บทที่ 1 เรไรเรือนร้าง

ในชนบทที่เปล่าเปลี่ยวทางภาคใต้แห่งราชอาณาจักร หมู่บ้านที่ไม่เป็นหมู่ เพราะมีโรงเรือนที่อยู่หลายหลังจริง แต่กระจายกันอยู่ในระยะห่างๆ ภายใต้ความมืดแห่งราตรีกาลที่ปราศจากแสงจันทร์ ก็มีแต่แสงไฟน้อยๆ ให้รู้ว่ามีบ้านอยู่เป็นแห่งๆ มนุษย์ดำรงชีพด้วยการหาเช้ากินค่ำ ทำงานอย่างลำบากตรากตรำ แต่เอาผลของงานไปให้แก่คนอีกพวกหนึ่งที่สมบูรณ์มั่งคั่งโดยไม่ต้องออกแรง ในกระท่อมโรงนาแห่งหนึ่งที่ละแวกนั้น เด็กหญิงคนหนึ่งได้คลอดออกมาเห็นโลก โลกที่เธอจะต้องผจญอย่างมากในอนาคต

โดยเหตุที่ห่างจากเมืองและตำบลใหญ่ จึงไม่มีแพทย์หรือนางผดุงครรภ์ หรือผู้มีความรู้อย่างทันสมัยจะช่วยเหลือ การคลอดการปฏิบัติทุกอย่างได้ทำกันเอง อาศัยความชำนาญของเพื่อนบ้านที่สูงอายุ อาศัยวิธีการโดยธรรมชาติ ทำให้ชีวิตที่เกิดมารอดอยู่เป็นมนุษย์ได้ไม่น้อยเหมือนกัน และธรรมชาติได้สร้างสรรค์ให้เด็กหญิงผู้นี้คลอดออกมาเป็นเด็กที่น่ารักน่าเอ็นดู ภายนอกกระท่อมโรงนามีเสียงเรไรเจื้อยแจ้วอยู่รอบข้าง เสียงร้องของเด็กที่เกิดใหม่วังเวงอยู่ในท่ามกลางเสียงเรไร เสียงร้องก็ไม่น่าเบื่อหน่าย เป็นเสียงที่ทำความครึกครื้น สร้างชีวิตจิตใจให้แก่กระท่อมโรงนาแห่งนั้น ซึ่งแต่ก่อนมาเกือบจะมีสภาพเป็นเรือนร้าง

“ร้องแข่งกับเรไรไปทีเดียวนะ” ผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดขึ้น ในเมื่อเด็กที่เกิดใหม่ร้องเจื้อยแจ้วไม่รู้จักหยุด

“ตั้งชื่อแม่เรไรเสียเลยก็แล้วกัน” พ่อของเขาพูดเอง

ทุกคนเห็นชอบ เป็นอันว่าเด็กหญิงผู้นี้ได้ชื่อตั้งแต่แรกเกิด ทุกคนเรียกว่า “เรไร” เป็นนามที่แท้จริงของเธอ เป็นนามเดียวที่เธอมีอยู่ และถูกเรียกทั่วไป เธอไม่เคยมีชื่อเรียกเล่นๆ เหมือนเด็กอื่นทั้งหลาย เธอถูกเรียกว่า “เรไร” ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เกิดมา

ภายในวงแวดล้อมแห่งงานหนักยากจน เรไรได้เติบโตขึ้นในบรรยากาศแห่งความยากลำบากในชีวิต เรไรได้สังเกตเห็นตั้งแต่รู้ความ ว่ามนุษย์จะต้องทำงานหนัก จึงจะมีชีวิตอยู่ได้ แม้ในระหว่างเวลาที่ยังเป็นเด็กเล็ก เรไรก็ไม่ได้อยู่เฉย พยายามทำตนให้เป็นประโยชน์แก่พ่อแม่อย่างมากที่สุดที่สามารถจะเป็นได้ ส่วนพ่อแม่ก็มิได้ละเลยในการศึกษาของลูก ในระยะทางราว 2 กิโลเมตรจากกระท่อมโรงนาของเขา มีโรงเรียนประชาบาลแห่งหนึ่ง เป็นสถาบันการศึกษาสูงสุดในแถวถิ่นนั้น เรไรเรียนดี เรียนดีจนครูหมายตาไว้ว่า เด็กคนนี้เมื่อเติบโตขึ้น อาจจะเป็นครูประชาบาลได้อีกสักคนหนึ่ง

ความสวยและความน่ารักน่าเอ็นดู ซึ่งแลเห็นกันตั้งแต่วันคลอด ได้เพิ่มพูนขึ้นพร้อมกับความเติบโต ความสนใจในการเรียนทำให้เรไรไม่ลืมหรือละทิ้งวิชาการ แม้เมื่อจบการศึกษาชั้นประชาบาล และไม่มีทางจะเรียนต่อ ภายหลังที่หมดเขตการศึกษาและต้องอยู่กับบ้าน ก็เลี้ยงไก่และปลูกผักด้วยมือน้อยๆ ของตนเอง ได้ไก่และผักบ้างก็นำไปขายในเมือง ซึ่งต้องเดินทางไกลตั้ง 5 กิโลเมตร ไปมาตั้งวันละ 10 กิโลเมตร มีรายได้มาช่วยบิดามารดาเก็บเล็กผสมน้อยไว้ซื้อหนังสืออ่าน ซื้อเครื่องเขียนมาเขียนเพื่อไม่ลืมหนังสือที่เรียนมา เธอรักหนังสือ อยากได้หนังสืออ่าน แต่หนังสือก็แพงเหลือประมาณ ต้องเก็บรายได้เป็นแรมเดือน กว่าจะซื้อหนังสือได้สักหนึ่งเล่ม แต่ความมุ่งมาดความปรารถนา ความพยายามแสวงหาย่อมจะได้ประสบผลดีเสมอ วันหนึ่ง เรไรน้ำผักและไข่ไก่เข้าไปขายในบ้านหนึ่ง ซึ่งเป็นบ้านมั่งคั่งบ้านหนึ่งในเมือง เจ้าของบ้านชื่อนายสมพร มีน้ำใจเมตตากรุณา สังเกตเห็นความน่ารักน่าเอ็นดู และความขยันขันแข็งของเด็กคนนี้มาหลายครั้ง และวันหนึ่งก็ถามขึ้น

“หนูอยู่ที่ไหน ?”

“อยู่บ้านนา ไกลจากนี้มากค่ะ” เรไรตอบด้วยเสียงแจ่มใส พูดชัดเจนอย่างเด็กที่มีการศึกษา จนผู้ฟังต้องรู้สึกสะดุดใจ ว่าเด็กคนนี้ไม่ใช่เด็กธรรมดาสามัญ

“หนูอยู่กับพ่อแม่ของหนูหรือ ?” นายสมพรถาม

“อยู่กับพ่อแม่ค่ะ”

“มีพี่น้องอีกบ้างหรือเปล่า ?”

“ไม่มีเลยค่ะ หนูเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่”

“พ่อแม่ปลูกผักเลี้ยงไก่หรือ”

“เปล่าค่ะ พ่อแม่ทำนา”

“แล้วหนูไปเอาผักเอาไข่ไก่มาจากไหน”

“หนูเลี้ยงไก่เอง ปลูกผักเองค่ะ แล้วก็นำมาขายเอง”

“แล้วเอาเงินไปให้พ่อแม่หรือ ?”

“ค่ะ เก็บไว้เองบ้าง”

“เก็บไว้ได้มากแล้วหรือ ?”

“ไม่มากหรอกค่ะ เก็บไว้ได้ก็ซื้อหนังสือ”

“ซื้อหนังสืออะไร ?” นายสมพรถาม

“หนังสืออ่านเป็นความรู้ค่ะ”

“หนูชอบอ่านหนังสือหรือ ?”

“ชอบอ่านมากค่ะ

เผอิญบ้านนั้นเป็นบ้านชอบหนังสือเช่นเดียวกัน และมีหนังสือที่อ่านแล้วเก็บทิ้งไว้มาก นายสมพรเจ้าของบ้านผู้มีใจเมตตาได้ไปหอบเอาหนังสือเก่า ๆ มาให้เรไรเลือก บอกให้นำไปอ่านตามใจชอบ เรไรได้พบทางหาหนังสืออ่านโดยไม่ต้องซื้อ เธอไม่ได้เอาไปมาก อย่างมากคราวหนึ่งก็ไม่เกิน 2 เล่ม อ่านด้วยความบรรจง พยายามเก็บรักษาอย่างดี จบแล้วนำมาคืนเจ้าของในสภาพอันดี แล้วก็ได้หนังสือใหม่ไปอ่าน ทำอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

ในการอ่านหนังสือนั้น เรไรไม่ได้อ่านเอาแต่เรื่อง เธออ่านอย่างละเอียดลออ จำถ้อยคำ จำความคิด จำคติ และหลักวิชาที่พบในหนังสือ ชอบอะไรก็จดไว้ จนเรไรมีสมุดบันทึกหลายเล่มเป็นคลังวิชาของเธอ เธออ่านทั้งหนังสือวิชาการ และนวนิยายที่เจ้าของบ้านแนะนำให้ว่าเป็นหนังสือดี พบตำราเรียนภาษาอังกฤษ ก็เอามาหัดเขียนและท่องจำ ใช้เวลาว่างทุกนาทีที่สามารถจะหาได้ เพื่อการศึกษาฝึกฝนด้วยตนเอง ฉะนั้นความเติบโตก้าวหน้าของเรไร จึงมีขึ้นพร้อมกันทั้งทางร่างกายและความคิด ทั้งความสวยงามและความฉลาด

แต่เรไรก็มิได้ละทิ้งงานปลูกผักเลี้ยงไก่ ซึ่งเป็นงานส่วนตัวของเธอ เธอรู้สึกบุญคุณของงานอันนี้ เพราะนอกจากมีรายได้มาช่วยกำลังพ่อแม่ ยังชักจูงให้เธอได้พบแหล่งหนังสือ หาหนังสือมาอ่าน มาเรียนได้โดยไม่ต้องซื้อ วัยของเรไรได้ก้าวหน้าไปทุกที จากความเป็นเด็กมาสู่ความรุ่นสาว และมีความเปล่งปลั่งอย่างเด็กหญิงที่อยู่ในเมืองในกรุง เรไรเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั้งหลายในตำบลน้อยใหญ่ แถวถิ่นที่อยู่ของเธอ และได้รับความเมตตากรุณาของคนทั้งหลาย นายสมพร คฤหบดี ให้ยืมหนังสืออ่าน เมตตาเรไรยิ่งกว่าใครๆ ถึงกับยินดีจะช่วยเหลือให้เรไรได้รับการศึกษาดีขึ้น รับจะช่วยเอาเรไรไปไว้โรงเรียนในเมือง ให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของคนที่ตนรู้จัก แต่เรไรปฏิเสธ ไม่ยอมรับความกรุณาอันนี้ เพราะเหตุอย่างเดียว คือห่วงพ่อแม่ ซึ่งก้าวเข้าหาความชราทั้งสองคน

อันที่จริง ในความเป็นอยู่อย่างชีวิตของเรไรและพ่อแม่เช่นนี้ ก็เป็นชีวิตที่น่าจะได้รับความสุขสบาย เพราะทำนาหาเลี้ยงชีพได้ ปลูกผักเลี้ยงไก่หารายได้พอดำรงตน และประหยัดเก็บออมไว้สำหรับยามทุกข์ยาก น่าจะเป็นชีวิตที่ผาสุกอย่างสงบสงัด แต่ก็หาเป็นอย่างนั้นไม่ เรไรได้สังเกตเห็นว่าพ่อแม่ของตัวทุกข์ร้อน เป็นความทุกข์ที่พ่อแม่ไม่ต้องการให้เรไรทราบ เรไรได้พบหลายครั้งที่พ่อแม่กำลังพูดกันอย่างจะปรับทุกข์อะไรกัน แต่พอเรไรเข้าไปใกล้ พ่อแม่ก็หยุดพูด หันมาพูดกับเรไรในเรื่องของเด็กๆ ที่ไม่มีความสำคัญ ในบางครั้งเรไรเห็นบิดาหายไปตั้งสองวัน บอกว่าเข้าไปในเมือง โดยไม่ให้เรไรทราบเรื่องว่าเข้าไปทำอะไร แต่ทุกๆ ครั้งที่บิดากลับออกจากเมือง เรไรก็สังเกตเห็นความทุกข์ร้อนของบิดามารดา เรไรเริ่มเข้าใจว่า ในชีวิตของคนเรา ต้องผจญกับความยากลำบากอย่างหนึ่งอยู่เสมอ แม้จะไม่รู้ว่าอะไร ก็ทราบได้ว่าพ่อแม่ของตนเองมีเรื่องที่ต้องผจญ

เรไรพยายามถามพ่อแม่ ว่ามีเรื่องทุกข์ร้อนอะไร และเรไรจะมีส่วนช่วยแบ่งเบาความทุกข์ร้อนของพ่อแม่ได้อย่างไร แต่พ่อแม่ก็ไม่ยอมบอก คงจะเห็นว่าบอกก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเรไรยังเด็กเกินไป ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ชีวิตอย่างครอบครัวของเรไร น่าจะเป็นชีวิตที่ผาสุก เพราะอยู่ห่างจากเมืองใหญ่ตำบลใหญ่ ห่างไกลจากผู้คน และทำมาหากินอย่างโดดเดี่ยว มีทางที่จะเกี่ยวข้องกับใครน้อยเต็มที แต่ถึงกระนั้น เรไรก็เห็นชัดว่า พ่อแม่ไม่มีความสุขเลย

เรไรได้เคยเห็นเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองกับคนอีก 2 คน ซึ่งเรไรไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จัก มาเดินสำรวจที่นา ตรวจดูทุกแง่ทุกมุมในเขตที่อยู่ของเรไร เขาจดบันทึกขีดเส้นทำอะไร ซึ่งพ่อแม่ของเรไรไม่ยอมให้เรไรเข้าใกล้ หรือทราบเรื่องว่าเขาทำอะไรกัน แต่สีหน้าของพ่อแม่บอกชัดว่าสิ่งที่เขามาทำกันนั้น ไม่ได้เป็นคุณแก่พ่อแม่ของตัว เพราะในวันนั้นเรไรได้เห็นความทุกข์ร้อนจากดวงหน้าของพ่อแม่อย่างมาก อีกวันหนึ่งหลังจากที่เขามาทำงานอันนั้นแล้ว พ่อของเรไรก็หายหน้าไปอีก 2 วัน บอกว่าเข้าไปในเมือง และเมื่อกลับออกมา ก็มีสีหน้าเศร้าหมองอย่างเดียวกับทุกๆ ครั้ง ที่พ่อเข้าไปในเมือง

การเป็นเช่นนี้จนกระทั่งเรไรมีอายุ 17 ปี และเธอตั้งปัญหาถามตัวเองอยู่เสมอ ว่าลูกที่มีอายุถึง 17 ปีนั้น จะไม่มีทางช่วยแบ่งเบาความทุกข์ยากของพ่อแม่บ้างเลยหรือ เรไรเชื่อตัวเองว่า ในเวลานี้เรไรสามารถจะหางานทำที่ดีกว่าการเลี้ยงไก่ปลูกผัก สามารถจะหารายได้ช่วยพ่อแม่ให้ดีกว่านี้ ถ้าเรไรรู้ว่าทุกข์ร้อนของพ่อแม่นั้นคืออะไร

“พ่อเข้าไปในเมืองทำไมบ่อยๆ” วันหนึ่งเรไรถามแม่ในเวลาพ่อไม่อยู่ “เข้าไปทำธุระ ลูก” แม่ตอบ

“เวลาพ่อเข้าไปในเมืองกลับออกมาก็เห็นหน้าตาไม่สบายทุกครั้ง พ่อแม่มีความทุกข์ร้อนอะไรหรือ ?”

“ไม่มีอะไรดอกลูก เดินทางไปมาไกลๆ ก็เหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดา”

“แล้วเข้าไปทำไมในเมืองให้เหน็ดเหนื่อยลำบากใจเปล่าๆ อยู่บ้านเราสบายกว่า”

“มีธุระก็ต้องเข้าไปทำ”

“ถ้าเป็นธุระที่ให้ความลำบากหนักใจ จะไปทำทำไม”

“ไม่ทำก็ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องทำ”

“หนูขอรู้บ้างไม่ได้หรือแม่ ว่าพ่อต้องไปทำอะไร ?”

“เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ และหนูยังเป็นเด็กเกินไป อย่าเพิ่งรู้อะไรเลย”

ข้อความที่พูดกับแม่ก็สิ้นสุดลงอย่างนี้ ซึ่งเรไรไม่มีทางทราบว่าพ่อแม่มีความทุกข์ร้อนเรื่องอะไร และตัวเองไม่มีทางจะแบ่งเบาความทุกข์ร้อนของพ่อแม่ได้

“พ่อมีความทุกข์ร้อนเรื่องอะไร ?” วันหนึ่งเรไรตัดสินใจถามพ่อ

“ไม่มีอะไรดอกลูก” พ่อตอบอย่างเดียวกับแม่

“แต่ลูกรู้ว่า ทั้งพ่อทั้งแม่มีความทุกข์ร้อน” เรไรเถียง

“การทำมาหากินก็ย่อมมีความเหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดา” พ่อตอบ

“แต่ลูกรู้ว่าความเหน็ดเหนื่อยกับความทุกข์ร้อนนั้นไม่เหมือนกัน ลูกเคยเห็นพ่อเหน็ดเหนื่อย พ่อได้พักผ่อนสักเล็กน้อย ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เล่นกับลูกสนุกสนานได้ แต่เวลามีทุกข์ก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง”

“ก็เป็นเรื่องหาเลี้ยงชีพเท่านั้นเอง” พ่อตอบ

“เรามีนา เรามีบ้าน เรามีเล้าไก่ เรามีที่ปลูกผัก เราหาได้ พอกินพอใช้ พ่อจะต้องเข้าไปในเมืองทำไม หาความเดือดร้อนไปทำไม ?”

“ลูกยังเล็กเกินไป ลูกยังไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้”

“ลูกอายุสิบเจ็ดปีแล้วพ่อ”

“สิบเจ็ดปีน้อยเกินไป สำหรับจะเข้าใจโลกรู้จักชีวิต”

“มันมีอะไรลึกลับมากนักหรือพ่อ ในชีวิตของคนเราน่ะ”

“เรื่องของชีวิตเป็นเรื่องที่เรียนไม่จบ”

“แล้วเมื่อไรพ่อจะให้ลูกตั้งต้นเรียน”

“ลูกยังเล็กเกินไป รอให้โตอีกหน่อย”

“เพียงแต่ขอทราบว่าพ่อแม่มีทุกข์ร้อนอะไรก็ไม่ได้หรือพ่อ ?”

“อย่าเพิ่งรู้ในเวลานี้เลย ลูกจะรู้ภายหลัง”

“ที่พ่อพูดอย่างนั้น ก็แปลว่าพ่อแม่มีเรื่องทุกข์ร้อน”

“แต่มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ลูกอย่าเพิ่งรู้ดีกว่า”

แล้วก็จบลงเพียงเท่านั้น เป็นอันว่าไม่รู้อีก ว่าพ่อแม่มีเรื่องอะไร

วันหนึ่ง เรไรได้เห็นคนมาที่บ้าน ท่าทางเป็นผู้ลากมากดี เรไรไม่เห็นคนผู้นี้มาก่อน เป็นคนมีอายุขนาดพ่อของเรไร พ่อแม่ของเรไรเรียกเขาว่า “ท่าน” และเรไรสังเกตเห็นว่า ทั้งพ่อและแม่ของเรไรให้ความเคารพนบนอบแก่คนคนนั้นมาก เขามีคนติดตามมาหลายคน ท่าทางเป็นคนโตใหญ่ ถ้าไม่ใช่คนสำคัญที่สูงศักดิ์ ก็ต้องเป็นคนมั่งมีมหาศาล เขามาเดินสำรวจที่ทาง เหมือนอย่างที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเคยมาสำรวจครั้งหนึ่ง พ่อแม่ของเรไรได้เรียกเรไรเข้าไปกราบเขา เขาจ้องดูเรไรอย่างไม่วางตา ถามเรไรว่าอายุเท่าไร เรียนหนังสือหรือเปล่า ช่วยพ่อแม่ทำอะไร ชอบอยู่ไร่อยู่นาอย่างนี้ไหม เคยเข้าไปในเมืองบ้างหรือไม่ อยากย้ายถิ่นที่เข้าไปอยู่ในเมืองไหม ซึ่งเรไรได้กล่าวตอบไปอย่างที่ควรตอบ รวมความในคำตอบของเรไรคือว่า เรไรพอใจในชีวิตที่อยู่กับพ่อแม่ ไม่ต้องการไปไหน เขาพยายามจะแสดงท่าทีว่าเป็นคนมีความเมตตากรุณา แต่เรไรก็มีความรู้สึกว่าท่าทีของเขาไม่น่าเชื่อถือ ไม่เหมือนอย่างเจ้าของบ้านในตำบลที่ให้เรไรขอยืมหนังสือมาอ่าน ท่านผู้นั้นมีความเมตตากรุณาอย่างจริงใจ แต่ท่านผู้นี้รู้สึกเหมือนมีความคิดร้ายอะไรแอบแฝงอยู่ เรไรพูดกับเขาด้วยความจำใจ และพอหมดคำถามของเขาแล้ว เรไรก็ไปทำงานในสวนผักเล้าไก่โดยไม่ต้องการจะอยู่พูดกับเขานาน

เรไรเห็นเขาเรียกพ่อแม่ของเรไร ไปพูดในที่ห่างจากคนอื่น และเห็นพ่อแม่ของเรไรเคารพนบนอบเขาอย่างเจ้าอย่างนาย หรือผู้ที่มีบุญคุณกันมาอย่างใหญ่หลวง เรไรไม่เข้าใจสภาพการณ์อย่างนี้ เพราะในชีวิตที่ทำมาหากินอยู่โดดเดี่ยว เช่นชีวิตของเรไรและพ่อแม่ น่าจะมีความเป็นอิสระแก่ตัว ไม่ต้องนอบน้อมยอมกลัวใคร ไม่ต้องมีใครมาเป็นเจ้าเป็นนาย เพราะไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยใคร แต่เหตุไฉน พ่อแม่ของตัวจึงต้องนอบน้อมยอมกราบไหว้คนซึ่งไม่เคยเห็นมาช่วยเหลือมีบุญคุณ เขามาพักอยู่ที่บ้านของเรไรเกือบตลอดบ่าย เวลาเขาจะไป เรไรได้ถูกเรียกตัวไปหาเขาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเขาจ้องมองเรไรอย่างน่ากลัวน่าเกลียด แล้วก็ถามซึ่งเกือบจะซ้ำกับคำถามที่เรไรได้ฟังจากเขาเมื่อแรกมาถึง ดูเหมือนคำถามที่เขาพยายามเน้นถามมากกว่าข้ออื่น คือว่า เรไรอยากย้ายถิ่นที่เข้าไปอยู่ในเมืองหรือไม่ แต่เรไรก็ได้ตอบให้เขาทราบอย่างกระจ่างแจ้ง ว่าเรไรต้องการอยู่กับพ่อแม่ ไม่ต้องการไปไหน

ภายหลังที่คนสำคัญใหญ่โตผู้นั้นไปแล้ว เรไรก็แอบเห็นความเป็นไปของพ่อแม่ในสภาพเดิม คือมีความทุกข์ร้อนอย่างที่เคยมี ดูเหมือนจะมากขึ้นอีก

เวลาล่วงมาอีก 2 ปี เรไรมีอายุ 19 ปี ในระหว่าง 2 ปีที่ล่วงมา ความเป็นไปของพ่อแม่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร คนใหญ่คนโตนั้นมาเที่ยวบ้านเรไรอีก 2-3 ครั้ง และพยายามพูดจาสนิทสนมกับเรไรมากขึ้น เรไรได้พยายามถามพ่อแม่ว่าเขาเป็นใคร ได้รับตอบแต่เพียงว่าเขาเป็นเจ้านายของพ่อแม่ เป็นผู้ที่พ่อแม่จะต้องยำเกรง ครั้นถามว่าเขาได้ช่วยเหลือทำประโยชน์อะไรแก่พ่อแม่บ้าง ก็ไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นที่พอใจ รวมความว่าพ่อแม่ของเรไรต้องเคารพยำเกรงเขา เพราะเขาเป็นเจ้าเป็นนายเท่านั้น เป็นการยากสำหรับเรไร ซึ่งเกิดมาในท่ามกลางความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่จะเข้าใจได้ว่า ทำไมมนุษย์จึงต้องมีเจ้ามีนาย

แต่ในปีที่เรไรมีอายุครบ 19 นี้เอง ที่พ่อแม่ยอมรับว่าเรไรเติบโต และให้ความไว้วางใจ บอกให้รู้เรื่องราวบ้าง ความรู้อันแรกของเรไรก็คือว่า ที่นาที่พ่อแม่ทำกินอยู่ในเวลานี้ ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อแม่หรือของเรไร หากเป็นกรรมสิทธิ์ของ ‘เจ้านาย’ ผู้นั้น พ่อแม่ของเรไรเป็นแต่เช่าอยู่ เช่าทำกิน และความทุกข์ร้อนของพ่อแม่ก็คือ เรื่องค่าเช่าที่มีจำนวนคั่งค้างอยู่ไม่น้อย

“พ่อแม่มาเริ่มเช่าเขาตั้งแต่เมื่อไร ?” เรไรถามพ่อแม่ “ก่อนหนูเกิดหรือภายหลัง”

“เริ่มเช่าเขาเมื่อลูกอายุได้ 9 ขวบ” พ่อตอบ

“หนูไม่ได้เกิดที่นี่ดอกหรือ ?”

“หนูเกิดที่บ้านนี้” แม่ตอบ

“แล้วเวลาหนูเกิด เราไม่ได้เช่าเขามิใช่หรือ ?”

“เวลานั้นเราไม่ได้เช่า เราเป็นเจ้าของเอง”

“แล้วทำไมเรากลายเป็นผู้เช่าไป ทำไมเราไม่เป็นเจ้าของอย่างที่เคยเป็น”

“พวกเราชาวนาก็มักจะเป็นอย่างนั้น”

“เดิมทีเดียว ที่นานี้เป็นของใครคะ ?”

“เดิมทีเดียวเป็นป่า ปู่กับย่าของลูกมาลงแรงโคนถางทำเป็นนา ได้กรรมสิทธิ์มาจนกระทั่งเป็นของพ่อ”

“แล้วอย่างไรคะ ?”

“แล้วต่อมาเราก็ประสบโชคร้าย ควายสามตัวตายลงพร้อมกันด้วยโรคระบาด ฝนแล้งทำนาไม่ได้ไปตลอดปี ไม่มีพันธุ์ข้าว ไม่มีอะไรจะกิน ก็ต้องเอานาไปจำนองเขา ได้ควายได้พันธุ์ข้าวมาทำนาใหม่ ก็พอกินไปเป็นวันๆ ดอกเบี้ยค้างทับถมมากเข้าทุกที ดอกเบี้ยก็ต้องถูกเรียกแพงถึงร้อยละ 3-4 ต่อเดือน

“หนูเคยอ่านพบในหนังสือ ว่าดอกเบี้ยตามกฎหมายต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เรไรพูดสอดขึ้น”

“นั่นเป็นดอกเบี้ยตามกฎหมาย” พ่ออธิบายต่อ “แต่ไม่มีใครเขาจะให้เงินเรากู้โดยคิดดอกเบี้ยตามอัตราในกฎหมาย ดอกเบี้ยที่คิดกันจริง ๆ มันมากกว่ากฎหมาย 3-4 เท่า ค้างดอกเบี้ยสัก 2 ปีครึ่ง มันก็มากขึ้นมาเท่าเงินทุน แม้แต่ดอกเบี้ยเรายังไม่มีปัญญาใช้ ไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องเงินทุน ในที่สุดถูกเขาบังคับเอาที่นาของเราก็เป็นของเขาไป”

“แล้วอย่างไรอีกคะ ?”

“แล้วเราก็ไม่เป็นเจ้าของอีกต่อไป กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่นาเป็นของเจ้าของเงิน เราไม่มีทางอื่นจะทำมาหากิน เราก็ต้องเช่านาเขา”

“พ่อต้องเสียกรรมสิทธิ์ และต้องเช่านาเขาทำกิน ตั้งแต่หนูอายุ 9 ขวบ ใช่ไหมคะ ?”

“ถูกแล้ว” พ่อตอบ “ค่าเช่าก็แพง แพงเท่าๆ กับดอกเบี้ย เมื่อเราไม่สามารถจะเสียดอกเบี้ย เราก็ไม่สามารถจะเสียค่าเช่าเช่นเดียวกัน”

“ค้างค่าเช่าเขาอีกหรือคะ ?”

“แน่นอน ค่าเช่าค้างมาอีกเป็นปีๆ”

“แล้วเราจะทำอย่างไรคะ ?”

“ก็ยังเป็นปัญหาทุกข์ร้อนของพ่อแม่อยู่ในเวลานี้”

พ่อได้ยับยั้งคำอธิบายไว้แค่นั้น อันที่จริงยังมีอีก ทุกข์ร้อนของพ่อแม่ของเรไรยังมีมากกว่าเรื่องค่าเช่าค้าง เพราะเรื่องหนี้สินนั้น ลงได้มีเข้าแล้ว ก็นำความเป็นทาสอย่างอื่นมาให้ ถ้าลำพังแต่เรื่องค่าเช่าค้าง ก็จะไม่เป็นเรื่องวิตกทุกข์ร้อนกันอยู่ทุกวัน แต่ความที่ตกเป็นทาสของนายเงิน ย่อมผูกมัดให้ถลำตัวอยู่ใต้อำนาจของเขาหนักขึ้นทุกที ฐานะของพ่อเรไรในเวลานี้ ตกต่ำยิ่งกว่าทาสในสมัยโบราณ ทาสในสมัยโบราณสามารถจะขายตัวเปลี่ยนนายได้ใหม่ แต่พ่อของเรไรถูกผูกมัดจนไม่สามารถจะเอาใจออกห่างจากนายเงินผู้นี้ เป็นความจำเป็นที่จะต้องปิดบังความผูกมัดอันนี้ไว้ก่อนไม่ให้เรไรทราบ เพราะจะเป็นการทรมานมากเกินไป สำหรับหัวใจเด็กรุ่นสาวที่รักพ่อแม่เช่นเรไร เป็นอันว่าเรไรยังไม่ได้ฟังเรื่องทุกข์ร้อนที่แท้จริงของพ่อแม่ ยังไม่รู้เรื่องตลอด

แต่เท่าที่ได้ฟังแล้วก็ทรมานใจของเรไรมากพอใช้ เรไรได้วาดรูปสังคมมนุษย์อย่างน่าเกลียดน่าชังขึ้นในดวงจิตของเธอ ถึงแม้ว่าเรไรจะมีอายุเพียง 19 ปี ความที่อ่านมากคิดมากมาหลายปี ทำให้เรไรสามารถสร้างมโนภาพอันแจ่มใสเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ เรไรมองเห็นมนุษย์แบ่งออกเป็นสองพวกคือ พวกโง่กับพวกฉลาด พวกโง่กำลังจะอดตาย พวกฉลาดอิ่มหนำสำราญ เรไรมองเห็นโลกเป็นป่าทึบ พวกโง่มาลงแรงโคนถาง ทำที่ดินรกร้างให้กลับเป็นประโยชน์เกิดพืชผล พวกฉลาดใช้อำนาจอิทธิพลกำลังเงินมาเอาเป็นของตัว ไม่ใช่เอาแต่ที่ดิน ยังเอาตัวคนที่โก่นสร้างทำที่ดินรกร้างให้เป็นประโยชน์นั้นมาเป็นทาสของตนเสียอีกด้วย

คนโง่อาบเหงื่อต่างน้ำ ทำงานแต่เช้าถึงค่ำหรือจนกลางคืน เพื่อเลี้ยงพวกคนฉลาดที่อยู่เบื้องสูง แทนที่พวกฉลาดจะเห็นบุญคุณ กลับเห็นพวกคนโง่เป็นไพร่เป็นทาส แทนที่นายเงินซึ่งมาบ้านเรไรหลายครั้งจะต้องเคารพนบนอบพ่อแม่ของเรไร ซึ่งปลูกข้าวให้เขากิน สร้างความมั่งคั่งให้แก่เขา พ่อแม่ของเรไรกลับต้องก้มกราบราบเรียบ ถือเขาเป็นเจ้าเป็นนาย รวมความว่าโลกเป็นโลกของคนร้าย ไม่ใช่ของคนดี เพราะคนร้ายย่อมเป็นคนฉลาด คนดีย่อมเป็นคนโง่ ทางเดียวที่จะปฏิวัติสังคมมนุษย์ก็คือ ทำให้คนดีมีความฉลาดขึ้นมา ด้วยการศึกษาหาความรู้ให้ทันคนร้าย จนกระทั่งมันจะทำร้ายไม่ได้ นั่นแหละสังคมจึงจะได้รับความยุติธรรม ตราบใดที่โลกยังเป็นสมบัติของคนร้าย โลกก็ไม่มีความผาสุก โลกจะมีความผาสุกต่อเมื่อโลกได้กลับกลายเป็นสมบัติของคนดี และการที่จะสามารถทำให้โลกเป็นสมบัติของคนดีเช่นนี้ เรไรก็มองเห็นทางเดียวคือการศึกษา อย่างน้อยก็การศึกษาอบรมฝึกฝนตนเอง อย่างที่เรไรทำมา คนดีจึงจะสู้คนร้ายได้

เรื่องความเป็นไปในครอบครัวของเรไร สร้างสภาพจิตของเรไรให้เกลียดชังคนมั่งคั่ง เรไรไม่ต้องได้รับความอบรมลัทธิการเมืองที่รุนแรงอะไรทางไหน ความเป็นไปในครอบครัวของเธอเอง เป็นบทเรียนสอนให้เธอมีความคิดอย่างนั้น มนุษย์ที่ไม่ได้สร้างสรรค์ ไม่ได้ทำอะไรให้งอกงามขึ้นในโลก คอยแต่สูบเลือดกินแรงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ย่อมไม่ผิดอะไรกับปลิงทากที่คอยเกาะกินเลือดมนุษย์ ถ้าจะจับเอามานั่นให้เป็นชิ้นๆ ก็ยังไม่สาสมเพียงพอกับความผิดของมนุษย์พวกนี้

ทั้งนี้เป็นความคิดอันรุนแรงที่เกิดขึ้นในดวงจิตของเรไร ทั้ง ๆ ที่เรไร มีอายุเพียง 19 ปี และยังไม่ได้ทราบเรื่องพ่อแม่ของตนโดยตลอด ยังไม่รู้อย่างครบถ้วนว่าพ่อแม่ของตนยังต้องรับเคราะห์อะไรอีกบ้างจากนายเงิน อันเป็นเรื่องที่พ่อแม่ยังปิดบังไว้

ในวัยที่มีอายุ 19 ปีบริบูรณ์ ความเปล่งปลั่งของเรไรก็เพิ่มพูนเป็น สาวสวยที่แท้จริงคนหนึ่ง และในตอนนี้ คนใหญ่คนโตผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่งมหาศาล และเราจะเรียกอย่างง่ายๆ ว่าเศรษฐี ได้มาที่บ้านเรไรบ่อยๆ และแสดงความสนใจในตัวเรไรมากขึ้นทุกที เรไรสังเกตเห็นว่าเศรษฐียิ่งเอาใจใส่ในตัวเรไรมากขึ้นเพียงไร สีหน้าของพ่อแม่เรไรก็แสดงความวิตกหมกหมุ่นมากขึ้นเพียงนั้น เรไรเชื่อมั่นว่าพ่อแม่ของตนกำลังถูกบีบบังคับอะไรอย่างมาก

โดยเหตุที่ในตอนหลังๆ นี้ เรไรพูดกับพ่อแม่ของตนได้ง่ายขึ้นในเรื่องทุกข์ร้อนของพ่อแม่ เรไรจึงชวนพูด และก็ได้ความมากขึ้น

“เขาพูดมานานแล้ว” แม่กล่าว “ว่าถ้าพ่อแม่ยกหนูให้เป็นเมียเขา ฐานะของพ่อแม่ก็จะดีขึ้น”

“หนูตกลงทันที แม่” เรไรตอบ

“ตกลงอะไร ?” บิดาถามด้วยนัยน์ตาลุกโพลง

“ตกลงเป็นเมียเขา” เรไรตอบ

“อะไรกัน ลูกจะยอมเป็นเมียของคนคนนั้นหรือ ?” พ่อถาม

“ลูกยอมทั้งนั้น จะให้เป็นเมียคนนั้น หรือเป็นเมียใคร หรือเป็นหมูหมาอะไรลูกยอมทั้งนั้น ถ้าจะทำให้พ่อแม่บรรเทาความทุกข์ร้อนยากลำบาก”

“ตรงกันข้าม” พ่อกล่าว “ตั้งแต่เขาเสนอแลกเปลี่ยนหนี้สินกับตัวลูก ความทุกข์ร้อนของพ่อแม่ยิ่งมีมากขึ้น”

“ช่างเป็นไรพ่อ ไม่ต้องเป็นทุกข์”

“ลูกรู้แล้วหรือ ว่าการเป็นเมียเขานั้นเป็นอย่างไร ?” มารดาถาม

“ลูกอ่านหนังสือมาก” เรไรตอบ “การเป็นผัวเมียมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของลูกผู้หญิง เท่าที่ลูกได้อ่านพบเรื่องที่เขาเป็นผัวเมียกันด้วยความรักความเต็มใจ แล้วก็อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก แต่ก็ได้พบเรื่องที่หญิงสาวถูกบังคับให้แต่งงานกับชายที่ตนไม่ได้รัก ก็เป็นความทุกข์ทรมาน”

“แล้วเรื่องอะไรพ่อแม่จะเอาความทุกข์ทรมานไปให้ลูก” พ่อพูด

“ถ้าสามารถจะแบ่งเอาความทุกข์ทรมานของพ่อแม่มาได้บ้าง ก็ขอให้ลูกมีส่วนแบ่ง”

“พ่อว่า เรื่องจะตรงกันข้าม คือถ้าเอาลูกไปรับความทุกข์ทรมานอีกคนหนึ่ง ความทุกข์ทรมานของพ่อแม่จะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น เพราะตราบใดที่ยังเป็นแต่ความทุกข์ของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ทนรับได้ โดยมีเครื่องปลอบใจว่า ความทุกข์อันนั้นยังไม่ตกไปถึงลูก แต่ถ้าเอาความทุกข์นั้นไปเผื่อแผ่ให้ลูกอีก พ่อแม่ก็จะยิ่งเพิ่มความทุกข์ทรมานใจมากขึ้น”

“แต่คงไม่เป็นความทุกข์ทรมานอะไรแก่ลูกมากนักดอกค่ะ” เรไรกล่าว

“หนูเคยอ่านพบในหนังสือ ว่าความทุกข์ทรมานสำหรับผู้หญิงที่ต้องเป็นเมียชายที่ตนไม่รักนั้น ต้องมีเหตุประกอบกันสองประการ ประการหนึ่ง หญิงนั้นมีคู่รักของตัวอยู่แล้ว และอีกประการหนึ่ง ถูกพ่อแม่บังคับให้ไปแต่งงานกับคนที่ตัวไม่รัก แต่เรื่องของหนูไม่มีทั้งสองอย่าง หนูไม่มีคู่รักของตัวเอง แล้วก็ไม่ได้ถูกพ่อแม่บังคับ หนูจะยอมเป็นเมียเขาด้วยความเต็มใจของหนูเอง”

“เต็มใจ” พ่อกล่าวซ้ำ “เต็มใจแต่งงานกับผู้ชายคราวพ่อของตัว”

“แน่นอน ลูกคงไม่มีความรัก และลูกคงไม่สามารถจะรักคนคนนี้ได้ แต่ลูกก็ยินยอมแต่งงานหรือเป็นเมียเขาด้วยความเต็มใจของลูกเอง เพื่อแบ่งเบาความลำบากของพ่อแม่ คิดดูก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร”

“หนูรู้หรือไม่” มารดากล่าว “ว่าคนคนนั้นอายุ 50 แล้ว”

“ช่างมันเป็นไรแม่ ให้มันแก่ ให้มันตายไปเสียเร็วๆ ก็ยิ่งดี”

“เรื่องมันผิดกับลูกสาวคนอื่นเขา” พ่อกล่าว “ลูกสาวคนอื่นพยายามขัดขืน เมื่อพ่อแม่จะให้แต่งงานกับคนสูงอายุ แต่ลูกสาวของเรา พ่อแม่ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เจ้าตัวกลับเต็มใจ”

“คนเราไม่เหมือนกัน พ่อ” เรไรกล่าว “ลูกสาวก็คือคน หนูอาจจะผิดกับลูกสาวคนอื่นเขา เพราะหนูไม่ต้องการอะไร นอกจากจะแบ่งเบาความทุกข์ลำบากของพ่อแม่ ว่าแต่ว่าเขาให้สัญญาแก่พ่อแม่ไว้อย่างไร ?

“เขาบอกว่าจะยกหนี้สินที่คั่งค้างอยู่ให้หมด” มารดาตอบ “เท่านั้นเองหรือแม่ ?”

“พูดกันมาเพียงเท่านั้น เพราะพ่อแม่ไม่ยอมพูดกับเขาในเรื่องที่จะยกลูกให้เขา จึงไม่ได้พูดอะไรกันมากไป”

“หนูจะพูดกับเขาเอง” เรไรกล่าว

แล้วหัวใจของเรไรก็แข็งเป็นเหล็ก แข็งไปในทางที่ว่าจะยอมเสียสละเพื่อพ่อแม่ เรไรรู้จากการอ่านหนังสือ ว่าการเป็นเมียของคนที่ตัวไม่รักนั้น ไม่เป็นความผาสุก แต่เรไรก็ไม่เคยรู้ว่าความรักนั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยมีคู่รัก ไม่เคยรักกับใคร ถ้าหากว่าการเป็นเมียของเศรษฐีคนนี้จะเป็นความทุกข์ทรมานก็คงไม่ถึงตาย เพราะไม่ปรากฏว่ามีใครตายเพราะการเป็นเมีย แต่เรไรก็แน่ใจอย่างหนึ่งว่า ความเสียสละของตัวจะช่วยทุกข์ของพ่อแม่ได้ไม่มากก็น้อย เรไรพร้อมที่จะรับสภาพชีวิตทุกอย่าง ที่สามารถจะแบ่งเบาความทุกข์ลำบากของพ่อแม่ได้

ฉะนั้น เมื่อเศรษฐีคนนั้นมาปรากฏตัวที่บ้านของเรไรอีกครั้งหนึ่ง เรไรก็ยอมพูดจากับผู้ที่เราจะเรียกอย่างง่ายๆ ว่า ‘เศรษฐี’ และพูดกันโดยลำพัง ห่างจากคนอื่น พ่อแม่ไม่พยายามขัดขวาง เพราะนอกจากกลัวอำนาจของเขาแล้ว พ่อแม่ได้แลเห็นการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของเรไร ก็ลองปล่อยไปดู

“ฉันรักเธอตั้งแต่เห็นเธอครั้งแรก” เศรษฐีกล่าวเริ่มบทรัก

“หนูไม่เคยรู้จักว่าความรักเป็นอย่างไร” เรไรตอบ

“หนูไม่เคยรักกับใครเลยหรือ ?”

“เคยรักแต่พ่อแม่ค่ะ”

“หนูจะรักฉันบ้างได้ไหม ?”

“เมื่อหนูยังไม่รู้จักว่าความรักเป็นอย่างไร หนูก็ไม่สามารถจะบอกได้

“แต่หนูจะเต็มใจไปอยู่กับฉันหรือ ?”

“ไปอยู่ในฐานะใดคะ ?”

“พูดกันอย่างง่ายๆ พูดกันอย่างตรงๆ ว่าไปเป็นเมียฉัน”

“ถ้าจะช่วยความทุกข์ลำบากของพ่อแม่ได้ หนูก็ยินดี” เรไรตอบ

“แต่ถ้าหนูไม่รักฉัน หนูก็จะไม่มีความสุข”

“หนูไม่เคยรู้จักว่าความรักหรือความสุขนั้นเป็นอย่างไร ท่านไม่ต้องวิตกในข้อนั้น หนูห่วงใยอยู่อย่างเดียว ว่าถ้าหนูยอมเป็นเมียท่าน หนูจะช่วยความทุกข์ลำบากของพ่อแม่ได้อย่างไรบ้าง”

“นั่นเป็นคนละเรื่อง”

“อาจจะเป็นคนละเรื่องสำหรับท่าน แต่มันเป็นเรื่องเดียวกันสำหรับหนู หนูจำเป็นต้องรู้ในข้อนี้”

“ฉันเคยขอหนูกับพ่อแม่ของหนู ด้วยความรักความเอ็นดูในตัวหนูอย่างแท้จริง แล้วก็ได้เคยบอกกับพ่อแม่ของหนูว่า ฉันจะสมนาคุณด้วยการยกหนี้สินที่คั่งค้างให้ทั้งหมด”

“หนี้สินคั่งค้างอยู่สักเท่าไหร่คะ ?”

“ค่าเช่านาค้างอยู่เกือบห้าปี”

“หมายความว่าท่านจะยกค่าเช่านาที่ค้างนี้ให้”

“ถูกแล้ว ฉันจะยกให้ทั้งหมด”

“เท่านั้นเองหรือคะ?”

“หนูจะต้องการอะไรอีก ?”

“หนูอยากจะทราบว่าท่านจะให้อะไรอีกได้บ้าง ?”

“ทำไมเราพูดกันโดยวิธีนี้ เราพูดอย่างคนรักกันไม่ได้หรือ ?”

“หนูบอกท่านตั้งแต่แรกแล้ว ว่าหนูไม่รู้จักว่าความรักเป็นอย่างไร เราต้องพูดกันถึงทางได้ทางเสีย เมื่อท่านเป็นผู้ซื้อ หนูเป็นผู้ขาย ก็ต้องพูดกันมากหน่อยในเรื่องราคา”

“นี่ไม่ใช่เรื่องซื้อขาย เป็นเรื่องความรักของฉัน”

“แล้วท่านจะตีราคาความรักของท่าน ให้มากกว่าการยกหนี้สินได้หรือไม่ ?”

“เธอจะต้องการอะไรอีก ?”

“พ่อแม่เล่าให้หนูฟังว่าที่ดินแห่งนี้ เดิมเป็นป่าดงรกร้าง ปู่และย่าของหนูมาลงแรงโก่นถางทำประโยชน์ในที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์ และเป็นมรดกตกทอดมาถึงพ่อแม่ บัดนี้กรรมสิทธิ์ได้หลุดลอยไปกลายเป็นของท่าน หนูก็อยากจะขายตัวหนู”

“อย่าพูดอย่างนั้น” นายเงินกล่าว “อย่าพูดว่าหนูขายตัว”

“จะใช้คำว่าอย่างไรก็ตามที แต่การที่หนูจะเป็นเมียท่าน ก็อยากจะช่วยทุกข์ของพ่อแม่ให้ได้มากที่สุดที่จะช่วยได้”

“หนูอยากได้อะไรอีกก็บอกฉันได้”

“อย่างน้อยก็อยากได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนกลับมาเป็นของพ่อแม่”

“ตกลง ฉันตกลงให้ ฉันจะไปโอนกรรมสิทธิ์รายนี้คืนให้พ่อแม่ของหนู แล้วจะทำหนังสือยกหนี้สินเก่าให้ทั้งหมดด้วย มีอะไรอีกไหม ?”

“ก็ต้องมีสินสอดอีก”

“หนูจะต้องการสักเท่าไร ?”

“เรื่องนี้ก็สุดแต่ความเมตตาของท่าน”

“ตกลง ฉันจะให้เงินสินสอดอีก แล้วส่วนตัวหนู ฉันก็จะให้เครื่องแต่งกายที่มีค่าอย่างสวยงาม ให้เงินใช้ให้เพียงพอกับความต้องการ”

“ตัวหนูไม่สำคัญนัก ท่านจะเมตตาให้อะไรก็ให้แก่พ่อแม่ก็แล้วกัน”

“หนูจะไปอยู่กับฉันได้เมื่อไร ?”

“ท่านจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทำหนังสือยกหนี้สินให้เมื่อไรคะ ?”

“ฉันจะต้องทำอย่างนั้นให้ก่อนหรือ ?”

“ถูกแล้วค่ะ เพราะเป็นเรื่องซื้อขาย”

“อย่าพูดเรื่องซื้อขาย ฉันจะทำตามใจหนูทุกอย่าง แต่ขออย่าใช้คำพูดเช่นนั้น”

“เอาเถอะค่ะ หนูต้องการความแน่ใจว่าได้ช่วยทุกข์ร้อนของพ่อแม่ได้”

“ฉันจะทำตามที่หนูต้องการ อาจจะทำได้ภายใน 3 วันนี้”

“ถ้าท่านทำได้ตามนี้เมื่อไร ท่านก็รับตัวหนูไปได้ทันที”

เรื่องที่พูดกันเป็นอย่างนั้น คือไม่ได้พูดกันอย่างความรักหรือการแต่งงาน พูดกันอย่างทำสัญญา สัญญาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน เศรษฐีพยายามที่จะชักชวนให้พูดกันมาในทางรักใคร่ ซึ่งในบางครั้งเรไรก็นึกอยากจะเป็นหญิงเจ้ามารยา คือแสดงว่ารักเขา ซึ่งจะช่วยให้ได้อะไรขึ้นมาอีกมาก แต่ก็ทำไม่ลง เรไรไม่สามารถจะพูดถึงเรื่องรักกับคนคนนี้ แม้แต่จะแกล้งพูดก็ไม่ไหว อย่างไรก็ดี เรไรมีความยินดีที่เรื่องราวจะตกลงกันได้อย่างนั้น ถ้าหากว่าการที่ต้องเป็นเมียของเศรษฐีเป็นการเสียสละ ก็เป็นการที่เรไรเสียสละเพื่อพ่อแม่ของตัวเอง ซึ่งเรไรถือเป็นบุญเป็นกุศล จะมีความดีอันใดเล่า ที่จะเป็นความดีสูงไปกว่าการเสียสละเพื่อตอบแทนคุณของพ่อแม่ เรไรอาจจะเข้าสู่ชีวิตใหม่ด้วยอาการยิ้มย่องผ่องใส ไม่ใช่ยิ้มด้วยหวังที่จะได้รับความสุขส่วนตัว แต่เธอจะยิ้มในฐานที่มีโอกาสแทนคุณพ่อแม่

เมื่อเศรษฐีไปแล้ว เรไรก็บอกให้พ่อแม่ทราบโดยละเอียดในข้อความที่พูดและตกลงกับเขา ซึ่งทั้งพ่อและแม่ไม่สามารถจะกลั้นน้ำตาด้วยความสงสารลูก

“ถ้าเป็นใจของพ่อ” บิดากล่าว “พ่อจะยอมรับความลำบากจนสิ้นชีวิต ไม่ต้องการให้ลูกตกไปในมือของเขา”

“เขามีเมียอยู่แล้วมากมายหลายคน” มารดากล่าว “ลูกของแม่จะไปเป็นคนที่เท่าไรก็ไม่รู้”

“เป็นคนที่เท่าไรก็ไม่เห็นสำคัญ” เรไรกล่าว “แต่ความตกลงที่ทำกันได้ในเรื่องนี้ เป็นที่พอใจของหนู”

“มันเป็นการโหดร้ายเหลือเกิน” พ่อกล่าว “ที่ลูกสาวบริสุทธิ์สวยสุดของพ่อ อายุเพียง 19 ปี ต้องตกไปเป็นทาสของเงินอีกคนหนึ่ง”

“เมื่อมันเป็นความเต็มใจของลูกเอง” เรไรพูด “ลูกก็คิดว่ามันคงไม่เป็นความทุกข์ทรมานอะไรมากนัก”

“แม่ว่าลงท้ายเขาก็จะต้องรักและหลงลูกมากกว่าเมียคนอื่นๆ ของเขา” มารดากล่าว

“ช่างมันเถอะแม่” เรไรตอบ “หนูไม่หวังอะไรในเรื่องนั้น ช่วยทุกข์ของพ่อแม่ได้ก็แล้วกัน”

อันที่จริงความมุ่งหมายของเรไรที่จะช่วยทุกข์พ่อแม่นั้น ก็ไม่ช่วยได้อย่างสมบูรณ์ เพราะถึงแม้จะได้รับการยกเลิกหนี้สิน และได้กรรมสิทธิ์ที่ดินกลับคืนมา พ่อแม่ของเรไรก็จะมีความสบายใจน้อยเต็มที่ เพราะสงสารลูกที่จะต้องไปเป็นเมียของคนร้าย แต่ในเวลานี้ทั้งพ่อและแม่ต้องยอมรับว่าเรไรเติบโตเกินอายุ มีความคิดและความฉลาดมากเกินกว่าอายุเหมือนกัน แม้ว่าตกไปในฐานะเป็นเมียคนที่เท่าไร เรไรก็คงปลอดภัยและคงมีทางช่วยตัวได้เสมอ

รุ่งขึ้นจากวันที่พูดกันนั้น เศรษฐีได้ให้คนออกมาตามพ่อของเรไรเข้าไปในเมือง เมื่อพ่อกลับออกมาก็บอกเรไรว่า เขาได้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับคืนให้เป็นของพ่อแม่เรไร และเขามอบตราจองคืนให้มา ซึ่งทั้งครอบครัวเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงกับเอาตราจองขึ้นวางบนแท่นที่บูชา ทั้ง 3 คนจุดธูปบูชาดวงวิญญาณของปู่และย่าของเรไร ขออภัยในการที่ทำให้ที่นารายนี้หลุดกรรมสิทธิ์ไป และบัดนี้ก็ได้คืนมาแล้ว เขาสัญญากันว่า จะไม่ยอมให้กรรมสิทธิ์หลุดลอยไปอีก

พร้อมกับตราจองอันเป็นเอกสารสำคัญสำหรับที่ดินแห่งนั้น พ่อของเรไรได้รับหนังสือซึ่งเศรษฐีทำให้แสดงว่ายกเลิกหนี้สินที่ค้างอยู่ทั้งหมด เป็นอันว่าความผูกพันทางการเงินที่มีอยู่ได้หมดสิ้นไป ความคิดของเขาได้เกิดมีขึ้นในบางขณะ ว่าเมื่อได้ทุกสิ่งทุกอย่างมาหมดแล้ว อาจจะหักหลังเล่นโกงคนคนนี้บ้างก็ได้ คือเรไรไม่ต้องยอมเป็นเมียของเขา เขาไม่มีทางที่จะบังคับได้อย่างไรตามกฎหมาย แต่ทั้งพ่อทั้งแม่ของเรไรก็ทราบดีว่า กฎหมายไม่มีความสำคัญสำหรับคนผู้นี้ เขาเป็นมนุษย์เหนือกฎหมายมาช้านาน เขาสามารถจะฆ่าคน ทำร้ายคน โดยที่ทางบ้านเมืองจับกุมเขาไม่ได้ ถ้าไปเล่นโกงเขาอย่างนั้น ก็หมายถึงความตายของคนทั้งสาม จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ต่อมาอีก 2 วัน เศรษฐีก็มาที่บ้านของเรไรอีก เขานำเงินจำนวนหนึ่งมามอบให้แก่พ่อแม่ของเรไร ซึ่งก็เป็นจำนวนไม่น้อย ถือเป็นเงินสินสอดในการสู่ขอเรไรไปเป็นเมียของเขา เขามอบเงินให้และรับตัวเรไรไป นั่นคือพิธีแต่งงาน ซึ่งเป็นพิธีง่ายเหลือเกิน อำนาจของเงินทำให้อะไรๆ ง่ายไปทุกอย่าง

เรไรออกเดินทางมากับเขา ด้วยความพอใจที่ช่วยทุกข์ของพ่อแม่ได้ พ่อได้ตามมาส่งเรไรถึงในเมือง ส่วนแม่ได้แต่ร้องไห้อยู่ทางโน้น เรไรไม่ร้องไห้ สำหรับเรไรค่อนข้างเป็นความดีใจ เพราะนอกจากจะช่วยความทุกข์ลำบากของพ่อแม่ได้แล้ว เรไรยังมีแผนการที่สนุกอยู่ในใจ ความเกลียดชังคนมั่งคั่ง ทำนาบนหลังคนยากจน ยังมีอยู่ในดวงจิตของเรไรอย่างเต็มเปี่ยม เรไรตั้งใจว่า ถ้ามีทางจะล้างผลาญหรือทำลายคนผู้นี้ได้ด้วยวิธีใด เรไรก็คงจะทำด้วยความรู้สึกสนุก ความรู้สึกสนุกอันนี้ทำให้เรไรยอมรับชีวิตใหม่อย่างไม่ท้อถอย

เมื่อเข้าเมืองและไปถึงบ้านของเศรษฐี เรไรได้ถูกนำตัวไปหาสตรีสูงอายุผู้หนึ่ง ซึ่งได้ความว่าเป็นภริยาเอกของเขา เขาบอกให้เรไรกราบ เพื่อฝากเนื้อฝากตัว เป็นวิธีการที่เขาทำมาอย่างนั้น คนผู้นี้จะไปซื้อลูกสาวใครมาก็เอาตัวมากราบภริยาเอก แล้วก็อยู่ด้วยกันได้ต่อไป ไม่เป็นการประหลาดอะไร โลกคือโรงละคร ให้กราบก็กราบได้ ใจจริงเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เรไรรู้ว่าต่อไปตัวก็จะมีฐานะอย่างคนรับใช้ของภริยาเอก แต่ก็ไม่ประหลาดอีกเหมือนกัน เรไรเคยทำงานเลี้ยงไก่ ปลูกผัก นำของไปขาย งานรับใช้ภริยาเอกก็คงไม่หนักหนามากกว่านั้น ในการที่ต้องเข้าไปกราบกรานเอกภรรยาของเขานั้น เรไรก็เกิดความคิดแผนการขึ้นอีกหลายอย่าง ล้วนแต่เห็นเป็นเรื่องสนุก

เรื่องการได้หญิงสาวคนใหม่เข้ามาสู่บ้านนี้ ไม่ใช่เรื่องประหลาด เพราะมีการได้มาใหม่เสมอ แต่การได้เรไรเข้ามาในบ้าน ทำความตื่นเต้นให้แก่คนในบ้านมากพอใช้ เนื่องจากความสวยของเรไร ทุกคนประหลาดใจว่า ลูกไร่ลูกนาทำไมจึงสวยอย่างนี้ เมื่อได้เครื่องแต่งตัวที่ทันสมัย เรไรก็เป็นสาวสวยอย่างสมัยใหม่ นอกจากความสวยในดวงหน้าดวงตาและผิวพรรณแล้ว รูปร่างส่วนสัดของเรไรสวยสง่าสมส่วนสมทรง เหมือนหนึ่งว่าธรรมชาติได้สร้างเรไรขึ้นมาด้วยการคำนวณมาตราส่วนอย่างละเอียด และสร้างให้ประณีตเหมาะสมทั่วสรรพางค์กาย

ตามปรกติเมื่อมีหญิงสาวหน้าใหม่เข้ามาในบ้านนี้ พวกคนเก่ามักจะรวมหัวกันค่อนแคะริษยา แต่กรณีของเรไรกลับตรงกันข้าม ความสวยของเรไรทำให้ทุกคนนึกรักและเอ็นดู เรไรได้การต้อนรับอย่างดีจากภริยาเอก และจากพวกเมียเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหลายของเศรษฐี ซึ่งทำให้เรไรคิดว่าคงจะอยู่ในบ้านนี้ไปได้โดยไม่เดือดร้อนเกินไป

และในคืนนั้นเอง เรไรก็เข้าไปสู่ชีวิตใหม่ เป็นการเข้าห้องหอ ซึ่งเรไรเคยอ่านเคยทราบมาบ้าง เรไรปล่อยให้ทุกอย่างมันเดินไปเหมือนเครื่องจักร “หนูรักฉันบ้างไหม” เขาถาม “พุทโธ่เอ๋ย” เรไรคิด “แกยังบังอาจคิดว่าเราจะรักแก เชิญเถอะจ้ะ ของซื้อของขาย เชิญตามสบาย แต่เรื่องหัวใจรักนั้นอย่ามาถามเลย” เวลานี้เรไรเป็นแต่เพียงเครื่องจักรทำความพอใจให้เขา เขาผู้เป็นเศรษฐีและนายเงิน ถ้าเขาซื้อด้วยเงิน เขาก็ซื้อได้แต่เครื่องจักร เขาไม่สามารถจะซื้อหัวใจรักได้ เงินสามารถจะซื้ออะไรได้ทุกอย่าง เว้นแต่ความรักจากหัวใจที่แท้จริง เรไรทำหน้าที่ของลูกที่ดี จะต้องช่วยแบ่งเบาความทุกข์ยากของพ่อแม่ เรไรมีเครื่องปลอบใจให้ชุ่มชื่น คือการระลึกถึงว่า เธอสามารถปลดเปลื้องความเป็นทาสจากพ่อแม่ เอาความเป็นทาสมาไว้แก่ตัวเอง ซึ่งเรไรถือเป็นความดีอย่างสูงของตนเอง

ส่วนผู้ที่วิตกหมกมุ่นมากที่สุดนั้น คือพ่อแม่ ซึ่งส่งใจนึกถึงลูกไปตามระยะของเวลา ป่านนี้เรไรคงเป็นอย่างนั้น ป่านนี้เรไรคงเป็นอย่างนี้ รวมความว่าพ่อแม่มองเห็นความทุกข์ทรมานทั้งหลายไปตกอยู่แก่เรไร ความเงียบเหงาเศร้าใจมีมากสุดที่จะพรรณนา เรไรไม่เคยจากบ้าน เรไรอยู่กับพ่อแม่มาตลอดกาล ถึงแม้ว่าจะเป็นบ้านไร่โรงนา เรไรก็ทำความผาสุกครึกครื้นให้แก่พ่อแม่ เมื่อไม่มีเรไรเสียแล้ว ความเปล่าเปลี่ยวก็เกิดขึ้น เหมือนหนึ่งว่าที่อยู่ของเขาเป็นเรือนราง ครั้งใดที่พ่อแม่ระลึกถึงเรไร เขาก็แลเห็นที่อยู่ของเขาเป็นเรือนร้างไปทุกที

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ