อธิบายความเบื้องต้น

โคลงนิราศหริภุญชัย นับเป็นโคลงนิราศเรื่องแรกในวรรณคดีไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า แต่งขึ้นประมาณสามร้อยปีเศษแล้ว คือแต่งในปี พ.ศ. ๒๑๘๐ หรือก่อนนั้นขึ้นไป ทุกคนที่ได้อ่านโคลงนิราศหริภุญชัยแล้ว ย่อมยอมรับว่าเป็นโคลงที่เก่าแก่มาก ทั้งไพเราะจับใจและเป็นแบบฉบับที่โคลงนิราศชั้นหลังได้เลียนมาใช้เป็นอันมาก จึงควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่มิได้มีการศึกษากันอย่างจริงจังนั้นเป็นเพราะติดขัดอยู่ที่ภาษาเก่ามากจนอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง จริงอยู่ภาษาเหล่านี้ยังคงตกค้างอยู่ทางถิ่นพายัพและอีสานบ้าง แต่ผู้รู้ก็เหลืออยู่น้อยเต็มที ครั้นจะปล่อยทิ้งไว้อีกชั่วรุ่นเดียว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้พอไต่ถามได้คงจะหมดไปเป็นแน่แท้

อุปสรรคในการศึกษา

เมื่อลงมืออ่านนิราศเรื่องนี้เข้าจริงๆ แล้ว เกือบหมดความพยายามที่จะศึกษา เนื่องด้วยอุปสรรคต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. ศัพท์โบราณ แม้ถิ่นพายัพจะคงใช้ภาษาไทยโบราณมาจนบัดนี้ แต่หนังสือเล่มนี้มีศัพท์เป็นจำนวนมาก ซึ่งคนทั่วๆ ไปลืมความหมายเสียหมด ต้องอาศัยผู้สนใจทางอักษรศาสตร์จริงๆ จึงจะรู้ความหมาย เช่น ม่อน แปลว่า ตัวฉัน ตัวอย่างที่ใช้ ยอสิบนิ้วม่อนพนม และ ตัวม่อนน้อย จักกล่าวคำไข จ่อง แปลว่า เหนี่ยว หรือ เกาะหลัง เช่น จูงจ่องเมือเมืองฟ้า

๒. ชื่อโบราณสถาน วัดวาอารามต่างๆ บางวัดร้างไป บางวัดเปลี่ยนชื่อไป ผู้อ่านส่วนมากไม่ทราบ พยายามไปแปลชื่อเหล่านี้ แต่แปลไม่ออก เช่น กุฏาราม เปลี่ยนเป็น วัดเจดีย์หลวง และในบท “ถึงถาบอุปแปนได้ แต่ซ้ำปรารถนา” อูปแป้น เป็นชื่อวัดซึ่งร้างไปนานแล้ว

๓. ศัพท์บาลีสันสกฤต นอกจากศัพท์ของถิ่นพายัพและโบราณแล้ว ยังมีศัพท์บาลีสันสกฤต ซึ่งสะกดการันต์ไม่ตรงตามแบบปนอยู่ด้วยมาก ซึ่งข้าพเจ้าเองไม่เคยมีความรู้ทางนี้มาเลย

๔. ต้นฉบับผิด การคัดลอกในสมัยโบราณทำกันบกพร่องมาก ยิ่งเรื่องนี้คัดกันมาหลายต่อหลายชั่ว ส่วนผิดพลาดย่อมสะสมเพิ่มขึ้นทุกที เช่น

๔๕. อารามรมเยศเมิ้น มังราย
นามคู่คำหลวงหลาย เช่นท้าว
หกสิบเสียมผู้ยาย ยังรอด รามแฮ
แปงคู่นุชน้องเหน้า นาทโอ้โรทา

ขั้นแรกลองแปลว่า มองดูอารามอันชื่อว่ามังราย อันเป็นชื่อคู่กับพญามังราย (ส่วนมากเขียนกันเป็นเม็งราย) ชื่อเช่นนี้มีอยู่มากหลาย (เช่น ตั้งเป็นชื่อ วัด สะพาน ฯลฯ) มาถึงบาทสาม เดาอยู่หลายวันไม่ทราบว่า “หกสิบเสียมผู้ยาย” จะหมายถึงอะไรได้ ไต่ถามคนแก่ว่า เสียม เคยเป็น มาตราวัดทางยาวหรือไม่ ก็ไม่เคยมีใครเคยได้ยิน จนกระทั่งไปอ่านวิจารณ์นิราศนรินทร์ของท่าน น.ม.ส. ตอน “ทราบสวยมภูวจักรี เกลือกใกล้” ทำให้นึกเอะใจว่า เสียมผู้ นี้คงคัดผิดไปจากคำว่า สยมภู นี่เอง และถ้าเป็น สยมภู มีวรรณยุกต์เอกต้องตามข้อบังคับแห่งโคลงด้วย ยาย แปลว่า เรืยงราย เมื่อได้ความว่ามีพระพุทธรูปหกสิบองค์แล้ว ต่อมาพบในหนังสือสังคีติยวงศ์ว่า พญามังรายสร้างสุวรรณเจดีย์ไว้พระพุทธรูปหกสิบองค์ที่กุมภามนคร เข้าทีดี (หนังสือนี้แปลงชื่อสถานที่เป็นบาลีทั้งหมด) ส่วนในตำนานมูลศาสนากล่าวว่า สร้างวัดกู่คำ มีเจดีย์สี่เหลี่ยม เหลี่ยมหนึ่งมีพระพุทธรูปสิบสี่องค์ เข้าใจว่าผู้คัดลอกอ่านเลขสิบห้าเป็นสิบสี่ไป และเลขถิ่นพายัพ เลขสี่กับเลขห้าต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ กู่คำ กับ สุวรรณเจดีย์ แปลความได้ตรงกัน จึงแน่ใจว่าวัดนั้นชื่อ วัดกู่คำ หาใช่ วัดคู่คำ ดังในต้นฉบับไม่

ตามลักษณะที่บรรยายมานี้ตรงกับลักษณะของวัดเจดีย์เหลี่ยม จึงทำให้สงสัยว่าจะเป็นวัดเดียวกัน ครั้นไปสอบดูสถานที่แล้วได้พบวัดเจดีย์เหลี่ยมมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจริง แต่มีพระพุทธรูปด้านละสิบหกองค์ เกือบหมดปัญญาคิด บังเอิญได้พบพระมหาหมื่นแห่งวัดเจดีย์หลวงซึ่งเป็นที่นับถือว่ามีความรู้ทางประวัติศาสตร์ดียิ่งในเชียงใหม่ผู้หนึ่ง ให้คำอธิบายว่าวัดเจดีย์เหลี่ยม เดิมชื่อว่าวัดกู่คำ เมื่อแรกมีพระพุทธรูปอยู่หกสิบองค์เท่าจำนวนเมียของพญามังรายผู้สร้าง ต่อมาหลวงโยฯ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เมื่อยี่สิบกว่าปีมานี้ และสร้างเพิ่มขึ้นอีกสี่องค์ รวมเป็น ๖๔ องค์ เท่าอายุของท่าน สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่แถววัดนั้นก็ได้ความเช่นเดียวกัน ที่ตรงนั้นเดิมเรียกว่า เวียงกุมกาม ปัจจุบันนี้เกือบไม่มีคนรู้จักแล้ว

ต่อมาได้ต้นฉบับใบลานมาสามผูก ล้วนใช้คำว่า กู่คำ และ สยมภู หรือ สำภู ตรงตามที่สันนิษฐานไว้ เพียงเท่านี้ดูได้ความดีตรงกับโคลงตอนที่ว่า “แปงคู่นุชน้องเหน้า” คือสร้างอุทิศให้เมีย เรื่องนี้ คุณธนิต อยู่โพธิ์ มีความเห็นว่า สร้างเป็นกู่ที่ไว้กระดูกเมียพญามังราย ข้าพเจ้าไปสอบต้นฉบับเดิมเห็นเขียนเป็น กู่ บ้างก็มี และ นายมงคล งามวิสัย ผู้ช่วยข้าพเจ้าเคยติงในเรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแล้ว จึงเห็นสมจะเป็นดังว่านี้มากกว่าสร้างเท่าจำนวนเมีย (พงศาวดารโยนกว่าสร้าง จ.ศ. ๖๕๐)

ท่านมหาหมื่นได้กรุณาให้ยืมต้นฉบับใบลานมาสองฉบับ และท่านหมูแห่งวัดเชียงหมั้นให้ฉบับที่นับว่าดีที่สุดมาอีกหนึ่ง เป็นอักษรถิ่นพายัพหนึ่งฉบับ และอักษรขอมไทย (กลายไปจากอักษรพ่อขุนรามคำแหง) สองฉบับ แต่ไม่จบและลายมือเต็มทีเสียหนึ่งฉบับ

ต้นฉบับของหอพระสมุดเป็นฉบับสมุดไทยสี่ฉบับ ฉบับที่หนึ่งและที่สามสันนิษฐานได้ว่าคัดลอกจากกัน และสองกับสี่ก็เช่นกัน เพราะที่ผิดก็ผิดเกือบเหมือนกัน จึงนับได้ว่ามีต้นฉบับเพียงสองชุดเท่านั้น น่าประหลาดไม่น้อย ต้นฉบับที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผิดกันไปมาก บางคำไม่ตรงกันเลยสักฉบับ ทั้งไม่อาจตัดสินได้ว่าอย่างไหนจะถูก จึงเป็นของแน่ว่าบทความที่เขียนขึ้นนี้ย่อมจะต้องผิดพลาดอยู่ไม่น้อย แต่ข้าพเจ้ากล้านำเสนอท่านผู้สนใจในอักษรศาสตร์ทั้งหลาย ก็เพราะเห็นว่าได้ต้นฉบับมาสอบทานเพิ่มขึ้นอีกและได้ใช้เวลาสะสางอยู่หลายเดือนพอเป็นแนวทางให้อ่านเข้าใจได้ดีกว่าเดิมอีกหลายเท่า ทั้งได้อาศัยความรู้จากท่านมหาหมื่น ท่านหมู คุณครูชุ่ม ณ บางช้าง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ล้านนาไทยอย่างยอดเยี่ยมทั้งสามท่าน

ปีแต่ง อาศัยคำว่า เมิงเป้า ซึ่งแปลว่าปีฉลูศกที่สี่ นับอย่างจีน ซึ่งตรงกับปีฉลู นพศก ตามจุลศักราช กับใจความในโคลงบทที่ ๑๖ ว่า ไปไหว้พระพุทธสิหิงค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงได้ทรงสันนิษฐานไว้ว่าต้องแต่งขึ้นราวสมัยพระเจ้าปราสาททอง และกวีทางใต้คงนำมาดัดแปลงราวสมัยสมเด็จพระนารายณ์ จึงน่าจะแต่งขึ้นในปีฉลูเมิงเป้ารอบที่ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๘๐ หรือก่อนนั้นขึ้นไป

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าโคลงนิราศหริภุญชัยนี้เป็นเรื่องที่จดเป็นตำนานไว้ใน พ.ศ. ๒๐๖๐ เพราะปรากฏตามโคลงบทที่ ๑๖ ว่า พระแก้วมรกตยังอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ แต่ตำนานนี้จะแต่งเป็นโคลงทีเดียวหรือจะมีผู้ดัดแปลงทีหลัง ขอทิ้งไว้ให้ท่านผู้อ่านศึกษาดูบ้าง สมัยที่พระแก้วมรกตอยู่เชียงใหม่นั้น พ.ศ. ๒๐๑๑-๒๐๙๑ ตรงกับปีเมิงเป้าเพียงปีเดียวคือ พ.ศ. ๒๐๖๐ นี้

จำนวนโคลง โคลงบทสุดท้ายฉบับหอพระสมุดแจ้งจำนวนไว้ว่า “ร้อยเจ็ดสิบแปดประมาณ บทบาท มีเอย” นับสอบดูถูกต้อง แต่ในฉบับเชียงใหม่แจ้งไว้ว่า “ร้อยแปดสิบเป็นประมาณ บทบาท มีเอ่” นับสอบดูฉบับครบมี ๑๘๓ บท ทั้งสองฉบับ เสียดายที่อีกฉบับหนึ่ง ตอนท้ายขาดไป มีเพียง ๑๔๙ บท แต่พอสรุปได้ว่าที่ดัดแปลงมาสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น คงมีเพียง ๑๗๘ บท แต่ของเดิมต้องมีมากกว่านี้แน่ สังเกตได้จากบทที่ ๑๔๕ และ ๑๔๖

๑๔๕. ยังมีพอคู่คล้อม ชายา
สองฝ่ายหนมัคคา ม่ายแย้ม
อันเรียมเท่าอาทวา วอนเวท นาเอ่
ไกลกลิ่นพลัดชู้แห้ม หากแห้มระเหระหน
๑๔๖. จักไปพระพุทธรูปเจ้า จตุตน
ยืนอยู่ปราจีนหน แห่งโน้น
อันเรียมทุราฉงน ฉงายเช่น รักเอ่
ขอโผดผายหื้อพ้น เพื่อแก้กรรมเรียม

สองบทนี้ ฉบับหอพระสมุดคัดตกเอามารวมกันเป็นบทเดียวดังนี้ บทที่ ๑๔๓ ของหอพระสมุด

ยังมีพระคู่ล้อม จัตุตน
ยืนยันอยู่ประจิมหน แห่งโน้น

ฯลฯ

ตอนนี้ใจความบ่งชัดว่าไม่ได้แต่งเติมขึ้นใหม่ แต่โคลงที่เกินขึ้นอีก ๔ บทนั้น ไม่มีหลักฐานยันว่ามีมาเดิมหรือแต่งใหม่ ต้นฉบับทางเชียงใหม่สันนิษฐานได้ว่าคัดมาจากต้นฉบับคนละทางทั้งสามฉบับ แต่บทที่เกินที่ตรงกันมีบทที่ ๗๑ ยับ ๙๗ เท่านั้น ส่วนอีกสองบทที่อยู่หลังบทที่ ๓๕ นั้น ตรงกันเพียงสองฉบับ และลำดับเลขหน้าบทก็ทิ้งว่างไว้เฉย ๆ มิหนำซ้ำยังเขียนแทรกไว้ด้วยว่า “จะเอาใส่ไว้ไหน” เป็นเชิงว่าผู้คัดสงสัยอยู่แล้วว่าทำไมไม่มีเลขที่เหมือนบทอื่น

ข้าพเจ้ารักที่จะคิดว่าโคลงเรื่องนี้มี ๑๘๐ บทด้วยกัน ไม่นับบทสุดท้ายซึ่งน่าพิเคราะห์ว่า โคลงบทที่ ๑๘๑ นั้น อาจแต่งเพิ่มขึ้นภายหลังโคลงบทอื่นตั้งนาน หรือมิฉะนั้นโคลงทั้งหมดอาจแต่งขึ้นจากตำนานที่เขียนไว้เดิมก็เป็นได้ ส่วนอีกสองบทนั้นคงแทรกเข้ามาทีหลัง จึงขอลำดับเลขที่ซํ้าดังนี้ ๓๕ ๓๕ ก ๓๕ ข แล้วจึงไป ๓๖

ระยะทางที่ผ่านไป ออกจากเชียงใหม่ไปยังลำพูน ผ่านวัดพระสิงห์แวะไหว้พระพุทธสิหิงค์ ผ่านวัดทุงยู วัดสิริเกิด วัดผาเกียร (ชัยพระเกียรติ) ผ่านข้างกุฏาราม (วัดเจดีย์หลวง) วัดอูปแป้น (ร้างไปประมาณร้อยปีแล้ว) มาถึงสี่แยกกลางเวียงเชียงใหม่ ไหว้หอมังราชของพญามังราย (เหลืออยู่แต่ต้นโพธิ์) แวะวัดเจดีย์หลวง ไหว้พระอัสดารสซึ่งเป็นประธานในปัจจุบันนี้ ไหว้พระแก้วมรกตและรูปยักขราชกุมภัณฑ์คู่ (ไม่ใช่คู่ที่ปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในสมัยเจ้ากาวิละ) ผ่านวัดฟ่อนสร้อย และเชียงสง (วัดหรือตลาด?) ออกประตูเมือง ชื่อประตูเชียงใหม่

ผ่านวัดพันง้อม (ร้างไปนานจนไม่มีใครรู้จัก) วัดกุฎีคำ (วัดธาตุคำ) วัดน่างรั้ว (วัดยางกวง) ผ่านประดูเมีองชั้นที่สอง ชมเกวียน ผ่านอุทยานถึงเวียงกุมกาม วัดกู่คำ (วัดเจดีย์เหลี่ยม) ต่อจากนี้ หาทางไม่ได้แน่ชัด บางทีจะผ่านพระนอนบ้านพิงด้วย ผ่านป่าผ่านยางหนุ่ม (วัดกองทราย) ถึงปิงเก่า หัวฝาย แม่น้ำปิงสมัยนี้ย้ายไปจากเดิมหลายกิโลเมตรแล้ว ดูหมายเหตุเรื่องเวียงกุมกามท้ายเรื่อง ผ่านตลาดต้นไร (คล้ายต้นไทร บางคนว่าต้นกร่าง) หยุดพักนอนหนึ่งคืน

พอข้ามไปถึงเมืองลำพูน ไหว้พระธาตุ ชมสถานที่กลางคืน ดูการฟ้อนรำ การไต่เชือก การแสดงไต่ดาบ ไปไหว้พระยืน ซึ่งพระมหาสุมนเถระมาปฏิสังขรณ์ไว้หลังสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พระร่วงลิไทย กลับมาวัดพระมหาธาตุอีก พระเจ้าแผ่นดินมาในงาน มีจุดดอกไม้ไฟ พักหนึ่งคืน ลาพระธาตุกลับ

หลักการอ่านหนังสือถิ่นพายัพ

ก่อนขึ้นต้นหากได้ทราบถึงการอ่านออกเสียงแบบถิ่นพายัพสักเล็กน้อยจะเป็นประโยชน์แก่การศึกษาศัพท์โบราณต่อไปเป็นอันมาก พูดเฉพาะตัวที่ใช้เขียนหนังสือมคธมีเท่ากันดังนี้

๑. การกลายเสียงของพยัญชนะ

 

หลักที่

 

 

วรรค

กะ

 

 

 

จะ

 

 

 

ฏะ

 

 

 

ตะ

 

 

 

ปะ

 

 

เศษวรรค

กฎข้อที่ ๑ ภาษาถิ่นล้านนาออกเสียงพยัญชนะหลักที่ ๓ (อักษรตํ่า) ไม่ได้ ใช้เสียงพยัญชนะหลักที่ ๑ (อักษรกลาง) ในวรรคเดียวกันแทน เช่น เค้า เป็น เก๊า ช้าง เป็น จ๊าง ทุ่ง เป็น ต้ง พ่อ เป็น ป้อ

กฎข้อที่ ๒ ภาษาถิ่นล้านนาออกเสียง เป็น เช่น รัก เป็น ฮัก

กฎข้อที่ ๓ ภาษาถิ่นล้านนาออกเสียง เป็น เช่น แม่ (น้ำ) ฉอด เป็น แม่สอด

กฎข้อที่ ๔ พยัญชนะหลักที่ ๑ ควบกับ ร กลายเป็นพยัญชนะหลักที่ ๒ ในวรรคเดียวกัน เช่น กราบ เป็น ขาบ ตราบ เป็น ถาบ ปราบ เป็น ผาบ เราอาจอธิบายได้ดังต่อไปนี้ เวลาเขียนอักษรโรมัน ก - k ข - kh คือ ก + ฮ นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อล้านนาออกเสียง ก + ร เป็น ก + ฮ หรือ kh จึงเป็น ข ไปนั่นเอง

กฎข้อที่ ๕ ภาษาล้านนาไม่มีเสียงอักษรควบกับ ร และ ล ถ้าพยัญชนะต้นควบกับ ล ก็จะไม่ออกเสียง ล เลย เช่น ปลา อ่านว่า ป๋า

ถ้าเราทำปากเตรียมไว้ออกเสียง แต่ทำเสียงขึ้นจมูก เสียงที่ออกนาจะเป็น ไป เช่นคำ มะขาม ถิ่นล้านนาออกเสียงเป็น บะขาม ทำนองเดียวกัน ถ้าเราทำปากเตรียมไว้ออกเสียง แต่ทำเสียงขึ้นจมูก เสียงที่ออกมาจะทลายเป็น น ไป ฉะนั้น คำว่า ดอน กับ โนน ในภาษาถิ่นจึงเป็นคำเดียวกัน และ นนถี ในนิราศหริภุญชัย ก็ตรงกับ ดนตรี นั่นเอง

ในขณะเดียวกันไทใหญ่ออกเสียง เป็น เช่นเมือง ดอย ออกเสียงเป็นเมือง หลอย ในจารึกหลักที่ ๒ “จงเดรหา” เดร แปลว่า เที่ยวเตร่ ตรงกับ เล ใน กาเลหม่านไต ซึ่ง ดร.บรรจบ พันธุเมธา อธิบายว่า “ไปเที่ยวบ้านไทย กาเลหม่านไต” เทียบตัวต่อตัวจะเป็น คลา เดร่ บ้าน ไทย ค ออกเสียงเป็น ก ด ออกเสียงเป็น ล บ ออกเสียงเป็น และ ออกเสียงเป็น

ลิลิตยวนพ่าย บทที่ ๘๙ “เพียงบานทพาธิก ทรงเดช ที่คนเคารพไข้ ข่าวขยรร” ประหนึ่ง กษัตริย์ปาณฑพผู้ยิ่งใหญ่ที่คณะเการวได้ข่าวแลัวหวาดกลัว (ขยั้น) จนเป็นไข้ ท่านผู้แต่งแผลง เป็น

๒. การกลายเสียงของสระ

สระเสียงเดียว ๙ ตัว อาจจัดแบ่งได้ดังแผนต่อไปนี้

 

 

หน้า

 

 

กลาง

 

 

หลัง

เปิดปาก

แคบ

อี

 

 

อือ

 

 

อู

 

ปานกลาง

 

เอ

 

เออ

 

โอ

 

 

กว้าง

 

 

แอ

 

ออ

 

 

 

 

 

 

 

อา

 

 

 

สระหน้าใช้ปลายลิ้นกระดกขึ้นช่วยในตอนเปล่งเสียง สระกลางเรากระดกลิ้นตรงกลางขึ้น สระหลังเรากระดกโคนลิ้นขึ้น ถ้าเราทำเสียง อี ปากเปิดแคบ ถ้าเตรียมออกเสียง อี แต่เปิดปาก ปานกลางเสียงจะเปลี่ยนเป็น เอ และถ้าเปิดปากกว้างเสียงจะเปลี่ยนเป็น แอ สระหน้า อี เอ แอ มักจะแทนกันได้เช่น อาเม ในภาษาไทใหญ่ อาจจะตรงกับ อ้าแม่ ของเรา เพดาน มาจากบาลีว่า วิตาน “ไก่ใดขันขิ่งน้อง วานเฉลย” ขิ่ง อาจจะแปลว่า แข่ง หรือจะแปลว่า กริ่ง คือยังสงสัย ก็ลองพิจารณาดูเอง

สระกลาง อือ เออ อา มักจะใช่แทนกันได้ เช่น ถึง เถิง กึ่ง เกิ่ง

สระหลัง อู โอ ออ มักจะใช้แทนกันได้ เช่น มุ่ง ม่ง สอง โสง แม่นํ้า ของ โขง อาจารย์เคยสอนว่าเป็นเรื่องแผลงสระ แต่ที่จริงไทยเผ่าต่างๆ ออกเสียงโดยเปิดปากไม่เท่ากัน เสียงสระจึงผิดกันไป เช่น ทุ่ง โต้ง ตะวันโอก ตะวันออก

สระ เอีย เป็นเสียงผสม อี + อา คือ เปิดปากแคบออกเสียง อี แล้ว เปิดปากกว้างออกเสียง อา พวกไทใหญ่เปิดปากปานกลางออกเสียง เอ (โปรดดูแผนข้างบนประกอบ เช่น เมีย เป็น เม)

สระ เอือ คือ อือ + อา ไทใหญ่เปิดปากปานกลางออกเสียง เออ เช่น เมือง เป็น เมิง

สระ อัว คือ อู +อา ไทใหญ่ออกเสียงเป็น โอ (โปรดดูแผนประกอบ) เช่น ถั่ว เป็น โถ่ พ่อขุนนำถุม หรือ นำถม ในจารึกหลักที่ ๒ จึงตรงกับ พ่อขุนน้ำถ้วม (ท่วม) เพื่อน ไทอาหมใช้ ปื้น แปลว่า มีเสน่ห์ แพง ไทอาหมใช่ ปิง แปลว่า น่ารัก แพง (ล้านนา) แปลว่า รัก เหมือนกัน พระเพื่อนพระแพง จึงแปลว่า พระผู้มีเสน่ห์และพระผู้น่ารัก นางรื่น นางโรย ไทใหญ่ออกเสียง รวย เป็น โรย คำแปลนางรื่นนางโรยจึงตรงกันกับ ระรื่นระรวย นั่นเอง

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเปิดปากกว้างแล้วหุบปากให้แคบลง อา + อี เป็น สระไอ อา + อู เป็น สระอาว ส่วน อา + อือ เป็น สระใอไม้ม้วน ซึ่งปัจจุบันเราออกเสียงเป็นแบบเดียวกับสระไอไม้มลายไปเสียแล้ว แต่จะสังเกตได้ว่าไทยบางถิ่นออกเสียงสระใอเป็นสระอือก็มี เช่น ให้ เป็น หื้อ บางถิ่นออกเสียงเป็นสระเออลากเสียงยาว เช่น ใจ เป็น เจ้อ (ไทใหญ่) และในโคลงประกาศแช่งนํ้า ผาเยอ เท่ากับ ผาใหญ่ ดังนี้เป็นต้น

๓. การกลายเสียงของวรรณยุกต์

คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรตํ่า รูปวรรณยุกต์โท เช่น ช้าง จะออกเสียงเป็น ซ่าง ในภาษาถิ่นอีสาน คำ เชื้อ ก็ย่อมออกเสียงเป็น เซื่อ ในภาษาถิ่นอีสานเช่นกัน

การเทียบคำจากภาษาถิ่นต่างๆ มาเป็นคำไทยมาตรฐานจะต้องเทียบเสียงวรรณยุกต์ให้ถูกต้องตามกลุ่มอักษรสูง กลาง ตํ่า และตามรูปวรรณยุกต์ด้วย เช่น ภาษาถิ่นล้านนา อาจจะตรงกับ หรือ ในภาคกลางก็ได้ ฉะนั้นจึงต้องฟังเสียงวรรณยุกต์ประกอบด้วย ใจ๋ (เสียงจัตวา) ตรงกับ ใจ ภาคกลาง แต่ ไจ (เสียงสามัญ) ตรงกับ ชัย ของภาคกลาง สถานี เด่นชัย เมืองแพร่ ควรจะเป็น เด่นใจ เพราะชาวบ้านเรียกว่า เด่นใจ๋ ส่วนเรื่องพระลอตามไก่ “ขันขานเสียงเอาใจ” น่าจะเป็นไก่ขันเอาชัย มากกว่า ยวนพ่ายบทที่ ๑๖๔ “หัวเมืองแซ่ห่มห้าว แหนทวาร รอบแฮ” แซ่ห่ม ตรงกับ แซ่ห่ม ออกเสียง เป็น แบบอีสานและตรงกับอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ตามเสียงของล้านนา ยวนพ่ายใช้ กรุงลาว แทน กษัตริย์ลาว และ หัวเมืองแซ่ห่ม แทน เจ้าเมืองแจ้ห่ม

บัตรคำ

เมื่ออ่านวรรณคดีหรือศิลาจารึก ผู้เขียนจะขีดเส้นใต้คำศัพท์ที่แปลไม่ได้ หรือเป็นคำศัพท์ที่มีอยู่ในภาษาถิ่น เพื่อเตรียมไว้เป็นตัวอย่างอธิบายให้นักศึกษาฟัง ถ้ามีเวลาควรจะถ่ายทอดคำศัพท์เหล่านั้นลงในบัตรขนาดเล็ก บัตรละคำ ตัดประโยคที่พบลงไว้ในบัตรและบอกที่มาว่าได้มาจากเรื่องใด หน้าใด หรือเป็นโคลงบทที่เท่าใด แล้วนำบัตรคำเหล่านั้นมาเรียงตามลำดับอักษร คำศัพท์คำเดียวกันที่พบจากที่ต่างๆ ก็จะไปรวมอยู่กลุ่มเดียวกัน มีประโยคตัวอย่างหลายประโยค ทำให้มีทางแปลความหมายได้ถูกต้อง เช่น คำ บัดแมง พบในมหาชาติคำหลวง หน้า ๑๒๑ “ธก็เสด็จเอาอาศน บัดแมงแห่งตนไทร” และในศิลาจารึกหลักที่ ๒ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๗๗ “เมื่อรุ่งจึงเสด็จออกอยู่ บัดแมงให้คนทั้งหลายเห็น” อีสานใช้ บัดแม้ง แปลว่า ชั่วขณะหนึ่ง

การรวบรวมศัพท์โดยใช้บัตรคำนี้ มีข้อควรระวังเกี่ยวกับความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่นคำว่า ชีสา แปลว่า แม้ว่า ในยวนพ่าย บทที่ ๑๐๗ และบทที่ ๑๒๑ “ชีสาท่านโอนเอาดีต่อ ก็ดี คิดใคร่ควักดีผู้ เผ่าดี” แม้ว่าท่านทั้งหลายโอนอ่อนทำดีต่อ ก็โดยหวังที่จะควักความดีออกมาจากผู้มีตระกูลดีได้ และ “ชีสาท่านกุมเลียว ลาญขีพ ก็ดี” แม้ว่าท่านจะจับประหารชีวิตเสียก็ตาม แต่ในโคลงทวาทศมาส บทที่ ๘๘ และบทที่ ๘๙ ชีสา อาจจะแปลว่า แม้ว่า หรือจะแปลอย่างพจนานุกรมว่า คำเรียกผู้เป็นใหญ่ ก็น่าจะพิจารณาดู

วายุโอบพระพรุณเป็น เมฆกลุ้ม
ชีสามุ่งใจโจม จรจ่อม เอานา
ในเมฆอันคลุ้มคลุ้ม โอบมา
ครไลครลั่งแล้ว กระมัง แม่ฮา
จับบ่เริ่มนุชคลา ถ่านี้
ชีสาอยู่ในบัง วายุเมฆ โพ้นนา
เจตกมลผี้ผี้ รวบเอา

เราจะนำบัตรคำเหล่านี้มาเทียบกัน เมื่อเป็นคำในวรรณคดียุคเดียวกันหรือใกล้กันเทียบกับพจนานุกรมไทยทุกถิ่นรวมทั้งภาคกลาง และเทียบกับพจนานุกรมภาษาของชาติที่อยู่ใกล้เคียงกับไทย

การใช้พจนานุกรมภาษาอื่น

เมื่อได้เทียบคำในพจนานุกรมภาษาถิ่นว่าตรงกับคำใดในภาคกลาง โดยสังเกตพยัญชนะต้นว่าเป็นอักษรสูง กลาง หรือตํ่า และเสียงวรรณยุกต์ของภาษาถิ่น ทำให้กำหนดได้ว่าตรงกับรูปวรรณยุกต์ใดในภาษากลางแล้ว เราก็จะเริ่มดูคำแปลของศัพท์แต่ละคำ ถ้าหากความหมายตรงกับคำภาคกลาง หรือเป็นคำภาษาถิ่นที่เราทราบความหมายอยู่แล้ว เราก็จะอ่านผ่านไป ถ้าคำแปลใดผิดแปลกจากที่เคยทราบเราจะขีดเส้นใต้ไว้ เช่น คอน (ไทขาว) เป็นคำกิริยาแปลว่า จับคอน ซึ่งไม่ปรากฏในภาคกลาง หากเป็นคำที่น่าสนใจ เช่น ก้องข้าว แปลว่า ตำข้าว ถ้าเช่นนั้นคำ ข้าวกล้อง จะแปลว่า ข้าวตำ หรือไม่ เราก็อาจจะเติมดอกจันไว้ดอกหนึ่ง ถ้าหากเป็นคำที่เราเคยพบในวรรณคดีหรือจารึกที่ยังแปลไม่ออก หรือแปลออกแต่ยังหาหลักฐานไว้อ้างอิงยังไม่ได้ เราก็อาจเติมเครื่องหมายดอกจันไว้สองดอกเช่น ก๊าน (ค้าน) แปลว่า พังลง โคลงนิราศหริภุญชัย บทที่ ๖๕ “สองตราบมัคคาพัง ค่นค้าน” และมหาชาติคำหลวง หน้า ๓๓๘ “คือจะค่นค้านไพรสะเทือน” โค่นค้าน จึงแปลว่า พังทลาย เฟือด แปลว่า กระฉอก ล้นออก โคลงนิราศหริภุญชัย บทที่ ๒๔ “เหราเฟือดฟัดฟอง คือค่าย งามเอย” คือ แปลว่า คูเมือง อนึ่งคำที่ออกเสียง เอือ ของไทไย้ ตรงกับเสียง อา ในไทยภาคกลาง และคำที่ออกเสียง อา ของไทไย้ ตรงกับเสียงเอือ ของภาคกลางหลายคำ เฟือด จึงตรงกับ ฟาด ผู้บรรยายพยายามหาคำภาคกลางที่ตรงกับ เมือ ในล้านนา ซึ่งแปลว่า ไปมา ไม่ได้ บัดนี้จึงทราบว่า เมือ คือ มา นั่นเอง และ เตื้อ (เทื่อ) ของล้านนาแปลว่า ครั้ง ก็ตรงกับคำ ท่า ในกราบงามสามท่า คือ สามครั้งนั่นเอง

การเทียบพยัญชนะที่แทนที่กันได้

ในตอนต้นได้กล่าวมาแล้วว่า ล ด น ใช้แทนกันได้ ยังมีพยัญชนะอื่นที่ใช้แทนกันได้ เช่น กับ บาก-หวาก บ่าย-อว่าย บ่ำ-หวำ บิ่น-วิ่น บุ๋ม-หวุม เบ้อ-เว่อ เบอะ-เหวอะ แบะ-แหวะ โบ๋-โหว่ ฉะนั้นในโคลงนิราศหริภุญชัย บทที่ ๒๖ “อกบ่า บินแฮ” แปลว่า อกหว่า หรือ ว้าเหว่ แต่ไทขาวใช้ เมืองบ่า แปลว่า เสียเมือง อกบ่าจะเหมือนกับขวัญหายไปกระมัง หมาว้อ แปลว่า หมาบ้า คงจะตรงกับ หมาบอ นั่นเอง

กับ ในมังรายศาสตร์ กฎหมายของพระเจ้ามังราย (เม็งราย) มีคำ ฟีก แปลว่า หลีก ทำให้คิดได้ว่า เฟอะ เลอะ เฟือน เลือน เฟะ เละ ฯลฯ ใช้แทนกันได้ โคลงทวาทศมาส บทที่ ๖๓ “พระพรุณรายเรื่อยฟ้า เฟ็ดโพยม” เฟ็ดโพยม แปลว่า เล็ดจากฟ้า ทำให้นึกถึงพระเจ้าฟ้ารั่ว ยวนพ่าย บทที่ ๔๓ “ลวงแส้งเฟดไฟ่อ้อม เอาชัย เชี่ยวแฮ” เชิงตั้งใจเล็ดลอดออกไปแล้วไล่ล้อมข้าศึก เฟดไฟ่ เท่ากับ เล็ดไล่ คำว่า ลวง หมายถึง ทาง (ล้านนา) หรือ เชิง บทที่ ๔๐ ใช้ กล บทที่ ๔๑ ใช้เชิง บทที่ ๔๒-๔๔ ใช้ ลวง ในความหมายเดียวกันว่า ในทาง ในมหาชาติคำหลวงมี “เจ้าฟ้าฟอกไพชยนต์” เปรียบเทียบพระพุทธเจ้าเหมือนพระอินทร์ ฟอก ตรงกับ ลอก ภาษาไทอาหม แปลว่า เนรมิต เจ้าฟ้าฟอกไพชยนต์ คือ พระผู้เนรมิตรไพชยนต์ขึ้นมา

สมัยโบราณมีอักษรควบกลํ้ามากกว่าในปัจจุบัน เช่น กับ จารึกหลัก ๒ ใช้ ฟ้าแมลบ ปัจจุบันภาคกลางใช้ แลบ ล้านนาใช้ แมบ ในทำนองเดียวกันนี้ มีคำ มลื่น – ลื่น - มื่น มล้าง - ล้าง - ม้าง เราอาจจะแปล ไม้มลาย ไม่ออกแล้ว แต่ไทยล้านนาใช้ มาย แปลว่า คลายออก ฉะนั้น ไม้ม้วนเขียนปลายม้วนเข้า ไม้มลายเขียนปลายคลายออกไป คำว่า มลาก แปลว่า ดี เช่น ยินมลาก ฉะนั้น ผู้ลากมากดี ก็แปลว่า ผู้ดี นั่นเอง

กับ เช่น จารึกหลักที่ ๑ หลวัก ปัจจุบันภาคกลางใช้ หลักแหลม อีสานและล้านนาใช้ หลวก แปลว่า ฉลาด ปักษ์ใต้ไม่ใช้คำนี้ แต่ไทยในกลันตันใช้ หลวก เหมือนกัน ในกลันตันยังใช้คำ ผ้าผึ้ง แปลว่า ผ้าเช็ดหน้า ยืนยันคำในไตรภูมิพระร่วงหน้า ๑๒๔ นางอสันธมิตตาได้ให้ทานผ้าผึ้ง แก่พระปัจเจกโพธิเจ้า ฉบับแก้ไขใหม่ได้แก้ ผ้าผึ้ง เป็น น้ำผึ้ง ไปเสีย แต่ในหน้า ๑๐๑ ยังมีข้อความยืนยันว่า “ได้ถวายผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่ง” (ได้มาจากนายฉันทัส ทองช่วย วิทยานพนธ์เรื่อง “ภาษาไทยในกลันตัน” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

อักษรควบ กับ เช่น งว้าย (ล้านนา) แปลว่า วกกลับ งัว และ วัว น่าจะมาจาก งวัว ทางล้านนาเรียก แมงวัน ว่า แมงงูน วันวาน ว่า วันงวา โคลงโบราณ มีคำ ไหง้ว และ ไหงว เช่น ยวนพ่าย บทที่ ๒๖๘ “หาญเราต่อเต่งง้วง ไหงวฤา” แปลว่า ทวยหาญของเราจะสู้กับช้างไหวหรือ

อักษรย่อที่ปรากฏในคำอธิบายศัพท์และอักขราภิธานศัพท์

ห. = ต้นฉบับหอสมุดแห่งชาติ

ร. = ต้นฉบับพระยาราชสัมภารากร (เลื่อน)

ล.. = ต้นฉบับ อ.ลมูล จันทน์หอม

ส.. = ความหมายศัพท์อธิบายโดย อ.สิงฆะ วรรณสัย

อ. = ความหมายศัพท์อธิบายโดย ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ