๑
๏ ข้าพระพุทธเจ้าหลวงสารประเสริฐ ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเปนพระยาศรีสุนทรโวหารญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตย์ ภักดีพิริยพาห คิดคำกลอนเรื่องนี้ เรียกชื่อว่า นิติสารสาธก คือ เทียบแบบสอนตั้งแต่มูลบทบรรพกิจไป เพื่อไว้สำหรับนักเรียนในโรงหลวง จะได้อ่านเล่าจำต้นข้อต่อลำดับในแบบสอน ให้แม่นยำชำนาญ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าดำรัสสั่งให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ ลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง ในพระบรมมหาราชวัง ๑๐๐๐ ฉบับ ตีเสร็จณวันพฤหัศบดี เดือนหกแรมสี่ค่ำ ปีระกา เบ็ญจศก ศักราช ๑๒๓๕ หนังสือนี้ได้จ่ายใช้ราชการสิ้นไป เจ้าพนักงานกรมศึกษาธิการ ได้จัดพิมพ์ขึ้นใช้ราชการต่อๆ ไป จนถึง ศก ๑๑๘ เปนครั้งที่สาม ๚ะ
๏ ข้าพระพุทธเจ้า | หลวงสาร ประเสริฐแฮ |
โดยราชภิธานขนาน | โปรดตั้ง |
ปลัดทูลฉลองขาน | ตำแหน่ง |
คิดอักษรกลอนทั้ง | เทียบเบื้องแบบสอน ๚ะ |
----------------------------
๏ ยุบลระบอบนี้ | นามยก |
นิติสารสาธก | เทียบไว้ |
สำหรับส่ำโบดก | เดกร่ำ เรียนเฮย |
บอกนับลำดับได้ | เรื่องรู้ครูเดิม ๚ะ |
----------------------------
๏ น้อมกายขอถวายอภิวาท ไหว้บัวบาทพระสุคตหมดตัณหา พระไทยหนักเพียงหนึ่งหลักล้วนศิลา ไม่เคลื่อนคลอนผ่อนหาโลกามิศ พระปัญญายิ่งใหญ่เป็นไตรยเหตุ ฆ่ากิเลศให้รำงับดับสนิท ไม่กลับหาญราญรอมาต่อฤทธิ์ มอดม้วยมิดไม่มามัวกลั้วสันดาน นบสัทธรรมที่พระนำพระแนะสอน ล้วนสุนทรหนักแน่นเปนแก่นสาร ปริยัติปฏิบัติสองประการ อีกมรรคผลนฤพานครบไตรย์พิธ สามสิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องแผ้ว ประทีปแก้วส่องสว่างกระจ่างจิตร กำจัดหมู่โมหันธ์อันมืดมิด ให้เปลื้องปลิดปลดบำราศขาดสันดาน ขอเคารพอัษฎาริยะสงฆ์ แปดพระองค์สี่คู่เคียงขนาน สราพกพระดิลกโลกาจาริย์ ลุโลกุดดรญาณล่วงโลกีย์ ไหว้พระคุณบิดามาตุเรศ อันก่อเกษเกิดสกนธ์เกษมศรี ถนอมเลี้ยงทุกทิวาแลราตรี จนอินทรีย์แก่กล้ามาทุกวัน คำนับครูผู้ประสิทธิ์ในกิจชอบ ท่านประกอบสั่งสอนทุกสิ่งสรรพ์ ได้รอบรู้วิทยาสาระพัน พอเทียมทันเพื่อนบุรุษไม่ทรุดทราม บังคมคุณบุญเบื้องบทรัช พระจอมจุลจักรพรรดิพงษ์สยาม ทรงพระเดชดินกระเดื้องเรืองพระนาม นิคมคามทุกประเทศเขตรนคร พระปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ เสนามาตย์แสนศุขสโมสร ได้ขาดเข็ญเย็นทั่วแผ่นดินดอน เดชขจรปกแผ่แพร่พระคุณ ขอนบไทยทวยเทพทุกสฐาน เนาพิมานเมืองแมนแดนเขาฃุน จงส่องทิพย์ไนยนาด้วยการุญ อวยอะดุลย์พรพิพัฒน์กำจัดไภย จะริเริ่มเรื่องอักษรเปนกลอนกาพย์ ฃอได้ทราบราวทางสว่างไสว ปรีชาเชาวน์เคล่าคล่องว่องไว ฃอจงให้พริ้งเพราะเสนาะกลอน เรื่องนี้นามนิติสาระสาธก คือหยิบยกยนต์แยบในแบบสอน ทั้งลำดับต้นข้อต่อสุนทร พอเดกอ่อนจะได้อิงพิงนิพนธ์ ถ้าหมั่นเล่าหมั่นจำสำเหนียกแน่ ในข้อความตามกระแสตั้งแต่ต้น คำลิกขิตติดต่อข้อยุบล อะนุสนธิ์สืบเรื่องเนื่องนุกรม เริ่มศึกษาในตำราบรรพกิจ ให้เจนจิตรทีละน้อยค่อยประสม คงจะเปรื่องปรีชาอย่าปรารม จงนิยมคำเค้าสำเนากลอน กุมารามาเรียนในโรงหลวง สิ้นทั้งปวงอุส่าห์จำจะพร่ำสอน ที่เรียนรู้รู้ให้แท้จงแน่นอน จะได้ผ่อนผันเพียรเรียนต่อไป ที่เล่าเขียนเรียนรู้ให้ครูสอบ ครูว่าชอบแล้วจงควรไม่สงไสย ครูสอนสั่งอุส่าห์ทำอย่าจำใจ มิใช่ไพร่ล้วนแต่เหล่าเผ่าผู้ดี ควรจะเสาะศึกษาวิชาหัด ให้เจนจัดรอบรู้ได้ชูศรี ถ้าตั้งใจใฝ่ผันทุกวันทวี สักขวบปีก็จะเปรื่องกระเดื่องแดน อย่าเกียจคร้านการเรียนเร่งอุส่าห์ มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน จะตกถิ่นถานใดคงไม่แคลน ถึงคับแค้นก็พอยังประทังตน อันความรู้ๆกระจ่างถึงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล อาจจะชักเชิดชูฟูศกนธ์ ถึงคนจนพงษ์ไพร่คงได้ดี เกิดเปนชายชาวสยามตามวิไสย หนังสือไทยก็ไม่รู้ดูบัดศรี ต้องรับอายขายหน้าทั้งตาปี ถึงผู้ดีก็คงด้อยถอยตระกูล จะต่ำเตี้ยเสียชื่อว่าโฉดช้า จะชักพายศลาภให้สาบสูญ ทั้งขายหน้าญาติวงษ์พงษ์ประยูร จะเพิ่มพูลติฉินคำนินทา หนึ่งหนังสือฤาตำหรับฉบับบท เปนของล้วนควรจดจำศึกษา บิดรปู่สู้เสาะสะสมมา หวังให้บุตรนัดดาได้ร่ำเรียน จะได้ทราบบาปบุญทั้งคุณโทษ ปะบุตรโฉดต่ำช้าก็พาเหียร ไม่สมหวังดังบิดาปู่ตาเพียร เนิ่นจำเนียรแพลงพลัดกระจัดกระจาย อนึ่งสารกรมธรรมเปนหลักทรัพย์ ก็สำหรับย่อยยุบบุบถลาย เขาจะแปลงปลอมเปลี่ยนเขียนอุบาย อ่านไม่รู้แยบคายก็เสียคน ถึงจะวานท่านผู้อื่นเขาอ่านให้ มันก็ไม่หมดดำคล้ำฉงน เขาต่อแต้มแนมแอบเปนแยบยนต์ เข้าตาจนไม่รู้จักอักขรา หนึ่งแม้นใครเขาจะวานอ่านตำหรับ จะอ้าปากงับๆดูขายหน้า ต้องตอบขานหว่านล้อมด้วยมารยา เอาวาจากันตัวด้วยกลัวอาย หนึ่งเรื่องไรซึ่งจะใคร่รู้ประจักษ์ ข้อสลักสำคัญที่หมั่นหมาย อ่านไม่ออกอั้นอ้นจนอุบาย ก็คลาศคลายแคล้วของที่ต้องการ โดยอย่างต่ำปะคำเขาเขียนด่า ไม่รู้จักอักขราจะตอบขาน ก็ท่าจนทนรับอัประมาณ ดูโฉดช้าสาธารณ์ไม่เทียมคน ถ้าพากเพียรเรียนไว้ได้ตระหนัก จะประจักษ์คุณโทษประโยชน์ผล แม้นรอบรู้ๆทั่วอย่ากลัวจน จะชูตนให้ดำรงอย่าสงกา อันการรู้อ่านอักษรทั้งกลอนกาพย์ ละเอียดหยาบตื้นฤกตามศึกษา มีคุณเลิศเหลือล้นคณนา เปนต้นทางปัญญาวิชาชาย พระบาทพระปรมินทร์ปิ่นสยาม โดยพระนามอยู่เกล้าเราทั้งหลาย ทรงมหากรุณาไม่คลาคลาย แก่เดกชายบุตรนัดดาข้าลออง หวังจะให้เรียนรู้ได้ฟูเฟื่อง ให้ปราชเปรื่องแดนดินสิ้นทั้งผอง ทรงสู้เสียราชทรัพย์อเนกนอง พระไทยปองจะให้เปนประโยชน์คุณ แก่บุตรหลานเหล่าเสวกามาตย์ ให้ฉลาดเฟื่องฟื้นทุกหมื่นขุน ด้วยกำลังพระเมตตากอบการุญ พระเดชคุณเกลี่ยเกล้าเราทั้งมวน โปรดให้ตั้งโรงสะกูล์มีครูสอน ทั้งบทกลอนการกระวีมีครบถ้วน พวกนักเรียนรู้เรื่องอย่าเรรวน ทุกคนควรคิดคะนึงถึงพระคุณ จงตั้งใจศึกษาวิชาหัด ให้ชาญชัดเชิดชื่นทุกหมื่นขุน ค่อยตั้งติดเติมต่อดังก่อกุณฑ์ จะสบสุนทรอัดถ์สวัสดี อันแบบเรียนที่หนึ่งพึงกำหนด มูลบทบรรพกิจถ้วนถี่ ถัดมาวาหะนิติ์นิกรมี แล้วถึงที่แบบสามตามนุกรม นามตระหนักว่าอักษรประโยค ที่สี่ชื่อสังโยคพิธานสม กับเสริมใส่ไวพจน์พิจารณ์ระดม นับนิยมรวบเข้าตามเค้ามูล
ที่ห้านั้นพิศาลการันต์บท จงจำจดชื่อไว้อย่าให้สูญ ยังที่หกยกเติมเข้าเพิ่มพูล นอกประมูลบานพะแนกแยกออกมา แบบนั้นชื่ออะนันตะวิภาค มีหลายหลากถ้วนถี่ดีหนักหนา นี่แบบเรียนต้องจำเปนตำรา ลำดับมาเท่านี้มีสำคัญ นับเรียงตั้งแต่หนึ่งจนถึงหก นี่หยิบยกย่อๆพอจำมั่น จะธิบายบอกคำที่รำพัน มูละนั้นแปลว่ารากแรกพากเพียร คำว่าบทนี้ว่าแบบที่สอนศิษย์ บรรพกิจก็คือการที่อ่านเขียน เปนกิจจำทำก่อนได้ผ่อนเพียร พวกนักเรียนจำแปลให้แน่ใจ บทที่สองตรองตฤกนึกจงแน่ จะบอกแปลให้กระจ่างสว่างไสว วาหะนิติ์ว่าตำราพานำไป อักษรใดเสียงต่ำก็นำจูง สูงสิบเบ็ดนำถ้วนจำนวนนับ ต่ำก็กลับมีเสียงสำเนียงสูง เพราะอักษรตัวน่ามาพะยูง เช่นคนจูงมือกันขึ้นชั้นบน ถัดมาว่าด้วยแบบบทที่สาม จะแจ้งความตามต่อข้อนุสนธิ์ ว่าอักษรสองประกอบก็ชอบกล คือคลุกเคล้าเข้าปนสำเนียงกัน ชื่อสังโยคะพิธานแบบที่สี่ ว่าวิธีตัวสกดได้จัดสรร มีทุกแม่แต่ละอย่างต่างต่างพรรณ์ แบบที่เติมเพิ่มนั้นคือไวพจน์ กับท้ายคำว่าพิจารณ์ขนานสร้อย หนูน้อย ๆ ฟังคำเร่งกำหนด แปลว่าตรวจคำเปลี่ยนที่เพี้ยนพจ คือจำจดคำละม้ายคล้ายสำเนียง แบบพิศาลการันต์ที่ครบห้า นั้นแปลว่ากว้างขวางทางงดเสียง อักษรเดิมเพิ่มท้ายมีรายเรียง ท่านเขียนเคียงไว้ไม่อ่านพานจะชุม แบบอะนันตะวิภาคที่ครบหก จะหยิบยกย่อ ๆ ข้อศุขุม จำแนกคำสาธกที่ปกคลุม จัดควบคุมเข้าเปนหมวดแล้วตรวจตรอง ถ้ารวบแปลว่าไม่มีที่สุดแจก ถ้าจะแยกบทนั้นปันเปนสอง อะนันตะคำต้นวิภาครอง ตามละบองบาฬีเปนที่อิง อนันตะว่าไม่มีที่สุดจบ วิภาคว่าแจกขนบนับทุกสิ่ง นี่คิดข้อไขแสดงออกแจ้งจริง ใช่ประวิงว่าเล่นพอเปนกลอน เท่านี้หนอควรจำเปนตำหรับ แปลฉบับชื่อบทในแบบสอน จะขยายแยกความตามสุนทร กลับว่าย้อนแยบยนต์แต่ต้นมา จัดเปนข้อคำสอนควรศึกษา เล่านโมติดต่อกับออา ตลอดมาจนถึงอะสระไทย ท่านมักว่ามาแต่สังสะกฤตย์ ข้อลิกขิตคำบุราณท่านขานไข แต่เห็นชัดมาข้างเสียงสำเนียงไทย เดิมอย่างไรจะเปนแท้ไม่แน่นอน นโมนั้นแปลว่าความประนามพระ พุทธายะเพื่อจะรู้ที่ครูสอน สิทธํฃอสำเหร็จที่สรวมพร ครูจะสอนลงประสิทธิ์วิทยา เล่าก ข ต่อถึงพยัญชะนะ นับจังหวะวรรคตอนย้อนเข้าหา เปนหกตอนผ่อนนับเรียงกันมา อักขรารวมสี่สิบสี่คง แล้วแบ่งคัดจัดไว้เปนไตรยางษ์ คือเสียงสูงต่ำกลางอย่าใหลหลง สูง ๑๑ กลาง ๙ เล่าให้ตรง เสียงต่ำลง ๒๔ มีสำคัญ อักษรสูง ข ฃ ฉ ฐ ถ ทั้ง ผ ฝ ส สามท่านจัดสรร กับตัว ห ต่อบันจบพอครบครัน เปน ๑๑ เท่านั้นสูงสำเนียง อักษรกลาง ก จ ฎ ฏ สอง วรรคกับบปปองว่ากลางเสียง อีกตัว อ ครบเก้าเล่าเรียบเรียง ก็พอเพียงที่จะจำให้ชำนาญ อักษรต่ำกำหนดนับเถิดพ่อ ค ฅ ฆ ง ท่านบรรหาร ช ซ ฌ ญ ต่อเทียบทาน ฑ ฒ ณ สองวารด้วยสองวรรค อีกทั้ง พ พ แล ภ ม ย ร ล ว ต่อประจักษ์ ทั้ง ฬ ฮ พอถ้วนจำนวนวรรค ยี่สิบสี่นี้ชักต่ำสำเนียง ในอักษรสามหมู่รู้ให้ชัด เล่าประหญัดลดหย่อนผ่อน ๆ เสียง ให้ถูกบทแบบระเบียบที่เทียบเคียง นี่จัดเรียงเรื่องนับลำดับกัน ถัดนี้ไปให้รู้วรรณยุต แต่เอกโทไปจนสุดไม้กังหัน ได้ชี้ชื่อตัวอย่างต่าง ๆ พรรณ แจ้งสำคัญอยู่ในแบบฉบับเรียน กระบวนใช้ต่างกันวรรณยุต กุลบุตรจงวิจารณ์จะอ่านเฃียน ให้ถูกต้องตามแบบจงแนบเนียน แล้วจึ่งเพียรเรียนข้อต่อขึ้นไป ลำดับนี้ถึงที่ถิ่นสระ ซึ่งควรจะแจกแม่กกาได้ นับแต่ อ คนถึงอะสระไทย ก็พอได้เสียงสิบห้าตำราตรง ประสมกับพยัญชะนะในหมู่สาม ออกเสียงตามตัวสระที่ประสงค์ เมื่อเล่าแจกแยกถ้วนกระบวนลง แล้วก็จงผ่อนผันหันสำเนียง อักษรสูงผันสามตามตำหรับ ไม้เอกกับโทชักตระหนักเสียง คือว่า ข ข่ ข้ ต่อๆ เคียง เว้นแต่เสียงสั้นสี่ที่คำตาย คือ ขิ ขึ ขุ ขะ รัศสะแท้ จะผันแปรก็ไม่เคลื่อนเลื่อนขยาย เหมือนสัตวนิ่งกลิ้งทอดเมื่อวอดวาย อันคำตายเช่นกันฉนั้นจริง อักษรกลางทางผันนั้นเปนห้า เอกโทตรีจัตวาครบทุกสิ่ง ก ก่ ก้ ก๊ ก๋ พออ้างอิง ต้องงดทั้งสี่คำเช่นรำพรรณ อักษรต่ำตำหรับบังคับไข ให้แจ้งใจแนะนำที่คำผัน เอกกับโทท้าเสียงอยู่เคียงกัน ค ค่ ค้ พอสำคัญผันเปนตรี ออกสามเสียงเช่นกันฉนั้นหมด แต่ต้องงดคำตายหมายได้สี่ คือ คิ คึ คุ คะ รัศสะมี คำคงที่ผันไม่ออกบอกไม่พราง หนึ่งไม้ม้วนจำนวนยี่สิบทัศ ได้แจงจัดถ้วนทั่วเปนตัวอย่าง แม้นเล่าทำจำได้ที่ไว้วาง จะกระจ่างแจ่มใจในวิธี แม่กกาคำม้วยทั้งสามหมู่ พิเคราะห์ดูโดยขบวนถ้วนถี่ ไม่ควรใส่ไม้ออกทั้งโทตรี แต่เสียงมีต่างในตัวทั่วกันไป เหมือนจักขุไฟคุแลฉะชะ อิกแป๊ะซะบ่อสระหละละไข หยิบมาว่าย่อ ๆ พอเข้าใจ รู้เลศไนยแยบคายคำตายมี ลำดับถัดคัดเรื่องเข้าเรียงเรียบ อือคำอ่านทานเทียบทางวะสี ภู่สุนทรโวหารชาญกระวี ท่านได้แต่งเรื่องนี้ไว้นมนาน เรื่องพระไชยสุริยา ก กา กน เรียงไปจนแม่เกยจบคำขาน เปนลำนำคำกลอนสอนกุมาร พอได้อ่านฬ่อใจได้ปัญญา อักษรถ้วนจำนวนสี่สิบสี่ ทั้งวิธีล้ำฦกที่ศึกษา รวมสระเข้ากันกับพยัญชะนา แจก ก กา เล่าผันสรรสำเนียง ก็ยังไม่พอใช้คำไทยหมด ต้องคิดจัดตัวสกดประสมเสียง เปนกน กง กก กด กบ กม เรียง ที่สุดเพียงแม่เกยเปรยพิปราย ในกระบวนตัวสกดกำหนดแน่ ถ้าใช้แต่คำไทยก็ไม่หลาย กนสกดตัวนอข้อธิบาย นับเรียงรายแม่กงสกดงอ กก กอ กด ด บอ แม่กบ ต่อบันจบแม่กมตัวมอหนอ แม่เกยนั้นรวมทั้ง ย ว อ แจกแต่กอไปจนจบครบจำนวน แม่กนกงกมเกยสี่หมู่นี้ เอกโทตรีจัตวามาผันผวน เปนอักษรห้าสามตามกระบวน ที่ไม่ควรผันทำแต่คำตาย ในแม่เกยมีแปดกำหนดนับ เกืยะเกือะกับเกอะกัวะเกะแกะหมาย อีกโกะเกาะเราะเสียงเรียงๆราย ล้วนคำตายผันไม่แปลกแตกสำเนียง แม่กกกดกบบันจบด้วย เปนคำม้วยผันผายไม่กลายเสียง ไม้เอกโทห้ามขาดอย่าเขียนเคียง ชักสำเนียงใช้ได้แต่ไม้ตรี กับไม้หนึ่งสมญากากะบาท เห็นนักปราชใช้มากเปนสากษี ตัวสกดซึ่งกำหนดในวาที ดังเช่นว่ามานี้ใช้คำไทย ยุบลบทตัวสกดซึ่งเปลี่ยนแปลก จัดย้ายแยกอย่างโบราณท่านขานไข คือสำหรับกับภาษาอื่นๆไป จะแจกไว้ในสังโยคะพิธาน จัดได้ถ้วนตามจำนวนตัวสกด ทั้งแบบบทคำใช้ไว้วิดถาร อุสาห์เพียรเรียนไปก็ไม่นาน จะพบพานแบบฉบับตำหรับครู เล่ากนจนครบจบอักษรแล้ว ผันผ่อนเล่ากงหนอพ่อหนู ถึงแม่กกถัดกันให้หมั่นดู อย่าจู่ลู่ลัดแล่งตำแหน่งเรียน จบกกยกข้อต่อไปกด ลำดับบทจงวิจารณ์จะอ่านเขียน แล้วเล่ากบเข้าบันจบอย่าวนเวียน สำเนียงเปลี่ยนตามอักษรผ่อนหนักเบา กก กด กบ คำตายไม่ย้ายแยก แต่เสียงแปลกกันอยู่ทูกหมู่่เหล่า นักเรียนแรกศึกษาปัญญาเยาว์ อย่าดูเบาจำแบบด้วยแยบคาย ทั้งเหล็กเลกแหลกแลก ลาก หลาก หลาย อีกฉุดชุดฉาดชาติหนาดนาดกราย อะธิบายย่อ ๆ พอเปนเลา ถึงแม่กมสมมุตมอสกด ตาบแบบบทเบาราณให้อ่านเล่า ข้อนี้ควรจำโดยสำเนา หนึ่งท่านเอานฤคหิตลิกขิตบน เช่นคำเล่าแต่ปฐมสิทธํนี้ อีกอย่างชี้เชิญประชุํกลุํ้กลางหน กับคำกาชุํนุํเจ้าจุํพล นิตคหิตสถิตย์บนใช้แทนมอ เฃียนถึงเกยเลยเล่าจงเคล่าคล่อง ให้ถูกต้องตั้งต้นแต่ตัว ข แจกจนจบครบทั่วถึงตัว ฮ ย ว อ ตัวสกดกำหนดนึก แล้วผวนผันห้าสามตามอักษร สามนิกรหมวดกองเร่งตรองตฤก เกยนี้แจกเฃียนอ่านพานจะฦก ต้องหมั่นนึกหมั่นเล่าค่อยเบาใจ คำม้วยแม่เกยทั้งแปดนั้น เสียงต่างกันเยื้องแยบดังแบบไข คือปีเถาะปูนกระเทาะเสนาะไพ เราะเหราะวิ่งไขว่ได้จับแพะ เท่านั้นเถอะเลอะเทอะไม่เหมาะเมาะ สืบเสาะน้ำเซาะหัวเราะแหะ จะพูดข้อขำคำช่วยนำแนะ อย่ากะแหนะน้ำเหยาะเย้ยเยาะกัน คำเช่นนี้มีมากดูหลากหลาย แจกกระจายย่อๆ ข้อขยัน พอได้ดูรู้คำเปนสำคัญ เสียงแปลกกันเหมือนคำที่ร่ำมา เมื่อเล่าเขียนเรียนอักษรได้เสร็จสรรพ แล้วเรียนนับในวิธีสังขยา ตั้งแต่หนึ่งถึงอะสังไขยา ประมวนมานับอ่านให้ชาญเชิง หนึ่งให้รู้ดูประมาณการเล่าบ่น แม้นโลภล้นเหลือนักก็มักเหลิง ต้นจะหายปลายจะเลอะกระเจอะกระเจิง เพราะละเลิงโลภเรียนไม่เพียรพัก บุราณสอนผ่อนช้าสี่สฐาน อย่าหักหาญเหนแก่ด่วนควรตระหนัก อย่าด่วนดุมุทะลุทำลายรัก ต่อประจักษ์จึ่งค่อยโกรธประโยชน์ยาว หนึ่งจะคิดเสาะแสวงแห่งทรัพย์สิน อย่าดูหมิ่นควรพิเคราะห์เสาะสืบสาว ค่อยผันผ่อนทอนทุนตามรุ่นคราว ถ้าฉ่าฉาวฉับไวไม่เปนการ จงดูเยี่ยงตัวปลวกผนวกรัง ค่อยติดตั้งเติมต่อก่อเปนถาน ทีละน้อยค่อยเจริญไม่เนิ่นนาน ใหญ่ประมาณเท่ากะรีก็มีชุม แสวงทรัพย์ก็เช่นกันฉนั้นแหละ ค่อยเลมและสะสมโดยสุษุม แต่หมั่นเก็บหมั่นหามาชุํนุํ คงเปนกลุ่มแต่อย่าเกลื่อนด้วยเพื่อนพาล หนึ่งจะเดินบนภูเขาแม้นเหย่าเหยาะ ปะทรอกเซาะโกรกกรวยห้วยละหาน จะแพลงพลาดปี้ป่นเพราะลนลาน ต้องพินิจจิตรพิจารณ์บทจร ข้อหนึ่งศึกษาศิลปสาตร ความฉลาดตื้นฦกที่ฝึกสอน ค่อยเล่านึกตรึกตราให้ถาวร ที่ครูสอนอุส่าห์สอบให้ชอบชิน แม่นเก่าเล่าข้อต่อขึ้นใหม่ คงจะได้โดยจิตรคิดถวิล แบบบุราณใช้มาเปนอาจิณ อย่าดูหมิ่นมูลสฐานการวิชา เมื่อแคล่วคล่องคิดอ่านชำนาญนับ ได้เสร็จสรรพโดยวิธีสังขยา แล้วจึ่งเพียรเรียนนับอย่างอื่นมา ท่านจัดว่าสามอย่างทางประมาณ คือนับวัดสัดตวงถ่วงตาชั่ง นับวัดตั้งแต่โยชน์โดยวิดถาร จนถึงประมาณดูเทียบทาน ท่านจัดการวัดนับลำดับมี นับด้วยตวงตั้งแต่เกษียนเวียนถดถอย จนถึงร้อยเมดเข้าเล่าตามที่ นับด้วยชั่งตั้งแต่ภารามี ไม่ทวีลดต่ำร่ำลงไป จนถึงสองเมล็ดเข้าเปนที่สุด เปนบุรุษเรียนตำราภาษาไสย จงรู้ปีรู้เดือนอย่าเคลี่อนไคล ฤดูใดโดยนับลำดับเดือน หนึ่งแปดทิศคิดปันให้สันทัด ตามที่จัดเปนตำราอย่าเลือนเปื้อน ท่านไฃคำจำให้แน่อย่าแชเชือน ของโบราณขานบทไว้หมดสิ้น ในแบบจินดามณีก็มีหลาย แต่ท่านยังมิได้แยกโดยแยบคาย ไม่กระจายจะแจ้งแห่งยุบล จึ่งคิดคัดจัดคำไม้มลาย แยกขยายสองอย่างทางนุสนธิ์ จำพวกหนึ่งตัวยะไม่ปะปน พวกหนึ่งต้องข้องระคนสกดยอ มลายล้วนควรจดกำหนดไว้ คือคำไทยพูดกันเท่านั้นหนอ ข้างฝักฝ่ายคำมลายมีตัวยอ คือติดต่อแต่มคธเร่งจดจำ ปันแผนกแจกอรรถจัดขยาย หวังธิบายบอกส่อที่ข้อขำ อย่าดูถูกนะพ่อหนุ่มจะคลุมคลำ ไม่ได้สำนักนิ์ครูก็ดูเอา ลำดับข้อมูละบทหมดเท่านี้ ถ้ารู้ดีสิ้นโทษที่โฉดเฉา ด้วยประจักษ์หลักแหล่งแบ่งบันเทา ได้เงื่อนเงาเค้ามูลเพราะพูลเพียร อันแบบสอนบ่อนระบิลสิ้นทั้งหมด มูลบทบรรพกิจสถิตย์เสถียร เปนรากแก้วของตำหรับฉบับเรียน ถ้าแม้นเพียรแตกฉานชำนาญดี จะเรียนไหนได้นั่นอย่าพรั่นจิตร บรรพกิจต้นรากเปนสากษี เหมือนมูลเฌอชื่นชุ่มในปถะพี ทั้งไม่มีด้วงแมงเข้าแทงไส้ ต้องวิตกไปทำไมกับใบก้าน จะสะคร้านช่อดอกออกไสว เลือกเก็บกินแก่อ่อนไม่ร้อนใจ อุประไมยก็เหมือนหมู่ผู้นักเรียน ถ้าฝึกฝนต้นแรกให้แตกฉาน ทั้งหมั่นอ่านหมั่นคิดทั้งหมั่นเฃียน ถึงไล่สอบคงทนไม่วนเวียน แม้นพากเพียรเรียนไหนคงได้รอย ๚ะ
จบมูลบทเท่านี้ ๚ะ
๏ จบมูลบทเบื้อง | แบบสอน |
คิดกลั่นสรรเปนกลอน | กล่าวอ้าง |
ชักฉายถ่ายเทียบถอน | ทางเรื่อง เรียงแฮ |
ใดพร่องใดขาดบ้าง | ปราชต้องเติมเสริม ๚ะ |