วิจารณ์ขนบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา

ตามตำราที่ปรากฏในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑๙

พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

๑. วินิจฉัยลักษณะการตั้งตำราขนบธรรมเนียม

ในเรื่องพงศาวดารปรากฏว่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พะม่า หนังสือตำรับตำราราชการบ้านเมืองที่มีอยู่ในหอหลวงสำหรับพระนครเป็นอันตรายหายศูนย์ไปหมด เพราะฉะนั้นเมื่อกู้บ้านเมืองกลับเป็นอิสสระได้แล้ว จึงต้องสร้างตำราขนบธรรมเนียมราชการบ้านเมืองให้มีเหมือนดังแต่ก่อน ด้วยใช้วิธี ๒ อย่าง คือ อย่าง ๑ ให้เที่ยวเสาะหาสำเนาตำหรับตำราของเดิมที่ยังมีกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมืองรวมเอามาเรียบเรียงตรวจชำระตั้งเป็นตำรา ในจำพวกนี้มีหนังสือพระไตรปิฎกและกฎหมายฉะบับพิมพ์ ๒ เล่มสมุดเป็นตัวอย่าง อีกอย่าง ๑ อาศัยไต่ถามผู้ที่เคยทำราชการครั้งกรุงศรีอยุธยารู้เห็นขนบธรรมเนียมเอาคำชี้แจงของผู้รู้เหล่านั้นมาตรวจชำระแล้วตั้งเป็นตำราขึ้น เช่นตำราที่พิมพ์ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑๙ นี้เป็นตัวอย่าง แต่ที่รวมพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ฉะเพาะตำราขนบธรรมเนียมในราชสำนักซึ่งหอพระสมุดฯ ได้ฉะบับเขียนมาแต่ที่ต่าง ๆ ฉะบับเดิมแยกกันเป็น ๔ เรื่อง คือ

เรื่องที่ ๑ ตำรากระบวนเสด็จประพาส (ซึ่งพิมพ์ไว้ข้างตอนต้น) ตำรานี้แต่งในสมัยกรุงธนบุรี มีบาญแพนกว่า

“วันศุกร์ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวด โทศก (พ.ศ.๒๓๒๓) เจ้าพระยาจักรี ฯ รับสั่งใส่เกล้าสั่งว่า ขนบธรรมเนียมราชการทุกวันนี้ฟั่นเฟือน ให้ (มีรายชื่อข้าราชการ คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยาราชาบริรักษ์ เจ้าพระยาราชนายกเป็นต้น กับพระยา พระ หลวง หมื่น พัน อีกหลายคนตลอดจน “นายหงส์ เสมียนนครบาลแต่ก่อน” เป็นที่สุด รวมจำนวน) “คนเก่า ๒๐ คน” มาพร้อมกัน ณ โรงพระแก้วมรกต บอกขนบธรรมเนียมราชการตามอย่างแต่ก่อน” ดังนี้

เรื่องที่ ๒ ตำราหน้าที่ราชการในราชสำนัก ซึ่งพิมพ์เป็นตอนที่ ๒ หมดเพียงหน้าที่กรมวัง เรื่องนี้ฉะบับที่ได้มาไม่มีบาญแพนกปรากฏว่าแต่งเมื่อใดหรือใครเป็นผู้แต่ง ถึงกระนั้นมีเค้าเงื่อนในรูปความ กับทั้งที่ใช้คำเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “ของหลวง” เหมือนกับในตำราเรื่องที่ ๑ น่าสันนิษฐานว่าแต่งคราวเดียวกัน และคนแต่งคงอยู่ในพวก “คนเก่า” ที่แต่งตำราเรื่องที่ ๑

เรื่องที่ ๓ ตำราพิธีราชาภิเษกซึ่งพิมพ์อยู่ในตอนที่ ๒ (หน้า ๕๕) แต่งในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร มีบาญแพนกว่า

“วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๒๖ ภายหลังแต่งตำราเรื่องที่ ๑ สามปี) เจ้าพระยาเพ็ชรพิชัย เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระยาราชสงคราม พระยาอุทัยมนตรี นั่งพร้อมกันแต่งกฎหมายซึ่งทำการพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งในหลวงวัดประดู่ (พึงสังเกตว่าเลิกใช้คำ “ของหลวง” เปลี่ยนเป็น “ในหลวง”) ไว้สำหรับหอหลวงฉะบับ ๑” ดังนี้

เรื่องที่ ๔ ตำราทรงเครื่องต้น ซึ่งพิมพ์ไว้ข้างท้ายตอนที่ ๒ ตำรานี้ลี้ลับอยู่ช้านาน เพิ่งมาปรากฏเมื่อรัชกาลที่ ๗ ด้วยคุณแววข้าหลวงเดิม ซึ่งเป็นภรรยาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุญยรัตพันธ์) นำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแก่หอพระสมุดฯ แม้ไม่มีบาญแพนกหรือชื่อผู้แต่ง ก็เห็นได้ว่าคงแต่งเมื่อรัชกาลที่ ๑ และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) คงได้เกี่ยวข้องในการแต่งตำราเรื่องนี้ หนังสือจึงตกอยู่ในสกุลบุญยรัตพันธ์ต่อมาจนถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก) ผู้เป็นเหลน

พิเคราะห์ขนบธรรมเนียมซึ่งเอามาแต่งตำราต่างๆ ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ดูเหมือนตั้งใจจะเอาระเบียบครั้งรัชกาลพระจ้าบรมโกศ (ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๗๕ จน พ.ศ. ๒๓๐๑) ซึ่งมักเรียกกันว่า “ครั้งบ้านเมืองดี” มาตั้งเป็นตำราทั้งนั้น เห็นได้ชัดแห่งหนึ่งตอนว่าด้วยกระบวนเสด็จขึ้นไปพระพุทธบาท กล่าวถึงกระบวนพระประเทียบออกพระนามกรมหลวงพิพิธมนตรี พระมเหสีของพระเจ้าบรมโกศ (ที่หน้า ๒๕) แต่มีคำ “คนเก่า” ที่แต่งตำราบอกออกตัวไว้ในบาญแพนก เรื่องที่ ๑ ว่า “ว่าตามที่จำได้” เพราะฉะนั้นตำราต่าง ๆ ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ พึงเข้าใจได้ว่าแต่งตามความรู้เห็นของ “คนเก่า” ทั้งนั้น ตำราจำพวกนี้ยังมีขนบธรรมเนียมอย่างอื่นที่ตั้งขึ้นตามความรู้เห็นของ “คนเก่า” ปรากฏอยู่อีกหลายเรื่อง แต่มิได้เอามารวมพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เพราะเป็นตำราการต่างประเภทกัน

๒. วินิจฉัยเนื่องด้วยเรื่องพงศาวดาร

ในบานแพนกเรื่องที่ ๑ มีความควรกล่าวอธิบายโดยฉะเพาะ ๓ ข้อ ข้อที่ ๑ คือ ที่ปรากฏว่าแต่งตำรานั้นเมื่อ ปีชวด โทศก พ.ศ. ๒๓๒๓ ก่อนสิ้นรัชกาลกรุงธนบุรีเพียง ๓ ปี ข้อนี้เห็นว่าคงเป็นเพราะสมัยตอนต้นรัชกาลกรุงธนบุรีต้องทำศึกสงครามมิใคร่ว่าง ไม่มีโอกาสที่จะคิดแต่งตำหรับตำราจึงรอมาจนปลายรัชกาล

ข้อที่ ๒ คำที่อ้างในกระแสรับสั่งว่า “ขนบธรรมเนียมราชการทุกวันนี้ฟั่นเฟือน” ความส่อว่าเพิ่งแรกมีตำราขนบธรรมเนียมขึ้นในปีนั้น จึงเป็นปัญหาว่าก่อนนั้นมาตลอดเวลา ๑๒ ปีใช้อะไรเป็นแบบแผนขนบธรรมเนียมในสมัยกรุงธนบุรี ข้อนี้คิดเห็นว่า ในชั้นก่อนตั้งตำรา เวลาจะทำการพระราชพิธีอันใดหรือจะจัดกระบวนเสด็จประพาส คงให้ข้าราชการเก่าที่มีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงวังแต่งหมายรับสั่งฉะเพาะเรื่อง แล้วใช้หมายรับสั่งนั้นเป็นแบบเวลามีงานอย่างนั้นภายหลังสืบมา ส่วนหน้าที่ข้าราชการในราชสำนักนั้นในชั้นแรกก็คงทำตามความรู้เห็นคุ้นเคยของ “คนเก่า” ที่มามีตำแหน่งเป็นหัวหน้ารับราชการในกรมนั้น ๆ หรือที่ดำรัสสั่งตามชอบพระราชหฤทัยถือเป็นแบบมา แบบแผนตามมีหมายรับสั่งคงยังบกพร่องมากจึงโปรดฯ ให้ประชุม “คนเก่า” แต่งตำราเหมือนกับทำ “ประมวล” ขนบธรรมเนียมตั้งเป็นยุติ และใช้โครงการตามตำรานี้ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทรโดยมาก เป็นแต่แก้ไขรายการมาโดยลำดับ

ข้อที่ ๓ เจ้าพระยาจักรีผู้รับสั่ง ซึ่งปรากฏในบาญแพนกเรื่องที่ ๑ นั้น ศักราช ปีชวด พ.ศ. ๒๓๒๓ บ่งว่า คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลานั้นเลื่อนพระยศขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแล้ว เหตุใดจึงยังใช้พระนามว่าเจ้าพระยาจักรี ข้อนี้ตามประเพณีโบราณ (อันเห็นได้ในกฎหมายทำเนียบศักดินา) ข้าราชการรับราชทินนามกับตำแหน่งรวมกันเป็นต้นว่า ถ้าใครเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็ได้ราชทินนามว่า “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิรีย์ปรากรมพาหุ” เรียกกันโดยย่อว่า “เจ้าพระยาจักรี” เสนาบดีกระทรวงอื่นก็เป็นทำนองเดียวกัน ตามประเพณีนี้มีประโยชน์ที่คนทั้งหลายเข้าใจง่าย แม้เรียกแต่ว่า “เจ้าพระยาจักรี” คนก็เข้าใจว่าเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย หรือเรียกว่าเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็รู้ว่าชื่อเจ้าพระยาจักรีดังนี้ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะเป็นตั้งแต่รัชกาลไหนและเพราะเหตุใดไม่ทราบแน่ พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งราชทินนามเสนาบดีบางคนผิดกับนามในทำเนียบ ตรวจดูในหนังสือพระราชพงศาวดารพบในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศทรงตั้งหลวงจ่าแสนยากรเป็นเจ้าพระยาอภัยมนตรี ที่สมุหนายก เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคน ๑ กับตั้งพระยาราชสุภาวดีเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา สมุหนายก เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอีกคน ๑ พิเคราะห์ดูน่าจะเกิดความลำบากขึ้น เพราะคนอยู่ตามหัวเมืองห่างไกลจะพากันฉงนสนเท่ห์ ด้วยเคยเข้าใจกันมาช้านานว่า เจ้าพระยาจักรีเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพราะเหตุนั้นจึงตั้งพระราชบัญญัติว่า ถึงเสนาบดีมีราชทินนามนอกทำเนียบ ก็ให้คงใช้นามตามทำเนียบเดิมในบัตรหมาย หรือท้องตราที่ตนเป็นผู้รับพระราชโองการ ถึงครั้งกรุงธนบุรีสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งบัญชาการกระทรวงมหาดไทย จึงใช้นามเจ้าพระยาจักรีในบาญแพนก ประเพณีตามพระราชบัญญัตินั้นยังใช้ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร ซึ่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีราชทินนามนอกทำเนียบทุกคน และเป็นเจ้านายก็มี ถ้ามีสารตรารับพระราชโองการต้องใช้นามว่าเจ้าพระยาจักรีเป็นนิจมาทุกรัชกาล มีกรณีประหลาดในเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับตัวฉันเอง จะเล่าพอให้เห็นเป็นอุทาหรณ์ ครั้งหนึ่งในเวลาฉันไปเที่ยวตรวจราชการอยู่หัวเมืองไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้หา ครั้งนั้นพระยาราชวรานุกูล (อ่วม) ปลัดทูลฉลองเป็นผู้รักษาการแทนฉันอยู่ในกรุงเทพฯ มีตรารับสั่งให้หาส่งตามไป ในตรานั้นขึ้นว่า “สารตราเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิรีย์ปรากรมพาหุ ทูลมายังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย” ดังนี้ถูกต้องตามแบบ แต่ประหลาดฉะเพาะกรณีนี้ ที่เจ้าพระยาจักรีฯ ที่สมุหนายกกับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยดูเป็นต่างคนกัน หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งเสมือนเจ้าพระยาจักรีหาได้ว่ากระทรวงมหาดไทยไม่ กรณีเช่นนี้แต่ก่อนก็เห็นจะมี ดังเช่นเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาไปทำสงครามอยู่เมืองเขมร พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) รับพระราชโองการสั่งราชการไปยังเจ้าพระยาบดินทรเดชา ก็เห็นจะเขียนแบบนี้.

๓. ว่าด้วยกระบวนเสด็จประพาส

ตำราในสมุดเล่มนี้ตั้งต้นด้วยลักษณะการเสด็จประพาสอย่าง “มิได้ประทับแรม” หมายความว่าเสด็จประพาสแล้วกลับพระราชวังในวันนั้นเอง พรรณนาลักษณะกระบวนต่างกันเป็น ๔ อย่าง คือ กระบวนเสด็จ “ทางชลมารค” (ไปทางลำน้ำ) อย่าง ๑ เสด็จไปทางบกด้วย “กระบวนราบ” (เดินเท้า) อย่าง ๑ ด้วยกระบวนช้าง อย่าง ๑ ด้วยกระบวนม้า อย่าง ๑ กระบวนแต่ละอย่างที่พรรณนาในตำรานี้ เห็นว่าจะเป็นอย่างเต็มตำรา เพราะจำนวนผู้คนและพาหนะที่กำหนดมากมาย การแห่เสด็จเต็มตำราอย่างว่านี้นานๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง เช่นเสด็จไปพระราชทานพระกฐินเป็นต้น ถ้าเสด็จไปทางใกล้ๆ หรือเป็นการด่วนมีเวลาตระเตรียมน้อย หรือที่สุดจะเสด็จประพาสอย่าง “เที่ยวเล่น” ก็คงลดกระบวนให้น้อยลงตามสะดวกและตามพระราชอัธยาศัย กระบวนแห่เสด็จทางบก ๓ อย่างนั้นสันนิษฐานว่า ถ้าเสด็จไปไหนใกล้ๆ คงใช้กระบวนราบ ถ้าเสด็จไปทางไกลหรือเสด็จไปในเวลามืดค่ำ (เช่นสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าที่เทวสถาน ดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร) เสด็จกระบวนช้าง ถ้าเป็นการเสด็จไปอย่างปัจจุบันทันด่วนก็ทรงม้า ยังมีตำรากระบวนแห่เสด็จครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งกระบวนทางบกและทางน้ำเป็นกระบวนใหญ่ยิ่งกว่าตำราที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ปรากฏอยู่อีก เรียกว่า “กระบวนพยุหยาตรา” ดังกระบวน “เพ็ชรพวง” ซึ่งมีตำราเขียนเป็นรูปภาพไว้ และกระบวนแห่เสด็จเลียบพระนครในงานราชาภิเษก (ตำราเหล่านี้มีอยู่ในหอพระสมุดฯ) กระบวนแห่พยุหยาตราอย่างใหญ่นั้นคนมากตั้ง ๑๐,๐๐๐ จัด “ริ้ว” กระบวนย่อมาจากเสด็จไปการสงคราม มิใช่สำหรับเสด็จประพาสโดยปกติ

ตำราเสด็จประพาสที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ใช้เป็นแบบแผนในกรุงรัตนโกสินทรต่อมา เป็นแต่แก้ไขลดหย่อนหรือเปลี่ยนแปลงบ้างตามกาลเทศะ เพราะฉะนั้นในวินิจฉัยรายการที่จะกล่าวต่อไป จะเป็นแต่บอกอธิบายบางอย่างให้อ่านตำราในสมุดเล่มนี้เข้าใจชัดขึ้น

๔. ลักษณะกะเกณฑ์กระบวนแห่

การกะเกณฑ์กระบวนแห่เสด็จ ตามประเพณีแต่โบราณมามีหลักดังนี้ คือ พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปไหน ดำรัสสั่งเจ้ากระทรวงวัง หรือถ้าเป็นการด่วนก็ดำรัสสั่งมหาดเล็กหรือใครอื่นที่อยู่รับใช้ใกล้พระองค์เป็น “ผู้รับสั่ง” ไปบอกกระทรวงวัง เจ้าพนักงานกระทรวงวังเขียนบัตรหมายเรียกว่า “หมายรับสั่ง” ส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยหัวหน้าฝ่ายพลเรือนฉะบับ ๑ กระทรวงกลาโหมหัวหน้าฝ่ายทหารฉะบับ ๑ กระทรวงทั้ง ๒ นั้นแยกรายการตามหน้าที่กรมต่างๆ เขียนบัตรหมายย่อยเรียกว่า “ตัดหมาย” สั่งกะเกณฑ์ไปยังกรมนั้นๆ (หมายรับสั่งเช่นว่ามีตัวอย่างอยู่ในหอพระสมุด ฯ ในพวกหนังสือเขียนกระดาษเพลาหรือสมุดดำ ที่ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย) ในกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมมีหัวพันกับนายเวรเป็นพนักงานตัดหมายและออกหมายย่อยกระทรวงละ ๔ เวร กำหนดหน้าที่ต่างกันตามประเภทการ กระทรวงมหาดไทยพันพาณุราชเป็นหัวหน้า นายแกว่นคชสารนายเวรเป็นพนักงานสั่งเกณฑ์ช้าง พันเภาว์อัศวราชกับนายควรรู้อัศวเป็นพนักงานสั่งเกณฑ์ม้า พันจันทนุมาสกับนายชำนาญกระบวนเป็นพนักงานสั่งสำหรับทำทาง พันพุฒอนุราชกับนายรัดตรวจพลเป็นพนังานสั่งเกณฑ์คน กระทรวงกลาโหมพันพรหมราชกับนายฤทธิรงค์อาวุธเป็นพนักงานสั่งจ่ายเครื่องสรรพยุทธ พันทิพราชกับนายวิสูทธมณเฑียรเป็นพนักงานสั่งทำตำหนักพลับพลาและฉนวนน้ำ พันเทพราชกับนายจำเนียรสารพลเป็นพนักงานสั่งเกณฑ์คน ถึงเวลาจัดกระบวนหัวพัน ๘ คนนั้นมีหน้าที่เป็นผู้ตรวจกระบวนที่เกี่ยวกับหน้าที่แผนกของตนด้วย จึงมีชื่อในตำราที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้

๕. กระบวนแห่เสด็จทางชลมารค

กระบวนแห่เสด็จทางชลมารคใช้ “เรือยาว ” อย่างโบราณ ยังใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทรจนรัชกาลที่ ๗ คนชั้นหลังได้เห็นรูปและลักษณะเรือยาวแบบต่าง ๆ อย่างโบราณอยู่โดยมาก ไม่ต้องพรรณนาลักษณะเรือให้ยืดยาว เรือยาวสำหรับแห่เสด็จพระเจ้าแผ่นดิน เรือหลวงมี ๒ ประเภท ประเภท ๑ เป็นเรือสำหรับกระบวนพยุหยาตรา เช่นเรือพระที่นั่ง “กิ่ง” (มีเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์เป็นต้น) ตั้งบุษบก (ในกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรว่า ตั้งราชคฤหจตุรมุข และกันยาก็มี) เป็นที่ประทับที่กลางลำ และเรือ “เอกชัย” เรือ “รูปสัตว์” ซึ่งเป็นกระบวนนำ อีกประเภท ๑ เป็นเรือสำหรับเสด็จทางชลมารคอย่างสามัญ มีเรือพระที่นั่ง “ศรี” พระที่นั่ง “กราบ” มีกันยาเป็นที่ประทับ กับเรือดั้ง เรือกราบแห่เสด็จ เช่นที่พรรณนาในสมุดเล่มนี้ กระบวนแห่เสด็จทางชลมารคในสมัยกรุงรัตนโกสินทรก็คงอย่างแบบเก่าเหมือนกับเช่นว่าในตำรานี้โดยมาก แต่มีที่ผิดกันบางแห่ง จะกล่าววินิจฉัยแต่ข้อที่ผิดกัน ลำดับตามหน้าสมุดลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๙ ฉะบับหอพระสมุดฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐

หน้า ๒ ที่เรียกเรือพระที่นั่งว่า “ศรีสักหลาด” คำนี้ (ในหนังสือพงศาวดารก็ใช้) หมายความอย่างไร (เรืออย่างนี้เรียกกันในชั้นหลังแต่ว่า “เรือศรี” มีเค้าเงื่อนว่าเป็นแบบเรือขอมแต่โบราณ เรือใช้กันในลำน้ำเมืองเสียมราฐก็ยังทำรูปหัวเรืออย่างเรือศรีอยู่จนบัดนี้ แม้เรือกิ่งก็เป็นแบบเรือขอม ด้วยมีลายจำหลักรูปเรือปรากฏอยู่ที่ปราสาทหินบายนหรือนครวัดแห่งใดแห่งหนึ่ง) เหตุใดจึงมีคำ “สักหลาด” อยู่ข้างท้าย ถ้าหมายความว่าเพราะดาดหลังคากันยาด้วยสักหลาดไซร้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็น่าจะมี “เรือศรี” อีกชะนิดหนึ่งซึ่งหลังคากันยาเป็นแต่กะแชงไม่ใช้สักหลาดดาด ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทรให้ดาดหลังคากันยาเรือศรีด้วยสักหลาดทุกลำ จึงงดคำสักหลาดคงเรียกแต่ว่าเรือศรี

หน้า ๓ (แต่บรรทัดที่ ๑ จนบรรทัดที่ ๗) ว่าด้วยข้าราชการที่มีตำแหน่งลงเรือพระที่นั่ง ความที่เขียนในตำรานี้ ว่าหัวหมื่นหรือนายเวรมหาดเล็กคน ๑ กับกำนันพระแสงปืนต้นคน ๑ “ลงหน้าเรือพระที่นั่ง” เทียบกับประเพณีชั้นหลัง (เมื่อฉันเป็นราชองครักษ์ในรัชกาลที่ ๕ เคยลงเรือพระที่นั่งตามเสด็จไปกฐินหลายปี) ราชองครักษ์กับจางวางหัวหมื่นมหาดเล็ก ๔ คน ลงเรือพระที่นั่งนั่งเฝ้าอยู่ในกันยา กำนันพระแสงปืนต้นอยู่นอกม่านข้างหน้ากันยา แต่ข้างนอกกันยาท้ายเรือพระที่นั่งฉันไม่ได้เอาใจใส่พิจารณา แต่คาดจำนวนว่าราว ๔ คน มีอาลักษณ์ด้วยคน ๑ ที่กล่าวในตำราว่ามีแต่มหาดเล็กคน ๑ กับภูษามาลาคน ๑ และ ๒ คนนั้นต้องพายเรือด้วย ชวนให้เข้าใจว่าเรือพระที่นั่งศรีสักหลาดครั้งกรุงศรีอยุธยาขนาดจะย่อมมาก

หน้า ๓ (แต่บรรทัดที่ ๘ จนบรรทัดที่ ๑๐) กล่าวถึงเรือพระที่นั่งเรียกว่า “ทองแขวนฟ้า” ๒ ลำ เป็นเรือ “บ้านใหม่ขึ้นหลวงสุเรนทรนุชิต” ลำ ๑ เป็นเรือ (บ้าน) “โพธิเรียงขึ้นหลวงอภัยเสนา” ลำ ๑ ก็ในกระบวนเสด็จมีเรือพระที่นั่งศรีสักหลาดเป็นลำทรงลำ ๑ และเป็นพระที่นั่งรองลำ ๑ แล้ว เหตุใดจึงมีเรือพระที่นั่งที่เรียกว่าทองแขวนฟ้านำอีก ๒ ลำ อธิบายข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในกระบวนแห่เสด็จทางน้ำในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ มีเรือนำหน้าเรือพระที่นั่งลำทรง ๒ ลำ แต่เรียกว่าเรือ “ดั้งคู่ชัก” (หมายความว่าสำหรับจูงเรือพระที่นั่ง) มีชื่อฉะเพาะลำว่า “เรือทองขวานฟ้า” ลำ ๑ พลพายใช้คนชาวบ้านใหม่ และขึ้นอยู่ในหลวงสุเรนทรนุชิต อีกลำ ๑ ชื่อว่า “เรือทองบ้าบิ่น” ชาวบ้านโพธิเรียงเป็นพลพายขึ้นอยู่ในหลวงอภัยเสนา ตรงกับในตำราครั้งกรุงศรีอยุธยาทุกอย่าง ผิดกันแต่ในตำรานี้ว่าเป็น “เรือพระที่นั่ง” ตามแบบชั้นหลังว่าเป็น “เรือดั้งคู่ชัก” รูปเรือก็เป็นอย่างเรือศรีเหมือนเรือดั้งทั้งปวง ผิดกันแต่เรือคู่ชักหัวท้ายปิดทองห้อยพู่สีแดงและสักหลาดดาดหลังคากันยาปักลายทองเต็มทั้งผืน แต่เรือดั้งสามัญหัวท้ายไม่ปิดทองห้อยพู่สีขาว กับสักหลาดดาดหลังคากันยาปักทองแต่เป็นขอบ ฉันเคยได้ยินคนชั้นเก่าเขาเล่าให้ฟัง ว่าเรือดั้งคู่ชักนั้นมีสิทธิผิดกับเรืออื่นที่แห่เสด็จ เพราะเรือพระที่นั่งพลพายย่อมคัดเลือกแต่ที่มีกำลังพายเรือแล่นเร็ว และพายทนกว่าคนพายเรืออื่น เรือดั้งคู่ชักต้องพายนำให้เร็วทันหนีเรือพระที่นั่ง ถ้าหากจะหนีไม่พ้น พอหัวเรือพระที่นั่งเกี่ยวแนวท้ายเรือคู่ชักเข้าไป เรียกกันว่า “เข้าดั้ง” เรือคู่ชักก็ใช้อุบายแกล้งคัดเรือให้ใกล้กันจนช่องน้ำแคบเรือพระที่นั่งไม่สามารถจะพายแทรกกลางแข่งขึ้นไปได้ ฉันได้เคยเห็นเองครั้งหนึ่งเมื่อเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จไปทอดกฐินวัดเฉลิมพระเกียรติ วันนั้นทรงเรือพระที่นั่งกราบแล่นเร็วกว่าเรือศรีเพราะระยะทางไกล ขากลับพวกพลพายอยากรีบกลับด้วยกันทั้งนั้น เรือพระที่นั่งพายไล่เรือคู่ชักทัน ถูกเรือคู่ชักปิดช่องต้องรอเรือพระที่นั่ง ดูเป็นการสนุกสนานคล้ายกับเรือดั้งคู่ชักชะนะกีฬา แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระสรวล สิทธิของเรือดั้งคู่ชักเช่นว่ามานี้เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เหตุที่เลือกฉะเพาะชาวบ้านใหม่และโพธิเรียงเป็นฝีพายเรือคู่ชักนั้น ก็น่าจะเป็นด้วยพวกชาวบ้านทั้ง ๒ นั้นชำนาญการพายเรือ จึงให้เป็นพลพายเรือดั้งคู่ชัก คงเลือกสรรกันมาทุกคราว แต่ข้อที่ในตำราเรียกว่า “เรือพระที่นั่ง” และเรียกชื่อว่า “เรือทองแขวนฟ้า” เหมือนกันทั้ง ๒ ลำนั้น คิดไม่เห็นว่าจะเป็นเพราะเหตุใด จะว่า “คนเก่า” ที่บอกตำราเข้าใจผิดก็ไม่มีหลักที่จะอ้างคัดค้าน ได้แต่ลองเดาเรื่องเรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้า ๒ ลำตามเค้าที่มีในเรื่องพงศาวดารว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเรือเร็วไล่ตามเรือสำเภาพระยาจีนจันตุที่จะหนีไปเมืองเขมร เสด็จไปทันที่ปากน้ำเจ้าพระยา ทรงยิงพระแสงปืนต่อสู้กับพวกพระยาจีนจันตุ จนสำเภาได้ลมแล่นใบออกทะเล เรือพระที่นั่งจะตามออกไปไม่ได้จึงเสด็จกลับ อีกครั้งหนึ่งเมื่อต่อสู้กองทัพเชียงใหม่ที่ตำบลป่าโมกน้อย สมเด็จพระนเรศวรฯ กับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเรือพระองค์ละลำยิงพระแสงปืนรบข้าศึกซึ่งอยู่บนบก สมเด็จพระเอกาทศรถเห็นลูกปืนข้าศึกยิงเรือสมเด็จพระเชษฐาหนามาก จึงเอาเรือลำที่ทรงเองเข้าบังเรือพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวร ความในเรื่องพงศาวดารตอนที่ว่านี้ส่อให้เห็นว่าน่าจะมีเรือเร็วเป็นเรือพระที่นั่งสำหรับทรงเวลาเสด็จเข้ารบพุ่งเอง และมี ๒ ลำ ในเวลาออกปล้นค่ายข้าศึกเมื่อพระเจ้าหงสาวดีมาล้อมกรุง ก็เห็นจะทรงเรือเร็วอย่างนี้ “อาจจะให้เรียกเรือแขวนฟ้า” (หมายความว่าเร็วเหมือนบินในอากาศ) ครั้นเสร็จสมัยมหาสงครามแล้วจึงให้ปิดทองตกแต่งให้งดงามเอาเข้านำหน้าเรือพระที่นั่งลำทรงในกระบวนแห่เสด็จทางชลมารค จึงเรียกเรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้าทั้งคู่ แล้วเลยใช้เป็นแบบต่อมาในรัชกาลอื่นเมื่อภายหลัง แต่จะเปลี่ยนเป็นเรือดั้งคู่ชักมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาหรือมาเปลี่ยนต่อภายหลังรู้ไม่ได้ ที่ว่ามานี้โดยเดาทั้งนั้น อาจจะผิดก็เป็นได้.

การเกณฑ์คนพายเรือดังกล่าวในตำรานี้ เกณฑ์แต่สำหรับพายเรือบางประเภท เรือประเภทอื่นนอกจากนั้นไม่กล่าวถึงเกณฑ์พลพาย ข้อนี้มีอธิบายดังจะกล่าวต่อไป คือมี “กรมฝีพาย” ไว้สำหรับพายเรือพระที่นั่งกรม ๑ จะเสด็จทรงเรือเมื่อใด หรือจะมีเรือพระที่นั่งเข้ากระบวนแห่เสด็จสักกี่ลำ ให้คนกรมฝีพายเป็นพลพายทั้งนั้น เจ้ากรมฝีพายเป็นผู้สั่งเรียกคน แต่เรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้าทั้งคู่นั้นกลาโหมสั่งเกณฑ์พลพาย ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า “เมื่อครั้งบ้านเมืองดี” เรือทองแขวนฟ้าก็เป็นอย่างเรือดั้งคู่ชัก ที่เรียกว่าเรือพระที่นั่ง และเกณฑ์ชาวบ้านใหม่กับชาวบ้านโพธิเรียงเป็นพลพาย เป็นแต่รักษาประเพณีเดิมไว้มิให้ศูนย์เสีย ที่แท้หาได้นับว่าเรือทองแขวนฟ้าเป็นเรือพระที่นั่งไม่ เรืออย่างอื่นที่สั่งเกณฑ์พลพายเช่นเรือประเทียบและเรือดั้งเป็นต้น เป็นแต่เรือหลวงสำหรับใช้ราชการไม่มีพลพายไว้ประจำ จะใช้เมื่อใดจึงต้องกะเกณฑ์คนกรมอื่นๆ มาพาย แต่เรือเจ้านายที่เป็นกรมก็ดี เรือข้าราชการที่เป็นหัวหน้ากรมต่างๆ ก็ดี เรียกคนในกรมของตนเองลงเป็นพลพาย จึงไม่มีรายการเกณฑ์ในตำรา ฉันได้เคยประสบประเพณีที่ว่านี้ด้วยตนเองครั้งหนึ่ง เมื่อปีแรกฉันได้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พอใกล้กำหนดพระกฐิน เจ้าพนักงานในกระทรวงเขามาเสนอว่า คนสำหรับพายเรือฉันตามเสด็จกฐินมาถึงแล้ว ฉันยังไม่รู้ขนบธรรมเนียมเรื่องนั้น ถามเขาๆ บอกว่าตามประเพณีแต่ก่อนมา “เลก ๔ สระ” (คือคนพวกที่กำหนดไว้เป็นพนักงานสำหรับรักษาสระน้ำสรงมุรธาภิเษก เรียกว่าสระเกษ สระแก้ว สระ (คง) คา สระยมนา ที่เมืองสุพรรณ) มีหน้าที่สำหรับพายเรือเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตามเสด็จด้วย ถึงปีจึงเรียกระดมเลกพวกนั้นเข้ามาพายเรือ (ดูเหมือนปีละ ๑๕ วัน) และในระหว่างวันว่างพายเรือ เสนาบดีจะใช้สอยคนพวกนั้นก็ได้ เป็นขนบธรรมเนียมมาช้านาน ฉันได้คนพวกนั้นพายเรือตามเสด็จกฐินอยู่หน่อยหนึ่งก็เลิก แต่ไม่เคยเอาไปใช้สอยที่บ้านเรือน

หน้า ๔ (แต่บรรทัดที่ ๕ ถึงบรรทัดที่ ๑๘) พรรณนาริ้วและข้าราชการที่เข้ากระบวนแห่เสด็จ สังเกตดูเป็นอย่างเดียวกันกับในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ แต่มีผิดกันเป็นข้อสำคัญบางแห่ง คือ

เรือนำกระบวนกล่าวในตำรานี้ว่ามี ๒ ลำ คือ เรือหลวงราชนิกูล (ปลัดทูลฉลอง) มหาดไทยลำ ๑ เรือเจ้ากรมหรือปลัดกรมตำรวจลำ ๑ ริ้วกระบวนในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ มีเรือ “ประตูหน้า” คู่ ๑ พระยาราชนิกูลปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยลงลำ ๑ พระยาเทพอรชุนปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหมลงลำ ๑ ข้างท้ายกระบวนตามเรือพระที่นั่งก็มีเรือประตูอีกคู่หนึ่ง เรียกว่า “เรือประตูหลัง” พระยาศรีสหเทพปลัดบัญชีมหาดไทยลงลำ ๑ พระยานรินทรราชเสนีปลัดบัญชีกลาโหมลงลำ ๑ ที่ในตำรานี้มีแต่เรือหลวงราชนิกูลฝ่ายมหาดไทยนำลำเดียว ไม่กล่าวถึงเรือฝ่ายกลาโหมด้วยนั้นเห็นว่าผิดเป็นแน่ อาจจะเป็นเพราะเสมียนเขียนคัดตกก็เป็นได้ ที่จริงชั้นเดิมเห็นจะมีเรือปลัดทูลฉลองกลาโหมเป็นประตูหน้าคู่กับเรือปลัดทูลฉลองมหาดไทย หรือมิฉะนั้นเรือปลัดทูลฉลองกลาโหมก็เป็นประตูหลัง แต่ในตำรานี้ไม่กล่าวถึงทีเดียว แม้ในกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ (กุ้ง) แต่งในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ตอนพรรณนาเรือรูปสัตว์ก็ว่ามี “เรือม้า” อันเป็นรูปตราปลัดทูลฉลองมหาดไทย และ “เรือเลียงผา” อันเป็นรูปตราปลัดทูลฉลองกลาโหมในกระบวนแห่เสด็จ อีกข้อหนึ่ง ความที่พรรณนาในตำรานี้ขาด “เรือกลอง” นำเสด็จ เรือนั้นเจ้ากรมอาสา ๖ เหล่าลงคน ๑ พายสายกลางไปข้างหน้าเรือดั้งคู่ชัก มีคนตีกลองแขกคู่เข้ากับเพลงปี่ชะวาบรรเลงไปในเวลาแห่เสด็จ เมื่อถึงที่ประทับ เรือกลองต้องลอยลำถวายเสียงอยู่กลางน้ำตรงเรือพระที่นั่งจนเสด็จขึ้นบกแล้วจึงหยุด เรือกลองที่ว่านี้น่าจะมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เหตุใด “คนเก่า” จึงไม่กล่าวในตำรา จะว่าลืมทั้ง ๒๐ คนก็จะมิใช่เหตุ บางทีจะมีเรือกลองนำต่อในการเต็มยศ เช่นเสด็จไปพระราชทานพระกฐิน ไม่มีในการประพาสสามัญ จึงไม่กล่าวถึง

หน้า ๔ (บรรทัดที่ ๑๙) ว่าเรือเจ้านายและเรือขุนนางจะพายล่วงเรือตำรวจและกรมวังขึ้นไปไม่ได้ ข้อนี้เป็นมูลที่มีเรือประตูหลังเป็นเขตต์กระบวนหลวง ต่อหมดกระบวนหลวงแล้วเรือเจ้านายต่างกรมและเรือเสนาบดีที่ตามเสด็จจึงพายเรียงลำตามกันต่อไป

หน้า ๕ (บรรทัดที่ ๑) เรือที่เรียกว่า “เรือใช้” นั้น เป็นเรือขนาดย่อมไม่มีกันยา พลพายราว ๑๐ คน สำหรับรับใช้ไปกิจการเบ็ดเตล็ดต่างๆ ในเวลาเสด็จประพาส

หน้า ๕ (แต่บรรทัดที่ ๑๐ จนหน้า ๖ บรรทัดที่ ๓) ว่าด้วยล้อมวงบนบก ณ ที่ประทับเมื่อเสด็จประพาส ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทรก็เป็นอย่างนี้ จนมีทหารอย่างยุโรปและตำรวจ (โปลิศ) เป็นกรมขึ้น จึงเลิกแบบล้อมวงอย่างเก่าที่กล่าวในตำรานี้ ใช้ทหารกับตำรวจล้อมวง

หน้า ๖ (แต่บรรทัดที่ ๔ จนบรรทัดที่ ๑๗) ว่าด้วยกระบวนเสด็จอย่างที่มี “ข้างใน” (คือผู้หญิง) ไปตามเสด็จด้วยนั้น ดูเป็นการประพาสอย่างฝรั่งเรียกว่า “ปิกนิค” เช่นประพาสทุ่งหรือเสด็จจากพระนครศรีอยุธยาลงมาประพาสที่เกาะบางปะอินเป็นต้น เพิ่มเรือประเทียบ “กราบม่านใหญ่” สำหรับนางในไปในนั้น ๒ ลำ ถ้ามีเรือพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระยาว์ยังไม่ได้ตั้งกรมตามเสด็จ มีเรือฝ่ายมหาดไทยลำ ๑ ฝ่ายกลาโหมลำ ๑ สำหรับ “ชัก” (คือว่าจูง) เรือพระราชกุมารตามเสด็จ ข้อนี้ความส่อว่าแม้เรือพระที่นั่งลำทรง บางเวลาก็คงให้เรือดั้งคู่ในจูงจึงเรียกว่า “เรือคู่ชัก” จะเป็นในเวลาบรรทมมิให้เรือสะเทือนหรืออย่างไรสงสัยอยู่ นอกจากนั้นยังมีเรือ “คฤหสองตอน” คือเรือยาวตั้งคฤหสองตอนแทนกันยา เป็นเรือเครื่องตามในกระบวนอีก ๕ ลำ เป็นเรือเครื่องสรงลำ ๑ เรือพระภูษาลำ ๑ เรืองานใช้ (คือคนรับใช้) ลำ ๑ เรือเครื่องเสวย ๒ ลำ

กระบวนแห่เสด็จประพาสอย่างมีข้างในตามแบบโบราณดังว่านี้ ปรากฏว่าเคยมีในสมัยกรุงรัตนโกสินทรเพียงต้นรัชกาลที่ ๔ ต่อมาเมื่อมีเรือไฟและเรือแจวก็เสด็จกระบวนเรือไฟหรือเรือแจว กระบวนเรือพายเสด็จพร้อมกับพระประเทียบเช่นว่าในตำรานี้ ก็เป็นอันเลิกแต่นั้นมา

๖. อธิบายลักษณะเรือต่างๆ ที่แห่เสด็จ

เรือแห่เสด็จทางชลมารคที่กล่าวในตำรานี้เป็นแต่เรือประเภทที่ใช้ในกระบวนแห่เสด็จอย่างสามัญ ยังมีเรือประเภทอื่นสำหรับแห่เสด็จกระบวนพยุหยาตรา และมีเรื่องตำนานการเปลี่ยนแปลงลักษณะเรือแห่เสด็จปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร จะรวมอธิบายมากล่าวไว้ด้วย เพราะตัวอย่างเรือประเภทนั้น ๆ ยังใช้จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร พอจะพรรณนาได้

ในหนังสือพระราชพงศาวดาร (ฉะบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ หน้า ๒๙) ว่า เมื่อปีมะเสง พ.ศ. ๒๐๗๖ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ “แปลงเรือแซเป็นเรือชัยและเรือศีรษะสัตว์ต่างๆ” ความที่กล่าวนี้เป็นกระทู้ทางพิจารณาเทียบกับเรือต่างๆ สำหรับแห่เสด็จที่ยังใช้ในกรุงรัตนโกสินทร เห็นว่าสมัยเมื่อก่อนรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิน่าจะมีเรือยาวซึ่งใช้เป็นเรือรบและแห่เสด็จทางน้ำเป็น ๓ ชะนิด เรียกว่า “เรือกราบ” ชะนิด ๑ “เรือศรี” ชะนิด ๑ “เรือแซ” ชะนิด ๑ เรียกรวมกันว่า “เรือยาว” เพราะเรือเหล่านั้นเอาต้นไม้ที่ใหญ่ยาวมาเบิกทำมาดทั้งต้น แล้วเหลาเป็นรูปเรือ ต่อหัวท้ายตกแต่งให้เป็นเรือชะนิดต่างกัน ทุกชะนิดมีกะทงสำหรับคนนั่งพายหรือตีกระเชียงตลอดลำ เว้นแต่ตอนกลางลำทำเป็นที่สำหรับนายเรือนั่ง ลักษณะที่ผิดกันเป็นต่างชะนิดนั้น คือ

“เรือกราบ” เป็นเรือพายมีกระดานเสริมปากเรือเป็นกราบตลอดลำ ซึ่งเรือชะนิดอื่นหามีไม่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าเรือกราบ ผิดกับเรือชะนิดอื่นอีกอย่างหนึ่งที่ตัวเรือข้างภายนอกขัดทาน้ำมันไม่ทาสี ข้อนี้เห็นได้ว่าเพื่อจะให้แล่นเร็วกว่าเรือชะนิดอื่น เรือรบของไทยชั้นเดิมเห็นจะเป็นเรือกราบทั้งนั้น แม้เมื่อเกิดมีเรือชะนิดอื่นขึ้นแล้วก็ยังใช้เรือกราบมากกว่าเรือชะนิดอื่น

“เรือศรี” เป็นเรือพายเหมือนเรือกราบ ผิดกันที่รูปหัวเรือท้ายเรือเป็นอย่างอื่น และลำเรือภายนอกที่พ้นน้ำทาสีมีลวดลายจำหลักปิดทองล่องชาด (ประดับกระจกบ้าง เขียนทองหรือประสานสีบ้าง ทำแต่เป็นเนื้อไม้ขัดเกลี้ยงบ้าง) แลดูงามสง่า แต่แล่นช้ากว่าเรือกราบ แต่เป็นเรือพระที่นั่งและเรือประเทียบกับเป็นเรือดั้งนำกระบวนเสด็จ พิเคราะห์ดูรูปเรือศรีเห็นจะเป็นแบบเรือเขมร เรือกราบเป็นแบบเรือไทย ที่ว่านี้เพราะเห็นเรือพายในเมืองเขมร แม้จนเรือขนาดเล็ก ๆ ของชาวบ้านรูปหัวท้ายก็เป็นอย่างเรือศรี ไทยจะได้แบบมาทำแต่เมื่อใดยังไม่พบหลักฐาน

“เรือแซ” นั้นเป็นเรือตีกระเชียง หัวต่ำทำเป็นพื้นสำหรับตั้งปืนใหญ่ อย่างที่เรียกว่า “ปืนหามแล่น” ให้ยิงไปได้จากเรือ ตัวเรือเขียนลวดลายระบายสี แล่นช้ากว่าเรือ ๒ ชะนิดที่ว่ามาแล้ว สันนิษฐานว่าเรือแซจะเป็นเรือปืนใหญ่สำหรับบรรทุกเครื่องยุทธภัณฑ์ เช่นกระสุนและดินดำเป็นต้น ตามไปในกระบวนทัพ เหตุใดจึงเรียกชื่อว่า “เรือแซ” ข้อนี้มีหลักฐานประหลาดนักหนา ว่าโดยชื่อความหมายว่าเป็นแบบเรือของพวกกระแซ ซึ่งอยู่ข้างฝ่ายเหนือเมืองพะม่า แต่ตัดคำ “กระ”พยางค์หน้าคงเรียกแต่คำท้าย จึงกลายเป็น “เรือแซ” หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง พวกกระแซที่อพยพเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองไทยมาต่อทำอย่างนี้ให้ไทยใช้ ไทยจึงเรียกว่า “เรือกระแซ”ความส่อไปว่า....

(ทรงพระนิพนธ์ค้างอยู่เพียงนี้)

เมื่อเขียนวิจารณ์ท่อนที่ ๒ ส่งไปถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงแล้วประทานพระวินิจฉัยตอบมาเหมือนอย่างตรวจทานชี้ข้อที่สงสัยในคำวิจารณ์ของฉัน รู้สึกว่าตามที่ฉันเขียนพรรณนาเรือประเภทต่าง ๆ ยังบกพร่องและอาจจะผิดไปบ้าง จึงเขียนวินิจฉัยว่าด้วยเรือประเภทต่างๆ เพิ่มลงในวิจารณ์ท่อนนี้ แห่งใดผิดกับที่พรรณนามาข้างต้น ขอให้ผู้อ่านเข้าใจตามที่ว่ามาในตอนข้างหลังนี้

๑. เรือกราบ เป็นเรือรบแบบไทยใช้มาแต่เดิม ลำเรือขัดเกลี้ยงไม่มีลายจำหลัก เพราะประสงค์จะให้เบาพายแล่นเร็วเป็นสำคัญ เรือกระบวนแห่เสด็จใช้เรือกราบมากกว่าเรืออย่างอื่น เรือเจ้านายทรงตามเสด็จ เรือขุนนางแห่นำตามเสด็จ ก็ใช้เรือกราบทั้งนั้น

๒. เรือศรีหรือสีสักหลาด เข้าใจว่าเป็นแบบเรือเขมร เพราะเคยเห็นเรือที่ราษฎรใช้กันในลำน้ำเมืองเสียมราษฎร์เป็นรูปเหมือนอย่างเรือศรีของไทยทั้งนั้น ไทยจะเอาแบบมาทำเป็นรูปเรือพระที่นั่งแต่เมื่อใดไม่ทราบ ได้แต่สันนิษฐานเหตุ เรือชะนิดนี้เขมรเห็นจะเขียนลวดลายระบายสีทั้งหัวท้าย เรียกว่า “เรือโขมดยา” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยโปรดให้ทำพระราชทานพระราชาคณะผู้ใหญ่ในเครื่องสังเค็ตงานพระเมรุสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และเรียกเรือนั้นว่าเรือโขมดยา (ยังเคยเห็นพระราชาคณะบางองค์ไปเรืออย่างนั้นในกระบวนแห่พระพุทธรูปเมื่อรัชกาลที่ ๕ จะเป็นเมื่อแห่พระพุทธนฤมลธรรโมภาสไปวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน หรือเมื่อแห่พระพุทธชินราชไปวัดเบญจมบพิตร จำไม่ได้เสียแล้ว)

ตรงนี้จะกล่าววินิจฉัยลักษณะเรือต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนแห่เสด็จ และเรื่องตำนานการคิดแบบเรือนั้น ๆ ตามที่ปรากฏในเรื่องพงศาวดารหรือที่มีเค้าเงื่อนในทางสันนิษฐาน ถ้าว่าด้วยชื่อที่เรียกชะนิดเรือมี ๗ อย่าง คือ เรือกราบ เรือศรี เรือแซ เรือรูปสัตว์ เรือเอกชัย เรือกิ่ง เรือม่วง เป็น ๘ อย่างทั้งเรือบัลลังก์สำหรับประทับแรมหรือประทับเป็นอย่างพลับพลา เรือทุกชะนิดที่ว่ามาล้วนเอาไม้ทั้งต้นมาเบิกเป็นมาด แล้วเหลารูปทรงต่อหัวท้ายทำเป็นเรือต่างชะนิดกัน นอกจากเรือแซและเรือบัลลังก์

(ทรงพระนิพนธ์ค้างอยู่เพียงนี้)

 

๗. กระบวนแห่เสด็จทางสถลมารค

กระบวนแห่เสด็จทางบกที่กล่าวในตำรานี้มี ๓ อย่าง คือกระบวนเดินเท้าเรียกว่า “กระบวนราบ” อย่าง ๑ กระบวนช้างอย่าง ๑ และกระบวนม้าอย่าง ๑ จะวิจารณ์เป็นลำดับกันไป

กระบวนราบตามที่เคยเห็นแห่เสด็จในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ กำหนดต่างกันเป็น ๔ อย่าง อย่างที่ ๑ เรียกว่า “พยุหยาตราใหญ่” กระบวนเดิน ๘ สาย ใช้แต่แห่เสด็จเลียบพระนครในงานราชาภิเษก อย่างที่ ๒ เรียกว่า “พยุหยาตรา” (สามัญ) กระบวนเดิน ๔ สาย มีเครื่องกลองชนะแตรสังข์แห่เสด็จในงานใหญ่ เช่นบางปีแห่เสด็จไปทอดพระกฐินด้วยกระบวนพยุหยาตราเช่นว่านี้ อย่างที่ ๓ เรียกว่า “พยุหยาตราน้อย” กระบวนเดิน ๒ สายเหมือนกระบวนราบสามัญ ผิดกันที่มีเครื่องสูงกลองชนะแตรสังข์เพิ่มขึ้น แห่เสด็จในงานวิสามัญแต่ไม่เป็นงานใหญ่ถึงแห่อย่างที่ ๒ อย่างที่ ๔ เรียกแต่ว่า “กระบวนราบ” กระบวนเดิน ๒ สาย แห่เสด็จโดยปกติ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งกระบวน ๓ อย่างข้างต้นแห่เสด็จงานเต็มยศ กระบวนที่ ๔ แห่เสด็จไปไหนๆ เป็นสามัญ หรือเต็มยศอย่างน้อย

พิเคราะห์กระบวนราบ พรรณนาในตำราที่วิจารณ์นี้ (แต่หน้า ๖ จนหน้า ๙) เป็นอย่างที่ ๓ ซึ่งเรียกว่าพยุหยาตราสามัญ แม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เห็นจะแห่เสด็จฉะเพาะงานบางอย่าง ไม่ใช่สำหรับแห่เสด็จเสมอไป จึงต้องเขียนลงเป็นตำรา

เนื่องกับการแห่เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตรา.........

(ทรงพระนิพนธ์ค้างอยู่เพียงนี้)

  1. ๑. ตรงกับที่พิมพ์ในฉะบับนี้ หน้า ๒๓

  2. ๒. ตรงกับที่พิมพ์ในฉะบับนี้ หน้า ๒ (บรรทัดที่ ๒๐ ถึงบรรทัดที่ ๒๒) และหน้า ๓ (บรรทัดที่ ๑ ถึงบรรทัดที่ ๔)

  3. ๓. ตรงกับที่พิมพ์ในฉะบับนี้ หน้า ๓ (บรรทัดที่ ๔ ถึงบรรทัดที่ ๖)

  4. ๔. ตรงกับที่พิมพ์ในฉะบับนี้ หน้า ๓ (บรรทัดที่ ๒๑) ถึงหน้า ๔ (บรรทัดที่ ๑ ถึงบรรทัดที่ ๑๓)

  5. ๕. ตรงกับที่พิมพ์ในฉะบับนี้ หน้า ๔ (บรรทัดที่ ๑๔)

  6. ๖. ตรงกับที่พิมพ์ในฉะบับนี้ หน้า ๔ (บรรทัดที่ ๑๖)

  7. ๗. ตรงกับที่พิมพ์ในฉะบับนี้ หน้า ๕ (บรรทัดที่ ๓ ถึงบรรทัดที่ ๑๗)

  8. ๘. ตรงกับที่พิมพ์ในฉะบับนี้ หน้า ๕ (บรรทัดที่ ๑๘ ถึงบรรทัดที่ ๒๑) และหน้า ๖ (บรรทัดที่ ๑ ถึงบรรทัดที่ ๑๐)

  9. ๙. ตรงกับที่พิมพ์ในฉะบับนี้ หน้า ๖ ถึงหน้า ๘

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ