เรื่องเที่ยวเมืองพม่า

พระนิพนธ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงษ์

๏ ในประเทศพม่านั้น ภูมิประเทศเปนอย่างไร การทั้งปวงในประเทศนั้นเปนอย่างไร ความประพฤติของหมู่ชนชาตินั้นเปนอย่างไร ข้าพเจ้าจะแทงใจท่านทั้งหลายก็ถูก ว่าคงอยากทราบภูมิ์ประเทศแลการทั้งปวง แลความประพฤติของหมู่ชนในประเทศนั้นทั่วทุกท่านทุกนาย เพราะชาวพม่าเปนชาติใหญ่อันหนึ่ง ซึ่งบ้านเมืองตั้งอยู่ชิดติดต่อกับชาติไทย ตามจริงควรจะรักกันโดยฉันเพื่อนฝูง อุดหนุนซึ่งกันแลกันก็คงจะได้รับความเจริญอันยิ่งใหญ่ นี่ไม่ประพฤติเช่นนั้น กลับแตกร้าวเปนข้าศึกศัตรูประทุษร้ายซึ่งกันแลกันเปนอเนกประการ ความแจ้งอยู่ในหนังสือเก่า ๆ หลายฉบับ มีหนังสือพระราชพงษาวดารเปนต้นนั้นแล้ว ชาวไทยเราทั้งหลายย่อมมีความเกลียดความแค้นชาติพม่าทั่วหน้ากัน เหตุอันใหญ่ซึ่งทำให้เกลียดให้แค้นชาวพม่าเปนอย่างยิ่งนั้น ก็คือเหตุที่พม่ามาตีกรุงอยุทธยาแตก พากันระส่ำระสายไปทั่วบ้านทั่วเมือง อาไศรยเหตุที่คนทั้งหลาย ย่อมมีกิเลศนอนอยู่ในสันดานทั่วกัน จึงคิดร่วมใจกันทุกคน จะใคร่ทดแทนทำแก่พม่าบ้าง แต่หากไม่มีโอกาศที่จะทำได้สมประสงค์ ความเกลียดความแค้นนั้นจึงไม่หายได้ ต่อมาจนถึงที่คนเกิดภายหลัง ซึ่งไม่ได้เคยต้องระส่ำระสายเพราะพม่าทำ แลไม่รู้จักรูปร่างหน้าตากิริยาของพม่าว่าเปนอย่างไร ถึงดังนั้นก็คงยังเกลียดพม่าอยู่ได้ ด้วยคนทั้งหลายที่รู้หนังสือได้อ่านหนังสือเรื่องราวเก่าเก่า ฤๅผู้ที่ไม่รู้หนังสือได้ยินคำบอกเล่าความเก่าแก่ทุก ๆ คน ได้ทราบการที่พม่าทำกับไทย ซึ่งเปนปู่ย่าตายายแลเพื่อนชาติเดียวกันเช่นนั้น จึงเปนเหตุมาเกาใจให้ค้นคิดอยู่เสมอที่จะใคร่ทำทดแทนบ้าง เมื่อดังไม่สมประสงค์ตราบใดความแค้นก็ไม่หายตราบนั้น ความเกลียดความแค้นนามแห่งชาติพม่านั้นแลจึงนำไปให้อยากเห็นหน้าตาชาวพม่าว่าเปนอย่างไร ความประพฤติของหมู่ชนทั้งหลายจะเปนอย่างไร การต่าง ๆ ในประเทศนั้นจะเปนอย่างไร ภูมิประเทศอย่างไร เพราะฉนี้ข้าพเจ้าผู้ซึ่งได้เคยไปแล้ว ในเมื่อปีชวดสัมฤทธิศกศักราช ๑๒๕๐ ได้รู้ได้เห็นการทั้งปวงในประเทศนั้นข้างเล็กน้อยพอสมควรแก่เวลาที่เดินทางไปคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าจะเล่าสู่ท่านทั้งหลายพึงตามรู้ตามเห็น ให้ต้องตามความอยากของท่านทั้งหลาย จะได้เปนเครื่องบำรุงความรู้ ในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้ แลบำรุงความเพลินให้เปนไปในเวลาอ่านหนังสือนี้ เมื่อไม่มีธุระเกี่ยวข้อง อนึ่งซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวถึงภูมิลำเนาเมืองพม่านี้ จะต้องกล่าวโดยเลอียดสักหน่อย เพราะเพื่อจะให้ท่านทั้งหลายได้เห็นการชัดว่าบ้านเมืองจะมีคนมากน้อยสักเพียงใด แลจะมีสินค้าสิ่งใดบ้าง แต่ข้าพเจ้าวิตกไปว่าบางทีจะไม่ต้องใจท่านผู้ที่ไม่ประสงค์จะทราบการสิ่งนั้นบ้าง จะเปนที่รกหูเห็นไม่สมควรที่จะกล่าวยืดยาว ข้าพเจ้าขอแจ้งความให้ทราบว่า ถ้าจะตัดเสียไม่กล่าวก็จะเสียประโยชน์แก่ท่านผู้ที่ต้องการจะทราบ เพราะฉนั้นข้าพเจ้าต้องขอโทษแก่ท่านผู้ที่ไม่ต้องการทราบภูมิลำเนาโดยเลอียด จงอดใจข้ามไปดูแต่ที่ต้องใจนั้นเถิด ๚

๏ บัดนี้จะกล่าวความตามที่ข้าพเจ้าได้ไปในประเทศพม่า บอกระยะทางโดยย่อ จำเดิมแต่ข้าพเจ้าได้ออกจากกรุงรัตนโกสินทรเมื่อวัน ๓ เติอน ๑๑ แรม ๑๐ ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศกศักราช ๑๒๕๐ ไปด้วยเรือเมล์กลไฟโดยทางทเล ถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อในวันเสาร์เดือน ๑๑ แรม ๑๔ ค่ำ พักอยู่ ๔ วัน ออกจากเมืองสิงคโปร์เมื่อวันพุฒเดือน ๑๒ ขึ้น ๔ ค่ำ ถึงเกาะหมากในวันศุกรเดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ พักอยู่ ๗ วัน ออกจากเมืองเกาะหมากเมื่อวันศุกรเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ถึงเมืองยางกูน (ย่างกุ้ง) ในวันอังคารเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ พักอยู่ ๒ วัน

ทีนี้จะกล่าวความพิศดาร โดยระยะที่ข้าพเจ้าออกจากเมืองยางกูนขึ้นไปเมืองมัณฑเล ซึ่งเปนเมืองหลวงแห่งพม่านั้น ตั้งต้นแต่วันพฤหัศบดีเดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ เวลาพลบข้าพเจ้าลงเรือเมล์ชื่อ “บิลู” เปนเรือไฟจักรข้างอย่างท้องแบนกินน้ำตื้น ซึ่งจอดอยู่ยังน่าท่าของกอมปนีนั้น พักนอนอยู่ในเรือ จนเวลา ๓ ยาม เรือจึงออกจากท่าล่องลงไปตามลำน้ำ แต่มิได้ออกไปถึงทเล เลี้ยวลัดเข้าลำน้ำแยก ไปจอดรอพักอยู่ยังปากน้ำจินาบาเกีย ตามที่ว่ามานี้บางท่านที่ไม่ได้เห็นแผนที่เมืองพม่า ซึ่งเขาทำโดยเลอียดนั้นก็จะไม่เข้าใจได้ เพราะแผนที่ซึ่งไม่ได้ทำจำเภาะเช่นนั้นส่วนคงจะเล็ก จะดูลำน้ำทางไปให้เข้าใจตามเรื่องราวที่กล่าวนี้เปนอันยาก เหตุนี้แลข้าพเจ้าจะขออธิบายทางอิกสักเล็กน้อย พอให้เข้าใจได้ง่ายสักหน่อย คือเมืองยางกูนกับเมืองมัณฑเลนั้น มิได้อยู่ร่วมลำน้ำกัน ลำน้ำเมืองยางกูนอยู่ข้างตวันออก ลำน้ำเมืองมัณฑเลซึ่งซื่อว่าแม่น้ำอิรวดีนั้นอยู่ข้างตวันตก ปากน้ำทั้งสองที่ไปตกทเลนั้น ห่างกันทางประมาณ ๑๐ กิโลเมเตอร์ แลในที่ฝั่งทเลระหว่างกลางแห่งแม่น้ำทั้งสองนั้นมีปากน้ำแห่งหนึ่ง เรียกชื่อจินาบาเกีย ปากน้ำอันนี้มีลำน้ำแยกออกเปนสองทาง ไปบรรจบลำน้ำเมืองยางกูนทางหนึ่ง ไปบรรจบลำน้ำอิรวดีทางหนึ่ง แม่น้ำอิรวดีนั้นเปนลำน้ำใหญ่ แม้ถึงปลายลำน้ำเมืองยางกุนก็เข้าบรรจบกับลำน้ำอิรวดี แต่ไม่เปนทางที่สมควรเรือเมล์จะเดินได้ จึงต้องย้อนลงไปข้างใต้น้ำ ตามทางที่จะไปเข้าอิรวดีนั้น จะเลียบไปตามชายทเลก็ได้ ฤๅจะเดินตามลำน้ำแยกออกไปออกปากน้ำจินาบาเกีย เข้าลำน้ำแยกไปบรรจบลำน้ำอิรวดีก็ได้ อาไศรยเหตุด้วยเรือเมล์เปนเรือน้ำตื้น จะออกทเลทนคลื่นลมไม่ไหว จึงได้เดินเลี้ยวลัดเข้าในลำน้ำแยกไปจอดรอพักอยู่ยังปากน้ำจินาบาเกีย ๚

๏ พอเวลาย่ำรุ่งในวันศุกรเดือน ๑๒ แรม ๕ ค่ำ เรือออกจากที่นั้นขึ้นไปตามลำน้ำ เข้าบรรจบออกแม่น้ำอิรวดี ภูมิลำเนาแนวแม่น้ำตามทางที่มาในวันนี้ แม่น้ำใหญ่กว้างอยู่ในระหว่าง ๔๐ เส้นเปนปานกลาง บางแห่งมีหาดทรายงอกตามชายแหลมบ้าง น้ำในลำน้ำฦกเพียง ๘ ศอกเปนปานกลาง บนฝั่งสองฟากมีบ้านราษฎรตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน ประมาณหมู่ละ ๒๐ ฤๅ ๓๐ หลังเรือน เรือนนั้นทำเปนกระท่อมน้อย ๆ คุ้งหนึ่งฤๅสองคุ้งมีหมู่หนึ่ง ในหมู่บ้านนั้น ๆ ปลูกต้นผลไม้ในที่ราบริมชายฝั่งข้างเล็กน้อย มีต้นมะม่วงแลกล้วยโดยมาก ต้นหมากแลมะพร้าวก็มีบ้างเล็กน้อย ประมาณอายุดูเหมือนจะปลูกลงใหม่ ๆ ในระหว่าง ๔ ฤๅ ๕ ปี ราษฎรในระยะนี้หากินเปนชาวปะโมงโดยมาก เรือค้าขายไม่พบเห็น เห็นมีแต่เรือน้อยของชาวบ้านเที่ยวตัดฟืนใช้ เรือเมล์เดินทางมาต้องหยุดรับส่งเปลี่ยนคนนำร่องครู่หนึ่งทุกแขวง พอเวลาบ่าย ๕ โมงเศษถึงบ้านยางกูน เรือหยุดจอดเทียบท่าพักนอนอยู่ในที่นั้น ๚

๏ เวลา ๑๑ ทุ่มเศษสว่างพอเห็นหนทาง เรือใช้จักรออกจากบ้านยางกูนขึ้นไปตามลำน้ำ ในวันเสาร์เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำนี้ ระยะทางตั้งแต่เรือออกจากบ้านยางกูนมา มีหาดทรายใหญ่หลายตำบลยิ่งกว่าวันก่อน ตลิ่งสูงพ้นน้ำประมาณ ๒ วา พื้นแผ่นดินเปนทุ่งบ้างเปนป่าละเมาะข้าง บ้านราษฎรค่อยมีหนาแน่นขึ้นถึงหมู่ละ ๑๐๐ ฤๅ ๒๐๐ หลัง เรือนราษฎรในระยะนี้ทำไร่ยาบ้าง ทำไร่ฝ้ายบ้าง จับปลาบ้าง พบเรือพม่าค้าขายยาวประมาณ ๔ วา ถิึง ๕ วา ประมาณ ๒๐ ลำ รูปเรือใหญ่สำหรับค้าขายนี้ คล้ายกันกับเรือลาวของเรานี้เอง แต่รูปร่างท่าทางเรือของพม่าจะโปร่งกว่าสักหน่อย เรือเล็กสำหรับจับปลาแลหาฟืนนั้น ก็คือเรือแซแห่เสด็จพระราชดำเนินกฐินเรานี่เอง แต่เล็ก ๆ ขนาดเรือพม้า แลมีกราบอ่อนเสิมปากอิกชั้นหนึ่ง เหมือนเช่นเรือพม้า คำที่เรียกชื่อเรือพม้านี้ ก็จะเปนเรือพม่านั้นเอง เรือพม้าของเราแต่ก่อนคงจะอย่างเดียวกันกับเรือพม่าที่ว่านี้ หากจะทำเลือน ๆ ไป จึงได้เปลี่ยนแปลกรูปกันไปบ้าง แต่เห็นได้ว่าไม้สู้แปลกกันมากนัก ตั้งแต่เรือเมล์มาจากบ้านยางกูนระยะนี้ต้องหยุดรับส่งเปลี่ยนนำร่องมาทั่วแขวงบ้านใหญ่ทุกตำบล

เวลาเช้า ๔ โมงเศษถึงเฮนสิดา เรือจอดเทียบท่ารับส่งคนโดยสานแลสินค้าอยู่ ในที่นี้มีวัดแลบ้านราษฎรตั้งอยู่ประมาณ ๕๐๐ หลังเรือน มีเรือนไม้หลังคาสังกสี ๒ หลังเปนแปลกตาอยู่ น่าที่จะเปนเรือนชาวยุโรป ตามที่เห็นนอกกว่านั้นก็เปนเรือนไม้ไผ่ทั้งสิ้น ราษฎรชายหญิงในที่นี้ประมาณ ๓๐๐๐ คน เรือจอดพักอยู่ประมาณ ๓๐ นาทีก็ออกจากท่า มาตามระยะทางโดยลำน้ำ

ตั้งแต่เฮนสิดานี้ไปมีหาดทรายใหญ่ ๆ มาก บางแห่งยาวเห็นจนสุดสายตา ตลิ่งสูงขึ้นไปทุกทีถึง ๓ วาเศษ เรือนราษฎรตั้งห่าง ๆ กัน หมู่หนึ่งประมาณ ๒๐ แล ๓๐ หลังเรือน มีวัดร้างหลายวัด ชาวบ้านหากินเปนชาวปโมงเปนพื้น ต้นผลไม้มีในหมู่บ้านบ้างสิ่งละเล็กน้อย ที่นอกนั้นเปนทุ่งเปนพงทั้งสิ้น เรือใช้จักรมาหยุดรับส่งนำร่องตามระยะบ้านใหญ่ไปทุกตำบล เวลาย่ำค่ำถึงมายอง เรือทอดจอดพักนอนที่นั้นคืนหนึ่ง ฯ

๏ วันอาทิตย์เดือน ๑๒ แรม ๗ ค่ำ เรือใช้จักรออกจากมายองมาตามระยะทางโดยลำน้ำ หนทางระยะนี้พื้นแผ่นดินเปนทุ่งบ้าง เปนเนินบ้าง เปนเขาบ้าง แห่งหนึ่งมีเขาตกน้ำเปนน่าผาชันตรง มีพระเจดีย์บนยอดเขาที่น่าผาตั้งแต่ชายน้ำขึ้นไปนั้น เจาะศิลาเปนคูหาใหญ่บ้างเล็กบ้าง ไว้พระพุทธรูป ๔ อิริยาบท คือนั่งนอนยืนเดินทุกช่อง ประมาณดูคงไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ฤๅ ๕๐๐ องค์์ บ้านเรือนราษฎรแถวนี้ไม่ผิดกับระยะที่ว่ามาแล้วก่อน ชาวบ้านหากินด้วยการจับปลาบ้าง ทำไร่ยาบ้าง

เวลาเที่ยงเศษถึงเมืองเป๎ย เรือเข้าจอดเทียบท่าหยุดอยู่ที่นั้น เมืองเป๎ยนี้ คือเมืองหนึ่งซึ่งไทยเรารู้จักชื่อ แต่เรียกเพี้ยนสำเนียงไปเสียเปนเมืองแปร ถึงเพี้ยนไปแล้วดังนั้นยังดีกว่าอังกฤษ ซึ่งเปนเจ้าของเมืองเองเรียกว่าเมืองโปรมเสียอิก

เวลาบ่ายข้าพเจ้า ได้เดินขึ้นไปเที่ยวดูบ้านเมืองภูมิประเทศของเมืองเป๎ยนี้ ตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งตวันออก บ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่เปนลำดับยาวไปตามลำน้ำประมาณ ๘๐ เส้น ฦกเข้าไปประมาณ ๔๐ เส้น มีถนนทั่วไป เปนถนนเก่าแก้ใหม่ให้ดีบ้าง เปนถนนตัดใหม่บ้าง ถมด้วยศิลาย่อยโดยมาก หลังหมู่บ้านเข้าไปนั้นเปนทุ่งนา เมื่ออังกฤษได้เมืองเป๎ยนั้น รั้ววังของเก่าแต่เดิมยังมีอยู่ ได้ยินว่าวังนั้นล้อมรอบด้วยเสาระเนียด แลพระที่นั่งนั้นทำด้วยไม้สักทั้งสิ้น เปนวิธีเดียวกับเรือนฝากระดานของเรา เปนของเก่าแก่ซุดโซมมาก ใช้การสิ่งใดไม่ได้ อังกฤษผู้รักษาการบ้านเมือง จึงแบ่งตัดที่วังขายให้แก่ผู้ต้องการรับซื้อไปสิ้น เจ้าของที่นั้นก็รื้อของเก่าเสีย ปลูกบ้านเรือนลงใหม่ วังนั้นก็ละลายสูญไปสิ้นในเมื่อล่วงมาแล้วไม่สู้ช้านัก ตามถนนริมน้ำซึ่งข้าพเจ้าได้เดินไปดูเล่นนั้น ที่ตรงท่าเรือจอดมีออฟฟิศไปรสนีย์อยู่หลังหนึ่ง มีคลับอยู่หลังหนึ่ง โรงสูบน้ำใช้ในบ้านเมืองหลังหนึ่ง ต่อไปมีตึกโรงเรียน แล้วถึงตึกคอเวอนแมนต์ออฟฟิศ รวมชำระความด้วยในที่นั้น ต่อนี้ไปก็มีเรือนตึกเรือนฝากระดานเปนที่อยู่ของชาวยุโรปหลายหลังเปนระยะเรียงกันไป ตามที่กล่าวมาแล้วว่าเมืองเป๎ยมีอะไรต่ออะไรนี้ ท่านทั้งหลายผู้ฟังคงกะหน้าเห็นเรี่ยมไปหมดทั้งนั้น เพราะชื่อสิ่งซึ่งนำมากล่าวนั้น ควรที่จะน่าชม แต่ไม่ฉนั้น ตามที่จริงข้าพเจ้าจะอธิบายให้ฟังโดยเลอียดบ้างพอเข้าใจ คือ ท่าเรือจอดที่คนขึ้นลงนั้น มีเรือใหญ่เก่าคร่ำคร่าทอดอยู่ริมตลิ่งลำหนึ่ง มีกระดานสองแผ่นทอดจากเรือต่อกับชายตลิ่ง เมื่อเรือเมล์มาถึงก็จอดเทียบกับเรือทุ่นนั้น ผู้โดยสานจะขึ้นบกก็ขึ้นบนเรือทุ่น แล้วไต่กระดานสองแผ่นไปถึงชายตลิ่ง แล้วต้องขึ้นกระไดที่มีอยู่คั่นเดียวสูงสามวาเศษ (คือปีนตลิ่งเรานี้เอง) ถ้าพลาดท่าก็ต้องอาบน้ำแลเจ็บด้วย คลับหลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ตรงนั้นขึ้นไป เปนเรือนฝากระดานสามห้อง เปนขนาดห้องอย่างเล็ก ๆ จะเปรียบว่าคลับนั้นใหญ่เท่าสิ่งใดตรงแท้ก็นึกไม่ออก เขื่องกว่าศาลารายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามสักหน่อยหนึ่ง พื้นสูงพ้นดินประมาณคืบเศษ มองเข้าไปดูในนั้นก็ไม่เห็นมีอะไร เสื่อขาดกระจุกกระจุยอยู่ ผู้ใดได้เห็นโดยไม่มีผู้บอกแล้วจะเข้าใจว่า เปนที่ประชุมสมาชิกหมู่ใดไม่ได้เปนอันขาด จะต้องเข้าใจว่าโรงยามสำหรับคนเฝ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น ส่วนโรงสูบน้ำนั้นตั้งอยู่บนที่ทำนองจะเปนวัดเก่า มีต้นโพธิอยู่ต้นหนึ่ง มิสิงห์ก่ออิฐอยู่ริมนั้นสองรูป แลมีกองอิฐหักพังเรี่ยรายอยู่ ต้นอะไรๆต่างขึ้นรก มีทางเฉภาะเดินเข้าไปในโรงสูบน้ำ โรงนั้นก่ออิฐเปนผนังสูงขึ้นไป ข้างบนตั้งถังน้ำเปนหลังคา ใหญ่กว่าถังใบสูงที่ท่าขุนนางสักหน่อย ภายใต้ตั้งเครื่องจักรสูบน้ำ จะพรรณาไปทุกอย่างก็จะยืดยาวนัก สิ่งอื่นนอกนั้นก็คล้ายกันกับที่ว่ามาแล้วนี้ เว้นแต่คอเวอนแมนต์ออฟฟิศนั้นค่อยโอ่โถงสักหน่อย เปนตึกเกลี้ยงๆ ยาวๆ ภูมิฐานคล้ายกันกับหอรัษฎากรพิพัฒน์ เมื่อยังไม่ได้แก้ไขทำเพิ่มเติม ข้าพเจ้าเดินดูไปจนถึงออฟฟิศโทรเลข แล้วเลี้ยวไปตามถนนเข้าไปกลางเมือง หมู่บ้านราษฎรแน่นหนาทำล้วนแล้วด้วยไม้ไผ่ทั้งสิ้น ครั้นถึงพระธาตุ “เชวสิงดอ” ข้าพเจ้าแวะเข้านมัสการ พระธาตุองค์นี้เปนเจดีย์สำคัญสำหรับบ้านเมือง ตั้งอยู่เหนือเนินเขาน้อย ตั้งแต่เชิงเขาถึงฐานพระธาตุสูงประมาณ ๒๐ วา องค์พระธาตุตั้งแต่ฐานขาดยอดสูงประมาณ ๑๕ วา ปิดทองทั้งองค์ รอบลานประทักษิณแห่งพระธาตุนี้มีระเบียงล้อมรอบ เต็มไปด้วยพระพุทธรูปต่าง ๆ ทั้งใหญ่เล็กตั้งอยู่ในนั้น น่าระเบียงออกมามีเสาหลักปักแขวนระฆังรายรอบ มีคนขึ้นไปนมัสการเสมอ เคาะระฆังเสียงวังเวงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มีบันไดต่อจากพระระเบียงลงมาถึงเชิงเขา ทั้งด้านน่าแลด้านหลัง ที่เชิงบันไดด้านน่ามีรูปสิงห์ใหญ่สูงประมาณ ๕ วา เปนของที่ชาวพม่าชอบทำเปนอย่างยิ่ง ตามคั่นบันไดข้างด้านน่านั้น ชาวบ้านพากันมาขายเทียนธูปแลทองคำเปลวแลเครื่องสักการต่าง ๆ ตลอดทั้งสองฟากบันได สิ่งทั้งปวงในบริเวณพระธาตุนี้ ชำรุดซุดโซมเปนอันมาก ราษฎรผู้มีศรัทธาเรี่ยรายกันซ่อมแซมก็ไม่ได้เงินมากพอที่จะซ่อมแซมได้ทั่วบริเวณ คงทำได้บริบูรณ์ดีอยู่แต่องค์พระธาตุเท่านั้น ครั้นดูทั่วบริเวณพระธาตุแล้วก็ออกจากที่นั้น ไปตามถนนท้ายเมืองถึงที่พักรถไฟ มีโรงที่พักคนแลสินค้าหลายหลัง ตึกหลังหนึงแก้เปนค่ายกลาย ๆ เจาะผนังเปนช่องปืน ขุดสนามเพลาะถมดินเปนเชิงเทิน ไว้โปลิศในตึกนั้นเปนที่มั่นสำหรับสู้รบป้องกันพวกพม่าเหล่าร้าย ซึ่งมักจะซ่องสุมกันก่อการร้ายแรงต่าง ๆ คือทำลายรถไฟเปนต้น

แม้ในทุกวันนี้ รถไฟซึ่งเดินในระหว่างเมืองยางกูนถึงเมืองเป๎ยนี้ ก็มีผู้ร้ายฉกลักสรรพสิ่งของ ๆ คนโดยสานอยู่เปนนิจ ผู้โดยสานต้องระวังมาก มีคนร้องเรื่องของหายอยู่เนือง ๆ ในเวลาล่วงมาแล้วไม่สู้นานนัก มีคนโดยสานผู้หนึ่งไปในรถไฟซึ่งเดินอยู่ในเวลากลางคืน ถูกผู้ร้ายฆ่าตายเก็บเอาทรัพย์สิ่งของไป เอาผ้าคลุมศพไว้เหมือนคนนอนหลับฉนั้น ในเวลาเมื่อข้าพเจ้าอยู่ในประเทศนั้น ได้ยินว่ายังสืบจับตัวไม่ได้ รถไฟทางนี้สร้างขึ้นมาเฉภาะเมืองเป๎ยเท่านั้น ส่วนทางที่จะขึ้นถึงเมืองมัณฑเลนั้นกำลังทำอยู่ ข้างฝ่ายใต้ตั้งแต่เมืองยางกูนขึ้นไปทางเมืองพะโคแลเมืองตองอู ฝ่ายเหนือก็ทำลงมาแต่เมืองมัณฑเลเพื่อจะบรรจบกัน การที่ทำนี้เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปยังหาสำเร็จจดถึงกันไม่ บัดนี้ได้ยินว่าสำเร็จได้เปิดใช้ทางนั้นแล้ว

ข้าพเจ้าเที่ยวดูเมืองเป๎ยจนสิ้นเวลาก็กลับลงมายังเรือ “บิลู” จอดพักนอนอยู่ที่นั้นคืนหนึ่ง ฯ

๏ วันจันทร์เดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ เวลาเช้าโมง ๑ เรือใช้จักรออกจากเมืองเป๎ยขึ้นไปตามลำน้ำ ระยะทางตั้งแต่เมืองเป๎ยนี้ขึ้นไปพื้นแผ่นดินสองฟากเปนเขาเปนเนินโดยมาก ตลิ่งสูงพ้นน้ำประมาณ ๕ วา มีเรือนราษฎรทำด้วยไม้ไผ่ตั้งอยู่หมู่ละ ๒๐ หลังบ้าง ๓๐ หลังบ้าง ระยะห่างกันประมาณ ๕๐ แล ๖๐ เส้น ชาวบ้านแถบนี้หากินในการทำไร่ยาบ้าง ทำไร่ถั่วบ้าง ตัดไม้รวกบ้าง

เวลาเช้า ๕ โมงเศษ ถึงไทเญ็ดโม๎ย เรือจอดเทียบท่ารับส่งคนโดยสานแลสินค้า ที่นี้มีตึกจนแลตึกฝรั่งข้างเล็กน้อย ที่กำลังก่อสร้างอยู่ก็มีบ้าง ที่เปนเรือนไม้ไผ่เช่นกล่าวมาแล้วนั้นมีเปนพื้น ที่สุดข้างเหนือของหมู่บ้านนี้ มีป้อมใหญ่ซึ่งอังกฤษได้ทำไว้เมื่อตีเมืองพม่าฝ่ายล่างได้ ตกลงแบ่งเขตรแดนกับพม่าฝ่ายเหนือเพียงนี้ จึงทำป้อมไว้เปนที่มั่น ป้องกันเขตรแดนซึ่งติดต่อกันนั้น ป้อมนี้ข้าพเจ้าคิดจะเดินขึ้นไปดูท่าทางเล่นสักหน่อยแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะไปได้ เพราะสืบถามได้ความว่าทางต้องเดินไปไกลคงกลับไม่ทันกำหนดเรือออก เรือพักอยู่ที่นั้นประมาณ ๓๐ นาที ก็ออกจากท่าขึ้นไปตามลำน้ำ เมื่อเรือเดินขึ้นมาถึงข้างเหนือที่สุดหมู่บ้าน ก็แลเห็นป้อมที่ว่ามาแล้วนั้น แต่รู้ไม่ได้ว่าเปนอย่างไร เพราะไกล เห็นแต่กำแพงขาว ๆ ปลูกหญ้าเขียว ๆ เท่านั้น

ภูมิลำเนาในหนทางตั้งแต่ไทเญ็ดโม๎ยขึนไปนี้ ก็คล้ายกันกับระยะทางตั้งแต่เมืองเป๎ยขึ้นมา เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เรือผ่านแหลมซายตำบลสินเบาเง๎ว ที่ช่องเนินเขาบนตลิ่งตรงแหลมซายขึ้นไปนี้ เมื่อคฤศตศักราช ๑๘๘๕ อังกฤษยกขึ้นมาตีเมืองพม่าเหนือ ทหารพม่าได้มาซุ่มทัพต่อสู้ทหารอังกฤษในที่นี้เปนครั้งแรก ในระยะทางต่อนี้ขึ้นไป บ้านราษฎรที่เปนบ้านใหญ่มักทำรั้วด้วยไม้เสาโตประมาณ ๒ กำ ทำอย่างแน่นหนา เพราะที่เหล่านี้มีผู้ร้ายชุกชุม จงทำรั้วให้แขงแรงเพื่อจะได้เข้าปล้นยาก ตั้งแต่สินเบาเง๎วขึ้นไปทางประมาณ ๖๐๐ เส้น ถึงป้อมภัททนาคา ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพม่าอันทรงพระนามว่า มินดูนมิน ได้โปรดให้อินยิเนียชาวอิตาเลียนมาสร้างขึ้นไว้ ดังอยู่เหนือไหล่เขาแหลมฝั่งตวันออกของแม่น้ำอิรวดี ป้อมนี้ดูไชยภูมิที่ดี แลเขาว่าป้อมก็ทำแขงแรงดีด้วย แต่เมื่อทัพอังกฤษยกขึ้นมาตี พม่าก็มิได้สู้รบทิ้งป้อมหนีไป ป้อมนี้ถ้าไม่มีผู้บอกก็รู้ไม่ได้ว่าเปนป้อม เพราะอังกฤษเอาดินระเบิดทำลายเสี้ยสิ้น เหลือแต่กำแพงอะไรขาว ๆ ที่แลเห็นได้ถึงเรือแต่สักสองชิ้นเท่านั้น จากป้อมภัททนาคาไปทางประมาณ ๘๐ เส้น ถึงมินห๎ละในเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ

ตำบลมินห๎ละนี้ มีป้อมโบราณตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งตวันตกป้อมหนึ่ง ก่ออิฐเปนกำแพงรอบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเชิงเทินฝ่ายในกำแพงสูงประมาณ ๓ วา ดูเหมือนจะไม่มีใบเสมา แต่จะว่าแน่ไม่ได้ เพราะเห็นมีรอยกำแพงผ่าลงไปนิดหนึ่งเปนที่ช่องปืน แต่ช่องที่ผ่านั้นก็ไม่ผ่าอย่างเรียบร้อย จะว่าลิพังลงมาก็ว่าได้ แลจังหวะช่องก็ไม่เท่ากันด้วย ที่จริงก็ไม่จำจะต้องตัดสินเลยว่าจะมีใบเสมาฤๅไม่ ถึงจะมีก็ดีไม่มีก็ดีคงไม่มีประโยชน์ทั้งสองอย่าง เพราะพนักฤๅใบเสมานั้นมันเตี้ย ๆ เห็นจะสูงพอบังทหารที่จะขึ้นไปยืนรักษาน่าที่บนเชิงเทินได้แต่เพียงหัวเข่าเท่านั้น ทหารอังกฤษซึ่งเข้าประจำอยู่ในป้อมนั้น เขาต้องจัดการผูกรั้วต่อขึ้นไปยนพนักนั้นอิกชั้นหนึ่ง เพราะเปนที่ตกง่าย เนื้อที่ในป้อมนั้นใหญ่ประมาณ ๑๖๐๐ สี่เหลี่ยมวา แลเห็นหลังคาโรงโกรงเกรงอะไรอยู่ในนั้นสองหลัง ป้อมนี้พม่าได้ตั้งสู้รบกับทัพ อังกฤษโดยแขงแรงเปนครั้งที่สอง บ้านเรือนราษฎรในที่นี้มีประมาณ ๓๐๐ หลังเศษ เปนเรือนทำด้วยไม้ไผ่ทั้งสิ้น เรือจอดพักนอนอยู่ในที่นั้นคืนหนึ่ง

เรื่องราวที่พม่ารบกับอังกฤษในที่ระหว่างตั้งแต่สินเบาเง๎วจนถึงมินห๎ละนี้ เรื่องราวอยู่ข้างจะสนุกมาก แต่ต้องของดไว้ยังไม่กล่าวในที่นี้ จะได้เรียบเรียงไว้ในส่วนซึ่งจะว่าถึงการเมืองพม่าต่อไปภายหลัง ๚

๏ วันอังคารเดือน ๑๒ แรม ๙ ค่ำ เวลาย่ำรุ่ง เรือใช้จักรออกจกกที่นั้นขึ้นไปตามลำน้ำ ระยะทางตั้งแต่มินห๎ละนี้ไปแม่น้ำใหญ่ประมาณ ๑๒๐ เส้น มีหาดงอกออกมาสองฟากน้ำเปนอันมาก พื้นดินเปนที่ราบบ้างเปนเนินบ้าง ราษฎรในละแวกบ้านนี้ทำกินในการตัดไม้ไผ่ฝากขายบ้าง ต่อเรือขายบ้าง ๚

  1. ๑. เป๎ย ต้องอ่านตัว ป ประโยคกับตัว ย อย่าอ่านตัว ย สกด จึงจะถูกต้องตามสำเนียงพม่า

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ