จันทาเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เขาได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ ๒๐ บาทด้วยเงินที่เขา “ได้รับพระราชทาน” ทุกเดือนและการที่เขาถูกเรียกว่าข้าราชการนั้น ทำให้เขารู้สึกว่า เขาเป็นข้าของพระเจ้าแผ่นดิน และของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้เขา ทำนองเดียวกับที่เขาเป็นข้าของเจ้าคุณอภิบาลราชธานี ซึ่งได้ชุบเลี้ยงเขามาไม่ผิดกันเลย เขาไม่ใคร่จะได้คิดถึงว่า เงินเดือนที่เขาได้รับตลอดจนข้าราชการทุกคน ตั้งแต่ท่านเสนาบดีลงมาจนถึงภารโรงนั้น เป็นเงินที่รวบรวมเอามาจากราษฎรทั้งสิ้น เขาคิดถึงรัฐบาลและผู้เป็นนายในราชการของเขา ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจบันดาลโชคชะตาของเขามากกว่า ส่วนข้อที่เขาเป็นข้าราชการนั้นก็ทำให้เขารู้สึกว่า เขาออกจะแตกต่างกับราษฎรธรรมดาไม่มากก็น้อย ทั้งนี้มิใช่ว่าเขามีความเห่อเหิม แต่เพราะว่าการวางตนของข้าราชการ โดยทั่วไปเช่นนั้น ความรู้สึกว่ามีอำนาจเหนือราษฎร เป็นนายราษฎร และฉลาดกว่าราษฎรนั้น เป็นความรู้สึกของข้าราชการโดยทั่วไป จันทาคิดว่า เมื่อเขาเป็นข้าราชการ เขาก็ควรจะวางตนเช่นข้าราชการทั้งหลาย และถึงแม้เขาจะไม่มีความรู้สึกเห่อเหิม ทั้งรู้สึกกระดากกระเดื่องในการวางตนเช่นนั้นก็ดี แต่ในบางครั้งบางคราวที่เขาคำนึงว่า ในฐานที่เขาเป็นข้าราชการ เขาย่อมแตกต่างกว่าราษฎรธรรมดานั้น เขาก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า มันทำให้เขาใหญ่โตขึ้นกว่านายจันทาคนเดิมก่อนเป็นข้าราชการ และมันก็นำความรู้สึกชื่นบานอย่างใหม่มากำนัลเขา

ถึงแม้เขาจะได้ยินมาว่า ท่านเสนาบดีของเขาได้รับเงินเดือน ๓,๐๐๐ บาท ซึ่งแตกต่างกว่าเงินเดือนของเขาถึง ๑๕๐ เท่า เขาก็ไม่เคยแสดงความพิศวงว่า เหตุใดเงินเดือนของเสนาบดีจึงแตกต่างกว่าของเขาอย่างมากมายถึงปานนั้น เขารู้สึกแต่ว่า ท่านเสนาบดีของเขาเป็นคนที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ และท่านที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เช่นนั้น ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องได้รับเงินเดือนมากมาย เพื่อประดับบุญญาบารมีของท่าน

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ จันทาได้เข้าเรียนวิชากฎหมาย ในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ตามคำแนะนำของนิทัศน์ นิทัศน์บอกกับเขาว่า เขาไม่ควรจะหวังพึ่งแต่ใบบุญของท่านผู้อุปถัมภ์ เขาควรจะคิดพึ่งตัวของเขาเองด้วย โดยการศึกษาวิชาความรู้เพิ่มเติมเพื่อความก้าวหน้าในทางราชการ นิทัศน์อ้างครูอุทัยเป็นแบบอย่าง อย่างไรก็ดี การเรียนกฎหมายในปีแรกของจันทาได้ประสบอุปสรรคหลายประการ เช่นความไม่สะดวกในการแสวงหาคำบรรยายมาศึกษา และหนังสือตำราวิชากฎหมาย ซึ่งมีราคาแพงและหายาก เขารู้สึกว่า โอกาสที่บุคคลจะได้ศึกษาวิชาการต่างๆ นั้นอยู่ในวงอันจำกัดและแคบมาก ประกอบกับเขาไม่มีเวลาพอจะดูหนังสือให้เต็มที่ ทั้งข้อความในวิชากฎหมายก็เป็นข้อความที่ใหม่ต่อความรู้สึกนึกคิดของเขา และก่อความสงสัยแก่เขาบ่อย ๆ ดังนั้นเขาจึงมิได้เข้าสอบในปีแรก

สำหรับนิทัศน์นั้น ถ้าเขาเลือกได้เขาก็ปรารถนาจะเข้าเรียนวิชาแพทย์ในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ความเป็นอยู่อันลำบากยากแค้นของชาวชนบท และการที่บุคคลเหล่านั้นได้ถูกทอดทิ้งให้ต่อสู้กับโรคพยาธิไปตามยถากรรม ตามที่เขาได้รับบอกเล่าจากมิตรชาวบ้านนอกนั้น เป็นสิ่งประทับใจเขา เขาคิดว่า การเรียนวิชาแพทย์นอกจากจะช่วยตัวเขาและพ่อแม่พี่น้องของเขาได้อย่างดีแล้ว เขายังจะใช้วิชาความรู้ของเขาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เจ็บป่วยและยากจนได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี ในปีสุดท้ายของการศึกษานั้น เขาได้ทราบว่า การค้าขายหาเลี้ยงครอบครัวที่แม่ของเขาได้แบกภาระไว้นั้น ได้ประสบกับความฝืดเคือง เขาไม่ประสงค์จะให้แม่ทรมานตนทำงานหนักต่อไปอีกถึงหกปี ในระหว่างที่เขาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ทั้งเขาก็รู้สึกว่าโตพอที่จะใช้เรี่ยวแรงของเขา ช่วยปลดเปลื้องภาระหนักของครอบครัวได้แล้ว ดังนั้นเมื่อเขาสอบไล่จบชั้นมัธยมบริบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เขาจึงสมัครเข้าเป็นนักเรียนสอน และทำการสอนอยู่ในโรงเรียนเก่าของเขานั่นเอง เขาทำหน้าที่ครูอยู่ได้เดือนเศษก็ได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงที่สุด บังเกิดขึ้นในประเทศของเขา.

ภายหลังวันที่ ๒๔ มิถุนายน ราวหนึ่งสัปดาห์ นิทัศน์กับจันทาได้มาพบกับ ณ ร้านขายอาหารค่อนข้างซอมซ่อร้านหนึ่ง ในบริเวณโรงหนังสิงคโปร์ ซึ่งเขาเคยมานั่งกินอาหารด้วยกันสองสามครั้ง ตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นนักเรียน ในครั้งนี้นิทัศน์เป็นผู้เชิญโดยถือโอกาสที่เขาจะได้ใช้เงินที่เขาหาได้จากน้ำพักน้ำแรงของเขาเองเป็นครั้งแรกในชีวิต ณ บัดนี้ การพบระหว่างเขาทั้งสอง มิใช่เป็นการพบระหว่างเด็กชายสองคนที่สวมกางเกงขาสั้นสีดำ หากเป็นการพบระหว่างข้าราชการรุ่นหนุ่มสองคน ผู้เป็นครูนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน ใส่เสื้อนอกผ้าลินินพร้อมด้วยถุงน่อง รองเท้า อายุย่างขึ้นปีที่สิบเก้า ร่างเล็กสูง ริมฝีปากบางงาม จมูกได้ส่วนสัดกับดวงหน้า ดวงตาโตแจ่มใสวาววามด้วยความคิด ท่วงทีสุขุมดูเป็นผู้ใหญ่ ชายหนุ่มผู้เป็นเสมียนของกระทรวงมหาดไทย นุ่งผ้าพื้นสีกรมท่า สวมรองเท้าแต่ไม่สวมถุง ร่างใหญ่ล่ำ อกแน่นเสื้อนอกผ้าลายสองที่เขาสวมนั้นค่อนข้างคับนิดหน่อย แสดงถึงความเติบโตสมบูรณ์ของร่างกาย ส่วนสูงของเขาถูกทอนลง จากอาการเดินที่โน้มศีรษะไปข้างหน้าและหลังค่อมเล็กน้อย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความเคยชินที่เขาต้องเดินค่อมตัว ในฐานะเป็นข้าอยู่ในคฤหาสน์ของท่านขุนนางผู้ใหญ่มาเป็นเวลาหลายปี ดวงหน้าของเขาใหญ่ ผิวกร้าน เส้นผมแข็ง จมูกดูจะกลับแบนลงไปกว่าเดิม เมื่อส่วนอื่นๆ เติบโตขึ้น แต่ยิ้มปากกว้างอันแสดงถึงความซื่อ และความสงบเสงี่ยม ซึ่งมักจะปรากฏให้เห็นเป็นครั้งคราวนั้น เป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ที่สุด บนดวงหน้าใหญ่ของเขา

เจ้าของร้านชาวจีนจำเขาไม่ได้เพราะเขามาครั้งหนึ่ง แล้วก็เว้นไปนาน นอกจากนั้นการแต่งกายของเขาทั้งสองก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในร้านมีโต๊ะตั้งอยู่ค่อนข้างชิดกัน มีโต๊ะว่างอยู่สองโต๊ะ เขาสั่งก๋วยเตี๋ยวผัดเนื้อวัวอย่างที่เคยสั่งมาแล้วทุกคราว แต่ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการฉลองการได้รับเงินเดือน นิทัศน์ได้สั่งขนมปังเนื้อสะเต๊ะเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่ง จันทาถามนิทัศน์ถึงเรื่องการสอนหนังสือ นิทัศน์เล่าให้เขาฟังว่าเขาถูกเลือกให้สอนชั้นมัธยมห้า จันทาออกจะตกใจที่สหายของเขาได้ทำการสอนเด็กที่ค่อนข้างจะโตเกือบเท่าเขา

“พวกนักเรียนกลัวเธอไหม?” จันทาซัก

นิทัศน์ส่ายหน้า “ฉันคิดว่าเขาไม่กลัว แต่ฉันก็ไม่พยายามจะทำให้เขากลัว ฉันพยายามทำตัวให้เคร่งขรึม เมื่อเข้าไปในห้องเรียนโดยเลียนแบบคุณครู ‘ท่านขุน’ แต่เมื่อฉันเห็นเขาทำอะไรกันที่น่าขันฉันก็กลั้นยิ้มไม่ใคร่ได้ นี่แหละที่ทำให้พวกนักเรียนคิดว่าฉันเป็นพวกเดียวกับเขา และไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย”

จันทาหัวเราะเบาๆ ด้วยความขัน เขาคิดว่าในการทำตัวให้เป็นครูที่มีท่าทางเคร่งขรึมนั้น นิทัศน์ไม่จำเป็นจะต้องเลียนแบบจากครู ‘ท่านขุน’ เลย เพราะว่าในทุกครั้งที่เขาพูดอธิบายเรื่องอะไร แก่เพื่อนนักเรียนด้วยกัน ท่าทางของเขามักจะดูจริงจังอยู่เสมอ เขามีลักษณะท่าทางเป็นครูอยู่แล้วตั้งแต่ยังเล็กๆ

“เธอตีนักเรียนที่ซนๆ และดื้อดึงบ้างหรือเปล่า ?” จันทาถามต่อไป

“ฉันคิดว่าในชีวิตที่ฉันเป็นครู ฉันคงจะไม่ตีนักเรียนเลย ฉันจะให้โอกาสแก่นักเรียนได้แก้ตัวอย่างเต็มที่เมื่อเขาทำผิด เหมือนอย่างที่ครอุทัยได้ให้แก่พวกเรา” นิทัศน์พูดอย่างเคร่งขรึม แล้วเขาก็ยิ้มแย้มเมื่อพูดต่อไป “เมื่อเป็นเด็กฉันก็เคยซนและเคยดื้อมาเหมือนกัน ฉันจะไปตีเด็กดื้อได้อย่างไร จริง ๆ นะ ฉันออกจะชอบเด็กดื้อ ฉันคิดว่าครูไม่ควรจะชิงชังความดื้อของเด็ก ครูควรจะพิจารณาดูว่าเขาดื้อในทางเลวร้าย หรือในทางที่จะค้นหาสิ่งที่ดีตามความคิดเห็นของเขา ฉันได้เคยปรึกษาคุณครู ‘ท่านขุน’ ถึงเรื่องนี้ และท่านก็เห็นด้วยกับฉัน” เขาหยุดครู่หนึ่ง และพูดต่อไปด้วยน้ำเสียงที่แสดงความจริงจัง “แต่ถ้าฉันเผลอตัว ฉันอาจจะตีนักเรียนสักสองคนที่ขี้ขลาด ไม่รักษาความสัตย์ความจริง และทำให้คนอื่นได้รับความเสียหาย เพราะความเห็นแก่ตัวของเขา ฉันอาจจะตีนักเรียนอย่างบุญครอง และสอนให้เขารู้จักนับถือตัวเอง”

จันทาได้ทราบจากการสนทนาต่อไปว่า ถึงแม้นักเรียนจะไม่กลัวนิทัศน์ แต่การสอนของเขาก็ดำเนินไปด้วยดี และนักเรียนก็มีความพอใจในการสอนของครูที่ทำท่าขรึม แต่มักจะลอบก้มหน้าอมยิ้มอยู่บ่อยๆ จันทาไม่แปลกใจเลยที่นิทัศน์ปฏิบัติหน้าที่ของเขาได้เรียบร้อย จันทามีศรัทธาอย่างมั่นคงว่า นิทัศน์จะเป็นครูที่ดีที่สุดคนหนึ่งเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ ระหว่างรับประทานก๋วยเตี๋ยวผัดเขาเปลี่ยนการสนทนาไปพูดถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน จันทาได้ตั้งคำถามด้วยเสียงที่ค่อนข้างะกุกตะกักว่า “เธอคิดว่าการเปลี่ยนการปกครองครั้งนี้จะเป็นผลดีแก่บ้านเมืองหรือ?”

นิทัศน์ขมวดคิ้วมองหน้ามิตรของเขาครู่หนึ่ง พลางย้อนถามว่า “พวกนักเรียนกฎหมายและพวกที่กระทรวงของเธอ เขามีความเห็นกันว่าอย่างไรล่ะ?”

“นักเรียนกฎหมายส่วนหนึ่งแสดงความพอใจ แต่อีกพวกหนึ่งเฉยๆ ดูท่าทางไม่สู้สบายใจ”

“พวกที่เฉยๆ น่ะ เขาเป็นใคร เขามีฐานะอย่างฉันหรือเปล่า?” นิทัศน์ไล่เลียงตามวิธีของเขา

“โดยมากเขาเป็นพวกลูกขุนนางใหญ่โต”

“อ้อ” นิทัศน์พยักหน้า “แล้วพวกที่กระทรวงล่ะ เขาว่าอย่างไร?”

“ส่วนมากเขาพูดซุบซิบกัน เขาไม่ใคร่แสดงความเห็นเปิดเผย แต่ฉันได้ยินว่าพวกผู้ใหญ่ และพวกที่มีความรู้ ท่านแสดงความวิตกกันว่าการปกครองแบบใหม่นี้ ที่ประกาศว่าจะให้ราษฎรได้จัดการปกครองกันเองนั้น ราษฎรไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาเหมือนพวกเจ้านาย และพวกผู้ดีชั้นสูง จะมีปัญญาปกครองบ้านเมืองไปได้อย่างไร”

“ที่โรงเรียนกฎหมายไม่มีใครไปพูดชี้แจงเรื่องเปลี่ยนการปกครองให้นักเรียนฟังหรือ?”

“มีนักกฎหมายที่เป็นพวกเปลี่ยนการปกครองไปพูดชี้แจงเหมือนกัน แต่ฉันไม่ได้ไปฟัง จึงไม่รู้ว่าเขาจะปกครองอย่างไรต่อไป ได้ยินแต่ว่า เขาจะให้มีสภาของราษฎร ที่โรงเรียนของเรา มีพวกที่เปลี่ยนการปกครองไปพูดชี้แจงเหมือนกันหรือ?”

“มีซิ” นิทัศน์พูดเน้นเสียง นัยน์ตาของเขามีประกายแห่งความภาคภูมิใจ “ครูอุทัยได้มาพูดในที่ประชุมนักเรียนของเรา”

จันทาตาลุก “ครอุทัยไปเกี่ยวข้องอะไร กับพวกที่เปลี่ยนการปกครอง?”

นิทัศน์ยืดตัวตรง เขาทั้งสองวางมือจากการกินชั่วคราว จันทายกข้อศอกขึ้นตั้งบนโต๊ะ จ้องหน้ามิตรของเขาด้วยความกระหายในถ้อยคำที่เขาจะกล่าวออกมา

“ครูอุทัยได้เข้าร่วมในการเปลี่ยนการปกครองด้วยคนหนึ่ง” นิทัศน์พูดอย่างปลื้มใจ “ครูหายไปจากโรงเรียนสามสี่วัน ใคร ๆ เข้าใจกันว่าครูป่วย เมื่อครูอุทัยโผล่มาที่โรงเรียนพร้อมด้วยคณะของครูกลุ่มหนึ่งและเมื่อพวกเราได้ทราบว่า ครูอุทัยไปทำอะไรมา พวกเราก็ตกตะลึงกันไปหมด ไม่มีใครได้เคยรู้ระแคะระคายเลยว่า ครูอุทัยจะไปร่วมทำการใหญ่กับเขา มีแต่ครู ‘ท่านขุน’ ที่เคยพูดถึงครูอุทัยว่า ‘เป็นคนจริงจังและชอบศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอ’”

“โอ, ครูอุทัย ครูช่างกล้าหาญจริง!” จันทาอุทาน “ครูบรรยายถึงเรื่องการปกครองแบบใหม่ว่าอย่างไรบ้าง ฉันอยากจะฟัง”

นิทัศน์พูดว่า “เรากินก๋วยเตี๋ยวให้เสร็จเสียก่อนเถอะ แล้วฉันจะเล่าให้ฟัง”

จันทารีบกินก๋วยเตี๋ยวที่เหลือหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว และนิทัศน์บอกว่าอิ่มแล้ว ในขณะที่ก๋วยเตี๋ยวยังเหลืออยู่ในจาน นิทัศน์สั่งน้ำเล็มมอเนดมาหนึ่งขวด เมื่อดื่มน้ำหวานกันคนละอึกแล้ว นิทัศน์ก็เล่าเรื่องครูอุทัยต่อไป

“คำบรรยายของครูมีหลายเรื่อง แต่มีเรื่องที่จะตอบข้อสงสัยของเธอรวมอยู่ด้วย ฉันจะเล่าเรื่องนั้นให้ฟังก่อน ครูบรรยายว่า การปกครองที่กระทำกันมาแต่เดิมนั้นน่ะ อยู่ในอำนาจของเจ้านายท่านอย่างเด็ดขาด พวกราษฎรสามัญชนไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยเลย ส่วนพวกขุนนางหรือพวกผู้ดีชั้นสูงที่ช่วยเจ้านายทำการปกครองบ้านเมืองนั้น ครูอุทัยว่าความจริงก็คือพวกที่เคยเป็นบ่าวไพร่มาก่อนนั่นเอง คนเหล่านั้นเป็นบ่าวไพร่ของพวกเจ้านาย เมื่อพระญาติพระวงศ์ของเจ้านายมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะปกครองบ้านเมืองในตำแหน่งสำคัญ เจ้านายจึงได้แต่งตั้งบ่าวไพร่คนสนิทของท่าน เป็นเครื่องมือช่วยเหลือในการปกครอง พวกบ่าวไพร่นั้นจึงได้กลายเป็นขุนนางหรือพวกผู้ดีขึ้นมา ครั้นพวกบ่าวไพร่ของเจ้านายได้กลายเป็นขุนนางหรือผู้ดีชั้นสูงขึ้นมาแล้ว พวกขุนนางเหล่านั้นก็จัดหาบ่าวและบริวารของเขาอีกส่วนหนึ่ง และพวกขุนนางผู้ใหญ่เหล่านั้น ก็แต่งตั้งชุบเลี้ยงบ่าวของเขาขึ้นเป็นขุนนางอีกรุ่นหนึ่ง และพวกขุนนางรุ่นรองนี้ก็จัดหาบ่าวไพร่ประดับบารมีของเขาขึ้นมาบ้าง เมื่อสรุปแล้ว คงได้ความว่า พวกขุนนางหรือพวกผู้ดีชั้นสูง ชั้นรองลงมานั้น ก็มีกำเนิดมาจากบ่าวไพร่ทั้งนั้น พวกบ่าวไพร่ได้กลายไปเป็นขุนนางหรือผู้ดี ด้วยการชุบเลี้ยงของเจ้านาย หรือเป็นลดหลั่นกันไปเช่นนี้แหละ ครูอุทัยบอกพวกเราว่านี่เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์”

จันทาฟังอย่างตาค้าง เขาได้พูดสอดขึ้นว่า “แต่นี่เป็นความรู้ใหม่ของเราใช่ไหม? เวลาเราเรียนประวัติศาสตร์ เราไม่ได้เรียนเรื่องอย่างนี้ และครูอุทัยก็ไม่เคยบรรยายเรื่องอย่างนี้ให้เราฟังเลย”

“ที่จริงนะเธอ เรื่องเช่นนี้มันก็มีอยู่ในประวัติศาสตร์แต่นมนานมาแล้ว และเราก็คงจะได้อ่านกันมาบ้าง แต่เราไม่ได้สังเกตพิจารณา ข้อสำคัญนั่นนะ เมื่อเราเรียนหนังสือ เราได้อ่านประวัติศาสตร์กันน้อยเกินไป เราจึงไม่รู้ความจริงอีกมากมายที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ ครูอุทัยบอกว่า ครูจะสอนประวัติศาสตร์แก่นักเรียน อย่างที่ครูบรรยายในวันนั้นก็ไม่ได้ ครูอาจถูกหาว่าเป็นกบฎและถูกจำคุกไปแล้ว ครูบอกว่า ต่อไปนี้ราษฎรจะได้มีโอกาสเรียนรู้ความจริง และพูดความจริงกันได้เต็มที่ละ”

นิทัศน์เสยผมที่ปลิวลงมาปรกหน้า หยุดนึกครู่หนึ่งแล้วพูดต่อไป ในขณะที่จันทานั่งชันศอก เอามือยันคาง จ้องหน้าสหายของเขาแทบไม่กะพริบตา

“ครูอุทัยได้เปิดเผยว่า พวกเจ้านายและพวกผู้ดีชั้นสูง ได้ความรู้ในการปกครองมาจากไหน และเหตุใดความรู้เหล่านั้น จึงกลายเป็นเหมือนความรู้ที่ศักดิ์สิทธิ์ไป จนราษฎรสามัญชนไม่สามารถจะเรียนรู้ได้ ครูบรรยายว่า แต่เดิมมานั้นวิชาความรู้ต่าง ๆ ไม่ได้บันทึกไว้เป็นหนังสือ หรือหากจะบันทึกไว้ก็ไม่ได้มีการจัดพิมพ์ให้ได้อ่านกันอย่างแพร่หลายเหมือนสมัยนี้ พวกเจ้านายได้เรียนวิชาการปกครองบ้านเมืองจากการปฏิบัติของบรรพบุรุษของท่าน และจากการสั่งสอนโดยตรงของบรรพบุรุษและจากบันทึกวิชาความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมบัติของเจ้านายท่านโดยเฉพาะ พวกขุนนางหรือพวกผู้ดีชั้นสูง ซึ่งเป็นข้าของเจ้านาย ก็ได้เรียนรู้วิชาการปกครองบ้านเมืองจากเจ้านายของเขา และพวกลูกหลานของเขาก็ได้เรียนรู้จากเขา เป็นการถ่ายเทสืบต่อกันมาโดยตรงเป็นทอด ๆ การสืบตำแหน่งราชการ เช่นตำแหน่งผู้ปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ก็เป็นการสืบตำแหน่งกันโดยทางสกุล การผูกขาดตำแหน่งราชการ ได้มีผลเป็นการผูกขาดการศึกษาไปด้วย คือว่า มีแต่พวกเจ้านายและพวกขุนนาง ซึ่งเป็นบ่าวไพร่ของพวกเจ้านายเท่านั้น ที่มีโอกาสศึกษา ส่วนพวกราษฎรที่ถูกปกครอง ไม่มีโอกาสศึกษาเช่นท่านเหล่านั้นเลย พวกราษฎรไม่รู้จะไปเรียนเรื่องการปกครองบ้านเมือง จากใครที่ไหน เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าพวกเจ้านายและพวกผู้ดีชั้นสูงเป็นคนฉลาด และพวกราษฎรเป็นคนโง่เง่านั้น ครูอุทัยว่า ไม่ใช่เป็นความฉลาดและความโง่ที่เกิดจากสันดานหรือกำเนิด แต่เป็นเพราะพวกหนึ่งผูกขาดการศึกษาไว้เสียหมด และพวกราษฎรไม่มีโอกาสจะศึกษาเลย ครูอุทัยได้ย้ำว่า ถ้าราษฎรได้มีโอกาสศึกษาแล้ว ราษฎรก็จะปกครองบ้านเมืองได้เหมือนกันและจะปกครองได้ดีกว่าด้วย เพราะเขารู้ว่า เขาต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร”

“แล้วเรื่องราวเป็นมาอย่างไรเล่าเธอ จึงเกิดมีคนฉลาดขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นบ่าวหรือเป็นพวกพ้องคนสนิทของเจ้านาย จนกระทั่งเกิดมีการยึดอำนาจเปลี่ยนการปกครองกันขึ้น” จันทาซัก “ครูอุทัยอธิบายเรื่องนี้หรือเปล่า?”

“อธิบายซิ” นิทัศน์พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นเช่นเคย “ฉันจะเล่าแต่ใจความ ครูอธิบายว่า เนื่องด้วยกิจการของบ้านเมืองขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา ลำพังแต่เจ้านาย และพวกบ่าวไพร่ของเจ้านายมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะทำการปกครองบ้านเมืองได้ทั่วถึง จำจะต้องได้คนทำราชการเพิ่มขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องขยายการศึกษาที่เคยผูกขาดไว้ การขยายการศึกษานั้น ในชั้นต้นก็ยังอยู่ในวงแคบ คือตั้งโรงเรียนสอนกันเฉพาะในวงกุลบุตร ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับพวกผู้ดีชั้นสูง แต่ต่อมาความจำเป็นในเรื่องต้องการคนเข้ารับราชการได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความจำเป็นนี้แหละเธอ ได้ผลักดันการศึกษาให้ขยายตัวออกไปจนกระทั่งคนที่ไม่ได้เป็นข้าของเจ้านาย และไม่ได้เป็นพวกชนชั้นสูง ก็ได้รับการศึกษาเช่นเดียวกันบ้าง แล้วคนพวกนี้ก็ได้เรียนรู้ถึงความไม่ยุติธรรมและความบกพร่องต่าง ๆ ในการปกครองประเทศ รวมทั้งได้เรียนรู้ถึงการที่จะแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นด้วย และเมื่อคนพวกใหม่นี้มีกำลังแข็งแรงขึ้นแล้ว จึงได้เกิดการยึดอำนาจจากพวกเจ้านาย โดยมุ่งหมายจะให้อำนาจนั้นได้ตกเป็นของราษฎร และให้ราษฎรเลือกผู้แทนของเขาที่มีความรู้ความสามารถปกครองบ้านเมืองแทนต่อไป ครูอุทัยอธิบายว่ารัฐบาลเก่าปกครองเพื่อประโยชน์ของคนชั้นสูง แต่รัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลของราษฎร จะดำเนินการปกครองเพื่อประโยชน์ของราษฎร”

พอนิทัศน์พูดจบก็มีเสียงร้องถามมาจากโต๊ะข้างเคียงว่า “แล้วนานๆ ไปพวกใหม่เขาจะไม่กลับไปเป็นเจ้านายกันอีกหรือคุณ?”

ทั้งนิทัศน์และจันทาเหลียวหน้าไปทางเสียงนั้น ผู้พูดเป็นชายอายุกลางคน สีหน้าของเขาแสดงว่าเขาคอยฟังคำตอบด้วยความสนใจ นิทัศน์ตอบเขาด้วยความมั่นใจของเด็กหนุ่มว่า “ผมคิดว่าเขาไม่ต้องการจะเป็นเจ้านายกันเลย พวกใหม่เป็นพวกของราษฎร”

“พวกใหม่เขามาจากไหน?” เขาถามต่อไป

“เราไม่รู้จักเขาหรอกครับ เราทราบแต่ว่าพวกเขาเป็นข้าราชการ”

“ก๊อไม่ใช่ราษฎร” เขาพึมพำ

นิทัศน์กับจันทา มองดูหน้ากัน นิทัศน์ออกจะงง เขานิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็ตอบไปว่า “แต่พวกใหม่ต้องการจะทำงานให้ราษฎร ครูบอกผมว่า ‘คณะราษฎร’ จะทำทุกอย่างเพื่อความสุขสบายของราษฎรจะให้ราษฎรมีงานทำอย่างทั่วถึง และจะให้การศึกษาแก่ราษฎรเต็มที่”

“ผมทำงานอยู่ที่ท่าเรือ ถูกปลดมาสามเดือนแล้ว เพราะเขาไม่มีงานจะให้ผมทำ และผมก็ยังหางานทำไม่ได้ อ้ายลูกชายก็เลยไม่ได้เรียนหนังสือ” เขาพูดพึมพำแล้วก็ลุกขึ้นยืนนับสตางค์ค่าอาหารช้า ๆ ทิ้งไว้บนโต๊ะ “ขอให้พวกใหม่ เป็นรัฐบาลของราษฎรอย่างที่คุณว่าเถอะ ถ้าเขาเป็นจริง พวกคนงานอย่างผมคงจะได้เงยหน้าอ้าปากกับเขาบ้าง ทุกวันนี้มันยากจนสิ้นดีคุณเอ๋ย” เขาโคลงหัวแล้วก็เดินออกจากร้านไป ด้วยสีหน้าอันหม่นหมอง เมื่อออกไปยืนอยู่ที่ทางเดิน เขาหันกลับมาพูดอีกครั้งหนึ่งว่า “บอกครูของคุณด้วยนะว่า มีทางอะไรที่จะช่วยให้ลูกของคนจน ๆ อย่างผมได้เรียนหนังสือไปได้ราบรื่นอย่างลูกคนอื่นเขา ก็ให้รีบ ๆ ทำเข้าเถอะ”

หนุ่มน้อยทั้งสองแลตามเขาไป ด้วยสายตาอันเปี่ยมด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ

เขาทั้งสองมีใจหดหู่ เขาสนทนากันถึงเรื่องของครูอุทัย และเรื่องโรงเรียนของเขาต่อไปอีกเล็กน้อย นิทัศน์บอกจันทาว่า “ในวันนั้นครูอุทัยได้สนทนากับครู ‘ท่านขุน’ ครูใหญ่และครูอุทัยได้เรียกฉันไปพบ และบอกว่าถ้าฉันอยากจะพบสนทนากับครูก็ให้ไปหาครูที่บ้านในตอนค่ำ ฉันได้รับปากกับครูว่าฉันจะไป จะไปวันไหนฉันจะบอกเธอ แล้วเธอไปด้วยกันนะ”

จันทารับคำชวนของมิตรด้วยความเต็มใจ และด้วยความกระหายที่จะได้พบครูที่รักผู้กล้าหาญของเขา

รัฐบาลของราษฎร จะต้องคิดถึงราษฎรคนยากคนจนก่อนสิ่งอื่นใด รัฐบาลจะต้องแก้ไข ความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรผู้ยาก คือพวกชาวนาและกรรมกร บุคคลประเภทนี้ทีเดียว คือพลเมืองเกือบทั้งหมดของสยาม

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ