คำนำ

“นิราศ” เป็นรูปแบบของเนื้อหากวีนิพนธ์ไทยอย่างหนึ่งที่นิยมแต่งกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบมากระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากสุนทรียภาพเชิงกวีโวหารแล้ว “นิราศ” ยังเป็นเสมือนบันทึกการเดินทางที่กวีสอดแทรกสิ่งที่ได้พบเห็นไว้ด้วย กวีนิพนธ์ในลักษณะดังกล่าวเป็นที่นิยมมานานจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โคลงนิราศวัดรวกและโคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์นี้เป็นผลงานของรองอำมาตย์เอกหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ผู้แตกฉานการประพันธ์บทกวีทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ เป็นกวีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา ผลงานกวีนิพนธ์ของหลวงธรรมาภิมณฑ์มีหลายเรื่อง บางเรื่องยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน รวมทั้งโคลงนิราศสองเรื่องที่นำมารวมพิมพ์ในครั้งนี้

โคลงนิราศวัดรวก แต่งขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๒๘ ดังที่บอกไว้ในโคลงท้ายเรื่องว่าหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึกหรือถฤก) แต่งเสร็จเมื่อวันพุธ แรม ๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีระกา จุลศักราช ๑๒๔๗

๏ โคลงนิราศวัดรวกนี้ นามแสดง
ถฤกร่ำรังแถลง เลศไว้
ใช่จะอวดโอษฐ์แจง จัดเก่ง ไฉนฤๅ
เป็นแต่เอกโทได้ ดุจเค้าคำโคลง ฯ

และ

๏ แถลงปางศักราชลํ้า พันทวี ร้อยแฮ
เศษสี่สิบเจ็ดปี บอกแจ้ง
ระกามิคศิรมาสมี เดือนฝ่าย แรมฮา
สองคํ่าพุธวารแกล้ง กล่าวสิ้นเสร็จสาร ฯ

โคลงนิราศวัดรวกแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพจำนวน ๒๕๒ บท มีร่ายสุภาพนำในตอนต้น ๑ บท เนื้อหาพรรณนาการเดินทางตั้งแต่วัดรวก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปยังพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี และใช้สถานที่เริ่มต้นการเดินทางมาตั้งเป็นชื่อนิราศชื่งแตกต่างจากกวีนิพนธ์นิราศทั่วๆ ไปที่จะนำชื่อสถานที่อันเป็นจุดหมายปลายทางมาตั้งเป็นชื่อ นิราศเรื่องนี้หอพระสมุดวชิรญาณพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีกุน พุทธศักราช ๒๔๖๖

โคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์ สันนิษฐานว่าหลวงธรรมาภิมณฑ์ น่าจะแต่งขึ้นเมื่อท่านกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในกรมศึกษาธิการ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๓-๒๔๔๖ ได้เดินทางไปตรวจการศึกษาที่โรงเรียนวัดสมุหประดิษฐ์ ดังที่บอกไว้ในตอนท้ายของนิราศเรื่องนี้ว่า

๏ เสร็จโภชนภักษ์แล้ว ฤๅนาน
แต่งสกนธ์เดินกราย จากถ้า
ตรวจตรุณนักเรียนการ กิจราช
เสร็จ บ ทันให้ช้า เฉื่อยพลัน ฯ

และ

๏ นิราศสมุหประดิษฐ์นี้ นามถฤก
วิวิธมาลีคือ คิดไว้
เนาดำแหน่งกรมศึก ษาธิ การนา
ผิวผิดปราชญ์ได้ให้ อภัย ฯ

โคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์แต่งเป็นโคลงดั้นวิวิธมาลีจำนวน ๒๐๖ บท มีร่ายดั้นนำในตอนต้น ๑ บท เนื้อหาดำเนินตามขนบของโคลง นิราศกล่าวถึงการเดินทางด้วยเรือจากกรุงเทพฯ ทวนลำน้ำเจ้าพระยา แล้ววกเข้าลำนํ้าป่าสักที่พระนครศรีอยุธยา จนถึงวัดสมุหประดิษฐาราม ในเขตอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

กรมศิลปากรเห็นว่า โคลงนิราศวัดรวกและโคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์ เป็นหนังสือมีคุณค่าหายาก จึงมอบให้กลุ่มงานวรรณกรรม กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ตรวจสอบชำระจากเอกสารต้นฉบับตัวเขียนสมุดไทยและสมุดฝรั่ง เรียบเรียงบทนำเรื่อง คำอธิบายศัพท์ ทั้งจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นการรักษาต้นฉบับ และในการพิมพ์ครั้งนี้ได้นำภาพต้นฉบับตัวเขียนมารวมพิมพ์ไว้ในภาคผนวกด้วย

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือโคลงนิราศวัดรวกและโคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์จะอำนวยประโยชน์ต่อผู้สนใจศึกษาวรรณคดีไทยโดยทั่วกัน

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ