ประวัตินายมี หมื่นพรหมสมพัตสร

นายมี ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง สำนวนในปีวอก นักษัตรอัฐศก นี้ ปรากฏตามที่บอกไว้ตอนท้ายของหนังสือ “เพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่าเป็นบุตรพระโหรา เข้าใจว่าพระโหราธิบดี (โลกเนต) หรือ พระโหราธิบดี (สมุ) ในรัชกาลที่ ๑ หรือที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากจะได้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง และ เพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ ตามที่ทราบกันอยู่แล้ว ปรากฏเท่าที่ทราบในเวลานี้ว่า นายมีได้แต่งหนังสือพระสุบิน ก กา และนิราศอีก ๑ หรือ ๒ เรื่อง คือนิราศเดือน และนิราศสุพรรณ แต่มีบางท่านกล่าวว่า นิราศถลางก็เป็นของนายมี ครั้นสอบกับหลักฐานดู เห็นยังขัดแย้งกันอยู่ อาจเป็นของผู้อื่นก็ได้ กับยังมีหนังสือ “เสือโค ก กา” ฉบับสมุดไทยอีกเรื่องหนึ่ง บอกไว้ว่า “พระสมีมี” แต่ง อาจเป็นของนายมีแต่งเมื่อเวลาบวชเป็นพระก็ได้

นายมี คงจะเกิดในรัชกาลที่ ๑ ราวปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๓๘ หรือปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๓๙ และดูเหมือนจะมาเป็นกวีมีชื่อเสียงขึ้นในรัชกาลที่ ๓ แม้จะปรากฏว่า นายมีเป็นกวีชั้นดีเยี่ยมอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็จริง แต่ในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนในรัชกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้กวีมากมายหลายท่านช่วยกันแต่งบทร้อยกรองขึ้นในครั้งนั้นมากหน้าหลายตา เหตุไฉนไม่มีชื่อนายมี ข้อนี้อาจเป็นเพราะในชั้นต้น นายมีไปฝักใฝ่อยู่กับเจ้านายพระองค์อื่น มีเค้าเรื่องพอจะจับเป็นมูลเหตุได้ในตอนท้ายหนังสือพระสุบิน ก กา เช่นที่กล่าวว่า

ยุตติดังนิยม ในปะถมมะสุบิน
เสร็จสิ้นสุดฉบับ ตามตำรับเรื่องรู้
มาถวายพระผู้ เลิศหล้าหลักเมือง ฯ

พระสุบิน ก กา เล่มนี้ เกล้ากระหม่อมออมีบุตรพระโหราเอามาทูนเกล้าทูนกระหม่อมถวาย ใต้ละอองธุลีพระบาทยุคัน ณ วันจันทร์เดือนแปดแรมเจ็ดค่ำ จุลศักราชพันร้อยเจ็ดสิบเก้า ปีฉลูนพศก วสันตรดู เมื่อเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรม เจริญพรหมวิหาร พาบริวารทั้งปวงสิ้น มาถือศีลขันตี ต้องประเพณีปางโพ้น เหมือนพระเตมีย์โน้นล่วงแล้วครั้งหลัง ขอเดชะ ฯ

จบเสร็จนิเทศท้อง สำบิน
ถวายพระจอมนริน เทพท้าว
ตามในพระไทยถวิล ปรารภ นั้นนา
ขอสวัสดิค่ำช้าว แห่งเกล้ากระหม่อมฉัน ฯ

พิจารณาระยะเวลาและเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดาร ปีฉลูนพศกนี้ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๖๐ เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ อยู่ในรัชกาลที่ ๒ เสด็จออกทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อพระชนม์ ๑๓ พรรษา เรื่องพระสุบิน ก กา นี้ นายมีอาจแต่งทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ในโอกาสเสด็จออกทรงผนวชเป็นสามเณรก็ได้ จึงบอกไว้ว่า “เมื่อเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรม เจริญพรหมวิหาร” จึงคาดว่านายมีอาจเป็นข้าหลวงเดิมหรือฝักใฝ่ในสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ นายมีจึงเป็นเช่นเดียวกับท่านสุนทรภู่ ซึ่งมิได้ชื่อว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้แต่งบทร้อยกรองในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๓

นายมีเคยบวชเป็นพระภิกษุอยู่หลายพรรษา แต่บวชอยู่วัดไหนข้อนี้บอกไว้แจ่มแจ้ง ในนิราศสุพรรณของนายมีเองว่า

เมื่อข้าบาทบรรพชารักษากิจ

ที่สถิตเชตุพนวิมลสถาน

ได้เล่าเรียนเพียรภาวนานาน

รับประทานนิจภัตรเป็นอัตรา

นายมีคงจะบวชอยู่ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงครองวัดนั้น และในระยะที่บวชอยู่ในวัดพระเชตุพนนั้น นายมีคงจะได้แต่งหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นบ้างตามวิสัยของนักเลงกลอน เท่าที่ได้พบก็มีสมุดไทยเรื่อง “เสือโค ก กา” บอกไว้ข้างต้นว่า

ข้าพระสมีมี  
ขอไหว้พระศรี ระตะนะไตร
มาอยู่เกษา ขออย่ามีไภย
ไหว้ครูผู้ไกร ที่ร่ำรู้มา
ขอให้ไชยะ  
ปรุในษะระ ทำคำ ก กา
ทะวีอะขะระ ทะศะเลขา
มาที่พระมหา ราชาธิบดี
ถ้าพล้ำคำไหน  
ขอพระอะไภย อย่าได้ราคี
ขอให้มีไชย ที่ในวาที
ชูพระบารมี ไว้ชื่อฦๅคำ
ไว้ให้พระหน่อ  
เยาวเยาวละออ แต่พอเล่าจำ
ให้ฬ่อพระไทย ที่ในลำนำ
สาราที่ทำ ให้นำปรีชา

นายมีอาจบวชอยู่ในวัดพระเชตุพนร่วมสมัยกับพระภิกษุสุนทรภู่ ซึ่งกล่าวกันว่าเคยมาอยู่วัดพระเชตุพนเหมือนกัน ครั้นสึกหาลาเพศแล้วนายมีได้แต่งนิราศเดือนอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งพรรณนาขึ้นต้นตั้งแต่เดือน ๕ ตามกำหนดเป็นเดือนแรกของการนับปีไทยในสมัยนั้น ถ้านิราศถลางเป็นของนายมีดังที่บางท่านเชื่อถือกันมา นายมีก็เป็นศิษย์ของท่านสุนทรภู่ด้วย เช่นที่กล่าวอ้างไว้ในตอนจบของนิราศถลางว่า

ฉันเป็นศิษย์สุนทรยังอ่อนศักดิ์

พิไรรักมิ่งมิตรกนิษฐา

ประโลมโลกโศกศัลย์พรรณนา

ยุติกาจบกันเท่านั้นเอย

ถ้านิราศถลางเป็นของนายมี ก็พอจะคะเนรู้ได้ว่า นายมีไปเมืองถลางเมื่อใด เพราะมีกล่าวไว้ในนิราศถลางว่า

อยู่ถลางค้างปีไม่มีภัย

สู้อดใจราวกะพระชนะมาร

พี่สู้ทนวิตกให้หมกมุ่น

แต่ปีกุนเดือนยี่จนปีขาล

เพื่อนเขาเห็นเตรียมตรมอยู่นมนาน

ก็คิดอ่านชวนไปชมยมนา

ลองตรวจสอบปฏิทินและพิจารณากาลเวลาดู เข้าใจว่า หมายถึงปีกุน พ.ศ. ๒๓๗๐ และปีขาล พ.ศ. ๒๓๗๓ ถ้าถูกต้องตามนี้ นายมีคงจะไปอยู่เมืองถลางตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๓ ถ้านับโดยปีก็เป็นระยะ ๔ ปี ใกล้เคียงกับที่บอกกล่าวแสดงความตั้งใจเมื่อจะออกเดินทางไว้ในตอนต้นของนิราศถลาง ซึ่งขอเวลาเป็นทำนองให้คู่รักรอสัก ๕ ปี โดยกล่าวว่า

ให้ได้กลับมารับขวัญที่ฉันรัก

อย่ารู้จักห่างหากกระดากหนี

ให้น้องน้อยคอยท่าสักห้าปี

ขอเดชะบารมีพระภูวนัย

หมายถึงว่าไปถลางภายหลังไปพระแท่นดงรัง แต่การไปเมืองถลางของนายมีคราวนี้ไม่ปรากฏชัดว่าไปด้วยเรื่องอะไร

นายมีเป็นคนมีฝีมือในทางเป็นช่างเขียน ข้อนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสืบสวนและประทานบันทึกไว้ว่า “ได้ยินเรียกกันว่า ตามี บ้านบุ เขียนห้องภูริทัตในพระอุโบสถวัดอรุณฯ ซึ่งไฟไหม้เสียแล้ว ยังมีชิ้นปูนแตกมีรูปภาพติด ดูได้ที่วังสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเก็บมารักษาไว้ชิ้นหนึ่ง เป็นฝีมือดีในรัชกาลที่ ๓ เหมือนกัน แต่ไม่เอก” นายมีคงจะเบื่อการช่างและโดยที่มีนิสัยรักบทกลอน จึงมีความทะเยอทะยานอยากจะเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ เพื่อได้มีโอกาสแสดงฝีปากในทางบทกลอนต่อไป จึงในรัชกาลที่ ๓ นั้น นายมีได้แต่ง “กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทูลเกล้าฯ ถวายอีกเรื่องหนึ่งเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ เพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติของนายมี ช่วยให้เราได้ทราบถึงพระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับพระราชศรัทธาทรงสร้างวัดวาอาราม และปูชนียสถานหลายอย่างหลายประการ ในตอนท้ายของกลอนเพลงยาวนั้นมีบอกไว้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้านายมี บุตรพระโหรา แต่งมาทูลเกล้าฯ ถวายไว้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ณ วันประหัศ จตุรเกณฑ์ กาฬปักษ์ เดือนแปด จุลศักราช ๑๑๙๕ ปีมะเส็งเบญจศก เสร็จ ขอเดชะ” และมีบทกลอนกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาไว้ในตอนจบว่า

สรวมชีพรจนาสามิภักดิ์

เฉลิมศักดิ์บทิตรอดิศร

ไว้สำหรับกัปกัลป์นิรันดร

ให้ถาวรพิพัฒน์สวัสดี

ขอคุณพระไตรรัตน์เป็นฉัตรแก้ว

มาปกแผ้วกันภัยในเกศี

ให้พระจอมโลกาทรงปรานี

พอพ้นที่ช่างเขียนเปลี่ยนวิชา

ขอฉลองพระคุณไปในอาลักษณ์

ด้วยจิตรักจงสมปรารถนา

ควรมิควรโปรดทรงพระเมตตา

ชีวิตไว้ใต้ฝ่าธุลีเอย

แต่ไม่ปรากฏว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายมีเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และคงจะเนื่องด้วยความไม่สมหวังฝังอยู่ในความรู้สึกมาช้านาน เมื่อคราวแต่งนิราศสุพรรณ นายมียังนำมาพรรณนาไว้ตอนเรือผ่านหน้าวัดเพลง ได้นึกถึงขรัวนาคหรือพระอาจารย์นาค ช่างเขียนชั้นครูฝีมือดี ซึ่งเคยอยู่วัดนั้น แล้วรำพึงรำพันไว้ด้วยความน้อยใจและเชื่อมั่นว่าตนมีฝีปากในเชิงแต่งกลอนดี ว่า

ทุกวันนี้ฝีมือเขาลือมาก

แต่ฝีปากอับชื่อไม่ลือถึง

ไม่มีใครยอยกเหมือนตกบึง

ต้องนอนขึงคิดอ่านสงสารตัว

เสียแรงเรียนวิชาสารพัด

เที่ยวหยิบยัดยกใส่ไว้ในหัว

เหมือนมณีสีอับพยับมัว

จะเอาตัวเห็นไม่รอดตลอดไป

หลังจากแต่งเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติแล้ว ๓ ปีต่อมานายมีได้เดินทางไปพระแท่นดงรัง ในจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๗๙ เข้าใจว่าไปนมัสการพระแท่นตามเทศกาลประจำปี ซึ่งกำหนดมีงานนมัสการตั้งแต่วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ถึงเพ็ญกลางเดือน ถ้าการกำหนดอายุของนายมีเป็นดังกล่าวมาข้างต้น ในคราวไปพระแท่นดงรังครั้งนี้ นายมีก็คงจะมีอายุราว ๔๑ หรือ ๔๒ ปี ในคราวนี้นายมีได้แต่งนิราศพระแท่นดงรังสำนวน “ในปีวอกนักษัตรอัฐศก” ขึ้นไว้ไพเราะอ่านเพลิน จนเคยมีผู้เข้าใจกันมาแต่ก่อนว่า ท่านสุนทรภู่เป็นผู้แต่ง แต่นายมีก็ได้นำไปบอกไว้ในนิราศสุพรรณของตนว่า

สุดจะคิดครวญคร่ำร่ำสวาท

ใช่นิราศร้างนุชสุดกระสัน

ประดิษฐ์กลอนค่อนคำเป็นสำคัญ

ไปสุพรรณครั้งนี้ไม่มีครวญ

ไม่เหมือนไปพระแท่นแสนเทวษ

ทางประเทศร่วมกันคิดหันหวน

ไม่กล่าวซ้ำร่ำไรอาลัยครวญ

ก็รีบด่วนเรือมาในสาชล

เรื่องนี้ผู้เขียนได้เคยเสนอข้อพิสูจน์ไว้เป็นเวลาล่วงมาราว ๒๐ ปี แล้วและบัดนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นที่รับรองกันทั่วไป

ในการเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังครั้งนี้ ตอนแรกไปทางเรือลงเรือแถวหน้าวัดพระเชตุพน เลี้ยวเข้าคลองบางกอกน้อย ไปบางกรวย บางใหญ่ เข้าคลองโยง ออกแม่น้ำนครชัยศรี เข้าคลองบางแก้ว แล้วขึ้นเดินบกไปด้วยเกวียนพร้อมกับพวกสัปปุรุษสีกา ผ่านพระประโทน ถึงพระปฐมเจดีย์ แวะนมัสการพระปฐมเจดีย์แล้ว เดินบกไปพระแท่นตามระยะทางซึ่งระบุสถานที่กล่าวถึง ดังได้จัดพิมพ์ไว้ตอนท้ายนิราศพระแท่นดงรังนี้ ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า นายมีเดินทางคนละสายกับที่ท่านสุนทรภู่ไปพระแท่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ตามที่กล่าวถึงไว้ในนิราศพระแท่นดงรังของสามเณรกลั่น

นายมีคงจะได้ฝากถวายตัวอยู่ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ในรัชกาลที่ ๓ ความข้อนี้มีพรรณนาไว้ในนิราศสุพรรณที่นายมีแต่งว่า

ครั้นสึกออกจากพระสละวัด

เป็นคฤหัสถ์ลำบากยากหนักหนา

ได้อาศัยในสมเด็จพระน้องยา

ทรงเมตตาโปรดปรานที่บ้านเรือน

ท่านชุบเลี้ยงถึงที่มีเบี้ยหวัด

ไม่เคืองขัดหาพระทัยที่ไหนเหมือน

ทูลลามากว่าจะกลับก็นับเดือน

มิได้เยือนเยี่ยมเฝ้าทุกเช้าเย็น

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ที่นายมีกล่าวถึงในนิราศสุพรรณนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยทรงพระเมตตาประทานบันทึกให้ผู้เขียนไว้ว่า “มีแต่สองพระองค์ที่จะทำเช่นนั้นในสมัยนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์หนึ่ง กับเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระองค์หนึ่ง” และอาจเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นเสด็จดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิม ธนบุรี ซึ่งต่อมาใช้เป็นโรงเรียนนายเรือ บ้านเรือนที่ว่าโปรดเมตตาประทานให้นายมือยู่ในเวลานั้น อาจเป็นแถวหน้าวัดพระเชตุพน เพราะดูนายมีเกี่ยวข้องกับแถวนั้นอยู่มาก เช่น บวชอยู่วัดพระเชตุพน เมื่อจะไปไหน เช่นคราวแต่งนิราศถลาง ก็กล่าวว่า “ก็ล่องไปจากท่าหน้าวัดโพธิ์” คราวแต่งนิราศพระแท่นดงรัง ก็บอกไว้ว่า “ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน” แต่ในตอนหลังอาจไปอยู่แถวบ้านบุ ตามบันทึกทรงสืบสวนของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดังกล่าวข้างต้นก็ได้

ต่อมาเมื่อนายมีมีอายุมากขึ้น ได้เปลี่ยนอาชีพไปหากินทางผูกภาษีอากร เป็นที่หมื่นพรหมสมพัตสร นายอากรเมืองสุพรรณบุรี จึงเดินทางไปเมืองสุพรรณบุรี เมื่อปีมะโรง ฉศก จ.ศ. ๑๒๐๒ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๘๗ ในการเดินทางไปสุพรรณบุรีคราวนี้ นายมีได้แต่งนิราศสุพรรณไว้ ขึ้นต้นก็บอกปีและตำแหน่งหน้าที่ของตนว่า

นิราศร้างห่างไกลใจกระสัน

ปีมะโรงฉศกวิตกครัน

ไปสุพรรณพาราเรียกอากร

ด้วยได้นามตามตราพระราชสีห์

ตั้งเป็นที่หมื่นพรหมสมพัตสร

เมื่อวันออกนาวาลีลาจร

ให้อาวรณ์หวั่นหวาดอนาถทรวง

และกล่าวไว้อีกแห่งหนึ่งเมื่อเรือผ่านบางใหญ่ว่า

รำพันพลางทางมาถึงบางใหญ่

พิศดูหมู่ไม้ในสวนศรี

ม่วงทุเรียนมังคุดละมุดมี

ทั้งลิ้นจี่ลำไยมะไฟมะเฟือง

มะปรางมะปริงกิ่งแปล้แต่ละต้น

เป็นพวงผลสุกงามอร่ามเหลือง

ลูกไม้สวนสารพัดไม่ขัดเคือง

เป็นผลเนื่องตามฤดูไม่รู้วาย

แต่ปีมะโรงฉศกนี้ตกแล้ง

เข้าก็แพงถังละบาทพวกราษฎร์ขาย

ระคนปนเผือกมันพอกันตาย

ค่อยสบายเป็นสะเบียงเลี้ยงแผ่นดิน

เรื่องปีมะโรงข้าวแพงที่รำพันถึงในนิราศนี้ ตรงกับที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๓ ว่า “ในเดือน ๑๐ ปีมะโรง (พ.ศ. ๒๓๘๗) นั้น ข้าวแพงราคาเกวียนละ ๑ ชั่ง ข้าวสารถังละ ๖ สลึง ๗ สลึง เพราะข้าวเก่าหมด แต่แพงมากอยู่ประมาณ ๕ วัน พอได้ข้าวใหม่ก็ถูกลงเร็วนัก เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ (วันที่ ๑๘ สิงหาคม) ข้าวกำลังแพงอยู่นั้น โปรดให้จ่ายข้าวในฉางหลวง ออกมาขายให้ราษฎรที่ยากจน ถังละ ๑ สลึง”

เวลานั้น นายมี หมื่นพรหมสมพัตสรคงจะมีอายุธาว ๔๙ – ๕๐ ปี เมื่อเรือผ่านมาหน้าพระราชวังบวรสถานมงคลก่อนเลี้ยวเข้าคลองบางกอกน้อย นายมีได้พรรณนาถึงสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังบวร ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งสวรรคตแล้วว่า

นาวามากระทั่งวังบวร

เห็นวังเปล่าเหงาเงียบเซียบสงัด

ว่างสมบัติบพิตรอดิศร

เหมือนเดือนดับลับฟ้าไม่ถาวร

เสด็จจรสู่สวรรคครรไล

กับยังมีตอนที่ว่ากลอนไพเราะคมคายดีอีกหลายแห่ง แต่พิจารณาจากข้อความในนิราศสุพรรณ ดูเหมือนนายมี หมื่นพรหมสมพัตสรไปเก็บอากรครั้งนี้ จะมีผู้อุดหนุนหรือเป็นนายทุนมอบให้ไปทำแทน มิใช่ด้วยทุนรอนของตนเอง ในตอนท้ายของนิราศสุพรรณ ได้แต่งโคลงกระทู้บอกไว้ว่า

เสมียน สมัครสามารถแกล้ง เกลากลอน กล่าวแฮ
มี แต่จนเจียรจร จบด้าว
แต่ง ตามทุกข์อาทร ทนเทวษ ถวิลฤๅ
ถวาย พระน้องยาท้าว ถี่ถ้อยทางแถลง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระเมตตาโปรดประทานบันทึกรับสั่งเกี่ยวกับเรื่องนายมี หมื่นพรหมสมพัตสร และเรื่องวิธีผูกเก็บภาษีอากรแต่ก่อนให้ไว้แก่ผู้เขียน เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ว่า “มารู้สึกว่า บันทึกเรื่องศักดินาเจ้าภาษีนายอากรซึ่งฉันเขียนให้เมื่อวันเสาร์ (ทรงหมายถึงบันทึกฉบับลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม) นั้น ความชราพาให้คลาดเคลื่อนไป ที่ถูกนั้นเจ้าภาษีนายอากรแต่ก่อนเคยได้โดยตำแหน่ง ไม่เกี่ยวแก่ศักดินา มีชื่อตั้งเป็นหมื่นนั่นขุนนี่ คือเป็นชื่อของตัวเจ้าภาษีนายอากร เช่นในท้องตรานำ ย่อมกล่าวยกย่องว่าตั้งให้นายมีเป็นหมื่นพรหมสมพัตสร นายอากรเก็บสมพัตสรเมืองสุพรรณในปีนี้ คือหมายความว่า หมื่นพรหมสมพัตสรเป็นผู้มีอำนาจเหนือราษฎรในการเก็บสมพัตสร เพราะฉะนั้นใครเป็นนายอากรสมพัตสรเมืองสุพรรณ จึงเป็นหมื่นพรหมสมพัตสรเหมือนกันทุกคน เรื่องสูงศักดินา ๕๐๐ นั้นเกี่ยวกับจีนเจ้าภาษีนายอากรบางคนถึงเป็นชั้นเศรษฐี เรียกกันว่าเจ้สัว อยู่ในกรุงเทพฯ คนชั้นนี้ทำทั้งการค้าขายเช่นค้าสำเภาเป็นต้น และเข้าประมูลรับทำภาษีอากรด้วย รัฐบาลประสงค์จะอุดหนุนให้สะดวกในการอาชีพทุกอย่าง จึงตั้งเป็นขุนนางเหมือนอย่างขุนนางไทย มีราชทินนามประจำตัว เช่น หลวงพิชัยวารี หลวงศรียศ เป็นต้น ฉันนึกขึ้นได้ถึงเรื่องตัวอย่าง จึงรู้ว่าที่บอกไปแต่ก่อนนั้นผิดไป เรื่องตัวอย่างนั้นเจ้สัวหง เป็นผู้คิดตั้งอากรเล่นหวย ก. ข. ขึ้นในกรุงเทพฯ ได้เงินอากรมาก จึงทรงตั้งจีนหงให้เป็นหลวงบานเบิกบุรีรัตน์ เป็นราชทินนามสำหรับตัวจีนหง ครั้นนานมาเมื่อหลวงบานเบิกบุรีรัตน์ (หง) สิ้นซีพไปแล้ว อากรหวยตกเป็นว่าประมูลกันเป็นประจำปี ใครได้อากรหวยไป กระทรวงพระคลังก็มีตราตั้งคนนั้นเป็นขุนบานเบิกบุรีรัตน์ ราษฎรเลยเรียกนายอากรหวยว่าขุนบานนำชื่อตัว เช่นว่า ขุนบานฟุ้ง ขุนบางฮง เป็นต้น นายอากรบ่อนเบี้ยก็มีชื่อหลวง ขึ้นด้วยคำว่า “พัฒน์” แต่สร้อยดูเหมือนจะเปลี่ยนไปต่าง ๆ คนจึงเรียกนายบ่อนเบี้ยว่า ขุนพัฒน์หอย ขุนพัฒน์แดง เป็นต้น เป็นมาดังนี้”

ครั้นโปรดประทานบันทึกฉบับลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม มาแล้ว ต่อมาอีก ๒ วัน ได้ทรงพระเมตตาโปรดประทานบันทึกลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๕ เพิ่มเติมมาอีกว่า “ฉันคิดค้นความรู้ที่เคยมีมาแต่ก่อน เดี๋ยวนี้เหมือนกับเรียกคนเคยใช้ที่มันกระจัดกระจายกันอยู่ตามที่ต่าง ๆ มันมาวันละคนสองคน เจ้สัวหง นายอากรหวยคนแรกนั้น ที่จริงเป็นหลวงศรีชัยบาน มิใช่หลวงบานเบิกบุรีรัตน์ ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ฉันเองเป็นผู้แต่งหนังสือว่าด้วยตำนายหวยในเมืองไทย อยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๗ แต่นึกไม่ได้เมื่อเขียนโน้ตให้นายธนิต”

“ถึงลักษณะที่ผูกภาษีอากรที่บอกไปก็ยังพลาดหรือยังไม่แจ่มแจ้ง อันวิธีผูกภาษีอากรแต่ก่อนนั้น ใครอยากเป็นเจ้าภาษีนายอากรอย่างใด ทำเรื่องราวยื่นต่อพระคลังมหาสมบัติ หรือแล้วแต่จะให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ทูลเกล้าฯ ถวาย ขอเก็บภาษีอากรอย่างนั้น ๆ ส่งเงินหลวงปีละเท่านั้น ๆ เงินหลวงที่ส่งนั้น แยกถวายเป็นราย ๆ ตามเจ้านายที่มีบุญ นอกจากถวายเข้าในพระคลังมหาสมบัติด้วยผู้ใดได้เป็นเจ้าภาษีนายอากรใด ก็ได้เป็นที่หมื่น ขุน หลวง พระ ในเวลาที่เป็นเจ้าภาษีดังเล่าไปแล้ว แต่ระยะเวลาที่ได้เป็นเจ้าภาษีนั้น แต่ก่อนมา เมื่อได้เป็นเจ้าภาษีนายอากรอย่างใดแล้ว ก็ได้เก็บภาษีอากรอย่างนั้นอยู่ทุกปีติด ๆ กันไปจนกว่าจะมีใครอื่นถวายเรื่องราวขอรับทำภาษีอากรอันนั้น ถวายเงินแผ่นดินมากขึ้นกว่าคนก่อนทำ เรียกว่าประมูล หรือผู้ทำขาดทุนจะถวายเงินตามจำนวนที่รับต่อไปไม่ได้ ขอลดเงินหลวงหรือขอถวายคืนภาษีอากร อย่างนี้เรียกว่าร้องขาด เจ้าภาษีนายอากรจึงมีชื่อราชทินนามอยู่นาน ๆ จึงเปลี่ยนหรือเป็นอยู่ตลอดชีวิตก็มี ที่จีนหงเป็นที่หลวงศรีชัยบานนั้น ชื่อก็ส่อว่าเคยเป็นนายอากรสุรามาก่อน”

หลังจากไปเมืองสุพรรณบุรี เมื่อปีมะโรง ฉศก พ.ศ. ๒๓๘๗ กลับมาแล้ว นายมีหรือเสมียนมี หมื่นพรหมสมพัตสร จะได้ประกอบอาชีพอย่างใดและแต่งบทกลอนเรื่องใดไว้อีก ยังไม่พบในระยะนี้ ถ้าความที่คาดว่านายมี หมื่นพรหมสมพัตสรเคยเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงชุบเลี้ยงมาในรัชกาลที่ ๓ เป็นจริงเช่นกล่าวมาข้างต้น นายมีก็คงจะได้สิ้นชีวิตไปเสียก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๓ แล้ว จึงไม่ปรากฏมีชื่อเสียงว่าได้ทรงชุบเลี้ยงต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ถ้าว่าถึงฝีปากในเชิงบทกลอนกันแล้ว ก็นับได้ว่านายมีเป็นกวีที่มีฝีปากดีเลิศผู้หนึ่งในบรรดานักเลงแต่งบทกลอนของไทยที่เคยมีมา ดังจะเห็นได้ในนิราศพระแท่นดงรังสำนวน “ในปีวอกนักษัตรอัฐศก” เล่มนี้.

๘ เม.ย. ๒๕๐๔

  1. ๑. ประวัตินายมี หมื่นพรหมสมพัตสร จากหนังสือ “นิราศพระแท่นดงรัง” กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๔ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เรียบเรียง

  2. ๒. พระโหราธิบดี (โลกเนต) พ.ศ. ๒๓๐๐ – ๒๓๕๕
    พระโหราธิบดี (สมุ) พ.ศ. ๒๓๐๐ - ๒๓๗๑

  3. ๓. ดู - บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง ท้ายเล่มนิราศพระแท่นดงรัง

  4. ๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๓ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ หน้า ๒๗๒

  5. ๕. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ สวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ