คำนำ

ในงานปลงศพอำมาตย์เอก พระยาวรพุฒิโภไคย (ชุ่ม สุวรรณสุภา) มีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งเคยรับราชการร่วมกับพระยาวรพุฒิโภไคยมาในกระทรวงมหาดไทย รวมจำนวนประมาณ ๕๐ คนด้วยกัน ปราถนาจะบำเพ็ญการกุศลทักษิณานุปทาน อุทิศกัลปนาอานิสงส์แก่พระยาวรพุฒิโภไคย จึงเข้าทุนทรัพย์กัน แล้วมอบฉันทะให้อำมาตย์เอกพระยาสัตยานุกูลมาแจ้งความณหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ว่าจะใคร่พิมพ์หนังสือสำหรับเปนของแจกในงานศพพระยาวรพุฒิโภไคยสักเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุด ฯ ให้พิมพ์ตามประสงค์ ข้าพเจ้ามืความยินดีอนุโมทนาในกุศลเจตนานั้น ด้วยตัวข้าพเจ้าก็อยู่ในผู้หนึ่งซึ่งได้โดยรับราชการร่วมกระทรวงมากับพระยาวรพุฒิโภไคย เต็มใจรับธุระแลเข้าส่วนด้วย.

การเลือกเรื่องหนังสือสำหรับพิมพ์แจกในงานศพพระยาวรพุฒิโภไคย ข้าพเจ้าเลือกได้ตำรากระบวรเสด็จ ฯ แลกระบวรแห่แต่โบราณ เปนหนังสือซึ่งหอพระสมุด ฯ ได้มาใหม่ในปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ นี้ ต้นฉบับที่ได้มาเข้าใจว่าเดิมเปนของกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ แต่เปนตำราเขียนไว้ครั้งรัชกาลที่ ๑ เหตุที่ข้าพเจ้าเลือกหนังสือเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าพระยาวรพุฒิโภไคย ได้เปนตำแหน่งพันพุฒอนุราชมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เคยเปนหัวน่าพนักงานการกะเกณฑ์แห่แหนในกระทรวงมหาดไทย มากว่า ๓๐ ปี จนกระทั่งเลิกถอนน่าที่ไปจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อโปรดให้แก้ไขระเบียบกระทรวงเสนาบดีในรัตนโกสินทรศก ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) นับว่าเปนผู้ชำนาญการต่าง ๆ ที่กล่าวในตำรานั้น สมควรจะพิมพ์เนื่องในงานศพของพระยาวรพุฒิโภไคยได้ ข้าพเจ้าจึงให้พิมพ์ตำรากระบวรเสด็จ ฯ แลกระบวรแห่แต่โบราณ จัดไว้ในหนังสือจำพวกลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ นับเปนภาคที่ ๑๐ ด้วยประการนี้.

ประวัติพระยาวรพุฒิโภไคย

พระยาวรพุฒิโภไคย (ชุ่ม สุวรรณสุภา) ท ม, รัตนมปร๔, รจพ, เกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีฉลูตรีศก พ.ศ. ๒๔๘๔ เปนบุตรพระศรีกาฬสมุด มีมารดาชื่อสุด เปนธิดาหลวงพิพิธ ม่วง น้องชายเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงห์เสนี) เพราะฉนั้นพระยาวรพุฒิโภไคยจึงเปนญาติวงศ์ทางสกุลสิงห์เสนีด้วย พระยาวรพุฒิ ฯ ได้เล่าเรียนอักขรสมัยชั้นต้นในสำนักพระอาจารย์ทิม ที่วัดสุทัศนเทพวราราม ครั้นเมื่ออายุ ๑๔ ปี ผู้ปกครองสกุลส่งไปฝึกหัดวิชาเสมียนที่ในกรมมหาดไทย เสมออย่างว่าเข้าโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในสมัยนั้น ศึกษาอยู่จนอายุได้ ๑๘ ปี จึงถวายตัวเช่นมหาดเล็กวิเศษในรัชกาลที่ ๔ รับราชการอยู่ในเวรศักดิ์

ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ เจ้าพระยานิกรบดินทร ฯ ที่สมุหนายก กราบบังคมทูลขอไปรั้งตำแหน่งพันศุขสกลราช หัวพันมหาดไทยฝ่ายเหนือ ด้วยเห็นว่าเคยศึกษาราชการมหาดไทยมาแต่ก่อน ได้รั้งตำแหน่งพันศุขสกลราชอยู่จนถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิขึ้นเปนพันพุฒอนุราช ตำแหน่งหัวพันกระทรวงมหาดไทยแลกลาโหมแต่ก่อนมาเปนแต่รับประทวนเสนาบดีตั้ง พึ่งได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนทีแรกเมื่อพระยาวรพุฒิโภไคยเปนพันพุฒอนุราช ด้วยพระบาทสมเด็จ ฯ พรระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า เปนมหาดเล็กวิเศษจะให้รับประทวนเสนาบดีหาควรไม่.

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก พระยาวรพุฒิโภไคยยังเปนพันพุฒอนุราช ได้ไปราชการกับเจ้าพระยาภูธราภัยในการสร้างป้อมเมืองปราจิณฯ ครั้ง ๑ ได้ไปปิดน้ำกับเจ้าพระยาภูธราภัยอิกครั้ง ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้มีน่าที่โดยเสด็จพระพุทธบาทคร่งแรก แลต่อมาได้เปนข้าหลวงไปปิดน้ำกับเจ้าพระยารัตนบดินทรอิกครั้ง ๑

ตำแหน่งที่เรียกว่าหัวพันนี้ แต่โบราณเปนทำนองนายทหารผู้ช่วยในกองเสนาหลวง มีในกลาโหม ๔ คน มหาดไทย ๔ คน ประจำน่าที่ต่างกัน หัวพันมหาดไทย ที่ ๑ พันพุฒอนุราช เปนเจ้าน่าที่ในการจัดกระบวรคน (บรรดาสังกัดขึ้นฝ่ายพลเรือน) ที่ ๒ พันภานุราช เปนพนักงานจัดกระบวรช้าง ที่ ๓ พันเภาอัศวราช พนักงานจัดกระบวรม้า ที่ ๔ พันจันทนุมาตย์ พนักงานสำรวจทาง ส่วนหัวพันฝ่ายกลาโหม ที่ ๑ พันเทพราช เปนพนักงานจัดกระบวรคน (บรรดาสังกัดขึ้นฝ่ายทหาร) ที่ ๒ พันทิพราช เปนพนักงานจัดที่สำนัก (เรียกว่าพนักงานตำหนัก) ที่ ๓ พันอินทราช เปนพนักงานจัดเครื่องสรรพยุธ ที่ ๔ พันพรหมราช เปนพนักงานจัดกระบวรเรือ ในเวลาบ้านเมืองว่างศึกสงคราม หัวพันคนอื่น ๆ ไม่สู้มีกิจธุระในน่าที่มากเหมือนพันพุฒอนุราช แลพันเทพราช เพราะต้องสำรวจบาญชีไพร่พลที่เข้าเวรรับราชการตามน่าที่ ให้รู้ว่าในเดือนไรมีจำนวนไพร่พลประจำราชการอยู่เท่าใด อิกประการ ๑ ถ้ามีราชการจรเกิดขึ้นซึ่งจะต้องกะเกณฑ์ใช้สอยผู้คน ดังเช่นมีการแห่แหนเปนต้น ก็เปนน่าที่ของพันพุฒอนุราช แลพันเทพราชจะต้องจ่ายผู้คนไปสำหรับราชการนั้น ๆ ตำแหน่งพันพุฒอนุราชกับพันเทพราชทั้ง ๒ นี้จึงสำคัญกว่าหัวพันตำแหน่งอื่น

มาถึงรัชกาลที่ ๕ ครั้งเมื่อกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงเปนตำแหน่งรองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงพระคลังขอให้พันพุฒอนุราชแลพันเทพราชมีน่าที่เพิ่มเติมขึ้นอิกอย่าง ๑ เหตุด้วยแต่ก่อนมาไพร่พลคนใดไม่สมัคมาเข้าเวรรับราชการ มีประเพณียอมให้เสียเงินจ้างคนรับราชการแทนตัวได้ โดยอัตรากำหนดเดิอนละ ๖ บาท ไพร่พลคน ๑ ต้องรับราชการปีละ ๓ เดือน ถ้าไม่เข้ามารับราชการก็ต้องเสียเงินปีละ ๑๘ บาท เรียกกันแต่ก่อนว่าปีละ ๔ ตำลึง ๒ บาท เงินประเภทนิ้ตกเรี่ยเสียหายกลายไปเปนผลประโยชน์ของเจ้าหมู่มูลนายเสียโดยมาก เพราะเวลามีราชการจรเกณฑ์เรียกคนมาใช้ เจ้าหมู่ก็จ้างใคร ๆ มาแทนตัวชั่วเวลาที่ทำการวันหนึ่งสองวัน ยังได้เศษเปนกำไรอยู่ กระทรวงพระคลังจึงเพิ่มน่าที่ให้พันพุฒอนุราช พันเทพราช เปนพนักงานสำรวพเร่งเงินค่าราชการที่ไพร่ยอมเสียแทนแรงส่งพระคลังด้วย เมื่อเพิ่มน่าที่ขึ้นดังกล่าวนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งพันพุฒอนุราชขึ้นเปนพระวรพุฒิโภไคย แลเลื่อนตำแหน่งพันเทพราชขึ้นเปนพระอุไทยเทพธน เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ คงทำราชการตามน่าที่ทั้งเก่าใหม่ต่อมา

ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๑๑ (พ.ศ .๒๔๓๕) ทรงพระราชดำริห์แก้ไขระเบียบกระทรวงเสนาบดีให้มีเปน ๑๒ กระทรวง แลให้กระทรวงมหาดไทยมีน่าที่แต่จัดการปกครองหัวเมืองอย่างเดียว ถอนน่าที่อย่างอื่น เปนต้นว่าการที่จัดกระบวรแห่แหนแลสำรวจเร่งเงินค่าราชการ อันอยู่ในน่าที่ของพระวรพุฒิโภไคยมาแต่ก่อนนั้น ย้ายไปอยู่ในกระทรวงอื่นๆ ตัวข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงเรื่องประวัตินี้ ก็ย้ายจากกระทรวงธรรมการมาเปนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในขณะเมื่อจัดการเปลี่ยนแปลงคราวนั้น จึงได้จัดให้พระยาวรพุฒิโภไคย (เวลานั้นยังเปนพระวรพุฒิโภไคย) ทำการในน่าที่พนักงานบาญชีเงิน คือเบิกแลจ่ายเงินเดือนกระทรวงมหาดไทยทั้งในกรุงฯ แลหัวเมือง แลเร่งเรียกเงินส่วยซึ่งยังค้างอยู่ตามหัวเมืองส่งพระคลังด้วย

ในที่นี้เปนโอกาศที่สุดที่จะได้กล่าวถึงเรื่องประวัติของพระยาวรพุฒิโภไคย ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องอันเนื่องด้วยพระยาวรพุฒิโภไคยแซกลงในเรื่องประวัติสักหน่อยหนึ่ง คือเมื่อข้าพเจ้าจะไปรับราชการกระทรวงมหาดไทยครั้งนั้น มีผู้ที่ชอบพอกันได้บอกเล่าให้ฟังหลายคน ว่าในกระทรวงมหาดไทยนั้นมีคนสำคัญอยู่ ๒ คน คือพระยาราชวรานุกูล อ่วม เวลานั้นยังเปนพระยาศรีสิงหเทพอยู่คน ๑ พระวรพุฒิโภไคยคน ๑ คนทั้ง ๒ คนนีเปนผู้ชำนาญราชการในกระทรวงมหาดไทยยิ่งกว่าผู้อื่น แต่พระวรพุฒิโภไคยนั้น ใครเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้วเปนต้องรักทุกคน ตั้งแต่เจ้าพระยานิกรบดินทร ฯ เปนต้น ตลอดมาจนเจ้าพระยาภูธราภัย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ แลเจ้าพระยารัตนบดินทร ฯ ล้วนโปรดปรานแลรักใคร่พระวรพุฒิโภไคยมาทั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังก็นึกปลาดใจ จึงตั้งใจจะสังเกตว่าความที่กล่าวนั้นจะเปนเพราะเหตุใด แลจะอาจเปนถึงตัวข้าพเจ้าด้วยฤๅไม่ ข้าพเจ้าเข้าไปรับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทยไม่ช้านานเท่าใด ก็ชอบพระยาวรพุฒิโภไคยตามอย่างท่านผู้ใหญ่แต่ก่อน เพราะพระยาวรพุฒิโภไคยเปนผู้มีความสามารถในกิจการ ถ้ามอบธุระให้ทำการงานอย่างใดมักทำสำเร็จได้ดังผู้ใหญ่ประสงค์อย่าง ๑ อิกอย่าง ๑ เปนผู้ที่ซื่อตรงต่อน่าที่ ถ้าเห็นการอย่างใดจะเสื่อมเสียไม่เพิกเฉย มักกระซิบตักเตือนผู้ใหญ่ แลกล้าขัดขวางผู้ใหญ่ในเวลาที่ไม่เห็นชอบด้วย แต่รู้จักใช้ถ้อยคำที่มิให้ขัดใจผู้ใหญ่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคุณสมบัติทั้ง ๒ อย่างนี้ที่เปนเหตุให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงรักใคร่พระยาวรพุฒิโภไคยทุกพระองค์ทุกท่าน การที่ชอบพระยาวรพุฒิโภไคยไม่แต่เสนาบดีเท่านั้น ถึงข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยบรรดาที่ได้มีตำแหน่งฤๅน่าที่เกี่ยวข้องกับพระยาวรพุฒิโภไคย ที่ผู้ใดจะไม่ชอบพระยาวรพุฒิโภไคยก็เห็นจะไม่มี ความที่กล่าวนี้มีหลักฐานอาจจะอ้างได้ด้วยการที่พิมพ์หนังสือเล่มนี้แจกในงานศพพระยาวรพุฒิโภไคย ผู้ที่ได้บริจาคทรัพย์ถ้าว่าโดยบันดาศักดิ์ก็มีตั้งแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ แลเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ลงมาจนขุนหมื่น ถ้าว่าโดยตำแหน่งก็หลายกระทรวงทบวงการ มีทั้งเสนาบดี อุปราช ปลัดทูลฉลอง แลสมุหเทศาภิบาล ลงมาจนข้าราชการที่รับพระราชทานแต่เบี้ยบำนาญก็มากด้วยกัน ล้วนแต่ที่ได้เคยร่วมราชการมากับพระยาวรพุฒิโภไคยในสมัยอันหนึ่งแต่ก่อนด้วยกันทั้งนั้น

จะแสดงเรื่องประวัติของพระยาวรพุฒิโภไคยต่อไป ใน ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) เมื่อกลับจากตรวจราชการหัวเมืองเหนือ พระยาวรพุฒิโภไคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ถึง ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปนข้าหลวงออกไปพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) ณเมืองพระตะบอง แลโปรด ฯ ให้เปนผู้กำกับการแบ่งมรฎกด้วย เพราะพระยาวรพุฒิโภไคยเกี่ยวเนื่องเปนวงศ์ญาติทางฝ่ายพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ ปลัด ซึ่งบุตรเจ้าพระยามุขมนตรี (เกษ สิงห์เสนี) พระยาวรพุฒิโภไคยไปราชการคราวนั้นกลับมา ได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบันดาศักดิขึ้นเปนพระยาวรพุฒิโภไคย แลได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามเลื่อนขึ้นเปนชั้นที่ ๓ ต่อมาได้รับพระราชทานยศเปนอำมาตย์เอก

พระยาวรพุฒิโภไคยรับราชการประจำกระทรวงมหาดไทยมาจนปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ เมื่ออายุได้ ๖๐ ปี มีอาการโรคในอุระเกิดขึ้น หมอตรวจเห็นว่าถ้าขืนทำการหนักต่อไป จะกลายเปนวรรณโรคภายใน พระยาวรพุฒิโภไคยกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งราชการประจำ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญแต่นั้นมา

เมื่อพระยาวรพุฒิโภไคยออกจากตำแหน่งราชการประจำแล้วอาการที่ป่วยค่อยคลายขึ้น ยังมีแก่ใจมาช่วยราชการในกระทรวงมหาดไทยอิกเนือง ๆ ได้รับราชการในตำแหน่งเปนหัวน่าก็อิกหลายครั้ง คือได้เปนข้าหลวงไปตามเสด็จกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จตรวจหัวเมืองเหนือถึงมณฑลภาคพายัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ครั้ง ๑ รับน่าที่กรรมการลงไปจัดการแบ่งมรฎกเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ที่เมืองนครศรีธรรมราชครั้ง ๑ รับเปนนายงานทำซุ้มแลปรำของกระทรวงมหาดไทยในงานพระราชพิธีทวีธาภิเศกครั้ง ๑ รับเปนนายงานทำซุ้มของกระทรวงมหาดไทยในงานรับเสด็จพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากยุโรปอิกครั้ง ๑

เมื่อพระยาวรพุฒิโภไคยออกจากราชการประจำแล้ว ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๔ แลได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามเลื่อนขึ้นเปนชั้นที่ ๒ นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา แลเหรียญที่รฦกในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ตามบันดาศักดิอิกหลายอย่าง

พระยาวรพุฒิโภไคยป่วยถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ คำนวณอายุได้ ๘๐ ปี สิ้นเนื้อความในปวะวัติของพระยาวรพุฒิโภไคย (ชุ่ม สุวรรณสุภา) เพียงนี้

ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่เคยร่วมราชการมากับพระยาวรพุฒิโภไคย ได้พร้อมใจกันบำเพ็ญการกุศลอุทิศผลานิสงส์ให้แก่มิตรผู้ที่ล่วงลับไปยังปรโลกแล้วนั้น ทั้งที่ได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้ปรากฎแก่มหาชนได้อ่านกันแพร่หลาย หวังใจว่าผู้ที่ได้รับหนังสือเรื่องนี้ไปอ่านคงจะพอใจแลอนุโมทนาด้วยทั่วกัน.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ