“ฮาโหล ฮาโหล ฮาโหล นี่นายด้านคลองใหญ่ ฮาโหล นี่คลองใหญ่ว้า ! ไอ้โทรศัพท์นี้บ้า บ้าเหมือนนายช่างมัน เฮ้ย ! ใครแอบฟังอยู่ที่ไหน อย่าฟ้องเฮียพริ้งนาโว้ย ! ฮาโหล นั่นหนองค้อหรือ อ้า ! ช่วยต่อหมื่นจิตต์ฮาโหล ฮาโหล นั่นหมื่นจิตต์รึ เออนี่ นายด้านคลองใหญ่บอกนายเอ็งมาพูด”

“ฮาโหล นั่นสุวรรณรี ? เออ นี่นายบำรุง นี่แน่ะสุวรรณ หือว่าอะไรนะ กวนแต่ยังไม่ตื่นนอนรึ บ๊ะก็กกอะไรกันจนตะวันโด่งเทียวเล่า มิน่าล่ะ ! นี่แกน่ะอะไรหายบ้างรู้ไหม ?”

นิ่งไปพักหนึ่ง แล้วฝ่ายผู้รับทางหมื่นจิตต์ตอบอย่างงง ๆ ว่า

“เอ ! อะไรของอั้วหาย ถามเมียแล้ว เขาว่าไม่มีอะไรหายนี่”

“มีสิน่า ใบ้ให้ก็ได้ สังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่”

“บ้า ! เกิดมาตั้งปัญหาให้ขบตั้งแต่ยังอมขี้ฟัน บอกก็บอกเถิดว้า เอาบุญ กันจะไป”

“อะไร ! ไม่รู้จริง ๆ หรือว่าปิด ?”

“เปล่าน่า ไม่รู้จริง ๆ”

“ช้างย่ะ ช้าง สัตว์โต”

“ฮะ !”

“หรืออีกนัยหนึ่ง ไอ้มลิยอดขมองอิ่มของนาย เสือกมารุ่มร่วมอยู่ในแบแร็กฉันแต่เช้ามืด”

“เอ ! ก็เมื่อวาน อั๊วยังเห็น ๆ อยู่นี่นา อ้อ ! เดี๋ยว ๆ อย่าเพิ่งวางหูนะ บุญฮายหน้าเหลอมาพอดี ว่าไงบุญฮาย ไอ้มลิแตกปลอกซิ เออไม่ต้องบอกข้าก็รู้แล้ว เวลานี้อยู่ในแบแร็กด้านคลองใหญ่ เออเตรียมตัวไปรับกับรถหุบบอน บอกไอ้แหยมให้เร่งสตีมเอารถออกให้ได้ในหนึ่งชั่วโมง ไปเบิกโซ่ปลอกอะไร ๆ ที่ร้านให้ครบชุด เดี๋ยวข้าจะไปเซ็นใบสั่งให้ ฮาโหล, บำรุง ยังอยู่หรือ ?”

“อุวะ ก็พูดอยู่แจ้ว ๆ เมื่อกี้ จะให้ไปลงนรกเสียที่ไหนเล่า”

“ไม่ใช่ อั๊วถามว่ายังอยู่กับหูหรือ”

“อ๋อ ! อยู่จ้ะ นายมีธุระอะไรอีก”

“นี่ ไอ้มลิไปอาละวาด อะไรฉิบหายไปบ้าง ?”

คราวนี้ฝ่ายคลองใหญ่กลับเงียบ แสดงว่ากำลังลำดับเหตุการณ์ แล้วจึงพูดในเสียงซึ่งจับสำเนียงตื่น ๆ ได้ว่า

“แปลกแฮะ ! เปล่าเลย แต่ไอ้มลิจริง ๆ นะ อั๊วไปแอบต้นไม้ดู บ่ยั่นเข้าแค่เหมือนกัน”

“มันกำลังทำอะไรอยู่ ?”

“ข้อนี้ซิแปลก” นายบำรุงซึ่งมีชื่อว่าเป็นนายด้านที่รื่นเริงที่สุดในหมู่เจ้าหน้าที่ชั้นหัวหน้าด้วยกันตอบ แล้วนิ่งไปสักครู่จึงกล่าวต่อไปด้วยเสียงที่เปลื้องความคึกคะนองออกสิ้นแล้ว “พลายมลิวัลลิ์กำลังพยาบาลคนงานกองแทรกเตอร์ของอั้วคนหนึ่ง”

“หือ !”

“จริง !”

“อั๊วไม่ได้ว่าไม่จริง คนงานนั่นชื่ออะไรนะ ?”

“นี่ก็ลึกลับอีก เซ็นชื่อเบิกค่าแรงว่าเผือก ไอ้พวกนี้มันเรียกคุณพ่อเผือก เป็นคนประหลาดลื้อ ทั้ง ๆ ที่เสื้อผ้ามอมแมมเหม็นสาบเป็นอีแร้ง หนวดเคราชูชันราวกับขนเม่น อั๊วสังเกตเสียงที่พูด และท่วงทีบางเวลา ไม่ได้บอกว่าเผือกเป็นชื่อจริงเลย แต่เขาจะชื่อของเขาอย่างนั้น อั๊วก็เผือก ๆ กะเขาไปแต่-เอ-- ดูเหมือนอั๊วจำได้แว่ว ๆ ว่าเคยอยู่กะลื้อมาก่อนไม่ใช่หรือ เพิ่งอพยพมาอยู่ด้านอั๊วได้สักสองปีแล้ว---”

“ฮึ่ กันไม่เคยมีคนงานชื่อเผือกเลย แต่ช่างเผือกเถอะ แกเล่าเรื่องไอ้มลิให้ละเอียดที ถ้ามันจะอลเวงกันตามเคย อั้วจัดให้บุญฮายลงไปรับพ่อโฉมเอกเดี๋ยวนี้เอง”

“บ๊ะ มันสนุกละลื้อ ไอ้มลิไม่อาละวาดยังเพียงนี้ ถ้ามันอาละวาดคงจะยิ่งกว่านี้ ยิ่งกว่าเมื่อเมียกรุงเทพฯ ของลื้อมาเจอะคุณนายศรีวิชัยคนใหม่อยู่บนบ้านนายด้านหมื่นจิตต์”

“พอ-พอ ไม่ต้องนอกเรื่อง”

เสียงด้านคลองใหญ่หัวเราะลั่น แล้วจึงเล่าต่อไป

“คือยังงี้ อั๊วยังไม่ตื่นเลย ไอ้เทียมวิ่งตาเหลือกมาแหกปากปลุกว่าอะไรแทบไม่ได้ศัพท์ เสียงแต่น้าย ๆ ไอ้มลิทะลายโร้ง ๆ กันเลย คว้าปาราด๊อกยัดดัมดัมเข้าลำกล้องทั้งสองกระบอก คิดว่าถ้าจำเป็นจริงก็เห็นจะต้องยิงทิ้ง เพราะที่นี่ไม่มีควาญจะเอามันไว้อยู่ จะปล่อยให้มันทำลายทรัพย์สมบัติของบริษัท หรือชีวิตคนเล่นอย่างที่เคย ๆ มาไม่ได้ บริษัทจะว่าอย่างไรไว้พูดกันทีหลัง ไปกลางทาง แหมลื้อเอ๊ย อั๊วมันให้สวิงสวายขึ้นมาทีเดียว เจอผู้หญิงวิ่งแต่ตัวกับเสื้อชั้นใน”

“เฮ้ย ! โกหก”

ทางคลองใหญ่สบถอย่างหนักแน่น “ไม่เชื่อ ลื้อมาถามคนงานดูซี มันเห็นกันทั้งนั้น ไอ้มลิผ่านไปเป็นนาน ก็ยังวิ่งเทียวไปเทียวมา จนคนต้องไปจับตัวจึงรู้สึก-ก็เมื่อวันนั้นลื้อมีสติทำอะไรได้บ้างเล่า ขึ้นกระได ลงกระได-”

“เออ เออ เชื่อ ตัดฝอยเสียบ้าง อั๊วจะไป-”

“มีเรื่องอีกแยะ อั๊วขี้เกียจเล่า”

“ดีแล้ว เล่าแต่ที่เกี่ยวกับอั๊วเถอะ จะไปห้องน้ำ”

“ก็ไม่มีอะไรแล้ว ไอ้มลิไม่ได้มาอาละวาดอะไรหรอก ดูราวกับว่ามันจงใจจะมาเยี่ยมคนงานที่ชื่อเผือกเท่านั้น นายเผือกผู้นี้กำลังเจ็บ อั้วกลัวมาลาเรียจะขึ้นสมอง เห็นตัวอีเย็น ๆ เหมือนคราวไอ้แจ้ง จะต้องรีบฝากไปศรีราชากับรถท่านที่จะขึ้นมาตรวจสะพานใหม่วันนี้ เมื่อกันไปถึงแบแร็กเห็นมันไปยืนอยู่ที่หน้าต่าง เอางวงลอดเข้าไปลูบคลำตัวเผือก เดี๋ยว ๆ ก็เดินงุ่มง่ามอยู่รอบห้องแถว ราวกับว่า ถ้าตัวมันเท่ากับหมาคล้ายใจมันเวลานี้ คงเข้าไปพยาบาลกันถึงในห้อง ส่วนเจ้ามุ้ยที่อยู่ห้องเดียวกับตาเผือก มันกลัวไอ้มลิเหมือนจะเป็นบ้า เปิดแน้บเข้าป่าราวกับใส่ปีก เพิ่งจะตามตัวกลับมาได้เมื่อก่อนหน้าอั๊วเรียกลื้อได้ประเดี๋ยวเดียว ถามอะไรยังไม่ได้ความ

“ประเดี๋ยวลื้อ เจ้ามุ้ยนะ-มุ้ยขึ้นไม้ใช่ใหม่ ?”

“ใช่”

“ฮืม ! แล้วตาเผือกน่ะ คอไอ้เผือกขนาดหนักใช่ไหม ?”

“ใช่-เอ๊ะ สุวรรณแกยังอยู่หรือ ?”

“อยู่ กำลังสงสัยอะไรลาง ๆ นี่ เมื่อกี้ดูเหมือนแกว่า นายเผือกไม่น่าจะชื่อเผือกน่ะ แกหมายความว่าเขาควรจะมีชื่อไพเราะกว่านั้นหรือ ?”

“ถูก”

“แกว่าท่วงที และกังวานเสียงที่พูดบางคราวก็แสดงว่าไม่น่าจะมาทำงานต่ำ ๆ ในป่า ?”

“ถูกจ้ะ และบางคราว บ่อย ๆ ด้วย-ก็เมาเหมือนหมา”

“เฮ้ย หมาด้านนายบำรุงกระมังเมาเหล้า อีกอย่างที่อยากสอบสวนคือ ไอ้มลิดูรักใคร่เขามากหรือ ?”

“ถูกอีก อั๊วก็อยากบอกอีกอย่างว่า คนคนนี้ ไม่ว่าเมาครึ่งยศเต็มยศเพียงใด ไม่เคยปริปากพูดเรื่องส่วนตัวก่อนมาอยู่ป่าเลย”

“บำรุง กันตกลงใจจะไปแก้ข้อสงสัยบางประการที่ด้านแกพร้อมกับบุญฮาย แกว่าท่านเฒ่าจะขึ้นมาตรวจงานคลองใหญ่วันนี้ไม่ใช่หรือ ดีละ นี่ลื้อ เวลาเขาโทรศัพท์ขอทางสะดวกมา ลื้อช่วยทูลท่านทีนะว่า อั๊วจะขออาศัยรถท่านขึ้นไปรับไอ้มลิด้วย อั๊วจะออกเดินทางเดี๋ยวนี้ ถ้าท่านมาถึงสามแพร่งทับโคบุตรก่อน ขอให้คอยสักหน่อยนะ ไอ้รถหุบบอนของฉันมันงุ่มง่ามนัก”

“แหม ดีจริง ฉันก็คิดถึงแกมานานแล้ว ประจวบเหมาะกำลังมีของดีอยากจะบอก นึกว่าลื้อจะไม่มา ถึงนิ่งเสียก่อน”

“โธ่ แก ฉันจะไปห้องน้ำ”

“อีกประเดี๋ยวเถอะน่า คือว่าญาติทางกรุงเทพฯ เขาส่งลำไยแห้งเมืองจีนมาเซ่น เลยดองไว้ในไอ้เผือก ทิ้งไว้ห้าวัน งัดเอาออกมาชิม แม้ สุวรรณเอ๋ย ! บรั่นดีอย่างดี ๆ เรานี่เอง ยกเว้นเฮนเนสซีกะมาร์เตล ฉันไม่ขอแลกอย่างอื่นเด็ด”

“เอ๊ะ เราจะล่อของมึนเมาเวลางาน ต่อหน้าท่านผู้จัดการใหญ่ทีเดียวหรือ นายบำรุง”

“นี่แหละน้า เขาว่า ชาติคนไม่รู้จักหลบกินเลี่ยงกิน ปล่อยให้อดเสียก็จะดี แกก็รู้อยู่นี่นาว่า เวลาเสวยกลางวันท่านต้องเรียกพวกเราร่วมด้วยทุกคราว แล้วไม่เคยเว้นประทานบรั่นดีกับผีปอบคนละเป๊กสองเป๊กตามวาสนา คราวนี้เสร็จกะท่าน เราก็เลี่ยงมาเติมของเราสิ ท่านจะมาจับได้ หรือว่าไหนกลิ่นบรั่นดีของท่าน ไหนกลิ่นลำไยดองของฉัน มันก็หักกลบลบกันไปในตัวของมันเอง”

“พอ พอ ขอให้ไปพบกันเสียก่อนจะฉลองศรัทธาของนายให้เต็มรักและวันนี้”

หม่อมเจ้านิพนธ์ วรรณสาร เป็นเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งต้องทรงเปลี่ยนอาชีพ เพราะความเคลื่อนไหวในการปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญรุดหน้าไปตามความหมุนเวียนของโลก แต่เพราะเหตุที่ทรงมีพระชนมายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว ได้ทรงเคยผจญและพบเห็นเหตุการณ์ของชีวิตด้านต่าง ๆ มามากต่อมาก จึงสามารถหักพระทัยให้คล้อยไปตามเหตุการณ์ที่มาประจันหน้านั้นได้เป็นอย่างดี จนในที่สุดทรงได้รับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของป่าไม้ และโรงเลื่อยบริษัทศรีราชา จำกัด ซึ่งขณะนั้นเป็นองค์การค้าที่มีกิจการใหญ่ที่สุดในมหาบูรพาเอเชียนี้ และซึ่งจะมีองค์การอย่างเดียวกัน และเท่าเทียมกันอยู่ก็แต่ในภาคเหนือของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

การที่ทรงมีอนุชาของชายาเสด็จในกรมขุนวรวงศ์วัฒนา ซึ่งทรงถือหุ้นใหญ่และทรงเป็นประธานกรรมการของบริษัท อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการได้รับตำแหน่งนี้อยู่บ้าง แต่กล่าวตามความยุติธรรมแล้ว ท่านเป็นเจ้านายที่เหมาะสมแก่ตำแหน่ง และเป็นที่เทิดทูนรักใคร่ของชาวศรีราชา บรรดาที่มีโอกาสคุ้นเคยทั่วไป ขณะนี้พระชนม์ราว ๔๘ แต่ยังทรงกระชุ่มกระชวยกว่าวัยจริงของท่านมาก ในระหว่างที่ยังทรงดำรงอยู่ในอาชีพเก่านั้น ต้องทรงตระเวนอยู่ตามยุโรป อเมริกา เอเชีย และที่อื่น ๆ แทบทั่วพิภพ นาน ๆ จึงจะกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดสักคราวหนึ่ง อยู่ได้ไม่ช้าก็ต้องกลับไป เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดกาลสมัยแห่งอาชีพเดิมของท่าน ดังนี้จึงไม่ประหลาดที่ท่านเป็นเจ้าที่ไม่ใคร่มีคนรู้จักในบ้านเมืองของท่านเอง แต่แม้กระนั้น ในคราวที่ท่านต้องกลับมาอยู่ประจำในเมืองไทย ท่านก็เป็นคนไทยที่สมบูรณ์ด้วยน้ำใจและศีลธรรมจรรยา ทรงรู้จักดัดแปลงแก้ไขสิ่งที่ได้พบเห็นให้เกิดประโยชน์อันเหมาะสมแก่กิจการในความรับผิดชอบได้เสมอ มีพระนิสัยสุขุมเยือกเย็น รู้จักวิธีปกครองใจคนอย่างดีเลิศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับตำแหน่งหน้าที่ของท่าน ในอันที่จะต้องปกครองคนจำนวนนับพัน ๆ ซึ่งต่างชั้นต่างวรรณะกันตั้งแต่กรรมกรไทยเหนือจนถึงนายช่างทางรถไฟชาวเยอรมัน ซึ่งเคยเป็นนายช่างใหญ่ของกรมรถไฟมาแล้ว

ดังนี้ ในวันที่ทรงขึ้นมาตรวจสะพานใหม่ด้านคลองใหญ่ และได้ทรงทราบจากนายด้านว่า มีคนงานป่วยหนักจะต้องอาศัยรถยนต์รางของท่านขึ้นไปรักษาตัวที่ศรีราชา ประกอบทั้งได้ทราบการมาป่าอย่างพิสดารของเขา จากนายสุวรรณ ศิริชัย ด้วยแล้ว ก็ทรงร่นกำหนดเวลากลับศรีราชาเร็วขึ้น เพื่อคนเจ็บจะได้ไม่ถูกลมเย็นในเวลาค่ำที่กลางป่า ส่วนนายสุวรรณนั้น จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ได้พยายามบิดเบี่ยงเลี่ยงการกลับหมื่นจิตต์ฯ พร้อมกับท่านผู้จัดการไปได้อย่างงดงาม

รถยนต์รางที่ทรงใช้ในวันนั้นเป็นรถขนาดเล็ก มีที่นั่งได้สามแถว ๆ ละสองคน แถวหน้าคนขับนั่งกับผู้ช่วย และมีเกียร์ขวางอยู่กลางที่วางเท้า เป็นการขัดขวางที่จะวางคนป่วย แถวหลังวางส่วนประกอบของเครื่องชักลากซึ่งชำรุด และต้องส่งลงไปซ่อมที่โรงกลึงของบริษัทเป็นการด่วน จึงทรงบัญชาให้วางคนป่วยลง ณ ที่ที่วางเท้าแถวกลางที่องค์ท่านประทับ ทรงช่วยจัดให้ได้อยู่ในท่าครึ่งนอนครึ่งนั่ง โดยให้นายปิ่นผู้รักษาสถานที่พักของบริษัทศรีราชา และบำเพ็ญตัวเป็นมหาดเล็กใกล้ชิดติดตามองค์ท่าน นั่งแถวเดียวกับท่านคอยประคองไว้

ความตั้งพระทัยอันดีที่จะไปให้ถึงศรีราชาก่อนมืดค่ำเป็นอันว่าต้องล้มเหลวลง เพราะรถซุงด้านหมื่นจิตต์เผอิญล่วงหน้าลงไปเสียก่อนที่เจ้าหน้าที่ที่ทับโคบุตรจะกักรถไว้ทัน เมื่อได้รับคำสั่งเปลี่ยนกำหนดกลับของรถผู้จัดการใหญ่ รถยนต์รางจึงต้องแล่นตามหลังขบวนรถบรรทุกซุงยาวประมาณ ๓๐ กว่าท่อน ซึ่งแล่นไปได้แต่ช้า ๆ นั้นอย่างน่าเบื่อหน่าย นาน ๆ ก็หยุด ปล่อยให้รถซุงแล่นไปล่วงหน้าให้ห่างไปไกล ๆ พอใกล้ก็ต้องหยุดคอยเป็นระยะ ๆ ไป กว่าจะหลีกขึ้นหน้าได้ที่หนองค้อก็คงอีกประมาณสองชั่วโมง

ขณะนี้ตะวันคล้อยยอดไม้ลงไปลับดวงแล้ว แต่ชายป่าตอนที่โล่งยังมีแสงสว่างพอจำหน้ากันได้ ลมเย็นพัดลงมาจากยอดเขาโกรกกรอก มาตามช่องทางรถ ระหว่างป่าทึบทั้งสองข้าง ทำให้แม้แต่คนดี ๆ ก็สะท้อนสะท้าน คราวหนึ่งที่รถจอดคอยนั้นได้ทรงสังเกตเห็นคนไข้กระสับกระส่าย จึงบัญชาให้นายปิ่นตลบชายผ้าผวยที่ซ้อนกันอยู่แล้วสามผืน เข้าซุกใต้ร่างของเขา และกระชับให้แน่น ซ้ำให้นายปิ่นถอดเสื้อ ของแกออกคลุมโปะเข้าที่ซอกคอ แล้ววงไปรอบศีรษะ นายปิ่นลอบทำหน้าเบ้ แต่ก็ปฏิบัติตาม

ในอีกคราวหนึ่งที่รถหยุด และขบวนรถซุงแล่นพ้นไปไกลจนสิ้นเสียงแล้ว เป็นเวลาสงัด ทรงสังเกตว่า คนไข้บ่นอะไรพึมพำ จึงรับสั่งว่า

“ฟังดูสิปิ่น เขาว่าอะไร ?”

“เหมือนพูดฝรั่งครับ เสียงสุเรีย ๆ หาอรพิน เพ้อนะครับ คงไม่ต้องการอะไรดอก”

นายปิ่นผู้เจนจบแต่ภาษาฝรั่งเศส เพราะพลัดไปอยู่ในประเทศนั้นมากกว่า ๒๐ ปี รู้จักราชาศัพท์ในภาษาของเขาอย่างดีที่สุดเพียง “ครับ” กับ “ผม”

พอสิ้นเสียงตอบของนายปิ่น เสียงคนไข้ก็เปล่งขึ้นชัดเจนราวกับค้านว่า ฉันไม่ได้เพ้อ

“อรพิน อรพิน สุริยากลับมาแล้ว” เสียงอ้อแอ้ ๆ ขาดหายลงในคอ ครั้นแล้ว “อรพิน สุริยาจะชนะเสมอ”

“หือ ! อะไรกันนี่ !” รับสั่งอย่างตื่นเต้นเหลือประมาณ

“ยูเนียร์ ยูเนียร์จิ๋ว มา มา ขี่หน้าอกพ่อ จิ๋วโตขึ้นจะต้องเป็นทหารม้า ต้องหัดขี่หน้าอกพ่อ เป็นสุริยายูเนียร์ สุริยาจิ๋ว...”

“ปิ่น ปิ่น เร็ว ! ไฟ-ไฟฟ้าฉายดูหน้าเร็ว”

แต่ผิวหน้าซึ่งหมกอยู่ใต้หนวดเคราและคราบเหงื่อไคลนั้น เหี่ยวแห้ง ซีดคล้ำ ดำไหม้ด้วยแดดลม ด้วยเหล้า และโรค จนไม่สามารถจะเดาได้ถึงโฉมหน้าจริง สักครู่จึงทรงระลึกขึ้นได้ว่า แม้จะทรงรู้จักเจ้าของนามอรพิน และได้เคยเห็นหนูกมลสุริยาหรือ “ตาจิ๋ว” สองสามครั้ง ก็มิได้เคยพบตัวจริงของหม่อมเจ้าสุริยา นอกจากเคยเห็นแต่ฉายาลักษณ์ของเธอ ซึ่งถ่ายไว้นานปีมาแล้ว ฉะนี้จะหวังให้ทราบแน่ชัดได้อย่างไรว่า ชายผู้นี้คือหม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล ผู้ซึ่งทั้งกรุงเทพฯ เชื่อกันว่าสิ้นพระชนม์เสียในทะเลแล้ว

คนไข้พึมพำบ้าง ส่ายหน้าบ้าง มีลักษณะบ่งชัดว่าอยู่ในอาการ กึ่งสลบเพราะพิษไข้ และในฐานที่พอจะทรงทราบอาการของผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเรียขึ้นสมองอยู่บ้าง จึงรับสั่งกำชับนายปิ่นเรื่องผ้าห่ม มิให้คลายออกจากตัวค่อนข้างเย็นผิดปกติของเขาได้ พร้อม ๆ กันนั้นก็ทรงรำพึง พลางขบปัญหาอันยุ่งยาก แข่งกับความวิตกในอาการของคนไข้ ไม่ยุติลงได้ ตราบจนรถยนต์รางชะลอหยุด ณ เบื้องหน้าตำหนักใหญ่ที่ศรีราชา

“นี่ปิ่น ไม่ต้องส่งตานี่ไปโรงพยาบาล แกกับคนรถช่วยหามไปไว้ในห้อง หลังห้องกินข้าว” หันไปทางมหาดเล็กอีกคนหนึ่งที่วิ่งมารับ “เล็ก แกรีบไปเชิญหมอ บอกว่าฉันขอให้มาด่วน ส่วนปิ่น ขอให้ช่วยเฝ้าพยาบาล บอกให้กุ๊กต้มน้ำกรอกกระเป๋าน้ำร้อนของฉันทั้งสองใบ ใส่เข้าไปในผ้าห่มเขา ถ้าแกมีธุระบอกเมียกุ๊กช่วยอยู่ดูแทน”

ปิ่นมองดูมูลนายของตนด้วยอาการอันงงงวย แต่ก็ปฏิบัติตามบัญชาอย่างเคร่งครัด ตามอัธยาศัยที่เคยชินของตน

คืนนั้น ท่านผู้จัดการเสวยเสร็จแล้ว ก็หาเสด็จขึ้นข้างบนไม่ ยังคงประทับอยู่ที่เฉลียงข้างห้องที่ติดต่อกับห้องหลังห้องพักอาหาร จนกระทั่งนายแพทย์จากโรงพยาบาลมาถึง และประทับอยู่เฉย ๆ จนกระทั่งเขาตรวจคนไข้เสร็จ

“ยังทูลอะไรไม่ได้แน่นอนกระหม่อม ยังอยู่ในอาการสับนอร์มัล ปรอทลงถึงเก้าสิบหก เคราะห์ดีที่ฝ่าบาทใส่กระเป๋าน้ำร้อนเสียก่อน กระหม่อมฉีดควินินกับยาบำรุงหัวใจให้แล้ว แต่ต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำร้อนบ่อย ๆ ให้นายปิ่นวัดปรอททุกสี่ชั่วโมง ถ้าปรอทต่ำกว่านี้ ต้องเรียกตัวกระหม่อมทันที”

“ขอบใจมากคุณหมอ ฉันมีเหตุผลพิเศษที่ต้องการให้เขาได้รับการรักษาพยาบาลที่นี่ ขอคุณหมอช่วยอนุเคราะห์ให้เต็มฝีมือหน่อยนะ ฉันจะให้รถไปรับคุณหมอเวลาไหน ? ”

“ไม่ต้องกระหม่อม ถ้าคืนนี้ไม่มีอะไร พรุ่งนี้กระหม่อมมาจักรยานแต่เช้ามืดก่อนเปิดโรงพยาบาลจะสะดวกกว่า”

ครั้นแล้วคุณหมอประจำโรงพยาบาลศรีราชาผู้อารี เป็นที่นับถือของคนทั่วย่านศรีราชา ก็เดินเกาหัวหยิก ๆ กลับไป คุณหมอได้คิดไว้ว่า อาการวิกลวิการที่ท่านผู้จัดการใหญ่ นำคนงานชั้นกรรมกรมารักษาพยาบาล ณ บ้านพักของท่านเองนั้น จะได้คลี่คลายออกเมื่อไปทูลรายงานอาการ การณ์กลับปรากฏว่าคุณหมอยังอยู่ในสภาพงุนงงเช่นเดิม แต่คุณหมอก็เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมจรรยาแพทย์จริง ๆ สิ่งใดที่เขาไม่เปิดเผย เธอก็ไม่คุ้ยเขี่ย เดินจูงจักรยานผิวปากอย่างรื่นเริงเข้าไปในร้านกาแฟในตลาด และเมื่อถูกซักถามเธอก็ยิ้มเฉยเสีย ผู้รู้อัธยาศัยก็จับเรื่องอื่นสนทนาต่อไป

เช้าวันรุ่งขึ้น อาการของคนไข้มิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ตัวยังเย็นอยู่ในระดับเดิม และยังเพ้อเหมือนวันก่อน คุณหมอจึงไม่สามารถจะรายงานอะไรเพิ่มเติมได้ และวันนี้ท่านผู้จัดการใหญ่ขึ้น ‘ออฟฟิต’ เวลา ๘.๐๐ น. ซึ่งเช้ากว่าเคยถึง ๑ ชั่วโมง เป็นเคราะห์ดีที่มีเจ้าหน้าที่ชั้นหัวหน้ามานั่งทำงานกันหลายคน

“ชัด เรียกหมื่นจิตต์ บอกสุวรรณพูด”

นายชัด สมุห์บัญชีใหญ่หมุนโทรศัพท์เรียกหมื่นจิตต์อยู่เกือบครึ่งชั่วโมง จึงได้ตัวนายสุวรรณ และต่อสายไปยังโต๊ะท่านผู้จัดการ

“สุวรรณรึ ? นี่สุวรรณจำได้ไหมว่า คนที่ชื่อเผือกเขามาถึงศรีราชา วันเดือนปีอะไร”

นิ่งไปสักพักหนึ่ง นายสุวรรณถือหูโทรศัพท์อยู่มือหนึ่ง อีกมือหนึ่งกำลังทำอาการอย่างเดียวกับคุณหมอเมื่อคืนนี้ ท่านจะทราบวันเดือนปี เอาไปทำสวรรค์อะไรหนอ ถ้าไม่จดไว้ ใครเล่ามันจะจำได้ตั้งปีกว่าสองปี เอ๊ะ ! จด-จด-อ้า !

“วันเดือนปีกระหม่อมจำไม่ได้ แต่จะสอบสวนทราบได้ทางออฟฟิต คือกระหม่อมจำได้ว่า นายคนนี้มาถึงก่อนหน้ากระหม่อมไปสำรวจป่าระยองสี่วัน ถ้าให้นายชัดค้นดูรายการเบิกค่าใช้จ่ายในการนี้ของกระหม่อมคงทราบ โปรดบอกนายชัดว่าอยู่ในระหว่างปีกับสิบเดือนถึงสองปีมานี้”

“ดี ขอบใจ สุวรรณ เลิกกันนะ ชัดค้นใบสำคัญเบิกค่าใช้จ่ายของนายสุวรรณในการไปสำรวจป่าระยอง เมื่อประมาณหนึ่งปีกับสิบเดือนถึงสองปี”

“ประทาน ใบสำคัญคู่จ่ายและสมุดบัญชีทั้งหมดเราเก็บไว้ในที่นี่เพียงหนึ่งปี ถ้าพ้นกำหนดแล้วส่งไปเก็บออฟฟิตใหญ่กรุงเทพฯ”

“ทำโทรเลขถึงออฟฟิตใหญ่ ขอทราบวันเดือนปีที่นายสุวรรณออกสำรวจป่าระยอง เมื่อราวปีกับสิบเดือนกว่ามานี้ ให้ตอบทางโทรเลขวันนี้ อ้อ! ชัด อีกฉบับหนึ่งถึงเจ้าพี่ฉัน ให้สอบถามอรพิน หม่อมสุริยาหายไปวันเดือนปีอะไร ให้ตอบทางโทรเลขวันนี้เหมือนกัน”

เวลาจวนพลบของวันเดียวกันนั้น ท่านผู้จัดการใหญ่ประทับอยู่ ณ เฉลียงข้างหลังห้องเสวยแห่งเดียวกันกับที่กล่าวแล้ว บนโต๊ะมีถาดวิสกี้โซดาและแก้วใสสะอาดวางบนจานรองเงินสองสามใบ ใบหนึ่งมีวัตถุธาตุเหลวทั้งสองผสมเสร็จเหลือติดก้นแก้วอยู่นิดหนึ่ง แสดงว่าได้ทรงดื่มแต่ลำพังมานานแล้ว ข้าง ๆ ถาดวิสกี้มีกระดาษอยู่ ๓ ชิ้น เป็นโทรเลข ๒ ฉบับ กับบัตรแข็งขนาดใหญ่กว่าไปรษณียบัตรสัก ๒ เท่า ๑ แผ่น

ท่านผู้จัดการใหญ่ ประทับจิบวิสกี้ไปพลาง ทอดพระเนตรกระดาษนั้นคราวละแผ่น ๆ จบสามแผ่นแล้ว ย้อนทอดพระเนตรแต่แผ่นที่หนึ่ง เรียงลำดับกันต่อกันไปใหม่ พระพักตร์ขมวดนิ่วเหมือนกำลังทรงขบปัญหาที่ยากยิ่งลึกซึ้ง สุดวิสัยจะวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปได้

โทรเลขฉบับหนึ่งมีข้อความว่า

“สุริยา เรือภานุรังษีระหว่างระยองถึงปากน้ำ ทราบกันบนเรือ เช้าวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔”

อีกฉบับหนึ่ง

“นายสุวรรณออกเดินทางตรวจป่าระยองวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔”

ส่วนกระดาษแข็งแผ่นนั้นคือ บัตรเชิญหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ในงานเสกสมรสระหว่าง หม่อมเจ้าวรวัฒน์ ในเสด็จกรมขุนวรวงศ์วัฒนา-ภาคิไนยขององค์ท่านเอง กับหม่อมอรพิน ชายาเก่า หม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล ซึ่งโลกแทงบัญชีว่าสิ้นพระชนม์ไปแล้วนั้น งานเสกสมรสนี้จะได้ประกอบเป็นงานพิธีหลวง ณ พระที่นั่งอัมพร แล้วจึงจะมีงานรื่นเริงอย่างกันเอง ในหมู่ประยูรญาติที่วังเสด็จในกรม กำหนดงานนั้นคือวันที่ ๑๔ มกราคม หรืออีก ๑๒ วันต่อจากวันนี้ไป

มีเสียงกุกกักดังขึ้นที่ปลายเฉลียง พอเงยพระพักตร์ขึ้น ก็พอดีคุณหมอเดินออกจากห้องคนป่วย ทรงหยิบถ้วยแก้วจานรองเลื่อนไปทางมุมโต๊ะด้านที่คุณหมอจะต้องนั่ง แล้วรับสั่ง

“เชิญ หนาบางตามอัธยาศัย ไงบ้างคนไข้ ?”

คุณหมอผสมของเขา พลางทูลรายงานว่า

“ตัวอุ่นขึ้นบ้างแล้ว เห็นได้ว่าคนไข้เคยเป็นผู้มีอนามัยดีเลิศ และมีความสมบูรณ์พูนสุขในความเป็นอยู่มาแต่ก่อนเป็นอันมาก ร่างกายเพิ่งถูกเผาผลาญด้วยฤทธิ์เหล้า ด้วยอาหารเลว ๆ และการปล่อยตัว เมื่อไม่สู้นานนี้เอง กำลังกายที่มีทุนเดิมอยู่จึงช่วยต่อสู้กู้ชีวิตไว้ได้ ในคราวนี้กระหม่อมพอจะรับรองได้ว่า เห็นจะไม่เป็นอันตราย”

“ฟื้นแล้วหรือ ?”

“ยัง หม่อม”

“เมื่อไหร่จะฟื้นได้สติบ้าง”

“ข้อนั้นยังทูลแน่ไม่ได้ อาจอีกตั้งสามวัน”

“เอ๊ะ ! ถึงอย่างนั้นเทียว เมื่อพอได้สติแล้วสักกี่วันจึงจะเป็นปกติ พอพูดจาเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาได้ ?”

คุณหมอนิ่งอั้นเป็นนมนานจึงทูลสนอง

“กระหม่อมยังทูลไม่ได้จริง ๆ ต้องแล้วแต่กำลังใจของเขาและการพยาบาล”

“เรื่องการพยาบาลอย่าวิตก ขอให้คุณหมอช่วยในการรักษาด้วยอีกแรงหนึ่งให้เต็มฝีมือ เพื่อให้เขาฟื้นมีสติแข็งแรงพอจะพูดเรื่องสำคัญได้ภายในหนึ่งอาทิตย์ คือภายในเจ็ดวันนี้ คุณหมอจะรับรองได้ไหม ?”

ยิ่งถูกคาดคั้นเข้าดังนี้ คุณหมอยิ่งอ้ำอึ้งหนักขึ้น

“กระหม่อมทูลได้แต่ว่า จะพยายามสุดความสามารถ”

“เอาละเท่านั้นก็ขอบใจละ ที่ต้องขอร้องและคาดคั้นหมอนี้ ฉันมีเหตุผลสำคัญที่สุด แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ถ้าเขาจะตายจริง ๆ เขาจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่ใคร แต่ถ้าเขาจะดำรงชีวิตอยู่ เขาจะต้องฟื้น มีสติดีและแข็งแรงพอจะพูดเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา และชีวิตคนอื่น ๆ ได้อย่างช้าที่สุดก่อนวันที่ ๑๒ เดือนนี้เข้าใจไหมหมอ ?”

“เข้าใจกระหม่อม”

แต่ในค่ำวันนั้น ขณะที่จูงจักรยานไปตามตลาดเพื่อกลับสู่โรงพยาบาลนั้น คุณหมอคงเกาหัวอันอัตคัดผมของท่าน และบ่นพึมพำ ๆ ว่า

“ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจเลยสักนิด”

หม่อมเจ้านิพนธ์ วรรณสาร ต้องทรงยอมรับกับพระองค์เองว่า ทั้ง ๆ ที่ได้ทรงท่องเที่ยวมาแทบทั่วพื้นพิภพ ได้เห็นเหตุการณ์และชีวิตด้านต่าง ๆ มามากหลาย ท่านเพิ่งมาประสบความลับชนิด ‘คับอก’ ณ ป่าศรีราชานี้เอง เป็นความลับที่ยิ่งมีอายุแก่ขึ้น แม้เป็นเวลาเพียงชั่วโมง ๆ ก็ยังทำให้ทรงอัดอั้นตันพระทัยแทบจะระบายอัสสาสะออกไม่ได้

ทั้งนี้ก็เพราะบัดนี้ ท่านทรงทราบโดยปราศจากข้อเคลือบแคลงแล้วว่า คนไข้ซึ่งอยู่ในความอารักขาขององค์ท่าน และซึ่งชาวป่าศรีราชารู้จักกันในนาม “เผือก” นั้น หาใช่คนอื่นไกลไปจากหม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล สวามีของหม่อมอรพินซึ่งจะได้ทำการเสกสมรสกับหม่อมเจ้าวรวัฒน์ ภาคิไนยของท่าน ภายในเวลา ๑๐-๑๒ วันนี้นั่นเอง

ในภาวการณ์พิสดารอันน่าอึดอัดพระทัยนี้ พระองค์ควรจะทำประการใด ? แจ้งเรื่องไปทางกรุงเทพฯ เพื่อให้เลิกล้มการเสกสมรส ตามความคิดเห็นที่แล่นเข้าสู่หฤทัยของพระองค์ในชั้นแรกหรือ ? นั่นเป็นทางที่ถูกและควร แต่ทว่า-เมื่อได้พิจารณาลึกซึ้งลงไปกว่าผิวเผิน ก็ต้องยับยั้ง และตั้งคำถามกับพระองค์เองอีกครั้งว่า สมควรหรือ ?

พระชนกของหม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่ได้สร้างคุณงามความดีฝากไว้แก่ประวัติศาสตร์ของชาติไทยเป็นอันมาก และทั้งท่านสุริยาฯ ก็เป็นโอรสพระองค์เดียวของท่าน และเป็นผู้ที่จะสืบวงศ์ดำรงตระกูลต่อไปบนกองมรดกมหึมา ดังนั้นการหายสาบสูญไปของทายาทองค์นี้ ตลอดจนการที่โลกแทงบัญชีจำหน่ายว่าสิ้นพระชนม์ชีพ จึงเป็นข่าวที่ทั้งหนังสือพิมพ์และข่าวโจษจันได้ช่วยกันกระพือพัดอย่างครึกโครม สมด้วยความสำคัญของบุคคลต้นข่าวนั่นทีเดียว เพราะเหตุฉะนี้ที่ท่านชายสุริยาจะไม่ทรงทราบข่าวเล่าลือถึงองค์ท่าน ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ และถ้าจะยึดถือเอาว่าทรงทราบ-ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว-หรือแม้แต่จะไม่ทรงทราบ ก็ดูไม่มีเหตุผลเลยว่า เหตุใดจึงทรงเก็บตัวนิ่งเงียบอยู่ตลอดเวลาตั้งสองปีนี้ ปล่อยให้โลก เฉพาะอย่างยิ่งอรพิน ชายาที่รักของเธอ เข้าใจผิดจนถึงกับจะทำการสมรสใหม่ เท่าที่ทรงทราบ ความสัมพันธ์ระหว่างท่านชายสุริยาและอรพิน เมื่อก่อนจะจากกันครั้งสุดท้าย ก็มิได้มีเหตุผิดพ้องหมองใจกันเลย

ท่านชายสุริยาฯ เป็นคนคงแก่เรียน ปกติเป็นผู้มีน้ำพระทัยแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ฉะนั้นในคราวนี้เธอก็คงมีเหตุผลอันดียิ่งและเพียงพอที่ไม่ทรงแสดงตนให้โลกหายเข้าใจผิด ในกรณีการอยู่การตายของเธอ ดังนี้แหละ การที่ผู้อื่นจะสอดมือเข้าไปทำลายเจตจำนงของเธอ ก่อนได้เจรจากันจนรู้เหตุผลถ่องแท้แล้ว จึงเท่ากับชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งผลร้ายของมันอาจไม่กระทบกระเทือนแต่เพียงพระชนม์ชีพของหม่อมเจ้าสุริยาฯ องค์เดียว แต่อาจถึงอรพิน วรวัฒน์ และคนอื่น ๆ อีกหลายชีวิตนัก

หม่อมเจ้านิพนธ์ทรงยกย่องพระองค์เองว่า ทรงยึดถือความเที่ยงธรรมเป็นสรณะ ทั้ง ๆ ที่ทรงทราบดีว่า อรพินกับหม่อมเจ้าวรวัฒน์ ภาคิไนยของท่าน รักกันอย่างดูดดื่ม เป็นความรักที่รื้อฟื้นคืนชีพ เถ้าถ่านของความรักแรกผลิแห่งวัยเด็กซึ่งอับเฉาแห้งเหี่ยวไป เพราะถูกพรากจากกันเสียคนละทวีป และสุริยานั้นก็เพิ่งจะได้พบตัวเป็นครั้งแรก แต่ถ้าหากว่าทรงมั่นพระทัยลงไปได้ว่าทำถูก ก็จะไม่ทรงรั้งรอเลยที่จะแจ้งความจริงไปกรุงเทพฯ ให้หาทางงด หรือเลิกการเสกสมรสเสีย โดยอย่าให้เอิกเกริก

ข้อที่ไม่ทรงแน่พระทัยว่าควรจะทำอย่างไรดีนี่สิ ที่เป็นความลับคับอก ที่ขยายตัวออกทุก ๆ ครั้งที่เหลือบทอดพระเนตรนาฬิกา และปฏิทิน จนแทบจะหายใจไม่ตลอดลงไปได้

วันหนึ่งล่วงไปแล้ว วันที่สองกำลังจะหมดไป อาการคนไข้ดีขึ้น แต่ไม่รวดเร็วทันใจ เพราะว่าวันที่เปลืองไปนั้นเป็นการลบจำนวนวันก่อนที่พิธีเสกสมรสจะกระทำกันด้วยเสด็จในกรมและเจ้าพี่ของท่านจะรับสั่งประการใด ที่ท่านทรงอมความลับอันมีอานุภาพประหนึ่งลูกระเบิดนี้ไว้ และไปจุดชนวนเอาจวน ๆ วันงานหากว่าถ้าต้องจุด ท่านก็ไม่หาญพอจะคะนึงถึง แต่แม้กระนั้นท่านก็ถูกมัดพระหัตถ์ ทำอะไรไม่ได้ จนกว่าจะเจรจากันกับสุริยาฯ ให้สิ้นซากแห่งข้อสงสัยเคลือบแคลงใจ เพราะว่ามันเป็นความลับของหม่อมเจ้าสุริยาฯ แต่ผู้เดียว ไม่ใช่ของคนอื่นใดเลย แม้ต่ออรพิน

ผู้มีส่วนพลอยต้องรับความอึดอัดรำคาญใจไปด้วยโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุที่แท้จริงก็คือปิ่น เพราะได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพยาบาล โดยมีกุ๊กและเมียกุ๊กเป็นผู้ช่วย งานพยาบาลคนไข้ แม้ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ลำบากยากยิ่งแก่นายปิ่นอย่างใด เพราะท่านนิพนธ์ยังทรงกระทำพระองค์เป็นผู้ควบคุมการพยาบาลอยู่วงนอกอีกชั้นหนึ่ง

ไม่ว่าจะมีสิ่งใดที่พอจะทำให้เป็นความสุขสบายแก่ผู้ป่วย ท่านนิพนธ์ต้องทรงบัญชาให้นายปิ่นทำทันที อาหารทุกมื้อที่จะนำไปให้คนป่วยกิน ต้องถวายให้ทอดพระเนตรก่อน เมื่อนายปิ่นป้อนแล้ว ยังต้องไปทูลรายงานให้ทราบว่า กินได้เท่าใด ๆ ในการรักษาพยาบาลนี้ แม้ว่าผู้ป่วยจะเป็นญาติพระวงศ์อันสนิท ดูเหมือนจะเอาพระทัยใส่ไม่ปาน ทรงควบคุมการรักษาพยาบาลเองอย่างไม่ทอดทิ้ง และไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย จนครั้งหนึ่ง คุณหมอแอบกระซิบยิ้ม ๆ แก่นายช่างหัวหน้าช่างเครื่องโรงเลื่อยว่า

“ท่านเฒ่าของลื้อ อีจะให้อั๊วรักษาโรคมาลาเรียขึ้นสมองให้หายทันอกทันใจ เหมือนลื้อเร่งสติมโรงเลื่อยของลื้อ”

อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถอันยอดเยี่ยมของคุณหมอ ซึ่งเป็น ‘เจ้า’ ของโรงพยาบาล อันมีคนไข้ด้วยโรคมาลาเรียประจำอยู่เสมอถึงร้อยละกว่า ๔๐ และด้วยความเอาพระทัยใส่ในการพยาบาลของท่านผู้จัดการใหญ่ อาการของคนไข้ได้กลับฟื้นคืนดีขึ้นเป็นลำดับ และในวันที่สามนับจากวันออกจากป่า เขาก็ลืมตาขึ้นโดยที่นัยน์ตานั้นปราศจากฝ้าขุ่นมัวหรือแววยิ้มเป็นประกายด้วยพิษไข้

เขาเหลือบตากวาดดูรอบ ๆ ตัว และคงจะพิศวงงงงวยเต็มที่ เพราะเมื่อครั้งสุดท้ายที่ยังมีสติอยู่กับตัวนั้น จำได้ว่านอนอยู่บนฟูกเก่า ๆ มีผ้าปู แต่เป็นผ้าสีหม่น จนดูไม่รู้ว่าแรกเริ่มเดิมทีมันเป็นสีขาว แต่ก็จะหวังอะไรมากไปกว่านั้นจากนายมุ้ย กรรมกรขึ้นไม้ของป่าด้านคลองใหญ่ แต่บัดนี้เหตุไฉนเขาจึงได้เข้ามานอนอยู่บนที่นอนอันสะอาดเอี่ยม ในมุ้งอันละออ แต่ยิ่งคิดมากก็ยิ่งวิงเวียน รู้สึกว่าช่างอ่อนระโหยโรยแรงเสียจริง ๆ แล้วก็กลับหลับต่อไปอีก เป็นการหลับที่ลึก หายใจสม่ำเสมอ ไม่ถี่ ๆ ห่าง ๆ ขัด ๆ เหมือนแต่ก่อน ซึ่งคุณหมอบอกว่าเป็นสัญญาณที่ดี

ในวันที่สี่ คนไข้ตื่นขึ้น มีอาการแช่มชื่นเป็นอันมาก เขาเริ่มกินอาหารได้บ้าง เคลื่อนอวัยวะด้วยตนเองได้บ้าง และก็เริ่มซักถามข้อฉงนสนเท่ห์ต่าง ๆ เป็นต้น ที่นี่เป็นโรงพยาบาล หรือใครเป็นผู้พาเขามา คนงานในป่าได้รับการรักษาพยาบาลอย่างนี้ทุกคนหรือ และอะไรต่ออะไรเรื่อยไป แต่คำถามทั้งหลายแหล่เหล่านี้ นายปิ่นผู้ถือคำสั่งท่านผู้จัดการใหญ่เป็นบทบัญญัติที่จักต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ก็ตอบแต่เพียง “หมอห้ามพูด อีกสองสามวันแข็งแรงขึ้นค่อยถาม” ซึ่งเป็นคำตอบที่คนไข้อิดหนาระอาใจจนเลิกถาม แล้วก็หลับต่อไปอีก

ตลอดเวลาที่คนไข้ยังอยู่ในอาการกึ่งสลบ ไม่รู้สติสัมปชัญญะ ท่านผู้จัดการใหญ่ได้พัวพันบัญชาการพยาบาลอยู่ใกล้ ๆ ด้วย แต่นับวันคนไข้ได้สติขึ้น ท่านกลับหลีกเลี่ยงไปคอยดูแลอยู่แต่ห่าง ๆ พ้นสายตาของคนไข้ และทั้งยังได้ทรงสั่งผู้พยาบาลและขอร้องคุณหมอ อย่าให้ตอบข้อซักถามใด ๆ ของเขาทั้งนั้น เพียงแต่ให้คอยช่วยปลอบโยนให้นอนพักเอาแรง และให้กินอาหารให้มากที่สุดที่จะกินได้เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่พระองค์ท่านเองนั้น ร้อนรุมแทบจะประทับอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องทรงใช้กำลังพระทัยบังคับพระองค์เองเป็นอย่างมาก เพราะทรงทราบดีว่าอาการของเขายังไม่แข็งแรงพอจะรับเรื่องอันจะก่อกวนกำลังใจอย่างถึงขนาดนี้

ด้วยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเป็นพิเศษดังกล่าวแล้ว คนไข้ซึ่งมีอาการเพียบจนหมอไม่กล้ารับรองเมื่อแรก จึงสามารถลุกขึ้นพิงบนเตียงได้เพียงในวันที่หก

บัดนี้ เขาได้เปลื้องเครื่องนุ่งห่มห่อกาย อันขะมุกขะมอมสกปรกออกสิ้นแล้ว และสวมเสื้อเชิ้ตกางเกงแพรของท่านผู้จัดการใหญ่ ผิวเนื้อยังหมองคล้ำเกรียมกร้านก็จริงอยู่ แต่ลักษณะของชายที่อยู่ในเครื่องแต่งกายหลวม ๆ แต่สะอาดตานี้ ดูผิดเป็นคนละคนกับคนไข้ที่คุณหมอได้พบกับเขาในเวลาที่เขาตื่นและปราศจากพิษไข้ เมื่อคุณหมอเดินเข้ามาเยี่ยมในเย็นนั้น เขาได้ยกมือขึ้นกระทำคารวะ และยิ้มต้อนรับ

“ผมหายแล้วครับ เกือบจะเลิกกวนคุณหมอได้ละ”

“ดีมาก แต่ขอให้พยายามนอนให้มากอีก กินก็เหมือนกัน ต้องพยายามกิน แต่พอลิ้นหายหนา พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้เถอะ ขี้คร้านปิ่นจะยกอาหารมาให้ไม่ทันใจเสียอีก”

“นี่สิครับ ผม-”

คุณหมอโบกมือห้าม เพราะไหวทันว่าเขาจะพูดต่อไปด้วยเรื่องอะไร และกล่าวว่า “อย่าลืมว่าหมอยังไม่อนุญาตให้พูดมากเกินกว่าจำเป็น อย่าทำตัวให้เหนื่อยด้วยการซักถามหรือใช้ความคิดเกินไป เรามีหน้าที่กินก็กิน มีหน้าที่นอนเมื่อนอนได้ก็นอน เรื่องอะไรเมื่อหายดีแล้วมีเวลาพูดกันถมไป เวลานี้หมออนุญาตให้พูดแต่เพียง ขอข้าว ขอน้ำ หรือบอกอาการเท่านั้น”

คนใช้ยิ้มอย่างเหยเกที่สุด “เหล้า ขอได้ไหมครับ ?”

คุณหมอจ้องดูผู้พูดด้วยสายตาอันสุกใส

“อีกสามเดือนเป็นอย่างน้อยจึงค่อยคิดถึงเหล้า และขอเตือนว่า ถ้ารักชีวิตอย่าแตะต้องสักหยดเดียวในระยะสองสามอาทิตย์นี้ถ้า” หยุดชะงักนิดหนึ่ง แล้วก็ตัดสินใจ “คุณเคยกินมาจนติด ในระยะแรกฟื้นไข้ ในระยะกินอาหารได้นี้จะอยากมาก แต่ขอกำชับว่าต้องหักใจให้ได้แสลงที่สุด ฟื้นจากไข้สูง ๆ อย่างนี้ ไข้กลับ เพราะเหล้าจนต้องเฉ่งบัญชีไปเสียหลายต่อหลายรายแล้ว”

เย็นวันนั้น คุณหมอได้แวะทูลอาการไข้แก่ท่านผู้จัดการ ซึ่งประทับดูพวกเจ้าหน้าที่แผนกต่าง ๆ เล่นเทนนิสกันอยู่ว่า

“อาการดีขึ้นมากกระหม่อม อีกสักสามวันก็เห็นจะพอพูดอะไรกันได้ แต่ข้อสำคัญเรื่องเหล้า เมื่อกี้เขาก็ขอ เรื่องนี้ต้องห้ามขาด ต้องกำชับตาปิ่นให้ทราบไว้ด้วย อันตรายนัก”

“อีกสามวันอีกสามวัน” ท่านผู้จัดการทรงทบทวนพึมพำราวกับพูดกับตัวเอง “วันนี้วันที่เท่าไหร่นะเจ็ดรึ เจ็ด อีกสามวัน วันที่สิบ งานเขา สิบสี่ อย่างช้าที่สุดฉันต้องออกจากนี่สิบเอ็ด อีกสามวัน ตรงกับวันที่สิบอ้า ดีละคุณหมอ ขอบใจ ขอบใจมาก”

“ไม่เป็นไรมิได้ ขอให้ทรงกำชับนายปิ่นเรื่องเหล้า ให้ระวังให้มาก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่กระหม่อมก็ได้บอกเจ้าตัวทราบไว้ด้วยแล้ว”

ในวันที่ ๑๐ นั่นเอง ท่านนิพนธ์ก็ได้รับโทรเลขเตือนจากเจ้าพี่ของท่าน ให้เร่งเข้าไปช่วยงานก่อนวันกำหนด แต่ท่านก็ยังทรงอึดอัดพระทัย เพราะว่าอาการของคนไข้ แม้ว่าดีขึ้นเป็นลำดับตลอดมา ก็ยังเห็นได้ว่ายังห่างไกลกับความเป็นผู้เข้มแข็ง พอจะรับความชอกช้ำระกำใจอย่างใหญ่หลวงในชีวิตของตัวได้ แต่กำหนดวันพิธีเสกสมรส ซึ่งดูเหมือนจะใส่ปีกเร่งรีบเข้ามาชิดอย่างน่าหวั่นหวาดนี้ บังคับให้ท่านต้องฝืนพระทัยให้ไม่นำพาต่อการกะปลกกะเปลี้ยของเขา คนไข้อาจจะ ‘ช็อค’ ชอกช้ำ แต่ท่านจะต้องรู้ในวันนี้ให้ได้ว่า ท่านจะต้องโทรเลขไปงดการเสกสมรส หรือว่าจะปล่อยให้มันเป็นไปเหมือนไม่มีอะไรพิสดารเกิดขึ้น เมื่อได้ทรงรำพึงมาถึงเพียงนี้ ก็ต้องรับกับพระองค์เองว่า แม้เรื่องจะผ่านขั้นนี้ไปในทำนองที่กล่าวถึงประการหลัง ท่านก็ยังจะต้องเป็นเจ้าของความลับคับอกอย่างเด็ดขาดแต่ผู้เดียวอยู่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ได้ทรงสั่งให้นายปิ่นจัดหาเก้าอี้ผ้าใบอย่างนั่งครึ่ง นอนครึ่งไปวางไว้ที่เฉลียงข้างห้องอาหาร ซึ่งเป็นที่โปรดของท่านและ เมื่อคนไข้ตื่นในตอนบ่ายให้พยุงเขาออกไป

ได้กินดี ได้นอนดี มีเสื้อผ้าที่สะอาดสวม เพียงไม่กี่วัน ลักษณะราศีของเขาก็แปรเปลี่ยนไป ทั้ง ๆ ที่ผิวพรรณจะซูบซีด แต่ขณะนั้น ก็ไม่เป็นการยากแล้วที่จะสังเกตเห็นว่า เขาไม่ใช่กรรมกรธรรมดาสามัญของป่าศรีราชา หรือป่าไหน ๆ ในโลกเลย

เขาเดินลากขาเกาะแขนนายปิ่นออกมาจากห้อง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาเผชิญหน้ากับท่านผู้จัดการใหญ่ แต่กระนั้นเขาก็ยกมือขึ้นกระทำคารวะ ก่อนที่จะทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้ผ้าใบ ในอาการที่เห็นได้ว่าอ่อนเพลียเป็นอันมาก

“อ้า ! รู้จักฉันด้วย ?” ท่านผู้จัดการรับสั่งถามขึ้นก่อน

“เคยเห็นเวลาเสด็จตรวจป่าห่าง ๆ”

“ปิ่น ไปหาน้ำ หรือน้ำส้มมาให้คนไข้ของแกซี่”

“คะรับ” รับคำอย่างหนักแน่นตามอัธยาศัยของแก แล้วปิ่นก็รีบไป ท่านผู้จัดการนิ่ง มองหน้าเขาอยู่สักครู่ จึงรับสั่งว่า

“ฉันสงสัยว่า เธอจะแข็งแรงพอที่จะพูดกันด้วยเรื่องสำคัญได้หรือยัง ?”

“กระหม่อมหายพอแล้ว และกระหม่อมเองก็อยากทูลถามว่า--”

ท่านผู้จัดการโบกพระหัตถ์ให้อีกฝ่ายหนึ่งหยุดพูดไว้ก่อน พอดีปิ่นซึ่งไม่เคยบกพร่องต่อหน้าที่ของเขา และได้เตรียมตัวไว้ไม่เฉพาะแต่น้ำส้ม แต่ยังมีถาดวิสกี้สำหรับท่านผู้เป็นมูลนายแห่งตนอีกด้วย ได้ยกสิ่งเหล่านี้เข้ามาตั้งตามที่แล้ว ก็รีบนำตนพ้นไป ตามเยี่ยงที่ดีของผู้ชำนาญการรับใช้ ท่านผู้จัดการจึงดำเนินการสนทนาที่ค้างสืบไป

“บางทีเธอจะยังเข้าใจคำว่าสำคัญไม่ถูก”

“กระหม่อมสงสัยเหลือเกินว่า บริษัทนี้ให้การรักษาพยาบาลคนงานที่ป่วยเหมือนอย่างกะ”

ท่านนิพนธ์โบกหัตถ์ห้ามเขาอีก

“ข้อนั้นไม่สำคัญ เราจะพูดกันด้วยเรื่องใหญ่ยิ่งสำคัญแก่ชีวิตเธอ ยิ่งกว่านั้นเธอจะต้องพยายามตั้งสติ และทำใจให้มั่นคง”

“อ้า คงจะทรงทราบว่าหม่อมฉันเป็น เป็นคนกรุงเทพฯ”

“อย่าให้เราต้องอ้อมค้อมกันเลย เวลาของเรามีน้อย ขอให้เธอทำใจให้กล้า คิดว่าฉันรู้จักเธอมากไปกว่านั้นอีก ไม่ใช่จะเพิ่งทราบ เพราะหม่อมฉันที่เธอพลั้ง ฉันรู้มานานแล้ว”

“ว่าหม่อมฉันเป็นเป็นเจ้า ?”

“ขอให้รวบรวมสติให้ดี สุริยา ขอโทษ”

แม้จะได้รับคำตักเตือนล่วงหน้า คนไข้ก็ยังสะดุ้ง มือทั้งสองของเขากำแขนเก้าอี้แน่นจนขาวซีด ทั้งเงียบไปพักหนึ่ง ท่านผู้จัดการก้มพระพักตร์ลง ง่วนกับการผสมวิสกี้กับโซดาของท่าน ได้ส่วนสัดอันเหมาะเจาะ จิบชิมดูเป็นที่พอพระทัยแล้ว จึงรับสั่งถามสั้น ๆ ว่า

“เพราะเหตุใดหรือ สุริยา ?”

อีกฝ่ายหนึ่งกำลังพิจารณาเล็บมือ ที่เพิ่งจะได้ขัดเกลาสะอาดสะอ้าน เป็นครั้งแรกในเวลา ๒ ปี ยังหาได้ตอบประการใดไม่ ท่านนิพนธ์ก็รับสั่งสืบไปว่า

“ขอโทษ ถ้าเป็นการถามละลาบละล้วงก็อย่าตอบเลย”

“หามิได้ ไม่ใช่เช่นนั้น เรื่องมัน มัน-”

“ตรึกตรองให้แน่ใจเสียก่อน เธอไม่จำเป็นต้องเผยความในใจแก่ฉัน แต่ถ้าเห็นเป็นการสมควรก็ขอให้มั่นใจเถิดว่า มันจะตายด้านอยู่ในอกของฉันคนเดียว”

“ฝ่าบาทยังเข้าพระทัยผิด เรื่องของหม่อมฉันไม่มีอะไรสลับซับซ้อน มันขึ้นต้นและจบลงด้วยตัวอักษรตัวเดียวคือ เหล้า” ท่านนิพนธ์ได้ทรง สังเกตเห็นว่า ขณะนี้ผู้พูดกำลังพูดด้วยอารมณ์อันรุนแรง “เลิกไม่ได้ มันเป็นการคอยผลาญชีวิต แล้วก็-แล้วก็ใจคอมันไม่แข็งพอจะทนดูเมียที่ดีที่สุด ที่น่ารักที่สุด ต้องทนทุกข์ทรมาน เพราะเราเป็นทาสของมัน”

“อ้า ตรงนี้สิที่อยากจะพูดด้วย ถ้าจะเรียงลำดับตามศักดิ์สกุล ฉันก็เป็นอาของเธอ ว่าตามวัยฉันก็ควรจะมีสิทธิทวงถามเธอว่า เธอเห็นสมควรแล้วหรือ เธอมีเหตุผลเพียงพอแล้วหรือ ที่ปล่อยให้อรพินหลงเข้าใจว่าเธอตาย-”

“ตาย ?”

“อะไรนี่ ! เธอไม่รู้ดอกหรือว่าโลกเขาลงความเห็นว่าเธอตกทะเลตาย หนังสือพิมพ์เขาลงพาดหัวกันออกครึกโครม”

อีกฝ่ายหนึ่งได้แต่สั่นหน้าอย่างงงงวยที่สุด

“ก็จะให้ใครคิดว่ากระไร ในเมื่อเธอสาบสูญไปตั้งสองปี”

“สองปี”

“จ้ะ สองปี”

“แล้วตลอดเวลาสองปีนี้ หม่อมฉันเมาไม่สร่างเมาจนลืมบ้าน ลืมลูก ลืมเมีย ดูเถิดฝ่าบาท จะหาคนเลวในโลกนี้เท่าเทียมหม่อมฉันได้ก็เห็นจะหายาก เมื่อเย็นวานนี้ยังทะเลาะกับนายปิ่น เพราะแกไม่ยอมหาเหล้ามาให้ สาธุ ! พระท่านยังไม่ทอดทิ้ง จึงให้มีอันเป็นป่วยเจ็บลง จนฝ่าบาทต้องเก็บเอามารักษาพยาบาล ทรงส่งข่าวให้อรพินทราบหรือยังหม่อม ?”

หม่อมเจ้านิพนธ์ วรรณสาร ตะลึง ลุกขึ้นโดยฉับพลัน พระหัตถ์เฉียดแก้ววิสกี้เกือบหกตกลงจากโต๊ะ รับสั่งได้ยินปลาย ๆ คำว่า “...ชักจะยุ่ง !” แล้วก็ ทรงดำเนินกลับไปกลับมา ดูดบุหรี่วาม ๆ ไม่ขาดระยะ หมุนไปหมุนมาอยู่เป็นนาน จึงมาหยุดยืนจังก้าอยู่ตรงหน้าสุริยา

“เปล่า ฉันไม่ได้บอกอรพิน ไม่ได้บอกใครเลยเวลานี้ นอกจากเธอกับฉัน ไม่มีใครในโลกรู้ว่าเธอยังมีชีวิตอยู่ ทำไมฉันจึงไม่บอก ? ข้อนี้ที่ทำให้ฉันกลุ้มใจ ยุ่งใจ ตลอดอาทิตย์ที่เธอมาเจ็บอยู่ที่นี่ ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่า เธอจะไม่มีเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้เธอไม่แสดงตัวตลอดสองปีนี้ เธออาจจะมีความลับส่วนตัวของเธอ ที่ทำให้เธอต้องหลีกลี้หนีหน้าจากญาติมิตรจากโลก ต้องยอมให้แม้แต่เมียเข้าใจผิดคิดว่าเธอตายไปแล้ว ฉันจึงต้องอดใจไม่กล้าบอกใคร ๆ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเธอเสียก่อน ทั้ง ๆ ที่-ทั้ง ๆ ที่-”

ท่านนิพนธ์หาได้กล่าวให้จบเนื้อถ้อยกระทงความไม่ แต่กลับออกทรงดำเนินหมุนเวียนอีกพักใหญ่ ๆ แล้วรับสั่งโดยไม่หยุดเดิน

“ทำไม ทำไม ไม่คิดหน้าคิดหลัง ?”

มิทันที่สุริยาจะทันนึกถึงคำตอบ ท่านนิพนธ์ก็รับสั่งสืบต่อไป

“สุริยา เท่าที่เราพูดกันมาแล้ว ไม่มีอะไรที่นับว่าสำคัญจริง ๆ เธอจะต้องทำใจให้มั่น รับเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่านี้อีกมาก !”

อีกฝ่ายหนึ่งจ้องหน้าผู้พูดในอาการงงงวย

“สุริยา เธอไม่เคยคิดบ้างหรือว่า การที่เธอหายไปจนใคร ๆ เขาถือว่าตายนี้ มันจะไม่ก่อให้เกิดภาวะความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น ในวงศ์ผู้ใกล้ชิดสนิทสนมของเธอบ้าง ?”

นิ่งลำดับความคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้ว สุริยาก็ตอบ

“หม่อมฉันสารภาพอย่างแสนที่จะอาย ว่าไม่เคยคิด ที่ได้ทูลว่า เมาไม่สร่างตลอดสองปี หม่อมฉันไม่ทูลเกินความจริงไปมากเลย เย็นลงยังไม่ทันเลิกงานเราก็เติมเหล้า เชื้อในกะเพาะมีกรุ่นอยู่ตลอดเวลา รับของใหม่เข้าไปนิดเดียวก็ได้ที่ เช้าตื่นขึ้นอ่อนระโหยโรยแรง เราต้องเติมผสมกับเชื้อเก่าเข้ามันก็กรุ่นไปวันยังค่ำ มีเวลาสร่างบ้างก็เพียงเวลากลางวัน แต่ธุระการงานมันเข้ามายุ่ง ก็เลยลืม ๆ เลือน ๆ หรือถ้าคิดมากเข้าก็ต้องรีบดับเสียด้วยเหล้าทันที ทั้งนี้ก็เพราะจะหนีโรคคิดถึงสิ่งที่ไม่อยากคิด จนถึงกับปล่อยให้จิตใจหมกมุ่นอยู่ในอะไรก็ไม่รังเกียจ ถ้าหากมันช่วยไม่ให้ ‘คิด’ ได้ อย่างนี้แหละเวลาสองปีมันจึงผ่านไปโดยหม่อมฉันไม่รู้ตัว แต่ตลอดเวลาน้ำใสใจจริงยังกำหนดไว้เสมอว่าจะต้องกลับบ้านสักวันหนึ่ง”

“ทำไมเธอจึงไม่คิดเลยไปด้วยว่า สักวันหนึ่งนั้นมันอาจจะเป็นวันที่ช้าเกินการ”

การได้ฟังดังนั้น ผู้ป่วยค่อย ๆ ยันตัวขึ้นนั่งตัวตรง คิ้วขมวดเข้าหากัน เขาจ้องหน้าท่านนิพนธ์ ซึ่งบัดนี้ก็หันมาประจันกันอยู่

“ช้าเกินการ ช้าเกินการ ฝ่าบาทหมายความว่าอะไร ?”

ท่านผู้มีอาวุโสกว่าตอบช้า ๆ “อรพินยังสาว แล้วก็การที่คนทั้งหลายชี้ขาดลงไปว่าเธอตายไปแล้ว”

“อ้อ !--” แผ่วเบาเหมือนครางอยู่ในคอ

ขณะนี้ชายทั้งสองมิได้มองหน้ากัน ต่างคนต่างเพ่งพินิจเรือสำเภาใบแข็ง ซึ่งกำลังแหวกประกายน้ำอันพร่างพราวของแสงอาทิตย์ยามอัศดงคตอยู่หน้าอ่าวทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งคะเนว่า สุริยาควบคุมสติได้เรียบร้อยแล้ว ท่านผู้จัดการกล่าวต่อไปว่า

“อันที่จริงเราควรต้องเห็นใจอรพิน”

“ใครจะทราบดีเท่าหม่อมฉัน ไม่ใช่ความผิดของอรพินเลย-กับใคร หม่อม ?”

“ชายวรวัฒน์ ดูเหมือนเขาจะเคยชอบพอกันมา-”

“แต่เด็ก ๆ หม่อมฉันทราบเหมือนกัน แต่เข้าใจว่าสิ้นเชื้อกันไปแล้ว เขารักกันมากหรือ ?”

ท่านนิพนธ์ต้องเบือนพระพักตร์ไปยังทัศนียภาพอันงดงามของทะเลอีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่อาจทนดูสีหน้าอันขมวดมุ่นขุ่นหมองขึ้นมาโดยปัจจุบันทันใดนั้นได้ เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องตอบเขาด้วยความจริง อันเปรียบประดุจปลายกริชกรีดหัวใจ

“เข้าใจว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะเด็กต่อเด็กเป็นฝ่ายก่อขึ้นโดยตลอด ผู้ใหญ่เพียงแต่สานตามด้วยความเห็นงามเห็นชอบ แต่ฉันแน่ใจที่สุดว่า อรพินยังไม่วายอาลัยถึงเธอ ถ้ายังมีแม้แต่วี่แววว่าเธอยังไม่ตาย อรพินจะไม่”

“ข้อนั้นหม่อมฉันแน่ใจยิ่งกว่าฝ่าบาทเสียอีก เขาได้กันแต่เมื่อไหร่ ?”

“โอ ขอโทษ ขอโทษ ยัง ยังไม่ช้าเกินการ เวลานี้เพียงแต่หมั้นกันเท่านั้น ฉันฟุ้งซ่านเกินไป จนจะทำให้เธอเข้าใจผิด ไขว้เขวไปใหญ่ทีเดียว เขาจะแต่งกันที่พระที่นั่งอัมพรในวันที่สิบสี่ คืออีกสี่วันนี่แหละ ส่วนฉัน ตามกำหนดเดิมควรจะต้องออกจากศรีราชาไปช่วยงานเขาตั้งสามสี่วันมาแล้ว เผอิญมาพบเธอเข้าก็เลยผะอืดผะอม จะโทรเลขงดก็ยังไม่รู้ความประสงค์ของเธอ เดี๋ยวจะเป็นการสอดมือทำลายความลับและความสุขของใครต่อใครเข้า จึงต้องรออยู่ และต้องรีบเจรจากับเธอ ทั้ง ๆ ที่เธอก็ยังไม่แข็งแรงพอ

อย่างไรก็ตาม ขอให้เธอมั่นใจเถิดว่า ถึงวรวัฒน์จะเป็นหลานของฉัน ฉันก็จะต้องทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควร ถ้าเธออนุญาต ฉันจะโทรเลขให้เขางดงานเดี๋ยวนี้ ไม่อยากให้เนิ่นนานเหมือนกัน เพราะเป็นพิธีหลวง ยิ่งไปล้มเอาใกล้ ๆ งาน ก็จะเอิกเกริกยิ่งขึ้น

ส่วนเธอเล่า ก็เป็นโฉลกแล้ว เผอิญให้ป่วยเจ็บต้องห่างเหินศัตรูเก่าคือเหล้า หมอเขากำชับนักกำชับหนาว่า ถ้าเธอขืนกินในระยะอาทิตย์สองอาทิตย์นี้เขาจะไม่รับรอง อาจถึงเป็นถึงตายทีเดียว ทีนี้เมื่อเธออดได้นาน ๆ ก็ควรเลิกได้ตลอดไป และกลับไปดำรงวงศ์ตระกูลให้เป็นที่อุ่นอกอุ่นใจแก่ลูกแก่เมีย”

“ที่กำลังรักกับวรวัฒน์ ถ่านไฟเก่า”

สุริยานั่งสดับตรับฟังโอวาทของท่านนิพนธ์ อย่างตั้งอกตั้งใจตลอดมา จนถึงคำว่า ‘เมีย’ ก็อดแทรกขัดขึ้นไม่ได้ แม้จะด้วยอาการยิ้ม ๆ ทีเล่นทีจริง ก็เป็นยิ้มที่แห้งแล้งปราศจากชีวิตจิตใจที่สุด จนผู้ที่เห็นพลอยปวดร้าวในหัวอกไปด้วย

แล้วเขากล่าวเป็นเชิงรำพึงสืบไปว่า “ถ้าโทรเลขไปงด แล้วมีข่าวว่าหม่อมฉันยังอยู่ เห็นจะเป็นเรื่องเอิกเกริกเอาการ”

“ข้อนั้นเห็นจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานเขาจะทำเป็นพิธีหลวง เชิญเจ้านาย ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งเมือง แล้วงดในเวลากระชั้นชิด ผัวเก่ากลับคืนชีวิตมา ดูดูเข้าทำนองเรื่องแต่ง เป็น-เป็นอาหารอันโอชะของหนังสือพิมพ์ แต่จะทำอย่างไรได้”

“อรพินจะเป็นขี้ปากของพวก ‘แปดสาแหรก’ ของเราพวกไม่รู้จักจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ นอกจากเอาใจใส่ซุบซิบในเรื่องราวของผู้อื่น สุริยาจะเป็นตัวโจ๊ก บางทีก็จะเป็นตัวมาร ตายไปแล้วดี ๆ พอลูกเมียจะได้รับความสุข อุตส่าห์กลับฟื้นขึ้นมาขัดความสุขระหว่างอรพินกับวรวัฒน์ที่เหมาะเจาะสมกัน เพราะเป็นถ่านไฟเก่ากันมาแต่เล็กแต่น้อย บางทีจะกลับไปเมาให้เป็นที่เลื่องชื่อลือนามอีกว่าขี้เมากลางเมือง เป็นเครื่องถ่วงสง่าราศีของญาติมิตรและผู้ใกล้เคียง เป็นพ่อพิมพ์ที่เหลวแหลก ใช้ไม่ได้แก่ตาจิ๋ว พูดถึงตาจิ๋ว แกเป็นอย่างไรบ้างหม่อม ?”

“แข็งแรง ฉลาด น่าเอ็นดู อรพินเลี้ยงลูกดีมาก สอนให้เคารพนับถือพ่อ แกบ่นถึงพ่อเสมอ ห้ามขาดไม่ให้ใครเล่าความ เล่าความบกพร่องของพ่อให้แกได้ยิน โตขึ้นจะเป็นทหารม้าอย่างพ่อ ไม่ชอบเล่นอะไรนอกจากอาวุธยุทธภัณฑ์กับม้า ดูเหมือนตาจิ๋วนี่เอง เป็นชนวนให้อรพินกลับติดต่อกับวรวัฒน์อีก วรวัฒน์แกเป็นคนชอบเด็กมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อยู่นอกก็เรียนเรื่องการอบรมบ่มนิสัยเด็ก กลับมาก็ตั้งโรงเรียนอนุบาล รับเด็กทุกชั้นวรรณะ เย็นต้องเที่ยวรับเด็ก ๆ ไปเลี้ยงขนมตามทุ่งตามนาเต็มรถ แล้วก็ตาจิ๋วเป็นคนโปรดของแกมากด้วย เกลียวเก่ามันกระชับมั่นเข้าอีก”

“อ้อ ! จิ๋วคงมีความสุขกับวรวัฒน์”

“สุริยา เธอต้องเลิกคิดอย่างโน้นอย่างนี้ ปลงใจให้ตกว่าต้องเลิกเหล้าเด็ดขาด แล้วกลับไปหาลูกหาเมีย ดีละ ฉันจะเลยไปทำโทรเลข บอกไปให้เขางดงานเสียเลย แล้วคืนนี้จะตามเข้าไปอธิบายเรื่องราว”

“เดี๋ยวยัง ยังก่อนกระหม่อม”

“อ๊ะ ยัง ยังไง วันงานเขายิ่งกระชั้นเข้ามาทุกที เรือแม็กจะต้องออกเที่ยงคืนคืนนี้ แล้วก็นี่เป็นกำหนดล่าที่สุด ที่ฉันจะอิดเอื้อนอยู่ได้”

“อย่างน้อยก็ขอเวลาให้หม่อมฉันตรึกตรองถึงค่ำวันนี้”

“อย่างนั้นละก็ได้ แต่ขออย่าให้ค่ำนัก จะโทรเลขลำบาก ฉันจะลงไปดูเขาเล่นเทนนิส ค่ำ ๆ ค่อยพบกันใหม่ ต้องการอะไร เรียกนายปิ่นนะ ไม่ต้องเกรงใจ”

หม่อมเจ้านิพนธ์ วรรณสาร หาได้โทรเลขเข้าไปห้ามพิธีการเสกสมรสที่กรุงเทพฯ ไม่ เพราะเหตุว่าเมื่อได้ทอดพระเนตรการเล่นเทนนิสเสร็จสิ้นลงแล้ว เสด็จกลับขึ้นเฉลียง ก็ได้พบคนไข้ของท่านนอนคอพับฟุบอยู่บนเก้าอี้ผ้าใบ มีน้ำลายไหลหยดย้อย และส่งกลิ่นแสดงเค้าเงื่อนที่มาแห่งอาการอันน่าวิตก

ว่า ท่านนิพนธ์เหลียวขวับกลับไปดูขวดวิสกี้จอห์นนี่วอคเกอร์ตราดำ ที่เสวยพร่องลงไปเพียงหนึ่งในสี่นั้น บัดนี้จะหาเหลือติดก้นขวดสักหยดเดียวก็ทั้งยากเป็นคำตอบอันเด็ดขาด สมลักษณะอันเด็ดเดี่ยวและดึงดันอย่างทรหดของหม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล !

เมื่อคุณหมอได้ตรวจอาการของคนไข้ ซึ่งท่านผู้จัดการใหญ่ได้ทรงช่วยนายปิ่นหามเข้าไปในห้องของเขาด้วยพระองค์เอง แล้วก็ส่ายหน้าแสดงความสิ้นหวังสิ้นศรัทธา

“กระหม่อมได้บอกกับตัวเขาเองอย่างแจ่มแจ้งที่เดียวว่า เหล้าเวลานี้ อึกเดียวก็เท่ากับยาพิษ นี่ตั้ง...”

“ไม่มีหวังเลยทีเดียวหรือคุณหมอ ?”

“สำหรับอาการเท่าที่เห็นเวลานี้ ไม่มีเลย แต่จะพยายามแก้ไข อาจจะดีขึ้น แต่กระหม่อมวิตก”

“โธ่ น่าสงสาร ฉันเองก็กำชับเขาเมื่อชั่วโมงกว่า ๆ นี้เองว่า หมอเขาห้ามเด็ดขาด เรื่องเหล้า”

“ถ้ากระนั้นก็หมายความว่า...”

“เขาดื่มด้วยความตั้งใจ แต่ให้คุณหมอรู้เฉพาะตัว ปิ่นก็เผอิญถือโอกาสไปเที่ยวตลาดเสีย มันจึงเป็นเช่นนี้ ลองพยายามสุดฝีมือเถิดคุณหมอ เรื่องมันยุ่งยากจริง ฉันก็จะต้องไปเสียด้วยคืนนี้ ขอฝากชีวิตเขาไว้กับคุณหมอด้วย อีกอย่างหนึ่ง โปรดฟังดี ๆ นะคุณหมอ”

“เมื่อเขาฟื้นแล้ว อาการทรงหรือทรุด ทั้ง ๆ ที่คุณหมอได้ช่วยเหลือสุดฝีมือแล้ว ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามเรื่อง แต่ถ้ากลับมีวี่แววว่าดีขึ้นก่อนสิ้นวันที่สิบสาม จนเห็นว่าอาจจะไม่ถึงตาย ขอให้คุณหมอโทรเลขด่วนถึงฉันทันที บอกอาการและความเห็นของคุณหมอให้ละเอียด รับคำได้ไหมล่ะ คุณหมอ”

คุณหมอผู้น่าสงสารเงยหน้าขึ้นอย่างพิศวงงงงัน แต่ก็รับคำเหมือนเช่นเคยว่า

“ได้กระหม่อม”

พิธีเสกสมรสของหม่อมเจ้าวรวัฒน์กับหม่อมอรพินได้เป็นไปตามกำหนดเดิมทุกประการ

หม่อมอรพิน ชายาเดิมของหม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล ได้เข้าพิธีเสกสมรสกับหม่อมเจ้าวรวัฒน์ ตามกำหนดเดิมที่กะไว้แล้ว แต่สริยาก็หาได้ตายตามความคาดคะเนของหมอและคนทั้งหลายไม่ ทราบราวกับว่าเมื่อได้สูญเสียสิ่งเดียวที่เป็นเครื่องผูกพันชีวิตให้มีความหมายว่าจะอยู่เพื่ออะไรไปแล้ว ฉะนี้ ชีวิตซึ่งปราศจากแล้วซึ่งแสงแห่งความหวังใด ๆ ก็กลับดิ้นรนขวนขวายที่จะดำรงคงอยู่ และแม้ขณะที่จิตใจยังไม่สร่างจากความระทมขมขื่นแห่งความคิดคำนึง สุขภาพทางกายก็เริ่มไหวตัวในหน้าที่ซ่อมสร้างตามธรรมชาติ

ไม่เป็นการยากเลย ที่จะอนุมานว่าเส้นประสาทของท่านนิพนธ์ วรรณสาร จะเคร่งเครียดเพียงใด ในระยะวันสองวันก่อนกำหนดงาน ยิ่งใกล้กำหนดเวลาขีดสุดท้ายที่นัดหมายไว้กับคุณหมอ ท่านนิพนธ์ก็ดูเหมือนจะนั่งไม่เป็นเอาทีเดียว จนเป็นที่ประหลาดใจแก่ญาติมิตรทั้งหลาย ที่ทรงทำอะไรไม่ได้เป็นล่ำเป็นสันสักอย่าง นอกจากทรงดำเนินกลับไปกลับมา จิบวิสกี้ และดูดบุหรี่ที่ห้อยคาโอษฐ์อยู่วาม ๆ ตลอดเวลา แต่ครั้นวันที่ ๑๓ ลุล่วงไปโดยไม่มีโทรเลขมา ท่านก็กลับเป็นผู้มีความรู้สึกอันเจียระไนยาก กล่าวคือ ประกอบทั้งความโล่งใจ คลายวิตก สิ้นกังวล แต่กระนั้นก็อดรู้สึกเศร้า ๆ เสียดาย ๆ อะไรอย่างหนึ่งเสียมิได้

จำเป็นจะต้องกล่าวว่า ในกรุงเทพฯ นั้น ท่านนิพนธ์มิได้แพร่งพรายความลับของสุริยาให้ผู้ใดทราบ ท่านยอมสะกดกั้นความทุรนทุรายไว้ในพระทัยของพระองค์เอง จนเลยเวลาที่กำหนดไว้ ยิ่งแน่พระทัยว่าสุริยาสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็ยิ่งมองไม่เห็นความจำเป็นหรือประโยชน์ของการที่จะเปิดแผลเก่าขึ้นอีก จึงทรงเก็บเงื่อนงำความลับนั้น ๆ กลับสู่ถิ่นเดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านย่างขึ้นสู่สะพานเกาะลอย และทราบจากปากนายปิ่นว่า คนไข้ของเขากลับฟื้นขึ้นในตอนเย็นวันที่ ๑๔ แต่เพราะเหตุที่เลยกำหนดนัด คุณหมอจึงมิได้โทรเลขทูลให้ทรงทราบ และทั้งอาการคนไข้ขณะนี้ก็มีแต่แสดงว่าจะหายวันหายคืน เหมือนอย่างคนไข้โรคมาลาเรียที่รอดตายทั้งหลาย ท่านนิพนธ์ก็ทรงทราบพระทัยของพระองค์แน่ชัดว่า คราวนี้ท่านเปี่ยมไปด้วยความปีติยินดีเต็มบริบูรณ์จริง ๆ หากแต่ท่านเป็นผู้ใหญ่รู้จักระงับดับความฟุ้งซ่านแห่งอารมณ์ จึงมิได้แสดงความยินดีไม่ยินดี ให้เป็นที่ประจักษ์พิศวงงงงันแก่คนทั้งหลาย

แต่กระนั้นในตอนค่ำ นายปิ่นก็ยังไม่วายตื่นเมื่อมูลนายของตนแปะพับธนบัตรใบละ ๑๐ บาทลงในฝ่ามือ และรับสั่งว่า

“ไปกรุงเทพฯ ทั้งที ไม่มีเวลาซื้อของฝาก เอานี่ไปซื้อเอาเอง”

สัญชาตญาณของมนุษย์นั้น ผู้รู้ทั้งหลายยอมรับนับถือกันว่า สัญชาตญาณแห่งการดำรงชีพ เป็นปราการที่เข้มแข็ง ครอบงำนำทางแห่งชีวิตเหนือปราการอื่น ๆ และในกรณีของสุริยานี้ก็เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ยืนยันคำที่กล่าวแต่เบื้องต้นอีกประการหนึ่ง

ทั้ง ๆ ที่ชีวิตและจิตใจของสุริยาได้เหี่ยวแห้งอับเฉาไปจนเห็นได้ชัด นับแต่ได้ฟื้นขึ้นจากสลบ แต่ทางฝ่ายสังขาร ซึ่งบัดนี้ปลอดแล้วซึ่งเชื้อพยาธิ ก็คงทำหน้าที่ซ่อมสร้างสุขภาพแห่งตนเองมาช้า ๆ ก็จริง แต่สม่ำเสมอมิได้หยุดยั้งถอยหลัง เมื่อคราวก่อนเขาเป็นคนไข้ที่จู้จี้พิไรในข้อซักถาม อยากรู้อยากเข้าใจในภาวะแวดล้อมรอบ ๆ ตัว แต่ในคราวนี้ เขากลับทำความรำคาญให้ผู้พยาบาล ในการที่ไม่มีความสนใจในทุกสิ่งทุกอย่าง เขาเกือบจะไม่ทราบเอาทีเดียวว่า ตัวเขาเป็นใครและมีชีวิตอยู่หรือไม่ เขากินอาหารและทำอะไร ๆ ทุกอย่างเหมือนเครื่องจักร ที่มิได้ถูกสั่งจากสมอง แต่ทำไปด้วยความเคยชินเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม สัญชาตญาณแห่งการดำรงชีวิตยังมีอานุภาพแรงกล้ากว่าความมึนชาแห่งจิตใจของเขา และสัญชาตญาณอันนี้ก็ยังดื้อรื้อฟื้นความเข้มแข็งแห่งกำลังกาย ฝ่าฝืนขืนความประสงค์ทางใจเป็นลำดับมาจากภายใน เวลาสองอาทิตย์ พละกำลังของเขาก็คืนคงสู่ร่างกาย อวัยวะอันได้สร้างสมบ่มเพาะไว้เป็นอย่างดีมาแต่ในปฐมวัยแห่งชีวิต

ตลอดเวลาที่ท่านชายนิพนธ์ได้ทรงพยายามกระทำทุกอย่างที่จะให้คนป่วยได้รับความสุขสบาย ทั้งทางกายและการปลอบโยนเล้าโลมทางใจตามควรแก่กาลเทศะ แต่ความมุ่งหวังอันดีของท่านได้รับผลแต่ทางกาย เพราะเหตุที่คนไข้ดูเหมือนจะได้สร้างเกราะหุ้มห่อตนเองไว้ ถ้อยคำเล้าโลมหรือความเมตตาอารีของใคร ๆ ก็ไม่สามารถเจาะลงไปสู่ห้วงลึกแห่งความรู้สึกของคนคนนี้ได้เสียแล้ว เขาได้ยินแต่เสียง ฟังแต่คำ แต่ไม่สังวรในความหมายใด ๆ ของคำกล่าวนั้น

การเป็นดังนี้ จึงเมื่อร่างกายเขาแข็งแรงพอ และดิ้นรนจะกลับเข้าสู่ป่า ท่านผู้จัดการใหญ่ก็ได้ทัดทานในชั้นแรก แต่ครั้นเมื่อทรงเห็นว่าเขาจะโปร่งใจมากกว่า ถ้าได้เข้าไปอยู่เสียในป่า ซึ่งเป็นโอสถที่ดีอีกขนานหนึ่ง จึงทรงยอมอนุโลมตามในที่สุด แต่ได้ทรงปรับปรุงตำแหน่งการงานในป่าเสียใหม่ โดยยกฐานะสุริยาหรือ “นายเผือก” ขึ้นเป็นผู้ช่วยนายด้าน และเป็นผู้กำกับเครื่องชักลาก มีหน้าที่รับผิดชอบในเครื่องชักลากทั้ง ๖ เครื่องของป่าไม้ด้านคลองใหญ่

“ฉันคิดว่า” ท่านผู้จัดการใหญ่รับสั่งในการเจรจา ที่ต้องเรียกว่าเผยความในใจให้กันและกัน ในตอนค่ำของวันก่อนที่เขาจะกลับเข้าป่า

“ฉันคิดว่า ทั้งที่เราได้พูดกันมาตั้งนาน เธอก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจความหมายของฉัน จึงขอทบทวนอีกสักหน่อย ฉันมีส่วนควรจะต้องรับผิดชอบ”

อีกฝ่ายหนึ่งยกมือขึ้นโบกห้าม แต่ท่านนิพนธ์ก็คงรับสั่งสืบไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

“เพราะฉันเจตนาดีต่อทุกฝ่าย”

“ความผิดมันควรจะเป็นของหม่อมฉัน ที่ไม่ตายในเวลาที่ควรตาย..เรื่องราวก็ไม่ยุ่งยาก ไม่ควรที่ฝ่าบาทจะโทษองค์เองเปล่า ๆ ปลี้ ๆ จะทรงทราบได้อย่างไรว่าหม่อมฉันจะไม่ตาย เมื่อหมอเองก็หมดหวังแล้ว...”

“อย่าให้เราต้องเถียงกันด้วยเรื่องไม่มีประโยชน์นี้อีกเลย ฉันต้องการให้เธอเข้าใจแต่เพียงว่า ฉันถือว่าต่อไปนี้จนตลอดชั่วเวลาที่เธอปฏิบัติตามความตั้งใจ คือไม่แสดงตัวเพื่อเคลมอรพิน หรือใช้ทรัพย์สินที่เธอมีสิทธิโดยสมบูรณ์ ก็เป็นหน้าที่ของฉันที่จะรับผิดชอบดูแลไม่ให้เธอขาดแคลน ประเดี๋ยวสุริยา ขอให้ฉันพูดให้จบ และถ้าฉันตายไปก่อนเธอ พินัยกรรมของฉันก็จะมีความข้อหนึ่ง สั่งให้แบ่งส่วนหนึ่งของกองมรดก ให้แก่ นายเผือก คนงานของบริษัทเพื่อดำรงชีวิต ฉันเองลูกเต้าไม่มี เมื่อฉันตายทรัพย์ที่มีอยู่บ้างไม่มากเท่าของเธอก็จริง แต่ก็พอที่คนสามคน จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย ๆ ก็จะถูกแบ่งสันปันส่วนในหมู่น้อง ๆ หลาน ๆ ซึ่งบางคนก็มีความประพฤติที่ไม่น่าจะได้รับ แต่ก็ช่วยไม่ได้ เพราะเป็นเครือญาติ จะตัดเสียก็จะเป็นทางก่อกรรมจองเวร เพราะฉะนั้นจึงขออ้อนวอน ว่าถ้าเธอเห็นแก่ฉันบ้างก็ขอจงอย่าดื้อดึงในข้อนี้เลย ทุกวันนี้นับแต่เกิดเรื่องของเธอแล้ว จิตใจฉันหาความปลอดโปร่งไม่ได้เลย ขอให้ฉันได้ตายโดยใจสงบ ด้วยความรู้สึกว่าอย่างน้อยฉันก็ได้ทดแทนชดใช้บางส่วน ในความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของฉันเถิด สุริยา”

ถูกรุกประชิดด้วยวิธีที่ไม่เปิดโอกาสให้บ่ายเบี่ยงได้เช่นนี้ สุริยาได้แต่ส่ายหน้า นิ่งอยู่เป็นครู่ใหญ่ จึงตอบว่า

“ในส่วนที่จะทรงเพิ่มเติมข้อความในพินัยกรรมของฝ่าบาท หม่อมฉันห้ามหรือค้านอย่างใดไม่ได้ แต่นอกเหนือจากนั้น หม่อมฉันขอประทานเพียงเงินเดือน เท่ากับราคาของการงานเท่าที่หม่อมฉันจะทำให้กับบริษัทได้”

ชีวิตอันรุ่งโรจน์แต่ขื่นขมของหม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล ซึ่งกลับรื้อฟื้นคืนชีพขึ้นอีกชั่วขณะหนึ่ง ได้จบฉากลงแล้วโดยแน่นอนและเด็ดขาด แต่นี้ก็นับแต่จะลืมเลือนไปจากความระลึกนึกถึงของแม้แต่ผู้ที่เคยใกล้ชิดสนิทสนมที่สุด ชีวิตของ ‘พ่อเผือก’ จึงกลับเปิดฉากขึ้นอีกในป่าไม้ด้านคลองใหญ่ ของบริษัทศรีราชา

แน่ละ บรรดาคนงานและราษฎรในละแวกนั้น ซึ่งเคยให้ความเคารพและรักใคร่แก่ ‘พ่อเผือก’ มาแต่เดิม ต่างก็ต้อนรับขับสู้ ชิงกันแสดงความยินดีอย่างเอิกเกริก แต่นับในวาระแรกที่เขาทั้งหลายได้เห็น ‘พ่อเผือก’ ของเขา และแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีภูมิลำเนาอยู่ตามป่าดงห่างจากสถานที่ที่เรียกกันว่าอบอุ่นด้วยแสงแห่งวัฒนธรรมความเจริญ เขาก็ทราบกันโดยถนัดแน่ว่า พ่อเผือกเขาได้แปรเปลี่ยนไปเป็นอันมาก มิใช่ด้วยตำแหน่งผู้ช่วยนายด้านใหม่ของเขาก่อให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำต่ำสูง มิใช่ด้วยพ่อเผือกของเขาตั้งใจไว้อำนาจ กีดกั้นความเป็นกันเองเหมือนเช่นที่เคยมาแต่เดิม พ่อเผือก ของเขายังเป็นผู้มีอารมณ์เยือกเย็น เมตตาอารีต่อผู้ต้องทุกข์ตกยากก็จริง แต่ดูเหมือนจะเป็นไปด้วยการที่ได้เคยปฏิบัติมาจนติดเป็นนิสัยมากกว่าจากความรู้สึกภายในจริง ๆ เพราะว่าความรู้สึกของเขานั้นบัดนี้ดูชืดชาเหมือนลักษณะเค้าหน้า ซึ่งมีแต่เคร่งเครียดบึ้งตึงอยู่เป็นนิจสิน การโอภาปราศรัย การเป็นผู้นำในทางก่อความสามัคคี มีใจเป็นกันเอง อันเคยช่วยบำบัดปัดเป่าเหตุการณ์รุนแรง และความยากลำบากต่าง ๆ จนตัวเขาได้รับการนับถือจากพวกคนงานมาแต่ก่อนนั้น บัดนี้สาบสูญไปเสียสิ้นแล้ว ถ้าจะกล่าวตามเป็นจริง ก็ดูเหมือนเขาจะเลี่ยงสมาคมกับมนุษย์เสียด้วยซ้ำ คงคลุกคลีอยู่กับเหล้าและพลายมลิวัลลิ์ !

ในเรื่องเหล้านั้น นายเผือกกลับดื่มได้อีกเหมือนดื่มน้ำ จนแม้แต่เหล้าก็ต้องยอม ‘เชื่อง’ กล่าวคือ เขาอาจจะดื่มมันได้โดยมันไม่สามารถทำให้เขาเมาถึงหมดสติ ทำงานไม่ได้ ไม่ว่าจะดื่มเข้าไปเป็นปริมาณมากน้อยเพียงใด แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เคยปรากฏว่า นายเผือกสร่างเมาจริง ๆ สักขณะเดียว ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือค่ำมืดวิกลวิกาลอย่างใด ในการดื่มนั้น เขาชอบร่วมวงดื่มกับคนอื่น ๆ ดื่มไปตลอดเวลาที่ยังรู้สึกตัวว่าตื่นอยู่ แต่ชอบเมาตามลำพัง ดังนี้ถ้าหามิตรสหายที่เป็นมนุษย์มาร่วมดื่มด้วยไม่ได้ นายเผือกก็หวนไปหาสหายเก่า ผู้มีมิตรภาพอันจีรังยั่งยืนสม่ำเสมอตลอดมา คือพลายมลิวัลลิ์

เหตุที่นายเผือกจะหาเพื่อนร่วมดื่มเหล้าด้วยไม่ค่อยได้นั้น คือ นอกจากเค้าหน้าอันเคร่งเครียด และอารมณ์อันจืดชืดชาของเขา ซึ่งย่อมจะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของคนทั้งหลายแล้ว พลายมลิวัลลิ์ยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่สุด ที่กางกั้นมิให้มิตรสหายอื่น ๆ ที่เป็นมนุษย์ คบหาสมาคมกับพ่อเผือกของมันได้

มลิวัลลิ์ลิเกิดและเติบโตขึ้นในหมู่มนุษย์ มันจึงได้รับอุปนิสัย ไหวพริบ ทั้งในด้านที่ดีของมนุษย์ และในด้านที่เสีย คือความอิจฉาริษยา หวงแหนในสิ่งและผู้ที่มันรัก แล้วที่มลิวัลลิ์รัก ‘เผือก’ นั้น ขณะนี้ไม่มีใครสักคนในป่าศรีราชาเคลือบแคลงสงสัย ผู้ใดทำตัวใกล้ชิดสนิทสนมกับเผือกให้มลิวัลลิ์รู้เห็น ผู้นั้นเท่ากับสร้างศัตรูสี่เท้าที่มีไหวพริบไม่แพ้คนขึ้นทันที มลิวัลลิ์อาจซ่อนความไม่พอใจของมันไว้ได้นาน ๆ จนผู้นั้นเผลอตัวยอมให้มันเข้าใกล้ เมื่อนั้นแหละความเคียดแค้นของมันก็จะระเบิดปังออกมา ในรูปที่เป็นอย่างใหญ่หลวงแก่ชีวิตของผู้นั้นทันที เขาทำโทษมัน เขาแยกมันไปทรมานไว้ด้านหมื่นจิตต์ แต่มลิวัลลิ์ก็แตกปลอกหนีมาหามิตรที่มันรักได้เสมอ จนในที่สุด บริษัทซึ่งไม่อยากจะทำลายสมบัติที่ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้ได้ เช่น พลายมลิวัลลิ์ ก็ต้องยอมจำนน ยอมให้มันย้ายสังกัดตัวมันเองมาประจำอยู่กับสหายของมัน ณ ด้านคลองใหญ่ แต่ได้กำชับ ‘เผือก’ ในการคบกับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งก็ดูเหมือนทั้งนี้จะเป็นที่สบอารมณ์ปรารถนาของพ่อเผือกอยู่ด้วย

ดังนี้จึงภายในเวลาไม่ช้านัก ‘พ่อเผือก’ ก็ห่างเหินจากสมาคมมนุษย์โดยเด็ดขาด ยังคงคลุกคลีอยู่ก็แต่กับ ‘ไอ้เผือก’ และพลายมลิวัลลิ์

เหตุการณ์ในชีวิตของเขาได้ลงรูปเรียบร้อยอยู่เช่นนี้เป็นเวลาเกือบสองปี และถ้าหากว่าพระพรหมท่านมิได้ลิขิตไว้เป็นอย่างอื่น ชีวิตของ ‘พ่อเผือก’ หรือหม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล ก็คงจะได้ปิดฉากลง ณ ตรงนี้ และสาบสูญสิ้นเรื่องราวไปในสังคมของชาวบ้านป่า ซึ่งมีชีวิตหมุนเวียนอยู่อีกวิถีหนึ่ง แตกต่างห่างไกลกับชีวิตเดิมของเขา ราวกับมนุษย์ในโลกพระอังคาร !

เมื่อท่านชายวรวัฒน์ เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว หลังจากได้พาชายาท่องเที่ยวไปชมความงามของทวีปยุโรป และงานพิพิธภัณฑ์นิวยอร์คเสียเกือบสองปี เป็นการฮันนีมูนอยู่ในตัวนั้น เสด็จในกรมขุนวรวงศ์วัฒนา ทรงดำริเห็นว่า ถึงเวลาสมควรแล้วที่พระองค์จะปลดเปลื้องพระภาระประทานแก่โอรสเสียบ้าง และภารกิจชั้นแรกที่ประทานก็คือ ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของบริษัทศรีราชาจำกัด ประจำสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่ผู้ดำรงตำแหน่งนี้จำเป็นจะต้องรู้งานทางป่า และทางโรงเลื่อยอยู่บ้าง เสด็จในกรมจึงปลงพระทัยแก้ปัญหานี้ ด้วยการยกครัวลงเรือยนต์ทะเลออกมาศรีราชา โดยมิได้ทรงแจ้งให้ท่านนิพนธ์ทราบ เพราะไม่ทรงเห็นความสำคัญที่จะต้องบอกให้รู้ตัวล่วงหน้า

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเรือยนต์ทะเลของพระองค์ถึงศรีราชาในตอนเช้า และทรงทราบจากเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานว่าท่านนิพนธ์เสด็จเข้าไปตรวจป่าเสียแล้ว พระองค์ทรงห้ามมิให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งไป แต่กลับสั่งให้จัดรถยนต์รางถวายให้พระองค์และพระประยูรญาติทั้งหมดเสด็จตามเข้าไป รับสั่งว่า

“เราจะไปโต๊ะตานิพนธ์”

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งได้ละเมิดคำสั่งและโทรศัพท์ให้คนใช้ของนายด้าน เดินทางเข้าไปทูลท่านผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเผอิญอยู่ในเขตที่ตั้งเครื่องชักลากแห่งหนึ่งลึกเข้าไปในป่า และไม่มีโทรศัพท์ติดต่อ ผู้เดินข่าวจึงต้องเดินทางลัดมาในป่าทึบเป็นหนทางเกือบสิบกิโลเมตรจากที่พัก ดังนั้นท่านผู้จัดการจึงทรงทราบเอาต่อเมื่อรถที่นั่งจวนจะถึงอยู่แล้ว ตามกำหนดที่เจ้าหน้าที่ผู้รอบคอบได้แจ้งมาพร้อมทั้งรายนาม และจำนวนคนที่มาในขบวนเสด็จ ซึ่งรวมทั้งหม่อมเจ้าวรวัฒน์ หม่อมอรพิน และบุตรน้อย กมลสุริยา !

ทรงอ่านสาส์นที่ส่งมาทางโทรศัพท์แล้ว ท่านชายนิพนธ์ก็ยืดพระองค์ เหลือบพระเนตรเพ่งมองไปพ้นยอดทิวไม้ยังขอบฟ้าโดยไม่มีจุดหมาย ครู่ใหญ่ ๆ จึงลดสายพระเนตรลง ควบคุมความนึกคิดอันวุ่นวิ่งสับสนอลหม่านอยู่ให้เป็นเค้าโครงขึ้นได้บ้าง เพราะว่าเบื้องหน้าท่านห่างออกไปไม่ถึงสิบเส้น ‘นายเผือก’ ของท่านกำลังยืนพิงขาหน้าและใช้มือลูบเข่าพลายมลิวัลลิ์เล่นอยู่ ถึงหนวดเคราเผ้าผมจะรุงรัง ถึงเสื้อกางเกงจะยับเยินขะมุกขะมอม ร่างกายและวิญญาณที่ซ่อนอยู่ใต้ความโสโครกสกปรกนั้น ก็ยังเป็นหม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล อยู่นั่นเอง หม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล ซึ่งได้ทรงเสียสละอย่างใหญ่หลวง ยอมมาทนลำบากตรากตรำทุกอย่าง เพื่อความสงบสุขแห่งจิตใจ และความเกษมสำราญของอรพิน ก็จริงอยู่ แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันใดในสกลโลกนี้หนอ อุตริดลบันดาลให้ภาวะอันควรจะอยู่ห่างไกลกันอย่างคนละมุมโลกมาบรรจบพบกันได้ ณ เวทีแห่งป่าทึบนี้ ! ‘เผือก’ ควรจะอยู่ตามเครื่องชักลากอื่น ๆ ได้อีกทั้ง ๕ แห่ง อรพินควรจะชื่นบานสำราญกายอยู่บนกองเงินกองทองที่กรุงเทพฯ องค์ท่านเองควรจะอยู่คอยรับหน้าเสด็จในกรมที่ศรีราชา อะไรจะช้าไปสักนิด ฝ่ายใดเร็วไปสักหน่อย โอกาสที่มนุษย์สองคนนี้แคล้วคลาดกันนั้น ก็ควรจะมีอยู่เกินกว่า ๙๙ ใน ๑๐๐ แต่การณ์ได้เป็นไปตามที่ชอบที่ควรเช่นนั้น เปล่าเลย ! โอกาสไม่ถึง ๑ ใน ๑๐๐ นั้นกลับอุบัติขึ้น ราวกับว่าโชคชะตาได้บัญญัติไว้ให้สุริยาต้องดื่มความชอกช้ำระกำใจจนถึงหยดสุดท้าย เขาได้พลีแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ปุถุชนน้อยคนจะพลีให้ได้ เขาควรเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับความกรุณาปรานีให้ดำเนินชีวิตไปจนบั้นท้ายปลายสุด โดยไม่ต้องได้รับความกระทบกระเทือนทรมานใจเพิ่มพูนขึ้นอีก นี่เป็นความคิดเห็นของมนุษย์ แต่เทพยดาอารักษ์ท่านจะมีเจตนารมณ์ของท่านอย่างใด ท่านนิพนธ์ไม่พยายามจะพินิจพิจารณาให้ปวดพระเศียร ท่านได้แต่มองสุริยาด้วยความสมเพทเวทนาในการที่เหตุการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ดูเหมือนกำลังจะช่วยกันบีบบังคับให้เขาต้องรับรู้ รับเห็น ความชื่นบานสำราญของเมีย ที่เขายังรักบูชาอยู่กับ-ชู้ของหล่อน !

ท่านผู้จัดการใหญ่ก้าวลงจากเครื่องชักลาก โบกหัตถ์ไม่ให้เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ตามเสด็จ แล้วทรงดำเนินไปตามฟิตเรล (รางรถขนาดเล็ก ใช้หมอนเหล็กแผ่นแบน ๆ ตรึงไว้ตายตัว ท่อนหนึ่ง ๆ ยาวประมาณ ๑๐ เมตร ใช้สำหรับวางรางชั่วคราว ต่อจากทางประธาน เข้าไปเอาไม้ในป่า) ซึ่งพอเลยปั้นจั่นยกไม้ขึ้น รถหน้าเครื่องชักลากไปสักหน่อย ก็ค่อย ๆ ลาดต่ำลงไป จนถึงตีนเนินแล้วก็หักชันขึ้น ที่ยอดเนินลูกที่สองนี้ เผือกยืนอิดออดอยู่กับพลายมลิวัลลิ์ข้างขบวนรถเปล่า ซึ่งมีลิ่มไม้คั่นแทรกไว้ระหว่างล้อกับราง เพื่อกันไม่ให้รถทั้งขบวนไถลลื่นลงไปตามความชันของเนิน ก่อนเวลาที่ต้องการใช้รถ

ทรงดำเนินขึ้นไปเพียงครึ่งลูกเนิน ก็กวักพระหัตถ์เรียกนายเผือก เพราะท่านเองก็ไม่มีศรัทธาจะเข้าใกล้พลายมลิวัลลิ์เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ เผือกยกมือตบแก้มมลิวัลลิ์เป็นเชิงปลอบสองครั้ง แล้วก็ออกเดินนับก้าวมา บนแผ่นหมอนเหล็กเปื่อย ๆ ไม่กระตือรือร้น หรือแสดงความสงสัยประหลาดใจ ที่ท่านผู้จัดการใหญ่ปลีกพระองค์ออกมาพบกันตนโดยเฉพาะเจาะจง ต่อหน้าความรู้เห็นของเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย จนเมื่อเข้าไปถึงตัวแล้ว ท่านนิพนธ์ก็ยังอึ้งอยู่ เขาจึงเริ่มรู้สึกในภาวการณ์อันผิดธรรมดาสามัญ

“สุริยา !” นับตั้งแต่ที่จากตำหนักที่พักของท่านผู้จัดการใหญ่เข้ามาในป่าแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีผู้เอ่ยชื่อเดิมของเขา

“สุริยา สิ่งที่ทั้งเธอและฉันไม่เคยคาดฝันว่าจะเกิดขึ้นได้ กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว”

อีกฝ่ายหนึ่งเพ่งมองหน้าผู้พูดอย่างไม่เข้าใจจริง ๆ

“อรพินจะเข้ามาในวินช์นี้อีกในราวครึ่งชั่วโมง ถ้ารถไม่ติดขัด ฉันไม่มีเวลาจะกีดกันหรืออธิบาย แต่ถ้าเธอไม่อยากอยู่ที่นี่ ก็ขึ้นคอไอ้มลิหลบออกเสียทางหลังวินช์-”

ท่านนิพนธ์จะรับสั่งอย่างใดต่อไป สมองของสุริยาไม่รับทราบเสียแล้ว อรพินจะมา ! อรพินจะมา ! เขาไม่ต้องการคำอธิบายอะไรอีก ขี่คอพลายมลิวัลลิ์หนีออกทางหลังวินช์นะหรือ ? ต่อให้เอาโซ่ล่ามคอแล้วให้ไอ้มลิฉุดก็ไม่ยอมไป ได้เห็นหน้าอรพินสักแวบหนึ่ง แล้วจะตายก็คงจะหลับตาตายได้อย่างปราศจากนิวรณ์ เพียงแต่ได้ยินชื่อ ‘อรพิน’ ความรักความอาลัยที่แน่ใจมาตลอดเวลาว่าได้เลื่อนลอยไปแล้วนั้น ก็กลับอีกโหมขึ้นในอกอีก

“-รับสั่งนานแล้วว่าจะมอบตำแหน่งผู้จัดการใหญ่กรุงเทพฯ ให้นายวรวัฒน์ เขาคงจะออกมาเรียนงานป่า ฉันจะต้องปรับ-”

“วรวัฒน์ ! วรวัฒน์ ! อ้า-วรวัฒน์ ผัวอรพิน ! สักประเดี๋ยวก็คงจะได้เห็นเขาจู๋จี๋พะเน้าพะนอกันเหมือนวันต้น ๆ ของ-บ้าจริง ๆ ทำไม ความคิดจึงได้วกวนบ้า ๆ ไปเช่นนั้นได้ อีกสักประเดี๋ยวเขาก็จะมาคลอเคลียกันให้เป็นการปวดร้าวบาดหัวใจ แต่ความปวดร้าวใจของเขาในขณะนั้น ดู ๆ ก็จะเจือปนด้วยความอิ่มเอมแห่งผู้ที่ยอมเสียสละแล้วทั้งหลาย-”

“แต่ว่า-นั่นแหละ ถ้าเธออยากเห็นตาจิ๋ว จะบังต้นไม้แอบดูอยู่ห่าง ๆ ก่อน-”

“ตาจิ๋ว-แน่นอนทีเดียว ถ้าตาจิ๋วมาด้วย หม่อมฉันจะหนีไปไม่ได้”

“ฉันเชื่อว่าเธอเข้าใจคำพูดของฉันไม่ถึงครึ่ง-”

“หม่อมฉันไม่เคยขอร้องอะไรฝ่าบาท แต่ถ้าในคราวนี้ฝ่าบาทสามารถบันดาลให้หม่อมฉันได้อุ้มจิ๋วสักสิบนาที หม่อมฉันจะไม่ลืมพระคุณอันนี้จนวันตาย หม่อมฉันรับรองว่ายังควบคุมสติอารมณ์ได้ และจะไม่แสดงอาการให้แกสงสัยระแวงอย่างใดเลย”

ลักษณะท่าทางของเขาขณะนี้ กระปรี้กระเปร่าผิดกับ ‘เผือก’ ผู้ซึมเซื่องเงื่องหงอยเป็นอย่างยิ่ง ท่านนิพนธ์พินิจหน้าเขาด้วยความสมเพทเวทนาอย่างสุดซึ้ง ครั้นแล้วก็เผลอพระองค์ เจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่คอยจับตาดูกันอยู่รอบ ๆ บริเวณเครื่องชักลาก ต่างก็ตะลึงตะลานเมื่อได้เห็นท่านผู้จัดการใหญ่ยื่นพระหัตถ์ให้ตาเผือกบีบและเขย่าอย่างเต็มตื้น ทั้งที่เขาเหล่านั้นหาได้ยินรับสั่งว่า :-

“จะพยายามที่สุด แต่ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้แต่เธอจะระงับใจ ไม่ได้ เคลิ้ม อรพิน วันนี้ก็ขอให้เข้าใจเสมอว่า ฉันเห็นใจเธอ และ-และเป็นฝ่ายเธอเสมอ”

“อูว์-ช้าง แน่ะช้าง แม่คะ ดูช้างนั่นซีคะ ช้างป่าใช่ไหมคะ ?”

เสียงแหลมเล็กและแจ่มใสของเด็กชายร่างอวบอั้น ในเครื่องแต่งกายที่เรียบแต่สะอาดตา ดังแหวกขึ้นตัดเสียงงุ่ม ๆ งำ ๆ แหบห้าวของท่านนิพนธ์ ผู้กำลังทูลอธิบายวิธีชักลากไม้ซุงอยู่ ทำให้ผู้ใหญ่ทุก ๆ คนในหมู่นั้นต้อ ผินหน้ามองไปตามปลายนิ้วมือน้อย ๆ น่าเอ็นดูของพ่อหนูอายุไม่เกิน ๖ ขวบ ที่ได้เห็นพลายมลิวัลลิ์ ช้างสำคัญของบริษัท ยืนตระหง่านเป็นสง่าอยู่บนยอดเนินต่ำ ๆ ข้างขบวนรถเปล่า กับร่างของชายอีกนายหนึ่ง แฝงตัว ลับ ๆ ล่อ ๆ อยู่หลังพุ่มไม้ใกล้ ๆ กัน

กิริยาของชายนั้น เท่าที่สังเกตได้แต่ไกล ก็เหมือนชาวบ้านทั้งหลาย กล่าวคือ ชอบแอบดูผู้ที่เขาเรียกกันว่า “เจ้านาย” แต่ดูมาจากระยะห่าง ๆ และโดยกิริยาลับ ๆ ล่อ ๆ ครึ่งกลัว ๆ และครึ่งกระดาก ๆ ทั้งอรพินและวรวัฒน์จะรู้แม้แต่น้อยก็หาไม่ ว่ากิริยาที่อรพินเกาะแขนวรวัฒน์ค่อย ๆ เดินเลาะ หลีกรากไม้ และหลุมบ่อรอบ ๆ บริเวณเครื่องชักลาก เพื่อให้คลายเมื่อย เพราะได้นั่งจับเจ่าอัดแอมาในรถยนต์รางคับแคบมาเป็นเวลานานนั้น ได้ทำความอัดอกตันใจให้แก่ชายคนนั้นเพียงใด

“ท่านตาใหญ่คะ ช้างตัวนั้นดุไหมคะ” พ่อหนูยังติดใจช้าง ‘ป่า’ ของเธอ

“ดุมากเทียวหลาน” แล้วก็หันไปทูลประวัติพลายมลิวัลลิ์โดยย่อ

“มันกัดคนหรือคะ ?”

“มัน-มัน-” พลันก็แลเห็นช่องทางจะปฏิบัติตามคำสัญญา “จิ๋วอยากดูใกล้ ๆ ไหม ตาจะให้เขาพาไปดู”

“ฮึ ไหนว่าดุ” เสด็จในกรมท้วง “ของเขามีอยู่หน่อเดียวเน้อ”

“ไม่เป็นไรมิได้พะยะค่ะ เวลานี้เป็นเวลาพักงาน เขาตกปลอกมันไว้กับต้นไม้ใหญ่ข้างทาง แล้วก็สำหรับคนที่ยืนข้าง ๆ ตัวมันคนนั้น ไอ้มลิอาจยอมตายแทนได้ทีเดียว”

ได้ช่องโอกาสดังนั้น พ่อหนูน้อยก็โลดแล่นไปเกาะแขนท่านนิพนธ์ แล้วคนทั้งสองก็ออกเดินลงไปตามทางฟิตเรล จวนจะถึงตีนเนินก็ทรงกวักพระหัตถ์ให้เผือกลงมารับ ตั้งพระทัยว่าจะกล่าวชักนำคนทั้งสองสักคำสองคน แต่ครั้นถึงตัวเข้าจริง ๆ ก็รับสั่งออกมาไม่ได้แม้แต่คำหนึ่ง และแม้แต่หน้าของเขา ท่านนิพนธ์ก็ไม่กล้ามอง ได้แต่ยกพระหัตถ์ขึ้นตบไหล่ให้สติ

หนูน้อยกมลสุริยาได้สังเกตเห็นอาการอึกอักของผู้ใหญ่ทั้งสองก็นึกฉงน แต่เธอก็เป็นผู้ที่มีเลือดและถูกอบรมให้อยู่ในสำนักที่ดีมาแต่อ้อนแต่ออก จึงได้คลายภาวะอันเคร่งเครียดนั้น โดยมิได้สำนึกตัว ด้วยการยื่นแขนออกจับมือนายเผือกและกล่าวว่า

“จิ๋วอยากไปดูช้างตัวนั้นใกล้ ๆ ค่ะ”

เผือกย่อตัวลงรวบร่างน้อย ๆ ประทับอกโดยมิได้กล่าวคำใด ๆ แต่กล้ามเนื้อทุกมัดเกร็งเขม็งมั่น เหมือนจะใช้พละกำลังอันแข็งแกร่งของตัว เป็นกำลังหนุนจุนกำลังที่ไหวหวั่นอย่างถึงขนาด อาการที่พ่อหนูน้อยยื่นมือออกเกาะแขนคนงานแปลกหน้าคนหนึ่ง ที่ดูไกล ๆ ก็พอเห็นได้ว่าขะมุกขะมอมสกปรกนี้ มิได้รอดพ้นความสังเกตผู้ใกล้ชิดของเธอ

อรพินได้อุทานขึ้นว่า “ประหลาด ! ตาจิ๋วยอมให้ตานั่นอุ้มได้อย่างสนิทสนม ถ้าจะตื่นช้างเต็มที่ เรื่องตระหนี่ตัวของตาจิ๋ว หม่อมฉันได้พยายามดัดหนักหนา”

ท่านนิพนธ์เผอิญทรงดำเนินกลับขึ้นไปถึง ได้ทันฟังอุทานของอรพิน จึงได้ทรงรำพึงโต้แย้งแต่ในพระทัยว่า “ไม่ประหลาดเลย เพราะเลือดคนทั้งสองมันเลือดเดียวกัน จิ๋วไม่ยอมให้อุ้มสิจะประหลาด อย่าว่าแต่จากกันสามสี่ปีเท่านี้ ต่อให้เป็นสิบ ๆ มันก็ต้องมีอะไรอันหนึ่งดึงดูดให้เข้าหากันอยู่นั่นเอง วิถีทางของธรรมชาตินั้นบางทีเราก็อาจคิดกันไม่ถึง !?”

มลิวัลลิ์คุกเข่า โซม ชูงวงขึ้นบูชาพระอิศวร และแสดงทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนกระบวนกลของมันแล้ว พ่อหนูน้อยก็ยังไม่คลายความตื่นเต้น ในการที่ได้เข้าใกล้ และฟังเรื่องราวของช้างดุเคยฆ่าคนจริง ๆ เป็นครั้งแรก พ่อหนูนั่งพิศดูพลายมลิวัลลิ์อย่างเพลิดเพลินอยู่บนรถบรรทุกซุงเปล่า โดยมี ‘เผือก’ พี่เลี้ยง ยืนพิศพินิจหน้าอันอิ่มเอิบของเธออยู่อย่างกระหายหิวอีกทอดหนึ่ง

ตลอดเวลานี้ ฝ่ายชายผู้เป็นพ่อพยายามเหนี่ยวรั้งสติมิได้กล่าวถ้อยคำใด ๆ ออกนอกขอบเขตประวัติและเรื่องราวของพลายมลิวัลลิ์ เพราะเกรงว่าถ้าได้ก้ำเกินไปถึงเรื่องส่วนตัวแล้ว ตัวเองจะไม่สามารถยับยั้งยุติลงได้ง่าย ๆ แต่อย่างไรก็ดี สุริยายังเป็นปุถุชนอยู่ ฉะนั้นเมื่อพ่อหนูค่อยคลายความช่างซักช่างถามของเธอลงแล้ว เขาก็อดถามขึ้นไม่ได้ว่า

“จิ๋ว มากับใครครับ ?”

“จิ๋วมากับแม่ กับท่านอา กับในกรมองค์ใหญ่ค่ะ ช้างเวลามันนอน มันนอนยังไงคะ เตียงมันใหญ่ไหมคะ ?”

“ช้างไม่นอนครับ”

“มันไม่ง่วงหรือคะ ?”

“กลางคืนมันกินหญ้าครับ กลางวันมันต้องทำงาน ท่านอาของจิ๋วใจดีไหมครับ ?”

“ใจดี๋-ดี ซื้อม้าตัวเล็ก ๆ ให้จิ๋วหัดขี่ ท่านอาว่าโตขึ้นจะได้ขี่ม้าสวยเหมือนท่านพ่อ แม่ว่าท่านพ่อใจดีกว่าท่านอาอีก ม้ากับช้างมันกัดกันไหมคะ ?”

แต่ผู้ถูกถามกลับก้มหน้าขบกรามนิ่งอยู่

“มะ-มะ-มะไม่กัดกันดอกครับ” ตอบไปอย่างสมองไม่ได้บัญชา “จิ๋วไม่รู้จักท่านพ่อของจิ๋วดอกหรือครับ ?”

พ่อหนูสั่นศีรษะเนิบ ๆ ลักษณะหน้าเศร้า ๆ ตาลอย ๆ นั้น จะเพราะยังพะวงถึงเรื่องม้ากับช้าง หรือคำนึงถึงพ่อก็ตาม แต่ฝ่ายชายผู้เป็นพ่อรู้สึกเสียวปลาบเข้าหัวใจ หวนระลึกนึกถึงความรับผิดชอบที่ตนเองมีอยู่ต่อเด็กน้อยคนนี้ เขาอาจมีสิทธิจะทำอะไรกับตัวของเขาเองได้จริง ๆ แต่เมื่อการทำอะไรนั้นมันเป็นการทำให้เด็กน้อยคนนี้ต้องสูญเสียความอภิรมย์ชมชื่นระหว่างพ่อกับลูกไป ฉะนี้ เขาอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่เขาทำไปนั้นเป็นความชอบธรรมแก่เด็กแล้วหรือ เด็กผู้ชายในวัยของพ่อหนูนี้แทบทุกคนจะต้องยกพ่อของตัวขึ้นเป็น ‘ฮีโร่’ คนแรกในชีวิตของเขาเสมอ คนอื่นแม้จะรักและเอ็นดูทะนุถนอมสักเพียงไหนก็จะเทียมพ่อแทนแม่จริง ๆ หาได้ไม่

“ท่านพ่อของจิ๋วไปไหนเสียล่ะครับ ?”

พ่อหนูทำหน้าว่างเปล่าอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง จึงตอบว่า “จิ๋วไม่รู้ดอก เขาบอกจิ๋วว่าสิ้นพระชนม์ สิ้นพระชนม์น่ะมันอยู่ที่ไหนคะ ?”

แต่ฝ่ายผู้ใหญ่กลับย้อนถามบ่ายเบี่ยงว่า “จิ๋วอยากเห็นท่านพ่อไหมครับ ?”

“อยากสิคะ จิ๋วอยากมีพ่อม้ากมาก ชัยชนะเขาก็มีท่านพ่อของเขา ศุภลักษณ์ก็มี เย็น ๆ เขาขับรถมารับที่โรงเรียน พ่อของธนิตเขามีม้าแข่ง เวลาแข่งชนะเขามาอวดที่โรงเรียน พ่อของพิชิตเขาเล่นเทนนิสเก่ง พิชิตเขาบอกว่าได้ถ้วยแยะ ๆ เขาเอาถ้วยมาทำไมกันคะ ” แล้วโดยไม่รอฟังคำตอบ “พ่อของยรรยงเขาเป็นอธิบดี ต้องไปอยู่ตึกใหม่ที่บางกะปิค่ะ อธิบดีเขาเป็นกันยังไงคะ”

ฝ่ายผู้ใหญ่แทบจะครางออกมาดัง ๆ เพราะคำพูดอันไม่เดียงสาของเด็กนั้น แสดงชัดราวกับเขียนเป็นอักษรไว้ให้อ่านว่า เธอก็รู้จักมีความน้อยเนื้อต่ำใจเหมือนกันที่ไม่มีพ่อ จะเอาไปประกวดประชันกับเพื่อนฝูงที่โรงเรียนได้

“จิ๋วไม่เคยเห็นรูปท่านพ่อบ้างหรือครับ ?”

“เคยค่ะ แม่ติดรูปท่านพ่อรูปใหญ่ไว้ที่หัวนอนเตียงจิ๋ว”

“รูปนั้นแต่งทหาร ใส่หมวกกระโล่มีขน เหมือนขนหางม้าบนหมวกใช่ไหมครับ ?”

“ใช่ค่ะ มีกระบี่ มีเข็มขัดด้วยค่ะ แล้วก็ที่กระเป๋ามีอะไรติดแยะเทียว”

เผือกเอื้อมมือไปหักกิ่งไม้เล็ก ๆ กิ่งหนึ่ง เสียบลงบนยอดหมวกกันแดดอันคร่ำคร่าของเขา ครอบหมวกลงบนหัว แล้วยืดตัวขึ้น ประสานมือลงบนยอดไม้เท้าที่เขาถือประจำมืออยู่ และถามเด็กผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเองว่า

“เหมือนกับ-เหมือน-เหมือนฉันเวลานี้ไหม ?”

เด็กน้อยพินิจเค้าหน้าซึ่งซ่อนอยู่ใต้หนวดเคราอันรกรุงรังนั้น แล้วสีหน้าของเธอก็เปล่งปลั่งผุดผ่องขึ้น แต่ครู่เดียวก็เหือดหายไป

“เหมือน เหมือนกันค่ะ แต่ท่านพ่อไม่มีหนวดรุงรัง แล้วก็ไม่เห็นสกปรก”

ถ้าพ่อหนูมีอายุมากกว่านี้อีก ๓ ปีเท่านั้น พอใช้ความคิดวินิจฉัยสิ่งที่ได้พบเห็นได้เอง ภาพราศีหน้าของคนผู้ใหญ่ที่รุ่งโรจน์โชติช่วงขึ้น แล้วมอดดับลงฉับพลันพร้อมกับสีหน้าของเธอนี้ จะติดตาตรึงใจเธออยู่จนวันตาย เพราะมันเป็นภาพของคนที่รู้ตัวดีว่า ถึงหากเลือดในอกของเขาจะรู้ได้ในขณะนั้นว่า เขาเป็นพ่อของเธอ เธอคงจะไม่ปลาบปลื้มภูมิใจในตัวเขาเลย ตรงกันข้าม เธออาจจะเสียใจ จนถึงกับเกิดความอับอายขายหน้าเพื่อนฝูง เพราะมีพ่อเสเพลอย่างเขาก็ได้ ในข้อนี้เขาต้องขอบใจอรพินและญาติผู้ใหญ่มาก ที่มิได้สอนให้เด็กลบหลู่ดูหมิ่นผู้ให้กำเนิด เหมือนที่เขาได้เคยพบเห็นเป็นอันมากในคู่ผัวตัวเมียที่เลิกร้างกันไป อย่างไรก็ตาม สุริยาฝืนใจถามคลำทางด้วยเสียงแหบแห้งต่อไป

“ทำไมจิ๋วไม่เอาท่านอาไปอวดที่โรงเรียนละครับ ?”

พ่อหนูเอียงคอหน่อยหนึ่ง ก่อนตอบ

“ไม่เห็นมีใครเอาอาไปอวดนี่คะ”

“จิ๋วรักท่านอาไหมครับ ?”

“รักค่ะ”

“กับท่านพ่อ รักใครมากกว่า ?”

คราวนี้เด็กน้อยนิ่งคิดอยู่นาน สีหน้าของเธอขมวดมุ่น แสดงว่ากำลังยุ่งยากในใจ

“จิ๋วไม่รู้ดอกค่ะ ไม่เคยเห็นท่านพ่อ แต่แม่บอกว่าท่านพ่อเป็นคนสวย คนดี เป็นสุภาพบุรุษเหมือนท่านอา เพราะใจดีเหมือนกัน อะไร ๆ เหมือนกัน บางทีจะรักมากกว่าเสียอีก เพราะใคร ๆ เขาก็ต้องรักพ่อนี่คะ”

กล่าวจบแล้วเธอก็ยังนั่งนิ่ง เหมือนยังใช้ความคิดในสิ่งที่เพิ่งถูกเกณฑ์ให้คิด เป็นครั้งแรกในชีวิตอันเยาว์วัยของเธอ ฝ่ายชายผู้พ่อนั้น ความหม่นหมองน้อยใจในตัวเองเมื่อครู่ได้ปราศนาการไปสิ้นแล้ว เพราะคำตอบอันชาญฉลาดของลูก บัดนี้ เขาแน่ใจได้แล้วว่า ลูกของเขาคนนี้ ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในวัยทารกก็ได้สำแดงความเฉียบแหลมในปฏิภาณ และผลของการที่ได้รับความอบรมอยู่ในสำนักที่ดีให้ประจักษ์ และแจ้งชัดว่าจะเป็นผู้รับและนำชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลไปสู่ความรุ่งโรจน์ได้ในอนาคตกาล

นี่เป็นครั้งแรกที่หม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกล รู้สึกปลอดโปร่งพระทัยในสวัสดิภาพของชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้มีโอกาสพิจารณาแววฉลาด และหน่วยก้านของผู้เป็นทายาทของเธอ ซึ่งเธอได้จากมาเสียแต่ลูกน้อยยังมีอายุ ๒ ขวบ

ในลำดับเวลานั้น มหาดเล็กที่ตามเสด็จในกรม ได้จัดตั้งเครื่องและอาหารกลางวันใต้ร่มไม้ใหญ่ ใกล้เครื่องชักลากเรียบร้อยแล้ว ทางฝ่ายพวกผู้ใหญ่จึงนึกถึงหนูกมลสุริยา และท่านผู้จัดการใหญ่ได้ทรงดำเนินไปทางหน้าเครื่องชักลาก เพื่อให้สัญญาณเผือกพาตัวเธอมาส่ง

ตามธรรมดาคนเราย่อมจะหยั่งทราบความรู้สำนึกคิดของสัตว์เดรัจฉานไม่ได้ แต่สำหรับช้าง เราเกือบถือกันว่าเป็นสัตว์พิเศษ มีปฏิภาณปราดเปรื่อง รู้ภาษาและอารมณ์ของมนุษย์ได้ดีกว่าสัตว์อื่น และพลายมลิวัลลิ์นั้นได้กล่าวแล้วว่าเป็นช้างที่เกิดและเติบโตขึ้นในสังคมมนุษย์ ประกอบด้วยความเฉลียวฉลาด อันเป็นทุนเดิมติดตัวมาแต่กำเนิดของมัน บางครั้งบางคราวมันจึงสามารถล่วงรู้เท่าทันเหตุการณ์ของมนุษย์ และมีความรู้สึกนึกคิดได้เท่าเทียมมนุษย์ด้วย ดังนี้เราจึงอนุมานไปได้ว่า ต้นเหตุของเหตุร้ายรายนี้คือความอิจฉาริษยาเป็นประการแรก และนิสัยไม่ถูกชะตากับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ เป็นประการหลัง

มลิวัลลิ์คงจะเห็นพ่อเผือกที่มันรัก โอบอุ้มมนุษย์ตัวน้อย ๆ อย่างทะนุถนอม ราวกับเกรงว่าจะชอกช้ำบุบสลายลงได้ด้วยการแตะต้องที่ไม่ประคองมือ มลิวัลลิ์คงจะได้เห็นการแสดงความรักความอาลัยที่ร่ำร้องออกมาจากดวงตา และท่าทางที่พ่อเผือกของมันคอยปกปักษ์พิทักษ์ร่างน้อย ๆ นั้นอยู่ทุก ๆ อิริยาบถที่เคลื่อนไหว อย่างที่มันไม่เคยพบมนุษย์ใดแสดงต่อกันมาแต่ก่อน ตลอดเวลาที่มันถูกพ่อเผือกของมันบังคับขืนใจให้ทำโน่นทำนี่ เพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบของมนุษย์ร่างน้อยนั้น พ่อเผือกมิได้หันหน้าอันเคยแสดงความกรุณาปรานีมามองดูมันหมือนทุก ๆ ครั้ง ที่เขาสั่งให้มันทำอะไร ตรงกันข้าม พ่อเผือกกลับเฝ้ามองแต่หน้าของมนุษย์ตัวน้อยนั้น ด้วยสายตาที่แสดงความรักอย่างสุดซึ้ง ซึ่งเป็นภาพที่เสียดแทงแสลงใจมันเป็นอย่างยิ่ง มนุษย์คนอื่น ๆ เพียงแต่มาชิดชอบผู้ที่เป็นพ่อเผือกของมันแต่ฝ่ายเดียว มลิวัลลิ์ก็ยังสกัดกั้นออกไปเสียได้ด้วยความฉลาดและพละกำลังอันยิ่งใหญ่ ก็บัดนี้ มนุษย์ตัวกระจ้อยร่อยนั้นบังอาจเข้ามาเป็นผู้ที่พ่อเผือกให้ความชิดชอบ ประดุจจะเทิดทูนไว้เหนือสิ่งอื่นใดตลอดจนตัวมัน ด้วยฉะนี้ มลิวัลลิ์หรือจะยอมทนให้ ดูเป็นไปโดยดุษณีภาพได้ แต่อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่มนุษย์น้อยนั้นยังพัวพันอยู่กับพ่อเผือก ซึ่งมันรักและบูชาและเทิดทูนไว้เหนือสิ่งอื่นใดเช่นเดียวกัน มันก็ยังจะไม่ปล่อยอารมณ์ไปในทางที่จะเป็นภัยมาพ้องพานพ่อเผือกของมันด้วยได้ ยังก่อน มลิวัลลิ์ โกรธ รัก โลภ หลง ไม่น้อยหน้ามนุษย์ แต่มลิวัลลิ์ดีกว่ามนุษย์เป็นส่วนมาก ก็ตรงที่มันรู้จักเงื่อนงำความรู้สึก รู้จักควบคุมบังคับอารมณ์ของมัน จนกว่าจะถึงโอกาส และเวลาอันสมควร ที่จะระบายความแค้น เมื่อนั้นแหละ มลิวัลลิ์ไม่เคยปล่อยให้โอกาสและเวลาเลื่อนลอยไปโดยไม่ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่

มลิวัลลิ์ได้เห็นมนุษย์ทางเนินต่ำฟากโน้นให้สัญญาณ เห็นพ่อเผือกของมันพินิจหน้าและสรรพางค์กายของนุษย์ตัวน้อยเป็นครั้งสุดท้าย ราวกับจะจำลองภาพนั้นเป็นพิมพ์ที่ประทับไว้ในใจ พ่อเผือกของมันระบายลมหายใจขัด ๆ เขาโอบตัวพ่อหนูแนบอก หัวของเขาค่อย ๆ โอนต่ำลง ๆ ทำการเหมือนจะจุมพิตที่พวงแก้มอันอวบอูมของพ่อหนูน้อย ครั้นแล้ว ผงะขึ้นก็ถอนหายใจใหญ่ดังเฮือก จนมลิวัลลิ์ซึ่งอยู่ห่างตั้ง ๔-๕ วาก็ได้ยิน แต่แทนที่มันจะสมเพชเวทนาผู้ที่มันรัก ภาพที่มันเห็นกลับเป็นเครื่องยั่วเย้าความเคียดแค้นชิงชังของมันยิ่งขึ้น

มลิวัลลิ์มองตามพ่อเผือกของมัน อุ้มสิ่งที่มันชิงชังค่อย ๆ เดินลงเนินไปทางฟิตเรล สักครึ่งลูกเนินเขาก็หยุด ก้มลงพูดอะไรกับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ น่าเกลียดนั้นสองสามคำ แล้วเด็กน้อยก็ค่อย ๆ ก้าวขาอันสั้นไปบนแผ่น หมอนเหล็กที่ตรึงไว้กับรางเป็นระยะช่วงยาว ๆ จึงก้าวเดินไปช้า ๆ แต่ดูท่าทางกระฉับกระเฉง ออกรสในการเดินวิธีใหม่นี้ตามประสาเด็ก

มลิวัลลิ์เห็นกระทั่งกิริยาที่พ่อเผือกของมันขยับเขยื้อน เหมือนว่าร่างกายจะเคลื่อนไหวไปตามสิ่งที่มันเกลียดนั้น หากแต่ว่ามีสิ่งอันทรงอานุภาพยิ่งใหญ่กีดกั้นอยู่ แต่กระนั้นขาและเท้าก็ยังเขยิบเคลื่อนตามไปทีละน้อย ราวกับไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งมนุษย์น้อยเดินไปจวนจะถึงตีนเนิน พ่อเผือกของมันจึงต้องชะงัก ทำท่าเลิ่กลั่ก เหลียวหน้าเหลียวหลัง แล้วจึงแอบเข้าแฝงพุ่มไม้ข้างทาง มิให้คนทั้งหลายทางเนินลูกต่ำเบื้องหน้าเห็นตัวได้ถนัด ปล่อยให้มนุษย์ตัวน้อยเดินคลำทางป้วนเปี้ยนอยู่ในรางฟิตเรลแต่คนเดียว

เพราะเหตุที่พลายมลิวัลลิ์พูดไม่ได้ เราจึงรู้ไม่ได้ว่า ความรู้สึกคิดเยี่ยงมนุษย์ของมัน ขึ้นต้นและจบลงตรงไหน แต่ก็พอจะเดาได้ว่า กิริยาอาการที่สุริยาแสดงเสมือนหนึ่งจะถลาแล่นไปตามพ่อหนู ทิ้งป่า ทิ้งอะไรต่ออะไร รวมทั้งตัวมัน เพราะมนุษย์ร่างกระจ้อยร่อยนั้น เป็นเหตุสุดท้ายที่เบ่งบันดาลโทสะของมันขึ้นถึงขีดระเบิด และก็ระเบิดขึ้นในขณะที่มันมีทั้งวิธีและโอกาสที่จะก่อเหตุร้ายเสียด้วย !

มลิวัลลิ์ใช้ปลายงวงปัดลิ่มที่แทรกไว้ระหว่างล้อขบวนรถบรรทุกซุงเปล่ากับรางเหล็ก งอขาหน้าดันกระปุกน้ำมันที่เพลารถด้วยความชำนาญ ขบวนรถเปล่าอันหนักก็พุ่งปราดตามลาดเนิน ลงสู่กมลสุริยาซึ่งกำลังเดิน ป้วนเปี้ยนอยู่กลางรางที่ตีนเนิน !

เสียงล้อเหล็กบดกับรางครื้นเครงขึ้น เผือกผู้ชำนาญการป่าไม้เหลือบดูแวบเดียว ก็หวั่นในใจ ภยันตรายอันใหญ่หลวงที่จะมาคร่าชีวิตของบุตรน้อย เกือบจะว่าในเวลาชั่วพริบตานั้น เขาเหลือบหาขอนไม้ ก้อนหิน หรือสิ่งอื่นเพื่อขวางรางให้รถกระท้อนตกลงเสียจากราง ก่อนรถถึงตัวตาจิ๋ว แต่...อนิจจา ! ...ไม่มีสิ่งใดเสียเลย และขบวนรถหนักหลายสิบตัน ก็กำลังจะแล่นผ่านตัวเขาไป

...เลือดเนื้อเชื้อไขของเขา จะดำรงวงศ์ตระกูล โตขึ้นท่ามกลางผู้สมศักดิ์ สมสกุล...ชีวิตของเขา...สมควรจะจบบทบาทเสียนานแล้ว จบด้วยวิธีไหนเล่า จะประเสริฐยิ่งไปกว่านี้ เพื่อลูก เลือดที่หลั่งออกจากอก...

พอขบวนรถไถลมาถึงเขา...สุริยาก็ทุ่มตัวลงระหว่างล้อกับรางล้อ รถเปล่ากระดอนซ้อนและซ้อนกัน ก่ายขึ้นเป็นกองสุมเศษซากศพสุริยา ผู้มีน้ำใจเด็ดเดี่ยวดึงดันแต่ปฏิสนธิจนวันตาย !

อรพินงงงันและงกเงิ่น สั่นสะท้านไปทั้งตัว เธอได้กอดลูกน้อยที่มีชีวิตอยู่ในขณะนั้น ก็เพราะการเสียสละชีวิตหนึ่งชีวิต สายตาและความทรงจำของเธอยืนยันว่า เธอได้เห็นชายคนงานคนนั้นพุ่งตัวลงสู่ความตายเพื่อช่วยชีวิตของลูกเธอ แต่แม้กระนั้นท่านชายนิพนธ์ ซึ่งเป็นผู้ลงไปรับตาจิ๋วและเป็นผู้อยู่ใกล้เหตุกว่าคนอื่น ๆ ก็ยังยืนยันว่า ผู้ตายเพียงแต่พยายามจะ ‘ยึดรถ’ ด้วยมือเปล่า ๆ ! ถ้าอรพินรู้ จะจับพิรุธได้ที่ตรงนี้ แต่เผอิญเท้าสะดุดรากไม้ เป็นการตายที่ต้องเรียกว่า ‘อุบัติเหตุ’ โดยแท้

อย่างไรก็ตาม ท่านนิพนธ์ ผู้มีพระพักตร์เหยเก อย่างใกล้จะร้องไห้ที่สุด ได้ทูลเชิญเสด็จกลับศรีราชาโดยด่วน พลางรับสั่งห้ามเจ้าหน้าที่และคนงานทั้งหลาย มิให้ผู้ใดรื้อหรือจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่กองรถเปล่านั้นเป็นอันขาด จนกว่าจะได้รับบัญชาจากท่าน

อรพินเดินระทดระทวยมาในอ้อมแขนสวามีเป็นคู่สุดท้าย เมื่อจะผ่านท่านชายนิพนธ์ไปขึ้นรถ เธอได้คลายมือที่กำธนบัตร ๒๐๐ บาทออกถวาย พลางกล่าวว่า

“ท่านเพคะ-คนคนนั้นเขาจะตายเพราะโดดให้รถทับ หรือสะดุดรากไม้ก็ช่างเถิด จิ๋วของหม่อมฉันรอดชีวิตมาได้ก็เพราะการตายของเขา เพราะฉะนั้นหม่อมฉันขอให้ฝ่าบาทใช้เงินนี้ทำศพ แล้วก็ลูกเมียของเขามีไหมคะ หม่อมฉันอยากจะอุดหนุนจุนเจือ”

ท่านนิพนธ์มีพระพักตร์อันแสดงความยุ่งยากใจอย่างอุกฤษฏอยู่แล้ว พอได้ยินคำถามถึงลูกเมีย พระเนตรก็ถลน พระพักตร์เคร่งเครียดเปลี่ยนแปรไปจากความละมุนละม่อมอันเป็นปกติวิสัย และทรงทวนคำด้วยเสียงอันดังว่า

“ลูกเมียหรือ ? เมียของนายเผือกมี แต่หล่อนลืมเขาเสียแล้ว เพราะกำลังรื่นเริงชื่นบานอยู่ในวงแขนชู้ เก็บเงินของเธอไว้เถิดอรพิน และถ้าอยากทำบุญทำทานแผ่ส่วนกุศลไปให้เขาบ้าง ก็ขอให้ส่งสมทบโรงพยาบาลศรีราชา เพื่อเป็นอนุสรณ์ของความรักและความเสียสละอันยิ่งใหญ่”

รับสั่งแล้วก็เดินบ่นพึมพำ ๆ กลับเข้าสู่เขตไม้ ทิ้งให้คนทั้งสอง แลตามและแลตาซึ่งกันและกัน เพราะไม่เข้าใจอารมณ์ในเหตุที่ท่านองค์ใหญ่ทรงแสดงวิกลวิการไปเช่นนั้น เมื่อไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ ทั้งสองก็โอบเอวกันก้าวต่อไปขึ้นรถ...

คำสั่งของผู้จัดการใหญ่นั้น เจ้าหน้าที่ชั้นหัวหน้า กรรมกร ตลอดจนชาวป่า ก็ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เฉียบขาดตลอดมา แต่ในคราวนี้ หากจะมีใครฝ่าฝืนล่วงละเมิด ก็คงไม่สามารถทำได้เพราะว่า

พลายมลิวัลลิ์ เมื่อได้เห็นผลแห่งการกระทำของมันแปรรูปไปโดยนัยอันตรงข้ามกับเจตนาดังนั้น ก็สำนึกตัว ดิ้นอาละวาด จนปลอกขาดจากโคนต้นไม้ใหญ่ แล้วตัวมันก็โขยกสามขาลงเนิน มาคุกเข่าร่ำร้องครวญครางอย่างน่าเวทนาอยู่ข้างกองรถเหล็ก และไม่ยอมให้มนุษย์คนใดล่วงล้ำเข้าไปใกล้อนุสาวรีย์แห่งความรักลูกและการเสียสละของเขา ‘พ่อเผือก’ ของมัน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ