วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ น

บ้านปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๗๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

เรื่องซุ้มพระบัญชรเกิดเป็นปัณหายุ่งยากขึ้นในใจเสียแล้ว จะกราบทูลเรื่องพระที่นั่งพุทไธศวรรย์เสียก่อน รูปภาพที่เขียนผนังกับทั้งลวดลายเพดานเป็นฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ ๑ แน่นอน ไม่มีสงสัยเลย ส่วนภายนอกเสาเฉลียงสี่เหลี่ยมโตๆ เป็นแบบรัชกาลที่ ๓ หลังคาเฉลียงมีคอสองมีไม้เชิงกลอนตั้งเหมือนกับพระเมรุพิมาน (วัดบวรสถาน) ไม่ผิดกันเลย และมีอยู่ ๒ แห่งเท่านั้น ย่อมพยากรณ์ได้ว่าพระที่นั่งพุทไธศวรรย์นั้น ในประธานเป็นของทำครั้งรัชกาลที่ ๑ เฉลียงในรัชกาลที่ ๓ กรมศักดิ์เป็นผู้ทรงทำต่อ หรือมิฉะนั้นก็ทำแปลง

ทีนี้จะทูลด้วยเรื่องซุ้มพระบัญชร เกล้ากระหม่อมซ่อมหอพระนากเปลี่ยนทับหลังไม้บัญชรเป็นคองกรีต ในการที่ทำเช่นนั้น ลายปูนปั้นก็แตกออกมาบ้าง ช่างผู้ซ่อมเก็บส่งไปที่ศิลปากรสถาน ให้ทำพิมพ์ลายใหม่เพื่อจะได้ประดับซ่อมแซม เกล้ากระหม่อมพิจารณาเห็นลายเลวเหลือที่จะเลว จึ่งคิดจะแก้ไขให้ดีขึ้นสักหน่อย แต่ทำอย่างไรจึงจะดี ตามคติของเกล้ากระหม่อมเคยเที่ยวดูตัวอย่างในสถานที่หลาย ๆ แห่งมาเป็นความคิด ทีแรกได้ไปดูที่วิหารพระธาตุในวัดมหาธาตุก่อน ด้วยหวังว่าจะเป็นซุ้มแบบเก่าครั้งรัชกาลที่ ๑ แต่ไปดูก็ไม่ได้ความพอใจเห็นว่าไม่เก่า จึ่งไปดูที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ เห็นยิ่งใหม่ลงมาอีก จึงสันนิษฐานว่า เดิมเห็นจะไม่มีซุ้มอย่างพระวิมานสามหลัง ข้อนี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงสถานที่ซึ่งจะมีซุ้มเก่าที่สุดดูเป็นตัวอย่าง แต่ก็นึกหาออกไม่

ได้ลองคิดถึงรากแก้วของซุ้มบัญชร ครูเดิมทีเดียวคือเขมรทำบัญชรไม่มีซุ้มเลย มีแต่กรอบกับลูกกรง จึ่งได้ชื่อว่าบัญชร เมื่อเราถ่ายมาทำในเมืองไทย ชั้นแรกก็เจาะผนังเป็นลูกกรง เช่นวัดหน้าพระเมรุ วัดไล วัดพระชินราช และที่อื่นอีกมาก ไม่มีซุ้มทั้งนั้น ตามคติครูเดิมเห็นทำซุ้มแต่ประตู หน้าต่างพลอยมีซุ้มขึ้นด้วย จะมีขึ้นเมื่อไร ยังไม่เคยสังเกตเลย จะได้จับสังเกตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป กราบทูลไว้ให้ทรงทราบ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ทรงหมายถึง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๓

  2. ๒. หอพระนากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ