คำบรรยายความเห็่นแลความคิดที่จะเรียบเรียงหนังสือนี้

จดหมายฉบับนี้เปนลักษณจดหมายเก่า ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ชั้นนี้จด ใช้วิธีแลสำนวนอย่างนี้ ไม่ใช่ผู้ที่มีภูมรู้อรรถธรรม ฤๅความสามารถแต่งหนังสือ อย่างเช่นที่เรียกกว้างขวางกันอยู่ในเวลานี้ว่าจินตกระวี อันแปลว่าเปนนักปราชผู้นึก แต่ของเดิมเขาใช้สำหรับผู้ซึ่งผูกประพันธ์ขึ้นเปนบทกลอน ในชั้นหลังนี้ดูเหมือนผูกขึ้นเปนเรื่องใดไม่ต้องเปนบทกลอน จะเท็จก็ตามจริงก็ตาม น่าจะหมายใจว่าตัวเปนจินตกระวีเหมือนกัน บางทีที่นึกแซกแซมลงตามความคิดบ้า ๆ อย่างสยามประเภท ก็จะตั้งตัวว่าอยู่ในเปนจินตกระวีด้วย จะว่าเขาผิดก็ไม่ได้ เพราะเขาก็นึก ต่างแต่นึกเปนกุศลเจตนาแลอกุศลเจตนา

จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีนี้ ไม่ใช่ผู้รู้แต่งจดหมายเหตุแลพงษาวดาร ไม่ใช่จินตกระวีทั้งสองอย่าง เปนข้อความที่ท่านทรงจำไว้ ตั้งแต่จำความได้จนตลอดเวลาที่เขียน คงจะเปนเวลาที่ทรงพระชรา มีผู้ทูลว่าข้อความจะสูญเสียหมด ขอให้จดลงไว้ จึงได้พยายามจดลงไว้ตามแต่ที่จะนึกได้ โดยไม่ได้อาไศรยหลักอไรเลย คือพงษาวดารฉบับที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเรียบเรียง ก็ยังไม่ได้เรียบเรียงแลยังไม่ได้พิมพ์ ถ้าหากว่าจะมีพงษาวดารเก่าที่ท่านได้ทรง ก็คงเปนจดหมายย่อ ๆ อย่างนี้ที่ใคร ๆ จดไว้แต่ก่อน แลคำบอกเล่ากับทั้งที่ได้เห็นด้วยพระเนตรเอง

แต่ถึงดังนั้น ควรจะเห็นเปนอัศจรรย์ในความทรงจำของท่าน ฤๅถ้าหากว่าจะเปนเหตุให้มีผู้สงไสยความทรงจำ จะได้ถึงเพียงนี้ทีเดียวฤๅ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าเคยเห็นเจ้านายฝ่ายในที่ทรงแม่นยำเช่นนี้หลายพระองค์ แต่ไม่ยิ่งกว่าแลไม่สิ้นพระชนม์ภายหลังที่สุด เช่นพระเจ้าไอยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา อันสิ้นพระชนม์แล้วได้ ๘ เดือนนี้ ทรงจำแม่นจนกระทั่งวันคืนเดือนปี อันเกิดเหตุการอย่างใดอย่างหนึ่งทั่วไปทุกสิ่ง ลักษณความจำเช่นนี้ อย่างเดียวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะอ้างให้เห็นได้ว่าในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ความที่ทรงจำวันคืนแม่นก็ปรากฎอยู่ฉนั้น จึงเห็นได้ว่ากรมหลวงนรินทรเทวีนี้ ความทรงจำของท่านคงเปนลักษณะเดียวกันกับกรมหลวงวรเสรฐสุดา

ส่วนข้อความที่จดนั้น ท่านได้เปรียบอย่างหนึ่ง เพราะท่านมีพระสามี อาจจะรู้ราชการจากทางนั้นได้ แต่ก็ปรากฎว่าถ้าเปนการแผ่นดินแท้เช่นการทัพศึก ท่านเห็นเกินความสามารถที่ท่านจะพรรณาให้ถูกต้องได้ ได้ว่าความรวบเข้าเปนหมวด ๆ พอให้รู้เหตุการ ถ้าเปนเรื่องราวซึ่งออกจะปกปิดกันในเวลานั้น ฤๅเรื่องราวซึ่งท่านเห็นไม่สู้เปนพระเกียรติยศ ท่านได้จดลงไว้แต่ย่อพอเปนเครื่องสังเกต ข้อที่ท่านจดลงพิศดารกว่าที่อื่น ล้วนเปนเรื่องที่ท่านพอพระไทย แต่เมื่ออ่านทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าพระญาณของท่านในทางทรงจำ แลความพอพระไทยเข้าพระไทยในเหตุการสูงอยู่กว่าคนแก่สามัญเปนอันมาก

มีผู้มักจะอ้างพระนามบ่อย ๆ เช่นกรมหลวงบดินทร์เปนต้นมักรับสั่งถึง อ้างเอาเปนเจ้าของผู้เล่าเรื่องก็จริงอยู่ ท่านคงเปนผู้ทรงทราบการมาก จึงได้เขียนได้ดังนี้ แต่คำที่มีผู้อ้างเช่นนั้นแล้วแลมาเขียนลงเปนจดหมายที่เคลื่อนคลาศไว้ ทำให้มีผู้คิดเห็นว่ากรมหลวงนรินทรเทวี จะเปนพระองค์หนึ่งในผู้เล่าอะไรมาก ๆ ไป เปนเคราะห์ดีอย่างยิ่งที่จดหมายฉบับนี้มาปรากฎขึ้นล้างมลทิน อันผู้แต่งหนังสือซึ่งไม่คิดถึงบุญคุณ ได้ใช้พระนามท่านในที่มัวหมอง

จดหมายฉบับนี้ ปรากฎชัดว่าได้จดลงโดยความซื่อตรงแลความที่จำได้ ไม่มีนึกแต่งให้พิศดารเปนอัศจรรย์ ให้ผู้อ่านพิศวงอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ถ้าจะมีการตื่น ท่านก็ตื่นส่วนพระองค์ท่านเอง ตามความเห็นที่จับใจท่านขึ้นมาอย่างไร เวลาก็ดี ข้อความก็ดี ที่เคลื่อนคลาศบ้าง ก็เปนธรรมดาหนังสือที่ท่านไม่ได้จดลงไว้โดยทันที มาเขียนต่อภายหลัง แต่ข้าพเจ้ายืนยันได้ว่าหนังสือฉบับนี้ ไม่มีความเท็จเลย ความที่เคลื่อนคลาศนั้นด้วยลืมบ้างด้วยทราบผิดไปบ้าง เรียงลงไม่ถูกเปนภาษาไม่สู้แจ่มแจ้งบ้าง ทั้งวิธีเรียงหนังสือในอายุชั้นนั้น ไม่สู้จะมีเครื่องมือสำหรับเขียนบริบูรณ์แลคล่องแคล่วเหมือนอย่างทุกวันนี้ ถ้าจะเขียนหนังสือแล้วคิดนาน ๆ บรรจุความให้แน่นในวรรคหนึ่งแล้วจดลงไป ผู้ใดแต่งหนังสือให้สั้นแลให้จุความมากได้ ผู้นั้นแต่งหนังสือดี ไม่เหมือนอย่างเวลานี้ ที่เขียนน่ากระดาษหนึ่งได้ใจความสักบรรทัดเดียว มีแต่ “เอกชน” “เพื่อนมนุศย์” “โดย” อไรต่าง ๆ เต็มไปทั้งน่ากระดาษ อิกประการหนึ่ง ภาษาในรัชกาลที่ ๔ เปลี่ยนจากภาษาใน ๓ รัชกาลก่อนมากนัก ครั้นตกมาถึงรัชกาลประจุบันนี้ยิ่งเปลี่ยนเร็วนักขึ้นอิก ผู้ที่จะอ่านหนังสือโดยความตริตรอง กลับน้อยลงไปด้วยเหตุหลายอย่าง จนถึงนักเรียนชั้นใหม่ ๆ จับไปอ่านหนังสือเก่า ซึ่งเขียนใน ๓ รัชกาลแรก ไม่เข้าใจแลไม่พยายามที่จะอ่าน ด้วยเห็นว่าเร่อร่างุ่มง่าม ไม่มีความรู้บริบูรณ์เหมือนเดี๋ยวนี้ ถ้าจะมีผู้พยายามอ่าน ก็อ่านด้วยความประสงค์ที่เปนอกุศล หวังจะเอามาเปนต้นเหตุนึกเอาใหม่โดยอยากเปนจินตกระวี ไม่สอบสวนเอาความจริงตามที่จดไว้ นึกเสียว่าไม่มีใครรู้จะเติมลงเท่าไรก็เติมได้ เพราะความคิดที่จะค้นคว้าสอบสวน วินิจฉัยความย่อให้แจ่มแจ้งยุติด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ของง่าย ต้องลำบากในการค้นคว้าต้องมีพื้นภูมความรู้จึงอาจจะสอบค้นได้

แต่เปนเคราะห์ดีที่สุดที่จดหมายกรมหลวงนรินทรเทวีฉบับนี้ ไม่ปรากฎแก่นักเลงแต่งหนังสือในรัชกาลที่ ๔ ฤๅในรัชกาลประจุบันนี้ ตกอยู่ในก้นตู้ได้จนถึงรัตนโกสินทร๔๑ศก ๑๒๗ นี้ นับว่าเปนหนังสือพรหมจารี ไม่มีด้วงแมลงได้เจาะไชเลย ความยังคงเก่าบริบูรณ์ เว้นไว้แต่ตัวหนังสือไม่ใช่เปนตัวหนังสือเก่าแท้ เมื่อกรมหลวงดำรงคัดมาให้ด้วยพิมพ์ดีด เห็นข้อที่เคลื่อนคลาศสำคัญ คือลงวันกับศักราช ผู้คัดถนัดอ่านพงษาวดารพิมพ์ซึ่งตั้งต้นเปนวรรคย่อ ขึ้นลุศักราช เมื่อไปเห็นวันอยู่น่าศักราชยกเอาไปหยอดท้ายวรรคข้างน่าเสีย ขึ้นวรรคใหม่แต่ลุศักราชตั้งเปนวรรคย่อ วันคืนเดือนไปอยู่วรรคหนึ่ง ศักราชแลปีไปอยู่วรรคหนึ่ง ถ้าผู้อ่านไม่สังเกตก็พาโลว่าหนังสือเหลว นี่เปนโทษของผู้คัดหนังสือทุกวันนี้ ที่แบ่งบรรทัดย่อต้นวรรคเอาอย่างฝรั่งเหลว ๆ ไหล ๆ มีเปนอันมาก เมื่อเห็นเช่นนี้จึงนึกสงไสยขึ้นมาว่าจะเคลื่อนคลาศจากฉบับเดิมมาก จึงได้ขอฉบับเดิมมาดูก็ได้ความว่า ผู้ที่พิมพ์ได้ทำคลาศเคลื่อนแต่แยกวันแลศักราช กับกระจายควงเคลื่อนคลาศบ้าง นอกนั้นไม่ใคร่ผิด ฉบับเดิมเปนฉบับที่ไม่ได้ลอกคัดจากจดหมายของกรมหลวงนรินทรเทวีทรงเขียนเอง มีผู้หนึ่งมาอ่านบอกผู้เขียนประกอบอักขรวิธีตามความรู้ของตัว ไม่ใช่สกดตัวอย่างเก่า เมื่อเปนเช่นนั้นความคิดที่ได้ตั้งไว้เดิมว่า ถ้าหนังสือต้นฉบับเปนของได้เขียนไว้แต่ครั้งกรมหลวงนรินทรเทวี สกดตัวใช้ตัวหนังสืออย่างไรจะใช้แบบนั้น แต่ครั้นเมื่อปรากฎว่าหนังสือนี้ เปนแต่ความรู้ของเสมียนผู้หนึ่งก็ไม่เปนอัศจรรย์อไร จึงยอมรับฉบับพิมพ์ดีดที่เขาแก้ถ้อยคำเปนคำใหม่ ๆ ให้ถูกต้อง คงไว้แต่ถ้อยคำซึ่งเรียกกันอย่างเก่าเช่น “นรา” ว่า “ดารา” เปนต้น

ทางที่จะทำเดี๋ยวนี้ ได้คัดจดหมายความทรงจำตามฉบับเดิมด้วยตัวพิมพ์อักษรใหญ่ลงไว้ข้างต้น ถ้าผู้อ่านอยากอ่านฉบับเดิมว่าเปนอย่างไรก็ให้อ่านตอนนั้น ส่วนการที่ทำตามทางพิจารณานั้นได้แยกข้อความตามที่เห็นว่าเปนใจความของจดหมายเดิมนั้นอย่างไร หมายเลขเปนลำดับพิมพ์ไว้ซีกหนึ่ง ความเห็นที่เห็นอย่างไรฤๅสอบสวนได้หลักถานอย่างไร พิมพ์ไว้อิกซีกหนึ่งตรงกัน สำหรับผู้อ่านจะได้สอบสวนได้โดยง่าย ในทางพิจารณานี้มีข้อขัดข้องบางแห่งซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถจะวินิจฉัยลงไปได้ ก็ได้ละทิ้งไว้ตามความสงไสย

ความคิดที่ทำนี้ ไม่ได้พยายามที่จะเรียงขึ้นเปนหนังสือซึ่งถ้าจะเรียกว่า พงษาวดารกรมหลวงนรินทรเทวีทรงแต่ง ฤๅพงษาวดารตามที่ได้จากจดหมายกรมหลวงนรินทรเทวีดังนั้นเลย เขียนด้วยมีความประสงค์จะให้เปนที่ค้นคว้าง่ายของผู้ที่จะเรียงพงษาวดาร ถ้าจะพูดเปนทำนองความอย่างเก่าก็เปนชี้สองสถาน แลปฤกษาใส่ด้วยบท ผู้อ่านจะเห็นเปนหนังสืออย่างใหม่ ที่ต้องอ่านหนังสือมีเรื่องซ้ำกันแลขาดเปนท่อน ๆ ไม่เปนลำดับเรื่องเรื่อยไป อ่านต้องสังเกตเปนความประดักประเดิด อ่านด้วยเครื่องจักรไม่ได้ แต่มีความประสงค์เพื่อจะนำผู้อ่านหนังสือให้รู้จักทางพิจารณาหนังสือที่ตัวอ่าน การที่ทำเช่นนี้ไม่เปนการอัศจรรย์อไรแก่ท่านผู้ที่มีความรู้มาแต่ก่อนแลประจุบันนี้เลย แต่เปนทางที่จะให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ ละเลิกความคิดแต่งหนังสือเพิ่มเติมปลอมว่าเปนของเก่านั้นเสีย มาเล่นทางข้างสอบสวนเช่นนี้ เล่นอย่างเก่าที่เราเรียกกันว่า “กุ” ฤๅ “กุละ” ทำอันตรายหนังสือมากนัก ถ้าเปนคนรักจะแต่งหนังสือแต่งอย่างนี้ก็สนุกเหมือนกัน จะเดาไปอย่างไรก็เชิญเดา แต่เขียนไว้ต่างหากอย่าเอาคลุกกันกับของเก่า ทำให้เลือกยากว่าไหนเก่าไหนใหม่

จดหมายความทรงจำนี้ ควรจะมีข้อความตลอดจนถึงรัชกาลที่ ๓ ถึงไม่มากก็มาเพียงเวลาที่เริ่มจดหมายความทรงจำนี้ขึ้น จะว่าท่านจะกลัวจดหมายเหตุแผ่นดินประจุบันมีความผิดก็ไม่ใช่ เพราะฉบับที่ได้มานี้ ยังค้างแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าอิกถึง ๔ ปี แลข้อความตามวิธีที่ท่านจดนี้ จดด้วยความรวังแลความซื่อตรง ไม่มีอันตรายอย่างใดเลย หนังสือที่หมดลงเพียงนี้ก็พอหมดน่าสมุดเล่ม ๑ เพราะฉนั้นจึงเห็นว่าคงจะมีเล่ม ๒ ต่อไปอิกแต่หายเสียหาไม่ได้ ฤๅผู้คัดหนังสือหาสมุดไม่ได้ ไปเขียนปนลงไว้ในสมุดเล่มที่มีเรื่องอื่นไปหลงอยู่ ถ้าค้นตามไปที่รังเก่าอันหนังสือนี้มา น่าจะยังค้นได้ มีข้อที่ควรจะปลงใจว่า ท่านได้ทรงจดไว้เพียงเท่านี้อย่างหนึ่ง คือได้เห็นหมายการพระศพกรมหมื่นอินทรพิพิธพร้อมกับกรมหมื่นเสนีเทพ พระโอรสองค์ใหญ่ของท่าน ถ้าท่านจดแต่ว่ากรมหมื่นอินทรพิพิธสิ้นพระชนม์เท่านั้นก็จะคเนว่า กรมหมื่นเสนีเทพยังไม่สิ้นพระชนม์ในเวลาที่เขียนนั้น แค่นี่มีว่าถวายพระเพลิงวัดรฆัง ท่านไม่กล่าวถึงกรมหมื่นเสนีเทพ จะเปนเหตุที่อัดอั้นตันพระไทยอย่างไร เลยไม่เขียนต่อไปได้ดอกกระมัง เพราะเหตุที่ข้อความกรมหมื่นอินทรพิพิธสิ้นพระชนม์นี้เกือบจะอยู่ที่สุด ต่อไปก็สวดมนต์ทีเดียว แต่ในระหว่างที่ได้ข้อความมาแต่เพียงเท่านี้ ก็ทำไว้เสียที เพราะเรื่องนี้ไม่เปนเรื่องที่แล้วสำเร็จ มีทางที่ผู้อ่านจะช่วยพิจารณาหาข้อความวินิจฉัยในข้อซึ่งยังมิได้วินิจฉัยอยู่อิกมาก ข้อที่วินิจฉัยแล้ว ก็อาจจะหาความพิศดารให้ถูกถ้วนได้ดีขึ้นอิก โดยพบตำหรับตำราฤๅท้องตราร่างหมาย ฤๅเรื่องราวที่ผู้ใดเขียนไว้แห่งใด เมื่อสอบสวนได้มากแล้วรวบรวมเข้า พิมพ์ออกเปนครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไปได้

ขอเชิญท่านทั้งหลายผู้มีความพอใจในโบราณคดี พิจารณาค้นหาข้อความเพิ่มเติมตามที่จะหาได้ให้บริบูรณ์เท่าใด ก็ยิ่งดีนักแล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ