คำนำ

เรื่องศกุนตลานี้ ต้นเรื่องอยู่ในมหาภารต เป็นเรื่องเกร็ดอันหนึ่ง (ฤๅเรียกตามภาษาสังสกฤตว่า “อุปาข๎ยาณ”) มีนามปรากฏว่า “ศกุน์ตโลปาข๎ยาณ” เป็นข้อความที่มีอยู่ในมหาภารต เพราะสมมติว่าเป็นเรื่องราวของกษัตริย์จันทรวงศ์องค์ ๑ ซึ่งเป็นชนกแห่งกษัตริย์โกรพและปาณฑพซึ่งทำสงครามกันที่ตำบลกุรุเกษตร์ อันเป็นตัวเรื่องแห่งหนังสือมหาภารต ที่ว่าเรื่องศกุนตลาเป็นเรื่องของชนกแห่งกษัตริย์ผู้กระทำมหาภารตยุทธ์นั้น คือท้าวทุษยันต์ผู้เป็นพระเอกในเรื่องนี้ นับว่ามีนามปรากฎในหมู่กษัตริย์จันทรวงศ์ เพราะเป็นบิดาแห่งท้าวภรต ผู้เปนพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๑ ในมัธยมประเทศ และนามประเทศนี้ที่เรียกว่ามหาภารตวรรษ ก็คือเรียกตามท้าวภรตนี้อีก ส่วนศกุนตลานางเอกนั้น ตามเรื่องว่าเป็นบุตรีพระวิศวามิตร์มุนี ซึ่งมีนามว่าพระเกาศิก (คือเชื้อกุศิก) ส่วนมารดาแห่งนางศกุนตลานั้นคือ นางฟ้าชื่อเมนกา ซึ่งพระอินทร์จัดให้ลงมาทำลายพิธีของเกาศิก

ต่อมาภายหลังยุคมหาภารตนั้น มีจินตกวีชื่อกาลีทาสได้เก็บความมานิพนธ์ขึ้นเป็นเรื่องลครชนิดที่เรียกว่า “นาฏะกะ” คือเป็นคำพากย์และเจรจา คล้ายๆ บทโขนของเราแต่มีแบ่งชุดฤๅบริเฉทเป็น ๗ ชุด คำที่แต่งเป็นคำฉันท์คณะต่างๆ ตามแต่จะเหมาะแก่คำพูดของตัวละคร เพราะในนาฏะกะ ตัวใดที่เป็นกษัตริย์หรือฤษีชีพราหมณ์พูดภาษาสังสกฤต ผู้หญิงพูดปรากฤต (ซึ่งเป็นภาษาสามัญของสังสกฤต) ฉนี้เป็นต้น

ส่วนวิธีเล่นละครชนิดนาฏะกะนี้ ก็เหมือนลครของเรานั้นเอง คือมีฉากกั้นหลังโรง มีประตูออก ที่หลังฉากเรียกว่า “เนปัถย์” เป็นที่แต่งตัว วิธีใช้บทก็เห็นจะเป็นอย่างโขน ส่วนบทนั้นตัวลครร้องเองเจรจาเอง เว้นเสียแต่ตอนที่มิใช่คำพูด เปนดำเนินเรื่อง คงมีคนพากย์เจรจาอย่างโขนของเรา ในการแต่งเรื่องนี้ข้าพเจ้าจึ่งจัดไว้เช่นนั้นบ้าง คือในตอนใดควรจะพูดได้ก็ให้ตัวละครพูดเอง ต่อเป็นตอนที่จะไม่สะดวกแก่จะทำเช่นนั้นจึงให้คนอื่นเจรจาแทน

ในที่นี้อธิบายด้วยนาฏะกะโดยย่อพอเปนสังเขป แต่ถ้าผู้ใดอยากทราบข้อความพิศดารก็จงดูในภาคผนวกว่าด้วยนาฏะกะ ซึ่งอยู่ท้ายหนังสือนี้เถิด

ส่วนกาลีทาสจินตกะวีผู้แต่งบทละครศกุนตลานี้ เป็นกะวีมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้ ๑ ในนวรัตนะกวีผู้อยู่ในราชสำนักนิ์พระเจ้าวิกรมาทิตย์ ราชาผู้ครองนครอุชชยินี แต่ศักราชไม่สู้จะแน่นอนนัก เป็นข้อถุ้มเถียงกันอยู่ เพราะเหตุว่าราชาผู้ทรงนามว่าวิกรมาทิตย์มีหลายองค์ และกะวีชื่อกาลิทาสก็มีหลายคน ข้าพเจ้าอยากจะใคร่สันนิษฐานว่า ชื่อกาลิทาสจะเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งรัตนะกวี ไม่ใช่เป็นนามบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉภาะ จริงอยู่บางทีในชั้นต้นก็จะมีจินตกะวีสำคัญคน ๑ ชื่อเช่นนั้น แล้วต่อมาภายหลังใครมีฝีปากดี ก็ได้ว่าที่กาลิทาสรัตนะกวี ดังนี้ดูเข้าทีอยู่กว่าอย่างอื่น

ศกุนตลาเป็นนาฏะกะ ซึ่งชาวยุโรปตื่นเต้นกันมากกว่าทุกเรื่อง มีแปลแล้วเป็นหลายภาษา แต่นอกจากศกุนตลายังมีนาฏะกะของกาลิทาสที่มีชื่อเสียงอยู่อีก ๒ เรื่อง คือ เรื่องวิกรโมรวศี ๑ มาลวิภาคนิมิตร ๑ และยังมีหนังสือกาพย์ที่ว่าเป็นของกาลิทาสอีก คือ ระฆุวํศะ ๑ กุมารสัมภว ๑ เมฆทูต ๑ ฤติสังหาร ๑ กับได้แต่งตำรับแบบฉันท์ ชื่อศรุตโพธ

ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขออธิบายว่า การแต่งบทลครเรื่องศกุนตลาเป็นภาษาไทยนี้ ข้าพเจ้าตั้งรูปตามใจของข้าพเจ้าเอง คือให้เหมาะแก่การที่จะเล่นเป็นลครอย่างไทยได้ ไม่ได้เดินตามแบบนาฏะกะฉบับเดิม แต่หาได้คิดเพิ่มเติมข้อความอันใดลงไปโดยอำเภอใจนอกเรื่องไม่ ทั้งเนื้อเรื่องและเนื้อความ ถ้าผู้ใดจะสนใจสอบกับต้นฉบับคงจะเห็นว่า ข้าพเจ้ามิได้ยักย้ายนอกคอกไปปานใดนักเลย ถ้าหากว่าจะมีข้อที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ก็จะเป็นเพราะข้าพเจ้าอ่านภาษาสังสกฤตเองไม่เปน ต้องอาไศรยฉบับอังกฤษซึ่งเซอร์วิลเลียม โยนส์ เปนผู้แปล และได้อาศัยฉบับของเซอร์โมเนียร์วิลเลียมส์ เทียบเคียงบ้าง เพราะฉนั้นก็เห็นมีทางที่จะคลาดเคลื่อนมีความเพี้ยนอยู่บ้างก็เป็นได้ แต่คงจะไม่ผิดมากเท่าเรื่องรามเกียรติ์ฤๅอนิรุทธ์ (“อุนรุท”) ที่ได้แต่ง ๆ กันมาแล้ว และเชื่อว่าจะมีผู้ติได้ก็แต่นักปราชญ์ผู้รู้ภาษาสังสกฤต และพอใจแปลหนังสืออย่างเปรียญเท่านั้น

อนึ่งในท้ายหนังสือนี้ ข้าพเจ้าได้แถมบทกล่าวด้วยนาฏกะไว้บท ๑ ซึ่งกล่าวถึงการเล่นลครในมัธยมประเทศ และแสดงว่าวิชาลครนั้นได้เดินมาถึงเมืองไทยเราอย่างไร ไทยเราได้มาแก้ไขไปอย่างไรๆ บ้าง กับมีอภิธานสังเขป คือรวบรวมนามศัพท์ต่างๆ ที่ได้ใช้ในหนังสือเล่มนี้ ศัพท์หนึ่งๆ อธิบายน้อยบ้างมากบ้าง แล้วแต่ที่เปนศัพท์สำคัญมากหรือน้อย และเก็บข้อความเพื่ออธิบายได้มากหรือน้อย ตอนอภิธานนี้ ความตั้งใจของข้าพเจ้าสำหรับเผื่อผู้อ่านที่เปนนักเลงหนังสือและโบราณคดี จะได้ค้นพอได้คำอธิบายพิศดารยิ่งกว่าที่จะเข้าใจได้ในเมื่อพอตัวศัพท์ ที่ใช้อยู่ในประโยคในเนื้อเรื่องศกุนตลา หรือในตอนกล่าวด้วยนาฏะกะ เช่นพบนาม “กฤษณ” อยากจะทราบข้อควาามพิศดารขึ้นกว่าที่มีอยู่ในตอนที่อ่านอยู่นั้น พลิกไปดู “กฤษณ” ในอภิธานก็คงได้สมปราถนา แต่การรวบรวมอภิธานเปนของที่ยากและมักจะบกพร่องได้ง่าย เพราะฉนั้นถ้าผู้อ่านพบบกพร่องอยู่ก็ต้องขออภัย

วชิราวุธ ปร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ