- คำนำ อธิบดีกรมศิลปากร
- นิทานเรื่องพระศรีเมือง
- นิทานเรื่องพระศรีเมืองต่อจากบทละคอน
- ตอนที่ ๑ พระศรีเมืองเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ หงส์อาสาหาคู่ให้พระศรีเมือง
- ตอนที่ ๓ พระศรีเมืองเข้าเมืองยโสธร
- ตอนที่ ๔ พระศรีเมืองได้นางสุวรรณเกสร
- ตอนที่ ๕ ท้าวพินทุทัตให้ธิดาเสี่ยงคู่
- ตอนที่ ๖ อภิเษกพระศรีเมือง
- ตอนที่ ๗ ท้าวโขมพัสตร์ให้ไปรับพระศรีเมือง
- ตอนที่ ๘ พระศรีเมืองชมสวน
- ตอนที่ ๙ พระศรีเมืองทูลลาท้าวพินทุทัต
- ตอนที่ ๑๐ พระศรีเมืองรบกับพระยาจันทร
ตอนที่ ๒ หงส์อาสาหาคู่ให้พระศรีเมือง
ร่าย
๏ บัดนั้น | จึงพระยาหงส์ทองผ่องใส |
ประคองปีกบังคมภูวไนย | แล้วจึงทูลไปด้วยใจภักดิ์ |
ว่าพระองค์มาเรียนวิชาการ | ก็ชำนาญข้างธนูศรศักดิ์ |
ยังแต่คู่สู่สมภิรมย์รัก | พี่จักบังคมลาไป |
เที่ยวแสวงดูทุกพารา | นางหน่อกษัตรากรุงไหน |
ที่จะควรคู่ภูวไนย | อันทรงโฉมวิไลเสมอกัน |
ถ้าพบองค์ทรงเบญจกัลยา | จะกลับมาทูลบาทพระจอมขวัญ |
ไม่ช้าจะมาในสามวัน | ทรงธรรม์จงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมพระศรีเมืองเรืองศรี |
ฟังพระยาปักษาก็ยินดี | พ้นที่จะอุปมาไป |
ดังได้สมบัติในฟากฟ้า | จบสากลโลกาไม่เปรียบได้ |
ด้วยสมดังจิตที่คิดไว้ | จึงตรัสไปแก่ราชหงส์ทอง |
ขอบใจพระยาปักษี | จงรักภักดีไม่มีสอง |
มิเสียทีที่พี่รักน้อง | ปองจักเป็นเพี่อนชีวัน |
ซึ่งพี่จะไปเสาะหา | องค์อัครชายาสาวสวรรค์ |
น้องนี้ยินดีไม่มีทัน | จงรีบผายผันตามปัญญา |
แต่ไปอย่าให้ช้านัก | น้องรักจะละห้อยคอยหา |
แม้สมคิดดังจิตจินดา | พี่รีบกลับมาจงฉับไว ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หงส์ทองป้องปีกประนมไหว้ |
ลาพระโฉมยงทรงชัย | ก็โผผินบินไปในอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เที่ยวทุกพาราอาณาจักร | ปักษินบินเตร่เร่ร่อน |
ทั่วภพจบทุกพระนคร | จะสบองค์สายสมรก็ไม่มี |
บินรีบลัดมาก็ล้าเลื่อย | เหนื่อยสุดกำลังปักษี |
ครั้นถึงยโสธรธานี | จึงแลเห็นสวนศรีอุทยาน |
ก็เขจรค่อยร่อนลงมา | จับกิ่งพฤกษาในสวนสาณฑ์ |
จะพักอยู่แต่พอสำราญ | ที่ในอุทยานของภูมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงจอมจักรนัคเรศเรืองศรี |
ทรงนามพินทุทัตภูมี | ได้ครอบครองบุรียโสธร |
เลิศล้ำสุริย์วงศ์ทรงเดช | ดังองค์พระราเมศวร์ทรงศร |
ฤทธิรงค์ยิ่งองค์ทินกร | ขจรจบลบเลื่องลือชา |
ศัตรูหมู่ราชไพรี | ก็เกรงกลัวฤทธีทุกทิศา |
อันพระมเหสีโสภา | ทรงนามว่าสุวรรณมาลี |
โฉมยงทรงพักตร์ลักขณา | วิลาศลํ้านางฟ้าในราศี |
ท้าวมีพระราชบุตรี | ทั้งเจ็ดเป็นที่เจริญใจ |
อันโฉมยงนางสุวรรณเกสร | อมรแมนแดนดินไม่หาได้ |
งามลํ้านางฟ้าสุราลัย | ที่ในฉ้อชั้นดุษฎี |
องค์น้องอันรองลงมา | ทรงนามประภามารศรี |
นางศรีสุดานารี | นางจันทวดีทรามวัย |
ถัดมานางบุษมาลี | สูงศรีแอร่มแจ่มใส |
นางสุดรจนาอำไพ | ทรงโฉมวิไลโสภา |
หกองค์ทรงลักษณ์เฉิดฉิน | ดังอัปสรอินทร์ในดึงสา |
ใครเห็นเป็นที่จำเริญตา | ล้วนทรงเบญจกัลยาณี |
เสด็จอยู่ยังปรางค์ปราสาทแก้ว | อันพรายแพรวจำรัสรัศมี |
เรืองโรจน์โชติฟ้าธาตรี | ดังจะแข่งแสงศรีทินกร |
อันที่นั่งแต่ละองค์ทรงประดับ | สลับแก้วแววเลื่อมประภัสสร |
หว่างห้องมีช่องบัญชร | อลงกรณ์แง่งามรจนา |
มีจัตุรมุขทุกชั้น | หน้าบันทวยรับจับเวหา |
นาคสะดุ้งพุ่งพวยใบระกา | หางหงส์ช่อฟ้าบราลี |
อันยอดทุกชั้นบันแถลง | แก้วแดงประดับสลับสี |
พรหมพักตร์จำหลักแก้วมณี | นภศูลศรีจำรัสฉัตรชัย |
หลังคาดาดาดมรกต | เขียวขำสีสดแสงใส |
ท้องพระโรงหน้าหลังข้างใน | เพดานใส่ดอกจอกรายรับ |
โคมเพชรเด็จย่อไม้สิบสอง | ล้วนทองรองแก้วอัจกลับ |
มีแท่นมุขกระสันบรรจงรับ | กับที่นั่งมุขเด็จอันโอฬาร์ |
เกยแก้วซ้ายขวาหน้าพระลาน | สำหรับทรงคชสารหาญกล้า |
พื้นดาดลาดแล้วด้วยศิลา | ทั้งข้างหน้าข้างในพรายพรรณ |
เรืองทองรองเรืองรจนา | งามดังเทวาบรรจงสรรค์ |
มีห้องสิบสองพระกำนัล | ทั้งหมื่นหกพันกัลยา |
ทิมโขลนพระฉนวนทางเสด็จ | งามเสร็จเถ้าแก่โขลนจ่า |
นางท้าวเจ้าของตรวจตรา | วงวังรักษาไปทั้งนั้น |
หน้าพระที่นั่งตั้งสีหรา | ทิมดาบคดซ้ายขวาเฉิดฉัน |
โรงเครื่องเนื่องแถวแนวกัน | โรงม้าม้านั้นล้วนอาชา |
โรงช้างล้วนช้างคชาธาร | ตัวสารหักศึกเข่นฆ่า |
โรงรถล้วนรถอลงการ์ | จัตุรงค์โยธาอันชาญชัย |
ศัสตราอาวุธใหญ่น้อย | ร้อยพันหมื่นแสนไม่นับได้ |
สำหรับยุทธ์ยิงชิงชัย | ศัตรูบรรลัยไม่พริบตา |
กำแพงป้อมล้อมราชนิเวศน์ | ขอบเขตวงวังแน่นหนา |
หว่างป้อมย่อมมีทวารา | รจนายอดปรางค์สล้างไป |
มีทั้งสนามหัดจัตุรงค์ | อาจองเข้าหักศึกใหญ่ |
อันช้างม้าพหลพลไกร | ย่อมเคยมีชัยแก่ไพรี |
นัคเรศเขตขอบได้ร้อยโยชน์ | เรืองโรจน์ด้วยกำแพงแสงสี |
เชิงเทินดังเนินคีรี | มีป้อมห้าชั้นเป็นหลั่นไป |
แล้วมีหอรบประตู | มีคูเขื่อนเสาศิลาใหญ่ |
ถนนรอบขอบขัณฑ์พระเวียงชัย | รายไปด้วยทรายดังเงินยวง |
ตึกกว้านบ้านเรือนก็ครึกครัน | แน่นนันต์ตามแถวถนนหลวง |
อันบ้านขุนนางทั้งปวง | ทุกกระทรวงรายรอบพระบุรี |
อันกลางพระนิเวศน์เวียงชัย | แน่นไปล้วนบ้านเศรษฐี |
ทั้งจีนจามพราหมณ์แขกเขวี | คหบดีพาณิชนี่นัน |
มีสระสวนทิพย์ปทุมมาศ | เป็นที่ประพาสเกษมสันต์ |
พระตำหนักน้อยใหญ่ในนั้น | เป็นลดหลั่นชั้นเชิงมากมี |
พระแต่งไว้เป็นธารกำนัล | ทุกสิ่งสารพันถ้วนถี่ |
ไพร่ฟ้าประชาชนมนตรี | มีความผาสุกทุกเวลา |
สิ่งใดมิได้มายายี | พระภูมีแสนโสมนัสสา |
ด้วยองค์อัคเรศชายา | พระสนมซ้ายขวาสำราญใจ ฯ |
ฯ ๕๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณเกสรศรีใส |
เมื่อวันหงส์ทองอันอำไพ | มาอยู่ในสวนศรีอุทยาน |
นางให้เดือดร้อนอาวรณ์จิต | ดังพิษอัคคีมาเผาผลาญ |
ด้วยบุญนั้นดลบันดาล | จึงให้เดือดร้อนรำคาญใจ |
คิดจะไปชมสวนศรี | อันมีพรรณมิ่งไม้น้อยใหญ่ |
จึงชวนหกกนิษฐายาใจ | ขึ้นไปลาองค์พระบิดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึง | จึงก้มเกล้าบังคมเหนือเกศา |
กราบลงแทบบาทบาทา | ทูลพระบิดาไปทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โปรดเกศ | พระบิตุรงค์ทรงเดชเป็นใหญ่ |
ลูกน้อยร้อนรนเป็นพ้นไป | วันนี้ไม่เป็นสมประดี |
ขอบังคมลาพระภูวไนย | ออกไปเที่ยวเล่นในสวนศรี |
ให้สบายคลายใจลูกน้อยนี้ | ขอพระพันปีจงเมตตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพินทุทัตนาถา |
ได้ฟังลูกรักทูลลา | จะพากันไปชมอุทยาน |
จึงมีพระราชบัญชา | แก้วตาพ่อยอดสงสาร |
ซึ่งเจ้าเร่าร้อนรำคาญ | จะไปเล่นสำราญก็ตามใจ |
แต่อย่าชวนกันอยู่ช้านัก | ลูกรักผู้ยอดพิสมัย |
ตะวันบ่ายชายแสงอโณทัย | สายใจจงชวนกันกลับมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณเกสรเสนหา |
ฟังพระบิตุเรศบัญชา | ทั้งหกกัลยาก็ยินดี |
จึงถวายประณตบทบงสุ์ | ลาพระบิตุรงค์เรืองศรี |
ลงจากปรางค์รัตน์มณี | หกพระบุตรีก็ตามมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึง | จึงสั่งพระพี่เลี้ยงเสนหา |
วันนี้น้องถวายบังคมลา | จะพากันไปเล่นอุทยาน |
พี่จงบอกกล่าวนางสาวสวรรค์ | บรรดาเคยไปเล่นเกษมศานต์ |
แล้วสั่งแก่ชาวพนักงาน | ให้ตระเตรียมการให้ทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงรับสั่งใส่เกศี |
มาสั่งดังมีเสาวนีย์ | ให้เตรียมสีวิกากาญจน์ทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณเกสรศรีใส |
ทั้งหกองค์ทรงลักษณ์อันวิไล | เข้าในที่สรงคงคา |
ทรงสุคนธ์ปนทองเฟื่องฟุ้ง | ปนปรุงด้วยทิพย์บุปผา |
ทรงปรัดผัดผ่องพักตรา | ภูษาโกไสยใยยอง |
สอดสะอิ้งกิ่งเก็จเวจุวรรณ | ประดับถันบรรจงกุก่อง |
สังวาลวรรณบรรเทืองเรืองรอง | สอดสนองกรองเชิงยศยง |
ใบโพธิ์ห้อยพลอยพรายรายรับ | กุดั่นแดงแสงระยับก่องก่ง |
ทองกรบวรวรรณบรรจง | สอดทรงพาหุรัตนามัย |
ทรงโมลีเกศเตร็จตรัส | แจ่มจำรัสด้วยดอกไม้ไหว |
ทรงดอกไม้ทัดตรัสไตร | กรรเจียกจรอำไพด้วยกุณฑล |
งามอย่างนางเทพกินนร | จะร่ายร่อนขึ้นในพระเวหน |
ดังอัปสรจรจากวิมานบน | เสด็จดลมาทรงพระวอทอง ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เพลง
๏ จึงรูดม่านทองป้องปิด | มิให้แสงพระอาทิตย์ตรัสต้อง |
พระพี่เลี้ยงเคียงวอเรืองรอง | เป็นแถวท่องนางในไคลคลา |
ท้าวนางจ่าโขลนนารี | นักเทศขันทีแห่หน้า |
ขอเฝ้าชาววังตรวจตรา | เสด็จมายังสวนอุทยาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กลองโยน
๏ มาถึง | สวนศรีมิ่งไม้ไพรสาณฑ์ |
ประทับเกยเผยม่านชัชวาล | ทั้งหกองค์นงคราญก็ลีลา |
พร้อมทั้งนางท้าวเถ้าแก่ | ชาวแม่พระกำนัลซ้ายขวา |
พระพี่เลี้ยงนางนมก็ตามมา | เที่ยวชมบุปผาบรรดามี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ชวนองค์นงนุชกนิษฐา | ชมพรรณมาลาในสวนศรี |
หงอนไก่จำปาสารภี | มะลุลีลำดวนยวนใจ |
ทั้งสาวหยุดพุดซ้อนชบาลา | ชงโคโยทะกางามไสว |
สำรวลสรวลระริกซิกซี้ไป | บ้างวิ่งไล่ช่วงชิงกันไปมา |
อันหกองค์นงนุชนารี | ทั้งสาวศรีพี่เลี้ยงซ้ายขวา |
ชวนกันสระสรงคงคา | ในสระปทุมาสำราญใจ |
บ้างเก็บฝักหักดอกหยอกกัน | สรวลสันต์นี่นันในสระใหญ่ |
บ้างเข้าแฝงตัวกับบัวใบ | เล่นไล่ไขว่คว้าในวารี |
บ้างโผกระทุ่มตุ้มติ้ม | เลียบอยู่แต่ริมสระศรี |
ลางนางบ้างเก็บมาลี | ประดับองค์อินทรีย์ภิรมย์ใจ |
ทั้งหกกนิษฐานารี | พระพี่เลี้ยงสาวศรีแจ่มใส |
สุขเกษมเปรมปรีดิ์เป็นพ้นไป | ที่ในสระศรีปทุมมาลย์ |
แต่นางสุวรรณเกสร | บังอรไปลงสรงสนาน |
เที่ยวชมบุษบาเบิกบาน | เยาวมาลย์ยุรยาตรประพาสมา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
๏ เมื่อนั้น | พระยาหงส์วงศ์ราชปักษา |
จับอยู่บนกิ่งอัมพา | แลมาเห็นองค์นางเทวี |
จึงค่อยเรียงร่ายไต่ไม้ | บังตัวมาใกล้นางโฉมศรี |
เห็นงามจริงยิ่งเทพกินรี | อินทรีย์อ้อนแอ้นลออองค์ |
จะดูไหนให้เพลินจำเริญจิต | พิศไหนให้คิดพิศวง |
พิศวาสดังจะขาดใจลง | พระยาหงส์เร่งคิดไปมา |
โฉมพระธิดาองค์นี้ | งามลํ้านารีในใต้หล้า |
ควรคู่สู่สมภิรมยา | พระศรีเมืองเรืองฟ้าธิบดี |
จะงามศักดิ์งามสมสุริย์วงศ์ | งามองค์กษัตริย์ทั้งสองศรี |
คิดแล้วพระยาสกุณี | ปักษีบินลงมาทันใด |
ป้องปีกประณตบทบงสุ์ | องค์พระบุตรีศรีใส |
จึงถวายพวงทิพย์มาลัย | แก่องค์อรไทด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณเกสรโฉมศรี |
ครั้นเห็นพระยาสกุณี | มาถวายมาลีก็หลากใจ |
นางเร่งพินิจพิศดู | โฉมตรูพะวงสงสัย |
หงส์นี้มีกายอำไพ | สอดใส่เครื่องประดับเรืองรอง |
ผิดนกในป่าพนาลี | ดีร้ายจะมีเจ้าของ |
เอาดอกไม้มาให้ดังใจปอง | น่าจะต้องประสงค์สักสิ่งอัน |
จึงว่าพระยาปักษี | อันมีวรรณวิจิตรเฉิดฉัน |
เอาพวงมาลัยพรายพรรณ | มาให้เรานั้นก็ขอบใจ |
อันประเทศถิ่นฐานของปักษี | อยู่ป่าพนาลีหนไหน |
มีกิจอนุสนธิ์กลใด | จงเล่าไปแต่จริงสกุณา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึงเหมราชปักษา |
ทูลตอบให้ชอบพระอัชฌา | พระองค์จงได้ปรานี |
ตัวข้าเป็นข้าฉลองบาท | พระศรีเมืองเยาวราชรัศมี |
ทรงโฉมประโลมโลกีย์ | ในบุรีโขมราฐเรืองชัย |
อันจะร่ำถึงองค์พระทรงศักดิ์ | จบสากลไตรจักรไม่เปรียบได้ |
องค์พระบิตุเรศภูวไนย | จะเสกให้ครอบครองพารา |
ไร้องค์อัครราชเทวี | อันเป็นที่สนิทเสนหา |
พระทูลลาบิตุเรศมารดา | ออกมาเที่ยวอยู่ในกลางไพร |
สืบเสาะหาองค์อัคเรศ | ทุกนิเวศน์กษัตริย์น้อยใหญ่ |
ไม่สบประสงค์ดังจงใจ | จึงตรัสใช้ให้ข้าน้อยมา |
เที่ยวดูสุริย์วงศ์ทุกธานี | องค์ใดเป็นที่เสนหา |
วันนี้เป็นบุญสกุณา | มาพบบาทบงสุ์ดังจงใจ |
เห็นโฉมพระองค์ทรงชื่น | งามลํ้าเพียงจะกลืนไว้ให้ได้ |
กับโฉมพระศรีเมืองเรืองชัย | ดูไหนก็สมเสมอกัน |
งามองค์งามวงศ์สองกษัตริย์ | ในหน่อเนื้อจักรพรรดิรังสรรค์ |
ข้าน้อยยินดีไม่มีทัน | เป็นความจริงซึ่งบรรยายมา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณเกสรเสนหา |
ได้ฟังหงส์ทองสนองมา | พรรณนาถึงองค์พระทรงชัย |
แต่ออกนามพระองค์ทรงฤทธิ์ | ให้มีจิตปฏิพัทธ์หวั่นไหว |
ด้วยบุญเคยคู่ภูวไนย | จึงบันดาลใจให้ยินดี |
ครั้นจักพาทีด้วยมีจิต | ก็คิดความละอายปักษี |
จึงว่าพระยาสกุณี | มากล่าวดังนี้เห็นผิดไป |
พระเป็นสุริย์วงศ์กษัตรา | ถึงนางในฟากฟ้าก็หาได้ |
จะไร้พระมเหสีด้วยอันใด | ใช่ว่ากรุงกษัตริย์จะไม่มี |
แม้จะประสงค์นางองค์ใด | เห็นจะไม่เคืองขัดบทศรี |
จะมีสารไปตามประเพณี | โดยทางไมตรีก็ง่ายดาย |
ตัวเรานี้น้อยวาสนา | ปักษาอย่าเปรียบพระลือสาย |
ไม่ควรองค์พระทรงลักษณ์อันเลิศชาย | มาใส่ไคล้ภิปรายไม่เกรงใจ |
นี่หากว่าเป็นปักษี | ถ้าเป็นคนก็จะมีโทษใหญ่ |
ล่วงเกินวาทีดังนี้ไซร้ | เห็นภัยจะถึงเวทนา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระยาเหมราชปักษา |
จึงทูลสนองพระวาจา | ตรัสมาทั้งนี้ก็ควรนัก |
เป็นความสัตย์จริงทุกสิ่งอัน | ไม่แสร้งรำพันถึงทรงศักดิ์ |
ซึ่งได้เปรียบองค์พระทรงลักษณ์ | จงอดโทษปักษาได้ปรานี |
อันข้อพะวังกังขา | ไม่เชื่อวาจาปักษี |
จะบังคมลานางเทวี | ไปทูลคดีพระภูวไนย |
ให้แจ้งเหตุผลยุบลนี้ | ตามพระเสาวนีย์ที่สงสัย |
เห็นพระยอดฟ้าจะอาลัย | จะใช้ให้ข้าน้อยกลับมา |
เท็จจริงสิ่งใดที่ในกิจ | จะเห็นจิตจงรักของปักษา |
ว่าแล้วหงส์ทองก็อำลา | โผผินบินมาทันใด ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สุวรรณเกสรศรีใส |
ครั้นพระยาปักษินบินไป | พอพระสุริย์ใสสายัณห์ |
จึงชวนหกองค์นงคราญ | พระสนมบริวารสาวสรรค์ |
เสด็จมายังวังจันทน์ | แต่ในทันใดมิได้ช้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กลองโยน
๏ ครั้นถึงวังจันทน์ทันใด | ชวนหกทรามวัยกนิษฐา |
เสด็จลีลาศคลาดคลา | มาเฝ้าพระชนกชนนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวพินทุทัตเรืองศรี |
ทั้งองค์พระราชชนนี | เห็นเจ็ดบุตรีกลับมา |
จึงตรัสประภาษด้วยสุนทร | สายสมรพ่อสุดเสนหา |
เจ้าไปเล่นสวนมาลา | แก้วตาค่อยคลายสบายใจ |
พ่อนี้ตั้งใจคอยท่า | เห็นช้าร้อนรนหม่นไหม้ |
เห็นลูกแก้วกลับบัดนี้ไซร้ | พ่อมีใจใสสุทธิ์เปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระยาหงส์เหมราชปักษี |
บินร่ายว่ายฟ้ามาทันที | ก็ถึงพระกุฎีด้วยฉับไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พอพระสุริยงสดงคต | พระจันทร์ทรงกลดแขไข |
ปักษาร่าร่อนลงทันใด | ยังศาลาลัยพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระศรีเมืองเรืองศรี |
ครั้นเห็นพระยาสกุณี | ชื่นชมยินดีเป็นพ้นไป |
จึงตรัสเรียกราชปักษา | พี่ถดเข้ามาให้ใกล้ |
น้องตั้งตาคอยละห้อยใจ | พี่ไปยังได้การมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หงส์ทองป้องปีกด้วยหรรษา |
ถวายบังคมคัลวันทา | แล้วทูลผ่านฟ้าไปพลัน |
ข้าน้อยบินเตร่เร่ไป | ทุกบ้านน้อยเมืองใหญ่เขตขัณฑ์ |
เห็นราชธิดาทั้งนั้น | ไม่ทรงเบญจกัลยาณี |
ข้าจึงบินร่ายกรายไป | จับอยู่ที่ในสวนศรี |
ยังเมืองยโสธรธานี | ท้าวมีบุตรีอันโสภา |
ทรงนามชื่อสุวรรณเกสร | โฉมงามดั่งอมรเลขา |
ออกมาชมสวนมาลา | ข้าน้อยเห็นองค์นางทรามวัย |
จะพิศพักตร์ก็ลืมแลองค์ | พิศทรงก็ให้หลงใหล |
งามลํ้าเลิศลบภพไตร | ใต้หล้าไม่หาเทียมทัน |
ควรเป็นคู่ครองฉลองบาท | องค์พระเยาวราชรังสรรค์ |
สุริย์วงศ์ทรงศักดิ์ก็สมกัน | ข้าจึงบังคมคัลเทวี |
แล้วถวายพวงทิพย์มาลา | แก่องค์พระธิดามารศรี |
นางตรัสสนทนาพาที | ไต่ถามถ้วนถี่ทุกประการ |
ข้าทูลถึงองค์พระทรงศักดิ์ | ให้ตระหนักทุกสิ่งแถลงสาร |
ยังกินแหนงแคลงใจเยาวมาลย์ | จะว่าขานสิ่งใดไม่ไยดี |
ข้าจึงประณตบทบงสุ์ | มาทูลองค์พระผู้ทรงรัศมี |
เล่าความตามมูลคดี | ถ้วนถี่แต่ต้นจนปลายมา ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระศรีเมืองเลื่องลบจบทิศา |
ฟังหงส์แถลงแจ้งกิจจา | พระแสนโสมนัสสาเป็นสุดคิด |
เพียงได้เห็นองค์นางนงคราญ | ดังได้ผ่านฟากฟ้าดุสิต |
เหมือนได้อิงแอบแนบชิด | แสนพิศวาสจะขาดใจ |
จึงว่าพระยาปักษี | มีคุณแก่น้องจะมีไหน |
ได้ความลำบากยากใจ | เตร็จเตร่เร่ไปทุกตำบล |
ถูกลมระงมแดดแผดต้อง | ทนละอองน้ำฟ้าหยาดฝน |
เพราะรักน้องต้องเป็นกังวล | จึงได้ทนเวทนาพ้นไป |
อันยโสธรธานี | พระบุรีนั้นอยู่ทิศไหน |
หนทางนั้นใกล้หรือไกล | จะไปมาสักกี่ราตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระยาหงส์ทองปักษี |
จึงทูลทรงธรรม์พันปี | อันบุรีโฉมยงนงคราญ |
ชื่อว่าเมืองยโสธร | อยู่ฝ่ายอุดรทิศาน |
หนทางนั้นไกลกันดาร | ขอพระภูบาลจงแจ้งใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงสวัสดิ์รัศมีศรีใส |
ได้ฟังหงส์ทองอันร่วมใจ | จึงบัญชาไปด้วยพลัน |
อันยโสธรพารา | มรคานั้นไกลเขตขัณฑ์ |
จะอุตส่าห์บุกป่าพนาวัน | สัญจรนอนดงตรงไป |
เกลือกนางจะไม่เมตตาจิต | น้องคิดสิ่งนี้เป็นข้อใหญ่ |
คิดจะให้พี่ผู้ร่วมใจ | จำทูลสารไปเป็นไมตรี |
จักเอาสาราธำมรงค์ | ไปถวายแก่องค์มารศรี |
ให้รู้ระคายร้ายดี | พี่เจ้าจะเห็นประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หงส์ทองผู้มีอัชฌาสัย |
จึงทูลสนองให้ต้องใจ | พระตริไตรดั่งนี้ก็ควรนัก |
จะเอาสิ่งของทั้งนี้ไป | ถวายองค์อรไทให้ตระหนัก |
แม้นางอนุกูลไม่สูญรัก | กลับมาจักพากันไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระศรีเมืองยิ้มแย้มแจ่มใส |
จึงเขียนลักษณ์อักษรทันใด | แจ้งความไปในสารา |
แล้วถอดธำมรงค์เนาวรัตน์ | จากนิ้วพระหัตถ์เบื้องขวา |
สวมศอผูกคอสกุณา | พี่เจ้าเมตตาจงรีบไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระยาหงส์ทองผ่องใส |
จึงลาพระองค์ทรงชัย | ก็โผผินบินไปด้วยพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มาถึง | ยังสร้อยสระศรีสวนขวัญ |
จึงจับกับกิ่งอำพัน | คอยองค์นางกัลยาณี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตะวันบ่ายชายแสงรอนรอน | ทินกรจะใกล้สิ้นรัศมี |
ไม่พบองค์อัครราชเทวี | ปักษีจึงคิดไปมา |
จะอยู่ช้าที่นี่ก็มิได้ | จำกูจะเข้าไปหา |
ให้พบสบองค์กัลยา | ยังปราสาทรัตนานางเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระยาหงส์วงศ์ราชปักษี |
ก็บินมาจับแฝงบราลี | อยู่ที่ยอดปรางค์ปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มองสงัดงัดเงียบเลียบดู | ไม่เห็นหมู่พระกำนัลน้อยใหญ่ |
จึงบินลงตรงช่องบัญชรชัย | เข้าในห้องที่นางเทวี |
หงส์ทองนบนอบยอบกาย | ถวายพระธำมรงค์กับสารศรี |
แล้วว่าข้าทูลคดี | แก่โฉมพระศรีเมืองเรืองชัย |
ออกนามถึงองค์นางนงลักษณ์ | พระทรงศักดิ์ยินดีจะมีไหน |
แสนสุดเสนหาอาลัย | จะใคร่ได้เห็นองค์นางนงคราญ |
จะบุกป่าฝ่าหนามมาตามหา | ตัวข้านี้คิดสงสาร |
จึงกราบทูลขัดทัดทาน | มิให้ภูบาลเสด็จมา |
พระมาอยู่ป่าพนาลี | จึงให้สารศรีเสนหา |
ทั้งพระธำมรงค์อลงการ์ | เอามาถวายเป็นไมตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณเกสรมารศรี |
ได้ฟังสกุณาพาที | นางถวิลยินดีในวิญญาณ์ |
แต่ปากนั้นหากเกียจกล | แยบยลมิให้กังขา |
จึงว่าไปแก่สกุณา | เอาสารมาให้ข้าด้วยอันใด |
ตัวเราก็เป็นสตรี | จะรับสารศรีท่านกระไรได้ |
เห็นผิดจารีตบูราณไป | อันประสงค์จะได้เป็นไมตรี |
ชอบแต่จะแต่งบรรณามา | ให้ทูตาจำทูลสารศรี |
อันจะทำเล่นเช่นนี้ | ปากคนกาลีจะนินทา |
ซึ่งจะให้สาราธำมรงค์ | พระโฉมยงก็ไม่รู้จักข้า |
จงคืนไปถวายพระผ่านฟ้า | ข้าจะรับไว้ก็ไม่ดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หงส์ทองทูลสนองบทศรี |
อันดำรัสตัดรอนมาดั่งนี้ | เหมือนไม่ปรานีสกุณา |
ได้ทูลแก่องค์พระทรงศักดิ์ | ถึงองค์เยาวลักษณ์เสนหา |
พระจึงจงรักภักดีมา | หวังว่าจะฝากชีวี |
จึงให้สารากับธำมรงค์ | มาถวายแก่องค์มารศรี |
เป็นทางพระราชไมตรี | ด้วยมีความปฏิพัทธ์พ้นไป |
ซึ่งมิรับไว้ดังใจปอง | จะกลับคืนสิ่งของนี้ไปให้ |
น่าที่จะมีโทษภัย | ที่ไหนจะพ้นพระอาญา |
พระจะตำหนิติโทษ | กริ้วโกรธแก่ข้าเป็นหนักหนา |
ว่าเอาความเท็จมาเจรจา | ให้ผ่านฟ้าลุ่มหลงปลงใจ |
ซึ่งจะกลับไปทูลพระภูมี | ปักษีจะตายเสียก่อนไข้ |
ถึงนางกัลยาไม่อาลัย | จงรับไว้ตามมีบัญชามา |
อันพระธำมรงค์วงเพชร | ต่างองค์พระเสด็จมาหา |
ซึ่งข้อสงสัยในสารา | ข้าได้ทูลไว้แต่เดิมที |
ว่าพระเสด็จทรมานมา | อยู่ที่ในป่าพนาศรี |
โยธาข้าใช้ก็ไม่มี | แต่ข้าปักษีกับพี่เลี้ยง |
จะได้ทูตที่ไหนใช้มา | ข้าน้อยจักว่าเหมือนทูลเถียง |
พระแม่สงสัยจักไล่เรียง | สุดที่จะบ่ายเบี่ยงบรรยาย |
แม้นพระองค์มิเชื่อวาจา | เหมือนไม่เมตตาพระฦๅสาย |
น่าที่พระจะทอดตนตาย | นางโฉมฉายจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุวรรณเกสรโฉมศรี |
ฟังหงส์ทูลวอนวาที | เทวีเสแสร้งจำนรรจา |
ครั้นจะไม่รับสารธำมรงค์ | คิดสงสารหงส์เป็นหนักหนา |
จำเป็นด้วยเห็นเวทนา | จึงรับเอามาทันใด |
ดั่งหนึ่งเห็นองค์พระทรงฤทธิ์ | อันเลิศลํ้าทศทิศไม่เปรียบได้ |
แสนพิศวาสจะขาดใจ | อาลัยถึงองค์พระภูมี |
แล้วว่าแก่ราชปักษา | ตัวท่านจักช้าอยู่ที่นี่ |
สาวสรรค์กำนัลนารี | มาเห็นเป็นที่กินใจ |
จงไปซ่อนอยู่ยังสวนศรี | พรุ่งนี้เวลาปัจจุสมัย |
จึงจะให้สาวศรีออกไป | แจ้งในยุบลกิจจา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หงส์ทองได้ฟังก็หรรษา |
จึงเคารพนบนอบอำลา | บินมายังสวนมาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณเกสรโฉมศรี |
ครั้นหงส์ทองล่องฟ้าจรลี | จึงคลี่สารอ่านดูทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ในลักษณ์ว่าสารพระศรีเมือง | ฤทธิเรืองเฟื่องฟ้าดินไหว |
สถิตกรุงโขมราฐเวียงชัย | หน่อไทโขมพัสตร์ภูมี |
เสด็จจากพระนิเวศน์มาเรียนศิลป์ | พระโควินท์อยู่ในไพรศรี |
เสี่ยงใจใช้หงส์จรลี | เที่ยวทุกธานีมาช้านาน |
เป็นบุพเพนิวาสพาสนา | เหมราชกลับมาสนองสาร |
แจ้งข่าวพระยอดเยาวมาลย์ | เพียงพี่ได้ผ่านดุสิดา |
แสนคำนึงถึงนุชไม่ว่างเว้น | คล้ายคล้ายเหมือนจะเห็นกนิษฐา |
หวังสวาทนาฏนุชสุดโสภา | เป็นมหามิ่งมิตรไมตรี |
จึ่งโอภานด้วยสารสุนทร | ให้แจ้งร้อนธุระในอกพี่ |
ด้วยจงเจตน์อัคเรศนารี | ไปเป็นศรีโขมราฐพระนคร |
ให้งามเมืองงามเรืองสุริย์วงศ์ | ด้วยเอกองค์ทรงลักษณ์สายสมร |
จะงามยศปรากฏขจายจร | ถาวรทั้งสองนครา |
บัดนี้พี่ฝากพระธำมรงค์ | องค์หนึ่งมาให้กนิษฐา |
ชมพลางต่างพักตร์พี่ยา | กว่าจะได้ประสบพบองค์ |
เมตตาอย่าตัดพระไมตรี | จงตอบสารศรีมากับหงส์ |
พอเป็นสำคัญมั่นคง | ทรงแล้วแย้มยิ้มพริ้มพราย ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ จึงม้วนอักษรซ่อนไว้ | ในทรวงสะพักโฉมฉาย |
พระพักตร์เพียงจันทร์พรรณราย | สายสมรอาวรณ์ถึงภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นวลนางพี่เลี้ยงโฉมศรี |
สะกิดกันกระซิบพาที | เมื่อกี้เราเห็นประหลาดนัก |
หนังสืออะไรจะใคร่รู้ | จะถามโฉมตรูให้ประจักษ์ |
ว่าแล้วทูลไปด้วยใจภักดิ์ | อักษรอะไรนั่นพระเทวี |
ทำไมไม่บอกให้ข้ารู้ | ดูดังไม่ไว้ใจพี่ |
เสียแรงจงรักภักดี | หรือมิให้รู้แล้วก็แล้วไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณเกสรศรีใส |
ฟังพระพี่เลี้ยงผู้ร่วมใจ | ยิ้มพลางอรไทพาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พี่เจ้า | น้องจะเล่าให้แจ้งใจพี่ |
เมื่อเราไปสวนมาลี | มีหงส์ตัวหนึ่งนั้นบินมา |
คาบพวงดวงดอกปทุเมศ | งามล้ำวิเศษมาให้ข้า |
ว่าพระศรีเมืองเรืองฟ้า | ถวายมาเป็นทางไมตรี |
บัดนี้พระยาหงส์ทอง | กลับเอาของกับสารศรี |
มาให้แก่น้องในวันนี้ | พี่เจ้าอย่าเล่าไปมา |
แม้แจ้งถึงองค์พระทรงศักดิ์ | จะติโทษน้องรักหนักหนา |
แล้วหยิบธำมรงค์อลงการ์ | กับสาราให้พี่เลี้ยงดู |
สิ่งนี้พระให้มากับน้อง | เป็นของสำคัญทั้งคู่ |
พี่เจ้าของน้องผู้ร่วมรู้ | เอ็นดูจะทำไฉนดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พี่เลี้ยงบังคมเหนือเกศี |
รับพระธำมรงค์อันรูจี | กับสารามาคลี่พิเคราะห์ดู |
เห็นสมองค์พระทรงศรีสวัสดิ์ | หน่อเนื้อจักรพรรดิก็จริงอยู่ |
งามประเสริฐเลิศล้นพ้นรู้ | ควรคู่ด้วยองค์นางนงคราญ |
ข้าน้อยก็พลอยยินดี | ธุระนี้พี่จะช่วยคิดอ่าน |
อันพระธำมรงค์อลงการ | เป็นของประทานพระให้มา |
ครั้นจะมิตอบแทนฉันนั้นเล่า | ดังเราไร้ใจเป็นหนักหนา |
จะไม่เห็นสำคัญเป็นสัญญา | จะตรีชาว่าได้เมื่อปลายมือ |
อันภูษาทรงขององค์นาง | มิถวายไปบ้างจะดีหรือ |
พระจะได้แอบอุ่นต่างบุญลือ | จงหารือใจดูให้ดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณเกสรโฉมศรี |
ฟังพี่เลี้ยงตอบชอบที | จึงมีเสาวนีย์ไปทันใด |
อันพี่ว่าขานมาทั้งนี้ | เห็นดีน้องชอบอัชฌาสัย |
จำจะมีสารตอบไป | ถึงพระภูวไนยธิบดี |
แต่บัดนี้พระยาหงส์ทอง | น้องให้ไปท่าอยู่สวนศรี |
พี่เจ้าผู้ใจอารี | จงแต่งของกินที่โอชา |
ทั้งน้ำผึ้งข้าวตอกอันตระการ | ออกไปประทานแก่ปักษา |
สั่งแล้วเท่านั้นมิทันช้า | ก็ทรงเขียนสาราทันใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงผู้มีอัชฌาสัย |
มาแจงจัดมธุรสอันพึงใจ | เสร็จแล้วไปทูลนางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุวรรณเกสรมารศรี |
ชื่นชมโสมนัสพันทวี | จึงเปลื้องภูษาศรีออกจากองค์ |
ส่งให้พี่เลี้ยงผู้ร่วมใจ | กับสารนี้พี่ให้พระยาหงส์ |
อันภูษาผ้าสไบน้องทรง | ว่าต่างองค์ถวายบังคมไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองนางพระพี่เลี้ยงศรีใส |
รับเอาสาราผ้าสไบ | บังคมแล้วรีบไปยังอุทยาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึง | สวนศรีมิ่งไม้ไพรสาณฑ์ |
จึงเอาของกินอันตระการ | ซึ่งยอดเยาวมาลย์ประทานมา |
ให้แก่พระยาสกุณี | ทั้งศุภสารศรีแลภูษา |
แจ้งความตามเสาวนีย์มา | แก่พระยาหงส์ทองทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปักษีมีจิตเกษมศานต์ |
รับสารามามิทันนาน | ทั้งของประทานด้วยปรีดา |
จึงว่าขอบคุณพระแม่เจ้า | ดังบังเกิดเกล้าปักษา |
ทั้งสองสาวสรรค์กัลยา | ก็มีคุณแก่ข้าพ้นไป |
แม้ว่าทีหลังได้กลับมา | จะเก็บดอกมณฑามาให้ |
ค่อยอยู่เถิดข้าจะลาไป | จงทูลองค์อรไทเทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นวลนางพระพี่เลี้ยงทั้งสองศรี |
ฟังหงส์จงรักด้วยวาที | มีความยินดีไม่รู้แล้ว |
พิศเพ่งเล็งดูทั้งกายา | รจนาดังทองแกมแก้ว |
ขนขำอำไพเพริศแพร้ว | ผ่องแผ้วไม่มีเทียมทัน |
เป็นน่าเอ็นดูสกุณา | อัธยาปรีชาก็คมสัน |
แต่นกยังรู้จำนรรจ์ | คิดแล้วยิ้มกันไปมา |
จึงว่าพระยาปักษี | ผู้มีใจภักดีอาสา |
จงกลับไปทูลพระผ่านฟ้า | ตัวข้าจะไปแจ้งนางเทวี |
ว่าแล้วสองนางกัลยา | ก็ลีลามาจากสวนศรี |
รีบรัดลัดแลงจรลี | มิให้ใครรู้กิจจา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นเข้ามาถึงวังใน | พระพี่เลี้ยงร่วมใจเสนหา |
จึงทูลความตามได้จำนรรจา | ให้ทราบบาทานางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุวรรณเกสรมารศรี |
กับสองพี่เลี้ยงผู้ภักดี | มีความชื่นชมภิรมย์ใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระยาราชหงส์ทองผ่องใส |
ครั้นออกจากสวนดอกไม้ | ร่อนรีบมาในอัมพร |
ข้ามดงคงคาป่าไม้ | ข้ามแสนพนมในสิงขร |
ตะวันบ่ายชายแสงทินกร | ร่อนมายังคันธกุฎี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงราปีกลง | ตรงเข้าไปเฝ้าพระโฉมศรี |
ประคองป้องปีกอัญชลี | ถวายสารศรีกับสไบ |
ทูลความตามเรื่องไปถึงสวน | ทบทวนถ้วนถี่แถลงไข |
ทีนี้เห็นจะสมพระฤทัย | พี่ไปได้สิ่งสำคัญมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระศรีเมืองเรืองรุ่งเวหา |
รับทรงสะพักกับสารา | มาจากพระยาหงส์ทอง |
ภูมีคลี่ชมสมหวัง | ดังได้เห็นพักตร์เจ้าของ |
งามนวลเนื้อสไบใยยอง | กรองเป็นดอกดวงรจนา |
หอมตลบอบองค์ทรงกลิ่น | รวยรินรื่นซาบนาสา |
หวนคิดถึงองค์วนิดา | หงส์ว่าเลิศลักษณ์ประโลมใจ |
สไบน้องกรองเนื้อถึงเพียงนี้ | จะนวลเนื้อมารศรีสักเพียงไหน |
คิดแล้วคลี่สารอรไท | ภูวไนยทรงอ่านด้วยความรัก ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ในสารว่าน้องบังคม | ถึงบรมบาทพระทรงศักดิ์ |
ซึ่งให้ปักษีมีใจภักดิ์ | นำลักษณ์อักษรธำมรงค์ |
ให้มาถึงข้าเป็นสำคัญ | ว่ามีจิตติดพันพิศวง |
อยู่อยู่จู่มาไม่รู้องค์ | จะฟังนกหคหงส์ก็ผิดที |
แจ้งว่าพระองค์ผู้ทรงเดช | ละนิเวศน์มาอยู่พนาศรี |
คู่ครองสองสมก็ไม่มี | จะขอฝากไมตรีชีวาวัน |
จึงให้สารศรีธำมรงค์ | มาต่างองค์พระยอดฟ้านราสรรค์ |
ผิดทีมีจิตจะผูกพัน | ช่างบรรยายมาน่าอายใจ |
ซึ่งข้ารับสารกับธำมรงค์ | ใช่จะจงใจจริงก็หาไม่ |
ว่าขัดสนทนเทวษอยู่ในไพร | ตกไร้ได้ยากลำบากกาย |
ข้าจึงใช้ผ้าเป็นค่าแหวน | ทดแทนมาถึงพระฦๅสาย |
ถึงมิควรจะเปรียบเทียบทาย | ตามมีก็ถวายพระองค์มา |
อันหัวใจไมตรีประการใด | มิรู้ได้ไม่เคยเดียงสา |
พระองค์ให้ไปจึงให้มา | มิรู้จะว่าข้าไร้ใจ |
ถ้าชาวป่ามาได้จนถึงเมือง | ขัดเคืองจะช่วยแก้ไข |
นี่อยูในดงพงไพร | จึงให้สไบตอบมา |
ทั้งนี้เพราะข้าการุญ | จะทำบุญกับคนอนาถา |
ความจริงทุกสิ่งข้าวาจา | เหมือนในสาราจงแจ้งใจ ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ คลี่สารอ่านสิ้นอักษร | ภูธรยิ้มแย้มแจ่มใส |
ท่วงทีคมขำเป็นคำใน | ควรเป็นหน่อไทธิบดี |
จึงปรึกษาพี่เลี้ยงทั้งสี่คน | ว่าเล่ห์กลยุบลสารศรี |
ว่าขานมารยามาอย่างนี้ | ทั้งสี่พี่จะคิดประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงทูลแจ้งแถลงไข |
นางว่าข้าเห็นเป็นคำใน | จะให้เสด็จไปพระบุรี |
เห็นจะผ่อนตามความสวาท | ไม่บำราศรักคลายหน่ายหนี |
น่าที่จะได้เป็นไมตรี | ข้าเห็นดังนี้พระภูบาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระศรีเมืองเรืองฤทธิ์ดังสุริย์ฉาน |
ฟังสี่พี่เลี้ยงผู้ปรีชาญ | จึงมีพจมานไปทันใด |
ซึ่งพี่ดำริตริตรอง | เห็นสอดคล้องต้องตามอัชฌาสัย |
จะหนักหน่วงท่วงทีอยู่มิไป | ที่ไหนจะได้เป็นไมตรี |
จำจะถวายบังคมลา | องค์พระมหาฤๅษี |
ไปตามวาสนาครานี้ | เดชะบุญมีจะพบกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ว่าแล้ว | พระลีลาศคลาดแคล้วผายผัน |
กับสี่พี่เลี้ยงพร้อมกัน | มาวันทาลาพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์พระมหาฤๅษีสาร |
กราบลงแทบบาทบทมาลย์ | บอกพระอาจารย์ทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โปรดเกล้า | พระอัยกาเจ้าเป็นใหญ่ |
บัดนี้หลานใช้ให้หงส์ไป | เที่ยวหานางในทุกนคร |
กลับมาว่าเห็นนางโฉมยง | ทรงนามสุวรรณเกสร |
อยู่ยังพารายโสธร | สายสมรให้สารสไบมา |
หลานรักจักขอลาไป | หาองค์อรไทเสนหา |
ตามได้สร้างสมอบรมมา | ขอพระอัยกาจงปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโควินท์มหาฤๅษี |
ได้ฟังนัดดาพาที | พระมุนีสลดระทดใจ |
เอ็นดูหลานรักเป็นหนักหนา | จะกลั้นน้ำตามิใคร่ได้ |
ด้วยเจ้าจะพรากจากไป | ดังใครมาเด็ดเอาชีวี |
ครั้นว่าจะขัดทัดทาน | ห้ามปรามหลานไว้ก็ใช่ที่ |
จึงว่าเจ้าจะไปก็ตามที | จงศรีสวัสดิ์อย่ามีภัย |
ซึ่งสิ่งประสงค์จำนงจิต | ให้สมความคิดจงได้ |
อันศัตรูหมู่ราชพาลภัย | ให้อัปราชัยทุกเวลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ