พระราชนิพนธ์
ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา
เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันเสาร์เดือนสิบสองขึ้นค่ำหนึ่งปีขาลสัมฤทธิ๑๑ศก ศักราช ๑๒๔๐ ปีนี้เปนปีที่ ๗ ตั้งแต่เราได้ขึ้นไปเมืองลพบุรีคราวก่อน เมื่อคราวปีวอกจัตวา๕ศก ศักราช ๑๒๓๔ น้ำมาก เมื่อก่อนนี้ก็ได้คิดว่าจะขึ้นไปเยี่ยมนารายณ์ราชวังตามเคย แต่หามีช่่องว่างไม่ ด้วยต้องไปที่อื่นเสียบ้าง น้ำน้อยบ้าง ปีนี้เปนปีสมควรที่จะขึ้นไปได้ จึงได้ออกจากกรุงเทพฯ ในวันเสาร์เดือนสิบสองขึ้นค่ำหนึ่ง เพราะจะรีบออกในวันขึ้นค่ำหนึ่งดังนี้ต้องเว้นกฐินหลวงวันสิบสี่ค่ำ เลื่อนขึ้นไปหมดกฐินวันสิบสามค่ำ ขึ้นค่ำหนึ่งจึงได้ทอดกฐินตามรายทางขึ้นมา คือวัดระฆังที่ ๑ วัดราชาธิวาสที่ ๒ วัดเขมาภิรตารามที่ ๓ วัดทั้ง ๓ นี้สมเด็จเจ้าพระยาท่านมาด้วยทุกวัด ข้าราชการแย่งกันรับวัดละ ๕-๖ คน เมื่อออกจากวังนั้นถึง ๓ โมงเศษ ต้องแวะอยู่แห่งละช้า ๆ น้ำเชี่ยวจัดจึงต้องช้าล่าไป มาถึงบางปอินทุ่มหนึ่ง แต่เปนช่องดีไม่ถูกฝน ด้วยในเวลานี้ฝนยังตกเสมอแทบทุกวัน เมื่อมาถึงบางปอิน เห็นน้ำต่ำอยู่กว่าขอบเขื่อนข้างปากสระประมาณ ๕ นิ้วเศษ ถามพระโบราณบุรานุรักษ์๑ ว่าน้ำมากกว่าปีกลายนี้ศอกคืบ เมื่อมาในกลางเรือวันนี้ เปนอย่างร้อนที่สุด ตั้งแต่สังเกตเธอมอเมเตอมา ๕ เดือนไม่เหมือนอย่างนี้เลย ในเรือโสภณภควดี๒ มีเธอมอเมเตอแขวนมาด้วย เวลาหยุดทอดกฐินขึ้นถึง ๑๐๑ ดีกรี เมื่อมาถึงบางปอินแล้วก็ยังร้อนอยู่ เวลาดึกถึง ๘๔ ดีกรี กินเข้าแลพูดเล่นตามเคยเหมือนอย่างมาทุกคราว
วันอาทิตย์เดือนสิบสองขึ้นสองค่ำ กลางวันไม่มีการอะไร ฝนตกมาก เวลาบ่ายจะเดิรไปดูงาร๓ก็ไม่ได้ ต้องลงเรือเล็กพายไปเทีี่ยว เมื่อจวนพลบแล้วกลับมาอยู่ตามธรรมเนียม ไม่ได้ไปวัดไม่ได้ไปศาล เวลาค่ำไปทอดกฐินข้างในเหมือนเมื่อปีกลายนี้ เรือตองปลิวเปนเรือที่นั่ง เรือทิวลมเปนเรือที่นั่งรอง ไปตามคลองในวังออกปากคลองข้างเหนือ ทอดกฐินวัดชุมพลนิกายาราม กลับมาเวลายามหนึ่ง
วันจันทร์เดือนสิบสองขึ้นสามค่ำเช้า ๔ โมงลงเรือโสภณ ฯ ขึ้นไปทอดกฐินกรุงเก่า วัดสุวรรณดารารามที่ ๑ วัดเสนาสนารามที่ ๒ มีพวกสัปบุรุสมากแจกเงินมากเหมือนคราวก่อน มีจำนวนคนผู้ใหญ่ ๒๓๐ คน เด็ก ๓๐ คน รวม ๒๖๐ คน ออกจากวัดเสนาสน์ไปวัดบรมวงศอิศวราราม สมเด็จกรมพระ๔คอยอยู่ที่นั่น ทอดกฐินแล้วปิดทองพระ เบิกพระเนตร กลับมาถึงบางปอินบ่าย ๔ โมง ฝนตกบ้างเล็กน้อยแล้วหาย เวลาเย็นไปดูวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ค่ำฝนตกมาก
วันอังคารเดือนสิบสองขึ้นสี่ค่ำเวลาเช้าสองโมงเศษ ไปบูชาเหมมณเฑียรเทวราชแล้วลงเรือโสภณ ฯ มาวัดบรมวงศ เล่นทุ่งหลังวัดซึ่งสมเด็จกรมพระทรงจัดไว้รับเหมือนเมื่อปีกลายนี้ แต่บัวปีนี้น้อยไปกว่าเมื่อปีกลาย เพราะแต่แรกน้ำน้อย ครั้นน้ำมากโดยเร็วบัวหนีน้ำไม่ใคร่ทัน ถ้ามาเล่นข้างแรมจะมีบัวมากทีเดียว แต่ถึงเดี๋ยวนี้ก็มีอยู่บ้างพอเล่น เลี้ยงกันจนเวลาบ่าย กลับขึ้นมาพบสมเด็จกรมพระที่หน้าโบสถ์สักครู่หนึ่ง แลลงเรือออกจากวัดบรมวงศเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ มาตามลำแม่น้ำแควป่าสัก น้ำแควนี้แต่ก่อนนี้น้อย ราษฎรทำนาต้นปีไม่ได้โดยมาก ต่อปลายระดูที่น้ำมามาก จึงได้ลงมือทำ ต้นเข้ายังต่ำ ๆ สูงพ้นน้ำไม่มากนัก มาประมาณชั่วโมงหนึ่งถ้วนหรือเศษบ้างก็สักเล็กน้อย ถึงพลับพลาพระนครหลวง กรมการกรุงเก่าทำใหญ่หลังหนึ่งทำย่อมหลังหนึ่ง มีปรำที่สำหรับจอดเรือ แต่เราไม่ขึ้นอยู่บนพลับพลา ใช้เรือโบตเหลืองจอดหน้าพลับพลาเหมือนเมื่อไปไทรโยค พอถึงพลับพลา ขึ้นจากเรือไปดูพระนครหลวงทีเดียว ที่พระนครหลวงตั้งอยู่ห่างแม่น้ำสัก ๕-๖ เส้น เขาทำทางไปขึ้นข้างทิศตวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเปนทางราษฎรขึ้นไปนมัสการ
ที่พระนครหลวงนี้ มีในจดหมายราชพงศาวดาร ว่าสร้างเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ หรือรามาธิเบศปราสาททอง ให้ช่างออกไปถ่ายอย่างพระนครหลวงนี้ที่เมืองเขมรเมื่อปีมแมตรีศกจุลศักราช ๙๙๓ ที่สร้างนี้ใกล้วัดเทพจันทร์ เปนที่ประทับร้อนในเวลาเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท เขาจดหมายระยะทางไว้ว่า เสด็จพระราชดำเนิรโดยกระบวรพยุหยาตรา ทรงพระที่นั่งไตรสรมุขพิมานชัยจักรรัตน จากฉนวนน้ำประจำท่าหน้าพระราชวังหลวง ถึงที่ประทับร้อนพระนครหลวง เปนระยะทาง ๓๙๖ เส้น ประทับร้อนอยู่จนเวลาบ่าย ๒ โมง เสด็จไปถึงท่าเจ้าสนุกระยะทาง ๖๖๑ เส้น บ่าย ๔ โมงถึงที่ว่าในพระราชพงศาวดาร ดูเหมือนหนึ่งจะทำเปนที่ประทับอยู่บนนั้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูก็ไม่เห็นว่าจะเปนที่ประทับ ด้วยไม่มีที่ข้างหน้าข้างใน พระระเบียงทั้งสามชั้น ผนังข้างนอกก็ก่อตันไม่มีหน้าต่าง มีแท่นยกพื้นกว้างประมาณศอกเศษ สูงสัก ๒ ศอกตลอดไปรอบพระระเบียง ทำนองเหมือนจะตั้งพระพุทธรูป ตามปราสาทมุม ๆ ก็มีหุ่นพระพุทธรูปปั้นค้างอยู่เปนสำคัญ เห็นว่ามิใช่เปนของราษฎรคิดสร้าง ด้วยพระนั้นก็เปนองค์ใหญ่ หน้าตักอยู่ใน ๓ ศอกเศษ อนึ่งถึงที่นั้นเปนที่สูงแลดูวิวได้โดยรอบคอบ เปนที่สบายก็จริงอยู่ แต่เมื่อก่อพระระเบียงฝาผนังไม่มีช่องหน้าต่าง ตันเสียทั้งสามชั้นแล้ว ก็ไม่สามารถจะแลเห็นสิ่งใดได้ เห็นจะไม่สู้สบายนัก ชรอยว่าพระนครหลวงนี้ จะสร้างเปนวัดตามอย่างเดิมในเมืองเขมร พอให้เปนที่นมัสการขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ที่ประทับนั้นอยู่ริมน้ำมีรากปราสาทอยู่บนที่เนินดินสูง พระพิทักษ์เทพธานี๕ว่าแต่ก่อนยังมีผนังอยู่ ราษฎรพึ่งรื้อเอาอิฐไปทำวัดเสียไม่ช้านัก ได้ให้กรมนเรศร์ไปตรวจดูเห็นเปนอิฐกองใหญ่ จะสังเกตว่าอย่างไรเปนแน่ไม่ได้ แต่ประมาณได้ว่าที่นั้นยาวขวางแม่น้ำขึ้นไป ประมาณแส้นหนึ่ง กว้าง ๑๕ วา แต่ที่กว้างนี้เห็นจะเกินไป บางทีจะเปนด้วยอิฐพังกระจายออกไปมาก หรือจะเปนมุขสั้นสองข้างก็ดูไม่ถนัด แต่เห็นจะเปนข้างหน้าข้างในอยู่ในตัว๖ แลที่พระนครหลวงนี้ ตามคำที่พูดกันนอก ๆ แลที่ตาเห็นในเวลาร้างแล้วฉนี้ เห็นว่าการที่ทำนั้นไม่แล้วสำเร็จเปนแน่ จนบันไดก็ได้ก่อบ้างไม่ได้ก่อบ้างเปนแต่ชักอิฐไว้ ตัวปรางค์์กลางนั้นเห็นจะยังไม่ได้ก่อขึ้นไปเปนแน่ ได้ให้กาพย์๗ตรวจวัดทำแปลนมาดู การที่ทำนั้นเอาอย่างพระนครหลวงเมืองเขมร เปนพระระเบียงสามชั้นยกสูงขึ้นไปเปนลำดับ ชั้นละ ๘ ศอก ชั้นล่างยาวตามเหนือแลใต้สามเส้น กว้างตามตวันตกแลตวันออกเส้น ๑๘ วา คิดแต่ตัวพระระเบียงไม่ได้ คิดทั้งมุมปราสาททิศซึ่งย่อออกไป มุมด้านเหนือทั้งสองมีปราสาทมุมละหลัง ย่านกลางตวันออกตวันตกเหนือมีปราสาทเหมือนกัน แต่ด้านใต้นั้น ชักชานพื้นชั้นล่างกว้างออกไปกว่าพื้น ๓ ด้าน มีปราสาทด้านหน้า ๕ ทั้งกลางเปนชุ้มประตู มีบันไดลักขึ้นด้านละสองบันไดทั้งสี่ด้าน ชั้นที่ ๒ ยาวตามเหนือแลใต้ตวันตกตวันออกเส้น ๑๐ วาสี่เหลี่ยม มีปราสาทมุม ๔ แลปราสาทกลางย่าน ๔ เปน ๘ แต่ด้านใต้นั้นชักพื้นย่อออกมา ๒๑ วา ๒ ศอก มีพนักกำแพงแก้วรอบ มุมย่อเปนไม้ ๑๒ มีแท่นไม้ ๑๒ ตั้ง จะเปนอะไรก็ไม่ทราบ ตรงกลางย่อออกไปเปนไม้ ๑๒ ผ่าซีก จะเปนอะไรก็ไม่ทราบ ชั้นบนนั้นกว้างเส้นหนึ่งสี่เหลี่ยม มีปราสาทมุมแลปราสาทกลางย่านเหมือนชั้นล่าง ในระหว่างปราสาทมุมปราสาทกลางย่านทั้งปวงนี้ มีพระระเบียงชักถึงกัน ข้างนอกเปนผนังก่อชักอิฐเปนลูกมะหวดแต่เปนผนังตัน ข้างในมีเสา ๘ เหลี่ยม ในระหว่างเสามีพนักแล่นตลอดเสาต่อเสา เว้นไว้แต่ที่ช่องอัฒจันท์ ปราสาทมุมชั้นล่างนั้นได้ก่อตลอดถึงยอดแล้ว สัณฐานอย่างปรางค์์เขมรแต่อยู่ข้างจะผอมสักหน่อยหนึ่ง ยังไม่ได้ถือปูน ข้างในเปนโค้งมีหุ่นพระพุทธรูปตั้งอยู่ แต่ปราสาทกลางย่านที่เหลือปรกติอยู่นั้นไม่เห็นมี ที่พังลงไปบ้างรายอยู่เพียงฐานบ้าง บางทีก็จะยังไม่ได้ก่อขึ้นมา บันไดนั้นยังไม่ได้ก่อพื้นชั้นบนชักเอนถมดินเข้าไป ที่ตรงกลางเปนรากปรางค์์กว้าง ๑๐ วาสี่เหลี่ยม เห็นจะยังไม่ได้ก่อขึ้นด้วยใหญ่โตมากนัก ทูลกระหม่อม๘เสด็จมาทอดกฐิน ก็ทรงพระราชดำริห์จะใคร่สร้างต่อไปให้เล้ว แต่ทรงรังเกียจอยู่ ด้วยโบสถ์พระบาทสี่รอยซึ่งมีผู้ไปทำขึ้นไว้บนลานชั้นบนค่อนอยู่ข้างตวันออกกว้าง ๔ วา ยาว ๗ วา จะรื้อเสียก็ไม่ควรจึงได้เลิกไป ที่โบสถ์พระบาทนี้พระพิทักษเทพธานีว่า พระชื่อปิ่นออกไปเมืองพม่าเห็นอย่างพระบาทสี่รอย๙ กลับเข้ามาเรี่ยรายราษฎรทำขึ้น ในโบสถ์นั้นมีพระพุทธรูปอยู่ริมผนังด้านตวันตกสามองค์ แต่เราเห็นควรว่าจะมีสี่แลให้เปนเถากันด้วย จะได้เปนที่ระลึกถึงท่านที่เปนเจ้าของพระบาท แต่เห็นฐานจะไม่พอจึงได้ทำได้แต่สาม ในกลางโบสถ์นั้นเปนอ่างรอยพระบาทสี่รอยเหยียบซ้อนกัน รอยใหญ่ซึ่งเปนรอยตั้งขอบ กว้าง ๔ ศอกคืบ ๗ นิ้ว ยาว ๑๑ ศอก ๖ นิ้ว รอยที่สองเหยียบข้างต้นรอยใหญ่ชิดมาข้างขวาเสมอกัน กว้าง ๓ ศอกคืบ ยาว ๗ ศอก ๓ นิ้ว รอยที่สามเหยียบข้างซ้ายในรอยใหญ่ลึกลงไป กว้าง ๒ ศอกคืบ ๓ นิ้ว ยาว ๖ ศอก ๓ นิ้วกึ่ง รอยเล็กที่ ๔ อยู่ในรอยที่ ๓ กว้างศอกคืบ ๖ นิ้ว ยาว ๓ ศอกคืบ ๖ นิ้ว อธิบายว่าเปนรอยพระบาทพระพุทธเจ้าซึ่งได้ตรัสแล้วในภัทรกัลป์นี้ รอยใหญ่ที่ ๑ เปนรอยพระพุทธกกุสนธ์ รอยที่ ๒ พระพุทธโกนาคมน์ รอยที่ ๓ พระพุทธกัสป รอยที่ ๔ พระพุทธโคดม ที่เทียบรอยพระบาทดังนี้ ว่าตามตำราที่เขาคิดส่วนพระขนาดโต ๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้เปนอันใช้ไม่ได้ ด้วยรู้ว่าพระพุทธเจ้าไม่โตเหมือนยักษ์แน่แล้ว แต่คนซึ่งยังเชื่อแลเลื่อมใสนับถือในพระบาทติดมาแต่ในพระบาทเก่ามากก็ยังนับถือต่อไป เมื่อถึงระดูขึ้นพระบาทคนก็มาแวะบูชาที่พระนครหลวงนี้ด้วยเพียงนี้ เพราะนั้นที่ริมโบสถ์พระบาทสี่รอยข้างเหนือจึงมีศาลาสำหรับพักอยู่ศาลาหนึ่ง มีไม้กวาดหลายสิบอัน สำหรับกวาดรอยพระบาท แลชั้นบนนั้นปลูกต้นลั่นทมไว้ตามมุม ๆ หลายต้น๑๐ เขาปลูกพลับพลาไว้รับแต่เราไม่ได้นั่ง ดูทั่วแล้วกลับมาพลับพลา มีลมหนาวมาสองคืน ที่บางปอินเมื่อคืนนี้ก็หนาวมาก แต่เธอมอเมเตอของเราอยู่ห้องล่างบังลม มี ๘๒ ดีกรี แต่ที่จริงนั้นเราขึ้นไปอยู่ชั้นบนที่ถูกลม คงจะถึง ๗๗-๗๘ ดีกรีเปนแน่ กลางคืนวันนี้ ๗๖ ดีกรี แจกเสื้อกรมการที่ทำงาร แลกินเช้าบนพลับพลา เตเลคราฟมาถึงไม่ทัน นอนเสียแต่หัวค่ำ เตเลคราฟมา ๒ ยาม
วันพุธเดือนสิบสองวันห้าค่ำ ตื่นนอนเช้ารับเตเลคราฟ แล้วลงเรือแหวด ๔ แจวล่องลงไปใต้น้ำเข้าตามลำราง ไปวัดเทพจันทร์ซึ่งได้ออกชื่อมาแต่เดิม อยู่มุขข้างใต้พระนครหลวงไม่ห่างกัน ฟากข้างหนึ่งเปนกุฏิแลโบสถ์ ฟากข้างขวามือเข้าไปเปนเนินอยู่หน่อยหนึ่ง เปนที่ไว้แผ่นศิลา ซึ่งมีเรื่องราวเล่ามาว่าพระจันทร์ลอยน้ำมาถึงหน้าวัด คนลงไปฉุดเท่าใดก็ไม่ขึ้น พระสงฆ์ซึ่งเปนสมภารเปนผู้มีวิชา เอาสายสิญจน์สามเส้นลงไปฉุดขึ้นมาไว้ เปนแผ่นศิลาอยู่จนบัดนี้ แลในที่นี้เห็นจะเปนที่ของพระเจ้าแผ่นดินสร้าง พร้อม ๆ กันกับพระนครหลวง บนหลังโคกมีมณฑปกว้าง ๔ วา ๔ เหลี่ยม มีประตูช่องเดียวเหลือแต่ผนัง รอบนอกมีกำแพงแก้วรอบห่างมณฑปอยู่ ๖ ศอก ตัวแผ่นศิลาที่ว่าเปนพระจันทร์นั้นเปนศิลาแดงหยาบ ๆ คล้ายศิลาราชบุรี รูปร่างเหมือนโม่โรงสีไฟ กลมวัดผ่าศูนย์กลางได้ ๔ ศอกคืบ ๒ นิ้ว หนา ๖ นิ้ว พิงอยู่กับกองอิฐ ที่หน้าแผ่นศิลานั้นสกัดเราะเปนพระเจดีย์ ๒ องค์ พระพุทธรูป ๑ พระเจดีย์องค์ ๑ คงเปนรอยสกัดอยู่ตามเดิม แต่พระพุทธรูปสามองค์กับพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งนั้น เห็นจะมีผู้เอาปูนช่วยปั้นพอก ให้นูนเด่นออกมากว่าหน้าศิลา ปิดทองทั้ง ๕ ใต้นั้นลงมามีลายเปนรอยสลักลาย ในกลางลายมีรูปต่าง ๆ ที่เห็นชัดนั้นเปนปลาสองตัว เหมือนดังเครื่องหมายในราศีมิน จะว่าเปนลายพระพุทธบาทก็ไม่ได้ ด้วยต่อลายนั้นลงมาข้างล่าง มีศิลารอยสลักเปนลวดโค้งเหมือนหนึ่งรอยต้นพระบาท แต่ลายเหล่านี้ไม่เต็มทั้งหน้าศิลามีอยู่บ้างเล็กน้อยลบ ๆ เลือน ๆ ดูแล้วกลับมาเรือ๑๑ เขียนเตเลคราฟตอบ สองโมงสามส่วน ออกเรือจากพระนครหลวง ไปด้วยเรือโบตเหลืองเรือปานมารุตลากเลี้ยวเข้าคลองบางพระครูมาตามลำน้ำ สองข้างเปนท้องทุ่ง มีบ้านเรือนมุงแฝกอยู่ในน้ำบ้างแห่งละ ๕-๖ เรือน มิีวัดบ้าง เวลา ๔ โมง ๒๕ ถึงทเลมหาราชขึ้นเปนทางสามแยก มาทางกลางบางนางร้าก็มาร่วมที่นั้น ที่ทเลมหาราชนั้นเปนทุ่งกว้างใหญ่เหมือนลานเท เลี้ยวข้างขวามือมามีบ้านเรือนมากหลายสิบหลังเรือน มีวัดใหญ่ เรือโบตเหลืองหางเสือหักรออยู่สักครู่หนึ่งจึงได้ไป เวลา ๕ โมง ๑๕ มินิตถึงบ้านเจ้าปลูก มีที่ร้างอยู่ริมทุ่งข้างซ้ายมือ ราษฎรว่าเปนวัดปราสาท แต่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่ามิใช่วัดเปนปราสาทที่ประทับร้อนของสมเด็จพระนารายณ์ สำหรับระยะทางเสด็จพระราชดำเนิรขึ้นมาเมืองลพบุรี เปนปราสาทจตุรมุขมาตามลำน้ำ
พระราชนิพนธ์
๏ วัดวังครั้งโน้นคู่ | เปลี่ยนกัน |
เพราะบมีสำคัญ | เหมาะหมั้น |
เหมือนสงฆ์ผลัดผ้าพลัน | เปนคฤ หัสถ์นา |
อยู่วัดสำรวมครั้น | ศึกขึ้นปีนกำแพง ฯ |
มาอีก ๑๐ มินิตถึงบ้านพิตเพียนมีบ้านเรือนมาทั้งสองฝั่งน้ำ เรือนฝากระดานก็มี ในแถบนี้ราษฎรอาศรัยทำนาแลทำปลามีผลประโยชน์ สร้างวัดก็ใหญ่ ฝีพายมีมาก ต่อขึ้นมาก็มีบ้านราย ๆ มีต้นกล้วยมะม่วงชุมขึ้น มีลอบดักปลาตลอดทาง แม่น้ำแคบกว่าคลองบางกอกน้อย คดไปคดมาจนถึงเปนฮอสชูเรือไฟเลี้ยวยากนัก ถ้าไปสองคุ้งสามคุ้งแล้วจะตัดมาคุ้งหลังได้เร็ว เมื่อมาคราวก่อนมาด้วยเรือแจวปักธงข้างทุกลำ เรือเดิรเลี้ยวไปเลี้ยวมาเห็นกระบวรตลอดงามนักเหมือนดังฉากเขียน อนึ่งท่านเล็ก๑๒แจ้งความว่าชาวเมืองลพบุรีนี้ชอบทอดผ้าป่ามาก ถือกันเปนการบุญแลการสนุกอย่างยิ่ง เมื่อมากลางทางวันนี้ก็พบ ๒-๓ แห่ง แต่ที่แห่งหนึ่งนั้นทำเปนเรือนเล็กๆตั้งในกลางเรือ มีช่อฟ้าใบระกาดาดสีมีเรือแห่ด้วยสัก ๒-๓ ลำ คนแห่นั้นแต่งตัวทั้งหญิงชาย มาตามระยะทางไม่มีสิ่งใดประหลาด มีแต่วัดบ้างบ้านบ้างเปนระยะกันมา เมื่อเกือบจะถึงเมืองลพบุรี แม่น้ำกว้างขึ้นสักหน่อยหนึ่ง แลเห็นพระเจดีย์แลหลังคาวัดมณีชลขันธ์
บ่าย ๒ โมงเศษ ๓ ส่วนถึงตะพานฉนวนนารายณ์ราชวัง คิดเวลาดูมาตั้งแต่พระนครหลวงอยู่ใน ๖ ชั่วโมงเต็ม ๆ พระยาจ่าแสนพระยาสุจริตรักษา พระพิเรนทรเทพ พระพหล๑๓มาคอยรับอยู่ที่ตะพานน้ำ ขึ้นจากเรือในทันใดนั้น มาด้วยเสลี่ยง เข้าประตูเมืองด้านตวันออก มาตามริมกำแพงเลี้ยวเข้าประตูด้านเหนือเข้าในวังตรงไปที่พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาทซึ่งเปนที่เสด็จออก ถวายเครื่องสการสังเวยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วออกไปดูพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ แลสวนหน้าหลังตลอดแล้วกลับขึ้นพระที่นั่งพิมานมงกุฎ
เวลาบ่าย ๓ โมงกินเข้ากลางวันแล้วสมเด็จกรมพระเสด็จมา นั่งพูดอยูกับท่านหน่อยหนึ่ง เวลาเย็นเกือบ ๕ โมงออกทางประตูหน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ไปดูตึกพระเจ้าเหา๑๔แลสิบสองพระคลัง แล้วออกประตูพระราชวังไปวัดมหาธาตุ หรือที่คำราษฎรเรียกว่าวัดหน้าพระธาตุ เที่ยวดูอยู่จนเวลาค่ำ หมายว่าจะไปเทวสถานด้วยแต่เวลาไม่พอ ต้องกลับเข้ามาในวัง
แต่ที่ซึ่งไปดูวันนี้นั้นจะว่าให้ละเอียดในวันนี้ยังไม่ได้ของดไว้ก่อน ด้วยจะต้องตรวจให้มากขึ้นอีกสักหน่อยหนึ่ง เหมือนดังวัดมหาธาตุ ใหญ่โตเหลือที่จะดู ไปวันนี้ได้แต่ส่วนเดียว จะมีสิ่งใดแปลกประหลาดบ้างก็ไม่ทราบ พระพิเรนทรเทพรับไว้ว่าจะทำแผนที่ลงไปให้ดูที่กรุงเทพ ฯ แต่เมืองลพบุรีในเวลาประจุบันนี้ ดูเปนเมืองกันดาร ไม่น่าที่จะตั้งเปนพระนครใหญ่เลย ด้วยในเวลาระดูแล้งน้ำในลำน้ำก็มีเรือเดิรได้อยู่ตั้งแต่เดือน ๗ ถึงเดือนอ้าย ตั้งแต่เดือนยี่ไปถึงเดือน ๖ น้ำในแม่น้ำมีอยู่แต่ที่หน้าวัง แลใต้วังลงไปอีกประมาณ ๓๐ เส้น ก็แห้งเปนหาดเต็มไปทั้งแม่น้ำ ข้างเหนือขึ้นไปก็ไม่มีน้ำ ถ้าเปนดังนี้มาแต่ครั้งก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นไป หรือในครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นก็ดี ข้าราชการไพร่พลก็ขึ้นมาอยู่มาก ๆ จะต้องอดอยากขัดสน ราชการเล่าก็ต้องบังคับบัญชาไปแต่กรุงฯ ลพบุรีนี้เรือซึ่งจะเดิรหนังสือไปมาก็ไม่มีทางแม่น้ำ ถ้ามีเตเลคราฟเหมือนเดี๋ยวนี้เห็นจะอยู่ได้ แต่ครั้งนั้นท่านจะทำอย่างไร ทุกวันนี้เวลาหน้าแล้งกรมการที่เดิรหนังสือราชการ ต้องเดิรไปลงทเลมหาราช ตั้งแต่นั้นจึงลงเรือต่อไปกรุงเทพฯ ส่วนราษฎรซึ่งบันทุกสินค้าไป เขาไปลงบ้านแป้งแขวงเมืองพรหมบุรีเปนทางเกวียน ถ้าระดูน้ำแห้งอยู่ดังนี้แล้วเห็นเปนที่ลำบากที่สุด สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นมาอยู่ที่เมืองลพบุรีนี้ปีหนึ่งถึง ๘ เดือน คือเหมันตระดูคิมหันตระดูวัสสันตระดู ๔ เดือนเท่านั้น จึงเสด็จลงไปอยู่กรุงศรีอยุธยา เมื่อพิเคราะห์ดูก็เห็นว่าแต่ก่อนน้ำเห็นจะไม่แห้งขาดแม่น้ำเหมือนเดี๋ยวนี้ ด้วยลำแม่น้ำดังนี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้จริง ๆ มีตัวอย่าง ว่าแต่ที่ได้เห็นเหมือนดังแต่ก่อน แม่น้ำหน้าเมืองพิจิตรทูลกระหม่อมเสด็จขึ้นไปเมื่อปีขาลอัฐศก ศักราช ๑๒๒๘ คิดมาจนถึงบัดนี้ได้ ๑๒ ปีแล้ว ครั้งนั้น ท่านเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ขาขึ้นไปทางแม่น้ำหน้าเมืองพิจิตร ถึงเรือต้องติดขัดขวางขึ้นไปยากก็จริง แต่ยังขึ้นไปได้ถึงเมืองพิษณุโลก ขากลับกลับทางคลองเรียง ก็แต่ในคำที่เรียกว่าคลองข้างหนึ่งแม่น้ำข้างหนึ่ง ในเวลาที่เสด็จขึ้นไปนั้น คลองเรียงกว้างกว่าแม่น้ำเมืองพิจิตรมากอยู่แล้ว แต่บัดนี้เขายังว่าแม่น้ำเมืองพิจิตรเล็กแคบลงมาก แต่เพียงเรือย่อมๆอย่างเทวาสุรารามหรือสยามอรสุมพลก็เห็นจะไปยากลำบาก เรืออรรคราชเปนไปไม่ได้เปนแท้ แต่คลองเรียงนั้นกว้างใหญ่ขึ้นกว่าแต่ก่อน คำที่ว่านี้ก็เปนแน่แต่ไม่ได้เห็นด้วยตา ถ้าเราได้ไปเองจะได้ปรูฟชัดขึ้น ถึงดังนั้นยังมีพยานอีกอย่างหนึ่งในจดหมายเหตุราชพงศาวดารจดไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตณพระที่นั่งสุทธาสวรรค์มหาปราสาท เมื่อณวันพฤหัสบดีเดือนห้าแรมสามค่ำปีจอจัตวาศกศักราช ๑๐๔๔ พระเพทราชาขึ้นเสวยราชย์๑๕ทำการราชาภิเษกสังเขปแล้ว กำหนดให้ท้าวพระยามุขมนตรีตระเตรียมกระบวรแห่พระบรมศพกลับลงไปกรุง ฯ ถ้าจะว่าโดยอย่างช้าก็คงจะกลับในเดือน ๖ ซ้ำให้เทครัวอพยพสมณพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎรลงไปเสียด้วย จะเปนด้วยเห็นว่าถ้าทิ้งไว้ก็จะมั่วสุมกันทำอันตรายใหญ่โตขึ้นในแผ่นดินเพราะต่างคนต่างถือเปนพวกเปนเหล่ากันอยู่ ครั้งนั้นก็ว่าให้ต้อนไปทางบกบ้างทางเรือบ้าง ถ้าจะไปทางเรือไม่ได้ในเวลาระดูแล้ง ก็คงจะให้ต้อนไปแต่ทางบกทางเดียว หรือถ้าจะรออยู่จนระดูน้ำก็จะต้องไปทางบกไม่ได้ ต้องไปแต่ทางเรือทางเดียว อนึ่งเมื่อหลวงสรศักดิ์ไปลวงเชิญเสด็จเจ้าฟ้าอภัยทศขึ้นมาจากกรุง ฯ เจ้าฟ้าอภัยทศก็มาถึงเมืองลพบุรีนี้ ในวันซึ่งสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตนั้นเองเปนแต่ช้าชั่วโมงลงไป ในจดหมายก็ว่าเสด็จมาด้วยเรือพระที่นั่ง พอจอดที่ขนานน้ำประจำท่า หลวงสรศักดิ์ก็ใช้คนไปคุมพระองค์ มีความชัดอยู่ดังนี้ เห็นว่าน้ำในแม่น้ำเมืองลพบุรีแต่ก่อนนี้ ถึงเปนระดูแล้งก็จะไม่แห้งขาดทีเดียวเหมือนอย่างทุกวันนี้ เปนแต่จะน้อยลงเรือเดิรไปมายาก ที่ตั้งกำแพงเมืองลพบุรีนี้เปนที่ดอนสูงเนื่องติดมาแต่ป่าพระพุทธบาท เปนที่สูงกว่าแห่งอื่นในลำแม่น้ำนี้ถึงที่ตรงกันข้ามฝั่งก็เตี้ย น้ำท่วมเปนที่ทำไร่นาทั่วไปทั้งเมือง สินค้าสิ่งไรนอกจากเข้าก็ไม่มีเปนของมากของใหญ่ มีแต่ป่านซึ่งพวกลาวบ้านดอนปลูกถึงระดูน้ำเก็บลงมาขาย ลูกค้าขึ้นมารับปีละมาก ๆ นอกนั้นมีแต่สินค้าของป่าคือหนังกระบือเขากระบือเปนต้น ก็ไม่มาก สินค้าเหล่านี้มักจะลงทางท่าบ้านแป้งเมืองพรหมมาก ปลาที่ในเมืองบริบูรณ์ทุกอย่างเหมือนอย่างกรุงเก่า แต่ท้องพรหมาสตรซึ่งเปนที่ทุ่งใหญ่เกือบจะเหมือนกับลาดชะโด น่าที่จะมีปลามากแต่ไม่ได้ทำปลาได้เลย ในท้องพรหมาสตรเพราะพื้นดินเปนที่ราบ เวลาน้ำแห้งน้ำก็ไหลบ่าเทลงแม่น้ำหมด ไม่ขังอยู่ได้เปนห้วงเปนดอนเหมือนลาดชะโดปลาจึงไม่มี ตำบลซึ่งทำปลามากในเมืองลพบุรีนั้นแขาว่าที่บางลี่บางขาม น้ำขังเปนห้วงเปนตอนไปเหมือนอย่างลาดชะโด ปลาแห้งปลาย่างออกจากเมืองนี้ปีละมาก ๆ แต่ปลาสลิดไม่ใคร่จะมี ของขายในท้องตลาดซึ่งเปนฝีมือสำหรับเมืองก็มีของฝีมือลาว คือแอบลาวย่ามละว้าผ้าเช็ดหน้าผ้าซิ่นสมุกไม้ต่าง ๆ พวกลาวบ้านดอนทำลงมาขายด้วยลาวในเมืองนี้มีมาก นอกจากสิ่งของเหล่านี้แล้วไม่เห็นมีของสิ่งใดเปนของเกิดในเมือง มีแต่ของกรุงเทพฯ ขึ้นมาขายทั้งสิ้น อนึ่งศิลาเผาปูนที่ไปใช้กินกับหมากที่กรุงเทพ ฯ บันทุกลงไปจากที่นี่มาก คนพากันไปต่อยที่เขาสังกะพ้านหลังเขาสมอคอน ข้างตวันตกเฉียงเหนือของนารายณ์ราชวัง สินค้าอีกอย่างหนึ่งก็คือดินสอพองมีที่เกิดหลายแห่ง คือท่ากะยางคลองบางปี ศิลาสองก้อน แลที่อื่นๆ ทางที่มีดินสอพอง แต่ยังไม่สู้ดี ต้องขุดลงไปอีก ๒-๓ ศอก จนลึกได้ ๔-๕ ศอกแล้วขุดรุ้งไปตามสาย ได้ดินขาวขึ้นมาปั้นเปนก้อนขายตามเล็กตามใหญ่ ร้อยละเฟื้องบ้างเฟื้องสองไพบ้างสลึงบ้างสลึงสองไพบ้าง แต่เวลาเราขึ้นมานี้จะกำหนดราคาเอาเปนแน่ไม่ได้ ดินสอพองกับปูนสองอย่างนี้เมื่อดูที่กองไว้แล้ว ดูเหมือนหนึ่งว่าจะใช้ไม่หมดเลย แต่ที่จริงก็ใช้หมดทุกปี เพราะเราไม่ใคร่จะได้สังเกตในปูนแลดินสอพอง จึงเห็นว่าจะมากเหลือใช้ ที่จริงนั้นใช้อยู่เสมอเปนนิจทั่วกัน เขาจึงว่าอาภัพลับเหมือนปูน มีโคลงว่าไว้บทหนึ่ง
(โคลงสุภาสิตกรมสมเด็จพระเดชาดิศร บท ๓๙๙)
๏ อา สาสุดสิ้นเรี่ยว | แรงกาย |
ภัพ แลผลพังหาย | โหดเข้า |
เหมือน เพลิงตกสินธุสาย | สูญดับ ไปนา |
ปูน ต่อขาดขอดเต้า | จึ่งรู้คุณปูน ฯ |
วันพฤหัสเกือบสิบสองขึ้นหกค่ำเช้าโมงเศษรับเตเลคราฟพระยาราชรองเมือง๑๖เรื่องฝรั่งวิวาทกัน พอสองโมงขึ้นเสลี่ยงไปออกประตูวังด้านเหนือ ไปทางหน้าวัดเสาธงทองไปดูตึกวิชาเยนทร์ทั้งสามส่วนซึ่งได้ส่งให้มิสเตอร์แกรซี๑๗ทำแผนที่มาดู แลอธิบายต่อทีหลัง แต่ตึกปิจุตึกคชสารตึกสี่เหลี่ยมตึกยายจู๋ ซึ่งได้เคยเห็นแต่เล็กๆ เมื่อได้ตามเสด็จกระหม่อมขึ้นมา จำไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหนถามผู้ใดก็ไม่ได้ความ ทีหลังให้พระพิเรนทร์สืบ จึงได้ความว่าตึกปิจุตึกคชสาร เปนกุฏิวัดเสาธงทองทั้งสองหลัง แต่ตึกสี่เหลี่ยมกับตึกยายจู๋นั้นหาไม่พบ๑๘ ตึกยายจู๋นั้นทูลกระหม่อมรับสั่งเล่าว่าชาวเมืองนี้เขาเล่าว่า ถ้าใครไปมองดูแล้วหัวร่อไม่หยุดไม่ได้กลับมาเล่าให้ใครฟังได้ จะเปนอย่างไรในนั้นก็ไม่ทราบ เมื่อคราวก่อนที่เสด็จมาพอรับสั่งขึ้นดังนี้ ก็มีเจ้านายเล็ก ๆ พวกเรารับอาสาจะดูมาก แต่ดูเหมือนว่าที่ตึกนั้นพื้นชั้นล่างไม่มีหน้าต่าง ช่องหน้าต่างสูงอยู่ข้างบนขึ้นไปดูไม่ได้ คเณดูตึกนั้นจะไม่ใหญ่กว่าตึกสองชั้นในหมู่บ้านวิชาเยนทร์ แต่จะชี้ทิศชี้ทางว่าอยู่แห่งใดชี้ไม่ได้ด้วยยังเด็กเหลวไป ตึกวิชาเยนทร์ที่มาดูคราวก่อน ๆ ถางไว้น้อยกว่านี้ คราวนี้เปนถางมากก็จริง แต่เห็นจะไม่หมดหมู่บ้านฝรั่ง คงจะยังมีต่อไปอีก ด้วยแต่ส่วนตึกที่มีชื่อ คือตึกสี่เหลี่ยมตึกเวียนแลตึกปิจุก็ยังหาไม่พบ ในพงศาวดารยังว่าไว้ต่อไปว่า แลตึกฝรั่งอื่นทั้งหลายเปนอันมาก เห็นว่าคงยังจะมีอยู่อีกแต่ยังจะค้นไม่พบ ดูตึกวิชาเยนทร์แล้วออกทางหลังบ้าน เดิรลงไปทางตลาดข้างริมน้ำ มีร้านอยู่หลายร้านขายของสดของแห้ง ย่ามผ้าซิ่นอื่น ๆ บ้างเล็กน้อย เห็นคนเสื้อแดง๑๙เข้าไปอยู่ในโรงโปเปนอันมาก
กลับมาจากนั้นเดิรล่วงพ้นทาง ซึ่งเลี้ยวมาแต่หลังบ้านวิชาเยนทร์ ไปหน่อยหนึ่งถึงศรนารายณ์ ได้เข้าไปดูในโรงฝาก่ออิฐ หลังคาทำจากบังเงาไว้ ในนั้นเปนหลุมลึกลงไปประมาณ ๓ ศอก ศิลาที่ว่าเปนศรนารายณ์ เมื่อกวาดมูลดินที่ตรงหน้าศิลานั้นออก เอามือคลำดูเห็นเหมือนหนึ่งลูกปืนฝังดินอยู่ครึ่งลูก ถ้าจะวัดกว้างตามศูนย์กลางของเสาศิลากลมนั้นได้ ๘ นิ้ว สมเด็จกรมพระแลกรมการแจ้งความว่าเสานี้แต่ก่อนสูง ลึกต่ำกว่าดินลงไปประมาณศอกเกียว ว่าเสานั้นจับคลอนได้น้อย ๆ แต่ดูเหมือนเสานั้นจะยาวปักลงไปในดินลึกมาก ซึ่งสั้นลงไปในดินมากดังนี้ เพราะคนทั้งปวงพากันนับถือว่าขลังเปนเครื่องราง ต่างคนต่างต่อยไปคนละเล็กละน้อยเสมอไป จึงได้หมดลงไปทุกที
ออกจากศรนารายณ์ เดิรเลียบขึ้นไปเลี้ยวทางหน้าบ้านวิชาเยนทร์กับวัดเสาธงทองต่อกัน ไปพระปรางค์์สามยอด ที่พระปรางค์์สามยอดนั้นอยู่บนเนินสูงขึ้นไปหน่อยหนึ่ง รูปร่างพระปรางค์์นั้นก็เหมือนพระปรางค์์ตามธรรมเนียมอย่างอ้วน ๆ เช่นมีในกรุงเก่าโดยมาก สร้างเรียงกันเปนสามองค์ องค์กลางสูง องค์หน้าองค์หลังย่อมลงมาหน่อยหนึ่ง ชักหลังคาถึงกันทั้งสามองค์ฐานเปนฐานเดียว ก่อรวบข้างในเดิรตลอดได้ถึงกันทั้งสาม ตัวพระปรางค์์นั้นก่อด้วยแลงมาก เช็ดหน้าประตูแลกลีบขนุนภาพทั้งปวงใช้ศิลาอย่างศิลาราชบุรี ศิลาเขาสรรพนิมิต๒๐เปนอันมาก ข้างในพระปรางค์์นั้นยกแท่นริมผนังรอบไปตลอดทั้งหลังคาที่ต่อกันตั้งพระพุทธรูปต่าง ๆ มีพระนาคปรกมากกว่าอย่างอื่น ๆ เปนพระพุทธรูปศิลา ตรงปรางค์์ใหญ่กลางออกไปสองข้าง มีวิหารย่อม ๆ หันหลังเข้าทางปรางค์์สามยอดหน้าออกข้างนอกข้างละหลัง ตั้งพระพุทธรูปต่าง ๆ แต่ชำรุดหักพังเสียเปนอันมาก เหลืออยู่แต่ผนังทั้งสองวิหาร
ออกจากพระปรางค์์สามยอดเดิรไปสักสองเส้นสามเส้น ถึงศาลพระกาฬ ที่หน้าศาลนั้นมีต้นไทรย้อยรากจดถึงดินเปนหลายรากร่มชิดดี เขาทำแคร่ไว้สำหรับนั่งพัก๒๑ ต้นไทรนี้เหมือนกับที่บาแรกปัวใกล้เมืองกาลกัตตา แต่ที่บาแรกปัวใหญ่กว่านี้ เปนที่สำหรับไวซรอยแลพวกพ้องไปนั่งเล่น เมื่อเราไปอยู่กับลอดเมโย๒๒ ก็ได้ไปนั่งเล่นในที่นั้น ที่ศาลพระกาฬนี้เปนเนินสูงขึ้นไปมาก มีบันไดอิฐหลายสิบคั่น ข้างบนเปนศาลหรือจะว่าวิหารสามห้อง เห็นจะเปนช่อฟ้าใบระกา แต่บัดนี้เหลืออยู่เพียงผนัง ที่แท่นมีรูปพระนารายณ์สูงประมาณ ๔ ศอก เปนเทวรูปโบราณทำด้วยศิลา ยังมีเทวรูปเล็ก ๆ เปนพระอิศวรกับพระอุมาอีก ๒ รูป ออกทางหลังศาล มีบันไดขึ้นไปบนเนินสูงอีกชั้นหนึ่ง มีหอเล็กอีกหอหนึ่ง มีแผ่นศิลาเปนรูปนารายณ์ทรงครุฑ แผ่นหนึ่งมีรูปนารายณ์ประทมสินธุ์ แผ่นหนึ่งวางเปะปะไม่ได้ตั้งเปนที่
กลับลงจากศาลพระกาฬเดิรมาตามทางเดิม เลี้ยวไปข้างซ้ายมือดูเทวสถาน ที่เทวสถานนั้นก็ก่อเปนปรางค์์อยู่สามยอดเหมือนกัน แต่ไม่ได้ชักถึงกัน พื้นต่อแต่ช่องประตูก่อจุกเสียสามด้าน เปิดไว้ด้านเดียว ในพระปรางค์องค์กลางตามผนังข้างในก่อชักอิฐเปนคูหา ผนังไม่ได้ถือปูนก่ออิฐ แล้วขัดเรียบเหมือนกระเบื้องหน้าวัวไม่เห็นปูน ตั้งแต่ใต้เพดานจนถึงพื้น บนเพดานขึ้นไปก่อตามธรรมเนียม เพดานนั้นยังเหลืออยู่บ้าง ใช้พื้นทาสีดาวจำหลักลายปิดทอง ที่ในกลางปรางค์์มีถนนก่ออิฐขึ้นไปสูงประมาณศอกหนึ่ง ศิลารางโม่วางอยู่ครึ่งแท่งเปนของหักกลาง อีกแผ่นหนึ่งนั้นไปทิ้งอยู่ที่ประตูทางที่จะเข้าไปในปรางค์์ เห็นเปนพระศิวลิงค์ตั้งบนรางโม่ศิลาใหญ่ทีเดียว แต่พระศิวลึงค์นั้นหายไปหาเห็นไม่ เทวสถานนี้เห็นจะเปนของเก่าสำหรับเมืองลพบุรีสืบมาแต่โบราณ ริมเทวสถานมีหอพื้นสองชั้นเปนฝีมือเดียวกันกับวังอยู่ริมนั้นอีกหอหนึ่ง เห็นจะเปนหอเชือกหรือโรงพิธีพราหมณในการคชกรรม ออกจากเทวสถานแล้วกลับเข้ามาในวังทางประตูเดิม
เวลากินเข้ากลางวันแล้วบ่าย ๔ โมงเศษ ขึ้นช้างพังหริ่มผูกกูปเจ้านายขี่ช้างออกจากวังไปตามทางเทวสถาน ข้ามตะพานเรือกคลองท่อไปประตูพเนียด ตามทางที่ไปแลดูสองข้างพื้นแผ่นดินสูงๆ ต่ำๆ เปนโคกเปนเนิน มีศิลาบ้างแต่สีดินนั้นดำน่าชัง ที่เรียกว่าตะพานเรียกนั้นก็เหมือนกันกับตะพานช้างตามธรรมเนียม แต่ก่อขายาวเผื่อน้ำท่วมปูไม้ทั้งต้น เหมือนตะพานช้างทั้งปวง เขาว่าคลองท่อนี้เปนคูเมืองชั้นใน มีกำแพงริมฝั่งคลองท่อข้างในชั้นหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้พังยับไปเสียแล้ว เมืองชั้นในนี้ชรอยจะเปนกำแพงเมืองลพบุรีเดิม แต่ครั้งเปนเมืองลูกหลวงอยู่ ก่อนพระนารายณ์ขึ้นมาสร้าง ครั้นเมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้นมาสร้างเปนพระนคร จึงได้สร้างกำแพงเมืองนอกขึ้นอีกชั้นหนึ่ง แนวประตูพเนียด เพื่อจะให้แขงแรงสมเปนพระนครใหญ่ ที่จะได้ป้องกันข้าศึกศัตรูทั้งภายในภายนอก กำแพงเก่าชั้นในนั้นก็เห็นจะไม่ได้รื้อจะคงไว้เปนกำแพงสองชั้น ดังพระราชดำริห์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงขุดคลองผดุงกรุงเกษมเปนคูพระนครชั้นนอก แล้วจึงสร้างป้อมป้องปัจจามิตร ปิดปัจจานึก แผลงศัตรูร้าย ปราบศัตรูพ่าย ทำลายแรงปรปักษ๒๓ วางไว้เปนระยะ ๆ ตลอดลำคลอง ก็ทรงพระราชดำริห์จะใคร่ก่อกำแพงรอบนอกอีกชั้นหนึ่งตามแนวป้อม แต่เห็นว่าเปนการป่วยการเรี่ยวแรงมากจึงได้งดไว้ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมาอย่างไร ก็คิดตั้งค่ายชักป้อมต่อป้อมให้ถึงกันตลอด ก็จะเปนกำแพงชั้นนอกขึ้นได้ในขณะที่มีราชการ การที่ทรงพระราชดำริห์นี้เห็นจะเหมือนกันกับเมืองลพบุรีทีเดียว ที่กำแพงเมืองลพบุรีชั้นนอกนี้มีเชิงเทินใหญ่โต แต่กำแพงนั้นพังทลายไปเสียหมด ประตูเมืองก่อรวบบนหลังตั้งใบเสมาลดเปนสามชั้น แต่ประตูสูงประมาณ ๖ วาเศษ กำแพง ๓ วาเศษหรือ ๔ วา ดูภายนอกชรอยจะมีรอบ แต่เห็นจะไม่เปนลำน้ำลำคลอง จะเปนแต่ที่ลึก ๆ ลงไป เพราะเปนที่ขุดดินขึ้นถมเชิงเทิน ถ้าระดูน้ำก็จะมีน้ำระดูแล้งเห็นจะแห้ง ในเวลานี้เมื่อออกจากประตูเมืองไป ข้างขวามือมีลำลาบเปนลำคลองน้ำน้ำขังอยู่ แต่ข้างซ้ายมือไม่มี ตรงประตูเมืองข้ามถนนไปพูนดินเปนพเนียดมีประตูสองประตู พลับพลาตั้งอยู่กลางประตูทั้งสองข้างยื่นออกไปในคอกเหมือนดังที่พเนียดกรุงเก่า ครั้งก่อนคงจะมาทรงจับช้างที่นี้ทุกปี แต่ที่ช้างลงน้ำนั้นไม่แลเห็นว่าจะลงที่ไหน ถ้าจะลงได้ก็แต่ที่ลำน้ำข้างประตูที่ว่าไว้แต่ก่อน เขาเรียกว่าลำพายเรือก็เปนที่แคบเล็ก แต่ข้างที่จะมาจับแต่ก่อนเห็นจะไม่มากเหมือนอย่างที่มาจับที่พเนียพกรุงเก่า จะใช้แต่โขลงหนึ่งสองโขลง ด้วยพเนียดก็แคบที่ลงน้ำก็เล็ก แต่ดูก็จะสนุกดีอยู่ ที่บางปอินของเราจะจับบ้างก็ได้ ด้วยเปนถิ่นที่ช้างอยู่ง่าย๒๔ ช้างไม่บอบช้ำเหมือนอย่างพาขึ้นมากรุงเก่า แต่ไม่มีที่ลงน้ำด้วยแม่น้ำนั้นน้ำลึกเชี่ยวนักช้างลงไม่ได้
ออกจากพเนียดตรงไปเปนทางซึ่งทูลกระหม่อมรับสั่งให้ตัดไปพระบาททาง ๔๕๐ เส้น ตัดไว้แล้วแต่ยังไม่ได้เสด็จ แลไปแยกทางปากจั่นทเลชุบศรได้อีกทางหนึ่งเปนทางเสด็จเดิม ไปตามคันทเลมีเกยช้างเกยม้าเปนระยะตลอดไป แต่เราไม่ได้ไปทางนี้ ไปเสียข้างทางซ้ายมือ เลียบไปตามริมกำแพงเมืองแล้วตัดไปปราสาททเลชุบศร ระยะทางตั้งแต่วังออกไปถึงประตูพเนียด ๔๑ เส้น ตั้งแต่ประตูพเนียดออกไปอีก ๖๐ เส้นเศษ ถึงปราสาททเลชุบศร ต้องเดิรไปตามคันทเลหน่อยหนึ่งจึงเข้าเขตปราสาท ตามระยะทางมีไร่ไน้หน่ามาก ที่ร้างที่ลงใหม่บ้างก็มี ด้วยไน้หน่าชอบที่อิฐปูนที่ดอน เมื่อปลูกแล้วไม่ต้องรดน้ำเลย เปนแต่ระวังเมื่อเวลาออกลูกปีละคราวเท่านั้น ถึงระดูน้ำเจ้าของนัดเรือลูกค้าขึ้นมารับ หาบเอาไปส่งที่ท่าล่องลงไปขายถึงกรุงเทพฯ ได้มีไน้หน่าออกจากเมืองลพบุรีมาก
ตามระยะทางที่ไปเปนทางนอกพระนครมีวัดวาอารามน้อยไม่เหมือนกรุงเก่า ได้เห็นอยู่แต่แห่งหนึ่งหรือสองแห่งเท่านั้น ที่ปราสาททเลชุบศรเปนจตุรมุขมีมุขเด็จองค์น้อยกันเปนข้างหน้าข้างในได้ แลมีศาลาเครื่องประดับกำแพงแก้วหลายอย่าง ดูท่วงทีงามมาก ได้สั่งให้หลวงราชโยธาเทพ๒๕ ทำแผนที่มาดู แล้วจึงจะอธิบายต่อครั้งหลัง ในที่หน้าปราสาทแลรอบปราสาทนั้น มีก่อเขื่อนเปนสระลึกลงไปประมาณ ๔ ศอกบ้างต่ำกว่า ๔ ศอกบ้างหลายสระ เปิดน้ำเข้าออกได้ ด้วยก่อท่อศิลาแล่นถึงกันตลอด แต่ภูมิถนนที่วางสระท่วงทีอย่างไรเห็นไม่ถนัด ด้วยราษฎรปลูกไน้หน่าปกคลุมเสียหมด เมื่อเวลาไปถึงนั้นเปนเวลาเย็นมากบ่าย ๕ โมงแล้ว จึงได้รีบกลับมาถึงวังพอมิด ช้างที่ขี่ไปวันนี้ดีนัก เปนช้างพระยามหาอำมาตย์ ๒๖จัดซื้อราคา ๕ ชั่ง แต่ที่จริงถ้าจะมาขายสิบชั่งหรือสิบสองชั่งคงจะต้องซื้อ ตั้งแต่ชี่ช้างมายังไม่เคยพบดีเหมือนตัวนี้เลยเดิรหลังไม่กระเทือน ถ้านอนก็หลับได้สนิธ
วันนี้สั่งให้เขาลองจุดไฟตามร่องตะเกียงที่ริมกำแพงใหญ่แลกำแพงแก้วในพระนารายณ์ราชวังดู ว่าพระนารายณ์ท่านจะจุดเล่นงามอย่างไรบ้าง ดูของท่านก็สว่างงามดีอยู่ ในครั้งสมเด็จพระนารายณ์นั้น ถ้าประทับอยู่ที่แห่งใด เห็นจะตามตะเกียงนี้ทุกคืน ไม่จุดแต่เปนนักขัตฤกษ์จึงได้เจาะช่องไว้ ในที่สำคัญเปนที่ประทับทั่วไปทุกแห่ง ดูก็ไม่เปลืองมากนัก
วันศุกร์เดือนสิบสองขึ้นเจ็ดค่ำ วันนี้ตื่นสายหน่อยหนึ่ง ด้วยทุกวันแดดไม่ใคร่จะมี แต่วันนี้กินกาแฟแล้ว สองโมงเช้าจึงได้ออกเที่ยวดู อยู่ข้างจะถูกแดดสักหน่อยหนึ่ง แต่ไม่ได้ไปข้างไหนจะเที่ยวอยู่ในวังจึงได้ทนไป ยังสงสัยอยู่ว่าหลังคลังขึ้นไปข้างเหนือ คงจะมีโรงช้างโรงม้าแลที่อื่น ๆ แต่ผู้ที่ค้นจะค้นไม่พบตลอดไป อยากจะได้แผนที่วงให้ตลอดจึงได้เดิรออกทางประตูพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ไปตามทางหว่างตึกพระเจ้าเหากับอ่างแก้ว แลว้เลี้ยวเข้าท้ายคลังดูที่ขังน้ำ ที่นั้นแปนที่สูงกว่าที่อ่างแก้วก่อเสริมปากขึ้นมาประมาณสัก ๖ ศอก เปนที่สำหรับถ่ายน้ำมาขังไว้ใช้น้ำพุที่อ่างแก้ว แล้วออกจากที่นั้นไป
ค้นหาพบรากกำแพงแก้วแลศาลาเปนหลายแห่ง จนไปถึงหน้าประตูตรงพระที่นั่งจันทรพิศาล มีกำแพงสูงกั้นอีกชั้นหนึ่ง ในกำแพงนั้นค้นพบรากตึกใหญ่ ๆ สี่เหลี่ยมอยู่ข้างเหนือประตูสองหลัง ใต้ประตูสองหลัง เห็นว่าจะเปนโรงช้าง แต่เปนที่รกมากไมได้ถางกัน ดูรากสังเกตได้แน่ แลที่นั้นก็ควรจะเปนที่ตั้งโรงช้าง ด้วยอยู่ตรงหน้าพระที่นั่ง แลเปนทางประตูซึ่งจะไปลงน้ำได้โดยง่าย กำแพงนั้นกั้นเลี้ยวไปตามกำแพงวังด้านเหนือต่อไปอีกตลอด เว้นแต่ช่องประตูกลางเห็นจะเปนโรงม้าทิมพลต่าง ๆ กลางนั้นจะเปนสวนดอกไม้หรือสนามคลีก็ได้ด้วยเปนที่กว้าง ท่วงทีที่วางที่เล่นแลที่พนักงารทั้งปวงเห็นเรียบร้อยดีมาก ได้สั่งให้กรมนเรศรทำแผนที่ในบริเวณกำแพงชั้นในพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ กาพย์ทำแผนที่ตั้งแต่กำแพงหน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ตลอดถึงประตูหน้าตึกพระเจ้าเหาแลคลังทั้งปวง จมื่นสราภัย๒๗ทำแผนที่ป้อมโรงช้างโรงม้าทิมพลขันธ์ ด้านหน้าพระที่นั่งจันทรพิศาลต่อเข้าไปชั้นในในวงกำแพงนั้นให้กาพย์กับจมื่นสราภัยช่วยกันทำสองคน จะเล่าเรื่องราวเก่า ๆ แลความคิดเห็นคเนคนายบ้างเวลาก็ไม่พอ ต้องขอผัดไปต่อแผนที่แล้ว
เวลา ๔ โมงกลับ ขึ้นทางประตูหน้าพระที่นั่งจันทรพิศาล เที่ยงวันนี้เปนวันทอดกฐิน แต่งตัวเสื้อเข้มขาบเยรบัพ ไปด้วยเสลี่ยงออกจากประตูวังด้านใต้ ไปทอดกฐินวัดกระวิศราราม มีพระสงฆ์อยู่แปดรูปมากกว่าแต่ก่อน วัดนี้เปนของทูลกระหม่อมทรงสร้าง อยู่ชิดกับประตูวังทีเดียว ถวายเงินพระสงฆ์องค์ละสองตำลึง ออกจากวัดกระวิศราราม กลับเข้าวังไปโดยทางหน้าพระที่นั่ง ออกประตูข้างเหนือไปทางวัดรวก ทอดกฐินวัดเสาธงทอง ที่วัดเสาธงทองนี้ เปนกฐินหลวงสืบมาช้านาน เพราะเปนวัดพระครูสังฆภารวาหเจ้าคณะอยู่ในนั้นสืบ ๆ มา แต่ไม่ผูกพัทธสีมาต้องไปอาศรัยสวดที่วัดรวก เรื่องที่ไม่ได้ผูกพัทธสิมานี้ เปนที่น่าสงสัยอยู่ ดูเหมือนหนึ่งว่าวัดรวกกับวัดเสาธงทองจะเปนวัดเดียวกัน ลัทธิโบราณ ๆ ที่ถือกันว่าพระวิหารหลวงเปนที่สำคัญ มักจะทำใหญ่โต พระอุโบสถเปนแต่ที่ทำสังฆกรรม ทำไว้เต่เล็กๆ ดังนี้มีนับมาแต่โบราณมาก ก็ที่วัดรวกกับวัดเสาธงทองนี้กำแพงติดกันเปนแนวเดียว มีแต่รก ๆอยู่กันกั้นกลาง ข้างฝ่ายวัดเสาธงทองพระวิหารทำเปนวิหารคฤหหลังคาสองชั้น พระประธานใหญ่ หน้าตักประมาณสักสามวา ที่พระวิหารก็ตั้งอยู่กลางวัด ไม่มีการเปรียญหรืออุโบสถสิ่งไรเลยสักอย่างหนึ่ง มีแต่พระเจดีย์อยู่ข้างโบสถ์ข้างขวามือ ซึ่งต่อกันกับวัดรวก กุฏิพระสงฆ์ซึ่งอยู่ในบัดนี้ มาทำอยู่ข้างตึกวิชาเยนทร์ เอาตึกปิจุตึกคชสารเข้าเปนวัดเสียด้วย เมื่อทอดกฐินแล้วเราได้ออกไปดู ก็พบรอยกำแพงวัดอยู่ในตึกปิจุตึกคชสารเข้ามาห่างทากวิหารไปสัก ๗-๘ วา ที่กุฎีพระล้ำไปอยู่ในหมู่ตึกปิจุตึกคชสาร ก็ตึกปิจุตึกคชสารนี้เปนตึกฝรั่งพวกวิชาเยนทร์ ตัวกำแพงซึ่งพระสงฆ์ถือว่าเปนกำแพงกุฏินั้นก็เปนกำแพงฝรั่ง ซุ้มประตูยังมีอยู่ เปนฝีมือเรื่องเดียวกับตึกวิชาเยนทร์ทั้งสิ้น แต่ตัวตึกปิจุตึกคชสารเปนตึกสองชั้นสี่เหลี่ยมอยู่หลังหนึ่ง พระครูไปซ่อมหลังคาแล้วขึ้นอยู่ เจ้าตัวเธอบอกว่าเปนตึกคชสาร ข้างหน้าออกมาที่เรียกว่าตึกชีนั้น เปนตึกสองหลังแคบ ๆ ดูเหมือนต่อกันเปนข้อศอก แต่จะดูสัณฐานว่าอย่างไรเปนแน่นั้นไม่ได้ ด้วยพระสงฆ์เธอไปซ่อมแซมแก้ไขขึ้นอยู่ ฝีมือที่ทำก็เลอะเทอะเลื่อนเปื้อนไป เปนฝรั่งแกมไทย แต่คงสังเกตได้ที่หน้าต่าง ประตูเปนโค้งอย่างคาธอลิกทั้งสิ้น ท่วงทีตึกนั้นก็เปนฝรั่งอยู่บ้าง เห็นว่าที่ตึกฝรั่งนี้จะพึ่งมาเปนวัดขึ้นเมื่อเมืองลพบุรีเปนเมืองร้างไปแล้วเปนแน่ไม่ต้องสงสัยเลย เมื่อตึกนี้เปนตึกฝรั่งอยู่ ดังนั้นที่ลานทั้งสองข้างก็แคบหนักหนา ข้างฝ่ายวัดรวกนั้นเล่า ที่พระอุโบสถไม่ได้อยู่กลางวัด ไปอยู่มุมวัดด้านใต้ ที่กลางวัดนั้นเปนศาลาการเปรียญ หมู่กุฏิอยู่ข้างกำแพงที่ต่อกับวัดเสาธงทอง ถ้าจะคิดเอามาต่อกันทั้งสองวัด ก็เห็นเปนวัดเดียวกัน ที่อุโบสถพระวิหาร การเปรียญกุฏิพร้อมด้วยกัน สิ่งละอย่าง ๆ ทั้งนั้น วัดเสาธงทองกับวัดรวกนี้ถ้าจะว่ากันด้วยแบ่งลาภสงฆ์ น่าว่ามากกว่าวัดนาควัดกลาง๒๘ ซึ่งเปนการปรึกษาใหญ่กันในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทอดกฐินแล้วกลับเข้าวัง วันนี้ให้กฐินวัดเชิงท่าลูกพระยาสุจริตไปทอด วัดทรงกบินหมอสาย วัดรวกเจ้าเข่ง วัดโพธิเก้าต้นท้าวนาค๒๙
เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ออกจากวังมาลงเรือบุษบกพิศาล เรือพิมานอมรินทรที่นั่งรอง เรือดั้งสามคู่ขึ้นไปทอดกฐินวัดมณีชลขันธ์ คือวัดเกาะแก้ว เปนวัดท่านเจ้าพระยายมราชสร้าง๓๐ (ทำมานานแล้วแต่พึ่งแล้วลงพระอุโบสถพระวิหารน้อยๆเกลี้ยงๆ มีพระเจดีย์กลมองค์หนึ่ง กุฏิใหญ่ฝาปูนสามหลัง หอสวดมนต์หลังหนึ่ง หอระฆังหลังหนึ่ง รอบวัดนั้นลงเขื่อนอิฐทั้งสิ้น เขื่อนนี้เจ้าพระยายมราชได้ลงคราวก่อนครั้งหนึ่งแล้วไม่อยู่ ครั้งนี้ลงอยู่ได้ ที่ลึก ๓-๔ ศอกก็มี ที่ถึง ๗-๘ ศอกก็มี ในพระวิหารมีพระกาไหล่ทองตั้งบนบุษบกองค์หนึ่งเปนพระของท่านยมราชสร้าง ดูภูมิวัดแลการที่ทำงามพอสมควรเปนอย่างดีอยู่แล้ว กับพระเจดีย์สูงอีกองค์หนึ่งอยู่ข้างเกาะ สร้างมาช้านานนักหนาแล้ว ตามเสด็จขึ้นมาแต่ก่อนทีไรก็เห็นก่อค้างอยู่อย่างนั้น ครั้นมาเมื่อปีวอกดูเหมือนแล้วไป พระเจดีย์องค์นี้เขาว่าเปนของขรัวแสง คนทั้งปวงนับถือกันว่าเปนผู้มีวิชา เดิรตั้งแต่เมืองลพบุรีเช้าลงไปฉันเพนที่กรุงเทพฯได้ เปนคนกว้างขวางเจ้านายขุนนางรู้จักมาก ตัวไม่ได้อยู่ที่วัดมณีชลขันธ์นี้ น่าเข้าพรรษาไปจำพรรษาอยู่วัดอื่น ถ้าถึงออกพรรษาแล้วมาปลูกโรงอยู่ริมพระเจดีย์องค์นี้ก่อเองคนเดียวไม่ยอมให้คนอื่นช่วย ราษฎรนับถือพากันช่วยเรี่ยรายส่งอิฐปูน แลพระเจดีย์องค์นี้เจ้าของจะทำแล้วเสร็จตลอดไป หรือจะทิ้งผู้อื่นช่วยเมื่อตายแล้วไม่ได้ถามดู ของเธอก็สูงดีอยู่ ทอดกฐินแล้วให้หลวงสุนทรพิมลแจกเงินราษฎรซึ่งมาอยู่ที่นั้น
ลงเรือมาจอดที่แพพักท้องพรหมาสตรมีแพข้างหน้าหลังหนึ่ง แพอยู่หลังหนึ่งทำใหม่ แพข้างในสองหลัง แพเสด็จยาย๓๑หลังหนึ่ง ทอดตะพานถึงกันมีที่อาบน้ำ เรือจอดเปนข้างในได้ทั้งสองด้าน แพคราวนี้ทอดอยู่กลางน้ำ ไม่เหมือนครั้งก่อน วันนี้ลมจัดจนสว่างหนาวเหมือนกับสองวันที่ล่วงมาแล้ว ปรอดเวลากลางคืนเพียง ๗๘-๗๙ ดีกรีลมพัดมาก เปนแต่เย็นปรอดไม่ใคร่จะลด นอนในเรือ
วันเสาร์เดือนสิบสองขึ้นแปดค่ำ เช้าลงเรือแหวดสี่แจว เปนกระบวรข้างใน ไปตามในทุ่งนามีเข้าสองข้าง เขาว่าทาง ๒๐ เส้นถึงบ้านลาวท่าแค เขาทำตะพานลงมารับในซุ้มไผ่ ขึ้นเดิรไปตามระหว่างเรือน มีพวกลาวลงมานั่งรับบ้าง นั่งขายของบ้าง ราคาแพงที่สุด เห็นจะขึ้นสักสี่ต่อ เรือนนั้นไม่ประหลาดเหมือนลาวทรงดำเมืองเพ็ชรบุรี ดูเหมือนเรือนไทย ๆ เรา มีเครื่องทำมาหากินแอกไถกี่ทอหูก และอื่นๆ เตาไฟอยู่ในครัวเรือน กางมุ้งเรียงเปนแถวกัน ทั้งพ่อตาแม่ยายลูกชายลูกสาวอยู่ในเรือนหลังเดียวกัน ดูโสโครกเปื้อนเปรอะผาก เดิรไปหน่อยหนึ่งถึงที่ลานกว้างมีโรงธรรมหลังคามุงจาก ปลูกอยู่กับพื้นดิน มีธรรมาสน์สำหรับพระเทศน์ ตรงโรงธรรมนั้นไปหน่อยหนึ่ง มีโบสถ์ก่อค้างอยู่เพียงลายชั้นล่าง ตั้งผนังขึ้นเพียงเล็กน้อย เห็นจะไม่สำเร็จ ข้างขวามือเปนหมู่กุฏิก็เปนเรือนจาก เหมือนคนๆเราอยู่ตามธรรมเนียม ให้นิมนต์พระสงฆ์มาหามีพระอยู่ ๕ รูปทั้งสมภาร สมภารชื่อหยอด รูปร่างอ้วนห่มคลุมลงมาทั้งปวง มีห่มครองอยู่แต่พระแก่องค์เดียว ได้ถวายเงินองค์ละกึ่งตำลึง แล้วยถาสัพพีสัพพพุทธาภวตุสัพเสียงเปนลาว แล้วถามว่าเทศน์อะไรได้บ้าง บอกว่าเทศน์ชูชกก็ได้ เราก็นิมนต์ให้เทศน์ ต้องกลับขึ้นไปเอาหนังสือแว่นตา อยู่ข้างนี้เราเรี่ยรายเงิน ส่วนของเราเอง ๘ บาท เรี่ยรายได้อิก ๑๖ บาทเศษ รวมเปนเงิน ๒๔ บาทเศษ ไปเรี่ยรายอยู่ข้างโน้นแลหาเทียนที่จะมาติดประจำกัณฑ์ กลับมาถึงไม่เห็นขรัวหยอด ตะโกนเรียกหาไพล่ขึ้นไปนั่งอยู่บนธรรมาสน์เสร็จแล้ว นายกองลาวมาอาราธนาศีล ให้ศีลแล้วตั้งนะโมว่าเนื้อความชูชกต่อไป เรานั่งฟังเทศน์พลางพูดกับพระยาสุจริตพลาง เทศน์ทำนองแอ๋ๆ อย่างลาวฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง พรรณาถึงพระเวสสันดรทรงศีลบูชาไฟ แล้วกล่าวถึงตาชูชกรูปพรรณสัณฐานอย่างไรขอทานสิ่งนั้น ๆ นับรายชื่อสิ่งของไปทุกอย่าง จนกะทั่งถึงได้นางอมิตตดามาเปนเมีย แหล่พราหมณ์ตีเมีย แลพวกที่ท่าน้ำหายไปไม่ได้ยิน หรือจะเผลอไปไม่ได้ฟังก็ไม่ทราบ มาถึงปลายกำลังนางอมิตตดาใช้ให้ชูชกไปเขาวงกฎ เราขี้เกียจฟังเบื่อก็สั่งให้แกจบเสีย ถวายเครื่องกัณฑ์เข้าโภชน์ตะลุ่มหนึ่ง เข้าเม่าตะลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้ของกำนันจากนายบ้านลาวพวกนี้เปนลาวจ่ายเดือนกรุงเทพฯทั้งนั้น กลับมาหยุดเก็บสายบัวดอกโสนไปพลาง มาถึงเรือ ๕ โมง คิดอ่านทำขนมสายบัวตามตำราอ้ายจัน๓๒ จนบ่าย ๒ โมงเศษจึงได้แล้ว กินเข้ากลางวันแล้วให้ไปเร่งเรือผ้าป่าขึ้นมา แล้วพระยามหามนตรีพระยาอนุรักษ์๓๓ เปนผู้จัด เอาเรือคู่ชักเปนเรือผ้าป่าสองลำ มาถวายพระสงฆ์วัดกระวิศราราม ๘ รูป วัดมณีชลขันธ์ ๗ รูป ตำรวจกรมวังทหารแลพระยาสุจริตเรี่ยรายกันหาเครื่องไทยทานต่าง ๆ คนละอย่าง มหาดเล็กเรี่ยรายเปนเงินติดเทียนได้องค์ละ ๔ บาท เรือดั้งอีก ๒ ลำเปนเรือแตรเรือแห่ มีเรือกลองแขกแลเรือพิณพาทย์ เรือพวกราษฎรมาช่วยแห่ผ้าป่า ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ลำ เขาบอกบุญกัน เรียกว่าบอกเข้าห่อ ถ้าบอกเข้าห่อแล้วเปนการใหญ่ ต่างคนต่างมีเข้าห่อของตัวมาสู่กันกิน เรือเพลงมาร้องอยู่แต่เช้า ๕ โมง จนบ่าย ๔ โมงจึงได้ออกแห่ ทักษิณรอบแพสามรอบ เราลงเรือเอาลูกมะกรูดบัญจุเงินเฟื้องทิ้งทาน แย่งกันสนุกสนานมาก ครบสามรอบแล้วราษฎรพากันฉุดเรือผ้าป่าไปตามใจ เราลงเรือไฟเล็ก ท่านเล็กล่วงลงไปตามลำแม่น้ำ จนสิ้นพ้นเขตวังไปหน่อยหนึ่ง แล่นกลับขึ้นมาเลี้ยวทางบางขันหมาก ไปดูบ้านพระยาสุจริตรักษาแล้วกลับเข้าทางท้องทุ่งไปเข้าข้างเหนือน้ำ พ้นปากคลองท่อหน่อยหนึ่งกลับเข้าในท้องพรหมาสตรไปจอดที่แพ เมื่อมาตามทางพบเรือราษฎรที่แห่ผ้าป่า ทิ้งลูกมะกรูดให้ทุก ๆ ลำ แล้วลงเรือแหวดสี่แจวไปอาบน้ำที่สระน้ำสรง ไม่เห็นอะไรเลยน้ำท่วมเปนทุ่งปรกติ สระที่เรียกว่าสระน้ำสรงน้ำเสวยนี้ เห็นจะเปนชื่อเรียกมาแต่ครั้งที่เล่ากันว่าพระร่วงส่งส่วยน้ำเมืองเขมร ที่บ้านคนหมู่นั้นก็เรียกว่าบ้านสระน้ำสรงเสวย ค่ำวันนี้รับหนังสือตอบหนังสือกรุงเทพฯ แลแจกเสื้อกรมการให้ซองรูปพระยาสุจริตรักษาใบหนึ่ง กับเงินสามชั่งช่วยในการที่เขาส่งสำรับข้างใน ให้ลูกกระดุมมือไข่มุกด์พระพิเรนทร์คู่หนึ่ง ดินสออักษรชื่ออันหนึ่ง ครั้นเวลา ๕ ทุ่มให้ท่านเล็กไปทอดผ้าป่า เพลงยังเล่นอยู่จนสว่าง วันนี้ไม่มีลมพัดอยู่ข้างจะร้อน
วันอาทิตย์เดือนสิบสองวันเก้าค่ำ เวลาเช้าพระยาจ่าแสนพาพระนครพราหมณ์๓๔ เจ้านายกองส่วยทองมาหา ได้ให้ดุมมือประดับทับทิมคู่หนึ่งกับดินสอทองคำอันหนึ่งแก่พระพหล เวลาเช้า ๒ โมงเศษออกเรือจากท้องพรหมาสตร ตามทางมีวัดบ้างบ้านบ้างราย ๆ ห่าง ๆ ๕ โมงออกปากน้ำบางพุทรา ล่องลงมาถึงพลับพลาคลองกทุงแขวงเมืองพรหมบุรี เวลา ๕ โมงครึ่งจัดเรือให้จอดแลแก้ไขพลับพลาบ้างแล้วยังไม่พร้อมกัน ลงเรือโสภณล่วงลงไปขึ้นที่วัดบ้านแป้ง ที่บ้านแป้งนี้เปนท่าขึ้นเมืองลพบุรีที่ได้ออกชื่อไว้แต่ก่อน วัดกว้างใหญ่กวาดเตียน เข้าไปดูในโบสถ์แลที่พระบาทจำลองแล้วมานั่งที่การเปรียญ เรียกพวกลาวมาขายของ มีผ้าซิ่นแลด้ายผ้าขาววามาขายบ้าง ดูไม่มีสิ่งใดน่าซื้อ ซื้อแต่ผ้าซิ่นริ้วทองสองผืน กับผ้าพื้นอีก ๖-๗ ผืน กลับขึ้นมากินเข้ากลางวันแล้วลงเรือท่านเล็กไปตามคลองกทุง เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่ง เมื่อจวนจะออกแม่น้ำเมืองสิงห์ เปนช่องแคบพอจุเรือไฟไป เมื่อออกลำแม่น้ำน้อยแล้วน้ำเชี่ยวจัด แล่นทวนน้ำขึ้นไปถึงท่าวัดพระนอนจักศรี เวลาบ่าย ๕ โมงครึ่ง แม่น้ำนี้เปนแม่น้ำด้วนเปนแต่คลองออก ชรอยแต่เดิมเห็นจะเปนแม่น้ำใหญ่ ด้วยเปนแม่น้ำแลเปนเมืองใหญ่ ระยะบ้านก็มีถี่กว่าที่อื่นๆ ในแขวงนั้น แลมีวัดโตๆ มากเหมือนกรุงเก่า ที่พระนอนจักศรีนี้เปนแขวงเมืองสิงห์ พวกกรมการเมืองสิงห์บุรีเมืองอินทบุรี มาทำพลับพลาเปนสามหลังหลังละสามห้อง ขึ้นบกสมเด็จกรมพระมาคอยรับอยู่ที่นั่น นำพระยาไชยนาทพระสิงหบุรีพระอินทบุรีแลกรมการมาหา มีของกำนัลกล้วยอ้อยแลเลี้ยงขนมรื่น ที่วัดพระนอนจักรศรีนั้นห่างแม่น้ำเข้าไปสามสิบวา เปนที่น้ำท่วมต้องพูนถนนแลมีตะพานข้าม ที่เขตวัดนั้นมีกำแพงแก้วกั้นชั้นหนึ่ง หน้าโบสถ์มีการเปรียญ โบสถ์เก่าหลังย่อม ๆ อยู่ท้ายวิหารพระนอน รอบวิหารพระนอนนั้นมีกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ชั้นหนึ่ง ตัวพระวิหารนั้นไม่มีหลังคา ผนังแลเสาทลายเสียบ้างยังเหลืออยู่บ้าง ที่องค์พระเห็นจะถูกเครื่องบนตกถูกทับ ที่พระชงฆ์ทลาย ตัวพระวิหารนั้นวัดโดยยาวตลอดเฉลียง เส้น ๗ วา โดยกว้างตลอดเฉลียง ๑๑ วา เสาข้างในเปน ๘ เหลี่ยม ผนังนอกเว้นช่องหนึ่งมีหน้าต่างช่องหนึ่ง แต่ใช้หน้าต่างใหญ่ไม่เหมือนของโบราณทีเดียว ได้ความตามพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐทรงปฏิสังขรณ์แลฉลอง ดูฝีมือช่างที่ทำก็พอถูกต้องกัน องค์พระวัดตั้งแต่ยอดพระรัศมีตลอดถึงพระบาทได้เส้น ๑๐ ศอก วัดตามพื้นราบได้ ๒๑ วา อาการที่พระพุทธไสยาสน์ประทมนั้น ดูเปนแบบไม่เหมือนอย่างกรุงเก่าหรือกรุงเทพฯ พระกรทอดออกไปมาก พระเขนยหนุนไม่สู้ชันนักตกต่ำ ๆ เปนประทุมราบ แต่พระบาทซ้อนกันตรงเหมือนอย่างพระนอนทั้งปวง นิทานที่เล่าเรื่องพระนอนจักรศรีนี้มีหลายเรื่องหลายราว ทำนองเดียวกับกับพระประถมเจดีย์ พระธรรมไตรโลก๓๕ว่าทราบว่าพระเจ้าสิงหพาหุเปนผู้สร้าง แต่พระเจ้าสิงหพาหุจะครองสมบัติแห่งใด สร้างครั้งไรก็ไม่ปรากฎ คำเล่าอีกอย่างหนึ่งว่า พระยาจักรีศรีเปนผู้สร้าง เรื่องราวเดิมว่าพระมหากษัตริย์ในแถบนี้ มีพระราชธิดาองค์หนึ่งเลี้ยงสุนัขไว้ ภายหลังมาสุนัขนั้นให้สมัคสังวาสด้วยพระราชธิดามีครรภ์ขึ้น พระบิดาให้สืบสวนหาชายชู้ไม่ได้ จึงได้ความว่าพระราชธิดานั้นเปนชู้กับสุนัข ให้ขับเสียจากพระราชวัง นางนั้นคลอดบุตรมาเปนพระยาจักรีศรี ครั้นอยู่มาพระราชบิดาทรงทราบว่าพระราชนัดดารูปโฉมโนมพรรณดีกลับทรงพระกรุณขึ้น จึงให้ไปรับเข้ามาไว้ในพระราชวังตามเดิม ครั้นพระไอยกาสิ้นพระชนม์ พระยาจักรีศรีก็ได้ครองราชสมบัติสนองพระองค์ต่อไป มีบุญบารมีเปนอันมาก ภายหลังมามีความสงสัย จึ่งได้ถามพระมารดาว่าใครเปนพระบิดา มารดาจึงแจ้งความว่า ผู้ใดที่ตามไปมาอยู่ด้วยเสมอ ผู้นั้นแลเปนพระบิดา พระยาจักรีศรีสังเกตดูเห็นสุนัขซึ่งเปนบิดานั้นติดตามอยู่เสมอ ก็มีความขัดเคือง จึงได้ฆ่าสุนัขนั้นเสีย ก็พเอิญบังเกิดมืดมัวไปทั่วทิศ พระยาจักรีศรีจะเสด็จกลับเข้าวังก็ไม่ได้ จึงได้เอาไส้สุนัขซึ่งเปนบิดานั้นพันพระเศียร แล้วเสด็จกลับเข้าพระราชวัง อากาศที่มัวมนท์นั้นก็หายไป จึงได้มีความร้อนพระทัยไปหาพระมหาเถร ปรึกษาที่จะแก้บาปปิตุฆาฏ พระมหาเถรจึงได้ทูลให้สร้างพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ จึงมีนามปรากฎว่าพระนอนจักรศรี ตามพระนามของพระยาจักรีศรีนั้น๓๖ เรื่องราวคล้ายกันกับเรื่องพระยากงส์พระยาพาน แต่เมื่อจะคิดดูตามความอนุมาน ก็เห็นว่าพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ใหญ่โตมากเห็นจะไม่ใช่เปนของราษฎรสร้าง คงจะเปนพระเจ้าแผ่นดินที่มีอำนาจ ตั้งพระราชอาณาเขตในแถบนี้ ทรงสร้างขึ้นด้วยพระราชศรัทธาหรือให้งามพระนครอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเปนพระเจ้าแผ่นดินอยู่ในที่อื่น ๆ จะมาสร้างพระนอนซึ่งเปนที่ใหญ่โตไว้ในลำแม่น้ำด้วยดังนี้เห็นจะไม่สร้าง ในพระราชพงศาวดารเล่าก็ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดสร้าง มีฉลองในแผ่นดินบรมโกษฐครั้งเดียว เห็นว่าพระนอนจักรศรีนี้จะสร้างในครั้งก่อนยังไม่ได้ตั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา แต่จะกำหนดว่าครั้งใดไม่ได้ ทุกวันนี้ราษฎรนับถือเปนที่สการบูชามาก ว่ามีเดชานุภาพศักดิ์สิทธิ์ด้วยมีบายศรีบูชาไม่ใคร่ขาด กำหนดวันแรมแปดค่ำเดือนสิบเอ็ด ราษฎรเมืองอินทเมืองพรหมเมืองไชยนาทเมืองสิงห์เมืองอ่างทองเมืองลพบุรีกรุงเก่า นัดกันมาไหว้มาเล่นการนักขัตฤกษทุกปีมิได้ขาด พระธรรมไตรโลกพาพระครูเมืองสิงห์เมืองอินทพระปลัดเมืองพรหมกับพระครูพจนโกศล๓๗ เข้าไปหาในพระวิหาร พระธรรมไตรโลกขอเงินค่านาสำหรับวัดทำร่มบังพระ นั่งพูดอยู่สักหน่อยหนึ่ง พระสงฆ์อติเรกแล้วกลับ มาลงเรือเก๋งล่องลงมาตามลำแม่น้ำเข้าคลองกทุง กลับมาทางเดิม ให้นิมนต์พระธรรมไตรโลกมาหาที่พลับพลาด้วย กลับมาถึงพลับพลาเวลาทุ่มเศษ เวลา ๒ ทุ่มพระธรรมไตรโลกมาหา คิดการที่ปฏิสังขรณ์พระนอนจักรศรี เรายอมมอบการถวายพระธรรมไตรโลกดูตรวจตราเหมือนดังพระพุทธบาท แต่นายงารที่จะทำงารนั้น ให้ท่านทูลปรึกษาสมเด็จกรมพระแล้วแต่จะเห็นสมควร ยอมถวายเงินค่านาที่ขึ้นวัดพระนอนจักรศรี แลค่านาเมืองสิงห์ ให้ปฏิสังขรณ์ในพระอารามนี้กว่าจะแล้ว๓๘ สั่งให้ถวายเงินพระครูเมืองสิงห์เมืองอินทร์ พระครูปลัดเมืองพรหมองค์ละ ๕ ตำลึง แจกเสื้อกรมการทั่วกัน
วันจันทร์เดือนสิบสองขึ้นสิบค่ำเวลา ๒ โมงเช้าออกเรือจากพลับพลาคลองกทุงล่องลงมาตามลำน้ำ เห็นวัดชลอนซึ่งพระธรรมไตรโลกสร้าง ช่อฟ้าใบรกาปิดทองใหม่ หอระฆังข้างหน้าทำเปนยอดเกี้ยวดูงามอยู่ วัดนี้พระธรรมไตรโลกว่าเดิมชื่อวัดพรหมเทพาวาส ราษฎรเรียกวัดชลอนตามตำบลบ้าน กรมการเมืองพรหมถือน้ำที่นั้น แลถึงระดูเทศกาลราษฎรก็มานมัสการพระวัดนี้ด้วย ซึ่งพระธรรมไตรโลกสร้างวัดนี้ เพราะชาติภูมิเดิมของท่านอยู่ที่เมืองพรหมริมวัดชลอน ล่องลงไปอีกหน่อยหนึ่งถึงวัดไชโย ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างพระใหญ่ขึ้นไว้ แวะจอดเข้าที่นั้น พระยาราชเสนา พระยาอ่างทอง๓๙ หลวงยกกระบัตรมาคอยรับ ขึ้นไปดูที่พระหน้าตารูปร่างไม่งามเลย แลดูที่หน้าวัดปากเหมือนท่านขรัวโตไม่ผิด ถือปูนขาวไม่ได้ปิดทอง ทำนองท่านจะไม่คิดที่จะปิดทอง จึงได้เจาะท่อน้ำไว้ที่พระหัตถ์ แต่เดี๋ยวนี้มีผู้ไปก่อวิหารขึ้นค้างอยู่ใครจะทำต่อไปไม่ทราบ๔๐
ออกจากไชโยล่องลงมาถึงเมืองอ่างทอง ลงเรือที่ปากคลองซึ่งเปนตลาดนั้นมีแพหลายหลัง แลเรือสามวาสองศอกขายของเปนอันมาก ลงเรือเก๋งพายเข้าไปเขาว่าระยะทางร้อยเส้นเศษ ไปช้านานจึงถึงพระนอนขุนอินทรประมูล มีพลับพลาสามหลัง แลเรือขนมจีน ที่พระวิหารนั้นตั้งอยู่บนโคกในท้องทุ่งไม่มีกำแพง องค์พระนอนยาวกว่าพระนอนจักรศรี วัดตามพื้นราบได้เส้นสามวา ถ้าคิดวัดตั้งแต่พระรัศมีไปจนพระบาทได้เส้น ๕ วา แต่ยอดพระรัศมีตกลงมาเสียข้างล่าง องค์พระยังบริบูรณ์ดี วิหารนั้นคล้าย ๆ กับวิหารพระนอนจักรศรี แต่ฐานพระต่ำกว่าพระนอนจักรศรี องค์พระนั้นก็เปนองค์พระละฝีมือ รูปพระนอนอินทรประมูลนี้เพรียวมากกว่าพระนอนจักรศรี ที่พระหัตถ์พระกรก็ตั้งมาก คล้ายมาข้างพระนอนทุกวันนี้ แต่พระพักตรเห็นจะงามกว่าพระนอนจักรศรี พระนอนจักรศรีนั้นพระพักตรอยู่ข้างจะยาวมากไป มีเรื่องเล่ากันต่างๆ นัยหนึ่งว่าพระองค์นี้เปนนามเดิมยาวอยู่เส้นหนึ่ง ภายหลังจีนผู้หนึ่งเปนที่ขุนอินทร มาปฏิสังขรณ์เสริมให้ใหญ่ยาวออกไปอีก ๕ วา จึงได้เรียกว่าพระนอนขุนอินทรประมูล อีกนัยหนึ่งว่าขุนอินทรประมูลชาวคลังหรือนายอากร ยักยอกเอาทรัพย์หลวงมาสร้างพระองค์นี้ ครั้นทรงทราบรับสั่งถามว่าเอาเงินที่ไหนทำก็ไม่กราบทูลทรงสงสัยว่าจะเอาเงินหลวงที่พระคลังหรือเงินอากรที่ตัวทำมาสร้างพระองค์นี้ ถามเท่าใดก็ไม่รับจึงให้เฆี่ยนถาม ขุนอินทรประมูลก็ไม่บอกความจนตาย เพราะกลัวว่าส่วนกุศลนั้นจะแพร่หลายถึงพระเจ้าแผ่นดินหรือเปนของเจ้าแผ่นดินเสียทีเดียว จะไม่ได้กุศลแลชื่อเสียงแต่คนเดียว จึงได้พากันเรียกว่าพระนอนขุนอินทรประมูล
เวลาบ่าย ๒ โมงออกจากพลับพลาวัดพระนอนมาลงเรือที่แม่น้ำมาถึงพลับพลาหน้าวัดป่าโมกข์เวลาบ่าย ๒ โมงนาน เดิมกำหนดว่าจะทอดกฐินวันนี้ แล้วของดไว้ต่อเวลาพรุ่งนี้จึงจะทอด จัดเรือแลพลับพลาเรียบร้อย พลับพลานี้เขาทำดีกว่าทุกแห่ง เวลาบ่ายขึ้นไปทางข้างใน นมัสการพระบาทแลพระนอน อ่านหนังสือในพระอุโบสถแล้วกลับลงมา เวลาค่ำพระยาอ่างทองเอาละคอนมาเล่นให้ดู ไม่มีโรงจะเล่นต้องปักเตาหม้อในน้ำ เอากระดานปูได้นิดหนึ่ง เล่นเรื่องสันนุราชตั้งแต่ชุบตัวไปจนถึงคันธมาลีขึ้นมาหึงส์ เวลา ๒ ยามฝนตกเลิก แจกเสื้อกรมการทั้งสี่เมืองแลให้ซองรูปพระยาอ่างทองใบหนึ่ง เงินช่วยในการเลี้ยงชั่งหนึ่ง เงินรางวัลละคอนร้อยบาท ผ้ารางวัลแก่ตัวละคอนสองคน ๆ ละสำรับ
วันอังคารเดือนสิบสองขึ้นสิบเอ็ดค่ำเวลา ๒ โมงเศษขึ้นไปทางตะพานเรือกข้างหน้าไปตามฉนวน ๕๐ ห้อง เข้าไปทอดกฐินในพระอุโบสถ พระครูปาโมกษมุนีให้รูปพิมพ์มเหศวรองค์หนึ่ง กับโถสังกโลกชามเบญจรงค์ พระครูพานโกศลนำพระปลัดพระสมุหเมืองอ่างทองมาหาในนั้นด้วย ถวายเงินพระครูปาโมกษมุนี ๕ ตำลึง พระสงฆ์อันดับ ๒๕ รูปๆละ ๔ บาท เปนเงินชั่ง ๑๐ ตำลึง พระปลัดเมืองอ่างทอง ๕ ตำลึง พระสมุห ๔ ตำลึง ทอดกฐินแล้วออกหากพระอุโบสถมาที่วิหารพระนอน นมัสการพระนอน พระนอนองค์นี้คือที่พระราชสงครามชลอในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๓ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ความพิสดารแจ้งอยู่ในพระราชพงศาวดารนั้นแล้ว พระนอนองค์นี้ยาว ๑๑ วา พระอุโบสถพระวิหารการเปรียญทั้งปวงในวัดนี้สร้างครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทั้งสิ้น ความแจ้งอยู่ในคำประกาศที่จารึกแผ่นศิลา ติดอยู่ในผนังพระอุโบสถ ซึ่งคัดไว้ในเยอแนลนี้ด้วยแล้ว๔๑ แต่พระบาทสี่รอยซึ่งสลักศิลานั้น ถามพระครูได้ความว่า พระครูแต่ก่อนไปขอมาแต่เมืองพระพิษณุโลกประมาณ ๗๐ ปีแล้ว ออกเรือจากวัดป่าโมกข์เวลา ๔ โมงเช้า แต่ไม่ได้มาด้วยเรือโสภณ มาด้วยเรือโบตเหลือง เรือปานมารุตลาก ออกทางบางไทรล่องลงมากรุงเทพ ฯ ถึงตำหนักแพเวลาบ่าย ๔ โมง ๑๕ มินิต
-
๑. พระโบราณบุรานุรักษ์ (ซุ ภมรสุต) ปลัดกรุงเก่า เปนราชินิกูล ทางสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ต่อมาได้เลื่อนเปนพระยาทวาราวดีภิบาล จางวางกรุงเก่า ↩
-
๒. เรือพระที่นั่งโสภณภควดี เปนเรือกลไฟเหล็กทำที่ห้างทอนนีครอฟ เดิรเร็วไม่มีเรืออื่นสู้ในสมัยนั้น ↩
-
๓. คือการสร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ↩
-
๔. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ↩
-
๕. พระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง ณป้อมเพ็ชร์) ปลัดกรุงเก่า ↩
-
๖. ได้ตรวจชั้นหลังต่อมา สันนิฐานว่าจะเปนตำหนักยาวอย่างเช่นพระที่นั่งจันทรพิศาลที่เมืองลพบุรี ↩
-
๗. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ เปนราชองครักษ์ ↩
-
๘. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ↩
-
๙. พระบาทสี่รอยที่พระนครหลวง ถ่ายแบบมาจากพระบาทเชียงดาวแขวงเมืองเชียงใหม่ มิได้ถ่ายมาจากเมืองพม่า ↩
-
๑๐. ที่พระนครหลวงนี้ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ พระปลัด (ปลื้ม) วัดจักรวรรดิราชาวาสศรัทธาทำการปฏิสังขรณ์ใหญ่โต แล้วเชิญเสด็จสมเด็จพระทุทธเจ้าหลวงไปทอดพระเนตร์อีกครั้งหนึ่ง ทรงช่วยปฏิสังขรณ์พระพุทธรุปองค์หนึ่ง พระปลัดปลื้มนั้นได้โปรดให้เปนพระครูวิหารกิจจานุการ ↩
-
๑๑. ศิลาพระจันทร์ลอย เดี๋ยวนี้พระครูปลื้มทำวิหารตั้งไว้ที่บนโคกตำหนักพระนครหลวง ↩
-
๑๒. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ↩
-
๑๓. พระยาจ่าแสนบดี (ขลิบ) พระยาสุจริตรักษา (อ่วม) ผู้ว่าราชการเมืองลพบุรี ต่อมาไปเปนผู้ว่าราชการเมืองตาก เมื่อชราได้เลื่อนเปนพระยาวิเศษสัจจธาดา ผู้กำกับถือน้ำ พระพิเรนทรเทพ (เวก ยมาภัย) ต่อมาได้เลื่อนเปนพระยามหามนตรี แล้วเปนพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระพหลพลพยุหเสนา (กลาง) เปนพี่พระยาสุจริตรักษา ต่อมาได้เปนพระยาพิสุทธิธรรมธาดา ผู้ว่าราชการเมืองลพบุรี ภายหลังเปนพระยาวจีสัตยารักษ์ ↩
-
๑๔. คำว่า เหา ในที่นี้สันนิฐานว่าเปบคำภาษา เขมร แปลว่า “เรียก” หมายความว่าเปนที่รับสั่งให้หาเข้ามาเฝ้า หรือเข้ามาประชุม นึกสงสัยต่อไปว่าจะมีศาลาพระเจ้าเหาหรืออย่างไรทำนองเดียวกันมาแต่โบราณแล้ว เปนแต่เอาชื่อเดิมมาเรียก มิใช่คิดขนานใหม่สำหรับตึกซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงสร้างที่ในพระราชวังเมืองลพบุรี ↩
-
๑๕. ปีสมเด็จพระนารายณ์ ฯ สวรรคต สอบภายหลังมาได้ความตามจดหมายเหตุของฝรั่งว่า สวรรคตเมื่อวันอาทิตย์เดือนแปดขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง จุลคักราช ๑๐๕๐ (๒๒๓๑) ↩
-
๑๖. พระยาราชรองเมือง (เนียม) เปนผู้บังคับการกองตระเวนในกรุงเทพ ฯ ↩
-
๑๗. มิสเตอรแกรซีเปนผู้รับเหมาทำการก่อสร้าง ได้สร้างตำหนักวังบูรพาภิรมย์ แล้วขึ้นไปรับสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปอิน ↩
-
๑๘. ชื่อตึกสองหลังนี้ สันนิฐานกันต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เห็นว่าตึกปิจุ เห็นจะมาแต่คำภาษาฝรั่งเศสว่า บิจู แปลว่า “เล็ก” ตึกคชสารนั้นมาจากคำว่าโคระส่าน ซึ่งไทยเราเรียกประเทศเปอร์เซียในสมัยนั้น เห็นจะสร้างขึ้นรับราชทูตโคระส่าน ซึ่งเข้ามาเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ตึกสี่เหลี่ยมกับตึกยายจู๋นั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังหาไม่พบ ไปพบตึกอีกแห่งหนึ่งเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ชาวเมืองเรียกว่าตึกสำปาหล่อ เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นเปนเชิงหอระฆัง สันนิฐานว่าเปนวัดฝรั่ง ต่อมาได้ความในหนังสือที่ฝรั่งแต่งว่าเปนวัดของพวกเยสุอิด ชื่อวัดสันเปาโล ↩
-
๑๙. จะเปนฝีพายหรือคนจำพวกไหนสงสัยอยู่ ↩
-
๒๐. เขานี้ราษฎรเรียกกันเปนสามัญว่า เขาสับพลึง ชื่อว่าสรรพนิมิตร ดูเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขนาน ↩
-
๒๑. มีคำเล่ากันมาแต่โบราณว่า ที่เมืองลพบุรียังมีฝูงลิงเชื้อสายหนุมานอยู่อาศรัย ถ้าราษฎรทำเรือนหลังคามุงกระเบื้องลิงก็มักมารื้อหลังคาเสีย แต่ผู้ที่ไปเที่ยวเตร่แต่ก่อนไม่เห็บฝูงลิงก็สันนิฐานว่าเปนนิทาน ถึงเมื่อเวลาเสด็จประพาสเที่ยวที่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ก็ไม่ปรากฎว่ามีฝูงลิงอยู่ในเมืองลพบุรี ครั้นล่วงมาอีกช้านานจนเมื่อตั้งโรงทหารบกที่ใกล้ศาลพระกาฬ ได้ยินว่ามีลิงพลัดเข้ามาครัวหนึ่ง พวกทหารให้เข้ากิน แต่นั้นก็มีพวกลิงเข้ามาอาศรัยอยู่ที่ต้นไทรศาลพระกาฬจนทุกวันนี้มีเปนฝูงใหญ่ คนก็ชอบไปดูไปเลี้ยงจนลิงเคยคุ้น ถึงเข้ารับหรือเข้าแย่งกล้วยอ้อยในมือคน เขาเล่าว่าบางทีลิงฝูงนี้พากันขึ้นรถไฟซึ่งบันทุกของขึ้นไปเที่ยวจนโคกกะเทียมหรือเหนือกว่านั้น แล้วอาศรัยรถไฟกลับลงมาเมืองลพบุรีได้ แต่ข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไรไม่ได้เห็นแก่ตา ↩
-
๒๒. คราวเสด็จประพาสอินเดีย เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ ↩
-
๒๓. ป้อมเหล่านี้เดี๋ยวนี้ยังเหลืออยู่แต่ป้อมป้องปัจจามิตรกับป้อมปิดปัจจานึก ทางปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างใต้แต่ ๒ ป้อมเท่านั้น ↩
-
๒๔. เวลาเมื่อทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ ตั้งแต่บ้านสร้างลงมาจนแถววัดวิเวกวายุพัดหลังพระราชวังบางปอินยังเปนป่าพงที่ช้างโขลงอาศรัย ↩
-
๒๕. หลวงราชโยธาเทพ (ทัด หงสกุล) ภายหลังได้เปนพระยาราชสงคราม ↩
-
๒๖. พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร์) ↩
-
๒๗. จมื่นสราภัยสฤษดิการ (เจิม แสง-ชูโต) ราชองครักษ์ เดี๋ยวนี้เปนเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ↩
-
๒๘. วัดนาค วัดกลาง อยู่ริมคลองมอญฝั่งใต้ เดิมเปน ๒ วัด มีแต่คูคั่นกลาง เดี๋ยวนี้เลิกวัดนาครวมกับวัดกลาง เรียกว่าวัดนาคกลาง ทางคลองมอญฟากเหนือตรงกันข้ามมีอีกวัดหนึ่งชื่อวัดพระยาธรรม ผู้ที่อ่านพงศาวดารมักเข้าใจว่าเปนวัดนาคเดิม แต่ที่จริงหาเปนเช่นนั้นไม่ ↩
-
๒๙. ผู้ซึ่งไปทอดพระกฐินนั้น วัดเชิงท่า เจ้าจอมเจิมธิดาพระยาสุจริตรักษา วัดทรงกบิน พระวรวงศเธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ วัดรวก หม่อมเจ้าหญิงยี่เข่ง ในพระองค์เจ้าเพ็ชรหึง ลูกเธอกรมพระราชวังบวรรัชกาล ๑ ซึ่งเปนผู้รับสั่งฝ่ายใน ภายหลังได้เปนพระองค์เจ้า วัดโพธิเก้าต้น ท้าวสุภัติการภักดี (นาค) ↩
-
๓๐. เจ้าพระยายมราช (เฉย) ต้นสกุลยมาภัย ↩
-
๓๑. สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ↩
-
๓๒. ผู้ซึ่งดำรัสเรียกว่า “อ้ายจัน” เดี๋ยวนี้เปนพระยาสิริสัตยสถิตย์ เปนข้าหลวงเดิม ในเวลานั้นเปนที่นายรองพลพัน ↩
-
๓๓. พระมหามหามนตรี (อ่ำ ต้นสกุลอัมรานนท์) ภายหลังได้เปนพระยาพิชัยสงคราม พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (เผือก เศวตานนท์) ภายหลังได้เปนพระยามหานิเวศนานุรักษ์ ↩
-
๓๔. เปนปลัดเมืองลพบุรี แต่ใครเปนในสมัยนั้นหาทราบไม่ ↩
-
๓๕. พระธรรมไตรโลก (อ้น) วัดสุทัศน์ ต่อมาได้เลื่อนเปนที่พระพิมลธรรมมาอยู่วัดพระเชตุพน ↩
-
๓๖. เรื่องนิทานที่ปรากฎนี้เค้าเงื่อนจะมาจากชาวลังกา สังเกตชื่อพระเจ้าสิงหพาหุ เปนชื่อพระเจ้าแผ่นดินลังกา ปรากฎในหนังสือมหาวงศ์ ↩
-
๓๗. พระครูพจนโกศล (กัน) เปนนักเทศน์มหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ อนึ่งการถวายเทศน์นครกัณฑ์มีเรื่องตำนาน ดูเหมือนเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพน ซึ่งเปนอาจารย์ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส จะเปนผู้ถวายประจำตัวมาก่อน เมื่อท่านถึงมรณภาพแล้ว ปรากฎว่าสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสถวายเทศน์นครกัณฑ์ประจำพระองค์มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ จนถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วพระสาธุศีลสังวร (ควน) วัดพระเชตุพนซึ่งเคยเปนถานานุกรมของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทำนองจะได้ทรงฝึกหัดไว้ ได้ถวายเทศน์นครกัณฑ์ประจำตัวต่อมา แต่ในรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระสาธุศีลสังวร (ควน) ถึงมรณภาพแล้ว จะมีผู้ใดอื่นเปนผู้ถวายหรืออย่างไรหาทราบไม่ ปรากฎแต่ว่าพระครูกันนี้ เดิมเปนพระครูพุทธรักษกิจ ตำแหน่งเจ้าคณะอยู่เมืองอ่างทอง เปนนักเทศน์มหาชาติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์โปรด พระองค์ทรงจำทำนองเทศน์นครกัณฑ์ของสมเด็จกรมพระประชานุชิตชิโนรสได้ จึงทรงฝึกหัดพระครูกัน แล้วให้เข้ามาถวายเทศน์ก็โปรด จึงทรงตั้งเปนพระครูพจนโกศล ให้เข้ามาอยู่วัดพระเชตุพน ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษสิ้นพระชนม์แล้ว พระครูกันขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาสิกขา ดำรัสว่าทำนองนครกัณฑ์ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสจะสูญเสีย ให้พระครูกันหัดศิษย์ขึ้นไว้แทนก่อนจึงจะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาสิกขา พระครูกันจึงหัดพระครูด้วง อันเปนที่พระครูไกรสรวิลาสอยู่วัดพระเชตุพน จนสามารถถวายเทศน์นครกัณฑ์ได้จึ่งได้ลาสิกขา พระครูด้วงนั้นก็ได้เปนที่พระครูพจนโกศลต่อมา อยู่มาพระครูด้วงจะลาสิกขาบ้าง ก็โปรดฯ ให้หาตัวแทนเสียก่อนดังหนหลัง พระครูด้วงจึงได้หัดพระครูรุ่ง เดี๋ยวนี้เปนที่พระครูอุดมสังวรอยู่วัดพระเชตุพน ให้ถวายเทศน์นครกัณฑ์แทนตัวแล้วจึงได้ลาสิกขา เรื่องตำนานการถวายเทศน์นครกัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับวัดพระเชตุพน ดังบรรยายมาฉนี้ ↩
-
๓๘. การบุรณปฏิสังขรณ์วัดพระนอนจักรศรีสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ ทั้งปฏิสังขรณ์องค์พระนอนแลสร้างพระวิหารหลวง ↩
-
๓๙. พระยาราชเสนา (เดช) ภายหลังได้เปนที่พระยาจ่าแสนบดี พระยาอ่างทอง (เถียร) ภายหลังเลื่อนเปนพระยาอินทรวิชิต ตำแหน่งจางวางเมืองอ่างทอง ↩
-
๔๐. วัดไชโยนี้ ต่อมาเจ้าพระยารัตนบดินทร ที่สมุหนายก มีศรัทธาสร้างใหม่พร้อมทั้งพระอุโบสถแลวิหารพระโต แต่เมื่อกระทุ้งรากวิทาร พระพุทธรูปองค์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้าง ซึ่งทรงพรรณนาในหนังสือเรื่องนี้ทนกระเทือนไม่ได้พังลง จึงทรงพระกรุณาโปรด ฯ รับสร้างพระโตใหม่เปนของหลวง ตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสร้างพระโตวัดกัลยาณมิตร ช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร ผู้เปนบิดาของเจ้าพระยารัตนบดินทรมาแต่ก่อน แลทรงรับวัดไชโยเปนพระอารามหลวงแต่นั้นมา ↩
-
๔๑. ที่ในวิหารพระไสยาสน์ เดิมมีศิลาจารึกโคลงเรื่องชลอพระไสยาสน์ เปนพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าบรมโกษฐ เมื่อครั้งยังเปนกรมพระราชวังบวร ฯ แต่งถวายพระเจ้าท้ายสระอีกแผ่น ๑ แต่ศิลาแตกหาย เหลืออยู่แต่กรอบปูนปั้น ไม่มีใครรู้ว่าจารึกเรื่องอันใด มาจนเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๕ แล้ว หอพระสมุด ฯ จึงพบหนังสือสำเนาโคลงพระราชนิพนธ์นั้น ได้ทำศิลาจารึกไปติดไว้อย่างเดิมแลเอาโคลงนั้นมาพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ให้เรื่องพระนอนวัดป่าโมกข์บริบูรณ์ด้วย ↩