คำนำ
ในงานพระเมรุท้องสนามหลวง พุทธศักราช ๒๔๙๓ สำนักพระราชวังแจ้งพระบัญชา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เมื่อทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงมอบภาระการเลือกและการพิมพ์หนังสือสำหรับพระราชทานแจกงานพระบรมศพและพระศพทุกงานมาให้กรมศิลปากรจัดทูลเกล้าฯ ถวาย กรมศิลปากรได้เลือกเรื่องสำหรับพิมพ์ในงานพระบรมศพและพระศพแต่ละงานดังนี้ คือ
๑. งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พิมพ์เรื่องพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒. งานพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พิมพ์พระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าและพระราชกระแสเรื่องจัดการทหารมณฑลกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๕
๓. งานพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พิมพ์เรื่องพระราชลัญจกรและตราประจำตัวประจำตำแหน่ง ซึ่งพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เรียบเรียง
๔. งานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พิมพ์ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ ภาคปกิณณกะ
๕. งานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย พิมพ์เรื่องตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา กับพระวิจารณ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ
เรื่องที่พิมพ์ในสมุดนี้ คือเรื่องตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา กับพระวิจารณ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ตัวเรื่องตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักนั้น ได้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ อยู่ในชุดลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายตำนานของหนังสือนี้ไว้เมื่อพิมพ์คราวนั้นว่า
“เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ หนังสือตำหรับตำราในราชการเป็นอันตรายหายศูนย์ไปเสียเกือบหมด เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีวิธีพิมพ์หนังสือไทย หนังสือทั้งปวงเป็นแต่เขียนไว้อย่างละฉะบับสองฉะบับ เมื่อประเทศสยามกลับตั้งราชาธิปไตยเป็นอิสสระขึ้นอีก ขาดตำหรับตำราในพระราชสำนัก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้ข้าราชการซึ่งเป็นผู้รู้แบบแผนขนบธรรมเนียมครั้งกรุงศรีอยุธยา ประชุมกันแต่งตำราในพระราชสำนักขึ้นใหม่ การที่แต่งนั้นอย่างใดมีกิจต้องการก็แต่งฉะเพาะเรื่องนั้นก่อน เมื่อครั้งกรุงธนบุรีปรากฏว่าได้ทำตำราขึ้นใหม่ไม่กี่เรื่อง มาแต่งมากเมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ ๒ ดูเหมือนจะหมดตัวข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยาเพียงในรัชกาลที่ ๒ จึงมิได้ปรากฏฉะบับตำหรับตำราครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแต่งภายหลังรัชกาลที่ ๒ มา แม้ตำหรับตำราซึ่งได้แต่งขึ้นดังกล่าวมานั้นก็กระจัดกระจายไม่มีแห่งใดที่ได้รวบรวมไว้ได้ทั้งหมด เมื่อตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนครขึ้นแต่ พ.ศ.๒๔๔๘ เสาะหาหนังสือเก่ามารวบรวมก็ได้ตำราเหล่านั้นมาทีละเรื่องสองเรื่อง ได้เรื่องใดมาก็พิมพ์ไป เพื่อจะรักษาฉะบับไว้มิให้ศูนย์เสีย เรื่องจึงแยกย้ายกันดังกล่าวมาข้างต้น
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ มีผู้ได้พระตำราทรงเครื่องต้นครั้งกรุงศรีอยุธยานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฉะบับมายังหอพระสมุดฯ อีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังไม่เคยพิมพ์ พึ่งจะได้พิมพ์ในสมุดเล่มนี้เป็นครั้งแรก ตำหรับตำราในพระราชสำนักซึ่งแต่งขึ้นเมื่อครั้งกรุงธนบุรีและรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังไม่ได้ฉะบับมาไว้ในหอพระสมุดฯ ก็เห็นจะยังมีอีก ถึงกระนั้นเพียงเท่าที่ได้มาแล้วและรวมพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ ก็เชื่อได้ว่าบรรดาผู้ศึกษาโบราณคดีคงจะพอใจอ่านไม่เว้นตัว” ดังนี้
ส่วนพระวิจารณ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ทรงนิพนธ์ในระหว่างประทับอยู่ที่ปีนัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ความมุ่งหมายของพระองค์ท่าน ทรงจำนงเขียนเป็นร่างถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เพื่อทรงตรวจแก้ไขทักท้วงที่พลาดพลั้งบกพร่องหรือแทรกแซมเพิ่มเติมให้ดีขึ้น ได้ทรงนิพนธ์ส่งมาถวายเป็นคราวๆ รวมหลายคราว แต่น่าเสียดายที่ทรงนิพนธ์ค้างอยู่บางเรื่อง ยังหาจบบริบูรณ์ทุกเรื่องไม่ ถึงกระนั้นเท่าที่ทรงนิพนธ์ไว้แล้วก็มีประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้สนใจในวิชาโบราณคดีเป็นอันมาก
ขอพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญเป็นส่วนบรมวงศญาติสังคหธรรมนี้ จงเป็นผลสำเร็จแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย ตามควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพ ทุกประการ.
กรมศิลปากร
๑๑ เมษายน ๒๔๙๓