คำนำ

คุณหญิงสงวนอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง กับ อำมาตย์เอก พระพรหมวิทุร การุญจรยาบดี (ต่วน ไชยคุปต) ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษ ผู้เปนน้อง มีความศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนคร เปนของแจกในงานศพ นายพันตำรวจเอกพระยาอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง (เซย ไซยคุยต์) นช ,ม ม, รัตน ว ป ร, ๔ ร จ ม. จึงมาแจ้งความแก่กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ ขอให้ช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ ๒ ให้คุณหญิงอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง กับพระพรหมวิทุรพิมพ์ตามประสงค์

หนังสือซึ่งเรียกว่า เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ นี้ คือรวบรวมหนังสือซึ่งเปนพระราชนิพนธ์บ้าง เปนของเจ้านายทรงพระนิพนธ์บ้าง ข้าราชการแต่งบ้าง บรรดาว่าด้วยการเที่ยวเตร่ไปยังที่ต่าง ๆ ซึ่งได้พิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณ มาพิมพ์เปนเล่มเฉภาะแต่ว่าด้วยเรื่องเที่ยว ได้พิมพ์มาแต่ก่อนแล้วภาคหนึ่ง ว่าด้วยเที่ยวทางชายทเลฝั่งตวันออก เล่มภาคที่ ๒ นี้ ล้วนเรื่องเที่ยวไปต่างประเทศ เปนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ เรื่อง ๑ พระนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงษ์ เรื่อง ๑ ข้าพเจ้าได้แต่งไว้เอง ๒ เรื่อง รวมเปน ๔ เรื่องด้วยกัน จัดเรียงลำดับโดยระยะทางที่ไปดังนี้ คือ

เรื่องที่ ๑ ว่าด้วยลักษณโดยสานเรือเมล์ไปยุโรป ข้าพเจ้าแต่งเมื่อกลับจากยุโรป ในปีมโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ เรื่องราวกล่าวตามความคุ้นเคยของข้าพเจ้าเมื่อโดยสานเรือเมล์ไปยุโรป ในรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ ถ้าจะคิดเวลาแต่เมื่อแต่งมาจนบัดนี้ ได้ถึง ๒๗ ปี การต่าง ๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ ลักษณการโดยสานเรือเมล์ทุกวันนี้ เห็นจะผิดกับที่ข้าพเจ้าพรรณามาก แต่ผิดไปทางข้างดีขึ้นกว่าแต่ก่อน (เว้นแต่ในระหว่างคราวสงคราม) ท่านทั้งหลายควรอ่านเรื่องราวที่ข้าพเจ้าแต่งเสมออย่างเรื่องโบราณ ว่าการโดยสานเรือเมล์ไปยุโรปเมื่อกระนั้นเปนดังที่พรรณาไว้ในเรื่องนี้ แลพอเปนเครื่องเปรียบเทียบของผู้ที่เคยไปยุโรปในชั้นหลัง ว่าเมื่อครั้งข้าพเจ้าไปยังหย่อนศิริวิไลยอยู่เพียงใด

เรื่องที่ ๒ เรื่องเที่ยวเมืองพม่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงษ์ได้เสด็จไปประพาศเมืองพม่า เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ เสด็จกลับมาแล้วแต่งหนังสือเรื่องนี้ ส่งประทานมาลงหนังสือวชิรญาณเปนคราวๆ ในเวลาถึงเวรจะต้องประทานหนังสือมาลงพิมพ์ตามที่กรรมการขอแรงสมาชิกให้ช่วยกันแต่ง กิจที่จะต้องแต่งหนังสือเรื่องนี้ครบคราวเกณฑ์เสียก่อนหมดเรื่อง หนังสือเรื่องนี้จึงค้างมา ด้วยผู้ที่กรรมการขอแรงให้แต่งหนังสือมักเปนผู้มีน่าที่ราชการติดตัว ยากที่จะหาเวลามาแต่งหนังสือได้โดยอำเภอใจด้วยกันโดยมาก ผู้ใดอ่านหนังสือเรื่องนี้เห็นจะเสียดายด้วยกันทุกคนที่ไม่จบ เมื่อข้าพเจ้าเลือกจะเอามาพิมพ์ก็ได้คิดเปนสองจิตรสองใจ ว่าจะพิมพ์ดีฤๅเพราะเรื่องไม่จบจะงดเสียดี เมื่อชั่งใจดู เห็นว่าหนังสือเรื่องนี้ ในทางโวหารควรนับว่าเปนหนังสือแต่งดีถึงชั้นสูง ถ้าไม่พิมพ์ทำไมท่านทั้งหลายจะได้ทราบ แลได้เห็นตัวอย่างสำนวนหนังสือไทยที่แต่งดีเช่นเรื่องนี้ จึงตกลงใจให้พิมพ์ทั้งที่ไม่จบ แลจำต้องทูลขออภัยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงษ์ด้วย

เรื่องที่ ๓ เรื่องพระเขี้ยวแก้วที่เมืองลังกา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อปีรกา พ.ศ. ๒๔๔๐ ครั้งเสด็จเมืองลังกา เมื่อเสด็จประพาศยุโรปคราวแรก แล้วพระราชทานมาลงหนังสือพิมพ์วชิรญาณ ทรงแสดงเรื่องราวพระเขี้ยวแก้วแลเรื่องพระสงฆ์เมืองลังกาที่ได้ไปทรงทราบในคราวนั้นโดยถ้วนถี่พิศดาร ยังไม่เคยมีใครได้พรรณามาดังนี้แต่ก่อน ๆ

เรื่องที่ ๔ ว่าด้วยไปเที่ยวเมืองเตอร์กี ข้าพเจ้าแต่งเมื่อกลับจากยุโรปในคราว ๆ เดียวกับเรื่องโดยสานเรือเมล์ที่ลงข้างต้น ต่อมามีไทยได้ไปถึงประเทศเตอร์กีอิก ๒ คราว คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เสด็จไปคราว ๑ สุลต่านอับดุลฮามิดทรงรับรองยิ่งดีกว่าคราวเมื่อข้าพเจ้าไป ต่อมาหม่อมเจ้าบวรเดชได้ไปอิกคราว ๑ เปนเวลาสุลต่านอับดุลฮามิดเสื่อมถอยพระราชอำนาจเสียแล้วแต่ก็ทันได้ไปเฝ้า ครั้นต่อมาสุลต่านอับดุลฮามิดต้องถูกพวกขบถปลงจากราชสมบัติเมื่อปีรกา พ.ศ. ๒๔๕๒ แล้วต้องถูกคุมขังต่อมา พึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๔๖๐ นี้

พวกศัตรูพากันว่าสุลต่านอับดุลฮามิดดุร้าย ไม่ทำนุบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้มีอิศรรุ่งเรืองเหมือนประเทศศิริวิไลยในยุโรป จึงเกิดพวกขบถเรียกกันว่าพวก “เตอกหนุ่ม” คิดประทุษร้ายจนปลงพระองค์ลงจากราชสมบัติเปนที่สุด ความที่ยกโทษสุลต่านอับดุลฮามิดว่าชั่วร้าย จะเปนความจริงเท็จเพียงไรข้าพเจ้าทราบไม่ได้ เคยเห็นแต่ฝ่ายข้างดี แต่เมื่อพวกศัตรูชิงอำนาจจากสุลต่านอับดุลฮามิดได้แล้วแลปกครองบ้านเมืองต่อมา ความประพฤติของพวกนั้นปรากฎแต่ความชั่วร้ายเลวทรามยิ่งกว่าที่ตนได้โพนทนากล่าวโทษสุลต่านอับดุลฮามิดทุก ๆ อย่าง ผลที่สุดบ้านเมืองก็ทรุดโทรมาจนจะแตกทำลายอยู่ในเวลานี้ จนมีเสียงคนบางพวกกลับกล่าวในชั้นหลังนี้ ว่าถ้าสุลต่านอับดุลฮามิดยังครองราชสมบัติอยู่ถึงอย่างไร ๆ ประเทศเตอร์กีเห็นจะไม่ทรุดโทรมอย่างทุกวันนี้ ความที่ว่าข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นด้วย

อนึ่งเมื่อจะพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ คุณหญิงสงวน ได้จดหัวข้อประวัติของพระยาอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง มามีเนื้อความตามประวัติดังนี้ คือ

ประวัติ

พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เชย ไชยคุปต์) เกิดเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำปีมโรง จุลศักราช ๑๒๓๐ พ.ศ. ๒๔๑๑ เปนบุตรนายโอ่ง ไชยคุปต์ แลนางทิม ตระกูลเปนพลเรือน บ้านอยู่ใกล้เสาชิงช้าถนนบำรุงเมืองในกรุงเทพ ฯ เรียนหนังสือโรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง แลได้อุปสมบทที่วัดสระเกษ

แรกเข้ารับราชการเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ เปนเสมียนในกรมนครบาล เมื่อครั้งกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ทรงบัญชาการกระทรวงนครบาล แล้วได้รับประทวนเปนที่ขุนสุนทรภักดี ตำแหน่งนายอำเภอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ต่อมาทรงพระดำริห์เห็นว่าเปนคนคล่องแคล่วกว้างขวางอยู่ในจังหวัดพระนคร จึงให้รับราชการมีตำแหน่งในกรมตำรวจพระนครบาล อันถูกอัธยาศรัยแลความสามารถของพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ทำราชการมีบำเหน็จความชอบ ได้เลื่อนยศศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่ได้เปนนายหมวดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนหลวงอธิกรณ์ประกาศ ตำแหน่งสารวัดแขวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ แล้วได้เลื่อนเปนสารวัดใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เปนปลัดกรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนเปนพระอธิกรณ์ประกาศเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ เปนเจ้ากรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเปนพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ แลได้เปนนายพันตำรวจเอกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

เมื่อในรัชกาลที่ ๕ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ทิพยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ภัทราภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ภูษนาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มัณฑนาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ แลเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ เหรียญจักรมาลา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ นิภาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ แลได้พระราชทานเข็มอักษรพระนามทองคำลงยาชั้นที่ ๒ นอกจากนี้ได้พระราชทานเหรียญการพระราชพิธีตามบันดาศักดิ

อนึ่งในรัชกาลปัตยุบันนี้ เมื่อทรงพระราชดำริห์จัดตั้งคณะเสือป่าขึ้น พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองก็ได้รับราชการในเสือป่า ได้พระราชทานสัญญาบัตร เปนนายหมู่ตรี นายหมู่โท แลนายหมู่ใหญ่ เทียบชั้นนายหมวดเอกโดยลำดับมา คงมียศอยู่ถึงอนิจกรรม

พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เปนคนสำคัญในราชการกรมตำรวจพระนครบาลคน ๑ มาตั้งแต่ยังเปนหลวงอธิกรณ์ประกาศ เปนผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาคุ้นเคยมาทั้ง ๒ รัชกาล ถึงเจ้านายแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็พากันชอบพอโดยมาก ด้วยเปนผู้มีอัธยาไศรยเผื่อแผ่กว้างขวาง แลอยู่ในน่าที่ซึ่งอาจจะให้ความสงเคราะห์ปกปักรักษาผู้อื่นให้มีความศุขสำราญ ความช่วยเหลืออันใดซึ่งได้ออกปากขอร้องต่อพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองแล้วไม่ใคร่เสียหวัง จึงเปนที่ชอบพอของผู้อื่นด้วยเหตุนี้ แต่พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง มีอาการป่วยเพื่อวักกะพิการเรื้อรังมาช้านาน ในตอนหลังมีความทุพลภาพเข้าประจำตัว แต่เวลามีราชการสำคัญก็ยังอุส่าห์มารับราชการไม่ใคร่ขาด อาการป่วยกำเริบขึ้นทุกทีจนถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ปีมเมีย พ.ศ. ๒๔๖๑ คำนวณอายุได้ ๕๑ ปี

ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราษี ซึ่งคุณหญิงสงวน แลพระพรหมวิทุรฯ ทำการปลงศพสนองคุณพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองผู้สามี แลผู้พี่ เชื่อว่าท่านทั้งหลายผู้ที่ได้รับหนังสือเรื่องนี้ไปอ่าน ก็คงจะอนุโมทนาอย่างเดียวกัน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ