จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๙

๏ ข้าพเจ้าหลวงอุดมสมบัติ จดหมายมายังหลวงทิพอักษรเสมียนตรา ได้นำขึ้นกราบเรียนแต่ท้าวพระกรุณาเจ้าให้ทราบ ด้วยข้าพเจ้าได้จดหมายฝากออกมากับจมื่นอินทรเสนา ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำครั้ง ๑ รองศุภมาตราเพชรบุรี ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำครั้ง ๑ ขุนฤทธิรณไกรญวน ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำครั้ง ๑ หมื่นจงสรสิทธิตำรวจ ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำครั้ง ๑ หมื่นนิกรญวน ณ วันเดือน ๖ แรม ๗ ค่ำครั้ง ๑ นายโตนายหมวดกองญวน ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำครั้ง ๑ ขุนฤทธิรณไกรญวน ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำครั้ง ๑ เข้ากัน ๗ ครั้ง แจ้งอยู่แต่ก่อนนั้นแล้ว ๚

๏ ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ขึ้น ๑๑ ค่ำ หาได้ทรงพระราชดำริราชการเมืองไทร เมืองกลันตันไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์ กราบทูลว่า ท้าวพระกรุณามีหนังสือบอก ให้ขุนเทพอาญากรมการเมืองสงขลาถือเข้าไปว่า เรือนายทัพนายกองออกมาถึงตั้งแต่ ณ วันเดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ ไปจน ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๒ ค่ำอีก ๑๔ ลำ เข้ากันเก่าใหม่เป็นเรือออกมาถึงแล้ว ๔๐ ลำ คน ๓,๔๐๙ คน กับให้ขุนเทพอาญาคุมครัวพวกซึ่งไปเข้าด้วยกับพวกขบถเข้าไปชายหญิงใหญ่น้อย ๑๐๕ คน จึงทรงตรัสถามว่า ว่าความอะไรเข้าไปอีกด้วยหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่มีความอะไรหามิได้ ทรงตรัสว่า จนปานนี้แล้วเรือกองทัพยังไม่มาถึงหมดทีเดียวหนอ เป็นกระไร เรือเจ้าพระยายมราชไปถึงแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ยังไปไม่ถึงหามิได้ ทรงตรัสถามว่า มันเข้าไปพบเรือที่ไหนบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ขุนเทพอาญาเข้าไปนั้นไปลึก หาพบปะเรือกองทัพที่ไหนไม่ ไปถึงอ่าวเมืองชุมพรว่าพบเห็นเป็นเรือยาวแล่นไปลำ ๑ เห็นจะเป็นเรือจมื่นราชามาตย์ซึ่งออกมา ทรงตรัสว่า เป็นอย่างไรหนอจึงไม่ใคร่จะมาถึงหมดได้เลย จะยังอยู่ที่ไหนบ้างอย่างไรก็ไม่รู้ แล้วทรงตรัสถามว่า อยู่ดีอยู่ดอกหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ท้าวพระกรุณาอยู่ดีอยู่ ทรงตรัสถามว่า ครัวซึ่งเอาเข้าไปนั้นเป็นคนที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เป็นคนเมืองจะนะบ้าง เมืองเทพาบ้าง เมืองตานีบ้าง ว่าเป็นคนเมืองไทรก็มีบ้าง ทรงตรัสว่า เป็นคนเมืองไทรก็มีด้วยหรือ จำนวนคนเมืองไทรได้มาเท่าไร มีเป็นหางว่าวทำเป็นราย ๆ ส่งเข้าไปด้วยหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่มีหางว่าวส่งเข้าไปหามิได้ ถามขุนเทพอาญาว่า คนเมืองไทรก็มีเข้าไปอยู่บ้าง แต่หาทราบว่าเท่าไรไม่ รับสั่งว่า เอาหนังสือบอกมาว่าไปเถิด แลความข้างต้นหนังสือบอก ซึ่งยกเอาความเมืองกลันตันที่ให้ขุนสารวัดถือเข้าไปครั้งก่อนใส่ลงบอกเข้าไปนั้น เจ้าคุณหาบนสั่งไม่ให้อ่าน ให้หลวงทิพอักษรเสมียนตรากลาโหมวังหน้าอ่านถวายแต่ว่า ด้วยได้บอกให้ขุนสารวัดถือเข้าไปครั้งก่อนว่า พระยากลันตันมีหนังสือให้เจ๊ะยาปา เจ๊ะสเลหมัน มาขอกองทัพเจ้าพระยานครฯ กับได้ส่งคำแปลต้นหนังสือพระยากลันตัน แลต้นหนังสือซึ่งมีมาถึงพระยาสายทั้ง ๒ ฉบับแจ้งอยู่แต่ก่อนนั้นแล้ว ครั้นบอกให้ขุนสารวัดถือเข้าไปแล้ว เรือนายทัพนายกองออกมาถึงอีก แล้วอ่านตามหนังสือบอกซึ่งมีรายลำเข้าไป ครั้นอ่านไปถึงที่ข้อว่า เรือพระยาอภัยพิพิธ เรือพระรัตนโกษา ออกมาถึง ทรงตรัสว่า พึ่งออกมาถึงคราวนี้ดอกหรือ คิดว่าออกมาถึงเสียแต่ก่อนแล้วเล่า ครั้นอ่านหนังสือบอกถวายจบแล้ว ทรงตรัสถามว่า ครอบครัวที่เอาเข้าไปนั้น มาตามทางมันดีอยู่หมดหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เข้าไปตามทางป่วยตายเสีย ชายฉกรรจ์ ๑๙ คน ชายหญิงใหญ่น้อย ๕ คน เข้ากัน ๒๔ คน ทรงตรัสถามว่า มันป่วยอะไร มันป่วยอดฝิ่นดอกกระมัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ป่วยให้ลงไปด้วยอดฝิ่น ว่าคนที่เข้าไปรับพระราชทานฝิ่นเสียมาก ทรงตรัสว่า มันเป็นดงฝิ่นอยู่แล้วมันจะฟังหรือ แล้วทรงตรัสถามว่า คิดจัดแจงการอย่างไรบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ท้าวพระกรุณายังคอยเจ้าพระยายมราชอยู่ ถ้าเจ้าพระยายมราชออกมาถึงแล้ว จะยกลงไปเมืองไทร ทรงตรัสว่า ยกลงไปข้างไหน ต้องคิดการเมืองกลันตันเสียให้แล้วก่อนจึงจะไปได้ จะไปทิ้งเมืองกลันตันเสียนั้นจะได้หรือ แล้วทรงตรัสถามว่า คิดจัดแจงการข้างเมืองกลันตันอย่างไรบ้าง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ยังรอคอยฟังท้องตราอยู่ ทรงตรัสว่า จะคอยฟังท้องตรานั้นทางใกล้อยู่หรือ ทางก็ไกล กว่าจะออกมาถึงจะใคร่ทันการงานได้ที่ไหน เป็นกระไร เรือที่ให้ถือหนังสือออกมาด้วยการเมืองกลันตันนั้น ยังไม่มีใครมาถึงบ้างทีเดียวหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถามขุนเทพอาญาว่ายังไม่มีใครมาถึงหามิได้ ทรงตรัสว่า มีหนังสือให้ถือออกมาด้วยการเมืองกลันตันนั้น เรือหมื่นนิกรญวนก็ครั้ง ๑ เรือนายโตนายหมวดญวนก็ครั้ง ๑ เรือขุนสารวัดก็ครั้ง ๑ เป็น ๓ ครั้งแล้ว เรือที่มาก่อนปานนี้จะไม่ถึงบ้างทีเดียวหรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ปานนี้เห็นจะถึงบ้างแล้ว แล้วทรงตรัสถามขุนเทพอาญาว่า พวกนายทัพนายกองที่ออกมาถึงแล้ว อยู่ดีอยู่ด้วยกันหมดหรือ พระนรินทร์กราบทูลว่า อยู่ดีอยู่ด้วยกันหมดทั้งสิ้น ทรงตรัสถามว่า ข้าวปลาของมื้อซื้อกินมีบริบูรณ์อยู่หรือ พระนรินทร์กราบทูลว่า ข้าวนั้นก็มีพอเจือจานกันรับพระราชทานได้อยู่สัก ๕ เดือน แต่พลูนั้นซื้อขายกัน ๓ กำสลึง ทรงพระสรวล ตรัสกับเจ้าคุณหาบนว่า พลูข้างนอกก็แพงอยู่แล้ว ยังหาพลูฝากเข้าไปถวายเป็นกำนัลอีกเล่า แล้วทรงตรัสถามว่า ไพร่บ้านพลเมืองนั้นเป็นกระไร ออกมาอยู่ตามบ้านเรือนหมดแล้วหรือยัง พระนรินทร์กราบทูลว่า ออกมาอยู่ตามบ้านเรือนแล้วสักส่วน ๑ ยังสัก ๒ ส่วน ทรงตรัสว่า เป็นแขกหรือไทย พระนรินทร์กราบทูลว่า ไพร่บ้านพลเมือง ทรงตรัสว่า นอกอย่างทีเดียว ถามว่าแขกหรือไทย เอาไพร่บ้านพลเมืองอะไรมาว่า พระนรินทร์กราบทูลว่าเป็นไทย ทรงตรัสว่า ทำไมมันจึงไม่ใคร่เข้ามาอยู่ตามบ้านเรือนหมดได้เลย เห็นมันจะกลัวเอาตัวไปทัพ มันก็เที่ยวหลบหนีอยู่ในป่านั่นเอง เป็นกระไร ข้างแขกนั้นมาเข้าอยู่ตามบ้านเมืองหมดแล้วหรือยัง พระนรินทร์กราบทูลว่า ยัง ๒ ส่วน เข้ามาอยู่ตามบ้านเมืองแล้วสักส่วน ๑ ทรงตรัสว่า มันยังกลัวอะไรที่ไหนอยู่อีก จนป่านนี้แล้วยังไม่ใคร่เข้ามาอยู่ตามบ้านเมืองอีกเล่า จะพากันอดอยู่ในป่ายับเยินเสียนั่นเอง แล้วทรงตรัสถามว่า เป็นกระไร ข่าวดอกไม้เงินทองเมืองตรังกานูได้ความอย่างไรบ้าง พระนรินทร์กราบทูลว่า ดอกไม้เงินทองนั้นเอามาขึ้นไว้ที่เมืองสงขลาแล้ว แต่เครื่องราชบรรณาการนั้น ให้คนลงไปเตือนอยู่ ยังหากลับขึ้นมาไม่ ทรงตรัสว่า จนปานนี้แล้วมันจะมาเมื่อไรอีกเล่า แล้วรับสั่งสั่งพระยาราชสุภาวดีว่า ดูรับเอาจำนวนครอบครัวที่ส่งเข้าไป มอบให้พระยาราชวังสรรค์รับเอาไปพักไว้ที่ไหน แต่พอให้มันสบายก่อนเถิด จะเอาไปให้กับใคร่ได้ จะมีเข้าไปมากน้อยอย่างไรก็มอบให้เป็นบ่าวพระยาราชวังสรรค์หมดนั่นแหละ แล้วรับสั่งสั่งพระยาราชวังสรรค์ว่า ที่สุเหร่ามีกว้างขวางอยู่พอจะผ่อนพักไว้ได้ ก็รับเอาพักไว้พอให้มันสบายก่อนเถิด พระยาราชวังสรรค์กราบทูลว่า ที่สุเหร่าคลองนางหงษ์ก็กว้างขวางอยู่ พอจะพักอยู่ได้ รับสั่งว่า เออ เอาพักไว้ที่นี้ก่อนเถิด ที่มันไข้เจ็บอยู่ก็ดูขอหมอไปรักษาพยาบาลมันด้วย พระยาเทพกับพระยาราชวังสรรค์อุตส่าห์เอาใจใส่ดูแลเบิกข้าวปลาอาหารให้มันกิน อย่าให้มันอดอยากซวดโซได้ ถ้าข้างหน้ามีครอบครัวส่งข้าวไปอีกมากมายแล้ว จึงค่อยจัดแจงเอาตั้งที่แสนแสบข้างนอกทีเดียว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาค่ำ ทรงตรัสถามพระยาราชวังสรรค์ว่า จัดแจงรับเอาครัวขึ้นพักไว้หมดแล้วหรือ พระยาราชวังสรรค์กราบทูลว่า รับเอาขึ้นพักไว้แล้วเป็นชายฉกรรจ์ ๓๓ สำมะโนครัว ๔๘ เข้ากัน ๘๑ คน ป่วยตายเสียกลางทาง ชายฉกรรจ์ ๑๙ สำมะโนครัว ๕ เข้ากัน ๒๔ คน ทรงตรัสถามว่า มันยังป่วยเจ็บมีอยู่อีกบ้างฤๅไม่ พระยาราชวังสรรค์กราบทูลว่า ยังมีอยู่บ้าง รับสั่งว่าดูเอาใจใส่ขอหมอไปรักษาพยาบาลอย่าให้มันตายไปเสียได้ มันเป็นก็เพราะโทษมันอดฝิ่นนั่นแหละ ขอเอามูลฝิ่นไปเจือยาให้มันกินเข้าไปมันก็คงจะหายสิ้น แล้วทรงตรัสถามว่า มีเป็นคนเมืองไทรเข้ามาเท่าไร พระยาราชวังสรรค์กราบทูลว่า เป็นคนเมืองไทร ชายฉกรรจ์ ๓๕ ๔๕ คน เมืองตานี ชายฉกรรจ์ ๘ สำมะโนครัว ๘ ๑๖ คน เข้ากันชายฉกรรจ์ ๓๓ สำมะโนครัว ๔๘ ๘๑ คน รับสั่งว่าอุตส่าห์ดูแลรักษามันไว้ให้ดี ถ้ามีเข้าไปอีกมากมายแล้ว จึงจัดแจงให้ออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่นอกทีเดียว ๚

๏ ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ หาได้ทรงพระราชดำริราชการเมืองไทรเมืองกลันตันไม่ ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๗ แรม ๒ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ท้าวพระกรุณามีหนังสือบอกให้จีนถกถือเข้าไป ทรงตรัสถามว่า บอกเข้าไปด้วยราชการอะไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ด้วยราชการเมืองกลันตัน ทรงตรัสถามว่า เรือที่ให้ถือหนังสือออกมาด้วยการเมืองกลันตันนั้น ยังไม่มีใครถึงบ้างเลยหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ยังไม่มีใครถึงหามิได้ ทรงตรัสถามว่า บอกเข้าไปว่ากระไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า บอกเข้าไปว่า พระยากลันตันมีหนังสือให้เจ๊ะยาหลันมาขอกองทัพเจ้าพระยานครฯ อีก ว่าตุหวันหลงอาหลีซึ่งเป็นพี่น้องกับพระยากลันตันนั้น เป็นบุตรเขยพระยาบาโงย เมื่อครั้งพระยาบาโงยวิวาทกับพระยากลันตันครั้งก่อนนั้น ตุหวันหลงอาหลีคนนี้มาเข้าเป็นพวกอยู่กับพระยากลันตัน ครั้นวิวาทกันครั้งนี้ พระยากลันตันให้ไปตั้งรับอยู่ที่ปากน้ำ ก็พาแขกไพร่ไปเข้าเสียกับตนกูปสา พวกตนกูปสา พระยาบาโงยมาตั้งรักษาเอาปากน้ำไว้ได้ เมื่อเจ๊ะยาหลันมาจากกลันตันนั้น ต้องหลีกมาลงเรือที่บางน้ำเค็ม ว่า ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำนั้น กำปั่นหลวงสรเสนีเข้าไปถึงปากน้ำ เห็นพระยากลันตันให้ลงมารับแห่เอาหนังสือขึ้นไป แต่จะพูดจาว่ากล่าวกันอย่างไรหาทราบไม่ เจ๊ะยาหลันมาแต่ ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ ทรงตรัสว่า มันมาก็หวิดกันอยู่เท่านั้น หาไม่ก็จะรู้ความทีเดียว แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า พระพรหมธิบาลซึ่งไปหาเจ้าพระยานครฯ นั้นก็กลับมาถึงแล้ว ว่า เจ้าพระยานครฯ ว่า การข้างเมืองกลันตันนั้น ได้ไล่เลียงคนถือหนังสือพระยากลันตันแล้ว ว่ามีคนอยู่ถึงห้าพัน คำหาต้องกับหนังสือไม่ คนนครฯ ก็ลงไปอยู่แล้ว ถ้าการหนักแน่นประการใดก็คงจะมีหนังสือบอกมาถึงเจ้าพระยานครฯ แต่ที่พระยาบาโงย ตนกูปสา กับพระยากลันตันรบสู้กันนั้น เห็นจะหาสู้พระยากลันตันได้ไม่ ครั้นจะคิดให้กองทัพไปช่วย เกลือกพระยาบาโงยจะสะดุ้งตกใจกลัว หลบหนีไปแดนอังกฤษเสีย ก็จะเสียท่วงทีไป จะต้องคอยฟังหลวงสรเสนีกลับมาก่อนจึงจะคิดต่อไป ท้าวพระกรุณาเห็นว่าพระยากลันตันคับแคบอยู่ จะไว้ใจแก่ราชการมิได้ จัดให้พระยาเพชรบุรีคุมคน ๗๐๐ กับหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์คุมคนสงขลา ๓๐๐ ยกไป ณ เมืองสาย เมืองยะหริ่ง ฟังราชการเมืองกลันตัน จะได้ให้พระยาสายมีหนังสือไปว่ากล่าวห้ามปราม กับจะได้ชำระครัวซึ่งเข้ากับขบถที่เมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองตานีด้วย ทรงตรัสถามว่า กำหนดวันจะให้พระยาเพชรบุรีลงไปเมื่อไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่ได้บอกกำหนดวันเข้าไปหามิได้ ทรงตรัสว่า จะให้ยกลงไปอยู่เมืองสาย เมืองยะหริ่ง นั้น ทางก็ยังไกลกับเมืองกลันตันอยู่ถึงวันหนึ่งคืนหนึ่ง ห่างนักหนา ได้ยกเข้าไปให้ใกล้เข้ากว่านี้เห็นจะดีทีเดียว กิตติศัพท์จะได้เลื่องลือลงไปถึงเร็ว ๆ ได้ ถ้าการควรประการใด จะได้จัดแจงกันทำทันท่วงที เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถ้าพระยาเพชรบุรียกลงไปถึงเมืองสายแล้ว ก็เห็นจะทราบลงไปถึงเมืองกลันตัน ผู้คนที่เมืองกลันตันไปมาไม่ขาดหามิได้ ทรงตรัสว่าถ้าข่าวคราวมันเลื่องลือลงไปถึงได้ก็เห็นจะกลัว พอรั้งรอกันลงได้บ้าง แล้วเจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า การข้างเมืองไทร พระยาไทรก็บอกมาว่า ได้จัดเรือให้ลงไปที่เกาะนางกาวี กองทัพจุดเผาเรือพวกอ้ายหวันมาลีเสีย ว่าอ้ายหวันมาลีลงเรือหนีไปที่ท้ายเกาะ ๔ ลำ แต่อ้ายตนกูหมัดสอัดหนีไปอยู่ที่เมืองแประ ทรงตรัสถามว่า ครอบครัวที่เกาะนางกาวีได้มาหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่ว่าเข้ามาว่าได้หามิได้ ทรงตรัสว่า ที่สำคัญสิไม่ว่าเข้าไปเล่า เป็นกระไร เจ้าพระยานครฯ มาหาอยู่ที่สงขลาแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ให้พระเสนหามนตรีมาหาท้าวพระกรุณา มาถึงแต่วันพระพรหมธิบาลมาถึง พระยาพัทลุง[๑]มีหนังสือบอกตามมาว่า เจ้าพระยานครฯ ป่วยมากไป ให้อาเจียนเสมหะเหนียวปะทะหน้าอกให้หอบดังครืด ๆ มือเท้าเย็นไป เป็นมาแต่วันเดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ จนวันเดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ ยังไม่ถอยหามิได้ พระเสนหามนตรีกลับไปเมืองนครฯ แล้วทรงตรัสว่า เห็นโรคจะมากไปเพราะโทโส โกรธด้วยหนังสือที่ว่าถึงจะเขียนด้วยน้ำทองมาห้ามก็ไม่ฟังนั่นเอง ป่วยเจ็บลงอย่างนี้แล้วจะมาได้ที่ไหน การที่พูดจามากับพระพรหมธิบาลนั้น ฟังดูก็เป็นประมาทคิดผิดไปเสียหมดทั้งนั้น เป็นเหตุด้วยปล่อยพระยาบาโงยผิดไปเสียแต่เดิมแล้ว ก็คิดผิดไปหมดทีเดียว แล้วรับสั่งว่า เอาหนังสือบอกมาอ่านไปเถิด ครั้นหลวงสุรินทามาตย์อ่านไปถึงที่ข้อว่า คิดจัดให้พระยาเพชรบุรีคุมคนเพชรบุรีที่มาถึงแล้ว ๗๐๐ กับหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์คุมคนสงขลา ๓๐๐ ยกไปเมืองสายนั้นทรงตรัสถามว่า เจ้าพระยายมราชออกมาถึงแล้วหรือยัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ยังไม่ออกมาถึงหามิได้ ทรงตรัสว่าประหลาดนักหนาทีเดียว ไปอยู่ที่ไหนจึงไม่ใคร่จะมาถึงได้เลย เรือก็ไปถึงเกือบจะหมดอยู่แล้ว ยังไม่มาถึงอีกเล่า เป็นกระไร เมื่อจีนถกมันเข้าไปนั้นพบเรือที่ไหนบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เรือจีนถกเข้าไปนั้นไปลึก ไม่พบเรือที่ไหนหามิได้ ทรงตรัสว่า ฟังดูเป็นอัศจรรย์ไปทีเดียว แล้วทรงตรัสถามว่า บอกจำนวนเรือเข้าไปอีกหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่ได้บอกเข้าไปหามิได้ ทรงตรัสถามว่า ก่อนหน้าจีนถกเข้าไปในวันสองวันนั้น มีเรือมาถึงบ้างหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่าไม่มีหามิได้ ทรงตรัสว่า อย่างไรเรือเจ้าพระยายมราชจึงไม่มาถึงเข้าได้เลย เจ้าพระยานครฯ ก็ป่วยเสียแล้ว เจ้าพระยายมราชจึงไม่มาถึงเข้าได้ การข้างกลันตันก็ร้อนมากอยู่อย่างนี้ ดูเห็นจะวุ่นไขว่พะว้าพะวังอยู่นักหนาแล้ว ครั้นอ่านหนังสือบอกถวายจบแล้ว ทรงตรัสถามว่า เรือหลวงสรเสนีเข้าไปถึงแล้ว พวกตนกูปสา พระยาบาโงย จะกล้าเข้าทำเอาไทยทีเดียวหรือ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่ทำหามิได้ แต่คงจะรบสู้กับพระยากลันตัน หลวงสรเสนีจะว่ากล่าวห้ามปรามนั้นเห็นจะไม่ฟัง ทรงตรัสว่า เรือเจ๊ะยาหลันที่ถือหนังสือพระยากลันตันมานั้น มันมาก็เร็วไปเสีย ถ้ามาช้าอยู่หน่อยก็คงจะรู้ความเป็นแน่ได้ เป็นกระไรหนอ ได้พูดจาว่ากล่าวกันเข้าแล้วจะรั้งรอลง แต่พอให้กองทัพพระยาเพชรบุรีลงไปถึงเมืองสายได้ ก็เห็นจะไม่เป็นไรทีเดียว ครั้นอ่านต้นหนังสือหลวงราชเมธาจบแล้ว ทรงตรัสว่า เจ้าพระยานครฯ คิดการมาให้ประมาทช้าไปเสียแล้ว ถ้าคิดมาให้ยกกองทัพลงไปสักสี่ร้อยห้าร้อยเสียแต่แรก การก็พอจะว่ากล่าวกลัวเกรงรั้งรอลงได้บ้าง อย่างนี้จะคิดการต่อไปจะทันท่วงทีที่ไหน ถ้าหลวงสรเสนีพูดจาว่ากล่าวมันรั้งรอลงได้ ก็เห็นการจะไม่เป็นไร ถ้ามันไม่ฟังแล้ว การที่จะจัดแจงยกลงไปก็หาทันไม่ ครั้นอ่านหนังสือพระยากลันตันถวายจบลง ทรงตรัสว่า ฟังดูว่ากล่าวมานั้นดูเป็นสิ้นสติอยู่แล้ว ครั้นอ่านคำให้การจบแล้ว ทรงตรัสว่า คนข้างพระยากลันตันก็มีพรรคพวกพี่น้องอยู่แต่ ๔ คนเท่านั้น จะไปสู้รบกับมันได้ที่ไหน ดูคับแคบตัวเต็มทีนักหนา จะคอยให้เจ้าพระยานครฯ มาช่วยคิดการเล่า ก็เจ็บป่วยไปเสียแล้ว แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า เร่งมีหนังสือออกมามอบการกับกองทัพใหญ่ทีเดียวเถิด อย่างไร ๆ ก็สุดแต่กองทัพใหญ่คิดจัดแจงทำไป อย่าให้เมืองกลันตันหลุดลอยไปอื่นได้นั้นเลย ถ้าเห็นการว่าคิดไประงับว่ากล่าวไม่ทัน ตนกูปสา พระยาบาโงย ชนะพระยากลันตันได้บ้านเมืองแล้ว ตนกูปสาตั้งตัวเป็นใหญ่ หรือพี่น้องผู้ใดจะตั้งตัวเป็นใหญ่มาเข้าหา ก็คิดประจบลูบไล้พาเอาตัวเข้าไป จะได้ทรงตั้งแต่งต่อไปใหม่ ถ้าพวกพี่น้องจะตั้งให้พระยาบาโงยเป็นใหญ่ พระยาบาโงยเป็นคนผิด ก็เห็นจะชักชวนกันไปอื่นไม่เข้าหา ถ้าไม่อ่อนน้อมเข้าหาแล้ว ก็ยกทัพใหญ่ลงไปตีเอาเมืองกลันตันคืนมาให้จงได้ ถึงอ้ายพวกแขกที่พิสูตร[๒]ที่เมืองตรังกานูมันจะมาช่วยกันต้านทานก็ยกกองทัพทุ่มเทตีเลยลงไปเอาเมืองตรังกานูทีเดียว คิดขอแรงเอาแขก ๙ หัวเมืองมาช่วย กับคนสงขลาบรรจบกองทัพกรุงฯ ยกลงไปรํ่าเอาให้ยับเยินจนได้ ถ้าเห็นว่าคนน้อยไม่พอทำ ก็ให้คิดแต่รักษาคุมท่วงทีไว้ให้มั่นคงก่อน เร่งบอกเข้าไป จะได้ให้กองทัพยกเพิ่มเติมออกมา แลการข้างเมืองไทรนั้น ก็ให้คิดจัดกองทัพเมืองนครฯ, เมืองพัทลุง, รักษาไว้ให้เป็นที่มั่นจงได้ อย่าให้เป็นเหตุการณ์ลุกลามต่อไป กองทัพกรุงฯ จะยกล่วงถลำลงไปข้างเมืองไทรบ้างแล้ว พระยาเสนาภูเบศร์จะมาอยู่ที่ไหน การควรจะชักถอนประการใด ก็สุดแต่คิดให้เป็นที่ชัยชำนะแก่การทั้ง ๒ ข้างนั้นเถิด พระยาราชสุภาวดีกราบทูลว่า การเมืองกลันตันนั้นต้องยกกองทัพลงไป ถ้าไม่อ่อนน้อมเข้าหาแล้ว ก็ยกเข้าตีเสียทีเดียว แต่คิดด้วยเกล้าฯ เห็นว่า ตนกูปสา, พระยาบาโงย, ได้เมืองกลันตันแล้ว ก็เห็นจะไม่ทิ้งภูมิลำเนาหามิได้ คงจะคิดเข้าหา ทรงตรัสว่า ทรงคิดก็เห็นว่ามันจะเข้าหา ถ้ามันไม่เข้าหาแล้วก็ตีเอาจนได้ ว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ถ้าไม่เข้าหาแล้วก็ต้องเร่งตีเสียเมื่อยังกำลังตั้งตัวอย่างนี้จึงจะทำได้ง่าย แต่ตนกูปสา, พระยาบาโงย, เห็นจะคิดเข้าหา ทำนองพระยาบาโงยจะถือว่าวิวาทกันครั้งก่อนนั้นพวกพระยากลันตันมากจึงชนะ ได้เป็นพระยากลันตัน ครั้งนี้พระยาบาโงยมีพวกมากกว่า ก็คงจะทำให้ชนะพระยากลันตัน ทรงตรัสว่า ถ้ามันเข้าหาก็คิดจัดการไปตามการ ถ้าไม่เข้าหาแล้ว ก็ยกไปตีเอาเมื่อกำลังอย่างนี้แล้วได้เร็วทีเดียว มันจะเอากระสุนดินดำที่ไหนมาสู้รบทัน มันสู้รบกันมาก็นานแล้ว จะไม่หมดลงบ้างหรือ แล้วรับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า จะทรงพระราชดำริออกมาอย่างไรทางก็ไกลหาทันกับการไม่ ทำหนังสือว่าออกมาเร็ว ๆ อย่างนี้เถิด แล้วคิดปรึกษาหารือเจ้าพระยาบดินทรเดชาดู จะจัดแจงเห็นการอย่างไรบ้างก็คิดจัดแจงกันเข้า ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๗ แรม ๓ ค่ำ เพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างหนังสือซึ่งจะตอบออกมา ครั้นนายบริบาลอ่านถวายไปถึงที่ข้อว่า เจ้าพระยานครฯ ป่วยอาการโรคกำเริบกล้าขึ้นนั้น รับสั่งว่าเติมความว่าลงอีกสักหน่อยเถิด ว่าลงว่า ทรงพระวิตกอยู่ด้วยอาการเจ้าพระยานครฯ นักหนา จะเป็นมากมายประการใด เจ้าพระยานครฯ ก็ยังหาได้บอกเข้าไปให้ทรงทราบไม่ เอาพระทัยช่วยทรงคอยฟังอาการโรคเจ้าพระยานครฯ อยู่ ครั้นแก้หนังสือถวายจบแล้ว รับสั่งให้กลับอ่านไปที่ข้อเมืองไทรอีก ครั้นอ่านไปสิ้นข้อเมืองไทรแล้ว รับสั่งกับเจ้าคุณหาบนว่า ความที่เมืองไทรนั้นยังไม่ได้ว่ากล่าวออกมาเลย ทรงคิด ๆ ดูการข้างเมืองไทรเล่าก็ยังไม่เรียบร้อยเป็นที่ไว้ใจได้ ตนกูหมัดสอัดก็หนีไปรวบรวมผู้คนอยู่ที่แประ ครอบครัวที่เมืองไทรก็ยังไม่ได้จัดแจง กองทัพใหญ่ยกออกมาก็รู้อยู่แล้วว่าจะมาจัดแจงครอบครัว ถ้ามันรู้ว่ากองทัพใหญ่ยกไปข้างเมืองกลันตันเสียแล้ว อ้ายตนกูหมัดสอัดมันรู้ มันแต่งให้มาเกลี้ยกล่อมครอบครัวกลับพากันดุร้ายกำเริบขึ้นการจะเป็นไปอีก จะประมาทไว้ใจแก่การหาได้ไม่ ถ้ามันเป็นขึ้นอย่างนี้ได้สิเสียทีทีเดียว จะไว้ใจแต่ทัพเมืองนครฯ นั้นก็ไม่ได้ เจ้าพระยานครฯ ก็ป่วยเจ็บลงอย่างนี้ อาการจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่ทรงทราบ ถ้าอาการมากมายลงแล้ว อยู่แต่พวกลูกเต้าเหล่านั้น ถ้ามีการขึ้นจะคิดกดผู้คนรักษาไว้เป็นที่มั่นที่ไหน ต่างคนต่างก็จะมาเสียเท่านั้นเอง จะมารบวิวาทกัน ตัดสินไม่ไหวเสียอีก คิดว่ากล่าวเติมความเมืองไทรลงให้ดีอีกสักหน่อยเถิด การต้องเป็นสองอย่างสองธุระอย่างนี้ เห็นจะวุ่นไขว่อยู่นักหนาทีเดียว เป็นเคราะห์เป็นกรรมแล้วจะทำอย่างไรได้ ต้องคิดให้เป็นที่มั่นไว้ชัยชำนะทั้ง ๒ อย่างให้จงได้ ว่าไปอย่างนี้แหละ ว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง จะคิดเอาทัพกรุงฯ เข้าคลุกปนเสียกับทัพนครฯ, ทัพพัทลุง รักษาข้างด้านเมืองไทรไว้ เห็นจะเป็นที่มั่นคงได้ดีหรืออย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า คิดคลุกปนเข้าได้เห็นจะดี รับสั่งว่า เห็นดีด้วยกันอย่างนั้นแล้ว ก็ว่าหารือออกไปเถิด จะเอาพระยาเสนาภูเบศร์หรือใครก็ตามใจ สุดแต่คิดรักษารับรองไว้ให้เป็นที่มั่นคงจงได้ แต่ข้างเมืองกลันตันนั้นจะให้เจ้าพระยายมราชกับพระยาเพชรบุรียกลงไปทำ ก็เห็นจะได้โดยง่าย ด้วยตนกูปสา, พระยาบาโงย, ยังหาทันตั้งตัวได้ไม่ ผู้คนก็ยังกำลังบอบชํ้าอิดโรยอยู่ รบสู้กันมาก็นาน ปืนใหญ่น้อยกระสุนดินดำ เสบียงอาหาร จะมีอยู่ได้สักเท่าไรนักหนา ก็คงจะขัดสนลงหมด ถึงจะรวบรวมเอาคนเหล่านั้นมาสู้รบ ก็ยังหาได้พรักพร้อมไม่ ถ้ายกกองทัพรีบลงไปแล้ว ทำเอาได้โดยง่ายทีเดียว คิดว่ากล่าวอย่างไร ๆ ใส่ลงบ้าง แก้หนังสือเสียอีกสักเวลาหนึ่งเถิด แล้วทรงตรัสถามว่า ปรึกษาหารือกันกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นการอย่างไรบ้างเล่า เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาว่าการมากมายอยู่ เป็นการต้องคิดทั้ง ๒ ทาง จะไว้ใจแก่การหาได้ไม่ ทรงตรัสว่าทรงเห็นอย่างนั้น การข้างเมืองไทรนั้นสำคัญอยู่ ต้องคิดรักษาระวังให้มั่นคงจงจะได้ ทรงคิดจะใคร่ให้กองทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่สงขลาแต่สักสี่ร้อยห้าร้อยเท่านั้นอย่างมาก คอยฟังราชการอยู่ทั้ง ๒ ข้าง ถ้าข้างไหนหนักแน่นประการใด จะได้ผ่อนปรนไปช่วยกันทุ่มเททำให้ทันท่วงที อย่างนี้ดีหรือว่ากระไรเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า กองทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองสงขลานั้นดี การข้างเมืองไทรก็จะมั่นคงเป็นที่ไว้วางใจได้ รับสั่งว่า เห็นอย่างนั้นก็ว่ากล่าวเป็นหารือไปให้หมดนั่นแหละ สุดแต่ให้คิดจัดแจงไปตามควรนั้นเถิด คิดจำนวนคนนครฯ คนพัทลุง คนสงขลา คน ๙ หัวเมือง มาบรรจบกับทัพกรุงฯ รวบรวมกันเข้า แบ่งออกทำเป็น ๒ พวกจะพอทำหรือไม่พอ ถ้าไม่พอก็เร่งบอกเข้าไป จะได้ให้กองทัพยกเพิ่มเติมออกมา แล้วรับสั่งให้พระยาพิพัฒน์ไปเฝ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์[๓] ทูลเตือนให้นายงานเร่งทำกำปั่นพุทธอำนาจ กำปั่นราชฤทธิให้แล้วโดยเร็ว จะได้ให้กองทัพลงกำปั่น ยกเพิ่มเติมออกมาช่วยกันทำทั้งทัพบกทัพเรือ เอาเมืองกลันตันคืนให้จงได้ ทัพเรือเอากำปั่นลงไปปิดปากน้ำไว้ ทัพบกก็ยกลงไปกระทำให้สามารถเข้าอย่างนี้จะมาสู้รบได้ที่ไหน คิดจับเอาตัวพระยาบาโงยเสียให้จงได้ การก็จะแล้วกันเท่านั้น ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ เพลาเช้า ทรงตรัสกับเจ้าคุณผู้ใหญ่ว่า เจ้าพระยานครฯ ว่ากล่าวมาด้วยการเมืองกลันตันกับพระพรหมธิบาลนั้น จะพาให้ประมาทเสียทีเดียว นี่ว่าคิดร้อนเร็วอยู่ไม่ประมาท ให้หลวงสรเสนีลงไป การจึงเป็นท่วงทีค่อยฟังได้บ้าง ซึ่งจัดให้พระยาเพชรบุรียกลงไป กับให้หลวงพิทักษ์นทีตามไปทางเรือนั้นก็ชอบถูกอยู่แล้ว แต่ว่าจะได้ลงไปเร็วไปช้าอย่างไรก็ไม่ทรงทราบ ถ้าได้ยกลงไปเร็วแล้ว การก็เห็นจะไม่เป็นไรนัก โดยจะคิดทำเอาเมืองกลันตันก็ทำง่ายกว่าข้างเมืองไทร ด้วยว่ายังกำลังจะตั้งตัวขึ้นใหม่อยู่ หายากหนักแรงไพร่พลไม่ หรือว่ากระไรเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าคุณผู้ใหญ่กราบทูลว่า การครั้งนี้เหมือนหนึ่งคิดรักษาฝีทั้ง ๒ ศีรษะ ฝีศีรษะหนึ่งพึ่งจะตั้งขึ้นใหม่ ถ้ารักษาแต่ยังอ่อนอยู่ก็พอจะหายเร็วได้ แลฝีศีรษะหนึ่งนั้นเป็นฝีชํ้าชอกมานาน รักษาหาใคร่จะหายไม่ ทรงพระสรวลตรัสว่า อย่างนั้นสิ การข้างเมืองไทรสำคัญมากอยู่ ต้องคิดรักษาเสมอไว้ให้มั่นคงจึงจะได้ การข้างเมืองกลันตันก็เร่งคิดรักษาทำไปให้ทันท่วงที ก็เห็นจะหายง่ายกว่าการข้างเมืองไทร ถึงตนกูปสา, พระยาบาโงย, ชนะพระยากลันตันแล้วตั้งตัวเป็นใหญ่ไม่เข้าหาแล้วก็ดี พวกพระยากลันตันก็ยังมีอยู่ถึง ๔ คน พระยากลันตันหรือใครก็คงจะหนีมาได้บ้างสักคนหนึ่ง ถ้าพระยากลันตันหนีมาหา ได้พาเอาตัวเข้ากองทัพยกลงไป พวกสีตวันกรมการพี่น้องก็จะมาเข้าหาหมดสิ้น คิดทำเอาได้ง่ายทีเดียว แล้ว ทรงตรัสถามพระยาพิพัฒน์ว่า ได้ไปเร่งให้ทำกำปั่นแล้วหรือ พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ไปทูลแล้วว่ากำปั่นพุทธอำนาจเห็นจะทำไม่ทัน จะทันแต่กำปั่นราชฤทธิลำ ๑ รับสั่งสั่งเจ้าคุณหาบนว่า ดูคิดจัดแจงเอากำปั่นกับเรืออะไรสัก ๓ ลำ ๔ ลำ ปรึกษาหารือกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา พระยาราชสุภาวดี จะเอาใคร เอาคนที่ไหนบ้างให้ออกมา ก็คิดเกณฑ์เตรียมไว้เถิด แล้วรับสั่งว่า เอาพระยาราชวังสรรค์ให้เป็นแม่ทัพออกมาช่วยนั่นแหละ ไม่มีใครจะออกมาแล้ว หาคนอะไรใส่เข้าด้วย ดูเอาข้าวปลาลงบรรทุกออกมาส่งด้วยทีเดียว เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า รับพระราชทานคิดไว้จะเอามอญสัก ๗๐๐ อาสาจาม ๓๐๐ ลงกำปั่นราชฤทธิลำ ๑ กำปั่นวิทยาคมลำ ๑ เรือมัจฉาณุลำ ๑ สามลำด้วยกัน รับสั่งว่า ดูเร่งจัดแจงกันเข้าเถิด จะได้ออกมาช่วยเร็ว ๆ แล้วรับสั่งว่า เอาหลวงโกชาอิศหากให้ออกมาใช้ในเร็วๆ ก่อนอีกสักคน ๑ เถิด การข้างเมืองกลันตันรู้จักแขกเหรื่ออยู่มาก แล้วก็เป็นที่นับถือพวกกลันตันอยู่ จะได้ใช้สอยไปพูดจาการงานต่อไป ให้ออกมาก่อนกับเรือพวกสงขลานั้นเถิด ๚

๏ ครั้นเพลาค่ำ เจ้าคุณหาบนกราบทูลถวายร่างหนังสือซึ่งโปรดให้แก้ ที่จะให้ขุนสารวัดถือมา ครั้นอ่านถวายไปถึงที่ข้อดำเนินรับสั่งว่า เจ้าพระยานครฯ คิดอย่างนี้ เหมือนหนึ่งจะมาให้มีความประมาท ถ้าคิดมาว่าให้ยกกองทัพลงไปบ้างอย่างนี้ก็จะดี การก็พอจะรั้งรอลงได้บ้าง ทรงพระสรวลตรัสว่า ว่ากล่าวฟังความดูหมดจดนักหนา ครั้นอ่านถวายต่อไป ก็เป็นแต่ทรงแก้เพิ่มเติมบ้างเล็กน้อย หาได้ทรงแก้เติมความประการใดไม่ ครั้นอ่านถวายจบแล้ว รับสั่งให้อ่านอีกครั้ง ๑ ครั้นจบลงทรงตรัสว่า อร่อยนักหนา ดีแล้ว เอาส่งให้มันเร่งออกมาเถิด แลกระแสซึ่งทรงพระราชดำริราชการเมืองไทรเมืองกลันตันนั้น มีข้อความถ้วนถี่ประการใด ก็แจ้งมาในท้องตราซึ่งมีออกมาทุกประการแล้ว ครั้นถวายร่างหนังสือแล้ว ทรงตรัสถามว่า จะให้ใครถือหนังสือออกมา เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า จะให้ขุนสารวัดญวนจันทบุรีที่เข้าไป ถือหนังสือกลับออกมา แต่หลวงโกชาอิศหากนั้นจะได้ออกมากับเรือพวกสงขลา ณ วันเดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ รับสั่งว่าให้มันเร่งถือออกมาให้ถึงเสียเร็ว ๆ จะได้คิดการงานไปทันท่วงที แล้วรับสั่งสั่งพระยาพิพัฒน์ว่า ดูขอเสื้อให้หลวงโกชาอิศหากกับขุนสารวัดคนละตัว ขุนสารวัดมันก็เป็นคนเหน็ดเหนื่อยอยู่ จะได้มีใจรีบออกมาถึงโดยเร็ว ๚

๏ ครั้น ณ วันเดือน ๗ แรม ๘ ค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณหาบนสั่งให้พระนรินทร์พาขุนสารวัดเข้าเฝ้ากราบทูลลา พระราชทานเสื้อแล้วรับสั่งว่า ให้มันเร่งออกมาถึงเสียเร็วๆ ให้จงได้ แล้วทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบนว่า เป็นกระไร มันว่าจะมาสักกี่วันจะให้ถึงเมืองสงขลา เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ขุนสารวัดว่าจะมา ๑๓ วันให้ถึงเมืองสงขลา รับสั่งว่าเออ ให้มันรีบไปให้ถึงใน ๑๓ วันให้จงได้ แล้วทรงตรัสถามหลวงโกชาอิศหากว่า จะได้ออกมาเมื่อไร หลวงโกชาอิศหากกราบทูลว่า จะได้กราบถวายบังคมลาออกมา ณ วันเดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ รับสั่งว่า เป็นคนเข้าใจการกลันตันอยู่มาก พวกกลันตันก็นับถืออยู่แล้ว ออกมาเถิด การควรจะให้ไปพูดจาว่ากล่าวประการใด จะได้ใช้สอยให้ไปพูดจาบ้าง ๚

๏ แลพระกระแสพระราชดำริซึ่งทรงตรัส กับข้อความในบอกนั้น ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานจดหมายออกมาแต่ก่อน เก่าใหม่เข้ากันทั้งครั้งนี้เป็น ๘ ครั้ง ตามได้รับพระราชทานฟัง ข้อความจะขาดผิดเพี้ยนควรมิควรประการใด รับพระราชทานพระเดชพระคุณแล้วแต่จะโปรด ข้าพเจ้าเข้าไปคอยฟังเสมออยู่ทุกเพลา จดหมายมา ณ วันเดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ ปีกุนเอกศก (จุลศักราช ๑๒๐๑ พ.ศ. ๒๓๘๒) ๚



[๑] พระยาพัทลุงคนนี้ เป็นบุตรคนใหญ่ของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ภายหลังเอาเข้ามาเป็นพระยาอุไทยธรรม ถึงรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นเจ้าพระยามหาศิริธรรมฯ ผู้รักษากรุงเก่า

[๒] แขกเรียกเบสูด แขวงตรังกานู

[๓] คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ