บทเสริมท้าย

ตามธรรมเนียมที่ประพฤติกันมา ผู้ประพันธ์ย่อมไม่แนะนำผู้อ่านเกี่ยวกับหนังสือของตน ในกรณีนี้ สำนักพิมพ์ได้ขอร้องให้ผู้ประพันธ์ ฉากหนึ่งในชีวิต เขียนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการอ่าน เพราะว่ามีผู้มาขอร้อง โดยที่เพิ่งคิดได้เมื่อได้เรียงพิมพ์หนังสือและพิสูจน์อักษรเรียบร้อยแล้ว และใคร่จะให้หนังสือออกสู่ตลาดโดยเร็ว จะขอร้องให้นักอ่านที่ไม่ใช่ผู้ประพันธ์เองเขียนข้อเสนอแนะก็จะไม่ทันกับความต้องการ ด้วยเหตุผลที่ว่ามาแล้ว ในกรณีนี้ ผู้ประพันธ์จึงทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการอ่านหนังสือนี้ด้วยตนเอง

ผู้ที่สนใจกับการอ่านหนังสือ ใคร่จะเป็นนักอ่าน หรือเป็นผู้อ่านที่ใช้ความคิดอย่างฉลาดนั้น ก็เห็นจะต้องกระทำดังต่อไปนี้

๑. พิจารณา รูปแบบ ของงานเขียน ซึ่งอาจเรียก งานประพันธ์ หรือ วรรณกรรม ก็แล้วแต่ความนิยม รูปแบบ ของ ฉากหนึ่งในชีวิต คือ เป็นหนังสือรวม นวนิยายขนาดสั้น ซึ่งอาจเรียกว่า นวนิยายน้อย (novellette) หรืออาจเรียกว่า เรื่องสั้นขนาดยาว ก็ได้ การพิจารณาเรื่องสั้นหรือนวนิยายน้อย ควรแยกพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ เพราะแต่ละเรื่องมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน

๒. ในการอ่านนวนิยาย และ เรื่องสั้น ควรพิจารณา แนวคิด หรือ แนวเรื่องก่อน (theme) ในหนังสือนี้ อาจแยกพิจารณาดังนี้

เรื่อง “สิริลักษณ์เผชิญชีพ” แนวคิด ความแตกต่างระหว่างคนที่มีความคิดเป็นเสรี คิดตามคตินิยมของตนเองกับ คนที่มีความคิดเป็นอนุรักษ์นิยม คิดตามคตินิยมที่เคยชิน ความแตกต่างนี้ ส่งผลถึงเด็กที่อยู่ในปกครองและที่ได้รับการอบรมมาแตกต่างกันไป

เรื่อง “เปรมวดีผู้ถูกอิจฉา” และ เรื่อง “กรุแก้วเรียนเรื่องรัก” แนวคิดของทั้งสองเรื่องนี้คล้ายคลึงกัน คือ ความสุขของมนุษย์ไม่ขึ้นอยู่กับทรัพย์หรือฐานะในสังคม

เรื่อง “เสน่ห์จวัก” ความสุขในชีวิตสมรสขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของสามีและภรรยา แต่ละคู่ ๆ ไม่ซ้ำแบบกัน

๓. พิจารณา โครงเรื่อง เรื่อง ผังเรื่อง (Plot) ผู้ประพันธ์ วางแผนผังให้พฤติการณ์อันใด ส่งผลเกี่ยวโยงไปถึงพฤติการณ์อื่น ๆ อย่างไร เรื่องจบลงอย่างไร

เนือเรื่อง (story) ผู้แต่งบรรจุเหตุการณ์และพฤติการณ์ใดไว้อย่างไรบ้าง กลวิธีการดำเนินเรื่องเป็นอย่างไร กล่าวถึงพฤติการณ์และเหตุการณ์ไปตามลำดับที่อันใดเกิดก่อนเกิดหลัง หรือกล่าวถึงอันที่เกิดทีหลังก่อน แล้วย้อนไปกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดก่อน หรือสลับกันไปมา เป็นต้น

ในหนังสือนี้ ๓ เรื่องแรก ดำเนินเรื่องไปตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดก่อนแล้วกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดหลัง มียกเว้นบ้างเป็นบางกรณี

ในเรื่องสุดท้าย การดำเนินเรื่อง สลับเหตุการณ์ไปมาตามความนึกคิดของตัวละครตัวหนึ่ง

๕. ตัวละคร (หรือ ตัวในเรื่อง หรือ บุคคลในเรื่อง) กับ ลักษณะนิสัยของตัวละคร (character) ลักษณะนิสัยของตัวละครทำให้เหตุการณ์เกิดขึ้น หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นแก่ตัวละคร แล้วตัวละครประพฤติตามที่เหตุการณ์บังคับ

ในหนังสือนี้ ทั้ง ๔ เรื่อง ตัวละครพาให้เกิดเหตุการณ์มากกว่าเหตุการณ์บังคับตัวละคร ตัวละครแต่ละตัว มีลักษณะนิสัยอย่างที่เป็น จึงประพฤติตามลักษณะนิสัยของตน เป็นผลให้เกิดพฤติการณ์และเหตุการณ์ขึ้นต่าง ๆ

ตัวละครในเรื่อง เปลี่ยนลักษณะนิสัย หรือมีลักษณะนิสัยคงที่ ในเรื่องขนาดสั้น ๆ ตัวละครมักจะมีลักษณะนิสัยคงที่ เพราะเวลาไม่อำนวยให้เปลี่ยนไปได้

๖. บทสนทนา (dialogue) คำพูดของตัวละครเหมาะหรือไม่เหมาะแก่วัย ฐานะ การศึกษา ของตัวละคร หรือฟังเหมือนว่าเป็นคำพูดของผู้ประพันธ์เอง คำพูดมีความคมคายหรือไม่แสดงให้เห็นลักษณะนิสัยของตัวละครอย่างไร

๗. ฉาก คำนี้หมายถึง สถานที่ หรือ ยุคสมัย หรือ สภาพแวดล้อม ของพฤติการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง การใช้ฉากทำให้เหตุการณ์ในเรื่องเด่นขึ้นอย่างไร ทำให้เกิดรสอย่างไร ตัวละครประพฤติเหมาะแก่ฉากหรือไม่ ฉากจำเป็นแก่เนื้อเรื่องหรือไม่ ในเรื่อง “เสน่ห์จวัก” สถานที่คือจังหวัดนอกพระนคร สำคัญแก่เหตุการณ์ในเรื่อง

๘. สาร ตามธรรมดาของผู้อ่าน เมื่ออ่านหนังสือจบแล้วเรื่องหนึ่ง ๆ หรือระหว่างที่ยังอ่านไม่จบนั้นเอง ก็จะอดคิดไปพลางไม่ได้ว่า ผู้เขียนสื่อสารกับผู้อ่านว่าอย่างไร คือ ผู้เขียนเจตนาจะบอกกล่าวอะไร ชี้นำไปทางไหน หวังจะให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในเรื่องอะไรไปทางไหน จะยั่วยุให้เกิดความคิดชนิดใด ยกยอใคร ส่อเสียดหรือกระทบกระแทกใคร หรืออะไร การคิดทำนองนี้เรียกว่า การวินิจสาร หรือ ตีความ

การตีความนั้น ผู้อ่านมักพยายามจะคิดค้นว่าผู้แต่งมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร แต่เป็นการยากที่จะทำได้ แท้ที่จริงไม่จำเป็น เพราะผู้อ่านบางคนอายุน้อยกว่าผู้เขียนมาก ย่อมไม่สามารถคิดค้นเจตนาที่ถูกต้องได้ และมีบางกรณีผู้อ่านอาจเห็นข้อคิดนึกหรือความจริงในชีวิตขึ้นมาจากหนังสือที่อ่านเกินเลยไปจากผู้แต่งเจตนาก็ได้ สารของผู้แต่งนวนิยายและเรื่องสั้น จะปรากฏอยู่ทั่วไปในนวนิยายหรือเรื่องสั้นที่ผู้อ่านกำลังอ่าน หรือเพิ่งอ่านจบไป อาจพบในบทสนทนาของตัวละคร หรือในบทบรรยายหรือบทพรรณนา หรือในการบอกทีท่าอาการของตัวละคร และในที่อื่น ๆ ก็ได้

เพื่อแนะแนวทาง สำหรับนวนิยายน้อยแต่ละเรื่อง ขอยกตัวอย่างไว้ดังต่อไปนี้

“สิริลักษณ์เผชิญขีพ” สาร เด็กวัยรุ่นมีความรู้สึกแรง รักมากและโกรธมาก เช่น สิริลักษณ์ รักคุณปู่คุณย่ามาก เมื่อผู้ใดแสดงความไม่นิยมชมชอบท่านทั้งสอง สิริลักษณ์ก็โกรธมาก อีกข้อหนึ่ง เด็กวัยรุ่นรักความยุติธรรมมากตามสายตาของตน เมื่อเห็นความอยุติธรรม ย่อมผิดหวังมาก อีกข้อหนึ่ง เด็กวัยรุ่นคาดหวังไม่ให้ผู้ใหญ่ทำผิดเลย ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่ตนรักและนับถือทำอะไรผิด เด็กวัยรุ่นผิดหวังมาก อาจยอมเสียทรัพย์เสียโอกาสอย่างไรก็ได้ ผู้อ่านอาจจับสารอย่างอื่นได้อีกหลายข้อ

“เปรมวดีผู้ถูกอิจฉา” เด็กวัยรุ่นชอบเปรียบเทียบฐานะระหว่างตนกับเพื่อน และมักไม่เข้าใจชีวิตหลาย ๆ ด้านของบุคคล มักแน่ใจว่าความคิดของตนถูก จนกว่าจะปรากฏแก่ตาว่าตนผิดพลาดไป อีกข้อหนึ่ง แม่ที่เรียกร้องเอาจากลูก ให้ทำสิ่งที่แม่ต้องการนั้น อาจก่อทุกข์ให้แก่ลูกมาก อีกข้อหนึ่ง ผู้ชายวัยรุ่น ที่ฉลาด ถ้าขาดการประคับประคองทางการนึกคิด ก็อาจสร้างอุดมคติขึ้นให้ตน ถ้ามีผู้มาชักชวนให้ร่วมในอุดมคติ ผู้ชายวัยรุ่นจะนิยมฝักใฝ่จนชีวิตก็ไม่เสียดาย

“กรุแก้วเรียนเรื่องรัก” หญิงสาววัยรุ่นถ้ามีทางจะแสดงความเด่นก็ใคร่จะได้แสดงสมใจ แต่ถ้ามีการประคับประคองความนึกคิดด้วยความรักจริงใจในครอบครัว ก็อาจเอาชนะตนเอง และเหตุการณ์แวดล้อมได้ อีกข้อหนึ่ง ความราบรื่นในครอบครัว มีความสำคัญแก่หญิงสาววัยรุ่นอย่างยิ่ง และต้องมีผู้ใหญ่ชี้แนะทางให้คิดอยู่เสมอ ๆ

“เสน่ห์จวัก” การหลงเอาว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอนในชีวิต มักนำความผิดหวังมาให้บุคคล เพราะมนุษย์ต่างคนต่างเป็น ต่างคนต่างมีแนวคิด จะยึดถือหลักใดเอาเป็นแน่ตายตัวนั้นไม่ได้ อีกข้อหนึ่ง หญิงที่ฉลาด เมื่อได้รับความรักจริงใจจากสามี ก็อาจปรับความคิดให้เปลี่ยนจากที่เคยยึดถือให้เข้ากับสามีได้ แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง ความสำคัญอยู่ที่ต้องพูดจากันให้เข้าใจ

๙. ศิลปะการใช้ภาษา การเลือกเฟ้นถ้อยคำสำนวนมาใช้การบรรยายหรือพรรณนา หรือในคำพูดของตัวละคร เห็นว่าผู้ประพันธ์มีความตั้งใจมากน้อยเพียงไหน เลือกเฟ้นถ้อยคำโดยประณีตบรรจง หรือโดยหวัด ๆ ลวก ๆ สำนวนของผู้ประพันธ์ปะปนกับสำนวนของตัวละครบ้างหรือไม่ ผู้ประพันธ์ใช้สำนวนภาษาเสมอต้นเสมอปลาย หรือใช้อย่างไม่เอาใส่ใจบางกรณี และบางกรณีก็เพ่งเล็ง ใช้สำนวนเก่าหรือใหม่เกินไปหรือไม่ ใช้สำนวนดาดๆ ที่ได้ยินอยู่เสมอ ๆ หรือมีถ้อยคำสำนวน มีการเปรียบเทียบที่ใหม่สะดุดตาสะดุดใจบ้างหรือไม่

การพิจารณางานเขียนนั้น กระทำได้โดยไม่มีข้อยุติ ความเห็นของผู้อ่านคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ตรงกันเสมอไป ไม่มีผู้ใด หรือทางใด จะพิพากษาลงไปได้ว่า ใครเป็นฝ่ายเห็นผิด ใครเป็นฝ่ายเห็นถูก ผู้อ่านคนหนึ่งอาจชอบส่วนหนึ่งของงานเขียน และไม่ชอบด้านอื่น ๆ อีกคนหนึ่งกลับกันก็ได้ แต่การที่เห็นไม่ตรงกันนั้น นอกจากเป็นสภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ยังเป็นประโยชน์ คือ ทำให้ความคิดของผู้อ่านงอกเงยออกไป แม้การตีความ หรือการบ่งชี้ว่า แนวคิดหรือแนวเรื่อง ของงานเขียนนั้นชิ้นนี้คืออะไร ก็มิใช่ผู้อ่านจะคิดเห็นตรงกัน และความเห็นไม่ตรงกัน ไม่ควรนำไปสู่ความขัดเคืองกัน แต่ควรถือเป็นเครื่องประเทืองปัญญาของกันและกัน เมื่อได้พิจารณาให้มากที่สุดที่จะมากได้ โดยไม่เหนื่อยหน่าย โดยความพึงพอใจ ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความวิจักษ์ ขึ้น คือ ความสามารถเห็นมาก สังเกตมาก และเห็นแจ่มใส ถ้าสามารถกล่าวถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ให้ผู้อื่นเข้าใจ แล้วคล้อยตามได้หรือขัดแย้งได้ ความสามารถที่เกิดนี้เรียกว่า สามารถวิจารณ์ นักอ่านที่ยังไม่เจนจัด ไม่จำเป็นเข้าใจหรือสังเกตส่วนหรือด้านต่าง ๆ ของงานเขียน ให้ครบไปหมดทุกแง่ทุกมุม คนต่างวัยกันย่อมแตกต่างกันในเชิงสังเกต เชิงตัดสินใจ นักอ่านอายุเยาว์อาจสังเกตเพียงเนื้อเรื่อง หรือลักษณะนิสัยของตัวละคร บางคนก็อาจสังเกตเพียงคำพูดของตัวละคร เช่นนั้นก็เป็นธรรมตดา ไม่จำเป็นวิตกกังวลกับการตัดสินใจผิด พึงถือว่าการได้อ่านหนังสือ และการได้สนทนาแลกเปลี่ยนความนึกคิดกับเพื่อนร่วมวัย หรือคนต่างวัย เป็นกำไร เป็นผลคุ้มค่าของการอ่านหนังสือ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ