เวลาโรงเรียนเลิก นักเรียนกำลังหลั่งไหลออกมาจากตึกเรียน เหมือนแพสวะที่ไหลพุ่งออกมาจากประตูน้ำ เมื่อประตูที่กั้นน้ำไว้เปิดอ้าออก รถยนต์รถม้าหลายคันจอดอยู่บนถนนหน้าตึก รอรับกุลบุตรชั้นสูง เหล่าดรุณที่มิใช่กุลบุตรชั้นสูง ส่วนหนึ่งหอบหิ้วสมุดหนังสือเรียนเดินบ่ายหน้าไปทางประตูโรงเรียนเพื่อกลับบ้าน คุยกันไปบ้าง สรวลเสเฮฮากันไปบ้าง เหล่าดรุณส่วนหนึ่งเลี้ยวไปทางห้องยิมเพื่อไปเล่นออกกำลัง ส่วนหนึ่งก็ถลาแล่นลงสนาม เหวี่ยงหนังสือลงบนพื้นหญ้าถอดเสื้อนอกออกอย่างขมีขมัน แล้วตะโกนเรียกกันให้ตีวงเตะลูกหนังและทันใดนั้น เด็กคนหนึ่งก็คว้าลูกหนังออกมาจากที่ใดที่หนึ่งและเตะโด่งขึ้นไปบนฟ้า แล้วการเล่นอย่างสนุกสนานเกรียวกราวก็ได้เริ่มขึ้น มีชายสองคนเดินปะปนมากับกลุ่มนักเรียนที่หลั่งไหลออกมาจากตึกเรียนในบ่ายวันนั้น เขาคือคุณครูนิทัศน์กับจันทาเสมียนแห่งกระทรวงมหาดไทย เมื่อออกมายืนอยู่หน้าตึกเรียน ในขณะที่นิทัศน์ทักทายปราศรัยกับนักเรียนบางคนด้วยดวงหน้าอันยิ้มแย้มนั้น จันทาได้ยืนเบิ่งมองไปทางสนามดูเด็กเล็กและเด็กโตวิ่งเล่นเกรียวกราวอยู่ในสนาม สีหน้าของเขาเต็มไปด้วยความแช่มชื่น แม้ว่าในดวงตาของเขาจะมีประกายแห่งความหม่นหมอง อย่างไรก็ดีเมื่อเขาทั้งสองได้เดินออกนอกประตูไปแล้ว ความแช่มชื่นบนดวงหน้าของจันทาก็หายไป และบนดวงหน้าของนิทัศน์ก็มีความรู้สึกกังวลปรากฏขึ้นมา

ชายหนุ่มทั้งสองพากันเดินไปเงียบ ๆ บนทางฟุตปาธหน้าตึกแถว ซึ่งเป็นร้านขายของนานาชนิด เมื่อผ่านคูหาร้านน้ำชาที่ว่างผู้คนนิทัศน์ดึงแขนจันทาไว้ และแนะขึ้นว่า “เราเข้าไปนั่งดื่มน้ำชากันไหมจันทา ได้แก้หิวด้วย และจะได้คุยกันที่เหมาะดีด้วย” จันทาพยักหน้า ซึ่งมียิ้มแห้ง ๆ รับรอง เขาทั้งสองเข้าไปในร้านน้ำชาสั่งน้ำชาจีนมากาหนึ่ง พร้อมกับเครื่องจันอับ การพบปะระหว่างเขาทั้งสองครั้งนี้ ห่างจากครั้งหลังราวหนึ่งสัปดาห์

“มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นทางบ้านคุณพ่อวัชรินทร์?” นิทัศน์เอ่ยขึ้นประโยคแรก ภายหลังที่สั่งของกินแล้ว เขาเอาแขนทั้งสองพาดลงบนโต๊ะ มองหน้ามิตรและรอคำตอบด้วยความร้อนใจ

“ท่านเจ้าคุณถูกปลดจากราชการ” เสียงของจันทาสั่นเครือ

“ยังงั้นหรือ? นับว่าเป็นข่าวร้ายของวัชรินทร์ และเธอด้วยจันทา” นิทัศน์พูดด้วยเสียงอ่อนโยน “ทำไม เขาถึงปลดท่าน?”

“เขาว่าท่านเป็นพวกเจ้า เพราะท่านเป็นคนสนิทของเจ้านายผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ท่านถูกปลดออกมาเฉยๆ ไม่มีการสอบสวนเลย”

นิทัศน์ก้มหน้าเม้มริมฝีปาก นั่นเป็นอาการตรึกตรองของเขา ความเงียบอุบัติขึ้นชั่วขณะหนึ่ง และนิทัศน์ได้ใช้เวลาในระหว่างนั้นรินน้ำชาใส่ถ้วย

“ฉันคิดว่า การปฏิบัติต่อท่านเจ้าคุณเช่นนั้น เป็นการไม่ชอบธรรม” จันทาเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงแสดงความโทมนัส นี่เป็นครั้งหนึ่งในจำนวนน้อยครั้งเหลือเกิน ที่จันทาจะได้เป็นผู้ริเริ่มในการออกความเห็น ตามปกติเขามักจะฟังความเห็นของนิทัศน์ก่อน และเขาออกจะประหลาดใจที่มิตรผู้ปราดเปรื่องของเขายังมิได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้

“ฉันเห็นใจจันทามาก ฉันคิดว่าเราควรจะได้พบครูอุทัย และครูคงจะตอบปัญหาต่าง ๆ แก่เราได้ดีกว่าใคร ๆ” คุณครูหนุ่มน้อยพูดช้า ๆ “ทางบ้านวัชรินทร์ และพวกทางกระทรวงของเธอ เขาพูดกันว่ากระไรบ้าง”

จันทาเงยหน้าขึ้นจากฝ่ามือที่เขาได้ซบลงไปครู่หนึ่ง ตาของเขาฉายให้เห็นความรู้สึกหม่นหมองในดวงตาของเขา “ภายในบ้านท่านเจ้าคุณขณะนี้ มีแต่ความเงียบเหงาและความหวาดกลัว ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ต่างก็จับกลุ่มซุบซิบกัน ต่างก็มีสีหน้าตื่นกลัว เขาพูดกันว่าท่านอาจจะถูกจับกุม และบ้านช่องของท่านอาจจะถูกริบ จะเป็นไปถึงอย่างนั้นเทียวหรือ นิทัศน์”

มิตรหนุ่มน้อยโคลงศีรษะ “ฉันหวังว่าจะไม่เป็น และเราไม่ควรจะคิดในแง่ร้ายเกินไป ทางที่ดีเราควรจะรอดูเหตุการณ์ต่อไปก่อนเขาพูดกันว่ากระไรอีก”

“เขาว่า พวกเจ้านายกำลังจะหมดอำนาจวาสนา และ พวกที่อาศัยใบบุญของเจ้านาย ก็จะพากันตกยากไปตาม ๆ กัน”

“เขาไม่ได้พูดกันหรือว่า พวกราษฎรคนธรรมดาสามัญจะเงยหน้าอ้าปากกันได้บ้างละ?” นิทัศน์ซัก

“เปล่า, เขาว่าบ้านเมืองจะเกิดกลียุคทุกข์เข็ญ ตามคำพยากรณ์ของคนโบราณ เขาพูดกันเป็นคำกลอนว่า ‘กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอยน้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม ทางน้ำก็จะแล้งเป็นทางบก เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ--’ เขาพูดกันแต่เรื่องล้วนน่ากลัว”

“น่ากลัวสำหรับใคร?” นิทัศน์ถาม เมื่อเห็นจันทาแสดงสีหน้าหวาดหวั่น “เธอก็พลอยรู้สึกน่ากลัวไปกับเขาด้วยหรือ? เธอมีเวียงวังที่จะต้องห่วงใยกับเขาหรือ?”

“เปล่า” จันทายิ้มอย่างจืดชืด “เขาพูดกันด้วยสีหน้าท่าทีหวาดกลัว จนทำให้ฉันนึกกลัวตามเขาไปด้วย”

นิทัศน์ยิ้มอย่างขันและสงสารปนกัน พลางเอามือตบแขนที่มีกล้ามเนื้อเป็นมัดของมิตรรักเบา ๆ

“คนในบ้านเขากลัวว่า เมื่อท่านเจ้าคุณสิ้นวาสนาเสียแล้ว พวกเราก็จะไม่มีที่พึ่ง” จันทากล่าวต่อไป

“และเขาไม่ชอบรัฐบาลใหม่?”

จันทาพยักหน้า “ทั้งไม่ชอบและทั้งกลัว”

“แล้วก็เธอล่ะ?”

“ฉันก็กลัวรัฐบาลใหม่” จันทาสารภาพ “และฉันก็ไม่ชอบที่เขาปลดท่านเจ้าคุณ พวกเพื่อนที่กระทรวงที่เป็นลูกหลานขุนนาง เขามากระซิบกันฉันว่า แม้ฉันไม่ถูกปลดฉันก็ไม่มีหวังจะได้รับความเจริญในทางราชการ” เขาซบหน้าลงกับฝ่ามือครู่หนึ่ง แล้วเงยหน้าขึ้นพูดต่อไปว่า “ฉันก็ตั้งหน้ารับราชการมาด้วยความอุตสาหะซื่อสัตย์ และไม่เคยทำความผิดอะไร อย่างนี้มันก็ไม่เป็นธรรมใช่ไหมนิทัศน์”

คุณครูหนุ่มน้อยมองหน้ามิตรรักด้วยความรู้สึกห่วงใย เขารู้สึกว่าจิตใจของมิตรรักกำลังตกอยู่ในความอ่อนแอ นิทัศน์ถอนหายใจลึกยาว เขามักจะทำเช่นนั้น เมื่อประสงค์จะกระทำ หรือพูดในเรื่องสลักสำคัญ เขาเคยอ่านตำราและทราบมาว่า การหายใจลึกยาวจะเพิ่มความหนักแน่นมั่นคงทางใจ

“จันทา, เธอจะต้องไม่ปล่อยตัวให้ตกลงไปในความอ่อนแอ” เขาพูดช้า ๆ สายตาจับอยู่ที่ดวงหน้าของมิตรผู้มาจากชนบท “เธอมีคุณสมบัติอันประเสริฐที่ได้มาจากชีวิตบ้านนอก คือความทรหดบึกบึน ซึ่งฉันไม่มีเสมอเธอ เธอจะต้องไม่ละทิ้งมัน จะต้องถนอมมันแนบไว้กับชีวิตของเธอ จันทาจะต้องไม่ปล่อยให้คนอ่อนแอจูงเธอไปสู่ความอ่อนแอ และความตกใจ จนทำให้เธอขาดเหตุผล อย่าปล่อยให้คนอ่อนแอเหล่านั้น นำความคิดของเขามาบรรจุลงในหัวของเธอ จนทำให้เธอหลงไปว่า มันเป็นความคิดของเธอเอง เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวเธอ มันเป็นเรื่องอนาคต มันยังไม่ได้เกิดขึ้น ฉนั้นเราจะไปลงความเห็นอะไรยังไม่ได้ ทางที่ดีเราควรจะรอดูเหตุการณ์ต่อไป ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อวัชรินทร์นั้น เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่เราก็ยังไม่รู้ข้อเท็จจริงอะไรมากไปกว่าว่า ท่านถูกปลด ฉันคิดว่าเราควรจะได้ฟังคำอธิบายเรื่องนี้จากครูอุทัยเสียก่อน จันทา, ฉันเห็นใจเธออย่างยิ่ง แต่ฉันก็อยากจะเตือนเธอว่าอย่าเสียใจ และอย่าเศร้าจนเกินไปมันจะทำให้เรากลายเป็นคนขาดเหตุผล” คุณครูหนุ่มน้อยหยุดครู่หนึ่งแล้วเขาก็สลัดท่าทีจริงจังทิ้งไป เขาเปลี่ยนสีหน้าจากเคร่งขรึมเป็นยิ้มละไม พลางโน้มตัวไปข้างหน้า เอามือเล็ก ๆ ของเขาตบไหล่กว้างของมิตรชาวชนบท “จันทา, จงร่าเริงขึ้นสักหน่อยกินน้ำชากันให้สบาย แล้วเราจะได้ปรึกษาเรื่องนี้กันต่อไป ด้วยความคิดเห็นของเราเอง ไม่ใช่ด้วยความคิดเห็นของคนอ่อนแอ เห็นแก่ตัวเหล่านั้น”

จันทายิ้มรับคำชวนของมิตร ถึงแม้จะเป็นยิ้มแห้ง ๆ ที่เจือปนด้วยความลังเลใจ แต่ในดวงตาของเขาค่อยมีประกายแจ่มใสขึ้นบ้าง ดูเหมือนว่า ถ้อยคำของนิทัศน์จะช่วยดึงเขาไว้มิให้หล่นลงไปในเหวแห่งความหลง ซึ่งเขาจวนเจียนจะตกลงไปอยู่แล้ว แต่นิทัศน์ก็สังเกตเห็นได้ว่า มิตรของเขายังยืนอยู่ในที่หมิ่นเหม่อันตราย

ในระหว่างที่กินขนมและดื่มน้ำนิทัศน์ได้พูดว่า “ฉันเองก็ยังไม่รู้เข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เขากระทำกัน ฉันมีแต่ความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีขึ้นเพื่อความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง และจะเป็นผลดีแก่ราษฎรส่วนหนึ่ง สิ่งใดที่ไม่เป็นความยุติธรรม จะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นความยุติธรรมขึ้นมา ถึงฉันจะไม่สู้เข้าใจในขณะนี้ ฉันก็จะต้องเรียนให้เข้าใจแจ่มแจ้งจนได้ และเธอก็ควรจะเรียนเหมือนกัน”

เมื่อจันทาถามว่าจะเรียนกันอย่างไร นิทัศน์ได้ตอบทันที เสมือนหนึ่งว่าเขาได้ขบคิดปัญหาข้อนี้มาก่อนแล้ว “เราจะเรียนจากหนังสือและจากการปฏิบัติที่รัฐบาลใหม่เขาปกครองเรา แต่ในชั้นต้นนี้ เราควรจะปรึกษาครูอุทัย และพึ่งคำแนะนำจากครู”

“เราจะไปหาครูอุทัยเมื่อไร?”

“ฉันคิดว่า เราควรจะไปหาครูในวันนี้แหละ ตั้งแต่ครูชวนฉันไว้ฉันยังไม่ได้ไปเลย เราจะไปถามครูถึงเหตุผลในการปลดคุณพ่อวัชรินทร์ด้วย”

เขาทั้งสองเว้นการสนทนาระยะหนึ่ง เพื่อรับประทานขนมและน้ำชา แสงแดดแจ่มที่กลางถนนอ่อนลง และค่อย ๆ จางไป ลมเย็นพัดวูบเข้ามาในคูหาร้านน้ำชา มองออกไปจากร้าน เขาแลเห็นกลุ่มเมฆสีเทาแก่ดังควันไฟลอยต่ำ และยังไม่ทันที่เขาจะดื่มชาหมดถ้วย ฝนก็ตกลงมา ตกปรอย ๆ อยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ตกหนัก กลุ่มควันไฟกระจายไป แล้วท้องฟ้าก็แปรสภาพเป็นสีเทาอ่อน แสงแดดและกลุ่มเมฆขาวที่ลอยอยู่ไกลจางหายไป

ชายหนุ่มทั้งสองใช้เวลาที่ฝนตกสนทนากันถึงเรื่องต่าง ๆ หลายเรื่องตามแต่เขาจะนึกขึ้นได้ เขาสนทนากันถึงคุณครูท่านขุนวิบูลย์วรรณวิทย์และเซ้ง และคนอื่น ๆ ที่อยู่ในวงความสัมพันธ์ของเขา ปรากฏจากการสนทนาของเขาว่า เขาทั้งสองได้ชวนกันไปเยี่ยมคุณครู ‘ท่านขุน’ และเซ้งเป็นครั้งคราว นิทัศน์ได้ทราบว่าการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ทำให้คุณครู ‘ท่านขุน’ ตกตะลึงไปเหมือนกัน ในฐานที่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงที่สุดที่ได้โผล่ขึ้นมาในชีวิตของท่าน แต่คุณครูมิได้รู้สึกว่า มันโผล่ขึ้นมาอย่างปุบปับฉับพลัน และปราศจากนิมิตเสียทีเดียว ‘ท่านขุน’ เป็นผู้สนใจอ่านข่าวสารการณ์เป็นไปของโลก และความเห็นต่างๆ ในหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ ในขณะที่คนเป็นอันมากไม่ได้กระทำเช่นท่าน ท่านจึงเห็นนิมิตเหล่านั้นอยู่บ้าง และก็เห็นว่า มันเป็นสิ่งเป็นไปได้ เป็นแต่ว่าท่านไม่คิดว่า มันจะเกิดขึ้นในปี ๒๔๗๕ ‘ท่านขุน’ เข้าใจว่า มันคงจะต้องการเวลาอีกนานปี กว่าคนจำพวกหนึ่งจะลุกขึ้นทำการเปลี่ยนแปลงอย่างอาจหาญเช่นนั้น และบางทีมันอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี เมื่อมันได้เกิดขึ้นแล้วท่านก็มิได้เห็นว่ามันเป็นของเลว หรือเป็นสิ่งที่น่าชัง ท่านเป็นผู้ที่ยอมรับรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนปัญหาในเรื่องเวลานั้น ท่านไม่อาจแสดงความเห็นได้ ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นผู้วินิจฉัย และอนาคตจะเป็นผู้ตัดสิน โดยพิจารณาจากผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นเอง ส่วนตัวท่านก็จะคอยดูความคลี่คลาย อันเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงต่อไป

ชายหนุ่มทั้งสองได้แลกเปลี่ยนการสนทนากันด้วยความชื่นชมยินดีเป็นพิเศษในกรณีของเซ้ง เขาชื่นชมกับมิตรผู้เคราะห์ร้ายของเขาในข้อที่ว่านอกจากนายช่างน้อยจะรับช่วงดำเนินงานที่เตี่ยของเขาได้ละทิ้งไว้ ไปได้ด้วยความราบรื่นพอสมควรแล้ว ยังปรากฏว่านายช่างน้อยยังคงรักและสนใจกับการอ่านหนังสือตลอดมาและในปีสุดท้ายนี้ เซ้งถึงแก่ได้ลองเขียนเรื่องไปลงในหนังสือพิมพ์บางฉบับ และเรื่องของเขาก็ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไปแล้วสองสามเรื่อง จันทามองดูความสามารถของเซ้งในข้อนี้ด้วยความยกอย่างสูง และด้วยความประหลาดใจอย่างล้นพ้น เพราะเขารู้สึกว่า คนที่เขียนหนังสือได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีความฉลาดปราดเปรื่องเป็นพิเศษ เขาได้ให้สมญาเซ้งอีกอันหนึ่งว่า ‘นักปราชญ์น้อย’ ส่วนนิทัศน์ ถึงแม้จะมีถึงแม้จะมีความยินดีกับเซ้งเป็นอันมาก แต่เขาก็ไม่ประหลาดใจนัก เพราะเขารู้อยู่ว่าเซ้งเป็นคนรักการอ่านหนังสือ และการที่เซ้งได้ริเริ่มเขียนหนังสือนั้น ไม่เป็นสิ่งเกินความคาดหมายของเขา เขาได้บอกแก่จันทาด้วยความมั่นใจว่า ถ้าเซ้งเอาจริงในทางนี้ และได้ปิดร้านนาฬิกาของเขาเสียเมื่อใด เขาก็จะกลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงในอนาคต

* * *

เมื่อฝนขาดเม็ด และท้องฟ้าโปร่งแจ่มใสนั้น เป็นเวลาราวบ่ายห้าโมง นิทัศน์ชวนจันทาให้เดินทางตรงไปบ้านครูอุทัยทีเดียว เพราะครูสั่งว่า เวลาไปบ้านครู ให้ไปรับประทานอาหารเย็นกับครูด้วย และโดยปกติครูรับประทานอาหารเย็นเวลาประมาณหกโมง เมื่อเขาไปถึงบ้านครู ครูยังไม่กลับจากไปช่วยราชการพิเศษของรัฐบาลคณะราษฎร ครูอุทัยไม่ใช่ชาวกรุงเทพฯ ตระกูลของครูมีพื้นเพเป็นชาวนาผู้มีอันจะกินอยู่ในจังหวัดอยุธยา บิดามารดาและวงศ์ญาติของครูยังคงตั้งหลักแหล่งทำนาทำกินอยู่ที่นั่น คนรุ่นใหม่จากท้องนาที่ได้มาเรียนหนังสือต่อในกรุงเทพฯ ได้รับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ และได้กลับไปรับราชการที่จังหวัดอยุธยาก็มี ขณะเรียนหนังสืออยู่ในเมืองหลวง ครูอุทัยได้อาศัยอยู่กับครอบครัวฐานะชั้นกลาง ซึ่งเป็นที่รักใคร่นับถือของบิดามารดา ครั้นออกรับราชการแล้ว ครูจึงแยกออกไปอยู่บ้านเช่าหลังย่อม ๆ ครูอุทัยเป็นคนรักความอิสระ และรักการครองชีวิตที่พึ่งตนเอง ลักษณะนิสัยของศิษย์เช่นนิทัศน์ จึงเป็นลักษณะที่ถูกใจครูที่สุด เมื่อเข้าร่วมในการปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ครูอุทัยมีอายุได้ยี่สิบหกปี ครูยังไม่ได้แต่งงาน เพราะครูมัวแต่หมกหมุนอยู่กับการงานในหน้าที่และการแสวงหาวิชาความรู้เพิ่มเติมให้แก่ตัวเอง ได้แก่การเรียนวิชากฎหมาย และวิชาที่เกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมือง จนเป็นเหตุผลักดันให้ครูได้เข้าไปร่วมอยู่ในคณะราษฎรด้วยผู้หนึ่ง ในขณะนี้ครูอยู่กับน้องสาวคนเล็ก ซึ่งยังเรียนหนังสือ อยู่กับญาติสตรีผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง ซึ่งรับภาระเป็นผู้ดูแลบ้านให้ครู

นิทัศน์เคยมาที่บ้านครูแล้ว ญาติผู้ใจดีของครูจึงต้อนรับชายหนุ่มทั้งสองอย่างกันเอง แกขอร้องให้เขาอยู่รับประทานอาหารกับครู ระหว่างสนทนาปราศรัยกันถึงครูอุทัย แกได้พูดถึงครูด้วยความนิยมชมชื่นอย่างสูง “เขาเป็นคนขยัน ไม่เที่ยวเตร่สำมะเลเทเมา เขาชอบแต่อ่านหนังสือไม่จองหองพองขน” นั่นคือคุณสมบัติอันสมบูรณ์ที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนาจะให้ลูกของตนมี ครั้นชายหนุ่มถามถึงบทบาทของครูอุทัยที่เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แกโบกมือ แล้วพูดว่า “ฉันไม่รู้เรื่องกับเขาหรอกจ้ะ เขาไม่พูดกับฉันและน้องสาวของเขาเลย ฉันได้ทราบเรื่องของเขาทางหนังสือพิมพ์ แล้วก็นึกเป็นทุกข์เป็นร้อนกลัวเขาจะหัวขาด แต่เดี๋ยวนี้ก็พอจะหมดห่วงแล้วใช่ไหมจ๊ะ” เมื่อได้สนทนากันอีกเล็กน้อย แกก็ขอตัวไปจัดทำอาหารเพิ่มเติม เพื่อต้อนรับศิษย์ที่รักของครู และแกขอให้เขาใช้เวลาตามสบายบนระเบียงค่อนข้างแคบ ซึ่งเป็นทั้งที่รับรองของมิตรสหาย และเป็นที่ทำงานของครูอุทัย

ครูอุทัยกลับมาถึงบ้านเมื่อเวลาโพล้เพล้ ครูขึ้นบันไดด้วยเสียงย่ำเท้าที่หนัก และโผล่ขึ้นมาบนระเบียง ด้วยท่าทางอันแสดงความเหน็ดเหนื่อยอิดโรย ในมือหนึ่งครูถือกระเป๋าหนัง ซึ่งบรรจุเอกสารเสียแน่นและครูยังมีหนังสืออีกสามสี่เล่ม หนีบมาที่แขนอีกข้างหนึ่ง ครูเดินก้มหน้าโซเซขึ้นมาจึงไม่ทันเห็นศิษย์ที่นั่งอยู่ทางมุมหนึ่ง จนกระทั่งเขาทั้งสองลุกขึ้นไปต้อนรับ นิทัศน์ร้องทักว่า “ครูคงจะเหนื่อยมานะครับ” จันทาได้พูดต่อว่า “เอากระเป๋าหนังและหนังสือส่งมาให้ผมเถอะครับ”

สีหน้าอิดโรยของครูอุทัย ได้เปลี่ยนเป็นยิ้มแย้มทันที เมื่อแลเห็นศิษย์ทั้งสอง ครูพยายามซ่อนเร้นความเหน็ดเหนื่อย และทำตัวให้กระปรี้กระเปร่า ครูส่งกระเป๋าให้จันทา ส่วนหนังสือนั้นครูยังคงหนีบไว้ที่แขน และครูใช้มืออีกข้างที่ว่างตบไหล่ศิษย์ทั้งสอง วางหนังสือลงบนโต๊ะ แล้วครูนั่งลงบนเก้าอี้หน้าโต๊ะทำงาน เนื่องด้วยมีเก้าอี้เหลืออยู่ตัวเดียว ศิษย์ทั้งสองจึงนั่งลงบนเสื่อข้างหน้าครู ครูกับศิษย์ได้แลกเปลี่ยนการปราศรัยไต่ถามทุกข์สุขกันครู่หนึ่ง แล้วครูก็ขอตัวไปผลัดเครื่องแต่งตัวและอาบน้ำ

ระหว่างรับประทานอาหาร ครูอุทัยได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับงานการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ฟังอย่างละเล็กละน้อย ตามที่นิทัศน์ได้ซักถาม และนิทัศน์ก็ได้เล่าเรื่องเจ้าคุณอภิบาลราชธานีถูกปลดจากราชการให้ครูฟัง รวมทั้งการกล่าวขวัญของคนต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอดจนความกังวลใจของจันทา ระหว่างนั้นครูยังไม่ได้แสดงความเห็นอะไร ครูเพียงแต่ซักถามข้อความบางอย่างและซักถามถึงความเป็นอยู่ของจันทาเสร็จจากรับประทานอาหาร และได้นั่งพักผ่อนสนทนากันด้วยเรื่องเบาๆ ครู่หนึ่งแล้ว ครูจึงสนทนากับเขา ถึงเรื่องของจันทาอย่างเป็นการจริงจัง

“ในข้อแรก เธอจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง ชนิดที่ไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าเรฟโวลูชั่น คือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกแผ่นดิน ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก็คือ เรฟโวลูชั่นในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๘๙ เรฟโวลูชั่นในประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๑ เรฟโวลูชั่นในประเทศรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๗. การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดขุดรากการปกครองแบบเก่าทิ้งไปและบรรจุการปกครองแบบใหม่ลงไปแทนที่ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นการโค่นล้มกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่ครองอำนาจอยู่ โดยจัดการให้ราษฎรสามัญได้เข้าครองอำนาจนั้น ในประเทศทั้งสาม ได้มีการล้มอำนาจของกษัตริย์และเจ้านายด้วยวิธีการรุนแรง แต่ในประเทศสยามคณะราษฎรได้ทำการโดยละม่อม คือยังให้มีกษัตริย์อยู่ ส่วนอำนาจนั้นจะต้องจัดการให้เป็นไปตามความจำนงของเรฟโวลูชั่น คืออำนาจการปกครองจะต้องเปลี่ยนมาอยู่ในมือราษฎร และราษฎรจะต้องเป็นใหญ่ในการปกครองบ้านเมือง เมื่อการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะเป็นการโค่นล้มอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งเช่นนี้ พวกอำนาจเก่าก็ย่อมจะไม่พอใจ และย่อมจะหาทางช่วงชิงอำนาจกลับกลับคืน ในต่างประเทศที่ครูได้กล่าวให้ฟังแล้วนั้น จึงได้มีการรบพุ่งกันเพื่อช่วงชิงอำนาจกลับคืน เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกว่าเรฟโวลูชั่นเช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาที่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงในนามของราษฎร จะต้องใช้วิธีการป้องกันตัว จากการประทุษร้ายของฝ่ายที่เสียอำนาจไป และเนื่องด้วยความจำเป็นข้อนี้จึงต้องมีการปลดและเปลี่ยนแปลงข้าราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ การปฏิบัติในกรณีเช่นนี้ จะอ้างหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ตามปกติมาวิจารณ์ว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้นไม่ได้ เพราะว่านี่เป็นการปฏิบัติที่มีลักษณะพิเศษอันเป็นผลของเรฟโวลูชั่น”

เมื่อครูอุทัยหยุดเว้นระยะตรงนี้ นิทัศน์ได้ชำเลืองแลไปทางมิตรของเขา และได้เห็นจันทาก้มหน้าถอนใจ แล้วเงยหน้าขึ้นจ้องหน้าครู เพื่อฟังคำชี้แจงของครูต่อไป

“การปลดข้าราชการรุ่นเก่าออกจากตำแหน่ง ในยามที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองชนิดพลิกแผ่นดินเช่นนี้ ยังมีความจำเป็นอีกข้อหนึ่ง คือว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลงแล้ว จะต้องมีการใช้นโยบายการปกครองใหม่ ๆ ซึ่งข้าราชการรุ่นเก่าผู้มีอายุอาจไม่มีศรัทธา และไม่เข้าใจในคุณค่าของนโยบายนั้น จึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนใช้คนชุดใหม่ เพื่อให้นโยบายเหล่านั้นดำเนินไปด้วยดี”

ครูและศิษย์ นั่งล้อมวงสนทนากันบนเสื่อ มีถาดใส่ส้มเขียวหวานวางอยู่ตรงกลาง ไฟฟ้ายี่สิบห้าแรงเทียนที่ห้อยลงมาจากเพดานให้แสงสว่างค่อนข้างสว่างสลัว ในยามทำงานกลางคืน ครูใช้ไฟดวงเดียวนี้ด้วยการโยงให้ใกล้กับโต๊ะทำงาน ขณะนี้ครูอุทัยได้ทอดสายตาไปจับอยู่ที่ดวงหน้าจันทา และได้พูดต่อไปด้วยเสียงอ่อนโยนว่า “ในเรื่องที่เจ้าคุณอภิบาลถูกปลดนั้น ครูไม่ทราบรายละเอียดของการปรึกษาหารือแต่ครูเข้าใจว่า คงอาศัยเหตุผลในข้อที่รัฐบาลต้องการได้คนที่สนใจและเข้าใจการดำเนินนโยบายใหม่ ๆ มาดำรงตำแหน่งแทนเจ้าคุณ จันทาเมื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชนิดที่เรียกว่าเรฟโวลูชั่นแล้ว เธอจะเห็นว่าการปลดข้าราชการรุ่นเก่า และการเปลี่ยนตัวบุคคลในตำแหน่งราชการที่สำคัญ ๆ นั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันจะต้องเกิดติดตามกันมากับเรฟโวลูชั่นสำหรับการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกแผ่นดินเช่นนี้ เมื่อไม่มีการนองเลือดเกิดขึ้นก็ต้องนับว่าเป็นเคราะห์ดีอย่างยิ่งแก่ประเทศของเรา ในไม่ช้ารัฐบาลคณะราษฎรจะตั้งมหาวิทยาลัยที่สอนวิชากฎหมาย วิชาการปกครอง เศรษฐศาสตร์และวิชาการเมืองดังที่สอนกันในต่างประเทศและก็ยังไม่เคยเรียนกันในเมืองไทย มหาวิทยาลัยใหม่จะรับนักศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั้งจะมีการพิมพ์เล็กเชอร์ของอาจารย์ออกจำหน่ายแก่นักศึกษาในราคาถูก นักศึกษาที่ยากจนจะไม่ต้องลำบากในเรื่องการซื้อตำรา ถ้าเธอได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยใหม่ เธอจะได้ศึกษาวิชาการเมืองและธรรมนูญการปกครองของประเทศต่าง ๆ แล้วเธอจะเข้าใจเรื่องเรฟโวลูชั่น และการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่รัฐบาลคณะราษฎรจะนำมาใช้ดำเนินการปกครองประเทศของเราต่อไป”

เมื่อครูอุทัยกล่าวถึงการตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งจะมีการสอนวิชาใหม่ ๆ อันยังไม่เคยสอนกันมาในเมืองไทยนั้น นัยน์ตาของนิทัศน์แวววาว และจันทาก็ฟังด้วยความทึ่ง

“รัฐบาลใหม่มีวิธีการที่จะช่วยเหลือเด็ก ๆ ลูกคนยากคนจนให้มีโอกาสเรียนหนังสือในชั้นสูง ๆ บ้างไหมครับ?” นิทัศน์ถาม เขาไม่ลืมถ้อยคำของกรรมกรท่าเรือที่พูดฝากเขาไว้ ที่หน้าโรงหนังสิงคโปร์

“มีซิเธอ รัฐบาลจะขยายการศึกษาฟรีให้แก่เด็กจน ๆ ไปจนถึงชั้นมัธยม รัฐบาลของราษฎร จะต้องคิดถึงราษฎรคนยากคนจนก่อนสิ่งอื่นใด รัฐบาลจะต้องแก้ไขความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรผู้ยากจน คือพวกชาวนาและกรรมกร บุคคลประเภทนี้ทีเดียว คือพลเมืองเกือบทั้งหมดของสยาม ซึ่งรัฐบาลเก่าไม่ได้เหลียวแลเลย พลเมืองเกือบทั้งหมดของสยามเหล่านี้ ได้ถูกทอดทิ้งให้ชีวิตล้มลุกคลุกคลาน ไปกับภัยธรรมชาติ และภัยจากการกดขี่เบียดเบียนของคนกลุ่มน้อย เขาเหล่านี้ต้องผจญชีวิตระกำลำบากมาหลายชั่วคนนักแล้ว รัฐบาลของราษฎร จะต้องให้ความช่วยเหลือเขาโดยไม่ชักช้า” ครูอุทัยกล่าวข้อความตอนนี้ ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น และด้วยท่าทีอันแสดงความจริงจัง และศิษย์ทั้งสองก็นั่งฟังด้วยกิริยาอันแสดงความเคารพเหมือนกับว่าเป็นถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์

“รัฐบาลของราษฎร จะต่อสู้และเอาชนะความอดอยากยากแค้นของพลเมืองให้ได้ จะปราบปรามความอดอยากยากแค้นให้ได้ รัฐบาลของราษฎรจะทำงานปกครองประเทศด้วยความเสียสละ” กังวานแห่งน้ำเสียงของครูอุทัย เหมือนหนึ่งกังวานของคำปฏิญาณ “รัฐบาลจะจัดให้ราษฎรทุกคนได้มีงานทำ แต่โครงการทั้งหมดที่ครูได้กล่าวให้ฟังนี้ จะดำเนินไปได้ ก็ต่อเมื่อมีโครงการเศรษฐกิจสนับสนุน หากปราศจากโครงการเศรษฐกิจ โครงการอื่น ๆ ก็จะกลายเป็นโครงการละเมอเพ้อฝัน รัฐบาลคณะราษฎรจึงได้เตรียมโครงการเศรษฐกิจ ที่จะบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรส่วนใหญ่ไว้พร้อมแล้ว”

เมื่อครูอุทัยหยุดพูด ครูได้หยิบส้มเขียวหวานแจกให้ศิษย์คนละผล และครูได้หยิบขึ้นมาสำหรับครูเองผลหนึ่ง บัดนี้แสดงว่า การสนทนาที่เคร่งเครียดจริงจังของครูได้จบลงแล้ว ระหว่างรับประทานส้มเขียวหวานนิทัศน์ได้ซักถามในเรื่องที่เนื่องจากคำชี้แจงของครูสองสามข้อ จันทาเป็นฝ่ายฟัง และเมื่อได้มีการพูดถึงเรื่องเจ้าคุณอภิบาลถูกปลดอีกครั้งหนึ่ง จันทาได้เอ่ยขึ้นว่า “คนในบ้านของท่านเจ้าคุณ เขาเอาคำของคนโบราณมาพูดกันว่า แต่นี้ไปพวกผู้ดีจะเดินตรอก ฝ่ายพวกขี้ครอกจะเดินถนน”

ครูอุทัยหัวเราะ และย้อนถามว่า “ถ้ามันเป็นจริงตามนั้นจะไม่ดีหรือจันทา?”

“ผมยังไม่ทราบครับ” จันทาตอบอย่างระมัดระวัง

“ทำไมจะไม่ดีเล่า ถ้าพวกขี้ครอก ซึ่งถูกบังคับให้อยู่อย่างตัวลีบมานมนานแล้ว จะได้ออกมาเดินอย่างองอาจตามท้องถนนกันเสียบ้าง เพราะว่าถนนหนทางและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เราเรียกว่าเป็นความเจริญของบ้านเมืองเหล่านี้ ก็ล้วนแต่พวกขี้ครอกทั้งนั้นแหละเธอ ที่ได้ก่อสร้างมันขึ้นมา”

จันทาเพียงแต่ยิ้มแห้งๆ ไม่ตอบว่ากระไร ครูอุทัยจึงพูดต่อไปและคราวนี้ ครูได้พูดด้วยน้ำเสียงแสดงความจริงจังอีกครั้งหนึ่ง “ครูรู้สึกว่าจันทายังไม่สู้เข้าใจว่า การได้เสียในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้อยู่ที่ตรงไหน และอยู่กับใครบ้าง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะเป็นผลดีแก่ราษฎรสามัญชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ พวกชาวนาที่เป็นพวกพ้องของจันทานั่นเอง พวกชาวนาทุกจังหวัดจะได้มีโอกาสเลือกผู้แทนของเขาเข้ามานั่งในสภาผู้แทน และผู้แทนของชาวนาเหล่านั้นต่อไปก็อาจจะได้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลด้วย คือจะได้เป็นเสนาบดี แต่ว่าเขาจะเป็นเสนาบดีผู้รับใช้ราษฎรชาวนา ไม่ใช่เสนาบดีผู้รับใช้กษัตริย์และเจ้านายและคอยรับพระราชโองการจากกษัตริย์ดังแต่ก่อน แม้จันทาเองเมื่อได้ศึกษามีวิชาความรู้สูงขึ้น และทำตัวให้เป็นที่นิยมนับถือแก่พวกชาวนาของเธอ เขาก็อาจจะเลือกเธอเข้ามานั่งในสภาผู้แทนราษฎร และในกาลต่อไป เธอก็อาจได้เป็นเสนาบดีเหมือนอย่างท่านบิดาของศิริลักษณ์”

ครูอุทัยพูดด้วยสีหน้าและท่าขรึม ไม่มีท่วงทีว่าเป็นการพูดเล่น ถึงแม้นิทัศน์จะรู้สึกขำในใจอยู่บ้าง เขาก็มิได้ยิ้มออกเมื่อได้ยินว่า จันทาอาจจะได้เป็นถึงเสนาบดี เช่นเดียวกับท่านบิดาของศิริลักษณ์ นิทัศน์รู้สึกว่าครูอุทัยไม่ได้พูดเพียงเป็นการปลอบโยนเอาใจจันทา ครูพูดอย่างจริงจังและตั้งใจหมายความตามถ้อยคำของครูในขณะนั้น นิทัศน์ก็หวนระลึกไปถึงถ้อยคำของหม่อมราชวงศ์รุจิเรขที่โอ้อวดไว้ว่า หม่อมหลวงอิทธิพร มิตรสนิทของเขา รวมทั้งตัวเขา อาจจะได้เป็นนายพลบัดนี้ นิทัศน์ก็นึกอยู่ในใจว่าจันทาผู้เป็นปิยมิตรของเขา ก็อาจได้เป็นถึงเสนาบดี ซึ่งสูงกว่านายพลเสียอีก ทั้งมีทางเป็นไปได้ยิ่งกว่า ความเป็นนายพลของสหายเชื้อพระวงศ์ ผู้ไม่เอาถ่านทั้งสองนั้นเสียอีก

ในขณะที่จันทายังคงแสดงอาการกระดากกระเดื่องงวยงงอยู่นั้น ครูอุทัยได้พูดต่อไปว่า “โอกาสเช่นที่ครูได้กล่าวให้ฟังนั้น เป็นโอกาสที่พวกชาวนากรรมกร และสามัญชนทั่วไป ไม่เคยมีมาแต่ ก่อน สามัญชนอาจจะได้เคยฝันถึง แต่บัดนี้เราไม่ต้องฝันถึงโอกาสเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะว่ามันได้กลายเป็นของจริงขึ้นมาแล้ว โอกาสที่ราษฎรสามัญชน จะพรรณนาถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของเขา และความกดขี่บีบคั้นอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เขาได้รับจากเจ้าพนักงานปกครองบ้านเมือง รวมทั้งการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขบำบัดนั้น ได้มาปรากฏแก่เขาจริง ๆ แล้ว ในยามทุกข์ เขาจะไม่ต้องนั่งกอดอกรำพันว่า ‘มีปากก็เหมือนตูด พูดไม่ได้’ อีกต่อไป และเขาก็จะนึกถึงถ้อยคำเก่า ๆ ที่ว่า ‘เอามะพร้าวห้าวยัดปาก’ ว่า เป็นเรื่องที่น่าขบขันเสียเหลือเกิน เขาจะร้องตะโกนถึงความทุกข์ยากและความอยุติธรรมที่เขาได้รับ โดยไม่ต้องหวาดกลัวพวกอำเภอและตำรวจอีกต่อไป คนเหล่านั้นจะต้องกลายมาเป็นผู้รับใช้ความประสงค์ของเขา เขาจะพูดถึงเรื่องนี้ด้วยตนเอง หรือจะให้ผู้แทนที่เขาเลือกขึ้นมา เป็นผู้พูดแทนเขาก็ได้ และเมื่อผู้แทนของเขาได้เป็นรัฐบาล ผู้แทนของเขาก็จะเข้าจัดการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเขาเสียเอง โดยไม่ต้องไปร้องไปพูดกับใครอีก จันทา, เธอเห็นหรือยังว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ผลได้ตกอยู่กับใครบ้าง”

“เดี๋ยวนี้ผมพอจะเห็นครับ” ชายหนุ่มจากหมู่บ้านโนนดินแดงตอบ

“แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญ ๆ นั้น ไม่ใช่ว่าคนทั้งประเทศจะมีส่วนได้ไปทั้งหมด” ครูอุทัยกล่าวต่อไป “คนที่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงก็มีเหมือนกัน คือคนส่วนน้อยที่มีอำนาจปกครองอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งบริวารของเขา คนเหล่านั้นย่อมไม่พอใจการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เพราะว่าเขาได้เสียประโยชน์ไป และเขาเหล่านี้ ก็ย่อมกล่าวคำตำหนิติเตียนการกระทำของรัฐบาลใหม่ที่ขัดกับผลประโยชน์ของเขา การที่เจ้าคุณอภิบาลถูกปลดจากราชการ ย่อมก่อความไม่พอใจให้แก่มิตรสหายและบริวารของท่าน และย่อมจะกระทบกระเทือนจิตใจเธอ จันทา และเธอก็อาจจะหวาดหวั่นว่าฐานะในทางราชการของเธอจะไม่ปลอดภัย แล้วเธอก็อาจจะมองดูรัฐบาลคณะราษฎร เสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้มาทำลายอนาคตอันดีงามของเธอ และเธอก็อาจเกิดความหวาดกลัวชิงชังรัฐบาลใหม่” ครูอุทัยเอามือลูบหลังจันทา ก่อนที่จะพูดต่อไป ด้วยความกรุณารักใคร่ว่า “หากว่าจะมีความคิดทำนองนั้น เกิดขึ้นในใจเธอ ครูก็ขอเตือนเธอด้วยความรักว่า นั่นเป็นความคิดที่มองไปจากผลประโยชน์ส่วนตัวของเธอ และก็เป็นความคิดที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของพวกพ้องชาวนาผู้ยากจนของเธอ ถ้าเธอยึดถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่แล้ว เธอก็จะกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อพี่น้องชาวนาและราษฎรสามัญทั่วไป เพราะว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะเป็นคุณประโยชน์แก่พวกพี่น้องของเธอ และคนที่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำทั่วไป”

ขณะที่ครูอุทัยเอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำมาดื่ม จันทารู้สึกว่าเขาจะนิ่งต่อไปไม่ได้ เขาจึงพูดขึ้นมาว่า “ผมจะไม่เป็นปรปักษ์ต่อพี่น้องชาวนาของผมเป็นอันขาดครับ คุณครู ผมจะไม่ลืมความยากลำบากแสนสาหัสที่พี่น้องชาวนาของผมได้ผจญกันมาเลย ถ้าผมคิดอะไรผิดไป ก็เป็นด้วยผมยังโง่เขลาอยู่เท่านั้น”

นัยน์ตาของนิทัศน์วาววามด้วยความชื่นชมยินดีในถ้อยคำของมิตร เขาบีบแขนของจันทาเบา ๆ ด้วยความเชื่อมั่นและเห็นใจ ครูเอามือลูบหลังจันทาซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วยความปราณี

“จันทา, เธอจะได้เรียนเพื่อรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เมื่อมหาวิทยาลัยใหม่ของเราได้เปิดขึ้นแล้ว” ครูอุทัยหันหน้ามาทางนิทัศน์และพูดว่า “ครูหวังว่า นิทัศน์ก็จะเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยใหม่เหมือนกัน ครูทราบว่าเธอเป็นคนรักความจริง และความยุติธรรม ครูเชื่อว่า เธอจะเป็นประโยชน์มาก ในยุคสมัยของการปกครองแบบใหม่”

ชายหนุ่มทั้งสองรับรองกับครูของเขาว่า เขาเต็มใจเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยใหม่ และนิทัศน์ได้พูดกับครูว่า “ในชีวิตของผม ผมจะอยู่ข้างสามัญชนตลอดไป เพราะว่ามนุษย์ในโลกนี้แทบทั้งหมด ก็เป็นคนธรรมดาสามัญชนอย่างผมทั้งนั้น”

จันทายิ้มอย่างแช่มชื่น และครูอุทัยก็เอามือโอบไหล่ศิษย์ทั้งสองด้วยความรัก

วิชาความรู้ที่บุคคลมีอยู่นั้น ไม่ว่าจะมากมายสักเท่าใด จะไม่ทำให้เขามีความคิดที่ถูกต้องขึ้นมาได้ และก็ จะไม่ทำให้เขาเป็นประโยชน์แก่ชนส่วนมากได้ หากเขาพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมนุมชน โดยถือเอาการได้เสียส่วนตัว และความรู้สึกส่วนตัวของเขา ซึ่งขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนมากเป็นหลักในการพิจารณา ความคิดที่ถูกต้องคุณค่าต่อชุมนุมชนนั้น จะต้องเป็นความคิดที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของส่วนมาก

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ