พระประวัติและผลงาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุล มาลากุล ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชชายานารีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเมื่อวันเสาร์ขึ้นหนึ่งค่ำเดือนหก ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๖๔ พระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าชายกลาง มีพระเชษฐาและพระภคินี ๓ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าชายอาภรณ์ เจ้าฟ้าหญิง (สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์) และเจ้าฟ้าชายปิ๋ว

ขณะทรงพระเยาว์สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชชนนี ทรงมอบสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และเจ้าฟ้าชายปิ๋ว ให้ทรงศึกษาเล่าเรียนกับ สุนทรภู่ เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงพระเจริญขึ้นได้ศึกษาวิชาคชกรรมศาสตร์จากพระปิตุลาคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ (เจ้าฟ้าอภัยทัต) พระหมอเฒ่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงศึกษาวิชาอักษรศาสตร์จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และทรงศึกษาวิชาดาราศาสตร์จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเริ่มรับราชการในกรมวัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่น เปลี่ยนพระนามจากเจ้าฟ้าชายกลางเป็น “เจ้าฟ้ามาลา” ดังจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมหมื่นปราบปรปักษ์” และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “กรมพระบำราบปรปักษ์” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๑๗ และ “กรมพระยาบำราบปรปักษ์” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๘

การที่พระองค์ทรงได้รับการศึกษาสาขาต่างๆ ทำให้พระองค์มีความรอบรู้ชำนาญการ สามารถรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาท เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ อาทิ

อธิบดีกรมวัง พระองค์ทรงมีความรอบรู้ และเชี่ยวชาญการพระราชพิธี พระราชประเพณีต่าง ๆ โดยทรงรับราชการในกรมวังตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยยิ่ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวัง ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงได้รับยกย่องสมมติให้เป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนักคู่กับสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระองค์ทรงจัดระเบียบพระราชานุกิจถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามโบราณราชประเพณีอย่างมีระเบียบเรียบร้อย โดยทรงศึกษาแบบอย่างจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นสำคัญ ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสูง และทรงเป็นหลักสำคัญในการจัดพระราชภารกิจต่างพระเนตรพระกรรณในขณะที่ประเทศชาติกำลังปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม

อธิบดีกรมพระคชบาล พระองค์ได้ทรงศึกษาวิชาคชกรรมศาสตร์จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ พระหมอเฒ่าในรัชกาลที่ ๔ นอกจากนี้ยังทรงรอบรู้วิชาการที่เกี่ยวข้องอีก เช่น วิชาอัศวกรรม การร่ายรำบนหลังช้าง ตามตำราคชศาสตร์ เช่น รำพัดชา การจับช้าง การฝึกหัดช้าง ฯลฯ ทรงมีความชำนาญและทรงสามารถปฏิบัติได้ด้วยพระองค์เอง เช่น การเสด็จออกไปคล้องช้าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงเป็นผู้ถวายความรู้ในวิชาคชกรรมศาสตร์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระเยาว์อีกด้วย จากการที่พระองค์ทรงมีความรู้ความชำนาญในศาสตร์แขนงนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพระคชบาลอีกตำแหน่งหนึ่ง

อธิบดีกรมสังฆการีธรรมการ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งนัก พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์วัดบรมวงศ์อิศรวราราม ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนอยู่ในสภาพดีสมบูรณ์ สวยงาม ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก และยังเสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดนี้อีกหลายครั้ง นอกจากนี้ในการฝังลูกนิมิตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นอุบาสกบอกสีมาด้วยพระองค์เอง

ในส่วนพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์เองนั้น พระองค์ทรงมีความสามารถในการสวดทำนอง และเทศน์ทำนองได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นผู้ดูแลกิจกรรมและควบคุมการสอบสนามหลวงของภิกษุสงฆ์ต่างประเนตรพระกรรณอย่างใกล้ชิด

อธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ เนื่องจากเศรษฐกิจและการเงินในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของเจ้าภาษีซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีน ทางราชการไม่มีมาตรการควบคุมที่รัดกุมเพียงพอ ทำให้เงินที่ส่งเข้าท้องพระคลังรั่วไหล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์” ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๑๖ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งสามารถจำกัดอำนาจของเจ้าภาษี และรัฐเข้าควบคุมการจัดเก็บภาษีอากรเข้าท้องพระคลังได้มากกว่าเดิม

สมุหนายกมหาดไทย หรือเสนาธิการมหาดไทย เนื่องจากเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตน์พันธุ์) สมุหนายกป่วยไม่สามารถปฏิบัติราชการได้เป็นเวลานาน ดังนั้นในปลายปีพุทธศักราช ๒๔๒๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงดูแลราชการแทน เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยถึงแก่อสัญกรรมในปีพุทธศักราช ๒๔๒๑ จึงทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง

นอกจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทรงปฏิบัติหน้าที่สำคัญต่างพระเนตรพระกรรณสมกับที่ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว พระองค์ยังทรงมีความสามารถด้านพิเศษแขนงอื่นอีก เช่น การช่าง อัญมณี และเครื่องทอง การแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือด้านกวีนิพนธ์ พระองค์ทรงเป็นศิษย์ของกวีเอกคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์กรมพระยาเดชาดิศร ผู้ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องว่าเป็น “มหาสยามกวีชาตินักปราชญ์อันประเสริฐ” และสุนทรภู่ ดังนั้นพระองค์จึงมีพระปรีชาสามารถในการแต่งกวีนิพนธ์ โดยเฉพาะการแต่งโคลง บทกวีนิพนธ์ของพระองค์ เช่น โคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ห้องที่ ๗๔, ๗๕, และ ๗๖ โคลงสุภาษิตเตือนใจให้ระมัดระวังในการครองตน และโคลงพระราชพิธีทวาทศมาสซึ่งกล่าวถึงพระราชพิธี ราชประเพณี และประเพณีของราษฎรในแต่ละเดือน อันเป็นหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการพระราชพิธี ราชประเพณีและสภาพสังคมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์สิ้นพระชนม์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๙ นับว่าเป็นการสูญเสียผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญในวิชาการแขนงต่างๆ โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม และโบราณราชประเพณีที่สำคัญยิ่ง ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ