คำชี้แจงในการตรวจสอบต้นฉบับเรื่องศรีสวัสดิ์วัด

ศรีสวัสดิ์วัด เป็นหนังสือแบบเรียนไทยโบราณ ซึ่งสอนจริยปฏิบัติแก่เด็กวัด แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สันนิษฐานว่า ผู้แต่งคือนายมี หรือหมื่นพรหมสมพัตสร คนเดียวกับที่แต่งเรื่อง สุบิน ก กา และ เสือโค ก กา เนื้อหาเน้นเรื่องการอบรมความประพฤติของศิษย์วัด และสามเณร หนังสือเรื่องศรีสวัสดิ์วัดนี้ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน

เอกสารสมุดไทยและสมุดฝรั่งเรื่อง ศรีสวัสดิ์วัด

เรื่องศรีสวัสดิ์วัด พบต้นฉบับทั้งเอกสารสมุดไทยและสมุดฝรั่ง เก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ทั้งหมด ๕ เล่ม ดังนี้

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๓๗๙

สมุดไทยขาว เส้นหมึก

หมวดอักษรศาสตร์

เรื่องศรีสวัสดิวัด

ประวัติ หอสมุดซื้อเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๐

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๓๘๑

สมุดไทยขาว เส้นหมึก

หมวดอักษรศาสตร์

เรื่อง ศรีสวัสดิวัตร

ประวัติ จ่าช่วงไฟประทีปวังกองแก้ว) มอบให้ พ.ศ. ๒๔๕๓

เอกสารสมุดฝรั่ง เลขที่ ๗๐๑

สมุดฝรั่ง

หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด

เรื่อง ศรีสวัสดิวัตร

ประวัติ หอสมุดฯ คัดจากฉบับของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) ให้เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๑

เอกสารสมุดฝรั่ง เลขที่ ๗๑๒

สมุดฝรั่ง เส้นดินสอ

หมวดวรรณคดี

เรื่อง ศรีสวัสดิวัตร

ในการตรวจสอบชำระเรื่อง ศรีสวัสดิ์วัด เพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ ใช้เอกสารทั้งสมุดไทยและสมุดฝรั่งทั้งหมด ๕ ฉบับข้างต้นมาสอบทาน และได้อ้างอิงจากงานวิจัยเรื่อง ศรีสวัสดิ์วัด การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมท้องถิ่น ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูมิจิต เรืองเดช ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๓ เพื่อให้การตรวจสอบชำระครั้งนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ศรีสวัสดิ์วัด

ศรีสวัสดิ์วัด เป็นตำราสอนจริยปฏิบัติในระบบการศึกษาไทยโบราณ เดิมมีผู้สันนิษฐานว่าเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน แต่เมื่อสอบทานจากเอกสารต้นฉบับสมุดไทยและสมุดฝรั่งแล้วพบว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นวรรณกรรมภาคกลาง และแต่งโดยกวีคนสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ นายมี หรือ หมื่นพรหมสมพัตสร ดังมีหลักฐานแสดงในคำประพันธ์ท้ายเรื่อง คือ

๏ เราแต่งแจ้งนามนายมี รูปพรรณอันดี
เหมือนหนึ่งมะพร้าวจาวทอง  
๏ เปลือกนอกพอกอยู่ดูหมอง ในตรึกนึกตรอง
พิลึกวิไลในการ  

ดังนั้น จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่า เรื่องศรีสวัสดิ์วัด น่าจะเป็นวรรณกรรมภาคกลาง ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ

เนื้อหาของศรีสวัสดิ์วัด กล่าวถึงหน้าที่ของสามเณรและเด็กวัด ที่พึงปฏิบัติต่อตนเองและต่อพระสงฆ์ผู้เป็นอาจารย์ บางตอนนำนิทานจากธรรมบทมาเป็นตัวอย่างประกอบ ที่สำคัญคือ เป็นหนังสือสะท้อนวิถีสังคมและระบบการศึกษาในวัดไว้หลายด้าน เช่น กิจวัตรประจำวันของศิษย์วัดคือ การพายเรือบิณฑบาต ซึ่งการบิณฑบาตโดยเรือนี้ แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมของชาวบ้านภาคกลางอย่างชัดเจน คือ

๏ ศิษย์พร้อมหัวท้าย  
ช่วยกันพุ้ยพาย อย่าทำหละหลวม
เมื่อเข้ารับบาตร คัดวาดอย่ากรวม
อย่าเกยเสยสรวม เรือสงฆ์เพื่อนกัน
๏ ประเทียบเรียบร้อย  
อย่ามัวชม้อย เขม้นเล่นตา
เขาจะว่าโลน จะโพนทะนา
เขาสาปน้ำหน้า พากันอดตาย

กิจวัตรและข้อควรปฏิบัติของสามเณร และศิษย์วัดที่กล่าวถึงในเรื่องนี้ หลายประเด็นเป็นสิ่งที่ผู้เป็นฆราวาสก็ควรนำไปปฏิบัติ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ดังนี้

๏ เจ้าจงมานะเรียน หมั่นขีดเขียนในสารา
เมื่อน้อยเรียนวิชา ธรรมเนียมมาแต่โบราณ
๏ ครั้นใหญ่ให้หาทรัพย์ ควรคำนับเป็นแก่นสาร
เร่งเรียนวิชาการ จงทรมานกายและใจ

คำสอนในเรื่องศรีสวัสดิ์วัดมีเนื้อหาที่ดีและเหมาะสมแก่เด็ก หนังสือแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเคยนำตัวอย่างคำประพันธ์บางตอนมาบรรจุเป็นแบบเรียน เช่น

๏ วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป จึงจะได้วิชามา
๏ จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา
ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ

ศรีสวัสดิ์วัด แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ประกอบด้วยกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ คำประพันธ์ยานี ๑๑ ตอนต้นเรื่องมีลักษณะคล้ายกับอินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑ ซึ่งรูปแบบฉันทลักษณ์ดังกล่าวได้รับความนิยมในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนสำนวนโวหารผู้แต่งเลือกใช้คำเข้าใจง่าย เพื่อให้เหมาะกับผู้เรียนซึ่งอยู่ในวัยเด็ก

นายมี หรือหมื่นพรหมสมพัตสร เป็นกวีที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณคดีไว้หลายเรื่อง ที่สำคัญ ได้แก่ นิราศเดือน นิราศสุพรรณ นิราศพระแท่นดงรัง เป็นต้น นอกจากผลงานกวีนิพนธ์แล้ว นายมียังได้แต่งตำราเรียนภาษาไทย ได้แก่ สุบิน ก กา เสือโค ก กา และศรีสวัสดิ์วัด นายมีจึงเป็นกวีที่มีคุณสมบัติของความเป็นครู ซึ่งเห็นคุณค่าของพุทธิศึกษาและจริยศึกษา และได้พยายามสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะ ศรีสวัสดิ์วัด เป็นหนังสือที่มุ่งสอนจริยธรรมแก่ศิษย์ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ผลงานแบบเรียนดังกล่าวสะท้อนถึงอุดมคติของผู้แต่งว่า เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นที่จะให้กุลบุตรไทยมีความรู้ควบคู่กับคุณธรรม อันจะทำให้สังคมไทยมีความเจริญก้าวหน้า และสงบร่มเย็น นับเป็นคุณปการยิ่งใหญ่ที่ผู้แต่งมีต่อสังคมไทย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ