ศรีสวัสดิ์วัด

๏ ๑๑ ๏

ขอน้อมประนมหัตถ์ รัตนตรัยชุดาญาณ
นบนิ้วพระอาจารย์ พระชนกแลชนนี
ขอคุณประมูลมวล พรพิพัฒน์สวัสดี
สิริสุขกระเษมศรี บริวารนานา
ขอคิดประดิษฐ์คำ มธุรสสารา
ไว้สืบพระศาสนา ปรโลกยเล็งยล
เป็นสารสุภาษิต วรกิจจสืบกล
กุลบุตรที่ปุถุชน ปฏิสนทนานัย
จักได้ประพฤติตาม ลิขิตเรื่องประดับสมัย
ทุกข์สุขประเภทภัย ก็จะแจ้งประจักษ์ความ
ชื่อศรีสวัสดิ์วัด อนุญาตประญัตินาม
ขอให้เจริญงาม ยุติชั่วพุทธันดร
ขอคุณพระไตรรั- ตนเจ้าสโมสร
ปกครองลิขิตกลอน วรวัฒนาการ
ขอเทพยเจ้า ทั่วโลกยช่วยพยาบาล
เชิญสิงสถิตศาล อนุเคราะห์ประจำเรียง
ขอเดชะภินิหาร อธิษฐานประกาศเสียง
ด้วยสัตยประเดียง สิทธิเมอย่าเปรปรวน ฯ

๏ ๒๘ ชื่อกาพย์สุวรรณมาลา ๏

๑๐ ดูรากุมาร  
จงมาเล่าอ่าน ในสารทั้งมวล
ไว้สั่งสอนใจ อย่าได้เรรวน
ถ้อยคำน้ำนวล แต่ล้วนคำครู
๑๑ จำไว้ให้แน่  
อย่าเบือนเชือนแช เกลื่อนกลบลบหลู่
เร่งพิจารณา ปากว่าตาดู
อย่าทำพร่ำพรู หูฟังตั้งใจ
๑๒ อย่าฟังแต่กลอน  
จงจำคำสอน อย่างงหลงใหล
อย่าทำซุกชน เล่ห์กลโหดไร้
เล่าเรียนอะไร เอาแต่ใจเอง
๑๓ มาอยู่กับครู  
ไม่เล่าเรียนรู้ ดีแต่โฉงเฉง
ครูสอนเช้าค่ำ ไม่จำยำเกรง
เป็นคนหลงเอง เอาแต่สบาย
๑๔ เวลาขบฉัน  
กับปีย์จังหัน ไม่หาถวาย
น้ำใช้น้ำฉัน สารพันดูดาย
จนเที่ยงจนสาย มิใคร่นำพา
๑๕ เที่ยวไปไม่อยู่  
ต่อไก่ไล่หมู วิ่งไปวิ่งมา
หนังสือทิ้งไว้ มิได้ศึกษา
ก ข ก กา เลอะเข้าหากัน
๑๖ ไม่เรียนเขียนอ่าน  
ครูบาว่าขาน ไม่จำสำคัญ
ครูไล่หนังสือ ดึงดื้อดุดัน
ครูขู่ตีรัน ลงทำหน้าเซียว
๑๗ ครูกักตัวไว้  
ไปไหนไม่ได้ แลดูไม้เรียว
คิดอ่านมารยา ลาไปขี้เยี่ยว
แกล้งคิดบิดเบี้ยว บ่ายเบือนเชือนแช
๑๘ ครูรู้ครูตี  
คอยได้ท่วงที หนีไปฟ้องแม่
นินทาอาจารย์ ท่านพาลรังแก
ขี้อ่อนขี้แก่ เล่าให้แม่ฟัง
๑๙ เอาแต่ความชั่ว  
ยกใส่โทษขรัว กล่าวร้ายภายหลัง
ปะพ่อแม่ดี เขามิอินัง
พาตัวเก้กัง มาส่งอาจารย์
๒๐ ตีกันวุ่นวาย  
แช่งให้ครูตาย จะได้ไปบ้าน
ลางแห่งพ่อแม่ ฟังแต่กุมาร
กล่าวโทษอาจารย์ เชื่อถือว่าจริง
๒๑ ไปไว้ครูอื่น  
เป็นคนบ้องตื้น ไม่ตรึกนึกกริ่ง
ปะครูตีรัน ลูกก็พันสุงสิง
พากันยุ่งยิ่ง เร่วัดซัดไป
๒๒ นับครูไม่ถ้วน  
ลูกเจ้ากระบวน เกิดกวนน้ำใจ
ขนเอาแต่โง่ จนโตโต้งใหญ่
เขามักว่าไว้ โง่สำหรับวัด
๒๓ ปะครูโล้เล้  
ลูกศิษย์เกเร ไปไหนไม่ขัด
ครูพาลศิษย์พาล ไม่ทานไม่ทัด
เที่ยวตามถนัด ไม่ขัดน้ำใจ
๒๔ อยู่จนโตโต้ง  
บวชเป็นเณรโค่ง ไม่เกรงกลัวใคร
กินแต่เข้าค่ำ ทำกรรมลักไก่
ไก่หือไม่ได้ ลักกินสิ้นเตียน
๒๕ กลายเป็นหัวไม้  
ใครว่าขัดใจ สร้างไม้ตีเศียร
สี่เหลี่ยมแปดเหลี่ยม ถือแอบแนบเนียน
เที่ยวไล่เบียดเบียน สงฆ์เถรเณรชี
๒๖ ท่านเป็นนักปราชญ์  
เทศน์ได้กระจาด เครื่องกัณฑ์อันดี
คอยวิ่งชิงฉวย กล้วยส้มอันมี
ราวกับพวกผี เปตรวิ่งชิงกิน
๒๗ เห็นศิษย์ท่านงาม  
ติดต้อยห้อยตาม เหมือนควายได้กลิ่น
ปราศรัยไค้แคะ และโลมโฉมฉิน
ถ้าเด็กไม่ยิน เดือดดิ้นด่าทอ
๒๘ คบเพื่อนเกลื่อนไป  
ดูหนังดอกไม้ ตามกันสอสอ
ตีเขาจับได้ เอาค่าใส่คอ
ร้อนถึงแม่พ่อ ครูบาอาจารย์
๒๙ เขาจับตัวไป  
ขนฟืนลากไม้ ได้ความรำคาญ
สาระพาเฮโล ล่ามโซ่ประจาน
เพราะตนคนพาล ไม่จำคำครู
๓๐ ถึงโดยหลบได้  
เขาไม่จับไป ก็ไม่เฟื่องฟู
ครั้นสึกออกไป ตนไม่เรียนรู้
อัปยศอดสู เพื่อนบ้านเรือนตน
๓๑ ถึงรูปตนงาม  
สูงศักดิ์วงศ์นาม ไม่รู้เทียมคน
จะพายศศักดิ์ สูญจากสกนธ์
เพราะตนมืดมน จนใจไปเอง
๓๒ คิดผิดเป็นชอบ  
ไม่สมประกอบ เป็นคนเส็งเครง
สูบฝิ่นกินเหล้า ถือเผ่านักเลง
ชมแต่ตนเอง เหมือนหนึ่งไส้เดือน
๓๓ ปลอกปลิ้นลิ้นล่อ  
ขี้หกกฉ้อ ไม่มีใครเหมือน
ทรัพย์สินแม่พ่อ ไม่หลอติดเรือน
ลักไปสู่เพื่อน ไขว้เขวจำนำ
๓๔ พ่อแม่สอนสั่ง  
ขึ้นเสียงเถียงดัง กลับพูดแดกตำ
ตีขลุมคุมเหง ไม่เกรงบาปกรรม
เหล่าเผ่าโกลำ เสียทีเกิดมา
๓๕ เสียแรงพ่อแม่  
ฟูมฟักอักแอ พิทักษ์รักษา
เอาแต่น้ำใจ มิได้พึ่งพา
ไม่รู้จักว่า บาปกรรมฉันใด
๓๖ เสียแรงมาอยู่  
ในสำนักครู ท่านรู้วินัย
เหมือนอยู่ใกล้เกลือ ให้เนื้อเน่าไป
เหมือนกบอยู่ใต้ ดอกอุบลบาน
๓๗ ห่อนรู้จักรส  
เกสรบัวสด รสอันหอมหวาน
นี่แลสูเจ้า ทั้งหลายได้อ่าน
เช่นนี้สาธารณ์ อย่าได้ถือเอา
๓๘ ชั่วหน้าชั่วนี้  
บได้มีดี แต่เท่าไข่เหา
บาปกรรมทำไว้ ตามตนกลเงา
เจ้าอย่าโฉดเขลา เหมือนคำร่ำมา ฯ

๏ ๑๑ ชื่อกาพย์สารวิลาสินี ๏

๓๙ เจ้าจงมานะเรียน หมั่นขีดเขียนในสารา
เมื่อน้อยเรียนวิชา ธรรมเนียมมาแต่โบราณ
๔๐ ครั้นใหญ่ให้หาทรัพย์ ควรคำนับเป็นแก่นสาร
เร่งเรียนวิชาการ จงทรมานกายแลใจ
๔๑ วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป จึงจะได้วิชามา
๔๒ จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา
ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ
๔๓ นิ้วเป็นสายระยาง สองเท้าต่างสมอใหม่
ปากเป็นนายงานไป อัชฌาสัยเป็นเสบียง
๔๔ สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง
ถือไว้อย่าให้เอียง ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา
๔๕ ปัญญาเป็นกล้องแก้ว ส่องดูแถวแนวหินผา
เจ้าจงเอาหูตา เป็นล้าต้าฟังดูลม
๔๖ ขี้เกียจคฤๅปลาร้าย มากล้ำกรายให้เรือจม
เอาใจเป็นปืนคม ยิงระดมให้จมไป
๔๗ จึงจะไปได้สินค้ามา คือวิชาอันพิสมัย
เจ้าจงตั้งจิตใจ อย่าได้คร้านการวิชา
๔๘ อดเปรี้ยวได้กินหวาน เอาอย่างท่านพระครูบา
สู้ยากพากเพียรมา หลายวสาอุส่าห์เพียร
๔๙ สู้ยากลำบากกาย ไม่เหนื่อยหน่ายในเล่าเรียน
ท่านรู้กว่าเล่มเกวียน ท่านยังเวียนดูบาลี
๕๐ รุ่งรางครองจีวร ภิกขาจรจากกุฎี
ฉันแล้วจับคัมภีร์ อยู่กับที่เอนอิงกาย
๕๑ อุส่าห์บอกบาลี แก่พระสมีเณรทั้งหลาย
จนเที่ยงจึงเคลื่อนคลาย เพลแล้วบ่ายลงชายตา
๕๒ ซ้ำสอนกระหัสถ์เณร เล่าสูตรเกณฑ์ทั้งซ้ายขวา
ครั้นค่ำย่ำเวลา ไม่นิทรากว่าสองยาม
๕๓ ตามไฟไว้ข้างที่ ดูบาลีแปลเนื้อความ
บางที่พระมีนาม ไปเทศน์ตามเขานิมนต์
๕๔ ใกล้ไกลมิได้ขัด ประนิบัติตามทศพล
เที่ยวสอนประชาชน บำเพ็ญผลโพธิญาณ
๕๕ เจ้าไทท่านอดเหนียว คืออดเปรี้ยวได้กินหวาน
สู้ยากทรมาน หมายนิพพานนั้นฝ่ายเดียว
๕๖ นี่แลเจ้าจงดู อย่างพระครูอันปราดเปรียว
ความเพียรท่านมากเจียว จึงเชี่ยวชาญการบาลี
๕๗ เหมือนหนึ่งสุริยัน เมื่อกลางวันเที่ยงรัศมี
ส่องแสงแจ้งธาตรี ตัวเจ้านี้เหมือนอุทัย
๕๘ แม้นเจ้าหมั่นเล่าเรียน ตั้งพากเพียรตะบึงไป
ทรมานซึ่งจิตใจ ใหญ่จะได้เหมือนพระครู
๕๙ เมื่อแรกเรียนแลเจ้า ให้ง่วงเหงาเกาหัวหู
มืดมัวทั่วชมพู ครั้นรู้เข้าเบาใจตน
๖๐ เหมือนกินอ้อยเบื้องปลาย กัดลามไล่ไปถึงต้น
เมื่อแรกจืดเจือปน ครั้นถึงต้นหวานเพลิดเพลิน
๖๑ เหมือนกันนั่นแลเจ้า จงถือเอาอย่าห่างเหิน
เล่าเรียนอย่าละเมิน จะเพลิดเพลินในวิชา
๖๒ เจ้าอย่าทำโหดหืน เรียนตื้นตื้นแล้วร้างรา
ขุดบ่อล่อคงคา จงอุส่าห์ขุดลงไป
๖๓ ตื้นตื้นน้ำไม่มี ต่อถึงที่น้ำจึงไหล
ตักกินสำราญใจ ก็อาศรัยแก่ความเพียร
๖๔ ถึงว่าปัญญาดี มิได้มีความเพียรเรียน
ดีแต่เที่ยวแวะเวียน ไม่หมั่นเพียรเรียนวิชา
๖๕ ที่ไหนจะได้รู้ ถือว่ากูมีปัญญา
ถึงเที่ยวจำเขามา ถึงว่ารู้ไม่สู้ดี
๖๖ ความรู้เหมือนแก้วแหวน ท่านหวงแหนแสนทวี
แม้นใครความเพียรมี ตั้งภักดีไหว้บูชา
๖๗ ท่านจึงจะบอกให้ เป็นนิสัยสืบสืบมา
แต่ครั้งพระจักรา เป็นรามาเจ้าธานี
๖๘ ไปเรียนแผลงธนู ด้วยพราหมณ์ครูผู้มนตรี
ชื่อขมังธนูดี คือบิดากุขันธ์พราหมณ์
๖๙ นารายณ์ต้องนบนอบ ครูจึงมอบวิชางาม
แม้นมิคำรพนาม พราหมณ์ไม่บอกวิชาชาญ
๗๐ เยี่ยงอย่างใช่เท่านี้ เรื่องบาลีก็วิถาร
อมอำวิชาการ ชื่อภูบาลท้าวอุเทน
๗๑ หน่อเนื้อกระษัตรา มีวิชาอันจัดเจน
ร่ายมนตร์ประกาศเกณฑ์ เรียกคเชนทร์ดังจินดา
๗๒ ท้าวจัณฑประโชติ หวังประโยชน์ในมนตรา
ใช้กลยกโยธา จับพญาอุเทนไป
๗๓ อยากได้ในวิชา จะเข่นฆ่าก็อาลัย
ตรัสกับอุเทนไท เรานี้ไซร้ใคร่เรียนมนตร์
๗๔ อุเทนทูลสนอง พระคิดปองวิชากล
แม้นท้าวไม่ถือตน จะเรียนมนตร์ต้องนบครู
๗๕ ท้าวจัณฑประโชติ ทรงพิโรธเร่งอดสู
ว่าท่านอำความรู้ ท่านจะสู้มรณา
๗๖ แม้นท่านบอกมนตร์ให้ จะปล่อยไปไม่สังขาร์
อุเทนตอบบัญชา ไม่วันทาไม่บอกมนตร์
๗๗ จะฆ่าก็จงฆ่า จะก้มหน้าสู้เสียชนม์
ผู้ดีมีฤๅจน ยอมตนไหว้จึงได้เรียน
๗๘ นี่แลเจ้าทั้งหลาย จงขวนขวายตั้งพากเพียร
นบครูให้แนบเนียน จึงเรียนได้วิชาดี
๗๙ เจ้าเป็นชาติเชื้อชาย ความละอายเจ้าจงมี
ความรู้ชูราศี เป็นสัตรีรูปเป็นทรัพย์
๘๐ ชาติชายถึงรูปงาม วิชาทรามก็ตกอับ
เป็นคนตกฦกลับ ใครจะนับว่าตนดี
๏ เหมือนหนึ่งดอกชะบา เห็นต้องตาก็แต่สี
กลิ่นอายมิได้มี เหมือนคนที่วิชาทราม
๘๒ อบเชยรากฝังดิน มีกลิ่นหอมย่อมฦๅนาม
เหมือนคนรูปไม่งาม มีความรู้ชูศรีตน
๘๓ วิชาอย่าสงสัย เรียนไว้ได้จะให้ผล
สำหรับแก้อับจน จะรอดตนด้วยวิชา
๘๔ รู้ใดให้รู้แท้ อย่ารู้แต่งูงูปลาปลา
รู้แท้อย่าสงกา ไปเบื้องหน้าจะเห็นคุณ
๘๕ ความรู้นี้คู่ยาก ได้เลี้ยงปากเป็นต้นทุน
ถึงโดยจะสถุล บุญตนน้อยเป็นพิการ
๘๖ คงมีซึ่งศิษย์หา จะนับหน้าเป็นอาจารย์
จะค่อยได้สำราญ เหมือนนิทานมะหะลี
๘๗ ตาบอดมีความรู้ หมู่กระษัตริย์ธิบดี
ทั่วทั้งไพศาลี เข้ามาเพียรเรียนวิชา
๘๘ อีกมุขหนึ่งนายเปลี้ย เป็นคนเสียเข่าแข้งขา
ถัดอยู่กับสุธา มีวิชาดีดกรวดดี
๘๙ มือแม่นเหมือนใจคิด ดีดไม่ผิดเลยสักที
ดีดใบไม้ให้รอยมี เป็นรูปหมีเม่นโคควาย
๙๐ เด็กเด็กชอบใจชม ให้ขนมของทั้งหลาย
นายเปลี้ยได้เลี้ยงกาย ด้วยลายมือดีดให้ดู
๙๑ ทราบถึงกระษัตรา ด้วยวิชาอันเฟื่องฟู
ตั้งเป็นราชครู ด้วยความรู้อันจัดเจน
๙๒ นี่แลเจ้ากุมาร วิชาการยกเป็นเกณฑ์
ศิษย์วัดแลเณรเถร ถือเป็นครูรู้จงจำ
๙๓ เรียนได้อย่าละเสีย เรื่องบายเปลี้ยอย่าลืมคำ
เรียนได้ให้แม่นยำ บ่นร่ำซ้ำให้ชำนาญ
๙๔ นั่งนอนแลยืนเดิน อย่าละเมินวิชาการ
ตรึกไว้ในสันดาน จะเชี่ยวชาญด้วยตรึกตรอง
๙๕ หนังสือภาษาไทย สอนกันได้ดั่งใจปอง
เจ๊กแขกแปลกทำนอง เรียนรู้ต้องจ้างออนครู
๙๖ ต้องคิดเงินเดือนให้ เงินเป็ดไก่เหล้าเข้าหมู
นี่เจ้ามาเรียนรู้ กับพระครูผู้สังวร
๙๗ มิได้เสียสินจ้าง ท่านบ่ร้างสู้สั่งสอน
ลางศิษย์นั้นมารดร ทุนรอนนั้นพันธุ์มั่งมี
๙๘ ศรัทธามีแตใจ ลูกฝากไว้ส่งกัปปีย์
พอคุ้มทุนพระชี บ้างตระหนี่มิใคร่มา
๙๙ ลางคนจนจริงจริง ทิ้งลูกไว้กับครูบา
ตัวไปเที่ยวขายค้า ครูต้องหามาเลี้ยงดู
๑๐๐ เทศน์ได้พอยังชั่ว ค่อยเบาตัวท่านขรัวครู
หาไม่ก็เจ้ากู เป็นเจ้าสู้บินฑบาตมา
๑๐๑ ได้น้อยค่อยออมฉัน สู้อดกลั้นเผื่อศิษย์หา
มาอยู่กับครูบา เรียนวิชาครูเปลืองทุน
๑๐๒ หาไหนได้เช่นนี้ เหมือนพระชีผู้มีคุณ
ใจท่านมั่นหมายบุญ การุณย์เจ้าดังเผ่าปราณ
๑๐๓ แม้นเจ้าไปหัดปรือ เรียนหนังสือพวกโรงศาล
กว่าจะรู้ชำนาญ เขาใช้งานไม่มีเบา
๑๐๔ ให้แบกสมุดเข้าวัง เดินตามหลังดังข้าเขา
พินอบทำพิเทา ต้องเอาใจดังนายมุล
๑๐๕ ถือชุดถือกล้องล่วม กินนอนร่วมลูกสถุล
หยาบช้าล้วนทารุณ ต่อยกันวุ่นกับข้าไท
๑๐๖ กินกริบกินกรอบกรัง จะนอนนั่งไม่ผ่องใส
ลูกเมียของครูใช้ ทุกสิ่งไปได้รำคาญ
๑๐๗ ถึงว่าปัญญาตี รู้วิธีพวกโรงศาล
แต่หากนิสัยพาล เป็นมารยาพิรากล
๑๐๘ เบียดเบียนลูกความกิน พูดปลอกปลิ้นลิ้นลาวน
ล่อนล่อนพอเลี้ยงตน เห็นแต่ผลประจุบัน
๑๐๙ อดีตอนาคต มืดมัวหมดด้วยโมหันธ์
รู้แต่เบียดเบียนกัน ไม่รู้ชั้นเชิงบาปบุญ
๑๑๐ ไม่เหมือนหนึ่งอยู่วัด ปรนนิบัติสงฆคุณ
ไปอยู่ศาลลูกขุน นั้นมีคุณแต่เลี้ยงตน
๑๑๑ ไม่เห็นภัยข้างหน้า เมื่อหลับตาตายวายชนม์
มิได้เป็นภัพผล สิ้นบุญตนก็สูญกัน
๑๑๒ มาอยู่วัดนี้โสตถิ์ รู้คุณโทษทุกสิ่งสรรพ์
อนาคตปัจจุบัน อดีตนั้นก็เป็นคุณ
๑๑๓ แจ้งความสามประเภท จงแจ้งเหตุอย่าหวนหุน
พระชีนี้ใจบุญ มีพระคุณล้นคณนา
๑๑๔ ชาวเจ้ามาอยู่ด้วย ท่านก็ช่วยเลี้ยงรักษา
พระผู้ทรงศีลา บุตรภรรยาท่านไม่มี
๑๑๕ ไม่เหมือนหนึ่งโรงศาล ลูกเมียท่านวานจู้จี้
เจ้าอยู่กับพระชี กินนอนมีแต่เพื่อนกัน
๑๑๖ ลูกทาสนั้นไม่มี ล้วนแต่ดีมีเผ่าพันธุ์
ถึงโดยจะเดียดฉัน ชกด่ากันไม่เจ็บใจ
๑๑๗ ไม่เหมือนหนึ่งข้าด่า หนึ่งนั้นหนาพระครูไท
ไปฉันไปเทศน์ไหน เจ้าตามไปก็ดูงาม
๑๑๘ หน้าตามีราศี เป็นที่รักน่าทักถาม
จะเดินถือพัดตาม ฤๅถือย่ามแบกคัมภีร์
๑๑๙ สมรูปเจ้าน้อยน้อย เดินต้อยต้อยตามพระชี
ใครเห็นก็ปรานี ชมว่าดีน่าเอ็นดู
๑๒๐ บิดามารดาเจ้า จึงได้เอามาฝากครู
หวังใจให้เฟื่องฟู ให้เรียนรู้ในพระชี
๑๒๑ หมายใจจะได้พึ่ง อย่าดื้อดึงให้ท่านตี
ทำดีท่านก็ดี เหมือนฤๅษีเธอเลี้ยงลิง
๑๒๒ ด้วยเจ้าเยาว์กุมาร มีสันดานพาลสุงสิง
ไม่ดีท่านตีจริง ท่านยิ่งนิ่งยิ่งหนักไป
๑๒๓ มิตีก็จำตี ด้วยปรานีมีอาลัย
เจ้าอย่าได้น้อยใจ โกรธเจ้าไทว่าด่าตี

๏ ชื่อกาพย์ฉันทฉบำ ๏

๑๒๔ เป็นธรรมดาอาจารีย์ ทั่วโลกย์อันมี
อาญานั้นต่างต่างกัน  
๑๒๕ กระษัตริย์ต้องมีราชทัณฑ์ เฆี่ยนฆ่าตีรัน
เช่นนั้นจึงไม่อันตราย  
๑๒๖ นายม้าย่อมมีแส้หวาย นายเกวียนโคควาย
อาญากระตักติดมือ  
๑๒๗ แม้นไม่ข่มขี่หัดปรือ ตามใจแล้วคือ
แกล้งชังจะให้เสียปราณ  
๑๒๘ ธรรมเนียมมีแต่โบราณ เล่าเป็นนิทาน
ทำนุกทำเนียบอาญา  
๑๒๙ ป่างหลังยังมีสิทธา อยู่ในศาลา
สถิตประเทศอารัญ  
๑๓๐ กระษัตริย์เคยมาอภิวันท์ แต่พระนักธรรม์
เลี้ยงลิงกำพร้าทะโมน  
๑๓๑ ลิงนั้นมันแสนเหลือโลน เต้นโดดโลดโผน
เข้าแย่งเข้ายื้อโยคี  
๑๓๒ นักสิทธ์สั่งสอนต้อนตี ทำโทษแต่ละที
แทบม้วยไม่เข็ดเหลือลิง  
๑๓๓ แม้นเห็นสีกากล้าจริง ไล่ยุดฉุดชิง
จับติ่งจับเต้าจาวตาล  
๑๓๔ วันหนึ่งกระษัตริย์สำราญ พาพลบริพาร
มาสู่สถานกุฎี  
๑๓๕ ลิงนั้นเข้าพันฤๅษี เล่นโลนกระลึ
เข้าจี้เข้าไชไปมา  
๑๓๖ นักสิทธ์คิดแค้นแสนสา ทำโทษแก่วา
นเรศบได้สมประดี  
๑๓๗ กระษัตริย์ทัดทานฤๅษี ไม่ถือขันตี
ดังฤๅมาตีวานร  
๑๓๘ ดาบสตอบพจน์ถวายพร รูปนี้สั่งสอน
จะให้มันดีบ่มิดี  
๑๓๙ กระษัตริย์ตอบอรรถฤๅษี ชาติลิงย่อมมี
จริตนั้นติดโลนเอง  
๑๔๐ บ่มิควรจะปราบให้เกรง ทำโทษอลเวง
ชาติลิงบ่หายลุกลน  
๑๔๑ ข้าบาทราธนานิมนต์ ขอสัตย์ทัณฑ์บน
อย่าได้ทำต่อก่อกรรม  
๑๔๒ นักสิทธ์ตอบกิจสนองคำ มิให้รูปทำ
ข้อนั้นจะเป็นไรมี  
๑๔๓ รูปขอบพิตรด้วยดี ราชทัณฑ์ฆ่าตี
บพิตรอย่าทำสืบไป  
๑๔๔ ดังนี้จะได้ฤๅไฉน บพิตรอดใจ
รูปนี้จะถือขันตี  
๑๔๕ กระษัตริย์รับคำฤๅษี คืนเข้าธานี
บ่ได้จะมีอาญา  
๑๔๖ ฤๅษีอยู่ที่ศาลา จำเริญเมตตา
ขันตีอดใจไม่เริง  
๑๔๗ ลิงยิ่งคะนองลองเชิง แย่งกุฎีเปิง
อีเลิ้งหม้อพิงทิ้งทอย  
๑๔๘ ย่ามพัดกัดเป็นริ้วรอย บ่ห่อนหย่อนถอย
พยศยิ่งกว่าก่อนมา  
๑๔๙ เห็นพระนักสิทธ์ภาวนา โดดดึงชฎา
มือคว้าตะครุบลูกประคำ  
๑๕๐ เห็นขนรักแร้แหย่คลำ ถอนทึ้งขยำ
ขยุ้มขยี้ตามคะนอง  
๑๕๑ ดาบสอดใจไม่หมอง เคร่งขันตีครอง
สติบ่ได้ไหวติง  
๑๕๒ มิได้ทำโทษโกรธลิง อดใจได้จริง
นั่งนิงดั่งสิงขรคง  
๑๕๓ ป่างจอมขัตติยสุริย์วงศ์ ตั้งแต่พระองค์
รับคำตั้งมั่นขันตี  
๑๕๔ ชาวเมืองเคืองแค้นแสนทวี เกิดฆ่าราคี
ที่ขลาดก็หนีซบซอน  
๑๕๕ ที่กล้าร่าเริงฟันฟอน คบพวกเพื่อนจร
เที่ยวปล้นสะดมวิ่งราว  
๑๕๖ เจ้าชู้คบเพื่อนเกลื่อนฉาว ไล่ยุดฉุดสาว
ลูกเขาเมียเขาขืนทำ  
๑๕๗ ชาวกรุงยุ่งยับระยำ ร้องฎีกากรรม
กระษัตริย์บ่ได้ไยดี  
๑๕๘ เหล่าพวกคนร้ายได้ที ยิ่งสำทับทวี
บ่ได้จะมีเกรงภัย  
๑๕๙ ลอยชายเข้าวังท้าวไท ห้ามแหนนางใน
เข้ากอดเข้ากวนยวนยี  
๑๖๐ กระษัตริย์ขัดแค้นแสนทวี ไปหาฤๅษี
แล้วแจ้งคดีโดยจง  
๑๖๑ ขันตีข้านี้บมิคง ขอคืนพระองค์
ข้านี้มิอาจจำเริญ  
๑๖๒ นักสิทธ์ว่าท่านยับเยิน รูปปากคอเลิน
ทั้งนี้ก็เพราะขันตี  
๑๖๓ บพิตรไม่เชื่อรูปดี ทำผิดวิถี
ขันตีขันแตกขันตาย  
๑๖๔ ใจดีผีเข้าฤๅวาย คลั่งคลุ้มบคลาย
ร้ายบ้างพอตั้งอาตมา  
๑๖๕ บพิตรจะคืนอาญา รูปจักคืนลา
ออกจากภิเนษก์ขันตี  
๑๖๖ กระษัตริย์คืนสัตย์ฤๅษี คืนครองบูรี
คืนมีอาญาต่อไป  
๑๖๗ อยู่สุขกระเษมหฤทัย ทั่วทั้งกรุงไกร
ทั้งนี้เพราะมีอาญา  
๑๖๘ ฤๅษีตั้งแต่นั้นมา คืนทำโทษวา
นเรศให้อยู่ในคำ  
๑๖๙ สอนให้ไหว้นบแม่นยำ นี่แลเรานำ
เรื่องราวมากล่าวให้ฟัง  
๑๗๐ ด้วยอย่างมีมาแต่หลัง เจ้าอย่าแช่งชัง
พระครูว่าขู่ด่าตี  
๑๗๑ ด้วยเจ้าทำผิดไม่ดี ครูนั้นปรานี
จึงตีเจ้าตามธรรมเนียม  
๑๗๒ เจ้าอย่าทำใจเหี้ยมเกรียม รักษาจิตเจียม
สงบเสงี่ยมอิริยา  
๑๗๓ ทำใดให้พิจารณา อาสัยอัชฌา
อาจารย์จะรักฟักฟูม  
๑๗๔ จะได้วิชาเต็มภูมิ เจ้าอย่าตื่นตูม
เหมือนหนึ่งกระต่ายไม่ดี  
๑๗๕ อัชฌาอาสัยไม่มี ไม่ตรึกท่วงที
ชั่วดีให้พิจารณา  
๑๗๖ เหมือนเรื่องกระต่ายนิทรา มัวนอนหลับตา
ฝันว่าแผ่นดินจมลง  
๑๗๗ พอผลมะตูมสูงทรง ตกต้องตาลดง
กระทบกระทั่งใบตาล  
๑๗๘ เสียงดังโกร่งกร่างกังวาน บมิตรึกตรองการ
ให้แจ้งประจักษ์ใจจง  
๑๗๙ กระต่ายตื่นเต้นเผ่นพง วิ่งร้องเสียงหลง
แผ่นดินจมลงวุ่นวาย  
๑๘๐ สารพัดฝูงสัตว์ทั้งหลาย พลอยตื่นกลัวตาย
กระจัดกระเจิงตามกัน  
๑๘๑ มาถึงสำนักนักธรรม เสียงแซ่แจจัน
จงช่วยข้าด้วยมุนี  
๑๘๒ ป่างนั้นท่านไทฤๅษี ถามแจ้งคดี
เธอมีวิจารณ์ยิ่งยง  
๑๘๓ พิเคราะห์เหมาะความตามตรง ท่านไทจึงทรง
ติเตียนกระต่ายไม่ดี  
๑๘๔ ไม่พิจารณาท่วงที พากันแล่นหนี
ถ่อยแท้ไม่พิจารณา  
๑๘๕ นี่แลเราน้าวนำมา จำเป็นตำรา
อัชฌาอาสัยท่วงที  
๑๘๖ ถือจิตคิดอย่างฤๅษี วิจารณ์ท่านมี
พิเคราะห์จึงเหมาะแม่นความ  
๑๘๗ แม้นเป็นคนดีมีนาม อัชฌาพยายาม
แลความวินิจพิจารณา  
๑๘๘ อ่อนน้อมให้ครูเมตตา อย่าทำมารยา
หน้าไหว้ลับหลังหลอกลวง  
๑๘๙ ไม่ดีมีโทษใหญ่หลวง จักเข้าดลดวง
ใจท่านให้ขังเกลียดไกล  
๑๙๐ เหมือนเรื่องเจ้าชดเจ้าไหว้ ชักมาแต่ใน
นนทุกปกรณัม  
๑๙๑ มีเด็กเลี้ยงวัวตรากตรำ สองคนประจำ
เป็นทาสท่านผู้มีนาม  
๑๙๒ คนหนึ่งนั้นมีใจงาม ประพฤติตนตาม
ใจเจ้าของตนถ่อมตน  
๑๙๓ คนหนึ่งใจคดอกุศล เป็นคนซ่อนกล
หน้าไหว้หลังหลอกกลอกตา  
๑๙๔ ทั้งสองเลี้ยงวัวทุ่งนา แกะดินเหนียวมา
แล้วปั้นเป็นรูปนายตน  
๑๙๕ แล้วนั่งลงไหว้บัดดล คนหนึ่งซ่อนกล
ปั้นดินเป็นรูปนายตัว  
๑๙๖ ครั้นแล้วชกตีบี้หัว เย็นแล้วพาวัว
มาสู่สำนักบ้านนาย  
๑๙๗ นายนั้นครั้นเห็นรูปกาย เจ้าคนหยาบคาย
ที่ปั้นรูปตนชกตี  
๑๙๘ ดลใจให้แค้นแสนทวี มิได้ปรานี
ไล่ตีไล่ด่ายับเยิน  
๑๙๙ เจ้าคนไหว้รูปจำเริญ ดลใจเผอิญ
ให้เรียกให้เชิญอุ้มชู  
๒๐๐ นี่แลเจ้าจำเป็นครู จะให้ท่านเอ็นดู
ให้ทำเหมือนคนไหว้นาย  
๒๐๑ หนึ่งนั้นครูหนึ่งศิษย์หลาย เจ้าอย่าให้อาย
แก่ศิษย์ผู้เพื่อนเหมือนกัน  
๒๐๒ เปรียบเหมือนหนึ่งมวยคู่ขัน คาดเชือกประชัน
จะชกให้ท่านครูดู  
๒๐๓ อย่าทำย่อหย่อนอ่อนหู ใครแพ้อดสู
ชนะจะมีคนชม  
๒๐๔ พระครูจะชอบอารมณ์ กล้วยอ้อยขนม
ท่านได้จะให้รางวัล  
๒๐๕ ด้วยเจ้าเล่าเรียนฉะฟัน แหลมล้ำเพื่อนกัน
เช่นนั้นท่านมีเมตตา  
๒๐๖ หนึ่งเจ้าอย่าคิดฤษยา เห็นครูกรุณา
แก่เพื่อนที่เล่าเรียนดี  
๒๐๗ อย่าแกล้งมุสาพาที ยุครูให้ตี
ที่รักให้กลับเป็นชัง  
๒๐๘ ทุกขโตทุกขฐานัง ให้ทุกข์ท่านหวัง
ทุกข์นั้นจะมาถึงตน  
๒๐๙ เยี่ยงอย่างป่างก่อนโดยกล มีโจรสี่คน
เที่ยวปล้นเที่ยวล้วงเขามา  
๒๑๐ วันหนึ่งขึ้นเรือนยายตา แกแก่ชรา
ไม่มีสมบัติอันใด  
๒๑๑ ปะแต่หม้อเข้าเตาไฟ โจรแค้นขัดใจ
ไปไล่จับงูร้ายมา  
๒๑๒ ใส่ในหม้อเข้ายายตา เสร็จแล้วปิดฝา
เอามาไว้ริมตายาย  
๒๑๓ หมายจะให้งูขบตาย สองเฒ่าฟื้นกาย
ก็เห็นหม้อเข้าของตน  
๒๑๔ เปิดหม้อขึ้นดูบัดดล งูร้ายทรพล
กลายเป็นทองเนื้อนพคุณ  
๒๑๕ โจรรู้นึกชมว่าบุญ หมายจักทำทุน
ไปจับเอางูร้ายมา  
๒๑๖ เอาใส่ในหม้อปิดฝา เห็นเมียนิทรา
ก็ทำเหมือนอย่างตายาย  
๒๑๗ ครั้นเห็นเมียตื่นฟื้นกาย เปิดหม้อโดยหมาย
งูร้ายก็กัดมรณา  
๒๑๘ นี่แลโทษคิดอิจฉา จำเป็นตำรา
อุส่าห์จำไว้สอนใจ  
๒๑๙ เห็นครูรักศิษย์คนใด ที่เล่าเรียนไว
จงจำให้เหมือนโดยตรา  
๒๒๐ ใจครูสองใจธรรมดา สอนตามธรรมา
ใครดีก็สอนตามดี  
๒๒๑ ธรรมเนียมศิษย์สองอย่างมี ศิษย์หนึ่งกระลี
ต้องติต้องด่าสาธารณ์  
๒๒๒ แข็งขืนขัดคำอาจารย์ สู่รู้การงาน
ครูสอนกลับสอนสอพลอ  
๒๒๓ เป็นศิษย์ฝ่ายนอกไม่ยอ ครูไม่ชอบพอ
ถึงสอนก็สอนหยาบคาย  
๒๒๔ ศิษย์หนึ่งรู้จักฝากกาย ความเพียรบคลาย
กระทำให้ได้ใจครู  
๒๒๕ ไม่ต้องตีด่าอดสู เพียงแต่แลดู
ก็รู้อัชฌาอาจารย์  
๒๒๖ ศิษย์นี้เป็นศิษย์ในสถาน อาจจักเชี่ยวชาญ
สันดานละเอียดเอกคน  
๒๒๗ เหมือนไหมเส้นน้อยร้อยสน เข็มเล็กสอดชน
เย็บผ้ากัมพลเนื้อดี  
๒๒๘ จึงแนบเนียนเสียดดี เข็มใหญ่ด้ายพี
เย็บผ้าเนื้อดีคลี่กลาย  
๒๒๙ เหมือนศิษย์สันดานหยาบคาย หลู่ครูบาธิบาย
บ่ดีบ่ได้รู้ดี  
๒๓๐ จงจำคำเราพาที เปรียบมามากมี
ทีนี้จะตีความตรง  
๒๓๑ ในการปฏิบัติโดยจง จำให้มั่นคง
ให้รู้เพลาอาการ ฯ  

๏ สุรางคนางค์ ๒๘ ๏

๒๓๒ ครั้นรุ่งสุริยา  
พระครูครองผ้า ไปภิกขาจาร
เจ้าอยู่เฝ้าวัด จัดกระบายสาน
สำหรับรองงาน ถ่ายเข้าบาตรครู
๒๓๓ ลักระจั่นโอใหญ่  
ตักน้ำใสใส่ ผงไผ่ให้ดู
ชามช้อนถ้วยจาน คิดอ่างล้างถู
จัดสำรับปู เสื่อแล้วติดไฟ
๒๓๔ เผื่อบิณฑบาตขัด  
เข้าปลาอัตคัด จะได้อาศัย
ปลาสลิดปลาทู ดูปิ้งแกงไว้
สังเกตคาดใจ ท่านฉันตัวกิน
๒๓๕ ถึงบิณฑบาตได้  
ต้องอาศัยไฟ อุ่นดีมีกลิ่น
ให้เสร็จสรรพไว้ แล้วลงไปดิน
ไปคอยท่านบิณ ฑบาตกลับมา
๒๓๖ เข้าไปรับบาตร  
อย่าทำพล้ำพลาด อ่อนน้อมกายา
ท่านส่งบาตรให้ อาสัยอัชฌา
อย่าให้เข้าปลา ต้มแกงหกเอียง
๒๓๗ ยกเจ้าจดจ้อง  
ตานั้นมุ่งมอง ดูทางให้เที่ยง
แม้นทำบาตรพลัด เหมือนตัดลำเลียง
เจ้าอย่าเมินเมียง มุ่งมากุฎี
๒๓๘ แม้นบิณฑบาตเรือ  
รุ่งเช้าหาเสื่อ ไปปูทอดที่
บาตรโอถาดมุม ตลุ้มฝาชี
มิใช้วันดี จัดพอประมาณ
๒๓๙ วันสารทวันตรุษ  
เพ็งจันทร์วันพุธ เข้าวสาสงกรานต์
ทวีถ้วยชาม ตามเทศกาล
ตลุ้มโอสาน ทบทวีไป
๒๔๐ พวกเณรโค่งโค่ง  
นั่งหัวโขมง คัดวาดว่องไว
เณรโค่งถือท้าย เด็กรายแคมไป
พระครูครองไตร นั่งกลางสำรวม
๒๔๑ พร้อมศิษย์หัวท้าย  
ช่วยกันพุ้ยพาย อย่าทำหละหลวม
เมื่อเข้ารับบาตร คัดวาดอย่ากรวม
อย่าเกยเสยสวน เรือสงฆ์เพื่อนกัน
๒๔๒ ประเทียบเรียบร้อย  
อย่ามัวชม้อย เขม้นดูขัน
ไม่ดีเณรโค่ง โตโต้งตามัน
อย่าทำหูชัน แลเกี้ยวสีกา
๒๔๓ ใส่บาตรหน้าแพ  
เขาแลอย่าแล เขม้นเล่นตา
เขาจะว่าโลน จะโพนทะนา
เขาสาปน้ำหน้า พากันอดตาย
๒๔๔ ไม่ชั่วแต่ตัว  
พลอยพาท่านขรัว ต้องรับอับอาย
ถึงใครรู้จัก อย่าทักอย่าทาย
เขาจะว่าชีนาย เห็นแก่กัปปีย์
๒๔๕ ถ้าเขาถามหา  
จึงค่อยพูดจา ไปตามคดี
คำหนึ่งสองคำ ตามกิจอันมี
เห็นสายเต็มที ช่วยกันพายลง
๒๔๖ อย่าร้องโยนยาว  
เหมือนหนึ่งเรือเจ้า ไม่ต้องกิจสงฆ์
เป็นเรือบิณฑบาต เที่ยววาดแวะวง
เห็นขันบรรจง ประมาณการพาย
๒๔๗ เมื่อถึงท่าวัด  
เข้าของเร่งจัด อย่าได้ดูดาย
ท่านหิวเต็มที ท่านตีง่ายง่าย
รีบร้นขวนขวาย ให้ทันเวลา
๒๔๘ ท่านขึ้นตะพาน  
เด็กเด็กอย่านาน ถวายรองบาทา
เณรใหญ่ยกอุ้ม ตลุ้มแกงปลา
หมูไก่ได้มา ช่วยกันตามมี
๒๔๙ บาตรย่ามยกไป  
ได้มาเท่าไร ขนไปกุฎี
ใครอยู่ตีนท่า อย่าช้าท่วงที
เอาเรือเข้าที่ ผูกให้มั่นคง
๒๕๐ รีบเก็บพายไว้  
อย่าได้ไว้ใจ ว่าเป็นของสงฆ์
คนดีมีน้อย คนถ่อยดื่นดง
ยิ่งเป็นของสงฆ์ มันยิ่งชอบใจ
๒๕๑ อาญาพระน้อย  
จับได้ถองปล่อย มันไม่เป็นไร
ไม่เหมือนกระหัสถ์ เขามัดเอาไป
เฆี่ยนถามติดไม้ เช่นนั้นมันเกรง
๒๕๒ พวกมากุฎี  
จังหันวันศรี จัดให้เหมาะเหมง
คาวหวานอย่าปน กันอลเวง
จัดไว้ตามเพลง ดูโดยสมควร
๒๕๓ เสร็จแล้วน้อมตัว  
ประเคนท่านขรัว นบนอบน้ำนวล
ให้ได้หัตถบาศ อย่าคลาดแปรปรวน
ลูกไม้ป่าสวน ให้กัปปียัง
๒๕๔ แล้วอย่าหลบหน้า  
เจ้าจงอตส่าห์ นั่งคอยระวัง
ดูเอาใจใส่ กัปปีย์สูปัง
ตาดูหูฟัง ท่านเรียกจืดเค็ม
๒๕๕ ท่านเรียกจืดมา  
ตำเกลืออย่าช้า แขยะและเล็ม
อย่าทำฟูมฟาย กระจายตกเต็ม
เร็วรวดกวดเข้ม ให้ทันบัญชา
๒๕๖ ครั้นท่านฉันแล้ว  
เข้าพระเครื่องแก้ว ลูกเล็กเด็กลา
เณรใหญ่ให้ยก สำรับกับปลา
นั่งล้อมพร้อมหน้า กินด้วยกันพลัน
๒๕๗ อย่าชิงกันกิน  
ถ้วยชามจะบิ่น น่าเกลียดเดียดฉันท์
ปะท่านแลเห็น นิดเน้นตีรัน
อับอายด้วยกัน เพราะชิงกันกิน
๒๕๘ หนึ่งนั้นเณรโค่ง  
กับเพื่อนเณรโต้ง รู้กันโดยถวิล
ซดโถโต้กัน แกงนั้นหมดสิ้น
เด็กน้อยคอยกิน แหงนหน้าตาปรอย
๒๕๙ หมายจะได้กิน  
เณรโค่งโพงสิ้น ศัตรูคอหอย
ริทำเช่นนี้ ท่านตีไม่น้อย
หลังเป็นริ้วรอย เพราะชิงเด็กกิน
๒๖๐ หนึ่งเมื่อกินนั้น  
พรึบพร้อมชิงกัน หยิบกับหยิบชิ้น
เกือบอิ่มเณรโค่ง รีบโพงจนสิ้น
ลุกสะบัดมือบิน กินกล้วยพลามพลาม
๒๖๑ เด็กกินล้าหลัง  
เณรโค่งร้องดัง มึงต้องล้างชาม
ได้ยินเณรโค่ง เณรโต้งลุกตาม
กล้วยส้มเข้าหลาม เลือกกินสิ้นเจียว
๒๖๒ เด็กไม่ได้กิน  
น้ำตาไหลริน ลงนั่งหน้าเซียว
ต่างคนต่างแค้น ลุกแล่นเกรียวเกรียว
เข้าปลารกเรี้ยว เลอะเทอะเปรอะปรึง
๒๖๓ กากินบินเกรียว  
แมลงวันหัวเขียว ตอมอึงคะนึง
ท่านมาพบเข้า ตีโทษโกรธขึ้ง
หาตัวมาอึง ซักไซ้ได้ความ
๒๖๔ ตีเณรโค่งก่อน  
ใครสั่งใครสอน มึงไม่ล้างชาม
มึงเป็นผู้ใหญ่ ทำไว้เห็นงาม
อ้ายน้อยพลอยตาม ตีเสียด้วยกัน
๒๖๕ ใครทำเช่นนี้  
ดูหน้าบัดศรี เป็นที่เย้ยหยัน
รู้ไปถึงไหน อายไปถึงนั่น
ขี้เกียจครามครัน จนชั้นล้างชาม
๒๖๖ แม้นชาวบ้านรู้  
ดูน่าอดสู เขาจะตรานาม
แม้นสึกออกไป รู้ในเรื่องความ
ลูกสาวเขางาม เขาไม่ให้เลย
๒๖๗ นี่แลจงจำ  
เบื้องหน้าอย่าทำ นะเจ้าเณรเอ๋ย
หนึ่งนั้นปากคอ ด่าทอประเปรย
ปากใส่เดือยเคย หมิ่นเย้ยกุมาร
๒๖๘ เห็นเด็กรูปชั่ว  
ด่าพล่อยต่อยหัว ไม่คิดสงสาร
ข้อนว่าถากถาง รูปร่างสาธารณ์
เฉโกโวหาร ว่าเด็กอับอาย
๒๖๙ ในรูปธรรม  
อาศัยบุญกรรม เกิดเป็นรูปกาย
ไม่ควรเอื้อมอาจ ประมาทหมิ่นชาย
บางทีรูปร้าย ใจดีมีบุญ
๒๗๐ ครั้นอยู่นานไป  
เด็กนั้นโตใหญ่ วิชาให้คุณ
มีความเพียรกล้า วาสนาอุดหนุน
ตนกลับสถุล ขายหน้าสาใจ
๒๗๑ เหมือนประมาทงู  
ไม่มีใบหู ตีนมือหาไม่
มีตัวยาวเฟื้อย รู้เลื้อยไต่ไม้
หนึ่งนั้นแม่ไก่ บ่ได้มีนม
๒๗๒ ไก่ฟักลูกออก  
เป็นครอกสองครอก รอดอยู่มีถม
หนึ่งนั้นปูเปี้ยว เที่ยวไต่ตามตม
หัวนั้นหายจม มีแต่ตีนตา
๒๗๓ อกติดกระดอง  
มีแต่ก้ามสอง เขี่ยเลี้ยงอาตมา
เป็นคนเหมือนกัน ไม่ควรฉันทา
ควรคิดอนิจจา อย่าได้วายคราว
๒๗๔ หนึ่งนั้นเล่าโสด  
เห็นเด็กระโอด ระองขำขาว
ชื่นชมว่าดี ถามถึงพี่สาว
ค่ำค่ำเช้าเช้า เข้าเคล้าเข้าเคลีย
๒๗๕ พ่อแม่เขารู้  
ติเตียนลบหลู่ พาครูพลอยเสีย
เขาเคยมาส่ง สำรับกับเขี่ย
เขาเงินเมินเสีย ครูพลอยอดโซ
๒๗๖ เหมือนทุบหม้อเข้า  
บาตรพระครูเจ้า สิ้นทั้งถ้วยโถ
เจ้าเณรอดเข้า หน้าเว้าตาโต
เขาไม่พุทโธ ด้วยเณรรังแก
๒๗๗ หนึ่งเด็กรูปงาม  
ไม่อ่อนผ่อนตาม เข้าทำตอแย
ข่มขืนคุกคั้น เด็กก็พันวอแว
ด่าแม่เณรแซ่ เณรก็แร่ชกตี
๒๗๘ เพราะเณรทำชั่ว  
เด็กจึงไม่กลัว ไว้ตัวไม่ดี
เด็กจึงด่าได้ เพราะใจโลกีย์
เพราะเด็กรูปดี จู้จิ้จริงจริง
๒๗๙ หนึ่งนั้นสีกา  
พี่สาวเด็กมา หน้าตาเพริศพริ้ง
มาส่งกัปปีย์ อย่าตีประวิง
พูดแยบแอบอิง เกี้ยวพานมารยา
๒๘๐ เขาขังยังชั่ว  
ฟ้องแต่ท่านขรัว เป็นแต่โกรธา
แต่เพียงด่าทอ ให้พอร้างรา
เขาไม่เมตตา จะพากันนุง
๒๘๑ ทำผิดสิกขา  
เพื่อนคิดอิจฉา ไปว่าในกรุง
เขาจะจับไป หายใจครึ่งพุง
ลงทอดตัวผลุง น้ำตากระเด็น
๒๘๒ ร้อนถึงอาจารย์  
พลอยเป็นพยาน ไม่รู้ไม่เห็น
เพราะเณรชั่วถ่อย ครูพลอยยากเย็น
เณรจะไปเป็น ตะพุ่นสูญความ
๒๘๓ ไม่ดีอย่าทำ  
แม้นสอนไม่จำ ขืนทำตะกลาม
ตีให้เลือดไหล ไล่จากอาราม
สาปหน้าตรานาม ไม่ขอรอกัน
๒๘๔ แม้นอยากสึกหา  
จะให้สีกา ใส่ใจใฝ่ฝัน
อุส่าห์ศึกษา วิชาฉับพลัน
จึงสึกจากบรร พชิตจึงดี
๒๘๕ เดี๋ยวนี้ยังอ่อน  
อย่าเพิ่งสึกก่อน วิชาไม่มี
หัดสอนเก็บเขี่ย มีเมียจึ่งดี
หัดเสียในชี ให้มีคนชม
๒๘๖ ฉันแล้วแผ้วกวาด  
ข้าวของกองกลาด เก็บจัดประสม
อาหารเหลือเดน เณรอย่าหมักหมม
เข้ากับแกงต้ม เทใส่ชามลง
๒๘๗ อย่าเทใต้ถุน  
น้ำแกงเป็นจุณ เสื่อมสูญอานิสงส์
ไปให้สุนัข ของจักคืนคง
ชาติหน้ายืนยง คงเป็นของดี
๒๘๘ ของไม่ควรเสีย  
อตส่าห์เก็บเขี่ย ตามสิ่งอันมี
อย่าให้สูญเปล่า เขาจึงว่าดี
ชาติหน้าชาตินี้ ให้พิจารณา
๒๘๙ จงรู้ประมาณ  
สังเกตควรการณ์ เข้าสารผักปลา
ของเสียของเน่า เอาให้ทานกา
ให้รู้ธรรมดา สิ่งของทั้งปวง
๒๙๐ หนึ่งท่านเทศน์ได้  
เครื่องกัณฑ์นั้นไซร้ มากมายใหญ่หลวง
เก็บไว้ให้งาม จัดตามกระทรวง
แรกได้ให้หวง ปิดงำจงดี
๒๙๑ อย่ากินก่อนสงฆ์  
เจ้าของเขาบง การแก่พระสมี
เณรเหมือนเรือน้อย ห้อยท้ายเรือรี่
ฉันก่อนพระชี ไม่มีอัชฌา
๒๙๒ ลางทีท่านนั้น  
อยากของสำคัญ ท่านไปได้มา
เณรฉันเสียหมด ท่านงดปรารถนา
เครื่องขัดอัธยา โทษสองประการ
๒๙๓ โทษกินของสงฆ์  
โทษขัดใจองค์ สงฆ์ผู้อาจารย์
ไปอเวจี อัคคีเผาผลาญ
แล้วไปทรมาน เปนเปรตพุงโร
๒๙๔ ปากเท่ารูเข็ม  
อาหารและเล็ม ไม่เต็มพุงโต
กรรมกินของสงฆ์ รูปทรงเน่าโน
เห็นเปรตเศษโซ ใครรู้เร่งจำ
๒๙๕ สัจจังดังนี้  
พระบารมี หนักแน่นแม่นยำ
ใช่จะหวงของ ด้วยตรองเห็นกรรม
ปรานีมีคำ สอนทำให้ดี
๒๙๖ ควรพระฉันก่อน  
เณรจึงค่อยผ่อน ภายหลังพระชี
ประการหนึ่งนั้น เครื่องกัณฑ์ยังมี
มากอยู่ดูดี ใส่ตลุ้มลง
๒๙๗ ไปถวายพระ  
อาคันตุกะ อันเป็นเพื่อนสงฆ์
ถวายพระอาพาธ ไร้ญาติวงศ์
บุญคุณยิ่งยง อดีตปัจจุบัน
๒๙๘ ในอนาคต  
เบื้องหน้าปรากฏ ทิพรสสวรรค์
ตราบจนนิพพาน ผลทานครามครัน
คุณในปัจจุบัน นั้นก็เกิดมี
๒๙๙ คือสงฆ์องค์นั้น  
เมื่อเธอได้ฉัน เครื่องกัณฑ์อันดี
คิดถึงคุณเณร เห็นหน้าปรานี
คุณอดีตมี เมื่อเณรบรรลัย
๓๐๐ เธอคิดถึงคุณ  
จักบำเพ็ญบุญ อุทิศไปให้
เพื่อนฝูงที่ยัง สังระเสริญชอบใจ
อำนวยพรให้ จำไว้นะเณร
๓๐๑ หนึ่งของยังอีก  
เป็นเสี้ยวเป็นซีก เหลือพระมหาเถร
ให้เณรเพื่อนรัก กระหัสถ์กินเดน
นอกนั้นเหลือเกณฑ์ ให้สัตว์นานา
๓๐๒ หนึ่งเณรตั้งตัว  
จะให้เด็กกลัว อาศัยปัญญา
นึกตรึกคาดใจ อาสัยอัชฌา
ควรว่าจึงว่า พูดจาปรานี
๓๐๓ หนึ่งเด็กนั้นผิด  
อ่านหนังสือติด ชอบบอกท่วงที
หนึ่งเด็กอื่นชก เด็กในกุฎี
เณรช่วยขวางรี ป้องกันอันตราย
๓๐๔ หนึ่งได้อ้อยกล้วย  
เรียกเด็กกินด้วย ปากหวานภิปราย
หนึ่งเด็กเจ็บป่วย เณรช่วยขวนขวาย
เด็กจะฝากกาย ใช้ง่ายใจดี
๓๐๕ ถึงโดยเบื้องหน้า  
เณรจะสึกหา ชอบเชิงโลกีย์
ด้วยรู้เก็บหอม โอบอ้อมอารี
หญิงหม้ายสาวศรี เป็นที่พึงใจ
๓๐๖ นี่แลจงจำ  
ลงทำตามคำ นะเณรน้อยใหญ่
ประพฤติเช่นนี้ จะดีมีไชย
พวกเด็กเล่าไซ้ หัวโล้นหัวเปีย
๓๐๗ หัวจุกหางแหยม  
อย่าทำพลอมแพลม ว่างานส่ำเสีย
เห็นพระเห็นเณร ทำเป็นเคล้าเคลีย
ขอเงินขอเบี้ย เล่นคำตัดกัน
๓๐๘ อย่าได้ทำฉาว  
ยกยอพี่สาว ให้สงฆ์ใฝ่ฝัน
เจ้ากูจะฮึก สึกออกไม่ทัน
วานเขียนพัดจันทน์ ให้พี่สาวตน
๓๐๙ พูดพลอดสอพลอ  
เหมือนหนึ่งนกต่อ ทีล่อทีชน
เอาโน่นชนนี่ ซุกซี้ซุกชน
ลุกลี้ลุกลน เหลาะแหละและเล็ม
๓๑๐ ไปบ้านทีไร  
เอาเรื่องวัดไป พูดต่อแต้มเต็ม
ว่าสงฆ์องค์นั้น รักฉันกวดเข้ม
ท่านพูดและเล็ม ถึงพี่ทุกวัน
๓๑๑ แล้วกลับมาวัด  
เอาเรื่องกระหัสถ์ มาพูดเสกสรร
พี่สาวเขาว่า สั่งมากับฉัน
วานเขียนพัดจันทน์ ไม้สอยส้นงา
๓๑๒ เช่นนี้อย่าทำ  
ไม่ดีมีกรรม ทำลายศาสนา
จะเป็นราคี ชั่วนี้ชั่วหน้า
ฉวยว่าชะตา ทั้งสองต้องกัน
๓๑๓ พระเถรจะสึก  
ไปชมสมนึก เหมือนใจใฝ่ฝัน
ไม่ต้องขอสู่ ลอบชู้หากัน
ขนมขันหมากนั้น เจ้าชวดกินเอง
๓๑๔ เสียพี่สาวเปล่า  
ไม่ได้เบี้ยเข้า เพราะเจ้าแสนเพลง
ครูรู้ครูตี วิ่งหนีปะเลง
เข้าไปบ้านเอง แม่ซ้ำสำทับ
๓๑๕ เขาจับส่งไป  
ให้ตาย่ามใหญ่ แกไปกินตับ
ไม่ควรอย่าทำ จงจำคำนับ
อย่าซ่อนสับปลับ สอพลอส่อความ ๚

๏ ๑๖ ๏

๓๑๖ ประการหนึ่งอย่าทำสำผลาม โลนเล่นคะนองลาม
ล้อเลียนสงฆ์เถรเณรชี  
๓๑๗ เห็นเจ้ากูชมว่ารูปดี อย่าทำเล่นตัวตี
เข้าข่วนเข้าจี้เจ้ากู  
๓๑๘ ฉวยผ้าอุดกระชากลากถู ประมาทหมิ่นพระผู้
เป็นเจ้าให้ได้อับอาย  
๓๑๙ ทำยักคิ้วหลิ่วตาท้าทาย กระโดดเต้นเล่นกาย
ออกโขนออกหนังกลางชาน  
๓๒๐ ทะลึ่งไล่เพื่อนตนลนลาน พระสงฆ์เถรเณรจาร
หนังสือแลทำใดใด  
๓๒๑ วิ่งผ่านบมิได้เกรงใจ เฉียดชิดสะกิดไป
บ่ห่อนจะอ่อนโอนกาย  
๓๒๒ ปะเจ้ากูเกรงครูบาทิยาย บ่มิได้หยาบคาย
ก็นิ่งรำงับดับใจ  
๓๒๓ ปะลางองค์สงฆ์เถรใจไฟ มุทะลุมือไว
ก็เหงาะก็โหงกโขกลง  
๓๒๔ แล้วร้องขัดใจเถรสงฆ์ ส่งกระแสเสียงหลง
ให้อึงถึงองค์อาจารย์  
๓๒๕ ครั้นท่านเรียกเอาอาการ แสร้งแกล้งพาโลพาล
ใส่โทษที่ร้ายนานา  
๓๒๖ ใครทำเหมือนคำร่ำมา บมิได้เมตตา
จะตีให้สะสมใจ  
๓๒๗ ใครอย่าทำเช่นนี้ต่อไป เห็นพระสงฆ์องค์ใด
ให้นบให้นอบยำเกรง  
๓๒๘ พูดจาให้เพราะเหมาะเหมง เป็นศรีตนเอง
สวัสดีเดโชไชย  
๓๒๙ เจ้ากูวานหยิบการใด ดูอัชฌาสัย
ที่ใกล้พอหยิบหยิบมา  
๓๓๐ ที่ล้นเหลือกำลังวังชา เบือนบอกสุนทรา
ไปตามคดีดูดี  
๓๓๑ ให้ท่านเมตตาปรานี กล้วยส้มขนมมี
จะได้ให้กินโดยสบาย  
๓๓๒ หนึ่งโกรธเพื่อนกันทั้งหลาย อย่าเทียบเปรียบปราย
ประชดประชันหมาแมว  
๓๓๓ หนึ่งเห็นสิ่งของถ่องแถว เห็นเพื่อนที่โกรธแวว
มาแล้วก็ด่ากลบไป  
๓๓๔ อย่าด่าสารพันใดใด เครื่องล้วนกวนใจ
อาจารย์บ่ห่อนจะได้สบาย  
๓๓๕ อย่าได้เรียกกันนั้นหยาบคาย อ้ายอีอภิปราย
มึงมันกูเอ็งไม่ดี  
๓๓๖ เป็นคำทรลักษณ์อัปรีย์ หีนชาติกระลี
เช่นนี้อย่าได้เรียกกัน  
๓๓๗ ธรรมดาชาตรีมีพันธุ์ เจรจาพึงสรร
สารพัดเสนาะน้ำนวล  
๓๓๘ เรียกเจ้าเรียกเราจึงควร ชอบเชิงสำรวล
ละไมพอเหมาะยิ้มพราย  
๓๓๙ บ่มิได้อ้าปากมากหลาย ยามเมื่อจะทักทาย
ก็ทักให้ถูกทางความ  
๓๔๐ บ่มิได้พูดมากลามปาม แต่พอละไมงาม
ก็นิ่งก็นึกตรึกการ  
๓๔๑ หนึ่งเห็นผู้ใหญ่สัณฐาน เทียบเท่าวงศ์วาน
ควรพี่เรียกพี่ปรีดิ์เปรม  
๓๔๒ ควรแม่เรียกแม่โดยกระเษม ลิ้นหวานปานชะเอม
คราวพ่อเรียกพ่อล่อใจ  
๓๔๓ แม้นจะประสงค์สิ่งใดใด ท่านเมตตาอาลัย
ควรให้คงให้ไม่อำ  
๓๔๔ อย่าได้มือไวใจดำ นัยหนึ่งพึงจำ
ให้รู้เวลาเล่าเรียน  
๓๔๕ เวลาเขียนให้เร่งเขียน ยามเล่าเร่งเพียร
ให้เรียนบ่นร่ำซ้ำไป  
๓๔๖ อย่าให้ครูต้องจี้ไช จงมีแก่ใจ
ให้ได้น้ำใจอาจารย์ ๚  

๏ ๑๑ ๏

๓๔๗ หนึ่งท่านจะไปเทศน์ ในนิเวศเขตสถาน
ที่ใดให้ประมาณ ยามใดจะไปบกเรือ
๓๔๘ ทิศทางจะใกล้ไกล สำนักไหนใต้ฤๅเหนือ
ให้แม่นในทางเมือ จึงต้องในกระบวนนวล
๓๔๙ พึงพิศชนิดครู ที่ตนอยู่ให้ใคร่ครวญ
สถานใดจึงจะควร คุณรูปสังเกตใจ
๓๕๐ เป็นพระราชาคณะ ฤๅพระครูนั้นเป็นไฉน
เป็นพระสมุห์ฤๅพระใบ ฎีกาขรัวตาฤๅเปรียญ
๓๕๑ นายหมวดฤๅพระปลัด เจ้าจงจัดให้แนบเนียน
ตามเภทพระผู้เพียร ภิญโญภาคผู้ทรงไตร
๓๕๒ แม้นท่านจะไปบก ในเกณฑ์ยกจงแจ้งใจ
ร่มพัดจงจัดไป เครื่องย่ามใส่ในย่ามงาม
๓๕๓ รองเท้าจงเป่าปัด กาน้ำจัดจะคอยตาม
แม้นมาตรพระทรงนาม เป็นที่สังฆราชา
๓๕๔ เร่งวิ่งไปสั่งวอ ให้มารอประทับรา
อยู่ที่บันไดปรา กฏเคยที่ขึ้นลง
๓๕๕ เกือบท่านจะจากที่ พันคัมภีร์ที่ยิ่งยง
เด็กที่จำเริญทรง เคารพรับคัมภีร์งาม
๓๕๖ วางในพระวอไป ท่านนั่งในพระวอหาม
ศิษย์หลังสะพรั่งตาม สะพรึบพร้อมดำเนินเรียง
๓๕๗ เดินให้เป็นแถวถัด อย่าหลีกลัดเฉลียงเฉียง
นอกเวียงแลในเวียง อย่าหลุกหลิกกระดางลาง
๓๕๘ เครื่องบริขารถือ จงมั่นมืออย่าเมินทาง
ถือไว้จังหวะวาง อย่ากวัดแกว่งให้แพลงพลำ
๓๕๙ ครั้นถึงที่สถาน วังแลบ้านศาลาธรรม
เด็กแบกคัมภีร์นำ พระผู้ทรงสังวรจร
๓๖๐ เห็นชนประชุมอัด ดูเยียดยัดสลับสลอน
จงเอื้อนสุนทรวอน ให้อ่อนหวานขอหลีกทาง
๓๖๑ ครั้นถึงธรรมาสน์อาสน์ คัมภีร์พาดประจงวาง
เหนือที่อันสำอาง เขาจัดไว้แล้ววันทา
๓๖๒ เณรโค่งไปข้างหลัง จงยับยั้งซึ่งกิริยา
หลีกเลี่ยงเหล่าสีกา อย่าให้ถูกกระทั่งกาย
๓๖๓ อย่าเดินทำลอยหน้า แขนซ้ายขวาอย่าส่ายกราย
ระงับเนตรอย่ามุ่งหมาย ไปเล่นตาสีกางาม
๓๖๔ ครั้นถึงซึ่งอาสน์สงฆ์ ค่อยนั่งลงอย่าสำผลาม
อย่าพูดรำพันความ ให้เด็กโจษอยู่จอแจ
๓๖๕ นั่งฟังจนเทศน์จบ จึงปรารภชำเลืองแล
เจ้ากัณฑ์จะผันแปร มานอบน้อมถวายทาน
๓๖๖ เด็กถ่ายประจำกัณฑ์ เณรโค่งนั้นกระบุงสาน
ร่ายของในโตกพาน เข้าสารส้มขนมกง
๓๖๗ เนื้อปลาแลกล้วยอ้อย ทั้งใหญ่น้อยค่อยถ่ายลง
มั่นมือถือบรรจง จงถ่ายการให้ควรการ
๓๖๘ อย่าทำให้กัมปนาท กระบุงฟาดถูกโตกพาน
ของตกประจาดจาน เจ้าทานเห็นจะเสียใจ
๓๖๙ หนึ่งท่านจะไปเรือ จัดหมอนเสื่อให้สดใส
ลาดพื้นกัญญาใน แล้วเป่าปัดให้เลี่ยนเตียน
๓๗๐ ไปค่ำให้ตามโคม ให้รุ่งโรมด้วยแสงเทียน
กาน้ำถมปัดเขียน จงตั้งไว้อย่าให้เอียง
๓๗๑ กระโถนล้างแล้วตั้งถัด ขวดยานัดถุ์แลยาเสียง
ทอดเรียบประเทียบเรียง เป็นของเลิศในลำเรือ
๓๗๒ อย่าให้พิกลเภท จะเกิดเหตุเมื่อเสียงเครือ
ดังตัดอาหารเสือ จะดุเดือดบ่มีดี
๓๗๓ พนักให้พิงพัด เครื่องเภสัชใส่ย่ามสี
หมากดิบที่อย่างดี ประจงเจียนให้เสี้ยนซุย
๓๗๔ หมากสงมักเสียเสียง อย่าประเดียงใส่ถุงครุย
หมากดิบอันเฉิดฉุย จึงชอบเชิงพระอาจารย์
๓๗๕ คัมภีร์จะพิงพาด อย่าประมาทพระธรรมสาร
ที่สูงอันควรการ จึงถูกที่คัมภีร์พิง
๓๗๖ ครั้นท่านลงกัญญา ออกนาวาอย่าประวิง
พายลงประจงจริง ไปตามจิตอาจารย์จง
๓๗๗ ถือท้ายให้เที่ยงทาง อย่าคัดง้างให้แวะวง
อย่าโคลงขย้อนองค์ อาจารย์อิงพระปฤษฎางค์
๓๗๘ หนึ่งท่านไปอันใน พระโรงไชยตำหนักปรางค์
เณรอย่ากระดางลาง ซัดสีแสดอังสะดำ
๓๗๙ กฎหมายท่านห้ามปราม นุ่งห่มตามสิกขากรรม
ห่มดองทำนองธรรม อย่าประมาทแก่สังกรี
๓๘๐ วาจามันสามารถ ผรุสวาทล้วนบัดศรี
บางทีก็ทำดี ถ้าดีต่อก็ขอกิน
๓๘๑ ให้บ้างก็ยังชั่ว ค่อยเบาตัวไม่ติฉิน
แม้นใครไม่ยลยิน ตระหนี่เหนียวก็ว่าเวียน
๓๘๒ เณรไปถ้ามันมา จงพูดจาให้แนบเนียน
แม้นมันมาเบียดเบียน มาขอกินจงดูการ
๓๘๓ ควรให้ก็จงให้ จงตั้งใจว่าเป็นทาน
อย่าให้มันประจาน จงเอาใจมันให้ดี
๓๘๔ เณรคอยอยู่ทิมสงฆ์ อย่าทะนงว่าเป็นชี
อย่าให้เภทภัยมี ระมัดใจอย่าตามใจ
๓๘๕ ระวังบรรดาเด็ก ลูกเล็กเล็กที่ตามไป
ยังเยาว์บเข้าใจ จะกระเจิงปะเจ้านาย
๓๘๖ ข้าเจ้าที่เล็กเล็ก เห็นเด็กเราที่เดินกราย
มือนั้นมันไวหวาย จะหวดยับระยำมา
๓๘๗ พวกมันเป็นกลุ่มกลุ้ม มันรุมชกพวกวัดวา
อย่าไปให้ไกลตา รักษาภัยอย่าให้มี
๓๘๘ หนึ่งท่านไปสวดมนต์ ตำบลบ้านให้จงดี
ระมัดสิกขาชี เณรอย่าทำให้เสียเณร
๓๘๙ อย่าได้เที่ยวซุกชน พระสวดมนต์อยู่เกนเกน
หลบหน้าเที่ยวหน้าเป็น เห็นต้นไม้ขึ้นนั่งโขน
๓๙๐ ผ้าผ่อนก็ล่อนหลก ดังประสกที่แสนโลน
เขาจักรำพันโพน ทนาเหน็บให้เจ็บใจ
๓๙๑ ทุกวันเขาพลันหมิ่น ว่าศีลเณรนั้นน้อยไป
นับถือแต่เจ้าไท เขาเห็นเณรเขาเบนหนี
๓๙๒ เณรยิ่งไปทำโลน เขาจะโพนทะนามิดี
แทบเจียนจะไล่ตี ลงจากเรือนมิใคร่ทัน
๓๙๓ ลางทีเขาแท้สัป ปรุษนับพระธรรมขันธ์
พระเณรไปถึงพลัน ก็รับพระแล้วรับเณร
๓๙๔ ให้นั่งที่ควรอาสน์ อย่าประมาทในกรรมเวร
พานหมากก้มประเคน ให้เณรฉันแล้ววันทา
๓๙๕ เณรอย่าทะนงจิต วิปริตในสิกขา
ฉันหมากแล้วพูดจา ให้เปรอะปากแล้วขากลง
๓๙๖ เรี่ยราดเปื้อนสาดเสื่อ ให้เสียเชื้อพระชินวงศ์
เขาจักกำสรดปลง เสียใจถอยศรัทธาทาน
๓๙๗ เณรจงรักษากิจ ไว้จริตให้ควรกาล
คอยฟังพระอาจารย์ ท่านสวดมนต์ให้ฟังมนต์
๓๙๘ จักได้เข้าใจจำ คำนับธรรมพระทศพล
เบื้องหน้าบำเพ็ญผล จะสวดมนต์ก็ง่ายดาย
๓๙๙ หนึ่งนั้นเมื่อฉันเช้า ฝูงชาวบ้านทำบุญหลาย
ศิษย์วัดก็มากมาย ระวังโอจะเปลี่ยนกัน
๔๐๐ แล้วยกประเคนครู ระวังดูท่านขบฉัน
ฉันหวานสำเร็จพลัน เอาผ้าอาบเข้าคอยเคียง
๔๐๑ ครั้นเสร็จท่านเช็ดหัตถ์ เอาเภสัชเข้าพระเดียง
จึงยกของหวานเมียง มาถ่ายไว้ในโอพลัน
๔๐๒ แม้นครูพฤฒาจารย์ ท่านฉันหวานแล้วจัดสรร
ตะบันมากให้ทันควัน ท่านเช็ดมือก็ถึงมือ
๔๐๓ หนึ่งนั้นอาจารย์ไข้ เอาใจใส่โดยสัตย์ซื่อ
เป็นข้อสำคัญคือ ตนจะได้วิชาชาญ
๔๐๔ ครูทุกข์ช่วยดับทุกข์ ครั้นเป็นสุขสำเร็จการ
วิชาพระอาจารย์ ที่ลึกลับไม่อับปาง
๔๐๕ ท่านรักคงจักให้ วิชาในไม่ขัดขวาง
เมื่อครูเป็นไข้คราง ปรนนิบัติให้พร้อมเพรียง
๔๐๖ จังหันแลว่านยา จงอุส่าห์หาประเดียง
คอยนั่งระวังเคียง พิจารณาดูอาจารย์
๔๐๗ เมื่อหมอมาถึงถาม จงแจ้งความตามอาการ
อย่าเห็นกับสำราญ จะนอนนั่งระวังครู
๔๐๘ พยายามได้ความชอบ ครูจะมอบวิชาชู
ด้วยตนกระตัญญู ท่านผู้รู้จะหัดปรือ
๔๐๙ หนึ่งนั้นไปบัง สุกุลยังที่ศพฤๅ
เครื่องศพงามคือ จะบาดตาด้วยทาทอง
๔๑๐ อย่าชมว่าศพงาม อร่ามนอกข้างในหมอง
อย่ามัวเขม้นมอง ให้เร่งคิดอนิจจัง
๔๑๑ คอยฟังท่านชักผ้า ว่าอนิจจาให้เร่งฟัง
ตาเณรคอยระวัง เขาถวายซึ่งไทยทาน
๔๑๒ คอยรับเมื่อท่านส่ง บรรจงถืออย่าลนลาน
หกเรี่ยจะเสียการ เป็นที่ชั่วคือตัวชัง
๔๑๓ หนึ่งนั้นเมื่อท่านไป สถิตในป่าช้าหวัง
ยืนชักมหาบัง สุกุลที่สงัดคน
๔๑๔ เณรไปคอยรับผ้า เมื่อท่านมาถึงถนน
รับผ้าอย่าเกียจกล ว่าเหม็นเน่าไม่เข้าการ
๔๑๕ ปลงร่างจงวางจิต ควรจะคิดพระกรรมฐาน
ทั่วโลกย่อมสาธารณ์ ไม่ยืนนานคงจะตาย
๔๑๖ อย่าคิดเช่นคนพาล บ่พิจารณ์ในร่างกาย
เห็นรูปอศุภตาย บมิคิดอนิจจา
๔๑๗ ถือรูปเป็นอารมณ์ นิยมรูปว่ารจนา
บ่คิดถึงซึ่งอาตมา จะตายเหม็นเหมือนเช่นกัน
๔๑๘ เห็นศพตลบกลิ่น ก็ดีดดิ้นทำบิดผัน
ขากถ่มน้ำลายพลัน บ่นว่าเหม็นก็เป็นกรรม
๔๑๙ เมื่อตนทำลายขันธ์ บาปตนนั้นจะอุปถัมภ์
เหม็นทั่วรูปธรรม ยิ่งกว่าศพสิ้นทั้งปวง
๔๒๐ ดับจิตไปจากอก ตกนรกอันใหญ่หลวง
ทนทุกข์ระทมทรวง สิ้นบาปแล้วก็เกิดมา
๔๒๑ เป็นคนพิกลชั่ว ดูเนื้อตัวไม่ต้องตา
ปากเหม็นเมื่อเจรจา ตลบกลิ่นเพราะหมิ่นกรรม
๔๒๒ เณรจงเร่งปลงจิต ควรพินิจในรูปธรรม
ทั่วโลกเห็นแม่นยำ ก็แท้เที่ยงอยู่เพียงตาย
๔๒๓ สอนจิตสังเวชจิต อนิจจังสิ้นทั้งหลาย
เกิดมาเป็นรูปภาย ตายบ่พ้นสักตนเดียว
๔๒๔ มาตรแม้นจะมีฤทธิ์ เรืองมหิทธิ์ฉลาดเฉลียว
ล้ำโลกเป็นโจกเดียว เมื่อถึงกรรมก็จำตาย
๔๒๕ แต่องค์พระสัพพัญ ญุตัญญาณอันเพริศพราย
ล้ำโลกย์สิ้นทั้งหลาย เมื่อถึงที่ก็นีฤพาน
๔๒๖ เณรเร่งคิดเล็งลึก ให้แน่นึกพระกรรมฐาน
บำเพ็งอภิญญาณ ให้ถือศพว่ายิ่งยง
๔๒๗ คือเครื่องประดับเอก พระปัจเจกโพธิ์ทรง
จึงเด็ดซึ่งกำกง สังสารจักรด้วยหักใจ
๔๒๘ ห้ามจิตอย่าตามจิต อย่าคิดอื่นอื่นไป
แน่ลงที่ตรงใน พระกรรมฐานเป็นการบุญ
๔๒๙ ให้คิดพิจารณา เอาเกศาเป็นต้นทุน
สำหรับจะเป็นจุณ จะวินาศจนมัตถลุงค์
๔๓๐ บ่เห็นเป็นแก่นสาร พระกรรมฐานเป็นที่จุง
ข้ามเขตกิเลสนุง เข้ากรุงแก้วก็แล้วกัน
๔๓๑ มีแต่จะสำราญ คือนิพพานอันเฉิดฉัน
ตามเสด็จพระสัพพัญ ญุตัญญาอณาญาณ
๔๓๒ สุขอื่นสักหมื่นแสน บ่เหมือนแม้นพระนิพพาน
บ่มีที่เปรียบปาน พระนิพพานอันภิญโญ
๔๓๓ โชติช่วงดังดวงแก้ว ใครถึงแล้วก็สุโข
แม้นจิตนั้นยังเป็นโล กียะนั้นบ่เล็งยล
๔๓๔ เณรยังปัญญาอ่อน จะสอนเณรให้เป็นผล
นิพพานนั้นชอบกล บ่ห่อนเห็นเป็นรูปภาย
๔๓๕ มิได้เป็นบุทคล แลสกนธ์ทั่วทั้งหลาย
บ่ได้เวียนเกิดตาย ในสามภพนี้ขาดกัน
๔๓๖ แม้นใครปัญญาตื้น บ่ฝ่าฝืนบ่ใฝ่ฝัน
สงสัยในใจครัน ให้มืดมนบ่ยลยิน
๔๓๗ เมื่อไปเป็นรูปกาย ไม่ตายเกิดสวรรค์ดิน
บ่ได้เป็นพรหมอินทร์ จะเอาสุขแต่ไหนมา
๔๓๘ ต่อใครปัญญาลึก จึงจะนึกเป็นบุญญา
จะเปรียบวิสัชนา พระนิพพานให้เห็นจริง
๔๓๙ เปรียบเหมือนนอนฝันเห็น ที่เย็นใจให้ประวิง
ไม่มีที่อ้างอิง ให้เห็นหนไปคนเดียว
๔๔๐ ตื่นขึ้นแล้วชื่นชม นิยมเล่ากันกราวเกรียว
ว่านอนสนุกเจียว ข้าฝันเห็นเป็นอัศจรรย์
๔๔๑ เมื่อนอนนั้นหลับตา ไยจึงว่าสนุกครัน
พระนิพพานก็คล้ายฝัน จงเร่งแจ้งอย่าแหนงใจ ฯ

๏ ๑๖ ๏

๔๔๒ ในคำร่ำแจ้งแถลงไข แม้นศิษย์ผู้ใด
ไม่ตามก็ต้องมัดตี  
๔๔๓ เขียนไว้ดังตราพระราชสีห์ ใครรักอยากดี
ได้อ่านจงจำคำเรา  
๔๔๔ ดังได้แว่นแก้วแววเฉลา เห็นโทษหนักเบา
ตรลบตรลอดธาตรี  
๔๔๕ เราแต่งแจ้งนามนายมี รูปพรรณพอดี
เหมือนหนึ่งมะพร้าวจาวทอง  
๔๔๖ เปลือกนอกพอกอยู่ดูหมอง ในตรึกนึกตรอง
พิลึกวิไลในการ  
๔๔๗ อาศัยด้วยใจพิจารณ์ โลกยสัณฐาน
จึงแต่งเป็นกลอนสอนใจ  
๔๔๘ แม้ว่าท่านผู้ใดใด ได้อ่านสารไซร้
ที่เราทำไว้จงจำ  
๔๔๙ ให้คิดถึงบุญคุณคำ อย่าได้ใจดำ
จงอวยพิพัฒน์สวัสดี  
๔๕๐ แผ่กุศลให้เราโดยมี จึงจะเป็นศรี
สวัสดิ์แก่ผู้เล่าเรียน  
๔๕๑ เดชะข้าคิดขีดเขียน สู้ยากพากเพียร
สิ้นเทียนสิ้นไต้น้ำมัน  
๔๕๒ ตรมจิตคิดกลอนผ่อนผัน แต่งถวายใส่กัณฑ์
บูชาพระธรรมสำราญ  
๔๕๓ ขอให้หักกงสงสาร สู่ที่พระนิพพาน
หมู่มารอย่าได้ประจญ  
๔๕๔ แม้นยังบ่สำเร็จมรรคผล นิสัยติดตน
ให้ปราชญ์ให้เปรื่องปรีชา  
๔๕๕ อาจจักแก้กิจปริศนา ใครในโลกา
อย่าเทียมอย่าเท่าเราเอย ๚ะ  
  1. ๑. สังกรี = สังฆการี

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ