สำรวจดวงอาทิตย์

ล่วงเลยครึ่งเดือนมาแล้ว ในสวนเล็ก ๆ ใกล้หอตรวจดาวใหญ่

เสียงถอนใจหนัก ๆ จากชายคนหนึ่ง ซึ่งยืนแฝงกายอยู่โคนต้นไม้เล็กท่ามกลางความมืดมิดของรัตติกาล ไม่มีใครรู้ว่าเขามายืนอยู่นานเท่าไร ไม่มีใครรู้ว่าเขายืนทำไม และก็ไม่มีใครเข้าไปไต่ถามความประสงค์ของเขา

ยามรักษาการได้แอบดูเขา แลเห็นเขาเพียงแต่เงยหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ระยิบระยับไปด้วยแสงดาว

เป็นความจริง เขายืนอยู่เช่นนั้นนานมากโดยปราศจากการเคลื่อนไหวในส่วนเรือนร่าง สายตาเท่านั้นที่กวาดขึ้นไปยังท้องฟ้าทีละน้อย ๆ ไปยังกลุ่มดาวแต่ละกลุ่ม จากกลุ่มดาวสคอร์ปิอุส ทางทิศใต้ไปจดกลุ่มดาวเปอร์เชอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มเหนือสุด ของบรรดาดวงดาวที่ปรากฏอยู่เต็มท้องฟ้าในฤดูร้อน แต่ละรูปแต่ละกลุ่ม ดูพิลึกพิลั่น ดูอัศจรรย์ มีรูปเหมือนกับบรรดาสัตว์ทั้งหลายบนพิภพเช่นมนุษย์กำหนด ไม่มีผิดเพี้ยน

เขาถอนใจหนัก ๆ อีกครั้งอย่างระทดระทวย

ใต้ความมืดมิดอันลึกล้ำเข้าไปในอากาศอันหาอาณาจักรมิได้ ใต้แสงดาวที่ระยิบระยับในยามที่คลุมด้วยความมืดอันทะมึนทึงของกาฬปักษ์เช่นนี้ มนุษย์จะเต็มไปด้วยความพรั่นพรึง ฉงนสนเท่ห์ และท้อแท้ใจ หากเขาได้พิจารณาดูสิ่งเร้นลับเหล่านั้นอย่างจริงจังแล้ว ชั่วไม่นานนัก ท้องฟ้าก็กลับสว่างไสวกลบแสงดาวให้จางไป ส่งความแจ่มใสลอดเมฆบาง ๆ ที่ผ่านอยู่ในบรรยากาศลงมากระทบแผ่นดิน เหมือนโปรยด้วยหิมะระยิบวับแวบตระการตา มนุษย์ย่อมโปร่งใจที่ได้เห็นดวงจันทร์สกาวทาบติดอยู่กับสีน้ำเงินแก่ ดุจเพชรเม็ดมหึมาลอยคว้างอยู่ในไม่ช้าก็หายไปกลายเป็นความมืดมิดอย่างเดิม แต่ละสิ่งได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างน่าอัศจรรย์ !

ทว่า-เบื้องหลังความอัศจรรย์เหล่านี้ บางครั้งมนุษย์จะกระตือรือร้น บางครั้งจะท้อแท้ใจ และบางครั้งจะได้ความเข้าใจในสิ่งที่ทำให้เขาฝันที่จะพบเห็น ฝันที่จะไปผจญภัย เสาะแสวงหาความรู้และสิ่งมหัศจรรย์ เพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่โลก ความสมบูรณ์ทางวิทยาศาสตร์และความเป็นผู้รู้ซึ่งอยู่เหนือสภาพของการเป็นเดียรฉาน

มนุษย์เชื่อ-เชื่อว่าสิ่งเร้นลับเหล่านั้น สิ่งที่ระยิบระยับอยู่นั้นคือโลก โลกแต่ละโลกทั้งใหญ่สุดประมาณทั้งเล็กเท่าที่ชีวิตจะอยู่ได้ โลกอันมีจำนวนสุดคณานับ โลกอันกระจายกันอยู่ทั่วจักรวาล โลกอันเป็นสถานที่พักพิงและตายของเหล่ามนุษย์ชาติทั้งหลายที่กระจายกันอยู่

ความฝัน มนุษย์มีมานานแล้วนับ ๑๐๐ ปี นับแต่ เพลโต ลูเซียน จูลเวร์น เอช.จี.เวลส์ จนยุคปัจจุบัน ฟอนบราวน์ และวิลลี เลย์ ทำอย่างไรเล่าจึงจะสัมฤทธิผล ทำไฉนเล่ามนุษย์จะดับความกระหายของตนได้

ทางเลือกมีทางเดียวที่มนุษย์จะทำได้ คือแสวงหาทางที่จะไปยังดวงดาวเหล่านั้น

ด้วย-การข้ามอวกาศ อันเต็มไปด้วยความลี้ลับ ไปสู่ดินแดนอันน่าสยดสยองและมืดครึ้มสำหรับความคิด!

อวกาศ-มหาอาณาจักร การเดินทางไปไม่ใช่เป็นความฝันอันป่าเถื่อนเลื่อนลอย แต่ก็ไม่ใช่ความฝันอันสดสวย เพราะกำลังอยู่ระหว่างโอกาส คือโอกาสที่มนุษย์ส่วนมากกำลังหัวเราะเยาะในความคิดนั้น เป็นโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่นั้นหัวเราะไม่ออก ไม่ได้หัวเราะเลย เขาทำอย่างเงียบ ๆ นาน ๆ จะส่งผลส่งความคิดออกมาให้โลกตื่นเต้นครั้งหนึ่งแล้วเงียบไป เขามีความ ประสงค์อย่างเดียว-สิ่งเดียวเท่านั้น-และเมื่อไร

เราไม่อาจกล่าวได้ว่า เมื่อไรมนุษย์จึงจะถึงอวกาศ เราบอกได้ว่าถึงแล้วด้วยจรวด WAC Corporal ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ๒๕๐ ไมล์เหนือพื้นโลก ถ้าจะให้กล่าวว่า เมื่อไรมนุษย์จึงจะผ่านอวกาศไปยังโลกอื่นได้ เรายังไม่อาจตอบได้ทันที แต่พยายามกล่าวว่า ทำอย่างไรจึงจะไปถึงอวกาศ และทำไม

เป็นความสำคัญสำหรับเด็กหนุ่มที่จะเข้าใจ ‘อย่างไร’ และ ‘ทำไม’ เพราะว่าเขาเหล่านั้นแหละจะเป็นพวกหนึ่งที่จะอยู่ในยุคของ ‘การเดินทางไปสู่อวกาศ’ ที่จะมาถึง สิ่งใหม่ ๆ คำใหม่ ๆ รูปแปลก ๆ ที่เขาจำต้องเรียน ต้องฟัง ต้องคิด ต้องจำ มันเป็นการยากอยู่ที่จะรู้ว่าจรวดที่ไปในอวกาศจะทำงานและเข้าใจได้กระจ่างอย่างไร มันเป็นการลำบากที่จะเข้าใจถึง ชีวิตที่เราอาจมุ่งหวังอยู่ในบรรดาดวงดาวที่เราจะเดินทางไปสู่นั้น โดยการไร้ความรู้บางอย่างเกี่ยวกับชีวิตในโลกของเรา

ทุกวัน ทุกนาที มนุษย์ได้ออกไปทุกทิศทุกทางเพื่อสำรวจและผจญภัย ด้วยการบุกบั่นไปสำรวจทุกมุมโลกแม้ที่ยากลำบากซึ่งไม่เคยมีมนุษย์ไหนอาศัย ไม่เคยมีใครเดินทางไปก่อน

เขาไปเพื่ออะไร เขาไปทำไม

เหล่านี้ไม่เป็นปัญหาที่น่าคิด น่าเอาใจใส่ อย่างมากมายบ้างดอกหรือ

ยังมีอีกมากที่มนุษย์ยังไม่รู้ เกี่ยวกับความเร้นลับของโลก แต่กระนั้นก็ไม่เป็นการยากที่มนุษย์จะบุกบั่นไป เพื่อแสวงหาชื่อเสียงในดินแดนที่ต้อง ‘ไปได้’ นั้น แต่การที่จะออกไปยังดวงดาวเป็นงานยากลำบาก ซึ่งต้องใช้ทุนอันมหาศาล ความคิดอันเลิศ ความพยายามและกล้าหาญอย่างสูง และนั่นเป็นปัจจัยที่สำคัญน้อยสำหรับการใฝ่ฝันทะเยอทะยานของมนุษย์ผู้อุทิศตัวให้แก่โลก และการคอยที่ไม่เกียจคร้าน ซึ่งสักวันหนึ่ง-วันหนึ่งข้างหน้าที่จะมาถึง และเป็นวันเดียวที่มนุษย์ได้คอยมาแล้วนับศตวรรษ

จากวิทยุต่างประเทศถ้าเราจะฟัง จากหนังสือถ้าเราจะอ่าน จะได้พบกับนวนิยายที่เกี่ยวกับอวกาศ เรื่องราวของ ‘มนุษย์เวหา’ การเดินทางไปผจญภัยยังดวงดาว และการคาดฝันในการสำรวจโลกในจักรวาล

มีอะไรอยู่เบื้องหลังนวนิยายเหล่านี้ อวกาศเราจะข้ามไปได้หรือ และจะเป็นจริงตามจินตนิยายเหล่านั้นหรือ เรื่องของโลกอาจจะค้นคว้าได้ถูกต้อง แต่เรื่องของดวงดาวนั้น จะมีสิ่งที่น่าฉงนซึ่งไม่อาจแยกแยะได้ถูกต้องกับความจริงได้ นอกจากทฤษฎี-นวนิยายเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องราวอันเกิดจากมโนภาพ แต่ก็มีความจริงมากน้อยอยู่บ้างในนวนิยายเกี่ยวกับอวกาศเหล่านั้น เพราะผู้เขียนแต่ละคนใช้มโนภาพโดยไม่ทิ้งหลักธรรมชาติ และเป็นไปตามทฤษฎีของวิทยาศาสตร์

ไม่ใช่จะสุดเอื้อมของมนุษย์ ที่จะติดต่อไปยังโลกต่าง ๆ ดวงจันทร์ไกลเพียง ๒๓๘,๘๕๗ ไมล์เท่านั้น น่าไป น่าศึกษา น่าค้นคว้า เพราะในดวงจันทร์อาจมีสิ่ มหัศจรรย์รอเขาอยู่ มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์แก่โลกและมวลมนุษย์ ทั้งดวงจันทร์ก็มีสิ่งน่าพิศวงคืออีกด้านหนึ่งซึ่งไม่ได้รับแสงอาทิตย์นั้น ไม่เคยให้ความกระจ่างแก่มนุษย์เลย สิ่งที่อยู่ด้านหลังของดวงจันทร์จะเป็นอะไรมันเป็นของใหม่และแปลกแก่มนุษย์ที่ใคร่จะพบเห็น มันอาจเป็นป่าอันมหาสาร ทึบ ลึกลับและอัศจรรย์ ไม่มีแสงสว่างใด ๆ พื้นป่าอาจปกคลุมด้วยเถ้าถ่าน ซึ่งถ้ามนุษย์จะก้าวย่างเข้าไป ทุกๆก้าวจะจมลงไปภายใต้เถ้านั้นและเบื้องหน้าที่จะผ่านไปเราอาจจะพบ มนุษย์ซึ่งเป็นชาวโลกพระจันทร์ รูปร่างประหลาดผิวกายดำสนิท ดวงตาโปนใหญ่-แต่แขนเหมือนกิ่งไม้ ขามากมายดุจรากไม้อาศัยอยู่ตามโพรง และรูหลังพุ่มไม้ และเราอาจได้ยินเขาเหล่านั้นหัวเราะก้อง เมื่อเราได้ตกลงไปที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งเป็นแห่งที่เขาทำไว้สำหรับดักผู้รุกล้ำแดนเข้าไป

ดาวพุธเล่า ดินแดนที่เต็มไปด้วยความอัศจรรย์ที่มีดินแดนถึงสามสภาพ สภาพหนึ่งดินแดนที่เป็นกลางวันตลอดกาล ร้อนจัด แม้ดีบุก สังกะสีก็ละลายไหลเป็นสายธาร อีกดินแดนหนึ่งมืดตลอดกาล ไม่เคยมีแสงอาทิตย์นอกจากแสงดาว ไม่มีแม้แต่ความร้อนสำหรับหาความอบอุ่น หนาวเหน็บอย่างน่ากลัวด้วยอุณหภูมิลบ ๒๗๓ องศา เซ็นติเกรด และอีกสภาพหนึ่ง กึ่งกลางระหว่างกลางคืน กลางวัน กึ่งระหว่างหนาวจัดและร้อนจัด และดินแดนส่วนนี้น่าคิดเหมือนกัน ชีวิต-ความมหัศจรรย์ของโลกนี้ จะปรากฏมาในรูปไหน อย่างน้อยที่สุดในรูปของพืชก็น่าจะมีอยู่ และก็น่าเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งอื่นในรูปของชีวิตแม้ว่าบรรยากาศจะเบาบาง

ดาวพระศุกร์ เทพีวีนัส ผู้ถูกกล่าวขวัญมากมายในมหากาพย์อีเลียดของโฮเมอร์ เทพีผู้สวยสด ดวงดาวที่แจ่มจรัสยิ่ง ประกายพฤกษ์แห่งสุริยจักรวาล เป็นดาวดวงเดียวที่ติดอยู่ริมฝีปากนักกวีเอกของโลก เช่น แบล๊คโมร์ ดรายเดน ลองเฟลโล แม้ มิลตัน และสเปนเซอร์ ผู้อยู่ในสภาพดุจโลกเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว เป็นดาวพระเคราะห์ที่กำลังย่างเข้าสู่ยุคคาร์บอนิเฟรัส ซึ่งเป็นยุคอันร้อนรนอบอ้าว ถ้าจะมีชีวิตก็เป็นชีวิตยุคแรกเช่นเดียวกับของโลก ดวงดาวนี่แหละที่น่าคิด น่าพิศวง ถ้ามนุษย์ได้ไป มนุษย์อาจได้เรื่องราวของชีวิตอีกดำบรรพ์ของโลกด้วย

ดาวอังคาร ดวงดาวที่มนุษย์กำลังใฝ่ฝัน ดวงดาวที่มนุษย์กำลังสยดสยองและพรั่นพรึง โลกกำลังคิดว่า มนุษย์แห่งโลกนี้อาจเต็มไปด้วยความปราดเปรื่องยิ่ง มนุษย์โลกกำลังเพ่งเล็งและอาจถูกเพ่งเล็ง โลกอาจอยู่ในสภาพของมิตรหรือศัตรูก็ได้ ถ้ามนุษย์ในโลกนี้มี-อาจมีลักษณะเหมือนแมลงยักษ์ ร่างจะสูงอย่างน้อย ๑๘ ฟุต น่าขยะแขยงอย่างยิ่งแก่ผู้พบเห็น

ดวงดาวอื่น-พฤหัส ยูเรนัส พลูโต้ แม้ดาวพระเคราะห์น้อยทั้งหลายที่ล่องลอยอยู่ ใครจะคาดได้ว่าในสิ่งเหล่านั้นจะไม่มีสิ่งใดใหม่ แปลก เร้นลับและอัศจรรย์ แฝงอยู่ อาจมีต้นไม้ที่รู้จักคิด ก้อนหินที่พูดได้ อาจมีสัตว์มหึมาเช่นยุคดึกดำบรรพ์อยู่ก็ได้ แม้จะอยู่ห่างไกล แม้จะเยือกเย็น ชีวิตคงจะมี โครงร่างของชีวิตย่อมอัศจรรย์และมหัศจรรย์ เพื่อความเหมาะสมในการเกิดและมีชีวิตอยู่ในโลกนั้น ๆ

จักรวาลนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ไม่สามารถจะเข้าใจได้ หาขอบเขตจำกัดมิได้ ในอวกาศและเวลา มีโลกสุดคณานับอยู่ไกล-ไกลออกไปไม่รู้จักสิ้นสุด มีทั้งประหลาด อัศจรรย์ เร้นลับ และเข้าใจไม่ถูก

มนุษย์ได้ส่งจรวดขึ้นไปแล้วถึงอวกาศ และกำลังสร้างอีกลำหนึ่งเพื่อส่งไปให้ถึงดวงจันทร์ ถ้าเขามีเงินพอ ไม่นานนักดอกที่เขาเหล่านั้นจะต้องเอาชนะต่ออวกาศ ต่อดวงดาว ต่อจักรวาล ด้วยการถามว่า เราจะไปไหนกันอีก เราจะไปพบอะไรที่นั่นอีก

เข้ายุคที่จะเดินทางไปสู่ดวงดาวทั้งหลาย ใครและอะไรอยู่บนโลกเหล่านั้น อะไรรอเราอยู่ที่นั่น

นี่แหละคำถามที่ควรอย่างยิ่งที่เด็กหนุ่มทั้งหลายควรสนใจ ข้าพเจ้าได้เกริ่นมามากแล้ว มาจับเรื่องกันเสียทีเถอะ

เอาละ!

เขามีอยู่ก่อนแล้วในจักรวาลนับ ๑,๐๐๐ ล้านปี และยังจะมีต่อไปอีกไม่น้อยกว่า ๓๕ ล้านปี นี่เป็นการคาดคะเนของนักวิทยาศาสตร์

ด้วยการเป็นเจ้าของทรงกลมเพลิงที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๘๖๕,๐๐๐ ไมล์ ด้วยการเป็นเจ้าของแสงสว่างซึ่งมีความเร็วถึง ๑๘๖,๐๐๐ ไมล์ต่อวินาที ด้วยการเป็นเตาเพลิงอันมหึมาที่สร้างพลังงานปรมาณู ด้วยการเปลี่ยนก๊าซต่าง ๆ ราว ๔ ล้านตันต่อวินาที และด้วยการหนักกว่าโลกถึง ๓๓๒,๐๐๐ เท่า แรงโน้มถ่วงเป็น ๒๗.๔ เท่า ได้สร้างเขาเป็นผู้ใหญ่ยิ่งผู้หนึ่งในจักรวาล และเป็นเจ้าของสุริยจักรวาล

ถ้าจะเดินทางด้วยเวหาสยานไปเยือนเขา เราจะไม่พบสิ่งใด ๆ ในสภาพที่เป็นของแข็งหรือของเหลว เพราะเราไม่อาจไปถึง สภาพที่ ๆ เป็นตัวอันแท้จริงของเขาได้ เวหาสยานและมนุษย์จะวูบหายไป เพราะความร้อนแรงตามผิวกายของเขาถึงขนาด ๖,๐๙๓ องศาเซ็นติเกรด (๑๑,๐๐๐ °ฟ.) และอาจถึง ๒,๒๒๒,๒๐๔ องศาเซ็นติเกรด (๕๐ ล้าน °ฟ.) ภายในร่างกายของเขา ยิ่งกว่านั้นเปลวเพลิงอันฉานรุ่งโรจน์นี้ พุ่งออกไปในอวกาศนับแสนๆ ไมล์ ส่วนบรรดาพลังงานทั้งหลาย ผ่านอวกาศซึ่งมีความเยือกเย็นถึงลบ ๒๓๗ องศาเซ็นติเกรด (-๔๕๙ °ฟ.) ไปยังบริวารของเขา

นอกจากดาวพุธ ดาวศุกร ก็โลกเรานี่แหละที่อยู่ใกล้ชิดกับเขามาก การใกล้ชิดทำให้เราได้รับปัจจัยอันเป็นรากฐานของการมีชีวิตอยู่ของเรา เขาเป็นกุญแจสำคัญที่ทำความเข้าใจให้แก่เราในเรื่องของจักรวาล และเราเชื่อกันว่า เขาเป็นบิดาของดวงดาวทั้งหลายในกลุ่มของเรา เขาต้องรับผิดชอบในเรื่องชีวิตในโลกนี้และในโลกอื่น ๆ เขาเป็นระเบิดปรมาณูลูกหนึ่งซึ่งใหญ่กว่าโลกถึง ๑.๓ ล้านเท่า ในขนาดเช่นนี้นับว่าใหญ่กว่าบรรดาลูกหลานซึ่งประกอบด้วยดาวพระเคราะห์ใหญ่ ๙ พระเคราะห์น้อยนับ ๑๐๐ ดาวหางและผีพุ่งไต้นับ ๑๐๐๐ ซึ่งรวมกันเข้าแล้วก็ถึง ๘๐๐ เท่า เป็นศูนย์กลางแห่งพลังงานให้สุริยจักรวาลหมุนติ้ว ๆ ไปรอบ ๆ ด้วยระยะอันแตกต่างกัน

และเพราะน้ำหนักอันมหึมาของเขา บรรดาวัตถุทั้งหลายจึงเป็นเสมือนนักโทษที่อยู่ในอำนาจเขานับเป็นล้าน ๆ ปี บรรดาแสงสว่างและความร้อนที่มายังโลก มาด้วยเหตุผลของการระเบิดของปรมาณู ซึ่งเกิดเป็นนิจบนผิวมวลของเขาและสิ่งเหล่านี้แหละ เป็นสิ่งที่เอื้อชีวิต-สร้างชีวิต และให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปชั่วกัปชั่วกัลป์

เขาเป็นผู้ทรงความดีในการสร้างสรรค์ก็จริง แต่เขาก็เป็นผู้ทำลายล้างอันมหาพินาศซึ่งไม่มีใครจะเทียบเท่า เขาเป็นผู้ส่งพลังความร้อนมาเผาน้ำทุกแห่งในโลก ขึ้นไปบนฟากฟ้าในปีหนึ่งถึง ๔๘๐ ล้านตัน และปล่อยให้ถล่มลงมาบนโลก เพื่อการกสิกรรมและความพินาศในรูปของน้ำตกจากอากาศ ลูกเห็บ หิมะและน้ำจากพายุหมุน ไต้ฝุ่น ปีละหลาย ๆ ครั้ง

เขาเป็นเจ้าของจุดมอด หรือ ซันสปอต (Sunspot) ซึ่งสร้างพายุแม่เหล็กอันใหญ่ยิ่งในดินแดนของเขา และมีผลสะท้อนมาเป็นความวิปริตทั่วดินแดนแว่นฟ้าในโลก

เขาเป็นทั้งผู้สร้างและทำลาย

เขาคือใคร

เขาคือดวงอาทิตย์ ดวงดาวอันมหึมาดวงหนึ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวัน

นวนิยายเรื่องนี้จะนำท่านไปสู่การเดินทางที่จะไปยังดวงอาทิตย์ในระยะใกล้ ที่พอจะมองเห็นคลื่นอันโชติช่วง เกิดจากการลุกไหม้ของมวลก๊าซพุ่งแหวกออกจากผิวนับ ๑,๐๐๐ ไมล์ อันเป็นกาซซึ่งทำให้เกิดโคโรน่า๑๐ อันน่าอัศจรรย์และสะพรึงกลัว และพายุอันร้ายกาจดุจทอนาโดในบริเวณซันสปอต

แต่นั่นแหละ การที่จะสำรวจดวงอาทิตย์นี้ หากทำได้ก็จะต้องกินเวลานาน จนกว่าเวหาสยานของเราจะอยู่ในความสมบูรณ์ยิ่ง และไม่ใช่เป็นการง่ายนักที่เราจะสร้างเกราะหรือสิ่งห่อหุ้มที่ทำด้วยฉนวน อันสามารถทนทานต่อความร้อนแรงอย่างยิ่งได้

ดร. กรมัย ได้เดินออกจากเงามืด ซึ่งแฝงตัวอยู่อย่างช้า ๆ ตรงไปยังโดมใหญ่อันสว่างจ้าด้วยแสงไฟนับหมื่น ๆ แรงเทียน เขาเดินผ่านคนงานและช่างเทคนิคซึ่งกำลังทำงานอยู่อย่างวุ่นวาย เพื่อเปิดโดม จัดเครื่องใช้สำหรับ ‘เวหาสยาน’ ที่กำหนดจะออกเดินทางในวันรุ่งขึ้น

ยานรูปร่างประหลาดตั้งอยู่บนแท่น ซึ่งวางอยู่บนรางเหล็ก ๑๒ แถว กำลังเคลื่อนออกมานอกโดมอย่างช้า ๆ และตระหง่าน ฉนวนซึ่งฉาบด้วยอาลูมิเนียม ที่ใช้เป็นเครื่องห่อ หรือเกราะกันเวหาสยานนั้นดูเป็นเงาวับเมื่อเข้ากับแสงอาทิตย์ ฉนวนนี้สามารถป้องกันรังสีกัมมันตภาพได้ ป้องกันความร้อนจัด และความเยือกเย็นอย่างบ้าหลังในอวกาศได้เป็นอย่างดี เขาหยุดยืนดูในระยะห่าง จุดบุหรี่สูบและพ่นควันกรุ่นอย่างครุ่นคิดอยู่นานมาก จนกระทั่งได้ยินเสียงเคลื่อนไหวเบา ๆ เบื้องหลัง เมื่อเขาหันไปก็พบหญิงสาวร่างสะคราญยืนอยู่ เขารีบทักอย่างดีใจ

“ดึกแล้วคุณยังไม่กลับ”

“คุณพ่อยังไม่กลับนี่คะ”

เขาพึมพัมเบาๆ “คุณมาเงียบเหลือเกิน”

หญิงสาวผู้เป็นบุตรสาวคนใหญ่ของผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจเวหายิ้มเรียบๆ

“ดิฉันยืนอยู่นานแล้ว รู้สึกว่าคุณกำลังต้องการความสงบจึงไม่รบกวน คิดอะไรเพลินอยู่กระมังคะ”

“ครับ” ดร. กรมัยรับคำเบา ๆ

“คงคิดกลัวว่าจะไม่ได้กลับมา” หล่อนกล่าวสัพยอกเขาและยิ้มละไม

“มิได้” เขายิ้ม “ผมพิจารณาดู ‘เวหาสยาน’ ด้วยความไม่แน่ใจในความสมบูรณ์ แม้จะได้สร้างกันไว้อย่างพิเศษก็ตาม”

หญิงสาวมองดูเขา หล่อนขมวดคิ้วแสดงถึงการสงสัย เขาจึงกล่าวต่อ

“ผมเกรงว่า เราจะบกพร่องเกี่ยวกับการป้องกันรังสีคอสมิค รังสีอุลตราไวโอเล็ต ทั้งกัมมันตภาพรังสีและความร้อนแรง ถ้าเราเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มาก ๆ ผมยังพรั่นพรึง แม้กระจกพิเศษที่ใช้มองดวงอาทิตย์๑๑ โดยไม่ทำลายประสาทตา อานุภาพของปรมาณูอื่น ๆ ซึ่งพุ่งออกจากดวงอาทิตย์ทุกทิศทุกทาง ตลอดจนความโน้มถ่วงอย่างมากมาย ซึ่งจะต้องทำให้เราใช้อัตราเร็วแห่งการหนี (Escape velocity)๑๒ เพิ่มขึ้นอีกเป็นพิเศษ

“อันตรายยังมากอยู่นะคะ” หญิงสาวเสริมขึ้น เมื่อเขาพูดจบ “ดร. ยันตมันต์ไปด้วยไม่ใช่หรือคะ”

“ครับไปด้วย”

“การไปด้วยกันเช่นนี้ จะราบรื่นดีหรือ” หล่อนชำเลืองดูเขาเล็กน้อย

“ผมไม่อยากให้คำตอบ เพราะทุกอย่างแล้วแต่คณะกรรมการที่เลือกสรร ผมมีกังวล ๒ อย่างเท่านั้นขณะนี้”

หญิงสาวช้อนสายตาขึ้นมองเขา คล้ายจะรู้เท่าทันความคิดแต่แสร้งถามว่า

“อะไรบ้างคะ ที่กังวล”

ดร. กรมัย มองขึ้นไปบนท้องฟ้า

“อย่างหนึ่งนั้นคือ ความร้อนแรงของแสงอาทิตย์ ความร้อนไม่ใช่เป็นเพียงศัตรู ซึ่งมาจากดวงอาทิตย์ที่ผมกลัวอย่างเดียว ที่น่ากลัวกว่านั้น คือ สายธารของการส่งรังสีอุตราไวโอเล็ต กระแสอีเลคตรอนที่ผ่านอากาศมา เราเพียงใช้หลักการคำนวณเท่านั้น ผมจึงไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น หากเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์จริงๆ”

เขาดีดบุหรี่ทิ้งไปแล้วกล่าวว่า

“เพียงแต่พ้นโลก ๕๐๐ ไมล์ อุณหภูมิยังขึ้นถึง ๘๘๓ องศาเซ็นติเกรด (๑,๘๐๐ °ฟ) แล้ว ยิ่งใกล้ดวงอาทิตย์จะเป็นอย่างไรไม่รู้”

หญิงสาวชำเลืองมองเล็กน้อย

“เวหาสยานของเราทนความร้อนได้ดี เพราะมีเครื่องป้องกันเป็นพิเศษไม่ใช่หรือคะ”

“ชั้นนอกที่เป็นฉนวน ทนได้ราว ๓,๕๐๐ องศาเซ็นติเกรด ชั้นกลางมีช่องสูญญากาศ และชั้นในเป็นลำเวหาสยาน ทั้งนอกและในมีเครื่องปรับอุณหภูมิ”

“ก็เรียบร้อยแล้วนี่คะ” หญิงสาวยิ้ม “แล้วอีกอย่างหนึ่งละคะ”

ดร. กรมัยจ้องหน้า “นั่นคุณคงทราบดีแล้ว”

หญิงสาวหลบด้วยความเอียงอาย แสร้งพูดไปอีกทางหนึ่ง

“คุณพ่อไว้ใจคุณมาก”

“ผมอดขอบคุณท่านไม่ได้”

เขากล่าวแล้วชำเลืองมอง ซึ่งได้พบว่า หล่อนมองอยู่ก่อนแล้ว หล่อนหลบตามองไปทางอื่น

“ดิฉันไปละค่ะ ดร. ยันตมันต์ มาแล้ว ตอนเช้าหลังจากธุระเสร็จแล้ว ดิฉันจะไปรอที่ห้องดนตรี”

ดร. กรมัย ก้มศีรษะแล้วรับคำ ใบหน้าเขาอิ่มเอิบด้วยความปิติ

ฝูงชนล้นหลามมืดมัวไปทุกทิศทุกทาง นักหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้แทนทางวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ ได้หลั่งไหลกันมาไม่ขาดสาย เพื่อดูการออกเดินทางไปสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งแรก ดร. ยันต์มันต์ได้ให้หนังสือพิมพ์สัมภาษณ์ตลอดเวลา ในฐานะที่เขาทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์และภาพเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ ดร. กรมัย อยู่แต่ในเวหาสยาน เขาตรวจดูทุกสิ่งที่เกี่ยวกับเวหาสยาน และมีหน้าที่ๆจะนำไปถึงจุดหมาย โดยไม่สนใจในเหตุการณ์ใด ๆ แม้แต่สตรีสาวผู้ที่ตั้งใจมาส่งเขา

เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลา ฝูงชนเริ่มระทึกใจ และตื่นเต้น เมื่อได้เห็น ดร. ทั้งสองออกจาก ‘เวหาสยาน’ มาโบกมืออำลาอีกครั้งหนึ่ง

เวหาสยานพร้อมแล้วที่จะออก

“บัดนี้ ถึงเวลาแล้ว” เสียงจากเครื่องขยายเสียงดังก้องไปทั่วบริเวณ “ขอให้ประชาชนรีบออกจากบริเวณใกล้เคียงด่วน”

เวลา ๑๒.๐๐ น. ตรง เสียงตะโกน “นับ !”

เสียงนับดังก้อง “เก้า แปด เจ็ด หก ห้า สี่ สาม สอง หนึ่ง”

จังหวะของเสียงทำให้ทุกคนตื่นเต้นอย่างสุดขีด ในที่สุดเสียง “ซีโร่” ก็ดังขึ้น

พอขาดคำ “ซีโร่” เวหาสยานก็ส่งเสียงคำรามกึกก้อง แผ่นดินสั่นสะเทือนด้วยแรงผลักดันอันสูงของเชื้อเพลิง ซึ่งใช้ก่อนที่จะใช้เครื่องยนต์ปรมาณู แสงเพลิงแดงฉานระคนกับฝุ่นผงปลิวตลบ อย่างช้า ๆ เวหาสยานค่อย ๆ ลอยลำ และแวบเดียวหายลับไปบนฟากฟ้า เห็นแต่ทางยาวสีขาวไว้เบื้องหลัง มุ่งหน้าไปยังฐานพักเวหาสยานในดวงจันทร์ เพื่อกำหนดทางไปสำรวจดวงอาทิตย์ต่อไป

ความโชติช่วงอันเกิดจากเพลิงที่มีสีขาวนวลปนเหลืองดุจจานกลม ได้ลุกโรจน์อยู่เบื้องหน้าด้วยแสงอันแรงจ้าดุจจะทำให้ดวงตาแม้ของนกอินทรีย์แทบจะบอดไปด้วยแสงนั้น และท่ามกลางแสงแดงฉานนั้นยังมีเป็นจุดดำๆ ดุจเชื้อไวรัส ที่เกาะกินอยู่ตามใบยาสูบ บางตอนเป็นสีดำริ้วรอยฉีกขาดอันกะรุ่งกะริ่ง ในท่ามกลางโชติช่วงอันน่าสพึงกลัวนั้น ทั้งบางขณะ ธารของไฟเป็นลำวูบวาบพุ่งลอยขึ้นสู่อากาศ ดุจแลบเลียท้องฟ้า เป็นลำยาวถึงแสนไมล์ แล้วบิดตัวดัดงอเป็นเกลียว ขมวดมุ่นด้วยแสงอันเป็นประกายดุจเกล็ดงูอันมหึมา ที่สะบัดสะบิ้งตัวในยามเจ็บปวด

ผ่านหินเขี้ยวหนุมาน๑๓ ที่อาบด้วยน้ำยาเคมี ซึ่งทำให้ความเข้มของแสงสว่างที่เห็นจางลงอย่างมากมาย ชาย ๒ คนยืนมองดูแสงไฟดวงใหญ่อยู่ นัยน์ตาปิดด้วยแว่นสีใหญ่และหนัก ร่างกายสวมเพียงกางเกงขาสั้นตัวเดียว แม้ว่าสภาพที่อยู่ในปัจจุบันจะอยู่ในระบบการใช้ความเย็นอย่างสูงก็ตาม กระนั้นอุณหภูมิภายในเวหาสยานนั้นยังสูงถึง ๓๒.๒ องศาเซนติเกรด (๑๐๐ °ฟ.)

“ว่าอย่างไร” ดร. กรมัยกล่าว

ดร. ยันตมันต์กล่าวทั้ง ๆ ที่นัยน์ตากำลังจับจ้องที่เข็มบอกระยะความเร็ว ‘ไมล์ต่อวินาที’ ซึ่งกำลังชี้อยู่ที่เลข ๒๐๐

“เราอย่าพึ่งยอมจำนน” ขณะที่มีสิ่งซึ่งกำลังให้ความสนใจอยู่ เขากล่าวต่อไป “เราพึ่งเห็นได้จะแจ้งในครั้งนี้เองว่า การสลายตัวของปรมาณูที่ให้พลังงานนั้นเป็นอย่างไร อะไรจะบังเกิดขึ้นเมื่อทุก ๆ ๔๐๐ กรัม ของ ไฮโดรเจน เปลี่ยนเป็น ฮีเลียม และราว ๒-๓ กรัมของสสารเท่านั้นที่สูญหายไปในรูปของความร้อนและพลังงานอื่น การที่ดวงอาทิตย์ปล่อยพลังงานในขบวนการนี้เอง จึงทำให้รักษาอุณหภูมิไว้ได้เท่าเดิมไม่น้อยกว่า ๓๕ พันล้านปี และแน่ละ เมื่อผ่านไปอีก ๓๕ ล้านปีแล้ว มันจะดับมืดและเยือกเย็น แล้วจะเข้าชนกับดวงดาวอื่น ๆ หรือมิฉะนั้นก็อาจระเบิดอย่างรุนแรง เช่นดวงดาวอื่น ๆ ในจักรวาล หรือคุณว่าอย่างไร กรมัย”

ดร. กรมัย มองดูหน้าผู้พูดอย่างไม่สู้จะสนใจ เพราะเขามีสิ่งที่น่าสนใจกว่า เขาพูดกระแทกเสียงว่า

“ไม่ว่าอะไร สิ่งที่จะว่าอยู่ที่นั่น”

เขาพยักหน้าไปยังกลุ่มเพลิงอันมหึมา ซึ่งลอยฉานอยู่ข้างหน้า

“แสงและความร้อนที่เราได้รับจากดวงอาทิตย์ขณะนี้จัดมาก แม้แต่เหล็กก็แทบละลายอยู่แล้ว การที่จะนำเอาเวหาสยานของเราเข้าไปใกล้อีกนั้น อย่าหลงไปว่าเราอยู่บนผิวโลก๑๔ เราอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ถ้าใกล้มากเราอาจละลายวูบไปโดยไม่ทันรู้ตัว และที่สำคัญ อำนาจแม่เหล็กกำลังทวีมากขึ้น เราอาจถูกดูดเข้าไป นี่เป็นเรื่องที่เราต้องคิดก่อนอื่น”

ดร. ยันตมันต์นิ่งไม่ได้เอ่ยปากโต้เถียง ดร. กรมัยจึงกล่าวต่อไป

“เราไม่ได้ยอมแพ้ แต่เราอย่ารอจนกระทั่งเอาใจใส่ในสิ่งนั้นจนเกินไป เราเข้าไปใกล้มากแล้วในขณะนี้”

ดร. ยันตมันต์เพียงกล่าวว่า “ยังคงมากกว่า ๒๓ ล้านไมล์ เราจะเข้าไปให้ถึง ๑๘ ล้านไมล์ไม่ได้หรือ”

“ได้น่าคงได้ เพราะเท่าที่เราคำนวณกัน ฉนวนที่หุ้มเวหาสยานเราอาจป้องกันเราจากแสงอาทิตย์ได้ในระยะ ๑๕ ล้านไมล์ แต่กระนั้นก็อย่าพึงมั่นใจนัก เราอาจมีส่วนอื่นๆ ที่ต้องคิดอีก เกี่ยวกับการโน้มถ่วงของสุริยะ”

“เราคงยังเข้าไปไม่ถึง ระยะของความโน้มถ่วงที่ จะ---”

ดร. กรมัยขัดขึ้น

“ดูที่เครื่องตรวจความโน้มถ่วง นั้น แล้วจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้เรากำลังเริ่มถูกแสงนั้นแล้ว ถ้าเข้าไปใกล้จะมีโอกาสถูกดูดหายเข้าไป มากกว่าจะได้กลับออกมา แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ไม่ใช่ดวงจันทร์ ซึ่งใช้ความเร็วของเวหาสยานเพียง ๑.๕ ไมล์ต่อวินาที่ก็อาจพ้น เพียงแต่โลกซึ่งเล็กกว่าดวงอาทิตย์นับล้านเท่า เรายังต้องใช้ เอสเคป เวโลซิตี้ ถึง ๗.๑ ไมล์ต่อวินาที”

“จะมากมายสักเพียงใด เราก็เริ่ม เอสเคปเวโลซิตี้ เข้าไป เมื่อเราระวังถึงเพียงนี้ จะถูกดูดเข้าไปกระนั้นหรือ”

ดร. กรมัย มองดูผู้ร่วมงานอย่างไม่พอใจ และการไม่พอใจไม่ใช่พึ่งมีในขณะนี้ การระหองระแหงได้มีมานานแล้ว ก่อนที่จะออกมาสำรวจดวงอาทิตย์เสียอีก การโต้แย้งและความเห็นที่ขัดกันหลายครั้งหวิดทำให้บุคคลทั้งสองต้องหักล้างกัน แต่ว่า เท่าที่เข้าร่วมงานกันได้เช่นนี้ก็เพราะความเชี่ยวชาญที่มีอยู่คนละแบบ ต้องประสานกันด้วยความเห็นชอบของบรรดาผู้นำทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตาม ดร. กรมัย มักสะกดใจต่อคำหนัก ๆ และเชิงดูหมิ่นอยู่เสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เขากล่าวต่อไป “เราควรวิ่งวนอยู่ในฐานะบริวารดวงหนึ่งไปรอบๆ ดวงอาทิตย์จะเหมาะกว่า การที่เราเชื่อใจฉนวนก็ถูก แต่เราไม่ควรลืมว่า เรากำลังเล่นอยู่กับสิ่งที่มีความเร้นลับ เล่นอยู่กับรังสีต่าง ๆ ซึ่งบางอย่างเราอาจไม่เคยพบมาก่อน อาจมีสิ่งอัศจรรย์อื่น ๆ อีก การที่เข้าไปในระยะ ๑๕ ล้านไมล์ แล้วเพิ่มความเร็วของเรานั้น ถ้าพลาดก็หมายว่า ทุกสิ่งพินาศหมด ชีวิตเราถูกเผาด้วยดวงอาทิตย์ไม่สำคัญ แต่ความเร้นลับที่โลกกำลังรอฟังผลจากเรานี่แหละ ทำให้เราต้องสงวนทุกอย่าง แม้แต่ตัวเราเอง เราอาจมีงานอื่นต้องทำอีก”

ดร. ยันตมันต์ พูดขึ้นอย่างเยาะเย้ย “แต่ เราก็ควรไปให้ไกล ดีกว่ากลับไปอย่างขี้ขลาด”

ดร. กรมัย หันไปยังผู้พูดอย่างรวดเร็ว

“ไม่ใช่ขลาด ถ้าขลาดคงไม่มา การไม่ประมาทของเราเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังที่จะเดินทางมา ถ้าไม่หลุดเข้าไปในวงดูดได้น่ะแหละดี ถ้ามีสิ่งใดผิดพลาดเพียงนิดเดียวเราจะไม่ได้คืนกลับโลกเด็ดขาด”

ดร. ยันตมันต์ไม่ตอบ เขามองดูทางกลุ่มที่ส่งแสงสดอย่างบาดตา ซึ่งใหญ่ขึ้นทุกขณะ รังสีเต็มไปด้วยความเข้มอย่างน่ากลัว ซันสปอต ซึ่งเห็นดำมืดเป็นโพลงลึกเข้าไปจากชั้นผิวของก๊าซที่ลุกร้อนเป็นเปลวขาว และจากรอยลึกนั้น มีกลุ่มก๊าซพุ่งวาบขึ้นเป็นลูก ๆ ดูประหนึ่งพรายน้ำที่ลอยขึ้นสู่ผิวของน้ำเดือด อนุภาคจำนวนมากมายได้ถูกยิงขึ้นสู่อากาศ ซึ่งอนุภาคเหล่านี้แหละเมื่อมากระทบเข้ากับบรรยากาศของโลก ทำให้วิทยุและไฟฟ้าในโลกปั่นป่วน ทำให้เกิดแสงเหนือแสงใต้ที่ขั้วโลก และยิ่งกว่านั้นยังทำให้อากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ดร. ยันตมันต์ เปรยขึ้นว่า

“เราเคยลังเลต่อการเชื่อถือว่า ดวงอาทิตย์เป็นมวลก๊าซที่ลุกไหม้ แต่บัดนี้ การเห็นด้วยตาในระยะใกล้ชิดเช่นนี้ ทำให้เรามั่นใจว่าทฤษฎีนั้นถูกต้อง ดวงอาทิตย์ไม่ใช่มวลของแข็ง แต่เป็นโลกมหึมาของก๊าซอันร้อนจัด ซึ่งความร้อนนั้นเพียงพอสำหรับละลายหิน หรือแร่ธาตุทุกชนิดให้เปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซได้ทันที”

ดร. กรมัย นิ่งเงียบคล้ายไม่เอาใจใส่ แต่เมื่อได้ยินเขาพูดถึงการแปลงสภาพเป็นก๊าซตอนท้าย เขาจึงโพล่งขึ้น

“นั่นซี เราควรจะหวั่นไว้บ้าง ถ้าสภาพฉนวนของเราไม่อาจทนทานได้ในระยะที่คำนวณไว้นั้น หรืออาจพบกับกลุ่มไฟที่วูบพุ่งออกมา เราจะหายกันไปหมดในชั่วพริบตา”

การพูดของ ดร. กรมัย ทำให้ ดร. ยันตมันต์ เงียบไปอีก

ดวงอาทิตย์ใหญ่ขึ้นทุกขณะ ความโชติช่วงที่เต็มไปด้วยความน่าสะพรึงกลัวเช่นนั้น ทำให้บุคคลทั้งสองชำเลืองดูได้เพียงครั้งละ ๒-๓ นาทีเท่านั้น ซึ่งแม้จะมองผ่านแว่นตาหนาดำสนิท และผ่านหินเขี้ยวหนุมาน ที่ฉาบน้ำเอาไว้ กระนั้นก็ยังรู้สึกเคืองตาอย่างรุนแรง

ความเด่นของสุริยะ คือ มวลที่เต็มไปด้วยความรุ่งโรจน์ของก๊าซที่ลุกพุ่งออกมาจากใจกลาง บางครั้งเป็นลำแสงยาวหมุนเป็นเกลียวดุจทอนาโด เวหาสยานคงผ่านไปเรื่อย ๆ ในระยะ ๑๖ ล้านไมล์ และวิ่งเป็นทางโค้งยาวเป็นวงรีรูปไข่ เช่นเดียวกับทางโคจรของดาวหาง เพราะการวิ่งทางโค้งแบบนี้ ทำให้เวหาสยานไม่ตกเป็นเหยื่อของความโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์อย่างจัง ๆ และต้องเคลื่อนด้วยความเร็วกว่า ๖๕๐ ไมล์ต่อวินาที เครื่องยนตร์ปรมาณูทำหน้าที่ดีที่สุดในระยะนี้

อุณหภูมิภายในเวหาสยาน เริ่มขึ้นถึง ๔๕ องศาเซ็นติเกรด (๑๑๐ °ฟ.) บุคคลทั้งสองได้เปิดพัดลม และระบายความเย็นในหอบังคับการมากขึ้น กระนั้นก็ยังไม่ผาสุข

ดร. ยันตมันต์ มองดูเทอร์โมมิเตอร์ แล้วพูดว่า

“ความร้อนเป็นศัตรูสำคัญของเรา แต่ก็ไม่ทำให้เราเกรงกลัว เราระวังเพียงว่า ให้สมองยังคงสั่งงานได้ไม่ให้เวหาสยานเข้าไปสู่ระยะอันตรายของแรงดูดก็พอแล้ว ขณะนี้เราอยู่ในระยะ ๑๕ ล้านไมล์กว่าแล้ว ไม่เห็นมีสิ่งน่ากลัวใดๆ เกิดขึ้น นอกจากความร้อนอย่างบ้าหลัง”

ดร.กรมัยไม่ได้กล่าวโต้แย้งหรือหลุดคำใด ๆ ออกมา เขาจ้องไปเบื้องหน้าอย่างสนใจ เพียง ๒-๓ นาทีน้ำตาก็ไหล เขาหลับตาบีบน้ำตาให้ไหลออกจากเบ้าเช็ดแล้วเพ่งดูใหม่ ด้วยท่าทางอันตื่นตระหนก ดวงหน้าเป็นรอยริ้วแห่งความฉงนระคนสะพึงกลัว

ท่าทางของเขา ทำให้ ดร. ยันตมันต์สงสัยถามขึ้น “อะไร”

เป็นนาน ดร.กรมัย จึงพูดขึ้น “นั่นมันมีอะไร”

“มีอะไรเกิดขึ้นหรือ”

“ไม่รู้ มันมีอะไรเกิดขึ้น หรือว่า ไม่ใช่ เพราะนั่นอาจเป็นบางสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจหรือมองเห็นไม่ถนัด”

เขาทรุดตัวลงนั่งฟุบหน้า ซ่อนดวงตาหลบจากแสงฉานนั้นแล้วพึมพัม

“มีอะไรผิดแปลกขึ้นกับตา”

“ตาเราไม่ได้หลอกหรือ” ดร.ยันตมันต์ ยังถามรวนๆ อยู่

“สังเกตอะไรไม่เห็นบ้างดอกหรือ” ดร. กรมัยกล่าว แล้ว ดร. ยันตมันต์ก็กล่าวต่อไปว่า

“หมายความว่า เมฆสีแดงระหว่างดวงอาทิตย์กับเราใช่ไหม”

“นั่นแหละ รู้ไหมว่าทำด้วยอะไร”

ดร.ยันตมันต์ นิ่งสักครู่ “มันต้องเป็นมวลของก๊าซที่ร้อนจัด”

ดร. กรมัย จับแว่นตาหนาเตอะใส่ จ้องมองดูอีกครั้งหนึ่ง เขาจ้องดูจนกระทั่งดวงตาไม่อาจสู้กับความเคร่งเครียดได้ รังสีอันโชติช่วงร้ายแรงทำให้หลายสิ่งมัว และในระยะอันไม่แน่นอนระยะหนึ่งนั่นเอง เขาได้พบมวลของเนบิวล่า๑๕ใหญ่ได้ก่อรูปขึ้น สีแดงอันร้อนระอุปะทะเข้ากับความรุ่งโรจน์ของแสงเหลืองนวล ได้เกิดการปั่นป่วนไม่มากไปกว่าจะอธิบายกันว่า เป็นการระเบิดของก๊าซร้อน แต่ ดร. กรมัย ยังไม่เชื่อเช่นนั้นนัก

สิ่งหนึ่ง ไม่อาจกำหนดได้ว่าอะไร สิ่งนั้นเขาทั้งสองได้มองเห็น กำลังร่อนขึ้น ถลาไปมาราวกับว่าว มีการเคลื่อนไหวอย่างพร้อมมูล จริงอยู่การหมุนตัวของก๊าซอาจเป็นเช่นนั้น แต่ทว่ามีสิ่งหนึ่ง และอย่างหนึ่งเท่านั้นที่เขาทั้งสองไม่อาจจำกัดความคิดที่จะคิดว่าเป็นเมฆได้

แต่มันก็อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นเมฆซึ่งไกลออกไปนอกเหนือบรรยากาศของดวงอาทิตย์ !

มันอาจเป็นเมฆที่แตกแยกหลุดมาจากชั้น โฟโตสเฟียร ของสุริยะที่หนาแน่นไปด้วยเมฆเช่นนั้น เมฆที่เรียกว่า ฮอคคูลิ (Hoccueli) ซึ่งเป็นไอของธาตุคัลเซียมและมีสีแดงฉาน

มันอาจเป็นกลุ่มก๊าซเย็นที่พุ่งผ่านชั้น โครโมสเฟียร และมาเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน ในชั้นอันร้อนแรงก็ได้ เพราะมันมีสภาพเหมือนเปลวเพลิงที่ขมวดมุ่น เหมือนพรายน้ำอันพุ่งปุดๆลอยมาจากใต้น้ำ

มโนภาพของเขา มองไปในทางที่เป็นไอ ไอทั้งหลายประกอบเป็นรูปต่าง ๆ ที่พ่นเข้าพ่นออกคล้ายโลหิตที่ฉีดเข้าออกจากหัวใจ แต่มโนภาพนั้นตรงกับความจริงที่หมอกแดงฉานนั้นเป็นสายธาร ดุจร่างงูยักษ์ที่สลัดกวัดแกว่งตัวจำนวนนับพันที่พุ่งออกมาทุกทิศทุกทาง และยิ่งกว่านั้น ได้เปลี่ยนเป็นรูปริ้วแปลก ๆ ต่าง ๆ กันไป

บุคคลทั้งสองกำลังอยู่ในสภาพอันสนเท่ห์และตื่นเต้น

มันเป็นความจริงหรือที่สิ่งเหล่านี้จะเป็นสัตว์ในเทพนิยาย ดังมังกรของชนชาติจีน หรือเช่นสัตว์มหัศจรรย์ของชาวกรีก !

มันเป็นความจริงหรือ บรรดาสิ่งที่มีรูปร่างเหล่านั้น จะเป็นก๊าซที่เป็นกลุ่มก้อน ถูกทำให้เป็นรูปร่างเช่นนั้นด้วยพลังพลังหนึ่ง !

“ประหลาดจริง” ดร. กรมัย กล่าวหลังจากบีบน้ำตาไหลออกมา “มันกำลังเปลี่ยนสี ! บางชนิดกำลังเป็นสีเขียว บางอย่างสีทองปนเหลือง และมีอันหนึ่งเป็นรูปสีม่วง”

ดร. ยันตมันต์พูดว่า “คุณกำลังได้รับความวุ่นวายจากความคดเคี้ยวของอากาศที่แสงผ่านมามากเกินไป”

“ฟังนี่” เขากล่าวต่อ “นอนเสียดีกว่า พักผ่อนสักครู่ ถ้าคุณตั้งใจจะดูจริง ทั้งแสงและความร้อนจะทำลายสมองคุณสิ้น”

แต่ ดร. กรมัย ยังหลับตาพูดต่อ

“สัญญาณผมวิปลาศรึ เป็นไปได้หรือ ผมเคยพบกับสิ่งมหัศจรรย์และสยดสยองมาไม่น้อย ด้วยสัมปชัญญะสมบูรณ์และดียิ่งทุกครั้ง ผมยังไม่เพ้อ ยังไม่ขาดสติ แต่ในรูปที่ปรากฏนั้น ผมบอกจริง ๆ ไม่เคยเห็นแสงชนิดใดสดใสเท่าสิ่งนี้ และแปลกที่มีสีได้หลายอย่างแม้แต่สีเขียวมรกต แดงทับทิม ขาวสุกใสและเหลืองอ่อน” เขากล่าวแล้วหันกลับไปยังกระจกม่านอีกครั้งหนึ่ง

“เอ๊ะ ทำไมมันรวดเร็วเช่นนั้น นั้นเคลื่อนด้วยความเร็วกว่า ๑,๐๐๐ ไมล์ต่อวินาที ดูซี ดูรูปร่างดุจวงกลมนั่น มันต้องการล้อมเรา แน่แล้ว มันต้องเป็นศัตรูที่แปรปรวนได้”

การที่ ดร. กรมัย กล่าวยืนยัน และตื่นตระหนกเช่นนี้ ทำให้ ดร.ยันตมันต์เริ่มสนใจในภาพนั้นอย่างจริงจัง

บุคคลทั้งสองได้จ้องดูอย่างตั้งใจ ไม่ยอมเว้นสายตา และใน ๑ นาทีต่อมา ใบหน้าทั้งสองคนเริ่มซีดเซียวริมฝีปากสั่นระริก กระวนกระวายทั้งหวาดหวั่น แสดงอาการสยดสยองสะพึงกลัว ดุจเดียวกับได้ผจญหน้ากับปีศาจมหัศจรรย์ ดร. ยันตมันต์ได้เปล่งเสียงตะโกน

“ดูซิ มันเข้ามาใกล้แล้ว แต่ละอันของมันใหญ่เท่าภูเขาใหญ่เท่าเมือง!”

เป็นความจริง รูปที่ก่อขึ้นอย่างอัศจรรย์แต่ละรูปดูเหมือนจะคลุมเวหาสยานได้เช่นตาข่ายดักปลา และแต่ละรูปทยอยกันมุ่งขึ้นสูงเป็นวงกลมอย่างรวดเร็ว ขณะที่มันใกล้เข้ามา

ภาพนั้นคืออะไร

มันอาจเป็นมนุษย์มหัศจรรย์ อาจเป็นสัตว์มหัศจรรย์ หรืออาจเป็นตัวชีวิต ซึ่งก่อรูปจากบรรยากาศ หรือ ‘มนุษย์ก๊าซ’ เพราะในกลุ่ม ‘มนุษย์ก๊าซ’ อันมหัศจรรย์นั้น มีรูปร่างแปลก ๆ และการเคลื่อนไหวดุจเคลื่อนไปภายใต้การแนะนำของสิ่งที่มีปัญญา เป็นการเคลื่อนที่มีระเบียบ มีแผนการ มีการควบคุมดุจหมวดหมู่ ทั้งรูปร่างก็มีพิกลประหลาดและหนาแน่นมากมาย บางรูปเหมือนปลาหมึกยักษ์ที่มีร่างโปร่งแสง บางรูปดุจแมงกระพรุนที่ว่ายแหวกไปในอวกาศ และรูปอื่น ๆ มากมาย แต่สิ่งที่น่าพิศวงรูปหนึ่งคือ รูปเหมือนแมลงมุมยักษ์ที่ไต่ไปตามสายใยมหึมา ที่สร้างด้วยเกลียวเพลิงและม้วนไอ

“มันเหมือนสิ่งที่มีชีวิต” กรมัยกล่าวกระท่อนกระแท่น

“อาจจริง” ดร. ยันตมันต์กล่าว “สิ่งมีชีวิตมีความนึกคิด ซึ่งอาศัยอยู่ในอวกาศ อาศัยอยู่ที่ดวงอาทิตย์ ดุจมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลก เป็นชีวิต เหมือนชีวิตทั้งหลายในรูปแปลกประหลาดและแตกต่างกัน และนี่สิ่งต่อไป คุณเชื่อในเรื่องเทวดาไหม”

ดร. กรมัย หยิบผ้าเช็ดเหงื่อที่ไหลออกจากผิวกาย

“อาจมี แต่ถ้าพูดก็ถูกหัวเราะ ทำอะไรไม่ได้นอกจากถูกเยาะเย้ยถ้าเราจะกล่าว เพราะว่า เราไม่อาจให้เหตุผลแก่เขาได้ และเป็นไปได้หรือในปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิต ด้วยความแตกต่างทางเคมี อาจทำให้มีชีวิตอยู่ในอวกาศได้ ทำไมเล่าจึงมีรูปเป็นไอ และอยู่ได้ในความร้อนนับพัน ๆ องศา มันเป็นการโง่จริงๆ ที่เราจะคิดว่า สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในจักรวาล จะต้องมีสภาพเช่นเดียวกับอาศัยอยู่ในโลก ‘มนุษย์ก๊าซ’ เหล่านี้ อาจมีสติปัญญาในตัวตามธรรมชาติของเขาเช่นเดียวกับเราเหมือนกัน”

“บางทีอาจเฉลียวฉลาดกว่า ดังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้” ดร. ยันตมันต์ว่า “แต่อย่างไรก็ตาม กล้องถ่ายภาพได้ทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ และคงนำผลไปโต้แย้งกับชาวโลกผู้ที่ไม่เชื่อในเหตุผลของเราก็ได้ อา ‘มนุษย์ก๊าซ’ ชาวสวรรค์ พวกสุริยะเทพ”

ดร. กรมัย ชำเลืองมองดูผู้ร่วมงานกับเขาแวบเดียว

“อาจจะจริง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งประหลาดเหล่านี้กำลังเคลื่อนที่เข้ามาอย่างรวดเร็วและน่ากลัว”

ภาพประหลาด ยังคงโบกกระพือ และโฉบฉาบอย่างน่าขนลุกขนพอง บางรูปส่องแสงริบหรี่ แวบๆ วาบ ๆ แต่บางรูปยืดตัวแผดสีและแสงกระจ่าง มีสีต่างๆ ขาวน้ำเงินจนถึงแดงแจ๊ด ได้ถูกลากมารวมกันในสภาพอันแน่นหนา

ตัวใหญ่ที่สุด รูปเหมือนแมงมุมสีแดงฉานดุจเพลิงน่ากลัว กำลังเคลื่อนเข้ามาใกล้ เหมือนรูปปิรามิดใหญ่ทำทีท่าถอยหน้าถอยหลัง

แต่ครู่เดียว มีสายสีแดงฉานผ่านมายังเวหาสยานอย่างรวดเร็ว บุคคลทั้งสองรู้สึกว่าสะท้านไปทั้งตัว เพราะเวหาสยานสะเทือน พร้อมกับมีเสียงผ่านจรวดเข้ามา

“อะไร” ดร. ยันตมันต์ร้องอย่างตื่นเต้น “เสียงเข้ามาได้อย่างไร” จากด้านนอกเขาได้ยินเสียงสนั่นผ่านเข้ามาอีก และเวลาเดียวกันคลื่นความร้อนได้ทวีขึ้น ดร. กรมัย มองดูเทอร์โมมิเตอร์

“ดูนั่น” เขาร้องดัง “ทั้งที่เรามีฉนวนป้องกันและระบายความเย็น แต่ความร้อนยังทวีขึ้นตามลำดับ”

ดร. ยันตมันต์ มองไปแล้วพึมพำ “๔๗ องศาเซ็นติเกรด (๑๑๒ °ฟ.) ใกล้จะถึงขีดที่ร่างกายมนุษย์จะทนทานได้แล้ว”

ขณะนั้น ภาพของแสงผู้เป็นศัตรูอันมหัศจรรย์พุ่งเข้าใส่อีก มันเป็นเมฆเพลิงสีเหลืองจัดในรูปอันมหึมา และอีกครั้งเขาได้ยินเสียงสะท้าน และคลื่นความร้อนได้เพิ่มขึ้นอย่างหนัก ด้วยสายตาอันหวาดหวั่น ดร. ยันตมันต์เหลือบไปดูเทอร์โมมิเทอร์ แล้วว่า “๔๙ องศาเซ็นติเกรดแล้ว (๑๑๙ °ฟ.)” และเป็นเวลาเดียวกันที่ ดร. กรมัยได้ร้องขึ้น

“หอสังเกตการณ์ นั่น ! กำลังละลาย แก้วควอตซ์กำลังละลาย !”

เป็นความจริงควอตซ์ที่ใช้เป็นกระจกกั้นแสงนั้น ผิวหน้ากำลังละลายตัว บุคคลทั้งสองมองดูใบหน้าซึ่งกันและกัน ไม่มีใครจะบอกได้ว่าจะมีอะไรบังเกิดขึ้น ทั้งสองรู้ดีว่า ควอตซ์ที่จะละลายตัวได้ต้องใช้อุณหภูมิถึง ๑,๗๑๐ องศาเซ็นติเกรด (๓,๑๑๐ °ฟ.) ถ้าอย่างนั้นภาพมหัศจรรย์นั้นสามารถส่งรังสีที่มีความร้อนได้เหมือนเตาอันมหึมากว่า ๑,๖๔๙ องศาเซนติเกรด (๓,๐๐๐ °ฟ.) ถ้าเช่นนั้นอะไรเล่าจะกีดกันสิ่งนั้นได้ แม้แต่ฉนวนที่หุ้มห่อเวหาสยาน

ในยามคับขัน ทั้งสองคนได้ตัดสินใจร่วมกันอย่างฉับไว โดยเปลี่ยนวิถีทางเดินให้ห่างออกจากดวงอาทิตย์ให้มากที่สุด และเร็วที่สุด การเปลี่ยนทางอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ทำให้เขาแลเห็นว่า บรรดาศัตรูของเขาถอยห่างออกไป อุณหภูมิในเวหาสยานตกลงไป ๒-๓ องศา ดร. กรมัยถอนใจอย่างโล่งอก แต่ว่าก่อนที่เขาเข้าใจว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ก็เกิดเหตุการณ์พิเศษขึ้นอีก ซึ่งสร้างความตื่นเต้นอย่างยิ่ง แก่เขาทั้งสอง

กลุ่มที่มีสีขนาดมหึมา ๓ กลุ่ม ได้เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน แต่ละกลุ่มพุ่งเข้าใส่แต่ละด้านของเวหาสยานเป็นรูป สามเหลี่ยมเหมือนห่านป่าที่โผเข้าสู่ท้องฟ้า แลดูเหมือนจะอยู่ในบังคับบัญชาของสีแดงเพลิง ในรูปอันมีสภาพเหมือนแมงมุม และขณะเดียวกันนั้น ก็ปรากฏกลุ่มเพลิงฉานอีก ๒ แห่ง แต่ละแห่งมีสภาพเหมือนตัวอมีบายักษ์

“สิ่งมหัศจรรย์นั้น มีชีวิตจริง” ดร. กรมัย พูดด้วยความรู้สึกพรั่นพรึงในรูปสามเหลี่ยมที่ก่อขึ้นนั้น ส่วน ดร. ยันตมันต์ ปากอ้ากว้างและหุบลงโดยปราศจากคำพูด และขณะนี้เขาจ้องดูสิ่งนั้นคล้ายเด็กที่มองดูสิ่งประหลาด

“มันไม่ใช่เพียงเป็นสิ่งมีชีวิตเท่านั้น ยังเป็นปีศาจที่มีชีวิต ดูนั่น” ยันตมันต์ชี้มือไปยังกลุ่มเพลิงใหญ่กลุ่มหนึ่ง

จากกลุ่มหนึ่งในกลุ่มเหล่านั้น เขาได้เห็นแสงสีน้ำเงินแลบออก ๓ ครั้งอย่างรวดเร็ว เกือบเวลาเดียวกันกลุ่มที่สองก็มีแสงสีเหลืองแลบ ๓ หน กลุ่มที่สามรับด้วยแสงสีเขียว

“ผีสาง” ดร. ยันตมันต์กระซิบ “นั่นมันใช้ระบบสัญญาณ” เขายังไม่ทันกล่าวต่อ ก็มีรังสีประหลาดพุ่งออกมาเป็นสายธารจากกลุ่มเหล่านั้น ประสานกันสะกัดกั้นเวหาสยาน

“เราไม่มีโอกาสแล้ว” ดร. ยันตมันต์ร้องลั่น มันไม่ให้โอกาส มันกำลังล้อมเรา มีความเร็วกว่าเรา แม้จะเคลื่อนเร็วที่สุดก็ตาม” ดร. กรมัย เร่งเวหาสยานขึ้นสู่ระดับสูง แต่ขณะนั้นเอง ก็มีแสงใหม่ประจบกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเวหาสยานไม่มีทางจะหลีกได้ในระยะกระชั้นชิดเช่นนั้น จำเป็นต้องผ่านเข้าไปในสามเหลี่ยมนั้น ทันใดทุก ๆ ด้านมีเสียงกระทบครืดคราดซึ่งมีท่าทีไม่ดี เวหาสยานหนาถึง ๒ ชั้น ชั้นกลางเป็นสูญญากาศ ทำไมเสียงนั้นจึงผ่านเข้ามาได้ เขาดูเครื่องตรวจเอสเคป เวโลซิตี้ ลดลงจากเดิมที่เขาเร่งไว้อย่างฉับไว ลำเวหาสยานได้รับความต้านทานอย่างหนักจากแสงนั้น ทำให้ความเร็วลดลง เหมือนเรือที่เข็นไปบนโคลน และการที่ความเร็วลดลงนี้ จะทำให้ถูกความโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้น

เวหาสยานกำลังถูกดูดเข้าไปสู่ดวงอาทิตย์ !

อย่างช้า ๆ อุณหภูมิในห้องสูงขึ้น ๔๘ องศาเซ็นติเกรด ๔๘.๕-๔๙ องศาเซ็นติเกรด ชาวโลกทั้งสองยิ่งทุรนทุรายยิ่งขึ้น เพราะอยู่ในภาวะอันร้อนระอุเหมือนอยู่ในเตาอบ

ดร.ยันตมันต์ตะโกนร้อง “เรากำลังถูกย่างทั้งเป็น!”

แล้วร่างของเขาก็โซเซไปเกาะเครื่องทำความเย็น สับสวิตช์ปล่อยความเย็นสูงสุด แล้วทรุดตัวลงนั่งฟุบกับเครื่องนั้น

ดร. กรมัย แม้จะตื่นตระหนก ก็พยายามบังคับเวหาสยานให้แหวกจากวงล้อม หลบทางโน้น หลีกทางนี้ แต่ก็ไม่อาจลอดพ้นไปได้ เพราะไม่ว่าจะเชิดขึ้น ดำดิ่งไปทางไหน ความเร็วสูงสุดเพียงใด เวหาสยานจะต้องพบกับกลุ่มเพลิงที่วูบวาบออกสะกัดกั้น บางครั้งก็โหมขึ้นอย่างรุนแรง บางคราวก็มีเพียงจุดแสงพอสังเกตเห็น และยิ่งหนาแน่นขึ้นทุกที ยิ่งกว่านั้นมองไปลิบเบื้องหน้ายังปรากฏเป็นกลุ่มเพลิงซึ่งสลับซับซ้อนเป็นสีต่าง ๆ แผ่ยืดไปสุดลิบ ดุจเดียวกับกองทัพอันมหึมาที่เตรียมไว้สำหรับปะทะกับข้าศึก ไม่ผิดอะไรกัน กลุ่มเมฆที่แผ่สร้านเต็มฟากฟ้า เวหาสยานพุ่งผ่านพร้อมกับการโคลงตัวและเสียงกระทบดูคล้ายกับเรือได้วิ่งไปชนกระแสคลื่นมหึมาในมหาสมุทร

เขามองดูคลื่นของ ‘มนุษย์ก๊าซ’ อย่างตื่นตระหนก และหมดปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงไปทางใด เพราะท้องฟ้าขณะนั้นเต็มทุ่งเวหาไปหมด ทั้งมีรูปประหลาด ๆ ซึ่งน่าสะพรึงกลัวที่สุด

เขาร้องบอก ดร. ยันตมันต์

“เราถูกโจมตีทุก ๆ ด้านอย่างพร้อมเพรียง จะทำอย่างไร แม้สวรรค์ก็ไม่อาจช่วยได้ในขณะนี้”

เวหาสยานยิ่งโคลงและสั่น เสียงกระทบยิ่งหนาแน่นขึ้น เขาตะโกนบอกอีก

“เรากำลังถูกเหวี่ยงไปรอบๆ ดวงอาทิตย์ ด้วยความเร็วอันสูงสุด”

“ยันตมันต์ เราจะแก้ไขอย่างไร พยายามลุกขึ้นมานี่”

เปล่า ดร. ยันตมันต์ไม่ได้ลุกขึ้น เขาฟุบลงอย่างทุรนทุราย ไร้สติเพราะความอบอ้าวและร้อนรน เครื่องทำความเย็นไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์ อุณหภูมิค่อยทวีขึ้น ดร. กรมัย มองไปที่ผู้ร่วมงานของเขาอีกครั้ง เห็นแว่นตาอันหนาเตอะหลุดตกลงบนพื้น มีแต่ทรวงอกที่ท่วมท้นไปด้วยหยาดเหงื่อไหลเยิ้มเท่านั้นที่ยังกระเพื่อมขึ้นลงแสดงว่ายังหายใจอยู่ เขาหันมองเทอร์โมมิเตอร์อีกครั้งแล้วพึมพัมว่า

“๕๐ องศาเซ็นติเกรด ๕๐ องศาเซ็นติเกรด เรากำลังอยู่ในกองไฟ กองไฟที่ร้อนแรง”

อย่างไรก็ตาม เขายังคุมสติและอดกลั้นอย่างยิ่งอยู่ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองอยู่ในฐานะเป็นตายเท่ากัน เขามองลอดออกไป เห็นก้อนเพลิงก่อหวอดไพศาลออกไปทุก ๆ แห่ง และไม่มีวันจะสิ้นสุด นั่นหมายถึงวาระสุดท้ายของเวหาสยานของเขาค่อย ๆ ละลายไป ดุจเกี่ยวกับผิวด้านนอกของควอตซ์ซึ่งกำลังไหลเยิ้มเป็นทาง และแน่ละการผ่านไปในกลุ่ม ‘มนุษย์ก๊าซ’ ซึ่งพร้อมจะเผาเขานั้น ไม่มีข้อน่าสงสัยเลยว่า จะเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางอื่นจะเลือก ไม่มีทางรอดพอจะเล็ดลอดหลบหนีคลื่นของ ‘มนุษย์’ ที่เกิดขึ้นและเคลื่อนเข้ามาหาเวหาสยานทุกหนทุกแห่ง เขาหันกลับมาทางเครื่องส่งวิทยุ และนึกในใจว่า แม้ตัวจะสิ้นชีวิต แต่ก็จะใช้สิ่งที่เขาใช้โอกาสสุดท้าย มันอาจเป็นประโยชน์แก่งานที่สุด ที่เขามาเพื่อบอกโลก เพื่อไม่ให้ส่งคนใดคนหนึ่งมายังสถานที่ซึ่งอบมนุษย์นี้อีก ความตายเท่านั้น ถ้าใครย่างเข้ามา!

เสียงกระแทกดังหนักขึ้น อุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งไม่อยากจะชำเลืองมองอีกแล้ว เมื่อมองไปเบื้องหน้าเขายังเห็นสามกลุ่มใหญ่ เสมือนแม่ทัพทั้งสามพ่นแสงยาวออกเป็นระยะ ๆ

ดร. กรมัยหมุนสวิชต์ซึ่งติดต่อกับกลุ่มวิทยุ ปากจ่อเข้าไปชิดกรอกเสียงใส่ไมโครโฟน

“นี่-เวหาสยาน กรุงเทพฯ ๒๐- กรมัยพูดข่าวร้าย-ข่าวร้าย- ปะทะกับเวหาสเพลิง-มนุษย์เพลิง-กำลังถูกครอกเหมือนอยู่ในเตาอบ-เพื่อเห็นแก่ชีวิต-อย่าส่งใครมาอีกจนกว่าโลกจะหาวิธีทำลายสิ่งอัศจรรย์นี้ได้-เป็นเพลิง-ที่มีชีวิต-รูปแปลก ๆ ร้ายแรงมาก-เป็นพวกสุริยเทพ-ใช้แสง-เป็นเครื่องสังหาร ควอตซ์ละลายพูดไม่ได้อีก-คอแห้งผาก สุดท้ายแล้ว!”

เขาฟุบลงทั้ง ๆ ที่กลุ่มแบตเตอรี่กำลังทำงานอยู่ปอดทั้งสองข้างร้อนเหมือนถูกเผา แม้ทุรนทุรายกะเสือกกะสนอย่างทรมาน ดร. กรมัยก็ยังรู้สึกตัวอยู่และปรารถนาสิ่งเดียวนั่นคือการหายใจด้วยอากาศเย็น

เพียงแต่เขาฟุบ ใจริก ๆ แทบจะขาดไปเพียงครู่เดียว เขาก็อัศจรรย์ใจที่เสียงดังกระทบนั้นหายไป อากาศไม่ได้ร้อนอย่างแต่ก่อน กลับเยือกเย็นอย่างรวดเร็ว ความเยือกเย็นนี้เองทำให้เขาหายใจเข้าเต็มที่แล้วลืมตาขึ้น

ดร. ยันตมันต์ยังฟุบอยู่ เขามองดูสิ่งต่าง ๆ อย่างพิศวง และเกือบไม่เชื่อตัวเองเมื่อมองดูปรอท เห็นอยู่ที่ขีด ๓๗ เซ็นติเกรดและกำลังลดลงเรื่อย ๆ เวหาสยานหยุดโคลงเคลงสะเทือนดุจเมื่อครู่

เขามองดูเบื้องหน้า รูปสามเหลี่ยมอันน่าสยดสยอง ศัตรูผู้อยู่ในรูปอันอัศจรรย์ซึ่งทำการล้างผลาญเขานั้น บัดนี้อยู่ทั้งเบื้องหลังเบื้องหน้า ทว่าไม่ได้เป็นรูปร่างอันน่าสะพรึงกลัวดังเก่า เป็นทางยาวของก๊าซสีแดง-สีนวล-สีเพลิงจาง ๆ กระจายฟุ้ง

ปรากฏว่าสิ่งเหล่านั้นบัดนี้ไร้รูป ไร้การเคลื่อนไหว ไร้ความเหี้ยมหฤโหด หมดสภาพของสิ่งเร้นลับ และปราศจากสัญญลักขณ์แห่งชีวิต !

“เป็นไปได้” เขาพึมพำ “เคราะห์ดีเหลือเกิน” ดร. ยันตมันต์งัวเงียขึ้น หรี่ตาแล้วถามว่า

“อะไรช่วยเรา”

“วิทยุ-นั่นแหละ !”

“วิทยุน่ะรึช่วยเรา” เขาถามอย่างแปลกใจ

“ถูกแล้ว”

“ไม่น่าเป็นไปได้” เขากล่าวแล้วหยิบแว่นสวม

“เป็นไปแล้วด้วยซิ”

ดร. ยันตมันต์จ้องมองดูกลุ่มเพลิงก๊าซที่กระจายกันอยู่รอบ ๆ โดยไม่ปรากฏรูปร่างใด ๆ นั้นอย่างฉงน

ดร. กรมัยกล่าว “เราอาจได้ทฤษฎีใหม่ เกี่ยวกับการเกิดของ ‘ชีวิต’ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด และมีหลักฐานที่จะยืนยันได้”

“คุณเข้าใจอย่างไร”

ดร. กรมัยเม้มริมฝีปาก แล้วกล่าวค่อย ๆ ว่า

“เราเคยรู้กันว่า การเกิดชีวิตนั้นต้องมีสิ่งสนับสนุนหลายอย่างเช่น การรวมตัวทางเคมีของอินทรีย์สาร วิธีเกี่ยวกับการผลิต ชนิดของพลังงานที่ช่วย และแนวทางเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนของก๊าซหรืออากาศ สิ่งเหล่านั้นถ้าครบถ้วนชีวิตจึงจะบังเกิดขึ้นได้ นั่นเป็นทฤษฎีที่เรานับถือ และเชื่อกันว่า ถ้านอกเหนือจากการสนับสนุนของสิ่งเหล่านี้แล้ว ชีวิตจะมีขึ้นไม่ได้เลย”

เขาหยุดกล่าวเล็กน้อยแล้วกล่าวต่อ

“แต่ว่าในอวกาศที่ว่างเปล่า ปราศจากอากาศนำไร้กรรมวิธี จะมีบ้างก็ผงของอินทรีย์สารที่พอจะมีอยู่ใกล้เคียงกับบรรดาดวงดาวเหล่านั้น ในอวกาศย่อมจะไร้สิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิต อวกาศย่อมว่างเปล่า ไร้สิ่งมีชีวิตใดๆ ฉะนั้น เมื่อเกิดมีชีวิตขึ้นได้ ย่อมจะต้องเลิกล้มทฤษฎีเก่า หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีทฤษฎีใหม่ ซึ่งเราพึ่งรู้จัก และเป็นทฤษฎีที่ใช้สำหรับ ‘ชีวิต’ ในจักรวาล”

เขาหยุดอย่างใช้ความคิด แล้วกล่าวต่อไป

“สิ่งที่มีชีวิตในอวกาศ ต้องมีสิ่งที่ก่อเป็นร่างที่แน่นอนด้วยความยาวคลื่นของแสงสว่างแม่เหล็กไฟฟ้า และรังสีคอสมิค๑๖ แต่ความยาวคลื่นอื่น ๆ อาจทำให้ร่างของเขาสั่นสะเทิ้นและกระจายออก....”

“หูมนุษย์อาจรับความยาวคลื่นเสียงที่แน่นอน ถ้าได้รับผิดปกติ สัญญาณวิปริตจะเกิดขึ้น ตามนุษย์ย่อมรับความยาวของคลื่นแสงได้ ตามจำนวนจำกัดของประสาท ถ้าได้รับคลื่นผิดดวงตาจะทำให้สมองเกิดความวิปลาศ

สิ่งเหล่านั้นได้รับคลื่นที่ผิดปกติ ซึ่งตัดผ่านมันไป และฉีกเป็นชิ้น ๆ ร้ายแรงยิ่งกว่าอำนาจของเรเดียมซึ่งกระจายเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ สิ่งเหล่านั้นประกอบขึ้นด้วยคลื่นที่แน่นอนคลื่นหนึ่งหรือหลายคลื่นที่กลมกลืนกัน แต่ไม่เคยประสบหรือปะทะกับคลื่นใด ๆ คล้ายกับคลื่นวิทยุมาก่อน ขณะที่ผมเริ่มต้นให้กระแสคลื่นวิทยุวิ่งผ่านไป ธาตุต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นส่วนสำคัญของชีวิตนั้น จะถูกสั่นสะเทือนปริแตกแยกออกจากกัน นี่แหละทำให้ชีวิตของเราจึงยังเหลืออยู่”

ดร. ยันตมันต์มองดูหน้าผู้ร่วมงานของเขาเป็นครั้งแรกด้วยจิตใจอันนับถือ ภายใต้แว่นดำอันหนาเตอะนั้น แม้ ดร. กรมัยจะไม่แลเห็น แต่มุมปากที่ยิ้มนั้นยังแสดงอยู่

เขาพูดว่า “คุณถูกทุกอย่าง ผมผิด และไม่เป็นการบังควรเลยที่จะนำเวหาสยานเข้าไปใกล้เช่นนั้น ผมไม่นึกว่าจะพบเห็นสิ่งเหล่านี้เลย”

ดร. ยันตมันต์ยิ้มและเป็นการยิ้มครั้งแรกที่แสดงถึงไมตรีจิตอันสูงซึ่งบุคคลทั้งสองเพิ่งจะมีต่อกันเป็นครั้งแรก

“อย่าคิดอะไร” ดร. กรมัยกล่าว สายตาเขาจ้องไปเบื้องหน้าดูความแดงฉานของดวงอาทิตย์ “เราไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เราไม่รู้ว่าชีวิตอันอัศจรรย์จะมีอาศัยอยู่ในอวกาศได้ และก็มีคุณค่าเพียงพอแล้วสำหรับชีวิตที่ได้เห็นสิ่งนี้ เราจงเดินทางต่อไป จนกว่าจะถึงโลกดีกว่า เวหาสยานของเราขณะนี้ไม่เหมาะสำหรับการสำรวจแน่” ๏

 

  1. ๑. โปรดดูบันทึกท้ายเล่ม

  2. ๒. โปรดดูบันทึกท้ายเล่ม

  3. ๓. ระยะเฉลี่ย ๒๓๘,๘๕๗ ไมล์ ระยะใกล้ที่สุด ๒๑๑,๔๖๓ ไมล์ ระยะไกลที่สุด ๒๕๒,๗๑๐ ไมล์

  4. ๔. ความจริง การที่เราเห็นแสงสว่างของดวงจันทร์สุกสกาวแจ่มใสเช่นนั้น ไม่ใช่ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วสะท้อนมายังโลก แต่ได้รับทั้งแสงสะท้อนจากโลกไปส่งไปที่ดวงจันทร์ และแสงสะท้อนของดวงจันทร์จากโลกไปอีกด้วย จึงทำให้ดวงจันทร์กระจ่างขึ้นเช่นนั้น

  5. ๕. ระยะไกลที่สุดจากโลก ๑๓๖ ล้านไมล์ ใกล้ที่สุด ๕๐ ล้านไมล์

  6. ๖. ระยะไกลที่สุด ๑๖๐ ล้านไมล์ ใกล้ที่สุด ๒๖ ล้านไมล์

  7. ๗. ระยะไกลที่สุด ๒๔๘ ล้านไมล์ ใกล้ที่สุด ๓๕ ล้านไมล์

  8. ๘. ดูบันทึกความจริงเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ท้ายเล่ม

  9. ๙. ดูบันทึกความจริงเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ท้ายเล่ม

  10. ๑๐. ดูบันทึกความจริงเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ท้ายเล่ม

  11. ๑๑. ดูบันทึกท้ายเล่ม

  12. ๑๒. ดูบันทึกท้ายเล่มเกี่ยวกับ Escape Velocity

  13. ๑๓. คือ Quartz ผลึกแร่ของซิลิคอนซึ่งแข็งมาก มีมากมายใน igneous rock โดยเฉพาะในชั้นของ ‘acid’ เช่น Granites ใช้ในการทำเครื่องมือทางเคมี เพราะมีการขยายตัวน้อย อาจต้านทานความร้อนจัด และอาจทำให้เย็นโดยทันทีโดยไม่มีการแตกทำลาย ปรกติโดยมากมีสีชมพูหรือเทา แต่บางทีก็เป็นสีขาวบริสุทธิ์

  14. ๑๔. ผิวโลกได้รับจำนวนแสงสว่างและความร้อนจากดวงอาทิตย์ เพียง ๑-๒% เท่านั้น จำนวนความร้อนที่โลกได้รับจากแสงอาทิตย์ ซึ่งส่องตั้งได้ฉากกับพื้นราบของโลกในเนื้อที่ ๑ ซม๒ ราว ๑.๙๔ กรัมแคลอรี่ต่อ ๑ นาที ในจำนวนนี้ก็คือ ความร้อนที่ทำให้น้ำ ๑ กรัมสูงขึ้นจาก ๐ °ซ. ถึง ๑.๐๔ °ซ. ในเวลา ๑ นาที หรืออุณหภูมิที่ทำให้ น้ำ ๑ ออนซ์ สูงขึ้นจาก ๓๒ °ฟ. ถึง ๓๕.๕ °ฟ. ในเวลา ๒๘ ๑/๒ นาที ที่เรียกกันว่า Solar Constant

  15. ๑๕. ดูบันทึกท้ายเล่ม

  16. ๑๖. รังสีชนิดหนึ่ง คลื่นสั้น ที่แทรกแซงไปทั่วจักรวาล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ