อธิบาย

เมื่อ ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเปิดทางรถไฟสายเหนือตั้งแต่ปากนํ้าโพธิ์ถึงเมืองพิษณุโลก สายตะวันออกถึงเมืองฉะเชิงเทรา ทำพิธีเปิดในบริเวณสถานีกรุงเทพฯ เสร็จแล้วเลยเสด็จไปประพาสเมืองฉะเชิงเทราโดยทางรถไฟ ในการเสด็จไปครั้งนี้ แต่เดิมกะว่าเมื่อประพาสเมืองฉะเชิงเทราแล้วจะเสด็จกลับทางรถไฟเหมือนเมื่อขาไป แต่เมื่อเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองฉะเชิงเทรา เกิดมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรทางคลองแสนแสบ จึงโปรดเปลี่ยนเป็นเสด็จกลับทางเรือ ให้จัดกระบวนเรือที่จะเสด็จกลับขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทราในครั้งนั้น รวบรวมเรือหลวงและเรือของผู้ไปโดยเสด็จบ้าง เรือของข้าราชการในพื้นเมืองบ้าง ทรงเรือมาด “ยอดไชยา” ของกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นเรือพระที่นั่ง เสด็จกลับจากเมืองฉะเชิงเทรามาประทับแรมกลางทาง ๒ คืนเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ การเสด็จกลับครั้งนั้น เดิมทรงจำนงพระราชหฤทัยจะให้เป็นอย่าง “ประพาสต้น” คือ มิให้ผู้ใดรู้ว่าเป็นกระบวนหลวง เพี่อจะได้ทอดพระเนตรการในท้องที่ตามที่เป็นอยู่อย่างไร มิให้มีการตระเตรียม แต่เมื่อกำลังเตรียมกระบวนเรืออยู่นั้น ข่าวแพร่หลายไปได้บ้าง ปิดไม่ได้สนิทดีเหมือนเมื่อคราวเสด็จประพาสต้นในมณฑลอยุธยาและมณฑลราชบุรี เมื่อ ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) แต่ก็เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดการประพาสมาก

ราชบัณฑิตยสภา

วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ