คำชี้แจงในการตรวจสอบชำระ เรื่อง เสือโค ก กา

หนังสือ เสือโค ก กา เป็นแบบเรียนไทยที่แต่งขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทศมูลเสือโค” สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์พิจารณาเห็นว่า หนังสือเสือโค ก กา มีความสำคัญต่อประวัติการเรียนการสอนภาษาไทย แต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เนื้อเรื่อง เสือโค ก กา ดำเนินตามเรื่องเสือโคคำฉันท์ และบทละครเรื่องคาวี ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การตรวจสอบชำระเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่คราวนี้ใช้เอกสารสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร รายละเอียดตามทะเบียนเอกสารเดิม ดังนี้

เอกสารเลขที่ ๓๖๑ สมุดไทยขาว เส้นหมึก หมู่ อักษรศาสตร์ เรื่อง เสือโค ก กา ประวัติ นางเครือวัลย์ เทพหัสดินทร์ มอบให้เมื่อ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕
เอกสารเลขที่ ๓๖๔ สมุดไทยดำ เส้นหรดาล หมู่ อักษรศาสตร์ เรื่อง เสือโค ก กา ประวัติ เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ) มอบให้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓
เอกสารเลขที่ ๓๖๗ สมุดไทยขาว เส้นหมึก หมู่ อักษรศาสตร์ เรื่อง เสือโค ก กา ประวัติ ซื้อจากพระยาปริยัติธรรมธาดา เมื่อ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๔
เอกสารเลขที่ ๓๖๘ สมุดไทยดำ เส้นหรดาล หมู่ อักษรศาสตร์ เรื่อง เสือโค ก กา ประวัติ นายพรหม เปรียญ มอบให้ เมื่อ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕

เอกสารสมุดไทยเรื่อง เสือโค ก กา

เอกสารเลขที่ ๓๖๑ เอกสารฉบับนี้เป็นสมุดไทยขาว เส้นหมึกดำ มีข้อความระบุไว้ในบานแพนกว่า “๏ หน้าต้นเสือโค ปะถมมะก กา เล่ม ๑ นะท่านเอ๋ย ๚๛” เอกสารฉบับนี้เขียนตัวเลขบอกชนิดคำประพันธ์กำกับไว้เหนือเครื่องหมายฟองมัน เริ่มต้นด้วยบทนมัสการแจ้งนามผู้แต่งและจุดประสงค์ในการแต่งว่า

๒๘ ขาพระสะมี๋มี  
ฃอไหว้พระษี ระตะนะไตร
มายู่อเกษา ขอยามีไภ
ไหว้ครูผูไตร ที่ร่ำรู้มา
๏ ขอไห้ไชยะ  
ปุระในษะระ ทำคำก กา
ท่วีอะคะระ ทะเลขา
ที่พระมะหา ราชาธิบอดี
๏ ถาพรำคำไหน  
ฃอพระอะไภ อย่าระได้ราคี
ฃอไหมีไช ที่ในวาที
ชูพระบาระมี ไหว้ซื้อฦๅคำ
๏ ไหว้ในพระหน่อ  
เยาๆ ละอ แต่ภเล่าจำ
ไห้ฬ่พระไท ที่ในลำนำ
สาราที่ทำ ไหนำปรีชา

จากนั้นเริ่มดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบมีโคลงกระทู้ท้ายเรื่อง ๑ บทคือ

๏ สิ้น อักษรสืบฮู่ พะยาม์ยาม
สุท จิตรสุดขีษความ ยากแท้
สมุท เขยีนประดิดตาม สะติ เชานา
แต่ง ถ่วายไห้แผ้ร พระเกรยีดท้าวเฉลิมเมอืง ๚ะ๛

เอกสารเลขที่ ๓๖๔ เอกสารฉบับนี้เป็นสมุดไทยดำ ชุบอักษรด้วยเส้นหรดาล ลายมือบรรจงแบบ “ตัวอาลักษณ์” เริ่มต้นด้วยโคลงกระทู้นำเรื่อง ๑ บท ดังนี้

๏ เสือโค โอ้ยากแท้ ทำถวาย
ก กา หาความหลาย ฦกล้ำ
ว่าไป ในนิยาย ยอดยาก จริงนอ
จบเกย เลยแทรกซ้ำ สอดซ้อนสำเนียง ๚ะ๛

เนื้อความเริ่มต้นด้วยบทนมัสการ แจ้งนามผู้แต่ง จุดประสงค์ในการแต่ง เช่นเดียวกับเอกสารเลขที่ ๓๖๑ เมื่อเริ่มต้นคำประพันธ์แต่ละชนิดจะมีชื่อกำกับชนิดคำประพันธ์ระหว่างเครื่องหมายฟองมัน

๏ ชื่อกาพยรัตนมาลา ๏ ข้าพระสมีมี
ฃอไหว้พระศรี ระตะณะไตร
มาอยู่เกษา ฃออย่ามีไภ
ไหว้ครูผู้ไตร ที่ร่ำรู้มา
๏ ฃอให้ไชยะ  
ปรุในษะระ ทำคำ ก กา
ทะวีอะขะระ ทะศะเลขา
มาที่พระมหา ราชาธิบดี
๏ ถ้าพล้ำคำไหน  
ฃอพระอไภย อย่าได้ราคี
ฃอให้มีไชย ที่ในราคี
ชูพระบารมี ไว้ชื่อฦๅคำ
๏ ไว้ให้พระหน่อ  
เยาวเยาวลออ แต่ภอเล่าจำ
ให้ฬ่อพระไท ที่ในลำนำ
สาราที่ทำ ให้นำปรีชา

จากนั้นกำกับชนิดคำประพันธ์ไว้ระหว่างเครื่องหมายฟองมันกับอังคั่น วิสรรชนีย์ โคมูตรว่า “๏ ชื่อกาพยฉันท์ชะบำ ๚ะ๛” และดำเนินเรื่องจบลงตอนที่คาวีเดินทางออกจากเมืองจันทบุราตามลำพัง จบลงด้วยโคลงท้ายเรื่องแต่งเป็นกระทู้ ๑ บท เช่นเดียวกับเอกสารฉบับที่ ๓๖๑

๏ สิ้น อักษรสืบสู้ พญายาม
สุด คิดสุดค้นความ ยากแท้
สมุด เขียนประดิดตาม สติ เชานา
แต่ง ถวายให้แพร่ พระเกรียดิท้าวเฉลิมเมือง ๚ะ๛

ตอนท้ายของสมุดไทยเอกสารเลขที่ ๓๖๔ เป็นโคลงจำนวน ๓๐ บทจากเรื่อง “ยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ดูในภาคผนวก สำเนาเอกสารเลขที่ ๓๖๔) การชำระเรื่องเสือโค ก กา ครั้งนี้ใช้เอกสารเลขที่ ๓๖๔ เป็นหลักในการตรวจสอบ

เอกสารเลขที่ ๓๖๗ เอกสารฉบับนี้เป็นสมุดไทยขาว เส้นหมึกดำ มีข้อความระบุในบานแพนกว่า “ไว้ซืบสายกุลบุตรเล่าเรยีนเอย” จากนั้นเป็นโคลงกระทู้นำเรื่อง ๑ บท ดังนี้

๏ เสือโค โอ่ยากแท้ ทำถว้าย
ก กา หาความหล้าย ฦกล้ำ
ว่าไป ในนิยาย ยอดยาก จึงหนอ
จบเกย เลยแทรกซ้ำ สอดซอนสำเนียง ๚ะ๛

จากนั้นเป็นบทนมัสการ แจ้งนามผู้แต่งและจุดประสงค์ในการแต่งเช่นเดียวกับเอกสาร ๒ ฉบับที่กล่าวมาแล้ว ลักษณะเด่นของเอกสารเลขที่ ๓๖๗ คือ ระบุชื่อคำประพันธ์ที่ปรากฏในเรื่องต่างกับฉบับอื่นๆ เช่น “ชื่อกาพยรัตณมาลา ๒๘ คำ” “ชื่อกาพยฉันธชบำ ๑๖ คำ” “ชื่อสุราฆะณาฉันธะ ๒๘ คำ” “ชื่อกาพสาญวิลาษนี ๑๑ คำ” “ชื่อกาพสะโลกขฉันธะ ๓๐ คำ” “ชื่อกาพยสุวัณมาลา ๑๘ คำ” “ชื่อกาพขันไม่เข้าซอ ๓๒ คำ” เป็นต้น

เรื่องเสือโค ก กา ที่ปรากฏในเอกสารเลขที่ ๓๖๗ ดำเนินเรื่องไปจนจบความและมีโคลงกระทู้ท้ายเรื่อง ๑ บท เช่นเดียวกับเอกสารเลขที่ ๓๖๑ และเลขที่ ๓๖๔ แต่ตอนท้ายเล่มสมุดไทยเอกสารเลขที่ ๓๖๗ มีเนื้อความแต่งเป็นคำประพันธ์ต่อไปอีก ๓ เรื่อง คือ “ประถม กข” หรือ “สุภาษิต ก ข้” “เพลงยาวอาวาสโวหาร” และ “สุภาษิตอิศริญาณ” เรื่อง ประถม กข นั้นแต่งเป็นคำกาพย์ ประกอบด้วย กาพย์ ๑๑ (ยานี) กาพย์ ๑๖ (ฉบัง) และ กาพย์ ๒๘ (พิลาพ) เนื้อหาของ ประถม กข เป็นการนำตัวอักษรพยัญชนะตั้งแต่ ก ถึง ฮ มาขยายความด้วยข้อธรรมในพระพุทธศาสนา เช่น

“๒๘ พิลาพ ๏ จะกล่าวบทไป
ตัว ฃอ นี้ไซ้ ประสงค์ขันตี
อดได้ไม่โกรธ ประโยชน์มากมี
ทั้งในชาตินี้ ชาติ์หน้าต่อไป
หนึ่งเล่าเรานี้  
ถือมั่นขันตี จงมีในใจ
ถึงเวทนา จะมาฉันใด
ข่มขี่ลงไว้ อย่าร้องวุ่นวาย
อย่าสำคัญคิด  
อย่าถือว่าจิตร์ เป็นมิตร์กับกาย
จงแยกออกดู ให้รู้แยบคาย
ชั้นเชิงอุบาย รูปนามต่างกัน

ฯลฯ

ตัว ขอ ขันตี  
หยุดยกไว้ที คอ นี้พรรณนา
ประสงค์เอาคุณ อุดหนุนเกิดมา
พบพระสาสนา ได้ฟังสั่งสอน
พระคุณพุทโธ  
ทั้งคุณธรรโม สังโฆถาวรณ์
เป็นที่นับถือ เลื่องฦๅขจร
ท่านนั้นหลุดถอน อะวิชชาตัณหา”

ส่วน “เพลงยาวอาวาสโวหาร” แต่งเป็นกลอนเพลงยาว กล่าวถึงพระภิกษุ ๒ รูป ไปลาสิกขากับพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์ทำนายดวงชะตาของทั้ง ๒ ว่า คนหนึ่งจะรำรวยแต่อีกคนหนึ่งจะตกยาก ครั้นลาสิกขาแล้ว “ทิดดี” ซึ่งพระอุปัชฌาย์ทำนายว่าจะร่ำรวยนั้น ไปได้ภรรยามีฐานะดีแต่ภรรยาเป็นคนหละหลวมไม่ถี่ถ้วน ภายหลังกลับยากจนลง ส่วน “ทิดร้าย” ซึ่งพระอุปัชฌาย์ทำนายว่าจะตกยากไปได้ภรรยาเป็นชาวสวน มีความละเอียดถี่ถ้วนกลับรำรวยขึ้นเป็นลำดับ ผิดไปจากคำทำนายของพระอุปัชฌาย์

เรื่อง “ปถม กข” และ “เพลงยาวอาวาสโวหาร” ที่อยู่ต่อจาก “เสือโค ก กา” ในสมุดไทยเอกสารเลขที่ ๓๖๗ นั้นไม่ปรากฏข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้แต่ง จึงไม่สามารถสรุบได้ว่าเป็นผลงานของผู้แต่งเรื่องเสือโค ก กา หรือไม่ อย่างไรก็ตามเอกสารฉบับนี้มีแผ่นกระดาษบันทึกความเห็นของ “พระยาบปริยัติ” ซึ่งน่าจะหมายถึง พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) ปิดอยู่บนปกหน้าปลายสมุดความว่า

“หนังสือเสือโค ก กา และต่อไปว่าด้วยกำเนิดพยัญชนะตั้งต้น ก ถึง ฮ พระสมีมี ผู้นี้เป็นนักประพันธ์อักขรวิธี และจินตกวีผู้หนึ่งมีชื่ออยู่ ได้พบในเรื่องสุบิน ก กา แห่งหนึ่ง สมุดตัวรงมีอยู่ในหอพระสมุดแล้ว เนื้อความทั้งสองฉบับดูเป็นแต่งถวายพระอักษรเจ้านาย เคยมีผู้บอกเล่าว่าได้เป็นพระมหาราชครู

พระยาปริยัติ”

เอกสารเลขที่ ๓๖๘ เอกสารฉบับนี้เป็นสมุดไทยดำเส้นหรดาล ตัวอักษรค่อนข้างลบเลือน หน้าแรกแต่งเป็นโคลงนำเรื่อง ๑ บท ดังนี้

ประถม ก กา น่าต้น เสือโค
พระสมีมีพุตโต แต่งไว้
หวังสืบพระสาศโน นับท่วน ห้าพรรษ์
ขอเดชจงอย่าได้ ลบล้างเลือนมลาย

เริ่มเนื้อเรื่องเสือโค ก กา โดยบอกเลขจำนวนอักษรและชื่อคำประพันธ์ ไม่แจ้งนามผู้แต่งในวรรคแรก แต่ข้อความต่อไปใกล้เคียงกับเอกสาร ๓ ฉบับที่กล่าวมาแล้ว

๏ ๒๘ ๏ ชื่อกาพยรัตนมาลา ๏ ยอกรชุลี
ข้าไหว้พระสี รตนไตร
มาอยู่เกษา ขออย่ามีไภย
ไหว้ครูผู้ไตร ที่ร่ำรู้มา
๏ ขอให้ไชยะ  
ปรุในสะระ ทำคำ ก กา
ทวีอะขะระ ทะศะเลขา
มาที่พระมหา ราชาธิบดี
๏ ถ้าพล้ำคำไหน  
ขอพระอะไภย อย่าได้ราคี
ขอให้มีไชย ที่ในวาที
ชูพระบารมี ไว้ชื่อฦๅคำ
๏ ไว้ให้พระหน่อ  
เยาเยาลออ แต่พอเล่าจำ
ให้ฬ่อพระไท ที่ในลำนำ
สาราที่ทำ ให้นำปรีชา

จากนั้นเริ่มเรื่องเสือโคโดยใช้คำที่อยู่ในมาตรา ก กา (ไม่มีตัวสะกด) เช่นเดียวกับฉบับอื่น ๆ ดำเนินเรื่องไปจนถึงคาวีเดินทางจากเมืองจันทบุรา ตอนท้ายสมุดไทยเอกสารเลขที่ ๓๖๘ มีโคลง ๔ สุภาพ ๘ บท โคลงบางบทนำมาจากหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี เช่น โคลงกลไทยหลง โคลงกลฤๅษีแปลงสาร ส่วนโคลง ๒ บทสุดท้ายเป็นโคลงท้ายเรื่อง เสือโค ก กา ดังนี้

๏ ถวายกรวรบาทน้อม กฤษดาล
โอนอ่อนศริรากราน กราบเกล้า
พุทธคุณอดุลปาน สรรเพชญ
ปกห่มร่มเกษเช้า ค่ำเพียรนิจกาล ฯ
๏ อักษรบวรสารสร้อย ศรีสวัสดิ
วนิดานารีรัตน แต่งไว้
ยุบลกลโคลงผลัด เพี้ยนชื่อ
คือไทหลงผจงให้ อ่านอ้าเปนผน ฯ
๏ ฃอแถลงแสดงสร้อย สุภอัษฐ
มธุรศพจนคำพรัด พรอกพร้อง
ไทนับลับฦกฉบัด โดยเลศ
เปนบันเทิงเรื่องร้อง ร่ำเหล้นเปนเขษม ฯ
๏ อักษรทรธรงไว้ โดยขบวน
เล่หเล่นเปนเสสรวน ชื่นช้อย
ลำนำทำสำรวน เร้นซ่อน
ลับฦกตรึกตริถ้อย ยากพ้นคณนา ฯ
๏ ลิขิตอิษเรษไท้ นฤบาล
ฟงงถี่ถ้วนข่าวสาร หนุ่มเหน้า
มรคาทุเรษสถาน ยังลุ ถึงเลย
อำมฤตยรศพจนเจ้า เนิ่นช้าเพื่อใด ฯ
๏ อักษรบวรลักษณล้วน เพลงพาล
ชื่อฤๅษีแปลงสาร สืบไว้
ผลัดเปลี่ยนเพี้ยนกลอนกาล กลายกลับ
สนเท่เล่หลับไท้ อ่านเหล้นเปนเกษม ฯ
๏ ปะ ดิษฐศุภสร้อย อักษร
ถม ปะทุกกลกลอน กล่าวไว้
ก ก้ก่อักษร สามสี่ ห้าแฮ
กา กะบาทบอกให้ เด็กน้อยแรกเรียน ฯ
๏ ปะถมกกาน่าต้น เสือโค
พระสมีมีพุตโต แต่งไว้
หวังสืบพระสาศโน นับท่วน ห้าพรรษ์
ขอเดชจงอย่าได้ ลบล้างเลือนมลาย ฯ

เอกสาร ๓ ฉบับที่ใช้ในการตรวจสอบชำระครั้งนี้ระบุชัดเจนว่าผู้แต่งคือ พระสมีมี คำว่า สมี หรือ พระสมี ในสมัยที่แต่งเรื่องนี้หมายถึงพระภิกษุ นักวิชาการวรรณคดีไทยสันนิษฐานว่า พระสมีมีเป็นบุคคลเดียวกับ “นายมี” “เสมียนมี” หรือ “หมื่นพรหมสมพัตสร” กวีผู้มีชื่อเสียงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

อาจิณ จันทรัมพร และประพนธ์ เรืองณรงค์ กล่าวถึงนายมีไว้ในหนังสือ “นายมี (เสมียนมี) ศิษย์เอกสุนทรภู่ กวีจิตรกรผู้สรรค์ศิลป์แห่งแผ่นดินรัชกาลที่ ๓” ว่า

“นายมีหรือเสมียนมีนอกจากจะได้มีผลงานทางบทกลอน คือได้แต่งนิราศอันโดดเด่นขึ้นไว้ ๔ เรื่อง คือนิราศถลาง นิราศพระแท่นดงรัง นิราศเดือนและนิราศสุพรรณแล้วยังได้แต่งหนังสือซึ่งใช้เป็นแบบเรียนในสมัยนั้นเรื่องหนึ่งนั่นคือ เรื่องทศมูลเสือโค”

(นายมี (เสมียน) ศิษย์สุนทรภู่กวีจิตรกร ผู้สรรค์ศิลป์แห่งแผ่นดินรัชกาลที่ ๓, ๒๕๕๕ : ๑๖๔)

นอกจากนี้ในหนังสือ “นายมี (เสมียน) ศิษย์สุนทรถู่กวีจิตรกรผู้สรรค์ศิลป์แห่งแผ่นดินรัชกาลที่ ๓” ยังอ้างถึงข้อมูลตอนท้ายของหนังสือทศมูลเสือโคว่า

“เรื่องทศมูลเสือโคเล่มนี้รักษ์ที่สุด ข้าพระพุทธิเจ้าบุตรพญาโหราราช มาอภิวาทไว้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทยุคัล ณ วันพุธ แรมสองค่ำ เดือนยี่ ปีจอจุลศักราชพันสองร้อยสัมฤทธิศก ยกขึ้นในวันศรีศุภฤกษ์ โชคอมฤต ซึ่งตื้นและลึกในคำ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดฯ ขอเดชะ”

(นายมี (เสมียนมี) ศิษย์สุนทรภู่กวีจิตรกร ผู้สรรค์ศิลป์แห่งแผ่นดินรัชกาลที่ ๓, ๒๕๕๕ : ๑๖๕)

พระสมีมีแต่งหนังสือ เสือโค ก กา หรือทศมูลเสือโคเมื่อจุลศักราช ๑๒๐๐ ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๘๑ ทั้งหลักฐานดังกล่าวยังระบุว่า ผู้แต่งเป็นบุตรของ “พญาโหราราช” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ประวัติของนายมีไว้ในคำนำหนังสือ “กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งนายมีแต่งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๖ ว่า

“เรื่องเพลงยาวของนายมีมหาดเล็กนี้ ได้ความปรากฏอยู่ข้างท้ายว่าเดิมนายมีเป็นมหาดเล็กช่างเขียน เกิดเบื่อหน่ายวิชาช่าง เห็นว่าตัวชำนาญในทางบทกลอน จึงแต่งเพลงยาวนี้ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเห็นความสามารถในทางกวี เพื่อจะทูลขอไปรับราชการเป็นอาลักษณ์ แต่จะสำเร็จดังความประสงค์หรือไม่นั้นหาปรากฏไม่ เข้าใจว่าไม่สำเร็จ ด้วยนายมีนี้เป็นช่างเขียนที่มีชื่อเสียงครั้งรัชกาลที่ ๓ คนหนึ่ง”

(กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๕๓๐ : พระนิพนธ์คำนำ)

ผลงานที่สำคัญยิ่งเรื่องหนึ่งของนายมีคือนิราศเดือน ซึ่งนักวิชาการวรรณคดีไทยสันนิษฐานว่า นายมีน่าจะแต่งเรื่องนี้ในวัยหนุ่มขณะที่บวชเป็นพระจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ หลังจากนั้นเข้าใจว่านายมีคงจะลาสิกขาไปประกอบอาชีพตามฆราวาสวิสัย ระยะนี้นายมีเป็นช่างเขียนและเป็นเจ้าอากรเมืองสุพรรณบุรี เมื่อเดินทางไปเก็บอากรที่เมืองสุพรรณบุรีได้แต่งกลอนนิราศสุพรรณขึ้น

นายมีเป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งในแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ทรงอธิบายถึงนามช่างที่ปรากฏในตำราไหว้ครูช่างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นว่า

“ได้ยินเรียกกันว่าตามีบ้านบุะ เขียนห้องภูริทัตในพระอุโบสถวัดอรุณ ซึ่งไฟไหม้เสียแล้ว ยังมีขึ้นปูนแตกมีรูปภาพติดดูได้ อยู่ที่วังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ทรงเก็บมารักษาไว้ขึ้นหนึ่ง เปนฝีมือดีในรัชกาลที่ ๓ เหมือนกัน แต่ไม่เอก”

(ประชุมหนังสือเก่าภาคที่ ๒, ๒๕๕๒ : ๒๓)

เมื่อนายมีลาสิกขาจากวัดพระเชตุพนฯ แล้วได้พึ่งบุญเจ้านายพระองค์หนึ่ง และรับพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านบุ ใกล้วัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย ดังในกลอนนิราศสุพรรณว่า

ถึงวัดทองทัศนาดูอาวาส คิดถึงบาทบพิตรเหมือนจิตหวัง
เคยเสด็จมาที่นี่ปีละครั้ง ทั้งเรือดั้งเรือกันเป็นหลั่นไป
ด้วยทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะ ถวายพระกฐินทิพโกไสย
สร้างกุศลต่างต่างทุกอย่างไป ตั้งพระทัยหมายประโยชน์โพธิญาณ
เมื่อข้าบาทบรรพชารักษากิจ ที่สถิตเชตุพนวิมลสถาน
ได้เล่าเรียนเพียรภาวนานาน รับประทานนิจภัตเป็นอัตรา
ครั้นสึกออกจากพระสละวัด เป็นคฤหัสต์ลำบากยากหนักหนา
ได้อาศัยในสมเด็จพระน้องยา ทรงเมตตาโปรดปรานที่บ้านเรือน

(นิราศสุพรรณ, ๒๕๐๖ : ๔)

“สมเด็จพระน้องยา” ในรัชกาลที่ ๓ ที่ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า น่าจะหมายถึง “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์” ซึ่งต่อมาคือ “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”

แม้ว่านายมีจะเป็นศิลปินที่มีความสามารถทั้งทางจิตรกรและกวี สันนิษฐานว่านายมีต้องการมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในเชิงประพันธ์มากกว่าทางช่างเขียน ดังที่นายมีพรรณนาไว้ในกลอนนิราศสุพรรณซึ่งท่านแต่งเมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๗ เมื่อเดินทางผ่านวัดเพลงว่า

มาถึงหน้าวัดเพลงวังเวงจิต นั่งพินิจศาลาที่อาศัย
มีตะพานลูกกรงลงบันได จึงจำได้แน่จิตไม่ผิดเพี้ยน
แต่ก่อนพระวัดนี้ท่านดีมาก ชื่อขรัวนาคช่างฉลาดข้างวาดเขียน
มีคนจำแบบอย่างมาวางเรียน จนช่างเขียนประเดี๋ยวนี้ก็ดีจริง
ทุกวันนี้ฝีมือเขาลือมาก แต่ฝีปากอับชื่อไม่ลือถึง
ไม่มีใครยอยกเหมือนตกบึง ต้องนอนขึงคิดอ่านสงสารตัว
เสียแรงเรียนวิชาสารพัด เที่ยวหยิบยัดยกใส่ไว้ในหัว
เหมือนมณีสีอับพยับมัว จะเอาตัวเห็นไม่รอดตลอดไป

(นิราศสุพรรณ, ๒๕๐๖ :๖)

นายมีคงจะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้งหนึ่ง หลังจากพุทธศักราช ๒๓๘๗ แต่ไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่า ท่านอุปสมบทในปีใด และจำพรรษาอยู่ที่ใด ปรากฏหลักฐานในเสือโค ก กา ว่า “พระสมีมี” เป็นผู้แต่ง ส่วนจุดประสงค์ในการแต่งก็ระบุว่า แต่งถวายเป็นแบบเรียนสำหรับราชกุมารและเฉลิมพระเกียรติเป็นศรีสง่าของบ้านเมือง

๏ ไว้ให้พระหน่อ  
เยาวเยาวลออ แต่พอเล่าจำ
ให้ฬ่อพระไท ที่ในลำนำ
สาราที่ทำ ให้นำปรีชา

และ

สิ้น อักษรสืบสู้ พยายาม
สุด คิดสุดค้นความ ยากแท้
สมุด เขียนประดิษฐ์ตาม สติ เชาว์นา
แต่ง ถวายให้แผร้ พระเกียรติท้าวเฉลิมเมือง

อนึ่งในรัชกาลที่ ๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปริวิตกถึงพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ว่า ไม่ทรงมีความรู้ในเชิงอักษรศาสตร์และการกวี ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือจินดามณี เล่ม ๒ พระนิพนธ์ในกรมหลวงวงษาธิราชสนิทว่า

๏ พระทรงอาโภคด้วย เอารส ราชฤๅ
ไป่เชี่ยวไป่ชาญพจน์ พากย์พร้อง
เลบงแบบแยบอย่างบท กลอนกาพย์ โคลงนา
จึงเร่อมรินิพนธ์ต้อง ฉบับตั้งงแต่เพรง ฯ

(จินดามณี เล่ม ๑ - ๒ กับบันทึกเรืองหนังสือจินดามณี และจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ, ๒๕๐๔ : ๑๐๘)

กระทั่งวันพุธเดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๙๒ มีรับสั่งให้พระราชโอรสเล่าเรียนคัมภีร์วุตโตทัยซึ่งเป็นตำราการประพันธ์ในสมัยนั้น

๏ จวบจุลศักราชถ้วน พันอุไภย ร้อยฤๅ
สิบเอ็ดรกาศกไสมย ลุะแล้ว
วิสาขมาสดฤถีไตร กาฬปักษ์ ปางพ่อ
วารพุฒมกุฏกรุงแก้ว โอษฐเอื้อนโองการ ฯ
๏ สารส่งงสุริยชาติถ้วน ขัติโย รสฤๅ
เรียนเรียบพจน์พฤตโต พากย์อ้าง
จงเฉลียวลักษณในโว หารแห่ง ปราชญ์เฮย
ผดุงพระเกียรดิสืบสร้าง เฟื่องฟื้นฟูไผท ฯ

(จินดามณี เล่ม ๑ - ๒ กับบันทึกเรืองหนังสือจินดามณี และจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ, ๒๕๐๔ : ๑๐๙)

ครั้งนั้นกรมหลวงวงษาธิราชสนิท เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวงษาสนิทซึ่งทรงเป็นศิษย์ในกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์ “จินดามณี เล่ม ๒” ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นแบบเรียนสำหรับพระราชโอรสสนองพระราชปรารภ

๏ กรมวงษาสนิทอ้าง นามเสนอ
นิพนธ์พจน์โดยอำเภอ พจน์รู้
ปองเปนประโยชน์เผยอ พระยศหน่อ นเรศร์ฤๅ
รงงรักษ์อักษรกู้ กอบไว้เฉลอมเวียง ฯ

(จินดามณี เล่ม ๑ - ๒ กับบันทึกเรืองหนังสือจินดามณี และจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ, ๒๕๐๔ : ๑๐๙)

จะเห็นว่าพระสมีมีแต่งเสือโค ก กา ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนยี่ สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ ต่อมาจึงมีรับสั่งให้พระราชโอรสเล่าเรียนคัมภีร์วุตโตทัยเมื่อเดือน ๖ เอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ แต่จะโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เสือโค ก กา ที่พระสมีมีแต่งถวายเป็นหนังสือเรียนสำหรับพระราชโอรสหรือไม่นั้น ไม่ปรากฏหลักฐาน

ผลงานการประพันธ์ของนายมี หรือพระสมีมี ได้แก่ นิราศถลาง นิราศเดือน นิราศสุพรรณ นิราศพระแท่นดงรัง กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากที่กล่าวแล้วยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ เช่น สุบิน ก กา และศรีสวัสดิวัด ทั้ง ๒ เรื่องยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์จะตรวจสอบชำระเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่อไป

  1. ๑. นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เรียบเรียง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ