วันที่ ๓๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๖

เมื่อคืนนี้หนาวลักลั่นพิลึก แรกห่มผ้า ๒ ชั้นไม่พอ ครั้นปิดม่านกลับร้อน เลิกเสียชั้นหนึ่งเหลือชั้นเดียว ห่มก็ร้อนไม่ห่มก็หนาว เลยไม่เข้าทีตลอด เช้าได้ความนาฬิกาบอกว่าโมงกับ ๔๐ นาฑีเศษแล้ว ประเดี๋ยวก็จะ ๒ โมง จะนอนไปทำไมตื่นทำสรีรกิจต่างๆ และเรียกผู้คนลงเรือออกเรือเวลา ๒ โมงครึ่ง ค่อนจะอยู่ข้างสายไปสักนิด เป็นนานจึงได้ๆความว่านาฬิกาเขาตั้งผิดชั่วโมง ๑ เวลาที่จดมาแล้วหักเสียชั่วโมง ๑ เป็นได้ความจริง

พอออกจากวัดปากบึงประเดี๋ยวก็เข้าแดนเมืองมีน คลองตอนนี้หน้าตา เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ คือรากไม้เกาะยึดและมีต้นไม้ริมคลองมากขึ้น มีบ้านเรือนรายมาจนถึงหนองจอก เป็นหมู่ใหญ่ เรือนฝากระดานหลังโตๆ หน้าตาบางกอกออกไปถึง มีหลังคามุงกระเบื้องเฟอแรนโด เห็นวัดสักวัดเดียวเท่านั้นเพราะแถบนี้เป็นบ้านแขก คือแขกพวกหลวงอุดมทีเดียวมิใช่อื่นไกลเลย เห็นกองเข้าลานนวดเข้ากำลังนวดอยู่บ้าง ร่องรอยแห่งความบริบูรณ์ปรากฏผิดกันกับข้างตอนฉะเชิงเทรามาก ผักตบชะวาได้สางแล้วแต่ยังเหลือมาก ท่วงทีในทางถ้าจะเล่นนกเห็นจะสนุกแน่ ตามริมคลองเลี้ยงเป็ดไทย เป็ดเทศ ไก่ นกพิราบตลอด ทั้งนี้คงเป็นวิสัยแขกเพื่อจะเชือดง่าย ในเรื่องเชือดคออย่างแขก มันก็มีดี ที่ได้กินอาหารสด แต่ถ้าบทร้ายก็ร้ายมาก เล่ากันว่า เมื่อเวลาไปยุรปคราวนี้ พวกเมืองมีนเมืองธัญญ์พากันเจ็บเป็นโรคคล้ายเปล๊กตายมาก แต่สังเกตว่าฉะเพาะตายในพวกแขกมากกว่าไทย แต่เมื่อพิจารณาตรวจตรากันเข้าได้ความว่ามิใช่โรคเปล๊ก เป็นโรคที่เกิดขึ้นในฝูงสัตว์โคกระบือ พอเจ้าของรู้ว่าเจ็บก็ขายให้แขกๆก็มาเชือดกิน คนที่กินแรกนั้นไม่มีรอดเลยแต่สักคนเดียว ส่วนคนที่พยาบาลกันตอนต้นตายบ้างรอดมาก แต่พยาบาลชั้นที่ ๓ ไม่มีใครตายเลย เป็นด้วยพิษโรคที่เกิดจากสัตว์อย่างเดียว.

กินเข้าต้มกุ้งแล้ว ถึงตำบลคู้มีสุเหร่าใหญ่ดูเป็นกำลังบริบูรณ์ บ้านเรือนผู้คนเต็มตลอด แถบนี้ดูมีไทยมากขึ้น มีเจ็กขายหมู ได้เรียกมาถามได้ความว่าเป็นเมืองมีน เจ๊กคนนี้รับวันละตัว ราคานั้น ๕๐ บาทขึ้นไปหา ๖๐ ว่าแพง เพราะไม่ใคร่มีหมู เป็นหมูโรงสี ขายชั่งละ ๒ สลึง ๒ ไพ ประเดี๋ยวก็ถึงวัดพบกรมดำรง และพระยาสุขุมอยู่ที่นั่น ได้ความว่าอีกชั่วโมงเดียวจะถึงเมืองมีน เขากะอย่างโอ็ะๆ ให้เดิรช้าๆ ที่จริงจะตื่นสัก ๔ โมงแล้วจึงมาก็ทันไปนอนเมืองมีน แต่แกขึ้นไปดูวัดขึ้นทางตะพานการเปรียญแล้วไปโบสถ์ เป็นชิ้นใหม่อย่างเอกพึ่งแล้ว ๘ ปีเท่านั้น ได้ความว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจาริย์ออกมาผูกสีมาตั้งชื่อว่า วัดทรัพย์สโมสรนิกรเกษม เพราะผู้ที่สร้างนั้นเป็นยายทรัพย์คนหนึ่ง ใบวิสุงคาม ปลวกกินยับเยิน ได้รับว่าจะทำให้ใหม่ ใบเดิมลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๘ สมภารอยู่ข้างจะปากคอเราะรายและบอกว่าบริบูรณ์ดี ออกจากวัดนี้เวลา ๕ โมงหลวง ๔ โมงราษฎร์ ไม่ช้านักผ่านบ้านแขกและสุเหร่าแขกอีก ๒ แห่งถึงแสนแสบตอนนอกนี้ไม่สู้มีบ้าน แลเห็นที่ตั้งการปกครองแต่ไกล ต้นแถวโรงพลตระเวนทาดินแดงตามเคย ถัดไปตะราง ๆ ทำใหญ่โตแน่นหนาดีกว่าที่ไหนๆ ในหัวเมืองเป็นอันมาก แต่ไม่มีคนโทษมีแต่คนที่อยู่ในระวางพิจารณา ๗ คน เพราะไม่มีศาล ถัดไปเป็นที่ว่าการเมืองแล้วจึงบ้านเจ้าเมืองบ้านปลัดเมือง ออกจะตามเคยอย่างเมืองธัญญบุรี แต่ที่หน้าที่ว่าการเหล่านี้ยังไม่มีถมดิน มีถนนขึ้นจากน้ำสายหนึ่งตรงหน้าบ้านผู้ว่าราชการ ถนนขวางสายหนึ่ง ตั้งแต่ประตูบ้านผู้ว่าราชการเมืองไปถึงโรงพลตระเวน เพราะที่นึ่ไม่มีศาล เมืองไม่มีกำลังที่จะทำอะไรได้ เรือเข้าในคูตรงหน้าบ้านผู้ว่าราชการเมือง จอดที่หน้าเรือนเก่าของเจ้าชายงาม เป็นเรือนเครื่องผูกเลวๆ แต่สบายดีกว่าเรือนฝากระดานอีก ทำกับเข้าที่แคร่ริมคูในเงาต้นไผ่ แต่มากินกลางวันบนเรือน เวลาเย็นไปดูเรือนผู้ว่าราชการ แล้วลงเรือไปดูคลองสามวา คลองสามวานี้เป็นของกรมภูธเรศขุด แต่เดี๋ยวนี้ใหญ่กว่าสามวามาก ขุดก่อนบริษัทขุดคลอง ข้างเหนือขึ้นไปจดคลองหกวาสายใต้ ข้างใต้เรียกว่าคลองนุ่นไปจดคลองสองที่พระยามหาโยธาขุด คลองนี้ได้ร้างไป ๒ ปี เดี๋ยวนี้มีคนทำนาตลอด มีเรือชะล่าบรรทุกเข้าเปลือกจอดหลายสิบลำ ว่าลงตามคลองซอยของคลองสามวานี้เอง ที่สี่แยกนี้เป็นตลาด มีบ้านเรือนคนมาก นับว่ามากกว่าตำบลอื่นในเมืองนี้ ได้เห็นเจ๊กทำหมูต้องไปหยุดดู กลับมาทำกับเข้าที่เก่าและมากินบนเรือนเหมือนกัน ในเรือออกร้อนเพราะเข้าไปจอดอยู่ในอู่.

  1. ๑. กระเบื้องสิเมนต์ที่ชอบใช้กันเดี๋ยวนี้ ผู้คิดทำขึ้นขายเป็นฝรั่งอิตาเลียนชื่อฟารันโด เมื่อแรกมีจึงเรียกกันว่า กระเบื้องฟารันโด

  2. ๒. แขกมะลายูเข้ามาเมื่อคราวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ เป็นแม่ทัพยกออกไปปราบกบฏเมืองไทรในรัชชกาลที่ ๓ มีเรื่องปรากฏอยู่ในรายงานหลวงอุดมสมบัติ ซึ่งได้พิมพ์แล้ว ตรัสอ้างถึงรายงานนั้น

  3. ๓. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ริด) วัดอรุณ

  4. ๔. หม่อมเจ้าชายสง่างาม สุประดิษฐ

  5. ๕. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ซึ่งได้ทรงบัญชาการกระทรวงนครบาลอยู่ครั้ง ๑

  6. ๖. พระยามหาโยธา (นกแก้ว คชเสนี) ขุดคลองเมื่อยังเป็นที่พระยาดำรงราชพลขันธ์ ผู้ว่าราชการเมืองนครเขื่อนขัณฑ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ