บทวิเคราะห์
โคลงพระราชพิธีทวาทศมาสพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการพระราชพิธี ตลอดจนวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของราษฎรทั่วไปในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนอกจากนี้เรื่องโคลงพระราชพิธีทวาทศมาสยังเป็นหนังสือที่หายาก เพราะมีการพิมพ์เผยแพร่เพียง ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรกในการพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์แป้น มาลากุล เจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๓ ครั้งที่สองในการพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงนงเยาว์ ธรรมาธิกรุณาธิบดี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ และครั้งที่สามในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด ณ วัดบรมวงศ์อิศรวราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๙
จากการศึกษาเปรียบเทียบฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สองและครั้งที่สามพบว่าอักขรวิธี ตัวสะกดการันต์ และข้อความในเนื้อเรื่องบางตอนคลาดเคลื่อน สมควรตรวจสอบชำระแก้ไขเพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงด้านการพระราชพิธี ประเพณีและวัฒนธรรมที่ถูกต้องสมบูรณ์ต่อไป
ในการตรวจสอบชำระครั้งนี้ ได้นำฉบับพิมพ์ครั้งที่สองและครั้งที่สามตรวจสอบกับสมุดไทยดำเขียนด้วยตัวดินสอสีขาว หมวดโคลง อักษร ท.เลขที่ ๒๒๗ ซึ่งหอสมุดแห่งชาติได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ส่วนภาษาโบราณ เนื้อความส่วนที่เป็นร่ายขาดหายและเนื้อเรื่องไม่จบ และฉบับพิมพ์ครั้งที่สองและครั้งที่สามมีความคลาดเคลื่อนจึงได้แก้ไขให้ตรงตามสมุดไทยดำ ส่วนอักขรวิธีและตัวสะกดการันต์นั้นแก้ไขให้ตรงกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๓๐ ยกเว้นคำที่จะต้องใช้เสียงเอก-โท ตามฉันทลักษณ์ ของโคลงเท่านั้น
อนึ่ง คำนำในการพิมพ์ครั้งที่สองและครั้งที่สาม กล่าวว่า โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการศึกษาเนื้อเรื่องอย่างละเอียด โดยการนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนชื่อต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สรุปได้ว่าโคลงพระราชพิธีทวาทศมาสนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น
“บำเพ็ญทานอุทิศสร้าง | อาราม เอี่ยมฤๅ |
โบสถ์พิหารสี่ตาม | ทิศตั้ง |
กุฏิหมู่ประทานนาม | วัดราช บพิธเฮย |
สถูปเลิศสถานทั้ง | ที่ล้อมระเบียงกลม” |
“ปรีชาชาญเชี่ยวแกล้ว | กล่าวกลอน |
โคลงกาพย์กลอนละคร | ขับร้อง |
ฉันทพากย์อีกอักษร | ล้วนเลข แลแฮ |
ไทยนับไทยหลงต้อง | สูตรทั้งถอดแถลง” |
“สมเด็จพระบรมนาถ | เจ้าจอมสยาม ก่อนนา |
เสด็จนอกพระนครขาม | เศิกไส้ |
เกิดการราชสงคราม | จึ่งแยก พยุห์เฮย |
ผิบ่นั้นห่อนได้ | ยาตรด้าวแดนใด” |
“พระเสด็จดุจเห็จห้อง | เวหา หนเฮย |
ปวงไป่มีพลคลา | คลาดเต้า |
เห็นมหัศจรรย์ปรา | กฏแก่ โลกแฮ |
ควรพระเกียรติพระเจ้า | คู่ฟ้าดิญสูญ” |
และ
“มณเฑียรธิราชริ้ว | เรืองรอง |
แปลกเปลี่ยนแบบลบอง | ก่อนสร้าง |
มุขลดเลศลำยอก | ยลเยี่ยม ยุโรปเฮย |
โสดส่งทรงสูงสล้าง | หลากล้นหลายองค์” |
นอกจากนี้ยังทรงกล่าวถึงช้างเผือกที่ขึ้นระวางในพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานสี่เชือกเป็นช้างเผือกที่ขึ้นระวางในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหนึ่งเชือก คือ พระวิมลรัตนกิริณี อีกสามเชือกนั้นเป็นช้างเผือกขึ้นระวางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังพระนิพนธ์ว่า
“ต้นพระวิมลรัตนล้ำ | กิริณี หนึ่งเอย |
พระศรีเสวตรวรลักษณ์ | ผ่องแผ้ว |
พระเสวตรสุวพามี | พรรณผุด ผาดแฮ |
พระเสวตรวรวรรณแกล้ว | กลั่นกล้ากลางสมร” |
ส่วนระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้คงจะอยู่ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๑๘ ถึงพุทธศักราช ๒๔๒๘ โดยพระองค์ทรงกล่าวถึงการเสด็จประพาสชวาและสิงคโปร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๓ และเสด็จประพาสครั้งที่สอง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๔ ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเลยไปยังพม่าและอินเดียด้วย นอกจากนี้ยังทรงกล่าวถึง “กรมพระปวเรศ” ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกและทรงได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จฯ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า
“กรมพระปวเรศเจ้า | จอมสงฆ์ |
อีกหม่อมเจ้าห้าองค์ | แฉกล้วน |
ราชาคณะเจ็ดสิบคง | เศษสี่ อีกนา |
รวมแฉกงาสานถ้วน | ครบได้ดังนิมนต์” |
หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่สนับสนุนการวิเคราะห์เรื่องระยะเวลาที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงพระนิพนธ์โคลงพระราชพิธีทวาทศมาสคือ พระราชนิพนธ์คำนำเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๑ ว่า
“...การซึ่งคิดจะเรียบเรียงพระราชพิธีสิบสองเดือนลงในหนังสือวชิรญาณครั้งนี้ด้วยเห็นว่าคำโคลงพระราชพิธีทวาทศมาสซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงแต่งขึ้นไว้กรรมสัมปาทิกปีกลายนี้ได้นำมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณเกือบจะตลอดอยู่แล้ว แต่คำโคลงนั้นท่านทรงไม่ทันจบครบสิบสองเดือน และในสำเนาความนั้นว่าความละเอียดทั่วไปจนการนักขัตฤกษ์ ซึ่งเป็นส่วนของราษฎร...”
จากบทพระราชนิพนธ์คำนำเรื่องพระราชพิธีสอบสองเดือนนี้ สามารถวิเคราะห์ได้ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งพระองค์ทรงได้รับสถาปนาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๗ ดังนั้นระยะเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ควรจะอยู่ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๑๘ ถึงพุทธศักราช ๒๔๒๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิใช่ทรงพระนิพนธ์ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่สันนิษฐานไว้แต่เดิม
อนึ่ง เรื่องโคลงพระราชพิธีทวาทศมาสนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรบปักษ์ มิได้ทรงพระนิพนธ์การพระราชพิธีในเดือน ๓ และเดือน ๔ เอาไว้อาจเนื่องจากทรงเห็นว่าในเดือน ๓ มีพิธีธานยเฑาะห์ คือการเผาข้าวเสี่ยงทาย และพิธีศิวาราตรีอันเป็นพิธีเฉพาะของศาสนาพราหมณ์ ส่วนในเดือน ๔ นั้น มีพระราชกุศลวันมาฆะบูชา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีขึ้นและเสด็จพระราชดำเนินเสมอมิได้ขาด ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินบ้างเป็นบางครั้ง จึงมิได้ทรงกล่าวถึง นอกจากนี้ยังมีพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ และพระราชพิธีตรุษอันเป็นพระราชพิธีที่ทำก่อนวันสงกรานต์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำต่อเนื่องกับวันสงกรานต์ โดยให้เริ่มพระราชพิธีตรุษในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ และได้ยึดถือปฏิบัติตั้งแต่นั้นมา