คำชี้แจงในการตรวจสอบต้นฉบับเรื่องสุบิน ก กา

สุบิน ก กา เป็นหนังสือแบบเรียนไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื้อหาเป็นแบบสอนอ่านการประสมอักษรคำที่มีในแม่ ก กา (ไม่มีตัวสะกด) สำหรับกุลบุตรที่จะเล่าเรียนเขียนอ่าน และประสมอักษรคำที่มีมาตราตัวสะกดแม่อื่น ๆ ต่อไป ตามที่ปรากฏหลักฐาน ผู้แต่งหนังสือสุบิน ก กา คือ นายมี บุตรพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นกวีสำคัญผู้หนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ในการตรวจสอบชำระเพื่อจัดพิมพ์ครั้งนี้พบว่า เรื่องสุบิน ก กานั้น เดิม “ธรรมปรีชา” ซึ่งเป็นอาจารย์ของนายมีได้แต่งขึ้นก่อน ต่อมานายมีได้นำมาปรับปรุงแก้ไขเมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๐ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สมัยโบราณ การศึกษาเล่าเรียนของกุลบุตรไทยนิยมศึกษาจากวัด โดยเรียนจากพระหรือคฤหัสถ์ที่มีความรู้จนสามารถทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนได้ แรกเริ่มนั้นให้หัดอ่าน หัดเขียนพยัญชนะ สระ และตัวเลข ต่อมาจึงหัดประสมคำ ครูอาจารย์จะให้เริ่มหัดอ่านจากหนังสือประถม ก กา เป็นเบื้องต้น เมื่ออ่านเขียนประถม ก กา จนคล่องแคล่วแล้ว ครูจึงให้เริ่มฝึกอ่านเรื่องสุบินกลอนสวด เป็นลำดับต่อไป

เอกสารสมุดไทยเรื่อง สุบิน ก กา

เรื่องสุบิน ก กา พบต้นฉบับสมุดไทยเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ มีทั้งหมด ๕ เล่ม ดังนี้

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๒๐๙

สมุดไทยดำ เส้นหรดาล

หมู่อักษรศาสตร์

เรื่อง พระสุบิณ ก กา

ประวัติ หอสมุดซื้อ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๒๒๒

สมุดไทยดำ เส้นหรดาล

หมู่อักษรศาสตร์

เรื่อง สุบิน ก กา เล่ม ๑

ประวัติ นายพรหม เปรียญ มอบให้ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๒๒๓

สมุดไทยดำ เส้นหรดาล

หมู่อักษรศาสตร์

เรื่อง สุบิน ก กา เล่ม ๒

ประวัติ นายพรหม เปรียญ มอบให้ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๒๒๕

สมุดไทยขาว เส้นหมึก

หมู่อักษรศาสตร์

เรื่อง พระสุบิน ก กา จบบริบูรณ์

ประวัติ หอสมุดซื้อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐

เอกสารสมุดไทย เลขที่ ๒๒๖

สมุดไทยขาว เส้นหมึก

หมู่อักษรศาสตร์

เรื่อง หนังสือสุปิณะ ก กา

ประวัติ สมบัติเดิมของหอสมุด

การตรวจสอบชำระเรื่อง สุบิน ก กา

สุบิน ก กา เป็นหนังสือที่ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน การตรวจสอบชำระเพื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ใช้เอกสารสมุดไทยจำนวน ๕ ฉบับซึ่งเก็บรักษาไว้ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ สมุดไทยแต่ละฉบับมีรายละเอียดดังนี้

เอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๐๙ สมุดไทยดำ เส้นหรดาล ตัวอักษรไทย เขียนเป็นภาษาไทย ลายมืออาลักษณ์ ระบุไว้ตอนต้นเรื่องว่า นายมีเป็นผู้คัดลอก ดังนี้

๏ บังคมบรมบาท ปติราชณะรังษรี
ด้วยเกล้ากระหม่อมมี สุทะจิตตระน้อมนำ
๏ สุบินประหลาดโลกย ขะลุคิดประดิษฐ์คำ
ครูเฒ่ากระหม่อมทำ ระบุคิดที่กอกา

นอกจากตอนต้นแล้ว ยังระบุชื่อผู้แต่ง วัน เดือน ปีที่แต่งสำเร็จ ไว้ตอนท้ายเรื่อง ดังนี้

พระสุบิน ก กา เล่มนี้ เกล้ากระหม่อมมี บุตรพระโหรา เอามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ใต้ละอองธุลีพระบาทยุคัล ณ วันจันทร์เดือนแปด แรมเจ็ดค่ำ จุลศักราชพรรร้อยเจ็ดสิบเก้า ปีฉลูนพศกวสันตฤดู

ข้อความดังกล่าวแสดงหลักฐานว่า สุบิน ก กา เลขที่ ๒๐๙ น่าจะเป็นฉบับของนายมี บุตรพระโหราธิบดี แต่งและคัดลอกเสร็จ เมื่อวันจันทร์ เดือนแปด แรมเจ็ดค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๙ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๖๐

นอกจากระบุชื่อผู้แต่งแล้ว มีโคลงท้ายเรื่องแต่งเป็นโคลง ๔ สุภาพ ๑ บท บอกวัตถุประสงค์การแต่งว่าเพื่อถวาย “พระจอมนรินทร์” และขอให้ความสวัสดีจงมีแก่ตนเอง คือ

๏ จบเสร็จนิเทศท้อง สำบิน
ถวายพระจอมนรินทร์ เทพท้าว
ตามในพระไทถวิล ปรารภ นั้นนา
ขอสวัสดิค่ำเช้า แห่งเกล้า กระหม่อมมี ฯ

เอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๒๒ (สุบิน ก กา เล่ม ๑) สมุดไทยดำ เส้นหรดาล ตัวอักษรไทย ภาษาไทย มีอักษรขอม ภาษาบาลีแทรกอยู่

ตอนต้นสมุดไทยเป็นเรื่อง ปถม ก กา เริ่มด้วยคำสอนของพระอาจารย์แก่ลูกศิษย์วัด ว่าด้วยการเป็นศิษย์วัดที่ดีควรจะปฏิบัติกิจอย่างไร จากนั้นจึงเป็นแบบฝึกหัดอ่านปถม ก กา เริ่มด้วยแม่กง แม่กด แม่กบ แม่กก แม่กม และจบที่แม่เกย เมื่อจบเรื่องปถม ก กา มีกาพย์ฉบัง ๑๖ จำนวน ๑๐ บท กล่าวถึงปณิธานของผู้แต่งว่า ขอให้อานิสงส์การแต่งหนังสือนี้ช่วยให้ได้สำเร็จมรรคผล ได้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริย์และบรรลุพระนิพพาน

ส่วนตอนปลายสมุดไทย ก่อนเริ่มสุบิน ก กา มีข้อความเขียนเป็นตัวอักษรขอม ภาษาบาลี บอกชื่อผู้แต่งว่า คือ ธมฺมปรีชา ดังนี้

๏ อยํพฺยสารสทิโส ฉนฺโท ธมฺมปรีชานาเมน กวินารจิโตสมโต ๚

แปลว่า ฉันท์ ซึ่งเช่นกับ (คล้ายกัน) (กา) พยสาร (วิลาสินี)นี้ กวีชื่อว่า ธรรมปรีชา รจนาแล้ว ครบถ้วน

ธรรมปรีชา เป็นราชทินนามตำแหน่งข้าราชการในกรมราชบัณฑิต ในที่นี่ไม่ทราบว่า ธรรมปรีชา มีบรรดาศักดิ์อยู่ในชั้นใด เมื่อสอบกับวรรณคดีไทยเรื่องอื่น ๆ แล้ว พบว่า ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีผู้ได้รับพระราชทานราชทินนาม ธรรมปรีชา คือ พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) กวีผู้แต่งเรื่อง ไตรภูมิโลกยวินิจฉัยกถา ทั้งนี้ ไม่สามารถสรุปได้ว่า ผู้แต่งสุบิน ก กา ที่นายมีอ้างถึง คือ พระยาธรรมปรีชา (แก้ว)

จากนั้นจึงเข้าสู่เรื่องสุบิน ก กา เริ่มเรื่องด้วยบทประณามพจน์ นมัสการพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ แล้วดำเนินเรื่องสุบินไปจนถึงช่วงสุบินกุมารขอลามารดาไปบวชเณร มารดาโกรธและด่าว่าสุบินกุมาร ความในสมุดไทยเลขที่ ๒๒๒ จบลงเพียงเท่านี้

เอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๒๓ (สุบิน ก กา เล่ม ๒) สมุดไทยดำ เส้นหรดาล เนื้อหาเรื่องสุบิน ก กา ความต่อจากเล่ม ๑ (เลขที่ ๒๒๒) เริ่มตั้งแต่มารดาของสุบินไม่พอใจที่สุบินกุมารจะบวชเณร จึงด่าทอและไล่สุบินกุมาร ให้ออกไปอยู่วัด สุบินกุมารจึงลามาบวชเป็นสามเณรและอาศัยที่วัดแต่นั้นมา ต่อมายมบาลมารับตัวมารดาของสุบินไปยังเมืองนรก แต่ด้วยอานิสงส์ที่บุตรได้บวชเป็นสามเณรเกิดเป็นดอกบัวทองรองรับไม่ให้มารดาต้องตกไฟนรก จนกระทั่งถึงสามเณรสุบินบวชเป็นพระภิกษุ อุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตบิดาที่ทนทุกขเวทนาในนรก เปรตบิดาได้รับส่วนบุญจึงได้ไปเกิดเป็นเทวบุตรบนสวรรค์ ส่วนมารดาของสุบินก็บวชเป็นชี ปฏิบัติธรรม ละเว้นการฆ่าสัตว์ ตอนจบภิกษุสุบินได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เมื่อจบสุบิน ก กาแล้ว กวีได้แต่งคำสอนแก่ศิษย์ให้มีความเพียรศึกษาเล่าเรียน หมั่นจดจำตัวสะกดมาตราต่าง ๆ ให้แม่นยำ และกวีตั้งปณิธานว่า ขอให้ได้ไปบูชาพระธาตุและสำเร็จมรรคผลนิพพาน โดยแต่งเป็นฉบัง ๑๖ และท้ายสมุดไทยเขียนข้อความด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี ว่า

๏ อิทํปิ สุปินวตฺถุ ธมฺมปรีชานาเมนกวินา ปุพฺพาจริยนมตฺตํ นิสยายรจิตาสมตา ๚

แปลว่า เรื่องสุบินนี้ กวีชื่อธรรมปรีชา อาศัยโครงเรื่องเดิม (ปุพพจริยา) รจนาแล้วสำเร็จบริบูรณ์

ข้อความดังกล่าว ระบุชื่อผู้แต่งว่า คือ ธมฺมปรีชา เช่นเดียวกับต้นเรื่องสุบิน ก กา ในสมุดไทยเลขที่ ๒๒๒ (สุบิน ก กา เล่ม ๑) แสดงว่าเอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๒๒ และ ๒๒๓ น่าจะเขียนขึ้นในคราวเดียวกัน

เมื่อจบเรื่องสุบิน ก กา แล้ว ท้ายเล่มสมุดไทยมีคำกลอนว่าด้วยมารยาหญิง และเพลงยาวกลบทซึ่งแต่งเป็นกลบทกบเต้นต่อยหอยจนจบเล่มสมุดไทย

เอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๒๕ สมุดไทยขาว เส้นหมึก ปกหน้าระบุชื่อเรื่องว่า “พระสุบิน ก กา จบบริบูรณ์” สมุดไทยหน้าแรกมีข้อความว่า ๏ น่าต้นพระสุบินกกาจบบริบูรรณ์ น่าปลายมีกฤษนาสอนน้องด้วยจำลองเมื่อศักราช ๑๒๓๙ ปี ๚ และต่อด้วยตัวอักษรขอม เขียนด้วยภาษาบาลี ระบุชื่อผู้แต่งว่า ธมฺมปรีชา เช่นเดียวกับในเอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๒๒ และ ๒๒๓ ดังนี้

๏ อิทํ สุปินวตฺถุ ธมฺมปรีชานาเมนกวินา ปุพฺพาจริยานุมตฺตํ นิสฺสายรจิตาสม ตา ๚

แปลว่า เรื่องสุบินนี้ กวีชื่อธรรมปรีชา อาศัยโครงเรื่องเดิม (ปุพฺพจริยา) รจนาแล้ว สำเร็จบริบูรณ์

จากข้อความข้างต้น แสดงว่า สุบิน ก กา ฉบับเลขที่ ๒๒๕ คัดลอกเมื่อจุลศักราช ๑๒๓๙ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๒๐ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อความในสมุดไทยเล่ม ๒๒๕ นี้ เป็นเรื่องสุบิน ก กาตั้งแต่ต้นจนจบ และเมื่อตรวจสอบถ้อยคำสำนวนแล้วพบว่า การดำเนินเรื่อง เนื้อหา และศัพท์สำนวนตรงกับสุบิน ก กา เลขที่ ๒๒๒ และ ๒๒๓ ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่าน่าจะคัดลอกมาจากสุบิน ก กา ฉบับสำนวนธรรมปรีชามากกว่าจะคัดลอกจากสำนวนของนายมี

ส่วนท้ายเล่มสมุดไทยเป็นเรื่อง กฤษณาสอนน้อง สำนวนพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๒๖ สมุดไทยขาว เขียนด้วยเส้นหมึก เรื่อง หนังสือสุปิณะ ก กา ไม่ปรากฏข้อความว่าใครเป็นผู้คัดลอก และไม่มีศักราชระบุไว้ เมื่อตรวจสอบกับสมุดไทยเล่มอื่น ๆ แล้วพบว่ามีเนื้อเรื่องและสำนวนเหมือนกับ สุบิน ก กา เลขที่ ๒๒๒, ๒๒๓ และ ๒๒๕ สันนิษฐานว่า สุบิน ก กา เลขที่ ๒๒๖ น่าจะคัดลอกมาจากสำนวน“ธรรมปรีชา” เช่นเดียวกัน เนื้อความในเอกสารฉบับนี้ เริ่มเรื่องกล่าวถึงกษัตริย์ครองกรุงสาวัตถี มีครอบครัวนายพรานสามีภรรยา วันหนึ่งภรรยาฝันว่านางหลงทางอยู่กลางป่าใหญ่ มีพระมุนีเหาะผ่านมาได้มอบแก้วมณีจินดาและชี้ทางให้แก่นาง นางสะดุ้งตื่นขึ้นมา ทำนายฝันว่า นางจะได้บุตรผู้มีปัญญา ต่อมานางตั้งครรภ์ พอครบกำหนดสิบเดือน นางเจ็บท้องจะคลอดบุตร เนื้อความจบค้างไว้เท่านี้ และหมดหน้าต้นสมุดไทย ต่อมาสมุดไทยหน้าปลาย เป็นเรื่อง ปถม ก กา หัดอ่าน โดยตัดมาเฉพาะแม่กด ดังนี้

... ชะมดพิมเสน ราเชนกฤษณา
แป้งจันทร์คันธา สิกขาห้ามปราม
  ๏ อุจจายะสะนะ
อย่านอนอาสนะ อันสูงอันงาม
จึงพุทธบัญญัติ ในอรรถห้ามปราม
จงประพฤติ์ตาม คำพระวินัย

ฯลฯ

๏ สมอทะเลเภกาขานาง สำโรงโกงกาง
หูกวางนางกวักรักรา  

หนังสือ สุบิน ก กา สำนวนของนายมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) นี้ เป็นการตรวจสอบชำระและพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก โดยนำสมุดไทยเลขที่ ๒๐๙ ซึ่งระบุว่าเป็นสำนวนของนายมี บุตรพระโหรา มาเป็นฉบับหลักในการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นฉบับที่มีเนื้อความสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง อย่างไรก็ดี สุบิน ก กา สำนวนของนายมีนี้ บางช่วงตัวอักษรค่อนข้างจะลบเลือน จึงได้นำสมุดไทยเลขที่ ๒๒๒, ๒๒๓, ๒๒๕ และ ๒๒๖ มาสอบทานด้วย

เรื่องสุบิน ก กานี้ สันนิษฐานว่า คัดลอกกันแพร่หลายในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ - รัชกาลที่ ๕ เนื้อความจึงเหมือนกันทั้งสำนวนของธรรมปรีชา และสำนวนนายมี เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีที่มาจาก สุบินกลอนสวด ซึ่งเป็นหนังสือสวดที่แพร่หลายมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อย่างไรก็ดี เรื่องสุบิน ก กา สำนวนของนายมีน่าจะคัดลอกจากสำนวนของธรรมปรีชา โดยมีการดัดแปลงสำนวนและถ้อยคำบ้าง ดังที่นายมีได้บอกไว้ในตอนต้นว่า กอกาสุบินนี้ จะเสาะสืบก็ยากเทา จึงเทียบจำลองเลา อภิวาทถวายไท” เมื่อสอบทานสุบิน ก กา ทั้ง ๕ ฉบับแล้ว พบว่ามีคำประพันธ์หลายตอนที่นายมีคัดมาจากสุบิน ก กา ของธรรมปรีชา บางตอนดัดแปลงสำนวน แต่กระนั้น ก็ยังคงดำเนินเรื่องตามสุบินกลอนสวดที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว

การตรวจสอบชำระครั้งนี้ พบว่า ผู้แต่งจงใจสร้างศัพท์ต่าง ๆ โดยวิธีการตัดศัพท์ แผลงศัพท์ ดังปรากฏในคำประพันธ์ว่า

“อาศัยคำ ก กา ขืนปล้ำจำหา
หักเอาแต่ว่าได้ความ”  

ศัพท์ที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น สาวะถี ตัดศัพท์จากคำว่า สาวัตถี ประจา ตัดศัพท์จากคำว่า ปัจจา จิดา ตัดศัพท์จากคำว่า จินดา โอวา ตัดศัพท์จากคำว่า โอวาท เป็นต้น

ส่วนการแผลงศัพท์ เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวอักษรซึ่งใช้แทนเสียงและเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปศัพท์ เพื่อเพิ่มคำที่ใช้ในภาษาและเพื่อประโยชน์การแต่งคำประพันธ์ รวมถึงเพื่อความไพเราะของเสียงสัมผัสในการแต่ง (ระบบคำภาษาไทย, ๒๕๕๖ : ๖๐) เช่น คำว่า สำมะดี แผลงจาก สมประดี ประถำ แผลงจาก อุปถัมภ์ มะจุรา แผลงจาก มัจจุราช สะทา แผลงจาก ศรัทธา เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงศัพท์เช่นนี้ เพื่อประโยชน์ทางการแต่งคำประพันธ์ให้คำตรงกับตัวสะกดแม่ ก กา เนื่องจากผู้แต่งนำนิทานมาแต่งเป็นแบบสอนอ่านแม่ ก กา ตลอดเรื่อง

การตรวจสอบชำระครั้งนี้ได้จัดทำเชิงอรรถอธิบายไว้แล้ว เนื้อความใน สุบิน ก กา สำนวนของนายมีดำเนินเรื่องเหมือนสำนวนของธรรมปรีชา ในเอกสารสมุดไทยเลขที่ ๒๒๒, ๒๒๓, ๒๒๕ และ ๒๒๖ จนจบเรื่อง แตกต่างกันเฉพาะคำศัพท์ ตัวสะกด และสำนวนบางแห่ง ซึ่งได้ทำเชิงอรรถอธิบายไว้แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้นำสำเนาเอกสารสมุดไทย เลขที่ ๒๒๕ ซึ่งเป็นสำนวนของธรรมปรีชามาพิมพ์ไว้ในภาคผนวก เพื่อให้ผู้สนใจได้เห็นต้นฉบับเอกสารสมุดไทยสำนวนที่ต่างออกไป

ความเป็นมาของเรื่องสุบิน ก กา

สุบิน ก กา นำเนื้อเรื่องมาจากเรื่อง สุบินกลอนสวด ซึ่งเป็นกลอนสวดเรื่องสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สันนิษฐานว่า เป็นวรรณคดีที่น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เรื่องนี้เป็นที่มาของคติความเชื่อว่า อานิสงส์ของการบวชเณรนั้นจะได้แก่มารดา ส่วนอานิสงส์ของการบวชพระนั้นจะได้แก่บิดา ความเชื่อดังกล่าวยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ดังปรากฏสำนวนไทยว่า เกาะชายผ้าเหลือง สะท้อนว่า แม้จะมีกรรมเก่าหนักหนา หากมีโอกาสบวชเรียน ก็จะช่วยให้ไม่ต้องตกอบายภูมิได้ ซึ่งอานิสงส์การบวชนี้ไม่ได้ส่งผลแก่ตัวผู้บวชเท่านั้น แต่อานิสงส์ยังแผ่ถึงบิดามารดาของผู้บวชด้วย ความเชื่อนี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวไทยพุทธ เมื่อผู้ชายอายุครบกำหนด ก็ควรจะบวชเรียน เพื่อให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ และเชื่อว่าอานิสงส์จะเผื่อแผ่ถึงบิดามารดาด้วย

เรื่องสุบินกลอนสวด มีหลักฐานว่าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังปรากฏแทรกอยู่ในบทละครนอกพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่องสังข์ทอง ตอนที่ ๗ ท้าวสามลให้ลูกเขยหาเนื้อหาปลา หกเขยนำความไปบอกแก่เจ้าเงาะ ขณะนั้นเจ้าเงาะกับนางรจนาอาศัยอยู่ที่กระท่อมปลายนา เจ้าเงาะได้สวดสุบินให้นางรจนาฟัง ดังคำประพันธ์ว่า

เมื่อนั้น รจนาสาละวนลนควันไต้
จับกระเหม่าใส่น้ำมันกันไร ถึงยากเย็นเข็ญใจมิให้รก
ทาแป้งแต่งตัวไม่มัวหมอง ผัดหน้านั่งมองส่องกระจก
นุ่งผ้าจัดกลีบจีบชายพก แล้วยกของมาให้ผัวกิน
จีบพลูใส่ซองรองลำดับ เอามีดพับผ่าหมากจนปากบิ่น
เจ้าเงาะนอนถอนหนวดสวดสุบิน เล่นลิ้นละลักยักลำนำ ฯ

ฯ ๖ คำ ฯ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำตำนานเรื่อง “สุบิน” ในสุบินกลอนสวดมาแทรกในบทละครนอก ดังนี้

กาพย์เรื่องสุบิน เจ้าเงาะสวด

(ความเก่า)

๏ จะกล่าวตำนาน  
สุบินกุมาร อันสร้างสมมา
รำเรียนเขียนธรรม ปรากฏนักหนา
บวชในศาสนา ลุถึงอรหันต์
๏ โปรดแม่พ้นทุกข์  
โปรดพ่อเสวยสุข ไปยังเมืองสวรรค์
นางฟ่าแห่ห้อม แวดล้อมนับพัน
เครื่องทิพย์อนันต์ อเนกนานา
๏ แต่ก่อนยังมี  
เมืองสาวัตถี นครพารา
ท่านท้าวเจ้าเมือง ฦๅเลื่องนักหนา
รี้พลช้างม้า ข้าคนบริวาร
๏ นอกเมืองออกไป  
มิใกล้มิไกล มีบ้านนายพราน
เป็นส่วยมังสัง เนื้อหนังตระการ
ล้วนแต่หมู่พราน ย่อมเอามาถวาย
๏ นายพรานผู้ใหญ่  
ชอบอัชฌาสัย ตั้งให้เป็นนาย
คุมไพร่บ้านป่า ล่าเนื้อกวางทราย
พรานผู้เป็นนาย ตักเตือนบ่คลา
รจนานั่งฟังหัวเราะ น้อยหรือเพราะแจ้วเจื้อยเฉื่อยฉ่ำ
ไม่ทันถึงใบสมุดหยุดกินน้ำ สวดซ้ำอีกสักนิดยังติดใจ ฯ

ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา

(บทละครนอกพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๒, ๒๕๓๐ : ๑๑๑ - ๑๑๒)

เรื่องสุบินกุมาร คงเป็นที่รู้จักทั่วไปในสังคมไทยแต่โบราณ จึงมีผู้นำมาประพันธ์เป็นกาพย์สำหรับสวด แม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่องสุบินก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ จึงทรงพระราชนิพนธ์แทรกในบทละครนอก นอกจากนี้ นักปราชญ์และกวีสำคัญสมัยรัตนโกสินทร์เช่น ธรรมปรีชาและนายมียังเลือก เรื่องสุบินกลอนสวด มาแต่งเป็นแบบหัดอ่าน ก กา เพื่อใช้เป็นแบบสอนอ่านแก่กุลบุตรในสมัยนั้น ประกอบกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาการต่าง ๆ รวมทั้งความรู้ด้านอักษรศาสตร์ ราชสำนักมุ่งเน้นการรวบรวมวรรณคดีและให้กวีสำคัญสร้างสรรค์วรรณคดีไทยขึ้นใหม่ รวมถึงการแต่งตำราเพื่อใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทย เช่น ปถม ก กา ปถม ก ข ประถม ก กาหัดอ่าน สุบิน ก กา เป็นต้น ขณะที่ตำราแบบเรียนที่มีมาแต่เดิมเช่น “จินดามณี” นั้น ก็ยังใช้เป็นแบบเรียนสืบเนื่องมา กวีสำคัญบางพระองค์ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ก็ได้ทรงรวบรวมและดัดแปลงจินดามณีเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น จนเกิดเป็น จินดามณี ฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง

การแต่งตำราแบบเรียนภาษาไทยเฟื่องฟูขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการแต่งหนังสือแบบเรียนไทยหลายเรื่อง เช่น ปฐมมาลา เสือโค ก กา เพื่อสนองพระราชปรารภ ดังในหนังสือจินดามณี ฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งทรงพระนิพนธ์เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๒ แสดงจุดมุ่งหมายของการแต่งหนังสือจินดามณีไว้ว่า เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงพระราชปรารภว่าพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ไม่มีความรู้เชิงอักษรศาสตร์และการกวี กรมหมื่นวงษาธิราชสนิท (พระยศขณะนั้น) จึงทรงพระนิพนธ์จินดามณีถวาย ดังความปรากฏว่า

๏ พระทรงอาโภคด้วย เอารส ราชฤๅ
ไป่เชี่ยวไป่ชาญพจน์ พากย์พร้อง
เลบงแบบแยบอย่างบท กลอนกาพย์ โคลงนา
จึงเร่อมรินิพนธ์ต้อง ฉบับต้งงแต่เพรง ฯ

ฯลฯ

๏ กรมวงษาสนิทอ้าง นามเสนอ
นิพนธ์พจน์โดยอำเภอ พจน์รู้
ปองเปนประโยชน์เผยอ พระยศหน่อ นเรศร์ฤๅ
รงงรักษ์อักษรกู้ กอบไว้เฉลอมเวียง ฯ

(จินดามณี, ๒๕๕๑ : ๙๙)

อย่างไรก็ตาม การแต่งตำราแบบเรียนไทยเหล่านี้ น่าจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา เพราะในสุบิน ก กา ของนายมี ได้บอกชัดเจนว่า แต่งขึ้นเพื่อถวายเจ้านายที่ทรงปรารภเรื่องตำราเรียน แต่ในสุบิน ก กานี้ มิได้ระบุชัดเจนว่าเป็นเจ้านายพระองค์ใด ความนิยมการแต่งตำราเรียนได้ดำเนินต่อเนื่องมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สุบิน ก กา

เรื่องสุบิน ก กา ที่พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือนี้ เป็นสำนวนของนายมี บุตรพระโหราธิบดี นายมีผู้นี้ต่อมาเมื่อจุลศักราช ๑๑๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) ได้แต่งหนังสือแบบฝึกอ่าน ก กา อีกหนึ่งเรื่อง คือ เสือโค ก กา หรือบางแห่งเรียกชื่อว่า ทศมูลเสือโค ในเอกสารสมุดไทยเรื่องเสือโค ก กา ระบุชื่อผู้แต่งว่า

เรื่องทศมูลเสือโคเล่มนี้รักษ์ที่สุด ข้าพระพุทธิเจ้าบุตรพญาโหราราช มาอภิวาทไว้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทยุคัล ณ วันพุธ แรมสองค่ำ เดือนยี่ ปีจอจุลศักราชพันสองร้อยสัมฤทธิศก ยกขึ้นในวันศรีศุภฤกษ์ โชคอมฤต ซึ่งตื้นและลึกในคำ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดฯ ขอเดชะ”

(เสือโค ก กา, ๒๕๕๗ : ๑๐)

ข้อความจากสมุดไทยเรื่อง เสือโค ก กา เป็นหลักฐานว่า นายมีบุตรพระโหราธิบดี (พญาโหราราช) น่าจะเป็นผู้แต่งหนังสือทั้งสุบิน ก กา และเสือโค ก กา โดยแต่งสุบิน ก กาเมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๐ และแต่งเสือโค ก กา เมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ประวัติของนายมีไว้ในคำนำหนังสือเรื่อง กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนายมีแต่งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๖ ว่า

เรื่องเพลงยาวของนายมีมหาดเล็กนี้ ได้ความปรากฏอยู่ข้างท้ายว่าเดิมนายมีเป็นมหาดเล็กช่างเขียน เกิดเบื่อหน่ายวิชาช่าง เห็นว่าตัวนั้นชำนาญในทางบทกลอน จึงแต่งเพลงยาวนี้ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเห็นความสามารถในทางกวี...”

(กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๕๓๐ : พระนิพนธ์คำนำ)

ธนิต อยู่โพธิ์ (๒๕๕๗) ได้เรียบเรียงประวัติของนายมี ไว้ว่า นายมีน่าจะเกิดราวรัชกาลที่ ๑ แต่มาเป็นกวีมีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๓ เคยบวชและจำพรรษาที่วัดพระเชตุพน นอกจากเป็นกวีแล้ว ยังมีอาชีพเป็นจิตรกร มีฝีมือทางช่างเขียน เรียกกันว่า ตามี บ้านบุ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายว่า “ตามีบ้านบุะ เขียนห้องภูริทัต ในพระอุโบสถ วัดอรุณ ซึ่งไฟไหม้เสียแล้ว...” (ประชุมหนังสือเก่า ภาคที่ ๑-๒, ๒๕๕๒ : ๒๒) นายมีเป็นผู้มีอุปนิสัยรักในทางกลอน จึงมีผลงานการแต่งคำประพันธ์หลายเรื่อง ได้แก่ นิราศเดือน นิราศสุพรรณ นิราศพระแท่นดงรัง และกลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังเมื่ออายุมาก นายมีได้เปลี่ยนอาชีพไปทางผูกเก็บภาษีอากร ได้รับแต่งตั้งเป็นหมื่นพรหมสมพัตสร นายอากรเมืองสุพรรณบุรี

เมื่อตรวจสอบศักราชที่ปรากฏใน สุบิน ก กา จะพบว่า แต่งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๐ นับว่าเป็นผลงานการประพันธ์ลำดับแรก ๆ ของนายมี

สุบิน ก กา เริ่มต้นด้วยกาพย์ยานี ๑๑ กล่าวถึงเหตุที่แต่งสุบิน ก กา นี้ว่า แต่งขึ้นเพื่อถวายเจ้านายพระองค์หนึ่ง เมื่อครั้งเสด็จเมืองสมุทรปราการ ทรงคำนึงถึงเรื่องสุบิน นายมีจึงแต่งขึ้นโดยดำเนินตามเรื่องสุบิน ก กา ของเดิมที่ครูได้แต่งไว้แล้ว ดังความว่า

๏ แจ้งอรรถพระบาททรง อนุสรณ์คะนึงหา
วันเมื่อเสด็จคลา นคเรศสมุทกาน
๏ จึ่งตั้งพยายาม อภิพัฒสืบสาน
ตามคำพระอาจารย์ บมิเพรงมโนเนา
๏ กอกกาสุบินนี้ จะเสาะสืบก็ยากเทา
จึ่งเทียบจำลองเลา อภิวาทถวายไท

ต่อจากนั้น จึงเริ่มเรื่อง สุบิน ก กา ด้วยบทประณามพจน์ หรือบทไหว้ครูแต่งเป็นกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ แล้วจึงเข้าเรื่องว่า มีเมืองใหญ่ชื่อว่า เมืองสาวะถี มีนายพรานสามีภรรยาคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนอกเมือง ประกอบอาชีพล่าสัตว์ทำบาปเป็นนิตย์ มีบุตรชายชื่อว่า สุบินกุมารเมื่อสุบินกุมารอายุได้ ๗ ปี บิดาก็ตายจากไป เหลือแต่มารดาหาเลี้ยงชีพโดยการเข้าป่าล่าสัตว์ สุบินกุมารปรารถนาจะบวชเป็นสามเณร จึงมาขอลามารดา แต่มารดาโกรธจึงไล่ออกจากบ้าน สุบินกุมารจึงไปบวชที่วัดใกล้บ้าน วันหนึ่งมารดาเข้าป่าแล้วเผลอนอนหลับไบใต้ต้นไม้ ยมทูตมานำตัวนางไปนรก ยมราชตรวจดูบัญชี เห็นว่านางทำแต่บาปไม่เคยสร้างบุญกุศล จึงให้ยมทูตนำตัวไปลงหม้อไฟนรก เดชะบุญที่สุบินกุมารบวชเณร จึงเกิดดอกบัวทองขึ้นรองรับมิให้นางตกต้องไฟนรก ยมราชจึงให้นำตัวนางกลับขึ้นมายังโลกมนุษย์ ให้นางนำเรื่องราวที่พบเจอในขุมนรกไปเล่าให้เพื่อนบ้านฟัง

ต่อมา เปรตบิดาได้มาหาสามเณรสุบินและเล่าความทุกข์ต่าง ๆ ให้ฟัง เณรสุบินนำความไปปรึกษาพระอาจารย์ พระอาจารย์แนะนำให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อแผ่กุศลไปถึงเปรตบิดา เมื่อเณรสุบินบวชเป็นภิกษุแล้ว เปรตบิดาก็พ้นทุกข์และได้บังเกิดเป็นเทวบุตรในสวรรค์ ส่วนภิกษุสุบินก็ศึกษาปฏิบัติพระธรรมจนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน

เรื่องสุบิน ก กา แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่นิยมใช้ในการแต่งบทหัดอ่านแม่ ก กา เช่น ประถม ก กาหัดอ่าน เสือโค ก กา กาพย์พระไชยสุริยา เป็นต้น กาพย์ที่พบในสุบิน ก กา มี ๓ ชนิดซึ่งในสมุดไทยเรียกชื่อต่างกัน ได้แก่ ๒๘ สูรางคะนาง ชื่อกาพย์ สูวัณณมาลา ซึ่งน่าจะหมายถึง กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ ปรากฏดังนี้

๏ หาหมอขอน้ำ  
ใส่เกล้าเป่าซ้ำ หมอยำให้ดู
เช้าตรู่เพลา ได้นาทีครู
ภิษุเจ้ากู อยู่ในผ้าไตร
๏ พอได้เวลา  
กุมาระโสภา ลีลาแต่ใน
คะภานารี มีศรีไฉไล
คฤๅชำภูวะไน มาไล้กายา

๑๖ ชื่อกาพยฉันทชะบำ ซึ่งหมายถึง กาพย์ฉบัง ๑๖ ดังนี้

๏ เดชะสีลาเจ้าไท ผู้เดโชไช
มะหานุภาวะคุณา  
๏ อุปะถำค้ำชูมาดา ที่ในนาระกา
หมีให้จะได้มีไภ  

๑๑ ชื่อกาพยสารวิลาสินี ซึ่งหมายถึง กาพย์ยานี ๑๑ ดังนี้

๏ ถ้าพ่อเณราข้า บะพะชาแม่ดีใจ
แม้ว่าแม่ประไล จะได้ไปสู่เทวา

นอกจากกาพย์ทั้ง ๓ ชนิดดังกล่าวแล้ว ท้ายเรื่องยังปรากฏคำประพันธ์ชนิด ร่ายสุภาพ โคลง ๒ และ โคลง ๕ สุภาพ เพื่อบอกวัตถุประสงค์และชื่อผู้แต่งไว้ด้วย

เรื่องสุบิน ก กา เป็นเครื่องบันทึกวัฒนธรรมของชาวบ้านสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น ตอนที่เณรสุบินบวชพระ ได้แสดงถึงธรรมเนียมปฏิบัติในงานบวช ตำรับอาหารชาวบ้าน ดังนี้

๏ เข้าปลาและน้ำยา อาหาราประดามี
ทำมาโอชาดี หมูฉู่ฉี่ดีน้ำปลา
๏ จี่พล่าซ่ากระทือ มีในมือถือเอามา
ยำแย้ยำเต่านา น้ำปะร้าเอาที่ใส

ตอนท้ายเรื่อง สุบิน ก กา คำประพันธ์บทหนึ่งได้กล่าวถึงการสวดร้องลำนำ ดังนี้

๏ ข้อหนึ่งจักให้มีเพียร ว่าพึงเล่าเรียน
ได้สวดได้ร้องลำนำ  

สวด ในที่นี้ ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการสวดทำนองใด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่องการสวดโอ้เอ้วิหารรายว่า น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีลายพระหัตถ์ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ ฉบับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่า

เค้ามูลของการสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้น หม่อมฉันไปรู้แจ่มแจ้งที่เมืองนครศรีธรรมราชโดยมิได้คาด ดูเหมือนได้เขียนทูลไปแต่ก่อนแล้ว จะทูลสนองแต่ส่วนสาขาคดีในจดหมายนี้ ที่มีเด็กสวดตามศาลารายในวัดพระแก้ว หม่อมฉันสันนิษฐานว่าเพิ่งจัดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเป็นปฐมที่โรงทานข้างประตูต้นสน ถึงเทศกาลที่ขุนทินขุนทานสวดมหาชาติคำหลวงในโบสถ์วัดพระแก้ว จึงโปรดให้จัดเด็กนักเรียนที่โรงทานมาสวด “โอ้เอ้วิหารราย” อย่างโบราณที่ศาลาราย เลยเป็นธรรมเนียมมาจนรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ หม่อมฉันเคยเห็นสวดอยู่แต่ตามศาลารายด้านเหนือในทางเสด็จพระราชดำเนิน คือว่าสวดถวายตัว เป็นเช่นนั้นมาจนตั้งกรมศึกษาธิการ เมื่อเลิกโรงเรียนที่โรงทาน หม่อมฉันจึงสั่งให้โรงเรียนชั้นประถมของหลวง ตั้งขึ้น ณ ที่ต่าง ๆ ให้จัดเด็กมาสวดโอ้เอ้วิหารรายแทนเด็กโรงทานโรงเรียนละศาลา จึงมีเด็กสวดทุกศาลารอบพระอุโบสถมาแต่นั้น...”

(สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๒๔, ๒๕๐๕ : ๒๓ - ๖๔)

ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายถึงการสวดโอ้เอ้วิหารรายนี้ว่า สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การสวดโอ้เอ้วิหารรายนี้ไม่ค่อยจะมีผู้ใดชอบฟัง เพราะฟังก็ไม่ใคร่จะเข้าใจดีนัก จึงโปรดให้จัดนักเรียนโรงทานอ่านหนังสือสวดตามที่ตัวเล่าเรียน โดยอ่านเป็นทำนองยานี ฉบัง สุรางคนางค์ ตามแต่จะถนัด และพระราชทานเงินรางวัล เพื่อเป็นการล่อใจให้นักเรียนขวนขวายฝึกซ้อมอ่านหนังสือ

จากคำประพันธ์ในสุบิน ก กา แสดงว่า ช่วงปลายรัชกาลที่ ๒ ยังคงมีการสวดโอ้เอ้วิหารรายอยู่ เมื่อมีการแต่งสุบิน ก กาแล้ว ก็น่าจะใช้เป็นบทสวดในเวลาต่อมาด้วย

ด้านคติความเชื่อ สุบิน ก กาเป็นหนังสือที่สืบทอดคติสำคัญของพุทธศาสนิกชนคือ อานิสงส์ของการบวช พุทธศาสนิกชนไทยเชื่อว่า อานิสงส์ของการบวชเณรจะได้แก่แม่ ส่วนการบวชพระจะได้แก่พ่อ รวมทั้งคติและธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ข้อควรปฏิบัติของศิษย์ที่ดี ถือเป็นการอบรมสั่งสอนจริยธรรมแก่เยาวชน ซึ่งคติความเชื่อนี้ยังคงสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

  1. ๑. วันแรมเจ็ดค่ำ เดือนแปด จุลศักราช ๑๑๗๙ จะตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๐

  2. ๒. ฉันท์ (ฉนฺโท) ในที่นี้ หมายถึง คำประพันธ์ที่ได้แบบอย่างจากตำรากาพยสารวิลาสินี ซึ่งเป็นตำราแต่งกาพย์ และน่าจะเป็นตำราแต่งฉันท์ด้วย -- พระราชเวที (สุรพล ชิตญาโณ ป.ธ. ๙ วัดพระเชตุพน) แปลและอธิบายความ

  3. ๓. พระราชเวที (สุรพล ชิตญาโณ ป.ธ. ๙ วัดพระเชตุพน) - แปล

  4. ๔. ธนิต อยู่โพธิ์, “ประวัตินายมี หมื่นพรหมสมพัตสร” อ้างถึงในหนังสือ เสือโค ก กา.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ