คำนำ

นายเชิด บุนนาค เนติบัณฑิต มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ ว่ามีความศรัทธาพร้อมใจกับนางสอาด วิชิตสุรไกร ผู้มารดา จะรับพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครเปนของแจกในการปลงศพ รองอำมาตย์โท หลวงวิชิตสุรไกร (ไชยมงคล บุนนาค) ผู้บิดา สักเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้

เมื่อนายเชิด บุนนาค มาแจ้งความ พอประจวบเวลาข้าพเจ้าตรวจพบเรื่องหนังสือในหอพระสมุดจำพวก ๑ ซึ่งคิดเห็นว่า ถ้ารวบรวมพิมพ์ก็เห็นจะชอบใจของผู้อ่าน หนังสือพวกที่กล่าวนี้ คือ เรื่องไปเที่ยวที่ต่าง ๆ เที่ยวตามหัวเมืองในพระราชอาณาจักรสยามก็มี เที่ยวตามเมืองต่างประเทศก็มี เรื่องเหล่านี้สมาชิกหอพระสมุดได้แต่งส่งมาให้พิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณแต่ก่อน มีตั้งแต่พระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์พระบรมวงษานุวงษ์ ตลอดจนเปนโวหารข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ผู้แต่งล่วงลับไปแล้วก็มี ที่ยังอยู่ก็มาก หนังสือพวกนี้เมื่อพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ พิมพ์แยกย้ายปะปนอยู่กับเรื่องอื่น ๆ หลายเล่ม หลายตอน แลพิมพ์มาช้านานแล้ว นักเรียนในชั้นหลังมาน่าจะไม่ใคร่มีใครได้เคยอ่าน ถึงผู้ที่ได้เคยอ่านก็เห็นจะลืมกันเสียแล้วโดยมาก แต่ตัวข้าพเจ้าได้แต่งเองบางเรื่องยังลืมสนิท ต่อมาค้นพบเห็นชื่อของตนจึงนึกได้ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า ถ้ารวบรวมหนังสือพวกนี้พิมพ์ขึ้นสมุดให้เปนหมวดหมู่โดยเฉภาะเห็นจะเปนประโยชน์แก่ผู้อ่าน ทั้งที่จะได้ทราบสำนวนต่าง ๆ ในทางวรรณคดี แลจะได้รู้เรื่องราวกล่าวพรรณาถึงประเทศสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งผู้แต่งได้ไปรู้เห็นมาด้วยตนเอง เปนเครื่องประดับสติปัญญาของผู้อ่านในทางความรู้ด้วยอิกสถาน ๑

หนังสือจำพวกที่กล่าวนี้ ข้าพเจ้าจะขนานนามเรื่องเรียกรวมกันว่า “เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ” การรวบรวมพิมพ์เปนเล่มสมุดจะจัดเปนหลายภาคให้เหมาะแก่ประโยชน์ของผู้ที่รับพิมพ์ แลจะรวบรวมให้เปนหมวดหมู่กันตามประเทศฤาทิศของทางที่เที่ยว พิมพ์เปนภาค ๆ จะได้ค้นหาเรื่องได้ง่ายในภายน่า เล่มนี้นับเปนภาคที่ ๑ มีเรื่องอธิบายประโยชน์ของการเที่ยว ข้าพเจ้าแต่งเองเมื่อปีมเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ เรื่อง ๑ เรืองเที่ยวทเลตวันออก พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงนิพนธ์ เมื่อปีมแม พ.ศ. ๒๔๓๘ เรื่อง ๑ เรื่องเที่ยวธารน้ำตก “เจ้าอนัมก๊ก” ที่เกาะกูดอันอยู่ในทเลตวันออกเหมือนกัน เปนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ทรงนิพนธ์เมื่อปีมแม พ.ศ. ๒๔๓๘ เรื่อง ๑ รวมในภาคที่ ๑ นี้มี ๓ เรื่องด้วยกัน ถ้ามีผู้ศรัทธารับพิมพ์ ก็จะจัดเรื่องรวมพิมพ์เปนภาค ๆ ต่อไปโดยทำนองนี้ จนหมดเรื่องเที่ยวที่มีอยู่ในหนังสือวชิรญาณเก่า หวังใจว่าจะเปนหนังสือประเภท ๑ ซึ่งผู้อ่านคงจะพอใจมีไว้ในห้องสมุดของตน

หนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ ๑ นี้ พิมพ์แจกในงานศพหลวงวิชิตสุรไกร ( ไชยมงคล บุนนาค) ข้าพเจ้าได้คุ้นเคยกับหลวงวิชิตสุรไกร ทราบประวัติอยู่บ้าง จะเรียบเรียงประวัติต่อไปในท้ายคำนำนี้พอเปนที่รฦกอยู่แก่ญาติมิตร แลเปนสังเวควัตถุวิปัสนานัยแก่ท่านทั้งหลายที่จะะได้รับสมุดเล่มนี้ไปอ่าน ฯ

ประวัติหลวงวิชิตสุรไกร

หลวงวิชิตสุรไกร ชื่อ ไชยมงคล บุนนาค เกิดในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวัน ๗ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๓๔ พ.ศ. ๒๔๑๕ เปนบุตรพระยาราชพงษานุรักษ์ (ชม บุนนาค) ท, จ. ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทสงคราม พระยาราชพงษานุรักษ์ เปนบุตรพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชุ่ม บุนนาค) ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์ เจ้าคุณหญิงเป้า บุนนาค ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เปนมารดา พระยาราชพงษานุรักษ์ ทำวิวาหมงคลกับคุณหญิงสวาดิราชพงษานุรักษ์ ธิดาพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เกิดบุตรธิดาด้วยกัน คือ นางประชุม จ,จ. เปนภรรยานายเชียร บุนนาค ยุตรพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น บุนนาค) ๑ แลหม่อมเชื้อ ในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ๑ หลวงวิชิตสุรไกร (ไชยมงคล บุนนาค) ๑

หลวงวิชิตสุรไกร (ไชยมงคล บุนนาค) ถวายตัวเปนมหาดเล็กวิเศษอยู่ในเวรฤทธิเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนที่หลวงวิชิตชลไชย ผู้ช่วยราชการจังหวัดสมุทสงคราม เมื่อบิดาถึงอนิจกรรม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้า สำหรับตระกูลพระยาราชพงษานุรักษ์ (ชม บุนนาค) แลต่อมาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์, อิกอย่าง ๑

หลวงวิชิตชลไชย เปนผู้มีความพิการด้วยสายตาสั้น แลเห็นณนัดแต่ใกล้ ๆ ถ้าห่างไกล แม้ใช้เว่นตาก็แลไม่เห็นชัดได้ดังผู้อื่น ได้พยายามรักษามาเท่าไรก็ไม่คลาย ครั้นเห็นจะรับราชการหัวเมืองไม่ได้ จึงขอย้ายเข้ามารับราชการในกรุงเทพ ฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรเช่นหลวงวิชิตสุรไกร มีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๕

เวลาเมื่อข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นหลวงวิชิตสุรไกร พยายามเข้ามารับราชการในศาลาลูกขุนไม่ขาด อยู่คราว ๑ ไม่ได้ถือตัวว่าจะต้องมีตำแหน่งแห่งที่อันใดๆ ทำการอย่างใด ผลประโยชน์จะได้ฤๅไม่ได้ก็ไม่ว่า ขอแต่ให้ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณให้เปนชื่อเสียงในวงษ์สกุล จนผู้ซึ่งร่วมราชการทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยพากันชมความอุสาหะ แต่หากความทุพลภาพของตนเองกีดกันมิให้ทำการงานได้ดังใจสมัค ต่อมายังเกิดโรคในตัวด้วยวักกะพิการทุพลภาพหนักลง ไม่สามารถจะเข้ามารับราชการได้ จึงออกไปพักรักษาตัว อาการทรงอยู่บ้าง ทรุดลงบ้าง เจ็บอยู่หลายปีจึงถึงแก่กรรม เมื่อณวันที่ ๘ มกราคม ปีมเสง พ.ศ. ๒๔๖๐ คำนวณอายุได้ ๔๕ ปี

หลวงวิชิตสุรไกร มีบุตรธิดาด้วยนางสอาด วิชิตสุรไกร บุตร ๓ ธิดา ๑ บุตรคนใหญ่ ชื่อนายเชิด เปนเนติบัณฑิต รับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในกระทรวงยุติธรรมในเวลานี้

ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในกุศลบุญราษี ซึ่งนางสอาด วิชิตสุรไกร แลนายเชิด บุนนาค เนติบัณฑิต ได้บำเพ็ญในการปลงศพสนองคุณหลวงวิชิตสุรไกร แลที่พิมพ์หนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคนี้ให้แพร่หลาย เชื่อว่าท่านทั้งปวงผู้ที่ได้รับแจก แลได้พบอ่านหนังสือเล่มนี้ คงจะอนุโมทนาทั่วกัน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ