จดหมายอย่างธรรมเนียมการพระราชพิธีในรัชกาลที่ ๑

(๑ แห่พระทราย)

๏ วันอังคารเดือน ๕ แรม ๑๓ ค่ำ ปีขาลจัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๒๕) มีหมายเวรนายควร (รู้อัศว์ มหาดไทย) มาว่า หลวงบำเรอภักดิ์รับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่า พระทรายอย่างแต่ก่อนให้เอาไปท้องพระโรงแต่เพลาเย็นณวัน ๔ ๑๔ ๕ ค่ำปีขาล ให้มหาดไทยกลาโหมเกณฑ์คู่แห่พระทรายตามแต่ก่อน (แล) พันพุฒ พันเทพราชบอกเข้าไปว่า ครั้งนี้ (ทรงพระกรุณาโปรด) ให้ทำราชการตามอย่าง (เมื่อแผ่นดินสมเด็จ) พระบรมโกษฐ์ อย่าให้เอาอย่างพระยาตากสิน แลอย่างธรรมเนียมครั้งพระบรมโกษฐ์นั้น ถ้าจะเกณฑ์พระหลวงขุนหมื่นเปนคู่แห่เดินเท้า แห่น่าแห่หลังการสิ่งใด ๆ ถ้าแห่แต่นอกพระราชวังเข้ามา เปนพนักงานมหาดไทยกลาโหมได้เกณฑ์ (ถ้าแห่แต่) ในพระราชวังออกไปนอกพระราชวัง เปนพนักงานเสมียนตรากรมวังได้เกณฑ์ นายควรนายเวรมหาดไทยสั่งบอกเข้าไป ให้ชาววังว่าแก่หลวงรักษมณเฑียร หลวงบำเรอภักดิ์ หลวงรักษมณเฑียร หลวงบำเรอภักดิ์สั่งให้ชาววังอยู่เวรเกณฑ์พระหลวงขุนหมื่นคู่แห่เดินเท้าแห่พระเจดีย์ทราย สั่งเวรนายควร

(๒ สิ่งของเครื่องราชูประโภคจะสร้างใหม่)

๏ เครื่องจะได้ทำขึ้นใหม่ พระไชยใหญ่ ๑ เล็ก ๑ แผ่นทองพระสุพรรณบัตร ๑ พระมหาสังวาล ๑ พระมหาสังข์ทอง ๑ พระมหาสังข์เงิน ๑ พระมหามงกุฎ ๑ ฉลองพระบาท ๑ พัชนีฝักมขาม ๑ ธารพระกรง่าม ๑ ธารพระกรยอดทอง ๑ ดอกจำปาทอง (อย่าง) ๑ ดอก พิกุลทอง (อย่าง) ๑ ดอกพิกุลเงิน ๑ แผ่นทองรองเขียนรูปราชสีห์ ๑ พระกลด (ด้าม) เงิน ๑ พระเต้าทอง ๑ พระเต้าเงิน ๑ ตั่งไม้มะเดื่อ ๘ ท่อน้ำ (สหัสธารา) ดีบุก ๑ พระแสงตรีศูล ๑ พระแสงจักร ๑ พระเสมาธิปัต ๑ พระฉัตรไชย ๑ พระเกาวพ่าย ๑ พระมหาธงไชย (ครุธพ่าห์) ๑ ธงไชยกระบี่ธุช ๑ พระเต้าเบญจครรภ ๑ พระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ทอง ๑ กลองอินทเภรี ๑ มโหรทึก ๑ พระมณฑปที่สรง ๑ (สี่สิ่งข้างหลังนี้) จะเตือนเขา พระนามลงแผ่นทอง ๑ รวม ๕๑ (นับได้แต่ ๔๐) สิ่ง

อธิบาย

เครื่องราชูประโภคที่กล่าวมานี้ สังเกตได้โดยสิ่งของ คือ พระมณฑปที่สรงพระกระยาสนานเปนต้น เห็นว่าสร้างสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเศก แลบาญชีนี้เขียนไว้ในหว่างจดหมายเหตุปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ กับปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ จึงเข้าใจว่าสร้างเมื่อจะทำพระราชพิธีปราบดาภิเศก เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕

(๓ ถือน้ำสารท)

๏ วันจันทร์เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๒๖) เพลาเช้าข้าทูลลออง (ธุลีพระบาท) ผู้ใหญ่ผู้น้อยข้างน่าข้างในฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือนถือน้ำพร้อมกันณวัดโพธิ์

อธิบายว่า เวลานั้นวัดพระศรีรัตนศาสดารามยังสร้างไม่แล้ว จึงถือน้ำที่วัดพระเชตุพน

(๔ ลอยพระประทีปเดือน ๑๑)

๏ อนึ่งเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ เปนวันออกพระวษา เสด็จลงลอยกระทงน่าขนานประจำท่าคำรบ ๓ วัน เรือพระที่นั่งบัลลังก์รัตนาศน์ เปนพนักงานนายไกรลาศตำรวจในขวา เรือพระที่นั่งบัลลังก์ราชสมเสพเปนพนักงาน (นายแก้วภักดี) ตำรวจในซ้ายได้นำออกทอดที่น่าขนานประจำท่า หลังคาเรือใส่สีผ้าแดงผูกม่านทั้ง ๒ ลำแล้วมีม่านรั้วด้วย

พระยาราชสงคราม แลเจ้ากรมปลัดกรมหัวหมื่นพันทนายทหารในซ้ายขวาได้ลงอยู่สำหรับเรือพระที่นั่งบัลลังก์รัตนาศน์ พระที่นั่งบัลลังก์ราชสมเสพคอยรับใช้

เรือทอดทุ่นเหนือน้ำท้ายน้ำน่าฉาน แลเรือทอดทุ่นนั้นลำละ ๓ คน มีโคมสานตามเพลิงใบ ๑ มีฆ้องใบ ๑ ห้ามเรือมิให้ล่วงเข้ามาขึ้นล่องได้ เรือตำรวจใหญ่ซ้ายอยู่เหนือน้ำลำ ๑ เรือตำรวจใหญ่ขวาอยู่ท้ายน้ำลำ ๑ เรือตำรวจในซ้าย เรือตำรวจในขวาอยู่น่าฉาน ๒ ลำ รวมเปน (เรือทอดทุ่น) ๔ ลำ

เรือรูปสัตว์สำหรับลอยพระประทีปนั้น เปนพนักงานนายนิต นายชิด หุ้มสีสักหลาดข้าหลวงเดิม เปนเรือพระที่นั่งสีสักหลาดลำ ๑ เรือพระที่นั่งกราบ (ลำทรง) ลำ ๑ เรือพระที่นั่งกราบ (ลำ) รองลำ ๑ เรือพระที่นั่งกิ่งลำ ๑ เรือพระที่นั่งหงส์ลำ ๑ เรือพระที่นั่งครุธลำ ๑ เรือเอกไชย ๒ ลำ รวมเปน ๘ ลำ

นายไกรลาศตำรวจในขวาได้เอาเรือลอยพระประทีป เรือนาค เรือคชสีห์ เรือกิเลนรวม ๓ ลำไปส่ง นายแก้วราชตำรวจในซ้ายได้เอาเรือนาค เรือราชสีห เรือกิเลน รวม ๓ ลำไปส่ง แลเรือลอยพระประทีปทั้งนี้เจ้าพนักงานได้เอาไปส่งทหารในณเรือพระที่นั่งบัลลังก์ทั้ง ๓ วัน

แลเรือพระที่นั่งบัลลังก์ เรือทอดทุ่น เรือรูปสัตว์ ลอยพระประทีปทั้งปวงนี้ พันพรหมราช (กลาโหม) ได้ตรวจตราว่ากล่าว

ทหารในซ้ายขวาได้ส่งเรือหยวกลอยพระประทีป แต่ล้วนทหารในซ้าย ๑๕๐ (ลำ) ขวา ๑๕๐ (ลำ) ๓ วัน เปนเรือหยวก (๓๐๐ ลำ)

หมื่นทิพมาลา หมื่นเทพมาลา ขึ้นแก่ (หลวง) พรหมวิจิตร (หลวง) เพ็ชวกรรม (ช่างเขียน) ได้ส่งกระทงกระดาษดอกบัววันละ ๑๐๐ กระทง ทั้ง ๓ วัน เปนกระทง (ดอกบัว) ๓๐๐ ดอก

เรือใช้ไปคอยรับใช้อยู่ณท้ายพระตำหนักแพ เปนเรือทหารในซ้ายลำ ๑ ขวาลำ ๑ เรือทนายเลือกหอกซ้ายลำ ๑ ขวาลำ ๑ เรือทนายเลือกปืนซ้ายลำ ๑ ขวาลำ ๑ รวม ๖ ลำ

(เชือก) พรวนล่ามกันหญ้า ผูกลอยไว้น่าพระตำหนักแพสำหรับกันสายน้ำ มิให้เรือกระทงลอยปะแพเข้าไปชิดเรือพระที่นั่งบัลลังก์นั้น พนักงานนครบาลได้ทำแลเอาไปผูก

ดอกไม้เพลิงระทาแลพลุจีนนั้น เปนพนักงานขุนแก้ว ขุนทอง ขี้นแก่พันจันท์มหาดไทย

(๕ เสด็จพระราชทานพระกฐินทางชลมารค)

๏ วันพุฒเดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๒๖) เพลาเช้า เสด็จไปพระราชทานพระกฐินทางชลมารค วัดบางว้าใหญ่ต้นมือ ๑ วัดหงส์ ที่ ๒ เรือทรงพระกฐินนั้นเอาเรือพระที่นั่งใหญ่แคร่จัตุรมุข มหาดเล็กห่มชมพูลงพายทอดน่า ฝีพายตำรวจใหญ่ลงพายทอดหลัง พายนั้นใบปิดทองด้ามทาชาด มีหัวหมื่นตำรวจใหญ่ถือธงสามชายน่าเรือคน ๑ นายเรือตำรวจใหญ่ลงไปสำหรับเรือ ๓ คน ขุนหมื่นศุภรัตไปสำหรับผ้าพระกฐินคน ๑ แตรสังข์ลงเรือ (พระกฐิน) แตรงอนคู่ ๑ แตร (ฝรั่ง) วิลันดาคู่ ๑ สังข์คน ๑ แลเรือพระกฐินนั้นพนักงานตำรวจใหญ่

(เรือพระกฐินนั้น๑๐) เดิมนายนิต นายชิด แลหลวงอินทรเทพ หลวงพิเรนทรเทพ หมื่นไชยาภรณ์ หมื่นไชยภูษา ได้ตบแต่ง พันพรหมราชกลาโหมเวรเรือได้ตรวจตราว่ากล่าว

พันจันท์ได้เกณฑ์เรือดั้งอาสาวิเศษซ้ายขวา ชักเรือพระกฐินคู่ ๑ ใส่ปี่พาทย์รามัญลำ ๑ ใส่ลครรำลำ ๑ นอกกว่านี้เปนเรือแห่ ๒ คู่ ๔ ลำ

ล้นเกล้าล้นกระหม่อมเสด็จไปพระราชทานพระกฐินณวัดบางว้าใหญ่ วัดหงส์ เสด็จทรงเรือพระที่นั่งศรีสักหลาดพื้นแดงเขียนลายรดน้ำ เรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้า บ้านใหม่ (ลำ ๑) โพธิ์เรียง ลำ ๑ ชักเรือพระที่นั่ง

เรือดั้งทหารใน ซ้ายลำ ๑ ขวาลำ ๑ เกณฑ์หัดอย่างฝรั่งซ้ายลำ ๑ ขวาลำ ๑ (ในต้นฉบับขาดชื่อกรมไป ๒ คู่) เปนเรือดั้ง ๔ คู่นำเสด็จ แลเรือตำรวจใน เรือชาววัง เรือข้าทูลลอองธุลีพระบาทนำตามเสด็จเปนอันมาก

ครั้นแสด็จถึงวัดแล้ว ฝ่ายทหารเกณฑ์ให้หมู่พนักงานล้อมวง เปนคนด้านซ้าย ตำรวจใหญ่ซ้าย ๓๐ ทหารในซ้าย ๓๐ ตำรวจในซ้าย ๓๐ ตำรวจนอกซ้าย ๒๕ สนมทหารซ้าย ๑๕ ทนายเลือกหอกซ้าย ๒๐ รวม ๑๔๐ ด้านขวา (กรมนั้น ๆ ฝ่ายขวา๑๑) ๑๔๐ คน รวมเปน ๒๘๐ คน ล้อมวงทั้งนี้เปนพนักงานพันเทพราช (กลาโหมตรวจตรา)

ปืนท้ายบอง ปืนหามแล่น ไปตามเสด็จแล้วเอาปืนไปตั้งจุกช่องอยู่ตามซ้ายตามขวา เปนปืนตำรวจในซ้าย ๒ กระบอก ปืนตำรวจในขวา ๒ กระบอก ปืนตำรวจใหญ่ซ้าย ๒ กระบอก ปืนตำรวจใหญ่ขวา ๒ กระบอก ปืนอาสาเดโชกระบอก ๑ ปืนอาสาท้ายน้ำกระบอก ๑ ปืนอาสาซ้ายกระบอก ๑ ขวากระบอก ๑ รวมปืน ๑๒ กระบอก คน ๓๒ คน ล้อมวงทั้งนี้เปนพนักงานพันอินทราชเวรปืน (กลาโหมตรวจตรา)

(๖ เสด็จพระราชทานพระกฐิน ทางสถลมารค)

๏ ฝ่ายทหารพลเรือนเกณฑ์แห่พระกฐินไปพระราชทานวัดโพธิ์ที่ ๑ วัดสระเกษ๑๒ที่ ๒ (เมื่อ) ณวันเสาร์ เดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๒๖)

(กระบวนแห่ผ้าไตรพระกฐิน๑๓) เปนคน (ฝ่าย) ทหาร ปี่กลองชนะ ๑๕ คู่ รวม ๓๐ คน แตรงอน ๓ คู่ แตรวิลันดา ๓ คู่ สังข์งอน ๑ รวม ๑๓ คน ปืนคาบชุด ตำรวจในซ้าย ๒๕ ตำรวจในขวา ๒๕ ตำรวจใหญ่ซ้าย ๒๕ ตำรวจใหญ่ขวา ๒๕ รวม (ตำรวจ) ๑๐๐ คน ถือแหลนอาสาซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ เขนทองซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ (อาสา) เดโช ๒๐ (อาสา) ท้ายน้ำ ๒๐ รวมคนกรมอาสา ๑๒๐ คน (ถือ) ธงสามชาย หมู่สี่ตำรวจอาสาหกเหล่า ทหารใน รวม ๘๐ คน พลเรือนคนเดินเท้า ๑๐๐ คน รวม (กระบวรแห่ผ้าไตรพระกฐิน) ๔๙๓ คน

(กระบวรแห่เสด็จ) ทหารเกณฑ์เจ้ากรมปลัดกรมหัวหมื่นตัวสี๑๔ พันทนายตำรวจเลว แห่เสด็จ ฯ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมไปพระราชทานพระกฐิน วัดโพธิ์ที่ ๑ วัดสระเกษที่ ๒ ทางสถลมารค ณวันเสาร์ เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีเถาะเบญจศก เพลาเช้า เปนการปรกติ๑๕ เกณฑ์คนแห่ (คือ) กระบวรน่า พระยาเทพวรชุณ ๑ พระยาราชนิกูล ๑ นำริ้ว ๒ ตำรวจในซ้าย ๓๐ ตำรวจในขวา ๓๐ ตำรวจใหญ่ซ้าย ๓๐ ตำรวจใหญ่ขวา ๓๐ ตำรวจนอกซ้าย ๓๐ ตำรวจนอกขวา ๓๐ สนมทหารซ้าย ๒๐ สนมทหารขวา ๒๐ รวมกระบวรน่า ๒๒๒ คน

กระบวรหลัง (ทหาร หลวงนรินทรเสนี๑๖) ๑ ทหารในซ้าย ๓๐ ทหารในขวา ๓๐ (เข้ากรม) ทหารบ้านใหม่ ๑ (เจ้ากรมทหาร) โพธิ์เรียง ๑ พลพันซ้าย ๕ พลพันขวา ๕ ทนายเลือกซ้าย ๒๐ ทนายเลือกขวา ๒๐ ปืนท้ายที่นั่ง ๓๖ หลวงวาสุเทพ ๑ หลวงพิศณุเทพ ๑ พลเรือน หลวงศรีสหเทพ ๑ ทนายเลือกแสงปืน ๑๐ รวมกระบวนหลัง ๒๕๐ คน

ถือหอกจุกช่องตามตรอกถนน ตำรวจในซ้ายในขวา (จุกช่องละ) ๒ คน ชาย ๑๔ ช่อง รวม ๒๘ คน ขวา ๑๖ ช่อง รวม ๓๒ คน รวมเปน ๓๐ ช่อง ๖๐ คน

(เสด็จ) ขึ้นวัดแล้วคอยกราบทูลพระกรุณา ฯ พระยาสีหราชเดโช ๑ หลวงไกรเทพ ๑ ขุนจง (พยุห) ๑ ฯ

(๗ ลอยพระประทีปเดือน ๑๒)

๏ ถึงเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ เปนวันเพ็ญเดือน ๑๒ เสด็จลงลอยเรือพระประทีป

แลเรือพระประทีปนั้นพนักงานตำรวจในซ้ายในขวา เอาเรือพระที่นั่งบัลลังก์รัตนาศน์ บัลลังก์ราชสมเสพมาทอดที่น่าพระตำหนักแพ เปนพนักงานตำรวจในซ้ายขวา ตำรวจใหญ่ซ้ายขวา ทหารในซ้ายขวา แลหมื่นทิพมาลา หมื่นเทพมาลา (ซึ่ง) ขึ้นแก่ (หลวง) พรหมวิจิตร (หลวง) เพ็ชวกรรมช่างเขียนซ้ายขวา เอาเรือรูปสัตว์ เรือหยวก กระทงดอกบัว ไปส่งณเรือพระที่นั่งทั้ง ๓ วัน เทียนซึ่งจุดเพลิงลอยพระประทีปนั้นเจ้าพนักงานไปเบิกต่อกรมวัง กรมวังเบิกต่อข้างใน เรือไชย ๖ ลำ แลเรือห้ามเหนือน้ำ เรือห้ามท้ายน้ำ น่าฉาน เจ้าพนักงานทั้งนี้ทำตามอย่าง (ลอยพระประทีปคราวเดือน ๑๑) ออกพรรษา ฯ

(๘ พิธีจองเปรียง)

๏ อนึ่งเดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ เจ้าพนักงานตำรวจใหญ่ซ้ายขวาเอาเสาโคมไชย โคมพระประเทียบ ขึ้นน่าพระที่นั่งที่เสด็จออกในพระราชฐาน ตำรวจในซ้ายขวาผลัดกันทำโคมไชยคนละปี โคมพระประเทียบคนละปี เพลาค่ำอยู่ตามโคมทุกวันกว่าจะครบกำหนด โคม (บริวาร) รายในวังริมโคมพระประเทียบนั้น เปนพนักงานตำรวจนอกซ้าย ๑๐ ตำรวจนอกขวา ๑๐ รวม (โคมตำรวจนอก) ๒๐ สนมทหารซ้าย ๑๐ สนมทหารขวา ๑๐ รวม (โคมสนมทหาร) ๒๐ ได้เอาโคมไปขึ้นพร้อมกันกับโคมไชยโคมพระประเทียบ แลโคมตามฉนวนประจำท่าพนักงาน ตำรวจในซ้าย ๕ ขวา ๕ ตำรวจใหญ่ซ้าย ๕ ขวา ๕ รวม (เปนโคม) ๒๐ ดวงได้ตาม

แล (โคมบันดาศักดิ์) ต่างรูปตราจำนำ แขวนณศาลลูกขุน๑๗ เปนพนักงานพันเภา หัวพันมหาดไทยได้กะเกณฑ์หมายบอกเจ้าพนักงานตรวจตราว่ากล่าว

โคมตามกำแพงรอบพระนครนั้น เปนพนักงานนครบาลนายอำเภอได้ป่าวร้องราษฎรชาวบ้าน น่าบ้านผู้ใดผู้ใกล้เคียงได้เอาเสาโคมขึ้น

แลตามโคมไชย โคมประเทียบ โคมบริวาร (โคม) บันดาศักดิ์ตามศาลาลูกขุน โคมราษฎรชาวบ้าน (ทั้งนี้) เอาขึ้นเดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ พร้อมกัน ต่อถึงเดือนอ้ายขึ้นค่ำ ๑ จึงลดโคมพร้อมกันทั้งสิ้น ฯ

(๙ กระบวรเสด็จงานพระเมรุพระเจ้ากรุงธนบุรี)

๏ (ฝ่าย) ทหารเกณฑ์เรือพระที่นั่ง เรือดั้งเรือกัน แลจุกช่องคลองน้ำซ้ายขวาตามทางเสด็จ แต่ฉนวนน้ำประจำท่าถึงวัดบางยี่เรือ

ครั้นถึงวัดบางยี่เรือแล้วเกณฑ์ทนายคบหอกอยู่ล้อมวงตามพนักงาน แล้วอยู่ตั้งกองคอยเหตุท้ายน้ำกอง ๑ สำหรับเสด็จพระราชทาน (เพลิง) ศพเจ้าที่ล่วงณวัดบางยี่เรือ๑๘

(กระบวร) ทางชลมารค เรือพระที่นั่งศรีสักหลาดลำ ๒ (ฝีพาย) ๔๘ คน เรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้า บ้านใหม่ลำ ๑ (พลพาย) ๕๗ คน โพธิ์เรียงลำ ๑ (พลพาย) ๕๗ คน

เรือดั้ง ทหารในซ้าย ลำ ๑ (พลพาย) ๖๕ คน ขวา ลำ ๑ (พลพาย) ๖๐ คน เกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง ซ้าย ลำ ๑ (พลพาย) ๕๒ คน อาสาวิเศษซ้าย ลำ ๑ (พลพาย) ๖๗ คน ขวา ลำ ๑ (พลพาย) ๖๗ คน รวมเรือดั้ง ๓ คู่ พลพาย ๓๖๓ คน

เรือจุกช่อง (ฝ่ายซ้าย) ตำรวจใหญ่ซ้าย (จุกช่อง) ที่แม่น้ำใหญ่น่ากฎีจีน๑๙ ๒ คน คลองริมบ้านพระอภัยวานิช ๒ คน คลองเข้าไปวัดบางสะไก่๒๐ ๒ คน คลองวัดบางยี่เรือ ๒ คน (ฝ่ายขวา) ตำรวจใหญ่ขวา (จุกช่อง) ที่คลองขุดใหม่๒๑ ๒ คน คลองวัดสังข์กระจาย ๒ คน คลองบางลำเจียก ๒ คน รวม (จุกช่อง ๗ แห่งเปนคน) ๑๔ คน

ล้อมวงซ้าย ตำรวจใหญ่ซ้าย ๓๐ คน ทหารในซ้าย ๒๐ คน ตำรวจนอกซ้าย ๓๐ คน ทนายเลือกหอกซ้าย ๒๐ คน สนมทหารซ้าย ๑๕ คน รวม (ล้อมวงฝ่ายซ้าย) ๑๔๐ คน ล้อมวงฝ่ายขวา (กรมฝ่ายขวา๒๒) ๑๔๐ คน รวมล้อมวงทั้งซ้ายขวาเปนคน ๒๘๐ คน

ปืนท้ายที่นั่ง ตำรวจในซ้ายปืน ๒ กระบอก คน ๖ คน ตำรวจในขวาปืน ๒ กระบอก คน ๖ คน ตำรวจใหญ่ซ้ายปืน ๒ กระบอก คน ๖ คน ตำรวจใหญ่ขวาปืน ๒ กระบอก คน ๖ คน อาสาเดโชปืนกระบอก ๑ คน ๓ คน อาสาท้ายน้ำปืนกระบอก ๑ คน ๓ คน อาสาซ้ายปืนกระบอก ๑ คน ๓ คน ขวาปืนกระบอก ๑ คน ๓ คน รวมเปนปืน ๑๒ กระบอก คน ๓๖ คน

กองคอยเหตุอยู่ท้ายน้ำที่ด่านบางหลวง หลวงสรเสนี ๑ ขุนราม ๑ ขุนชนะ ๑ ไพร่ถือหอก ๑๐ รวม ๑๓ คน ฯ

(๑๐ ยิงปืนอาฏานา)

๏ อนึ่งเดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ จะสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่นั้น พันอินทราช พันเทพราช ได้เกณฑ์ปืนใหญ่น้อยยิงอาฏานาการพระราชพิธีตรุษ ณวันเดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๒๖)

เปนปืนคาบชุดยิงพร้อมกัน ๓ นัด แล้วงดทีเดียว (ยิงที่) ประตูพระราชวังเสมอประตูละ ๕ กระบอก ๑๗ ประตู๒๓เปนปืน ๘๕ กระบอก

ปืนคาบศิลายิง (เปน) สัญญาที่โรงพระราชพิธี ๓๐ กระบอก

ปืนคาบชุดตั้งยิงที่น่าศาลาลูกขุน ๕๐๐ กระบอก เปนปืนคาบศิลา ๓๐ กระบอก ปืนคาบชุด ๕๘๕ กระบอก รวมปืนเล็ก ๖๑๕ กระบอก

ปืนใหญ่ยิงพร้อมกัน ๓ นัด แล้วผลัดกันยิงกว่าจะรุ่ง (คือ)

ปืน (ขนาด) กระสุน ๒ นิ้ว ดินดำ ๖ บาท (ตั้งยิงที่) ประตูเมืองรอบนอก (ทั้งประตูใหญ่แลประตูช่องกุฏิ์) เสมอประตูละ ๒ กระบอก ๓๘ ประตูเปนปืน ๗๖ กระบอก

ปืน (ขนาด) กระสุน ๓ นิ้ว ๔ นิ้ว ดินชั่ง ๑ (ตั้งยิงบน) ป้อมละ ๒ กระบอก ๑๓ ป้อมเปนปืน ๒๖ กระบอก (ตั้งยิงที่) ถนนหลังโรงช้าง ทางไปวัดสลัก ๒ กระบอก๒๔ ถนนน่าโรงช้าง ๒ กระบอก๒๕ ถนนน่าโรงเสื้อเมืองโรงทรงเมือง ๒ กระบอก๒๖ ถนนน่าบ้านเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ๒ กระบอก๒๗ รวม ๔ ถนนเปนปืน ๘ กระบอก

ฝั่งตวันตก ปืนคาบชุดยิงที่น่าโรงพระแก้ว (พระราชวังเดิม) ๒๐๐ กระบอก

ปืนใหญ่กระสุน ๒ นิ้วยิงพร้อมกัน ๓ นัดกว่าจะรุ่ง (ตั้งยิง) ที่ตะแลงแกง ๒ กระบอก๒๘ ต้นสพานกฎีแขก ๒ กระบอก ฉางเกลือ ๒ กระบอก๒๙ วัดบางว้าน้อย ๒ กระบอก รวม (ปืนยิงทางฝั่งตวันตก) ปืนเล็ก ๒๐๐ กระบอก ปืนใหญ่ ๘ กระบอก

รวมปืนยิงอาฏานาเปนปืนใหญ่ ๑๑๘ กระบอก ปืนเล็ก ๘๑๕ กระบอกฯ

(๑๑ ก่อพระทราย)

๏ อนึ่งเมื่อครั้ง (แผ่นดิน) สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ์นั้น ครั้นวันขึ้นปีใหม่โหรถวายฤกษ์เปนวันมหาสงกรานต์ เจ้าพนักงานได้ก่อพระทรายน่าพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์

หมู่สี่ตำรวจรวมกันทำพระมหาธาตุองค์ ๑ สูง ๘ ศอก มียอดนพศูล

พระทรายสูง ๒ ศอก ๘๐ องค์ เกณฑ์ตำรวจใน ซ้าย ๘ องค์ ขวา ๘ องค์ ตำรวจใหญ่ ซ้าย ๘ องค์ ขวา ๘ องค์ ตำรวจนอก ซ้าย ๔ องค์ ขวา ๔ องค์ สนมทหาร ซ้าย ๔ องค์ ขวา ๔ องค์ สนมกลาง ซ้าย ๓ องค์ ขวา ๓ องค์ อาสา ซ้าย ๓ องค์ ขวา ๓ องค์ เขนทอง ซ้าย ๓ องค์ ขวา ๓ องค์ อาสาเดโช ๓ องค์ (อาสาท้ายน้ำ) ๓ องค์ ทำลุ ซ้าย ๒ องค์ ขวา ๒ องค์ รักษาองค์ ซ้าย ๓ องค์ ขวา ๓ องค์ ดั้งทอง (ซ้าย ๒ องค์) ขวา ๒ องค์๓๐

แลเครื่องราชวัตรฉัตรธงเครื่องประดับพระทรายนั้น เจ้าพนักงานได้เบิกสิ่งของให้แก่ช่างเขียนทำ แลพระทรายนั้นช่างเขียนได้ตัด๓๑

ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้าวันมหาสงกรานต์ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมเสด็จไปณพระวิหารใหญ่ด้วย๓๒ นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะอธิการวัดได้ฉันณพระวิหารใหญ่ฉลองพระทราย แลที่พระ (ทราย) มหาธาตุแลพระทรายบริวารนั้น วิเสศแต่งเทียนแลบายศรี (มี) เทียนทองคำขวัญบูชาพระทรายองค์ละสำรับ

ครั้นแสร็จ (งาน) พระทรายที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์แล้ว รุ่งขึ้นเปนวันเนา เจ้าพนักงานจึงเอาทรายแลเตียงเข้าไปให้ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงก่อพระทรายณพระที่นั่งทรงปืน เปนพระปรางค์ ๕ ยอด (พนักงาน) หมู่เรือพระที่นั่งศรีสักหลาดซ้ายองค์ ๑ หมู่เรือพระที่นั่งศรีสักหลาดขวาองค์ ๑ หมู่เรือพระที่นั่งกราบลำทรงซ้ายองค์ ๑ หมู่เรือพระกินรกราชลำทรงขวาองค์ ๑ เปนพระปรางค์ ๕ ยอด ๔ องค์ พระสถูป๓๓เจดีย์ (พนักงาน) หมู่เรือกราบพระที่นั่งรองซ้ายองค์ ๑ หมู่เรือกราบพระที่นั่งรองขวาองค์ ๑ หมู่เรือดั้งทหารในซ้าย นายจงใจสนิทองค์ ๑ หมู่เรือดั้งทหารในขวา นายจิตรรักษาองค์ ๑ หมู่ตำรวจในซ้าย นายไชยรักษาองค์ ๑ หมู่ตำรวจในขวา นายโชติอภัยองค์ ๑ เปนพระสถูปเจดีย์ ๖ องค์ ทรงก่อแล้วพนักงานยกพระทรายออกมาให้ช่างเขียนตัด แลเครื่องประดับพระทรายนั้น ให้เจ้าพนักงานเบิกทองอังกฤษประดับ แลช่าง๓๔เขียนทำประดับประดาพระทราย แล้วยกเข้าไปตั้งไว้ณพระที่นั่งทรงปืน ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้าวันเถลิงศก เสด็จ ฯ ออกฉลองพระเจดีย์ทรายเตียงยกณพระที่นั่งทรงปืน พระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานยกพระทรายออกมาตั้งไว้ณศาลาลูกขุนท้ายสระ พันพุฒ พันเทพราช พันจันท์ เกณฑ์เครื่องเล่นแลคู่แห่เดินเท้าแลม้า ปี่กลองชนะ ธงสามชาย ปี่กลองมลายู ปี่กลองใน แห่พระทรายไปไว้ณวัดวรโพธิ์ วัดพระราม วัดมงคลบพิตร (เปน) อย่างธรรมเนียมสืบมาแต่ก่อน (ดังนี้)

แลทุกวันนี้เสด็จลงมาสร้างพระนครอยู่เมืองธนบุรี ครั้นถึงกำหนดสงกรานต์เมื่อใด ก็ให้หมายบอกแก่เจ้าพนักงานให้ก่อพระทรายน่าวิหารพระแก้วมรกฎ๓๕แลพระทรายเตียงยกตามอย่างในพระบรมโกษฐ์แต่ก่อน

อนึ่งถ้าเสด็จไปก่อพระทรายน้ำไหลนั้น พันทิพราช ได้คุมเจ้าพนักงานสี่ตำรวจ สนมทหาร ตำรวจนอก ไปทำพลับพลาของหลวงแลข้างใน แลฉนวนรับเสด็จ พันเทพราชได้เกณฑ์อาสาหกเหล่าไปปลูกทิมสงฆ์ แลได้หมายบอกเจ้าพนักงานให้ก่อพระทราย เปนตำรวจในซ้าย ๓ องค์ ขวา ๓ องค์ เปน ๖ องค์ ตำรวจใหญ่ซ้าย ๓ องค์ขวา ๓ องค์เปน ๖ องค์ ตำรวจนอกซ้าย ๒ องค์ขวา ๒ องค์เปน ๔ องค์ สนมทหารซ้าย ๒ องค์ ขวา ๒ องค์เปน ๔ องค์ รักษาองค์ซ้าย ๒ องค์ขวา ๒ องค์เปน ๔ องค์ ดั้งทองซ้าย ๑ ขวา ๑ เปน ๒ องค์ ทำลุซ้าย ๑ ขวา ๑ เปน ๒ องค์ อาสาซ้าย ๒ ขวา ๒ เปน ๔ องค์ (อาสา) เดโช ๒ องค์ อาสาท้ายน้ำ ๒ องค์ เขนทองซ้าย ๒ ขวา ๒ เปน ๔ องค์ เข้ากันเปน (พระทราย) ๔๐ องค์

ทหารในซ้ายขวาได้ทำวังเวียนสำหรับเวียนพระทราย แลริ้วเฝือกวงรอยพลับพลานั้นเปนพนักงานแขวงนายอำเภอ แลปลาซึ่งมีในเฝือกนั้นเปนพนักงานอาสาซ้ายขวา ได้เอาแหทอดปลาในเฝือกเสียให้สิ้น อย่าให้มีปลาเงี่ยงปลางาอยู่ได้ ครั้นฉลองพระทรายแล้ว เสด็จสรงน้ำในเฝือกวงอยู่นั้น

(๑๒ แห่พระราชสาส์นไปเมืองจีน)

๏ ณวันพฤหัศบดี เดือน ๗ แรม ๘ ค่ำปีมโรงฉศก (พ.ศ. ๒๓๒๗) มีหมายนายบริบาลบรรยงก์ (นายเวรกลาโหม) มาว่า พระยาพระคลังรับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่า พระฤกษ์จะได้เชิญพระราชสาส์นแห่ไปลงสำเภาทรงพระราชสาส์น เพลาเช้าณวันเสาร์ เดือน ๗ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมโรงฉศก จะได้แห่ไปแต่ถนนน่าหอพระเชษฐบิดร ออกประตูริมศาลาลูกขุนไปลงตะพานใหญ่เหนือฉนวน๓๖

แลมีกฎหมายแต่ก่อนว่า ถ้าจะแห่พระราชสาส์นไปลงสำเภานั้น ตำรวจได้มารับเอาพระมณฑปต่อหลวงรักษาสมบัติไปตั้ง (คานหาม) แลให้สี่ตำรวจเอาพระมณฑปไปตั้ง (ที่) ถนนประตูออกกำแพงแก้วน่าหอพระเชษฐบิดร แลให้มหาดไทย กลาโหม เกณฑ์หลวงขุนหมื่นนุ่งสมปักลายใส่เสื้อ (ครุย) หัวใส่พอกหัว เดินเท้าแห่น่า ๓๐ คู่ ไพร่ใส่เสื้อแดงถือปืน ๕๐ คน ถือธง ๕๐ คน ปี่กลองชนะ ๓ คู่ ปี่กลองมลายูสำรับ ๑ แตรงอนคู่ ๑ แตรลำโพง (ฝรั่ง) คู่ ๑ เครื่องสูงแห่น่า ๓ คู่ แห่หลัง ๒ คู่ รวม ๕ คู่ แลหลวงขุนหมื่นนุ่งลายใส่เสื้อครุยใส่พอกแห่หลัง ๕ คู่ เกณฑ์แห่พร้อมแล้ว อาลักษณ์จึงเชิญพระราชสาส์นลง (พานรอง) พระราชสาส์นวางในพระมณฑป แห่ลงไปลงเรือพระที่นั่งณประตูฉนวน ให้ราชทูต อุปทูต ตรีทูต บั้นสื่อเดินเคียงประคองห่างข้างละ ๒ คน แลตำรวจใหญ่ได้เอาเรือพระที่นั่งกิ่งบรรจุพลพายครบกระทงมารับพระราชสาส์น มหาดเล็กบำเรอถือเครื่องแห่ตามเหมือนอย่างเสด็จ ฯ หมื่นราชเสนหาถือธงน่าเรือ ทูตทั้ง ๓ บั้นสื่อนั่งรายตีนตองซ้ายขวา (ตั้ง) สัปทนแพรทั้ง ๔ มุมพระมณฑป เกณฑ์พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ขี่เรือกันยาแห่น่า ๕ คู่ แห่หลัง ๕ คู่ แห่ลงไปตามแม่น้ำถึงสำเภาทรงพระราชสาส์น แลให้คนงานกรมการซึ่งอยู่บนสำเภายิงปืน (รับพระราชสาส์น) ๕ นัด (ฤๅ) ๗ นัด แล้วเชิญพระราชสาส์นขึ้นไว้บนท้ายพรม๓๗ อาลักษณ์เอามารองรอบพระมณฑป ราชทูต ข้าหลวง บั้นสื่อ นายสำเภา ล้าต้า พร้อมกันกราบถวายบังคม ๓ ลาแล้วกลับมา (ดังนี้)

ให้มหาดไทย กลาโหม เกณฑ์คู่แห่เดินเท้าแลหมายบอกเจ้าพนักงานทั้งปวงให้ทั่วให้เตรียมกันให้พร้อมแต่เพลาเช้าณวันเสาร์ เดือน ๗ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมโรงฉศก จงทุกพนักงานอย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

ทหารพลเรือนเกณฑ์ขุนหมื่นนุ่งสมปักลายห่มเสื้อครุย หัวใส่พอก พันทนายแลไพร่ห่มเสื้อแดง ตาริ้ว (กระบวนแห่) ถือธงสามชาย ถือปืนคาบชุดแลกลองชนะแตร แลสี่ตำรวจหามพระมณฑปรับพระราชสาส์นณหอพระเชษฐบิดรไปออกประตูวิเศษไชยศรี แห่ตามถนนไปลงเรือพระที่นั่งกิ่งใหญ่ณฉนวนนั้น เกณฑ์

กระบวรน่า (ฝ่าย) ทหารตำรวจในซ้ายขวา ตำรวจใหญ่ซ้ายขวา ตำรวจนอกซ้ายขวา เกณฑ์ถือปืนคาบชุดกรมละ ๓ คู่ ถือธงสามชายกรมละคู่ ๒ เปนคนกรมละ ๘ คน รวม ๖ กรมเปนคน ๔๘ คน ปี่กลองชนะ ๓ คู่ แตรงอน ๒ แตรลำโพง ๒ สี่ตำรวจหามพระมณฑปทรงพระราชสาส์น ๑๖ รวม (คนฝ่ายทหารกระบวรน่า) ๗๔ คน (ฝ่าย) พลเรือน หลวง ขุน หมื่น (คู่แห่) เดินเท้า ๑๕ คู่ เครื่องสูง ๓ คู่ รวมคนฝ่ายพลเรือนกระบวรน่า ๓๖ คน รวมคนกระบวรน่า ๑๑๐ คน

กระบวรหลัง (ฝ่าย) ทหาร สนมตำรวจซ้ายขวาถือปืนคาบชุดกรมละ ๓ คู่ ถือธงสามชายกรมละคู่ ๑ รวม ๒ กรมเปนคน ๑๖ คน (ฝ่าย) พลเรือน ขุนหมื่น (คู่แห่) เดินเท้า ๕ คู่ เครื่องสูง ๒ คู่ รวมพลเรือน ๑๔ คน รวมกระบวรหลัง ๓๐ คน รวมคนกระบวรแห่ทั้งสิ้น ๑๔๐ คน

แลเรือพระที่นั่งกิ่งทรงพระราชสาส์นแลพลพายนั้น เปนพนักงานตำรวจใหญ่ซ้ายขวาได้แต่ง หัวหมื่นนุ่งสมปักลายใส่เสื้อครุยขาว ใส่พอกถือธงห้าชายน่าเรือ พลพายนั้นอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนนุ่งสนับเพลาผ้าท่อน๓๘ พายนั้นด้ามทาชาดใบปิดทอง ครั้งนี้๓๙หามีสนับเพลาผ้าท่อนไม่ มีแต่พายด้ามทาชาดใบปิดทอง เรือพระที่นั่งกิ่งแลพลพายนั้น เปนพนักงานพันพรหมราชได้กะเกณฑ์ว่ากล่าว พันจันท์ได้เกณฑ์ข้าทูลลอองธุลีพระบาทขี่เรือพลายม้ายาว ๘ วา ๙ วา มีถาดหมากคนโทตามบันดาศักดิ์ บรรจุพลพายตามสมควร แห่พระราชสาส์น

เปนเรือทรงพระราชสาส์นลำ ๑ (ผู้ที่ลงในนั้น) ทหารปีกลองชนะแลแตรงอนแตรลำโพง รวม ๑๐ คน หัวหมื่นนายเรือ ๑ ถือธง ๑ รวม ๒ คน พลพาย ๗๐ พลเรือน ราชทูต ๑ อูปทูต ๑ ตรีทูต ๑ บั้นสื่อ ๑ รวม ๔ สนมถือเครื่องสูงสามชั้น ๒ สองชั้น ๒ รวม ๔ รวม (คนลงในเรือทรงพระราชสาส์น) ๙๐ คน

เรือคู่แห่น่า ๑๕ คู่ หลัง ๕ คู่ รวมเปนเรือ ๔๐ ลำ ฯ

(๑๓ รับแขกเมืองโปตุเกศ)

๏ วันอังคาร เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ปีมเมียอัฐศก (พ.ศ. ๒๓๒๙) มีหมายนายฤทธิ (รงค์อาวุธนายเวรกลาโหม) ว่าด้วยเจ้าพระยาธรรมารับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่าแขกเมืองฝรั่งปัศตุกันจะได้เข้า (เฝ้า) กราบถวายบังคมทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชสาส์นณท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ณวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ เพลาย่ำรุ่ง๔๐ แลแขกเมืองถือพระราชสาส์นครั้งนี้มา (เรือ) สลุปจะได้เอาเรือลงไปรับ

เกณฑ์ให้ตำรวจใหญ่ขวาเอาเรือพระที่นั่งศรีสักหลาดไปรับ แล้วให้ตั้งเตียงแว่นฟ้า ให้อาลักษณ์เอาพานแว่นฟ้า ๒ ชั้นตั้งบนเตียงรับพระราชสาส์น

ให้มหาดไทยกลาโหมเกณฑ์เรือยาว ๘ วา ๙ วาเปนคู่แห่ ๕ คู่ เรือปี่กลองชนะ ๒ คู่ แลให้กรมท่าจัดเรือกันยาให้แขกเมืองขี่ลำ ๑ โดยสมควรแห่มาแต่สลุปมาขึ้นท่าช้าง

เกณฑ์ให้สี่ตำรวจเอาเสลี่ยงงาลงไปรับ ให้มีสัปทนกั้นพระราชสาส์นคัน ๑ ปี่กลองชนะ ๕ คู่ แตรงอน (๒ คู่) แตรลำโพง (๒ คู่) ให้เกณฑ์หหลวงขุนหมื่นนุ่งสมปักลายห่มเสื้อครุยใส่ลำพอกมีเกี้ยว เดินเคียงเสลี่ยง ๒ คู่ เดินแห่เสลี่ยง ๑๐ คู่ เข้ากันเปน ๑๒ คู่ ทนายปืนแห่น่า ๓๐ คู่ แห่ (แต่ท่าช้าง) มาเข้าประตูพิมานเทเวศร์๔๑ มาพัก (ที่) ศาลาลูกขุนฝ่ายขวา ให้พระยาจุฬานั่งรับแขกเมืองอยู่ก่อน

ให้เกณฑ์ข้าทูลลอองธุลีพระบาทกรมพระราชวังบวร ฯ กรมพระราชวังหลัง (แลเจ้ากรมปลัดกรมใน) เจ้าต่างกรมฝ่ายน่าฝ่ายในมา(สมทบ) นั่งทิมดาบชั้นใน ตำรวจในทิมดาบหนึ่ง ๓๐ คน ชาววังทิมดาบหนึ่ง ๓๐ คน นั่งทิมดาบชั้นนอก ตำรวจใน ๒ ทิม ๆ ละ ๖๐ เปน ๑๒๐ ชาววัง ๒ ทิม ๆ ละ ๖๐ เปน ๑๒๐ รวม (คนนั่งทิมดาบ) ๓๐๐ คน

แลเกณฑ์หลวงขุนหมื่นนอก (ตำแหน่งเฝ้า) มานั่งบนศาลาลูกขุนศาลาละ ๕๐ คน เฉลียงศาลาลูกขุนซ้าย ๑๐๐ เฉลียงศาลาลูกขุนขวา ๑๐๐ รวม (นั่งศาลาลูกขุนซ้ายขวา) เปน ๒๕๐ คน

ให้เกณฑ์นายปืนใส่เสื้อใส่หมวกขึ้นรักษา ๒ ข้างถนน แต่ประตูพิมานเทเวศร์จนถึงประตูสุวรรณบริบาล แลยืนตามถนนน่าศาลาลูกขุนซ้ายขวาเลี้ยวไปทางถนนโรงปืนนางตานี๔๒ ไปตามถนนจนประตูพิมานไชยศรี

แลเกณฑ์นั่งกลาบาศที่สนามมวย๔๓ ๔ กอง กองละ ๒๐๐ รวมเปน ๘๐๐ คน

เกณฑ์ขุนนางจีน ขุนนางญวน ขุนนางแขก ขุนนางฝรั่ง นั่งตรงประตูกำแพงแก้วที่เสด็จออกน่าโรงอาลักษณ์๔๔

แลให้ชาวเครื่องอภิรมย์เชิญเครื่องไปตั้งริมพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์๔๕

ให้มหาดไทย กลาโหม เกณฑ์ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ในพระราชวังหลวง ในพระราชวังบวร ฯ ในพระราชวังหลัง นุ่งสมปักลายสมปักยก ห่มเสื้อกรุย แต่งตัวจงโอ่โถงเข้าเฝ้าที่ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานตามตำแหน่ง

แลให้ชาวเสื่อชาวคลังพิมานอากาศเขาเสื่อเอาพรมมาปูท้องพระโรง แลปูเสื่อทิมดาบทั้ง ๖ ทิมด้วย แลที่ศาลาลูกขุนซ้ายขวานั้นให้จ่าศาลาเอาเสื่อมาปูให้เต็ม แลให้มหาดไทยกลาโหม เอาพรมมาปูณศาลาลูกขุน แลให้ชาวแตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ เข้าไปเตรียมสำหรับประโคมริมท้องพระโรง

แลให้พระคลังมหาสมบัติเอาเจียดทอง เจียดนาก เจียดถม เข้าไปตั้งตามตำแหน่งน่าแขกเมืองกราบถวายบังคม

ทั้งนี้เปนการใหญ่ให้มีหาดไทยกลาโหมจัดแจง กรมวังเปนสารวัดตรวจตราให้สมควร อย่าให้อัปรยศแก่แขกเมืองได้

ฝ่ายทหารเกณฑ์เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด กลองชนะลงไปรับพระราชสาส์นณกำปั่นวิลันดา๔๖มาขึ้นประตูท่าช้าง แล้วให้พนักงานสี่ตำรวจเชิญพระเสลี่ยงงา แลสัปทน ปี่กลองชนะคู่แห่ถือปืนเดินเท้าแห่พระราชสาส์น แลรับแขกเมืองฝรั่งปัศตุกันเข้ามาประตูพิมานเทเวศร์ ตามถนนมาถึงประตูสุวรรณบริบาลแล้วเลี้ยวมา (หลัง) ศาลาลูกขุนเข้าประตูพิมานไชยศรี แลเกณฑ์ปี่กลองแตร แลนั่งริ้วกาลบาศรับเสด็จออกแขกเมืองฝรั่งปัศตุกันณวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ ปีมเมียอัฐศก เปนคน ๑๓๕๓ คนในนี้ คือ :-

รับพระราชสาส์นมาทางเรือ เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด ตำรวจใหญ่ขวา พลพาย ๔๕ ปี่กลองชนะ ๒ คู่ รวม ๔๙ คน

แห่พระราชสาส์นทางบก สี่ตำรวจหามพระเสลี่ยง ๘ สัปทน ๑ (รวม ๙ คน) ปี่กลอง ปี่ ๑ กลองชนะ ๕ คู่ แตรงอน ๒ คู่ (แตรฝรั่ง ๒ คู่) รวม ๑๕ คน ถือปืนแห่น่า ทนายเลือกแสงปืน ๓๐ คู่ รวม ๖๐ คน รวมกระบวรแห่พระราชสาส์นทางบก ๘๔ คน

(ริ้ว) เสด็จออกแขกเมือง (คน) ยืนสองข้างประตู ประตูพิมานเทเวศร์ ๕๐ ประตูพิมานไชยศรี ๕๐ รวม ๑๐๐ คน ยืนริมสองข้าง ๒๐๐ คน คนนั่งริ้วกาลบาศ ๔ กอง ๆ ละ ๒๐๐ รวม ๘๐๐ คน ปี่กลองจ่าปี่ ๒ จ่ากลอง ๒ กลองชนะ ๑๐๐ รวม ๑๐๔ คน แตรรับแลส่งเสด็จแตรงอน ๘ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่๔๗ รวม ๑๖ คน รวมคนริ้วเสด็จออกแขกเมือง ๑๒๒๐ คน

คิดเลขฝ่ายทหาร พันทนายแลไพร่มิพอ ขอเลขไพร่หลวงฝ่ายพลเรือน (แล) คนกรมพระราชวังบวร ฯ (สมทบด้วย)

เกณฑ์รักษาประตูพิมานเทเวศร์ใส่เสื้อใส่หมวก ถือปืนคาบศิลา พันทนายตำรวจในซ้าย ๒๕ ขวา ๒๕ รวมประตูใน ๕๐ คน ยืนประตูพิมานไชยศรี ใส่เสื้อใส่หมวก ถือปืนคาบศิลา พันทนายตำรวจใหญ่ซ้าย ๑๕ ขวา ๑๕ รวม ๓๐ พันทนายตำรวจนอกซ้าย ๑๐ ขวา ๑๐ รวม ๒๐ รวม ๔๐ คน

เกณฑ์ยืนริมถนน แต่ประตูพิมานเทเวศร์ (มา) ตามถนนเลี้ยวริมถนนน่าศาลาลูกขุนถึงประตูพิมานไชยศรี ตำรวจในซ้าย ๒๕ ขวา ๒๕ รวม ๕๐ คน ตำรวจใหญ่ซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ รวม ๔๐ คน ตำรวจนอกซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ รวม ๔๐ คน สนมทหารซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ รวม ๔๐ คน สนมกลางซ้าย ๑๐ ขวา ๑๐ รวม ๒๐ คน พันทนายทหารในซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ รวม ๘๐ คน รวมคนยืนริมถนน ๒๗๐ คน

เกณฑ์นั่งริ้วกาลบาศ ใส่เสื้อใส่หมวก ถือปืนคาบศิลาตั้งอยู่ (น่า) พระที่นั่งเย็นออกมาหว่างโรงช้างพระมหาปราสาท๔๘ หมู่ตำรวจในซ้าย ๖๐ ขวา ๖๐ รวม ๑๒๐ คน หมู่ตำรวจใหญ่ซ้าย ๖๐ ขวา ๖๐ รวม ๑๒๐ คน หมู่ตำรวจนอกซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ รวม ๘๐ คน หมู่สนมทหารซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ รวม ๘๐ คน หมู่สนมกลางซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ รวม ๔๐ คน หมู่ทหารในซ้าย ๔๐ ขวา ๕๔๐ รวม ๘๐ คน หมู่อาสาเดโช ๔๐ หมู่อาสาท้ายน้ำ ๔๐ หมู่เขนทองซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ รวม ๘๐ คน หมู่อาสาซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ รวม ๘๐ คน หมู่รักษาองค์ซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ รวม ๔๐ คน รวม ๒๐ กรม เปน ๘๐๐ คน

ปี่กลองชนะ แตรงอน ๘ แตรวิลันดา ๘ รวมแตร ๑๖ กลองชนะ จ่าปี่ ๒ จ่ากลอง ๒ กลองชนะ ๑๐๐ รวม ๑๒๐ คน

วันพฤหัศบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีมเมียอัฐศก พระยาธรรมานั่งที่โรงปืนนางตานี (ผู้ร่างหมายเกณฑ์) ได้เรียน (ถาม) ว่าคนซึ่งรักษาประตู (แล) ยืนสองข้างถนนแลนั่งริ้วกาลบาศนั้น จะให้ใส่เสื้อใส่หมวกด้วยฤๅประการใด พระยาธรรมาสั่งว่า คนซึ่งเกณฑ์รักษาประตูยืนตามถนน นั่งริ้วกาลบาศ ใส่เสื้อใส่หมวก ถือปืนคาบศิลา แลคนตีกลองชนะ ใส่เสื้อใส่หมวกจงทุกคน เมื่อสั่งนั้นต่อหน้าพระยาบำเรอภักดี พระยาท้ายน้ำ

วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมเมียอัฐศก ด้วยมีหมายนายจำเนียร (สรพลนายเวรกลาโหม) มาว่า พระยาพระคลังรับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่าองตน วิเสน แขกเมืองบัศตุกันจะได้เข้า (เฝ้า) กราบถวายบังคมลาณวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เพลาเช้า

ให้มหาดไทย กลาโหม เกณฑ์ขุนหมื่นมานั่งกาลบาศณทิมดาบชั้นในตำรวจทิมหนึ่ง ๒๐ คน ชาววังทิมหนึ่ง ๒๐ คน รวม (นั่ง) ทิมดาบใน ๔๐ คน ทิมดาบชั้นนอกตำรวจ ๒ ทิม ๆ ละ ๓๐ คน เปน ๖๐ คน ชาววัง ๒ ทิม ๆ ละ ๓๐ คน เปน ๖๐ คน รวม (นั่ง) ทิมดาบนอก ๑๒๐ คน

แลให้เกณฑ์ทนายปืน ใส่เสื้อแดงเสื้อดำ ใส่หมวก ยืนประตู (แล) รายสองข้างถนน แต่ประตูวิเศษไชยศรีจนถึงประตู (พิมานไชยศรี) ทิมดาบชาววัง แลเกณฑ์นั่งกาลบาศที่สนามมวย ๔ กอง ๆ ละ ๕๐๐ เปนคน ๒๐๐๐ ปี่กลองชนะ ๑๐๐

แลให้ขุนนางจีน ขุนนางญวน ขุนนางแขก๔๙ ขุนนางฝรั่ง (มานั่งที่) น่าห้องเครื่องมหาดเล็ก๕๐แถว ๑ เกณฑ์ให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ (ใน) พระราชวังหลวง แลพระราชวังบวร ฯ นุ่งสมปักลาย สมปักยกห่มเสื้อครุย แต่งตัวจงโอ่โถงเข้ามาเฝ้าน่าพระที่นั่งเย็นตามตำแหน่ง๕๑

แลให้เจ้าพนักงานเตรียมจัดแจงการให้งามกว่าเมื่อแรกแขกเมืองเข้ามาถวายบังคมครั้งก่อน แต่ทว่าครั้งนี้จะให้แขกเมืองรับพระราชทานกินเลี้ยงณศาลาลูกขุนฝ่ายซ้าย แล (ให้หา) มโหรี ปี่พาทย์ ลคร มาเตรียมรำให้แขกเมืองดู (ด้วย) ตามรับสั่ง

ฝ่ายทหารเกณฑ์ พันทนายตำรวจเลว แลเลขไพร่หลวง ไพร่สมกาลัง ยืนรักษาประตู (ยืน) ริมถนนแลนั่งริ้วกาลบาศ เลขทหารไม่พอขอเลขพลเรือน ๑๐๙๐ คน ยืนริมประตูพิมานไชยศรี ๕๐ ประตู วิเศษไชยศรี ๕๐ รวม ๑๐๐ ยืนริมถนนสองข้าง ๒๗๐ คน นั่งริ้วกาลบาศ ๑๐ หมู่ ๆ ละ ๒๐๐ คน รวม ๒๓๕๐ คน แตรงอน ๘ แตร แตรวิลันดา ๘ กลองชนะ จ่าปี่ ๒ จ่ากลอง ๒ กลองชนะ ๑๐๐ รวม ๑๒๐ รวม (จำนวนเกณฑ์) ๒๔๗๐ คน

คนนั่งริ้วกาลบาศ อาสาหกเหล่าไปราชการทัพปากแพรก๕๒ คงอยู่ (แต่) แปดตำรวจ (กับ) ทหารในซ้ายขวา (เพราะฉนั้น) นั่งริ้วกาลบาศให้เลิกเสีย ให้เกณฑ์ไว้แต่ยืนริมถนน ยืนริมประตู (แล) นั่งศาลาลูกขุน

วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมเมียอัฐศก มีหมายเวรนายบริบาล (นายเวรกลาโหม) มาว่า ด้วยพระยาพระคลังรับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่า จะได้เชิญพระราชสาส์นณหอมณเฑียรธรรมลงไปถึงสลุป ณวันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง จะได้แห่ทางบกไปลงเรือพระที่นั่ง ณฉนวนกรมพระราชวังบวร ฯ๕๓ แล้วจะรับแห่ลงไปสลุป

แลให้มหาดไทย กลาโหม เกณฑ์ขุนหมื่นคู่แห่ ห่มเสื้อครุยใส่ลำพอก แห่ทางบก ๑๐ คู่ เกณฑ์เรือคู่แห่ยาว ๗ วา ๘ วา ๕ คู่ ปี่ (๑) กลองชนะ ๓ คู่ แตรคู่ ๑ ให้ประโคมแห่ทางบกทางเรือลงไปจนถึงสลุป แลเกณฑ์ให้สี่ตำรวจรับเอาพระเสลี่ยง สัปทน ต่อพันเงินพันทองมาคอยรับพระราชสาส์นณหอพระมณเฑียรธรรม แลให้พันทอง (จัด) เครื่องสูงแห่พระราชสาส์น น่า ๓ คู่ หลัง ๒ คู่ รวมเปน (เครื่องสูง) ๕ คู่ แลให้กรมฝีพายเอาเรือพระที่นั่งผูกม่าน (แล) บรรจุพลพายให้เต็มกำลัง มาเตรียมรับพระราชสาส์นณฉนวนกรมพระราชวังบวร ฯ ไปลงสลุปตามรับสั่ง

(๑๔ รับแขกเมืองไทร)

๏ วันจันทร์ เดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำ ปีมแมนพศก (พ.ศ. ๒๓๓๐) มีหมายเวรนายจำเนียรมาว่า ด้วยเจ้าพระยามหาเสนา ฯ รับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่า เจ้าพระยาไทรบุรีแต่งให้รายาหลงสมิผู้หลาน ๑ รายาศรีสรเตียมตามตา ๑ คุมเอาปืนแลสิ่งของสนอง (พระเดชพระคุณกับ) ดอกไม้ทองเงินเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย จะได้ (เข้าเฝ้า) กราบถวายบังคม (ที่) พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ณวันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีมแมนพศก เพลาเช้า

ให้เกณฑ์ข้าทูลลอองธุลีพระบาทเข้าเฝ้าแลนั่งศาลาลูกขุน ทิมดาบตำรวจใน (ทิมดาบ) ชาววัง แลเกณฑ์พันทนายตำรวจเลว ใส่เสื้อใส่หมวก ถือปืนยืนริมประตู (ยืน) สองข้างถนน แต่ประตูพิมานเทเวศร์ ถึงประตูพิมานไชยศรี แลเกณฑ์ไพร่หลวง ไพร่สมกำลัง นั่งริ้วกาลบาศเหมือนอย่าง (ครั้ง) แขกเมืองกรุงปัศตุกัน

(๑๕ เสด็จพระราชทานพระกฐิน)

๏ วันจันทร์ เดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำ ปีมแมนพศก (พ.ศ. ๒๓๓๐) พระศุภรัตรับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่า พระกฐินหลวงประจำวัดวาอาราม (จะ) เสด็จพระราชทานพระกฐิน ๒๐ (พระ) อาราม (คือ)

วันพุฒ เดือน ๑๑ แรม ๕ ค่ำ วัดบางว้าใหญ่ที่ ๓ วัดบางลำภูที่ ๒ วัดบางขุนพรมที่ ๓ วัดโพธิ์ที่ ๔

วันพฤหัศบดี เดือน ๑๑ แรม ๖ ค่ำ วัดบางว้าน้อยที่ ๑ วัดทองที่ ๒ วัดนาค๕๔ที่ ๓ วัดกลางที่ ๔

วันศุกร์ เดือน ๑๑ แรม ๗ ค่ำ วัดท้ายตลาดที่ ๑ วัดหงส์ที่ ๒ วัดสังข์กระจายที่ ๓ วัดพลับที่ ๔

วันเสาร์ เดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ วัดเลียบที่ ๑ วัดคอกกระบือ๕๕ที่ ๒ วัดลาด (สิงขร) ที่ ๓

วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำ วัดบางยี่เรือไทยที่ ๑ วัดบางยี่เรือรามัญ๕๖ ที่ ๒ วัดปากน้ำในคลองบางหลวงที่ ๓

วันจันทร์ เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ วัดแจ้งที่ ๑ วัดสระเกษ๕๗ที่ ๒

ให้พระอินทรโกษาเอาน้ำมันมะพร้าวถวายพระสงฆ์เสมอองค์ละทนาน เปนพระสงฆ์ ๑๖๕๕ รูป

(๑๖ รับแขกเมืองไทรครั้งที่ ๒)

๏ วันเสาร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอกสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๓๓๑) ด้วยพระยาสุรเสนารับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่า เจ้าพระยาไทรบุรีแต่งให้รายางะผู้เปนหลาน ๑ รายาปัตนาอินทรา ๑ รายาอินทรามหาระตา ๑ คุมเอาปืนคาบศิลา (แล) ดินดำ พรรณผ้า เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย

ฝ่ายทหาร เกณฑ์ขุนหมื่นพันทนายตำรวจเลว ให้ใส่เสื้อปัศตู ใส่หมวก ถือหอก ยืนประตู (รัตน) พิศาล แลถนนน่าศาลาลูกขุนเลี้ยวเข้าประตูพิมานไชยศรี (ทางแขกเมืองเข้า) กราบถวายบังคมณพระที่นังจักรพรรดิพิมาน ณวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีวอกสัมฤทธิศก เปน (คือ)

กรมวังเกณฑ์นั่ง ๘ ชั้น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น (ที่มีตำแหน่งเฝ้า ฯ) รวม ๖๔

(ฝ่าย) ทหารเกณฑ์ (คน) ยืนประจำประตูแล (สองข้าง) ถนนตำรวจใน ซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ รวม ๘๐ คน ตำรวจใหญ่ ซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ รวม ๘๐ คน ตำรวจนอก ซ้าย ๓๐ ขวา ๓๐ รวม ๖๐ คน สนมทหาร ซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ รวม ๔๐ คน ทหารใน ซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ รวม ๔๐ คน ทนายเลือกหอก ซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ รวม ๔๐ คน รวมคนยืนประจำประตูแลสองข้างถนน ๓๔๐ คน

(นั่ง) ทิมดาบชาววังชั้นนอก คนในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล๕๘ ทิมหนึ่ง ๖๐ คน

(นั่ง) ทิมดาบตำรวจในชั้นนอก คนในกรมพระราชวังหลัง ๓๐ ในกรมหลวงเทพหริรักษ์ ๑๕ ในกรมหลวงจักรเจษฎา ๑๕ รวมทิมหนึ่ง ๖๐ คน

นั่งทิมดาบตำรวจในชั้นนอก คนในกรมหลวงนรินทร์รณเรศ ๒๐ ในกรมหลวงอิศรสุนทร ๒๐ ในกรมพระยาเทพสุดาวดี ๑๐ ในกรมพระศรีสุดารักษ์ ๑๐ รวมทิมหนึ่ง ๖๐ คน

(นั่ง) ทิมดาบตำรวจในชั้นนอก ตำรวจใหญ่ ซ้าย ๑๕ ขวา ๑๕ รวม ๓๐ ตำรวจนอก ซ้าย ๑๕ ขวา ๑๕ รวม ๓๐ รวมทิมหนึ่ง ๖๐ คน

ฝ่ายพลเรือนเกณฑ์ (คน) นั่งบนศาลาลูกขุนฝ่ายซ้าย คนกรมมหาดไทย ๑๕ กรมม้าซ้ายขวา ๒๕ กรมเมือง ๕ กรมราชบัณฑิต ๕ กรมท่า ๒๐ กรมพระคลังมหาสมบัติ ๑๕ กรมล้อมวัง ๓๐ นั่งเฉลียงศาลาลูกขุนฝ่ายซ้าย คนกรมโหร ๒ กรมสรรพากรใน ๓ กรมสรรพากรนอก ๓ กรมสนม (พลเรือน) ซ้าย ๗ ขวา ๑๐ รวม ๑๗ กรมอาสาวิเศษ ซ้ายขวา ๑๒ กรมเกณฑ์หัดแสงปืน ๒๐ รวมนั่งศาลาลูกขุนฝ่ายซ้าย ๑๕๐ คน

นั่งบนศาลาลูกขุนฝ่ายขวา กรมกลาโหม ๑๕ กรมอาสาเดโช ๑๕ กรมอาสาท้ายน้ำ ๑๕ กรมเขนทองซ้ายขวา ๒๐ กรมอาสาซ้าย ๑๐ ขวา ๕ รวม ๑๕ กรมบ้านใหม่ ๕ กรมโพธิ์เรียง ๕ กรมช่างเขียนซ้ายขวา ๔ กรมอาสายี่ปุ่น ๒ กรมช่างหล่อ ๒ กรมช่างบุ ๒ กรมช่างปั้น ๒ กรมสัสดี ๑๐ นั่งเฉลียงศาลาลูกขุนฝ่ายขวา กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งซ้ายขวา ๑๐ กรมสนมทหารซ้ายขวา ๑๐ กรมสนมกลางซ้ายขวา ๔ กรมนา ๖ กรมหมอ ๑๐ กรมช้างซ้ายขวา ๑๐ รวมคนนั่งศาลาลูกขุนฝ่ายขวา ๑๕๐ คน

(๑๗ ล้อมวงเสด็จกฐิน)

อธิบาย

เรื่องนี้ที่จริงเปนเรื่องเดียวกันกับว่าด้วยการพระกฐินที่กล่าวมาแล้ว แต่เปนการต่างปีกันจึงแยกกันอยู่ ผู้ที่จดหมายนี้ประสงค์จะจดธรรมเนียมราชการต่าง ๆ ไว้เปนตำรา เมื่อปีมแม พ.ศ. ๒๓๓๐ ได้จดเรื่องพระกฐินไว้เพียงรายชื่อวัดกับเรื่องจ่ายน้ำมันถวายพระสงฆ์ ถึงปีระกาจึงได้จดเรื่องล้อมวงเสด็จ ฯ กฐินลงตำรา แต่ปีระกานี้ในต้นฉบับเขียนลงศกว่า ตรีนิศก คือตรงกับจุลศักราช ๑๑๖๓ (พ.ศ. ๒๓๔๔) สงไสยว่าจะผิด ที่ถูกเห็นจะเปนปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑ (พ.ศ. ๒๓๓๒) เพราะเรื่องต่าง ๆ ที่จดในต้นฉบับเรียงกันตามลำดับปีมา แลเรื่องนี้อยู่ข้างน่าปีกุญตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ (พ.ศ. ๒๓๓๔) จึงเข้าใจว่าที่ถูกจะเปนปีระกาเอกศก

อนึ่งลำดับวันที่เสด็จพระราชทานพระกฐินนั้น โดยปรกติย่อมแก้ไขทุก ๆ ปี รายวัดที่ปรากฏในปีระกานี้ ไม่เหมือนกับเมื่อปีมแม คือเดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ วัดบางว้าใหญ่ที่ ๑ วัดบางว้าน้อยที่ ๒ วัดทองที่ ๓ (วันแรม ๙ ค่ำ) วัดพระยาธรรมที่ ๑ วัดนาคกลาง๕๙ ที่ ๒ วัดแจ้งที่ ๓ วัดท้ายตลาดที่ ๔ (วันแรม ๑๐ ค่ำ) วัดหงส์ที่ ๑ วัดสังข์กระจายที่ ๒ วัดบางยี่เรือกลาง (จันทาราม) ที่ ๓ วัดพลับที่ ๔ (วันแรม ๑๑ ค่ำ) วัดบางยี่เรือไทยที่ ๑ วัดบางยี่เรือรามัญที่ ๒ วัดปากน้ำที่ ๓ แลจำนวนวันพระกฐินปีระกาลงไว้ในบาญชีนี้แต่ ๔ วัน ขาดอยู่ ๓ วัน เห็นจะเปนด้วยประสงค์แต่จะจดจำนวนคนล้อมวง นอกจากนี้เห็นจะเปนแต่เวียนวงกันไป จึงไม่จดจำนวนวัดเหมือนอย่างคราวปีมแมนพศก

๏ ฝ่ายทหารเกณฑ์เจ้ากรม ปลัดกรม หัวหมื่น ตำรวจเลว แลปืนท้ายพระที่นั่ง จุกช่องล้อมวงสำหรับเสด็จไปพระราชทานพระกฐินณวันเดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ จนถึงเดือน ๑๑ แรม ๑๓ ค่ำ ปีระกาตรีนิศก เปนคน (มีจำนวนต่อไป) ในนี้

กรมตำรวจในซ้าย คนล้อมวง ๒ กอง ๖๔ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก คน ๖ คน

กรมตำรวจในขวา คนล้อมวง ๒ กอง ๓๕ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก คน ๖ คน

กรมตำรวจใหญ่ซ้าย คนล้อมวง ๒ กอง ๒๓ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอกคน ๖ คน

กรมตำรวจใหญ่ขวา คนล้อมวง ๒ กอง ๒๕ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอกคน ๖ คน

กรมตำรวจนอกซ้าย คนล้อมวง ๒ กอง ๕๐ คน

กรมตำรวจนอกขวา คนล้อมวง ๒ กอง ๕๓ คน

กรมสนมทหารซ้าย คนล้อมวง ๒ กอง ๔๔ คน

กรมสนมทหารขวา คนล้อมวง ๒ กอง ๔๔ คน

กรมทหารในซ้าย คนล้อมวง ๒ กอง ๑๘ คน เรือใช้หมื่นจ่าชายสรกล ๑ เลว ๔ รวม ๕ คน

กรมทหารในขวา คนล้อมวง ๒ กอง ๑๘ คน เรือใช้หมื่นจ่าชายสรกล ๑ เลว ๔ รวม ๕ คน

กรมทนายเลือกหอกซ้าย คนล้อมวง ๒ กอง ๒๒ คน เรือใช้หมื่นจบพลไชย ๑ เลว ๗ รวม ๘ คน

กรมทนายเลือกหอกขวา คนล้อมวง ๒ กอง ๓๑ คน เรือใช้ขุนหมื่น ๑ เลว ๗ รวม ๘ คน

กรมรักษาองค์ซ้าย หัวหมื่น ๔ เลวปืนกระสนปราย ๘

กรมรักษาองค์ขวา หัวหมื่น ๔ เลวปืนกระสุนปราย ๘

กรมพลพันซ้าย ๒ กอง ๔ คน

กรมพลพันขวา ๒ กอง ๔ คน

ปืนหามแล่น อาสาเดโชกระบอก ๑ คน ๓ คน

ปืนหามแล่น อาสาซ้ายกระบอก ๑ คน ๓ คน

ปืนหามแล่น อาสาขวากระบอก ๑ คน ๓ คน

เกณฑ์ตามอย่างธรรมเนียม แลพระยาอภัยรณฤทธิทำหางว่าวเกณฑ์ให้รับทอดวัดละ ๒ ตำรวจ ๓ วัด ๖ ตำรวจ ๒ ตำรวจอยู่เวร แล้วกราบเรียนท่านสมุหพระกลาโหม

วันแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๑ วัดบางว้าใหญ่ที่ ๑ ตำรวจในซ้าย ๓๔ ตำรวจใหญ่ขวา ๔๒ รวม ๘๕ คน ทหารในซ้าย ๙ ขวา ๑๐ รวม ๑๙ คน ทนายเลือกหอกซ้าย ๒๔ ขวา ๑๕ รวม ๓๙ คน พลพันซ้าย ๓ ขวา ๓ รวม ๖ คน รักษาองค์ซ้าย ๓ คน ปืน ๒ กระบอก ขวา ๘ คน ปืน ๕ กระบอก รวม ๑๑ คน ปืน ๗ กระบอก (ทนาย) ปืนคาบศิลา ๔๐ รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๑) ๑๖๐ คน

วัดบางว้าน้อยที่ ๑ ตำรวจนอกขวา ๕๓ สนมขวา ๔๔ รวม ๙๗ คน ทหารในซ้าย ๙ ขวา ๑๐ รวม ๑๙ คน ทนายเลือกหอก ๑๒ คน พลพันซ้าย ๓ ขวา ๓ รวม ๖ คน รักษาองค์ซ้าย ๘ คน ปืน ๕ กระบยอก ขวา ๕ คน ปืน ๓ กระบอก รวม ๑๓ คน ปืน ๘ กระบอก รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๒) ๑๔๗ คน

วัดทองที่ ๓ ตำรวจในขวา ๕๔ ใหญ่ขวา ๓๗ รวม ๙๑ คน ทหารในซ้าย ๑๐ ขวา ๑๐ รวม ๒๐ พลพันซ้าย ๓ ขวา ๓ รวม ๖ คน ทนายเลือกหอกซ้าย ๒๓ ขวา ๑๐ รวม ๓๓ คน รักษาองค์ซ้าย ๕ คน ปืน ๔ กระบอก ขวา ๑๑ คน ปืน ๘ กระบอก รวม ๑๖ คน ปืน ๑๒ กระบอก รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๓) ๑๖๖ คน

(วันแรม ๙ ค่ำ) วัดพระยาทำที่ ๑ ตำรวจในขวา ๕๔ ตำรวจใหญ่ขวา ๓๒ รวม ๘๖ คน ทหารใน ๙ คน พลพันซ้าย ๒ ขวา ๑ รวม ๓ คน ทนายเลือกหอกซ้าย ๓๑ ขวา ๑๕ รวม ๔๖ คน รักษาองค์ซ้าย ๖ ปืน ๔ กระบอก ขวา ๑๐ คน ปืน ๖ กระบอก รวม ๑๖ คน ปืน ๑๐ กระบอก รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๑) ๑๕๖ คน

วัดนาคกลางที่ ๒ ตำรวจในซ้าย ๔๓ ใหญ่ซ้าย ๓๖ รวม ๗๙ คน ทหารใน ๙ คน ทนายเลือกหอกซ้าย ๗ ขวา ๑๕ รวม ๒๒ คน พลพันซ้าย ๒ ขวา ๑ รวม ๓ คน รักษาองค์ซ้าย ๖ ขวา ๑๐ รวม ๑๖ คน ปืน ๑๐ กระบอก รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๒) ๑๒๙ คน

วัดแจ้งที่ ๓ ตำรวจนอกซ้าย ๕๐ สนมซ้าย ๔๕ รวม ๙๕ คน ทหารในซ้าย ๑๐ ขวา ๑๓ รวม ๒๓ คน พลพันซ้าย ๑ ขวา ๑ รวม ๒ คน รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๓) ๑๒๐ คน

วัดท้ายตลาดที่ ๔ ตำรวจนอกซ้าย ๕๐ สนมซ้าย ๓๕ รวม ๘๕ คน ทหารใน ๑๐ คน ทนายเลือกหอกซ้าย ๓๑ ขวา ๓๕ รวม ๓๖ คน รักษาองค์ซ้าย ๖ ขวา ๑๐ รวม ๑๖ คน (ตรงจำนวนปืนสมุดต้นฉบับขาด) พลพันซ้าย ๓ ขวา ๒ รวม ๕ คน รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๔) ๑๘๒ คน

(วันแรม ๑๐ ค่ำ) วัดหงส์ที่ ๑ ตำรวจในขวา ๕๔ ใหญ่ขวา ๓๒ รวม ๘๖ คน ทหารในซ้าย ๙ ขวา ๙ รวม ๑๘ คน ทนายเลือกหอกซ้าย ๑๘ ขวา ๑๕ รวม ๓๓ คน พลพันซ้าย ๓ ขวา ๓ รวม ๖ คน รักษาองค์ซ้าย ๖ คน ปืน ๔ กระบอก ขวา ๕ คน ปืน ๓ กระบอก รวม ๑๑ คน ปืน ๓ กระบอก รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๑) ๑๔๔ คน

วัดสังข์กระจายที่ ๒ วัดบางยี่เรือกลางที่ ๓ (เห็นจะพระราชทานในกระบวนไม่เสด็จ หาได้ลงจำนวนคนล้อมวงไว้ในต้นฉบับไม่)

วัดพลับที่ ๔ ตำรวจนอกขวา ๓๘ สนมขวา ๓๖ รวม ๗๔ คน ทหารในซ้าย ๙ ขวา ๑๐ รวม ๑๙ คน ทนายเลือกหอกซ้าย ๑๒ ขวา ๑๔ รวม ๒๖ คน พลพันซ้าย ๓ ขวา ๓ รวม ๖ คน รักษาองค์ซ้าย ๖ คน ปืน ๔ กระบอก ขวา ๖ คน ปืน ๓ กระบอก รวม ๑๒ คน ปืน ๓ กระบอก รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๔) ๑๔๔ คน

(วันแรม ๑๑ ค่ำ) วัดบางยี่เรือไทยที่ ๑ ตำรวจนอกซ้าย ๕๐ สนมซ้าย ๓๐ รวม ๘๐ คน ทนายเลือกหอก ๓๑ คน พลพันซ้าย ๓ ขวา ๓ รวม ๖ คน รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๑ ขาดกรมทหารใน กรมรักษาองค์ไม่ปรากภูในต้นฉบับ คง) ๑๑๗ คน

วัดบางยี่เรือรามัญที่ ๒ ตำรวจในขวา ๕๔ นอกขวา ๓๕ สนมขวา ๓๐ รวม ๑๑๙ คน ทหารในซ้าย ๙ ขวา ๑๐ รวม ๑๙ คน ทนายเลือกหอกซ้าย ๒๙ ขวา ๓๕ รวม ๖๔ คน พลพันซ้าย ๒ ขวา ๒ รวม ๔ คน รักษาองค์ ซ้าย ๒ ขวา ๙ รวม ๑๕ คน รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๒) ๒๒๐ คน

วัดปากน้ำที่ ๓ ตำรวจในซ้าย ๔๖ ใหญ่ซ้าย ๓๖ ใหญ่ขวา ๓๒ รวม ๑๑๔ คน ทหารในซ้าย ๙ ขวา ๑๑ รวม ๒๐ คน ทนายเลือกหอกซ้าย ๑๙ ขวา ๑๕ รวม ๓๔ คน พลพันซ้าย ๒ ขวา ๒ รวม ๔ คน รักษาองค์ซ้าย ๖ คน ปืน ๔ กระบอก ขวา ๕ คน ปืน ๔ กระบอก รวม ๑๑ คน ปืน ๘ กระบอก รวม (คนล้อมวงวัดที่ ๓) ๑๘๓ คน

(๑๘ รับแขกเมืองทวาย สวามิภักดิ์)

อธิบายเรื่อง

เรื่องนี้มีเนื้อความในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๓๔ พระยาทวาย ชื่อมังจันจา เกิดเปนอริกับพม่า จึงพร้อมใจกับกรมการเมืองทวายมาสวามิภักดี์ ขอเอาเมืองทวายมาขึ้นต่อไทย แลครั้งนั้นพระยาทวายแต่งให้กรมการทูตถือสุพรรณบัตรอักษรสาร แลคุมเครื่องบรรณาการเข้ามาถวาย เครื่องบรรณาการนั้นพระยาทวายจัดตามประเพณีพม่า คือนอกจากสิ่งของต่าง ๆ มีนางกุลธิดาเปนชั้นเอกคน ๑ ชั้นโท ๒ คน พร้อมด้วยสาวใช้ข้าคนอิก ๕๗ รวมเปน ๖๐ คน แลให้พระสงฆ์ ๑๐ รูปมากับทูต ให้มาเปนพยานการที่ว่าสวามิภักดิ์โดยสุจริตนั้นด้วย ที่ในกรุง ฯ จึงจัดกระบวนพาหนะที่กล่าวในนี้ ออกไปรับพวกทวายที่แม่น้ำน้อยเมืองไทรโยคพาเข้ามากรุงเทพ ฯ

๏ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีกุญตรีนิศก (พ.ศ. ๒๓๓๔) เกณฑ์ไพร่หลวงไทยมอญ (ไป) รับแขกเมืองณแม่น้ำน้อย พันจันท์ (แล) นายชูรอง (เวร) เกณฑ์

เรือศรีสักหลาดรับองค์นาง ฝีพายมอญ บโทน ๑ พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายมอญ ๓๐ รวม ๓๕ คน

เรือศรีสักหลาดรับพระสงฆ์ บโทน ๑ พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองหลวงสุนทรสาลี ๒๐ กองพระพิพิธเดชะ ๑๐ รวม ๓๕ คน

เรือดั้งตำรวจในซ้าย สมิงอังวะมังศรีคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาพระราม ๓๖ รวม ๔๐ คน (มี) ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือดั้งตำรวจในขวา สมิงพัดตะบะคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาพระราม ๓๐ รวม ๓๔ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือดั้งตำรวจใหญ่ซ้าย สมิงโยคราชสายสมรคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองหลวงสุเรนทรวิชิต ๕ กองพระพิพิธเดชะ ๑๐ กองพระยานครอินทร์ ๑๕ รวม ๓๔ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือดั้งตำรวจใหญ่ขวา พระยาพระรามคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาพระราม ๓๕ รวม ๓๙ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือดั้ง (กรม) กลองชนะ (สมิง) สุรจอคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาเกียรติ์ ๓๕ รวม ๓๙ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือกัน (กรม) สัสดีซ้าย พระยาอุดมโยธาคุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาพระราม ๓๕ รวม ๓๙ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือกัน (กรม) สัสดีขวา (สมิง) ธนูศิลป์คุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ รวม ๔ พลพายกองพระยาเกียรติ์ ๓๕ รวม ๓๙ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือดั้ง (กรม) เกณฑ์หัดแสงปืน พระยานครอินทร์คุม พันหัว ๒ พันท้าย ๒ พลพายกองสมิงปราบเมืองมาร ๕ กองพระยาศรีราชบุตร ๕ กองพระยานครอินทร์ ๑๐ กองพระยาเกียรติ์ ๑๕ รวม ๓๕ คน ปืนหามแล่น ๒ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒๐ กระบอก

เรือกราบ (ที่ ๑) ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระยาเสนาภิมุข ๑๕ รวม ๑๗ คน

เรือกราบ (ที่ ๒) ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระยามหานุภาพ ๑๕ รวม ๑๗ คน

เรือกราบ (ที่ ๓) ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระยามหานุภาพ ๕ กองพระยาเสนาภิมุข ๕ กองพระมหาเทพ ๕ รวม ๑๗ คน

เรือกราบ (ที่ ๔) ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระยาศรสำแดง ๑๕ รวม ๑๗ คน

เรือกราบ (ที่ ๕) ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระยาศรีราชบุตร ๑๕ รวม ๑๗ คน

เรือกราบ (ที่ ๖) ลำ ๑ พันหัว ๑ พันท้าย ๑ พลพายกองพระมหาเทพ ๑๕ รวม ๑๗ คน

(รวมทั้งกระบวนเปนเรือ ๑๖ ลำ ตัวนายกองมอญคุมเรือ ๘ นาย ฝีพาย ๔๗๕ คน)

(๑๙ แห่พระธาตุเมืองทวาย)

อธิบาย

เรื่องทูตทวายเข้ามาเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๓๔ ในหนังสือพระราชพงศาวดารปรากฎแต่ว่ามีพระสงฆ์เข้ามาด้วย ๑๐ รูป ความพึ่งปรากฏในหนังสือนี้ว่า พระยาทวายให้พระสงฆ์ที่เข้ามาครั้งนั้น เชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถวายด้วย เมื่อรับราชทูตเข้ามาถึงเขตรจังหวัดกรุงเทพฯ จึงโปรดให้จัดเรือกระบวรแห่ไปรับพระบรมสาริริกธาตุที่วัดบางกก (นอกด่านบางขุนเทียน) อิกกระบวร ๑ แห่มาขึ้นที่ท่าช้าง แล้วมีกระบวรแห่ยกมาถึงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำนวนเกณฑ์มีแจ้งอยู่ในรายเกณฑ์ที่ปรากฏต่อไปนี้ :-

๏ วัน (ไม่ได้ลงไว้ในต้นฉบับ) ปีกุญตรีนิศก (พ.ศ. ๒๓๓๔) พันจันท์หัวพันมหาดไทยเกณฑ์เรือพระที่นั่งกิ่งกรมพระราชวังบวร ฯ แลเรือครุธ (คู่ชัก) เรือโขมดยา เรือกราบมาลง (เปน) เรือกลองแขก (แล) ลง (เปน) เรือคู่แห่รับพระบรมสารีริกธาตุซึ่งมาแต่เมืองทวาย ลงเรือพระที่นั่งแห่มาแต่วัดบางกกมาขึ้นที่ท่าช้าง ณวัน (ในต้นฉบับไม่ได้ลงวัน) เดือน ๔ ปีกุญตรีนิศก เปนเรือพระที่นั่งกิ่งกรมพระราชวังบวร ฯ ลำ ๑ เรือครุธวังหลวงคู่ ๑ เรือดั้งวังหลวง ๒ คู่ วังน่า ๕ คู่ วังหลังคู่ ๑ รวมเรือดั้ง ๘ คู่ เรือกราบ (คู่แห่) วังหลวง ๙ คู่ วังน่า ๑๐ คู่ ต่างกรม ๒ คู่ รวมเปนเรือกราบ ๒๑ คู่ (กระบวรเรือทั้งสิ้น) ๖๑ ลำ

ทหารพลเรือนเกณฑ์แห่พระบรมสารีริกธาตุ (เมื่อ) มาถึงประตูท่าช้าง แห่ทางบกแต่ประตูท่าช้างตามถนนขึ้นมาเข้าประตูวิเศษไชยศรี ไปณพระวิหารใหญ่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณวัน (ในต้นฉบับไม่ได้ลงวัน) เดือน ๔ ปีกุญตรีนิศก

เปนคนทหารได้เกณฑ์ สี่ตำรวจหามพระเสลี่ยง ๘ (คน) ถือธงสามชายน่า ๓๐ คู่ หลัง ๒๐ คู่ รวม ๑๐๐ คน กลองชนะจ่าปี่ ๑ กลอง ๕ คู่ รวม ๑๑ คน แตร แตรงอน ๒ คู่ แตรฝรั่ง ๒ คู่ รวม ๘ คน

เปนคนพลเรือนได้เกณฑ์คู่แห่เดินเท้า (เดิน) น่า ๕๐ คู่ (เดิน) หลัง ๒๐ คู่ รวม ๑๔๐ คน รวมกระบวรแห่พระบรมสารีริกธาตุทางบก ๒๖๗ คน

(๒๐ เสด็จออกแขกเมืองทวาย)

เรื่องทูตทวายเข้าเฝ้าความที่ปรากฏในหนังสือนี้แตกต่างกับหนังสือพระราชพงศาวดารเปนข้อสำคัญอยู่อย่าง ๑ ด้วยในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เสด็จออกรับทูตทวายที่มุขเด็จพระมหาปราสาท แต่ในหนังสือนี้ว่าเสด็จออกพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ เหมือนอย่างเสด็จออกแขกเมืองโปรตุเกศเฝ้าทูลลาแลเมื่อรับแขกเมืองไทรคราวแรก ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น หมายเกณฑ์รับแขกเมืองทวายมีความจดไว้ในต้นฉบับดังต่อไปนี้ :-

๏ ทหาร พลเรือน กรมวัง เกณฑ์เจ้าพระยาแลพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ไทย แขก ฝรั่ง มอญ ฝ่ายทหารพลเรือนพระราชวังหลวง แลกรมพระราชวังบวร ฯ กรมพระราชวังหลวง แลข้าเจ้าต่างกรมฝ่ายน่าฝ่ายใน ใส่สนับเพลานุ่งสมปักลาย สมปักยก ใส่เสื้อครุยขาว กินเจียดกินพานตามบันดาศักดิ์ (ประจำชั้นนอก) ชั้นในนั่งศาลาลูกขุนซ้ายขวา ทิมดาบตำรวจใน ทิมดาบกรมวัง แลเกณฑ์ขุนหมื่นพันทนายตำรวจเลว (แล) ไพร่ ใส่เสื้อปัศตู เสื้อแดง หมวกดำ ถือปืน ถือหอก ถือดาบ โลห์ รักษาประตูแลยืนริมถนน แลนั่งริ้วกาลบาศ แลปี่กลอง (ชนะ) แตรงอน แตรวิลันดา เมื่อแขกเมือง (ทวาย) มาถวายบังคมณพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ณวัน (ไม่ได้ลงไว้ในต้นฉบับ๖๐) เดือน ๔ ปีกุญตรีนิศก คนกรมวังเกณฑ์ข้าราชการเฝ้า ฝ่ายซ้าย ๑๐๐ ฝ่ายขวา ๑๐๐ รวม ๒๐๐ ข้าราชการ (นั่ง) ทิมดาบ ตำรวจใน ๓๐ (นั่ง) ทิมดาบตำรวจวัง ๓๐ รวม ๖๐ คน

ทหารเกณฑ์ (ขุนหมื่นไพร่) รักษาประตูวิเศษไชยศรี ๕๐ ประตูพิมานไชยศรีชั้นใน๖๑ ๕๐ ประตูพิมานไชยศรีชั้นนอก ๕๐ รวม ๑๕๐ (ขุนหมื่นไพร่) ยืนริมถนนสองข้าง แต่ประตูวิเศษไชยศรีจนถึงประตูพิมานไชยศรี ๒๐๐ นั่งริ้วกาลบาศกองละ ๕๐๐ คน ๔ กองเปน ๒๐๐๐ คน แตรงอน ๔ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ รวม ๑๖ คน กลองชนะจ่าปี่ ๒ จ่ากลอง ๒ กลอง ๑๐๐ รวม ๑๐๔ คน

พลเรือนเกณฑ์ ข้าราชการ (นั่ง) ศาลาลูกขุนซ้าย ๑๕๐ คน ศาลาลูกขุนขวา ๑๕๐ คน (นั่ง) ทิมดาบตำรวจในชั้นนอก ๒ ทิม ๑๒๐ คน (นั่ง) ทิมดาบชาววังชั้นนอก ๒ ทิม ๑๒๐ คน รวมเปนคน ๕๐๐ คน

เกณฑ์นั่งริ้วกาลบาศหว่างพระมหาปราสาทกับพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ใส่เสื้อใส่หมวก ถือปืนคาบศิลา ถือดาบโลห์ ตำรวจในถือปืนซ้าย ๑๐๐ ขวา ๑๐๐ รวม ๒๐๐ คน ตำรวจใหญ่ถือปืนซ้าย ๑๐๐ ขวา ๑๐๐ รวม ๒๐๐ คน ตำรวจนอกถือปืนซ้าย ๑๐๐ ขวา ๑๐๐ รวม ๒๐๐ คน สนมทหารถือปืนซ้าย ๑๐๐ ขวา ๑๐๐ รวม ๒๐๐ คน ทหารในถือปืนซ้าย ๑๐๐ ขวา ๑๐๐ รวม ๒๐๐ คน สนมกลางซ้าย ๕๐ ขวา ๕๐ รวม ๑๐๐ คน รักษาองค์ซ้าย ๕๐ ขวา ๕๐ รวม ๑๐๐ คน อาสาเดโช ๑๐๐ อาสาท้ายน้ำ ๑๐๐ อาสาซ้าย ๑๐๐ อาสาขวา ๑๐๐ เขนทองซ้าย ๑๐๐ ขวา ๑๐๐ รวม ๒๐๐ คน ดั้งทองซ้าย ๑๐๐ ขวา ๑๐๐ รวม ๒๐๐ คน แตรงอน ๔ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ รวม ๑๖ คน กลองชนะ จ่าปี่ ๒ จ่ากลอง ๒ กลอง ๑๐๐ รวม ๑๐๔ คน รวมเปนคนนั่งกาลบาศ ๒๑๒๐ คน

พันทนายตำรวจเลวยืนริมถนน ตำรวจในซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ รวม ๔๐ คน ตำรวจใหญ่ซ้าย ๑๕ ขวา ๑๕ รวม ๓๐ คน ตำรวจนอกซ้าย ๑๕ ขวา ๑๕ รวม ๓๐ คน สนมทหารซ้าย ๑๕ ขวา ๑๕ รวม ๓๐ คน ทหารในซ้าย ๓๐ ขวา ๓๐ รวม ๖๐ คน สนมกลางซ้าย ๕ ขวา ๕ รวม ๑๐ คน รวมคนยืนริมถนน ๑๙๐ คน

พันทนายยืนรักษาประตู ๓ ประตู ประตูวิเศษไชยศรี ตำรวจในซ้าย ๒๕ ขวา ๒๕ รวม ๕๐ คน ประตูพิมานไชยศรีชั้นนอก ตำรวจใหญ่ซ้าย ๒๕ ขวา ๒๕ รวม ๕๐ คน ประตูพิมานไชยศรีชั้นใน ตำรวจนอกซ้าย ๑๕ ขวา ๑๕ รวม ๓๐ คน สนมทหารซ้าย ๑๐ ขวา ๑๐ รวม ๒๐ คน รวนคนรักษาประตู ๓ ประตู ๑๕๐ คน

ฝรั่งอยู่บนป้อม ป้อมจักรเพ็ชร ๑๕ คน ป้อมผีเสื้อ ๑๕ คน ป้อมมหาฤกษ์ ๑๕ คน ป้อมมหายักษ์ ๑๕ คน ป้อมตรีเพ็ชร ๑๕ คน ป้อมอากาศคงคา ๑๕ คน ป้อมจักรกฤษณ์ ๑๕ คน ป้อมเขื่อนขันธ์ ๑๕ คน รวม ๘ ป้อมเปนคน ๑๒๐ คน ปืนรายเกณฑ์เพียงเท่านี้.

----------------------------

หมดฉบับเพียงเท่านี้

  1. ๑. คือท้องพระโรงพระราชวังเดิม เวลานั้นแรกเสวยราชย์ ยังไม่สร้างกรุงเทพ ฯ

  2. ๒. ในทำเนียบว่านายไกรภักดี

  3. ๓. คำว่าหุ้มสีสักหลาดนี้ เค้าหุ้มแพร ๆ เปนตำแหน่งในมหาดเล็ก หุ้มสีสักหลาด เห็นจะเปนตำแหน่งในฝีหาย

  4. ๔. ในทำเนียบว่านายแก้วภักดี

  5. ๕. ในต้นฉบับว่า คชสีห์ ซ้ำกันไป เห็นว่าที่ถูกคงจะเปนราชสีห์

  6. ๖. ในต้นฉบับเขียน กันอย่า อย่างไรจะถูกสงไสยอยู่

  7. ๗. ขุนแก้ว ขุนทอง เปนเจ้ากรมช่างดอกไม้ซ้ายขวา

  8. ๘. เวลานั้นสมเด็จพระสังฆราชอยู่วัดบางว้าใหญ่ คือวัดระฆังเดี๋ยวนี้ พระธรรมธิรราชมหามุนี ที่พระพนรัตน์อยู่วัดหงส์

  9. ๙. ในต้นฉบับเขียนทอดห้น แปลไม่ออกจึงแก้ตามความ

  10. ๑๐. ตรงนี้ต้นฉบับลบ คาดว่าจะเปนเรือพระกฐิน

  11. ๑๑. ในต้นฉบับมีชื่อกรมเหมือนข้างน่าทุกกรม จำนวนคนก็เท่ากัน.

  12. ๑๒. เวลานั้นคลองคูพระนครเห็นจะยังขุดไม่แล้ว จึงเสด็จวัดสระเกษทางสถลมารค

  13. ๑๓. แห่พระกฐินแต่ก่อน กระบวรแห่ผ้าไตรไปน่า แล้วกระบวรแห่เสด็จตามไป พึ่งเลิกเมื่อรัชกาลที่ ๔

  14. ๑๔. ตัวสี เปนคนจำพวก ๑ ในตำรวจ แต่โบราณมีคนในฝีพายอิกจำพวก ๑ เรียกว่าแขนลาย

  15. ๑๕. ที่ว่าเปนการปรกติ เห็นจะหมายความว่ามิใช่กระบวนพยุหยาตราชึ่งมีแต่บางปี.

  16. ๑๖. ตรงนี้ต้นฉบับลบ คงเปนชื่อข้าราชการ เพราะมีเลข ๑ อยู่จึงคาดว่าจะเปนหลวงนรินทรเสนีฝ่ายทหาร ด้วยข้างหลังต่อไปเปนฝ่ายพลเรือน.

  17. ๑๗. ดูจะเปนทำนองโคมตราอย่างเช่นแขวนงานวิสาขะบูชา

  18. ๑๘. วันแลเดือนไม่ปรากฎในต้นฉบับ แต่เข้าใจว่าคงอยู่ในระหว่าง แต่เดือนอ้ายจนเดือน ๔ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ เพราะวางตำรานี้ไว้ระหว่างนั้น

  19. ๑๙. ตรงที่สร้างวัดกัลยาณมิตร

  20. ๒๐. เดี๋ยวนี้เรียกว่าคลองบางไส้ไก่

  21. ๒๑. เรียกว่าคลองขุดใหม่นี้ เข้าใจว่าคลองคูกรุงธนบุรีที่ต่อคลองบางกอกใหญ่

  22. ๒๒. ในต้นฉบับมีรายชื่อกรมเหมือนฝ่ายซ้าย

  23. ๒๓. ว่า ๑๗ ประตู เห็นจะเปนทั้งประตูชั้นนอก ทั้งพระราชวังหลวงแลพระราชวังบวร ฯ

  24. ๒๔. คือถนนน่าพระธาตุ

  25. ๒๕. คือถนนน่าพระลาน

  26. ๒๖. คือถนนน่าพระลาน

  27. ๒๗. คือถนนท้ายวัง เข้าใจว่าเวลานั้นบ้านเจ้าพระยารัตนาพิพิธอยู่ตรงสวนกุหลาบ

  28. ๒๘. เห็นจะอยู่ตรงหลังวัดอรุณ

  29. ๒๙. อยู่ริมโรงพยาบาลศิริราช

  30. ๓๐. ยอดจำนวนเกินต้นฉบับ ๑๐ องค์

  31. ๓๑. จะหมายความว่า เขียนตัดเส้นระบายสี ฤๅตัดพระทรายให้เปนรูปทรงสงไสยอยู่

  32. ๓๒. พระวิหารหลวงพระศรีสรรเพ็ชญ์มี ๓ หลัง พระวิหารใหญ่ คือหลังกลาง

  33. ๓๓. ในต้นฉบับเขียน พระประถมเจดีย์ ที่ถูกคงเปน พระสถูปเจดีย์ คู่กับพระปรางค์

  34. ๓๔. ในต้นฉบับว่าเครื่องเขียน เห็นว่าคงจะเปนช่างเขียน จึงทำประดับประดา

  35. ๓๕. เปนเวลาแรกสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงก่อพระทรายน่าวิหารพระแก้วมรกฏ คือน่าพระอุโบสถทุกวันนี้.

  36. ๓๖. หอพระเชษฐบิดรนั้น เล่ากันว่าอยู่ตรงหอพระนาคในวัดพระแก้ว แต่ที่กล่าวตรงนี้ ดูเปนเอาแบบอย่างครั้งกรุงเก่ามาว่า ดังจะเห็นต่อไปข้างหลัง ไปถึงข้างปลายจึงกล่าวว่าแห่ออกประตูวิเศษไชยศรี

  37. ๓๗. ในต้นฉบับเขียน “บนทายพงวำอาลักษณ์” ดังนี้ คิดไม่เห็นว่าจะเปนอะไรอื่น

  38. ๓๘. ในต้นฉบับเขียน ผ้าทอร

  39. ๓๙. ในต้นฉบับเขียน ครั้งนั้น เห็นว่าครั้งนี้จึงจะได้ความ.

  40. ๔๐. ที่เสด็จ ฯ ออกแขกเมืองแต่เช้า เปนประเพณีมาแต่ครั้งกรุงเก่ามีปรากฏในจดหมายเหตุเรื่องราชทูตลังกาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ พิมพ์อยูในหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ ในลังกาทวีป.

  41. ๔๑. ในต้นฉบับบางแห่ง เรียกประตูพิมานเทเวศร์ว่า ประตูทวารเทวศร์ แลเรียกประตูพิมานไชยศรีว่า ประตูวิเศษไชยศรี แรกเห็นนึกว่าชื่อเดิมจะเปนเช่นนั้น ครั้นพิจารณาไปเห็นว่าเพราะเขียนผิด ด้วยในต้นฉบับนี้เอง แห่งอื่นเรียกชื่อตรงอย่างทุกวันนี้ก็มี.

  42. ๔๒. ที่เรียกถนนโรงปืนนางตานีในนี้ คือถนนจักรีจรัลทุกวันนี้นั้นเอง

  43. ๔๓. ที่เรียกว่าสนามมวย กล่าวกันว่าสนามหลังวัดพระแถ้ว แต่ในหมายนี้ตอนท้ายว่าปรากฏว่านั่งกาลบาศที่อื่น

  44. ๔๔. คือนอกกำแพงแก้วด้านเหนือพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

  45. ๔๕. ตรงนี้ทำให้เข้าใจว่า เสด็จออกแขกเมืองที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์เหมือนครั้งหลังซึ่งจะปรากฏต่อไป แต่เสด็จออกในท้องพระโรง จะเอาเครื่องสูงไปตั้งข้างนอกไม่ถูกที่ เข้าใจว่าเดิมเห็นจะกะเสด็จออกพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ แล้วเปลี่ยนเปนออกในท้องพระโรง การที่แก้หมายยังจะเห็นได้ตรงเกณฑ์นั่งกาลบาศอิกแห่ง ๑

  46. ๔๖. ว่าพระราชสาส์นโปตุเกศมาด้วยเรือกำปั่นวิลันดาอย่างนี้ เข้าใจว่าโปตุเกศเจ้าเมืองหมาเก๊าให้ผู้เชิญพระราชสาส์นโดยสานเรือพ่อค้าวิลันดาเข้ามา

  47. ๔๗. เหตุใดจึงไม่มีสังข์ น่าสงไสยอยู่

  48. ๔๘. แผนที่กล่าวตรงนี้ คือสนามน่าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททุกวันนี้นั้นเอง แต่ข้างต้นได้กล่าวไว้แห่ง ๑ ว่านังกาลบาศที่สนามมวย เห็นจะเปลี่ยนแปลงเปนให้เข้าไปนั่งสนามใน เพราะเสด็จออกในท้องพระโรง.

  49. ๔๙. ในต้นฉบับว่า ขุนนางเขมร เห็นจะเขียนผิด มีแห่ง ๑ ว่าข้างต้นว่าขุนนางแขก

  50. ๕๐. คืออยู่นอกกำแพงแก้วด้านเหนือพระที่นั่งอมรินทร์ ฯ

  51. ๕๑. รับแขกเมืองคราวที่กล่าวนี้ เมื่อรับพระราชสาส์นเสด็จออกในพระที่นั่งอมรินทร์ ฯ เมื่อทูตทูลลาเสด็จออกพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ อย่างเสด็จออกมุขเด็จครั้งกรุงเก่า

  52. ๕๒. เวลานั้นกำลังเตรียมทัพรบพม่าคราวรบที่ท่าดินแดง

  53. ๕๓. ที่แห่พระราชสาส์นไปลงเรือที่ฉนวนวังน่านี้แปลกนักหนา จะเปนเพราะเหตุใดยังคิดไม่เห็น

  54. ๕๔. คือวัดนาคเก่า อยู่เคียงกับวัดกลาง ในคลองมอญฝั่งเดียวถัน ภายหลังรวมเปนวัดเดียวกัน จึงเรียกว่า วัดนาคกลาง จนทุกวันนี้

  55. ๕๕. คือวัดยานนาวาทุกวันนี้

  56. ๕๖. วัดบางยี่เรือไทย คือวัดอินทาราม วัดบางยี่เรือมอญ คือวัดราชคฤห์ วัดจันทาราม เรียกว่าวัดบางยี่เรือกลาง

  57. ๕๗. เวลานี้คลองคูเมืองขุดแล้ว จึงเสด็จกฐินวัดสระเกษเรือ

  58. ๕๘. ในต้นฉบับว่า กรมพระราชวังหลวง เห็นว่าเขียนผิดเพราะต่อกับวังหลัง.

  59. ๕๙. ชั้นนี้วัดนาคกับวัดกลางรวมเปนวัดเดียวกันแล้ว

  60. ๖๐. ที่ไม่ได้ลงวันในกำหนดไว้ในต้นฉบับเช่นนี้ เข้าใจว่าหนังสือนี้คัดมาจากร่างหมายเดิม อันเขียนก่อนงาน เพราะยังไม่ทราบกำหนดวันเปนแน่ จึงไม่ได้ลงวันไว้ รายการที่จริงอาจจะแก้ไขไปจากร่างได้เปนต้นว่าในร่างกะว่า จะเสด็จออกพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ต่อมาจะโปรดให้เปลี่ยนเปนเสด็จออกมุขเด็จพระมหาปราสาท ก็อาจจะเปนได้

  61. ๖๑. ประตูพิมานไชยศรี พึ่งปรากฏเปนประตูสองชั้นในเรื่องนี้ เดิมเห็นจะเปนประตูชั้นเดียว แก้เปนสองชั้นต่อภายหลัง.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ