆ ครั้นจะไปตั้งอยู่ไกลท่านไม่วางพระทัย เหมือนอย่างตึกดินก็อยู่ใกล้พระราชวังเหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าถ้ามีเหตุขึ้นใกล้พระราชวังนักไม่ไว้พระทัย จึงย้ายเอาตึกดินออกไปเสียให้ห่างไกลพระราชวัง คุกนี้ก็คล้ายๆ ตึกดินเหมือนกัน

ข้อ ๑๗ โจรผู้ร้ายกรมการจับตัวได้จำไว้ที่หัวเมืองนานๆ แล้วก็รับสินบลถอดปล่อยไป เพราะฉะนั้นโจรผู้ร้ายจึงไม่สงบ หลุดออกไปได้ก็ไปทำโจรกรรมแก้ตัวใหม่ ไม่ควรจะให้คนโทษหนักอยู่ที่หัวเมืองขอให้ส่งเข้ามาเสียในกรุง คนโทษหัวเมืองจะเอาไว้ก็แต่โทษเบาบางเล็กน้อยโทษไม่ถึงคุก และคุกนั้นจะต้องทำให้กว้างขวาง จ่ายคนโทษให้ทำการอยู่แต่ในกำแพงคุกจะไม่หนีได้.



[๒๐๑] เป็นปลัดพระปิฎกโกศล อ่วม ในสมัยนั้นยกย่องว่าเปรียญซึ่งรับตำแหน่งเป็นถานานุกรม ทำประโยชน์ให้แก่การบำรุงคณะสงฆ์ด้วย เรียกกันว่า “เปรียญทรงเครื่อง”

[๒๐๒] พระฤกษ์ก่อนวันเฉลิมพระยศพระอัฏฐิสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงสัปดาห์ ๑

[๒๐๓] เล่ากันมาอย่างนี้ แต่น่าจะมีเหตุอย่างอื่นในทางรัฐาภิบาลโนบายซึ่งท่านยังรู้สึกขัดข้อง จึงไม่ยอมรับยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยาในคราวนั้น และมายอมเป็นเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖.

[๒๐๔] สันนิษฐานว่าคงจะเป็นกรมหลฺวงวงศาฯ หรือมิฉะนั้นก็สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์กราบทูลฯ ขอให้ระงับ จึงมาเลื่อนกรมต่อเมื่อปีระกา แต่กรมหลวงวงศาฯ สิ้นพระชนม์เสียก่อน.

[๒๐๕] ต่อมาได้เป็นกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ

[๒๐๖] ประกาศพระบรมราชโองการตั้งพระเจ้า ๓ พระองค์นี้ มีอยู่ในหนังสือเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์หอพระสมุดฯ ได้พิมพ์แล้ว

[๒๐๗] คือคลองริมทางรถไฟปากน้ำบัดนี้แต่คลองผดุงกรุงเกษมไปจนต่อคลองเตย

[๒๐๘] เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพระยา ๒ องค์ในรัชกาลที่๔ ถือศักดินาเท่ากันและจางวางทนายเป็นหลวงเหมือนกัน ครั้งนี้ลดลงกว่ากัน เพราะเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มิได้เป็นบุตรภรรยาหลวงของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ศักดิ์ในสกุลต่ำกว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

[๒๐๙] ได้พบหมายเหตุแห่ง ๑ กล่าวว่าเรียกตราบัวแก้วคืนจากกรมขุนวรจักรธรานุภาพ แล้วภูษามาลาเชิญลงเรือเอกชัยไปส่งมอบแก่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ สันนิษฐานว่าจะเชิญตราไปส่งมอบในคราวเดียวกัน ๔ คน เพราะยังไม่มีประเพณีรับดวงตราต่อพระหัตถ์

[๒๑๐] ในเวลานั้นยังมีตัวเจ้าพระยาธรรมมา (บุญศรี) ผู้ต้นสกุลบุรณศิริ และพระยาราชสุภาวดี (แก้ว) แต่แก่ชะราทั้งสองคนจึงโปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาธรรมมา (บุญศรี) เป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีและเลื่อนพระยาราชสุภาวดี (แก้ว) เป็นพระยาประชุมประชานารถ คงอยู่ในกรมเดิมอย่างกิติมศักดิ์

อนึ่งการที่ทรงตั้งข้าราชการซึ่งได้แสดงนามมานั้น ทรงตั้งวันเดียวกับวันตั้งพระราชาคณะเป็นฤกษ์เว้นแต่พระยาเทพประชุน (ภู่) ทรงตั้งในวันทรงสถาปนาพระยาเทพประชุน (ท้วม บุนนาค) เป็นเจ้าพระยาและพระยาสุรศักดิ์มนตรี(แสง ชูโต) ก็เห็นจะทรงตั้งในวันเดียวกับพระยาเทพประชุน (ภู่) แต่หาปรากฎในจดหมายเหตุไม่

[๒๑๑] บัญชีข้าหลวงเดิมทรงตั้งเป็นข้าราชการเมื่อแรกบรมราชาภิเษกซึ่งกล่าวในหนังสือนี้ พระสุวรรณรัศมี (ทองคำ ต้นสกุลสีหอุไร) ราชาคณะวัดราชบพิธ กับพระวรภัณฑ์พลากร (ทิม) ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมบอกให้ทราบ.

[๒๑๒] มีคำปรึกษาพูนบำเหน็จครั้งนั้น มีปรากฏอยู่ในหอพระสมุดฯ ได้พิมพ์ไว้ในหนังสือเรื่องตั้งพระบรมวงศานุวงศ.

[๒๑๓] มีคำเล่ากันมาว่าตั้งแต่เสร็จศึกเวียงจันทน์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็ไม่ทรงชอบชิดกันเหมือนแต่ก่อน อ้างเหตุ ๒ เรื่อง เรื่อง ๑ ว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพยกกองทัพไปประทับอยู่ที่เมืองนครราชสิมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เจ้าพนักงานเชิญน้ำพระพิพัฒน์สัตยาขึ้นไปถวาย กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพน้อยพระหฤทัย ว่าไม่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย อีกเรื่อง ๑ ว่าเมื่อเสด็จกลับจากสงครามนั้น ทรงสร้างวัดบวรสถานสุทธาวาสขึ้นในพระราชวังบวรฯ เดิมพระอุโบสถจะทำมียอดเป็นปราสาท ปรุงตัวไม้เสร็จแล้วยังแต่จะยก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ไปห้ามว่าพระราชวังบวรไม่เคยมีปราสาท กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็ทรงโทมนัส

[๒๑๔] มีตัวอย่างข้อนี้ เช่นพระยาจันทราทิตย์(บุญเรือง) เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีบุตรชื่อเลี้ยงเป็นแต่มหาดเล็กทั้งในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ นายเลี้ยงมีบุตรชื่อดิศ พระยาจันทราทิตย์ผู้ปู่ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อลงสรงในรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ นายเลี้ยงไปรับราชการวังหน้า ได้เป็นจมื่นอินทรประพาสในกรมวัง แต่นายดิศบุตรคงเป็นข้าหลวงเดิมอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเสวยราชย์ได้เป็นที่พระยาบำเรอภักดี ต้นสกุลโรจนดิศ

[๒๑๕] ทำเนียบข้าราขการวังหน้า ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หอพระสมุดฯ ได้พิมพ์แล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒

[๒๑๖] ที่ในหอพระสมุดฯ สำหรับพระนคร มีบัญชีของกรมอาลักษณ์พระราชวังบวรฯ พอทราบการที่กรมพระราชวังฯ ทรงตั้งข้าราชการได้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ