จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๕

๏ ข้าพเจ้าหลวงอุดมสมบัติ จดหมายมายังหลวงทิพอักษรเสมียนตรา ได้นำขึ้นกราบเรียนแต่ท้าวพระกรุณาเจ้าให้ทราบ ด้วย ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ข้าพเจ้าได้จดหมายฝากออกมากับขุนฤทธิรณไกรฉบับหนึ่งข้อความแจ้งอยู่ในจดหมายซึ่งฝากออกมากับขุนฤทธิรณไกรนั้นแล้ว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าเรือขุนรามภักดีกองส่วยดีบุกเมืองไชยามาแต่เมืองหลังสวน เข้ามาทางปากน้ำเมืองสาครบุรีลำ ๑ ถามได้ความว่า เมื่อ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ขุนรามภักดีใช้ใบเรือเข้ามาพบเรือกองทัพที่เกลียวอ่าวเขาแดง[๑] เป็นเรือรบ ๖ ลำ พวกมอญที่ไปตัดฝางอยู่ที่เขาแดง เข็นฝางลงมาพบกับขุนรามภักดีชี้ให้ขุนรามภักดีดู ว่าเรือรบใหญ่ซึ่งแล่นใบผ้าไปนั้นเป็นเรือท้าวพระกรุณาแม่ทัพใหญ่จะยกกองทัพไปเมืองสงขลา แล้วขุนรามภักดีก็ใช้ใบเรือเข้ามาว่าหาได้พบปะเรือกองทัพต่อไปอีกไม่ ทรงตรัสว่า มันว่าผิดไป ที่จะเป็นเหมือนอย่างว่านั้นไม่เป็น จะเป็นก็เป็นเรือกองทัพพระยาเพชรบุรีเขาออกไปนั้นเอง เห็นมันจะพบปะเรือพวกนี้เสียแล้ว เรือข้างโน้นพากันข้ามมาแต่ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ว่าข้ามที่จันทบุรีแล้วก็ได้เมืองนครฯ ทีเดียว จะข้ามตกเข้ามาจนถึงเกลียวนี้เห็นจะไม่เป็น หรือว่ากระไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ทีจะข้ามตกเข้ามาจนถึงเกลียว ไม่เป็นหามิได้ จะเป็นก็เป็นพบเรือกองทัพพระยาเพชรบุรี ทรงตรัสว่า มันพบเรือพระยาเพชรบุรีนั่นเองมันว่าผิดไปเสียแล้ว ๆ ทรงตรัสถามว่า เรือกองพระยาเพชรบุรีเขาออกไปกี่ลำ พระนรินทร์กราบทูลว่าออกไปเป็นเรือรบ ๖ ลำ เรือญวนลำ ๑ เรือยืม ๒ ลำ เข้ากัน ๙ ลำ ทรงตรัสว่า มันก็พบเรือรบ ๖ ลำนี้เอง มันว่าเอาเป็นเรือแม่ทัพใหญ่ไปได้ อ้ายโหยกเหยกทีเดียว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรมค่ำ ๑ เพลาค่ำ ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า มีอะไรเข้ามาหรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ไม่มีเรือจีนเข้ามาหามิได้ ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่าเข้ามาทำไม เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เข้ามารับพระราชทานถวายร่างตราตอบเมืองนครฯ รับสั่งว่า เอามาว่าไปเถิด เจ้าคุณหาบนให้อ่านถวาย ใจความว่าอ้ายเจ้าพระยานครฯ ให้หมื่นพิทักษ์นาวา ให้นายดวง นายแพ ถือบอกเข้าไปว่า ได้จัดให้พระยาไทรยกกองทัพลงไป ๓,๙๙๕ คน ตีอ้ายแขกทีกะบังปาสู ที่ตะพานช้างแตกหนีไปได้เมืองไทรโดยง่ายนั้น ก็ชอบด้วยราชการอยู่แล้ว แต่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ถึงจะได้เมืองไทร ก็หาเท่าที่เสียเขตแดนบ้านเมืองสงขลากับอ้ายแขกไม่ อ้ายแขกมันก็มีคนมาสักกี่มากน้อยนักหนา เมืองนครฯ ก็มีคนอยู่ห้าพัน เมืองสงขลาก็มีอยู่สามพัน พอจะสู้รบกับอ้ายแขกได้ก็หาคิดช่วยกันทำเสียให้แล้วโดยเร็วไม่ อ้ายแขกมันยกเข้ามาก็ว่าได้สู้รบกันแต่ ณ วันเดือน ๑๒ แรม ๗ ค่ำ มาอยู่ถึง ๔ เดือน การก็หาเป็นอันสำเร็จได้ไม่ ทำให้จนอ้ายแขกมันยกตีเข้ามาจนถึงชานบ้านเมือง ๆ สงขลา ให้เสียพระเกียรติยศอับอายแก่แขกแก่ฝรั่งนานาประเทศเปล่า ๆ ข้างเจ้าพระยานครฯ บอกขอกองทัพออกมาสามพันนั้น จะโปรดให้ออกมาเล่าก็หาเป็นที่ไว้วางพระทัยไม่ ด้วยเมืองสงขลาก็บอกขอกองทัพเข้าไปให้ยกออกมาช่วย ครั้นจะให้ยกออกมาแต่สามพันก็เกลือกเมืองสงขลาจะเสียท่วงที (เสีย) บ้านเมืองกับอ้ายแขกไปได้ จะยิ่งซ้ำเสียพระเกียรติยศไปอีก แต่ทรงรั้งรอฟังดูการมาก็ช้านาน ข้างเมืองนครฯ ก็หาบอกเข้าไปว่าการเป็นอย่างไรไม่ จึงโปรดให้ยกกองทัพใหญ่ออกมาทำเสียให้แล้วทีเดียว ครั้นยกทัพใหญ่ออกมา เจ้าพระยานครฯ ก็บอกเข้าไปว่า ทำเอาเมืองไทรได้แล้ว การซึ่งทรงคิดไว้แต่ก่อนก็ผิดไป หาพอทีจะให้ป่วยงานลำบากไพร่พลเสบียงอาหารไม่ กองทัพใหญ่ออกไปถึงแล้ว การซึ่งจะรบสู้กับอ้ายแขกก็จะไม่มี จะมีอยู่ก็แต่การจะจัดแจงตั้งบ้านเมือง ให้เจ้าพระยานครฯ มาคิดราชการปรึกษาหารือต่อกองทัพใหญ่เถิด ครั้นอ่านจบแล้ว รับสั่งว่า เออดีอยู่แล้ว แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ท้าวพระกรุณามีหนังสือฝากบ่าวพระยาเสนาภูเบศร์เข้าไปแต่ (ตำบล) กะโหลกศีรษะผี[๒] ถึงเจ้าคุณหาบนฉบับหนึ่งข้อความแจ้งอยู่ในหนังสือซึ่งฝากเข้าไปนั้นแล้ว ครั้นเจ้าคุณหาบนกราบทูลไปถึงที่ข้อว่า เรือท้าวพระกรุณาแล่นข้ามมาจนรุ่งพอสว่างก็พอเห็นสามร้อยยอดนั้น ทรงตรัสถามว่า ก็เรือเข้ามาอยู่ที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เข้ามาทอดอยู่ที่กะโหลกศีรษะผีเมื่อ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ ทรงตรัสว่า ทรงฟังแล้วเล่นเอาไม่สบายพระทัยไปทีเดียว ที่เรือเข้ามาแต่หลังสวนมันว่าพบเรือแล่นไปที่เกลียวแต่ก่อนนั้น เห็นจะมิใช่เรือลำนี้ เห็นจะเป็นเรือพวกเพชรบุรี เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่ใช่เรือลำนี้หามิได้ เรือเข้ามาแต่หลังสวนว่าพบแต่ก่อนนั้น พบเรือถึง ๖ ลำด้วยกัน แล้วทรงตรัสถามว่าเป็นกระไรดีอยู่ด้วยกันหมดหรือ มีเรืออะไรติดเข้ามาด้วยหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ดีอยู่ด้วยกันสิ้น เมื่อข้ามมานั้น ครั้นลมจัดหนักเข้าเรือพลัดกันไปหมด มาถึงกะโหลกศีรษะผีลำเดียวแต่เรือท้าวพระกรุณา แล้วพบเรือกิมไตลำ ๑ กับเรือไล่สลัดลำ ๑ ว่าแลเห็นเรือครุฑแปลงอยู่ที่อ่าวปากน้ำปราณ ๒ ลำ ทรงตรัสว่า เป็นอย่างไรหนอจึงตกเข้ามาถึงอย่างนี้ เป็นลมสลาตันหรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าเป็นลมสลาตัน แต่ข้างนอกเรียกว่าลมพัทยา ทรงนิ่งอยู่ แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลไปตามความในหนังสือ ซึ่งท้าวพระกรุณามีเข้าไปจนสิ้นข้อความ รับสั่งว่า เอาหนังสือมาอ่านไปเถิด ครั้นอ่านหนังสือจบลงแล้ว ทรงนิ่งอยู่นาน แล้วทรงตรัสว่า ไม่พอที่พอทางจะลำบากยากเย็นเอาเลยราวกับใครมาควักเอาพระทัยไป หาให้ทรงสบายไม่ เพราะอ้ายคนหัวยักษ์หัวมารทีเดียว จึงได้พากันลำบากยากเย็นออกไป การไม่พอที่เอาเลย มาถือชั้นถือเชิงกันเปล่า ๆ จะช่วยกันทำเสียให้พรักพร้อมกัน ก็จะแล้วเสียแต่ไหน ๆ แล้ว ไม่ต้องลำบากยากเย็นจนถึงอย่างนี้เลย แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า หนังสือซึ่งจะตอบเจ้าพระยานครฯ นั้น ขอเติมความลงอีกสักหน่อยเถิด ครั้นจะไม่ว่าออกไป ก็จะเห็นว่าเมืองไทรก็ตีได้แล้ว ให้ยกกองทัพใหญ่ออกมาเปล่า ๆ แต่ก่อนขอทัพกรุงฯ สามทัพ ก็ขอมาตามกระแสพระราชดำริโปรดให้ขอ จึงได้ขอเข้าไป ความจะเป็นไปเสียอย่างนี้ ว่าเติมความลงเสียให้ดี ให้ชิดเข้ากว่าแต่ก่อนสักหน่อย อย่าให้เห็นไปโดยอย่างนี้ได้ ว่าลงว่า เดิมความก็จะโปรดให้ยกทัพใหญ่ออกมา เมื่อแรกเจ้าพระยานครฯ จะออกมา ก็ได้โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง พาพระยาสงขลา พาพระยาไชยา ไปพบเจ้าพระยานครฯ ให้คิดปรึกษาหารือช่วยกันทำ อย่าให้มีความรังเกียจแก่กัน ถ้าเห็นว่าผู้คนข้างนอกน้อยไม่พอทำ จะเอาทัพกรุงฯ ไปกองละ ๕๐๐ สัก ๓,๐๐๐ ก็จะโปรดให้ออกมา เจ้าพระยานครฯ ก็ได้รับถ้อยคำออกมาแล้ว ครั้นออกมา ทรงฟังดูการก็เป็นไปเสียอย่างหนึ่ง หาคิดช่วยเหลือกันให้ทันท่วงทีไม่ เจ้าพระยานครฯ บอกขอกองทัพสามพันเข้าไป ข้างเมืองสงขลาก็บอกขอกองทัพ ว่าอ้ายแขกยกตีเข้ามาประชิดอยู่ริมบ้านเมือง ๆ สงขลาแล้ว ทรงฟังข้างนครฯ เล่า ก็ทรงทราบแต่ที่บอกตามใจเจ้าพระยานครฯ เจ้าพระยานครฯ จะให้ทรงทราบเพียงไร ก็ทรงทราบอยู่เพียงนั้น จะบอกการข้างเมืองไทรเมืองสงขลาเข้าไปให้ทรงพระราชดำริบ้างก็ไม่มี ครั้นจะโปรดให้กองทัพสามพันยกออกมาช่วยเมืองนครฯ เล่า สงขลาก็บอกขอกองทัพเข้าไป เป็น ๒ ขอ ๓ ขออยู่อย่างนี้ ครั้นจะไมให้ออกมาข้างเจ้าพระยานครฯ ก็จะคอยกองทัพอยู่ ข้างเมืองสงขลาเล่า ถ้าฉวยว่าเสียหายไปกับอ้ายแขกแล้ว ก็จะยิงซ้ำเสียพระเกียรติยศไปอีก จึงโปรดให้กองทัพใหญ่ยกออกมา ครั้นกองทัพใหญ่ยกออกมาแล้ว เจ้าพระยานครฯ ก็บอกเข้าไปว่า ยกลงไปตีเอาเมืองไทรได้แล้ว การซึ่งคิดไว้แต่ก่อนก็ผิดไป เจ้าพระยาพระคลังดูเติมความว่ากระไร ๆ ลงอีกให้ดี อย่าให้เห็นเป็นไปอย่างว่าได้ แล้วทรงตรัสว่า การซึ่งเจ้าพระยานครฯ ไปตีเมืองไทรได้นั้น ทำนองจะเห็นว่า อ้ายแขกมันยกกันมาทุ่มเทเสียข้างเมืองสงขลาเสียมากแล้ว ข้างเมืองไทรอยู่น้อยพอทำได้ จึงให้ยกกองทัพล่วงลัดลงไปชิงตีเอาเมืองไทรทีเดียว หมายว่าได้เมืองไทรแล้ว อ้ายแขกซึ่งยกมาทำเมืองสงขลาก็จะแตกถอยไป ความเห็นจะเป็นอย่างนี้ จึงคิดไปทำเอาเมืองไทร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ในหนังสือบอกเข้ามาก็ว่าความอย่างนั้น เข้าใจเสียว่าทำเมืองไทรได้แล้ว ก็เหมือนหนึ่งช่วยสงขลาเหมือนกัน ทรงตรัสว่า มีแต่คิดอ่านการงานเป็นไปเสียอย่างนี้ ทำไมจะยกมาช่วยกันทำที่สงขลาเสียแต่แรกนั้น อ้ายแขกมันจะไม่แตกถอยไปหรือ ไม่พอที่จะนิ่งให้มันทำเอาบ้านเมืองเขตแดนยับเยินเสียเปล่า ๆ เป็นเหตุก็เพราะคิดถือเปรียบท่วงทีกันนั่นเอง การไม่ควรจะปิดบังถ้อยความก็ปิดบังเอาไว้ จะทรงไถ่ถามเอาความว่า ทัพกรุงฯ ออกไปถึงแล้วหรือยังเท่านี้ ก็ไม่บอกความจริงเข้ามา โกรธถือท่วงทีกันกับเมืองสงขลาแล้ว ไม่คิดถือกันแต่ที่โกรธ เที่ยวคิดปิดบังถือชั้นเชิงโกรธเอาผู้อื่นด้วยทั่วไปเปล่า ๆ ทำไมเห็นว่าเมืองสงขลาทำไม่ดี มีความผิดแล้วจะบอกกล่าวโทษเข้ามา จะไม่ดีกว่าทำอย่างนี้หรือ ไม่พอที่พอทางเอาเลย การไม่ควรเป็นก็มาเป็นไปได้ น้อยพระทัยนักหนาทีเดียว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระยาสงขลา พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ บอกให้หมื่นจงสรสิทธิตำรวจ ขุนพิทักษ์สงครามกรมการ ถือเข้ามา ใจความว่า ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ พระยาสงขลาได้ยกกองทัพออกไป จัดกองให้พระยาไชยา พระยาสาย พระยายะหริ่ง หลวงไชยสุรินทร์ หลวงรายามุดา ขุนต่างตา นายช้างมหาดเล็ก แยกกันเข้าตีค่ายอ้ายแขกซึ่งตั้งประชิดอยู่ที่บางกระดาน เขาเก้าเซ่ง เขาลูกช้าง ที่ปลักแรดที่น้ำกระจาย กองทัพได้เอาปืนจ่ารงค์ออกไป ๕ บอกรายกันยิงค่ายอ้ายแขก ถูกหอรบทะลายลง ๕ หอ อ้ายแขกในค่ายตายประมาณ ๕ คน ๖ คน แล้วกองทัพเอาไฟจุดค่ายอ้ายแขก เอาหม้อดินทิ้งเข้าไปในค่าย พากันแหกค่ายตีอ้ายแขกแตกหนีไปทั้ง ๙ ค่าย แต่ ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำแล้ว อ้ายแขกที่ตั้งอยู่บางกระดานเขาลูกช้างที่น้ำกระจายนั้น พากันแตกหนีไปทางกหรํ่าลงไปเมืองไทร ข้างทางเขาเก้าเซ่งปลักแรดนั้น แตกหนีไปทางเมืองจนะ แต่ทางกหรํ่านั้น พระยาสงขลาให้ขุนต่างตากรมการยกติดตามลงไปจับอ้ายแขกได้ ๒ คน ชื่ออ้ายส่าหลํ่าคน ๑ อ้ายส่าแหละคน ๑ ถามให้การว่าอ้ายแขกส่าหลํ่า อ้ายแขกส่าแหละ ได้มารบเมืองสงขลากับอ้ายตนกูอาเกบที่หินเหล็กไฟ กองทัพเมืองสงขลาแตกถอยเข้ามา อ้ายตนกูอาเกบยกติดตามเข้ามารบอยู่ที่เขาลูกช้างที่น้ำกระจายนั้น อ้ายแขกส่าหลํ่า, อ้ายแขกส่าแหละ, ก็เข้ามารบอยู่ด้วย แต่ก่อนกระสุนดินดำนั้น อ้ายตนกูหมัดสอัดจัดแจงซื้อมาจากกำปั่น ซึ่งเข้ามาทอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองไทร ๓ ลำ ครั้นพวกกำปั่นรู้เข้าว่ากองทัพอ้ายแขกยกเข้ามาตีเมืองไทร กำปั่น ๓ ลำก็หาขายกระสุนดินดำให้ไม่ แลเมื่อพระยาสงขลายกกองทัพออกไปรบนั้น กระสุนดินดำ (ฝ่ายพวกแขก) มีน้อย อ้ายตนกูอาเกบลงไปเอากระสุนดินดำที่เมืองไทร ว่าสัก ๔ วัน ๕ วันจะจัดหาส่งขึ้นมาให้ ก็หาเห็นส่งขึ้นมาให้ได้ไม่ รบสู้กันอยู่ประมาณ ๒ วัน ๓ วัน ได้ยินว่าข้างเมืองไทรมีหนังสือขึ้นมาว่า กองทัพพระยาไทรยกไปตีกะบังปาสูได้แล้ว ให้ถอยทัพกลับไปเมืองไทรเถิด กองทัพพระยาสงขลาได้เอาปืนจ่ารงค์ยิงค่ายอ้ายแขกถูกหอรบทลาย อ้ายแขกตายหลายคน พวกอ้ายแขกก็พากันแตกหนีไป แต่ทางซึ่งอ้ายแขกหนีไปทางจะนะนั้น พระยาสงขลาจัดให้หลวงไชยสุรินทร์ นายช้างมหาดเล็กยกติดตามไป จับไทยชาวเมืองพัทลุงได้คน ๑ ชาวเมืองจะนะได้คน ๑ พระยาสงขลาขอรับพระราชทานเอาไว้ซักถามราชการก่อน แต่ตัวอ้ายแขกส่าหลํ่า อ้ายแขกส่าแหละนั้น ได้มอบตัวให้หมื่นจงสรสิทธิ ขุนพิทักษ์สงคราม คุมเข้ามา ณ กรุงฯ แล้ว แลกองทัพพระยาสาย พระยายะหริ่งนั้น ให้ยกออกไปตีอ้ายแขกซึ่งมาตั้งอยู่เมืองตานีแต่ก่อน พระยาสาย พระยายะหริ่ง ยังหาบอกความเข้ามาไม่ แต่พระยาวิชิตณรงค์นั้น ไปถึงปากน้ำเมืองสงขลาแต่ ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ลมกล้าคลื่นใหญ่นัก เข้าไปเมืองสงขลายังหาได้ไม่ ครั้น ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ คลื่นลมสงบ พระยาสงขลาจึงจัดเรือลงมารับพระยาวิชิตณรงค์ขึ้นไปเมืองสงขลา แต่เรือพระราชรินทร์นั้นมาถึงปากมะยิงแขวงเมืองนครฯ พระราชรินทร์เก็บเอาเรือเล็กที่ปากมะยิงได้ ๒ ลำ พระราชรินทร์ลงเรือเล็กมาคน ๓๕ คน ถึงด่านปากน้ำเมืองสงขลา ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ พระยาสงขลาจัดช้างลงไปรับ ๑๐ ช้าง พระราชรินทร์ไปถึงเมืองสงขลา แต่ ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ พระยาวิชิตณรงค์กับพระราชรินทร์ คิดกันจะยกติดตามอ้ายแขกลงไปทางเมืองจะนะเมืองเทพา ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ทรงตรัสว่า เออ ค่อยสบายพระทัยลงได้แล้ว พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ ออกไปถึงก็คลาดกันอยู่วันเดียวเท่านั้น หวดหวิดกันทีเดียว เสียดายนักหนาหนอ หาไม่พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ ก็จะได้สู้รบกับอ้ายแขกทันกันได้ แล้วทรงตรัสว่า พระยาสงขลาบอกเข้ามาว่า ได้สู้รบตีค่ายอ้ายแขกนั้นก็เปล่า ๆ ทั้งนั้น จะได้สู้รบตีกับใครที่ไหนกับหน้าย่าโม่อย่างนี้ อ้ายแขกมันพากันหนีไปเสียเองนั่นเอง แต่ก่อนทำไมจึงไม่จัดแจงสู้รบบอกกล่าวเข้ามาอย่างนี้เล่า แล้วทรงตรัสถามว่า ก็ได้สู้รบตีอ้ายแขกแตกไปแล้ว ได้อะไรมาเป็นสำคัญบ้าง หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่า ได้ปืนคาบศิลา ๒ บอก ปืนมเลลา ๒ บอก หอกแขก ๑๐ เล่ม ทรงตรัสว่า ได้นักหนาทีเดียว ได้แต่ของมันทิ้งลืมอยู่ที่ไหนนั่นเอง เป็นกระไร ได้อะไรอีกบ้างหรือไม่ หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่า จับคนได้ไทย ๒ คน แขก ๒ คน ทรงตรัสว่า จับได้คนป่วยคนง่อยที่มันทิ้งอยู่กลางทางหนีไม่ทันนั่นหรือ เปล่า ๆ ทั้งนั้นนั่นเอง คนโสโครกอะไรที่ไหนมิรู้ดูไม่มีมือ เลวเต็มทีทีเดียว แล้วทรงตรัสถามว่าเป็นกระไร ดีอยู่ด้วยกันหมดดอกหรือ หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่า เมื่อมาถึงเกาะหนูถูกลมจัดหนัก ต้องทอดเรืออยู่ถึง ๒ วัน ทรงตรัสว่า อ้ายนี่เลอะเทอะเสียแล้ว ถามว่าดีอยู่หมดด้วยกันหรืออย่างไร เอาลมเอาแล้งที่ไหนมาว่าวุ่นไปทีเดียว พระยาเทพถามแล้วกราบทูลว่า อยู่ดีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ทรงตรัสถามว่าไปถึงเมืองสงขลาพร้อมกันหมดทั้ง ๕ ลำแล้วหรือยัง หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่า ยังแต่เรือขุนพลพิฆาฏลำเดียว ยังไม่ถึงหามิได้ ทรงตรัสถามว่า อ้ายพวกอาทมาตนั้นเป็นอย่างไรบ้างหรือไม่ หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่า ดีอยู่หมดด้วยกัน ทรงตรัสว่าว่าที่มันไปทำอะไรกับชาวบ้านชาวเมืองเขาบ้างหรืออย่างไร ไม่ว่าเล่า หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่าพระราชรินทร์กำชับอยู่ หาเห็นไปทำอะไรที่ไหนไม่ ทรงตรัสว่าเออดีแล้ว กลัวมันจะไปทำเอาของไพร่บ้านพลเมืองเข้าสิ เป็นกำลังซวดโซอดอยากอยู่จะพากันยับเยินเสียหมด แล้วทรงตรัสถามว่า เป็นกระไร เอ็งรู้บ้างหรือไม่ อ้ายแขกมันกวาดต้อนเอาครอบครัวไปได้สักกี่มากน้อย หรือกวาดเอาไปหมดทีเดียว จะหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่า อ้ายแขกกวาดต้อนเอาไปได้น้อย ยังหลบหนีอ้ายแขกเหลืออยู่ในป่าดงมาก ทรงตรัสว่า มันจะหลบหนีอยู่ที่ไหน มันรู้ว่ากองทัพใหญ่ออกไปถึงแล้วมันก็คงเข้าหาสิ้น แล้วรับสั่งสั่งพระยาราชวังสรรค์ว่า ให้เร่งจัดแจงทำเรือมัจฉาณุเข้าเสียให้แล้ว จะได้เอาบรรทุกข้าวออกไปส่งเสียสักทีหนึ่ง จะพากันอดข้าวเสียสิยับเยินหมดทีเดียว แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า เรือมันเข้ามานั้นก็ให้มันเร่งออกไปจัดแจงบรรทุกข้าวส่งออกไปให้ด้วยเถิด เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เรือซึ่งเข้ามานี้ ก็ให้เข้ามารับพระราชทานซื้อข้าวบรรทุกออกไป ทรงตรัสว่า จะซื้อบรรทุกออกไปก็ตามเถิด แต่สั่งเสียให้รีบซื้อหาบรรทุกลงเร็ว ๆ ถ้ามันซื้อหาได้น้อย พอจะเอาข้าวหลวงใส่ลงได้ ก็จัดแจงใส่ลงให้เต็มลำส่งออกไปด้วย ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างหนังสือตอบเมืองนครฯ ซึ่งโปรดให้เติมความลงแต่ก่อนนั้น ครั้นอ่านไปถึงที่ข้อว่า ครั้นจะไม่ให้กองทัพสามพันออกมา เจ้าพระยานครฯ ก็จะคอยอยู่นั้น รับสั่งว่าขอเติมความใส่เข้าอีกสักหน่อยเถิด ใส่ลงว่า ครั้นจะไม่ให้กองทัพออกมา เจ้าพระยานครฯ ทำไปไม่ได้ ก็จะว่าคอยกองทัพอยู่ ครั้นแก้เติมความแล้วอ่านถวายจบลง ทรงตรัสว่าเออ อร่อยดีแล้ว เอาส่งให้มันออกไปเถิด แล้วพระยาศรี[๓]ถวายร่างหนังสือตอบ พระยาราชสุภาวดีอ่านไปถึงที่ข้อว่า ได้จับก่อป้อมก่อกำแพงทำเมืองนครเสียมราบได้สูง ๒ ศอกบ้าง ๓ ศอกบ้าง พระยาราชสุภาวดีคิดเร่งรีบทำจะให้แล้วในเดือน ๔ เดือน ๕ นี้ จะกลับเข้ามา ณ กรุงฯ ให้ทันฤดูทำไร่นา รับสั่งว่าแก้ความกำชับไปเสียสักหน่อยเถิด อย่าให้มีความประมาทได้ ถ้าทำไม่แล้วถึงฤดูพากันกลับมาเสียสิ เสียการเสียงานทีเดียว เอาความข้างสงขลาว่าลงเป็นอย่าง กำชับออกไปให้ดี ว่าเมืองสงขลานั้นโปรดให้พระยาสงขลาทำบ้านเมือง ทำมาจน ๒ ปี ๓ ปี ก็ยังไม่แล้วเป็นบ้านเมืองเข้าได้ ครั้งนี้อ้ายแขกมันยกมา ก็หาเป็นที่มั่นไว้วางใจแก่ไพร่บ้านพลเมืองได้ไม่ พากันตื่นตกใจไปสิ้น อย่าทำให้เหมือนอย่างพระยาสงขลา ถ้าการบ้านเมืองทำยังไม่แล้วจะกลับเข้ามา บัญชาให้แต่พวกซึ่งอยู่รักษาทำต่อไปนั้น ก็จะเป็นเหมือนอย่างพระยาสงขลาทำบ้านเมือง ให้ดูจัดแจงทำเสียให้แล้วทีเดียวจึงกลับเข้ามา พระยาศรีแก้หนังสือเติมความเมืองสงขลาไปจนถึงความเมืองนครฯ ว่า นี่หากกองทัพเมืองนครฯ ยกไปตีกะบังปาสูแดนไทรได้แล้ว อ้ายแขกซึ่งมาทำเมืองสงขลาจึงพากันเลิกถอยไป หาไม่เมืองสงขลาก็จะเสียทีกับแขก ครั้นแก้หนังสือแล้วอ่านถวาย รับสั่งว่าอย่าเลย อย่าเอาข้างนครฯ มาว่า ยกตัดเสียเถิด ว่าแต่ความสงขลาเท่านั้นแหละ แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า มีหนังสือไปถึงท้าวพระกรุณาให้ช่วยกดขี่พวกสงขลาทำบ้านทำเมืองเสียให้แล้วหน่อยเถิด แต่ทำมานั้นก็ ๒ ปี ๓ ปีช้านานนักหนาแล้ว ไม่เป็นอันแล้วลงได้เอาเลย ถ้าไม่ดูแลกดขี่ให้ทำเสียคราวนี้แล้ว อีกสัก ๑๐ ปีก็เห็นจะไม่แล้ว บ้านเมืองก็จะค้างอยู่อย่างนั้นนั่นเอง ไหน ๆ ก็ได้ออกมาแล้วดูกดขี่ให้มันทำเสียให้แล้วหน่อยเถิด แต่อย่าเอาไพร่พลกองทัพที่ออกมาไปทำ ให้คิดเอาบรรดาพวกอ้ายทัพโทษมากะการกดขี่ให้มันทำเสียให้แล้วจงได้ แล้วทรงตรัสถามหมื่นจงสรสิทธิว่าเป็นกระไร ข้าวปลายังมีเหลืออยู่ตามบ้านเมือง ๆ สงขลาอยู่สักเท่าไร มึงรู้บ้างหรือไม่ หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่า ข้าวที่ตามไร่นากับข้าวที่บ้านแขวงเมืองสงขลา เหลือจากอ้ายแขกจุดเผานั้นมีอยู่บ้าง พอรับพระราชทาน ทรงตรัสว่าพออย่างไร ไหนกองทัพอ้ายแขกมันขนเอาไปกินเสียบ้างเล่า มันจุดเผาเสียบ้างเล่า ยังเหลืออยู่บ้างว่าพอกินอีกเล่า มันว่าอะไรอย่างนี้ มันจะเหลืออยู่สักเท่าไรนักหนา จะพอกันกินที่ไหนกับข้าวเหลืออยู่เท่านั้น ผู้คนเมืองสงขลาก็ทั้งบ้านทั้งเมือง พวกกองทัพออกมาก็มาก ว่าครอบครัวยังอยู่ในป่าดงก็มาก มันออกมาแล้วมันจะพอกันกินหรือกับข้าวนิดหนึ่งเท่านั้น อ้ายนี่พูดจาน่าเฆี่ยนทีเดียว แล้วทรงตรัสถามว่า เรือที่สงขลากักเอาไว้มีเรือข้าวอยู่กี่ลำ เขาซื้อขายกันราคาอย่างไร หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่า เห็นมีเรือข้าวอยู่ลำเดียว แต่ยังหาได้ซื้อขายว่าราคากันไม่ แล้วทรงตรัสถามพระยาเทพว่า กองพระยาวิชิตณรงค์ กองพระราชรินทร์นั้นมีข้าวออกไปเท่าไร พระยาเทพกราบทูลว่า ได้ออกไป ๖๐ เกวียน ทรงตรัสว่า พอกองทัพใหญ่ออกไปถึงเข้าก็เห็นจะไม่เป็นไร กว่าจะเอาออกไปส่งถึงก็พอจะเจือจานกันกินทันอยู่ได้ แล้วทรงตรัสถามหมื่นจงสรสิทธิว่าเมื่อเอ็งเข้ามานั้น เป็นกระไร ได้ใครเข้ามาบ้างอีกหรือไม่ หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่า ได้ยินว่าได้คนเข้ามาอีก ๑๐ คน ว่ายกกระบัตรเมืองจะนะหนีอ้ายแขกมาได้คน ๑ แต่ปลัดเมืองนั้นอ้ายแขกเอาไปได้ ทรงตรัสถามว่า ยกกระบัตรที่หนีกลับมานั้น ครอบครัวมันอยู่ที่ไหน มันมาแต่ตัวมันหรือๆ เอาครอบครัวมาด้วย หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่ามาแต่ตัว ครอบครัวนั้นยังซ่อนอ้ายแขกไว้ในป่า ทรงตรัสว่าอย่างนั้นมันก็คงพากันมาหาสิ้น มันจะไปไหน ถ้าอ้ายแขกมันไม่คิดแยกครอบครัวแล้วก็หาไปไม่ ที่มันจะทิ้งภูมิลำเนาตามมันไปนั้นไม่เป็น ผู้คนกองทัพซึ่งออกมาถึงก่อนก็ยังน้อยตัว ถ้ากองทัพใหญ่ออกมาถึงแล้วผู้คนมีมาก จะได้จัดแจงให้แยกย้ายกันเที่ยวสืบสาวเกลี้ยกล่อมเอาคืนเข้ามาบ้านเมืองให้สิ้น แล้วทรงตรัสซักถามไปถึงแขก ๙ หัวเมือง ซึ่งอ้ายแขกไทรมาตั้งอยู่เมืองตานีแต่ก่อนนั้น หมื่นจงสรสิทธิกราบทูลว่ายังหาทราบความว่าอย่างไรไม่ แล้วรับสั่งสั่งให้พระยาไกรเอาอ้ายแขก ๒ คนซึ่งหมื่นจงสรสิทธิคุมเข้าไปนั้น ซักถามเสียใหม่ เอาความจริงให้จงได้ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๓ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า มือะไรบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือนายมากบ่าวเจ้าคุณหาบนมาแต่ท่าทอง[๔]เข้ามาถึงลำ ๑ ถามถึงเรือกองทัพ ได้ความว่า เมื่อ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ นายมากพบเรือท้าวพระกรุณาที่แหลมทองหลาง[๕] ท้าวพระกรุณาได้ถามนายมาก นายมากว่าจะเข้ามา ณ กรุงฯ แล้วนายมากมาพบเรืออย่างที่สามร้อยยอดอีกลำ ๑ แต่จะเป็นเรือใครนั้น ว่าหาทราบไม่ ทรงตรัสถามว่า พบที่แหลมทองหลางแต่ก่อนนั้นกี่ลำด้วยกัน พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า พบ ๖ ลำด้วยกัน ทรงตรัสกับเจ้าคุณหาบนถึงเรือท้าวพระกรุณาว่า เห็นคลื่นลมจะค่อยสงบลง ออกไปจากสามร้อยยอดได้แล้วอย่างไร ๆ ก็ขอให้ถึงเสียหน่อยเถิด จะมาทนคลื่นลมลำบากอยู่ในทะเลนั้น ทรงรำคาญพระทัยนักหนาทีเดียว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ เพลาค่ำ พระยาไกรเอาคำให้การอ้ายแขก ซึ่งโปรดให้ถามใหม่นั้น อ่านถวายจบลง ทรงตรัสว่ามันกวาดเอาครอบครัวไปนั้น มันก็เอาไปแปไหรนั่นเอง มันจะกวาดเอาไปหมดได้ที่ไหน ก็คงหลบหนีอยู่ในป่าดง บางทีครอบครัวมันจะยอมพร้อมใจกันไปด้วยกับมันหมดเห็นจะไม่เป็น จะเป็นก็แต่ที่มันติดด้วยครอบครัว มันเอาครอบครัวไปแล้วมันทิ้งครัวไม่ได้ มันก็ต้องไปอยู่เอง แต่ที่มันเต็มใจไปก็คงมีอยู่บ้าง ด้วยเป็นเชื้อสายเชื่อถือกันอยู่แล้วมันก็คงตามกันไป แล้วรับสั่งสั่งพระยาไกรว่า ถามได้ความยังน้อยนัก ครอบครัวซึ่งมันกวาดเอาไปได้นั้น ก็เห็นมันจะกวาดเอาไปเสียแต่ก่อน แลครอบครัวจะได้ไปมากน้อยนั้น อ้ายนี่ก็เห็นจะรู้ การกวาดครอบครัวอย่างนี้พวกมันพูดกันนักเสียอีก ว่าได้เท่านั้นเท่านี้ นี่มันให้ความยังน้อยนักหนา ซักถามมันต่อไปอีก เอาความให้มาก ๆ กว่านี้สักหน่อยเถิด ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๕ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า มีอะไรเข้ามาหรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือนายแก้วมาแต่เมืองชุมพรเข้ามาถึงลำ ๑ ถามได้ความว่า เมื่อ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ นายแก้วพบเรือกองทัพที่สามร้อยยอด แล่นก้าวเยื้องออกไปข้างเมืองชุมพร ๑๐ ลำ แล้วพบที่ในสามร้อยยอดเข้ามาอีก ๘ ลำ เป็นเรือรบบ้างเรือยืมบ้าง แต่หาทราบว่าเป็นเรือใครไม่ ทรงตรัสว่า จะเป็นเรืออมรแมนสรรค์อยู่ที่สามร้อยยอดนั้นก็ผิดไป บ่าวเจ้าพระยาพระคลังมันเข้ามาว่าอยู่เมื่อวานซืนนี้ ว่าพบไปถึงที่แหลมทองหลาง ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำแล้ว จะมาวนอยู่ที่สามร้อยยอดทำไม จะว่าลมจัดหนักก้าวลงไปเอาถอยหลังเข้ามาหรือ ก็เห็นจะไม่เป็น จะเป็นก็เป็นเรือกองทัพที่ตามไปข้างหลังนั่นเอง ป่านนี้เรือพวกซึ่งไปข้างหน้าก็จะไปถึงชุมพร เกินชุมพรลงไปเสียบ้างแล้ว แล้วทรงตรัสถามว่า มันเข้ามามันรู้ว่าพระยาเสนาภูเบศร์กับพวกชุมพร เขายกไปจากเมืองชุมพรแล้วหรือยัง พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ถามได้ความว่าจะยกไป ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ทรงตรัสว่า อย่างนั้นป่านนี้ก็เห็นจะเกือบถึงเมืองนครฯ แล้ว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระตะกั่วทุ่งบอกให้ขุนพิทักษ์โยธาถือเข้ามาว่า ได้ให้หลวงณรงค์ไปสืบราชการที่เมืองใหม่แต่ก่อนนั้น ได้ถามจีนบาบ๋าอินได้ความว่าเมื่อเดือนอ้ายเดือนยี่ ก่อนกำปั่นฝรั่งยังไม่ไปปิดปากน้ำเมืองไทรนั้น จีนบาบ๋าอินเอา เกลือ, ยาแดง, ยาเส้น, ไปขายเมืองไทร เห็นอ้ายตนกูหมัดสอัด อ้ายตนกูอาเกบเข้ามาตั้งอยู่เมืองไทร เกณฑ์ให้พวกแขกชาวบ้านตั้งโรงเหล็กตีหอกตีกฤชเครื่องอาวุธ แล้วอังกฤษชาวเกาะหมาก ๔ คน จีน ๗ คน แขกเทศคน ๑ มาเข้าด้วยกับแขก ให้ปืนกระสุนดินดำเสบียงอาหารกับแขก อ้ายตนกูหมัดสอัดตั้งอยู่ในกำแพงปากน้ำเมืองไทร ให้อ้ายตนกูอาเกบน้องตั้งอยู่ที่ตะพานช้าง แล้วบอกหนังสือไปถึงอ้ายตนกูอัปดุลลาว่าได้เมืองไทรแล้ว อ้ายตนกูอัปดุลลาก็ยกมาตั้งอยู่ที่โลสตา ที่เมืองไทรนั้นไทย (ถูก) จำตรวนอยู่ ๔๐ เศษ ไทยไม่ (ถูก) จำตรวน ๖๐ เศษ ว่าเป็นคนเมืองนครฯ, เมืองพัทลุง, เมืองไทร, อ้ายแขกจับได้ แต่ไม่จำตรวนนั้นเป็นชาวเมืองตรังตามอ้ายแขก[๖]ไป อ้ายแขกให้แบ่งเอาเข้าพวกแขกชาวบ้านครึ่งหนึ่ง แล้วเก็บเอาโคเอากระบือส่งไป ณ เกาะหมาก แต่ที่เมืองปลิศนั้น อ้ายหวันมาลี อ้ายหวันมามุดเป็นนายทัพ ตีกวาดเอาครัวสตูลไปไว้เกาะนางกาวี ๑๐๐ เศษ แต่อ้ายตนกูอัปดุลลา อ้ายตนกูหมัดสอัด อ้ายตนกูอาเกบตั้งอยู่โลสตา ตั้งอยู่ตะพานช้างนั้น คนประมาณสี่พัน อ้ายตนกูหมัดสอัด มีหนังสือมาถึงพระยาสงขลา ว่าจะขอถวายดอกไม้เงินทอง พระยาสงขลาให้แขกลงไปพูดกับอ้ายตนกูหมัดสอัดที่ตะพานช้าง รับว่าจะช่วยเป็นธุระได้ แต่ให้อ้ายตนกูหมัดสอัดขึ้นมาพบพระยาสงขลาเถิด อ้ายตนกูหมัดสอัดไม่ขึ้นมา กลัวพระยาสงขลาจะลวงจับเอาตัวไว้ แล้วหลวงณรงค์ถามเจ๊สัวลิมหัวที่เมืองใหม่ ได้ความว่า ปืนที่เมืองไทรอ้ายแขกได้ไว้ ปืนปเหรี่ยม ปืนมเลลา ๔๐ บอก ปืนคาบศิลา ๖๐ บอก อ้ายแขกเอาไปรบที่ทุ่งโพ แต่ปืนมเลลา ปืนคาบศิลา ปืนปเหรี่ยมนั้นเอาไว้รักษาค่ายตะพานช้าง แต่ทางปากน้ำเมืองไทรนั้น อังกฤษให้กำปั่นมาปิดปากน้ำเมืองไทรไว้ ๓ ลำ แล้วพระยาสิงหโบราไปอยู่เมืองเกาะหมาก ว่าอ้ายแขกตีเมืองไทรได้แล้วกลัวจะกำเริบไปตีเอาเมืองแปหระเมืองแปไหรต่อไป อย่างหนึ่งอ้ายแขกจะสู้กองทัพไทยไม่ได้จะหนีไป ทัพไทยจะยกติดตามไปทำเอาเขตแดนอังกฤษ พระยาสิงหโบราได้ป่าวร้องแต่บรรดาแขกลูกค้าพวกอังกฤษว่า ไม่ให้ไปเข้ากับอ้ายแขกไทร แล้วเจ๊ะสัวสิมหัวพูดว่า เจ๊ะสัวลิมหัวจะเจรจามากไปไม่ได้ ธรรมเนียมอย่างอังกฤษนี้คิดตีบ้านตีเมืองไม่รู้สิ้นรู้สุดลงที่ไหนได้ จึงทรงตรัสว่า มันว่าเป็นความเก่าไปเสียหมดทั้งนั้น ความใหม่ไม่มีเลย ไม่น่าจะเชื่อถือเอาอย่างไรได้ พระยาไชยาก็ออกไปถึงแล้วจะบอกกล่าวกับเขาก็ไม่มี บอกเข้ามาตามใจเล่นทีเดียว อ้ายนี่มันเซอะเซิงหากลัวนายเสียไม่แล้ว ข้างพระยาไชยาเล่า ออกไปแล้วก็ไปนอนนิ่งเสีย ไม่รู้อะไรเลย ข้างถลางเป็นอย่างไร จะบอกกล่าวเข้ามาบ้างก็ไม่มี ทรงฟังดูมันเป็นแต่แก่งแย่งไม่เข้ากันไปอย่างนี้เสียหมด ครั้งก่อนก็ทีหนึ่งแล้ว เบื่อจะทรงฟังเสียแล้ว แล้วทรงตรัสกับเจ้าคุณหาบนว่า มันได้ความเข้ามานี้จะเอาอะไรก็ไม่ได้ จะได้ก็แต่เป็นพยานความเท่านั้นนั่นเอง แต่ความที่มันว่าพระยาสิงหโบราไปเกาะหมากระวังข้างอ้ายแขก ว่ากลัวจะกำเริบทำไปในเขตแดนของมันนั้นเห็นจะไม่เป็น ถ้ามันระวังข้างกองทัพเรา กลัวจะติดตามเข้าไปนั่นแหละ ทรงเห็นจริงด้วย ว่าถูกอยู่แล้ว แลซึ่งครอบครัว, โคกระบือ, ที่เมืองไทรมันกวาดต้อนเอาไปแต่ก่อนอย่างไร ๆ ก็เห็นเจ้าพระยานครฯ จะรู้หมดนั่นแหละ แต่ไม่บอกเข้ามาให้ทรงทราบนั่นเอง หรือว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าเห็นจะทราบความอยู่หมด ทรงตรัสว่า เมื่อรู้อะไรแล้วไม่บอกให้ทรงทราบเลย ปิดบังเสียอย่างนี้ ก็เป็นอันจนพระทัยไปทีเดียว แล้วทรงตรัสถามว่า มันเข้ามามันพบเรืออมรแมนสรรค์ที่ไหนบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า มาพบแล่นไปถึงที่กรูต[๗] ณ วันเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ทรงตรัสว่า ตกลงไปถึงที่กรูตแล้วลมคลื่นก็จะค่อยเบาลงไปทุกที เห็นจะค่อยมีความสุขได้บ้างแล้ว อย่างไรก็ขอให้คลื่นลมสงบ ได้ไปสะดวกถึงเสียหน่อยเถิด ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เจ้าพระยานครฯ บอกให้นายช่วยถือเข้ามาใจความว่า กองทัพพระยาไทรได้ตะพานช้างแล้วนั้น อ้ายตนกูหมัดสอัดยังตั้งอยู่ในกำแพงเมืองไทรที่ปากน้ำ อ้ายตนกูหมัดสอัดให้อ้ายแขกตั้งรับอยู่ที่บ้านขวาง พระยาไทรจัดให้หลวงภักดีสงคราม หลวงชาญพลรบ หลวงเดชนาวา ยกไปตีค่ายอ้ายแขกยิงอ้ายแขกฟันอ้ายแขกตาย ๒๙ คน อ้ายแขกแตกหนีไป เจ๊ะหลังพาครอบครัวออกหาพระยาไทร ๓๒ คน แล้วพระยาไทรให้ยกกองทัพลงไปล้อมกำแพงเมืองไทรไว้ ทำเหมือนเมื่อครั้งทำกับอ้ายตนกูเดน จึงทรงตรัสว่า ทำเหมือนเมื่อครั้งตนกูเดนทำไม มันจะอยู่ให้ทำมันที่ไหน กลัวจะทำมันไม่ทันเสียอีก มันรู้ว่ากองทัพใหญ่ออกมาแล้วมันก็คงหนีไปหมด ถ้ามันยังอยู่จริงเหมือนว่าแล้ว รอแต่พอให้ทัพใหญ่ออกไปถึงเถิด ก็คงจะได้ลงมือทำเป็นบำเหน็จมือ ทำเอาให้ถึงใจอ้ายแขกยับเยินไปได้ ถึงอ้ายแขกจะหนีไป ก็คงพากันยับเยินไปเต็มที แล้วทรงตรัสถึงเรือท้าวพระกรุณาว่า มันเข้ามาพบที่ไหนบ้างหรือไม่ นายช่วยกราบทูลว่า มาพบเรือใบผ้าแล่นลงไปที่อ่าวแม่รำพึง[๘] ณ วันเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ๔ ลำ ถูกลมพายุฝนอยู่ หาทราบว่าเรือใครไม่ แต่แลเห็นเป็นเสาชี้อยู่ลำ ๑ ทรงนิ่งอยู่นาน แล้วจึงทรงตรัสว่า เห็นเป็นเสาชี้แล้วก็เป็นเรืออมรแมนสรรค์ ทรงตรัสถามว่า เมื่อกำลังพายุนั้นเป็นกระไร เห็นแล่นลงไปดีอยู่หรือ ๆ ทอดสู้อยู่ เป็นอย่างไรบ้าง นายช่วยกราบทูลว่า เห็นแล่นลงไปดีอยู่ จึงทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า ไม่พอทีพอทางเอาเลย มาลำบากอยู่ในทะเลหลายวันทีเดียว ให้ไปถึงเข้าเสียหน่อยหนึ่งเถิด จะได้สิ้นทรงพระวิตกสบายพระทัยลงบ้าง ยังอยู่ในท้องทะเลอย่างนี้แล้ว ทรงฟังไม่สบายพระทัยเอาเลย ทรงพระวิตกอยู่ด้วยนี้นักหนาทีเดียว แล้วทรงตรัสถามนายช่วยว่า เมื่อเองเข้ามานั้นมาแต่วันไร นายช่วยกราบทูลว่ามาแต่นครฯ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แล้วทรงตรัสว่า ทรงตรัสถึงเรืออมรแมนสรรค์เล่นเอาพระทัยวุบวับอยู่ทีเดียว ทรงคอยถามข่าวอยู่ทุกวันก็ว่าพบอยู่แต่ในท้องทะเล ได้ทรงทราบแน่อยู่ก็คราวเดียวเมื่อมีหนังสือเข้าไป ก็ตกไปถึงสามร้อยยอดเท่านั้น เดี๋ยวนี้จะถูกคลื่นลมต่อไปเป็นอย่างไรก็ไม่มีหนังสือเข้าไปให้ทรงทราบบ้างเลย ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์[๙]มาแต่เมืองจันทบุรีลำ ๑ ถามได้ความว่าเมื่อวันเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ พบเรือเจ้าพระยายมราชแล่นก้าวลงไปถึงหน้าอ่าวบางละมุง ลมจัดหนักก้าวไปไม่ได้ ก็ทอดเรือหยุดอยู่ที่อ่าวบางละมุง ทรงตรัสว่า ไปไม่ได้ก็พากันนอนอยู่นั่นเอง กว่าจะข้ามไปได้ก็พอเขากลับมาเสียหมดนั่นแหละ แล้วทรงตรัสถามว่า เรือเพ็ชรบุรีที่รั่วกลับเข้ามาถ่ายข้าวที่ปากน้ำแต่ก่อนนั้น มันได้ไปแล้วหรือยัง พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ยังไม่ได้ไปหามิได้ ว่าออกไปทีหนึ่งแล้ว ปลอกหางเสือหักไปกลับเข้ามา พระยาโชฎึกให้ตีปลอกหางเสือส่งลงไปให้แล้ว ทรงตรัสว่า เป็นเหตุเป็นผลอะไรหนอ มีแต่ติดแต่ขัดไปอย่างนี้ ประเดี๋ยวก็เรือรั่ว ประเดี๋ยวก็เสาหักหางเสือหัก ไม่ใคร่จะไปได้เอาเลย กว่าจะได้ไปก็พอเขากลับมาถึงบ้านเสียหมดนั่นเอง จึงรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า ให้ใครมันลงไปไล่ให้มันเร่งออกไปเสียให้ได้ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ได้ให้หลวงเทพเสนีลงไปแล้ว แล้วพระยาเทพกราบทูลว่า พระมหาเทพบอกเข้ามาแต่เมืองสมุทรสงครามว่า ได้ชำระจับคนขายฝิ่นได้ ๓๐ คน ได้ตัวฝิ่นดิบ ๓๑๕ ก้อน ฝิ่นสุกหนัก ๔ ชั่งเศษ พระมหาเทพยังชำระต่อไปอยู่ รับสั่งว่า มีหนังสือออกไปให้เร่งชำระจับเอาตัวเอาฝิ่นเสียให้หมดจงได้ แล้วให้รีบกลับเข้ามาชำระที่กรุงฯ โดยเร็ว แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนให้มีหนังสือออกมาถึงท้าวพระกรุณาว่า ให้ช่วยชำระคนขายฝิ่นที่เมืองสงขลาเสียให้สิ้นด้วย แล้วให้ซักถามพระยาสงขลาว่า ได้ขายฝิ่นแลรู้แลเห็นว่าผู้ใดซื้อขายบ้าง พระยาสงขลาก็ทรงชุบเลี้ยงเป็นถึงเจ้าเมืองสงขลา รู้อย่างธรรมเนียมอยู่แล้ว ให้บอกความแต่ตามจริงไปจงได้ แล้วให้ทำคำสาบานส่งออกมา ให้เอาตัวพระยาสงขลา แลผู้ซื้อฝิ่นขายฝิ่นมาสาบานเสียให้เข็ดหลาบ อย่าให้ทำต่อไปได้ บ้านเมืองสงขลาก็กำลังเป็นบ้านแตกสาแหรกขาดอยู่ ให้ชำระจับเอาแต่ตัวฝิ่นส่งเข้าไปเสียให้สิ้นเถิด ที่โทษจะปรับนั้นจะทรงพระราชทานโปรดยกให้ แต่ให้เรียกเอาทัณฑ์บนไว้อย่าให้ซื้อให้ขายทำต่อไปได้เป็นอันขาดทีเดียว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๘ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสถามว่ามีอะไรบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือจีนแชบรรทุกพริกไทยมาแต่เมืองตราดลำ ๑ ถามได้ความว่า เมื่อ ณ วันเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ พบเรือกองทัพแวะเข้าตักน้ำที่ท้ายเกาะช้าง ๑๑ ลำทั้งเรือพระรัตนโกษา จีนแชได้พูดจากับพระรัตนโกษา พระรัตนโกษาว่าจะข้ามไป ณ วันเดือน ๕ แรม ๓ ค่ำ แล้วจีนแชมาพบเรือเจ้าพระยายมราชที่เกาะเสือ ณ วันเดือน ๕ แรม ๓ ค่ำอีกลำ ๑ ทรงตรัสถามว่า ที่เกาะเสือนั้นอยู่ที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า อยู่ในเกาะครามเข้ามา เกาะครามอยู่ที่ช่องแสมสารออกไป เกือบจะถึงช่องแสมสารอยู่แล้ว แล้วทรงตรัสถามว่า เรือพระรัตนโกษานั้น ว่าข้ามไปวันไร พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ข้ามไปวันเดือน ๕ แรม ๓ ค่ำ ทรงตรัสว่า ข้ามคลาดกันกับเรืออมรแมนสรรค์หลายวันนักหนา เรือลูกค้ากับเรือรบนั้นเห็นจะแล่นหาสู้คล่องเหมือนเรือรบไม่ หรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เรือลูกค้าไม่สู้คล่องเหมือนเรือรบหามิได้ แล้วทรงตรัสถึงเรือท้าวพระกรุณาว่า ป่านนี้จะถึงนครฯ แล้วหรืออย่างไรหนอ ขอให้ไปถึงพ้นคลื่นลมในท้องทะเลเสียหน่อยเถิด ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างหนังสือตอบพระยาสงขลา ครั้นอ่านจบแล้ว ทรงตรัสว่า ทรงคิดว่าจะใส่ลงที่ข้ออ้ายแขกมันแตกหนีไปเปล่า ๆ นั้น ไม่ใส่ดอกหรือ เอาอย่างนั้นก็ตามเถิด ดีอยู่แล้ว แล้วอ่านหนังสือแลคำสาบานซึ่งมีมาถึงท้าวพระกรุณาโปรดให้ชำระฝิ่นนั้นถวายจบลง ทรงตรัสว่า ดีแล้วเอาเถิด แต่ความยังขาดอยู่ที่ข้อว่าให้ทำบ้านทำเมืองนั้น เจ้าพระยาพระคลังเอาไปลืมเสียหมดแล้ว ว่าเติมความลงเสียให้ได้ ให้ดูกดขี่เอาพวกสงขลาทำบ้านทำเมืองเสียให้แล้ว จะได้เป็นที่มั่นไว้วางใจได้ แลแขกข้าง ๙ หัวเมืองนั้น ใครจะเป็นอย่างไรบ้างก็ยังไม่ทรงทราบ ถามหมื่นจงสรสิทธิที่เข้ามาก็ไม่ได้ความ ข้างจะนะ, เทพา, ตานี, นั้น แต่ก่อนก็ว่าไพร่เข้าด้วยกับอ้ายแขกไทรไปเสียบ้าง ตัวนายนั้นดีอยู่ ความจะเป็นอย่างไรอยู่หนอ จึงไปเข้าแต่อ้ายไพร่ คำอ้ายแขกที่จับได้ส่งเข้าไปว่าเป็นแขกยะลานั้น พระยาสงขลาถามแต่ก่อนก็ว่าไปเข้าด้วยกับอ้ายแขกไทรมารบ พระยาไกรถามที่กรุงฯ ว่าแขกตัวนายที่ยะลาเกณฑ์มาเข้ากองไปรบกับพระยาสาย ๆ แตกมา อ้ายแขกไทรจับไปได้จึงใชํให้มารบ มันว่าอยู่อย่างนี้ ความจะเป็นขัดไม่ได้จำใจไปเข้าด้วยกับอ้ายแขกไทรหรือ หรือจะมีความเจ็บร้อนแก่นาย เต็มใจพากันเข้าด้วยกับอ้ายแขกไทรแต่ก่อน เมืองไรบ้างมากมายอย่างไรก็ไม่ทรงทราบ เอาเป็นที่ไว้วางใจลงก็ไม่ได้ ถ้าว่ามันเป็นนก ๒ หัวอยู่แล้ว เกิดการเสียท่วงทีเข้าคราวไรมันก็คงพลอยซํ้าเอาอีกเป็นแน่ ครอบครัวเมืองไทรเล่ามันกวาดต้อนเอาไป ก็ว่าเอาไปไว้ที่แปไหร ผู้คนก็จะคับคั่งมากขึ้นทุกที เมืองแปไหรกับเมืองราห์มันของเรา ทางก็ตรงใกล้กันทีเดียว แลครอบครัวข้างเมืองตรังเมืองสตูลนั้น อ้ายหวันมาลีก็กวาดเอาไปตั้งไว้ที่เกาะนางกาวี จ่อร่อกันอยู่เท่านั้น ราวกับเกาะนางกาวีอยู่ปลายช่องจมูกข้างซ้าย แปไหรอยู่ปลายช่องจมูกข้างขวาทีเดียว ดูราวกับมันจะคอยทีอยู่ ไม่ให้หายใจบ้างเลย ถ้าการเราทำไปไม่เรียบร้อยสนิทลงได้ กลับมาเสียแล้ว ก็เห็นมันจะทำเอาอีก ไม่ให้เราเป็นสุขลงได้ดอกกระมัง แล้วทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า ตั้งแต่เมื่อครั้งอ้ายตนกูเดนทำมาจนเดี๋ยวนี้ได้กี่ปีมาแล้ว เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า อ้ายตนกูเดนมาทำแต่ปีขาลปีเถาะต่อกันมาจนครั้งนี้ คิดเป็นปีได้ ๗ ปี ๘ ปี ทรงตรัสว่า ก็เร็ว ๆ อยู่ใน ๗ ปี ๘ ปี ประเดี๋ยวหนึ่งเท่านั้น มันก็เป็นมาอีกได้ ความซึ่งทรงคิดมานี้เป็นความสำคัญอยู่ เจ้าพระยาพระคลังตริตรองมีจดหมายว่าออกไปถึงอีกสักฉบับหนึ่ง ให้มาก ๆ สักหน่อยเถิด ว่าไหน ๆ ก็ได้ยกกองทัพใหญ่ออกมา คิดจะทำกับเมืองไทรก็ไม่ทัน เจ้าพระยานครฯ ก็ทำเอาเมืองไทรได้เสียแล้ว ยังก็แต่การจะจัดแจงครอบครัวแลตั้งบ้านเมืองเท่านั้น ให้ตริตรองการดูให้รอบคอบจงมาก ข้างแขก ๙ หัวเมืองนั้น ถ้าเห็นว่าเมืองไรจะไม่สู้สนิทแล้ว คิดหาเอาคนที่สนิทไว้ใจได้ไปตั้งเข้าไว้ที่เมืองราห์มันสักคนหนึ่ง คิดเกลี้ยกล่อมชักชวนเอาครอบครัวซึ่งมันกวาดเอาไปไว้ที่แปไหรคืนมาได้เห็นจะดี เมืองแปไหรกับเมืองราห์มันทางก็ใกล้ตรงกันอยู่ ถ้าไม่คิดเอาคืนมาได้ มันกวาดไป ๆ ผู้คนคับคั่งมากขึ้นแล้ว มันก็คงคิดมาเล่นเราวันหนึ่งนั่นแหละ หรือว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า แผ่นดินเมืองแปไหรนั้นเป็นที่แคบไม่กว้างนักหามิได้ ครอบครัวจะไปอยู่มากนั้นก็เห็นจะอยู่ไม่ได้ ถ้าโดยจะคิดมาทำอีก ทางแปไหรกับราห์มันก็ใกล้กันอยู่ ไว้ใจไม่ได้หามิได้ ข้างเกาะนางกาวีนั้น อ้ายหวันมาลีก็กวาดเอาครอบครัวไปตั้งไว้ ทางก็ใกล้กันกับเมืองไทร ถ้าคิดเอาครอบครัวเกาะนางกาวีมาเสียให้หมด อย่าให้ตั้งได้แล้ว จึงจัดแจงตั้งเมืองไทร ทรงตรัสว่า ตั้งไม่ตั้งก็แล้วไปเถิด คิดทำเอาแต่พออย่าให้มันเป็นครุ่น ๆ ไปได้อย่างนี้อีกนั่นเลย ถึงจะเป็นก็ให้มันนาน ๆ เป็นลงกว่านี้สักหน่อยเถิด คนที่ไหนมันไม่สนิทก็จัดแจงเสียให้ดี ทำให้เรียบร้อยให้เป็นที่ไว้วางใจได้ แลครอบครัวที่เกาะนางกาวีนั้นควรจะให้ไปตามตีเอามา การไม่ลุกลามต่อไปได้แล้วก็ไปตามตีเอามาเสียให้สิ้น ถ้าเห็นการว่าจะลุกลามต่อไป ก็คิดให้ไปเกลี้ยกล่อมชักชวนเอามา สุดแต่ให้คิดตริตรองดูเอาตามควรให้ดี การข้างเมืองไทรนั้น พระยาไทรก็ลงไปทำได้เมืองไทรแล้ว กองทัพใหญ่จะจัดแจงครอบครัวเข้ามาไว้ที่นั้นที่นี้ พระยาไทรก็จะว่าขอให้อยู่ทางโน้น ครั้นกองทัพใหญ่ไม่เห็นด้วย เจ้าพระยานครฯ ก็จะมีหนังสือมาว่ากล่าวปรึกษาหารือตามชอบใจเจ้าพระยานครฯ กองทัพใหญ่ก็จะมีหนังสือบอกความไปว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้ามีหนังสือบอกลงเวียนปรึกษาหารือกันอยู่อย่างนี้ดูเต็มที เห็นไม่เป็นแก้วเป็นการแล้ว ถ้าเจ้าพระยานครฯ ว่ากล่าวเห็นจะขัดขืนกองทัพใหญ่ไปไม่ได้ ไม่ชอบใจเจ้าพระยานครฯ เจ้าพระยานครฯ ก็จะนอนบอกป่วยเสียไม่มาช่วยคิดราชการ จะคิดให้แต่ฝรั่งมาขัดไว้ กองทัพใหญ่เห็นฝรั่งมาขัด จะจัดแจงไปไม่ได้ก็จะติดขัดอยู่นั่น ถ้ากองทัพใหญ่จัดแจงไปให้ชอบใจเจ้าพระยานครฯ เจ้าพระยานครฯ ก็จะมาช่วยคิดปรึกษาหารือพร้อมมูลกันได้ ความซึ่งทรงตรัสมานี้สำคัญนักหนาอยู่ เจ้าพระยาพระคลังมีจดหมายออกไปให้ตริตรองการให้มาก ๆ เถิด การจะผันแปรประการใด ก็สุดแต่ใจจะเห็นดีเห็นควร คิดทำไปตามการ อย่าให้ลุกลามต่อไปได้ ทำให้เด็ดขาดเป็นที่มั่นคงไว้วางใจได้ ถึงจะเป็นไปอีกก็ให้นาน ๆ เป็นลงกว่านี้สักหน่อยเถิด อย่าให้ประเดี๋ยวเป็นประเดี๋ยวเป็นเหมือนอย่างนี้เลย ไหน ๆ ก็ได้ยกทัพใหญ่ออกมาแล้ว คิดทำเสียให้สำเร็จเด็ดขาด ให้เป็นที่มั่นไว้วางใจได้ บ้านเมืองจะได้อยู่เย็นเป็นสุขสืบไปนาน ๆ ถ้าไม่เป็นที่มั่นไว้วางใจได้ พอกองทัพกลับเข้าไป พากันเป็นขึ้นอีกได้แล้ว น่าอายเขานักหนาทีเดียว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๐ ค่ำ เพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างจดหมายซึ่งโปรดให้มีออกมาถึงท้าวพระกรุณานั้น ครั้นอ่านถวายจบลง รับสั่งว่า ขอเติมลงอีกหน่อยเถิด ว่าลงว่าการเมืองไทรนั้น ข้างเจ้าพระยานครฯ รู้ว่ากองทัพใหญ่ยกออกมา เจ้าพระยานครฯ ก็ยกออกไป ทำเอาได้เมืองไทรเสียก่อนแล้ว กองทัพใหญ่ยกออกมาทำก็ไม่ทัน ก็ออกมาเก้อ ๆ อยู่ จะจัดแจงการบ้านเมืองเมืองไทรเล่า ถ้าจัดแจงชอบใจเจ้าพระยานครฯ เจ้าพระยานครฯ ก็จะมาปรึกษาหารือกับกองทัพใหญ่ ถ้าจัดแจงไม่ชอบใจเจ้าพระยานครฯ แล้ว เจ้าพระยานครฯ ก็จะบอกป่วยเจ็บเสีย การก็จะไม่ติดต่อกันเข้าได้ จะให้ก็แต่ลูกเต้ามาช่วยเท่านั้นกันเอง ว่าใส่ลงอย่างนี้อีกหน่อยเถิด เจ้าคุณหาบนจึงสั่งให้เติมความลงในจดหมายแล้วอ่านถวายจบลง ทรงตรัสว่าดีแล้ว เอาส่งให้รีบออกไปเถิด จะให้ใครมันถือออกไปหรือจะฝากใครไปอย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จะให้หมื่นจงสรสิทธิตำรวจที่มาแต่เมืองสงขลาถือออกไป ทรงตรัสว่าดีแล้ว มันเป็นคนเราอยู่ มันจะได้ถือออกไปเร็ว ๆ แล้วทรงตรัสถามนายช่วยว่า เป็นกระไร เห็นเจ้าพระยานครฯ จะมาหากองทัพใหญ่หรือไม่มา นายช่วยกราบทูลว่า ไม่ได้ยินว่าหามิได้ ทรงตรัสถามว่า การเมืองไทร พระยาไทรก็ยกลงไปได้เมืองไทรแล้ว เจ้าพระยานครฯ ให้พระยาไทรกลับไปอยู่เมืองไทรตามเดิมหรืออย่างไร นายช่วยกราบทูลว่า หาได้ยินว่าไม่ ทรงตรัสว่ามันมีแต่ไม่ได้ยินไปเสียหมดอย่างนี้ เล่นเอาจนไปทีเดียว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เรือพวกเมืองชุมพรเข้ามาแต่เมืองชุมพรลำ ๑ ถามได้ความว่ามาแต่เมืองชุมพร ณ วันเดือน ๕ แรมค่ำ ๑ พบเรือกองทัพที่อ่าวเมืองชุมพร ๑๐ ลำ ว่าเป็นเรือท้าวพระกรุณา ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ พบพ้นอ่าวเมืองชุมพรเข้ามาอีก ๖ ลำ แล้วมาพบเรือเจ้าพระยายมราชที่เจ้าลาย[๑๐] ณ วันเดือน ๕ แรม ๓ ค่ำอีกลำ ๑ ทรงตรัสว่า ๆ เป็นเรืออมรแมนสรรค์ไปถึงอ่าวชุมพร ณ วันเดือน ๕ แรมค่ำ ๑ นั้น นายช่วยมันมาแต่เมืองนครฯ ก็ว่าพบเป็นเรือเสาชี้อยู่ที่อ่าวแม่รำพึง ณ วันเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ว่าถูกพายุฝนอยู่ที่นี่ อย่างไรมันจึงว่าพบที่อ่าวเมืองชุมพร ณ วันเดือน ๕ แรมค่ำ ๑ เล่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาช่วยตัดสินทีหนึ่งเถิด เป็นกระไร จะว่าถึงอ่าวแม่รำพึงหรือจะว่าถึงอ่าวเมืองชุมพรอย่างไร เจ้าพระยาบดินทรเดชานิ่งอยู่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พวกชุมพรเข้ามาว่าพบที่อ่าวเมืองชุมพร ก็พบเรือมากถึง ๑๐ ลำ แล้วว่าพบอีกคราวหลังก็ ๖ ลำ พวกเรือที่ไปข้างหน้า ๑๐ ลำนั้นเห็นจะเป็นเรือท้าวพระกรุณา รับสั่งว่าเอาเถิด อย่างไร ๆ ก็ตัดสินเอาเป็นถึงอ่าวชุมพรเถิด เป็นกระไร แต่วันว่าพบที่อ่าวชุมพรวันเดือน ๕ แรมค่ำ ๑ มาจนวันนี้นั้น ปานนี้จะถึงเมืองนครฯ แล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เห็นจะถึงเมืองนครฯ แล้ว ทรงตรัสว่า ไปถึงเข้าเสียหน่อยเถิด จะได้สบายสิ้นทรงพระวิตกลง อยู่ในกลางชล่ำชเลอย่างนี้ ทรงฟังแล้วเล่นเอาพระทัยวับหวิวไปทีเดียว ให้ทรงพระวิตกไม่สบายพระทัยเอาเลย แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ข้างเมืองสงขลาได้ความว่า ปล่อยเรือขุนธนเข้ามาลำ ๑ มาแต่เมืองสงขลาแล่นออกลึกมา หาพบปะเรือกองทัพไม่ เข้ามาถึงสามร้อยยอด ว่าพบเรืออย่างแล่นอยู่ในสามร้อยยอดลำ ๑ ทรงตรัสว่าทำไมกับพบเรืออื่น ๆ ไม่สำคัญเหมือนพบเรืออมรแมนสรรค์หมดนั่นแหละ ทรงตรัสถามจะใคร่พบเรือแม่ทัพอยู่เท่านี้ ไม่ใคร่ได้ความเป็นแน่เลย แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถามเรือขุนธนที่เข้ามาแต่สงขลาว่าอ้ายแขกซึ่งมารบอยู่ที่ค่ายเขาลูกช้าง เมื่อวันจะแตกหนีไปนั้น อ้ายแขกขึ้นอยู่บนหอรบเห็นเสาเรือกำปั่นทอดอยู่ที่เกาะหนู ร้องบอกพวกกองทัพเมืองสงขลาว่า กำปั่นพวกอ้ายแขกมาช่วยรบนั้นมาถึงแล้ว ทอดอยู่ที่เกาะหนูแลเห็นเสาอยู่ ให้พากันไปจากบ้านเมืองเสียเถิด พวกกองทัพเมืองสงขลาร้องตอบออกไปว่ามิใช่กำปั่นอ้ายแขก กำปั่นกองทัพกรุงฯ ยกมาช่วยเมืองสงขลารบอ้ายแขก อ้ายแขกรู้ความเข้า ค่ำลงอ้ายแขกก็พากันแตกหนีไป แล้วว่าข้าง ๙ หัวเมืองนั้น อ้ายแขกไทรซึ่งมาตั้งอยู่แต่ก่อนนั้นก็แตกหนีไป พระยาสงขลาให้พระยาสาย พระยายะหริ่งยกติดตามไปแล้ว แต่พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์กำหนดจะยกลงไปทางจะนะ ทางเทพา ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ แต่ก่อนนั้น ยังหาได้ยกลงไปไม่ ได้ยกไปแต่ ณ วันเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ทรงตรัสว่า จะเอาความข้างพวก ๙ หัวเมืองว่ามันสนิทดีอยู่หมดหรือ หรือมันจะเป็นไปเหมือนว่าอย่างไร ก็ยังไม่ได้ความ ทรงตรัสถามว่า เรือขุนธนที่ปล่อยมานั้น ขุนธนคนนี้ที่ว่าเป็นพ่อตานายจันมีชื่อนั้นหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ขุนธนคนนี้ ทรงตรัสว่า เป็นพ่อตาลูกเขยกันอยู่แล้วก็ปล่อยกันเข้ามา ถ้าเป็นเรืออื่นแล้วจะปล่อยมาที่ไหน แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถามดูข้าวที่สงขลาก็ว่าไม่สู้ขัดสนนักหามิได้ ว่าข้าวที่ในนาก็ยังเหลืออยู่บ้าง ครอบครัวซึ่งหลบหนีอยู่ในป่า ออกมาก็รับพระราชทานข้าวที่ในนา ว่าข้าวที่แหลมสนนั้นก็มีอยู่มาก อ้ายแขกหาได้ยกไปถึงไม่ ข้าวยังบริบูรณ์ดีอยู่หมด ทรงตรัสว่าทรงพระวิตกอยู่ด้วยข้าว กลัวจะขัดสนไม่มีกิน จะพากันซวดโซยับเยินไปเสียหมด ถ้ามีพอแจกจ่ายกันกินอยู่แล้ว เห็นจะหาเป็นไรไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ที่เมืองสงขลาเล่า ก็ว่าผู้ช่วยจะจัดเรือให้ตามเข้ามาซื้อข้าวบรรทุกออกไปอีกลำ ๑ ว่ายังจัดแจงเรือจะตามเข้ามาทีหลัง ทรงตรัสว่า มันเข้ามาจะได้ถามความข้าง ๙ หัวเมืองให้ทรงทราบเสียหน่อยหนึ่ง ยังหาทรงทราบว่าความจะเป็นอย่างไรแน่ไม่เลย ๚

๏ ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ หาได้ทรงตรัสราชการเมืองไทรไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๓ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ท้าวพระกรุณามีหนังสือบอกฝากหลวงลักษณมานาเข้าไปว่า ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ได้ใช้ใบออกจากสามร้อยยอด ก้าวเรือลงไปเป็นลมสำเภาบ้างลมสลาตันบ้าง ก้าวลงไปถึงเขาเวียง แล้วเสียรอยกลับมาที่เขาเวียงอีก หาพ้นแหลมปะทิว[๑๑]ได้ไม่ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เพลาเช้ามืด เป็นลมพัทยาพัดอ่อน ๆ แล่นก้าวลงไปพอแลเห็นอ่าวปากน้ำเมืองชุมพร เพลาเช้า ๓ โมง ลมเป็นลมสลาตันจัดหนักถูกพายุฝน ทอดสู้อยู่ ๒ วัน ก้าวเรืออยู่หลายวัน ณ วันเดือน ๕ แรม ๕ ค่ำ จึงเข้าปากน้ำเมืองชุมพรได้ ทรงตรัสว่า ลำบากนักหนาทีเดียว เป็นกระไร ดีอยู่ดอกหรือ เรือแพเป็นอย่างไรบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าดีอยู่ เรือท้าวพระกรุณาไม่เป็นไรหามิได้ แต่เรือหลวงพิทักษ์ขี่ลำ ๑ เรือพระอินทรรักษาขี่ลำ ๑ นั้น เหล็กพืดหางเสือหักไป ๒ ลำ ท้าวพระกรุณาได้จัดแจงทำขึ้นแล้ว ท้าวพระกรุณาพบเรือพระยาเพชรบุรีที่แหลมปะทิว ๕ ลำไปถึงก่อนอยู่ ๒ วัน เรือท้าวพระกรุณาไปถึง ๗ ลำ เข้ากัน ๑๒ ลำ ว่าได้ออกไปจากเมืองชุมพรแต่ ณ วันเดือน ๕ แรม ๘ ค่ำแล้ว ทรงพระสรวลตรัสว่า เออไปถึงเสียหน่อยเถิด ปานนี้เป็นกระไร จะไปถึงเมืองนครฯ เมืองสงขลาได้แล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จะไปถึงเมืองสงขลานั้นเห็นยังไม่ถึง จะไปถึงเมืองนครฯ นี้เห็นจะถึงแล้ว ทรงตรัสว่าถึงเมืองนครฯ ก็เอาเถิด แต่จากเมืองชุมพรไปได้แล้ว ลงไปก็เห็นคลื่นลมจะค่อยยังชั่วเบาลงทุกที ว่ากระไรเล่าเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าพ้นเมืองชุมพรตกลงไปข้างนอกแล้ว คลื่นลมก็จะเบาลงไม่เป็นไรนักหามิได้ ทรงตรัสถามว่า ก็พวกพระยาเสนาภูเบศร์ พวกชุมพรนั้น เขาไปแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระยาเสนาภูเบศร์ยกออกจากเมืองชุมพรไปแต่ ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำแล้ว ทรงตรัสถามหลวงลักษณมานาถึงท้าวพระกรุณาว่า เป็นกระไร พระยาศรีพิพัฒน์สบายอยู่หรือ หลวงลักษณมานากราบทูลว่าสบายดีอยู่ ทรงพระสรวลตรัสถามว่า เมาคลื่นหรือไม่เมา หลวงลักษณมานากราบทูลว่า ไม่เมาหามิได้ ทรงตรัสถามว่า ดูซูบผอมไปบ้างหรือไม่ หลวงลักษณมานากราบทูลว่า ไม่ซูบผอมหามิได้ดูเสมอ ๆ อยู่ ทรงตรัสถามว่า ดูรูปกายคล้ำดำไปหรือไม่ดำ หลวงลักษณมานากราบทูลว่า ไม่สู้คลํ้าดำนักหามิได้ ทรงพระสรวลตรัสว่า ไม่สู้คล้ำดำจะให้ดำไปถึงไหนเล่า ออกไปกลางทะเลอย่างนี้แล้ว ก็คงคลํ้าดำเข้าบ้างนั่นแหละ แล้วทรงตรัสว่า อย่างไร ๆ ก็ไปถึงเสียหน่อยหนึ่งเถิด จึงรับสั่งว่าเอาหนังสือมาอ่านไปเถิด ครั้นอ่านหนังสือบอกถวายจบแล้ว ทรงพระสรวลที่ข้อท้ายหนังสือบอก ซึ่งว่าท้าวพระกรุณาถามได้ความว่าเป็นพวกเกาะรังนกจับญวนได้ ๑๐ คน เมืองพงัน[๑๒]บอกว่าจับได้ จะเอาเป็นความชอบของตัวนั้น ทรงตรัสว่านั่นเป็นไรเล่า เจ้าพระยาพระคลัง ดูตัดสินกันเองเถิดสิ แล้วทรงตรัสไปด้วยเรื่องฝิ่นจนเสด็จขึ้น ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ เวลาค่ำ พระนรินทร์กราบทูลว่าพระยาสงขลามีหนังสือบอกฝากจีนมั่นเข้ามาว่า หลวงพลพิฆาฏเดินบกมาถึงสงขลา ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ แต่เรือขุนอาจณรงค์ยังหามาถึงไม่ ทรงตรัสว่า มันไปอยู่ที่ไหนเล่าจึงไม่ไปถึง ได้ซักถามบ้างหรือไม่ พระนรินทร์เหลียวลงไปถาม ทรงตรัสว่า เปล่า ๆ ทั้งนั้น เมื่อไม่ซักถามมันเข้ามาบ้างเลย จะทรงถามแล้วก็มาถามเอาที่นี่ ทรงตรัสกับพระนรินทร์แล้ว ป่วยงานตะวันทีเดียว พระนรินทร์กราบทูลว่า เรือขุนอาจณรงค์มาถึงเกาะหนู แล้วจีนมั่นว่าได้เอาน้ำฟืนไปส่ง ทรงตรัสว่า นั่นมิใช่หรือ มันก็อยู่ที่เกาะหนูนั่นเอง ก็เมื่อไม่ถามเขาเสียก่อนบ้างเลย ได้ความอย่างไรก็เข้ามาทูลเอาอย่างนั้น ว่าเอาให้ตกพระทัยไปทีเดียว แล้วรับสั่งสั่งพระยาพิพัฒน์ว่า เป็นคนช่างซักถามดีถามมันดูหรู ว่าที่เมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองหนองจิก เมืองตานี เหล่านั้น เป็นกระไร มันเข้าไปด้วยกับอ้ายแขกเท่าไร เหลืออยู่สักเท่าไร มันเอามารบที่เขาลูกช้างที่บางกระดานด้วยแต่ก่อนนั้น มากหรือน้อย อ้ายแขกไทรซึ่งมันมาตั้งอยู่ที่ประหวันแขวงตานีนั้น แตกหนีไปสิ้นแล้วหรือยัง ข้างกตงกหรํ่านั้น อ้ายแขกเอาครอบครัวไปได้สักเท่าไร เหลืออยู่บ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์ถามแล้วกราบทูลว่าที่เมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองหนองจิก เมืองตานีนั้น ครอบครัวไปกับอ้ายแขกเสียส่วนหนึ่ง หลบหนีอยู่ในป่าสัก ๒ ส่วน ๓ ส่วน ที่ไปด้วยกับอ้ายแขกนั้นว่าติดครัวไป ที่ไม่ติดด้วยครัวแล้ว พากันหลบหนีอยู่ในป่าสิ้น เมื่อมารบเมืองสงขลานั้น อ้ายแขกเอาแขกเมืองจะนะเมืองตานีมารบด้วยมาก เมืองเทพา เมืองหนองจิก มาด้วยสัก ๑๐ คน ๒๐ คน เข้ากันได้มารบเมืองสงขลาสัก ๕๐๐ คน ว่าแขกไทรซึ่งมาตั้งอยู่แขวงตานีก็พากันแตกหนีไปแล้ว ข้างกตงกหร่ำนั้นว่า อ้ายแขกกวาดเอาไปได้น้อย ยังหลบหนีเหลืออยู่ในป่ามาก ทรงตรัสว่า ที่มันไปด้วยกับอ้ายแขกนั้น มันก็ติดครัวตามครัวไปนั่นเอง ถ้าอ้ายแขกไม่ได้ครัวมันไปแล้วมันจะไปที่ไหน มันหลบหนีอยู่ในป่าก็คงจะเข้าหาหมดนั่นแหละ แต่ที่ว่ามันมารบด้วยกับอ้ายแขกไทรถึง ๔๐๐ ถึง ๕๐๐ นั้น มันจะมาถึง ๔๐๐ ถึง ๕๐๐ ที่ไหนเปล่า ๆ ทั้งนั้น มันจะมารบด้วยก็แต่ ๒๐ คน ๓๐ คน ที่มันเอาครัวไปไว้ได้เท่านั้นเอง มันว่าตื่นไปเปล่า ๆ แล้วทรงตรัสถามว่า ข่าวดอกไม้เงินทองเมืองตรังกานู แลข่าวข้างเมืองกลันตันนั้นเป็นอย่างไร มันรู้ข่าวอย่างไรบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ดอกไม้เงินทองเมืองตรังกานูนั้น ว่าเอามาไว้ที่สงขลาแล้ว ยังแต่เครื่องราชบรรณาการ ว่าพระยาสงขลาให้คนลงไปเตือน ยังหากลับมาถึงไม่ แต่เมืองกลันตันนั้น ได้ความว่า พี่น้องจะรบกันด้วยเหตุจะชิงกันเป็นเจ้าเมือง แต่หาทราบว่าจะเป็นผู้ใดกับผู้ใดรบกันแลรบกันเมื่อไรไม่ ทรงตรัสถามว่า มันได้ข่าวกลันตันมาแต่ข้างไหน หรือมาแต่พวกเรือพายมันเข้ามาสงขลาบ้างหรือไม่ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ได้ข่าวมาแต่ข้างตานี ว่าพวกเรือพายหาได้เข้ามาสงขลาไม่ ทรงตรัสถามว่า พระยาสงขลาซื้อกระสุนดินดำอยู่ที่สงขลาเมื่อวานซืนนี้นั้น เรืออะไรเล่า พระยาพิพัฒน์ซักถามแล้วกราบทูลว่า จีนมั่นว่าเข้ามาจริง ทรงตรัสว่านั่นเป็นไรเล่า ให้มันสบถเสียให้ว่าไปตามจริง ถ้าไม่จริงแล้ว ให้อ้ายแขกมันตัดหัวมันไปในเร็ว ๆ นี้หรือ ว่ากระไรพระยาสงขลาซื้อฝิ่นไว้บ้างหรือไม่ มันเข้ามานี่มีฝิ่นเข้ามาด้วยหรือไม่มี พระยาพิพัฒน์ให้สาบานแล้ว กราบทูลว่า ไม่มีเข้ามาหามิได้ พระยาสงขลาจะซื้อไว้หรือไม่ซื้อนั้นหาทราบไม่ ทรงตรัสว่า มันว่าเปล่า ๆ ไม่จริงทั้งนั้น อ้ายโหยกเหยกทีเดียว นิ่งอยู่เถิด คงจะได้เล่นกับมันวันหนึ่งเฆี่ยนเอาลายไปฝากนายมันให้จงได้ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ เพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระยาไชยาบอกให้หลวงราชบริรักษ์ถือเข้ามา ใจความว่า อ้ายตนกูหมัดสอัด อ้ายหวันมาลี ให้แขกมาหาพระยาถลางที่เมืองถลาง แล้วกราบทูลไปตามความซึ่งมีเข้าไป ข้าพเจ้าถามหลวงบริรักษ์ ๆ บอกว่า ข้อราชการซึ่งพระยาไชยาบอกเข้าไปนั้น ได้กราบเรียนท้าวพระกรุณาทราบแล้ว สั่งให้คัดเอาข้อความไว้ แลเมื่อเจ้าคุณหาบนกราบทูลอ่านถวายหนังสือบอกแล้วนั้น ทรงตรัสว่า อ้ายตนกูหมัดสอัดคนนี้ ทรงฟังดูท่วงทีคิดการงานนั้นเป็นคนฉลาดอยู่ มันคิดให้ไปหาพระยาถลาง มันก็จะทำถลางเหมือนอย่างคิดทำเมืองสงขลานั่นเอง จะพูดจาเกลี้ยกล่อมมันว่ากระไร คอยแต่คิดอย่าให้มันทำเอาไปได้นั้นเถิด ข้างพระยาไชยาเล่าก็เป็นคนฉลาดคิด บอกกล่าวเข้ามาก็ว่า ครั้นจะยกกองทัพเรือลงไปช่วยทำเมืองไทร ก็เกลือกอ้ายแขกจะยกจู่โจมเข้ามาทำกับเมืองถลาง เมืองพังงา เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า ข้างภายหลัง จะไว้ใจยังมิได้ พระยาไชยาจัดแจงให้ตั้งค่าย แลจัดเรือให้ลาดตระเวนคอยฟังอยู่ มีแต่บอกแก้ตัวออกตัวไปเสียอย่างนี้ ดูทำนองก็เห็นจะหากล้าแข็งไม่ เป็นคนขลาดไปเสียแล้ว การอะไรนักหนา เมืองไทรเขาก็ได้แล้ว อ้ายแขกมันจะมาแต่ข้างไหนทีเดียว จะคิดจัดแจงเรือลงไปช่วยตีที่เกาะนางกาวีบ้างก็ไม่มี นอนเล่นอยู่เปล่า ๆ นั่นเอง แล้วทรงตรัสถามหลวงราชบริรักษ์ถึงท้าวพระกรุณาว่า มาพบที่ไหนบ้างหรือไม่ หลวงราชบริรักษ์กราบทูลว่า มาพบที่ชุมพร ณ วันเดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ ทรงตรัสถามว่า จะออกไปจากชุมพรเมื่อไร รู้ข่าวสงขลาแล้วหรือยัง หลวงราชบริรักษ์กราบทูลว่า รู้ข่าวว่าอ้ายแขกแตกจากสงขลาไปแล้ว จะออกไป ณ วันเดือน ๕ แรม ๘ ค่ำ ทรงตรัสว่า ออกไปถึงเสียหน่อยเถิด จะได้บอกกล่าวราชการเข้าไปให้ทรงทราบ ๚

๏ ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่ ทรงตรัสไปด้วยเรื่องฝิ่น หลวงอนุรักษ์ว่า หลวงบำรุงให้จีนออกไปซื้อที่กำปั่นซึ่งมาเที่ยวขายฝิ่นอยู่ตามท้องทะเลได้ ๓๕ ปัก ถามหลวงบำรุงรับเป็นสัตย์จำหน่ายต่อไป ทรงขัดเคืองว่า โปรดแต่แรกให้เอาฝิ่นมาลุแก่โทษเสียก็ไม่มา กลับปิดบังเอาฝิ่นไว้ ทรงตรัสไปจนเสด็จขึ้น ๚

๏ ครั้นเดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เจ้าพระยานครฯ บอกให้นายสีคงถือเข้ามา ใจความว่า กองทัพพระยาไทรตีค่ายปากน้ำแตกได้เมืองไทรแล้ว ว่าอ้ายตนกูหมัดสอัดหนีไป แล้วว่าอ้ายแขกซึ่งแตกหนีไปจากสงขลานั้น ลงไปรบกับทัพพระยาไทรอยู่ ๒ วัน เจ้าพระยานครฯ มีหนังสือมาให้กองทัพพระยาสงขลา พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ ยกลงไปช่วย ข้อความแจ้งอยู่ในสำเนาซึ่งคัดส่งออกมานั้นแล้ว ครั้นกราบทูลแล้ว ทรงตรัสว่า มันจะอยู่ที่ไหน มันก็คงพากันหนีไปหมด ถึงไปได้เมืองไทรก็ได้แต่แผ่นดินเมืองเปล่า จะไปทำเอาแต่อะไรของมันก็ไม่ได้ แล้วทรงตรัสกับเจ้าคุณหาบนว่า คราวทำได้อย่างนี้แล้ว ก็บอกถี่เข้าไปทีเดียว แต่ก่อนเป็นไรจึงไม่บอกให้ถี่ ๆ เข้าไปเหมือนอย่างนี้เล่า แล้วทรงพระสรวลตรัสว่า มาขอกองทัพพระยาสงขลาให้ไปช่วยตีกดหลังทัพพระยาไทรนั้น มาขอทำไม แต่ก่อนสิโกรธไม่เข้ากัน ไม่ช่วยเขาแล้ว ถึงทีตัวเข้าบ้างสิมาขอกองทัพเขาไปช่วย ทำเป็นสามัคคีรศกันเมื่อประเดี๋ยวนี้เล่า น่าหัวเราะนักหนาทีเดียว แล้วทรงตรัสถามถึงเรือท้าวพระกรุณาว่า พบปะบ้างหรือไม่ พระนรินทร์กราบทูลว่า นายสีคงพบที่ช่องอ่างทอง ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ ๙ ลำ เห็นเป็นเรือเสาชี้อยู่ลำ ๑ ณ วันเดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ พบเรือเจ้าพระยายมราช เรือพระยาอภัยพิพิธ ที่แหลมปะทิว ๒ ลำ ทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาว่า ปานนี้ก็ถึงนครฯ ได้แวะหยุดพูดจากับเจ้าพระยานครฯ เสียแล้ว ๚

๏ ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ขึ้น ๖ ค่ำ หาได้ทรงตรัสราชการเมืองไทรไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ เพลาค่ำ ทรงตรัสถึงท้าวพระกรุณาแต่ว่า ทรงคอยฟังอยู่ก็ไม่มีใครไปถึงบ้างเลย ปานนี้จะถึงสงขลาแล้วหรืออย่างไรก็ไม่ทรงทราบ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระยาเสนาภูเบศร์ พระยาชุมพร บอกเข้ามาว่าได้ยกกองทัพออกไปจากเมืองชุมพร ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เป็นคน ๑,๒๑๖ คน ว่าท้าวพระกรุณายกไปแต่ ณ วันเดือน ๕ แรม ๘ ค่ำแล้ว ทรงตรัสว่าออกไปถึงเสียหน่อยเถิด จะได้ทรงทราบข้อราชการละเอียดถี่ถ้วนบ้าง ทรงคอยฟังข้าง ๙ หัวเมืองก็ไม่ได้ความ ครอบครัวข้างเมืองไทรจะไปกับอ้ายแขกเท่าไร เหลืออยู่เท่าไร ก็ยังไม่ได้ความเป็นแน่เลย ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ หาได้ทรงตรัสราชการเมืองไทรไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เพลาค่ำ ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า มีอะไรเข้ามาหรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือนายพูนเข้าไปแต่เมืองสงขลาถึงลำ ๑ นายพูนแจ้งว่า เป็นบ่าวพระยาไชยานอกราชการ ๆ ให้เอานายน้อยบุตรพระยาไชยากับบ่าวที่ป่วยเจ็บเข้าไปส่ง ณ กรุงฯ ถามได้ความว่า อ้ายแขกซึ่งมารบเมืองสงขลานั้น พากันแตกหนีไปหมดแต่ ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำแล้ว ว่าพระยาสงขลากับพระราชรินทร์ยกติดตามออกไปข้างเมืองตานี แต่พระยาวิชิตณรงค์นั้นยกลงไปทางเมืองจะนะ แลเมื่อนายพูนเข้ามานั้น พบเรือท้าวพระกรุณากับเรือนายทัพนายกองที่ช่องอ่างทอง ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๓ ค่ำ แล้วมาพบเรือเจ้าพระยายมราชที่สมุยอีก ๒ ลำ ทรงตรัสว่า อย่างไรเรือเจ้าพระยายมราชจึงกลับไปถึงสมุยก่อน ไปอยู่ข้างหน้าอีกเล่า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า กราบทูลพระกรุณาผิดไป นายพูนพบเรือเจ้าพระยายมราชนั้น พบที่พงัน ทรงตรัสว่า เรือเจ้าพระยายมราชก็ไปเร็วอยู่ ไปเอาทันกันเข้าได้ ทำนองเป็นเรือใหญ่อยู่แล้ว ก็แล่นออกลึกตัดแหลมทุ้งอ่าวไปทีเดียวจึงไปทันกันได้ แล้วทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนถึงท้าวพระกรุณาว่า เป็นกระไร ปานนี้เห็นจะถึงแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จะถึงเมืองสงขลานั้นเห็นยังไม่ถึง ปานนี้เห็นจะถึงเมืองนครฯ แล้ว รับสั่งว่า ถึงเมืองนครฯ ก็เหมือนหนึ่งถึงสงขลาเหมือนยัน คงจะแวะพูดจากับเจ้าพระยานครฯ อยู่สัก ๒ วัน ๓ วันก่อนจึงจะไป อย่างไร ๆ ก็คอยฟังเอาบอกกองทัพใหญ่เถิด กองทัพใหญ่ออกไปถึงแล้ว ก็คงจะรู้การถี่ถ้วน บอกเข้ามาหมดนั่นแหละ ๚

๏ ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ หาได้ทรงตรัสราชการเมืองไทรไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เพลาเช้า พระนรินทร์กราบทูลลาให้หมื่นจงสรสิทธิ ขุนพิทักษ์สงคราม กลับออกมา ทรงตรัสว่า คิดว่าไปแล้ว ยังไม่ได้ไปดอกหรือ เออรีบออกไปเถิด ถ้อยความสั่งเสียไปอย่างไร ก็มีอยู่ในหนังสือซึ่งให้ออกมาหมดสิ้นอยู่ แล้วเจ้าพระยาพระคลังดูสั่งเสียนอกหนังสือไปอีกสักเล็กสักน้อยเถิด แล้วรับสั่งสั่งหมื่นจงสรสิทธิ ขุนพิทักษ์สงครามว่า ออกมาถึงแล้วการงานก็จะไม่มีอะไรนักหนา ถ้าไม่มีการแล้ว คิดเล่นเอาฝิ่นเสียให้หมดจงได้ ชำระเอาที่คนซื้อฝิ่นขายฝิ่นแลพวกสูบฝิ่น เก็บเอาฝิ่นเอากระทะเอากล้องเอาเหล็กเครื่องมือส่งเข้าไปเสียให้สิ้น อย่าให้มีต่อไปได้ เห็นจะดีนักหนาทีเดียว ถ้าคิดจัดแจงให้เรือออกคอยจับเอาอ้ายพวกเรือพายซึ่งมาขายยาฝิ่นตามแขวงจังหวัดบ้านเมือง ได้สักลำหนึ่งสองลำส่งเข้าไปแล้ว จะวิเศษนักหนา คิดทำให้ข่าวคราวเลื่องลือลงไปถึงเมืองใหม่ เมืองเกาะหมาก ก็คงจะเข็ดหลาบหยุดลงหมดได้ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า เรือจุ้นจู๊ยี่นายเรือพระประเสริฐวานิช ซึ่งไปส่งกองทัพพระราชรินทร์กลับเข้าไปถึงลำ ๑ ถามได้ความว่า พระราชรินทร์ออกมาถึงเมืองสงขลา ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๓ ค่ำ อ้ายแขกซึ่งมาตีเมืองสงขลานั้นพากันแตกหนีไปแต่ ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ พระยาสงขลากับพระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ ยกติดตามอ้ายแขกไปเมืองตานี จุ้นจู๊ยี่ไปจากเมืองสงขลา ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ไปพบเรือท้าวพระกรุณา กับเรือนายทัพนายกองที่ทุ่งระโนด ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ ท้าวพระกรุณาฝากจดหมายเข้าไปว่า ออกมาอยู่ดีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ออกมาจากปากน้ำเจ้าพระยามาตามทางนั้น หาทราบข่าวข้อราชการเมืองสงขลาไม่เลย ต่อมาถึงทุ่งระโนดแดนเมืองพัทลุง ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ พบเรือจุ้นจู๊ยี่จึงได้ทราบความว่าอ้ายแขกซึ่งมาตีเมืองสงขลา พากันเลิกแตกหนีกลับไปแล้ว ๆ จุ้นจู๊ยี่พบเรือกองทัพที่หน้าเมืองนครฯ อีก ๒ ลำ ทรงตรัสว่า ไปถึงเสียหน่อยเถิด จะได้ขึ้นบกขึ้นฝั่งหยุดยั้งเสียให้สบายบ้าง กระตรกกระตรำลำบากมาก็หลายวันนักหนาแล้ว หลวงลักษณมานา หลวงราชบริรักษ์เข้าไปก็ได้ทรงตรัสถาม กราบทูลว่า ความอ้ายแขกแตกไปจากสงขลานั้น ก็ว่ารู้แต่เมื่อพบหลวงลักษณมานา หลวงราชบริรักษ์ที่ชุมพรนั้นแล้ว พึ่งรู้ความที่ทุ่งระโนดดอกหรือ เห็นจะหาได้แวะที่นครฯ ไม่ เลยไปทีเดียว แล้วจึงไปรู้เอาที่ทุ่งระโนด เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เห็นจะไม่แวะเมืองนครฯ หามิได้ ทรงตรัสว่า ปานนี้ก็ถึงสงขลาได้หยุดยั้งสบายแล้ว ๆ อ่านจดหมายถวายจบลง ทรงตรัสว่า ใครมิรู้มันเข้ามาว่า รู้ความสงขลาแต่ที่ชุมพรนั้นแล้ว แต่ทรงจำชื่อไม่ได้เอง แล้วทรงตรัสถามว่า กำปั่นแกล้วกลางสมุทรจะเข้าไปเมื่อไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระยาสงขลาให้รอท้าวพระกรุณาอยู่ จะให้บรรทุกเอาครัวโทษเข้ามา ว่ารวบรวมครัวคอยไว้แล้ว รับสั่งว่า คิดจัดแจงเอาข้าวออกไปส่งเสียในเร็ว ๆ สักทีเถิด ดูแบ่งเอาคนสงขลาที่ให้เข้ามา ๒ ลำนั้น ใส่ลงกับคนเราออกไปส่งก็จะได้ ๚

๏ แลการที่บ้านนั้น ข้าพเจ้ารับพระราชทานไปถามพ่อคงได้ความว่าอยู่จำเริญ เป็นสุขปรกติอยู่ทั้งสิ้น หามีอันตรายไข้เจ็บสิ่งใดไม่ แต่สำเนาหนังสือตอบเมืองนครฯ กับบอกเมืองนครฯ นายช่วยถือเข้าไปนั้น เจ้าคุณหาบนสั่งให้คัดส่งออกมากับตราตอบเมืองสงขลา แลบอกเมืองนครฯ ซึ่งนายสีคงถือเข้าไปครั้งหลัง ๒ ฉบับนั้น คุณพระนายศรีเสารักษ์[๑๓]สั่งให้คัดออกมาด้วยแล้ว แต่คำให้การอ้ายแขกซึ่งหมื่นจงสรสิทธิคุมเข้าไป โปรดให้ถามใหม่นั้น หลวงราชเศรษฐีได้คัดส่งออกมากับหมื่นจงสรสิทธิ ขุนพิทักษ์สงคราม แลกระแสพระราชดำริกับข้อความในบอกซึ่งข้าพเจ้าจดหมายมานี้ ได้ฝากออกมากับจมื่นอินทรเสนาครั้ง ๑ รองศุภมาตราเพชรบุรีครั้ง ๑ ขุนฤทธิรณไกรญวนครั้ง ๑ หมื่นจงสรสิทธิ ขุนพิทักษ์สงครามครั้ง ๑ เข้ากัน ๔ ครั้ง แต่ครั้งก่อนจะได้ออกมาถึงนำขึ้นกราบเรียนทั้ง ๓ ครั้งหรือประการใด ข้าพเจ้าถามเรือซึ่งเข้าไปก็หาได้ความไม่ ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานเข้าไปคอยฟังเสมออยู่ทุกเพลา ข้อความซึ่งจดหมายออกมา จะขาดผิดเพี้ยนควรมิควรประการใด รับพระราชทานพระเดชพระคุณสุดแล้วแต่จะโปรด จดหมายมา ณ วัน ๖ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำปีกุนเอกศก (จุลศักราช ๑๒๐๑ พ.ศ. ๒๓๘๒) ๚



[๑] เขาแดงอยู่แขวงเมืองกุย ใต้สามร้อยยอด

[๒] ตำบลกะโหลกศีรษะผี อยู่ในแขวงเมืองปราณ เหนือเขาสามร้อยยอดหน่อยหนึ่ง

[๓] พระยาศรีสหเทพ (เพ็ญ) พระยาศรีคนนี้ชื่อเพ็ง บิดาพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น)*

* พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ)

[๔] ท่าทองอยู่ปากอ่าวแม่นํ้าหลวง แขวงเมืองนครฯ ภายหลังยกขึ้นเป็นเมืองกาญจนดิษฐ

[๕] ใกล้บางสะพาน

[๖] ไทยพวกนี้คน ๑ ชื่อแท่น ภายหลังกลับมาได้เป็นหลวงแพ่งกรมการเมืองตรัง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ลงไปชำระผู้ร้ายเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ได้ความว่าสมคบผู้ร้าย แลสืบรู้เรื่องเก่า ให้ประหารชีวิตเสีย

[๗] ที่กรูตอยู่เหนือบางสะพาน

[๘] อ่าวแม่รำพึง อยู่เหนือบางสะพาน

[๙] พระองค์เจ้าชายศิริวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาเป็นกรนหมื่นมาตยาพิทักษ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑

[๑๐] เจ้าลายแขวงเพชรบุรี อยู่เหนือหัวหิน

[๑๑] แหลมปะทิว อยู่เหนือชุมพร

[๑๒] คือเกาะพงันนั่นเอง แต่ในครั้งนั้นจัดเป็นเมืองขึ้นไชยา

[๑๓] คุณพระนายศรีเสารักษ์ เข้าใจว่า คือจมื่นศรีสรรักษ์ (เอี่ยม) ต้นสกุลชูโต ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เป็นเจ้าพระยาพลเทพฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ