๖
เมื่อบรรลุวัยที่สมองเจริญเต็มที่แล้ว ความรักหนังสือที่มีอยู่ในสันดานของ ‘นายช่างนาฬิกาน้อย’ ก็ได้กลายเป็นน้ำหนักผลักดันให้เขาตัดสินใจปิดร้านแก้นาฬิกาของเขาเสีย ภายหลังที่ได้ดำเนินงานสืบต่อจากเตี่ยมาเป็นเวลาราวสี่ปีครึ่ง แม้ว่าเซ้งจะดำเนินงานอาชีพ “นายช่าง” มาในระหว่างวัยเยาว์ แต่ในเวลาไม่นานบรรดาลูกค้าของเขา ก็ได้รู้จักเขาในฐานเป็น “นายช่าง” ที่ไว้วางใจได้ในความซื่อตรง และในความตั้งใจที่จะเสนอบริการของเขาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขามีความเจียมตัวในฝีมือของเขา และมักจะตีราคาค่าบริการด้วยราคาอันย่อมเยา ถึงแม้ว่าการปฏิบัติเช่นนั้น จะทำให้ตัวเขาและครอบครัวอยู่กินด้วยความมัธยัสถ์อดออมอย่างยิ่ง และในบางครั้งคราวถึงแก่ต้องประสบความขาดแคลนก็ตาม แต่เขาก็รู้สึกว่า เขามีความสบายใจที่ได้เป็นประโยชน์แก่ครอบครัว พร้อมทั้งไม่มีลูกค้าคนใดได้กล่าวตำหนิติเตียนเขา มีลูกค้าที่ใจดีบางคนศรัทธาในบริการ และความเจียมตัวของเขา ถึงได้ให้ค่าบริการแก่เขาเกินกว่าที่เขากำหนด คำชักชวนของอู๊ด และคำรับรองของเพื่อนนักเรียน ที่ว่าจะส่งนาฬิกาที่บ้านเพื่อนให้เขาแก้นั้น ก็มิใช่เป็นคำรับรองลม ๆ แล้ง ได้มีเพื่อนนักเรียนนำนาฬิกาที่บ้าน หรือมิฉะนั้นก็นำเพื่อนบ้านมาแก้นาฬิกาที่ร้านเขาเป็นครั้งคราว กรณีทั้งสองดังกล่าวนี้ทำให้ “นายช่างน้อย” มีความผาสุขเป็นพิเศษ และทำให้เขามีความแน่ใจว่า การที่เขาได้เลือกเอาความซื่อตรงเป็นเครื่องนำทางดำเนินชีวิตนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ในบางคราวภายหลังที่ “นายช่าง” ได้ตรวจดูนาฬิกาที่เพื่อนของเขานำมาให้แก้อย่างถี่ถ้วนแล้ว เขาก็ไม่พบความบกพร่องในนาฬิกาเรือนนั้นเลย เขาจึงเพียงแต่ทำความสะอาดให้ เมื่อเพื่อนของเขาได้รับนาฬิกา และจ่ายค่าแก้ให้ เขาได้ปฏิเสธการรับเงิน และได้บอกแก่เพื่อนของเขาตามความเป็นจริง แต่เพื่อนได้บอกเขาว่า ถึงอย่างไร เขาก็ต้องใช้เวลาตรวจและทำความสะอาดเมื่อรับนาฬิกาแล้ว เพื่อนก็วิ่งออกจากร้านไป โดยทิ้งเงินไว้ที่โต๊ะของ ‘นายช่าง’ เรื่องเช่นนี้ได้เกิดขึ้นโดยสืบมาแต่สาเหตุว่า เมื่อบิดามารดาถูกรบเร้าจากบุตรให้เอานาฬิกาเรือนใดเรือนหนึ่ง ที่ยังไม่มีอะไรบกพร่องส่งไปให้ ‘นายช่าง’ เซ้งแก้บ่อยเข้า บิดามารดาผู้ใจดีก็มอบนาฬิกาให้แก่บุตรไป เพียงเพื่อจะส่งเสริมความกระตือรือร้นของบุตร ที่จะได้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนของเขาเท่านั้น
หนังสือเล่มแรกที่สอนเรื่องชีวิตแก่เขา สอนให้เขามีความคิดอันละเอียดอ่อน และปลูกฝังความรักหนังสือให้แก่เขานั้น น่าจะได้แก่คัมภีร์พระคริสตธรรมที่เขาได้อ่านทบทวนอยู่เป็นนิจนั่นเอง คำวิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติชั่วร้ายของผู้คน ที่พระเยซูได้เทศนาไว้ ได้คลี่คลายปัญญาของเขาในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ ในพระคัมภีร์นั้นเขาได้เรียนรู้ชีวิต ทั้งในด้านที่เป็นสีขาวและสีดำ เขาได้รับความประทับใจในความรักอันยิ่งใหญ่ คือ ความรักเพื่อนมนุษย์ และในขณะเดียวกันเขาก็ได้เรียนรู้ถึงความโสโครก และความหน้าซื่อใจคดของผู้คน จากเรื่องราวในคัมภีร์นั้น และจากคัมภีร์นั้นเหมือนกัน ที่เขาได้ศึกษาความบรรเจิดเพริดพริ้งของวรรณศิลป์ แม้ว่าความจำเป็นจะบังคับให้เขาต้องออกจากโรงเรียนในขณะที่ยังไม่ทันจะจบชั้นมัธยม ๕ แต่เขาก็ไม่เคยออกจากการเรียนหรือออกจากหนังสือ ‘นายช่างน้อย’ ได้ใช้เวลาที่เหลือจากการประกอบอาชีพอ่านหนังสือต่าง ๆ เท่าที่เขาจะหาอ่านได้ตลอดมา หนังสือจำพวกชีวประวัติของคนสำคัญเป็นหนังสือที่เขาชอบมาก เขามีนิสัยตรงกันข้ามกับหม่อมราชวงศ์รุจิเรข เขาอ่านชีวประวัติของวีรบุรุษนักรบเหมือนกัน แต่เขาไม่นิยมความเก่งกล้าของบุคคลที่สร้างชื่อเสียงขึ้นด้วยการรุกรานทำลายชีวิตมนุษย์ เขารู้จักประวัติของมหาราช อเล็กซานเดอร์ ยูเลียสซีซาร์ และจักรพรรดินโปเลียน แต่เขาไม่รู้สึกนิยมบุคคลเหล่านั้นเลย เขาบูชาบุคคลเช่น โสคระตีส หลุยส์ ปาสเตอร์ และด๊อกเตอร์จอห์นสัน เขานิยมบุคคลที่จำเป็นต้องรบเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ผู้ต่ำต้อย เช่น ลิงคอล์น ชีวิตยากแค้นและความพากเพียรแสวงหาความรู้ของลิงคอล์นในวัยเยาว์ เป็นสิ่งบันดาลใจเขาและได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง ด้วยเหตุฉะนี้ ภายหลังที่เขาได้หมกมุ่นกับงานอาชีพมาได้ระยะหนึ่งจนมีความชำนาญพอควรแล้ว เขาจึงใช้เวลาในตอนค่ำไปเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนกลางคืนแห่งหนึ่ง ขณะที่ตัดสินใจปิดร้านแก้นาฬิกานั้น เซ้งรู้ภาษาอังกฤษดีกว่าเพื่อน ๆ ที่เรียนจบชั้นมัธยม ๘ เสียอีก และด้วยความรู้ภาษาอังกฤษนี้เองที่ส่งเสริมให้เขาได้รับตำแหน่งงานในสำนักงานหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ประชามติ’ ซึ่งเป็นสำนักที่เขาเคยเขียนเรื่องส่งไปลงพิมพ์
เมื่อเซ้งบอกกับมารดาว่าเขาจะได้งานทำที่สำนักหนังสือพิมพ์ และเขาขอสละอาชีพช่างแก้นาฬิกานั้น มารดาของเขาไม่ทราบว่า ควรจะแสดงความยินดีหรือเสียใจ เพราะว่าในประการหนึ่ง มารดารู้สึกว่าโต๊ะทำงานแก้นาฬิกาและตู้ใส่นาฬิกานั้น เป็นส่วนหนึ่งแห่งชีวิตของแกเป็นอนุสรณ์ที่ระลึกถึงสามี การที่โต๊ะและเครื่องอุปกรณ์แก้นาฬิกา จะต้องลับไปจากสายตา และไม่มีวันได้เห็นอีกต่อไปนั้นทำให้มารดามีความอาลัย ในอีกประการหนึ่ง การที่ลูกชายที่รักผู้มีมารดาเป็นคนยากจนได้ขวนขวายหาวิชาความรู้ใส่ตัวโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก จนกลายเป็นคนที่รู้วิชาหนังสือ และสามารถจะไปทำงานที่ต้องใช้วิชาหนังสือกับเขาได้นั้น ก็ทำให้มารดามีความภาคภูมิใจอยู่มิใช่น้อย มารดามีความไว้วางใจในการวินิจฉัยของบุตรคนหัวปี ซึ่งได้เป็นหลักของครอบครัวแทนบิดาตั้งแต่เยาว์วัย จึงมิได้ทัดทานความประสงค์ของเขา ว่าโดยที่แท้แล้ว มารดามีทั้งความรัก และความเกรงใจบุตร รายได้ที่เซ้งจะได้รับจากการไปทำงานหนังสือพิมพ์นั้น น้อยกว่ารายได้ในอาชีพเดิมของเขาพอดูทีเดียว แต่เขาก็เต็มใจจะสละเพื่อแลกกับความสุขใจ ที่เขาจะได้รับจากคุณค่าอันสูงของบริการใหม่
เมื่อนึกถึงความรับผิดชอบของเขาที่มีต่อครอบครัว และเพื่อที่จะมิให้มารดาต้องหนักใจในการเปลี่ยนอาชีพครั้งนี้ เซ้งได้บอกแก่มารดาว่าเขาจะยังไม่ปิดร้านแก่นาฬิกาเสียโดยทันที เขาจะไปทำงานหนังสือพิมพ์ในตอนกลางวัน และจะทำงานแก้นาฬิกาต่อไปในตอนกลางคืน เพื่อที่จะมีรายได้ให้น้องชายคนรองไปเรียนหนังสือ และเพื่อการเลี้ยงดูน้องผู้หญิงอีกสองคน แม้ว่าเขาจะทำให้มารดาคลายความหนักใจในเรื่องรายได้ แต่มารดาก็มีความกังวลใจในงานหนัก ที่ลูกชายได้ตัดสินใจเข้าแบกไว้ตั้งแต่เตี่ยของเขาได้
จากครอบครัวไป เซ้งต้องทำงานหนักตลอดมา เขาทำงานแก้นาฬิกาตอนกลางวัน เมื่อมีเวลาว่างก็อ่านหนังสือ ทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน ต่อมาเขาก็เรียนภาษาอังกฤษและต่อมาอีกเขาก็หัดแต่งหนังสือ เขาแทบจะไม่รู้จักการเที่ยวเล่นสนุกสนานและการแสวงหาความบันเทิงเริงรมย์ในรูปต่าง ๆ ที่เด็กวัยรุ่นทั้งหลายรู้จักกัน ดังนั้นเมื่อเขาไปนั่งทำงานที่สำนักหนังสือพิมพ์ ‘ประชามติ’ ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๖ การนั่งทำงานอย่างสงบเงียบและด้วยใจจดจ่ออยู่กับงานในหน้าที่ของ ‘นายช่างน้อย’ จึงทำให้เขาดูคล้ายกับเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ทั้งที่เขามีอายุย่าง ๒๑ ปี เขาแก่กว่านิทัศน์หนึ่งปี และอ่อนกว่าจันทาหนึ่งปี เขาแตกต่างกับนิทัศน์ในข้อที่ว่า แม้นิทัศน์จะมีท่าที่เป็นผู้ใหญ่ในเวลาทำงาน หรือในเวลาสนทนาในเรื่องจริงจัง แต่นิทัศน์ก็มีเวลาพูดเล่นขบขันและบางทีก็มีกิริยาคะนองซุกซนอย่างเด็ก ๆ ในยามพักผ่อน แต่เซ้งไม่เป็นเช่นนั้นเลย ในยามที่ใคร ๆ สนุกสนานกัน เขาก็มักสงบเงียบและในบางครั้งคราวมิตรสหายเรียกเขาว่า ‘ท่านบาดหลวง’ เนื่องด้วยเซ้งเป็นคนร่างเล็กและผอม และดวงหน้าก็ดูซูบอยู่เสมอ มารดาจึงเป็นห่วงสุขภาพของเขา แต่เซ้งได้รับรองกับมารดาว่าเขาไม่เคยรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลย ตลอดเวลาที่เขาทำงานตอนกลางวัน และเรียนหนังสือในตอนกลางคืน ความจริงเขาอาจจะเหน็ดเหนื่อยแต่เพราะความหลงรักหนังสือ เขาจึงไม่มีเวลาที่จะคิดถึงมัน
* * *
เมื่อจันทาไปหาเซ้งที่บ้าน และทราบว่าเซ้งไปทำงานหนังสือพิมพ์ได้หลายเดือนแล้ว เขาตื่นเต้นมาก และในเวลาไม่ช้านิทัศน์ก็ได้ทราบข่าวเรื่องนี้จากจันทา ต่อมาชายหนุ่มทั้งสองจึงนัดหมาย จะไปสนทนากับเซ้งที่สำนักงานของเขา เขาทั้งสองยังไม่เคยเข้าไปเห็นกิจการในสำนักหนังสือพิมพ์รายวันเลย และเขาอยากจะรู้ว่า เซ้งทำงานของเขาอย่างไร เซ้งได้นัดให้เพื่อนทั้งสองมาพบกับเขาในตอนบ่ายซึ่งเป็นเวลาที่เขาทำงานด่วนประจำวันเสร็จไปแล้ว ดังนั้นในบ่ายวันหนึ่ง ชายหนุ่มสองคนในเครื่องแบบชุดสากล จึงไปปรากฏตัวที่สำนักหนังสือพิมพ์ ‘ประชามติ’ เขาได้รับคำแนะนำให้ขึ้นไปชั้นบน เมื่อเขาโผล่เข้าไปในห้องกว้างใหญ่ซึ่งมีโต๊ะทำงานตั้งอยู่หลายโต๊ะ และได้หยุดยืนด้วยความลังเลใจอยู่ที่หน้าบังตาของประตูนั้น ได้มีคนหนึ่งภายในห้องนั้นเข้ามาถามความประสงค์ของเขา แล้วนำเขาเดินผ่านห้องใหญ่ ไปยังห้องทำงานของเซ้ง ซึ่งอยู่ติดกับห้องใหญ่ เมื่อไปหยุดยืนอยู่ที่หน้าห้องนิทัศน์ได้เรียกชื่อมิตรของเขาเบา ๆ เพราะว่าภายในห้องนั้น นอกจากเซ้ง ยังมีโต๊ะทำงานอีกสองโต๊ะ ผู้ที่นั่งประจำโต๊ะทุกคนต่างก้มหน้าทำงานของเขา เซ้งเงยหน้าขึ้นยิ้มรับมิตรทั้งสองแล้วก็ลุกขึ้นมาจัดเก้าอี้ให้เขานั่งที่หน้าโต๊ะของเขา ภายหลังที่แนะนำมิตรทั้งสองแก่หัวหน้าของเขาเป็นการเคารพแล้ว เขาทั้งสามก็เริ่มทักทายปราศรัยกันด้วยเสียงเบาๆ เพื่อมิให้เป็นการรบกวนผู้อื่นที่นั่งทำงานอยู่ในห้องนั้น สักครู่หนึ่ง หัวหน้าของเซ้งได้ลุกจากโต๊ะทำงานของเขาพร้อมด้วยกระดาษแผ่นหนึ่งในมือ และก่อนที่เขาจะเดินออกไปจากห้อง เขาหันหน้าไปทางโต๊ะเซ้ง และพูดว่า “คุยกันตามสบายนะคุณ ไม่ต้องเกรงใจผม จะดื่มอะไรกันบ้างล่ะ ผมจะสั่งมาให้”
เซ้งมองดูหัวหน้าของเขา ด้วยสายตาแสดงความรักใคร่นับถือ พลางตอบว่า “ขอบคุณครับ ผมคิดว่ายังไม่ต้องการอะไรดอกครับ”
“เอากาแฟเย็นซิ บ่ายวันนี้มันออกจะร้อนนิดหน่อย” แล้วหัวหน้าก็เดินออกไป
“หัวหน้าของเธอใจดีมากนี่เซ้ง” นิทัศน์พูดเบาๆดวงตาของเขาวาววาม
เซ้งรับรองด้วยอาการยิ้มละไม
“หัวหน้าของเธอเป็นบรรณาธิการใช่ไหม?” นิทัศน์ถามต่อ
เซ้งปัดเส้นผม ที่ห้อยลงมาปรกหน้าผาก ขณะเงยหน้าขึ้นพลางสั่นศีรษะ ยกมือชี้ไปทางด้านหน้าห้องและพูดว่า “ท่านบรรณาธิการอยู่ทางโน้น”
“ใจดีไหม?” นิทัศน์ถามอีก
“ใจดีซิ แต่ท่านบรรณาธิการมีงานมาก” เซ้งยิ้มละไมเช่นเคย
“พวกผู้ใหญ่ที่นี่ เป็นคนใจดีทั้งนั้น และเป็นกันเองกับคนแปลกหน้า ฉันรู้สึกว่าพวกที่ทำงานหนังสือพิมพ์มักจะเป็นเช่นนี้โดยมาก”
“หัวหน้าของเธอถือกระดาษไปทำไม?” จันทาเริ่มซักบ้าง หลังจากที่ลอบมองกวาดตาไปทั่วห้อง ตลอดจนมองขึ้นไปบนเพดานด้วยความตื่นเต้น
“เอาต้นฉบับไปส่งช่างเรียง แล้วบางทีก็จะไปพบ ปรึกษางานกับท่านบรรณาธิการ หรือไปดูเขาเข้าหน้าหนังสือ”
“งานหนังสือพิมพ์หนักไหมเซ้ง?” นิทัศน์ถาม
“จะว่าหนักก็หนัก เพราะต้องทำกันตลอดวัน ไม่ใครว่าง และต้องทำกันอย่างรวดเร็ว” เซ้งอธิบาย
“จะว่าเบาก็เบา เพราะถึงจะทำกันตลอดวัน ก็ทำด้วยความเพลิดเพลินลืมความเหน็ดเหนื่อย”
“เปรียบกับงานแก้นาฬิกาเป็นอย่างไรกัน” นิทัศน์ซัก
“เปรียบกันไม่ได้หรอก” เซ้งสั่นหน้า “งานแก้นาฬิกาฉันทำเพราะความจำเป็น แต่งานหนังสือพิมพ์ฉันทำด้วยความรัก”
เมื่อจันทาถามว่าเขาต้องทำอะไรบ้างในวันหนึ่งๆ เซ้งชี้แจงว่า งานส่วนใหญ่ของเขาเป็นงานแปลข่าวต่างประเทศ ตามที่หัวหน้าคัดเลือกให้ เขาบอกว่าเขาพอใจงานนี้มาก เพราะได้มีโอกาสฝึกฝนภาษาอังกฤษให้ดียิ่งขึ้น ทั้งได้มีโอกาสศึกษาเหตุการณ์ต่างประเทศด้วย
“เธอใช้เวลาตอนไหน อ่านหนังสือ?” นิทัศน์ถาม “เพราะตอนกลางคืน เธอก็ต้องแก้นาฬิกา”
“ฉันตื่นแต่เช้ามืด และได้ใช้เวลาราวสองชั่วโมงอ่านหนังสื่อก่อนมาทำงาน”
“เธอขยันมาก” นิทัศน์ชมเชย “ฉันกับจันทาใช้เวลากลางคืนเรียนกฎหมาย ตอนเช้าฉันดูหนังสือในบางวัน ไม่ได้ดูทุกวันอย่างเธอหรอก”
เขาสนทนากันเรื่องงานหนังสือพิมพ์กันพักใหญ่ ระหว่างนั้นมีผู้นำกาแฟเย็นมาให้เขาสามแก้ว ถัดจากงานหนังสือพิมพ์ เขาสนทนากันถึงเรื่องเพื่อนนักเรียนและครูของเขา นิทัศน์เป็นผู้เล่าให้เซ้งฟังว่า พวกเพื่อนร่วมห้องของเขา ได้ไปเรียนต่อที่เมืองนอกกันหลายคน ศิริลักษณ์ซึ่งพลาดการสอบชิงทุนสกอล่าชิปในปีเดียวกับนิทัศน์ ได้รอโอกาสสอบชิงทุนของกระทรวงที่บิดาของเขาเป็นเสนาบดีอยู่ แต่เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นแล้ว ท่านบิดาของศิริลักษณ์ต้องออกจากราชการ และการสอบชิงทุนของกระทรวงก็ได้ถูกระงับไปด้วย ศิริลักษณ์จึงมองดูการปฏิวัติด้วยความรู้สึกขมขื่น อย่างไรก็ดี ท่านบิดาก็ได้ส่งเขาไปเรียนในประเทศอังกฤษโดยทุนส่วนตัว หม่อมเจ้าศุภมงคลได้ออกไปอังกฤษก่อนหน้าศิริลักษณ์ เทียนหมิงออกไปศึกษาเรื่องการค้าและธนาคาร ไล่หลังหม่อมเจ้าศุภมงคล ปิ่นแก้วเข้าศึกษาวิชารัฐศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเจริญรอยอาชีพตามท่านบิดา บุญครองสอบตกชั้นมัธยม ๗ ภายหลังการเรียนซ้ำอีกปีหนึ่ง เขาจึงผ่านไปได้อย่างหวุดหวิด และเมื่อเขาสอบตกอีกครั้งหนึ่งในชั้นมัธยม ๘ เขาก็ลาออก และไปฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านสมาชิกผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านหนึ่ง และต่อมาบุญครองก็ได้รับราชการอยู่ในสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เขาสนทนากันเรื่องครูอุทัยและท่านขุนวิบูลย์ธรรมวิทย์ แม้ว่าเซ้งจะไม่ได้เรียนกับครู ‘ท่านขุน’ แต่นิทัศน์กับจันทาได้เคยพาเขาไปรู้จักกับครู และเมื่อเซ้งหัดแต่งหนังสือนั้น เขาเคยนำไปให้ ‘ท่านขุน’ ตรวจและขอคำแนะนำในการแต่งหนังสือจากท่าน เพราะฉะนั้นเซ้งจึงเท่ากับเป็นศิษย์และสนิทสนมกับครู ‘ท่านขุน’ ไม่น้อยกว่ามิตรทั้งสอง
เขาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ในเรื่องการดำเนินชีวิตในอนาคต นิทัศน์ผู้รักความจริงและความยุติธรรม และชิงชังความอยุติธรรมยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ปรารถนาจะได้เป็นผู้พิพากษา เขามีความมั่นใจว่า คดีทุกคดีที่มาสู่การพิจารณาของเขา เขาจะต้องทำให้ตราชูแห่งความยุติธรรมตั้งอยู่อย่างเที่ยงตรง เขายินดีจะปล่อยคนผิดเสียสิบคน เพื่อแลกกับความสงสัยว่า เขาอาจจะนำคนที่ไม่ได้กระทำความผิดมาทนทุกข์ทรมานอยู่ในคุก เขาคิดว่า ด้วยการเป็นผู้พิพากษา เขาจะได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการผดุงรักษาความยุติธรรมของสังคม เขามองดูผู้พิพากษาทุกคนด้วยความเคารพ เขาเชื่อว่าทุกท่านที่สวมเสื้อคลุมอันมีเกียรติ ทุกท่านที่นั่งพิจารณาคดีอยู่บนบัลลังก์อันสง่าในนามศาลของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ แขวนอยู่เหนือศีรษะของท่านเหล่านั้น จักเป็นบุคคลที่มีจิตใจอันสะอาด และมีปณิธานแน่วแน่ที่จะผดุงรักษาความยุติธรรมเสมอด้วยชีวิต ดุจเดียวกับที่เขามีความสำนึกอยู่
“ฉันได้พบเพื่อนที่กระทรวงเขาพูดกันว่า มีผู้พิพากษาที่กินสินบน และมีอัยการที่กินสินบน และที่บ้านนอกของฉัน เขาก็เคยพูดกันอย่างนี้” จันทาเอ่ยขึ้น
นิทัศน์นั่งนิ่ง คิ้วขมวดอยู่ครู่หนึ่ง
“ฉันยังไม่รู้ว่า เขาให้สินบนผู้พิพากษากันอย่างไร การออกปากให้สินบนนั้น เป็นการดูหมิ่นสบประมาทผู้รักษาความยุติธรรมของประเทศอย่างฉกรรจ์ จะมีคนกล้าพูดกับท่านผู้พิพากษาเทียวหรือ ?”
“ฉันก็ไม่ทราบว่าเขาให้กันอย่างไร ฉันได้ยินแต่เขาพูดกัน” จันทาตอบ
“ถ้าฉันเป็นผู้พิพากษา และมีคนมาพูดให้สินบน ฉันจะบอกให้ตำรวจจับทันที และถ้าฉันทราบว่ามีผู้พิพากษากินสินบน ฉันก็จะบอกให้ตำรวจจับเหมือนกัน” นิทัศน์พูดด้วยความรู้สึกชิงชัง “ความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม เดี๋ยวนี้ประเทศของเราก็ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้วเราจะต้องทำให้บ้านเมืองของเราเป็นบ้านเมืองแห่งความยุติธรรม”
“เราจะทำอย่างไร?” จันทาถาม
“เราจะต้องเรียนต่อไป และเราก็กำลังเรียนอยู่ ที่มหาวิทยาลัยของเรา” นิทัศน์หันไปทางเซ้ง “ในตอนนี้ ถ้าเราทราบเรื่องทุจริตเหล่านี้ เราก็ควรจะนำมาเขียนลงหนังสือพิมพ์ดี ดีไหมเซ้ง”
เซ้งพยักหน้ารับคำข้อเสนอของนิทัศน์
โดยที่เขารับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทย จันทาจึงคิดว่าเขาเรียนกฎหมายสำเร็จแล้ว เขาจะสมัครเป็นอัยการ เขาใคร่จะได้ออกไปเป็นอัยการอยู่ที่จังหวัดบ้านเดิมของเขา เพื่อที่เขาจะได้ไปเป็นประโยชน์แก่พวกพ้องชาวบ้านนอกของเขา ในการผดุงรักษาความยุติธรรม
“ถ้าเธอพบอัยการทุจริตกินสินบน เธอจะต้องบอกให้ตำรวจจับนะจันทา” นิทัศน์กำชับ
เกี่ยวกับชีวิตบ้านนอกนั้นจันทามีความรู้มากกว่านิทัศน์ เขาจึงเล่าให้มิตรฟังว่า ที่บ้านนอกนั้นราษฎรปรารถนาจะให้มีใครสักคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจจับตำรวจได้ หากว่าเป็นไปได้เช่นนั้น บางทีพวกตำรวจและอำเภอ จะถูกจับมากกว่าราษฎรที่ถูกตำรวจและอำเภอจับไปเสียอีก เพราะว่าเจ้าหน้าที่สองพวกนั้นมักจะกดขี่ข่มเหงราษฎรในทางฝ่าฝืนกฎหมายอยู่เสมอ
ส่วนข้างเซ้งนั้น เขาได้ตกลงใจแน่วแน่แล้วว่า จะขอเป็นนักเขียนไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะไม่มีใครอ่านหนังสือที่เขาเขียน หรือจนกว่าไม่มีสำนักหนังสือพิมพ์ใด จะต้องการเขา
“บางทีในอีกสิบปีข้างหน้า เซ้งจะได้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ” จันทากล่าวด้วยศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อมิตร ผู้ขยันหมั่นเพียร และมีปัญญาดี
“ฉันต้องการเพียงแต่ได้มีโอกาสเขียนหนังสือ และได้เป็นนักเขียนคนหนึ่งเท่านั้น” เซ้งตอบด้วยความสงบเสงี่ยมอันเป็นนิสัยของเขา “ฉันอาจจะเขียนหนังสือไม่เก่ง แต่ฉันตั้งใจจะเป็นนักเขียนที่ดี”
“เซ้งจะต้องเป็นกำลังของระบอบใหม่ เพราะเธอเป็นนักเขียนที่เกิดมาในระบอบใหม่” นิทัศน์เรียกร้อง “พวกเด็กรุ่นเรา จะต้องเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เราจะต้องเป็นกำลังของประชาธิปไตย”
เซ้งยิ้มรับคำเรียกร้องของมิตร เขาไม่ใคร่จะช่างพูดเหมือนนิทัศน์ เพียงแต่รอยยิ้มอย่างเต็มอกเต็มใจของเขาเท่านั้น ก็มีค่าเท่ากับคำตอบรับรองอย่างมั่นคง
“อิทธิพรและรุจิเรข เขาจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกับพวกเราหรือไม่?” จันทาถามขึ้น
“เราไม่ทราบความคิดของเขา” นิทัศน์ตอบ “เราจะต้องรอดูไปก่อนจนกว่าเขาจะกลับจากเมืองนอก แต่เราไม่กลัวเขาหรอก”
“ฉันไม่ได้เรียนกฎหมาย จึงมีความรู้เรื่องประชาธิปไตย น้อยนัก” เซ้งรำพึง ยืดหลังของเขาที่มักจะงอให้ตรง สีหน้าเซียวของเขาเปล่งปลั่งขึ้น เมื่อพูดต่อไปด้วยเสียงที่แหลมกว่าปกติ “แต่ฉันก็รักประชาธิปไตยมาก ฉันรักประชาธิปไตยก็เพราะว่าประชาธิปไตยทำให้เราได้มีสภาผู้แทนราษฎร พวกเราราษฎรได้มีโอกาสเลือกผู้แทนของเราเข้าไปในสภา และผู้แทนของเราจะเป็นผู้ป้องกันสิทธิของราษฎร เขาจะเป็นผู้ป้องกันการกดขี่ข่มเหงราษฎร เขาจะเป็นปากเป็นเสียงแทนราษฎร คนยากคนจนเช่นพวกเรา ราษฎรจะต้องการให้รัฐบาลทำอะไร เพื่อประโยชน์ของราษฎร ราษฎรก็แสดงความประสงค์ไปยังผู้แทนได้ ความรู้เพียงเล็กน้อยเท่านี้ก็ทำให้ฉันรักประชาธิปไตยมากมาย เพราะว่า แต่ก่อนนี้ เมื่อราษฎรได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนเขาไม่รู้จะไปบอกกล่าวกับใคร และก็ไม่มีใครจะมาเอาธุระกับเขา”
และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ เรามีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดความเห็นได้อย่างเต็มที่ หนังสือพิมพ์ก็ออกความเห็นได้เต็มที่ และเซ้งก็จะเป็นปากเสียงของราษฎรได้ โดยทางหนังสือพิมพ์ นิทัศน์พรรณนาต่อไปด้วยท่าทางของครู น้ำเสียงของเขาฉาดฉาน “ในเวลานี้เราได้รับโอกาสและความสะดวกที่จะศึกษาหาความรู้ขั้นสูงได้อย่างกว้างขวาง แต่ก่อนมีเด็ก ๆ ที่พ่อแม่มีเงินทองเท่านั้น ๆ จึงจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เดี๋ยวนี้เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดขึ้นแล้ว เด็ก ๆ ที่มีพ่อแม่ยากจนและผู้ที่อยู่ตามหัวเมืองก็เข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้ ถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นนักศึกษา ก็อาจซื้อคำบรรยายของมหาวิทยาลัยที่พิมพ์ออกขายในราคาถูก ๆ ไปศึกษาตามลำพังได้ ในเวลานี้ เราได้เรียนทั้งวิชาการเมือง และวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในสมัยก่อนไม่มีการสอนกันเลย ในบ้านเมืองของเราในสมัยก่อน มีแต่ลูกขุนนางชั้นสูง และพวกเจ้านายไม่กี่คนที่ได้ไปศึกษาต่างประเทศและได้เรียนวิชาเหล่านี้” ครูอุทัยบอกว่า
“ที่ว่าราษฎรเป็นคนโง่ ไม่รู้เรื่องการปกครองบ้านเมือง ก็เพราะราษฎรไม่มีโอกาสได้เรียน และรัฐบาลของระบอบเก่าก็ไม่จัดการสอนวิชาเหล่านี้แก่ราษฎร คนชั้นสูงจึงมีโอกาสผูกขาดอำนาจ การปกครองไว้แต่พวกเดียว แต่ในเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จะมีนักศึกษาที่ได้เรียนวิชาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ สำเร็จจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับเป็นจำนวนพัน เราก็จะได้คนที่รู้การปกครองบ้านเมืองที่มาจากชนชั้นต่าง ๆ กัน และการผูกขาดอำนาจการปกครองโดยชนชั้นสูง ก็จะไม่มีอีกต่อไป ราษฎรจะมีผู้แทนของเขาซึ่งสามารถปกครองบ้านเมืองแทนเขาได้”
เมื่อนิทัศน์หยุดพูด ทั้งสามคนก็ระบายลมหายใจยาว ด้วยความปราโมทย์ระคนกับความตื่นเต้น จันทายกศอกซ้ายขึ้นมาจากโต๊ะ ขยับตัวบนเก้าอี้ เอามือทั้งสองวางลงบนตักอย่างสำรวม แล้วพูดเนิบ ๆ
“ฉันคิดว่ารัฐบาลที่เป็นตัวแทนของราษฎรคงจะรีบลงมือช่วยเหลือพี่น้องชาวนาของเรา แก้ปัญหาเรื่องฝนแล้งและน้ำท่วมนา ช่วยให้พี่น้องชาวนาของเราปลูกข้าวได้ผลทุกปี และช่วยให้พี่น้องชาวนาของเราขายข้าวได้ราคาดีขึ้น พวกชาวนาของเราก็จะพ้นจากความอดอยาก และมีเสื้อผ้านุ่งห่มกันหนาวเพียงพอ รัฐบาลของราษฎรคงจะจัดการให้ราษฎรชาวบ้านนอกได้มีชีวิตที่สุขสบายขึ้นคือ ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องเมื่อเวลาป่วย เด็ก ๆ ลูกชาวนาคงจะมีโอกาสได้เรียนหนังสือกันอย่างทั่วถึง และรัฐบาลก็คงจะปราบปรามโจรผู้ร้าย และปราบปรามเจ้าหน้าที่ที่กดขี่ข่มเหงราษฎรจนกระทั่งราษฎรทุกท้องที่นอนตาหลับได้”
ชายหนุ่มทั้งสามได้สนทนากันต่อไปถึงผลดีนานาประการที่เขาไว้วางใจอย่างมั่นคงว่า ระบอบประชาธิปไตยจะนำมาสู่ชีวิตของราษฎรไทยทั่วหน้า นัยน์ตาของเขาวาววามด้วยศรัทธาเขาปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นประโยชน์และเป็นพลเมืองดีของระบอบใหม่ เขาพูดกันด้วยความชื่นชมถึงเรื่องที่พวกกรรมกรได้มีบทบาทในการออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎรเขาตื่นเต้นที่พวกกรรมกรได้นัดประชุมปรึกษากันว่า จะเลือกใครเป็นผู้แทนของเขา แต่ก่อนนี้ไม่มีใครเคยนึกฝันว่า คนเหล่านี้ซึ่งใครก็เรียกกันว่าคนชั้นต่ำนั้น จะสนใจในกิจการบ้านเมือง พวกคนชั้นสูงประมาทเขาว่า คนเหล่านี้ถึงแม้จะได้สิทธิทางการเมือง เขาก็ไม่มีหัวคิดจะใช้มัน แต่พฤติการณ์ในการเลือกผู้แทนราษฎรและผลของการเลือกตั้งกลับแสดงไปในทางตรงกันข้าม ชายหนุ่มทั้งสามติดอกติดใจมากในเรื่องการที่พวกกรรมกรได้มีบทบาทอันกระฉับกระเฉง ในการออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎร เขาเชื่อว่า เมื่อพวกกรรมกรได้มีผู้แทนของเขา ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ฐานะความเป็นอยู่ของพวกกรรมกร ก็จะดีขึ้นเป็นลำดับดังที่เขาเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นแก่พวกชาวนา เขาพูดกันด้วยความปลาบปลื้มที่ผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสามัญชน ได้อภิปรายปัญหาการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการมอันเฉียบแหลมอย่างน่าทึ่ง เขาตื่นเต้นที่ผู้แทนราษฎรสามัญชนสามารถโต้ตอบปัญหาการเมืองกับท่านขุนนางผู้ใหญ่บางคนที่อยู่ในคณะรัฐบาลได้อย่างคล่องแคล่ว
ชายหนุ่มทั้งสามสนทนากันถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ได้บังเกิดขึ้นในภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันล้วนแต่เป็นเรื่องที่คนรุ่นเก่าไม่ได้นึกฝันว่าจะเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ และสำหรับเขาทั้งสาม เขาได้พูดถึงมันด้วยความรู้สึกปรีดาปราโมทย์ มีคนไม่น้อยที่เคยเข้าใจว่าถ้าพวกเจ้านายและขุนนางชั้นสูงไม่ได้ปกครองบ้านเมืองเสียแล้ว ราษฎรจะเอาใครหน้าไหนมาปกครองบ้านเมืองแทนท่านเหล่านั้น แต่เขาทั้งสามก็ได้เห็นอยู่แก่ตาว่า การบริหารราชการแผ่นดินและการออกกฎหมายต่าง ๆ ที่กระทำกันในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ได้ดำเนินการไปโดยการนำของคนรุ่นใหม่เป็นส่วนมาก และในหมู่คนเหล่านั้นก็มีบุคคลที่มาจากครอบครัวสามัญชน ทั้งในเมืองและชนบทรวมอยู่มิใช่น้อย
เขาทั้งสามสนทนากันถึงกิจการบ้านเมืองในระบอบใหม่ด้วยความกระตือรือร้นสนใจ และด้วยความเชื่อมั่นในความดีงามที่ระบอบนั้นจะนำมาสู่ประชาชนไทย เขาสนทนากันอยู่ตั้งหลายชั่วโมง โดยปราศจากความเหน็ดเหนื่อย จนกระทั่งเซ้งได้เงยหน้าขึ้น และเห็นภารโรงของโรงพิมพ์ ชะโงกหน้าเข้ามาในห้อง และเขาได้ยินเสียงเครื่องพิมพ์ดังสนั่นอยู่ภายในห้องทำงาน เขาจึงได้คิดว่า งานประจำวันของกองบรรณาธิการ ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว และสหายร่วมงานของเขาก็คงจะกลับบ้านกันเกือบหมดแล้ว