คำปรารภในการพิมพ์ครั้งแรก

โคลงนิราศหริภุญชัยฉบับนี้ ข้าพเจ้าได้สอบทานกับต้นฉบับเชียงใหม่อยู่เป็นเวลาหนึ่งปี จึงพิมพ์ขึ้น ๖ - ๗ สำเนา ใน พ.ศ. ๒๔๘๗ แล้วส่งไปให้ท่านเจ้าคุณอนุมานราชธน คุณธนิต อยู่โพธิ์ คุณเปลื้อง ณ นคร ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล และห้องสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สิบห้าปีต่อมาจึงได้นำลงตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

หนังสือนี้สำเร็จเป็นรูปเล่มขึ้นมาได้ ด้วยอาศัยการส่งเสริมของสมาคมภาษาและหนังสือ ตามโครงการส่งเสริมการอ่านอักขระไทยโบราณ ต้นฉบับเชียงใหม่เป็นใบลาน มีอายุประมาณ ๑๒๐ ปี จารึกด้วยอักษรพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะกลมๆ แบบอักษรมอญ พม่า และบางฉบับก็จารึกเป็นอักษรขอมไทย คืออักษรที่กลายไปจากลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหง อักขระแบบหลังนี้ปรากฏอยู่ตามศิลาจารึกทั่วไปในภาคพายัพสมัย ๒๐๐-๔๐๐ ปี ล่วงมานี้ และเท่าที่พบในใบลาน ๕ ผูก เป็นโคลงนิราศหริภุญชัย ๒ ผูก โคลงเรื่องนางสังกา ๑ ผูก และโคลงมังทราตีเมืองเชียงใหม่ ๒ ผูก อักขระแบบนี้เกือบไม่มีผู้อ่านออกแล้ว ฉะนั้น ถ้าใครได้ไปไม่รู้คุณค่าก็อาจโยนทิ้งเสีย ข้าพเจ้าเชื่อว่า อาจมีวรรณคดีอีกหลายเรื่องที่เขียนด้วยอักขระขอมไทยตกค้างอยู่ตามบ้าน วัด หรือถํ้า ทางจังหวัดภาคเหนือ ถ้าผู้ใดได้พบเห็นควรจะส่งมอบให้หอพระสมุดเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป

เนื่องด้วยท่านมหาหมื่น แห่งวัดเจดีย์หลวง และท่านหมู แห่งวัดเชียงหมั้น มรณภาพไปหลายปีแล้ว จึงไม่ทราบว่าต้นฉบับโคลงนิราศหริภุญชัยทั้ง ๕ ผูก ไปตกอยู่กับผู้ใด วัดเจดีย์หลวงได้รับหนังสือใบลานของท่านมหาหมื่นเรื่องอื่นๆ ไว้หลายพันผูก แต่โคลงเรื่องนี้สูญหายไป ทางวัดเชียงหมั้นเหลอแต่โคลงเรื่องมังทราตีเชียงใหม่ ๑ ผูก และคุณสงวน โชติสุขรัตน์ ไปได้เรื่องเดียวกันนี้กับโคลงเรื่องนางสังกามาจากอำเภอฮอดอีกอย่างละ ๑ ผูก ผู้คัดเรื่องมังทราชื่อสุรินท์ เป็นผู้คัดโคลงนิราศหริภุญชัยด้วย และได้คัดไว้ในปีเดียวกัน คือ พ.ศ.๒๓๘๑ โคลงท้ายเรื่องมังทราตีเชียงใหม่มีดังนี้

สุรินท์เขียนขีดด้วย อัตตา
ยังค่าวคราวมังทรา ผาบผ้าย
เชียงใหม่เขตล้านนา ไทยทั่ว ทิศเอ่
เป็นกั่นโลงไว้หื้อ เผ่าผู้ประสงค์เสิน

อนึ่ง พุทธวงศ์ภิกขุ ได้คัดเรื่องนี้ไว้ก่อนหน้านี้ ๑ ปี จึงสรุปได้ว่าสุรินท์เป็นแต่เพียงผู้คัด ไม่ใช่ผู้แต่งโคลงเรื่องมังทรา และโคลงนิราศหริภุญชัยก็คงจะสรุปได้เช่นเดียวกัน

โคลงมังทรา เป็นเรื่องสมัย พ.ศ. ๒๑๕๗ ตอนหนึ่งได้กล่าวอำลาพระแก้วไว้ด้วย อันที่จริง แม้ในยุคปัจจุบันยังมีผู้กล่าวถึงหอพระแก้วที่วัดเจดีย์หลวงอยู่เสมอ จึงน่าสงสัยว่าอาจจะอำลาพระแก้วทั้งๆ ที่พระแก้วไม่ได้ประดิษฐานอยู่แล้วก็เป็นได้ นอกจากนี้ มีโคลงบทหนึ่งบรรยายถึงเรื่องมังทราขุดคูรอบกำแพงทุกด้าน และท่านมหาหมื่นคงอาศัยโคลงบทนี้ช่วยยืนยันว่า กำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นที่สองสร้างขึ้นโดยมังทราบุเรงนอง (ดูหมายเหตุท้ายเรื่อง) แต่ที่จริงมีมังทราอยู่หลายองค์ และองค์ที่ปรากฏในโคลงนี้เป็นชั้นลูกหลานของบุเรงนอง

ข้าพเจ้าควรจะเขียนเรื่องนี้เสียใหม่ และแปลใจความเป็นบทๆ ไป แต่ประโยชน์ที่จะได้คงไม่เท่ากับที่จะรีบเผยแพร่งานชิ้นนี้ ให้ผู้สนใจช่วยกันศึกษาต่อไป ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณท่านเจ้าคุณอนุมานราชธน คุณธนิต อยู่โพธิ์ คุณเปลื้อง ณ นคร คุณทวี ทวีวรรธนะ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง คุณมงคล งามวิสัย และสมาคมภาษาและหนังสือไว้ ณ ที่นี้ และขอให้ภาษาไทยเป็นที่นิยมศึกษาของคนไทยและเทศยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

ประเสริฐ ณ นคร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ