เรื่องตำหนักแพ

พระราชนิพนธ์

ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

----------------------------

คำที่เรียกตำหนักแพนั้น เป็นคำใหม่ ๆ ไม่ใช่คำโบราณ ๆ เรียกว่าอย่างหนึ่ง คือท่าที่ประทับเรือพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ๆ หรือพระมหาอุปราชแต่ก่อน ๆ ก็มีชื่อว่าพระฉนวนน้ำประจำท่าพระราชวังหลวงหรือพระราชวังบวรฯ ดังนี้เป็นแน่ไม่สงสัย เพราะได้ทราบมาแต่โบราณราชประเพณีจะชี้เช่นให้เห็นเป็นพยานว่า เมื่อครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยายังตั้งดำรงเป็นผาสุกสวัสดิภาพไพบูลย์อยู่นั้น ครั้งโน้น พระราชวังหลวงตั้งอยู่ใกล้กำแพงพระนครฝ่ายทิศอุดร แต่ท่าที่ประทับเรือพระที่นั่งหน้าพระราชวังหลวงนั้น อยู่เยื้องข้ามฟากมุมวัดเมรุราชิการาม เนื่องปากคลองสระบัวไปฝ่ายตะวันตกไม่มากนัก ที่ท่าประทับเรือพระที่นั่งหน้าพระราชวังหลวงนั้น มีชื่อปรากฏว่าพระฉนวนน้ำ ประจำท่าวาสุกรี ๆ นั้นเป็นดังศาลาใหญ่อยู่ในน้ำ คล้าย ๆ ศาลาหน้าสะพานวัดหลวงดุจเคยเห็นทั่ว ๆ กันในเวลานี้ แต่เวลาโน้นที่พระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรีนั้น มีเป็นศาลาใหญ่อยู่หลังหนึ่งหลังคาเป็นสามมุข ๆ ซ้อนสองชั้น มุง กระเบื้อง ลูกฟูกถือปูน ตามปั้นลม มีลายปั้นเป็นรูปนาคราชเลื้อยเลิกพังพานศีรษะลงมา จดเชิงกลอน แทนใบระกานั้นเป็นกระจังปั้นเป็นรูปเทพนมถวายกร ที่บนหลังคาหน้าบันอกไก่นั้นปั้นเป็นรูปพรหมสี่หน้าแทนช่อฟ้า แต่ที่หน้าบันประเจิดด้านข้างเหนือเรือประทับนั้น ปั้นเป็นรูปนารายณ์สี่กรทรงครุฑเป็นพาหนะ ที่หน้าบันข้างด้านตะวันออกนั้นปั้นเป็นรูปเทพสุริยมณฑลสถิตอยู่ในบุษบกมหาพิไชยราชรถเทียมด้วยราชสีห์ ที่หน้าบันด้านตะวันตกนั้นปั้นเป็นรูปเทพจันทรมณฑล สถิตอยู่ในบุษบกมหาพิไชยราชรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ลวดลายรูปภาพนั้นแต่ล้วนปั้นด้วยปูนทั้งสิ้น ต่อหลังศาลาท่าฉนวนน้ำนั้นมีกำแพงฉนวนสองแถวเนื่องขึ้นไปจดประตูใหญ่ที่กำแพงพระนคร ซึ่งราษฎรเรียกว่าประตูฉนวนชั้นนอก แต่ชื่อหลวงปรากฏว่าประตูมหาไตรภพชลทวารอุทก ถัดประตูนั้นเข้าไปในพระนครก็เป็นกำแพงฉนวนสองแถวไปจดประตูคูหาที่กำแพงเขื่อนเพชร พระราชวังชั้นในชื่อประตูโคหาภพชล ที่คนเรียกว่าประตูฉนวนชั้นใน ยายจ่าแว่นรักษาอยู่ที่ศาลาดินฝ่ายในประตูดูแลผู้คนเข้าออก ที่กำแพงฉนวนทั้งสองข้างนั้น มีประตูหูช้างข้างละประตูสำหรับปิดกั้นคนไว้ เมื่อข้างในเดินมาในท้องฉนวน คนข้างนอกจะเดินข้ามฉนวนไปไม่ได้ ต้องออคั่งอยู่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าประตูคั่ง ที่ท่าประทับนั้นแต่เดิมก็มีชื่อปรากฏว่า พระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรีอยู่ดังนี้ ไม่ได้พบตำรับตำราที่ไหน ๆ ว่าใครร้องเรียกร้องหาว่าตำหนักแพไม่ได้ยินเลย ชื่อท่าที่ประทับเรือพระที่นั่งและชื่อประตูฉนวนรูปพรรณสัณฐานลวดลายดังที่จดหมายกล่าวเพ้อ ๆ มานี้ ด้วยมีปรากฏในจดหมายเหตุโบราณหลายฉบับ คือ ในพระราชพงศาวดารเก่า ๆ และมีในคำให้การขุนหลวงหาวัดและมีในคำฉันท์ยอพระเกียรติลงสรงลงท่าที่เจ้าพระยาอภัยมนตรีแต่ง และมีคำโคลงยอพระเกียรติกระบวนพยุหเรือเมื่อเสด็จไปพระพุทธบาท ซึ่งเจ้าฟ้านเรนทร กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ทรงแต่ง และมีในคำกลอนนิราศลอยประทีปซึ่งเจ้าฟ้ากุ้ง กรมพระราชวังบวรทรงแต่ง รวมข้อความนี้มีอยู่ทุกฉบับดังนั้น แต่ที่หน้าพระราชวังบวรฯ กรุงเก่านั้น ก็มีฉนวนน้ำประจำท่าเหมือนกัน แต่จะมีชื่อเรียงเสียงไร หรือรูปพรรณสัณฐานทรวดทรงลวดลายมีอย่างไร ไม่มีปรากฏชัดในตำราต่าง ๆ ดังที่เคยพบมาไม่ปรากฏ แต่ว่าฉนวนน้ำพระราชวังบวรฯอยู่ริมกำแพงพระนคร ด้านตะวันออกตรงตลาดบ้านหม้อต่อกับวัดมณฑปหัวรอ ฉนวนน้ำวังหน้านั้นเนื่องมาแต่ประตูนารีภิรมย์ที่กำแพง เขื่อนเพชรพระราชวังบวร ฯ ชั้นใน และมีกำแพงฉนวนสองแถวเนื่องมาถึงประตูอุดมคงคา ที่กำแพงพระนครด้านตะวันออกที่ท่าประทับเรือของกรมพระราชวังบวรฯ นั้น ก็เรียกกันว่าฉนวนน้ำวังหน้าบ้าง ฉนวนน้ำพระราชวังบวร ฯ บ้าง ไม่มีใครเรียกว่าตำหนักแพวังหน้าเลย ในเวลาโน้นนั้นไม่ปรากฏ ครั้นเมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึกเมื่อปีกุน นพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ ครั้นเจ้าตากได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม ปราบปรามปัจจามิตรราบคาบแล้วจึงตั้งพระราชวังหลวงอยู่กรุงธนบุรี เหนือปากคลองบางกอกใหญ่ ก็ได้ทำฉนวนน้ำที่หน้าพระราชวัง มีกำแพงฉนวนสองแถว เนื่องออกมาจากพระราชวังสถานชั้นใน มาถึงสุดสะพานมีฉนวน ๆ นั้นมีศาลาน้อย ๆ หันหน้าจั่วลงน้ำ ข้างทิศตะวันออก มุงกระเบื้องลูกฟูกที่รื้อมาจากกรุงเก่า ทำอย่างทางท่าศาลาวัดราษฎร ด้วยไม่มีช่อฟ้าใบระกานาคสะดุ้งจระนำลำยอง ครั้นเมื่อคราวเจ้าตากจะยกทัพใหญ่ไปต่อสู้กับพม่าที่มารักษาเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นเจ้าตากสั่งให้เจ้าพระยาธรรมา ชื่อบุญรอด ซึ่งเป็นบิดาเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) และเป็นปู่เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช) นั้น เป็นผู้ทำตำหนักน้ำหลังหนึ่งห้าห้องมีเฉลียงรอบยาว ๑๓ วา กว้าง ๕ วา มุงกระเบื้องเกล็ดเต่า ไม่มีช่อฟ้าใบระกา มีฝากระดานหลังเจียดช่องลูกฟัก มีลูกกรงรอบ ๔ ด้านทาสีเขียวแดง รูปพรรณสัณฐานคล้าย ๆ ศาลาโรงธรรม เป็นตำหนักตั้งอยู่บนหลังคานปลายเสาตะม่อๆลงน้ำเหมือนเรือนแพ มีชานล้อมรอบเฉลียง ๔ ด้าน ๆ ละ ๓ วา มีลูกกรงต่ำ ๆ รอบชาน มีประตูหูช้างเล็ก ๆ ที่ลูกกรงชานละ ๘ ประตู ในเวลานั้นคนเป็นอันมากเรียกว่าตำหนักน้ำ แต่บัตรหมายในเวลานั้นใช้ว่าพลับพลาน้ำอย่างเดี๋ยวนี้มีเนือง ๆ ตลอดเวลากรุงธนบุรีไม่มีใครเรียกว่าตำหนักแพเลย ท่านที่เป็นข้าราชการเก่า ๆ ติดมาจากแผ่นดินกรุงธนบุรีมีตัวทำราชการตลอดเวลามาในแผ่นดินพระเจ้าหลวงก็มีทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ที่มีอายุยืนยาวมาถึงคราวแผ่นดินข้าพเจ้านี้ก็ยังมีตัวอยู่บ้างลางองค์ลางท่าน แต่ว่าน้อยตัวแล้ว ท่านเหล่านั้นก็ได้ทันเห็นพลับพลาน้ำของเจ้าตากเป็นพยานด้วยกันมาก

ครั้นเมื่อประดิษฐานพระปฐมบรมราชวงศ์ ซึ่งดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา ณ ฝั่งตะวันออกที่บางกอกสยามนั้น ได้สถาปนาพระราชวังหลวงตรงที่ใกล้กำแพงพระนครด้านประจิมทิศนั้นแล้ว แต่วังหน้าที่เรียกว่าพระราชวังบวรฯ นั้น ก็ได้ตั้งลงที่ริมกำแพงพระนครด้านตะวันตกแถวเดียวกันกับพระราชวังหลวง แต่เหนือขึ้นไปไกลห่างประมาณ ๓๐ เส้นเศษ อยู่ตรงปากคลองบางกอกน้อยข้าม อนึ่งในรัชกาลที่ ๑ นั้น ที่หน้าพระราชวังหลวงด้านแม่น้ำมีกำแพงกั้นสองแถวขวางถนนเป็นฉนวน เนื่องมาจากประตูยาตราสตรี ที่กำแพงพระราชวังชั้นใน กำแพงฉนวนนั้นเนื่องตลอดลงมาใกล้ฝั่งน้ำ ที่ท่านั้นมีศาลาใหญ่หลังหนึ่งยาวรีตามลำน้ำ มุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกาทาแดง แต่ด้านหน้าศาลาใหญ่มีมุขลดเล็กๆ เป็นซุ้มประตูอยู่ที่ตรงต้นสะพาน เป็นที่พาดบันไดประทับเรือพระที่นั่งมุขนั้น คล้ายๆประตูโรงช้าง ที่ศาลาท่าน้ำนั้นเรียกว่าพระฉนวนน้ำพระราชวังหลวง สร้างขึ้นในปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ปี ดังนี้มีปรากฏตลอดมาได้ ๒ ปี ครั้นถึงปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ ปี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานทำแพลอยหนุนไม้ไผ่หลังหนึ่งห้าห้องมีเฉลียงรอบ ฝากระดานลูกกรงทาสีเขียวแดง แต่ข้างในเขียนลายรดน้ำปิดทอง เสาเขียนลายทรงข้าวบิณฑ์ปิดทอง หลังคามุงจากมีช่อฟ้าใบระกานาคสะดุ้งลำยองทำนองแพช้างเผือก จอดเหนือฉนวนน้ำหว่างต้นมะฝ่อ กับต้นมะตาดตรงต้นตาล สายโยงแพได้ผูกพันกับต้นตาล ใคร ๆ ในเวลาทุกวันนี้ก็ยังมีตัวเห็นอยู่ด้วยกันเป็นอันมาก ครั้งโน้นนั้นราษฎรชาวพระนครชวนกันร้องเรียกร้องหาว่าตำหนักแพ เสียงนี้มีปรากฏขึ้นในครั้งนั้นเป็นเดิม แต่บัตรหมายใช้ว่าพระตำหนักแพ หรือที่ท่าก็ใช้ว่าพระฉนวนน้ำอยู่ตามเดิม เมื่อเวลาลอยประทีปในเดือน ๑๑, ๑๒ นั้น เรือพระที่นั่งบัลลังก์สองลำจอดขนานหน้าพระตำหนักแพ ถ้าจะเสด็จลงเรือพระที่นั่งไปประพาสที่ใดๆ เรือพระที่นั่งที่ประทับที่พระฉนวนน้ำอยู่ตามเดิม อนึ่งพระราชวังบวรฯ ก็ทำพระตำหนักแพคล้ายๆพระราชวังหลวง เว้นแต่ไม่มีช่อฟ้าใบระกา แพจอดที่เหนือศาลาท่าพระฉนวนน้ำพระราชวังบวร ฯ นั้น เป็นศาลาย่อมๆหลังเดียว หน้าจั่วลงน้ำ หลังคามุงกระเบื้องไม่มีช่อฟ้าใบระกา ฝากระดานสายบัวทาแดง เสาศาลาฉนวนน้ำนั้นเป็นเสาศิลา ๔ เหลี่ยม สั่งมาแต่เมืองจีน ศาลาฉนวนน้ำวังหน้านั้น เหมือนศาลาสะพานวัดราษฎร ๆ เรียกกันว่า ฉนวนน้ำวังหน้า และตำหนักแพวังหน้าดังนี้ มีปรากฏตลอดมาถึงแผ่นดินข้าพเจ้า ๆ เป็นต้นริอ่านเปลี่ยนแปลง ทำเป็นพระที่นั่งจัตุรมุข เป็นที่ประทับริมฝั่งน้ำ เหนือฉนวนน้ำเก่าขึ้นไปไม่มากนัก ฝากระดานมุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกาทั้ง ๔ มุข ดังนี้แล้ว จึงบัตรหมายใช้ว่าพระตำหนักน้ำพระราชวังบวรฯ ไม่ยอมให้เรียกว่าพระตำหนักแพ เพราะแพไม่มี มีแต่พระตำหนักตั้งอยู่บนหลังคานปลายเสาตะม่อ แต่คนเก่าๆมักพอใจเรียกว่าตำหนักแพวังหน้า เป็นการติดปากติดตามาแต่เดิม ทุกวันนี้ตำหนักแพลอยก็ไม่มีแล้ว แต่เสียงเรียกว่าตำหนักแพก็ยังเป็นพื้นปากของคนเป็นอันมาก ปรากฏอยู่กับหูด้วยกันทุกท่านทุกนายไม่ใช่หรือ เพราะคำที่เรียกว่าตำหนักแพนั้นติดตาคนเก่า ๆ แล้วเคยปากเรียกต่อๆมาจนบุตรหลานที่ไม่เคยเห็นตำหนักแพลอย ก็พลอยเรียกพระตำหนักน้ำเป็นตำหนักแพไปเป็นอันมาก จะขอเล่าเรื่องตำหนักแพวังหลวงต่อไปอีก เดิมในรัชกาลที่ ๑ มีพระตำหนักแพลอยดังที่ว่ามาแล้วนั้น ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ ของทูลกระหม่อมนั้น พระตำหนักแพลอยวังหลวงวังหน้า ก็ยังคงมีอยู่ดังที่ว่ามาแล้วนั้น ครั้งหนึ่งกรมพระราชวังในรัชกาลที่ ๑ เสด็จลงมาประทับที่พระตำหนักแพลอย พร้อมด้วยพระสนมข้างใน เพื่อจะคอยทอดพระเนตรกระบวนกฐินเรือในพระราชวังหลวง ครั้งนั้นฝนตกมาก เกิดลมพายุใหญ่พัดจัดมาแต่ทิศตะวันออกฝ่ายเหนือ มาต้องพระตำหนักแพลอยเสาหัก พระตำหนักแพลอยนั้นลอยตามกระแสน้ำไหลลงไป ฝ่ายข้าราชการช่วยกันเอาพระตำหนักแพลอยเข้าจอดที่ฝั่งได้ตรงหน้าวัดทองธรรมชาติ ขณะนั้นพระสนมนางหนึ่งชื่อชู ทรงครรภ์ถ้วนทศมาสเฝ้าอยู่ในพระตำหนักแพลอยด้วย จึงประสูติพระกุมารองค์หนึ่ง ในพระตำหนักลอยที่หน้าวัดทองธรรมชาติ เพราะเหตุฉะนั้น กรมพระราชวังจึงพระราชทานพระนามพระราชบุตรว่าพระองค์เจ้าเพ็ชรหึง อาศัยเหตุที่ลมกล้าดังเขาว่า ลมเพ็ชรหึงมาพาพัดเอาพระตำหนักแพลอยไป พร้อมด้วยพระสนมที่มีครรภ์ ๆ ก็ประสูติพระกุมารในที่นั้น ความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ๆ จึงไม่โปรดพระตำหนักแพลอย ๆ ที่หน้าพระราชวังหลวงนั้น รับสั่งให้เลิกถอนเสีย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพ็ชรพิไชย (บุญคง) เป็นแม่กองทำพระที่นั่งสามหลังลงที่ริมฝั่งน้ำ ตรงฉนวนน้ำเก่าหน้าพระราชวังหลวงมุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกา แต่มุขหน้าด้านน้ำเป็นมุขซ้อนสองชั้น หน้าบันประเจิดมีฝากระดานรอบสามด้าน ๆ หน้าเป็นลูกกรง พระที่นั่งสามหลังนั้นตั้งบนคานปลายเสาตะม่อคล้ายเรือนแพ พระยาเพ็ชรพิไชยได้เริ่มการทำพระตำหนักน้ำ เตรียมตัวไม้ไว้พร้อมแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมือทำการก็พอสิ้นรัชกาลที่ ๒ ล่วงไปในคราวนั้น ครั้นถึงรัชกาลในปีที่ ๒ ของรัชกาลที่ ๓ นั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้จับการทำพระตำหนักน้ำนั้นต่อไป ได้แล้วเสร็จสำเร็จบริบูรณ์เป็นพระตำหนักน้ำปรากฏขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่บัตรหมายใช่ว่าพระตำหนักน้ำเป็นแน่ ไม่ได้ใช้ว่าพระตำหนักแพ แต่คนเก่าๆนี้เคยได้ยินได้เห็นพระตำหนักแพลอย เคยเรียกติดปากมาว่าตำหนักแพตลอดมาจนไม่มีแพและไม่เห็นแพ ก็ยังงมงายงุ่มง่ามเรียกตำหนักแพต่อๆมา จนชั้นบุตรหลานเหลนซึ่งเกิดมาภายหลังยังไม่ได้เคยเห็นตำหนักแพ ก็พลอยเรียกตามคำโบราณยึดหน่วงเอาเป็นที่ตั้ง ไม่หันเหียนเอาตามบัตรหมายที่ใช้ในราชการต่อๆมา ลางทีข้าราชการในตำแหน่งก็กราบเพ็ดกราบทูลว่าตำหนักแพก็มีชุกชุม ชั้นแต่พระสงฆ์บางพวกก็ถวายพระพร พูดจาถึงเรื่องพระตำหนักน้ำเป็นตำหนักแพไปโดยผิดๆก็มีมาก ไม่กระดากปากเลย อนึ่งท่าจอดเรือพระที่นั่งเหนือพระตำหนักน้ำขึ้นไปหน่อยหนึ่ง ท่านั้นอยู่ตรงประตูเทวาภิรมย์ที่เรียกว่าประตูท่าขุนนาง เนื่องประตูศรีสุนทรลงมา เป็นท่าเรือที่เรียกว่าประตูต้นสนนั้น ขุนนางจอดเข้าเฝ้า คนเป็นอันมากก็เหมาเรียกว่าท่าขุนนาง อย่างนี้ก็ถูกแล้วไม่เถียงเลย เพราะเรือขุนนางจอดที่ท่านั้นเป็นอันมาก ครั้นพิเคราะห์ไปในชื่อท่านั้น ขุนนางพวกใดจะได้เรี่ยไรเงินสร้างเขื่อนและสะพานท่านั้นก็ไม่มีเลย ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ พระตำหนักน้ำและท่าขุนนางก็ยังคงใช้บัตรหมายและเรียกอย่างเดิมเป็นพื้นปาก ดังนี้มีชุกชุมจนสิ้นรัชกาลที่ ๓ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ในปัจจุบันนี้ ได้สั่งช่างให้เปลี่ยนแปลงพระตำหนักน้ำ ทำเป็นอย่างใหม่ ต้องถมที่ก่ออิฐถือปูน ทำเป็นพระที่นั่งที่ประทับริมฝั่งน้ำ ๔ หลังโดยรโหฐาน หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดเต่า มีช่อฟ้าใบระกานาคสะดุ้งหน้าบันประดับกระจก เป็นพระที่นั่งริมฝั่งน้ำแท้ ไม่ได้เป็นดังพระตำหนักน้ำพระตำหนักแพเลย คนเป็นอันมากก็ยังหลงเรียกว่า ตำหนักแพอยู่ร่ำไป ครั้นทำพระที่นั่ง ๔ หลังเป็นตึกเสร็จแล้ว ก็ได้ตั้งชื่อหลังเล็กรีตามน้ำชื่อพระที่นั่งชลังคณพิมาน หลังสูงสองชั้นข้างหลังพระที่นั่งชลังคณพิมานนั้นชื่อพระที่นั่งทิพยสถานเทพยสถิตย หลังใหญ่ข้างเหนือชื่อพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย หลังใหญ่ข้างใต้ชื่อพระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์ มีดังนี้ทั้ง ๔ หลัง ได้ออกประกาศบัตรหมายไปในที่ต่าง ๆ แล้วก็ได้ใช้ชื่อนี้ แต่ในที่ราชการสำคัญไม่ได้เรียกชื่อพระที่นั่งทั่วๆตลอดไป แต่คนเป็นอันมากพอใจร้องเรียกตำหนักแพอยู่ตามคำโบราณ เป็นการหลงละเมอเพ้อเรียกตามเสียงคนเก่าๆเล่าต่อๆมา แต่ท่าขุนนางนั้นเห็นว่าเป็นท่าอันสมควรที่จะมีชื่อ จึงให้ตั้งชื่อของท่านั้นว่าท่าราชวรดิฐ ราชะแปลว่าพระยามหากษัตริย์ วระ แปลว่า ประเสริฐ ดิฐแปลว่าท่าน้ำหรือฝั่งตลิ่งก็ได้ รวมสามคำว่า ราชวรดิฐนั้น แปลรวมๆรวบๆว่าท่าอันประเสริฐแห่งราชการดังนี้ มีปรากฏแน่ แต่ไม่ใคร่จะมีใครเรียกตามชื่อหลวง ยังหลงเรียกอยู่แต่ว่าท่าขุนนางอย่างเก่าๆ เหมือนท่าช้างลงน้ำ ก็มีชื่อหลวงว่าท่าพระ แต่คนชอบเรียกว่าท่าช้าง และไม่ใคร่จะได้ยินใครเรียกว่าท่าพระ เพราะความเพ่งหมายของผู้ที่เรียกท่านั้นไม่เห็นมีวัดอยู่บนบก ไม่เห็นพระลงอาบน้ำที่ท่านั้น ก็สำคัญใจเป็นแน่ดังนี้ จึงไม่อาจเรียกว่าท่าพระ ๆ ก็ใช้แต่ราชการเป็นคราวๆ คงเรียกว่าท่าช้างอยู่ตามเดิม คำนี้ต้องยอมให้เรียก เพราะเขาเห็นช้างลงมาอาบน้ำจริงๆ ซึ่งท่าช้างนี้จะมีชื่อว่าท่าพระนั้น ก็เพราะในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาล ขึ้นไปอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรนั่งสมาธิหน้าตัก ๑๐ ศอกเศษ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดร้างเมืองสุโขทัย แพล่องมากรุงเทพ ฯ จอดที่ท่าช้าง แล้วเชิญพระพุทธปฏิมากรขึ้นที่ท่านั้น แต่พระนั้นใหญ่โตกว่าประตูท่าช้าง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พังกำแพงทั้งประตูขยายให้กว้างเป็นทางที่จะลากพระเข้าไปในพระนครได้ ครั้นลากพระโตไปประดิษฐานในพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามแล้ว จึงโปรดให้ทำประตูที่ทลายให้ดีอย่างเดิม แล้วพระราชทานนามว่าประตูท่าพระ เป็นเดิมดังนี้ แต่ไม่มีใครพอใจเรียกขานชื่อหลวงเหมือนหนึ่งทุกวันนี้ ที่ท่าหน้าศาลต่างประเทศนั้นเรียกกันว่าท่าเตียน ไม่เห็นเตียนเลี่ยนสักหน่อย มีแต่ฝุ่นฝอยและตึกโรงรุงรัง เหตุไฉนจึงเรียกว่าท่าเตียน เพราะมีเหตุขึ้นคราวหนึ่งจึงเรียกว่าท่าเตียน ที่ท่านั้นแต่เดิมในแผ่นดินกรุงธนบุรี เจ้าตากสั่งให้ปลูกโรงใหญ่ๆ ๘ หลังริมน้ำ ไว้เรือรบศีรษะมีดโกนต่อท่าวัดโพธิ์ขึ้นไปจดท้ายประตูแดง ที่ใกล้ๆ ริมๆ โรงเรือ ๘ หลังนั้น เจ้าตาก ห้ามไม่ให้ใครปลูกเหย้าเรือนอยู่ใกล้โรงเรือ เพราะกลัวจะเป็นเชื้อไฟ ที่นั้นจึงเป็นที่กว้างยาว ครั้นถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ มหานครนี้ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) รื้อโรงเรือ ๘ หลังไปปลูกที่บางละมุดแขวงเมืองนนทบุรี แล้วถอยเอาเรือรบทั้งสิ้นไปไว้ในโรงเรือบางละมุด ครั้นรื้อโรงเรือแล้ว จึงโปรดให้เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ซึ่งเป็นตาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเสวตรฉัตร ทำที่นั้นเป็นวังพระราชทานพระเจ้าลูกยา พระองค์เจ้าเสวตรฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ๆ เสด็จอยู่ที่นั้นช้านานจนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เจ้าบุตรหลานของท่านก็อยู่ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ มีเหตุใหญ่เกิดเพลิงไหม้ที่วังกรมหมื่นสุรินทรรักษ์หมดสิ้น เจ้าบุตรหลานก็แยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ที่วังนั้นก็ว่างเปล่าเป็นที่หลวงอย่างเดิม เมื่อไฟไหม้นั้นเตียนโล่งตลอดตีนท่าหน้าวัดโพธิ์ เป็นท่าจอดเรือจ้างข้ามส่งไปวัดอรุณราชวราราม คนเป็นอันมากเห็นว่าที่นั้นเตียนจึงเรียกว่าท่าเตียนมาช้านาน ครั้งหนึ่งได้สั่งให้พระยาเพ็ชรพิไชยเป็นแม่กอง ก่อตึกทำศาลชำระความ ชาวต่างประเทศประชุมชำระที่นั้น ศาลนั้นก็ได้สร้างที่ตรงท่าเตียน และที่ต่อใต้เหนือศาลนั้นก็ได้ก่อตึกเป็นที่อาศัยของคนเป็นราชการหลายหลัง จนที่หน้าท่าเตียนนั้นก็เต็มไปด้วยตึกและโรงร้านตลาดไม่มีที่ท่าเตียนแล้ว คนเป็นอันมากที่ไม่ได้เห็นท่าเตียน ก็ยังคงเรียกว่าท่าเตียนอยู่จนทุกวันนี้ ไม่มีใครเรียกว่าท่าศาลต่างประเทศเลย มีบัตรหมายใช้ราชการอยู่บ้างว่า เรือราชทูตต่างประเทศมาประทับที่ท่าหน้าศาลต่างประเทศจะขึ้นคานหามขึ้นรถแห่ไปทางสถลมารค เข้าในพระบรมมหาราชวัง ดังนี้มีอยู่บ้างเป็นครั้งเป็นคราว ไม่เรียกเป็นพื้นปาก ๆ ว่าท่าเตียนนั้นมากแทบจะทั่วพระนคร แต่ท่าขุนนางวังหน้านั้น เดิมก็ไม่มีใครเรียกว่าท่าขุนนางวังหน้า มีท่าอยู่ท่าหนึ่งตรงประตูวังหน้าท้ายวัดพระแก้ววังหน้า ที่ชื่อว่าวัดบวรสถานสุธาวาสนั้นท่า ๑ เป็นท่าเหนือ พระฉนวนน้ำวังหน้า สักหน่อยหนึ่งไม่มากนัก ที่ท่านั้นมีโรงช้างพลายน้ำมันอยู่ริมท่าโรงหนึ่ง ช้างในวังหน้าก็มาลงน้ำที่ท่านั้นด้วย บางคนก็เรียกว่าท่าช้างวังหน้า บางคนก็เรียกว่าท่าหน้าวัดพระแก้ววังหน้า เป็นสองเสียงอยู่ดังนี้ในรัชกาลที่ ๑, ๒, ๓ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ วังหน้ามีประสงค์จะให้เรือขุนนางจอดที่ท่าช้างเก่า เพราะเป็นท่าใกล้เหนือพระตำหนักน้ำที่สร้างขึ้นใหม่ไม่ไกลนัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจาะกำแพงพระนคร ด้านตะวันตกใต้ปากคลองหลอดเป็นประตูท่าช้าง ให้ช้างลงน้ำที่ท่านั้นก็เป็นท่าช้างวังหน้าต่อๆมา ท่าช้างเก่าวังหน้านั้น ยักย้ายกลายเป็นท่าขุนนางวังหน้าไป แต่ไม่มีใครติดปากเรียกว่าท่าช้างเก่าท่าช้างใหม่เลย เพราะเกรงพระบารมีหาบนที่เขาลือว่าดุร้ายนัก แต่ท่าอื่นๆที่ล่างเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วและมีชื่อแล้ว ใครๆก็ไม่เรียกชื่อใหม่ คงเรียกชื่อเก่าอยู่อย่างเดิม จะเป็นด้วยเหตุอันใดหาทราบไม่

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ