คำนำ

ภาระหน้าที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของกรมศิลปากรคือ การรักษา สืบทอดมรดกวัฒนธรรมด้านวรรณคดีและอักษรศาสตร์ของชาติ ซึ่งบรรพชนได้สร้างสมไว้แต่อดีตกาล ในสภาวการณ์ปัจจุบันสังคมไทยเจริญก้าวหน้าไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ อิทธิพลจากภายนอกมีส่วนสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมแปรเปลี่ยนไป ดังนั้นการที่จะรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบไปจึงจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ถึงรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ได้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์วรรณกรรมของชาติมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีวรรณกรรมโบราณเป็นจำนวนมากที่ยังมิได้ดำเนินการ วรรณกรรมดังกล่าวบันทึกไว้ในต้นฉบับสมุดไทย ซึ่งเป็นเอกสารโบราณที่นับวันจะชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา หลายเรื่องเคยได้รับความนิยมและมีบทบาทต่อสังคมไทยในอดีต แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคมไทยสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะหนังสือแบบเรียนไทยสมัยโบราณ ซึ่งมักแต่งเป็นร้อยกรอง มีสัมผัสคล้องจองเพื่อให้กุลบุตรผู้เล่าเรียนจดจำได้ง่าย ผู้แต่งตำราเรียนในสมัยนั้นจึงต้องมีความรู้แตกฉานทั้งทางด้านภาษาและการร้อยกรอง

แบบเรียนเรื่องเสือโค ก กา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทศมูลเสือโค มีข้อความบอกไว้ในเรื่องว่า “พระสมีมี” เป็นผู้แต่งถวายพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นหนังสือเรียนของ “พระราชกุมาร” ที่ยังทรงพระเยาว์ สันนิษฐานว่าพระสมีมีผู้แต่งเรื่องนี้เป็นคนเดียวกับ “นายมี” หรือ “หมื่นพรหมสมพัตสร” กวีผู้มีชื่อเสียงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้แต่งเรื่องเสือโค ก กา นำเอาเรื่องเสือโค หรือ พหลวิไชยคาวี มาร้อยกรองเป็นคำประพันธ์หลายชนิด เรียงตามลำดับการแจกลูกอักษร ตั้งแต่แม่ ก กา แม่ กน แม่ กง แม่กม แม่ กด แม่ กก แม่ กบ และแม่ เกย

เรื่องเสือโค ก กา นี้เป็นหนังสือแบบเรียนที่มีความสำคัญต่อประวัติการเรียนการสอนภาษาไทย กรมศิลปากรได้มอบให้นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ตรวจสอบชำระต้นฉบับเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ ในการตรวจสอบชำระพบว่าเอกสารสมุดไทยฉบับหนึ่งมีเพลงยาวอาวาสโวหารอยู่ท้ายสมุดต่อจากเรื่องเสือโค ก กา เรื่องดังกล่าวยังไม่เคยมีการเผยแพร่มาก่อน จึงนำมาพิมพ์ไว้ในภาคผนวกของหนังสือนี้ด้วย

กรมศิลปากรหวังว่า หนังสือ เสือโค ก กา จักอำนวยประโยชน์ต่อครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจวรรณคดีและอักษรศาสตร์โดยทั่วกัน

(นายเอนก สีหามาตย์)

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

เมษายน ๒๕๕๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ