- คำนำ
- อธิบาย
- หมายรับสั่งพระราชพิธีโสกันต์ ในรัชกาลที่ ๑ ฉบับที่ ๑
- หมายรับสั่งพระราชพิธีโสกันต์ ในรัชกาลที่ ๑ ฉบับที่ ๒
- หมายรับสั่งพระราชพิธีโสกันต์ ในรัชกาลที่ ๑ ฉบับที่ ๓
- หมายรับสั่งพระราชพิธีโสกันต์ ในรัชกาลที่ ๑ ฉบับที่ ๔
- หมายรับสั่งพระราชพิธีโสกันต์ ในรัชกาลที่ ๑ ฉบับที่ ๕
- หมายรับสั่งพระราชพิธีโสกันต์ ในรัชกาลที่ ๑ ฉบับที่ ๖
- หมายรับสั่งพระราชพิธีโสกันต์ ในรัชกาลที่ ๑ ฉบับที่ ๗
- ฉบับที่ ๘ หมายรับสั่งพระราชพิธีโสกันต์ในรัชกาลที่ ๓
อธิบาย
ว่าด้วยเรื่องหมายรับสั่งพิธีโสกันต์
เรื่องที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เปนเรื่องพระราชพิธีโสกันต์เจ้านายแต่ครั้งโบราณ มีสำเนาหมายรับสั่งอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณหลายฉบับ ได้รวบรวมมาพิมพ์ไว้ด้วยกัน จึงจัดไว้ในหนังสือพวกลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ นับเปนภาคที่ ๑๑
หมายรับสั่งการพระราชพิธีโสกันต์ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ๘ ฉบับด้วยกัน ตั้งแต่ฉบับที่ ๑ ถึงฉบับที่ ๖ เปนการพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอหลานเธอในรัชกาลที่ ๑ ต้นฉบับที่ได้มาเปนของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช บุญรอด บุณยรัตพันธุ์ ซึ่งเปนผู้รับ ๆ สั่งครั้งนั้น ฉบับที่ ๗ ว่าด้วยพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งทำเขาไกรลาศครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการประทานต้นฉบับมายังหอพระสมุด ฯ ฉบับที่ ๘ เปนการพระราชพิธีในรัชกาลที่ ๓ โสกันต์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัศ ซึ่งภายหลังได้เปนสมเด็จพระนาง ฯ ในรัชกาลที่ ๔ ต้นฉบับที่ได้มาเปนของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท หมายโสกันต์ฉบับที่ ๘ นี้มีความพิศดารกว่าฉบับอื่น แต่เสียดายอยู่ที่ฉบับลบแลขาดไปเสียบ้างไม่บริบูรณ์ทีเดียว จำต้องพิมพ์เพียงเท่าที่ได้มา
พระนามเจ้านายที่โสกันต์ ในหมายรับสั่งขานพระนามตามที่เรียกกันอยู่ในสมัยเมื่อโสกันต์นั้นอ่จ่านในสมัยนี้ผู้ที่ยังไม่ทราบพระนามเจ้านายรัชกาลก่อน ๆ เจนใจอาจจะฉงน จึงได้สอบสวนพระนามตามที่ทราบกันในชั้นหลังบอกไว้ในคำอธิบายนี้ด้วย แต่พระนามหม่อมเจ้าสอบไม่ได้ความว่าอยู่ในกรมไหน ๒ องค์
พระนามเจ้านายที่โสกันต์
โสกันต์พิธีตรุษ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ (หมายฉบับที่ ๑)
๑ หม่อมเจ้านฤมล (ในกรมหลวงนรินทร์รณเรศ)
๒ หม่อมเจ้าป้อม
๓ หม่อมเจ้าจัน (นามมีในกรมพระราชวังหลัง)
๔ หม่อมเจ้าเรณู
โสกันต์พิเศษ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๖ (หมายฉบับที่ ๒)
๑ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าชายสุริวงศ์ (กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์)
๒ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าชายไกรสร เ(กรมหลวงรักษ์รณเรศ)
๓ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงศศิธร
๔ หม่อมเจ้าหญิงบุบผา ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (คือพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๒)
๕ หม่อมเจ้าชายกล้วยไม้ (กรมหมื่นสุนทรธิบดี) ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
๖ หม่อมเจ้าหญิงวงศ์ ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
๗ หม่อมเจ้าชาย (ประ) ยงค์ (กรมขุนธิเบศร์บวร) ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ (คือในกรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๒)
โสกันต์พิธีตรุษ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๖ (ปีที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคต หมายฉบับที่ ๔)
๑ พระองค์เจ้าหญิงลมุด ในกรมพระราชวังบวร ฯ
๒ พระองค์เจ้าหญิงดุษฎี๑ ในกรมพระราชวังบวร ฯ
๓ พระองค์เจ้าหญิง ในกรมพระราชวังบวร ฯ
๔ พระองค์เจ้าหญิงสุมา (เข้าใจว่าพระองค์เจ้าหญิงสุดาอัปศร) ในกรมพระราชวังบวร ฯ
๕ พระองค์เจ้าสังข์ (เข้าใจว่าพระองค์เจ้าสังกทัต คือกรมขุนนรานุชิต) ในกรมพระราชวังบวร ฯ
๖ พระองค์เจ้างิ้ว (เข้าใจว่าพระองค์เจ้าหญิงฉิมพลี) ในกรมพระราชวังบวร ฯ
โสกันต์พิเศษ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๔๗ (หมายฉบับที่ ๕)
๑ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าดารากร (กรมหมื่นศรีสุเทพ)
๒ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าดวงจักร์ (กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์)
๓ พระองค์เจ้าชายสุทธ (ไนยหนึ่งว่า สุก) ในกรมพระราชวังบวร ฯ
๔ พระองค์เจ้าชายบัว ในกรมพระราชวังบวร ฯ
๕ พระองค์เจ้าหญิงปก ในกรมพระราชวังบวร ฯ
๖ พระองค์เจ้าหญิงดุษฎี ในกรมพระราชวังบวร ฯ
๗ หม่อมเจ้าหญิงผะอบ ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
๘ หม่อมเจ้าสมพงศ์ ในกรมหลวงนรินทร์รณเรศ
๙ หม่อมเจ้ายิ้ม ในกรมหลวงพิทักษมนตรี
๑๐ หม่อมเจ้าพลับ ในกรมหลวงพิทักษมนตรี
โสกันต์มีเขาไกรลาศในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี
เรื่องโสกันต์คราวนี้กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงปรารภถึงแบบแผนการพระราชพิธีแต่โบราณ ซึ่งตำราเปนอันตรายไปเสียเมื่อครั้งเสียกรุงเก่าเปนอันมาก ทรงเกรงว่าจะเลยสูญไปเสีย ในขณะนั้นเจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ ซึ่งได้เคยโสกันต์พิธีใหญ่ มีไกรลาศแต่ครั้งกรุงเก่ายังมีพระชนม์อยู่ จึงโปรด ฯ ให้ข้าราชการเก่า มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช บุญรอด ซึ่งเคยอยู่ในกรมวังครั้งกรุงเก่าเปนต้น ทูลหารือเจ้าฟ้าพินทวดี แต่งตำราพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าขึ้นใหม่ ได้ทำครั้งโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑล ฯ เปนทีแรกในกรุงรัตนโกสินทร์
โสกันต์พิเศษในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๘๙
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัศ ในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระบิดาสิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงมา จึงทรงสถาปนาขึ้นเปนพระองค์เจ้า แลโปรด ฯ ให้ทำพระราชพิธีโสกันต์เหมือนอย่างพระเจ้าลูกเธอ.
-
๑. พระนามนี้ซ้ำเปน ๒ พระองค์อยู่ ตรงนี้เห็นจะเปนพระองค์เจ้าหญิงกลัด แต่จะมีพระนามอื่นอย่างไรหาทราบไม่ ลูกเธอในกรมพระราชวังบวร ฯ โดยปรกติทำพิธีโสกันต์ในวังน่า มาโสกันต์วังหลวงต่อเมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ สวรรคตแล้ว เปนประเพณีดังนี้ทุกรัชกาล พระองค์เจ้าวังน่าที่โสกันต์คราวนี้สอบตามบาญชีพระชัณษาถึงสิบสี่สิบห้าก็มี เห็นจะเปนเพราะกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จไปทัพ ครั้นเสด็จกลับก็ประชวรมาจนสวรรคต การโสกันต์จึงค้างมาถึงสองปีสามปี ↩