จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๔

๏ ข้าพเจ้าหลวงอุดมสมบัติ จดหมายมายังหลวงทิพอักษรเสมียนตรา ได้นำขึ้นกราบเรียนแต่ท้าวพระกรุณาเจ้าให้ทราบ ด้วย ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ ข้าพเจ้าได้จดหมายฝากรองศุภมาตราเมืองเพชรบุรีออกมาฉบับหนึ่ง ความแจ้งอยู่ในจดหมายซึ่งฝากออกมานั้นแล้ว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เจ้าพระยานครฯ บอกให้นายดวงนายแพถือเข้ามา ใจความว่า ณ วันเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ กองทัพพระยาไทร พระเสนานุชิต พระวิชิตสรไกร พระณรงค์ชลธี ยกเข้าตีอ้ายแขกที่กะบังปาสู ยิงปืนสู้รบกันจนถึงดาบ พวกกองทัพพระยาไทรยิงถูกอ้ายตนกูเสศอุเซน บุตรพระยาอาแจซึ่งเป็นนายทัพตายคน ๑ กับแขกตัวนายตาย ๗ คน เข้ากันเป็นคนอ้ายแขกตายนาย ๘ ไพร่ ๗ (รวม) ๑๕ คน กองทัพเมืองนครฯ ไพร่ถูกปืนปเหรี่ยมตายคนหนึ่ง อ้ายแขกพากันแตกหนีไป กองทัพยกติดตามเข้าไปถึงตะพานช้าง ณ วันเดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ กองทัพพระยาไทรยกแยกกันเข้าประชิดจะตีค่ายอ้ายแขก ซึ่งตั้งอยู่ที่ตะพานช้างเป็นหลายกอง พวกอ้ายแขกรู้ว่าอ้ายตนกูเสศอุเซน ซึ่งอ้ายตนกูหมัดสอัดให้เป็นนายทัพตั้งรับอยู่ที่กะบังปาสูนั้นถูกปืนตายแล้ว พวกอ้ายแขกซึ่งตั้งอยู่ ณ ค่ายตะพานช้าง เสียใจก็พากันแตกหนีพ่านไป หวันเจ๊ะลามุดาแขกซึ่งอยู่ทุ่งบ้านนอกออกหากองทัพพระยาไทร บอกว่าอ้ายตนกูอัปดุลลารู้ว่ากองทัพพระยาไทรยกมาตีอ้ายแขกที่กะบังปาสูแตกหนีไป อ้ายตนกูอัปดุลลาหนีไปบก จะไปทางกลามุดาลงเรือที่โลสตา[๑] ข้างปากน้ำเมืองไทรนั้นว่าฝรั่งเอากำปั่นปิดปากน้ำไว้ พระยาไทรจัดให้กองทัพลงไปติดตามอ้ายตนกูอัปดุลลาอยู่ จึงทรงตรัสว่า การไม่พอที่จะให้ป่วยงานรี้พลมากมายจนถึงอย่างนี้เลย ถ้าช่วยกันทำเสียแต่ทีแรกก็จะแล้วเสียแล้ว นี่คอยถือเปรียบรีรอกันวุ่นวายไขว่อยู่เปล่า ๆ จนอ้ายแขกมันทำเอาข้างสงขลายับเยิน แล้วก็ยังไม่ช่วยกัน ต้องให้ร้อนถึงทัพใหญ่ยกออกมๅ เอาให้ป่วยงานรี้พลเสบียงอาหารจนได้ แต่แรกก็ทรงคิดรีรออยู่แล้วว่า จะหาใคร่ให้ยกทัพใหญ่ออกมาไม่ ครั้นเห็นการทรงคิดไปตามการแต่ก่อนว่า จะต้องให้ทัพใหญ่ยกออกมา ครั้นยกออกมา การก็เป็นไปเสียอย่างนี้ ครั้นจะให้หาเจ้าพระยายมราชกลับเข้าไปเสียเล่า กองทัพใหญ่ก็ได้ยกออกมาแล้วจะเสียใจ ไหน ๆ ก็ได้ยกกองทัพใหญ่เกินออกมาแล้ว ทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า ยังไม่ได้เคยออกมาเห็นแผ่นดินบ้านเมืองปากใต้ ก็ให้ออกมาดูบ้านเมืองเสียให้เห็นสักทีเถิด แล้วทรงตรัสถามว่าเป็นกระไร มันรู้หรือไม่ เรือกองทัพพระยาวิชิตณรงค์ทัพพระราชรินทร์ไปถึงเมืองสงขลาแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เรือพระยาวิชิตณรงค์ ไปถึงปากน้ำเมืองนครฯ ณ วันเดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ พระยาวิชิตณรงค์ขึ้นไปหาเจ้าพระยานครฯ เจ้าพระยานครฯ ได้จัดแจงส่งให้ไปเมืองสงขลาแล้ว แต่เรือพระราชรินทร์นั้น นายดวง นายแพ พบที่ปากน้ำเมืองนครฯ ณ วันเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ เห็นใช้ใบไปเมืองสงขลาแล้ว ทรงตรัสถามว่า จะเอาความเท่านี้แหละ ถามหมื่นพิทักษ์นาวาแต่แรกมันก็ไม่บอกเอาเลย ครั้นอ้ายจีนจูมันเข้ามาว่า เรือพระยาวิชิตณรงค์แวะเข้าไปหาเจ้าพระยานครฯ หมื่นพิทักษ์นาวาจึงแก้ตัวว่า เมื่อออกมาเห็นกำปั่นทอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองนครฯ แต่หารู้ว่ากำปั่นใครไม่ ทรงตรัสถามจนนายฤทธินายเวร ก็ไม่บอกความ ครั้นนายดวง นายแพเข้าไป จึงบอกความว่า กำปั่นพระยาวิชิตณรงค์ไปถึงปากน้ำเมืองนครฯ ณ วันเดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ เปล่า ๆ ทั้งนั้นทีเดียว รู้อยู่แต่ไหน ๆ แล้ว พากันปิดบังเสียไม่บอกนั่นเอง อนิจจา ๆ เอ๋ย ทำราวกับว่าชีวิตจะอยู่ไปได้กี่มากน้อยนักหนาทีเดียว ความตายเร็วจะตาย ๒ วัน ๓ วันก็จะตาย เท่านี้แหละยังคิดเป็นไปได้ แล้วทรงตรัสว่า ก็เพราะอ้ายคนหัวด้วนหัวขาดนั่นเอง การจึงเป็นไปอย่างนี้ เป็นกระไรถามมันดูหรู เขาว่าพระยาสงขลาตายเสียแล้ว ดีใจหรือไม่ พระยาเทพถามแล้วกราบทูลว่าไม่ทราบ รับสั่งว่าไม่ทราบทำไม ดีใจเสียนักอีก แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า ให้จดหมายข้อความฝากเจ้าพระยายมราชออกมาให้ท้าวพระกรุณาทราบความว่าเมืองไทรนั้น พวกนครฯ ว่าได้เมืองแล้ว แต่จะฟังเอาเป็นแน่นั้นอย่าเพ่อฟังเอาเป็นแน่ก่อน ให้ฟังหูหนึ่งไว้หูหนึ่ง ตริตรองการให้รอบคอบจงมาก แลกระแสพระราชดำริซึ่งโปรดสั่งนั้น แจ้งมาในจดหมายเจ้าคุณหาบนซึ่งมีออกมานั้นแล้ว ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า มีอะไรหรือไม่พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ไมมีอะไรเข้ามาหามิได้ ทรงตรัสถามว่า เป็นกระไร เรือเจ้าพระยายมราชออกไปได้แล้วหรือยัง พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ยังไม่ตกหามิได้ ว่าเพลาพรุ่งนี้จึงจะตกออกไปได้ ทรงตรัสว่า จะใครให้ได้ออกไปเสียเร็ว ๆ หน่อยก็ไม่ใคร่ออกไปได้เลย แล้วรับสั่งสั่งพระยาเทพว่า ถามพวกนครฯ ดูหน่อยหรือ ว่ากระไร กองทัพพระยาไทรไปได้เมืองไทรแล้ว ถ้าเมืองสงขลาเสียหายบ้านเมืองกับอ้ายแขกเสีย จะได้ผลประโยชน์ที่เมืองไทรอย่างไร พระยาเทพถามนายดวง นายแพแล้ว กราบทูลว่าไม่ทราบ ทรงตรัสถามว่า ก็มันรู้บ้างหรือไม่ ว่าเมืองสงขลานั้นยังสู้รบกับอ้ายแขกอยู่หรือ หรือว่าเสียบ้านเสียเมือง ๆ สงขลาเสียแล้วอย่างไร พระยาเทพถามแล้วกราบทูลว่าไม่ทราบ ทรงตรัสว่า นั่นเป็นไรเล่า มันก็มีแต่ไม่ทราบเสียหมดทั้งนั้น ยังปิดปกดีอยู่นั่นเอง ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า เรือเจ้าพระยายมราชนั้นเป็นอย่างไรอยู่ จึงไม่ใคร่ได้ออกไปได้เลย พระยาโชฎึกก็ลงไปช่วยจัดแจงส่งแต่ ณ วันเดือน ๘ ขึ้น ๓ ค่ำหลายวันมาแล้ว เล่นเอาจนป่วยงานป่วยการหาได้ใช้สอยไม่ ไปเดินสายอย่างไรทีเดียวกับสำเภาเล็ก ๆ เท่านั้น จนปานนี้แล้วยังหาได้ออกไปไม่ ว่ากระไรพระยาพิพัฒน์ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เมื่อ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ขึ้น ๗ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำนั้น ลมเป็นลมสำเภาจัดนัก ตกลงเพลาบ่ายแล้วกล้าขึ้นทุกที เดินสายออกไปหาได้ไม่ ต้องงดเสียบ้าง เดินออกไปได้ทีละเส้น ๑ บ้าง ๒ เส้นบ้าง ว่ายังอยู่อีกเส้นหนึ่ง เพลาวันนี้จะตกหลังเต่าออกไปได้ แล้วทรงตรัสว่า เดินสายอะไรอย่างนี้ ทำราวกับไม่ใช่นักเลงสำเภาทีเดียว แต่ก่อนก็ได้ทรงทอดพระเนตรเล่นอยู่ เขาเดินสายเขาก็เดินแต่เพลาเช้ามืดลมสงบหมดนั่นแหละ เดินคราวหนึ่งก็ไปได้ ๒ เส้น ๓ เส้น เดิน ๓ วัน ๔ วันก็ตกแล้วกันเท่านั้น นึ่อะไรเดินอยู่จนปานนี้แล้วยังไม่ตกออกไปได้นั้น แล้วทรงตรัสถามว่า เรือนายทัพนายกองซึ่งยังค้างอยู่แต่ก่อน ๆ นั้น ล่องลงไปหมดแล้วหรือยัง พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ล่องลงไปอยู่ ณ เมืองสมุทร ๘ ลำแล้ว เข้ากันทั้งเรือแลคนซึ่งอยู่ ณ เมืองสมุทร กับได้ใช่ใบออกไปแล้วนั้น เป็นเรือ ๔๔ ลำคนสี่พันเศษ ทรงตรัสถามพระยาเทพว่า ก็ยังอยู่อีกกี่ลำเล่า พระยาเทพกราบทูลว่ายังอยู่อีก ๓ ลำ ทรงตรัสว่า ทำไมจึงให้มันโอ้เอ้อยู่ได้ ไม่ดูขับไล่ให้ลงไปให้พรักพร้อมกันเล่า เป็นเรือใครที่ไหน จึงโต้เต้อยู่จนปานนี้ พระนรินทร์กราบทูลว่า เป็นเรือหลวงปลัดเมืองอ่างทองลำ ๑ เรือพระธัญญาบริบาลลำ ๑ เรือหลวงอินทรสมบัติลำ ๑ ทรงตรัสว่า ดูเร่งขับไล่ให้มันรีบล่องไปเสียเร็ว ๆ มันจะได้ออกไปทันพรักพร้อมกัน แล้วทรงตรัสกับเจ้าคุณหาบนว่า ปานนี้พระราชรินทร์ถึงสงขลาเสียแล้ว ไม่พอที่จะมาปิดบังให้ทรงพระวิตกเลย ถ้าบอกเข้ามาเสียแต่แรกแล้วก็จะสิ้นพระวิตกทีเดียว ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า ปานนี้ก็เห็นจะพากันข้ามไปจากเมืองจันทบุรีแล้ว แล้วทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า มีอะไรบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า พระยาสมุทรปราการบอกเข้ามาว่า ท้าวพระกรุณาให้ขุนฤทธิรณไกรปลัดกองญวนถือหนังสือคุมเรือไล่สลัดเข้ามาเร่งเรือกองทัพออกไป ว่าเรือท้าวพระกรุณาใช้ใบไปถึงเมืองจันทบุรีแต่ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ เรือท้าวพระกรุณากับเรือนายทัพนายกองได้ใช้ใบข้ามไปจากเมืองจันทบุรีแล้ว เป็นเรือรบ ๑๔ ลำ เรือยืม ๔ ลำ เข้ากันเป็น ๑๘ ลำ ทรงตรัสถามว่า คนที่ให้เข้ามาเร่งเรือกองทัพนั้น เป็นคนอยู่ในจำนวนเกณฑ์ออกไปหรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เป็นคนอยู่ในจำนวนเกณฑ์ออกไป ทรงตรัสถามว่า มันกลับออกไปจะข้ามหรือไม่ข้าม พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่าตัวขุนฤทธิรณไกรจะข้ามมา ณ กรุงฯ แต่พระยาสมุทรบอกเข้ามาก่อน ขุนฤทธิรณไกรนั้นยังไม่มาถึงหามิได้ รับสั่งว่า ถามทีว่ามันกลับไปจะข้ามหรือไม่ข้าม พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ขุนฤทธิรณไกรคนนี้ท้าวพระกรุณาให้ถือหนังสือเข้ามากรุงฯ ตัวขุนฤทธิรณไกรจะเข้ามาก็มายังไม่ถึง พระยาสมุทรบอกนำเข้ามาก่อน ทรงตรัสว่า ใครว่าไรมี มันก็เข้ามากรุงก่อน ว่าแต่ที่มันจะกลับออกไปจากกรุงฯ นั้น มันจะข้ามหรือไม่ ถามอย่างนี้สิ พูดไม่เข้าใจเอาเลย พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ยังไม่ได้พบขุนฤทธิรณไกรหามิได้ ทรงตรัสว่าเออ ว่าอย่างนี้ก็จะแล้วเท่านั้น ต้องถามอยู่เป็นนักเป็นหนาทีเดียว แล้วรับสั่งว่า เอาหนังสือบอกมาอ่านไปเถิด พระยาพิพัฒน์ให้อ่านหนังสือบอกปากน้ำจบลงแล้ว ทรงตรัสว่า หนังสือบอกปากน้ำดอกหรือ ทรงคิดว่าหนังสือซึ่งขุนฤทธิรณไกร (ถือมา) พระยาสมุทรส่งขึ้นมาเล่า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า หนังสือบอกท้าวพระกรุณาอยู่กับขุนฤทธิรณไกร ขุนฤทธิรณไกรยังไม่มาถึงหามิได้ ทรงตรัสว่า มันยังไปอยู่ที่ไหนจึงไม่ขึ้นมาถึง จะได้ทรงฟังหนังสือบอกให้สบายพระทัยก็ยังไม่ขึ้นมา แล้วทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า ได้พากันข้ามจากเมืองจันทบุรีไปแต่วันเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำแล้ว ปานนี้ก็เห็นจะถึงเมืองนครฯ เสียแล้ว เป็นกรรมเป็นเวรทรงรำคาญด้วยเรือเจ้าพระยายมราชนี้นักหนาทีเดียว ไปติดอยู่เป็นอย่างไรที่ไหน จึงไม่ใคร่ตกออกไปได้เลย เขาก็พากันไปถึงเสียหมดแล้ว ยังหาออกไปได้ด้วยเขาไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่ามีอะไรมาหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ไม่มีเรืออะไรเข้ามาหามิได้ แต่ขุนฤทธิรณไกรปลัดกองญวน ซึ่งถือหนังสือบอกท้าวพระกรุณานั้นเข้ามาถึงแล้ว ทรงพระสรวลรับสั่งว่า เออเอาเข้ามาอ่านไปเถิด ทรงคอยจะฟังอยู่ จะได้ทรงฟังให้สบายพระทัย พระยาพิพัฒน์ให้นายเนียมมหาดเล็กซึ่งยกมากับพระยาพิพัฒน์อ่านขึ้นต้นหนังสือบอกว่า ข้าพระพุทธเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาบอกมา ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองฯ ทรงพระสรวลตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ในหนังสือบอกมีเข้ามาถึงใครหรือไม่[๒] เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า มีเข้ามาถึงพระยาพิพัฒน์ แล้วรับสั่งว่าอ่านไปเถิด ครั้นอ่านไปถึงข้อที่ว่าท้าวพระกรุณาให้ทอดเรือลงหยุดนอนพักไพร่พลให้รื่นเริงนั้น ทรงพระสรวลตรัสว่า ได้ยินเขาว่าอยู่ ก็แต่เพียงทอดเรือลงอยู่ที่นั่นเท่านั้น นี่ว่าทอดเรือลงแล้วก็นอนทีเดียว เมือทอดเรือแล้วจะไปนอน จะไปนั่งอยู่ที่ไหนก็ช่างเป็นไร ทอดเรือลงแล้วพากันนอนหลับเสียหมด ฉวยอ้ายสลัดศัตรูมันรู้ว่านอนหลับ มันแอบเข้ามารํ่าเอาข้าวเอาปลาไปกินเสียก็จะพากันอดอยู่กลางทะเล แล้วรับสั่งว่า ทรงฟังหนังสือบอกก็ค่อยสบายพระทัยอ่าน ต่อไปเถิด ครั้นอ่านไปถึงที่ข้อว่า เรือพระยาวิชิตณรงค์ เรือพระราชรินทร์ เรือขุนพัฒน์สงขลา จัดแจงทำปลอกเสาทำหางเสือเสร็จแล้ว พากันข้ามไปพร้อมกันทั้ง ๕ ลำนั้น ทรงตรัสว่า ทรงคิดอยู่แต่แรกว่ากำปั่นแกล้วกลางสมุทรพระยาวิชิตณรงค์ขี่ กับเรือยืมกองพระยาวิชิตณรงค์นั้นจะข้ามไปก่อนเรือปักหลั่นพระราชรินทร์เล่า เล่นเอาทรงพระวิตก ทรงตรัสถามถึงเรือพระราชรินทร์อยู่เป็นนักเป็นหนาก็ไม่มีใครกราบทูลให้ทรงทราบเลย มิรู้ก็ได้ข้ามไปทั้ง ๕ ลำพร้อมกันไปดีทีเดียว แล้วทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า ได้ทรงทราบก็เพราะบอกให้ขุนฤทธิรณไกรถือเข้ามาจึงได้ทรงทราบความเป็นแน่ พระยาจันทบุรี[๓][๔]ก็อยู่กับที่นั่น เรือเขาขึ้นไปทำปลอกเสาทำหางเสืออยู่ก็รู้ เขาพากันข้ามไปเมื่อไรก็ไม่บอกเข้ามาให้ทรงทราบ พากันนิ่งเฉยได้เสียหมด อ้ายคนหัวล้านหัวเหลืองอะไรมิรู้ แล้วรับสั่งว่าอ่านไปเถิด ครั้นอ่านหนังสือบอกจบแล้ว ทรงตรัสว่า ทรงฟังหนังสือบอกก็ค่อยสบายหายทรงพระวิตกไปแล้ว เรืออมรแมนสรรคใช้ใบไปแต่ปากน้ำเจ้าพระยา ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ไปถึงเมืองจันทบุรี ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำนั้นก็ไปเร็วนักหนา ไปได้ ๔ วัน ๕ วันเท่านั้นก็ถึงทีเดียว ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำก็ได้พานายทัพนายกองข้ามไปจากเมืองจันทบุรี ดูแคล่วคล่องดีนักหนา ปานนี้ก็เห็นจะถึงเมืองนครฯ เสียแล้ว แล้วทรงตรัสถามขุนฤทธิรณไกรว่า ตัวมันเข้ามาหรือไม่ ให้มันขยับเข้ามาให้เห็นหน้าจะทรงรู้จักมันบ้างกระมัง พวกญวนนี้แต่ก่อนก็ได้ทรงใช้สอยอยู่ มันจะเป็นคนใหม่หรือคนเก่า ข้าพเจ้าไปเฝ้าคอยฟังอยู่กับขุนฤทธิรณไกร บอกให้ขุนฤทธิรณไกรขยับขึ้นไป ทรงทอดพระเนตรเห็นขุนฤทธิรณไกร ทรงตรัสว่าหารู้จักไม่ แล้วทรงตรัสถามว่าเองเป็นคนใหม่หรือคนเก่า ขุนฤทธิรณไกรกราบทูลว่า เดิมขุนฤทธิรณไกรเป็นข้าอยู่ในกรมขุนอิศรานุรักษ์[๕] ครั้นกรมขุนอิศรานุรักษ์สิ้นพระชนม์แล้ว ขุนฤทธิรณไกรจึงเข้ามาอยู่ในกองญวน ทรงตรัสว่า อย่างนั้นมันก็เป็นคนใหม่หาทรงรู้จักไม่ คนเก่า ๆ แล้วทรงรู้จักอยู่มาก แล้วทรงพระสรวล ตรัสถามถึงท้าวพระกรุณาว่า เป็นกระไรนายเองเมื่อใช้ใบไปจากปากน้ำเจ้าพระยาแล่นไปในทะเลนั้นเมาคลื่นหรือไม่เมา ขุนฤทธิรณไกรกราบทูลว่าไม่เมา ทรงตรัสว่า ว่าไม่เมา ๆ ข้ามไปจะพากันไปเมางัวเงียไม่เป็นอันกินข้าวกินปลาอยู่ในกลางทะเลสิสนุกทีเดียว เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถ้าได้ไปไม่เมาแล้วถึงจะข้ามไปถูกคลื่นใหญ่ก็ไม่เป็นไร ไม่เมาหามิได้ จึงทรงตรัสถามขุนฤทธิรณไกรถึงท้าวพระกรุณาว่า เมื่อไปในท้องทะเลนั้น กินข้าวกินปลาได้ดีอยู่หรือ ขุนฤทธิรณไกรกราบทูลว่า รับพระราชทานได้ดีอยู่ ทรงตรัสว่า เขาว่าอยู่ว่าไปอย่างนี้ ถ้าไม่เมาคลื่นแล้วกินข้าวได้นักหนา แล้วทรงตรัสว่านายทัพนายกองที่พวกไม่เคยไปนั้น เองรู้บ้างหรือไม่ เป็นกระไรมันพากันเมางัวเงียไปหมดหรืออย่างไร ขุนฤทธิรณไกรกราบทูลว่า ไม่สู้มีใครเมาหามิได้ จึงทรงตรัสถามถึงท้าวพระกรุณาว่า ออกไปถึงจันทบุรีเข้าแล้วเป็นกระไร ไม่ไข้เจ็บสิ่งใดดูเป็นสุขสบายอยู่ดอกหรือ ขุนฤทธิรณไกรกราบทูลว่า ดูเป็นสุขสบายดีอยู่ ทรงตรัสว่า เออให้ไปเป็นสุข ๆ จำเริญสบายไปเถิด จะทรงพระราชทานศีลพระราชทานพรให้ออกมาทุกวัน ๆ แล้วจะทรงสร้างบำเพ็ญพระราชกุศลทรงพระราชอุทิศช่วยส่งมาให้ แล้วทรงตรัสถามขุนฤทธิรณไกรว่า ไพร่พลนายทัพนายกองทั้งปวงนั้นเป็นกระไร เป็นสุขสบายรื่นเริงดีอยู่ด้วยกันหมดดอกหรือ ขุนฤทธิรณไกรกราบทูลว่า สบายรื่นเริงดีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ทรงตรัสถามขุนฤทธิรณไกรว่า เองจะกลับออกไปจะไปข้ามหรือไม่ ขุนฤทธิรณไกรกราบทูลว่าจะข้าม ทรงตรัสถามว่าจะไปข้ามได้หรือ จะไปข้ามที่ไหน ขุนฤทธิรณไกรกราบทูลว่าข้ามได้ จะไปข้ามที่เมืองจันทบุรี ทรงตรัสกับเจ้าคุณหาบนว่า เรือไล่สลัดนั้นก็เป็นเรือเล็ก มันจะออกไปข้ามที่จันทบุรีได้หรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าเรือไล่สลัดนั้นพอข้ามไปได้ ไม่เป็นไรหามิได้ ทรงตรัสถามว่า ก็เรือไล่สลัดนั้นว่าเอาไปด้วย ๒ ลำ ขุนฤทธิรณไกรเอาเข้ามานี่ลำ ๑ ยังอยู่อีกลำ ๑ นั้นให้กลับเข้ามาเสียหรือ หรือเอาข้ามติดไปด้วยเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าเอาข้ามติดไปด้วย ทรงตรัสว่า อย่างนั้นก็เห็นพอจะข้ามไปได้แล้ว จึงเอาข้ามไปด้วย จึงรับสั่งสั่งขุนฤทธิรณไกรว่า เองเข้ามาอย่าอยู่ให้ช้านัก รีบจัดแจงออกไปเสียเร็ว ๆ นายเองจะได้ใช้สอยการข้างนอก เองเป็นคนแข็งแรงอยู่ เองออกไปให้ใช้สอยคราวนี้ ก็เหมือนหนึ่งได้ใช้สอยทำบุญคุณได้ต่อแผ่นดินเถิด แล้วทรงพระสรวลตรัสกับเจ้าคุณหาบนว่า เมื่อวันเดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ แผ่นดินไหวนั้น พวกเรือซึ่งอยู่ที่ทะเลก็ว่าหาสู้กระไรนักไม่ เป็นแต่ไหวเรือเยือกอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งก็แล้วกันเท่านั้น ด้วยที่น้ำทะเลนั้นเป็นที่กว้าง เห็นจะหาไหวแรงเหมือนข้างบกไม่ แล้วทรงตรัสถึงเรือท้าวพระกรุณาว่า เมื่อวันเดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำพากันข้ามไปแล้วนั้นจะไปไหวเล่นเรือที่ข้ามไปอย่างไร จะไหวไปเพียงไหนก็ยังไม่ทรงทราบ แดว่าข้ามไปถึงกลางทะเลแล้ว เห็นจะไหวเบาลงมาก ด้วยว่าเป็นที่กว้างห่างแผ่นดินฝั่งออกไป จะหาไหวแรงเหมือนหนึ่งเรือริมฝั่งไม่ แล้วทรงตรัสว่าปานนี้ก็จะพากันข้ามไปถึงเมืองนครฯ เสียแล้ว หรือว่ากระไร เจ้าพระยาพระคลัง เมื่อแรกจะไปก็ว่าอยู่ว่า ระยะทางที่จะข้ามไปติดนครฯ นั้น กำหนดก็ ๒ คืน ๓ วันเท่านั้น จะยังไม่ถึงทีเดียวหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถึงเมืองนครฯ เสียแล้ว ทรงตรัสว่าจะไมถึงไปไหน เรือก็แคล่วคล่องนักหนาอยู่เห็นจะถึงเสียแล้ว ตกไปกลางเดือน ๕ แรมค่ำหนึ่งสองค่ำก็คงจะได้ฟังหนังสือบอกเข้ามา ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสถามพระยาโชฎึกว่า เป็นกระไรเรือเจ้าพระยายมราชออกตกลึกได้แล้วหรือ พระยาโชฎึกกราบทูลว่าออกตกลึกได้แล้ว ทรงตรัสถามว่า เมื่อไรจะได้ใช้ใบไปเล่า พระยาโชฎึกกราบทูลว่า คอยเรือลำเลียงน้ำอยู่อีกคราวเดียวแล้วก็จะใช้ใบออกไป ทรงตรัสว่ามีแต่ติดโน่นติดนี่ไปเสียหมด ไม่ใคร่จะรู้แล้วออกไปได้เลย เล่นเอาช้าวันช้าคืนไปทีเดียว แล้วรับสั่งสั่งพระยาพิพัฒน์ว่า ดูจดหมายเอากำหนดวันคืนจำนวนเรือจำนวนคน ตามหนังสือบอกขุนฤทธิรณไกรถือเข้าไปไว้ให้ดีอย่าลืมเสีย จะทรงตรัสถามเมื่อไรจะได้ทรงทราบความโดยง่าย แล้วทรงตรัสถามไปด้วยเรื่องฝิ่นจนเสด็จขึ้น ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า เป็นกระไร เรือเจ้าพระยายมราชนั้นได้ลำเลียงน้ำแล้วหรือยัง พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ยังไม่มีใครขึ้นมาหามิได้ ทรงตรัสถามว่า ก็จำนวนเรือนายทัพนายกองนั้นล่องออกไปครบจำนวนหมดแล้วหรือยัง พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ล่องออกไปหมดแล้ว พระยาสมุทรบอกขึ้นมาเป็นจำนวนเรือได้ออกไป ๔๔ ลำ ยังขาดอยู่ ๓ ลำ ทรงตรัสถามว่า มันยังขาดใครอยู่ที่ไหนเล่า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ที่ในก็พากันล่องลงไปหมดแล้ว ไม่มีเรือใครเหลืออยู่หามิได้ เห็นจะออกไปหมดสิ้นแล้ว รับสั่งสั่งว่า ให้ใครมันลงไปไล่ตรวจตราดูขับออกไปเสียให้สิ้น อย่าให้หลงเหลือโต้เต้อยู่ได้ ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า มีอะไรมาบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ไม่มีเรืออะไรเข้ามาหามิได้ แต่พระยาสมุทรบอกเข้ามาว่า ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำเพลาเช้า ๓ โมง เรือกองทัพซึ่งใช้ใบออกไป เป็นเรือยืมกลับเข้ามาถึงเมืองสมุทรลำหนึ่ง หลวงวิเศษสงครามจางวางพวกทรงดำเป็นนายเรือ แจ้งว่าได้ใช้ใบออกไป ถูกคลื่นใหญ่เข้าเรือรั่วจึงกลับเข้ามา คนในลำเรือนั้นเป็นไทยราชบุรี ๒๐ คน เป็นพวกทรงดำ ๑๐๐ คน เข้ากัน ๑๒๐ คน ว่าบรรทุกข้าวหลวงออกไปด้วย ๑๔ เกวียน ข้าวเปียกไป ๕ เกวียน ทรงตรัสถามว่า ก็คิดกันว่ากระไรเล่าจะเอาเรืออะไรลงไปเปลี่ยน พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้พระยาโชฎึกยืมเรือลูกค้าลงไปเปลี่ยน จึงรับสั่งสั่งพระยาโชฎึกว่าดูจัดแจงยืมลงไปเปลี่ยนถ่ายข้าวขึ้นเสียให้แล้วเร็ว ๆ มันจะได้กลับออกไปได้ ออกไปแล้วก็เป็นเรือรั่วกลับเข้ามา เล่นเอาช้าวันช้าคืนโต้เต้อยู่นั่นเอง กว่าจะได้ออกไปก็เห็นจะหลายวันอยู่ แล้วรับสั่งสั่งพระยาเทพว่า ให้ขุนหมื่นมันลงไปคอยดูกำกับขนถ่ายให้มันได้ออกไปเสียในเร็ว ๆ อย่าให้มันช้าวันช้าคืนไปได้ แล้วทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า ปานนี้ก็เห็นจะไปถึงเสียแล้ว ข้ามไปแต่วันเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำนั้น นับวันดูก็ได้ ๖ วัน ๗ วัน เป็นกระไรจะถึงหรือไม่ถึง พระยาโชฎึกกราบทูลว่า เห็นจะถึงเพียงเมืองนครฯ ยังหาไปถึงสงขลาไม่รับสั่งว่าไปถึงเมืองนครฯ นั่นสิ ใครว่าไรมี เหมือนหนึ่งถึงเหมือนกัน กลัวว่าข้ามไปลมจะจัดจะตกเข้ามาเสียข้างใน ยังไม่ออกไปถึง จะช้าอยู่สักวันหนึ่งสองวันจะเป็นหรือไม่เป็น พระยาโชฎึกกราบทูลว่าข้ามที่เมืองจันทบุรีแล้วก็เห็นจะติดเมืองนครฯ ที่จะตกเข้ามาข้างในช้าไปจนวันหนึ่งสองวันเห็นจะไม่เป็นหามิได้ ทรงตรัสว่า อย่างนั้นปานนี้ก็ถึงนครฯ ได้พูดจากันอยู่เสียแล้ว เจ้าพระยานครฯ ลงมาหาบ้าง ขึ้นไปหาบ้าง จะพูดจาคิดอ่านกัน หยุดอยู่ที่เมืองนครฯ ก็ราวสัก ๔ วัน ๕ วันจึงจะได้ลงไปเมืองสงขลา เป็นกระไรหนอ ข้างเมืองสงขลาก็เงียบไปทีเดียว จะบอกเข้ามาให้ได้ทรงทราบเสียก่อนสักทีหนึ่งนั้น จะไม่บอกเข้ามาเสียแล้วหรืออย่างไร หรือจะได้ทรงฟังเอาหนังสือบอกกองทัพใหญ่เข้ามาทีเดียว จึงเงียบไปเสียหมด ทรงฟังดูหนังสือบอกซึ่งให้ขุนฤทธิรณไกรถือเข้ามานั้น ก็ว่าชัดแน่นอนนักหนาว่า พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ ได้ข้ามพร้อมกันไปทั้ง ๕ ลำ เป็นกระไร ปานนี้จะยังไม่ถึงเมืองสงขลาทีเดียวหรือ จึงเงียบไปเสียหมด ไม่บอกเข้ามาให้ทรงทราบบ้างเลย จึงทรงตรัสถามว่า หนังสือบอกขุนฤทธิรณไกรถือเข้ามานั้นว่า เรือพระยาวิชิตณรงค์ เรือพระราชรินทร์ ข้ามพร้อมกันไปเมื่อวันไร พระยาพิพัฒน์ พระยาเทพ นิ่งพลิกหาสมุดจดหมายอยู่ ทรงตรัสว่า มีแต่พากันลืมไปเสียหมด ไม่จำไว้บ้างเลยได้ทรงสั่งให้จดหมายไว้แล้วทีเดียว ยังทรงตรัสถามไม่ได้ความ จะหาใครที่เป็นคนจำไว้ ตั้งเป็นขุนจำ เป็นหมื่นจอง ให้มันเข้ามาคอยจำอยู่สักคนหนึ่งก็ไม่มีใคร แล้วทรงตรัสถามว่า ว่ากระไร พลิกสมุดดูได้จดหมายไว้หรือว่าข้ามไปวันไร พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือพระยาวิชิตณรงค์ เรือพระราชรินทร์ ข้ามไปวันเดือน ๔ แรมค่ำ ๑ ทรงตรัสว่า ข้ามไปแต่วันเดือน ๔ แรมค่ำ ๑ นั้น ข้างนครฯ จดหมายเข้ามาว่า เรือพระยาวิชิตณรงค์ออกไปถึงเมืองนครฯ ณ วันเดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ ถามนายดวง นายแพ ด้วยเรือพระราชรินทร์นั้น ก็ว่าพบที่ปากน้ำเมืองนครฯ ณ วันเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ทรงฟังดูคลาดกันกับพระยาวิชิตณรงค์ถึง ๖ วัน ๗ วัน เป็นกระไรพระยาโชฎึก เห็นจะข้ามตกเข้ามาข้างในเสียหรือจึงคลาดกันไป พระยาโชฎึกกราบทูลว่า เห็นจะข้ามตกเข้ามา กำปั่นแกล้วกลางสมุทรกับเรือปักหลั่นนั้น ถึงจะข้ามพร้อมกัน กำปั่นแกล้วกลางสมุทรแล่นดีกว่า เห็นจะหาทันกันไม่ ทรงตรัสถามว่า ในหนังสือบอกนั้นว่าข้ามที่ไหน พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ข้ามที่เกาะช้าง ทรงตรัสถามว่า นับแต่วันเรือพระราชรินทร์ข้ามมาจนวันเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ได้ ๑๕ วัน ปานนี้จะถึงเมืองสงขลาแล้วหรืออย่างไรก็ไม่รู้ พากันเงียบไปเสียหมด จะทรงคอยฟังบอกข้างสงขลาสักทีหนึ่งเท่านี้แหละหายไปทีเดียว ว่ากระไรพระยาโชฎึก พระยาโชฎึกกราบทูลว่า เห็นจะไปถึงเมืองสงขลาแล้ว ถ้าได้ลงไปข้ามที่เกาะกงแต่แรกก็จะติดเอาเมืองสงขลาได้ แล้วทรงตรัสถามว่า พวกนครฯ ใครเข้ามาหรือไม่ พระยาเทพกราบทูลว่า ไม่มีใครเข้ามาหามิได้ ทรงตรัสถามว่าเรือขุนพลพิฆาฏนั้น จดหมายเข้ามาว่าไปถึงนครฯ เมื่อไร พระยาเทพนิ่งอยู่ทรงตรัสว่า ช่างกระไรไม่จำไว้บ้างเลย เขาจดหมายมาว่าพระยาวิชิตณรงค์ไปถึงวันเดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ ขุนพลพิฆาฏก็ไปถึงวันนั้นคืนนี้ มีมาในจดหมายหมด ก็ไม่จำเอาเลย ทรงฟังก็จำได้ตามราวความอยู่ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พระราชธุระนั้นมีมาก หาได้ทรงกำหนดวันคืนไว้ไม่ แต่เห็นจะเป็นวันเดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำหรือกระไรนั่นเอง เมื่อนายดวง นายแพ มันเข้ามาครั้งหลังนั้นมันก็ว่าพบอยู่ มันเข้ามาก็ว่ามาแต่นครฯ วันเดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ แต่คำอ้ายจีนจูลูกค้านั้น มันว่ามันเข้ามาแต่นครฯ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ ว่าเจ้าพระยานครฯ ยังจัดแจงทำหนังสือบอกอยู่จะให้ตามเข้ามาข้างหลัง มันว่าอยู่อย่างนี้ ครั้นทรงฟังคำนายดวง นายแพเข้า มันไม่ถูกจริงเข้าเลย เป็นแต่ปดไปเสียหมดทั้งนั้น จะทรงตรัสไถ่ถามก็มีแต่ปิดบังเสีย หาความจริงไม่ เล่นเอาพระทัยร้อนวับ ๆ หวิว ๆ อยู่ด้วยเรือแพไพร่พลจะถึงหรือยังไม่ถึงนั้นนักหนาทีเดียว เป็นเคราะห์เป็นกรรมอะไรอย่างนี้ไม่พอที่จะมาถือเปรียบท้องที่กันคิดปิดบังเปล่าๆ ถ้าช่วยเหลือกันทำให้พรักพร้อมแล้ว ป่านนี้ก็จะแล้วเสียแต่ไหน ๆ แล้ว ทำไมกับอ้ายแขกมันมาเท่านั้น คนนครฯ บอกเข้ามาคราวนี้ ก็ยกไปถึงสี่พันหย่อน ๕ คน คนที่สงขลาก็สองพัน จะรวบรวมควบกันเข้าช่วยกันทำเอาจริง ๆ แล้ว มันจะอยู่สู้รบทำเอาจนถึงอย่างนี้ได้ที่ไหน นี่มานิ่งให้อ้ายแขกมันทำเอาจนยับเยินไปได้ การทั้งนี้ก็เป็นเพราะอ้ายคนหัวขาดคนเดียวนั่นเอง จะสู้รบแต่อ้ายแขกขี้ริ้วนิดหนึ่งเท่านั้นก็สู้มันไม่ได้ แล้วทรงตรัสว่า ประทมคิด ๆ อยู่ถึงอ้ายมิศบอนำแล้วให้สงสัยพระทัยไปทีเดียว มันจะทำเป็นสองหน้าสองตาเสียหรืออย่างไร พวกนายกำปั่นราชฤทธิก็บอกเข้ามาว่า กำปั่นซึ่งมาช่วยปิดปากน้ำเมืองไทรนั้น รู้ว่ากองทัพกรุงฯ ยกออกไปถึงก็ถอยไป ว่าอ้ายมิศบอนำลงไปเมืองเกาะหมาก มันจะลงไปด้วยเหตุผลอย่างไรหนอ หรือครอบครัวเมืองตรัง เมืองสตูล ซึ่งอ้ายแขกมันกวาดผ่อนลงเรือไปไว้ที่เกาะนางกาวีนั้น อ้ายมิศบอนำจะลงไปคิดจัดแจงแบ่งปันกันดอกกระมัง ทรงฟังดูประหลาดพระทัยนักหนา ข้างพวกนครฯ เล่า บอกเข้ามาก็ว่าให้กำปั่นมาช่วยปิดปากน้ำเมืองไทรไว้ถึงเดือนหนึ่ง ๒ เดือน ข้างอ้ายแขกซึ่งยกมาตีสงขลาเล่าก็ตีกันติดติ้วอยู่นั่น ข้างพวกนครฯ เล่าก็ว่ายกลงไปตีอ้ายแขกแตกไปที่นั้น ๆ ได้เมืองไทรทีเดียว ทรงฟังดูทำได้ง่ายดายนักหนา ปืนใหญ่ปืนน้อยมันเก็บไปเสียหมดหรืออย่างไร มันจึงไม่สู้รบเป็นที่มั่นคงเลย ดูประหนึ่งว่ายกลงไปก็ได้เอาเมืองไทรทีเดียว ประหลาดนักหนา ถ้าข้างนครฯ ได้เมืองไทรแล้ว อ้ายแขกมันจะสู้รบกับพวกสงขลาที่ไหน มันก็คงพากันเลิกหนีไปหมด ถ้ามันยังไม่เลิกหนีไป มันตีสงขลาติดติ้วอยู่อย่างนั้นแล้ว ก็เห็นเป็นอ้ายมิศบอนำมันคิดให้มาตีเมืองสงขลา แล้วสั่งกันไว้ว่า ถ้ากองทัพกรุงฯ ยกออกมาก็ให้กวาดผ่อนเอาครอบครัวช้างม้าโคกระบือหนีไปทางบก ทางเมืองรามันห์ไปกลามุกดาเข้าแปไหรทีเดียว ข้างทางปากน้ำเมืองไทรนั้นเห็นจะหาให้ไปไม่ มันจึงให้กำปั่นมาคอยระวังดูอยู่ที่ปากน้ำ ด้วยจะผ่อนครอบครัวเอาช้างม้าโคกระบือไปยาก ไม่เหมือนหนึ่งไปทางบก ไปทางนั้นคิดกวาดต้อนผ่อนปรนเอาไปจนหมดได้ ความเห็นจะเป็นอย่างนี้หรืออย่างไร แล้วทรงตรัสถามว่า พระยาไกรเข้ามาหรือไม่ พระยาเทพกราบทูลว่า ไม่ได้เข้ามา ทรงตรัสถามพระยาโชฎึกว่า รู้บ้างหรือไม่ แต่กลามุกดาไปแปไหรนั้นทางกี่วัน พระยาโชฎึกกราบทูลว่า ไปแต่กลามุกดาทางวันหนึ่งก็เข้าแดนแปไหร ถ้าจะข้ามไปเกาะหมากก็ข้ามที่เมืองแปไหรได้ ทรงตรัสว่าปานนี้มันก็กวาดครอบครัวผ่อนเข้าไปเสียหมดแล้ว มันจะอยู่สู้รบก็แต่พวกฉกรรจ์ ๆ ที่จะคอยกันครอบครัวซึ่งเลื่อยล้าก็จะมีบ้างเล็กน้อย ถ้าเห็นสู้ไม่ได้แล้วก็จะพากันหนีไปทางรามันห์ ลงกลามุกดาหมดนั่นเอง ถึงไปได้เมืองไทรแล้วก็ได้แต่เมืองเปล่า จะไปเอาอะไรที่ไหนได้ คำอ้ายจีนจูก็ว่ามันจุดเผาบ้านเมืองเมืองไทรเสียหมดแล้วมันจึงหนีไปทางบก การไม่พอที่จะพากันให้ลำบากไพร่พลมากมายถึงอย่างนี้เลย เสียทีที่กองทัพใหญ่ยกออกมาเปล่า ๆ ดูน่าขวยใจอดสูเขา ถึงกระไรจะรอให้แต่พอทันทัพใหญ่ลงมือทำสักทีหนึ่งก็ไม่ได้ ถ้าได้ลงมือทำทันแล้ว ถึงอ้ายแขกจะแตกหนีไปพ้นได้ ก็ยับเยินกระจัดกระจายกันเต็มที คงจะได้ตัวรู้จักว่าแขกพวกนั้นพวกนี้หมดนั่นแหละ นี่ยกออกไปเสียทีเสียแล้ว ป่วยงานไพร่พลเสบียงอาหารเล่นทีเดียว แล้วทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า ครั้นออกไปถึงแล้วพวกเมืองไทรมันไปเสียหมด จะคิดตามไปกวาดต้อนเอามันมาไม่ได้แล้ว ก็จะกวาดต้อนเอาคนเหล่าจะนะ เหล่าเทพา เหล่าหนองจิก ที่กตงกหรํ่าที่สตูล ที่ละงู เหล่านี้นั่นเอง หรืออย่างไร ข้างกองทัพนครฯ เล่าก็บอกมาว่าเมื่อพระยาไทรยกไปถึงมุเกมสะเดานั้น อ้ายแขกหลังพากันเข้าหากองทัพพระยาไทร ๑๒ ครัว อ้ายแขกหลังก็บอกออกความกับพระยาไทรว่า เมื่ออ้ายตนกูหมัดสอัดมารบสงขลานั้น อ้ายแขกหลังก็มารบด้วย ครั้นอ้ายตนกูหมัดสอัดหนีไป ว่าเดิมมีคนติดตัวอ้ายตนกูหมัดสอัดไปถึง ๔๐๐ คน ๕๐๐ คน ครั้นมาเหลือติดตัวอยู่แต่ ๕๐ คน นอกจากนั้นว่าแตกพ่านไปหมด ครั้นกองทัพพระยาไทรตีได้กะบังปาสูแล้ว ก็ว่าอ้ายหวันเจ๊ะลามุดาออกหาพระยาไทรอีก แต่หาบอกจำนวนคนไม่ กองทัพพระยาไทรก็เข้าใจเสียว่า ถึงจะมารบสงขลาก็ช่างเป็นไร ไม่ได้มารบเมืองนครฯ แล้ว ข้าก็คงจะยกความชอบเอาไว้ว่าเป็นแขกเข้าหา เลี้ยงข้าวเลี้ยงปลาให้มันกินสนุกไป ถึงอายแขกพวกไทรที่หนีไปไม่ทันจะมาเข้าหากองทัพเมืองนครฯ เมืองนครฯ กับพระยาไทรก็จะเอาไว้ว่าเป็นแขกเข้าหา จะเปล่าไปเสียหมดทั้งนั้นนั่นเอง จะหาได้ตัวอ้ายพวกเมืองไทรคนร้ายแต่สักคนหนึ่งไม่ จะได้ก็แต่คนเหล่าที่ว่าหรืออย่างไรนั่นแหละ ข้างสงขลาเล่าทรงคอยฟังความอยู่การจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่ทราบ พากันเงียบหายไปหมด จะบอกเข้าไปให้ทรงทราบก่อนสักทีหนึ่งก็ไม่บอกเข้าไป ไหน ๆ คอยทรงฟังเอาหนังสือบอกกองทัพใหญ่เถิด การจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ไหนออกไปถึงแล้วก็คงจะรู้บอกเข้ามา แล้วทรงตรัสถามถึงเรื่องเจ้าพระยายมราชว่า มีใครขึ้นมาบอกอย่างไรบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ยังไม่มีใครขึ้นมาหามิได้ ทรงตรัสว่า เรือน้ำจะออกไปส่งถึงแล้วหรือยังหนอ ออกไปส่งให้ถึงได้น้ำเสียหน่อยจะได้ออกไป ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า มีอะไรเข้ามาหรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่าไม่มีเรืออะไรเข้ามาถึงหามิได้ แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า ดูจัดแจงช่วยถ่ายเรือรั่วส่งเสียออกไปเสียหน่อยหนึ่งมันจะได้ออกไป ว่าข้าวในเรือก็เปียกน้ำเสีย ๕ เกวียน ดูจัดให้ใครมันลงไปดูแลเร่งรัดเข้าด้วย ขนถ่ายเสียให้แล้ว ให้มันออกไปในเร็ว ๆ อย่าให้มันโต้เต้อยู่ได้ เมื่อแรกมันจะไปมันก็ไม่ดูแลเสียให้ดีเลย ออกไปเกิดรั่วเข้าอย่างนี้ก็พากันกลับเข้ามา จึงตรัสถามพระยาโชฎึกว่า จะเอาเรืออะไรลงไปให้เปลี่ยน พระยาโชฎึกกราบทูลว่าจะหาเรือยืมลงไปให้เปลี่ยนสัก ๒ ลำ เรือลำนี้เป็นเรือใหญ่อยู่ เมื่อแรกยืมมาได้เอาไปส่งให้ท้าวพระกรุณา ท้าวพระกรุณาก็ได้ดูแลสั่งให้ทำหมันเสียใหม่ให้ดีอยู่แล้ว เห็นจะรั่วก็รั่วอยู่ตามรอยเพรียงกิน รับสั่งว่า ก็ดูเร่งหาส่งไปให้ได้เปลี่ยนเสียในเร็ว ๆ หน่อยเถิด ครั้นจะไม่ให้มันออกไปจะชักเอาไว้เล่า จำนวนคนซึ่งออกไปก็จะขาดจะว่าได้ ครั้นมีการงานจะใช้ให้พระยาเพชรบุรีไปข้างไหน พระยาเพชรบุรียังไม่รู้ก็จะคอยกันอยู่ ถ้ารู้เข้าว่าชักเอาไว้ก็จะเสียใจ ว่าใช้นายไปแล้วมาชักเอาบ่าวไว้ ดูเร่งจัดแจงส่งให้มันออกไปได้เร็ว ๆ เถิด แล้วทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า เรือเจ้าพระยายมราชนั้นเป็นกระไร จะได้ใช้ใบไปแล้วหรือยังเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าว่าได้รับพระราชทานลำเลียงน้ำอีกคราวนี้แล้วก็จะใช้ใบไป ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ถึงเรือเจ้าพระยายมราชอีก พระยาพิพัฒน์กราบทูลเหมือนหนึ่งเจ้าคุณหาบนกราบทูลเมื่อเพลาเช้า ทรงตรัสว่า ลมจะจัดหนักหรืออย่างไรก็ไม่รู้ ได้ลำเลียงน้ำแล้วจะใช้ใบไป ถ้าลมจัดหนักเข้า ใช้ออกไปก็จะเอาถอยหลังกรูด ๆ เข้ามาติดอยู่ที่นั่นเอง ถ้าถูกเป็นลมสลาตันเข้าแล้ว ก็จะโต้หน้าเข้ามาเอาออกไปหาได้ไม่ โดยว่าออกไปได้ จะไปถูกลมสลาตันอย่างว่าเข้า ก้าวออกไปก็เต็มทีนักหนา ก้าวอยู่สัก ๗ วัน ๘ วันก็จะหาได้สักรอยหนึ่งไม่ มันจะเล่นเอาถอยหลังเข้ามาเสียอีก แต่มรสุมลมสลาตันจะกล้านั้นก็ตกลงไปต่อเดือน ๗ เดือน ๘ จึงจะกล้า ถ้าไปในเดือน ๕ เดือน ๖ นีก็ยังเป็นลมสำเภาอยู่ พอจะก้าวหารอยลงไปได้ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า มีอะไรเข้ามาบ้างหรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า พระยาสมุทรบอกเข้ามาว่า สำเภาง่วนเส็งซึ่งเจ้าพระยายมราชขี่ออกไปนั้นได้รับพระราชทานลำเลียงน้ำแล้ว ใช้ใบไปจากชำแระนอก ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ก้าวลงไปข้างสามร้อยยอด ขุนศรีกรมการได้ตามดูอยู่จนแล่นหายลำมาแล้ว ทรงตรัสว่าเออ ออกไปได้ พ้นทุกข์พ้นร้อนทีเดียว ทรงคิดอยู่ว่ายังจะไปติดลมอยู่ออกไปไม่ได้เล่า ออกไปได้นั้นดีแล้ว ให้ไปดีมาดีเถิดแล้วทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า ปานนี้ก็เห็นจะคอยถามข่าวหาเจ้าพระยายมราชอยู่แล้ว ออกไปจะได้ไปถึงช่วยคิดการงานกันให้พรักพร้อม มีการมาประการใดจะได้ไปทำทันท่วงทีราชการ ๚

๏ แลกระแสพระราชดำริกับข้อความบอกราชการนั้น ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานคอยฟังเสมออยู่เป็นนิจทุกวัน แต่ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ขึ้น ๑๔ ค่ำนั้นมีความอยู่แต่เท่านี้ ข้าพเจ้ารับพระราชทานจดหมายออกมาตามได้รับพระราชทานฟัง ข้อความจะขาดผิดเพี้ยนประการใด ควรมิควรรับพระราชทาน พระเดชพระคุณสุดแล้วแต่จะโปรด จดหมายมา ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีกุนเอกศก (จุลศักราช ๑๒๐๐ พ.ศ. ๒๓๘๑) ๚



[๑] ที่อโลสะตา คือ ที่ตั้งเมืองไทรอยู่ทุกวันนี้ เมืองไทรครั้งนั้นตั้งอยู่ที่ปากน้ำ

[๒] ธรรมเนียมใบบอกต้องบอกว่ามาถึงผู้นั้นๆ มีลูกขุน ณ ศาลาเป็นต้น ให้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา แต่ถ้าเวลาคัดบอกขึ้นกราบทูลเคยตัดชื่อออกเสียเพื่อจะให้สั้น แต่เจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่บางองค์เคยข้ามชื่อผู้อื่นเสียบอกกราบทูลตรงทีเดียวมีอยู่บ้าง ถ้าหากว่าผู้ที่จะทำเช่นนั้นต้องเป็นผู้ซึ่งทรงพระกรุณาไว้วางพระราชหฤทัยโปรดปรานมากจึงทำได้ ที่นี้จึงได้ทรงสงสัยรับสั่งถาม แต่ได้ความว่าบอกเข้ามาถึงพระยาพิพัฒน์ข้อที่บอกเข้ามาถึงพระยาพิพัฒน์เช่นนี้ก็เป็นอันลัดทางอยู่แล้ว คือไม่บอกมาถึงออกพันนายเวร ให้นำความขึ้นกราบเรียน พณฯ ลูกขุน ณ ศาลา พระยาพิพัฒน์เป็นผู้สนองพระโอษฐ์แลเพราะเป็นปลัดทูลฉลองในกรมท่า ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่กระทรวงกระลาโหม สมเด็จองค์น้อยเทียบที่เจ้าพระยาพระคลัง พระยาพิพัฒน์ก็เหมือนเป็นปลัดทูลฉลองของสมเด็จองค์น้อย เหมือนอย่างกับมีหนังสือเข้ามาถึงกระทรวงตัวเองให้นำความขึ้นกราบทูล จึงเปนอันนับว่าเดินแต้มสูงแปลกอยู่แล้ว โดยทรงพระกรุณาจึงเป็นเหตุให้ทรงพระสรวล

[๓] พระยาจันทบุรีผู้นี้ในรัชกาลที่ ๔ เป็นพระยาไกรโกษา บิดาพระยาสโมสรสรรพการ*

* พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด) ต้นสกุล ศิริสัมพันธ์

[๔] พระยาจันทบุรี (สองเมือง)

[๕] เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระนามเดิมว่าเกศ เป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ