ประชุมความท้ายเรื่อง

เรื่องราวพงศาวดาร คราวพระยาศรีพิพัฒน์ยกกองทัพลงไปหัวเมืองปักษ์ใต้ ต่อจากความอันปรากฏในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ มีเนื้อความดังจะอธิบายไว้ในที่สุดเรื่องต่อไปนี้

ส่วนเมืองไทรบุรี

เมื่อไทยปราบปรามพวกแขกขบถ ได้เมืองไทรคืนครั้งที่ ๒ แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้แยกเขตแขวงเมืองไทรบุรีออกเป็น ๑๒ มุเกม (ทำนอง อำเภอทุกวันนี้) จัดเป็น ๔ เมือง คือ เมืองไทรบุรี ๑ เมืองกะปังปาสู ๑ เมืองปลิศ ๑ เมืองสตูล ๑ ต่างไม่ขึ้นแก่กัน แลฟังบังคับบัญชาตรงจากเมืองนครศรีธรรมราชทั้ง ๔ เมือง โปรดให้ย้ายพระยาไทรบุรี (แสง) มาเป็นพระยาบริรักษ์ภูธร ผู้ว่าราชการเมืองพังงา พระเสนานุชิต (นุช) มาเป็นปลัดเมืองพังงาอยู่ก่อน ต่อมาตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าว่าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเสนานุชิต ขึ้นเป็นพระยาเสนานุชิต ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า ส่วนเมืองไทรบุรีซึ่งแยกออกเป็น ๔ หัวเมืองนั้น โปรดให้เลือกสรรพวกแขกซึ่งมีความสวามิภักดิ์ และเป็นผู้ที่ราษฎรนับถือ ตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองทั้ง ๔ เมือง คือ ตนกูอาหนุ่ม ว่าราชการเมืองไทรบุรี ตนกูอาสัน ว่าราชการเมืองกะบังปาสู ตนกูหมัดอาเก็บ ว่าราชการเมืองสตูล ทั้ง ๓ คนนี้เป็นญาติวงศ์ของพระยาไทรแต่ก่อน ส่วนเมืองปลิศนั้นทรงตั้งเสดอุเซ็น เป็นผู้ว่าราชการเมือง (ภายหลังจึงมาเกี่ยวดองกับสกูลเจ้าพระยาไทรในทางเป็นเขย)

ต่อมา ถึงปีฉลูตรีศก จุลศักราช ๑๒๐๓ พ.ศ. ๒๓๘๔ เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) แต่งให้ตนกูดาอีผู้บุตร กับตนกูอาเก็บ ถือหนังสือเข้ามายังกรุงเทพฯ ขอให้เสนาบดีนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอรับพระราชโทษที่ได้กระทำความผิดล่วงพระราชอาญามาแต่หลัง จะขอเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทรับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไป เวลานั้นประจวบตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกะบังปาสูว่าง ด้วยตนกูอาสันถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายตนกูอาหนุ่มมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองกะบังปาสู แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกโทษพระราชทานเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ให้กลับมาว่าราชการเฉพาะเมืองไทรที่แบ่งใหม่

ส่วนเมืองกลันตัน

ทางเมืองกลันตันนั้น ความปรากฏต่อมาว่า เมื่อกองทัพพระยาเพชรบุรีลงไปตั้งอยู่ที่เมืองสายบุรีแล้ว พระยาศรีพิพัฒน์แต่งให้พระยาไชยานอกราชการ คุมพลลงเรือรบ (จะเป็นกี่ลำไม่ปรากฏ) ไปเมืองกลันตันอีกกอง ๑ เอาเรือรบเข้าไปทอดอยู่ในแม่น้ำเมืองกลันตัน พระยาบาโงยรู้ว่าไทยยกกองทัพลงไปทั้งทัพบกทัพเรือก็หนีไป พระยาไชยานอกราชการ บังคับให้พระยากลันตันแลตนกูปะสารื้อค่าย แลเลิกการตระเตรียมรบพุ่งทั้ง ๒ ฝ่าย แล้วพาตัวพระยากลันตันกับตนกูปะสาขึ้นมาหาพระยาศรีพิพัฒน์ ณ เมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์ว่ากล่าวทั้ง ๒ ฝ่ายประนีประนอมยอมดีกันแล้ว จึงให้กลับลงไปเมืองกลันตัน[๑] แต่การที่ตกลงปรองดองกันครั้งนั้น ไม่เรียบร้อยอยู่ได้นานเท่าใด พอรุ่งขึ้นปีชวด โทศก จุลศักราช ๑๒๐๒ พ.ศ. ๒๓๘๓ พวกเมืองกลันตันก็เกิดอริกันขึ้นอีก คราวนี้มูลเหตุเกิดด้วยพระยาจางวางกับตนกูศรีอินทาราขัดขืนอำนาจพระยากลันตัน ถึงเตรียมขุดสนามเพลาะจะรบกันอีก เมื่อความทราบถึงกรุงเทพฯ โปรดให้พระยานครฯ (น้อยกลาง) แต่งกรมการถือหนังสือลงไปว่ากล่าวข่มขู่ ก็สงบกันไปได้อีกครั้ง ๑ ครั้นถึงปีฉลูตรีศก จุลศักราช ๑๒๐๓ พ.ศ. ๒๓๘๔ ตนกูปะสาเข้ามากรุงเทพฯ ร้องทุกข์กล่าวโทษพระยาจางวาง แลตนกูศรีอินทารา (รายามุดา) ว่าเอาเรือกสวนทรัพย์สมบัติของตนไปเป็นอาณาประโยชน์ ฝ่ายข้างพระยากลันตัน ก็มีใบบอกกล่าวโทษตนกูปะสาเข้ามาว่า ใช้คนไปชักชวนพระยาบาโงย แลพวกเมืองตรังกานู เมืองลิงา จะให้มาทำร้ายพระยากลันตันอีก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พวกญาติพี่น้องพระยากลันตัน เกิดแตกร้าวกันมาหลายครั้ง ได้ว่ากล่าวเกลี่ยไกล่ให้อยู่ด้วยกันก็ปรองดองกันไปได้แต่ชั่วคราว ๑ แล้วก็กลับวิวาทกันอีก จะเกลี่ยไกล่ให้อยู่ด้วยกันอย่างแต่ก่อนเห็นจะไม่เรียบร้อย ในเวลานั้นประจวบตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีว่าง มีรับสั่งให้ย้ายพระยาหนองจิกลงไปเป็นพระยาปัตตานี แลโปรดให้ถามตนกูปะสาว่า จะให้ขึ้นมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองหนองจิกจะเต็มใจหรือไม่ ตนกูปสารับจะมา แต่จะขอลงไปรับครอบครัวบ่าวไพร่ที่เมืองกลันตันพามาเมืองหนองจิกด้วย จึงโปรดให้พระยาไชยานอกราชการซึ่งได้เลื่อนยศขึ้นเป็นพระยาท้ายน้ำ ลงไปเมืองกลันตันกับตนกูปะสา เพื่อที่จะดูแลในการรวบรวมผู้คนบ่าวไพร่ของตนกูปสาที่จะพามาเมืองหนองจิก อย่าให้เกิดเหตุวิวาทขึ้นกับพระยากลันตัน ครั้นลงไปถึงเมืองกลันตันแล้วตนกูปะสาขอหนังสือพระยาท้ายน้ำไปเกลี้ยกล่อมพระยาบาโงย แลตนกูหลงอาหมัด มาจากเมืองตรังกานู พร้อมด้วยผู้คนบ่าวไพร่กว่า ๒๐๐ คน มาพักอยู่ที่บ้านตนกูปะสา พระยาท้ายน้ำให้พระยาบาโงย ตนกูหลงอาหมัดถือน้ำกระทำสัตย์ถวายแล้ว ว่ากล่าวชักชวนจะให้ขึ้นมาอยู่เมืองหนองจิกกับตนกูปสา พระยาบาโงย ตนกูหลงอาหมัด ก็อิดเอื้อน ฝ่ายตนกูปะสาก็พลอยบิดพริ้วเชือนแชไปต่างๆ ลงปลายตนกูปะสาเขียนหนังสือมายื่นต่อพระยาท้ายน้ำ ว่าถ้าได้เป็นที่พระยากลันตันจะให้สินบน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ เมื่อพระยาบ้ายน้ำเห็นตนกูปะสากลับใจไปเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว ก็มีใบบอกส่งต้นหนังสือตนกูปะสาเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขัดเคือง ว่าพวกเมืองกลันตันมีแต่จะคิดร้ายกันไม่รู้แล้ว จึงโปรดให้พระยานครฯ เกณฑ์กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ๒๐๐๐ คน ให้พระเสนหามนตรีคุมลงไปสมทบกับกองทัพเมืองสงขลาอีก ๒๐๐๐ คน พระสุนทรนุรักษ์ (สังข์) เป็นหัวหน้าสมทบกันยกลงไปถึงเมืองกลันตันเมื่อเดือน ๘ อุตราสาฒ ปีขาลจัตวาศก เมื่อกองทัพไทยยกลงไปถึงตนกูปะสา พระยาบาโงย แลตนกูหลงอาหมัด ก็ยอมอพยพมาอยู่เมืองหนองจิกโดยดี ส่วนพระยาจางวางแลตนกูศรีอินทารา (รายามุดา) นั้น พระเสนามนตรีเอาตัวมากักไว้ที่ค่าย ว่าจะพาเข้ามากรุงเทพฯ พระยากลันตันมาวิงวอนขอตนกูศรีอินทารา (รายามุดา) ไว้ พระเสนหามนตรีจึงพาแต่พระยาจางวางเข้ามากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เอาตัวพระยาจางวางไปไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช

ตนกูปะสามาว่าราชการเมืองหนองจิกอยู่ได้ ๓ ปี ในระหว่างนั้นพระยาบาโงย แลตนกูหลงอาหมัดถึงแก่กรรมที่เมืองหนองจิกทั้ง ๒ คน

ถึงปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ พ.ศ. ๒๓๘๘ พระยาปัตตานีถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้ตนกูปะสาเป็นพระยาปัตตานี

ต่อมาถึงปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ พ.ศ. ๒๓๙๖ ในรัชกาลที่ ๔ พระยายิหริ่งถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระยาจางวาง ให้ลงไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองยิหริ่ง

การส่วนเมืองกลันตันตั้งแต่ได้แยกพวกตนกูปะสา แลพระยาจางวางมาแล้วก็เรียบร้อยสืบมา พระยากลันตันกับตนกูปะสา แลพระยาจางวางก็สิ้นอริวิวาท กลับคืนดีกันอย่างเดิม

ส่วนเมืองนครศรีธรรมราช

เจ้าพระยานครฯ (น้อย) มีบุตรภรรยาหลวงที่เป็นราชการ ๓ คน คนใหญ่ชื่อน้อยใหญ่ ได้เป็นที่พระยาพัทลุง และเป็นบุตรเขยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) คนที่ ๒ ชื่อน้อยกลาง ได้เป็นที่พระเสนหามนตรี ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช คนที่ ๓ เข้าใจว่าชื่อน้อยเล็ก หรือน้อยเอียด ปรากฏในเรื่องจดหมายหลวงอุดมสมบัติว่าเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เป็นหลวงฤทธิ นายเวรมหาดเล็ก ได้คุณเสงี่ยมหลานพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นธิดาพระพงศ์นรินทร์เป็นภรรยา เมื่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถึงอสัญกรรมแล้ว พระยาพัทลุงกับพระเสนหามนตรีไม่ปรองดองกัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระยาพัทลุงสูบฝิ่นและเป็นคนพิการ ดังปรากฏในความที่กล่าวในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ทรงพระราชดำริเห็นว่า จะให้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้ แต่จะให้คงเป็นพระยาพัทลุงอยู่ เมืองพัทลุงก็คงจะเกิดเกี่ยงแย่งกับเมืองนครศรีธรรมราช จึงโปรดให้ย้ายพระยาพัทลุง (น้อยใหญ่) เข้ามาเป็นพระยาอุไทยธรรม รับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ เลื่อนพระปลัด ชื่อไรไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าเป็นบุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา ครั้งรัชกาลที่ ๑ ขึ้นเป็นพระยาพัทลุง ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ทรงตั้งพระเสนหามนตรี (น้อยกลาง) เป็นพระยาศรีธรรมาโศักราช ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช และทรงตั้งหลวงฤทธิ นายเวรมหาดเล็กเป็นพระเสนหามนตรี[๒]

ส่วนอังกฤษ

ความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกโทษพระราชทานเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) แล้ว โปรดให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือออกไปถึงเจ้าเมืองสิงคโปร์ ขอยกเลิกสัญญาข้อ ๑๓ ในตอนที่ว่าอังกฤษรับสัญญาจะป้องกันไม่ให้พวกเจ้าพระยาไทรเข้ามาทำร้ายเมืองไทรบุรี และอังกฤษรับจะเอาตัวเจ้าพระยาไทรไปไว้ที่อื่น หนังสือสัญญาตอนนี้ได้เลิกจริง แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่า จะเป็นด้วยอังกฤษขอเลิก มิใช่ไทยขอดังกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

อธิบาย

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคำนำหนังสือเรื่องจดหมายหลวงอุดมสมบัติเล่มนี้ ว่ามีข้อความบางอย่าง จะเอาไว้กล่าวข้างท้ายเมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านจดหมายหลวงอุดมสมบัติทราบเรื่องตลอดแล้ว ข้อความที่ข้าพเจ้าประสงค์จะกล่าวนั้น คือ -

ท่านทั้งหลายผู้อ่านหนังสือนี้ บางทีจะประหลาดใจว่าทำไมขุนนางเพียงชั้นหลวงอุดมสมบัติ จะได้ยินกระแสรับสั่งราชการบ้านเมืองรับสั่งเท่าถึงที่จดไว้ แลถ้าสังเกต จะเห็นได้ว่าบางทีมีกระแสในตอนเช้า บางทีมีกระแสรับสั่งในตอนค่ำ บางทีทรงปรึกษาหารือราชการอยู่จนถึง ๗ ทุ่ม ๘ ทุ่ม จึงเสด็จขึ้น ความเหล่านี้อาจทำให้เกิดฉงนสนเท่ห์ในวิธีแลเวลาว่าราชการครั้งรัชกาลที่ ๓ สมควรจะอธิบายไว้ให้เข้าใจ

พระราชานุกิจ ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้าพเจ้าได้เคยสดับจากคำผู้ใหญ่เล่าสืบกันมา ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประพฤติพระราชานุกิจโดยเวลาอันเสมอดังนี้คือ บรรทมตื่นเวลาเช้า ๒ โมงเศษ พอเวลา ๓ โมงตรง เสด็จลงทรงบาตร มีพระสงฆ์ซึ่งอยู่พระอารามหลวง ผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปรับบิณฑบาตประจำเวร ครั้นทรงบาตรแล้วเสด็จขึ้นหอพระสุราลัยพิมาน ทรงนมัสการพระ ในเวลานั้นเจ้านายผู้หญิงขึ้นไปคอยเฝ้าอยู่ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณเสด็จลงจากหอพระสุราลัยพิมาน ผ่านพระที่นั่งไพศาลทักษิณไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ถวายบังคมพระบรมอัฐิแล้ว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีพระสงฆ์ฉันเวรอีกพวก ๑ ซึ่งนิมนต์มาฉันในท้องพระโรง ทรงศีล พระถวายพรพระแล้ว ทรงถวายข้าวสงฆ์ แลทรงประเคน พระสงฆ์ฉัน ถวายอนุโมทนาอติเรก และถวายพระพรลากลับไปแล้ว เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลรายงานจ่ายเงินพระคลัง หรือถ้ามีราชการจรทางมหาดเล็กก็กราบทูลในเวลานี้ ดังปรากฏในจดหมายหลวงอุดมสมบัติหลายแห่ง กล่าวว่า ทรงทราบทางมหาดเล็กนั้นหมายความว่ากราบทูลในเวลานี้ เสร็จแล้วเสด็จขึ้นประทับพระแท่นออกขุนนาง พระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการกรมพระตำรวจเข้าเฝ้าก่อนโดยปรกติ เวลาเช้า ทรงพระราชวินิจฉัย ด้วยเรื่องคดีความของราษฎรคือ เรื่องฎีกาโดยเฉพาะ อันเป็นหน้าที่ของเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจที่จะกราบบังคมทูล แล้วจึงเบิกข้าราชการเข้าเฝ้า ทรงวินิจฉัยด้วยเรื่องคดีความเป็นพื้น ต่อมีราชการจรจึงทรงวินิจฉัยราชการแผ่นดินตอนเช้าเสด็จขึ้นราว เวลา ๕ โมงเช้า เสวยพระกระยาหารที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสวยแล้วประทับสักครู่ ๑ แล้วเสด็จออกที่เฉลียงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ข้าราชการซึ่งเป็นนายช่างเข้าเฝ้าถวายแบบอย่างต่าง ๆ คือแบบอย่างการสร้างพระอารามเป็นต้น ให้ทรงแก้ไข เสด็จออกอยู่จนเวลาราวบ่ายโมงเศษ จึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเข้าสู่ที่พระบรรทม เวลาราวบ่าย ๕ โมงเสด็จประทับสำราญพระราชอิริยาบถที่พระเฉลียง จนเวลาจวนค่ำเสด็จลงประทับที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประภาษราชการฝ่ายใน จนราวเวลาทุ่ม ๑ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ ก่อน แล้วมหาดเล็กกราบทูลรายงานต่างๆ ซึ่งโปรดให้ตรวจมากราบทูล เช่นรายงานการก่อสร้างพระอาราม แลอาการประชวรของเจ้านายเป็นต้น เมื่อทรงฟังรายงานเสร็จแล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนางเบิกข้าราชการเข้าเฝ้าพร้อมกัน ตอนเสด็จออกเวลากลางคืนนี้ เป็นเวลาประภาษราชการแผ่นดินโดยปรกติ จนเสร็จสิ้นราชการในวันนั้นแล้วจึงเสด็จขึ้นพระมหามนเทียร พระราชานุกิจในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นดังนี้ หลวงอุดมสมบัติเข้าไปเฝ้ากับข้าราชการทั้งเช้าเย็น ทุก ๆ วัน จึงได้ทราบข้อราชการแลได้ยินกระแสรับสั่งในเวลาที่เสด็จออกขุนนาง แต่ผู้ใดได้อ่านจดหมายหลวงอุดมสมบัติแล้วจำต้องสรรเสริญความทรงจำของหลวงอุดมสมบัติว่าแม่นยำเหลือเกิน ไม่ใช่จำได้แต่เนื้อเรื่องเท่านั้น จำได้ถึงถ้อยคำที่รับสั่งทุก ๆ องค์ น่าอัศจรรย์จะหาผู้ใดในสมัยนี้ที่จะจำได้อย่างหลวงอุดมสมบัติ ถ้าหาได้ก็เห็นจะมีน้อยทีเดียว แต่วิธีการทรงจำอย่างหลวงอุดมสมบัตินั้น ตามที่ข้าพเจ้าได้สดับมาคนแต่ก่อนไม่สู้ถือว่าเป็นอัศจรรย์อันใดนัก เพราะวิธีราชการในครั้งนั้นนับถือความทรงจำเป็นสำคัญ ไม่ใคร่จะใช้จดลงไว้เป็นหนังสือ ต่อเมื่อมาใช้เขียนหนังสือกันมากขึ้น เห็นไม่จำเป็นจะต้องจำ เพราะใช้จดแทนจำได้ วิชาการจำจึงเสื่อมลง ข้าพเจ้าเคยได้ยินเล่ากันในกระทรวงมหาดไทยว่า เจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายกคน ๑ จำแม่นยำนัก แต่ที่ข้าพเจ้าได้เคยพบปะคุ้นเคยด้วยตนเองนั้น พระยาจ่าแสนบดี (ไทย) ซึ่งเป็นข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยในชั้นหลังลงมา เมื่อข้าพเจ้าไปรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในปีมะโรงยังเป็นตรีศก จุลศักราช ๑๒๕๓ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระยาจ่าแสนยังเป็นพระมนตรีพจนกิจ เวลารับราชการด้วยกันต่อมา เมื่อประชุมปรึกษาราชการในกระทรวง คนชั้นข้าพเจ้าซึ่งอายุอ่อนกว่าพระยาจ่าแสนบดีตั้ง ๒๐ ปี จำข้อราชการอันใดที่มีมาแล้วสู้พระยาจ่าแสนไม่ได้สักคนเดียว มีเรื่องอะไรขึ้น พระยาจ่าแสนเป็นบอกได้ทั้งชื่อคนวันคืนและเรื่องราว ข้าพเจ้าเองได้เคยพบข้าราชการที่ทรงจำแม่นยำอย่างวิธีเก่าคนเดียวเท่านี้

มีความอีกข้อ ๑ ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะกล่าวไว้ในท้ายหนังสือเรื่องนี้คือ ด้วยเรื่องวิธีกวาดครัว ผู้อ่านจดหมายหลวงอุดมสมบัติคงจะสังเกตเห็นว่าวิธีราชการในครั้งนั้น ถือเอาธุระในเรื่องกวาดครัวราษฎรพลเมืองที่เข้าด้วยกับพวกผู้ประทุษร้าย เอาเข้ามากรุงเทพ เป็นการสำคัญอย่าง ๑ บางทีจะมีผู้อ่านในสมัยนี้ มีความคิดเห็นว่าวิธีราชการของไทยในครั้งนั้นเป็นการกดขี่ไพร่บ้านพลเมืองให้ได้ความเดือดร้อนเหลือเกิน ข้อที่ผู้ต้องกวาดเข้ามาได้ความเดือดร้อนนั้น ข้าพเจ้าไม่คัดค้าน ถ้าจะคิดดูถึงอกเราอกเขา การที่ต้องถูกบังคับ แม้เพียงให้ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเมืองก็ต้องรู้สึกเดือดร้อนอยู่เป็นธรรมดา ข้าพเจ้าประสงค์จะอธิบายข้อนี้ ว่าประเพณีกวาดผู้คนพลเมืองที่ตีได้ไปเป็นเชลยของฝ่ายชนะเป็นประเพณีมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ จะเห็นได้ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อคราวตีเมืองกลึงคราฐได้กว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว พระเจ้าอโศกฯ กวาดครัวชาวกลึงคราฐไปเป็นเชลยในครั้งเดียวกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน การกวาดครัวที่ถือว่าเป็นประเพณีที่ฝ่ายชนะควรทำนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ ประการที่ ๑ การที่กะเกณฑ์ผู้คนยกกองทัพลงไปรบพุ่งถึงจะมีชัยชนะ ผู้คนพลเมืองมีต้องกะเกณฑ์ไปนั้น ต้องมีจำนวนล้มตายหายจากมิมากก็น้อย การทำสงครามถึงชนะก็เหมือนกับขาดทุนในส่วนจำนวนผู้คนพลเมืองทุกคราว เมื่อชนะจึงหาผู้คนมาเพิ่มเติมทดแทนเพื่อมิให้กำลังเมืองลดน้อยถอยลง ประการที่ ๒ ผู้ที่ไปทำสงครามแต่ปางก่อนตั้งแต่ตัวแม่ทัพลงไป ไม่ได้รับเงินเดือนอย่างทหารทุกวันนี้ เมื่อทำศึกชนะได้ครอบครัวผู้คนขึ้นมา พวกแม่ทัพนายกองได้รับส่วนแบ่งแจกไปเป็นกำลัง ประการที่ ๓ ลักษณะทำการสงครามกันในระหว่างประเทศ หรือระหว่างต่างชาติต่างภาษา ถึงแต่ก่อนก็เหมือนกับปัจจุบันนี้ในลักษณะอันหนึ่งคือ ถ้าถึงต้องรบพุ่งขับเคี่ยว หรือถ้าเมืองน้อยเป็นขบถประทุษร้ายต่อเมืองใหญ่ซึ่งเคยเป็นเจ้าเป็นนาย ข้างฝ่ายชนะย่อมถือว่าต้องระวังอย่าให้ต้องรบพุ่ง หรือเกิดเหตุประทุษร้ายได้ดังเป็นมาแล้วต่อไป การที่กวาดครัวตามประเพณีโบราณ ถือว่าเป็นการทอนกำลังเมืองแพ้ไม่ให้ต่อสู้คิดร้ายได้ จึงถือกันว่าควรทำ ประเพณีกวาดครัวนี้ทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์เห็นจะแทบทุกประเทศ ด้วยเหตุดังแสดงมานี้ มาแก้ไปเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นต่อเมื่อภายหลังด้วยกันทั้งนั้น เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ ไทยเรายังนิยมตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ จึงถือว่าการกวาดครอบครัวเป็นการสำคัญอัน ๑ ซึ่งจำต้องทำ แต่ผู้อ่านจะแลเห็นได้ในกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ามิได้ทำโดยปราศจากความเมตตากรุณาแก่ผู้ที่ต้องกวาดมานั้นเลย แขกครัวที่ต้องกวาดเข้ามาครั้งนั้นได้รับความอุปถัมภ์บำรุงทุกอย่างเท่าที่จะเป็นได้ แลที่สุดก็ได้ความเป็นอิสรภาพเหมือนกับไทยที่เป็นฝ่ายชนะ ข้อนี้มีพยาน ผู้อ่านจะเห็นได้ในทุกวันนี้ที่ยังมีเชื้อสายพวกแขกครัวอยู่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองเป็นอันมาก ๚



[๑] ความเรื่องเมืองกลันตันตอนนี้ ข้าพเจ้ากล่าวตามพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ซึ่งเห็นว่าความสมเหตุสมผล แต่ในหนังสือพงศาวดารเมืองกลันตัน ว่าขึ้นมาแต่ตนกูปะสา แลพระยาศรีพิพัฒน์ได้ส่งตนกูปะสาเข้ามากรุงเทพฯ ว่ากล่าวยินยอมเรียบร้อยแล้วจึงปล่อยให้กลับไปเมืองกลันตัน บางทีความที่เคลื่อนคลาดกัน อาจจะจริงด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย คือเมื่อพระยากลันตัน แลตนกูปะสาขึ้นมาเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์ปล่อยพระยากลันตันให้กลับลงไปรักษาบ้านเมือง พาแต่ตนกูปะสาเข้ามากรุงเทพฯ ด้วยปรากฏว่าพระยาศรีพิพัฒน์กลับจากเมืองสงขลา เมื่อเดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ มาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อเดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุนเอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ พ.ศ. ๒๓๘๒ กองทัพไทยที่ยกลงไป ก็คงจะผ่อนกันกลับขึ้นมาโดยลำดับ

[๒] จะเป็นปลัดหรือผู้ช่วยราชการสงสัยอยู่ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาเสนหามนตรี

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ