ฉากที่ ๑
ตลาดในกรุงหัสดิน
(มีร้านฃายของต่างๆ จัดไว้พอสมควร. เมื่อเปิดม่านแล้วมีคนออกมาซื้อของ, และมีหาบของออกมาฃาย. เล่นกวนมุกพอควรแก่เวลา. แล้วกุมภิลจึ่งออก, เอาแหวนเที่ยวบอกขาย, แต่ไม่มีใครซื้อเพราะเปนของราคาแพง. บัดนี้จึงมีราชบุรุษกองตระเวนสองคนออกมา, เห็นกุมภิลบอกฃายแหวนก็ไปดู. พอกุมภิลฃายใครไม่ได้แล้วกำลังจะออกเดินต่อไป, พลตระเวนก็จับ.)
เจรจา
ราชบุรุษที่ ๑ | ช้าก่อน ! แกไปไม่ได้. |
กุมภิล | ทำไมล่ะนาย ? |
ราชบุรุษที่ ๒ | ก็แกเปนผู้ร้ายน่ะสิ. |
(แย่งแหวนไปจากกุมภิลและพิจารณาดู) | |
กุมภิล | อ๊ะ ! จะหาความกันเช่นนี้ง่าย ๆ ได้อยู่ฤๅ? |
ร.บ. ๑ | ยังจะต่อล้อต่อเถียงอีกฤๅ ? (ตี) |
กุมภิล | โอย! ทำไมตีกันง่าย ๆ ? |
ร.บ. ๑ | ไม่ต้องพูดหนวกหู. แกต้องไปกับฉัน. (ฉุด) |
ร.บ. ๒ | ร่ำไรจริงๆ (ตี) |
กุมภิล | โอย ! ไม่ต้องตีดอกเจ้าประคุณ. ฉันจะไปดี ๆ. นี่จะพาฉันไปไหน ? |
ร.บ. ๑ | ไปหาเจ้าคุณนครบาลน่ะสิ. (มัดกุมภิล) |
ร.บ. ๒ | อ้าว, เคราะห์ดี. ไม่ต้องเดินไปไหนไกล. เจ้าคุณท่านมานี่แล้ว. |
(มิตราวะสุ, นครบาล, ออกมา. มีเจ้าน่าที่ตามหลังมาอีก.) | |
มิตราวะสุ | อะไรกันวะ ? กูได้ยินเสียงเอะอะกันทางนี้. |
ร.บ. ๑ | ผมจับผู้ร้ายได้คนหนึ่งขอรับ. |
มิตราวะสุ | ผู้ร้ายอะไรวะ ? |
ร.บ. ๑ | นั่นและขอรับ, มันจะฉกชิงวิ่งราวหรือตัดช่องย่องเบาอย่างไรผมก็ทราบไม่ถนัด; แต่ข้อสำคัญคือจับของกลางได้คามือ. นี่แน่ะขอรับ แหวนวงอ้ายกะโต, เรือเก็จเพ็ชร์ออกเป้ง. แล้วมีพระนามเจ้านายของเราจาฤกอยู่ด้วยขอรับ. (ส่งแหวนให้นครบาล.) |
กุมภิล | ขอประทานโทษทีเถอะขอรับ. กระผมไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอย่างฉกรรจ์อะไรเลย. |
ร.บ. ๑ | อ้อ ! ท่านมหาพราหมณ์ ! ถ้าเช่นนั้นแกได้ทำความชอบอย่างไร. เจ้านายจึ่งได้โปรดปรานถึงแก่ถอดพระธำมรงค์ประทานแก ? (เงื้อจะตี.) |
กุมภิล | ฟังผมก่อนสิขอรับ. ผมชื่อกุมภิล, อยู่ที่บ้านศักราวะตาร. |
ร.บ. ๒ | ก็นี่ใครไต่ถามถึงชื่อถึงเสียง หรือถิ่นฐานบ้านช่องของแก ? |
มิตราวะสุ | ช่างเถอะ ! ปล่อยให้มันเล่าเรื่องของมันเอง, ฃ้าอยากฟังดูที. ว่าไปสิ, อย่าบิดบังอะไรนะ. |
กุมภิล | กระผมเปนคนทำมาหาเลี้ยงบุตรภรรยาโดยทางจับปลา, ทอดแห, ตกเบ็ด ดักลอบ. |
มิตราวะสุ | (หัวเราะ) หากินดีจริงนะ ! ล้วนแต่ปาณาติบาตทั้งเรื่อง. |
กุมภิล | ใต้ท้าวอย่าติเตียนผมเลยขอรับ. การสิ่งใดที่ปู่ย่าตายายได้เคยกระทำมาแล้ว ลูกหลานจะละทิ้งเสียไม่เปนการสมควร; และคนที่ฆ่าสัตว์ฃายเลี้ยงชีพก็อาจจะเปนคนที่มีใจกรุณาได้เหมือนกัน. |
ร.บ. ๑ | หรือขะโมยก็ได้เหมือนกัน. |
มิตราวะสุ | เล่าต่อไปสิ, อย่าเสียเวลา. |
กุมภิล | วันหนึ่งผมจับปลาเทโพตัวใหญ่ได้ตัวหนึ่ง, พอชำแหละออกก็พบแหวนวงนี้อยู่ในท้อง. ผมเอามาฃายก็พอนายทั้งสองนั่นมาพบเฃ้าเลยจับตัว. จะว่าผมมีผิดคิดร้ายอย่างไร ? ผมไม่ใช่ขะโมยขะโจรเลย, เปนความสัตย์จริงเช่นนี้แหละขอรับ. |
มิตราวะสุ | (ดมแหวน) แหวนนี้ยังมีกลิ่นคาวติด, บางทีจะได้อยู่ในท้องปลาจริงตามมึงให้การ. |
ร.บ. ๑ | ก็มือของมันเหม็นคาวจับแหวนก็ทำให้แหวนมีกลิ่นไปด้วยน่ะสิขอรับ. |
มิตราวะสุ | เอาเถอะ, ฃ้าจะเฃ้าไปถามท่านมณเฑียรบาลดูทีก่อน. คุมตัวชาวประมงนี่ไว้ก่อนนะ. |
ร.บ. ๑ | อย่าวิตกเลยขอรับ, ผมไม่ให้หนีได้. |
(มิตราวะสุเฃ้าโรง. ชาวตลาดมามุงถามเรื่องกันกลุ้ม.) | |
ร.บ. ๒ | นายเราน่ากลัวจะอีกนานกว่าจะกลับออกมา. |
ร.บ. ๑ | แน่ละ. การเฃ้าเฝ้าเฃ้าแหนมิใช่จะเฃ้าไปถึงง่าย ๆ. |
ร.บ. ๒ | เบื่อจริง ๆ ต้องมานั่งคุมอ้ายตานี่อยู่! กูละคันๆ มืออยากจ้ำมันเสียให้เสร็จกันไป, ให้รู้แล้วรู้รอด. |
กุมภิล | โอย ! โอย ! อะไรนายจะฆ่าคนเล่นง่าย ๆ ! ผมไม่มีผิดเลย. |
ร.บ. ๑ | ดูเอาสิ! ตานี่มารยาพิลึก; ยังไม่ทันจะทำอะไรร้องก่อนแล้ว. |
กุมภิล | ก็นายว่าจะฆ่าผมก็ร้องน่ะสิ. |
ร.บ. ๒ | ก็เอาไว้ให้ฆ่าเสียก่อนจึงค่อยร้องไม่ได้ฤๅ ? |
กุมภิล | ตายแล้วจะร้องแร้งอะไรออกล่ะนาย ? |
ร.บ. ๑ | เออ! ก็จริงของมัน. อ้อนั่นแน่นายกลับออกมาแล้ว. เอาละพ่อตัวการ, ประเดี๋ยวก็ได้รู้กันว่าแกจะได้กลับบ้าน หรือจะต้องเปนเหยื่ออีแร้ง. |
(มิตราวะสุออกมา) | |
มิตราวะสุ | เฮ้ย ! ตาประมงนั่นอยู่ไหน ? |
กุมภิล | ตายกู ! ตายแน่ ! (สั่นเทิ้ม) |
มิตราวะสุ | แกไม่ต้องสทกสท้าน; แกไม่มีความผิด. (สั่งพลตระเวน) ปล่อยตัวตาประมง. เจ้านายของเรารับสั่งว่าข้อความที่เล่าเห็นจะเปนความจริง. |
ร.บ. ๒ | พ้นนรกไปทีหนึ่งละแก (แก้มัดกุมภิล) |
กุมภิล | ใต้ท้าวขอรับ, ขอบพระเดชพระคุณจริง ๆ. ถ้าไม่ได้ใต้ท้าวผมก็คงไม่รอดตัวในครั้งนี้. |
มิตราวะสุ | แกมันเคราะห์ดีมาก. นี้แน่, โปรดเกล้า ฯ ให้กูนำเงินมาพระราชทานเท่าค่าพระธำมรงค์ที่แกนำมา. แกเลยมั่งมีใหญ่ละ (ส่งถุงเงินให้) |
กุมภิล | แหม! ผมดีใจจนพูดไม่ออก. (ถวายบังคมสามคาบ) |
ร.บ. ๑ | แกน่ะมันเหมือนผู้ร้ายที่เฃาเอาลงจากฃาหยั่ง, แล้วมิหนำซ้ำให้ขี่ช้างกูบทอง. |
รบ. ๒ | ใต้ท้าวขอรับ, พระธำมรงค์นั้นเห็นจะเปนของมีราคามากนะขอรับ ? |
มิตราวะสุ | ส่วนราคาค่างวดดูเหมือนจะไม่สำคัญ, แต่ดูเหมือนจะเปนของที่เจ้านายเราโปรดปรานมาก. พอนำไปถวายทอดพระเนตร์เห็นดูทรงตลึงอยู่ครู่ใหญ่ๆ, แล้วจึงได้มีพระดำรัสให้กูนำเงินมาประทานตาประมง. (พูดกับกุมภิล) แกจะไปก็ไปสิ. (เฃ้าโรง) |
ร.บ. ๑ | ชะๆ อ้ายช่างหาปลา ! มาวันเดียวได้เปนเศรษฐี. ที่กูทำราชการวันยังค่ำ ๆ หลายปีดีดักมาแล้ว, จนกรอบอยู่อย่างนี้เอง. |
กุมภิล | นายอย่าโกรธอย่าขึ้งเลย. วันนี้ฉันมีลาภแล้วก็อยากให้เพื่อนฝูงได้สนุกสบายด้วย. เชิญนายทั้งสองไปหาเหล้ากินกันเล่นพอสบายบ้างประไร. |
ร.บ. ๒ | เออ ! พูดยังงี้มันค่อยน่าฟังหน่อย. ฉันรู้จักที่ดีอยู่แห่งหนึ่ง, มาไปด้วยกันเถอะ. |
(พิณพาทย์ทำรัว. คนที่เหลืออยู่เฃ้าโรงหมด.)