ประวัติหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก)
พระนิพนธ์สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
หลวงธรรมาภิมณฑ์(ถึก) ผู้ต้นสกุลจิตรกถึก เป็นชาวจังหวัดจันทบุรี บ้านเดิมอยู่ ณ ตำบลบ้านตะปอนน้อยในท้องที่อำเภอขลุง เกิดในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ บิดาเป็นที่ขุนมณีบุบผา ชื่อจีด เมื่อหลวงธรรมาภิมณฑ์ยังเป็นเด็กเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ กับ พระยาธรรมปรีชา(บุญ) ผู้เป็นลุง พระยาธรรมปรีชา (บุญ) นั้นเป็นที่นับถือกันว่าเป็นอาจารย์พระปริยัติธรรมอย่างยอดเยี่ยมผู้หนึ่ง มีศิษย์มาก ที่ได้ถึงคุณธรรมชั้นสูงก็หลายองค์ ว่าแต่เพียงที่นึกได้ในเวลาแต่งหนังสือนี้ เช่น พระศาสนโสภณ(อ่อน) วัดราชประดิษฐ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย[๑] วัดเทพศิรินทร์บัดนี้ เป็นต้น ถึงเจ้าพระยายมราช[๒] ก็เป็นศิษย์พระยาธรรมปรีชา(บุญ) จนได้เป็นเปรียญ หลวงธรรมาภิมณฑ์ได้ศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นต่อพระยาธรรมปรีชา (บุญ) แล้วบรรพชาเป็นสามเณรไปอยู่วัดบุบผารามจังหวัดธนบุรี จนอายุครบอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุอยู่วัดนั้นต่อมา เมื่อคิดดูโดยสำนักที่ได้ศึกษาและโอกาสที่ได้บวชเรียน ถ้าหากหลวงธรรมาภิมณฑ์มีใจรักในทางที่จะศึกษาพระปริยัติธรรม ก็คงจะได้เป็นมหาเปรียญ แต่อุปนิสสัยของหลวงธรรมาภิมณฑ์ชอบมาทางบทกลอนภาษาไทย จึงศึกษาพระปริยัติธรรมแต่พอเป็นนิสสัยปัจจัย พยายามศึกษาแต่ทางวิชาหนังสือไทยจนสามารถแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน นับว่าเป็นอย่างดีในสมัยของตนคนหนึ่งอันนี้เป็นเหตุให้ได้รับราชการมียศศักดิ์ และเป็นผู้หนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ทรงพระเมตตากรุณามาด้วยเป็นกวี
แรกหลวงธรรมาภิมณฑ์จะได้รู้จักกับข้าพเจ้านั้น ในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ มีหน้าที่จัดการบำรุงศาลาที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมชองพระภิกษุสามเณรที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วย ครั้งนั้นตำแหน่งอาจารย์ว่างลงคนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ยินคำสรรเสริญความสามารถชองพระยาธรรมปรีชา เมื่อยังไม่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เรียกกันว่า “อาจารย์บุญ” จึ่งชวนเข้ามาเป็นอาจารย์บอกพระปริยัติธรรม ที่ศาลาหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วกราบบังคมทูลขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่หลวงญาณภิรมย์ในกรมราชบัณฑิตย เสมอกับอาจารย์คนอื่นซึ่งบอกหนังสืออยู่ในที่แห่งเดียวกัน ในไม่ช้าก็มีพระภิกษุสามเณรพากันนิยมมาศึกษาในสำนักหลวงญาณภิรมย์ (บุญ) มากขึ้นทุกที จนที่เก๋งศาลาข้างหน้าวัดไม่พอ ต้องย้ายเข้าไปอาศัยพระพุทธปรางค์ปราสาท (ซึ่งเป็นปราสาทพระเทพบิดรเดี๋ยวนี้) เป็นที่บอกพระปริยัติธรรม มีพระภิกษุสามเณรมาเล่าเรียนมากกว่าที่แห่งใดๆ หมด เกียรติคุณของหลวง ญาณภิรมย์ (บุญ) ก็ปรากฏแพร่หลายขึ้นโดยลำดับมา เป็นเหตุให้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นจนถึงได้เป็นพระยาธรรมปรีชา เป็นที่สุด
เมื่อหลวงธรรมาภิมณฑ์บวชเป็นพระภิกษุได้ ๗ พรรษาแล้วลาสิกขาบท พระยาธรรมปรีชา (บุญ) พามาฝากข้าพเจ้าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ แรกเข้ารับราชการเป็นตำแหน่งเสมียนในกรมศึกษาธิการอยู่สักปี ๑ ได้เลื่อนตำแหน่งย้ายไปเป็นครูรองที่โรงเรียนวัดประยูรวงศาวาส ต่อมาอีก ๓ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้เลื่อนเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส คุณวิเศษของหลวงธรรมาภิมณฑ์ในทางกวีเริ่มปรากฏในตอนนี้ ด้วยเหตุสองอย่างคือ เมื่อมีโรงเรียนหลวงตั้งขึ้นตามวัด เวลาเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐิน หรือว่าเจ้านายเสด็จไปทอดพระกฐินต่างพระองค์ นักเรียนในโรงเรียนย่อมมายืนแถวคอยเฝ้าฯ และครูใหญ่แต่งโคลงถวายพระพรทูลเกล้าฯ ถวายทุกแห่ง ปรากฏสำนวนโคลงของหลวงธรรมาภิมณฑ์แต่ยังเรียกกันว่า “ครูถึก” แต่งดี อีกอย่างหนี่งนั้นหอพระสมุดวชิรญาณออกหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษ รับหนังสือซึ่งแต่งใหม่ หลวงธรรมาภิมณฑ์แต่งโคลงฉันท์ส่งมาลงพิมพ์ ได้รับชมว่าสำนวนดี ข้าพเจ้าจึงได้แนะนำให้หลวงธรรมาภิมณฑ์พากเพียรในการแต่งบทกลอนหนังสือไทยให้เป็นเรื่องเป็นราว หลวงธรรมาภิมณฑ์ได้แต่งฉันท์ชาดกเรื่องหนึ่ง (จะเป็นเรื่องอะไรจำชื่อไม่ได้ และหาฉบับไม่ได้เสียแล้วในเวลานี้) มาให้ข้าพเจ้าเรื่องหนึ่ง เห็นว่าสำนวนดี แต่เรื่องยังจืดนัก แต่ยังมิทันที่จะขอให้เปลี่ยนแปลงประการใด ข้าพเจ้าย้ายจากกระทรวงธรรมการไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายหลวงธรรมาภิมณฑ์ก็เผอิญเกิดมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง จึงลาออกจากตำแหน่งไปรักษาตัวอยู่ที่บ้านเดิมในแขวงจังหวัดจันทบุรี ครั้นหายป่วยเข้ารับตำแหน่งเป็นครูโรงเรียนของกรมทหารเรืออยู่ที่อำเภอขลุง สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ฯ (เมื่อยังเป็นที่พระสุคุณคณาภรณ์) เป็นตำแหน่งเจ้าคณะสงฆ์มณฑลจันทบุรีไปพบเข้า ชวนไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดจันทน์ในเมืองจันทบุรี ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ทางกรุงเทพฯ ข้าพเจ้ากลับเข้ามีตำแหน่งเป็นกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ คิดปรับปรุงหนังสือวชิรญาณ นึกขึ้นถึง“ครูถึก” สืบได้ความว่าออกไปเป็นครูอยู่เมืองจันทบุรี จึงได้ชวนให้กระทรวงธรรมการเรียกกลับเข้ามาไว้ในกองแต่งตำราเรียน แต่นั้นหลวงธรรมาภิมณฑ์ก็มามีตำแหน่งราชการอยู่ในกระทรวงธรรมการ และได้มาช่วยแต่งหนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณสืบมา เพราะความชอบในการแต่งหนังสือเรื่องต่างๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นที่หลวงธรรมาภิมณฑ์ มีตำแหน่งในกรมราชบัณฑิตย เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๖ ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบ็ญจมาภรณ์ช้างเผือกกับเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ ย้ายตำแหน่งมาเป็นพนักงานฝ่ายหนังสือไทยในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ได้เลื่อนยศเป็นรองอำมาตย์เอก และได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุรถาภรณ์มงกุฎสยาม กับเหรียญจักรพรรดิมาลา รับราชการมาจน พ.ศ. ๒๔๗๐ มีอาการเจ็บป่วยด้วยความชราทุพพลภาพ จึงต้องออกจากราชการ ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญต่อมา แต่อาการป่วยไม่หายเป็นปกติได้ ครั้นถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา อายุได้ ๗๑ ปี
หนังสือเรื่องต่าง ๆ ซึ่งหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ได้แต่งไว้ ค้นฉบับพบเมื่อเรียบเรียงประวัติดังนี้ คือ[๓]
๑. โคลงนิราศวัดรวก แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ พิมพ์แล้ว
๒. วินิศวานิชคำฉันท์ เรื่องนี้แต่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ เวลารับราชการอยู่ด้วยกันกับข้าพเจ้าในกรมศึกษาธิการ เดิมหลวงธรรมาภิมณฑ์แต่งฉันท์เรื่องชาดกมาให้ข้าพเจ้าดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าติว่าเรื่องจืดนัก ให้หาเรื่องให้ดีกว่านั้น หลวงธรรมาภิมณฑ์บอกว่าไม่รู้ว่าจะไปหาเรื่องที่ไหน เมื่อกลับมาทำงานด้วยกันอีก ข้าพเจ้าจึงเขียนโครงนิทานเรื่อง เมอชันต์ ออฟ เวนิศ บทละครของเชกสเปียให้หลวงธรรมาภิมณฑ์ไปแต่งขึ้นเป็นฉันท์ ให้ชื่อว่าวินิศวานิช ฉันท์เรื่องนี้ได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดและได้พิมพ์แล้วหลายครั้ง
ต. เบริคคลิสคำฉันท์ ข้าพเจ้าเขียนโครงนิทานบทละครเรื่องเบริคคลิสชองเชกสเปีย ให้แต่งอีกเรื่องหนึ่ง แต่แต่งไม่ตลอด (จะเป็นเพราะข้าพเจ้าเขียนโครงเรื่องให้ไม่หมด หรือหลวงธรรมาภิมณฑ์แต่งไม่ตลอดเอง ลืมเสียแล้ว) มีอยู่แต่ฉบับเขียนยังไม่ได้พิมพ์
๔. สิทธิศิลปคำฉันท์ ของหลวงธรรมาภิมณฑ์ คิดเรื่องขึ้นเอง แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕
๕. เพ็ชรมงกุฎคำฉันท์ เอาเรื่องจากลิลิตมาแต่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕
๖. รัชมังคลาภิเษกคำฉันท์ เรื่องนี้ข้าพเจ้าคิดรูปเรื่องให้หลวงธรรมาภิมณฑ์แต่ง เฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว แต่แต่งดีไม่ได้ถึงดังใจข้าพเจ้า จึงยังไม่ได้พิมพ์
๗. ฉันท์ดุษฎีสังเวย สำหรับงานพระราชพิธีฉัตรมงคลรัชกาลที่ ๖ หลวงธรรมาภิมณฑ์แต่งลา ๑ (กรมหมื่นกวีพจนสุปรีชาแต่งลา ๒ พระพจนปรีชา ม.ร.ว.สำเริง อิศรศักดิ์ฯ แต่งลา ๓ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์แต่งลา ๔)
๘. ฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างเผือกพระเศวตวชิระพาหะ แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้พระราชทานรางวัล
๙. กฎาหกคำฉันท์ เอาเรื่องนิบาตชาดกมาแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ (ซึ่งพิมพ์เป็นสมุดเล่มนี้)
๑๐. ธาดามณีศรีสุพิน กลอนสุภาพ ๒ เล่มสมุดไทย จะแต่งเมื่อใดหาทราบไม่
๑๑. เรื่องสามก๊ก ตอนนางเตียวเสี้ยนกับตั๋งโต๊ะ แต่งเป็นกลอนสุภาพ แต่งเมื่อใดหาทราบไม่
๑๒. ประชุมลำนำ เรื่องนี้แต่งเมื่อหลวงธรรมาภิมณฑ์ชราและเริ่มป่วยเสียแล้ว
นอกจากนี้ยังมีคำฉันท์และคำกลอนเบ็ดเตล็ดซึ่งหลวงธรรมาภิมณฑ์ ได้แต่งอีกมาก แต่มิได้เป็นเรื่องต่างหาก จึงมิได้ลงในบัญชีนี้[๔]
[๑] เจริญ ญาณวร
[๒] เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
[๓] เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ประวัติหลวงธรรมาภิมณฑ์ ในพุทธศักราช ๒๔๗๒ นั้น ยังไม่พบโคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์ โคลงเทพินทร์พิลาป ชาลีภิเษกคำฉันท์ ปทุมวดีคำฉันท์ และเพลงยาวหมากรุก
[๔] คัดจากหนังสือกฎาหกคำฉันท์ พิมพ์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒