คำอธิบาย

หนังสือเรื่องนี้เปนตำราแบบธรรมเนียมการพระราชพิธี แต่งเมื่อครั้งกรุงธนบุรีบ้าง แต่งเมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์บ้าง ต้นฉบับที่หอพระสมุด ๆ ได้มาเปนสมุดดำ ฝีมือเขียนครั้งรัชกาลที่ ๑ สังเกตได้ว่าเดิมเขียนด้วยเส้นดินสอ ภายหลังมาทำนองตัวหนังสือจะลบเลือนไป ผู้เปนเจ้าของในชั้นหลังจึงให้ลากเส้นหรดานซ้ำตัวหนังสือเดิมลงอิกชั้น ๑

สันนิษฐานว่าหนังสือนี้เดิมเห็นจะเปนหนังสือในกรมมหาดไทย ฤๅกลาโหม ถ้ามิฉนั้นก็กรมวัง กรมใดกรมหนึ่งใน ๓ กรมนี้ ผู้ที่เรียบเรียงคงจะเปนเจ้าพนักงานการพิธี เช่นพันพุฒอนุราช ฤๅพันเทพราช ฤๅขุนอักษร (สมบูรณ) เสมียนตรากรมวัง ซึ่งมีน่าที่กะเกณฑ์ผู้คนในกระบวรการพระราชพิธี มีประสงค์จะจดเปนตำราไว้สำหรับราชการในน่าที่ของตน เมื่อมีแบบแผนการพระราชพิธีอย่างใดปรากฎขึ้น ก็จดเรียบเรียงรักษาไว้ เพราะเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก ตำหรับตำราราชการต่าง ๆ อันตรายสูญไปเสียเกือบหมด พระเจ้ากรุงธนบุรีมาตั้งราชธานีขึ้นใหม่ ต้องมีรับสั่งให้ประชุมข้าราชการครั้งกรุงเก่าซึ่งยังมีตัวเหลืออยู่ ไต่ถามขนบธรรมเนียมราชการต่าง ๆ ซึ่งข้าราชการเหล่านั้นเคยรู้เห็นจำไว้ได้ด้วยความคุ้นเคย จดลงไว้เปนตำราสำหรับราชการในกรุงธนบุรี ต่อมาถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ก็ได้โปรดให้ประชุมข้าราชการเก่าไต่ถามแบบแผนราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ตั้งตำราสำหรับราชการต่อมาเนือง ๆ ดังปรากฎอยู่ในบานแพนกเรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเศก แลพระราชพิธีอุปราชาภิเศกเปนต้น

แบบแผนการพิธีที่ตั้งขึ้นตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า มีปรากฎอยู่ในสมุดเล่มนี้หลายอย่าง ข้างต้นเปนตำรากระบวรเสด็จประพาศครั้งกรุงเก่า คือกระบวรเสด็จทางชลมารค กระบวรเสด็จทางสถลมารคทั้งกระบวรราบ กระบวรช้าง แลกระบวรม้า มีทั้งกระบวรเสด็จขึ้นพระพุทธบาท ตั้งแต่กระบวรเสด็จทางชลมารคจากกรุงเก่า กระบวรเสด็จทางสถลมารคจากท่าเจ้าสนุก แลกระบวรล้อมวงรักษาที่ประทับแรม เรื่องนี้มีบานแพนกปรากฎว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้ถามข้าราชการเก่า เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๒๓

ส่วนจดหมายรายการพระราชพิธีต่าง ๆ ครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น มีตั้งแต่ปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ จนปีกุญ พ.ศ. ๒๓๓๕ เปนรายการ ๒๐ เรื่องด้วยกัน คือ

๑ เกณฑ์แห่พระทราย ปีขาล พ.ศ. ๒๓๓๕

๒ บาญชีเครื่องราชูประโภคสรงสำหรับพระราชพิธีปราบดาภิเศก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๓๕

๓ การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕

๔ การลอยพระประทีปเดือน ๑๑ (จะเปนปีขาล ฤๅปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ ไม่แน่)

๕ กระบวรพระกฐินทางชลมารค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖

๖ กระบวรพระกฐินทางสถลมารค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖

๗ การลอยพระประทีปเดือน ๑๒ (ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖)

๘ พิธีจองเปรียง (ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖)

๙ กระบวรเสด็จงานพระเมรุพระเจ้ากรุงธนบุรี ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖

๑๐ ยิงปืนอาฏานา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖

๑๑ ลักษณก่อพระทรายหลวง ตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า

๑๒ แห่พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีมโรง พ.ศ. ๒๓๒๗

๑๓ รับพระราชสาส์นโปตุเกศ ปีมเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙

๑๔ แขกเมืองไทรบุรีเข้าเฝ้า ปีมแม พ.ศ. ๒๓๓๐

๑๕ พระกะฐินหลวง ปีมแม พ.ศ. ๒๓๓๐

๑๖ แขกเมืองไทรบุรีเข้าเฝ้าครั้งที่ ๒ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑

๑๗ ล้อมวงเสด็จกะฐิน ปีระกา พ.ศ. ๒๓๓๒

๑๘ กระบวรรับแขกเมืองทวายเข้ามากรุงเทพ ฯ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๓๔

๑๙ กระบวรแห่พระธาตุเมืองทวาย ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๓๔

๒๐ แขกเมืองทวายเข้าเฝ้า ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๓๕

ในท้ายต้นฉบับเหลือสมุดเปล่าอยู่ ๔ ใบ เข้าใจว่าจะเปนอันหมดเรื่องที่จดระยะ ๑ จะมีเล่มอื่นต่อไป ฤๅอย่างไรทราบไม่ได้ บางทีจะมีหลายเล่มด้วยกัน แต่ประเพณีแต่ก่อนผู้ใดมีตำหรับตำราอย่างนี้ย่อมหวงแหนไว้เปนความรู้แต่เฉภาะตน ไม่ยอมให้ผู้อื่นลอกคัด เพราะฉนั้นต้นฉบับคงจะมีน้อยทีเดียว เมื่อเวลาล่วงมากว่า ๑๒๐ ปี จึงเปนอันตรายหายสูญไปเสียโดยมาก ที่สมุดเล่มนี้เหลืออยู่จนได้มาถึงหอพระสมุดฯ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ นี้ กรรมการหอพระสมุด ฯ เห็นว่าลาภของบรรดาผู้ศึกษาโบราณคดี อันควรจะยินดี แลควรที่หอพระสมุดฯ จะรีบพิมพ์ในโอกาศแรก.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ