ภาคผนวก ๑ กล่าวด้วยนาฏกะ

(คือลครอย่างมัธยมประเทศ)

นาฏกะ

คือลครที่เล่นในมัธยมประเทศ อันเปนแผนแห่งลครไทย

----------------------------

การเล่นลครนี้ ที่จริงก็น่ารู้อยู่ว่า เริ่มขึ้นอย่างไร แต่ก็ย่อมจะเปนการยากอยู่เองที่จะรู้ได้เปนแน่นอน เพราะได้เริ่มมาเสียช้านานเต็มทีแล้ว ตามความเห็นของนักปราชญ์ยุโรป ซึ่งเอาใจใส่ในโบราณคดีและวรรณคดี (ค้นหนังสือเก่าใหม่) กล่าวว่า ในชั้นต้นการเล่นเต้นรำหรือลคร ที่สำหรับบำรุงความเพลิดเพลินอย่างเดียวนั้นไม่มี ย่อมหวังประโยชน์อย่างใดอย่าง ๑ ด้วย ก่อนอื่นคงเกิดมีการขับร้องเปนบทกลอน และบทกลอนคงแบ่งได้เปนสามประเภท คือ

๑) บทกลอนกล่าวด้วยสิ่งซึ่งเปนไปในโลกโดยอำนาจอันเข้าใจไม่ได้ จึ่งเปนที่น่าพิศวง บทกลอนเหล่านี้ก็คงจะกล่าวด้วยคุณแห่งดินน้ำลมไฟและอากาศ คนเราได้อาไศรยอย่างไรเปนผลดีอย่างไร และเมื่อนึกไปเช่นนั้นแล้วก็ต้องเลยนึกต่อไปว่า การที่เปนไปโดยธรรมดาเอง เช่น ฝนตก แดดออก กลางวัน กลางคืน เปนต้น เหล่านี้ น่าจะมีผู้บันดาลให้เปนไปจึ่งเปนไปได้ จึ่งเกิดมีความเชื่อถือในเทวดาผู้มีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกแดดออกหรือไฟลุกลมพัดเปนต้น และเมื่อเชื่อเช่นนั้นแล้วก็ต้องสรรเสริญด้วยวาจาอันดี สำเนียงอันไพเราะ หรือพูดกันตรง ๆ ต้องยอให้พอใจ นี้เปนต้นเหตุแห่งคีตาหรือฤก คือบทสรรเสริญหรือยอต่าง ๆ บทเหล่านี้รวบรวมกันเข้าเปนสํหิตา และเปน ฤคเวท ยัชุรเวท สามเวท และ อถรรพเวท เปนต้น แล้วก็แตกกิ่งก้านสาขาสยายมากออกทุก ๆ ที บทกลอนประเภทนี้ คงเปนอันสรุปความได้ว่า (ก) สำหรับสรรเสริญพระผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ ผู้เปนบุพการี เพื่อให้ปรากฎความกตัญญูและภักดี แล (ข) เปนวิธีรวบรวมลักษณะบูชาและสรรเสริญ ตลอดจนถึงลัทธิและธรรมวินัยกิจวัตร์ต่าง ๆ หนังสือข้างฝ่ายพระพุทธศาสนาก็มีโดยมากที่แต่งเปนกาพย์ โดยเนื่องมาจากประเพณีเดิมของพวกพราหมณ์อันกล่าวมาแล้วนี้เอง

๒) บทกลอนกล่าวเชิดชูเกียรติคุณแห่งวีรบรุษ เล่าถึงกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำมาแล้วเปนอย่างไรบ้าง ความมุ่งหมายก็คือจะให้เตือนใจผู้ที่ฟัง ให้มีมานะตั้งใจเอาอย่างวีรบุคคลนั้น ๆ หรืออย่างน้อยให้มีความภาคภูมิในใจ ว่าได้มีคนที่กล้าหาญอดหนและเก่งเช่นนั้นอยู่ในตระกูลหรือคณะของตน หนังสือรามายณและมหาภารตเปนตัวอย่างแห่งหนังสือชนิดนี้

๓) บทกลอนขับร้องเพื่อให้ยั่วยวนใจ บำรุงความสำราญ เช่น กล่อมให้นอนหลับ หรือยั่วในทางความรักใคร่เปนต้น บทกลอนชนิดนี้ บังเกิดมีขึ้นเมื่อเกิดกวีช่างประพันธ์ถ้อยคำที่ใช้พูดให้เปนกาพย์ ทำให้น่าฟังน่าจับใจมากขึ้นกว่าที่จะพูดไปตามปรกติ

ตามข้อความที่ได้กล่าวมาแล้ว จะแลเห็นได้ว่า บทกลอนเริ่มด้วยใช้ในกิจการอันสูงแล้วค่อย ๆ หย่อนลงมาเปนลำดับตามเลข ๑-๒-๓ นั้น จนในที่สุดการร้องขับลำเปนสิ่งซึ่งแยกไม่ออกจากการบำรุงความเพลิดเพลินในกามคุณารมณ์แล้ว พระพุทธศาสนาจึ่งเลยห้ามส่งมิให้ผู้บวชร้องขับลำ และสอนคฤหัสถ์อยู่เสมอ ๆ ว่า การขับลำเปนของไม่ดีอันหนึ่ง ซึ่งถ้ากระทำให้ห่างและน้อยได้เท่าใดเปนดี ข้อนี้อุปรมาฉันใด ในส่วนการฟ้อนรำหรือเล่นลครก็เปนฉันนั้น เพราะไม่ต้องสงสัยเลยว่าบทลครมีกำเนิดมาจากการขับร้องต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น คือเริ่มจากเปนบทสรรเสริญปลีก ๆ แล้วจึ่งเกิดมีเปนเรื่องราวติดต่อกันยืดยาวขึ้น มีเปนเรื่องราวแทรกอยู่ในตำหรับตำรา อย่างเช่นเรื่องปุรูรพและอูรวศีในฤคเวทเปนต้น เรื่องแทรกชนิดนี้เรียกว่า “อาข๎ยาณ” หรือ “อุปาข๎ยาณ” แล้วต่อลงมาพวกเรื่องเกร็ดเหล่านี้ มีผู้ชอบฟังมากขึ้น ทั้งพวกพราหมณ์ผู้เปนอาจารย์สังเกตเห็นว่า การสั่งสอนคติใด ๆ ถ้าเล่าให้ศิษย์ฟังเปนนิยายก็มักจะทำให้จับใจจำแม่นยำ ฝังอยู่ดีกว่าที่จะให้ท่องไปเปล่า ๆ จึ่งเกิดมีพวกเรื่องชนิดหนึ่ง ซึ่งฝ่ายพุทธศาสน์ของเราเรียกว่า “ชาดก” แต่ซึ่งเปนนิทานที่มีอยู่แต่ก่อนพุทธกาลแล้ว ต่อๆ มานิทานชนิดชาดกนั้นยาวออกทุกที จนถึงมีหลาย ๆ บรรพ เช่น มหาเวสสันตรชาดกเป็นตัวอย่าง และข้างพราหมณ์ยังเดินต่อไปเปนหนังสือจำพวกที่เรียกรวมว่า “ปุราณ” และเปนรามายณและมหาภารตเปนต้น

ส่วนที่การเล่นลครจะเกิดขึ้นต่อมาอย่างไรนั้น ตรองดูนิดเดียวก็จะแลเห็นได้ เพราะไม่ต้องแลดูให้ไกลไปปานใด ดูเพียงในเมืองเราเองก็พอแล้ว แรกก็เริ่มด้วยการอ่านหนังสือเปนคำโต้ตอบกัน อย่างเทศน์มิลินทปัญหาและมโหสถเปนต้น ที่จริงเทศน์มโหสถนั้น ถ้าพิจารณาดูแล้ว ก็คล้าย ๆ ละครชนิดที่ชอบเล่นกันอยู่ในสมัยนี้ คือลครพูดนั้นเอง ขาดอยู่ก็แต่ยังไม่ได้ออกท่าเท่านั้น ถ้าต่างว่าไม่มีพระวินัยบัญญัติห้ามมิให้พระภิกษุเล่นลครแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่รู้สึกประหลาดใจเลยในการที่จะได้ดูลครเรื่องพระมโหสถ หรือแม้เรื่องพระเวสสันตรชาดก เพราะเรื่องกากี ซึ่งเปนเรื่องชาดกอัน ๑ ชื่อ “กากาติชาดก” ก็เล่นลครได้แล้ว เพราะฉนั้น ดูไม่มีที่ควรสงไสยเลยว่า การเล่นลครได้เดินมาจากการกล่อมสรรเสริญพระเปนเจ้า แล้วถึงสวดหรือเทศน์ซ้อน จนถึงออกท่ารำเปนที่สุด

การรำเฉย ๆ นอกจากที่รำเปนเรื่องเปนราวน่าจะมีต่างหาก คือมีอยู่แล้วแต่ก่อนนำการรำเข้ามาผสมกับเรื่องเปนลคร และการรำก็น่าจะแบ่งเปน ๒ ประเภท คือรำบูชาประเภท ๑ รำบำเรอประเภท ๑ แต่จะได้แยกกันออกเมื่อใด และอะไรจะเกิดก่อนเกิดหลังก็ให้การไม่ได้

โปรเฟสเซอร์ อาว์เธอร์ เอ. แมคคอนเนลล์ อาจารย์สังสฤตณมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอด ได้แต่งหนังสือไว้เล่ม ๑ ชื่อ “ตำนานวรรณคดีสังสกฤต” (History of Sanskrit Literature By Arthure A Macdonnell, M. A., Ph. D., Corpus Christi College. Oxford: Boden Professor of Sanskrit and Fellow of Balliol College) บริเฉทที่ ๑๓ มีข้อความกล่าวด้วยบทลครภาษาสังสกฤตโดยพิศดาร ดังข้าพเจ้าจะได้เก็บข้อความลงไว้ในที่นี้บ้างดังต่อไปนี้

ในข้อว่าด้วยกำเนิดแห่งลคร อาจารย์แมคดอนเนลล์ได้อธิบายไว้ว่า คำว่า นักรำ (นฏะ) และบทลคร (นาฏกะ) มีมูลมาจากคำว่า “นัฏ” เปนคำปรากฤตฤๅภาษาสามัญอันเนื่องจากคำสังสกฤตว่า “น๎ฤต” แปลว่า รำ ตรงกับคำภาษามคธว่า “นัจจ” และซึ่งตามภาษาฮินดี (คือภาษาที่พูดกันในอินเดียในปัตยุบันนี้) ใช้อยู่ว่า “นาจ” หรือ “นอจ” การรำนี้เอง อาจารย์แมคดอนเนลล์เห็นว่าเปนประถมมูลแห่งนาฏกะแห่งมัธยมประเทศ ข้าพเจ้าขอคัดความเห็นของท่านอาจารย์นั้มาลงต่อไปดังนี้

“ในชั้นต้นคงจะมีแต่การออกท่าทางอย่างง่าย ๆ มีการเอี้ยวเอนร่างกาย ผสมกับการทำท่าเลียนด้วยมือและหน้า ไม่ต้องสงสัยเลย การขับรำคงจะได้ใช้เปนเครื่องประกอบการรำเช่นนี้มาแต่ในชั้นต้น ศัพท์ว่า ภรต อันเปนนามแห่งผู้ที่สมมติว่าเปนผู้คิดนาฏกะขึ้น ซึ่งในภาษาสังสกฤตแปลว่านักรำนั้น ในภาษาอื่น ๆ ใช้แปลความว่า นักร้อง เช่นคำ “ภโรต” ในภาษาคูชรตีเดี๋ยวนี้เปนต้น การเพิ่มเติมคำพูดขึ้นนั้นเปนชั้นที่สุดในความจำเริญ ซึ่งเปนไปในอินเดียคล้าย ๆ ในประเทศกรีซ ชั้นตัน (แห่งการเล่นลคร) นี้ ยังมีตัวอย่างอยู่ คือ ยาตรา ในแคว้นปังกลี และ คีตโควินท์ นี้ เปนหัวต่อที่นำไปถึงนาฏกะสังสกฤต ชนิดที่มีกาพย์และคำเจรจาผสมกัน (เรื่องคีตโควินท์ดูในอภิธานต่อไป)

“ข้อความที่กล่าวถึงลครที่เล่นเปนชั้นแรกที่สุด มีอยู่ในหนังสือมหาภาษย์ ซึ่งกล่าวถึงการเล่นเรื่อง กํสวัธ (“การฆ่าพญากงส์”) และพลิพันธ์ (มัดท้าวพลี) อันเปนเรื่องในตำนานพระกฤษณ ข้างประเทศอินเดียมีข้อบอกเล่ากันต่อ ๆ มาว่า พระภรตได้จัดเรื่องลครรำถวายพระเปนเจ้าทั้งหลายเรื่อง ๑ เปนเรื่องสวยัมพรพระลักษมีผู้เปนมเหษีพระพิษณุ คำเล่ายังมีต่อไปว่า พระกฤษณและเหล่าโคปี (นางเลี้ยงโค) ทั้งหลายเปนผู้ริการสังคีต คือการเล่นชนิดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ลำ เพลง และรำ เรื่องคีตโควินท์ เปนเรื่องเนื่องด้วยพระกฤษณ และลครยาตราอย่างใหม่นี้ ก็มักจะเปนเรื่องเนื่องด้วยส่วน ๑ ส่วนใดในตำนานแห่งพระกฤษณนั้น อาไศรยเหตุเหล่านี้จึ่งน่าจะคะเนว่า การลครในอินเดียจะได้เกิดขึ้นโดยเนื่องแต่การบูชาพระกฤษณาวตาร และลครรำที่ได้มีเปนครั้งแรก น่าจะเปนลครอันเนื่องด้วยศาสนา เหมือนอย่างลครมัธยมสมัยแห่งศาสนาคฤสตัง จะเปนลครที่เล่นเรื่องส่วนใดส่วน ๑ อันเนื่องด้วยพระเปนเจ้า โดยใช้ร้องและรำเปนพื้น มีคำเจรจาเปนร้อยแก้วซึ่งตัวลครคงคิดพูดเอาเอง”

ตามความเห็นและข้อความที่อาจารย์แมคดอนเนลล์กล่าวมา ซึ่งได้นำมาลงไว้ข้างบนนี้ ขอเชิญให้ท่านผู้อ่านสังเกตว่า มีข้อความอันเนื่องมาถึงลครไทยเรา ๒ ประการ กล่าวคือ

๑) ตามความนิยมในมัธยมประเทศเขาว่า พระภรตมุนีเปนประถมาจารย์แห่งลคร เปนผู้คิดการเล่นลครขึ้น ท่านผู้นี้ปรากฎว่าเปนผู้แต่งตำหรับอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า คานธรรพเวท อีกนัย ๑ เรียกว่า นาฏยศาสตร์ (ตำรารำ) หรือ ภรตศาสตร์ ตามชื่ออาจารย์ ที่เรียกคานธรรพเวทนั้น เพราะพวกคนธรรพเปนพวกนักร้องนักรำอย่างเก่ง และที่เรียกยกย่องเปนเวทนั้น เพราะเห็นว่าเปนวิชา (ไซเอนซ์) สำคัญอย่างยิ่งอัน ๑ ในเมืองไทยเราพวกที่เปนโขนเปนลคร ถึงแม้ที่เปนชั้นครูบาอาจารย์ในวิชารำก็ดี ข้าพเจ้ายังไม่พบเลยที่บอกได้ว่าประถมครูของลครนั้นคือใครชื่ออะไร บอกได้แต่ว่า เวลาไหว้ครูต้องเอาหัวฤษีตั้ง เพราะฉนั้นแปลว่าฤษีคือตัวครูเถ้าครูใหญ่ แต่ถ้าจะไล่เลียงต่อไปว่า ทำไมจึงถือเอาฤษีเปนครูใหญ่เช่นนั้น ก็ชักจะโมโยโมเย ทำทีเหมือนหนึ่งว่ารู้ดอกแต่จะบอกคนที่ไม่ใช่พวกพ้องและมิได้เปนละเม็งลครก็จะเอาไปดูถูกเล่นฉนี้ แต่แท้จริงข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่รู้ เพราะคงเลือนกันมาเสียหลายชั่วคนแล้ว เพราะฉนั้นในที่นี้ข้าพเจ้าผู้มิใช่ลครจึงจะขอบอกแทนว่า ฤษีตัวครูที่นับถือกันนักนั้นไม่ใช่คนอื่น คือพระภรต นี้แล

อนึ่งไหน ๆ ก็ได้อวดรู้เรื่องครูลครมาราย ๑ แล้ว ข้าพเจ้าขอเลยอวดรู้เรื่องครูปี่พาทย์เสียด้วยอีกราย ๑ ท่านครูปี่พาทย์นั้นนักเลงปี่พาทย์ว่าชื่อ “พระประโคนธรรพ” ข้าพเจ้าขอบอกกล่าวว่า ตัวพระประโคนธรรพไม่มี ศัพท์ว่า “ประโคนธรรพ” นี้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเลือนมาจากศัพท์ “ปรคนธรรพ” แปลว่ายอดคนธรรพ และถ้าเปนเช่นนี้แล้วก็รับบอกตัวได้ทันที คือ พระนารท (ซึ่งปากตลาดชอบเรียกว่า “นารอด”) นั้นเอง เพราะท่านผู้นี้ในว่า ๆ เปนผู้คิดพิณขึ้น และเปนนักร้องนักดนตรีจึงได้นามว่า เทพยคนธรรพบ้าง คนธรรพราชบ้าง ปรคนธรรพบ้าง เพราะเปนผู้ชำนาญเก่งในวิชาของคนธรรพ คือการขับร้องและดีดสีตีเป่าดังนี้ เปนอันลงรอยหมด

๒) ข้อที่ว่าลครอินเดียโบราณ จะเปนลครอันมีบทร้องเปนพื้น รำใช้บท และมีเจรจาเปนตอน ๆ นั้น ก็คือเปนอย่างมโนราที่ยังคงเล่นอยู่ที่ทางมณฑลปักษ์ใต้นั้นเอง คือตัวลครเห็นจะร้องเอง มีลูกคู่รับ แบบมโนรานั้นเชื่อว่าได้มาจากมัธยมประเทศเปนแน่ ถ้ายิ่งพิจารณาดูเรื่องที่ใช้เล่นลครในเมืองไทยเรานี้ จะเห็นได้เปนพยานชัดว่า เรื่องมาจากมัธยมประเทศทั้งสิ้น ข้อนี้ไม่เปนที่น่าอายอันใด เพราะไทยเราเปนพวกนักรบแท้ จึ่งไม่มีเวลาจะคิดแต่งบทกลอนหรือคิดแบบละเม็งลครอะไร จนลงมาทางทิศใต้จึ่งมาประสบพบความรุ่งเรืองอันมาจากทางมัธยมประเทศ ก็รับเอาของเขามาทั้งสิ้น ไม่ได้พยายามคิดใหม่ ไม่ใช่แต่มโนราเท่านั้นที่จะเปนของที่ไทยเราเอาอย่างอินเดีย ถึงโขนและลครร้องก็ได้เขาเปนครูเหมือนกัน ดังข้าพเจ้าจะแสดงให้ปรากฎต่อไป

วิชาเล่นลครในมัธยมประเทศ หรือเรียกตามภาษาของเขาว่า นาฏยวิทยา นั้น ได้มีความจำเริญรุ่งเรืองขึ้นเปนลำดับในระหว่าง ๑๐๐๐ ถึง ๑๓๐๐ ปีล่วงมานี้แล้ว นาฏวิทยาถึงซึ่งความรุ่งเรืองอย่างสูงแล้ว ดังมีพยานปรากฎอยู่ที่หนังสือบทลครต่างๆ ซึ่งยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้ ทั้งมีตำหรับตำราว่าด้วยวิธีประพันธ์กาพย์กลอนบทลคร ตลอดจนมีกำหนดวิธีผูกเรื่องและบอกประเภทแห่งนาฏกะต่าง ๆ เช่นมีตำราฉบับ ๑ ชื่อ สาหิตยทรรปนะ (แปลว่ากระจกเงาแห่งการแต่งหนังสือ) ซึ่งแบ่งนาฏกะเปนประเภทใหญ่ ๒ ประเภท เรียก รูปะกะ ประเภท ๑ ซึ่งเปนลครชั้นสูง อรูปะกะ อีกประเภท ๑ เปนลครชั้นต่ำ ประเภทรูปะกะนั้นมี ๑๐ ชนิด อรูปกะ ๑๘ ชนิด

ลักษณะอันหนึ่ง ซึ่งเรื่องลครสังสกฤตเปนอย่างเดียวกับลครไทย คือไม่มีเลยที่จะจบร้าย ถึงแม้ว่าจะมีเหตุร้ายแรงต้องเศร้าโศกเสียใจ หรือพลัดพรากจากกันไปอย่างไร ๆ ก็ตาม ในที่สุดพระเอกกับนางเอกคงต้องได้มีความสุข แต่ของเขายังไปแรงกว่าของเราไปอีก คือของเขาไม่มีเลยที่จะเล่นกิจการอันใดที่นับว่าร้ายกาจหรือรุนแรงต่อหน้าคนดู เช่นรบกันฆ่าฟันกันตายเปนต้น เขาสมมติเอาว่ากิจนั้น ๆ ได้เปนไปข้างหลังโรง คงมีแต่ตัวลครตัวใดตัว ๑ มาเล่าเรื่องเท่านั้น บางทีก็มีแต่เสียงร้องหรือพูดจาหลังฉากด้วยซ้ำ การใช้วาจาอันรุนแรง เช่นแช่งด่าหรือขับไล่เขาก็ไม่ใช้ เช่นในเรื่องศกุนตลา ตอนฤษีทุรวาสมาแช่งนางนั้น ตัวฤษีมิได้ออกมาเลย ได้ยินแต่เสียงพูดจากในโรงเท่านั้น ถึงแม้ตอนสังวาสหรือเข้าห้องก็มิได้เล่นกลางโรงเลย

ส่วนบทลครนั้น อาจารย์แมคดอนเนลล์อธิบายว่า ต้องแต่งให้ภาษาพูดต่าง ๆ กัน ตามที่สมควรแก่ชั้นแห่งบุคคล บรรดาพระเอก กษัตริย์ พราหมณ์ และคนชั้นสูงพูดภาษาสังสกฤต นางและผู้ชายชั้นต่ำพูดปรากฤต (คือภาษาสามัญไม่ใช่ภาษานักเรียน) แต่แม้ในหมู่คนที่พูดปรากฤตนั้นก็ยังมีต่างๆ กันไปอีก คือ นางใช้ภาษามหาราษฏรีในที่เปนบทลำ แต่ในบทร่ายใช้ภาษาเศารเสนี และเด็กกับนางกำนัลก็ใช้เศารเสนี เสนาใช้ภาษามคธ คนจรจัดและนักเลงเล่นเบี้ยใช้ภาษาอวันตี โคบาลใช้ภาษาอภีรี คนเผาถ่านใช้ภาษาไปศาจี (ภาษาผี คือ ภาษาต่ำ) และคนไพร่และเลว ๆ กับพวกคนป่าคนดงใช้ภาษาอัปะภรังศะ

ส่วนเรื่องที่ใช้เล่นลครนั้น มักเก็บจากหนังสือพงศาวดารหรือตำนานหรือชาดก ในข้อนี้ก็ตรงกับของเรา ส่วนพระเอกนางเอกมักเปนกษัตวีย์ ซึ่งตกทุกข์ได้ยากต่าง ๆ และเพื่อมิให้คนดูเบื่อ จึ่งมักมีตัวลครตัวหนึ่งเรียกว่า “วิทูษก” เปนตลกหลวง สำหรับเปนผู้ติดต้อยห้อยตามพระเอกไป และคอยสอดเล่นตลกอะไร ๆ เรื่อย ๆ ไป แต่คำพูดนั้น อ่านเข้าแล้วก็ไม่ใครจะออกรสขบขันอะไรเลย เช่นในเรื่องศกุนตลาก็มีวิทูษกตัว ๑ ชื่อมาฐัพย์ (แต่ข้าพเจ้าตัดออกเสีย เพราะเห็นไม่จำเป็นอันใด และตัดออกแล้วก็ไม่ได้ทำให้ความในเรื่องเสียไปเลย) ข้อควรสังเกตอันหนึ่ง คือตัววิทูษกนั้นมักเปนพราหมณ์ ซึ่งถ้าจะคิดไปดูพวกพราหมณ์ไม่น่าจะยอมให้เปนไป เพราะดูออกจะเสียรัศมีเต็มที

เรื่องลครสังสกฤตทุกเรื่องต้องเริ่มด้วยคำให้พร เรียกว่า นานที แล้วจึ่งมีตัวผู้จัดการโรงออกมาพูดโต้ตอบกับตัวลครสักคน ๑ หรือ ๒ คน ความประสงค์คือจะเล่าว่าบทนาฏกะนั้นใครเปนผู้แต่ง และพยายามที่จะให้คนดูชอบ พูดจาชมเชยคนดูว่าเปนผู้ที่ฉลาดไหวพริบดี คงจะรู้จักดูของดี และอธิบายถึงเรื่องที่จะเล่นพอสมควร แล้วจึ่งลงมือจับเรื่องต่อไป ลครเรื่อง ๑ ๆ มักแบ่งเปนชุด ๆ และชุด ๑ ๆ สมมตว่ากล่าวด้วยกิจการงานอันเปนไปในสถานใดสถาน ๑ จนตลอดจบชุดจึ่งแปรสถาน ในเมื่อจะเปลี่ยนชุดใหม่บางทีก็มีชุดแทรก เรียกว่า วิษกัมภะ หรือ ประเวศะกะ จะมีตัวลครออกมาพูดคนเดียว หรือจะเปนพูดกันหลาย ๆ คน อย่างเช่นชุดจับชาวประมงในเรื่องศกุนตลานั้นก็ได้ ในชุดแทรกนี้มักกล่าวถึงกิจการที่ได้เปนไปแล้วในระว่างชุดที่จบลงแล้วกับชุดที่จะเล่นต่อไป เพื่อเชื่อมหัวต่อระหว่างชุด ในที่สุดแห่งเรื่องจึ่งมีบทสรรเสริญเทวดาองค์ใดองค์ ๑ ตัวลครตัวสำคัญตัว ๑ เปนผู้กล่าวคำสรรเสริญนั้น

การให้พรข้างต้นนั้น ตรงกับบทไหว้ครูของพวกมโนรา เปนธรรมเนียมพวกมโนรา ถ้าไม่ได้ไหว้ครูก่อนแล้วไม่ลงมือเล่น จึ่งเข้าใจว่าคงจะจำอย่างครูเขามานั้นเอง ส่วนการสรรเสริญในสุดท้ายนั้น คือเนื่องมาจากการเล่นเปนเทพบูชา การเล่นลครเปนเทพบูชานี้ ก็ยังมีติดมาในเมืองเราจนบัดนี้ คือการมีลครสังเวยแก้สินบนหรือในงานมงคล เช่นโกนจุกและทำบุญบ้าน ซึ่งเปนงานอันสมมุติว่าเชิญเทวดามาสโมสรสันนิบาตด้วย จึ่งต้องมีลครถวายเพื่อท่านเห็นเรื่องราวของท่านหรือพวกพ้องของท่าน ท่านจะได้รื่นรมย์ และการฉลองอะไร ๆ ทั้งนั้นก็มักต้องมีลคร กับเมื่อกล่าวมาถึงการเล่นลครในการมงคลต่าง ๆ พาให้ข้าพเจ้านึกถึงข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า อันมีข้อความอยู่ว่า “ศักราช ๘๓๘ ปีวอกอัฐศก ท่านประพฤติการเบญจาเพส พระองค์ให้เล่นการดึกดำบรรพ์” (ในต้นแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒) ฉนี้จะมุ่งความว่าทำอะไรกัน ได้เคยโจทย์ ๆ กันอยู่ในหมู่นักเลงโบราณคดีคงลงความเห็นกันว่า เห็นจะเล่นลครเรื่องรามเกียรติ์ ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเปนจริงเช่นนั้น คือ คงเล่นลครตามแบบดึกดำบรรพ์อย่างแบบโบราณที่เขาเล่น และเรื่องนั้นถ้าไม่เปนรามเกียรติ์ก็คงอนิรุทธ์ (อุนรุท) อันเปนเรื่องเนื่องด้วยตำนานพระกฤษณาวตาร เปนอันเข้าแผนข้างครูที่เขาเล่นยอพระเกียรติพระนารายน์ปางใดปางหนึ่ง คงไม่ใช่เล่นเรื่องเบ็ดเตล็ดอันไม่เกี่ยวแก่เรื่องของพระเปนเจ้า แต่วิธีเล่นเห็นจะไม่เปนอย่างโขน ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเปนอย่างมโนรา คือหัวโขนคงไม่ใส่ หากจะมีอย่างมากก็เพียงหน้ากากครึ่งหน้าอย่างพรานของมโนรา ซึ่งไม่กีดแก่การร้องหรือเจรจาเอง ส่วนข้อที่ลครอย่างดึกดำบรรพ์เดินมาเปนโขนและลครรำอย่างไร ขอพักไว้อธิบายข้างหน้า ในที่นี้จะขอต่อถึงเรื่องนาฏกะของมัธยมประเทศให้สิ้นกระแสความก่อน

การแบ่งเรื่องลครเปนชุด ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น อาจารย์แมคดอนเนลล์กล่าวว่ามีต่าง ๆ กัน มีตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ ชุด แล้วแต่ลักษณะแห่งเรื่อง เช่นเรื่องชนิดที่เรียกว่า นาฏิกา มี ๔ ชุด และชนิดที่เรียกว่า ประหัสนะ (ลครตลก) มีชุด ๑ ฉนี้เปนต้น ส่วนโรงแลวิธีเล่นนั้น ก็เปนอย่างลครไทยเรา คือไม่มีโรงปลูกเปนสถานประจำ มักเล่นในสังคีตศาลาในวังเจ้านาย มีฉากกั้นเปนน่าโรงหลังโรง หลังฉากเรียกว่า “เนปัถย์” ซึ่งเปนที่แต่งตัวแลพักตัวละคร ถ้าเมื่อใดตัวลครจะต้องออกโดยกิริยาอันรีบร้อน มีคำแนะนำไว้ว่า ให้ “ปัดม่าน” ส่วนเครื่องโรงก็มีเตียงและรถเปนสำคัญ รถก็ใช้คนแต่งเปนม้าลาก

ตามข้อความเหล่านี้เห็นได้ว่า ทั้งโรงแลวิธีเล่นก็เปนไปเหมือนลครไทยเรานี้เอง เปนพยานแน่ชัดว่าเขาเปนครูเรา มโนรานั้นแหละน่าจะใกล้แบบเดิมของเขามาก แต่ขาดฉากไปเท่านั้น แต่วิชาลครของเราก็มีเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปบ้างเหมือนกัน เพื่อให้เหมาะแก่ความพอใจของเจ้าของลครและคนดู ทางที่ดำเนินจากแบบเดิมมาเปนโขนและลครรำนั้นน่าจะเปนดังนี้ คือเมื่อวิชาช่างทำหน้ากากเจริญขึ้น ทำหัวโขนได้ดีขึ้น จนสรวมหัวได้แล้ว ตัวโขนจะร้องหรือเจรจาเองก็ย่อมจะเปนการขัดขวางอยู่เอง จึงเกิดต้องมีคนพากย์และเจรจาแทน ตัวโขนเปนแต่เพียงทำบทไปตามคำ ภายหลังถึงแม้มีร้องเปนร่ายเปนลำ ก็ใช้คนอื่นร้องแทนต่อมา และถึงแม้ลครที่เปิดหน้าพอจะร้องได้เองก็เห็นว่า การรำก็เหนื่อยพออยู่แล้ว ยิ่งจะต้องร้องด้วยก็เหนื่อยมากขั้น จึงเปนอันให้คนอื่นร้องแทนไป เปนการสดวกดี มีบางท่านกล่าวว่า โขนจะเกิดมาจากหนัง คือเล่นหนังจืด ไม่กระดิกกระเดี้ยอะไร จึ่งให้คนแต่งตัวออกมาเล่นหน้าจยอ แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเปนตรงกันข้าม คือโขนหรือลครอย่างดึกดำบรรพ์นั้นจะมีก่อน ต่อมาเมื่อหาคนเล่นลครให้มาก ๆ ไม่ได้ จึงคิดหนังขึ้นแทน แต่คราวนี้ยอมรับว่าเข้ารอยตามความคิดเรื่องเบื่อหนัง จึ่งกลับให้เล่นอย่างดึกดำบรรพ์ตามเดิม

ส่วนลครที่เปนผู้ชายหรือผู้หญิงนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าในชั้นต้นไม่มีเล่นผสมโรงกันเลย ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้เล่นลครน่าจะเปนผู้ชายทั้งนั้น ส่วนผู้หญิงจะเปนแต่นางระบำ คือรำเล่นเฉภาะในบ้านไม่ไปออกโรงที่อื่น และคงจะรำเฉภาะบำเรอผู้เปนนายบ้านและแขกที่จะเชิญมากินเลี้ยงบ้างเท่านั้น ในกฎมณเฑียรบาลตอนที่กล่าวด้วยการมหรสพมีเจียรในไว้ว่า มีลคร ระบำ ระเบง กุลาตีไม้ ฯลฯ มีปัญหาว่า “ลคร” กับ “ระบำ” นั้นผิดกันอย่างไร ข้าพเจ้าจะใคร่ตอบว่า ลคร คือผู้ชายรำเล่นเปนเรื่อง ตรงกับคำว่า นาฏกะ หรือ นาฏย์ และ ระบำ คือนางรำ มีแต่ท่าทางงาม ๆ ไม่ใช่รำเปนเรื่องเปนราว เช่นในงานโสกันต์เขาไกรลาศ มีผู้หญิงรำต้นไม้เงินทองอยู่ริมเกยนี้คือระบำ กับมีระเบ็ง (โอละพ่อ) และกุลาตีไม้อยู่หน้าเกย ดังนี้ ต่อมาภายหลังจึ่งได้เกิดมีผู้หญิงรำเล่นเปนเรื่องราวขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้ผสมโรงกันอีก จึงเกิดมีลครเปนสองชนิด เรียกว่า ลครนอกชนิด ๑ ลครในชนิด ๑ มีอธิบายกันว่าลครนอกเปนลครผู้ชาย ลครในเปนลครผู้หญิง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูก็เห็นว่าจะสมจริงเช่นนั้น ไม่ต้องหาอื่นไกล เพียงวิธีร้องก็เปนพยานอยู่แล้ว คือการร้องอย่างลครนอกเหมาะแก่เสียงผู้ชาย การร้องอย่างลครในเหมาะแก่เสียงผู้หญิง ไม่เชื่อใคร ๆ ลองดูก็คงเห็นจริงเช่นนี้

ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นส่วนตัวสันนิษฐานด้วยเรื่องยักษ์กับมนุษย์ในลครไทยเราสักหน่อย ในชั้นต้นที่จะจับพิจารณาดูและรู้สึกขึ้นนั้น คือรู้สึกอยู่ว่า มนุษย์นั้นแต่งตัวตามแบบที่ไทยเราแต่งอยู่แต่โบราณนั้นเปนแน่แล้ว แต่ยักษ์หาได้แต่งเช่นนั้นไม่ ถ้าเช่นนั้นยักษ์แต่งเอาอย่างใครเล่า ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบดูตามรูปภาพและลายต่าง ๆ ข้างมัธยมประเทศ ก็เห็นชัดว่าไม่ใช่เอาอย่างจากที่นั้น เพราะยักษ์กับมนุษเขาแต่งเหมือนกันทุกประการ ใช่แต่เท่านั้น หน้าตายักษ์กับมนุษก็ไม่ผิดแผกแปลกกันปานใด หากจะผิดกันอยู่บ้าง ก็แต่ยักษ์มักมีเขี้ยวขาวออกมานอกปากบ้าง และบ้างก็มีหนวดหนาดัดโง้ง แลคิ้วขมวด เห็นได้ว่าเปนคนอย่างดุ ๆ แลถ้าไปโดนตัวที่มีหัวมีแขนมาก ๆ ก็เห็นง่ายหน่อยเท่านั้น เมื่อทราบแน่ว่าไม่ใช่เอาอย่างจากมัธยมประเทศแล้ว จึ่งหันมาตรวจทางชวา ก็เห็นได้อีกว่าไม่ใช่ จนเดินต่อมาถึงเขมร จึ่งถึง “บางอ้อ” ยักษ์คือขอมนั้นเอง เหมาะมาก เพราะถ้าจะเทียบกับครูเดิม เขาเรียกพวกตัวเขาเองว่า อริยกะ เปนพวกพระอินทร์ ส่วนพวกชนที่เคยอยู่ในพื้นเมืองมัธยมประเทศเดิมซึ่งพวกอริยกะได้รบพุ่งขับเขี้ยวกันอยู่มากนั้น เขาเรียกว่า ทัสยุหรืออสูร เปรียบไทยเราก็ได้แก่พวกอริยกะ เปรียบขอมได้แก่พวกทัสยุหรืออสูร ดูสมเหตุสมผลกันดี ใช่แต่เท่านั้น เครื่องแต่งตัวและหน้าก็เปนพยานอยู่ คือ

๑) มนุษย์และเทวดานุ่งหางหงษ์จีบทับสนับเพลาอย่างแบบไทย ยักษ์นุ่งถกเขมรอย่างขอม ผ้าปิดก้นคือชายกระเบนที่ชักขึ้นไปแลปล่อยห้อยลงไปข้างหลัง ผ้านุ่งยาวไม่พอ จึ่งทำเปนอีกผืน ๑ ต่างหาก ผูกเข้าแทนชายกระเบน

๒) ชฎาชนิดที่เรียกว่าชฏามนุษนั้น พิจารณารูปดู จะเห็นได้ว่ามีรูปเดียวคือเปนอย่างลำพอกไทย ที่ชฎายักษ์มียอดอุตตริต่าง ๆ แต่ครั้นไปดูรูปภาพนครธมก็พบชฎายอดอุตตริต่าง ๆ นั้นอยู่บริบูรณ จึ่งเห็นได้ว่ายักษ์ก็ใส่ชฎาขอมนั้นเอง

๓) มนุษย์และเทวดาเขียนหน้าไม่มีเคราเลย หากจะมีก็แต่หนวดซึ่งเขียนเปนอย่างพรายปากไว้นั้นเท่านั้น ทียักษ์สิมีหนวดมีเคราออกรุงรัง ดังปรากฎอยู่ที่กระหนกที่ปากและคางเปนแผ่นหนา ๆ ทั้งสองแห่ง ทั้งคิ้วก็ดกมาก คราวนี้ไปดูรูปภาพของนครธมจะเห็นได้ว่า ผู้ชายทุกคนมีคิ้วดกหนวดเคราดก หน้าตาใกล้หัวโขนยักษ์เปนอันมาก

๔) ยักษ์ตัวท้าวพญาใส่ชฎา แตเสนายักษ์หัวโล้นมีแต่กรอบหน้าและสุวรรณมาลา ตรวจรูปขอมนครธมดูก็จะเห็นว่า ตัวที่เปนท้าวพญาใส่ชฎา แต่ตัวเปนเสนาข้าเฝ้าผมข้างบนตัดสั้น มีกรอบหน้าและสุวรรณมาลาทุกคน เหมือนเสนายักษ์

โดยหลักถานพยานเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึ่งลงเนื้อเห็นว่า ยักษ์ของเราแต่งเอาอย่างขอม ซึ่งเปนคนที่เราเกลียดชังเห็นเปนข้าศึกนั้นเปนแน่แล้ว

อนึ่งบางทีจะมีท่านช่างรู้บางคนจะร้องว่า ลครขององค์พระศรีสวัสดิ์เจ้านครกัมพูชานั้น พระกับยักษ์ก็แต่งอย่างของไทยเรา หัวโขนยักษ์ก็เปนอย่างของเรา เหตุไฉนเขมรเขาจะดูถูกพวกเขาเองให้เปนยักษ์เปนมารแลยกย่องไทยเปนเทวดาฉนี้ไซร้ ข้าพเจ้าขอตอบว่า เครื่องที่ลครของเจ้ากรุงกัมพูชาแต่งอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่แบบเขมร เปนแบบไทย ถึงวิธีรำก็เปนแบบไทย แม้บทร้องก็ใช้ภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาเขมรหามิได้ เมื่อเจ้านครกัมพูชามาเอาแบบลครไทยไปเล่น ก็เอาอย่างตลอดจนเครื่องแต่งตัว เพราะฉนั้นจะว่าเขมรเขาตั้งใจดูถูกพวกขอมโบราณในการที่แต่งยักษ์เปนขอมนั้นหามิได้เลย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ