เรื่องพงศาวดารอันเป็นมูลเหตุ แห่งจดหมายหลวงอุดมสมบัติ

เมืองไทรบุรี เมืองปัตตานี เป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่เมืองตรังกานู พึ่งตั้งเมื่อครั้งกรุงธนบุรี แลมายอมเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ส่วนเมืองกลันตันนั้นเดิมเป็นเมืองขึ้นเมืองปัตตานี ต่อมาเมืองตรังกานูได้ไปเป็นเมืองขึ้น พึ่งแยกออกเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ดังจะปรากฏเรื่องราวต่อไปข้างหน้า เรื่องราวเมืองทั้ง ๔ ที่กล่าวมานี้ มีแจ้งอยู่ในหนังสือพงศาวดารของเมืองนั้นๆ ซึ่งได้พิมพ์ในภาษาไทย ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒ ที่ ๓ แลที่ข้าพเจ้าได้เก็บแต่ใจความลงไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ นั้นแล้ว

เมื่อว่าแต่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับจดหมายหลวงอุดมสมบัติเล่มนี้เริ่มแต่กรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก เมื่อปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อสยามประเทศเป็นจลาจลทั่วไป ในครั้งนั้นผู้ซึ่งได้ครอบครองหัวเมืองใหญ่ ต่างตั้งตนเป็นอิสระหลายหมู่หลายเหล่า ส่วนหัวเมืองปักษ์ใต้ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช เมืองไทรบุรี แลเมืองปัตตานี ทั้ง ๓ เมืองนี้ต่างก็ตั้งตนเป็นอิสระเหมือนกัน เมื่อขุนหลวงตากตีหัวเมืองฝ่ายเหนือฝ่ายตะวันออกไว้ได้ในอำนาจ ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้วเสด็จยกทัพหลวงลงไปปราบปรามหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้แต่เมืองนครศรีธรรมราช กลับมารวมอยู่ในสยามราชอาณาจักรอย่างเดิม แต่เมืองไทรบุรีกับเมืองปัตตานียังเป็นอิสระต่อมา ด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีคิดการทำสงครามอยู่ทางอื่นตลอดเวลารัชกาล มาจนถึงในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าอังวะปะดุงยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองไทย ๖ ทัพ ยกมาทุกทางที่จะมาได้ พระเจ้าปะดุงเองยกกองทัพหลวงเข้ามาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ ครั้งนั้นกำลังไทยยังมีไม่ถึงครึ่งกำลังพม่าที่ยกมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีรับสั่งให้กรมพระราชวังหลังยกกองทัพขึ้นไปตั้งขัดทัพพม่าที่เมืองนครสวรรค์ ถ่วงไว้มิให้พม่ายกลงมาตีกรุงเทพฯ ได้ทาง ๑ ทรงรวบรวมกำลังเป็นกองทัพใหญ่ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นจอมพลเสด็จยกไปตีทัพหลวงพระเจ้าปะดุงที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ทาง ๑ ส่วนหัวเมืองทางแหลมมลายู ตั้งแต่เมืองชุมพรลงไปจนเมืองนครศรีธรรมราช จำต้องละไว้ให้พม่าทำตามชอบใจ ด้วยไม่มีกำลังพอจะส่งลงไปรักษา เมื่อไทยตีกองทัพหลวงพระเจ้าปะดุงแตกยับเยินไปแล้ว จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพลงไปตีเอาหัวเมืองปักษ์ใต้คืนจากพม่า ครั้งนั้นหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหน้านอกแลหน้าในเสียแก่พม่าตั้งแต่เมืองชุมพร ลงไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช เว้นแต่เมืองถลาง ท้าวเทพสัตรี ท้าวศรีสุนทรต่อสู้รักษาเมืองไว้ได้ เมื่อกองทัพไทยตีทัพพม่าแตกกลับไป ได้หัวเมืองคืนหมดแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา ให้ข้าหลวงเชิญกระแสรับสั่งออกไปถึงพระยาปัตตานี พระยาไทรบุรี แลพระยาตรังกานู ให้มายอมเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยาอย่างแต่ก่อน พระยาปัตตานีไม่ยอม จึงมีรับสั่งให้กองทัพไทยยกลงไปตีได้เมืองปัตตานี เมื่อตีได้แล้วมีรับสั่งให้กวาดครอบครัวแลเก็บเครื่องศัสตราวุธ คือปืนใหญ่กระบอกที่เรียกว่า พระยาตานีนั้นเป็นต้นเอามากรุงเทพฯ ทอนกำลังเมืองปัตตานีลงเสียบ้าง แล้วทรงตั้งให้แขกซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีเก่าเป็นพระยาปัตตานีต่อมา

ในสมัยนั้นประจวบกับเวลาอังกฤษกำลังต้องการที่พักเรือรบเรือค้าขายทางทะเลหน้านอก สำหรับจะค้าขายแข่งกับพวกวิลันดา ซึ่งได้เมืองมะละกาไว้เป็นที่มั่น อังกฤษได้มาขอเช่าเกาะหมาก คือที่เรียกตามภาษามลายูว่า เกาะปีนัง ต่อพระยาไทรบุรี พระยาไทรกำลังกลัวกองทัพไทยจะยกไปตีเมืองไทรบุรีจึงยอมให้อังกฤษเช่าเกาะหมาก ร่างข้อสัญญาส่งไปให้อังกฤษ ว่าถ้ามีข้าศึกศัตรูมาตีเมืองไทรจากสรรพทิศใดๆ อังกฤษจะรับส่งกำลังเข้ามารบพุ่งป้องกันเมืองไทร ฝ่ายข้างอังกฤษขอแก้หนังสือสัญญาจะยอมรับป้องกัน แต่ศัตรูซึ่งมาตีเกาะหมาก จะเป็นในระหว่างพระยาไทรยังไม่ได้รับตอบจากอังกฤษ หรือจะเป็นในเวลาเมื่อได้รับตอบจากอังกฤษว่าไม่ยอมช่วยตามความประสงค์นั้น พระยาไทรได้ทราบว่ากองทัพไทยตีได้เมืองปัตตานีแล้ว มีความยำเกรงพระบรมเดชานุภาพ จึงเข้ามายอมขึ้นกรุงเทพฯ ในคราวเดียวกับพระยาตรังกานูด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดให้คงเป็นเมืองประเทศราชอยู่ตามเดิมทั้ง ๒ เมือง ฝ่ายพระยาไทรบุรีเมื่อรู้ว่าไทยไม่ทำอันตรายอันใด ก็เกิดเสียดายเกาะหมากขึ้นมา ด้วยอังกฤษเข้ายึดถือเอาที่เกาะหมากเสียในระหว่างที่ว่ากันอยู่ด้วยเรื่องสัญญา พระยาไทรไปทวงเอาเกาะหมากคืนจากอังกฤษ อังกฤษไม่ยอมคืน เกิดรบกับอังกฤษขึ้นเมื่อปีกุน ตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ พ.ศ. ๒๓๓๔ พระยาไทรสู้อังกฤษไม่ได้ ลงปลายต้องทำหนังสือสัญญายอมให้อังกฤษเช่าเกาะหมาก เป็นราคาค่าเช่าปีละ ๖,๐๐๐ เหรียญ แลยอมสัญญาว่าให้อังกฤษซื้อเสบียงอาหารไปใช้ที่เมืองเกาะหมากได้โดยสะดวกไม่ต้องเสียภาษีอากร ต่อมาถึงปีจอจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๖๔ พ.ศ. ๒๓๔๕ เกิดเหตุด้วยมีพวกแขกสลัดยกข้ามจากฝั่งไปตีเกาะหมาก อังกฤษสงสัยว่าพระยาไทรบุรีรู้เห็นเป็นใจด้วยพวกสลัดจึงว่ากล่าวข่มขู่จนพระยาไทรต้องทำสัญญากับอังกฤษอีกฉบับ ๑ ยอมให้อังกฤษเช่าที่ดินข้างฝั่งตรงกับเกาะหมาก ซึ่งอังกฤษเรียกว่า ปรอวินส์ เวลเลสลี อังกฤษยอมขึ้นค่าเช่าให้อีกปีละ ๔,๐๐๐ เหรียญ รวมด้วยกันเป็นปีละ ๑๐,๐๐๐ เหรียญ ที่พระยาไทรทำสัญญา ๒ ฉบับกับอังกฤษนี้ ความจะทราบขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ หรือไม่ทราบข้อนี้ไม่ปรากฏ

ส่วนหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ เมื่อในตอนต้นรัชกาลที่ ๑ มีเมืองใหญ่ ๒ เมือง คือ เมืองถลาง อยู่ข้างทะเลหน้านอก เป็นหน้าด่านป้องกันพม่าข้าศึกเมือง ๑ เมืองนครศรีธรรมราช เขตแดนตกทะเลทั้งหน้านอกหน้าในได้กำกับดูแลหัวเมืองแขกเมือง ๑ ทางเมืองถลางโปรดให้เจ้าพระยาสุรินทราชาเป็นจางวาง ได้ว่ากล่าวทั้งเมืองถลางแลหัวเมืองที่ใกล้เคียง คือเมืองภูเก็ต เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เป็นต้น ที่เมืองนครศรีธรรมราชโปรดให้เจ้าพัฒน์ซึ่งเป็นอุปราชของเจ้านครฯ (หลวงนายสิทธิ) เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช จะได้ว่ากล่าวเมืองไชยาแลเมืองพัทลุงด้วยหรือไม่ ข้อนี้ยังไม่พบหลักฐาน ปรากฏแต่ว่าโปรดให้เมืองสงขลามาเป็นเมืองขึ้น เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลาในเวลานั้น หลวงสุวรรณคิรี (บุญฮุย) ผู้ว่าราชการเมือง มีความชอบครั้งตีเมืองปัตตานี ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนยศขึ้นเป็นพระยาพิไชยคิรีศรีสมุทรสงคราม[๑] ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา แต่ยังคงขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช

อยู่มาถึงปีจอโทศก จุลศักราช ๑๑๕๒ พ.ศ. ๒๓๓๓ มีแขกซาหยัดคือ จำพวกที่อ้างตนว่าเป็นเชื้อวงศ์สืบมาแต่พระนาบีมะหะหมัดเข้ามาจากนอกพระราชอาณาเขตมาสำแดงตนที่เมืองปัตตานี ว่าเป็นผู้วิเศษรู้เวทมนตร์ อาจจะสำแดงฤทธิเดชได้ต่าง ๆ พวกแขกพากันนิยมนับถือมาก พระยาปัตตานีคนใหม่ที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่า รายาปัตตานีเห็นได้ช่องจึงคบคิดกับพวกแขกในพื้นเมืองเป็นขบถ และชักชวนพวกแขกสลัดชาวเมืองอื่นยกกองทัพขึ้นมาตีเมืองสงขลา พระยาสงขลา (บุญฮุย)[๒] เห็นกำลังไม่พอจะต้านทานพวกแขก จึงถอยขึ้นมาตั้งมั่นที่เมืองพัทลุง เวลานั้นพระศรีไกรลาศเป็นผู้รักษาเมืองพัทลุงอยู่ พระศรีไกรลาศตื่นข่าวศึกหลบหนีไปเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระพิโรธมีรับสั่งให้ถอดพระศรีไกรลาศ และทรงตั้งพระยาพัทลุง (ขุน) ซึ่งเรียกอีกนาม ๑ ว่า พระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ผู้ต้นวงศ์เจ้าจอมมารดากรมหมื่นไกรสรวิชิต เป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงมาแต่ครั้งนั้น เมื่อข่าวศึกพวกแขกเมืองปัตตานีทราบเข้ามาถึงกรุงฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดให้กองทัพกรุงฯ ยกลงไปกอง ๑ แต่เมื่อก่อนกองทัพกรุงฯ ออกไปถึง เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ยกกองทัพเมืองนครฯ ลงไปสมทบกับไพร่พลพระยาสงขลา (บุญฮุย) ตีพวกแขกเมืองปัตตานีแตกพ่ายไปจากเมืองสงขลา แล้วให้พระยาสงขลา (บุญฮุย) ยกเลยลงไปตีได้เมืองปัตตานีอีกครั้ง ๑ จับตัวพระยาปัตตานีได้

ในครั้งนั้น เมื่อกองทัพกรุงฯ ลงไปถึง เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) กับพระยาสงขลา (บุญฮุย) เกิดอริกันขึ้นถึงกราบทูลกล่าวโทษกันแลกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริเห็นว่า เมืองนครฯ เมืองเดียวไม่พอจะกำกับดูแลหัวเมืองแขกให้ทันท่วงทีราชการได้ จึงโปรดให้ยกเมืองสงขลามาขึ้นกรุงเทพฯ แลทรงพระกรุณา โปรดเลื่อนยศพระยาสงขลา (บุญฮุย) ขึ้นเป็นเจ้าพระยา ให้กำกับหัวเมืองแขกข้างทะเลหน้าใน คือ เมืองตรังกานู แลเมืองปัตตานี ซึ่งโปรดให้แยกออกเสียเป็น ๗ หัวเมือง คือ เมืองตานี ๑ เมืองหนองจิก ๑ เมืองยะลา ๑ เมืองรามันห์ ๑ เมืองยิหริ่ง ๑ เมืองสายบุรี ๑ เมืองระแงะ ๑ ทรงตั้งไทยบ้าง แขกซึ่งมีความสวามิภักดิ์บ้าง ให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองทั้ง ๗ เมืองมาแต่ครั้งนั้น ส่วนเมืองนครฯ คงได้ว่ากล่าวแต่เมืองไทรบุรี อันเป็นหัวเมืองใหญ่อยู่ชายทะเลหน้านอก

ต่อมาถึงปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ พ.ศ. ๒๓๕๑ เจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลว่าได้ข่าวว่าดาโต๊ะปักลัน ผู้ว่าราชการเมืองยิหริ่ง คบคิดกับพวกแขกเมืองตรังกานู แลแขกสลัดนอกพระราชอาณาจักร จะพากันยกเป็นกองทัพมาตีเมืองสงขลา จึงโปรดให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาคบ้านแม่ลา) เป็นแม่ทัพ คุมพลลงไปสมทบกองทัพหัวเมือง ปราบปรามเมืองยิหริ่งเรียบร้อยได้ดังแต่ก่อน

อนึ่ง เมื่อในตอนปลายรัชกาลที่ ๑ นั้น จะเป็นปีใดไม่แน่ พระยาไทร (อับดุลละ โมกุรัมซะ) ถึงอนิจกรรม พระยาไทรคนนี้มีบุตรชาย ๑๐ คน คือ :-

๑. ตนกูรายา

๒. ตนกูปะแงรัน

๓. ตนกูปัศนู

๔. ตนกูอิบรฮิม

๕. ตนกูสุเลมัน

๖. ตนกูซู

๗. ตนกูโดด

๘. ตนกูม่อม

๙. ตนกูอาหมัด

๑๐. ตนกูยูโซะ

บุตรเหล่านี้เห็นจะต่างมารดากันโดยมาก เมื่อพระยาไทร (อับดุลละ โมกรัมซะ) ถึงอนิจกรรมแล้ว ตนกูลิยาอุดิน รายามุดา ได้เป็นพระยาไทรอยู่หน่อยหนึ่งก็ถึงอนิจกรรม พระยาไทร (ลิยาอุดิน) ไม่ปรากฏว่ามีบุตร พวกตนกูที่เป็นบุตรพระยาไทร (อับดุลละ โมกรัมซะ) จึงแย่งกันจะเป็นเจ้าเมืองไทร ตนกูรายาบุตรที่ ๑ เห็นจะถึงแก่กรรมเสียก่อน ด้วยไม่ปรากฏชื่อต่อมา ปรากฏชื่อตนกูที่แย่งกันเป็นเจ้าเมืองแต่ตนกูปะแงรันบุตรที่ ๒ กับตนกูปัศนูบุตรที่ ๓ ตนกูปัศนูฝากฝ่ายสนิทสนมอยู่กับเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) แลบางทีจะเป็นบุตรภรรยาหลวงด้วย ความปรากฏว่าเจ้าพระยานครฯ อุดหนุนข้างตนกูปัศนู ได้พาทั้งตนกูปะแงรันแลตนกูปัศนูเข้ามาเฝ้าถึงกรุงเทพฯ แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริเห็นว่าตนกูปะแงรันเป็นพี่ จึงทรงตั้งตนกูปะแงรันเป็นพระยารัตนสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมะหะหมัด รัตนราชวังษา พระยาไทรบุรี ทรงตั้งตนกูปัศนูเป็นพระยาอภัยนุราช ตำแหน่งรายามุดา กลับออกไปรักษาราชการบ้านเมือง

ถึงรัชกาลที่ ๒ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒ อันเป็นปีแรกนั้น พม่ายกกองทัพลงมาตีเมืองถลาง ปรากฏว่าในครั้งนั้นพระยาไทร (ปะแงรัน) ได้ยกกองทัพเมืองไทรไปช่วยรบพม่าที่เมืองถลาง ต่อมาในปลายปีมะเส็งเอกศกหรือในต้นปีมะเมียโทศกนั้น พระยาไทร (ปะแงรัน) ยกกองทัพลงไปตีเมืองแประซึ่งเป็นเมืองแขกอยู่ข้างใต้ ติดกับเขตเมืองไทร บังคับให้พระยาแประยอมเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ สำเร็จได้ เห็นจะเป็นด้วยความชอบทั้ง ๒ เรื่องที่กล่าวมานี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนยศพระยาไทร (ปะแงรัน) ขึ้นเป็นเจ้าพระยา จะเลื่อนเมื่อปีใดไม่แน่ แต่ได้พบจดหมายเก่าที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเขียนไว้เมื่อปีมะแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ. ๒๓๕๔ เห็นเรียกว่าเจ้าพระยาไทรแล้ว

ในต้นรัชกาลที่ ๒ เมื่อเสร็จศึกพม่าแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริถึงการที่จะป้องกันพระราชอาณาเขตให้มั่นคงกว่าแต่ก่อน ความปรากฏว่า เมื่องานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า มีความแก่ชราหูหนักจักษุมืดหลงลืม ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ตำแหน่งจางวาง แลทรงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นเป็นพระยาศรีธรรมาโศก ผู้ว่าราชการเมือง ณ เมื่อเดือน ๙ ปีมะแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ. ๒๓๕๔

พระบริรักษ์ภูเบศร์ที่ได้เป็นพระยานครฯ นั้น คือเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถ แลบังคับบัญชาการบ้านเมือง ผิดกับผู้สำเร็จราชการเมืองนครฯ คนอื่นๆ ทั้งสิ้น ควรจะนำประวัติของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) มากล่าวไว้ในที่นี้สักหน่อย

เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ผู้นี้ ตามทางราชการกล่าวว่าเป็นบุตรเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) แต่ที่คนทั้งหลายเข้าใจกันโดยมากนั้น เข้าใจกันว่าเป็นลูกเธอพระเจ้ากรุงธนบุรี หาใช่เป็นบุตรเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) ไม่ มีเรื่องราวปรากฏมาว่า เมื่อเจ้าพระยานครฯ (หลวงนายสิทธิ) เข้ามารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี ได้ถวายธิดาคน ๑ ชื่อฉิม[๓] ทำราชการฝ่ายในได้เป็นพระสนมเอก มีลูกเธอซึ่งปรากฏนามในภายหลังว่า พระพงษ์นรินทร พระอินทรอำไพ มีน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิมนั้นเข้าไปอยู่ในพระราชวังด้วยคน ๑ มีเรื่องปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ครั้ง ๑ เมื่อปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ พ.ศ. ๒๓๑๙ เจ้าพระยาพิไชยราชา ผู้สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก ลงมากรุงธนบุรีแต่งเถ้าแก่เข้าไปขอน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิม ความทราบถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพิโรธว่า เจ้าพระยาพิไชยราชาบังอาจจะมาตั้งตัวเป็นเขยน้อยเขยใหญ่กับพระองค์ ถึงให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตเจ้าพระยาพิไชยราชา ส่วนน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิมนั้นคงอยู่ในพระราชวังต่อมา จนถึงปลายรัชกาลกรุงธนบุรีจึงพระราชทานน้องสาวเจ้าจอมมารดาฉิมคนนี้แก่เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) คนทั้งหลายเข้าใจว่า มีครรภ์กับพระเจ้ากรุงธนบุรีติดไป มีบุตรคือเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ชาติประวัติของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ดังกล่าวมานี้มีปรากฏในหนังสืออื่น คือ หนังสือพระราชวิจารณ์ ตอนหน้า ๕๙ เป็นต้น[๔] แม้จนหนังสือภาษาอังกฤษที่นายพันโทชื่อ โล แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ก็ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ พระยานครฯ (น้อย) ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยา ในปลายรัชกาลที่ ๒ หรือต้นรัชกาลที่ ๓ แต่จะเป็นปีใดยังหาพบหลักฐานไม่

ในใกล้ ๆ กับคราวเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตั้งพระยานครฯ (น้อย) นั้น ประจวบเวลาตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาว่าง ด้วยเจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) ถึงอสัญกรรม จึงทรงตั้งหลวงฤทธินายเวรมหาดเล็ก ชื่อจ๋ง บุตรพระอนันตสมบัติ ผู้น้องเจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) เป็นพระยาวิเศษภักดี ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา

ในตอนนี้ ปรากฏว่าเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เกิดอริขึ้นกับพระยาอภัยนุราช (รายามุดา) เหตุด้วยพระยาอภัยนุราชจะขอเอาตำบลกวาลามุดาเป็นบ้านส่วยของตน เจ้าพระยาไทรจะให้ที่อื่นก็ไม่เอา ถึงโปรดให้พระยาพัทลุงเป็นข้าหลวงออกไปไกล่เกลี่ย เมื่อปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖ ก็ไม่สำเร็จ ลงปลายตกลงกันได้ ด้วยโปรดให้พระยาอภัยนุราชมาว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองไทร ทางเมืองไทรตั้งตนกูอิบรฮิมน้องที่ ๓ เป็นรายามุดา เหตุที่พระยาอภัยนุราชถือเปรียบแก่งแย่งไม่อ่อนน้อมต่อพระยาไทรบุรีนั้น พวกเมืองไทรบุรีพูดกันว่า เป็นด้วยเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ให้ท้ายพระยาอภัยนุราช ซึ่งบางทีจะมีความจริงอยู่บ้าง เพราะมีเหตุผลเป็นพยานปรากฏในเรื่องต่อไปข้างหน้าประกอบกับคำพระธานินทรนิพัทธ ผู้เป็นน้าเจ้าพระยาไทร (อับดุลฮะมิด) ทุกวันนี้ ได้เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า คำผู้หลักผู้ใหญ่เล่าสืบกันมาว่า แต่ก่อนเมืองไทรก็ได้พึ่งพระบารมีอยู่เย็นเป็นสุขมาจนกระทั่งเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ได้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครฯ เจ้าพระยานครฯ คิดขยายอำนาจ ด้วยประสงค์จะเอาเมืองไทรไปเป็นเขตแดนเมืองนครฯ แกล้งหาความผิดร้ายใส่โทษต่าง ๆ เมืองไทรบุรีจึงได้ความเดือดร้อน นี้ว่าตามความเห็นข้างฝ่ายเมืองแขกเมืองไทร ถ้าจะพิเคราะห์ดูความเห็นข้างเจ้าพระยานครฯ ก็พอจะเข้าใจเหตุได้อยู่บ้าง ด้วยเจ้าพระยาไทรไปคบหาฝรั่ง อันเป็นข้อรังเกียจของเจ้าพระยานครฯ อยู่โดยธรรมดา

ตั้งแต่พระยาอภัยนุราชมาว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับเมืองนครฯ เชื่อได้ว่าคงจะมาฝากฝ่ายอ่อนน้อมต่อเจ้าพระยานครฯ ยิ่งกว่าที่อ่อนน้อมต่อเจ้าพระยาไทรบุรี เรื่องพระยาอภัยนุราชนี้เป็นมูลเหตุที่เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เอาใจออกห่างจากไทยเป็นปฐม พระยาอภัยนุราช (ปัศนู) ว่าราชการเมืองสตูลได้เพียง ๒ ปี ก็ถึงอนิจกรรม ไม่พบจดหมายเหตุว่าผู้ใดได้ว่าราชการเมืองสตูลต่อมา แต่พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ที่มีภายหลัง เชื่อได้ว่าคงจะอยู่ในพวกญาติวงศ์ของพระยาอภัยนุราชได้ว่ากล่าว แลคงสนิทสนมอยู่ข้างเมืองนครฯ ยิ่งกว่าเมืองไทรต่อมา

ถึงปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๗ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) ถึงอสัญกรรม เมื่อปลงศพในปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ. ๒๓๕๘ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ แต่ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพ เสด็จออกไปปลงศพเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ซึ่งเป็นคุณตา ความปรากฏว่าในครั้งนั้น กรมหมื่นศักดิพลเสพได้รับกระแสรับสั่งออกไปให้จัดวางแบบแผนการปกครองเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ในเวลานั้นประจวบเหตุขึ้นทางเมืองตรังกานู แลเมืองกลันตันด้วยเดิมเมืองกลันตันเป็นแต่เมืองขึ้นเมืองตรังกานู อยู่มาเจ้าเมืองกลันตันชื่อ หลงมะหะหมัด เกิดผิดใจกับพระยาตรังกานู ให้เข้ามาว่าแก่พระยาสงขลาว่าจะขอถวายต้นไม้ทองเงินขึ้นตรงต่อกรุงฯ พระยาสงขลา (จ๋ง)[๕] ไม่ยอม พวกเมืองกลันตันจึงขึ้นมาร้องต่อพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เห็นจะเป็นด้วยกรมหมื่นศักดิพลเสพ ทรงอุดหนุนด้วย ลงปลายตกลงทรงพระกรุณาโปรด ยกเมืองกลันตันขึ้นเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นตรงต่อกรุงฯ แต่ให้อยู่ในบังคับเมืองนครศรีธรรมราชตามใจสมัคร แต่นั้นมาเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้กำกับเมืองไทรบุรีแลเมืองกลันตัน ส่วนเมืองสงขลาได้กำกับเมืองปัตตานี ซึ่งแยกเป็น ๗ หัวเมือง กับเมืองตรังกานูอีกเมือง ๑[๖]

เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) จะไปสมคบพม่าแต่เมื่อปีไร ข้อนี้ไม่ปรากฏ แต่มีเนื้อความในหนังสือพงศาวดารพม่า ว่าได้ลอบเอาต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าอังวะ ครั้นต่อมา เมื่อปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ พ.ศ. ๒๓๖๓ พระเจ้าอังวะจักกายแมงเตรียมกองทัพพม่าจะยกเข้ามาตีเมืองไทยอีกครั้ง ๑ คราวนี้ พระเจ้าอังวะคิดชักชวนจะให้เมืองไทรบุรียกกองทัพแขกตีขึ้นมาทางฝ่ายใต้ แลจะให้พระเจ้าเวียตนามมินมางยกกองทัพญวนตีขึ้นมาทางฝ่ายตะวันออก ให้เป็นศึกสามทางพร้อมกัน เมื่อได้ข่าวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ว่าพม่าเตรียมกองทัพที่เมืองเมาะตะมะ เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี แลเมืองมฤท จึงโปรดให้กองทัพไทยออกไปตั้งขัดตาทัพ ที่เป็นทัพใหญ่ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรีทัพ ๑ กรมหมื่นศักดิพลเสพไปตั้งที่เมืองเพชรบุรีทัพ ๑ พระยากลาโหมราชเสนา[๗] (บิดาเจ้าพระยายมราช สุก) ไปตั้งที่เมืองถลางทัพ ๑ ในครั้งนั้นคงจะได้ข่าวแว่วเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในเรื่องเมืองไทรเอาใจออกห่าง จึงปรากฏว่าโปรดให้ยกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช กับเมืองสงขลา ยกออกไปตั้งต่อเรือที่เมืองสตูลเป็นทำนองคุมเมืองไทรไว้ การที่พม่าเตรียมครั้งนั้น หาได้ยกเข้ามาดังประสงคํไม่ ด้วยพม่าไปเกิดวิวาทขึ้นเสียกับอังกฤษทางเมืองมณีบุระ แลเมืองจิตตะเกิง ต้องถอนกองทัพทางข้างใต้ขึ้นไป เมื่อพม่าถอนกองทัพไปแล้ว ตนกูม่อม น้องเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เข้ามาฟ้องที่เมืองนครศรีธรรมราช ว่าเจ้าพระยาไทรเอาใจไปเผื่อแผ่ต่อพม่าข้าศึก อีกฝ่าย ๑ จีนลิมหอย พ่อค้าเมืองถลาง แล่นเรือไปค้าขายที่เกาะหมาก ขากลับมาพบเรือพม่าลำ ๑ เห็นมิใช่เรือค้าขายผิดสังเกต จีนลิมหอยมีกำลังมากกว่าจึงเข้าตรวจค้นพบพม่าถือหนังสือรับสั่งพระเจ้าอังวะลงมาถึงเจ้าพระยาไทรก็จับทั้งพม่าแลหนังสือมาส่งต่อพระยาถลาง เมื่อได้ความทั้ง ๒ ทางเป็นหลักฐานว่าเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เอาใจไปเผื่อแผ่แก่พม่าข้าศึก จึงโปรดให้มีตราให้หาเจ้าพระยาไทรให้เข้ามาแก้คดี เจ้าพระยาไทรได้ทราบท้องตราแล้วก็เลยตั้งแข็งเมือง ไม่ส่งต้นไม้ทองเงินเข้ามา ทูลเกล้าฯ ถวายดังแต่ก่อน[๘] จึงโปรดให้มีตราสั่งให้เกณฑ์กองทัพเมืองนครฯ เมืองไชยา เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้เจ้าพระยานครฯ (น้อย) เป็นแม่ทัพยกลงไปตีเมืองไทรบุรี ได้รบกันเล็กน้อยพวกเมืองไทรสู้ไม่ได้ กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชตีได้เมืองไทร เมื่อ ณ วันเดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ ปีมะเส็งตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ พ.ศ. ๒๓๖๔ เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) หนีไปอาศัยอังกฤษอยู่ที่เกาะหมาก เจ้าพระยานครฯ ให้กวาดต้อนครอบครัวแขกเมืองไทรส่งเข้ามากรุงเทพฯ บ้าง ส่งมาไว้เมืองนครฯ บ้างทอนกำลังที่จะต่อสู้ให้น้อยลงแล้ว ให้บุตร ๒ คน คือ พระภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นผู้รักษาเมือง ให้นายนุชมหาดเล็กเป็นปลัด อยู่รักษาว่าราชการเมืองไทรบุรี เมืองไทรบุรีจึงอยู่ในความปกครองของเมืองนครฯ สิทธิ์ขาดมาแต่นั้น

ในขณะเมื่อเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ตั้งแข็งเมืองนั้น ประจวบเวลารัฐบาลอังกฤษในอินเดีย ซึ่งครั้งนั้นยังอยู่ในอำนาจบริษัทอิสต์อินเดีย อังกฤษ รู้สึกว่าผลประโยชน์การค้าขายของบริษัทตกตํ่าไปเป็นอันมากเพราะเหตุที่ฝรั่งต่างชาติทำสงครามกันอยู่ช้านาน ในครั้งเอมเปรอนะโปเลียนที่ ๑ เมื่อสงบการสงครามแล้ว อังกฤษตรวจจดหมายเหตุเก่าได้ความปรากฏว่า แต่ก่อนได้เคยมาค้าขายที่เมืองไทยแลเมืองญวนได้กำไรมาก ในเวลานั้นอังกฤษตั้งเมืองสิงคโปร์ขึ้นใหม่ แลได้เมืองมะละกามาจากวิลันดา เมืองทั้ง ๒ นี้รวมทั้งเกาะหมาก เป็นเมืองขึ้นอยู่ในรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย อังกฤษประสงค์จะให้มีการค้าขาย ติดต่อขึ้นกับเมืองไทยแลเมืองญวนดังแต่ก่อน ได้แต่งให้พ่อค้าอังกฤษเข้ามาสืบสวนถึงกรุงเทพฯ ได้ความออกไปว่ามีเรือฝรั่งต่างชาติเข้ามาค้าขายอยู่บ้างแล้ว ไทยไม่มีความรังเกียจแก่การที่จะค้าขายกับฝรั่ง ด้วยเป็นเวลาไทยกำลังต้องการซื้อหาเครื่องศัตราวุธไว้สำหรับต่อสู้ข้าศึก เป็นช่องอันดีที่พ่อค้าฝรั่งจะเข้ามาค้าขาย ความลำบากในการที่ฝรั่งจะเข้ามาค้าขาย มีอยู่แต่ด้วยเรื่องวิธีซื้อขายของหลวงแลวิธีเก็บภาษี ซึ่งเป็นการจุกจิกรบกวนให้ลำบากอยู่บ้าง เมื่อรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียได้ทราบความดังนี้ มาควิสเหสติงส์ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษจึงแต่งให้หมอครอเฟิด[๙]เป็นทูตถืออักษรสาส์นแลคุมเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย ณ กรุงเทพฯ แลสั่งให้ไปเมืองญวนด้วย ธุระของอังกฤษที่ให้ครอเฟิดเป็นทูตเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งนั้นเป็น ๒ เรื่อง คือ เรื่องการค้าขายเรื่อง ๑ กับเรื่องเมืองไทรบุรีเรื่อง ๑ ส่วนเรื่องการค้าขายนั้น รัฐบาลสั่งครอเฟิดให้เข้ามาขอแก้ไขขนบธรรมเนียม ซึ่งอังกฤษเห็นว่ายังเป็นการลำบากแก่พวกพ่อค้าอังกฤษ แต่ถึงจะไม่ได้ดังปรารถนา ก็เพียงทำไมตรีให้มีไว้กับไทย พอให้รัฐบาลพูดจาว่ากล่าวไว้กับไทย ในการเกื้อหนุนพวกพ่อค้าอังกฤษได้ เมื่อทางไมตรีมีต่อกันการค้าขายกับอังกฤษเจริญขึ้นแล้ว จึงจะคิดอ่านทำหนังสือสัญญากับไทยต่อไป ส่วนเรื่องเมืองไทรบุรีนั้น ความปรากฏในจดหมายเหตุอังกฤษว่า เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) บอกไปยังอังกฤษ ๒ ครั้งว่า มีความทุกข์ร้อนเกิดขึ้น ด้วยไม่ถูกกับไทย ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าจะเป็นเมื่อครั้งเกิดบาดหมางกับพระยาอภัยนุราชครั้ง ๑ จะเป็นเมื่อครั้งไทยยกกองทัพลงไปตั้งต่อเรือที่เมืองสตูลครั้ง ๑ ฝ่ายอังกฤษได้รับเช่าเกาะหมากจากพระยาไทร แลยังต้องอาศัยซื้อหาเสบียงอาหารที่เมืองไทรบุรี รู้สึกว่าควรจะช่วยสงเคราะห์เจ้าพระยาไทร แต่ที่จะสงเคราะห์อย่างไร มาร์ควิส เหสติงห์ สั่งครอเฟิดให้มาปรึกษากับอังกฤษเจ้าเมืองเกาะหมากซึ่งเป็นผู้อยู่ใกล้ แต่กำชับมาในคำสั่งว่า อย่าให้ครอเฟิดทำอย่างไรให้อังกฤษต้องเข้าไปรับความลำบากอยู่กลางในระหว่างเจ้าพระยาไทรกับไทยได้ เมื่อครอเฟิดมาจากเมืองอินเดียยังไม่รู้ข่าวที่เจ้าพระยานครฯ ลงไปตีได้เมืองไทร ต่อมาถึงเกาะหมากจึงได้ทราบ ในขณะนั้นเจ้าพระยาไทรหนีไปอาศัยอยู่ที่เกาะหมาก เจ้าพระยานครฯ เขียนจดหมายไปถึงอังกฤษ ให้ส่งตัวเจ้าพระยาไทรให้เจ้าพระยานครฯ ที่เกาะหมากคนกำลังตื่นกันว่ากองทัพไทยจะยกเลยลงไปตีถึงเกาะหมาก พอเจ้าพระยานครฯ รู้ว่าครอเฟิดเป็นทูตมาจากอินเดีย ก็มีจดหมายให้คนถือลงไปถึง เล่าเรื่องเหตุการณ์ที่ต้องตีเมืองไทรให้ครอเฟิดทราบแลบอกไปในจดหมายว่า ไทยไม่ได้ตั้งใจจะยกกองทัพลงไปตีถึงเกาะหมากอย่าให้อังกฤษมีความวิตก แต่ถึงกระนั้น พวกอังกฤษที่เกาะหมากก็ไม่ไว้ใจ คำสั่งที่ครอเฟิดได้รับมาจากเจ้าเมืองเกาะหมากมีแต่ให้คิดอ่านให้ไทยคืนเมืองไทรให้เจ้าพระยาไทรปกครองตามเดิมอย่างเดียว ครอเฟิดเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ณ เดือน ๕ ปีมะเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ พ.ศ. ๒๓๖๕ ได้รับการต้อนรับตามธรรมเนียมทูต แลโปรดให้เข้าเฝ้า แต่การที่ปรึกษากันด้วยเรื่องธุระของอังกฤษ ไม่สำเร็จตามปรารถนาทั้ง ๒ เรื่อง ในเรื่องการค้าขาย ครอเฟิดจะขอให้พ่อค้าอังกฤษซื้อขายสินค้ากับคนทั้งปวงได้โดยอิสระทั่วไป ไม่ต้องเสียภาษีอากร จะยอมขึ้นค่าปากเรือทดแทนให้บ้าง ข้างไทยว่าถ้ายอมอย่างนั้น ผลประโยชน์แผ่นดินที่เคยได้จะตกต่ำมากนัก แต่ถึงกระนั้น ถ้าอังกฤษยอมรับประกันว่า จะมีเรือกำปั่นอังกฤษเข้ามาค้าขายถึงกรุงเทพฯ ไม่น้อยกว่าปีละ ๕ ลำ ก็จะยอมยกภาษีอากรเปลี่ยนไปเก็บเป็นค่าปากเรืออย่างเดียวตามประสงค์ ครอเฟิดก็ไม่ยอมประกัน ส่วนเรื่องเมืองไทรที่ครอเฟิดกล่าวโทษเจ้าพระยานครฯ ว่ายกลงไปตีเมืองไทรนั้น ข้างไทยตอบว่า เจ้าพระยานครฯ แลเจ้าพระยาไทร ก็เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วยกัน เจ้าพระยาไทรมีเหตุที่จะกล่าวโทษเจ้าพระยานครฯ ประการใด ชอบแต่จะเข้ามาเฝ้ากราบบังคมทูลฯ ก็จะโปรดให้พิจารณาให้เห็นเท็จแลจริง แลให้เจ้าพระยาไทรได้รับความยุติธรรมทุกประการ ความทั้ง ๒ ข้อที่กล่าวนี้ เป็นแต่การโต้เถียงกันโดยสำนวน แต่เหตุที่เกิดบาดหมางกันขึ้นระหว่างไทยกับครอเฟิดครั้งนั้น ที่จริงเป็นด้วยเหตุอื่นอีก ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ ข้างฝ่ายไทยว่า ถ้าอังกฤษประสงค์จะให้ไทยให้ประโยชน์ในการค้าขายแก่อังกฤษ อังกฤษต้องยอมให้ไทยซื้อหาเครื่องศัสตราวุธตามหัวเมืองขึ้นของอังกฤษได้โดยสะดวก ความข้อนี้ครอเฟิดก็เข้าใจไทยว่า ไทยประสงค์จะหาเครื่องศัสตราวุธมาตระเตรียมต่อสู้พม่า ในเวลานั้นอังกฤษกับพม่าก็มีเหตุบาดหมางกันอยู่บ้างแล้ว แต่อังกฤษยังไม่ปลงใจที่จะรบพม่า ครอเฟิดกลัวไปว่า ถ้ายอมให้ไทยซื้อหาเครื่องศัสตราวุธรบพุ่งพม่าได้โดยสะดวก จะเป็นเหตุให้พม่าโกรธแค้นอังกฤษ ครอเฟิดจึงพูดเบี่ยงไปว่า ถ้าไทยไม่ซื้อหาเครื่องศัสตราวุธมารบพุ่งกับประเทศที่มีไมตรีกับอังกฤษแล้ว ก็จะยอมให้ซื้อหาได้โดยสะดวก ข้อนี้ทำให้ไทยเห็นใจอังกฤษว่าจะเอาเปรียบแต่ฝ่ายเดียว ไม่แลกเปลี่ยนประโยชน์กันจริงดังว่า อีกข้อ ๑ เกิดเหตุขึ้นด้วยเมื่อครอเฟิดเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เที่ยวหยั่งน้ำทำแผนที่ทางไปมาแลมาเกิดวิวาทขึ้นกับกัปตันเรือที่มากับครอเฟิด กัปตันเรือนั้นขยายคำซึ่งครอเฟิดพูดจากับพวกที่มาด้วยกันให้ทราบมาถึงไทย ว่าครอเฟิดพูดว่า เมืองเช่นเมืองไทย ถ้าอังกฤษจะต้องการเมื่อใด ส่งเรือรบมาแต่เพียง ๒-๓ ลำก็จะตีเอาได้ ความข้อนี้ทำให้เกิดขัดเคืองขึ้นข้างฝ่ายไทย การปรึกษาหารือกับครอเฟิดจึงไม่ตกลงกันได้ทุกข้อ แต่ไทยก็ไม่ได้ทำให้เสียอัชฌาสัยอย่างใด ได้มีหนังสือพระยาพิพัฒน์โกษาตอบไปถึงรัฐบาลอินเดีย และให้พระยาจุฬาราชมนตรีทำหนังสือให้ครอเฟิดฉบับ ๑ เป็นหนังสืออนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษไปมาค้าขายได้ แต่ต้องซื้อขายแลเสียภาษีอากรตามอย่างธรรมเนียม ครอเฟิดไม่สมประสงค์แล้วจึงออกจากกรุงเทพฯ ไปเมืองญวน ญวนก็ไม่ยอมทำสัญญาด้วยอีก ต่อนั้นมาครอเฟิดได้เป็นตำแหน่งเรสิเดนต์เมืองสิงคโปร์ จึงเปลี่ยนอัชฌาสัยกลับแสดงไมตรีกับไทย การค้าขายในระหว่างอังกฤษกับไทยจึงเจริญขึ้นตามความประสงค์ของรัฐบาลอังกฤษในอินเดียตามอันดับมา ถึงปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พ.ศ. ๒๓๖๗ อังกฤษกับพม่าเกิดรบกันขึ้นเป็นครั้งแรก เหตุด้วยแย่งเมืองประเทศราชซึ่งอยู่ระหว่างอินเดียกับพม่า คือ เมืองยะไข่ เมืองมณีบุระและเมืองอัสสัม เป็นต้น ซึ่งพม่าไปตีได้ไว้แต่ก่อน ครั้นอังกฤษรบกับพม่าตีเอาเมืองเหล่านี้ได้แล้ว แต่แรกคิดจะเดินกองทัพบกเข้ามาตีเมืองอังวะ แต่มาปรากฏว่าทางกันดารนัก อังกฤษจึงเปลี่ยนความคิดจัดเป็นกองทัพเรือ ให้เซอร์ อาชีบัลด์ แคมป์เบล เป็นแม่ทัพ ยกมาเข้าปากน้ำเอราวดีตีได้เมืองร่างกุ้งไว้เป็นที่มั่น ครั้นจะยกกองทัพตีต่อขึ้นไป พอประจวบเข้าฤดูฝนหนทางกันดาร ไพร่พลอังกฤษผิดอากาศเกิดเจ็บไข้ ทั้งระยะทางที่จะต้องรบพุ่งพม่าต่อไปก็ยังไกลด้วยจะต้องผ่านแดนรามัญขึ้นไปก่อนจึงจะถึงเมืองอังวะ อังกฤษจึงต้องหยุดยั้งทัพค้างฤดูฝนอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง แต่ในเวลาที่หยุดอยู่นั้น อังกฤษแต่งทัพอีกกอง ๑ ให้ลงมาตีหัวเมืองของพม่าตามชายทะเลข้างฝ่ายใต้ ตั้งแต่เมืองเมาะตะมะ เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี แลเมืองมฤท ไว้ได้ในอำนาจของอังกฤษทั้งสิ้น

ในเวลาเมื่ออังกฤษเกิดรบขึ้นกับพม่าครั้งที่กล่าวนี้ เป็นเวลาปลายรัชกาลที่ ๒ ความคิดเห็นของรัฐบาลไทยในครั้งนั้นจะเป็นอย่างไร ยังไม่พบจดหมายเหตุเป็นหลักฐาน พอที่จะอ้างได้เป็นแน่นอน ปรากฏแต่ว่า ทรงพระราชดำริเห็นว่า สงครามเกิดขึ้นในที่ติดต่อพระราชอาณาเขต จะไว้ใจแก่เหตุการณ์มิได้ จึงโปรดให้แต่งกองทัพ ๓ กอง ทางบกให้เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ)[๑๐] เป็นแม่ทัพ ยกล่วงหน้าออกไปทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ กอง ๑ ให้พระยาสุรเสนา[๑๑] เป็นแม่ทัพยกหนุนไปอีกกอง ๑ ทางเรือให้พระยาชุมพร (ซุย)[๑๒] คุมกองทัพเรือไปรักษาการณ์ทางต่อแดนเมืองมฤท เมืองตะนาวศรีอีกกอง ๑ การที่ไทยยกกองทัพออกไปครั้งนั้น ได้บอกให้อังกฤษทราบว่าจะไปช่วยอังกฤษ ฝ่ายข้างอังกฤษ เมื่อไปติดชะงักอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง ต้องการกำลังพาหนะที่หาบขนเครื่องศัสตราวุธ และเสบียงอาหารส่งกองทัพที่จะยกต่อขึ้นไปในฤดูแล้ง อยากได้กำลังช่วยจึงชวนให้กองทัพเจ้าพระยามหาโยธาเข้าไปตั้งอยู่ในแดนเมืองเมาะตะมะที่อังกฤษตีไว้ได้ เวลานี้เผอิญประจวบเปลี่ยนรัชกาลในกรุงสยาม ถึงรัชกาลที่ ๓ ไทยกับอังกฤษเกิดเข้าใจผิดกันขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

ประการที่ ๑ อังกฤษจะต้องการแต่สัตว์พาหนะและผู้คนในกองทัพไทยใช้เป็นกำลังแบกหามไปใช้สอยอยู่ในบังคับบัญชาของอังกฤษ อ้างเหตุว่าเพราะวิธีการทำสงครามวิธีของอังกฤษกับไทยไม่เหมือนกัน ถ้าไทยอยากจะรบพุ่งพม่าโดยลำพัง ขอให้จัดกองทัพยกไปตีหัวเมืองพม่าจากเมืองเชียงใหม่อีกทาง ๑ ข้างไทยเห็นอังกฤษจะเอาเปรียบแต่ฝ่ายเดียว จึงไม่ยอมให้กองทัพเจ้าพระยามหาโยธาอยู่ในบังคับบัญชาอังกฤษ พอถึงงานพระเมรุพระบรมศพก็ให้หากองทัพกลับคืนเข้ามากรุงเทพฯ

ประการที่ ๒ อังกฤษมีความคิดในชั้นแรกว่า ถ้าทำสงครามชนะพม่าจะคืนเมืองตะนาวศรี เมืองมฤทให้แก่ไทย แต่ว่าจะคืนให้แต่แผ่นดินดอนตอนข้างใน ส่วนข้างชายทะเลซึ่งเป็นทำเลค้าขาย อังกฤษจะเอาไว้เสียเอง ส่วนทางต่อแดนอังวะ อังกฤษคิดว่าถ้าตีได้แล้วจะกลับตั้งรามัญประเทศขึ้นตามเดิม เพื่อทอนกำลังพม่าให้น้อยลง แต่ในเวลานั้น เชื้อวงศ์พระเจ้าหงสาวดีแต่ก่อนสาบสูญ อังกฤษเลือกหาผู้ซึ่งจะเป็นที่นิยมของพวกมอญ ตั้งเป็นพระเจ้าหงสาวดีขึ้นใหม่ เจ้าพระยามหาโยธาเป็นผู้อยู่ในที่จะถูกเลือกคน ๑ ความทั้ง ๒ ข้อนี้ไม่เป็นที่พอใจของไทย ด้วยเมืองมฤท เมืองตะนาวศรี เมื่อเป็นเมืองขึ้นของไทยอยู่แต่ครั้งกรุงเก่า เป็นประโยชน์ด้วยเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเล ถ้าอังกฤษเอาชายทะเลเสีย ก็เป็นอันปิดท่าค้าขาย หาประโยชน์อันใดแก่ไทยมิได้ ไทยมีแต่จะต้องรับผิดชอบรักษาหัวเมืองดอนให้เป็นประโยชน์แก่อังกฤษฝ่ายเดียว ส่วนความคิดที่อังกฤษจะตั้งรามัญประเทศขึ้นอีก แลโดยเฉพาะที่เจ้าพระยามหาโยธาตกอยู่ในผู้ต้องเลือกนั้น ไทยต้องไม่พอใจอยู่เอง ด้วยมอญได้อพยพเข้ามาเป็นไพร่บ้านพลเมืองไทยตั้งแต่เมื่อกรุงธนบุรีครั้ง ๑ แลเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ครั้ง ๑ มีจำนวนมอญอยู่ในเมืองไทยเป็นอันมาก มอญเหล่านี้จะกลับไปฝากฝ่ายอยู่กับอังกฤษ ก็ต้องเป็นข้อรังเกียจอยู่เอง

ประการที่ ๓ เมื่อมีท้องตราออกไปให้พระยาชุมพรยกกองทัพเรือไปนั้น ในท้องตราจะสั่งอย่างไรไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าพระยาชุมพรให้เข้าไปกวาดครอบครัวเอาคนเมืองมฤทเมืองตะนาวศรีมามาก ครั้นอังกฤษลงมาตีได้เมืองตะนาวศรี เมืองมฤท พวกพลเมืองพากันไปร้องทุกข์กับอังกฤษว่าถูกพระยาชุมพรกวาดครัว อังกฤษกำลังจะเอาใจชาวเมืองตะนาวศรี เมืองมฤท จึงจับคนเมืองชุมพรที่ไปกวาดครัวไว้ได้มาก เมื่อความทราบเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระพิโรธแก่พระยาชุมพร ให้เอาตัวเข้ามาจำไว้ในกรุงเทพ ๚

ประการที่ ๔ เกี่ยวด้วยเรื่องเมืองไทรบุรี คือเมื่อพระยาไทรทำสัญญาให้อังกฤษเช่าเกาะหมากนั้น ในข้อสัญญามีว่า ยอมให้อังกฤษซื้อหาเสบียงอาหารเอาไปจากเมืองไทรบุรีได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีอากร ครั้นเมื่อไทยลงไปปกครองเมืองไทร ตั้งเก็บภาษีตามอย่างธรรมเนียมเหมือนกับหัวเมืองอื่น แลโต้อังกฤษว่าอังกฤษไปทำสัญญากับพระยาไทรโดยพลการ ไม่ได้บอกให้กรุงเทพฯ ทราบตามสมควรแก่ประเพณี อีกข้อ ๑ เมื่อเจ้าพระยานครฯ ลงไปตีได้เมืองไทรบุรีนั้น พระยาแประเลยงดไม่ส่งต้นไม้ทองเงินเข้ามาถวายดังแต่ก่อน พวกเมืองแประเกิดแตกเป็น ๒ พวก พวก ๑ เห็นควรจะอ่อนนอมต่อเจ้าพระยานครฯ พวก ๑ เห็นไม่ควรจะอ่อนนอม ฝ่ายข้างอังกฤษก็ไม่อยากจะให้ไทยมีอำนาจล่วงเลยเขตเมืองไทรบุรีลงไป

อาศัยเหตุทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมานี้ ในปลายปีระกาสัปตศก จุลศักราช ๑๑๘๗ พ.ศ. ๒๓๖๘ เมื่ออังกฤษทำสงครามจวนจะชนะพม่าแล้ว ลอร์ดแอมเฮิสต์ ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษ จึงแต่งให้นายร้อยเอกเฮนรี่ เบอนี เป็นทูตเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อให้เข้ามาพูดจาตกลงกับไทยโดยทางไมตรี แลขอให้ทำหนังสือสัญญากับไทยให้มีไว้ต่อกันเสียเป็นหลักฐาน

นายร้อยเอก เบอนี มาหาเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ก่อน เมื่อเจ้าพระยานครฯ ได้รับอนุญาตจากกรุงเทพฯ แล้ว จึงพานายร้อยเอกเบอนีเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อในเดือน ๑๒ โปรดให้เข้าเฝ้าอย่างแขกเมืองที่เคยมาแต่ก่อน แลให้เสนาบดีปรึกษากับนายร้อยเอกเบอนี ตกลงกันได้ทำหนังสือสัญญากับอังกฤษฉบับแรก เมื่อ ณ เดือน ๗ แรมค่ำ ๑ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ พ.ศ. ๒๓๖๙ เป็นหนังสือสัญญา ๑๔ ข้อ จะกล่าวในที่นี้เฉพาะแต่เนื้อความที่เกี่ยวด้วยเรื่องเมืองไทรบุรี และเมืองแประมีอยู่ในข้อ ๑๓ กับ ข้อ ๑๔

ความในสัญญาข้อ ๑๓ ว่า ไทยจะเป็นผู้ปกครองรักษาเมืองไทรบุรี จะยอมให้ชาวเกาะหมากกับชาวเมืองไทร ไปมาค้าขายถึงกันโดยสะดวกดังแต่ก่อน และยอมให้ชาวเกาะหมากมาซื้อเสบียงอาหารที่เมืองไทรบุรี เป็นต้นว่า ปศุสัตว์ ข้าวปลา พาไปบริโภคได้โดยไม่ต้องเสียภาษีอากร สิ่งของที่จะต้องเสียภาษีขาเข้าขาออก ไทยจะตั้งด่านเก็บตามปากน้ำในเขตเมืองไทรบุรี แลเก็บโดยอัตราอันสมควร จะไม่ผูกขาดให้ผู้อื่นไปเก็บตามอำเภอใจ อนึ่งว่าเมื่อเจ้าพระยานครฯ กลับออกไปจากกรุงเทพฯ แล้ว จะปล่อยญาติวงศ์แลบ่าวไพร่ของเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ที่ได้กวาดต้อนเอามา ให้มีอิสระที่จะอยู่หรือจะไปได้ตามใจสมัคร ฝ่ายข้างอังกฤษรับสัญญาว่า อังกฤษไม่ต้องการเมืองไทรบุรี อังกฤษจะไม่มารบกวน แลจะไม่ยอมให้พวกเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) มารบกวนพระราชอาณาจักรสยามทั้งที่เมืองไทรบุรีแลที่อื่น อังกฤษรับสัญญาอีกอย่าง ๑ ว่าจะจัดการให้เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ซึ่งอาศัยอยู่ที่เกาะหมากนั้นไปอยู่เสียที่อื่นไม่ให้อยู่ในเกาะหมาก หรือเมืองแปไหร[๑๓] หรือเมืองแประ เมืองสะลังงอ หรือในเมืองพม่า ถ้าหากว่าอังกฤษไม่เอาเจ้าพระยาไทรไปไว้ในที่อื่นได้ดังกล่าวนี้ อังกฤษยอมให้ไทยเก็บภาษีเสบียงอาหารมาจากพวกเกาะหมากที่ซื้อหาไปจากเมืองไทรอยู่อย่างเดิม

ความในข้อ ๑๔ ว่า ไทยกับอังกฤษยินยอมให้พระยาแประปกครองบ้านเมืองได้ตามอำเภอใจ ถ้าพระยาแประจะส่งต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการขึ้นมาทูลเกล้าฯ ถวาย อังกฤษก็ไม่ห้ามปราม ถ้าหากเจ้าพระยานครฯ จะให้ผู้คนลงไปหาพระยาแประโดยทางไมตรี หรือพระยาแประจะแต่งกรมการขึ้นมาหาเจ้าพระยานครฯ อังกฤษก็จะไม่ห้ามปรามแต่ทั้งไทยแลอังกฤษสัญญากันว่า ทั้ง ๒ ฝ่ายจะไม่ส่งกำลังพลทหารไปรบกวนเมืองแประ ฝ่ายอังกฤษจะคอยระวังไม่ให้เมืองสะลังงอมาตีเมืองแประ ฝ่ายข้างไทยก็สัญญาว่าจะไม่ลงไปตีเมืองสะลังงอ

ในคราวนั้น ไทยได้ทำสัญญากับนายร้อยเอก เบอนี ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษอีกฉบับ ๑ ว่าด้วยการค้าขาย เป็นสัญญา ๖ ข้อ มีใจความซึ่งควรกล่าวในที่นี้ คือ :-

ในข้อ ๑ ว่า ห้ามมิให้พ่อค้าอังกฤษซื้อข้าวเปลือกข้าวสารบรรทุกออกไปจากกรุงเทพฯ อีกประการ ๑ ปืนแลกระสุนดินดำซึ่งพ่อค้าอังกฤษบรรทุกเข้ามาในกรุงสยามจะขายได้แต่เป็นของหลวง ถ้าของหลวงไม่ต้องการ ต้องพากลับออกไปจากพระราชอาณาเขต นอกจาก ๒ ประการที่กล่าวมาแล้ว ยอมให้พ่อค้าอังกฤษซื้อขายสินค้าได้โดยสะดวกไม่มีข้อจำกัด แลไม่ต้องเสียภาษีอากรอย่างใด นอกจากค่าปากเรือซึ่งอังกฤษยอมขึ้นอัตราให้ คือเรือที่บรรทุกสินค้าเข้ามาขาย ให้เก็บตามขนาดปากเรือกว้างวาละ ๑,๗๐๐ บาท ถ้าเรือไม่มีสินค้าเข้ามาขาย หมายแต่จะมาซื้อสินค้าในกรุงเทพฯ เก็บวาละ ๑,๕๐๐ บาท

ความในข้อ ๓ ว่าบรรดาเรือค้าขายของอังกฤษที่จะเข้ามากรุงเทพฯ ถ้ามีปืนแลกระสุนดินดำสำหรับเรือเข้ามา ต้องเอาปืนแลกระสุนดินดำนั้นขึ้นมอบไว้แก่เจ้าพนักงานที่เมืองสมุทรปราการก่อน เรือนั้นจึงจะขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ ได้[๑๔]

นอกจากหนังสือสัญญาที่ใช้ทำกับอังกฤษในครั้งนั้น ยังได้ตกลงกันในการอย่างอื่น ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุ คือ :-

(๑) ไทยยอมปล่อยชาวเมืองพม่า ซึ่งตกไปเป็นของอังกฤษ คือชาวเมืองมฤท เมืองตะนาวศรี ที่พระยาชุมพรไปกวาดมาเป็นต้น คืนกลับไปบ้านเมือง ฝ่ายอังกฤษก็ปล่อยไทยชาวเมืองชุมพรที่จับไว้ได้คืนกลับมาบ้านเมือง

(๒) ไทยยอมให้อังกฤษเช่าเกาะหมากแลที่ฝั่ง ซึ่งเรียกว่าปรอวีนส์ เวลเลสลี ตามสัญญาที่ได้ทำกับพระยาไทร ให้เจ้าพระยานครฯ ทำหนังสือสัญญากำหนดเขตแดนข้างทางฝั่ง กับเจ้าเมืองเกาะหมากในครั้งนั้น

 (๓) เมื่ออังกฤษชนะพม่า ถึงทำสัญญายอมแพ้กัน อังกฤษกำหนดให้พม่าทำสัญญาให้แก่อังกฤษข้อ ๑ ว่าไทยเป็นพวกเดียวกับอังกฤษ พม่ายอมสัญญาว่าต่อไปในวันหน้า จะไม่มารบกวนเขตแดนไทยเป็นอันขาด

ความเรื่องอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว คือเรื่องที่อังกฤษจะตั้งรามัญประเทศก็ดี ที่อังกฤษจะยกเขตแดนเมืองตะนาวศรี เมืองมฤท ให้แก่ไทยก็ดี ฝ่ายไทยก็ไม่ต้องการ ฝ่ายอังกฤษเมื่อรบชนะพม่าแล้วก็เปลี่ยนความคิด จึงเป็นอันเลิกกันไป

เมื่ออังกฤษได้ทำหนังสือสัญญากับไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นพระยาไทรบุรี[๑๕] ทรงตั้งนายนุชมหาดเล็กเป็นพระเสนานุชิต ตำแหน่งปลัดเมืองไทร

เมื่อทำหนังสือสัญญากับอังกฤษเสร็จแล้ว การที่ทั้ง ๒ ฝ่ายจะต้องจัดให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา การอย่างอื่นไม่ปรากฏว่ามีข้อขัดข้องอย่างใด มีอยู่เรื่องเดียวแต่ที่อังกฤษจะต้องเอาตัวเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ไปจากเกาะหมาก ด้วยตั้งแต่เจ้าพระยาไทรหนีไปอาศัยอยู่ที่เกาะหมาก ไม่ได้ไปอยู่เปล่า คิดพากเพียรยุยงอังกฤษจะให้มาตีเมืองไทรคืนให้อยู่เสมอ ครั้นเห็นว่าอังกฤษไม่ตีเมืองไทร ก็แต่งคนไปยุยงราษฎรในเมืองไทรให้ก่อการกำเริบต่าง ๆ ฝ่ายข้างอังกฤษที่ปกครองเกาะหมากนั้นตามเนื้อความที่ปรากฏในจดหมายเหตุของอังกฤษ ดูความเห็นต่างกันเป็น ๒ พวก พวก ๑ อยากให้อังกฤษยกกองทัพมารบไทยที่เมืองไทร อีกพวก ๑ จะเป็นด้วยรู้ว่ารัฐบาลอังกฤษที่อินเดียไม่มีความประสงค์ที่จะมารบไทย แต่แลเห็นประโยชน์อยู่ว่าการที่เจ้าพระยาไทรอยู่ที่เกาะหมาก แลแกล้งก่อการวุ่นวายต่าง ๆ ในเมืองไทรนั้น เป็นเหตุให้พวกราษฎรเมืองไทรพากันอพยพไปอาศัยอยู่ในแดนอังกฤษมาก เป็นการทำให้เกิดประโยชน์แก่แผ่นดินของอังกฤษ จึงเป็นแต่พูดจาว่ากล่าวห้ามปรามเจ้าพระยาไทรแต่หาได้กวดขันจริงจังอย่างไรไม่ เจ้าพระยานครฯ ได้พากเพียรทำการทั้งที่จะเป็นไมตรีดีกับอังกฤษให้เหมือนกับเมื่อเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ปกครองบ้านเมืองอยู่ แลเอาใจใส่ปกครองราษฎรในเมืองไทรให้ได้รับความผาสุก ความข้อนี้มีปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของนายพันโท โล ซึ่งเป็นคนอังกฤษแต่งไว้ว่า ที่จริงเมื่อไทยปกครองเมืองไทรบุรีนั้น ปกครองดีกว่าเมื่อครั้งเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เสียอีก แต่อังกฤษที่เกาะหมากก็ไม่ได้จัดการอย่างใดในเรื่องเจ้าพระยาไทร นอกจากตอบคำบอกกล่าวของเจ้าพระยานครฯ ว่าการที่รับเจ้าพระยาไทรไว้ที่เกาะหมากนั้นทำตามขนบธรรมเนียมของประเทศใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งย่อมให้ผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็นได้พึ่งพาอาศัยในแดนดินเป็นที่อยู่ กับอีกอย่าง ๑ ได้ให้ไปว่ากล่าวแก่เจ้าพระยาไทรว่า ถ้าเจ้าพระยาไทรไปรบกวนไทยที่เมืองไทรบุรี จะหยุดเงินค่าเช่า ไม่ยอมให้ตามสัญญาเช่าเกาะหมาก คำที่ว่านี้ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด เพราะเจ้าพระยาไทรไม่ได้มารบกวนโดยเปิดเผยด้วยตนเอง เป็นแต่ลอบหนุนหลังใช้ให้ผู้อื่นมาก่อการกำเริบ ครั้นเมื่อรัฐบาลอังกฤษในอินเดียทำสัญญากับไทยรับรองมั่นคงว่าจะเอาเจ้าพระยาไทรไปไว้ที่อื่น ถึงเวลาที่จะเอาตัวเจ้าพระยาไทรไป เจ้าพระยาไทรไม่ยอมไปจากเกาะหมาก อังกฤษจะบังคับเจ้าพระยาไทร ก็แต่งทนายความให้ฟ้องในศาลว่าเจ้าเมืองเกาะหมากจะทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ ผิดกฎหมาย ต้องเป็นความกันอยู่ยก ๑ ครั้นเจ้าพระยาไทรได้รหัสรเหียนว่าศาลจะตัดสินตามหนังสือสัญญา ก็อพยพหลบหนีไปอยู่ที่ตำบลบรวสในแขวงเมืองแประ อังกฤษต้องส่งเรือรบไปจับ ถึงเกิดต่อสู้กัน ทหารอังกฤษยิงพวกเจ้าพระยาไทรตายหลายคน ข้างอังกฤษก็ตายบ้าง จึงจับเจ้าพระยาไทรได้ ให้เอาตัวไปคุมไว้ที่เมืองมะละกาแต่นั้นมา

ฝ่ายข้างเมืองไทรบุรี ตั้งแต่ไทยลงไปตีได้ในชั้นแรก เมื่อกำลังต้องคุมเชิงอยู่กับอังกฤษ ปรากฏว่าเจ้าพระยานครฯ ลงไปอยู่ที่เมืองไทรเอง เห็นจะเป็นเมื่อทำสัญญากับอังกฤษแล้ว เจ้าพระยานครฯ จึงมอบการงานให้พระยาไทร (แสง) ปกครองโดยลำพัง ต่อมาในระยะนี้ไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์อย่างใดทางเมืองไทรบุรี แต่ข้างทางเมืองสงขลานั้น พระยาวิเศษภักดี (จ๋ง) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาถึงอนิจกรรม ทรงพระกรุณาโปรดตั้ง พระสุนทรนุรักษ์ (เซ่ง) น้องพระยาสงขลา (จ๋ง) เป็นพระยาวิเชียรคิรีศรีสมุทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาต่อมา[๑๖]

มีข้อความที่ควรจะกล่าวไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจข้อ ๑ โดยปรากฏในหนังสือแลคำที่เล่าสืบต่อกันมา ว่าตั้งแต่แยกเมืองสงขลามาขึ้นกรุงเทพฯ แลให้มีหน้าที่กำกับหัวเมืองแขกเหมือนกับเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครฯ กับเจ้าพระยาแลพระยาสงขลาไม่ชอบกันมาทุกชั้นบุรุษ ข้อนี้เป็นความจริง แลเป็นปัจจัยให้เกิดเหตุร้ายทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ดังจะปรากฏต่อไป คือเมื่อปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๑๙๒ พ.ศ. ๒๓๗๓ ตนกูเดน บุตรตนกูรายา ที่เป็นพี่เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เที่ยวลอบเกลี้ยกล่อมแขกต่างเมืองเข้าเป็นสมัครพรรคพวกได้มาก แล้วยกจู่โจมมาตีเอาเมืองไทรบุรีได้เมื่อ ณ วันศุกร์เดือน ๓ แรม ค่ำ ๑ พระยาไทรแลพวกไทยต้องถอยมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพัทลุง เจ้าพระยานครฯ มีใบบอกเข้ามากรุงเทพฯ แล้วทางโน้นตระเตรียมกองทัพที่จะยกลงไปตีเอาเมืองไทรคืนให้พระสุรินทร์ซึ่งเป็นข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ อยู่ ณ เมืองนครฯ ในเวลานั้น ลงไปเกณฑ์กองทัพเมืองสงขลา แล (เมืองปัตตานีเก่า ซึ่งแยกเป็น) หัวเมืองทั้ง ๗ อันขึ้นอยู่ในเมืองสงขลา ให้ยกมาสมทบช่วยกันตีเมืองไทร การที่พระสุรินทร์ลงไปเกณฑ์กองทัพในครั้งนั้น จะไปทำอย่างไรบ้าง ไม่พบจดหมายเหตุทราบความโดยพิสดาร แต่เรื่องราวอันปรากฏเท่าที่ทราบ พอสันนิษฐานเห็นได้ว่าเจ้าพระยานครฯ กับพระยาสงขลา (เซ่ง) ไม่เข้ากัน จะเป็นเพราะเจ้าพระยานครฯ เข้าใจว่า ถ้าจะกะเกณฑ์กำลังเมืองสงขลาโดยพลการ พระยาสงขลาจะไม่ฟังบังคับบัญชา จึงให้ข้าหลวงกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ที่เมืองนครฯ ในเวลานั้นลงไปเกณฑ์ ฝ่ายข้างพระยาสงขลาก็คงเห็นว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะเจ้าพระยานครฯ จัดการบ้านเมืองไทรไม่ดีเอง แลยังจะมาพาให้เมืองสงขลาต้องรับผิดชอบในการที่จะเกณฑ์ให้แขกไปรบแขกด้วยกันอีก จึงอ้างเหตุอันใดอันหนึ่ง ส่งพระสุรินทร์ให้ลงไปเกณฑ์พวกแขก ๗ หัวเมืองเอาเอง ความปรากฏว่าเมื่อพระสุรินทร์ลงไปเกณฑ์กองทัพแขก ๗ หัวเมืองในคราวนั้น พวกแขก ๗ หัวเมืองพากันขัดขืนกำเริบขึ้นทั้ง ๗ หัวเมือง เจ้าเมืองที่เป็นแขกก็เข้าด้วยกับพวกแขก เว้นไว้แต่เจ้าเมืองยิหริ่งเป็นไทย ไม่เข้าด้วยอยู่คนเดียว พระยาสงขลา (เซ่ง) มีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ กล่าวโทษว่าเพราะพระสุรินทร์ลงไปกะเกณฑ์ลงเอาเงินทองทรัพย์สมบัติแก่พวกแขก พวกแขกจึงพากันกำเริบ เมื่อความทราบถึงกรุงเทพฯ ว่าหัวเมืองแขกเกิดกำเริบขึ้นในครั้งนั้น จึงโปรดให้กองทัพกรุงเทพฯ ยกลงไป ๔ กอง พระยาณรงค์ฤทธิโกษา คุมลงไปกองหนึ่ง ๑ พระยาราชวังสรรค์[๑๗]กอง ๑ พระยาพิไชยบุรินทรากอง ๑ พระยาเพชรบุรี (สุก ซึ่งได้เป็นเจ้าพระยายมราชในรัชกาลที่ ๔) กอง ๑ กองทัพทั้ง ๔ กองนี้ เมื่อยกลงไปถึงเมืองสงขลาเห็นจะได้ทราบความว่า ทางเมืองไทรบุรี เจ้าพระยานครฯ ได้ยกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ลงไปแล้ว ๔ กองที่ไปจากกรุงเทพฯ จึงยกไปทางหัวเมืองทั้ง ๗ แต่กำลังไม่พอที่จะปราบปรามได้ ด้วยพวกแขกเมืองกลันตัน แลเมืองตรังกานูขึ้นมาช่วยพวกแขก ๗ หัวเมือง จึงมีใบบอกขอกำลังเพิ่มเติมจากกรุงเทพฯ จึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ ซึ่งได้เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ในรัชกาลที่ ๔) ครั้งนั้นว่าทั้งที่สมุหพระกลาโหมแลกรมท่า เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพเรือตามลงไปอีกทัพ ๑ เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรงจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๙๔ พ.ศ. ๒๓๗๕

เมื่อก่อนกองทัพเจ้าพระยาพระคลังลงไปถึงเมืองสงขลา ทางโน้นกองทัพเจ้าพระยานครฯ ยกลงไปตีเมืองไทร ได้สู้รบกับพวกแขก กองทัพไทยล้อมตนกูเดนไว้ ตนกูเดนกับพวกแขกหัวหน้าเห็นว่าจะหนีไปไม่รอดก็พากันฆ่าตัวตาย เจ้าพระยานครฯ ตีเมืองนครศรีธรรมราช[๑๘]ได้คืนแล้วจึงยกกองทัพมาช่วยเมืองสงขลา มาถึงก่อนกองทัพเจ้าพระยาพระคลังหน่อย ๑ จึงแต่งกองทัพเรือลงไปปิดปากน้ำเมืองปัตตานีไว้ ครั้นเจ้าพระยาพระคลังลงไปถึง จึงให้เจ้าพระยานครฯ ยกกองทัพหนุนลงไปจากเมืองสงขลา เมื่อ ณ เดือน ๘ ขึ้น ๓ ค่ำ กองทัพไทยสมทบกันปราบปรามพวกแขกขบถ ๗ หัวเมืองได้เรียบร้อย ได้ตัวเหล่าผู้ว่าราชการเมืองที่ไปเข้าด้วยพวกแขกขบถเกือบหมด แลได้ความว่า พระยากลันตัน (หลง มหะหมัด) ได้ให้พระยาบาโงย พระยาบ้านทะเลผู้น้อง คุมคนเมืองกลันตันขึ้นมาช่วยพระยาปัตตานีผู้เป็นหลานเขยของพระยากลันตันรบพุ่งไทย และพระยาตรังกานูก็ได้ให้ตนกูดาเร เจ๊ะกูหลัน หวันกามา เจ๊ะสะมะแอ คุมกำลังมาช่วยพระยาปัตตานีด้วย เจ้าพระยาพระคลังเตรียมการจะตีเมืองกลันตันต่อลงไป พระยากลันตันรู้สึกตัวกลัวผิด แต่งให้เจ๊ะหลง เจ๊ะยาบา ถือหนังสือขึ้นมาถึงเจ้าพระยาพระคลัง รับสารภาพผิด ยอมส่งตัวพระยาปัตตานีให้แก่ไทย แลขอเสียค่าไถ่เมืองเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ เหรียญ ค่าใช้จ่ายของกองทัพไทยอีก ๒๐,๐๐๐ เหรียญ รวมเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ เหรียญ เพื่อให้พ้นโทษที่ได้ทำผิด เจ้าพระยาพระคลังก็ยกโทษให้เมืองกลันตัน แต่ส่วนเมืองตรังกานูนั้น พระยาตรังกานู (มหะหมัด) นิ่งอยู่ เจ้าพระยาพระคลังจึงให้ข้าหลวงถือหนังสือลงไปต่อว่าพระยาตรังกานูแห่แหนรับหนังสือตามธรรมเนียม แต่ครั้นทราบความในหนังสือแล้วก็บอกป่วยเสีย ข้าหลวงไปตักเตือน พวกกรมการก็บอกแต่ว่าพระยาตรังกานูยังป่วยอยู่มิรู้ที่จะทำประการใด ข้าหลวงคอยอยู่เห็นไม่เป็นประโยชน์อันใดแล้วก็กลับมา เจ้าพระยาพระคลังปรึกษากับเจ้าพระยานครฯ เห็นพร้อมกันว่า ถ้าจะยกกองทัพลงไปตีเมืองตรังกานู พวกแขกเมืองตรังกานูจะพากันอพยพแตกฉานเข้าไปอยู่ในเขตแดนอังกฤษ จะได้แต่เมืองเปล่า หาเป็นประโยชน์อันใดไม่ ในเวลานั้น พวกแขกตรังกานูเองก็แตกกันอยู่เป็น ๒ พวก ด้วยเมื่อก่อนหน้ามา ๓ ปี พระยาตรังกานู (มังโซ) ซึ่งเป็นบิดาของพระยาตรังกานู (มหะหมัด) กับตนกูอุมาได้รบพุ่งแย่งที่เจ้าเมืองกัน ฝ่ายไทยเข้าด้วยพระยาตรังกานู (มังโซ) ตนกูอุมาจึงอพยพหนีไปอยู่เมืองลิงา ซึ่งเป็นเขตแดนของวิลันดา เจ้าพระยาพระคลังให้มีหนังสือลงไปถามตนกูอุมา ว่าถ้าจะโปรดตั้งให้เป็นพระยาตรังกานูจะรับจัดการให้เรียบร้อยได้หรือไม่ ตนกูอุมารับจะทำราชการสนองพระเดชพระคุณ แลจะจัดราชการบ้านเมืองให้เรียบร้อย เจ้าเมืองลิงาซึ่งเป็นญาติกับตนกูอุมาก็มีหนังสือรับรองเข้ามาด้วย เจ้าพระยาพระคลังมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงโปรดให้มีท้องตราสั่งถอดพระยาตรังกานู (มหะหมัด) แลทรงตั้งตนกูอุมาให้เป็นพระยาตรังกานู เมื่อชาวเมืองตรังกานูได้ทราบความว่าไทยอุดหนุนตนกูอุมา แลกองทัพไทยตั้งอยู่ที่เมืองสงขลาก็ไม่มีผู้ใดที่จะคิดต่อสู้ ตนกูอุมาเข้ามาว่าราชการเมืองตรังกานูได้โดยสะดวก ส่วนพระยาตรังกานู (มหะหมัด) นั้น อพยพมาอาศัยอยู่ที่เมืองกลันตันได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่กรรม

ในเวลาต่อมาจะเป็นปีใดไม่แน่ ด้วยศักราชที่ลงไว้ในพงศาวดารเมืองกลันตันว่าตามศักราชแขก ปีเดือนเคลื่อนคลาดไม่ตรงกับของไทย ข้าพเจ้าประมาณว่าราวปีวอกอัฐศก หรือปีระกานพศก จุลศักราช ๑๑๙๙ พ.ศ. ๒๓๘๐ พระยากลันตัน (หลง มหะหมัด) ถึงอนิจกรรม พระยากลันตัน (หลง มหะหมัด) ไม่มีบุตร พวกเชื้อวงศ์เจ้าเมืองกลันตันที่มีตัวอยู่ในเวลานั้น มีน้องพระยากลันตัน ชื่อพระยาบาโงยคน ๑ หลานพระยากลันตัน (คือ บุตรพระยาตะมะหงง ซึ่งเป็นน้องพระยากลันตัน) ๔ คน ชื่อ ตุวันตอกาคน ๑ ตุวันมิกาคน ๑ ตุวันสะนิ (ปากแดง) คน ๑ ตุวันมุสูคน ๑ พระยาบาโงยมีบุตรคน ๑ ชื่อตุวันตาเงาะ บุตรรายามุดา (หลงสาลอ ซึ่งแขกเรียกว่าพระยาบ้านทะเล น้องพระยากลันตัน) มี ๒ คน ชื่อตุวันปะสาคน ๑ ชือตุวันมุสูคน ๑ ว่าโดยย่อ พวกญาติวงศ์พระยากลันตันที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ มีตัวอยู่ในเวลาพระยากลันตัน (หลง มหะหมัด) ถึงอนิจกรรมนั้น เป็นน้องคน ๑ เป็นหลานคือบุตรของน้อง ๗ คน นัยว่า พระยากลันตันรับหลานบรรดาที่เป็นบุตรพระยาตะมะหงงมาเลี้ยงไว้ตั้งแต่บิดาถึงแก่กรรมทั้ง ๔ คน แต่รักใคร่ไว้วางใจตุวันสะนิ (ปากแดง) ยิ่งกว่าคนอื่น ด้วยเห็นว่ามีสติปัญญา ตั้งใจจะให้ตุวันสะนิ (ปากแดง) สืบวงศ์สกุลต่อไป แต่เมื่อพระยากลันตันถึงอนิจกรรม พวกญาติวงศ์เหล่านี้ไม่ปรองดองกัน เกิดชั้นเชิงที่จะแย่งกันเป็นเจ้าเมือง เจ้าพระยานครฯ จึงให้พระเสนหามนตรี (น้อยกลาง) บุตรที่ ๒ (ซึ่งได้เป็นเจ้าพระยานครฯ เมื่อรัชกาลที่ ๔) ลงไปว่ากล่าว พระเสนหามนตรีเห็นผู้คนพลเมืองนิยมในตุวันสะนิ (ปากแดง) มากกว่าผู้อื่น จึงว่ากล่าวเกลี่ยไกล่พวกญาติวงศ์ก็ยินยอมพร้อมกันให้ตุวันสะนิ (ปากแดง) เป็นพระยากลันตัน เพื่อจะจัดการทั้งปวงให้เรียบร้อย พระเสนหามนตรี จึงให้ตุวันสะนิทำต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ แต่งให้พระยาบาโงยผู้เป็นอา ตุวันมุสูผู้เป็นน้อง แลตุวันปะลาบุตรพระยาบ้านทะเลคุมเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งตุวันสะนิ (ปากแดง) เป็นพระยาวิชิตภักดี พระยากลันตัน ทรงตั้งตุวันตอกา พี่พระยากลันตันสะนิ (ปากแดง) เป็นพระยาสุนทรธิบดี ศรีสุลต่านเดหวา มหารายา ตำแหน่งจางวาง ทรงตั้งตุวันมิกาพี่พระยากลันตันสะนิ (ปากแดง) อีกคน ๑ เป็นตนกูศรีอินดาราห์ ประตามหามนตรี ทรงตั้งตุวันมุสูน้องพระยากลันตัน เป็นรายามุดา แลพระราชทานเกียรติยศญาติของพระยากลันตันชั้นผู้ใหญ่ ให้เป็นตนกูทุกคนแต่นั้นมาแต่ส่วนพระยาบาโงยกับตนกูปะสา หาได้ทรงแต่งให้มียศศักดิ์ไม่ ด้วยทั้ง ๒ คนมีความระแวงผิด ครั้งขึ้นมาช่วยพระยาตานี รบไทย เมื่อปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๑๙๒ พ.ศ. ๒๓๗๓ ดังแสดงมาแล้ว ดูเหมือนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชดำริให้ยึดเอาตัวไว้เสียทั้ง ๒ คน หรือให้ยึดไว้แต่พระยาบาโงย ด้วยทรงระแวงพระราชหฤทัยว่าจะไปก่อการวุ่นวายขึ้นอีก แต่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) อยากจะให้การเมืองกลันตันเรียบร้อย โดยเชื่อว่าพี่น้องปรองดองกันหมดแล้ว ขอรับพระราชทานตัวออกไปทั้ง ๒ คน พระยาบาโงยกลับออกไปถึงเมืองนครฯ แล้ว ก็เลยหนีไปอยู่เมืองปาหังนอกพระราชอาณาเขต แต่ตนกูปะสานั้นกลับไปอยู่เมืองกลันตัน การเมืองกลันตันเป็นปกติมาได้คราวหนึ่ง[๑๙]

ถึงปีระกานพศก จุลศักราช ๑๑๙๙ พ.ศ. ๒๓๘๐ สมเด็จพระศรีสุลาไลย สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงสวรรคต ทำงานพระเมรุถวายพระเพลิงเมื่อต้นปีจอสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ พ.ศ. ๒๓๘๑ ผู้ว่าราชการหัวเมืองเข้ามากรุงเทพฯ ในงานพระเมรุโดยมาก ในระหว่างนั้น ตนกูมหะหมัดสหัส ตนกูอับดุลละ หลานเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) ซึ่งหลบหนีไปเป็นสลัดอยู่ในท้องทะเลทางตะวันตก คบคิดกับหวันมาลีซึ่งเป็นหัวหน้าแขกสลัดอยู่ที่เกาะยาว แขวงเมืองภูเก็ต เที่ยวชักชวนพวกแขกร่วมคิดได้เป็นอันมากยกจู่มาตีเมืองไทรในเวลาไทยเผลอ ไทยรักษาเมืองไทรไว้ไม่ได้ต้องถอยมาตั้งมั่นที่เมืองพัทลุงอีกครั้ง ๑ เมื่อพวกแขกตีเมืองไทรได้แล้วมีใจกำเริบ ด้วยรู้ว่าในเวลานั้นข้าราชการผู้ใหญ่ทางหัวเมืองปักษ์ใต้โดยมากมีเจ้าพระยานครฯ และพระยาสงขลา เป็นต้น เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อพวกแขกตีได้เมืองไทรแล้ว จึงยกไปตีเมืองตรังซึ่งเป็นเขตเมืองนครฯ อีกเมือง ๑ ก็ได้โดยง่าย ครั้นได้เมืองตรังแล้ว จึงยกทัพข้ามแหลมมลายูเข้าตีเมืองสงขลา แลแต่งคนไปเกลี้ยกล่อมพวกแขกทาง ๗ หัวเมืองจะให้กำเริบขึ้นอย่างคราวก่อน เมื่อข่าวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ผู้ว่าราชการเมืองรีบกลับออกไปรักษาบ้านเมือง แต่ทรงพระปริวิตกอยู่ ด้วยคราวหลังนี้พวกแขกขบถเข้ามาตีได้ถึงเมืองตรัง แลมาประชิดติดเมืองสงขลาซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เกรงเกลือกพวกแขกตามหัวเมืองทางหน้าใน มีเมืองตรังกานูแลเมืองกลันตันเป็นต้น จะกำเริบขึ้นด้วยดังคราวก่อน จึงทรงพระราชดำริให้จัดกองทัพใหญ่ยกออกไปจากกรุงฯ อย่างเคยโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังยกออกไปเมื่อคราวก่อน เปลี่ยนแต่ให้พระศรีพิพัฒน์ (ทัด) น้องเจ้าพระยาพระคลัง (ที่ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เมื่อในรัชกาลที่ ๔) เป็นแม่ทัพ

ในเวลาเมื่อเตรียมจะยกทัพตามกระแสพระราชดำรินั้น พระยาศรีพิพัฒน์ให้หลวงอุดมสมบัติ ผู้มีตำแหน่งในกรมพระคลังสินค้า ทำนองเป็นเลขานุการ รับธุระคอยสืบฟังข้อราชการที่ได้ปรึกษาหารือกันในกรุงเทพฯ อย่างหนึ่งอย่างใดในเรื่องกองทัพ บอกออกไปให้ทราบ ทำนองจะเห็นว่าหลวงอุดมสมบัติเป็นผู้ทรงจำแม่นยำ แลอยากจะให้มีจดหมาย ลายลักษณ์ไว้พิจารณาข้อราชการแต่ต้นตั้งแต่ตกลงจะให้พระยาศรีพิพัฒน์เป็นแม่ทัพออกไป ข้อความที่ปรากฏในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ จึงเริ่มเรื่องตั้งแต่ก่อนพระยาศรีพิพัฒน์ได้ยกออกไปจากกรุงเทพฯ แลมีจดหมายส่งตามต่อไปโดยลำดับ รวมตัวจดหมายที่ได้มาเบ็ดเสร็จเป็น ๑๕ ฉบับด้วยกัน พิเคราะห์ดูตามเนื้อเรื่องเห็นจะหมดเพียงเท่านั้นเอง

อนึ่ง ในเวลาเมื่อพระยาศรีพิพัฒน์ยกกองทัพออกไปแล้ว ทางเมืองกลันตันเกิดเหตุขึ้นอีกในปีจอสัมฤทธิศกนั้น ด้วยตนกูปะสาเกิดวิวาทขึ้นกับพระยากลันตัน (สะนิปากแดง) เหตุด้วยเรื่องทรัพย์สมบัติแลบ่าวไพร่ตนกูปะสากับพระยาบาโงย มีความน้อยใจด้วยเรื่องพระยากลันตันไม่ทูลขอให้เป็นที่ทางอันใดอยู่แล้ว แลบางทีจะรู้เหตุเรื่องเมืองไทร เมืองตรังเสียแก่พวกแขกด้วย เมื่อเกิดอริกันขึ้น ตนกูปะสาจึงไปชวนพระยาบาโงยเข้ามารวบรวมผู้คนตั้งค่าย ถึงได้รบพุ่งกับพระยากลันตัน แต่เมื่อเกิดเหตุที่เมืองกลันตันคราวนี้ พอกองทัพกรุงเทพฯ ลงไปถึงเมืองสงขลาทัน ต้องจัดการระงับทางเมืองกลันตันอีกทาง ๑ เรื่องราวอันเป็นมูลเหตุมีดังแสดงมานี้ เรื่องต่อจากนี้ไปจะปรากฏโดยพิสดารในจดหมายหลวงอุดมสมบัติซึ่งพิมพ์ไว้ต่อไปนี้.



[๑] ตามหนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ว่า โปรดให้เป็นเจ้าพระยาพิไชยคิรีฯ นัยหนึ่งว่าเป็นเจ้าพระยาอินทคิรีฯ

[๒] พระยาสงขลา (บุญฮุย ณ สงขลา) ภายหลังเป็นเจ้าพระยาพิไชยคิรีฯ ในพงศาวดารเมืองสงขลาเรียกชื่อเดิมว่า บุญหุ้ย

[๓] ประเพณีแต่โบราณ บิดามารดามักเรียกบุตรแลธิดาเมื่อแต่ยังเยาว์ว่า ออฉิม ข้อนี้มีพยานในสำนวนที่แต่งหนังสือเทศน์กัณฑ์ชูชก ตอนนางพราหมณีผู้มารดานางอมิตตา ปรับทุกข์แก่ชูชกว่า “จนพ่อออฉิมเขาโกรธ เขาคาดโทษว่าจะตี” ดังนี้ นี่เป็นสำนวนครั้งกรุงเก่า ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ พวกผู้ดีชาวนครฯ ยังถือประเพณีนี้ บุตรแลธิดามักมีชื่อตามบุพการีเรียกเมื่อยังเยาว์แต่ว่า “นุ้ย” (ตรงกับคำว่า น้อย) หรือ “หนู” หรือ “เอียด” ล้วนแต่ที่หมายว่า เล็ก นั้น โดยมาก ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดากรมพระราชวงบวรมหาศักดิ์พลเสพ ก็ชื่อนุ้ย อีกคนหนึ่งเป็นภรรยาเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ ก็ชื่อหนู ธิดาเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถวายทำราชการในรัชกาลที่ ๓ สองคน อยู่มาจนข้าพเจ้าเองได้รู้จักตัว เรียกว่าคุณน้อยใหญ่ คน ๑ คุณน้อยเล็กคน ๑

[๔] ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ หน้า ๑๐๖ (หัวข้อเรื่องหมายเลข ๖๐)

[๕] พระยาสงขลา (จ๋ง ณ สงขลา) ในพงศาวดารเมืองสงขลาเรียกชื่อเดิมว่า จ๋อง

[๖] ที่พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา) กล่าวในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา ว่าเมืองกลันตันได้เป็นประเทศราช ขึ้นตรงต่อกรุงฯ ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ แลที่ว่าเมืองสงขลาได้กำกับเมืองไทรบุรีอยู่ก่อน พระยาสงขลา (จ๋ง) เป็นผู้กราบทูลขอให้เมืองไทรมาขึ้นต่อเมืองนครฯ ความ ๒ ข้อนี้ สอบในหนังสือที่มีหลักฐาน คือกฎตั้งเจ้าพระยานครฯ ก็ดี พงศาวดารเมืองกลันตันก็ดี เหตุการณ์ที่ปรากฏในเรื่องจดหมายหลวงอุดมสมบัติ เมื่อเทียบดูเวลาก็ดีจะเป็นอย่างกล่าวในพงศาวคารเมืองสงขลาไม่ได้

[๗] พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน)

[๘] เจ้าพระยาไทร พูดแก้ตัวแก่อังกฤษว่า เพราะได้ข่าวว่าที่กรงเทพฯ เกิดอหิวาตกโรค จึงรอต้นไม้ทองเงินไว้ แต่ข้อที่เจ้าพระยาไทรไปเข้ากับพม่านั้น อังกฤษรู้แลยืนยันว่าเป็นความจริง ข้อความเหล่านี้ปรากฏในจดหมายเหตุของอังกฤษ

[๙] ไทยเราเรียกกันแต่ก่อนว่า การะฝัด

[๑๐] เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี)

[๑๑] พระยาสุรเสนา (ฉิม)

[๑๒] พระยาชุมพร (ซุย) ผู้เป็นตาพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)

[๑๓] ที่เรียกว่าเมืองแปไหร ตรงนี้ คือที่แผ่นดินที่ฝั่งซึ่งอังกฤษเช่าพระยาไทรแขกไป อังกฤษเรียกปรอวินสเวลเลสลี

เมืองแปไหรคือฝั่งตรงเกาะหมากข้ามเรียกว่าไปร แต่ชาวนอกเรียก เรียกอังกฤษควบ ๒ ตัวไม่ได้จึงเป็นแปไร ไหรนั้นตามสำเนียงชาวนอก

[๑๔] ประเพณีที่เก็บปืนกระสุนดินดำเรือต่างประเทศ ตามที่ปรากฏในสัญญานี้ ที่เมืองพม่ายังแรงขึ้นไปกว่านี้ เรือต่างประเทศเข้าไปค้าขาย ไม่ใช่แต่ต้องส่งปืนกระสุนดินดำไว้ต่อเจ้าพนักงานเท่านั้น ต้องถึงถอดหางเสือส่งไว้ต่อเจ้าพนักงานด้วย

[๑๕] ในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา ที่พระยาวิเชียรคิรี (ชม) แต่ง นามพระยาไทร มีสร้อยดังนี้ พระยาอภัยธิเบศร์ มหาประเทศราชธิบดินทร์อินทรไอสวรรย์ ขัณฑเสมา มาตยานุชิต สิทธิสงคราม รามภักดี พิริยพาหะ

[๑๖] ในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา ที่พระยาวิเชียรคิรี (ชม) แต่ง ว่าพระยาสงขลา (จ๋ง) ถึงอนิจกรรมแต่ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ พ.ศ. ๒๓๖๐ ก่อนพระยานครฯ ตีเมืองไทร

[๑๗] พระยาราชวังสรรค์ (เดิม?)

[๑๘] เข้าใจว่าคงทรงหมายตีเมืองไทร หากแต่พิมพ์คลาดเคลื่อนไป

[๑๙] เรื่องราวเมืองกลันตันที่กล่าวมาตอนนี้ ไม่ตรงกับพงศาวดารเมืองกลันตัน ซึ่งแต่งในรัชกาลที่ ๔ แลไม่ตรงกับที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ทีเดียว ข้าพเจ้าถือเอาวันปรากฏในกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นใหญ่ จึงแก้ความที่เคลื่อนคลาดเข้าหาตามเค้าในกระแสรับสั่ง ซึ่งจะเห็นได้ในจดหมายหลวงอุดมสมบัตินี้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ