วันที่ ๓๐ มกราคม ร.ศ. ๑๒๖
ออกเรือ ๒ โมงกับ ๑๙ นาฑี เข้าประตูนํ้าไม่ช้า เหตุด้วยเป็นเวลานํ้าขึ้น เปิดนํ้าไม่ถึงศอกได้ระดับ ตามทางแต่งเครื่องบูชาเสียแล้ว ข้อที่กรมมรุพงศ์๑ คิดจะปิดนั้นไม่มิดจนพลวกนํ้าในคลองจับตลิ่งเป็นตะไคร่เหตุด้วยนํ้าขัง มีเรือนฝากระดานรายๆ ไปมาก ระยะต้นนี้ที่มากที่สุดบ้านท่าไข่ หมู่ที่ ๙ พื้นเป็นท้องนามีสะแกราย ๕ โมงเช้าหยุดวัดสงสาร ท่าครัวที่ศาลาริมน้ำ๒ มูลเหตุแห่งชื่อวัดสงสารว่ามีกะฏิหลังเดียว ราษฎรศรัทธามาสร้างเพิ่มเติม สงสารจริงๆ ปีติ ไม่ใช่สังสาเร กรมดำรงโจทย์ขึ้นว่าถ้าจะเติมหน้าชื่อว่าวัดแสนสงสาร พระจะเอาหรือไม่ เราเป็นผู้ตอบแทนพระว่าไม่เอา จะเอาสุดสงสาร เพราะได้ทั้งสังสาเรด้วย ออกเรือบ่าย ๒ โมง อันที่จริงมีลมไม่สู้ร้อน วัดสงสารนี้อยู่ตำบลเนื่องเขตต์ เห็นจะยืมมาจากท้ายชื่อคลองนคร (เนื่องเขตต์)
พ้นจากวัดสงสารมาไม่เท่าไรถึงตำบลเรียกว่าสี่แยกท่าไข่ มีเรือนโรงปลูกติดๆ กันตลอดจนมีตลาดขายเครื่องชำและของสด ที่ท้ายตลาดพบเรือขุดคลองได้หยุดเรือให้เขาเปิดเครื่องดู เครื่องนี้เป็นอย่างที่เรียกว่าเดรดยิงหรือที่กรมคลองเรียกว่าชำระคลอง ไม่ใช่ขุด ถังตักอย่างเครื่องขุดธรรมดา แต่ข้างเทนั้นมีท่อเหล็กวางบนทุ่น เหล็ก ๒ ทุ่นเป็นท่อนๆ ต่อกันไปขึ้นตลิ่ง เครื่องจักร์พ่นน้ำเลนขึ้นบนตลิ่ง มีไหลกลับลงมาที่ริมท่อนั้นเองเสมอ บางทีก็หักออกทางอื่น ต้องเอะอะเอากระดานกั้น ฝรั่งผู้เป็นนายงานแก้ว่าที่แห่งนั้นตลิ่งข้างในสูง โคลนจึงได้ไหลกลับออกมามาก ถ้าทำการอย่างดีได้เป็น ๘๐ เมเตอร์ใน ๒๔ ชั่วโมง แต่เรือลำอื่นที่มีกำลังมากกว่านี้ทำได้มากกว่า ซึ่งจะได้เห็นต่อไปข้างหน้า เครื่องอันนี้ถ้าตลิ่งสูงเป็นอันทำอะไรไม่ได้ แต่คลองที่ปิดแล้วเช่นนี้ตลิ่งไม่สูงถึงศอกหนึ่ง ยังร้องว่าลำบากเสียแล้ว
มาถึงนํ้าเปรี้ยวพบเรือขุดอีกลำหนึ่งเหมือนลำก่อน แต่พื้นที่ๆขุดผิดกัน คือเป็นที่มีคันคลองสูงประมาณคืบเศษ ข้างในเป็นแอ่งนํ้าขัง เครื่องตักๆขึ้นมาแต่โคลนเหลว ปลายท่อไปเทลงที่ในรางไม่ไหลกลับลงในลำคลอง คลองตั้งแต่ตอนที่ขุดมาแล้วลึกแจวเต็มด้ามพาย ตอนนอกตื้น ถัดมาหน่อยมีวัดเบลเลวื๓ มีช่อฟ้าผอมๆ ก้มชำเลืองกะฏิมาก
ออกจากวัดสงสารมาไม่ถึง ๓ ชั่วโมง ถึงสามแยกคลองนครเนื่องเขตต์ ที่นี้พื้นตํ่าแลเห็นดินปริ่มๆนํ้า เพราะเป็นหนองนํ้าตื้นมาก ถัดมามีตลาดอีกตอนหนึ่งมาถึงวัดปากบึง ซึ่งท่านเล็ก๔เลือกไว้สำหรับพัก บ่ายไม่ทันถึง ๔ โมงมาเร็วมากเพราะเรือแจวเดิรนัก มาตามทางผ่านเรือขุดอีก ๒ ลำรวมเป็น ๔ รวบรวมใจความว่าไม่ชอบทำการช้าและดูจะเปลืองมาก ที่วัดนี้มีโบสถ์ฝาก่ออิฐแต่อยู่ในกลางบึง ซึ่งนํ้าแห้งดินแตกระแหงแต่ยังแลเห็นบัวอยู่ มีสิ่งซึ่งเป็นที่สังเกตคือหอจัตุรมุขซึ่งทีเหมือนหอไตรย แต่อาจจะเป็นพระบาทก็ได้ เพราะไม่มีหนังสือไว้เป็นอันขาด ไม่มีถนนเลย มีพระอยู่แต่ ๓ รูปครึ่ง คือตาบอดเสียองค์ ๑ ทำกับเข้าและกินเข้าบนการเปรียญ พระองค์สายหมอใหญ่พระยาสุขุม๕มาแต่พระยาสุขุมรีบกลับไปเพราะเขาจัดรับไว้ที่วัดตึก ตกลงเป็นจะไปหยุดที่เมืองมีน จึงต้องไปคิดอ่านลากเรือนํ้าจากวัดตึกมาเมืองมีน หมอสายมาอนุโมทนาว่าผักตบหมดคลองไปแล้ว มาแถบนี้ยังมีที่ว่างมาก มีตัวแมลงมาก แต่ยุงน้อยกว่าบางกอก ความจริงยังไม่เคยกัด แต่เขาว่ามี ข้อกันดารของคลองนี้เรื่องนํ้าจืด มีประตูเสียนํ้านอนคลอง แต่ใช้ไม่ได้ด้วยขุ่นค่น ชาวบ้านเขาใช้นํ้าบ่อ
ความจริงคลองท่าไข่เลี้ยวอ้อมไป คลองที่มาตั้งแต่สามแยกเป็นคลองนครเนื่องเขตต์ พระชลธาร๖เป็นนายงาน เจ้าพระยาสุรวงศ์ (วอน) จัดการให้ขุด เรือเดิรทางนี้มากกว่าทางอื่น เพราะเป็นทางตรงไปฉะเชิงเทรา แต่คลองบางขนาก ก็แลเห็นไม่สู้ไกลนัก ปากคลองออกเหนือฉะเชิงเทรามากไป.
-
๑. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์ เป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจิน ↩
-
๒. เวลาเสด็จประพาสต้นทรงทำครัวเครื่องเสวยเอง ↩
-
๓. Belle Vue ↩
-
๔. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ↩
-
๕. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์กับหม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ผู้บุตร และพระยาสุขุมนัยวินิต (ซึ่งภายหลังเป็นเจ้าพระยายมราช) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ↩
-
๖. พระชลธารวินิจจัย (ฉุน) เจ้ากรมคลอง ↩